หยุด
! วงจรอุบาทว์
ทีแรกตั้งใจว่าจะทิ้งช่วงไปให้ออกพรรษาเสร็จกฐินก่อน
จึงค่อยย้อนมาหาแฟนๆ
แต่วันนี้มีเหตุดลใจทำให้ต้องสละเวลามากดคีย์บอร์ดอีกครั้ง
เนื่องเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับระบอบการปกครองของประเทศไทยอย่างกะทันหัน
นั่นคือการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เมื่อกลางดึกวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งท่านผู้อ่านก็ทราบดีแล้ว

เรื่องที่จะเขียนในวันนี้
เป็นสมการเปรียบเทียบระหว่างระบบชีวิตของคนกับระบบชีวิตของประเทศ
ซึ่งระบบชีวิตของคนตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น
ท่านเรียกว่า ปฏิจจสมุปปบาท แปลว่า
กระบวนการของชีวิตซึ่งมีความสืบเนื่องกันและกันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ซึ่งภาษาบาลีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา แปลว่า
เพราะสิ่งนี้มี หรือเพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี สรุปง่ายๆ ก็คือว่า
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เกิดขึ้นลอยๆ หรือโดดๆ
โดยไม่มีเหตุปัจจัยอื่นประกอบร่วม ดังนั้น กว่าจะมาเป็นชีวิตหนึ่ง
ก็จะต้องมีสารพัดเหตุ-ปัจจัย เข้าไปช่วยเสริมสร้างและทำลาย กระบวนการปฏิจจสมุปบาทนั้นมีมากถึง
12 ข้อต่อ นับได้ดังนี้
1. อวิชชา แปลว่า
ความไร้ปัญญา เป็นความไม่รู้จักเหตุผลกลไกของชีวิต ไม่รู้จักกำเนิด
ไม่รู้จักความเป็นอยู่ และไม่รู้จักความดับ
เมื่อไม่รู้จึงดิ้นรนต่อสู้ให้ชีวิตตั้งอยู่ต่อไป
2. สังขาร แปลว่า
ความปรุงแต่ง เมื่อมีความไม่รู้เป็นสมุฏฐาน
ก็เกิดการปรุงแต่งขึ้นกระบวนการชีวิตขึ้นมา
3. เมื่อมีสังขารนั้น วิญญาณ
แปลว่า การรับรู้อารมณ์ ก็เกิดขึ้นร่วมกัน
4. นามรูป
เมื่อมีทั้งสังขารและวิญญาณ ก็แบ่งหน้าที่กันเป็นนามกับรูป
คือร่างกายและจิตใจ
แต่ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่รู้หรอกว่าร่างกายของคนเรามีองค์ประกอบสองส่วนคือ
นาม กับรูป หรือร่างกายกับจิตใจ
5.
เมื่อเป็นสังขารที่แยกเป็นนามและรูปนั้น ก็ยังแยกภาระหน้าที่ออกเป็นสฬายตนะ
หรือ อายตนะทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะทั้ง 6
เหล่านี้ประมวลกันเป็นกลไกที่พร้อมสำหรับการรับรู้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ
อายตนะทั้ง 6 นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า อินทรีย์ แปลว่า เป็นใหญ่
คือแต่ละอายตนะนั้นมีอำนาจหน้าที่เฉพาะทาง หรือเป็นใหญ่เฉพาะกิจ คือ
ตามีหน้าที่ดูรูป หูมีหน้าที่ฟังเสียง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น
ลิ้นมีหน้าที่ลิ้มรส ร่างกายมีหน้าที่สัมผัส
และใจมีหน้าที่รับรู้อารมณ์ที่ถูกส่งมาจากอายตนะทั้ง 5 อีกทอดหนึ่ง
ว่าโดยสรุป
จิตใจเป็นสถานีใหญ่คอยควบคุมดูแลและรับทราบหรือประมวลข่าวสารเป็นขั้นตอนสุดท้าย
และใจนี้ยังมีหน้าที่ส่งออกข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากปฏิกิริยาเมื่อได้รับมาจากอายตนะทั้ง
5 หรือที่จิตใจนึกอยากจะให้มีให้เป็นอีกด้วย ดังนั้น บรรดาอายตนะทั้ง 6
นั้น ใจจึงนับเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
ถ้าใครควบคุมใจได้ก็เท่ากับว่าเป็นคนถือพวงมาลัยรถ
จะให้วิ่งซ้ายวิ่งขวาไปทางใดก็ได้ตามใจปรารถนา
แต่ทว่าถ้าควบคุมใจตัวเองไม่ได้ ถึงจะมัดมือมัดเท้า หรือปิดหูปิดตา ปิดจมูก
ไว้ยังไง ก็ห้ามไม่อยู่
6. อายตนะทั้ง 6
นั้นทำงานผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "สัมผัส" คือรับรู้
โดยตาจะสามารถมองเห็นรูปได้ก็ต้องผ่านกระบวนการดังนี้
1.
