ผู้นำ

 

     วันนี้มีธรรมะสากัจฉา (การสนทนาในทางธรรม) เรื่อง ผู้นำ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในแทบทุกวงการบ้านเรา ทั้งผู้นำในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งตำแหน่งหลังนี้รู้สึกจะร้อนแรงมาก เพราะว่าเป็นผู้คุมอำนาจในประเทศไทยตัวจริงเสียงจริง จริงยิ่งกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นี่เป็นเรื่องจริง เพราะตำแหน่งนี้แหละที่สามารถขับไล่ผู้นำในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้มีคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนต้องระหกระเหินเดินดงเป็นพระรามในรามเกียรติ์ ท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ดังนั้นตำแหน่งผู้นำดังกล่าวมานี้จึงมีความสำคัญยิ่งยวด ถ้าไม่พูดถึงก็แสดงว่าไม่รู้ว่าสิ่งไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ แสดงว่าผู้เขียนก็เป็นนักเขียนที่ใช้ไม่ได้

     กล่าวตามหลักภาษาบาลีแล้ว คำว่าผู้นำนั้นแปลมาจากคำว่า "นายก" หรือ "ปริณายก" สำเร็จรูปมาจาก "ณี" ธาตุ ในความนำไป ณวุ ปัจจัย แปลง อี ที่ ณี เป็น อาย ก็เปลี่ยนรูปเป็น ณาย และแปลง ณวุ เป็น อก บวกเข้าเป็น ณายก และแปลงเป็นไทยอีกที คือแปลง เป็น จาก ายก ก็เป็น ายก ส่วนศัพท์ที่ใช้ในทางสงฆ์นั้นยังคงรูปเดิมเป็น ณายก เช่น ปริณายก แปลว่า ผู้นำรอบ (ปริ แปลว่า รอบ) ศัพท์ดังกล่าวนี้ใช้ในตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" จึงจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระสังฆราชนั้นคือตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์ไทย มิใช่เจว็ด หรือตุ๊กตาบนศาลพระภูมิ

     สิ่งที่ถกเถียงกันในปัจจุบันนั้น ก็ว่ากันตั้งแต่ว่า เราต้องการใครเป็นผู้นำ ระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ไล่ไปจนถึงเรื่องคุณสมบัติของผู้นำว่า ควรเป็นคนเช่นไร เก่งในทางไหน หรือการตั้งบรรทัดฐานว่า ผู้นำนั้นควรเป็นคนดี เก่ง ระดับไหน เพียงใด ฯลฯ พอพูดๆ ไปก็เหมือนปัญหาโลกแตก เพราะต่างคนก็ต่างความคิด กลายเป็นนานาจิตตังไป

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความจำเป็นต้องพูด ก็ต้องพูด ถ้าไม่พูดก็แสดงว่าไม่รู้กาละเทศะ คือไม่รู้จักเวลาและสถานที่ เวลานี้ ประเทศไทยเรามีปัญหาในหลายๆ เรื่อง แต่เรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องผู้นำ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมทาส จึงต้องการผู้นำ ถ้าได้ผู้นำไม่ดี ประเทศชาติก็ย่ำแย่ แต่ถ้าได้ผู้นำดี ถึงแม้ผู้ตามไม่ดี ก็สามารถนำพาประเทศชาติไปรอดปลอดภัย เพราะคนไทยเขาฝากความหวังทั้งสิ้นทั้งปวงไว้กับผู้นำ

     ทีนี้การจะพูดเรื่องผู้เรื่องคนหรือเรื่องตัวบุคคลนั้น ท่านว่ายังเป็นเรื่องปัจเจก คือเฉพาะเจาะจง มิใช่เรื่องของส่วนรวม ดังนั้น ในการสนทนาท่านก็จะไม่นิยมยกตัวบุคคลขึ้นมากล่าว เพราะจะเป็นการพาดพิงให้เสียหาย หรือบางทีก็ยกย่องกันเกินจริง ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าผู้พูดนั้นเป็นใคร ได้รับผลดีหรือเสียจากบุคคลนั้นอย่างไร ถ้ามิได้พิจารณาในความสัมพันธ์กันเช่นนี้ก็ยากจะชี้ได้ว่า บุคคลที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการเสวนานั้นดีจริงหรือดีปลอม เผลอๆ จะมีหน้าม้าปลอมตัวมาพูดเพื่อเชียร์บุคคลนั้นด้วย

