เกิดยาก ตายยาก "
รัฐธรรมนูญ"
 

 

      คำว่า รัฐธรรมนูญ นั้น ท่านแปลมาจากคำว่า Constitution ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคำจำกัดความตาม Long man dictionary ว่าได้แก่ a set of laws and principles that describes the power and purpose of a particular government, organization etc.; แปลว่า ชุดกฎหมายและหลักการปกครอง ซึ่งกำหนดอำนาจและวัตถุประสงค์จำเพาะ ของรัฐ หรือองค์กร ฯลฯ ก็ไม่รู้ว่าแปลผิดหรือถูกนะ เอาเป็นว่าถ้าแปลเป็นไทยง่ายๆ ไอ้ตัว Constitution ก็คือรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองเห็นเป็นฉบับสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางอยู่บนพานเหนือสุดแห่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั่นแหละ

      ก่อนปีพุทธศักราช 2475 นั้น คนไทยยังไม่มีใครรู้เจ้ารัฐธรรมนูญกันนี่หรอก ครั้นเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยคณะราษฎร อันมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นมันสมอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้น คนไทยจึงเริ่มได้ยินชื่อแปลกใหม่จากชื่อไทยเดิม คือ ตาสี ตาสา ยายมา ยายมี อีแดง ไอ้ดำ เป็นต้น เมื่อปลดพระเจ้าอยู่หัวลงเป็นเพียงกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญครั้งนั้น คนไทยเข้าใจว่า "รัฐธรรมนูญก็คือชื่อของลูกชายพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎรผู้คุมกำลังในการปฏิวัติ" และเข้าใจตามที่คณะราษฎรประกาศคือว่า บุตรชายพระยาพหลคนนี้จะเป็นบุตรดีเป็นอภิชาตบุตร จะนำความสงบสุขร่มเย็นและเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองสยาม

      ครั้นวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงลงพระปรมาภิไธย ทำให้ประเทศสยามมีกฎหมายสูงสุดกว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นฉบับแรก เรียกว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 แต่คนก็คงเรียกว่า รัฐธรรมนูญ

     กระบวนการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้น ท่านว่ายากยิ่งกว่าการอุ้มทองลูกของผู้หญิงเสียอีก เพราะต้องระดมกำลังทั้งทหารและพลเรือนเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติถึง 99 คน โดยเฉพาะสนธิสัญญาของคณะราษฎรชุดแรกจำนวน 7 คน อันประกอบด้วย

       1.ดร.ปรีดี พนมยงค์ 2.ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี 3.ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ 4.ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี 5.นายตั้ว พลานุกรม 6.นายจรูญ สิงหเสนี 7.นายแนบ พหลโยธิน

     สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ทำขึ้น ณ หอพักนักศึกษาที่ชื่อ Rue Du Sommerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 (ค.ศ.1927) มีสาระคร่าวๆ ดังนี้

     "ถ้าการกระทำของคณะราษฎรต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ ก็ให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่กันไว้ไม่ให้แสดงออกว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมคณะกรรมการหัวหน้าสายบ่อย ให้ดำเนินการสานต่องานนี้ไปจนกว่าจะสำเร็จ ทั้งให้มีหน้าที่ช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ติดคุกหรือถึงแก่ความตาย" ซึ่งบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้รับภาระทั้งโลกนี้และโลกหน้าสำหรับคณะราษฎรในครั้งนี้คือ นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งมีฐานะดีกว่าเพื่อน เพราะได้รับมรดกจากบิดา หรือจะกล่าวว่าเป็นถุงเงินของคณะราษฎรชุดเริ่มแรกก็คงว่าได้

       งานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อันเป็นต้นเหตุให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยนั้นสำคัญดังนี้ คือต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ขนาดไม่ตายก็รู้ตัวแล้วว่าอันตราย ต้องสั่งเสียลูกเมียและเพื่อนฝูงไว้ให้พร้อม เพราะไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ โชคดีไปที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยมความประนีประนอม ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ การถือกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นจึงเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า "ไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว" ใครได้อ่านประวัติศาสตร์ชาติไทยหน้านี้ก็ต้องทึ่งใจว่า "เป็นไปได้ไง"

    ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญฉบับจริงหรือที่เรียกว่าฉบับถาวรก็สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีทั้งหมด 68 มาตรา ซึ่งต่อมาทางราชการก็กำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาธิปไตยในประเทศสยามอันมีรัฐธรรมนูญเป็นโรดแม็บหรือแม่แบบให้เดินตามนั้น ก็ยังไม่ราบรื่น เพราะหลังจากใช้รัฐธรรมนูญไปได้ไม่กี่เดือน พระยามโนปกรนิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสยามในยุคประชาธิปไตย ได้เกิดขัดแย้งกับคณะราษฎรอย่างรุนแรง สาเหตุมาจาก "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ประสงค์จะปฏิวัติเศรษฐกิจประเทศสยามให้เข้าสู่ระบบนานาอารยะ คือให้มีการตั้งสหกรณ์ขึ้นมาบริหารทั่วประเทศ พร้อมกับการปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ ให้รัฐบาลเป็นผู้ซื้อที่ดินมาบริหาร โดยมีชาวบ้านร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ กิน นอน และใช้จ่ายอยู่กับองค์กรบริหารเล็กๆ ที่ชื่อว่า สหกรณ์

     ตอนนั้น รัฐบาลพระยามโนปกรณ์โจมตีนายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงกับออกพระราชบัญญัติห้ามคนไทยเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งคำว่า คอมมิวนิสต์ ในกฎหมายฉบับนั้นมีความหมายดังนี้ "คอมมิวนิสต์ หมายความว่า วิธีการหรือหลักการทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยการเลิกล้างเสียทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้ประเทศหรือประชาชนร่วมกันเข้าเป็นเจ้าของเสียเอง หรือลัทธิใดๆ ซึ่งสนับสนุนส่งเสริมการรวมกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือรวมการอุตสาหกรรม หรือรวมทุน หรือรวมแรงงานเข้าเป็นของรัฐบาล" ส่วนบทลงโทษนั้นก็ถึงขั้น "จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท"

      นายปรีดีถูกโจมตีถึงกับต้องเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย และแล้ววันที่ 20 มิถุนายน 2476 ก็เกิดการแตกหักกันขึ้นในคณะราษฎร เมื่อคณะราษฎรกลุ่มใหญ่นำโดย พันเอกพระยาพหลพลอยุหเสนา ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา และเชิญนายปรีดี พนมยงค์ กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง

      พระยามโนปกรณนิติธาดา ได้ออก "พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร" และประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ผลก็คือ ต้องระเห็จออกนอกประเทศไปเสียชีวิตที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

      การนำกำลังทหารเข้าล้มล้างรัฐบาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยเราในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ "ปกป้องรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ" โดยนัยยะว่า แม้แต่รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจในการงดใช้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแม้แต่มาตราเดียว นับเป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกด้วย

      รัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ใช้ได้มาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ มีเนื้อหาสาระในทางปรับปรุงฉบับเก่าให้ทันสมัย โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้ออะไรเลย

      ครั้นวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489 เวลา 9 นาฬิกาเศษ เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ขณะนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นรัฐบุรุษด้วย ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงคืนเดียว สถานการณ์อึมครึมอยู่ 5 เดือนเต็ม และแล้ว วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2489 นั่นเอง คณะทหารอันประกอบด้วย พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน

      การปฏิวัติครั้งนี้นับเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ มิใช่การปกป้องรัฐธรรมนูญ แสดงว่าไม่ว่าจะขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ยังสู้ปากกระบอกปืนไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คณะปฏิวัติก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ใหม่ ทดแทนฉบับเดิมที่ฉีกทิ้งไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า "ฉบับใต้ตุ่ม" เพราะผู้ร่างคือ พันเอกกาจ กาจสงคราม กลัวอันตราย ถ้าแพร่งพรายออกไปก็หมายถึง "ตาย" จึงนำไปซุกไว้ใต้ตุ่มน้ำ ก่อนจะทำรัฐประหารสำเร็จ

