บวชการเมือง
 


 

    "บวชร่ำบวชเรียน บวชเปลืองข้าวสุก บวชเล่นหมากรุก บวชสนุกกับเพื่อน" โบราณมีคำพังเพยเปรียบเทียบการ "บวช" ไว้ฉะนี้ แต่วันนี้มีการบวชแนวใหม่มาเสนอ ตามท็อปปิกหรือหัวเรื่องที่จั่วไว้แล้ว นั่นคือ บวชการเมือง

      คำว่า "บวช" มาจากศัพท์ภาษาบาลีที่ว่า "บรรพชา" ซึ่งแปลว่า เว้นจากการทำชั่ว คนที่บวชแล้วจึงเป็นคนดีหรือผู้ดี มีผู้คนนับหน้าถือตา ถึงขนาดว่ายกมือไหว้ให้ความเคารพยกย่อง ทั้งนี้ก็เพราะเห็นเป็นคนดีนั่นเอง

     เริ่มเมื่อสมัยพุทธกาล คือตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงทรงพระชนม์อยู่ ซึ่งมีการบวชเพื่อ "พ้นจากทุกข์" เป็นจุดหมายหลักแล้ว เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลออกจากอินเดียไปสู่นานาประเทศ พฤติกรรมหรือวัตถุประสงค์การบวชของผู้คนก็ผันแปรไป เลยกลายมาเป็นสำนวนที่นำเสนอข้างต้น และที่สำคัญก็คือ หนึ่งในการบวชที่เพิ่มประเภทขึ้นนั้นมีการบวช "เพื่อการเมือง" รวมอยู่ด้วย

     ที่เรียกว่า "บวชการเมือง" นี้ก็การบวชประเภทนี้มีสาเหตุมาจากการเมือง หรือเป็นการ บวช "เพื่อการเมือง" ส่วนคำว่า "การเมือง" นั้นผู้เขียนขอแสดงความขี้เกียจไม่วิเคราะห์ เพราะคิดว่า ทุกท่านคงรู้ความหมายดีอยู่แล้ว เอ้าแปลให้ฟังนิดหน่อยตามสำนวนของวงดนตรีคาราบาวก็คือว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์

     การบวชการเมืองในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น เก๋าที่สุดก็คงจะเป็นการออกบวชของ "พระเทียรราชา" พระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระไชยราชา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน บันทึกไว้ว่า

     "...ศักราช 889 ปีกุน นพศก สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า เสด็จสวรรคต ณ มัชฌิมวิถีประเทศ (กลางทางระหว่างไปรบกับเชียงใหม่ แต่ต้องกระสุนขณะนำทัพเข้าตีเมืองหริภุญไชยลำพูน อันเป็นเมืองด่านหน้าของเชียงใหม่ในทิศใต้สมัยนั้น) มุขมนตรีเชิญพระบรมศพเข้าพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า อยู่ในราชสมบัติมไหศวรรย์ 14 พรรษา มีพระราชโอรสสองพระองค์ และพระราชโอรสผู้พี่ทรงพระนาม "พระยอดฟ้า" พระชนม์ได้ 11 พรรษา พระราชโอรสผู้น้องทรงพระนามว่า "พระศรีศิลป์" พระชนม์ได้ 5 พรรษา

     ครั้นถวายพระเพลิงพระไชยราชาเสร็จแล้ว ฝ่ายพระเทียรราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชานั้น จึ่งดำริว่า "ครั้นกูจะอยู่ในฆราวาสบัดนี้ เห็นภัยจะบังเกิดมีเป็นมั่นคง ไม่เห็นสิ่งใดที่จะเป็นที่พึ่งได้ เห็นแต่พระพุทธศาสนาและผ้ากาสาวพัตร อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ จะเป็นที่พำนักพันภัยอุปัทวอันตราย ครั้นดำริแล้ว ก็ออกไปอุปสมบทเป็นภิกษุภาวะอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน..."