     ก็นี่แหละสิ่งที่พึงสังวรระวังในการพูดเกี่ยวกับตัวบุคคล ดังนั้น ตามหลักสากลนิยมจึงไม่นิยมพูดถึงตัวบุคคล แต่จะพูดถึงฐานะตำแหน่งนั้นๆ ว่าผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนั้นๆ ควรมีคุณสมบัติทั้งส่วนตัวและส่วนรวมอย่างนี้ๆ เช่นนี้น่ะเหมาะสมกว่า เพราะพูดถึงฐานันดร มิได้พูดถึงใครเป็นการเฉพาะ แม้ว่าการพูดถึงบุคคลบางคนนั้นจะเป็นการพูดเพื่อยกย่องบุคคลนั้น แต่ถ้าหากว่าบุคคลนั้นมีศัตรูคู่แค้นอยู่ด้วย ก็เท่ากับว่าไปสร้างความขุ่นใจให้แก่คู่แค้นของบุคคลที่เรายกย่อง มันมีมุมมองที่ต่างกันตรงนี้ ดังนั้น ก็อย่าพูดถึงตัวบุคคลเลยดีกว่า ดังในกฎแห่งการแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงกำหนดไว้ว่า

    การแสดงธรรมที่ดีนั้น ผู้แสดงธรรมต้อง

1. แสดงธรรมตามลำดับไปไม่ลัดข้อความให้ผู้ฟังสับสน

2. อ้างเหตุอ้างผลมาประกอบอย่างพร้อมมูลให้ผู้ฟังได้รับฟัง จะได้รู้เหตุรู้ปัจจัยมิใช่มั่วนิ่ม เช่นตั้งชื่อรุ่นว่า รวยโดยไม่มีเหตุผล อย่างนี้ถือว่าผิดหลักการพูดที่ดี คนพูดก็โง่ คนฟังแล้วเชื่อตามก็ยิ่งโง่

3. ต้องตั้งจิตเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น มิใช่พูดด้วยความแค้น แสดงธรรมด้วยความโกรธ หรือเกลียดใครเป็นการส่วนตัว อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าแสดงธรรม แต่อาจเรียกว่าไฮปาร์ค คือการพูดเพื่อโจมตี สร้างความเกลียดชังโดยใช้ธรรมาสน์ของพระพุทธเจ้าเป็นเวทีทำร้ายคู่ต่อสู้ (ก็ไม่รู้ว่าเคยมีหรือเปล่านะ แต่ตรงนี้ไม่ขอยกตัวอย่าง ประเดี๋ยวจะว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง)

4. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ คือว่าไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง แต่เห็นแก่ความถูกต้องดีงาม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประโยชน์ต่างตอบแทน เช่น ได้ตำแหน่ง ได้ค่าจ้างหรือกัณฑ์เทศน์มาก ผู้ที่นิมนต์ไปพูดนั้นเป็นศิษย์วัดนี้ จึงต้องเทศน์เชียร์พรรคโน้นพรรคนี้ เป็นต้น (ตรงนี้ก็ไม่ขอยกตัวอย่างอีก แม้ว่าจะคลับคล้ายคลับคลาว่ามีคนเคยทำก็ตาม แต่ก็อย่าไปรู้เลยนะ ขอผ่านไปละกัน)

5. ต้องไม่แสดงธรรมกระทบตนเองและผู้อื่น คือไม่ยกตนข่มท่าน ไม่กระทบกระเทียบเปรียบเปรยใคร แม้แต่ตัวเองก็ไม่ให้ยก เพราะยกแล้วถึงจะดีคนก็จะหาว่ายกก้น ระฆังนั้นถึงจะคุณภาพดีอย่างไรก็ย่อมไม่ดังเอง ระฆังหรือกลองลูกไหนไม่ถูกคนตีแต่ดันมีเสียงได้เอง อย่างนี้ท่านถือว่าเป็นระฆังผีเป็นกลองอัปรีย์ มีไว้ก็เป็นกาลกิณีแก่บ้านเรือน ท่านให้ทำลายทิ้ง คนพูดยกก้นตนเองก็เช่นเดียวกันกับระฆังและกลองดังกล่าวแล้ว ดังโคลงโลกนิติที่ว่า

                                          เขาบ่เรียกสักหน่อยขึ้น          เคหา

                                          ท่านบ่ถามเจรจาทำ              อวดรู้

                                          ยกตนอหังการ์                     เกินเพื่อน

                                         สามลักษณะนี้ผู้                    เผ่าร้ายฤามี

 

