
ห่างหายไปหลายเพลา เพื่อนฝูงในคอลัมน์พบหน้าก็ถามหา
"เมื่อไหร่มหานรินทร์จะเขียนอีก"
ได้ยินได้ฟังก็ถึงกับยกมือไหว้
ดีอกดีใจที่มีคนสนใจงานของเรา เหมือนแม่ค้าทำอาหารขาย
มีลูกค้ามาอุดหนุนมีหรือจะไม่ดีใจ
แต่ต้องขอแสดงความเสียใจกับมิตรรักแฟนเพลงทุกท่านที่เข้ามาแล้วเจอแต่ข้อเขียนเก่าๆ
หลายท่านอาจจะเบื่อถึงกับเมินหนีไปหาเว๊บอื่น
ซึ่งเรื่องนี้ต้องขออภัยอย่างแรง
ว่ากันตามจริง ผู้เขียนเป็นคนขยันน้อย ความรู้ก็น้อย
จะคิดจะเขียนอะไรก็ต้องสาละวนหาที่ไปที่มาให้ชัดเจน
กว่าจะได้ข้อมูลครบสุนทรียารมณ์ในการเขียนก็ละลายหายไปแทบหมดแล้ว
หลายเรื่องหลายราวหลายข่าวหลายคราวที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในโลกไซเบอร์สเปซนี้ก็เช่นเดียวกัน
บางข่าวนั้นแรกๆ ผู้เขียนคันไม้คันมือจะละเลงกีร์ต้าว่าให้แล้วเชียว
แต่ลองนึกตรึกตรองถึงโลกธรรม
"ที่ไหนๆ มันก็มีอย่างนี้
เช่นข่าวพระใบ้หวย แล้วเราจะเขียนไปทำไม คนไทยมิใช่คนโง่
เพียงแต่บางทีแกล้งโง่บ้างเท่านั้น"
และนั่นจึงทำให้ไม่มีข้อเขียนใหม่ๆ ด้วยเหตุปัจจัยตามที่อ้างมาฉะนี้
แต่วันนี้ต้องฮึดเขียน เพราะถ้าไม่เขียนก็เห็นจะต้องปิดคอลัมน์หนี
มีอย่างที่ไหน สร้างคอลัมน์ขึ้นมาเหมือนมืออาชีพหากิน แต่เขียนผลุบๆ โผล่ๆ
อย่างนี้ถ้าไปทำบิสสิเนสลูกค้าอำลาอาลัยไปแบบอมตะนิรันดร์กาลแน่นอน ดังนั้น
วันนี้จึงต้องเขียน
เรื่องที่จะนำเสนอในวันนี้ เป็นชีวประวัติของพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งสำคัญมาก
เพราะท่านเป็นถึงระดับ
"สมเด็จพระสังฆราชเจ้า"
องค์หนึ่งของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์
และเกร็ดประวัติตอนนี้ผู้เขียนไปเช็คดูในประวัติสมเด็จพระสังฆราชในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง
19 ท่านแล้ว ปรากฏว่า "ตกหล่นหายไป" ต้องไปหาในข้อเขียนของ
มรว.คึกฤทธิ์
ปราโมช ซึ่งเคยบวชพระอยู่กับพระองค์ท่าน จึงได้รู้ที่ไปที่มา
และนำเสนอต่อมิตรรักแฟนคอลัมน์ ณ บัดนี้
สมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นตำแหน่งพระราชาของคณะสงฆ์ไทย
ประชาชนคนไทยทั่วไปมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์พระประมุขสูงสุด ฉันใด
พระสงฆ์ไทยก็มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์พระประมุขสูงสุด ฉันนั้น
ต่างกันนิดหน่อยเพียงแต่ว่า คณะสงฆ์ไทยแยกออกเป็น 2 นิกายใหญ่ๆ คือ มหานิกายและธรรมยุติกนิกายเท่านั้น โดยสมเด็จพระสังฆราชนั้นก็มาจากพระในทั้งสองนิกาย
ผลัดเปลี่ยนกันตามบุญวาสนาขึ้นมาดำรงตำแหน่งสังฆบิดร
ซึ่งองค์ที่จะนำเสนอในวันนี้พระองค์ท่านมีพระนามว่า
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(มรว.ชื่น สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชรูปที่
13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี พ.ศ.2488 ถึงปี
พ.ศ.2501 จึงสิ้นพระชนม์ ส่วนพระประวัติอื่นใดนั้น
ท่านที่สนใจก็กรุณาไปค้นคว้าหาเอาเองเถิด
เพราะผู้เขียนมิได้ตั้งใจจะนำเสนอพระประวัติตามที่คนอื่นๆ เขาเขียน
จึงขอแสดงความเสียใจที่ไม่สามารถไขข้อข้องใจให้ถูกใจทุกคนได้
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ครั้งยังทรงเป็นเพียง
"พระมหาชื่น สุจิตฺโต ประโยค 7"
อยู่ในวัดบวรนิเวศวิหารนั้น สมัยนั้นวัดบวรนิเวศวิหารมีเจ้าอาวาสชื่อ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งว่ากันว่ามีพระอุปนิสัย
"เฮี๊ยบ"
สุดๆ
พระมหาชื่นทั้งถูกดุด่าว่ากล่าวประหนึ่งกระท้อนโดนทุบจึงทั้งเหนื่อยทั้งท้อแท้