ตาดี ไม่บอด ไม่เสียประสาทตา ไม่บอดสี
2. มีรูปให้ดูในระยะที่สามารถมองเห็นได้
3. มีแสงสว่าง เพราะแม้ตาจะดี มีรูปอยู่
แต่จะดูไม่เห็นถ้าไม่มีแสงสว่างช่วย
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้แล้ว
กระบวนการเห็นรูปของอายตนะคือตาก็จะสมบูรณ์ อายตนะอื่นๆ
ก็ต้องมีองค์ประกอบเช่นกัน กระบวนการที่ว่านี้คือ ผัสสะ
หรือการสัมผัสนั่นเอง ดังนั้น คำว่า "สัมผัส"
จึงมิใช่ศัพท์จำเพาะสำหรับการใช้มือหรือเท้าเท่านั้น
7. ตัณหา
เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมานั้น
ก็จะเกิดและมีความไม่รู้เหตุผลกลไกของสิ่งที่รับทราบสัมผัสนั้นมาแล้ว
ก็จะเกิดความชอบความชัง กลายเป็นกระบวนการ "ยึด" และ "ผลัก"
ถ้าชอบก็จะยึดถือไว้ไม่อยากให้จากพรากไป ไม่อยากให้สูญสลาย อยากให้มีมากๆ
อยากให้มีนานๆ อยากให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าไม่ชอบก็จะเบื่อหน่าย
ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากรับรู้ รวมไปถึงอยากจะทำลายให้สูญสลายหายไป
ปฏิกิริยาสุดท้ายที่เกิดจากความรักความชังนี้รวมเรียกว่า ตัณหา
คือความอยากให้มีอยากให้เป็น (และไม่อยากให้มีไม่อยากให้เป็น)
8. เมื่อเกิดตัณหาขึ้นนั้น
กระบวนการขั้นต่อไปก็ประชิดเข้ามา นั่นคือ อุปาทาน แปลว่า
ความยึดมั่นถือมั่น ถือเป็นเรา ของเรา ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า อหังการณ์
มมังการณ์ เมื่อมีเราก็มีเขา เมื่อมีของเราก็มีของเขา
เกิดความคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถ้ารักก็จะรับเอาเข้ามาเป็น "ของเรา" หรือ
"ฝ่ายเรา" ถ้าชังก็จะผลักไสออกไปเป็น "ของเขา" หรือ "ฝ่ายตรงข้าม"
9. 10. 11. 12.