นั่นแหละ และอีกอย่างถ้าพูดยกยอตัวเองแล้ว ผู้ฟังเห็นไม่ดี ไม่สมศักดิ์ศรีที่พูด ผู้พูดก็จะถูกตำหนิเอาได้ว่า ดีแต่พูด เข้าในสำนวนเมืองเหนือว่า กำปากอย่างผีสอน ผ่อตี้นอนมีก้าเยี่ยว แปลว่า คำพูดนั้นดีเหมือนผีเจาะปากพูด แต่ดูที่ที่นอนหรือมีแต่ฉี่เหม็นคลุ้งเต็มไปหมด ดังนั้นเรื่องกริยามารยาทจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พึงสำเนียกให้จงหนักสำหรับนักเทศน์ ดังคำกล่าวที่ว่า "ต้องล้างเท้าก่อนขึ้นธรรมาสน์" นั่นแหละ เพื่อผู้ฟังจะได้สบายใจ ไม่คลางแคลงใจในความเป็นกลาง

     แต่ทั้งนี้ ในข้อนี้มิใช่ว่า ที่ไม่พูดนั้นเพราะกลัวหรือมีอะไรปิดปากไว้จึงไม่พูด ไม่พูดเพราะเห็นแก่หน้าผู้ฟัง ดังนี้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ องค์เทศน์นั้นจะต้องปราศเสียจากอคติทั้ง 4 ข้อด้วย คือ

     1. ลำเอียงเพราะรัก 2.ลำเอียงเพราะเกลียด 3.ลำเอียงเพราะโง่ 4.ลำเอียงเพราะกลัว

      ลำเอียงเพราะรัก คนรักกันยังไงก็ต้องว่าดีอยู่วันยังค่ำ แต่บทได้โกรธหรือเกลียดขึ้นมาละก็เป็นสารเลวไปหมดเหมือนกัน แม้แต่หมูหมากาไก่ก็ไม่ถูกยกเว้น คนพูดบางคนนั้นเป็นคนโง่ เห็นคนฉลาดกว่ามานั่งฟังก็กลัวเขาจะรู้ว่าตัวเองโง่ เลยพูดยกย่องเขาซะซึ่งๆ หน้า และท้ายนั้นเพราะกลัวเจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้มีอิทธิพลข่มขู่ จึงเลี่ยงไปไม่พูดถึง สิ่งที่พูดถึงก็ล้วนแต่แง่ดี หรือบางทีก็ทำทีเป็นวางตัวเป็นกลาง ไม่ยอมพูดว่าถูกหรือผิด บอกใบ้ให้ไปอ่านพระไตรปิฎกเอาเอง เป็นต้น

     เห็นไหม ยังมิทันเข้าเรื่อง "ผู้นำ" เลย ก็อ้อมวงเวียนใหญ่ไปหลายร้อยกิโลเมตรอย่างนี้แหละ ท่านจึงเปรียบว่า พระพุทธศาสนานั้นประดุจดังมหาสมุทรสุดหยั่งถึง กระต่ายน้อยตัวกระจ้อยร่อยเช่นเรานะหรือจะบังอาจตรัสรู้ได้หมดสิ้น ยกเว้นแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว

     เอาละ เมื่อผ่านกระบวนการกลั่นกรองว่าด้วยผู้พูดและวิธีการพูดแล้ว ก็จะเข้าเรื่อง "ผู้นำ" กันเสียที

     "ดูคนดี ดูที่การกระทำ ดูผู้นำ ดูที่ความเสียสละ" เป็นอมตะวาทะที่ได้ยินได้ฟังบ่อย สั้นๆ เข้าใจง่าย แต่มันคลุมเครือเกินไปไม่กระจ่าง เพราะถ้าถือเช่นนั้นก็แสดงว่า ใครเสียสละก่อนก็เป็นผู้นำได้ ความหมายในบทข้างต้นนี้น่าจะใช้ได้ดีในกรณีหาประธานจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเสียมากกว่า เพราะถ้าเอามาใช้ในวงการเมืองแล้ว รับรองว่าแจกเงินซื้อเสียงกันแหลกราญ เอาเป็นว่า คาถาข้างต้นนี้ยังไม่ชัดเจนพอที่จะนำมาเป็นคำนิยามคุณสมบัติของผู้นำอย่างชัดเจนได้ เราจึงต้องหาคุณสมบัติอย่างอื่นมาเพิ่มเติม

     ผู้นำต้องเป็นคนดี

     เรื่องความดีนั้นไม่มีใครปฏิเสธ คือว่าต้องมีแน่ๆ เพราะว่าถ้าเป็นคนเลวแล้ว ย่อมไม่มีใครปรารถนาจะได้มาเป็นผู้นำ แต่ความดีของผู้นำนั้นต้องพิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า ดีอย่างไร

