มีคนเมล์เข้ามายุผู้เขียนให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย
ในปี พ.ศ.2551 ว่าจะมีพระสงฆ์เถรานุเถระ (แปลว่าพระผู้ใหญ่ผู้น้อย)
รูปใดในปัถพี ที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นเจ้าคุณใหม่
หรือไม่ก็ได้เลื่อนยศสูงขึ้นไป
หรือมีเหตุผลกลใดที่ไม่สามารถจะเลื่อนได้ ฯลฯ
"เขาอยากรู้"
ผู้เขียนซึ่งมีนิสัยแบบว่า
"ยุไม่ได้"
คือถ้ามีกองเชียร์ละก็ถึงไหนถึงกัน ดังนั้น
วันนี้จึงต้องร่ายกาพย์กลอนสุนทรภู่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่านี้กันเสียหน่อย
ถามว่า สาเหตุใดจึงต้องเขียนเรื่อง
"สมณศักดิ์"
ในช่วงนี้ ?
คำตอบก็คือว่า เพราะสาเหตุว่า คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยถือเอาวันที่ 5
ธันวาคม ซึ่งเป็นวันมหามงคล คือ
เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากจะยกขึ้นเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว
ก็ต้องทำอะไรให้เหมาะสมกับวันสำคัญ และหนึ่งในนั้นก็คือ
การตั้งพระราชาคณะ
หรือตั้งเจ้าคุณ
ซึ่งพระภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นก็จะได้รับอาราธนานิมนต์จากสำนักพระราชวัง
ให้เข้าไปรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 5
ธันวาคม ของทุกปี นี่คือคำตอบ
เมื่อคำตอบออกมาเช่นนี้
ก็เหมือนโผทหารซึ่งจะทำการโยกย้ายกันในราวเดือนตุลาคมของทุกปี ดังนั้น
พอถึงช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี ก็จะมีความเคลื่อนไหวกันคึกคัก
มีการเก็งหรือคาดหมายว่านายพลคนใดจะขึ้นไปคุมบังเหียนในระดับ 5
เสือกองทัพบก ถ้าเป็นภาษานักมวยก็ต้องเรียกว่า
"ใครจะอยู่ ใครจะไป"
เรื่องนี้สำคัญนะจะบอกให้ และการคาดหมายว่าใครจะได้เป็นอะไรดังว่ามานี้
ก็เหมือนๆ เกจิอาจารย์ทางมวยหรือทางฟุตบอล ย่อมจะมองเห็นว่า
นักมวยคนไหนกำลังมาแรงจะแซงทางโค้ง
ถ้าไม่อ่อนซ้อมหรือล้มมวยก็น่าจะไม่พลาด
หรือฟุตบอลทีมไหนในบรรดาทีมแนวหน้าของโลก เช่น
เยอรมันนี อังกฤษ
อาเจนติน่า บราซิล
หรืออุรุกวัย
เป็นต้น ทีมพวกนี้โผล่ขึ้นเป็นเต็งหามทุกปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก
จะเรียกว่าเป็นทีมยืนก็คงว่าได้ ดังนั้น เซียนๆ
ก็ต้องให้เครดิตแก่ทีมเหล่านี้ก่อน ก่อนจะชม้ายชายตาไปยังทีมม้ามืดกันต่อไป
ฯลฯ เห็นไหมล่ะ จะว่าเรื่องยศช้างขุนนางพระ
ดันผ่าปี่ผ่ากลองไปพูดเรื่องมวยเรื่องบอลซะไกล
เป็นพระเป็นเจ้ารู้อะไรกับเขาด้วยล่ะ เฮ้อ
!
แต่ทีนี้ว่า การวิจารณ์นั้นแม้ว่าจะทำได้
แต่ก็มีข้อขัดข้องอยู่หลายประการ เพราะมวยยังไม่ได้ขึ้นเวที
จะให้เซียนชี้ว่าต่อยังไงรองยังไง มันก็ยังไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น
เวลาชกกันจริงๆ นั่นแหละ เขาถึงต่อรองกันแบบว่า ยกต่อยก เบรกต่อเบรก
ใครที่คิดแทงมวยกันที่หน้าประตูสนามนั้นยังถือว่าอ่อนหัด ดังนั้น
การวิจารณ์ในวันนี้ดูทีจะเป็น "การคาดการ" เสียมากกว่า
เพราะในเมื่อเรายังไม่เห็นโผเจ้าคุณว่ามีใครบ้าง
เส้นไหนสายไหนได้เป็นใหญ่เป็นรอง มันก็ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาด
เหมือนๆ กับการดูดวงนั่นแหละ ท่านว่ามีอยู่ 2 แบบ
คือดูดวงในระบบราศีจักรซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ราศี ไล่ตั้งแต่
เมษ พฤษภ
มิถุน กรกฏ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มกร กุมภ์ และมีน
ซึ่งในวงการโหรศาสตร์จะเรียกว่า
ดูดวงอีแปะ
แถมยังถือว่าเป็นการดูดวงชั้นนอก ไม่ได้ลึกซึ้งถึงขั้นเป็นขั้นตาย
ส่วนอีกระบบหนึ่งนั้นคือการดูดวงในระบบนวางค์จักร
ซึ่งซอยราศีจักรให้ละเอียดลงไปอีกถึง 9 นวางค์ต่อ 1 ราศี
เมื่อแบ่งดวงราศีออกเป็นเช่นนี้ ก็จะมีคำทำนายรายละเอียดเพิ่มจาก 12 คำ
เป็น 108 คำ เห็นไหมว่าละเอียดขนาดไหน
ดังนั้น เมื่อยังไม่เห็นโผเจ้าคุณดังว่ามา
ก็จึงยังไม่สามารถจะวิจารณ์ได้อย่างละเอียดแบบว่า
"ทุกตำแหน่ง"
ก็ยกตัวอย่างการวิจารณ์ทีมฟุตบอลนั่นแหละ
ตราบใดที่ทางผู้จัดการทีมยังไม่ประกาศรายชื่อนักเตะครบทั้ง 11 ตำแหน่ง
(รวมทั้งผู้เล่นสำรอง) ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า จริงๆ
