มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทย
ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2445 ในสมัยรัชกาลที่
5 ด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งในพระราชบัญญัติฉบับนั้นมีมาตราที่
4 บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 4 สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ (หนเหนือ)
1 เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ (หนใต้) 1 เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา (คณะธรรมยุติ) 1
เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง (หนกลาง) 1 ทั้งพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง คณะเหนือ คณะใต้
คณะธรรมยุติกา คณะกลาง ทั้ง 4 ตำแหน่งนั้น
ยกเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา และการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป
ข้อภาระธุระในพระพุทธศาสนาหรือในสังฆมณฑลซึ่งได้ทรงโปรดให้พระมหาเถระทั้งนี้ประชุมวินิจฉัยในที่มหาเถรสมาคมตั้งแต่
5 พระองค์ขึ้นไป คำตัดสินของมหาเถรสมาคมนั้นให้เป็นสิทธิ์ขาด
ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปอีกไม่ได้
ต่อมา ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลประชาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ร.ศ.121 ซึ่งตราโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว
นั้นเสีย
แล้วให้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่แทน พระราชบัญญัติฉบับนั้นเรียกว่า
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นับเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ 2
ที่ถูกตราออกมาใช้ในประวัติศาสตร์การปกครองคณะสงฆ์ไทย
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั้น เลียนแบบการเมืองไทยในทุกด้าน
ให้มีคณะรัฐมนตรีในทางสงฆ์ แต่เรียกว่าสังฆมนตรี
พระสงฆ์ที่ดำรงตำแหน่งนี้ก็เรียกว่า สังฆมนตรีว่าการองค์การนั้นองค์การนี้ มี
4 องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่
และองค์การสาธารณูปการ ประธานสังฆมนตรีก็มีตำแหน่งเป็นสังฆนายก
แปลว่านายกในทางสงฆ์ เหมือนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีสังฆสภา
เหมือนสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้มีตัวแทนสงฆ์เข้าไปทำหน้าที่เป็นจำนวน 45 รูป
โดยคัดจาก พระราชาคณะชั้นธรรม ประเภท 1 พระคณาจารย์เอก ประเภท 1 พระเปรียญเอก
(คือสอบได้ประโยค 7-8-9) อีกประเภท 1 สมาชิกสังฆสภาก็จะทำหน้าที่เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ
ส.ส. เป็นปากเป็นเสียงแทนพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ มีเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ยื่นกระทู้ถาม
จะถามสดหรือถามแห้งก็สุดแต่สถานการณ์ สรุปว่า สังฆสภาเป็นที่สภาที่ออกกฎหมายคณะสงฆ์
นอกนั้นยังกำหนดให้มีคณะพระวินัยธร เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ในด้านกฎหมาย
วินิจฉัยอรรถคดีความของพระภิกษุสามเณรนับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา
ถ้าต้องอาบัติ หรือถูกฟ้องร้อง ก็จะต้องขึ้นศาลสงฆ์
ซึ่งมีองค์วินิจฉัยคือพระวินัยธร
เมื่อดูตามนี้ก็จะเห็นว่า ไม่มีมหาเถรสมาคม
หรือมหาเถรสมาคมถูกยุบทิ้งไปในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484
ครั้นวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
ได้รับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่
ทดแทนฉบับเก่าคือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 อันเป็นประชาธิปไตยนั้น
พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้เรียกชื่อตามปีที่ตั้งว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ.2505
ในมาตราที่ 12 แห่งหมวดที่ 2 มีการนำเอา
"มหาเถรสมาคม"
ซึ่งเคยใช้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง
มีข้อความดังนี้
มาตรา 12 มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 รูป
และไม่เกิน 8 รูป เป็นกรรมการ
ส่วนอำนาจและหน้าที่ของมหาเถรสมาคมนั้น มีอยู่ในมาตราที่ 18
แห่งพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้
มาตรา 18 มหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย
เพื่อการนี้ให้มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ
หรือออกคำสั่ง โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้
(กฎมหาเถรสมาคมเป็นต้นเหล่านี้ เทียบแล้วก็ เหมือนมติคณะรัฐมนตรี)
การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมที่มิใช่สมเด็จพระราชาคณะนั้น