เมื่อเกิดอุปาทานขึ้นนั้น ภพ คือความมีความเป็น ชาติคือความเกิด ชรา
คือความมีอายุ ก็จะดำเนินไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งถึงกระบวนการสุดท้ายคือ
มรณะ เป็นความสิ้นสุดของกระบวนการทางธรรมชาติแห่งชีวิต ซึ่งสิ้นสุดลงที่
โสกปริเทวทุกฺขโทมนัสสุปายาส แปลว่า ควาเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน
ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ
แล้วหลังจากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการของชีวิตใหม่อีกรอบ
ซึ่งนักปราชญ์ท่านสรุปรวมปฏิจจสมุปปบาทลงเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ กิเลส กรรม
และวิบาก
กิเลส
คือกระบวนการคิดของจิตซึ่งไม่บริสุทธิ์
ยังขาดสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์พูนพร้อม นับเป็นกระบวนการเริ่มต้นของปฏิจจสมุปปบาท
กรรม แปลว่า การกระทำ
เมื่อมีกิเลสก็ผลักดันให้ไปสู่การกระทำเป็นขั้นตอนต่อไป
วิบาก แปลว่า ผล หรือผลกรรม เป็นผลของการกระทำ
ซึ่งการกระทำที่ยังไม่สมบูรณ์พูนพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะระดับพระอริยบุคคลนั้น
ท่านว่าก็จะมีผลเป็นสองประการ คือ ดำกับขาว คือเสียและดี
มีนรกและสวรรค์คือทุกข์และสุขเป็นผล
แต่สำหรับพระอริยบุคคลผู้รู้เหตุผลกลไกในชีวิตแล้ว
ท่านก็ถอนความต้องการคือตัณหาออกจากมายาภาพของชีวิตเสีย
ปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยโดยไม่มีการบังคับปรุงแต่ง
ซึ่งกว่าจะทำได้เช่นนี้ท่านต้องผ่านการศึกษาและปฏิบัติอย่างอุกฤษฏิ์
เหมือนนักกีฬาผู้ผ่านการแข่งขัน
อันมีบททดสอบทั้งหนักทั้งเบามาก่อนจนกระทั่งได้เหรียญทอง
จึงมองเห็นทั้งกองเชียร์และคู่ต่อสู้ในสนาม รวมกันเป็น "ครูใหญ่"
ให้บทเรียนแก่ตนเอง ถึงตอนนั้นท่านก็ไม่มีรักไม่มีชัง
เห็นเป็นคุณประโยชน์ทั้งแง่ลบแง่บวก
มิใช่มองเห็นแต่ฝ่ายสนับสนุนเป็นคนน่ารักฝ่ายเดียว ดังคำกล่าวว่า
"ศัตรูคือยาชูกำลัง" นั่นเอง
นี่แหละคือปฏิจจสมุปปบาท
ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ มองเห็น
และนำมาเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้ จนกระทั่งทรงได้รับการยอมรับและยกย่องว่า
"ทรงเป็นบรมครู" นับเวลาผ่านมาจนบัดนี้ก็เกือบๆ 3,000 ปีแล้ว
ธรรมะก็ยังคงเป็นธรรมะ คือไม่มีวันตาย
ใครมองเห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือคนที่มองเห็นแผนที่ของชีวิต
รู้ว่ามันเริ่มที่ไหน เดินไปอย่างไร และจะสิ้นสุดลงตรงไหน เมื่อไหร่
และอย่างไร มันเป็นอะไรที่เรียกว่า มหัศจรรย์
แต่วันนี้
ผู้เขียนมีวงจรอุบาทว์วงจรใหม่มาเป็นกรณีศึกษาสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยผู้นิยมยกย่องลัทธิประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบการปกครอง
"ดีที่สุดในโลก"

ภาพที่นำเสนอนี้
เป็นวงจรที่สร้างขึ้นมาเปรียบเทียบกับปฏิจจสมุปปบาท เรียกง่ายๆ ว่า
ปฏิจจสมุปปบาทคือวงจรอุบาทว์ของชีวิต ส่วนภาพประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ที่เห็นนี้คือ วงจรอุบาทว์ของประเทศไทย
ก็ดังที่เคยเขียนไว้ในเรื่อง "จริยธรรมกับผู้นำในสังคมไทย" ไปแล้ว
ตอนนั้นผู้เขียนเรียนว่า "ระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
(ที่มีการอ้างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท
และมีการเลือกตั้งเป็นฉากบังหน้าหาความชอบให้ได้อำนาจในการปกครองประเทศ)
ได้กลายพันธุ์เป็นแมชชีน
ชั้นดีที่พาคนไทยกลับไปสู่ยุคแห่งความเป็นทาสเหมือนเมื่อก่อน 101
ปีที่ผ่านมา.."