     นั่นละคือเหตุการณ์ตอนพระเทียรราชาออกบวช สรุปก็คือว่า การออกบวชของพระเทียรราชาเป็นการบวช "หนีราชภัย" จากแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งพงศาวดารหลายเล่มผูกเรื่องว่า "ทรงมีชู้อยู่กินกับพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระด้านนอกวัง จนมีพระราชธิดาด้วยกัน 1 คน"

      ผลหรืออานิสงส์ของการบวชของพระเทียรราชาก็ดังที่ทราบ คือ 1.ได้ผ้าเหลืองเป็นที่คุ้มหัวพ้นภัย ไม่ต้องถูกฆ่าแกงเหมือนนักโทษทางการเมืองหรือผู้กระด้างกระเดื่องคนอื่นๆ 2.สามารถใช้วัดราชประดิษฐานเป็นฐานบัญชาการล้มล้างราชบัลลังก์แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงษาธิราชเป็นผลสำเร็จ เมื่อสังหารแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงษาธิราชได้แล้ว พระภิกษุพระเทียรราชาก็ลาสิกขา แต่เขาเขียนเป็น "ทรงปริวัตร" กลับเพศเป็นฆราวาส เสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนาม "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์"

     ประวัติก่อนบวชของพระเทียรราชานั้นก็สั้นๆ ง่ายๆ คือ ทรงมีครอบครัว มีพระชายาและพระโอรสพระธิดาหมดแล้ว พระชายาของพระองค์ก็คือ พระสุริโยทัย ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระศรีสุริโยทัย" ส่วนพระโอรสและพระธิดาซึ่งประสูติแต่พระนางสุริโยทัยนั้นมี 4 พระองค์ ได้แก่ พระราเมศวร พระมหินทราธิราช พระวิสุทธิกษัตรี พระเทพกษัตรี รวมทั้ง "ลูกสนม" องค์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ล้วนบ่งถึงเบื้องหลังการบวชของพระเทียรราชาว่า "มิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ" หากแต่เป็นไปเพราะ "ความจำใจ"

       นับเป็น "บวชการเมือง" เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

      ต่อมา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีบวชการเมืองนามกระเดื่องอีก พระภิกษุรูปนี้มีชื่อว่า พระภิกษุวชิรญาณ ซึ่งภายหลังได้ครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ความทรงจำ" ว่า "ปีวอก พ.ศ.2367 (เจ้าฟ้ามงกุฏ-พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) พระชันษา 21 ปี เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี พอทรงผนวชได้ 15 วัน ก็เผอิญเกิดวิบัติ ด้วยสมเด็จพระบรมชนก (พระราชบิดา) เสด็จสวรรคต"

     ความหลังตอนนี้มีอยู่ว่า ในเวลาท้ายรัชกาลที่ 2 นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโอรสประสูติแต่พระอัครมเหสี (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตร์ หรือฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งทรงเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) อยู่ 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฏ และเจ้าฟ้าจุฑามณี

    เจ้าฟ้ามงกุฏนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 20 ปี ได้เวลาอุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จึงเสด็จเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ฉศก จุลศักราช 1186 หรือ พ.ศ.2367 เวลา 8 โมงเช้า 9 บาท มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ร่วมสังฆกรรม 50 รูป เจ้าฟ้ามงกุฏได้พระฉายาในทางสมณเพศว่า "วชิรญาโณ" แปลว่า ผู้มีความรู้ประดุจเพชร

     ขณะเดียวกัน ในเวลานั้น การบริหารการปกครองบ้านเมืองล้วนตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ) พระราชโอรสประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุราไลยหรือเจ้าจอมมารดาเรียม ผู้ทรงมีพระชนมายุสูงกว่าเจ้าฟ้างมงกุฏถึง 17 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าฟ้ามงกุฏถึงจะทรงมี "สิทธิในราชบัลลังก์" ตามโบราณประเพณี แต่บัดนี้มีข้อยกเว้นแล้ว เพราะ "อำนาจชี้ขาดให้ใครได้ราชบัลลังก์" กลับตกอยู่ในเงื้อมมือพี่ชายต่างพระมารดา เห็นไหมว่า ในโลกนี้แม้จะมีพิธีรีตรองระเบียบแบบแผนมาอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็จำต้องใช้ทางเบี่ยงเพื่อเลี่ยงการนองเลือดระหว่างพี่น้องด้วยกัน

     ว่ากันว่า พระภิกษุวชิรญาณนำความเมืองเรื่องนี้ไปขอคำปรึกษาจากพระเจ้าลุง คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ก็ได้รับคำตอบว่า "อย่าทรงห่วงเรื่องราชสมบัติเลย" ก็เลยเป็นว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หาใช่เป็น "พระราชโอรสในพระอัครมเหสี" ไม่ หากแต่เป็นพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดา คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