     ความดีนั้นมี 2 สถานะ คือ 1.ความดีสัมพัทธ์ และ 2. ดีโดยธรรม

     ความดีสัมพัทธ์ คือดีต่อคนที่ดีตอบต่อเรา เขามีอัธยาศัยใจคอดี เอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อเรา รัก-เข้าใจ เอาใจใส่เรา เราก็ย่อมมองว่าเขาเป็นคนดี แต่บางทีคนที่เราว่าดีๆ นั้น กลับไม่ได้ทำดีต่อบุคคลอื่นๆ ในขณะที่เรายกย่องบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นคนดี ก็ยังมีอีกหลายคนตะโกนด่าว่า สารเลวสารพัด นี่เพราะความดีนั้นเป็นความดีที่ยังแคบ เป็นความดีต่างตอบแทน เป็นความดีที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นตัวตัดสิน เหมือนบางคนเคยพูดไว้นั่นแหละว่า "แม้แต่โจรก็ยังมีคนรัก" ก็เพราะการทำคุณงามความดีชนิดนี้แหละ

    ดีโดยธรรม ดีที่ว่านี้เป็นความดีทั้งส่วนตัวและส่วนรวม มิใช่ดีจับจด เป็นความซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อตนเองและผู้อื่นคือสังคมในวงกว้างที่พิสูจน์ได้อย่างยาวนานในชีวิตหนึ่ง แต่เราจะหาคนดีชนิดนี้ได้ที่ไหน เพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่เพอร์เฟ็ก เพราะถึงที่สุดก็ยังต้องมี "พรรค" มี "นิกาย" ให้สังกัด บางคนถึงกับกล่าวว่า "ความเป็นกลางจริงๆ น่ะ ไม่มีในโลกหรอก" เพราะเขามองในมุมนี้ ใครที่บำเพ็ญตนเป็นคนดีแบบไร้ขอบเขตก็ย่อมจะถูกตราหน้าว่า "ซื้อบื้อ" ดังคำกล่าวที่ว่า "เมตตาเกินประมาณ คนพาลจะเต็มบ้านเต็มเมือง" นั่นแหละ เห็นไหมล่ะว่าการทำความดีหรือการเป็นคนดีนั้นมิใช่เป็นกันง่ายๆ

    จากที่หาคนดีโดยสมบูรณ์ได้ยากเช่นนี้ ก็จึงมีคำถามว่า ลดดีกรีความดีลงมาหน่อยได้ไหม เช่น ดีปานกลาง เอาแค่พองามไม่ขี้ริ้วขี้เหร่มากเกินไป เพราะเราจะหาคนมาเป็นผู้นำ มิใช่หาคนมาเป็นสังฆราช ..บ๊ะ ! เปรียบเปรยซะสะเด็ด !

     ผู้นำต้องเก่ง เป็นอีกคำนิยามหนึ่งซึ่งน่าคิด

    การเป็นผู้นำประเทศนั้น มิใช่แค่นำเดินขบวนอยู่ในสนามกีฬา แต่ต้องนำพาประเทศชาติไปต่อกรต่อสู้กับศัตรูภายนอก เรามีคู่แข่งอยู่เต็มโลก ถ้าได้ผู้นำไม่เก่ง ประเทศชาติของเราก็จะอ่อนด้อย และพ่ายแพ้ เรื่องความเก่งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

    แต่ความเก่งนั้นก็มีหลายทาง เช่น เก่งบริหารการปกครอง เก่งค้าเก่งขาย เก่งภาษา เก่งเจรจาปราศรัย เป็นต้น ถ้าจะเอาให้เก่งเสียทุกทางก็เห็นท่าว่าจะหาผู้นำไม่ได้ซักที ความเก่งในที่นี้ก็จะถูกนำมาจำกัดความให้คับแคบลง เช่นว่า ขณะนี้เป็นยุคค้ายุคขาย ขอคนที่เก่งค้าเก่งขาย ทำให้ประเทศชาติร่ำรวย หรือถ้าประเทศเรารวยแล้ว แต่ฟุ่มเฟือยหรูหรา มีแต่มารยา ไม่มีมารยาท จึงเห็นควรได้คนดีมากกว่าคนเก่ง อันนี้ก็ต้องพิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า ขณะนั้นเวลานั้น ประเทศชาติอยู่ในภาวะอะไร และเราต้องการอะไร จุดไหน จึงจะเข้าใจ เหมือนการใช้เสื้อผ้านั่นแหละ หน้าหนาวก็เทรนด์หนึ่ง หน้าฝรก็เทรนด์หนึ่ง หน้าร้อนก็อีกเทรนด์หนึ่ง ไม่มีใครใช้ "ทั้งกินทั้งเที่ยวชุดเดียวทั้งปี" เหมือนพระภิกษุสามเณรผู้พยายามตัดกิเลสตัณหา ถ้าอย่างนั้นโลกนี้ก็ไม่มีความพัฒนา