ถึงวันนี้ ผู้เขียนก็ยังคงขอ "ย้ำบทเรียน" กับประเทศไทยไว้ตรงนี้อีกว่า
"คิดดีแล้วหรือที่จะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่
แล้วเปิดให้มีการเลือกตั้งหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันแล้วในอีก 1
ปีข้างหน้า"
ปัญหาประเทศไทยซึ่งเราท่านประสบมาตั้งแต่ พ.ศ.2475
เรามีวิธีการปกครองตกหล่มอยู่ในวงจรอุบาทว์สามประการนี้เท่านั้น คือ
ปฏิวัติ ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเลือกตั้ง เมื่อไม่พอใจก็ปฏิวัติใหม่
ล้มล้างรัฐธรรมนูญเก่า แล้วเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่
ก็สาละวันสาละวนอยู่กับเกมเก่าๆ คนเก่าๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาจนบัดนี้ นับจากปี
2475 ก็ได้ 74 ปีแล้ว
รัฐประสาสนศาสตร์หรือการบริหารการปกครองบ้านเมืองของไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน
เรายังกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ในขั้น "ปฏิวัติ-ร่างรัฐธรรมนูญ" และจะ
"ให้มีการเลือกตั้ง" อีกครั้ง และอีกครั้ง
คำถามตีแสกหน้าที่ต้องถามก็คือว่า คณะปฏิวัติ หรือที่เรียกให้โก้เล่นว่า
คณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้น
มีด้วยหรือคณะอย่างนี้
ถามว่ามีประชาธิปไตยระบอบไหนในโลกที่มีทหารเอารถถังออกมาปฏิวัติ
โดยถือว่าการปฏิวัติเป็นกระบวนการหนึ่งของประชาธิปไตย นอกจากระบอบไทยๆ
เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า "การเลือกตั้งตามกติกาคือรัฐธรรมนูญ
โดยที่กลไกของรัฐธรรมนูญถูกบ่อนทำลายไม่เหลือ" ดังที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ท่องเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์บนถนนการเมืองของตนเองนั้น มันก็อีหรอบเดียวกัน
เลือกตั้งที่มีการตกเขียว หว่านโปรยอามิสสินจ้าง ใช้นโยบายเป็นกโลบาย โกหก
หลอกลวงสัญญิงสัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การจะทำให้คนไทยหายจนภายใน 6
ปี เป็นต้น
จนแม้แต่การอ้างเอาคะแนนเสียงมาฟอกตัวให้ตัวเองเมื่อทำผิดบนตำแหน่งหน้าที่
นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่นอน ไม่งั้นมันไม่เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้ามาจนถึงนิวยอร์คนี่หรอก
การปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลและประกาศกฎอัยการศึก
เป็นการใช้กำลังควบคุมการแสดงออกของประชาชน
ถึงแม้จะใช้ชื่อว่าให้ดูศักดิ์สิทธิ์ว่า
"คณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
นี่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกแน่นอน ไม่งั้นมันก็ไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งใหม่
ในเมื่อมันเป็นหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตยอยู่แล้วมิใช่หรือ ?