แล้วทีมไหนดีจริงหรือดีไม่จริง เรื่องโผเจ้าคุณก็ฉันนั้น
ทีนี้ วันนี้ ที่เขียนหัวข้อไว้ว่า
"เปิดโผว่าที่สมเด็จใหม่
ปี 2551" นั้น
ก็เพราะมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือตัวบุคคลผู้เข้ากฎเข้าเกณฑ์
เมื่อข้อมูลค่อนข้างชัดก็หมายถึงว่า ความมั่วย่อมจะลดน้อยลงไปด้วย
ส่งผลไปถึงว่า ความผิดพลาดก็ย่อมน้อยตามลงไปในอีกชั้นหนึ่ง
จึงตั้งชื่อเรื่องในวันนี้ไว้ดังกล่าว
ชัดๆ เลยก็คือว่า ข้อเขียนวันนี้จะชี้เป้าไปยังตำแหน่ง
"สมเด็จพระราชาคณะ"
ซึ่งถือว่า
"สูงสุด" ในบรรดาสมณศักดิ์ทุกชั้นของคณะสงฆ์ไทย
ซึ่งตำแหน่งหรือสมณศักดิ์ชั้นนี้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
กำหนดอัตราระหว่างนิกายไว้ที่
"4/4"
คือ เมืองไทยเรามีพระสงฆ์ที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายอยู่เพียง 2 นิกาย
คือ มหานิกายกับธรรมยุต อัตรา 4-4 จึงแบ่งให้มหานิกายไป 4 ให้ธรรมยุตไป
4 รวมเป็น 8 และให้มีตำแหน่ง
"สมเด็จพระสังฆราช"
เป็นกรณีพิเศษ
"ทรงดำรงตำแหน่งประธานมหาเถรสมาคม" อีกหนึ่งตำแหน่ง จึงรวมว่า
สมเด็จพระราชาคณะในเมืองไทย มีทั้งสิ้น 9 ตำแหน่ง
ส่วนถ้าพระสงฆ์นิกายไหนได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็หมายถึงว่า
นิกายนั้นจะมีอัตราสมเด็จพระราชาคณะอยู่ที่ 5 ต่อ 4 เช่น
สมัยปัจจุบันนี้
สมเด็จพระญาณสังวร
วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งวัดบวรนิเวศนั้นเป็นวัดในสังกัดธรรมยุต
ทำให้คณะธรรมยุตมีสมเด็จพระราชาคณะรวมทั้งสิ้น 5 ส่วนมหานิกายได้เพียง
4 ดังนั้น
อัตราจริงๆ ก็คือ
5 ต่อ 4 ไม่ใช่
4-4
ดังที่เข้าใจ
เมืองไทยเราก็มีอะไรที่ต้องอธิบายกันหลายชั้นดังนี้แหละ
ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่จะชี้ในวันนี้นั้น เมื่อแยกพรรค 2
พรรคออกจากกัน คือ
พรรคมหานิกาย ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
(พรรคนี้มีสมาชิกพระสงฆ์ประมาณ 300,000 รูป) และ
พรรคธรรมยุติกนิกาย
ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยของประเทศ (พรรคนี้มีสมาชิกพระสงฆ์ประมาณ 30,000
รูป) เราก็จะพบว่า
ตำแหน่งสมเด็จที่จะวิจารณ์ในวันนี้มีอยู่เฉพาะใน
"พรรคธรรมยุต" เท่านั้น
ที่ว่าดังนั้นก็เพราะว่า ในปี พ.ศ.2551 นี้ มีพระสมเด็จฯในฝ่ายธรรมยุต
มรณภาพไปถึง 2 รูป คือ
1.
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
(ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
แขวงบางขุนพรม เขตพระนคร
มรณภาพไปในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2551
2.
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.6)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
แขวงวัดราชบพิธ
เขตพระนคร มรณภาพไปในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2551
ซึ่งตามกฎหมายคณะสงฆ์นั้นระบุว่า
"สมเด็จพระราชาคณะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง"
คือหมายถึงว่า
ถ้าพระภิกษุรูปใดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จฯ
ก็จะได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติ โดยไม่มีการถอดถอน
นอกจากจะถูกถอดยศหรือมรณภาพไปเท่านั้น จะลาออกเองก็ยังไม่ได้เลย
และก็ไม่เคยมีสมเด็จฯรูปไหนลาออกเลยในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย
ทีนี้เมื่อกฎหมายบังคับไว้เช่นนี้ ก็มีปัญหาในภาคปฏิบัติ คือว่า
ถ้าพระสมเด็จรูปใดรูปหนึ่งมรณภาพลงไป
กรรมการมหาเถรสมาคมหรือสมเด็จพระสังฆราช
จะลงมติแต่งตั้งพระสงฆ์รูปนั้นรูปนี้ขึ้นเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแทนสมเด็จฯ
รูปนั้น หาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะไม่มีมาตราใดในกฎหมายเปิดช่องไว้ให้
ช่องทางเดียวเท่านั้นที่ทำได้ก็คือ
"มหาเถรสมาคมลงมติให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่แทนรูปที่มรณภาพไป"
เพราะถ้าทำการสถาปนาสมเด็จใหม่แทนรูปเก่าได้
ก็เท่ากับว่าได้แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (โดยตำแหน่ง)
ที่ขาดหายไปนั้น ให้เต็มอย่างถูกต้องตามกระบวนการอันชอบธรรม
ย้ำ
!