     ผู้นำก็เช่นกัน คือต้องมาตามสภาวการณ์ แน่นอนว่า บางคนนั้นเป็นผู้นำที่ดีได้ในบางขณะ เช่น คนที่กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ จนกระทั่งบ้าบิ่นนั้น เราต้องการอย่างยิ่งในภาวะที่บ้านเมืองไม่สงบ เกิดสงครามโลก เป็นต้น แต่ในยามปกติ เราต้องการผู้นำในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ต้องนำเอาเหตุปัจจัยมาผสมผสานกันให้ลงตัวให้มากที่สุด เหมือนๆ กับคำนิยมที่ใช้ในการตลาดนั่นแหละว่า ต้องเข้ากันได้ทั้งดีมานและซัพพลาย คือต้องลงตัวทั้งด้านความต้องการและการสนองตอบ ที่เรียกว่า "อุปสงค์-อุปทาน" นั่นเอง

     ในนิยามเรื่องความเก่งของผู้นำนั้น ยังรวมถึงคำว่า "วิสัยทัศน์" คือความมีสายตากว้างยาวไกล สามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำ (แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอดู) แล้วนำมาตระเตรียมไว้ป้องกันประเทศชาติมิให้เกิดความสูญเสีย รวมไปถึงการกล้าลงทุนในโครงการที่มีอนาคต แต่ข้อนี้ก็มีข้อเสีย เพราะว่าผู้นำหลายๆ คนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลเกินไป คือเก่งเกินไป ในขณะที่ผู้ตามนั้น "สายตาสั้น สมองก็ทื่อ" ผู้นำคนนั้นก็อาจจะถูกศัตรูในทางการเมืองทำร้ายได้ โดยการกลั่นแกล้งในทางการเมือง เช่นว่า เป็นคอมมิวนิสต์ คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น คนดีๆ ในสังคมไทยที่ไม่ยอมตายในเมืองไทย ก็เพราะเข็ดขยาดกับการลอบกัดในแนวนี้แหละ

     ปัญหาเรื่องความดีและความไม่ดีของผู้นำที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งในประเทศไทยเรานั้น สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เราสูญเสียบุคคลากรที่สำคัญไปอย่างน่าเสียดายก็คือว่า กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยนั้นไม่ได้มาตรฐาน ดังเราจะเห็นได้ว่า เวลาบุคคลนั้นมีอำนาจวาสนา ไม่ว่าตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล หรือเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ ตั้งแต่หางแถวไปยันหัวแถว ล้วนแต่หลับตาขดคู้ไม่รู้ไม่เห็น พอคนๆ นั้นหมดอำนาจวาสนา ทีนี้ละก็มีข้อหานับร้อยนับพัน เผลอๆ ถ้าเคย "ตด" ให้คนได้ยินหรือได้กลิ่น ก็คงถูกตั้งเป็นข้อหาว่าทำลายสภาพแวดล้อมด้วยก็เป็นได้ นี่แหละความไม่สมเหตุสมผลในสังคมไทย

 

   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแทบว่าเป็นการบริภาษ คือดุ เอากับคณะตุลาการผู้ใหญ่ที่เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทีได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง อย่างดีที่สุด ฯลฯ พระองค์ตรัสตอบว่า "แล้วประเทศชาติบ้านเมืองเรื่องการเลือกตั้งซึ่งเกิดปัญหาในเวลานี้ เป็นหน้าที่ของพวกท่านด้วยหรือเปล่า ถ้าทำได้ก็ขอบใจว่าทำได้ดังปฏิญาณจริง แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้ลาออกไปเสีย เพราะเสียสัตย์" เพราะถ้าผู้พิพากษา-ตุลาการ ไม่ยอมทำหน้าที่ชี้ผิด-ชี้ถูก แล้ว ก็เหมือนว่าประเทศไทยมีแต่กติกา แต่ไม่มีกรรมการ ก็ปล่อยให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายตีความเข้าข้างตัวเองว่า "กูถูก มึงผิด" ลามปามไปจนถึงกองเชียร์ก่อม็อบเข้าตะลุมบอนกัน เป็นการเอาชนะกันแบบคนป่าคนเถื่อน แล้วจะเชื่อได้อย่างไรกว่า ประเทศไทยเรามีความศิวิไลซ์