นั่นเป็นทฤษฎีที่นำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
เพื่อประดับความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
ทั้งนี้ต้องขอออกตัวว่า
"ผู้เขียนมิได้มีเจตนาเขียนเพื่อต่อต้านคณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
หากแต่อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษา "กระบวนการประชาธิปไตยของไทย"
ให้กระจ่าง
ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปจนถึงผ่องถ่ายอำนาจผ่านการเลือกตั้ง
สิ่งที่อยากให้ท่านผู้อ่านได้คิดก็คือว่า มันผิดพลาดบกพร่องตรงไหน ระหว่าง
"คน" กับ "ระบบ" ที่รวมกันเป็นประเทศไทยในปัจจุบันวันนี้ (นับตั้งแต่ปี
พ.ศ.2475)
จาก พ.ศ.2475 เป็นต้นมานั้น เรามีรัฐธรรมนูญใช้แล้วถึง 16 ฉบับ
และกำลังจะมีฉบับที่ 17 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราวอีกในวันพรุ่งนี้ และในอีก 1
ปีข้างหน้า ก็จะมีฉบับที่ 18 ซึ่งจะเรียกว่า "ฉบับถาวร" ทั้งๆ
ที่เคยมีการเรียกผ่านมาหลายฉบับแล้วว่า "ถาวร" แต่ไม่เคยเห็นถาวรซักที"
ถาวรฉบับสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ก็มีอายุแค่ 9
ปีเอง ยังไม่จบ ป.6 ด้วยซ้ำ
สรุปก็คือ รัฐธรรมนูญคือ "ระบบ" ของประเทศไทย และคนไทยก็คือผู้ใช้ระบบนั้น
เหมือนรถกับคนขับ รถก็คือรัฐธรรมนูญ คนขับก็คือประชาชนคนไทย
รถเป็นพาหะนำประชาชนคนไทยไปสู่จุดหมาย
คือความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
เมื่อนับจาก พ.ศ.2475 มาถึงปีนี้ เรามีรัฐธรรมนูญแล้วถึง 16 ฉบับ
ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ก็ต้องนับว่า รัฐธรรมนูญของเรามีมากจนเกินพอดี
แทบว่าคนไทยยังสบสนว่าฉบับไหนดีกว่ากัน
สิ่งหนึ่งซึ่งควรพิจารณาก็คือว่า รัฐธรรมนูญนั้นถูกร่างขึ้นโดยคนไทย
และถูกใช้โดยคนไทย และถูกทำลายโดยคนไทย รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลงานของคนไทย
ที่เราเขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียน ซ้ำๆ ซากๆ ถึง 16 ฉบับมานี้ ถามว่า
มันเป็นความผิดของรัฐธรรมนูญหรือของคนเขียนและคนใช้กันแน่
แต่ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือว่า บ้านใดเมืองใดมีกฎหมายหยุมหยิมมากมายก่ายกอง
ก็แสดงให้เห็นว่า ประชาชนพลเมืองนั้นไร้ระเบียบวินัย แม้แต่เรื่องเล็กๆ
น้อยๆ ก็ต้องคอยเข้มงวดกวดขัน
ยกตัวอย่าง
ผู้ถือศีลละเว้นทุจริตทางกายวาจาใจนั้น ท่านว่ามีถึง 3 ประเภท
1.
ไม่ทำผิดเพราะเป็นปกติของตนเอง หมายถึงว่า เป็นคนมีอุปนิสัยในทางดี
ไม่นิยมการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่คิดลักขโมยของๆ ใคร เป็นต้น
แม้มีโอกาสก็ไม่ทำ ถือเป็นการงดเว้นด้วยตนเอง
2.
พวกไม่ทำผิดเพราะไม่มีโอกาสหรือโอกาสไม่เอื้ออำนวย คือพวกที่อยู่ในสังคมดี
มีการสอดส่องดูแลหรืออบรมบ่มนิสัยให้ไปในทางสุจริต ก็จะระมัดระวังตัว
หรือบางทีมีใจอยากทำ แต่อยู่ในสถานะที่ไม่เอื้ออำนวยให้กระทำผิดได้
ก็ไม่สามารถกระทำผิด นี่เรียกว่า สภาพแวดล้อมช่วยส่งเสริมให้งดเว้น
3.