ที่พูดไปนั้นยังเป็นแค่
"หลักการและวิธีการ"
เท่านั้น
ส่วนว่าใครจะได้เป็นตามหลักการและวิธีการนั้นยังต้องพูดกันในขั้นตอนต่อไป
ถามว่า
จำเป็นด้วยหรือที่ต้องรีบตั้งสมเด็จพระราชาคณะให้เต็มอัตราหรือเต็มโควต้าของฝ่ายธรรมยุต
ตอบว่า จำเป็นสิครับ จำเป็นอย่างสูงสุดด้วย
ทั้งนี้ก็เพราะว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่า
สมเด็จพระราชาคณะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
คือจะแต่งตั้งทดแทนกันเองแบบคณะรัฐมนตรีนั้นหาได้ไม่ ดังนั้น
ตราบใดที่ยังไม่ได้สถาปนาสมเด็จองค์ใหม่แทนองค์เท่าเก่าที่ตาย เอ๊ย
มรณภาพไป เก้าอี้หรือตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังต้อง "ว่าง"
อยู่ต่อไป
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ณ เวลานี้
กรรมการมหาเถรสมาคมระดับสมเด็จฯ ในฝ่ายธรรมยุตนั้น
กะปลกกะเปลี้ยเต็มทน เพราะ
1.
มรณภาพไปแล้ว 2 รูป ทำให้เหลือพระสมเด็จในฝ่ายธรรมยุตเพียง 3 รูป
2.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็ทรงพระชราภาพมาก
พระชนมายุยืนนานถึง 97 ปี ไม่สามารถจะทรงงานได้
ต้องเสด็จไปประทับที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นเวลา 5 ปีกว่ามาแล้ว
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชถูกรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ
ให้ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนมาตั้งแต่ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547
ซึ่งกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในเวลาต่อมาอีกด้วย
โดยนัยยะนั้นหมายถึงว่า
อำนาจของสมเด็จพระสังฆราชถูกโอนไปให้แก่สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ
มานานแล้วถึง 5 ปี เป็น 5 ปีที่สมเด็จพระญาณสังวร ทรงมีแต่เพียงตำแหน่ง
แต่ทรงไร้พระอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์
ถ้าพูดแบบตัวเล่นในกีฬาฟุตบอลก็คือว่า
ผู้เล่นหลักในฝ่ายธรรมยุตนั้นถูกไล่ออกนอกสนามไปแล้ว 2 ที่เหลืออีก 3
ก็บาดเจ็บ แม้แต่สมเด็จพระญาณวโรดม
(ประยูร สนฺตงฺกุโร
ป.ธ.9) วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งถือว่าแข็งแรงที่สุดในฝ่ายธรรมยุตนั้น
ปัจจุบันวันนี้ก็มีชนมายุย่างเข้า 92 ปีแล้ว อีกรูปหนึ่งคือ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
(มานิต ถาวโร
ป.ธ.9) วัดสัมพันธวงศาราม ก็มีอายุยืนนานถึง 91 เข้ามานี่แล้ว
ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า
อำนาจในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยแทบทั้งหมด
ตกอยู่ในกำมือของคณะมหานิกาย ภายใต้การนำของสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ
ทั้งสิ้น
!
จริงอยู่ แม้ว่าพระสมเด็จฯในฝ่ายมหานิกายบางรูปก็ชราภาพ คือ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(พุฒ สุวฑฺฒโน ป.ธ.7) วัดสุวรรณาราม แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย
กรุงเทพฯ นั้น ปัจจุบัน พระคุณท่านเจริญชนมายุยืนนานถึง
102 ปี
เพราะเกิดวันที่ 11 เดือนมีนาคม พ.ศ.2450 ถ้าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2552
นี้เมื่อไหร่ ท่านก็จะมีอายุย่างเข้า
103 ปีทีเดียว
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น
ท่านมิได้มีอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์แต่อย่างใดเลย
คือไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใดๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งผิดปรกติของสมเด็จพระราชาคณะทั่วไป สมเด็จฯวัดทองจึงได้เป็นเพียง
"กรรมการมหาเถรสมาคม"
ลอยๆ เพียงตำแหน่งเดียว ถ้าเปรียบกับรัฐมนตรี สมเด็จฯวัดทองก็เท่ากับ
"รัฐมนตรีประจำสำนักนายก"
ซึ่งสมัยเก่านั้นเขาเรียกว่า
"รัฐมนตรีลอย"
เพราะไม่มีเก้าอี้ในกระทรวงให้บัญชาการนั่นเอง งานของสมเด็จฯ
วัดทองจึงออกไปทางงานสังคม เช่น นั่งปรกปลุกเสกพระเครื่อง
หรือรับนิมนต์ไปเปิดงานวัดต่างๆ ทำให้ท่านน่ารักไปอีกแบบหนึ่ง
ความถดถอยของคณะธรรมยุตในยุคนี้เป็นไปถึงขนาดว่า
เวลาจะแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่
อันเป็นอำนาจของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่เดิมนั้น
ก็ยังต้องให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ไปรับตราตั้งจากสมเด็จพระพุฒาจารย์
ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ถ้าใครเคยอ่านประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
เป็นต้นมา ซึ่งแต่เดิมนั้น พวกพระธรรมยุตผู้เกิดสองหน คือบวชซ้ำบวชแปลงเหมือนคนแปลงเพศ
จะหยามหมิ่นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายว่า
"มีศักดิ์เพียงสามเณรถือศีล 10 เท่านั้น"
แต่ปัจจุบันวันนี้
พระธรรมยุตผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งกว่าพระอรหันต์นั้น
กลับยอมก้มหัวไปรับตราตั้งแต่งตั้งจากเจ้าจั๋วหรือสามเณรน้อย
เห็นแล้วอยากร้องไห้แทน
"พระภิกษุวชิรญาณ"
ผู้ก่อตั้งธรรมยุตขึ้นมาเสียจริงเชียว
!
นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้คณะธรรมยุต
"ต้องรีบ"
แต่งตั้งพรรคพวก เอ๊ย
พระสงฆ์ในสังกัดพรรคของตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะให้ได้ภายในเร็ววัน
ทั้งนี้เพื่อจะเติมเก้าอี้ในมหาเถรสมาคมอันเป็นรัฐบาลคณะสงฆ์ไทยให้เต็ม
เพื่อจะได้มีสิทธิ์มีเสียงทัดเทียมกัน แม้ว่าจะช้าหรือสายไปนิด
แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา จริงมะ
เอาละ ต่อไปก็จะวิจารณ์ตัวบุคคลที่จะได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง
"สมเด็จพระราชาคณะ"
ที่ว่างอยู่ของฝ่ายธรรมยุต
ถามว่า
เขาพิจารณากันจากอะไร ?