     นั่นนับเป็นพระอัจฉริยภาพที่ประชาชนคนไทยทุกคน ควรนำเอาพระราชดำรัสนั้นมาอ่านและตรึกตรองให้ถ่องแท้ จะได้เข้าใจว่า ประชาธิปไตยนั้นจะต้องหาข้อยุติที่มีเหตุผลให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยปะละเลย ดูสิ หลังจากมีพระราชดำรัสออกไปแล้ว ศาลทั้งสามได้ประชุมกันพิพากษาคดีในทางการเมือง ทุกเรื่องทุกราวก็เข้าสู่กระบวนการ แม้จะมีคนไม่ชอบใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับคำตัดสินนั้นโดยดุษณีย์

   สรุปก็คือว่า กระบวนการยุติธรรมในบ้านเรานั้น ผีเข้าผีออก บางเวลาก็อ่อนล้าแทบว่าไม่ทำงาน หรือทำงานเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ปล่อยให้ปลาตัวใหญ่ลอดแหไปหมด จับได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย ดังคำพังเพยที่ว่า "ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเห็น" หรือบางทีก็ขยันเหลือเชื่อ สามารถตั้งข้อหาได้วันละสามสี่เวลา ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น แถมยังคิดข้อหาพิเศษได้ในเวลาก่อนนอนอีก เหมือนคนทรงเจ้า เวลาผีเข้าก็จะชักกระตุก รู้ทุกเรื่อง ปราดเปรื่องทุกแนว แต่พอผีออกละก็หมดเรี่ยวหมดแรง แม้แต่จะลุกยืนเองก็ยังไม่ได้

    ปัญหาหนึ่งซึ่งต้องนำมาพิเคราะห์ร่วมด้วยก็คือว่า "ความเป็นกลางของกรรมการตัดสิน" ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการ ผู้พิพากษา หรือ กกต. ว่า มีความเป็นกลางจริงหรือเปล่า โดยเราจำต้องนำเอา "อคติ 4 ข้อ" ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาเป็นหลักในการตัดสิน ผิดจะได้ว่าไปตามผิด ถูกจะได้ว่าไปตามถูก แต่ครั้งหนึ่งนั้น กระบวนการยุติธรรมในบ้านเราถูกตั้งข้อหาว่า "โดนเซ้ง" คือว่าถูกซื้อยกชุด จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างกระดำกระด่าง เป็นนอมินี ไม่โปร่งใส ถึงจะสวมชุดครุยของผู้พิพากษา แต่คำพิพากษากลับออกมาจากลิ้นสุนัข จึงไม่มีใครเชื่อน้ำยา ผลสุดท้ายก็ล้มละลายในทางสังคม "กระบวนการสรรหา" ผู้พิพากษา ตุลาการ หรือ กกต. จึงต้องโปร่งใสไร้มลทินด้วย

เอ้า ! มาว่ากันถึงคำถามสำคัญ ก็คือว่า ระหว่างความเก่งกับความดีจะเลือกเอาอย่างไหน ?

   คำถามนี้หมายถึงว่า ถ้าคนที่มีแคนดิเดทเป็นผู้นำนั้น มีคุณสมบัติเพียงด้านเดียว คือ ดีแต่ไม่เก่ง หรือเก่งแต่ไม่ดี แต่ไม่มีตัวเลือกแล้ว ก็จึงต้องตัดสินใจว่า จะเอาอย่างไหนระหว่าง "ดี" กับ "เก่ง"

    สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือว่า เราต้องการผู้นำที่เก่งเพื่อนำไปสู่การแข่งขันกับนานาอารยประเทศ เราต้องการชัยชนะบนเวทีโลก ก็จริงอยู่ แต่ที่ควรตระหนักก็คือว่า ถ้าเป็นคนเก่ง แต่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต กินไม่เลือก หรือใช้กลอุบายทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะโดยไม่สนใจต่อศีลธรรมจริยธรรมเลย ผู้นำที่เก่งเช่นนี้ อาจจะสามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ประเทศชาติได้ภายในพริบตา ไม่ว่าจะเป็นการพลิกอบายมุขให้เป็นสวรรค์มุข ทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องที่ถูก โดยมิต้องคำนึงถึงที่ไปที่มาของทรัพย์สินที่ได้มานั้นว่าบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือว่าโกงเขามา ปัญหาที่เรามองไม่เห็นก็คือ อุปนิสัยใจคอของผู้คนในชาติ จะเกิดค่านิยมใหม่ว่าด้วยความ "อยากรวยโดยไม่จำกัดขอบเขต" รวมไปทั้งการที่ได้เงินมาโดยง่ายหรือผิดต่อศีลธรรมนั้น ไม่มีทางที่เงินนั้นจะถูกนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์ หรือส่งเสริมต่อคุณธรรมอันเป็นหลักในด้านความมั่นคงของประเทศในระยะยาว แต่มันจะถูกนำไปใช้ในทางบ่อนทำลายจิตใจของประชาชน ให้เกิดความเห่อเหิม มือเติบ ใช้จ่ายไม่บันยะบันยัง จะมองเห็นเงินเป็นพระเจ้า จะเอาทุกอย่างโดยไม่สนใจว่า "เงินนี้ท่านได้แต่  ใดมา" ก็จะ "รีบๆ กิน รีบๆ ใช้ กินแต่อาหารประเภทฟาสต์ฟู๊ด" ผลสุดท้ายก็คือ อาชญากรรมทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจจะพุ่งสูง แต่สภาวะจิตใจย่ำแย่ ยิ่งรวยยิ่งเละ รัฐบาลต้องทุ่มเทบุคคลากรและงบประมาณไปในการกำราบปราบปรามและบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเมื่อนั้นประเทศชาติก็กลายเป็นรังของคนง่อยเปลี้ยเสียแขน มีแต่คนพิการที่ต้องการการดูแลรักษา มิใช่คนที่มีอวัยวะครบและพร้อมสำหรับการพัฒนาและแข่งขันกับเขาอีกต่อไป

     สำหรับคนดีนั้น อาจจะมีข้อเสียตรงที่ว่า "ไม่เก่งในทางที่ต้องการอย่างโดดเด่น" เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจการค้า แต่เราควรพิจารณาด้วยว่า คนดีระดับผู้นำเช่นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ถ้าไม่มีความเก่งเลยคงจะก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ไม่ได้แน่ เพียงแต่ว่าจะเก่งในทางไหนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเราได้ผู้นำดี ถึงแม้ไม่เก่ง แต่ตัวผู้นำนั้นยังสามารถหาทีมงานที่เก่งเฉพาะทาง ที่เราเรียกว่าเท็คโนแครต มาช่วยเสริมทีมงานในด้านที่ขาดไป "ผู้นำไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง" เขาว่างั้น

    ยังมีคำถามอีกว่า เอ้า ! แล้วกรณี "คนเก่งแต่ไม่ดี" ล่ะ เขาอาจจะหาคนดีๆ มาร่วมทีมงาน เพื่อสร้างเสริมส่วนที่ขาดหายไปได้เช่นกัน "มันก็อีหรอบเดียวกันละหวา" อืม ..ข้อนี้ก็น่าคิด มันวิปริต (แตกต่าง) อยู่ตรงที่ว่า จะเป็นไปได้ไหม ที่คนไม่ดีจะเอาคนดีมาร่วมงาน หรือคนดีจะยอมร่วมงานกับคนไม่ดี ถึงแม้จะเก่ง ? ขณะเดียวกัน คำถามย้อนกลับไปยังผู้นำที่ดีก็คือว่า คนเก่งๆ และดีๆ แต่บารมีไม่ถึง ย่อมจะยินยอมและยินดีที่จะช่วยงานผู้นำที่ดีแม้จะไม่เก่ง ทั้งนี้เพราะอยากทำดี ทว่าถ้ามีผู้นำเก่งแต่ไม่ดี คงจะไม่มีคนดีที่ไหนๆ อยากช่วย เว้นเสียแต่ว่าจะมีพวกเลวๆ อาสาเข้ามาช่วย เพราะอยากทำเลว ไม่ใช่อยากทำดี

   ก็นี่แหละคือคำถามคำตอบระหว่างทางสองแพร่ง "ดี VS เก่ง" ว่าจะเลือกเอาอย่างไหน ???

 

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทานพระบรมราโชวาทไว้ว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำทุกคนให้เป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" เมื่อเข้าใจตามนี้ ก็ขอชี้ว่า คนดีนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการมากว่าคนเก่ง เรียกว่า ขอแค่ดีไม่ถึงกับต้องเก่งก็เฮงแล้วเรา

     แต่เอาเถิด ถ้ามันไม่มีตัวเลือก คือได้คนดีแบบกระดำกระด่าง หรือเก่งแบบแม่ปูมาเป็นผู้นำประเทศ สิ่งที่เราควรมีก็คือ "ระบบการตรวจสอบผู้นำ" จะต้องเข้มแข็ง ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก ไม่ใช่ระบบปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง ใครโวยวายเสียงดังก็ทำให้ก่อน ดังนี้เป็นต้น