หนักเข้าก็ถึงกับคิดสึก คิดไม่คิดเปล่า
พระมหาชื่นสั่งญาติให้หาเสื้อผ้ากางเกงอันเป็นเครื่องทรงของคฤหัสถ์ไว้พรักพร้อมแล้ว
ก็เข้าไปกราบเรียนสมเด็จฯเจ้าอาวาสว่าจะหาฤกษ์สึกในอีกสองวันข้างหน้า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็มิได้ตรัสตอบว่าประการใด
ปล่อยให้พระมหาชื่นเดินหน้าไปหาหมอดูเพื่อขอฤกษ์สึก
ก่อนวันที่พระมหาชื่นจะได้ฤกษ์สึกวันหนึ่ง
เป็นเวลาเย็น
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5
เสด็จมาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงนมัสการสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ครั้นเสร็จพระราชธุระในตำหนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว ตามปกติก็จะเสด็จกลับ
แต่ปรากฏว่าเย็นวันนั้น
สมเด็จพระปิยมหาราชหลังจากเสด็จลงจากตำหนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ก็เสด็จตรงไปยังกุฏิของพระมหาชื่นทันที
พระมหาชื่นกำลังชื่นชมอยู่กับเสื้อราชประแตนและกางเกงขาก๊วย
เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตรงมายังกุฏิของตนเองเช่นนั้นก็ใจสั่นทำอะไรไม่ถูก
ยิ่ง ร.5 เสด็จประทับยืนอยู่ที่หน้ากุฏิ พระมหาชื่นยิ่งกระวนกระวาย
ไม่กล้าทูลเชิญเสด็จเข้าในกุฏิ
ได้แต่คว้าผ้าจีวรและสังฆาฏิมาครองให้เป็นปริมณฑลและนั่งพับเพียบอยู่ภายในกุฏิ
ครั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงยืนตรัสกับพระมหาชื่นว่า
ทราบข่าวว่าคุณจะสึกวันพรุ่งนี้หรือ ?
พระมหาชื่นก็ถวายพระพรตอบว่า
เป็นความจริง ขอถวายพระพร
สมเด็จพระปิยมหาราชตรัสต่อไปอีกว่า
"อันเรื่องสึกเรื่องหานั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา พระจะสึก คนจะคลอด
ใครจะไปห้ามกระไรได้ แต่ฉันอยากจะบอกให้รู้ว่า
คนอย่างคุณนั้นบวชเป็นพระแล้วหายาก แต่ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็จะหาง่าย"
ตรัสเพียงเท่านี้ก็ทรงยกพระหัตถ์นมัสการลากลับ
ปรากฏว่าไม่ว่าฤกษ์จะงามยามจะดีอย่างไรในวันพรุ่งนี้
รวมทั้งเสื้อราชประแตนอันแสนจะน่าเสน่หานั้น ถูกยกเลิกหมด พระมหาชื่นรูปนั้น
ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
รูปที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ภายหลัง
เมื่อมีคนไปทูลถามพระองค์ว่า
"เหตุใดจึงตัดพระทัยไม่ยอมสึก"
สมเด็จพระสังฆราชชื่นก็ตรัสตอบว่า
"เพราะข้าอยากเป็นคนหายากว่ะ"
พระสงฆ์กับการเมืองนั้นเกี่ยวเนื่องกันมาทุกสมัย
ใครเลยจะคิดว่าพระสงฆ์ไทยสมัยนั้นจะเล่นกันรุนแรงพอๆ กับสมัยนี้ สมัยที่
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกพระต่อว่าต่อขานจนไม่รู้จะทำอย่างไร
เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธบริษัทนั้นท่านถือคติธรรมที่ว่า
"พระด่าคือพระให้พร"
แม้จะงอนให้พระอย่างไร
นายกฯทักษิณก็ยังต้องทำใจประพฤติตนให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป
เช่นบัญชีเงินเดือนพระที่ท่านอุตส่าห์ผ่าน ครม.ให้นั้น
พระสงฆ์ลดสำนวนด่ารัฐบาลไปหลายดีกรี
สมัยสมเด็จชื่นเป็นสังฆราชนั้นก็มีปัญหาเหมือนทุกวันนี้แหละ คือว่ามีพระรูปหนึ่งทำหนังสือ
"แช่งชักหักกระดูก"
ส่งไปถึงเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งในรัฐบาล
เจ้านายพระองค์นั้นก็ไม่รู้จะต่อว่าต่อขานให้พระรูปนั้นอย่างไร
คิดได้ก็เพียงแต่ว่า
"ต้องให้ผู้ปกครองสงฆ์จัดการปัญหาพระนอกรีต"
คิดแล้วก็ทรงนำเอาหนังสือฉบับนั้นประกบกับหนังสือร้องทุกข์ของพระองค์ส่งไปถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อทรงได้รับคำร้องทุกข์แล้ว