ก็ตอบว่า ก็เหมือนทหารหรือตำรวจนั่นแหละ
ต้องพิจารณาจาก 1.ตำแหน่ง 2.ความอาวุโส และ 3.เส้นสาย ใครมี 3
ประการนี้พร้อมกว่าเพื่อน
ก็ย่อมมีสิทธิ์รับพัดยศสมเด็จพระราชาคณะจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน
ดังนั้น เราก็จะเอากฎเกณฑ์ที่เขาตั้งๆ
ไว้ทั้งสามข้อเหล่านี้มาพิจารณากัน ว่าพระรูปไหนจะได้เป็นสมเด็จฯ
ในปีนี้
1. ตำแหน่ง
หมายถึงว่า ดำรงตำแหน่งอะไร
คุมกำลังหรือมีอิทธิพลมากขนาดไหนในวงการคณะสงฆ์
ซึ่งตำแหน่งสูงสุดในคณะธรรมยุตนั้นก็คือ
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
โดยแต่เดิมนั้นตำแหน่งนี้เป็นของสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งภายหลังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอีกด้วย
แต่หลังจากมีการแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้ว
ต่อมาก็มีการแต่งตั้ง
"ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต"
ขึ้นมาแทนอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ความหมายก็คือว่า สมเด็จพระญาณสังวร
ทรงถูกยึดอำนาจไปแล้วถึง 2 อำนาจด้วยกัน คือ
อำนาจในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และอำนาจในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
พระมหาเถระรูปที่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้ดำรงตำแหน่ง
"ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต"
รูปแรกนั้น ได้แก่
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
(ประจวบ กนฺตาจาโร
ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม
ซึ่งต่อมาไม่รู้ว่าจะถูกครหานินทาหรือถูกกดดันทางใดทางหนึ่ง
ทำให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ถอดใจ ยอมยกตำแหน่งนี้
"คืนให้"
แก่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่งผลให้พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหมฺคุตฺโต ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นเพียงชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง
"ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต"
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2550 ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว
พระเถระผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในฝ่ายธรรมยุตยุคปัจจุบันก็คือ พระพรหมมุนี
แม้ว่าจะมียศเพียงรองสมเด็จ แต่มีอำนาจมากกว่าสมเด็จเสียอีก
2. ความอาวุโส
เรื่องความอาวุโสนี้ก็มีความสำคัญ แต่มันยังมีอีกหลายความหมาย เช่น
กฎเกณฑ์การเลื่อนสมณศักดิ์ในยุคหลังๆ มานี้ มีการตั้งเวลาเอาไว้ว่า
"พระที่จะได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์นั้น ต้องได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเดิมมาแล้วไม่ต่ำกว่า
4 ปี"
แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกจนได้ นั่นใช้สำหรับพระที่มีสมณศักดิ์ในระดับล่างๆ
คือตั้งแต่ชั้นธรรมลงไป ส่วนชั้นรองสมเด็จที่จะขึ้นเป็นสมเด็จนี้
กฎเกณฑ์ที่ว่านี้นำมาใช้บังคับไม่ได้โดยเด็ดขาด
เพราะมันเป็นเหตุผลพิเศษ
ที่ว่าเป็นเหตุผลพิเศษนั้นก็เพราะว่า
ถ้ามีสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งมรณภาพ
ส่วนรองสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ ก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง
คือหมายถึงว่ายังมีอายุพรรษาในตำแหน่งใหม่ไม่ครบ 4 ปี
แล้วจะรอให้มีอาวุโสครบ 4
ปีเสี่ยก่อนจึงค่อยเสนอขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะนั้น ยังงี้ไม่ไหว
เพราะนอกจากจะเสียเปรียบนิกายอื่นแล้ว ก็ยังทำให้เสียอะไรหลายๆ อย่าง
เพราะอย่าลืมว่า ถ้าเบื้องบนไม่ขยับ เบื้องล่างจะเขยื้อนได้อย่างไร
การที่มีพระมหาเถระเลื่อนขึ้นไปในระดับสูง
ย่อมส่งผลให้มีการเลื่อนตำแหน่งในระดับล่างๆ อีกนับสิบตำแหน่ง
เลือดลมก็จะหมุนเวียนทำให้ร่างกายสดชื่น จิตใจก็จะแจ่มใส
รูปที่รอเลื่อนก็ยิ่งแจ่มใส เหมือนไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียว คล้ายๆ
การจราจรนั่นแหละ ถ้ารถคันหน้าไม่ขยับ คันหลังจะเขยื้อนได้อย่างไร
ใครไม่เชื่อก็ไปถามตำรวจ สน.พลับพลาชัยดูสิ ว่ามหานรินทร์พูดจริงไหม
ดังนั้น ตามกฎจราจร ถ้ามีรถติด เขาต้องไปดูที่รถคันหน้าว่าติดเพราะอะไร
ทำไมไม่ไป และจะทำอย่างไรให้คันหน้าไปได้ก่อน
จึงค่อยพิจารณาถึงคันหลังๆ ไม่มีตำรวจคนไหนไล่รถคันหลังก่อนคันหน้า
