คำว่า "แม่พระ" ณ
ที่นี้ ผู้เขียนแปลมาจากภาษาบาลีที่ว่า มหาอุบาสิกา
ซึ่งเป็นคุณนามเฉพาะของคุณแม่วิสาขา
อุบาสิกาผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประวัติของมหาอุบาสิกาวิสาขานั้นนับว่าอัศจรรย์นัก เพราะเป็นหญิงเบญจกัลยาณี
มีความพร้อมด้วยความงาม 5 ประการ คือ งามผม งามเนื้อ งามฟัน งามผิว และงามวัย
ซึ่งท่านมีคำจำกัดความงาม 5 ประการนั้นไว้ ดังนี้
1.
งามผม ผมงาม ดำวาววับจับตา เส้นละเอียดเหมือนไหม
ไม่แตกปลาย ไม่ต้องใช้ซันซิลหรือครีมนวดอื่นใดก็สวยงามเป็นธรรมชาติ
เวลาสยายปล่อยลงอย่างสบายๆ ครั้นกระทบกับชายผ้านุ่งก็จะสะท้อนกลับ
นับเป็นความงามที่หาได้ยากประการแรก
2.
งามเนื้อ เนื้อที่ว่านี้ท่านชี้ไปที่เนื้อริมฝีปาก ริมฝีปากสวยๆ
นั้นต้องมีสีแดงงามเหมือนผลมะพลับ ทั้งปากนั้นต้องได้ทรวดทรงสวยงาม
ไม่แหว่งหรือมีตำหนิอยู่เลย
3.
งามฟัน เป็นความงามที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในช่องปาก ต้องยิ้มหรือพูดจึงจะมองเห็น
ฟันที่สวยงามก็ต้องขาวและได้ระเบียบ ไม่ห่าง ไม่เขว ไม่เป็นรูเป็นรอย
4.
งามผิว ผิวของผู้หญิงอินเดียที่ท่านว่าสวยๆ นั้น ท่านแบ่งออกเป็น 2 สี
ถ้าสีขาวก็ต้องขาวเหมือนสีดอกมะลิ
เช่นพระนางมัลลิกานั้นว่ากันว่ามีผิวเหมือนสีดอกมะลิ จึงได้ชื่อว่ามัลลิกา
แปลว่านางสาวมะลิ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทั้งรักทั้งหลง
ส่วนอีกโทนหนึ่งนั้นเป็นสีดำ
เรียกว่าดำมหาเสน่ห์ เจ้าของสีผิวสีนี้ที่ดังที่สุดก็คือ นางสาวอุบลวรรณา แปลว่ามีผิวเหมือนดอกบัว
ซึ่งมีพระราชามหากษัตริย์และอภิมหาเศรษฐีทั่วอินเดียส่งเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอกับพ่อแม่
แต่นางไม่มีกะใจจะแต่งงาน จึงขอบวชเป็นพระภิกษุณี ผิวสีงามๆ แบบไทยๆ
ท่านว่าต้อง "ผิวพม่า นัยน์ตาแขก" คือผิวดำขำหรือดำแดง จะดำก็ไม่ใช่
จะแดงก็ไม่เชิง เป็นสีผสมกลมกลืน จนคนทางเหนือเรียกว่า "ผิวตุ๊หลวงร้องไห้"
คือเจ้าอาวาสเห็นแล้วถึงกับร้องไห้ใคร่สึกนั่นแหละ นี่เรื่องจริงนา
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าไว้ ก็เอามาเล่าต่อกันอีกที อย่าหาว่าผู้เขียนแก่แดดเลย
ไม่เชื่อไปถามดูสิ
5.