ไม่กระทำผิดเพราะกลัวผิดกฎหมาย คนประเภทนี้แม้จะมีความคิดในทางทุจริต
แต่รู้ว่าถ้าทำไปแล้วจะได้รับผลร้ายนั้นๆ ด้วยความกลัวเกรงต่อกฎหมาย
จึงระงับความคิดไว้ไม่ทำผิด เรียกว่า กฎหมายช่วยบังคับไว้ให้งดเว้น
ถ้าเราเอาเรื่องของการงดเว้นทั้ง 3
ข้อเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมนักการเมืองไทย
รวมไปถึงประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า
แทบจะไม่มีวิรัตทั้ง 3 ข้อนี้ หรือถึงมีก็มีน้อยมาก อยู่ในระดับที่ 3
ค่อนข้างจะอ่อนแอ แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของ "เสียงส่วนใหญ่"
ไม่ใช่เรื่องของ "ดีมากดีน้อย" พูดง่ายๆ ก็คือว่า
ประชาธิปไตยเป็นระบบถือปริมาณมากกว่าคุณภาพ เพราะไม่ว่าจะถือศีล 5 หรือศีล
8 ก็มีสิทธิ์ลงคะแนนคนละ 1 คนแนนเท่ากัน ที่ร้ายสุดก็คือว่า
ผู้ถือศีลมากถึง 227 ข้อ คือพระภิกษุและสามเณรซึ่งถือศีล 10 นั้น
ถูกห้ามมิให้ใช้สิทธิ์ด้วยสิ
เลยกลายเป็นว่า
ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยมิได้ส่งเสริมให้คนดีได้ใช้สิทธิ์และมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ
พระภิกษุสงฆ์สามเณรถูกยกให้อยู่ "นอกการเมือง" มิใช่ "เหนือการเมือง"
ให้ยุ่งอยู่กับเฉพาะในเขตกำแพงวัด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว
พระสงฆ์มีอิทธิพลทางการเมืองค่อนข้างมาก เช่นหลวงพ่อคูณนั้น
ถ้าท่านประกาศว่า "ให้ชาวโคราชเลือก นาย.ก." ก็รับรองว่า คะแนนของนาย ก.
ก็จะล้นหลาม ดังนั้น การที่พระสงฆ์ออกมาชี้นำในทางการเมือง
ซึ่งตามหลักการแล้ว
"น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการคนดีมีความสามารถเข้ามาบริหารบ้านเมือง"
แต่นักการเมืองไทยกลับ "กลัว" ในจุดนี้
จึงร่างรัฐธรรมนูญห้ามมิให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
แล้วถามว่า เราจะถามหาศีลธรรมจริยธรรมไปทำไม ในเมื่อหลักการโต้งๆ
คือบทบาทของพระสงฆ์ในทางการเมืองนั้น ถูกยกเว้นไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
ซึ่งเท่ากับประกาศว่า ประชาธิปไตยมิได้อิงอาศัยอรรถธรรมเป็นตัวชี้นำ
เรื่องนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรจะพิจารณาให้ดี
ก่อนที่จะเริ่มวงจรอุบาทว์กันอีกรอบหนึ่ง ซึ่งถ้ามันยังเป็นเช่นเดิมอีก
ก็จะนำไปสู่การปฏิวัติซ้ำๆ ซากๆ เหมือนรถเข้าอู่บ่อยๆ
เปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ไปตามอารมณ์ สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหนดังที่เห็น
การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใช้แล้วให้มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2475
ในขณะที่ประชาชนคนไทยยังไม่มีการศึกษาเรียนรู้ระบบนี้ดี
ทำให้อำนาจในทางการเมืองเป็นเรื่องของคนไทยเพียงไม่กี่กลุ่ม คือ
เชื้อพระวงศ์ซึ่งมีการศึกษาดีและเศรษฐีผู้มีโอกาสในทางการศึกษาและเศรษฐกิจ
นอกนั้นไม่มีสิทธิ์ได้เป็นใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตยที่ควรมีควรเป็น
พูดให้ชัด ๆ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ก็มีตัวเลือกเพียง 2 ตัว คือ
1.คนใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักประกันในด้านความจงรักภักดี
และ 2.ผู้ชำนาญในทางเศรษฐศาสตร์ระดับสากล
เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับมหาอำนาจของโลกคือสหรัฐอเมริกา ถามว่า
คนอย่างกำนันตำบลเวียงฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีสิทธิ์เป็นกับเขาไหม ?