เพราะรถไม่ใช่ควายจะได้ไล่จากข้างหลัง
ส่วนใครไล่ควายจากด้านหน้าก็แสดงว่าเซ่อซ่าสุดๆ
นอกจากจะไล่ควายไม่ไปไหนแล้วก็อาจจะโดนควายขวิดเอาอีกด้วย
เรื่องนี้ขอร้องว่าอย่าเถียง
เพราะมหานรินทร์เคยเป็นเด็กเลี้ยงควายมาก่อนจึงรู้เรื่องไล่ควายดีไม่น้อยกว่าวงดนตรีคาราบาวแน่นอน
ข่มเขาควายให้กินหญ้าก็เคยทำมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ สู้
"สหายสนธิ" ไม่ได้
กำลังจะข่มคนไทยให้กินประชาธิปไตยกึ่งคอมมิวนิสต์ จนสติแตกอยู่เห็นๆ
กูละเบื่อ
แต่แม้ว่าจะตัดปัญหาเรื่องอาวุโสออกไป
ก็ยังต้องติดเรื่องอาวุโสในลำดับของรองสมเด็จพระราชาคณะแต่ละรูปแต่ละองค์อีก
คือว่า ถ้านับในลำดับพระเถระที่ขึ้นดำรงตำแหน่งรองสมเด็จพระราชาคณะแล้ว
พระเถระรูปใดได้เป็นรองสมเด็จก่อน
ก็ย่อมจะมีสิทธิ์อ้างเอาความอาวุโสเป็นเหตุผลต่อรองขึ้นเป็นสมเด็จก่อนรูปอื่นๆ
ที่มาทีหลัง แต่ทั้งนี้แหละทั้งนั้นมันก็บ่แน่ดอกนาย เพราะหลายๆ
ครั้งในอดีตก็มีบทเรียนให้เห็นว่า
"มีการข้ามอาวุโส" มาแล้ว จนร่ำๆ
จะมีการประท้วงกันด้วยซ้ำไป
ที่ไม่ได้ดั่งใจก็ให้ลูกศิษย์เขียนหนังสือด่าโดยไม่กล้าใส่ชื่อจริง นี่ขนาดว่าคนไม่มีกิเลสตัณหานะ ถ้ามีนิดๆ
จะขนาดไหน ดังนั้น อย่าแปลกใจเลยว่า
สาเหตุใดนักการเมืองเขาถึงแย่งกันจะเป็นจะตาย
ก็ขนาดพระสงฆ์บางรูปพอไม่ได้เป็นยังเสียอกเสียใจร้องไห้ฟูมฟายน่ะ
จะให้บอกหรือไม่ล่ะว่าชื่ออะไร ?
แหมพูดเล่น
ไม่มีใครเขาพูดความจริงกันหรอก เรื่องพรรค์อย่างนี้น่ะ
เอาไว้คุยกันหลังไมค์ดีกว่านะ หุหุ...
เอาละ จะเอาพระราชาคณะชั้นหิรัณยบัฎหรือชั้นรองสมเด็จฯ
ผู้มีสิทธิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะในฝ่ายธรรมยุตมาเปิดเผยกันตรงนี้เลย
ได้แก่...

พระศาสนโสภณ
(อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
1. พระศาสนโสภณ (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470
ปัจจุบันอายุ 82 ปี
วัดราชบพิธนั้นเป็นวัดที่บรรจุพระอัฐิของราชวงศ์จักรีเป็นส่วนใหญ่
(พระอัฐิรัชกาลที่ 2-3-4-5-7
พระอัฐิสมเด็จย่าและคุณพุ่ม เจนเซน) แถมยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5
วัดนี้จึงผูกพันกับในรั้วในวังไม่ด้อยไปกว่าวัดบวรนิเวศวิหาร
ถือว่าเป็นวัดหลักของธรรมยุตอีกวัดหนึ่งก็ว่าได้
วัดนี้จึงมีสมเด็จพระราชาคณะไม่เคยว่างเว้น รูปไวๆ นี้ก็คือ
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี
(ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.6)
เพิ่งมรณภาพไปในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมานี่เอง แถมพระศาสนโสภณยังมีอาวุโสในสายธรรมยุตสูงสุดกว่าเพื่อน
ก็ย่อมมีสิทธิ์ได้เป็นสมเด็จอย่างค่อนข้างที่เรียกว่า
"ร้อยเปอร์เซ็นต์"

พระพรหมเมธี
(สมชาย วรชาโย ป.ธ.8)
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
2. พระพรหมเมธี (สมชาย วรชาโย ป.ธ.8) วัดเทพศิรินทราวาส แขวงเทพศิรินทร์
กรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2490 ปัจจุบันอายุ 61 ปี
ได้เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2543
เจ้าคุณสมชายนั้น นับว่าเป็นพระหนุ่มไฟแรงแห่งยุค ร้อนพอๆ
กับพระพรหมสุธี หรือท่านเจ้าคุณเสนาะแห่งวัดสระเกศ
ขึ้นเป็นรองสมเด็จแบบพรวดพราด เลยมาติดไฟแดงในเรื่องของ
"โควต้า"
เนื่องเพราะว่า สมเด็จพระราชาคณะนั้นเป็นเรื่องของบุญญาวาสนาอันสูงส่งสุดยอด
วัดใดวัดหนึ่งไม่ว่าจะใหญ่ระดับไหน จะมีสมเด็จพระราชาคณะซ้ำซ้อนกันถึง
2 รูปนั้น เป็นการเกินไป เรื่องไม่ไกลในอดีตก็เกิดขึ้นในวัดเทพศิรินทราวาสแห่งนี้แหละ
ตอนนั้นในวัดเทพศิรินทร์มีสมเด็จอยู่แล้ว 1 รูป คือ สมเด็จพระวันรัต (นิรันด์
นิรนฺตโร) เจ้าอาวาส ส่วนรองเจ้าอาวาสวัดคือพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร
ป.ธ.9) ก็เป็นรองสมเด็จอาวุโสสูงสุดในสายธรรมยุต
ครั้นเมื่อมีตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่าง
การจะขยับพระญาณวโรดมขึ้นเป็นสมเด็จรูปที่สองในวัดเทพศิรินทร์จึงทำไม่ได้
ส่งผลให้พระรองสมเด็จวัดอื่นๆ
ซึ่งเป็นรุ่นน้องของพระญาณวโรดมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน
แบบว่าแซงอาวุโส แต่ถ้ามองในเรื่องของวาสนาบารมีก็คงพอจะทำใจได้
พระญาณวโรดมต้องรอแล้วรอเล่า กว่าสมเด็จพระวันรัตจะมรณภาพ
พระญาณวโรดมก็ถูกรุ่นน้องแซงเข้ารับพัดยศสมเด็จไปแล้วถึง 2 องค์ซ้อน
มาครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ว่าเจ้าคุณสมชาย-พระพรหมเมธี จะมีอาวุโส