     เวลาที่เจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชและยอมผนวชต่อไปนั้น ทรงมีพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย (พระธิดาในพระอินทรอำไพ-พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) อยู่ก่อนแล้วถึง 2 พระองค์ ได้แก่ 1.พระองค์เจ้านพวงศ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2365 2.พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2367 การออกผนวชในขณะที่มีทั้ง "เมีย" และ "ลูกน้อย" เช่นนี้ ดูให้ดีก็จะเห็นว่า "พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏหาได้มีความสุขในผ้ากาสาวพัสตร์แต่อย่างใดไม่" ทั้งนี้เพราะการบวชนั้นเป็นไปตาม "ประเพณี" แต่ที่ยังสึกไม่ได้นั้นก็เพราะ "มีเหตุจำเป็น" ทำให้ทรงจำพระทัยต้องประทับอยู่ในผ้าเหลืองเป็นเวลานานถึง 27 ปี กระทั่งพระเชษฐา คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระภิกษุวชิรญาณ พระชนมายุ 47 พรรษา จึงรีบเสด็จปริวัตรลาสิกขาออกมาครองราชย์ในเวลาชั่วข้ามคืน

    นี่คือเบื้องหลังของการเมืองไทยอย่างแท้จริง และ "ผ้าเหลือง" ก็เป็นเกราะกำบังให้ "เจ้าฟ้ามงกุฏ" ทรงอยู่รอดปลอดจากราชภัย จนกระทั่งได้โอกาสกลับสู่ราชบัลลังก์อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการ "บวชการเมือง" ที่เลื่องลือที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์ทีเดียว

     ถึงวันที่ 19 เดือนกันยายน พ.ศ.2519 มีเณรโค่งองค์หนึ่งเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์ ขอเข้ารับการอุปสมบท (บวชเป็นพระ) จากคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร โดยการนำของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ยินดีรับสามเณรองค์ดังกล่าวเข้าสู่สังฆกรรมยกขึ้นเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย

    แต่เรื่องมิจบเพียงเท่านั้น เพราะสามเณรองค์นั้นมีนามว่า สามเณรถนอม กิตติขจร เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศไทยไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้หลบภัยการเมืองไปเป็นเวลา 3 ปี แล้วย้อนกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยใช้ผ้าเหลืองบังหน้า ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรมาจากประเทศสิงคโปร์ โดยมิทราบนามของพระอุปัชฌาย์

      กล่าวโดยละเอียด จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับการอนุญาตให้กลับเข้าสู่ประเทศไทย โดยมติของคณะรัฐมนตรี รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้เดินทางเข้ากลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2519 แล้วตรงไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับการอุปสมบท โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา สุกิตฺติขจโร

     การมาของสามเณรจอมพลถนอมดังกล่าว ได้รับการประท้วงจากองค์กรนิสิตนักศึกษาต่างๆ ลามปามไปถึงประท้วงคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารด้วย ว่า "ให้การอุปสมบทแก่ทรราชย์ได้อย่างไร" ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อองคุลิมาลบวชเป็นพระแล้ว เกิดคำร่ำลือว่า มีโจรบวชในบวรพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตั้งพระบัญญัติ "ห้ามมิให้คณะสงฆ์บวชให้แก่โจรผู้มีชื่อเสียง" แต่สำหรับกรณีของสามเณรจอมพลถนอมนี้ ถูกตราหน้าว่าเป็น "ทรราชย์-เข่นฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์ เป็นที่รู้กันทั้งประเทศ" คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารจะให้คำตอบต่อสาธารณชนและพระพุทธบัญญัติข้างต้นเช่นใด ???

      เมื่อคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ตัดสินใจบวชให้แก่สามเณรจอมพลถนอมครั้งนี้ เกิดกระแสขับไล่พระภิกษุถนอม แม้อยู่ในผ้าเหลืองให้ออกนอกประเทศ ร้อนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ต้องเสด็จไปวัดบวรนิเวศวิหารกลางดึก ด้วยทรงหวั่นเกรงว่า "จะมีคนเผาวัดบวร" นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยหน้าหนึ่ง ซึ่งวัดบวรนิเวศ "เว้นไว้" ไม่กล่าวถึงในประวัติของวัด และต่อมาก็มีกลุ่มกระทิงแดงซึ่งเป็นฝ่ายขวาได้ตั้งกองกำลังพิทักษ์วัดบวรนิเวศวิหาร โดยอ้างว่า "เพื่อป้องกันศาสนสถาน"  ทั้งพระกิตติวุฑฺโฒ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "การบวชของจอมพลถนอมในครั้งนี้ ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้น พระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์"