เป็นอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นลงรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อดูตามนี้จะเห็นว่า มหาเถรสมาคมซึ่งเคยอยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ร.ศ.121 และถูกยุบเลิกไปในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484
ได้ถูกรื้อฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ใช้แทนระบบประชาธิปไตย
ไม่มีการถ่วงดุลกันอีกต่อไป แต่ให้สมดุลกันทั้งมหานิกายและธรรมยุต
แม้ว่าพระสงฆ์มหานิกายทั่วประเทศจะมีจำนวนมากถึง 300,000 รูป/องค์
ส่วนพระสงฆ์ธรรมยุติจะมีแค่ 30,000 รูป/องค์ ก็ตาม
ก็ถูกกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้บีบให้ทั้งสองนิกายเกิดความทัดเทียมกันในทางการปกครองในมหาเถรสมาคม
คือได้โควต้าคณะรัฐมนตรีเท่ากัน คือ มีกรรมการโดยตำแหน่ง
(ที่มียศระดับสมเด็จพระราชาคณะ) จำนวน 4/4 เท่ากัน และกรรมการโดยแต่งตั้ง
(ยังมิได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ) อีกจำนวนนิกายละ 6/6 เท่ากัน
แถมด้วยตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นก็เปิดโอกาสให้ทั้งสองนิกายได้ดำรงตำแหน่งในระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์
คือพระสมเด็จพระราชาคณะรูปใดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จก่อนเพื่อน
ถ้าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง
องค์นั้นก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่จำกัดนิกาย
ยกเว้นเสียแต่ว่าพระสมเด็จรูปนั้นจะชราภาพจนไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้
ก็อาจมีการพิจารณาสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นแทน
ทั้งนี้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยสมบูรณ์
สรุปก็คือว่า การออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ นั้น ก็คือการปัดฝุ่นเอาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ของ ร.5
กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมดทีเดียว คือใน พรบ.คณะสงฆ์
ร.ศ.121 นั้น พระมหานิกายยังได้ตำแหน่งในมหาเถรสมาคมมากว่าธรรมยุติกนิกายหลายเท่า
ตามการเปรียบเทียบดังนี้
เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ (มหานิกาย) 1 รูป และรองเจ้าคณะ 1 รูป
เจ้าคณะใหญ่หนกลาง (มหานิกาย) 1 รูป และรองเจ้าคณะ 1 รูป
เจ้าคณะใหญ่หนใต้ (มหานิกาย) 1 รูป และรองเจ้าคณะ 1 รูป
เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย (ปกครองทั่วประเทศ เพราะสมาชิกมีน้อย) 1 รูป
และรองเจ้าคณะ 1 รูป
พรบ.คณะสงฆ์ ร.ศ.121
ฉบับนี้ ให้มีกรรมการมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย
เจ้าคณะใหญ่และรองเจ้าคณะใหญ่ คณะเหนือ คณะกลาง คณะใต้ ฝ่ายมหานิกาย รวมแล้ว
6 รูป และเจ้าคณะใหญ่และรองเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุติกา จำนวน 2 รูป
เป็นกรรมการ ถือเป็นสัดส่วนระหว่างนิกายที่ 6
ต่อ 2 แต่สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
สมัยนั้นธรรมยุติผูกขาดไว้ตลอดเป็นเวลากว่า 80 ปี ดังนั้น แม้ใน พรบ.คณะสงฆ์
ร.ศ.121 นั้น จำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมฝ่ายมหานิกายจะมากกว่าฝ่ายธรรมยุติถึง 3
ต่อ 1 แต่เมื่อหัวคือสมเด็จพระสังฆราชถูกธรรมยุติยึดไปอย่างถาวร
มหานิกายจึงไม่มีอำนาจอะไร โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงสมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น
ทรงครอบงำกิจการคณะสงฆ์มหานิกายไปทุกทาง
เป็นการผูกเงื่อนให้มีการเคลื่อนไหวปลดแอกจากธรรมยุติของพระมหานิกายในชื่อ
"คณะปฏิสังขรณ์พระพุทธศาสนา" ในรัชกาลต่อมา
กระทั่งได้พระราชบัญญัติฉบับใหม่มาใช้แทน นั่นคือ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484
ใน
พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แม้ว่าจะล็อกตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งไว้เท่ากับ
พรบ.คณะสงฆ์ ร.ศ.121 คือ 8 ตำแหน่ง
และมีการเพิ่มเติมคณะกรรมการมหาเถรสมาคมโดยแต่งตั้งจาก 8 เป็น 12
ตำแหน่งก็ตาม แต่กลับปรากฎว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนระหว่างนิกาย มีการปรับสัดส่วนเสียใหม่
จากที่ให้เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะรอง ของแต่ละคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ก็เปลี่ยนให้
"สมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 8 รูป" เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ซึ่งสมเด็จพระราชาคณะนั้นถูกล็อกจำนวนไว้ที่ 8 ตำแหน่ง
แบ่งเป็นของธรรมยุติและมหานิกายฝ่ายละครึ่ง หรือ 4/4
แถมด้วยสัดส่วนกรรมการมหาเถรสมาคมโดยแต่งตั้งซึ่งกำหนดไว้ที่ 12 ตำแหน่งนั้น
ก็แบ่งกันนิกายละ 6/6 สัดส่วนนี้ยังคงใช้อยู่ถึงปัจจุบันวันนี้
วันที่กำลังจะมีการเพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง
เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อนั้นสัดส่วนสมเด็จพระราชาคณะระหว่างนิกายทั้งสองก็จะเลื่อนขึ้นไปเป็น
5/5 แต่อย่างอื่นก็ยังคงเหมือนเดิม
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับนี้
ไม่น่าเชื่อว่าจะร่างและออกบังคับใช้ในสมัยที่พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่แท้
ๆ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ
ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตร
จะว่าพระสงฆ์มหานิกายโง่เง่าหรือตาถั่วทั่วทั้งประเทศก็คงว่าได้
ถึงปัจจุบันวันนี้
ผู้เขียนยังนึกสมน้ำหน้าพระมหาเถรฝ่ายมหานิกายที่เอาแต่กัดกันแก่งแย่งแข่งดี
จนถูกธรรมยุติตีกินจนฉิบหายวายป่วงต้องกินน้ำใต้ศอก
แม้จะมีจำนวนมากกว่าเขามหาศาล แต่บทบาทในทางศาสนาและบ้านเมืองแล้ว
กลับเหมือนเด็กอนุบาลแข่งขันกับมัธยม พูดได้คำเดียวว่า
"เรามีพ่อโง่ๆ นี่เอง
เลยทำให้ลูกต้องรับมรดกบาปมาจนป่านนี้"
แม้แต่จะมีการสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะใหม่ในปีนี้
เมื่อมหานิกายจะได้เพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง ฝ่ายธรรมยุติก็ไม่ยอม ต้องขอเพิ่มอีก
1 ตำแหน่งเช่นกัน ถือว่าเป็นความชอบธรรมที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 โน่นแล้ว
และวันนี้ ถ้าใครอุตริคิดให้มีสมเด็จพระสังฆราชนิกายละ 1 รูป แยกกันไปเลย
ก็จะถูกข้อหา
"ล้มล้างการปกครองอันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ"
เหมือนที่
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เคยประกาศไว้แล้วนั่นแหละว่า
"ให้ผมตายก่อน
ค่อยคิดมีสังฆราชสองพระองค์"
ซึ่งความจริง
คุณทักษิณน่าจะลองใช้สัดส่วนให้ทุกพรรคไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก มี ส.ส. 10 เสียง
และมี ส.ส. 400 เสียง ร่วมเป็นรัฐบาล โดยได้โควต้ารัฐมนตรีเท่ากันบ้าง
ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นก็ให้วัดกันที่ว่าใครอายุมากกว่า
โดยไม่จำเป็นต้องได้เสียงข้างมากในสภา
จะได้รู้ว่าความรู้สึกของพระมหานิกายซึ่งเป็นลูกเมียน้อยมานานนั้นเป็นเช่นใด
แต่ท่านคงไม่รู้สึกรู้สาหรอก เพราะเคยบวชในนิกายธรรมยุติมาก่อน
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี
ได้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่
ซึ่งปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เรียกชื่อว่า
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขปรับปรุง พ.ศ.2535
เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ก็คงเดิม แต่ไปเพิ่มโน่นนิด นี่หน่อย เช่น
มาตราว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งต่อมามีการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจนวุ่นวายกลายเป็นปัญหารัฐบาลแตกอยู่ในเวลานี้
มีการเพิ่มจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมประเภทแต่งตั้งเป็น "ไม่เกิน 12 รูป"
นอกจากนั้นยังขยายอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมเพิ่มเติม ดังนี้
มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1)
ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(2)
ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(3)
ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ
และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์
(4)
รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(5)
ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ออกกฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ
ออกคำสั่ง มีมติ หรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย
ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใด หรือคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ
ตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
มาตรา 15 จัตวา เพื่อรักษาพระธรรมวินัย และเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์
มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม
เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ก็ได้
ที่สำคัญก็คือ
มีบทกำหนดกาลในการใช้อำนาจของมหาเถรสมาคมต่อพระภิกษุสามเณรที่ดื้อรั้น ดังนี้
"พระภิกษุและสามเณร ที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศ
ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ"
ก็คิดว่าคงนำเสนอครอบคลุมแล้ว สำหรับคำว่า มหาเถรสมาคม
รวมทั้งอำนาจและหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ที่ใครๆ สงสัยว่ามีหน้าตาเช่นใด
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2549 มหาเถรสมาคมมีกรรมการจำนวน 21 พระองค์/รูป ดังนี้
1.