แต่ก็ติดที่ว่า ในวัดเทพศิรินทร์นั้นยังมีสมเด็จพระญาณวโรดมอยู่แล้วรูปหนึ่ง
ถ้าสมเด็จพระญาณวโรดมยังไม่มรณภาพ
ก็เป็นไปไม่ได้ที่พระพรเมธีจะได้ขึ้นเป็นสมเด็จเป็นรูปที่สอง
งานนี้เห็นทีต้องรอคิวยาว
เพราะสมเด็จพระญาณวโรดมยังคงแข็งแรงออกการออกงานได้
สงสัยจะอยู่ไปอีกเกือบๆ 10 ปีโน่นแหละ ถึงตอนนั้นเจ้าคุณสมชายก็อายุแค่
71 ปีเอง สบายๆ

พระพรหมเมธาจารย์
(คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ.9)
วัดบูรณศิริมาตยาราม กรุงเทพมหานคร
3. พระพรหมเมธาจารย์ (คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ.9) วัดบูรณศิริมาตยาราม
แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เกิดวันที่ 22 ตุลาคม
พ.ศ.2471 ถึงปัจจุบันอายุ 80 ปี ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นรองสมเด็จพระราชาคณะในวันที่
5 ธันวาคม พ.ศ.2547
เจ้าคุณคณิสร์นั้นนับว่าเป็นพระมาแรงแห่งยุค
เอาแค่ชื่อวัดผู้คนก็แทบไม่รู้จักแล้ว ทั้งๆ
ที่อยู่ติดกับสนามหลวงด้านทิศตะวันออก เป็นวัดเล็กๆ เงียบๆ
แต่ต่อไปจะไม่เงียบ เพราะถ้าพระพรหมเมธาจารย์ได้เป็นสมเด็จก็รับรองว่ารถติดแน่
สาเหตุที่พระพรหมเมธาจารย์จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งในสองรูปในปีนี้นั้น
ก็เพราะเจ้าคุณสมชายติดคิวในวัดเทพศิรินทร์ ส่วนวัดราชบพิธนั้นพระศาสนโสภณท่านจองพัดสมเด็จด้ามแรกไปแล้ว
จึงเหลือเพียงด้ามที่สองเท่านั้นที่จะต้องแข่งบารมีกันกับรูปอื่นๆ
ซึ่งถ้าเป็นไปดังว่ามานี้ก็คงจะลงตัว
ยกเว้นแต่มีผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง ซึ่งก็ได้แก่

พระพรหมมุนี
(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศราชวรมหาวิหาร
รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
4.
พระพรหมมุนี
(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นรองเจ้าอาวาสของสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณจุนฑ์เกิดเมื่อวันที่
17 กันยายน พ.ศ.2479 ปัจจุบันอายุ 72 ปี แต่มีอำนาจวาสนาได้ดำรงตำแหน่ง
"รักษาการเจ้าคณะใหญ่
คณะธรรมยุต"
แทนสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช
ทำให้อำนาจในการบัญชาการคณะธรรมยุตทั้งหมดตกอยู่ในมือของพระพรหมมุนี
แถมพระพรหมมุนียังดำรงตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวงอีกต่างหากด้วย
จะกล่าวว่า
ปัจจุบันนี้พระพรหมมุนีมีบทบาทสูงสุดในบรรดาพระสงฆ์ธรรมยุตด้วยกันก็คงว่าได้ไม่ผิด
ถ้าไม่ติดเรื่องโควต้าว่า
"ในวัดบวรนิเวศวิหารจะมีสมเด็จพระราชาคณะ 2
รูป ไม่ได้" ด้วยอำนาจและอิทธิพลของวัดบวรนิเวศ วัดหลักของคณะธรรมยุต
ก็อาจจะมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ให้พระพรหมมุนี
ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในวันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้
ทั้งนี้เพราะสามารถจะอธิบายได้ว่า ตำแหน่งสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช นั้น เป็นตำแหน่งพิเศษ มิใช่สมเด็จพระราชาคณะทั่วไป
ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร
ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่ปัจจุบันทรงชราภาพ
เสด็จไปพักรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาเป็นเวลา 5
ปีกว่าแล้ว
การสถาปนาพระพรหมมุนีขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก็คงไม่น่าจะน่าเกลียดอะไร
ถ้าเป็นเช่นนี้ พระพรหมมุนีก็มีสิทธิ์เป็นสมเด็จองค์ใหม่
ซึ่งอาจจะส่งผลให้พระพรหมเมธาจารย์ต้องชวดไป
รูปอื่นใดในปัถพีที่จะเข้าเบียดแซงสุพรรณบัฎในปีนี้เห็นทีจะไม่มีแล้ว
ส่วนในด้านมหานิกายนั้น
เนื่องเพราะสมเด็จพระราชาคณะยังไม่ว่าง
ทุกรูปทุกองค์ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ก็จึงไม่มีตำแหน่งที่น่าสนใจ
ถ้าจะมีก็เพียงตำแหน่ง
"เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม
จังหวัดฉะเชิงเทรา"
เท่านั้น เพราะวัดที่ว่ารวยที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ มีการรักษาการโดยพระพรหมสุธี
หรือท่านเจ้าคุณเสนาะ วัดสระเกศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 หลังจากการปลด
"พระราชมงคลวุฒาจารย์"
ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด บัดนี้ก็ร่วม 5 ปีแล้ว
วัดใหญ่มีผลประโยชน์มากเป็นอันดับต้นๆ
ของประเทศไทยแห่งนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ
หรือว่าจะให้ท่านเจ้าคณะเสนาะรักษาการไปจนเรื่อยๆ เช่นนี้
ถามว่า เพราะสาเหตุใด ?