งามวัยนั้นท่านว่าก็คืองามสมกับวัย สมัยยังวัยรุ่นก็หุ่นงาม
ออกบ้านออกเรือนแล้วก็งามเป็นสาวใหญ่
ครั้นเจริญวัยเป็นคุณแม่ก็เหมือนเพลงที่ตั้งชื่อว่า "คุณแม่ยังสาว" นั่นแหละ
จะเป็นเช่นใดท่านผู้อ่านก็คงเข้าใจนะ
ความงามอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีในสตรีคนไหนท่านก็ว่าโชคดียิ่งกว่าถูกหวย
เพราะเทพเจ้าทรงประทานพรสวรรค์มาเช่นนั้น
เพราะบุรุษนั้นจะรวยก็เพราะมีสติปัญญา ถ้าเป็นสตรีถึงจะหัวดี แต่ถ้าไม่สวย
รับรองว่าขายไม่ออก นี่บอกกันตรงๆ แต่สำหรับนางวิสาขาแล้ว หล่อนมีครบทั้ง 5
ประการ ก็เรียกว่ายิ่งกว่าถูกซุปเปอร์ล็อตโต้ซะอีก
แถมครอบครัวของนางนะเป็นอภิมหาเศรษฐีทีเดียว
เงินทองของใช้กินสักสิบชาติก็ยังไม่มีวันหมด
เมื่อเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาปวารณาตัวลงเป็นอุบาสิกาต่อหน้าพระพุทธเจ้าแล้ว
นางวิสาขาก็สั่งสมคุณสมบัติของมหาอุบาสิกาที่เรียกว่าเป็นต้นแบบแม่พระ
ตอนเช้านั้น
นางตื่นขึ้นมาก็สั่งข้าทาสบริวารให้ตระเตรียมข้าวต้มและภัตตาหารไว้ตักบาตร
หลังจากตักบาตรเสร็จก็ตระเตรียมข้าวปลาอาหารและธูปเทียนดอกไม้ไปวัดเพื่อฟังธรรม
ฟังธรรมเสร็จออกจากธรรมศาลาแล้ว นางยังชวนเพื่อนๆ
เดินเลียบเลาะไปตามสุมทุมพุ่มไม้และกุฏิต่างๆ ภายในวัด สำรวจตรวจตราดูว่า
จะมีพระสงฆ์สามเณรรูปไหนป่วยไข้ หรือเดินทางไกล มีความจำเป็นต้องใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันเป็นกัปปิยะ
คือว่าเหมาะสมสำหรับสมณะสารูปเช่นใดบ้าง จะได้จัดถวาย
ครั้นสำรวจถ้วนถี่แล้วนางจึงเดินทางกลับ
วัดบุพพารามที่นางวิสาขาสร้างถวายนั้น
ก่อสร้างใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
คือว่าสร้างเป็นตึกสูงหลายสิบชั้น มีห้องพักตั้ง 1,000 ห้อง
(อ่านว่าหนึ่งพันห้อง) มีตุ่มน้ำหรือน้ำประปาอยู่บนหลังคา
เปิดให้น้ำไหลเลี้ยงทั่วตัวตึกได้อย่างสะดวกสบาย
พื้นห้องนั้นปูด้วยพรมเปอร์เซีย อาคารแห่งนั้นท่านเรียกว่า โลหปราสาท
ส่วนค่าก่อสร้างนั้นก็คงไม่ต่ำกว่าพันล้าน
นั่นเป็นกิจวัตรในการไปวัดธรรมดาๆ ของนางวิสาขา แต่ที่จะนำเสนอในวันนี้นั้น
เป็นทั้งอัจฉริยภาพและคุณธรรมน้ำใจของคนที่เป็น "แม่พระ"
เรื่องมีอยู่ว่า กลางพรรษาหน้าหนึ่ง
นางวิสาขาได้ทูลอาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารเพลที่บ้าน
ครั้นวันรุ่งขึ้น นางสาละวนอยู่กับการเตรียมงาน
จึงสั่งสาวใช้นางหนึ่งให้ไปทูลอาราธนาพระพุทธองค์ว่า ภัตตาหารพร้อมแล้ว
ในตอนเช้าวันนั้นบังเอิญว่าเกิดฝนตกหนัก
พระพุทธองค์จึงทรงปรารภกับพระภิกษุสงฆ์ว่า "ท่านใดไม่ได้สรงน้ำมาหลายวัน
ก็ขอให้สรงเสียเดี๋ยวนี้" พระสงฆ์ทั้งหมดจึงพร้อมกันสรงคืออาบน้ำ
ซึ่งการอาบสมัยนั้นก็ง่ายๆ
แค่เปลื้องสบงอันเป็นผ้านุ่งออกก็ออกไปอาบกลางลานวัดได้แล้ว
เพราะพระสมัยนั้นต้องใช้ผ้านุ่งเพียงผืนเดียว
ถ้านุ่งผ้าอาบน้ำแล้วจะเอาผ้าที่ไหนผลัดเปลี่ยน
นางทาสีถือร่มเดินฝ่าสายฝนมุ่งหน้าไปวัดพระเชตวัน
ครั้นจะเดินเลี้ยวเข้าประตูวัดก็ต้องต๊กกะใจ