      จากประเด็น "พระถนอม" บวชที่วัดบวร ก็กลายเป็น "วัดบวรและราชสำนัก" ที่ต้องได้รับการปกป้องจากคนที่ "จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" มีกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ มากมายถึง 13 กลุ่ม อ้างตัวว่า "จงรักภักดี" ขันอาสาสละชีวิตเพื่อปกป้องวัดบวร แต่การชุมนุมประท้วงการมาของพระถนอมก็กระจายไปทั่วประเทศในเวลารวดเร็ว จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทุกอย่างก็สุกงอม

     รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รวมกับกลุ่มพลังฝ่ายขวา เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น ได้ระดมกำลังเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์ชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย แต่ถูกประณามหยามหมิ่นว่าเป็นคนทำลายล้างสถาบันศาสตร์-กษัตริย์ ถูกถีบให้ไปเป็น "ฝ่ายซ้าย" หรือ "คอมมิวนิสต์" จนเกิดวิกฤติการณ์ "6 ตุลาคม 2519" ชาวไทยฆ่ากันเองกลางบ้านกลางเมือง เป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาจนปัจจุบันนี้

     นิสิตนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย ต้องถูกฆ่าตายหลายพันคน ที่เหลือก็หนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่า ก่อนจะกลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทยอีกครั้ง ในชื่อของ "คนเดือนตุลา" และว่ากันว่า หลายคนก็กำลังเสวยสุขอยู่กับตำแหน่งอันทรงพลังอำนาจในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในบัดนี้ด้วย

     นี่คือเรื่องบวชการเมือง เรื่องที่ 3 !

     ล่าสุด วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2549 นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์พรรคไทยรักไทย อันดับที่ 93 จู่ๆ ก็ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทย แล้วไปรับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพิกุลเงิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีพระครูนนทสารเวที เจ้าอาวาสวัดพิกุลเงิน เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า เปมสักโก

     การบวชของ นพ.เปรมศักดิ์ คงจะไม่เป็นที่สนใจเท่าใดนัก ถ้าหากการบวชครั้งนี้เป็นไปเพื่อ "นิพพานสัจฉิกรณัตถาย" คือเพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังประเพณีการบวชของชาวพุทธมาแต่สมัยโบราณ หากแต่การบวชของ นพ.เปรมศักดิ์ครั้งนี้มีนัยยะแอบแฝงเป็นเหตุผลทางการเมือง โดย นพ.เปรมศักดิ์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก "เปิดใจ" ถึงสาเหตุแห่งการบวชไว้ว่า


จดหมายเปิดผนึก นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ

 

กราบเรียน พ่อแม่พี่น้อง ประชาชนชาวไทยที่เคารพรักอย่างยิ่ง

     กระผม นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2549 เนื่องจากกระผมเห็นว่า เหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงจนทำให้สังคมเกิดความแตกแยกจนยากที่จะเยียวยาได้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะได้พยายามแก้ปัญหาโดยการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน ที่จะถึงนี้ แต่ก็ไม่ สามารถคลี่คลายปัญหาทางการเมืองให้ทุเลาลงได้

     บัดนี้ สังคมไทยได้เดินเข้าสู่ทางตัน โดยทางฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเว้นวรรคทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ขณะที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านก็แสดงจุดยืนโดยการคว่ำบาตรการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ยากแก่การประนีประนอม และมีแนวโน้มอาจเกิด "อุบัติเหตุทางการเมือง" ได้ตลอดเวลา จนอาจเกิดความสูญเสียแก่ประเทศชาติและประชาชนได้ในที่สุด

     กระผมในฐานะที่เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา 4 สมัย และใช้ชีวิตเป็นแพทย์ชนบท คลุกคลีกับชาวบ้านมาโดยตลอด มีความศรัทธาในคำสอนของพระพยอม กัลยาโณ โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านได้เตือนสติกับสังคมว่า "รักพ่ออย่าทะเลาะกัน" เนื่องในวาระพิเศษครบรอบ 60 ปี แห่งการครองราชสมบัติของในหลวง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ทุกฝ่ายจึงควรหันหน้ามาปรองดองกัน และร่วมใจกันเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่านในโอกาสมหามงคลเช่นปัจจุบันนี้

     ดังนั้น กระผมจึงตัดสินใจลาบวช เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมมีทางออกอย่างสันติวิธี ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อของคนไทย และลดการเผชิญหน้า หันมาเจรจาบนพื้นฐานของความรู้จักสามัคคี ซึ่งการตัดสินใจของกระผมจะเป็นการปลดล็อคเงื่อนไขของการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยไม่ต้องการยึดติดกับเงื่อนไขเวลาการเลือกตั้ง 2 เมษายนที่จะถึงนี้