เปิดโผเจ้าคุณ ปี
51
ธรรมยุตงดเสนอตั้ง 2 สมเด็จฯ
ขณะที่มหานิกายก็ไม่มีอะไรหวือหวา
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
มหาเถรสมาคมจะมีการประกาศรายนามพระเถรานุเถระที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติ
บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาให้ได้รับการเสนอชื่อเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์
โดยการเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ประจำปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 75 รูป
แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย จำนวน 56 รูป ฝ่ายธรรมยุต จำนวน 19 รูป
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า สำหรับโควตาสมณศักดิ์ในปีนี้
ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 2 รูป รองสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 3 รูป
พระราชาคณะชั้นธรรม จำนวน 3 รูป พระราชาคณะชั้นเทพ จำนวน 6 รูป
พระราชาคณะชั้นราช จำนวน 15 รูป และพระราชาคณะหรือเจ้าคุณใหม่ จำนวน 48 รูป
คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย จำนวน
56
รูป ที่ได้เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์
ได้แก่
พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ มี 2 รูป คือ
1. พระธรรมวิมลโมลี
วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา เป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
2. พระธรรมปริยัติโมลี วัดทินกรนิมิต จ.นนทบุรี เป็น พระธรรมวโรดม
พระราชาคณะชั้นธรรม 2 รูป คือ
1.
พระเทพวิสุทธิเมธี วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. เป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี
2. พระเทพคุณาภรณ์ วัดสังเวชวิศยาราม กทม. เป็น พระธรรมสิทธิเวที
พระราชาคณะชั้นเทพ 4 รูป คือ
1. พระราชปริยัติสุธี วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี เป็น พระเทพสุวรรณโมลี
2. พระราชพัชราภรณ์ วัดมหาธาตุ จ.เพชรบูรณ์ เป็น พระเทพรัตนกวี
3. พระราชวรเมธี วัด เทพธิดาราม กทม. เป็น พระเทพวิสุทธิเมธี
4. พระราชสุธี วัดเทวราชกุญชร กทม. เป็น พระเทพคุณาภรณ์
พระราชาคณะชั้นราช 12 รูป คือ
1. พระเมธีรัตโนดม วัดคลองเกตุ จ.ลพบุรี เป็น พระราชปริยัติสุธี
2. พระสรภาณโกศล วัดกาญจนสิงหาสน์ กทม.เป็น พระราชสุทธิญาณ
3. พระปิฎกคุณาภรณ์ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน เป็น พระราชปัญญาโมลี
4. พระโสภณพุทธิธาดา วัดหลวงอรัญญ์ จ.สระแก้ว เป็น พระราชธรรมภาณี
5. พระวิกรมมุนี วัดคีรีวงศ์ จ.นครสวรรค์ เป็น พระราชพรหมาจารย์
6. พระศรีรัตนมุนี วัดโพธินิมิตสถิตมหาสีมาราม กทม. เป็น พระราชสุธี
7. พระเมธีกิตยาภรณ์ วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็น พระราชปริยัติมุนี
8. พระเมธีวราภรณ์ วัดเขาวัง จ.เพชรบุรี เป็น พระราชวรเมธี
9. พระสุนทรปริยัติเมธี วัดศรีสระแก้ว จ.หนองบัวลำภู เป็น พระราชรัตโนบล
10. พระสุขุมวาทวาที วัดป่าพุทธมงคล จ.กาฬสินธุ์ เป็น พระราชศีลโสภิต
11. พระพิศาลพัฒโนดม วัดยาง กทม.เป็น พระราชพัฒโนดม และ
12. พระสุนทรธรรมสมาจาร วัดไพชยนต์พลเสพย์ จ.สมุทรปราการ เป็น พระราชมงคลมุนี
สำหรับพระราชาคณะชั้นสามัญ 36 รูป ประกอบด้วย
1. พระมหาขวัญรัก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เป็น พระศรีรัตนมุนี
2. พระมหาชำนาญ วัดกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็น พระรัตนเวที
3. พระครูมงคลเขมคุณ วัดศรีสุมังคล์ จ.หนองคาย เป็น พระสุนทรธรรมธาดา
4. พระครูสุมนวุฒิธรรม จ.เลย เป็น พระไพโรจน์ธรรมาภรณ์
5. พระครูวิชานวรวุฒิ วัดสังฆาราม จ.สุโขทัย เป็น พระสุขวโรทัย
6. พระครูอนุศาสน์ธรรมกิจ จ.แม่ฮ่องสอน เป็น พระญาณวีรากร
7. พระครูกุมภวาปีคณารักษ์ วัดศรีนคราราม จ.อุดรธานี เป็น พระโสภณพุทธิธาดา
8. พระครูอุดมธรรมโชติ วัดทองดีประชาราม จ.นราธิวาส เป็น พระโสภณคุณาธาร
9. พระครูวิจารณ์ธรรมคุณ วัดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็น พระมงคลวรากร
10. พระมหาบุญทัน วัดทุ่งสว่าง จ.ศรีสะเกษ เป็น พระศรีธรรมาภรณ์
11. พระมหาวิสูติ วัดโค้งสนามเป้า จ.จันทบุรี เป็น พระศรีศาสนโมลี
12. พระมหาสวี วัดมงคลทับคล้อ จ.พิจิตร เป็น พระปิฎกคุณาภรณ์
13. พระครูศรีปริยัติธำรง วัดหนองเป็ด จ.อุบลราชธานี เป็น
พระสุนทรปริยัติเมธี
14. พระครูศรีปริยัติสาทร วัดโพธิ์ชัยศรี จ.อุดรธานี เป็น พระภาวนาวิมล
15. พระครูสุธีปริยัตโยดม วัดชัยศรี จ.ขอนแก่น เป็น พระอุดมปัญญาภรณ์
16. พระครูประสิทธิ์รัตนคุณ วัดชุมพลนิกายาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น
พระญาณรังสี
17. พระครูไพศาลคณารักษ์ วัดไร่ขิง จ.นครปฐม เป็น พระพิมลสมณคุณ