จึงทรงมีพระสังฆราชบัญชา
เชิญให้เจ้านายพระองค์นั้นเสด็จมายังวัดบวรนิเวศวิหาร
เพื่อถามถึงวัตถุประสงค์ที่ทรงร้องเรียนมา โดยทรงถามว่า
"ที่ท่านทรงขอมา
จะให้จัดการกับพระที่มีหนังสือไปแช่งท่านนั้น
ท่านมีประสงค์จะให้อาตมาทำอย่างไร"
เจ้านายพระองค์นั้นก็ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า
"มิได้มีประสงค์จะให้สมเด็จพระสังฆราชลงโทษพระรูปนั้น
แต่อยากจะให้พระองค์ทรงตักเตือนมิให้กระทำเยี่ยงนี้อีก"
สมเด็จพระสังฆราชก็ตรัสตอบว่า
"อืม ..การที่ผู้อยู่ในสมณเพศกล่าวคำแช่งชักท่านให้ประสบภัยพิบัติและอัปมงคลต่างๆ
นั้น ท่านเชื่อหรือไม่ว่าจะเกิดผลตามที่แช่ง"
เจ้านายพระองค์นั้นก็ทูลว่า
"ไม่เชื่อ"
สมเด็จพระสังฆราชชื่นก็ตรัสว่า
"ถ้าไม่ทรงเชื่อแล้ว
ก็ไม่น่าจะทรงต้องเดือดร้อนอะไร เรื่องก็น่าจะจบเพียงแค่นี้
อย่าให้อาตมาต้องไปว่ากล่าวพระภิกษุรูปนั้นท่านเลย
เพราะถ้าอาตมาไปว่ากล่าวท่าน ดีไม่ดีท่านมาแช่งอาตมาเข้าอีก
ถ้าเป็นเช่นนั้นอาตมาก็จะลำบาก
เพราะว่าผู้มีศีลแช่งนั้นอาตมาเชื่อว่าจะเป็นจริง จึงขอบิณฑบาตว่า
อย่าให้อาตมาต้องไปว่ากล่าวตักเตือนท่านเลย นะ เจริญพร"
ปรากฏว่าเรื่องราวดังกล่าวหายลับเข้ากลีบเมฆไปจนบัดนี้
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์)
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงผนวช ในวันที่ 22 ตุลาคม
พ.ศ.2499
มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่อยากบันทึกไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ
คือว่า
ครั้งหนึ่ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จกลับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเสด็จไปศึกษาต่อที่นั่น ครั้งนั้น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงได้รับอาราธนาเข้าไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เหตุการณ์ด้านนอกพระบรมมหาราชวังนั้น ประชาชนล้มหลาม
ชวนกันมาชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่ปรากฏว่าถูกทหารตำรวจกีดกันไว้ไม่ให้เข้าเฝ้า
ทั้งนี้เพราะเกรงจะเกิดเหตุอันไม่พึงปรารถนาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับในหลวง
ร.8 มาแล้ว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับพระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงมีพระสังฆราชปฏิสันถารต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
"...ราษฎรเขามาคอยเฝ้ากันตามถนนหนทางมากมาย
เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไปคอยกันเขาไม่ให้เข้าใกล้ได้แลเห็นพระองค์ เขาเสียใจ
เขาเสียใจกันมาก ในเมืองไทยเรานี้ พระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรไม่เป็นภัยต่อกันเลย
ขอให้ทรงจำไว้ ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระองค์เลย..."
เผอิญว่า
ไมโครโฟนที่อยู่ด้านหน้าของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์นั้น
เปิดไว้ก่อนแล้ว เสียงของสมเด็จพระสังฆราชจึงดังไปทั่วบริเวณ
ทั้งขณะนั้นยังมีการถ่ายทอดสดออกวิทยุด้วย
กว่าเจ้าพนักงานจะเข้าไปปิดไมโครโฟนตัวนั้นลง
พระสังฆราชดำรัสก็ถูกบันทึกไว้เรียบร้อยอย่างสมบูรณ์แล้ว
นับจากวันนั้น พระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรจึงกลับมาใกล้ชิดกันประหนึ่งพ่อกับลูก
ดังภาพที่นำเสนอข้างต้นนี้แล้ว
การเสด็จไปยังกุฏิพระมหาชื่นของในหลวง ร.5 ครั้งนั้น
นับเป็นพระอัจฉริยภาพที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
|