เมื่อเห็นผู้ชายเปลือยกายอาบน้ำอยู่เต็มไปหมด ด้วยความอายจึงไม่กล้าเข้าวัด
รีบเดินกลับมารายงานให้นางวิสาขาทราบว่า "ในวัดมีแต่ชีเปลือย"
นางวิสาขาได้ฟังก็เข้าใจว่าพระสงฆ์คงจะสรงน้ำ "เด็กนี่ชั่งโง่จริง" หล่อนคิด
และคิดว่า "เวลานี้พระสงฆ์คงสรงน้ำเสร็จแล้ว" จึงสั่งสาวใช้ให้เดินไปวัดอีกหน
ครั้นสาวใช้ไปถึงหน้าวัดก็พบพระพุทธองค์ทรงนำพระสงฆ์เสด็จออกมาแล้ว
วันนั้น หลังจากถวายภัตตาหารเพลแล้ว
นางวิสาขาได้ทูลขอพรต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ขอจงทรงมีพระเมตตาผ่อนผันให้พระสงฆ์รับผ้าอาบน้ำฝนไว้ใช้ได้"
เพราะจะเป็นการช่วยปกปิดสิ่งที่ควรละอาย ซึ่งสาวใช้ของนางได้พบในเช้าวันนี้
พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญสติปัญญาของนางวิสาขา
และทรงเมตตาอนุญาตให้พระสงฆ์มีผ้าอติเรกจีวรคือผ้าอาบน้ำฝนไว้ใช้ได้คนละผืน
นับเป็นผ้าผืนที่ 4 ซึ่งแต่เดิมทรงกำหนดให้มีเพียง 3 ผืน คือผ้าสบงสำหรับนุ่ง
ผ้าจีวรสำหรับห่ม และผ้าสังฆาฏิ เป็นผ้าหนาสองชั้น สำหรับคลุมเป็นเสื้อโค๊ตกันหนาว
เท่านั้น
นั่นแหละคือคุณธรรมน้ำจิตของบุคคลที่ควรยกย่องเชิดชูว่าเป็น "แม่พระ" คือว่า
ถ้าเกิดปัญหาครหานินทาว่ากล่าวเป็นที่เสื่อมเสียต่อพระเจ้าพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา
อุบาสกอุบาสิกาที่ดีนั้นย่อมจะพิจารณาด้วยหัวอกของพ่อและแม่
คือมองพระให้เหมือนลูกในไส้ของตนเอง สิ่งใดไม่ดีไม่งามก็ปกปิดไว้แล้วค่อยๆ
แก้ไขให้ถูกแบบแผน ไม่โฉ่งฉ่างประจานออกไปภายนอกให้เป็นที่เสียหายร้ายแรงซ้ำเติมเข้าไปอีก
ระยะนี้ท่านผู้อ่านคงจะได้ข่าวหลายๆ ข่าว เกี่ยวกับพระสงฆ์ในทางเสื่อมเสีย
ตั้งแต่พระใบ้หวย พระเล่นบอล ไปจนถึงพระมีสัมพันธ์กับสีกา
ข่าวเหล่านี้ถูกตีไปทางสื่อต่างๆ เหมือนกับว่าเป็นข่าวสามัญ ทั้งๆ
ที่มิใช่ข่าวสามัญ
หากแต่เป็นข่าวที่คนผู้อ้างตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนช่วยกันประโคมความเสื่อมเสีย
ไม่ต่างไปจากการประจานลูกหลานและญาติพี่น้องของเราเอง
จริงอยู่
ในด้านการตลาดและความสนใจของผู้คนนั้น ถ้าเกิดความเสื่อมเสียกับพระกับเจ้า
ผู้คนก็ย่อมสนใจมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป
เพราะพระภิกษุสามเณรนั้นเป็นบุคคลพิเศษ
มีสถานะเป็นนักบวชและเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน
ถ้าทำผิดก็ย่อมเป็นที่สนใจเป็นธรรมดา ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของการตลาดแล้ว
การเล่นข่าวพระสงฆ์ในทางเสียๆ หายๆ มันย่อมขายหนังสือพิมพ์ได้ดีกว่าข่าวอื่นๆ
หนังสือพิมพ์บางฉบับและโทรทัศน์บางช่อง
ถึงกับมีทีมงานเฉพาะกิจไว้คอยเจาะหรือสืบข่าวพระสงฆ์ในทางเสียๆ หายๆ
โดยหวังจะ "ขายข่าวเอาเงินมาเลี้ยงไส้เลี้ยงท้องอย่างเดียว"
ส่วนพระศาสนาจะเสียหายเช่นใดนั้น คนเหล่านี้มิเคยสนใจไยดี
เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีหน้าที่ในการรักษาพระศาสนา
หน้าที่นี้เขายกให้แก่พระสงฆ์สามเณรตั้งแต่เริ่มมีพระบวชเป็นรูปแรกในเมืองไทยเราแล้ว
!