18. พระครูสิริชัยคุณ วัดสะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็น พระศีลวัตรวิมล
19. พระครูสุนันท์คุณาภรณ์ วัดหนองโว้ง จ.สุโขทัย เป็น พระพิศาลพัฒโนดม
20. พระครูไพศาลพัฒนายุต วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ เป็น พระวิสิฐพัฒนวิธาน
21. พระครูนนทสารวิสิทธิ์ วัดภคินีนาถ กทม. เป็น พระมงคลสิทธิญาณ
22. พระครูภัทรกิจโสภณ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น พระพุทไธศวรรย์วรคุณ
23. พระครูปริยัติกิตติคุณ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา เป็น พระสุนทรกิตตคุณ
24. พระมหาสมจินต์ วัดปากน้ำ กทม. เป็น พระศรีคัมภีรญาณ
25. พระมหาชอล วัดชนะสงคราม กทม. เป็น พระสุธีปริยัติธาดา
26. พระมหาสุทัศน์ วัดโมลีโลกยาราม กทม. เป็น พระเมธีวราภรณ์
27. พระมหาขวัญชัย วัดหนัง กทม. เป็น พระวิเชียรโมลี
28. พระมหาบุญเทียม วัดพิชยญาติการาม กทม. เป็น พระศรีสุธรรมมุนี
29. พระมหาวันชัย วัดบึง จ.นครราชสีมา เป็น พระเมธีรัตโนดม
30. พระมหาทองคำ วัดเบญจมบพิตรฯ กทม. เป็น พระปริยัติธรรมธาดา
31. พระครูปลัดสุวัฒนพรหมวุฒิคุณ วัดไตรมิตรวิทยาราม กทม. เป็น พระสรภาณโกศล
32. พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ วัดมหาธาตุ กทม. เป็น พระสิทธินิติธาดา
33. พระมหาชวลิต วัดราชสิงขร กทม. เป็น พระปริยัติธรรมสุนทร
34. พระครูสีลวัฒนาภิรม วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี เป็น พระปัญญานันทมุนี
35. พระ ครูอดุลพิทยาภรณ์ วัดบางประทุนนอก กทม. เป็น พระมงคลวราภรณ์ และ
36. พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ วัดพิพิธประสาทสุนทร จ.ฉะเชิงเทรา เป็น พระพุทธรังษี
ส่วนการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะซึ่งสังกัด
คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง เนื่องจากการมรณภาพของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี
วัดราชบพิธฯนั้น ปรากฏว่าคณะกรรมการฝ่ายบริหารฝ่ายธรรมยุต
ที่มีพระพรหมมุนีผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน
ไม่ได้มีการเสนอรายนามรองสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง
เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะแทนโควตาที่ว่าง
ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่ได้มีการกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระราชาคณะ 2
รูป ที่ได้มรณภาพลง
ดังนั้นจึงไม่มีการนำเสนอรายชื่อรองสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นสมเด็จพระราชา
คณะให้กับคณะกรรมการมหาเถรสมาคมพิจารณา
จึงมีเพียงการเลื่อนและตั้งรองสมเด็จพระราชาคณะลงไปจนถึงพระราชาคณะ จำนวน 19
รูปเท่านั้น ดังนี้
คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จำนวน 19 รูป ที่ได้เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์
มีพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ 1 รูป คือ
1. พระธรรมธัชมุนี วัดธรรมบูชา จ.สุราษฎร์ธานี เป็น พระสุธรรมาธิบดี
พระราชาคณะชั้นธรรม 1 รูป คือ
1. พระเทพปัญญามุนี วัดปทุมวนาราม กทม. เป็นพระธรรมธัชมุนี
พระราชาคณะชั้นเทพ 2 รูป คือ
1. พระราชสารเวที วัดพระศรีมหาธาตุ กทม. เป็นพระเทพวราลังการ
2. พระราชสังวรญาณ วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา เป็นพระเทพวิสุทธิญาณ (วิ.)
พระราชาคณะชั้นราช 3 รูป คือ
1. พระปัญญาวิสุทธิโมลี วัดโสมนัส ราชวรวิหาร กทม. เป็นพระราชศีลโสภณ
2. พระอุดมศีลคุณ วัดบุปผาราม กทม. เป็นพระราชวรญาณ
3. พระสุทธิสารเมธี วัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระราชสารเวที
พระราชาคณะชั้นสามัญ 12 รูป ประกอบด้วย
1. พระครูอดุลธรรมาภิวัฒน์ วัดราษฎร์โยธี จ.พังงา เป็น พระปัญญาวิสุทธิคุณ
2. พระครูจิตรการโกวิท วัดสุวรรณจินดา จ.ปทุมธานี เป็น พระวิมลญาณเถร
3. พระมหาสมเกียรติ วัดกลาง จ.ลพบุรี เป็น พระกิตติญาณเมธี
4. พระครูวินิวรกิจพิมล วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี เป็น พระวิบูลธรรมาภรณ์
5. พระมหาอาชว์ วัดตรีทศเทพ กทม. เป็น พระชินวงศเวที
6. พระครูปลัดสุวัฒนปัญญาคุณ วัดราชผาติการาม กทม.เป็น พระปริยัติสารเมธี
7. พระครูโสภณศาสนกิจ วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. เป็น พระสุทธิสารเมธี
8. พระครูสุภัทรวิหารกิจ วัดบรมนิวาส กทม.เป็น พระปริยัติสารคุณ
9. พระครูปลัดสุวัฒนเมธาคุณ วัดบุรณศิริมาตยาราม กทม.เป็น พระพิศิษฏ์ธรรมภาณ
10. พระครูปลัดวราวุฒิ วัดสัมมาชัญญาวาส กทม. เป็น พระวิบูลธรรมาภาณ
11. พระ ครูบวรกิจโกศล วัดชายนา จ.เพชรบุรี เป็น พระพุทธวิริยากร
12. พระครูปลัดสุวัฒนเมตตาคุณ วัดป่ามัชฌิมาวาส จ.กาฬสินธุ์ เป็น
พระโพธิญาณมุนี
|