ถ้าไม่ใช่ พลเอก หรือด๊อกเตอร์ ?
เมื่อเป็นเช่นนั้น
กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ความหมายก็คือ
กระบวนการเลือกตั้งที่เคยทำๆ กันมาเป็นประเพณีนั้น
เป็นกระบวนการโกหกหลอกลวงว่า "นี่คือประชาธิปไตยเพราะว่าเรามีการเลือกตั้ง"
ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ เพราะถ้ามันเป็นประชาธิปไตยจริง หลักการของด๊อกเตอร์ทักษิณย่อมจะถูกต้อง
เพราะเขามาจากประชาชน
ดังนั้น ก่อนจะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเจริญพรให้ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน
และคณะ คปค. ว่าขอให้พิจารณาให้ถ่องแท้
ก่อนจะผ่องถ่ายอำนาจคืนให้แก่ประชาชนผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ
อยากให้วิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของคำว่า "ประชาธิปไตย" ให้ชัดเจน
กำหนดคุณสมบัติประชาธิปไตยให้เป็นรูปธรรม มิใช่โยนให้เป็นภาระของ
"การเลือกตั้ง" เพียงอย่างเดียว
อธิบายให้เข้าใจเลยก็ได้ คือว่า
เราต้องมีการพัฒนาประชาธิปไตยผ่านกิจกรรมการศึกษาของนักศึกษาตั้งแต่ระดับประถม
มัธยม และอุดม มิใช่ให้มีแต่ในประเพณีแข่งบอลของจุฬาและธรรมศาสตร์เท่านั้น
และแม้แต่กระบวนการภาคประชาชนแบบที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล
นำเข้าต่อสู้กับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น
ถ้าแปรให้เป็นการศึกษาเรียนรู้ประชาธิปไตยได้ ก็จะเป็นกำไรมหาศาล
เพราะประชาธิปไตยต้องการความรู้ความเข้าใจ มิใช่บังคับให้กันต้องไปลงคะแนน
ต้องแยกให้ออกระหว่าง คำว่า "บังคับ" กับ "หน้าที่"
ซึ่งตัวหลังนี้มีจิตสำนึกคอยกำกับ ส่วนตัวแรกนั้นมี "ความผิดหรือโทษ"
คอยกำกับ นั่นนับรวมถึงความนิยมในการ "เลี่ยงภาษี"
ซึ่งถ้าใครทำก็เท่าทิ้งภาระหน้าที่พลเมืองไทย
โดยเฉพาะก็คือ อย่าสับสนปนเประหว่างคำว่า "รณรงค์ให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง"
กับ "รณรงค์เรียนรู้ประชาธิปไตย" เพราะมันไม่ใช่อันเดียวกัน
หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือว่า การรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั้น
เป็นเพียงขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยเท่านั้นเอง
และอาจจะไม่สำคัญด้วยซ้ำไป
เพราะถ้ามีการศึกษาเรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างจริงจังแล้ว
แม้ไม่ต้องรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์ ก็จะมีประชาชนอยากใช้สิทธิ์เอง
โดยไม่ยอมขายสิทธิ์ให้ใครอีกด้วย
ถ้ามีวิชาประชาธิปไตยสอนในโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมทางประชาธิปไตย
มีการทดลองใช้เหมือนให้มีห้องทดลองวิทยาศาสตร์หลายๆ ห้อง ทั่วประเทศ
ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้คนไทยเรียนรู้และเข้าใจภาพรวมของประเทศรวมทั้งของโลก
โดยเริ่มเรียนรู้ที่ตัวเรา จะเอายังไงก็ไปคิดกันเสีย อย่าให้เขาด่าซ้ำๆ
ซากๆ เหมือนคณะปฏิวัติรุ่นก่อนๆ เคยโดนมา
เพราะ..กาลเวลา ย่อมกลืนกินสรรพสัตว์และตัวของมันเอง..
หมายถึงว่า พวกท่านไม่มีโอกาสแก้ตัวนะ
ถ้าทำพลาด !
|