เราเคยท่องจำกันมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ ว่าไตรรงค์ธงชาติไทยนั้นมี 3 สี
มีความหมายถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
แต่ในรัฐธรรมนูญนั้นมีการปกป้องไว้แต่เพียง 2 สถานบันหลักเท่านั้น คือ ชาติ
และพระมหากษัตริย์
ส่วนศาสนานั้นกลับไม่มีบทบัญญัติไว้ในฐานะสถาบันหลักของชาติ
ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะบัญญัติว่า
"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
ทั้งนี้เพราะความขลาดกลัวของผู้ปกครองบ้านเมืองนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้
เมื่อมีเหตุการณ์ในด้านลบเกิดขึ้นภายในพระศาสนา
ก็เท่ากับว่ารัฐบาลและประชาชนคนไทยปล่อยลอยแพให้พระสงฆ์สามเณรแก้ไขเอาเองตามแต่สถานภาพของใครของมัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ข้าราชการทหาร ซึ่งสังกัดกระทรวงกลาโหม
เมื่อทหารนายใดกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือแพ่ง
เขามีสนธิสัญญาไว้กับกระทรวงมหาดไทยว่า
"เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจะจับกุมทหารในเครื่องแบบได้
ยกเว้นแต่เป็นการทำผิดเฉพาะหน้า"
ซึ่งถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาจริงๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องขออนุมัติไปทางต้นสังกัดเพื่อทำการควบคุมตัวทหารนายนั้น
ถ้าหากยังไม่ได้รับอนุมัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็
"ไม่มีอำนาจควบคุม"
ทั้งๆ ที่อาจจะมีหลักฐานพยานชัดเจนว่า ทหารนายนั้นได้กระทำผิดกฎหมายชัดเจน
แม้ในเวลาสอบสวนทหารนายนั้น ก็ต้องให้สารวัตรทหารร่วมฟังเป็นพยานอยู่ด้วย
นั่นเป็นการปกป้องคนในสังกัดอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
ทีนี้ เมื่อหันมาดูพระเณรเราบ้าง ทั้งๆ ที่เป็นสถาบันหลักของชาติ
ถูกยกย่องสูงส่งกว่าทหารด้วยซ้ำ แต่น่าแปลกว่า
"เราไม่มีสนธิสัญญาเหมือนทหารกับตำรวจ"
คือว่า มิได้มีอะไรพิทักษ์ปกป้องบุคลาการทางพระพุทธศาสนาในเวลาทำผิด
เราจึงได้เห็นว่าทุกครั้งที่มีพระสงฆ์สามเณรกระทำผิด
แม้จะเป็นเพียงความผิดเล็กน้อยในทางโลก เช่น การกินเหล้า หรือเข้าไปในสถานอโคจร
เป็นต้น ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและสอบสวน
โดยมิได้ผ่านกระบวนการรับรองของคณะสงฆ์ก่อน คือก่อนที่คณะสงฆ์ผู้ปกครองจะทราบ
ก็ปรากฏว่า พระภิกษุ-สามเณร รูปนั้น
ได้ผ่านการจับกุมและสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไปก่อนแล้ว แล้วถามว่า
คนไทยให้เกียรติต่อสถาบันหลักคือพระพุทธศาสนากันตรงไหน
พูดง่ายๆ ก็หมายถึงว่า
ทหารยังมีเกียรติมีศักดิ์ศรีดีกว่าพระภิกษุสามเณรเสียอีก
สภาพความเป็นจริงของสังคมและกฎหมายบ้านเมืองไทยตั้งแต่สมัยเก่ามาจนปัจจุบันมันเป็นเช่นนี้
แต่น่าเศร้าใจว่า
ไม่มีใครคิดจะกอบกู้สถานภาพของพระพุทธศาสนาให้ดีขึ้น นอกจากด่า ด่า และด่า
ถ้าไม่ชอบใจในบทบาทของพระสงฆ์องค์เณร
เรื่องนี้สำคัญ
มิใช่เรื่องเล่นๆ ขอย้ำว่า
ถ้าไม่สำคัญผู้เขียนจะไม่เสียเวลามาบรรยาย
จึงน่าเศร้าใจว่า เมืองไทยไม่มีแม่พระพ่อพระแล้วหรือ ?