    คำที่ชวนสนทนาอีกข้อหนึ่งซึ่งน่าฉงนก็คือว่า จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยเราต้องมีรัฐธรรมนูญไว้ปกครองประเทศ เพราะจริงๆ แล้วเรายังมีผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญอยู่โต้งๆ (แต่เป็นใครยังไม่ขอบอก)

     อืม ! ปัญหาข้อนี้มันมีหลายนัยยะ จะให้ตอบแบบกำปั้นทุบดินนั้น ทุบยังไงก็ไม่มีทางถูก ก็ต้องขอแยกตอบตามแบบวิภัชชวาทีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือต้องว่าไปกันถึงเหตุปัจจัยในทางบ้านเมือง ไล่ตั้งแต่การศึกษา ภูมิปัญญา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปทั้งศีลธรรมจริยธรรมและสปิริตในความเป็นประชาธิปไตยของคนไทย ว่าอยู่ในระดับไหน ถ้ามีค่อนข้างสูงเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อย่างนี้ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ทำผิด ทีนี้เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ทำผิด เขาก็จะสร้างกติกาอันเป็นธรรมเนียมทางสังคมบีบบังคับให้คนส่วนน้อยต้องปฏิบัติตามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดูอย่างในตอนต้นพุทธกาล เมื่อพระสงฆ์สาวกส่วนใหญ่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลกันหมด ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายวินัยอะไรไว้คอยกำราบป้องปราม แต่ครั้นนานเข้า มีคนมาบวชเพิ่มขึ้น แต่ความประพฤติกลับหย่อนยานลง จำนวนพระเลวมากกว่าพระดี ก็จึงทรงมีพระพุทธบัญญัติห้ามโน่นห้ามนี่ นับไปนับมาก็ได้หลายร้อยข้อ นี่ถ้าทรงมีพระชนมายุยืนนานถึง 3,000 ปี คงจะมีศีลเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นๆ ข้อ ข้อนี้ก็เช่นกัน

      ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องมี เพราะผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่รู้จักกฎ ระเบียบ กติกา มารยาท ถึงขนาดว่ายอมรับเงินเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการขายชาติโดยตรง แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่ถือสา เล่นลิ้นไปเสียอีกว่า "เงินไม่มา กาไม่เป็น" หรืออย่างที่มีผู้พูดว่า "คนที่รับเงินนั้นไม่ผิด แต่คนที่แจกเงินนั้นผิด" อย่างนี้ก็ยิ่งแย่ เพราะถ้าไม่มีคนรับจะมีคนให้หรือ หรือถึงมีคนให้ แต่ไม่มีคนรับ ความผิดมันก็ไม่สำเร็จ แบบว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง ดังกฎหมายขายเหล้าในอเมริกา ถ้าอายุไม่เกิน 18 เขาก็ห้ามซื้อกิน ร้านค้าก็ห้ามขาย เพราะต้องโชว์ไอดีก่อนทุกครั้ง ถ้ากระทำการซื้อขายไปแล้ว ก็ย่อมผิดทั้งตัวผู้ซื้อ (ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ) และร้านค้านั้นก็ต้องโทษด้วย นี่แหละหลักกฎหมายที่เหมาะสม มิใช่วิปริตผิดเพี้ยนดังคำกล่าวข้างต้น

     สรุปว่า รอให้ประเทศไทยเจริญในทางศีลธรรมถึงขนาดว่า ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีคดีความ ไม่มีคนทำผิดกฎหมาย ตำรวจตกงานทั่วบ้านทั่วเมือง เมื่อนั้นถึงมีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ใช้ จะมีหรือไม่ก็ไม่เห็นสำคัญอะไร เพราะพฤติกรรมสำคัญกว่า

   ผู้เขียนต้องยอมรับว่า บกพร่องไปในหลายข้อ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำ แต่อยากจะพูดเพียงประเด็นใหญ่ๆ ก็คือว่า ดี กับ เก่ง เท่านั้น เพราะถ้าเอาเรื่องอื่นๆ มาคุยด้วย มันก็จะเฝือไป ทั้งนี้มิใช่ว่ามองข้าม

    อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงมีคำตอบในใจของท่านแล้วกระมังว่า ระหว่างผู้นำที่ "ดี-ซื่อบื้อ" กับ "เก่ง-กะล่อน" ท่านจะเลือกใคร ?

 

หมายเหตุ : คติของหลวงตามีอยู่ว่า "ให้มันโง่อยู่ในวัด ดีกว่าฉลาดอยู่ในซ่อง"

   

    


พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
7 กันยายน 2549
4
:00 P.M. Pacific Time.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

 

alittlebuddha.com  วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264