    จากวันนั้น มาถึงวันนี้ เรามีประเพณีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1.ปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วสั่งร่างขึ้นมาใหม่ 2.ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เมื่อร่างเสร็จก็ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ทั้งหมดทั้งมวล นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2549 นี้ รวม 75 ปี เรามีรัฐธรรมนูญใช้แล้วรวม 16 ฉบับ ซึ่งฉบับที่ 16 นั้นเพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2540 ซึ่งนักการเมืองและนักกฎหมายส่วนใหญ่คุยนักคุยหนาว่า "ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา" แล้ววันนี้ก็มีหลายคนยอมรับว่า รัฐธรรมนูญบกพร่องจริง

     การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ส่วนใหญ่มาจากข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมสำหรับการบริหารประเทศต่อไป และรัฐธรรมนูญนั้น "ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของประเทศ" ซึ่งทั้งสองประการนี้เป็นเหตุผลครอบจักรวาล

      แต่ความจริงนั้น ดูไปแล้วจะเป็นเพียง "ข้ออ้าง" เพื่อล้มล้างรัฐบาลและอยากได้อำนาจมาเป็นของตัวเองและพรรคพวกเสียมากกว่า คำถามที่ควรมีก็คือว่า เรามีรัฐธรรมนูญไว้เป็นแม่แบบในการบริหารประเทศ หรือว่ามีไว้เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มล้างกันเองระหว่างคนในชาติ เพื่อให้ได้อำนาจในการบริหารประเทศ กันแน่ ???

      แต่ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญนั้น ใครที่คิดจะให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นในประเทศสยาม ก็หมิ่นเหม่ต่อภัยพิบัติระดับประหารชีวิต ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อให้มี "รัฐธรรมนูญ"

     ครั้นเรามีรัฐธรรมนูญแล้ว ใครก็ตามที่คิดจะ "ล้มล้างไม่ให้มีรัฐธรรมนูญ" หรือ "ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยการกระทำการอันนอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้" ก็ต้องตกอยู่ภาวะอันตรายระดับชีวิตเช่นเดียวกัน

     การถือกำเนิดของประชาธิปไตยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่า ยากแสนยาก ยากทั้งการถือกำเนิด ยากทั้งการดำรงคงอยู่ และยากทั้งการจะต้องหมดสิ้นสภาพความเป็นรัฐธรรมนูญลงไป หรือแม้แต่การจะเปลี่ยนแปลงก็ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะกฎหมายสูงสุดนั้นจะเปลี่ยนกันง่ายๆ เล่นๆ เช่นเปลี่ยนเสื้อหรือกางเกงนั้น ก็อันตราย ท่านจึงเขียนป้องกันรัฐธรรมนูญไว้เสียมากมาย รถหรือทรัพย์สินยิ่งมีราคาสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องใช้ประกันราคาแพง ฉันใด รัฐธรรมนูญมีความสำคัญในฐานะกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศชาติ ก็จึงต้องประกันความเสี่ยงไว้สูงสุดด้วยเช่นกัน ฉันนั้น

     ประมวลเหตุและผลดังนำเสนอมาฉะนี้ ผู้เขียนจึงว่า รัฐธรรมนูญนั้น เกิดก็ยาก ตายก็ยาก ซึ่งอยากชี้ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายนัก ที่ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยากต่อการเข้าใจ" ทั้งๆ ที่ตัวโลกเองก็ไม่มีอะไรมากมาย นอกจากปรากฏการณ์ "หมุนไปเรื่อยๆ" เท่านั้นเอง เป็น..ตถตา...

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
30 มิถุนายน 2549
12
:15 A.M. Pacific Time.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264