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน
ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
2.
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี
(ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.6)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
(ธรรมยุติกนิกาย) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
3.
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว
อุปเสโณ ป.ธ.9)
วัดสระเกศ (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
4.
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม
ฐานิสฺสโร ป.ธ.9)
วัดชนะสงคราม (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
5.
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
(ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9)
วัดปากน้ำ (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
6.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ
สุวฑฺฒโน ป.ธ.7)
วัดสุวรรณาราม (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
7.
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ
กนฺตาจาโร ป.ธ.5)
วัดมกุฏกษัตริยาราม
(ธรรมยุติกนิกาย) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
8.
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
(มานิต ถาวโร ป.ธ.9)
วัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุติกนิกาย)
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
9.
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร
สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9)
วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุติกนิกาย)
เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
10.
พระพรหมจริยาจารย์
(สมุท
รชตวณฺโณ ป.ธ.7)
วัดเบญจมบพิตร (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
11.
พระธรรมวโรดม
(บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ.9)
วัดเบญจมบพิตร (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
12.
พระวิสุทธาธิบดี
(วีระ ภทฺทจารี ป.ธ.9)
วัดสุทัศนเทพวราราม (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
13.
พระสาสนโสภณ
(อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6)
วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม
(ธรรมยุติกนิกาย) เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
14.
พระพรหมเมธี
(สมชาย วรชาโย ป.ธ.8)
วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุติกนิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
15.
พระพรหมมุนี
(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
16.
พระพรหมวชิรญาณ
(ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3)
วัดยานนาวา (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
17.
พระพรหมเมธาจารย์
(คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ.9)
วัดบุรณศิริมาตยาราม
(ธรรมยุติกนิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
18.
พระพรหมสุธี
(เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6)
วัดสระเกศ (มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
19.
พระธรรมวรเมธี
(สุชิน อคฺคโน ประโยค 1-2)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
(ธรรมยุติกนิกาย) เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
20.
พระธรรมกิตติเมธี
(จำนงค์ ธมฺมจารี น.ธ.เอก)
วัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุติกนิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
21.
พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ
ป.ธ.9)
วัดไตรมิตรวิทยาราม
(มหานิกาย)
เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
ส่วนเลขาธิการมหาเถรสมาคมซึ่งแต่เดิมกำหนดให้อธิบดีกรมการศาสนาดำรงตำแหน่งนั้น
ปัจจุบันมีการแยกหน่วยงานสนองงานคณะสงฆ์ออกไปเป็นเอกเทศ
ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี หน่วยงานนี้มีชื่อว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งด้วย
แม้ว่ากรมการศาสนายังคงมีอยู่ แต่ก็มิได้มีอำนาจหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์โดยตรง
ดังพรรณนามาฉะนี้
และสถานภาพที่เป็นจริงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ
มีการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แทนสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่วันที่ 21
เมษายน พ.ศ.2532
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547
มีประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง
ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ในประกาศนั้นตั้งให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ
ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
คำสั่งนี้มีอายุ 6
เดือน ครั้นครบ 6 เดือนแล้ว รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 มาตราที่ 10
ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้
จากนั้นมหาเถรสมาคมก็อาศัยพระราชกำหนดฉบับนี้
ลงมติให้ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชต่อไป ได้สมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ
เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มาจนกระทั่งปัจจุบัน
นั่นคือที่ไปที่มาของคำว่า "มหาเถรสมาคม"
อันเป็นจุดสนใจของใครหลายคนในเวลานี้
วันนี้ไม่มีความเห็นของพระมหานรินทร์เป็นอื่นใด
จึงขอยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดี
|