เราขาดคนที่รู้และเข้าใจในพระศาสนา ขาดคนที่มีศรัทธาอย่างจริงจัง
ขาดคนที่แก้ไขปัญหาพระศาสนาเป็น ขาดคนที่มีสติ ขาดคนที่มีวิจารณญาณ
ต่องานพระศาสนาอันเป็นงานละเอียดอ่อน
เพราะต้องประคับประคองศรัทธาของสาธุชนให้อยู่ในระดับที่ดี ตรงนี้สิสำคัญ
พระรูปหนึ่งนอนฟังเพื่อนเชียร์บอลก็ร้อนรนจนทนไม่ไหว
รีบหมุนโทรศัพท์ไปหาสมณะคนหนึ่งในอีกสังกัดหนึ่ง
แล้วสมณะคนนั้นก็รีบเขียนประจานพระสงฆ์ไทยว่า "ประพฤติไม่เหมาะสม"
เรียกว่าช่วยกันประโคมข่าวเสียหายให้เต็มที่
เพราะถ้าคณะสงฆ์ไทยเสียหายจนพังไปเร็วเท่าไหร่
คณะของตนซึ่งรอจังหวะอยู่แล้วจะได้แจ้งเกิดเสียที นี่แหละจัญไรทั้งคู่
ในพระวินัยมีสิกขาบทบัญญัติ
"ห้ามมิให้พระภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบ
คือตั้งแต่สังฆาทิเสสขึ้นไปให้แก่คฤหัสถ์ทราบ"
เพราะเรื่องภายในวัดก็ต้องคุยกันในวัด ห้ามมิให้นำไปเผยแผ่แก่คนภายนอก
แต่ก็ยังมีอีกสิกขาบทหนึ่งซึ่ง
"ห้ามมิให้พระภิกษุปกปิดอาบัติชั่วหยาบของพระภิกษุด้วยกัน"
ข้อนี้ถ้าพบเห็นพระรูปใดทำผิดก็ต้องแจ้งให้แก่พระสงฆ์ทราบเพื่อจะได้พิจารณาความผิดนั้น
นั่นเป็นอริยวินัย
มิใช่โทรไปแจ้งตำรวจหรือนักข่าวเพื่อกำจัดพระที่ตนเองเกลียดขี้หน้า
โดยหารู้ไม่ว่า
"นั่นแหละก็คือการทำลายตัวเองและพระพุทธศาสนาไปในตัว"
บางคนนั้นมีปัญญา แต่ขาดสติ มีความรู้ แต่ไม่มีมารยาท อยากทำอยากจะแสดงออก
แต่ก็แสดงออกแบบผิดๆ ถูกๆ ยิ่งทำไปก็ยิ่งเสื่อมเสีย สู้ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า
จึงขอฝากมายังมิตรรักแฟนคอลัมน์ว่า
พร้อมหรือยังสำหรับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างพร้อมทั้ง สติ ปัญญา ความรู้
และมารยาท ถ้าทำเป็นท่านก็สามารถเป็นเช่นคุณแม่วิสาขาได้
และย่อมได้รับการยกย่องเป็นมหาอุบาสก มหาอุบาสิกา กับเขาด้วย
ซึ่งคำทั้งสองนั้นท่านแปลว่า พ่อพระ แม่พระ สาระมันอยู่ตรงนี้เท่านั้น สวัสดี
|