     แม้ว่า จะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก และมีผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของกระผมก็ตาม แต่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และพร้อมที่จะเสียสละทุก อย่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองหรือผลประโยชน์อื่นใด และกระผมพร้อมรับผิดชอบกับการตัดสินใจครั้งนี้ ทุกประการ

ด้วยจิตคารวะ และสมานฉันท์
นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ
11 มีนาคม 2549


      สรุปสาเหตุการบวชของ นพ.เปรมศักดิ์ ก็คือ "เพื่อปลดล็อคทางการเมือง" โดยเฉพาะเงื่อนไขของการเลือกตั้งครั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549

     การปลดล็อคทางการเมืองดังกล่าวนั้น มีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตราที่ 106 107 108 และ 109 มีข้อความดังต่อไปนี้

มาตรา 106 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ
 
(1) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
 
(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
 
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
(4) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
 
มาตรา 107 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
 
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
 
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเว้นแต่เคยเป็นสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
 
(4) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว
นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
 
(5) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ดังต่อไปนี้ ด้วย คือ
 
       (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลา
ติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
 
      (ข) เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง 
หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้น
 
      (ค) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
 
      (ง) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา
ติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา
 
      (จ) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
 
มาตรา 108 พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดจะส่งได้คนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น
 
มาตรา 109 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ
สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ
 
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตามมาตรา 106 (1) (2) หรือ (4)
(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปี
ในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
 
(6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการหน่วยงานของรัฐ 
หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ในวงราชการ
(7) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะ
ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
 
(8) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
 
(9) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
 
(10) เป็นสมาชิกวุฒิสภา
 
(11) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ 
หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
 
(12) เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
 
(13) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 295
 
(14) เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา 307 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
และยังไม่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติจนถึงวันเลือกตั้ง

      แปลความหมายแบบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือว่า พระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช แม่ชี ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตีความได้ต่อไปว่า "ไม่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าประเภทใดๆ" ทั้งนี้เพราะเมื่อไม่มีสิทธิ์ลงรับสมัครก็คือไม่มีสิทธิ์เป็นนั่นเอง

     แต่กับกรณีพระเปรมศักดิ์ครั้งนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่านั้นเยอะ เพราะกฎหมายเลือกตั้งของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า "เมื่อผู้มีหน้าที่พิจารณาการรับสมัครประกาศรายชื่อให้บุคคลนั้นเป็นผู้สมัครแล้ว ห้ามมีการถอนตัวภายหลัง" ซึ่งต้องนำมาตีความกันอีกว่า "การลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยเพื่อเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุของ นพ.สมศักดิ์ เพียยุระ ในครั้งนี้ เป็นการถอนตัวหรือเปล่า"

     ถ้าเป็น, ก็เป็นการขัดกับกฎหมาย หมายถึงว่า การลาบวชของ นพ.เปรมศักดิ์ ครั้งนี้ ผิดกฎหมาย ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ ส่วนสังฆกรรมที่คณะสงฆ์วัดพิกุลเงินกระทำไปนั้นเป็นการขัดต่อพระวินัยบัญญัติหรือไม่ ? อันนี้ต้องให้พระวินัยธรวินิจฉัย

     ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็คือว่า สถานภาพการเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นั้น สิ้นสุดหรือยัง ? เพราะจนป่านนี้ ทางคณะกรรมการควบคุมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ยังไม่ตัดสิทธิ์ของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ออกจากบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยอันดับที่ 93 แต่อย่างใด ! ซึ่งในเวลาสอบถามอันตรายิกธรรมก่อนเข้ารับการอุปสมบทนั้น พระคู่สวดได้สอบถาม นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เกี่ยวกับสถานภาพด้านนี้หรือไม่ ? ว่าได้ขาดจากสมาชิกภาพแล้วอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือว่าเป็นแต่เพียงการ "ลาฝ่ายเดียว" และถ้าเป็นเช่นนั้น จะถือว่าสังฆกรรมของคณะสงฆ์วัดพิกุลเงินบกพร่องหรือไม่ ?

      อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าด้วยการออกบวชของพระเปรมศักดิ์ในครั้งนี้ยังมีอีกต่อไปหลายประเด็น คือว่า ถ้าหากว่า กกต.ประกาศรับรองให้พระเปรมศักดิ์เป็น ส.ส. ตามบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย ที่ยังไม่ถอนชื่อออกไปนั้น ก็แสดงว่า พระเปรมศักดิ์เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ก็จะไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 109 ที่ห้ามมิให้พระภิกษุลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งยังมีข้อลักลั่นกันว่า พระเปรมศักดิ์สมัครเป็น ส.ส.ก่อนบวชพระ แต่ได้รับการประกาศรับรองให้เป็น ส.ส.ภายหลังบวชพระแล้ว และถ้าพระเปรมศักดิ์ได้เป็น ส.ส. จริง ต่อไปก็อาจจะมีพระภิกษุไทยลงสมัครรับเลือกตั้งตามอย่างพระเปรมศักดิ์บ้าง แม้ว่าจะลงสมัครในฐานะพระภิกษุไม่ได้ ก็อาจจะมีการ "ลาสิกขา" ก่อน ครั้นสมัครเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยบวชใหม่ แล้วก็จะได้เป็น ส.ส.สมใจ และถ้ามีการฟอร์มคณะรัฐมนตรี พระ ส.ส.รูปนั้นก็อาจจะได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่แน่นา เผลอๆ ประเทศไทยอาจจะมีพระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นรูปแรกก็ได้ เพราะสมัยนี้อะไรๆ เขาก็พร่ำหาศีลธรรมจริยธรรม ได้พระมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น่าจะมีเสียง "สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยที่รัก" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกเช้าวันเสาร์ให้ได้ยิน ก็อาจจะได้ได้ยินเสียงนี้แทน "เจริญพร ญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกท่าน เสียงนี้เป็นเสียงจากนายกรัฐมนตรี อาตมภาพ พระ..." และเมื่อนั้น ประเทศไทยก็จะกลายเป็นเมืองพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

      ปัญหาสถานภาพของพระเปรมศักดิ์ในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นจุดล่อแหลมสำคัญจุดหนึ่งทั้งต่อระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย และต่อสถานภาพของพระสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ด้วยพระไทยเรานั้นถือว่าเป็นผู้อยู่เหนือการเมือง ไม่เล่นการเมือง และไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะยังไงเสีย นักการเมืองทั้งหมดทั้งมวลมันก็ลูกศิษย์พระทั้งนั้น ผิดถูกชั่วดียังไงมันก็ต้องเข้าวัดอยู่ดี ดังนั้น ก็อย่าให้พระตัดสินอะไรเกี่ยวกับการเมืองเลยดีกว่า นี่เป็นประเพณีที่มีมานาน

     ขณะกำลังเขียนบทความบทนี้ โลกก็ยังคงหมุนไปไม่สิ้นสุดเป็นวัฏจักร การเมืองไทยก็ยังคงเดินหน้า พระเปรมศักดิ์นั้นถูกประท้วงให้ออกจากวัดสวนแก้วสาเหตุเพราะบวชการเมือง พระพยอม เจ้าอาวาส จึงแยกท่านให้ไปอยู่ที่สวนโมกข์นานาชาติ ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงค่อยผ่อนคลายดีกรีความร้อนแรงลงไป ท่านประกาศจะลาสิกขาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นวันฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก่อนจะถึงวันนั้น การเมืองไทยจะเปลี่ยนรูปร่างไปฉันใดแล้วก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า การบวชของพระของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการเมือง เป็นไปเพื่อการเมือง และส่งผลทางการเมืองอย่างสำคัญ ผูกพันทั้งรัฐธรรมนูญ และองค์กร รวมทั้งชะตาบ้านเมืองไทยให้เป็นไปอย่างหวาดเสียว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการบวชทางการเมืองสามครั้งก่อนที่นำเสนอแล้ว คลื่นลูกใหม่ย่อมแรงกว่าคลื่นลูกเก่า ฉันใด การบวชเพราะการเมืองของพระเปรมศักดิ์ในครั้งนี้ ก็ย่อมมีอิทธิพลแรงกว่าการบวชครั้งก่อนๆ ของบุคคลสำคัญ ฉันนั้น

และที่นำเสนอทั้งหมดนี้ ก็คือ บวชการเมือง ตามมุมมองของพระมหานรินทร์

เพื่อเป็นของขวัญสงกรานต์ 2549 สำหรับมิตรรักแฟนคอลัมน์นี้ทุกท่าน

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
19 เมษายน 2549
1
:00 A.M. Pacific Time.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264