เป็นปัญหาน่าปวดหัวให้แก่พระไทยสมัยที่ใช้คอมพิวเตอร์กันเกร่อ
แต่มาเจอปัญหาโลกแตกว่าด้วยปฏิทินไม่ตรงกัน ทำให้สังฆกรรมของพระสงฆ์ซึ่งต้องอาศัยการคำนวนเวลาทางจันทรคติตามคตินิยมมาแต่สมัยพุทธกาลต้องประสบปัญหาไปด้วย
เผลอๆ พระสงฆ์ไทยจะต้องอาบัติพร้อมกันทั้งประเทศก็คราวนี้แหละ
มิใช่เรื่องเล็กน้อยเลย เป็นการฝ่าฝืนพระวินัยในพระไตรปิฎกอันเป็น
"รัฐธรรมนูญ"
ของคณะสงฆ์ไทยด้วย
ทำให้ผู้เขียนจำต้องเขียนเรื่องนี้ให้กระจ่างว่าอะไรเป็นอะไร
ปฏิทินหลวงนั้นท่านว่า โหรและผู้รู้ทางดาราศาสตร์ในพระราชสำนักจะเป็นผู้คำนวนถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ
ให้พิมพ์พระราชทานแก่ราษฎรได้เป็นคู่มือดูวันเดือนปี
ส่วนปฏิทินโหรนั้นเป็นของโหราจารย์ทำขึ้นเพื่อใช้ในวิชาโหราศาสตร์โดยเฉพาะ
สรุปว่า ปฏิทินในประเทศไทยเรานั้น นอกจากจะแบ่งเป็นสุริยคติและจันทรคติแล้ว
ก็ยังมีอีก 2 ประเภท คือ ปฏิทินหลวงกับปฏิทินโหร ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา
ปฏิทินทั้งสองประเภทนี้ก็จะสอดคล้องต้องกัน คือตรงกันแทบทุกอย่าง
แต่ในปี พ.ศ.2549 นี้ มีปัญหา เนื่องจากว่าปฏิทินทั้งสองคลาดเคลื่อนกัน
ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็คงไม่มีปัญหาอะไร เขาว่าอย่างไรก็ทำไปตามนั้น ง่ายดี
แต่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาแล้วกลับมีปัญหาตามมามาก
เนื่องเพราะไปเกี่ยวข้องด้วยพระวินัย เกี่ยวกับวันอุโบสถและวันเข้าพรรษา
แต่ว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันยังไง
จะได้นำเอาปฏิทินตัวจริงมาเปรียบสาธยายให้เห็นดังต่อไปนี้
นี่เป็นปฏิทินโหรของ อาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว
ซึ่งนับถือกันวงการโหรทั่วประเทศว่าคำนวนได้ถูกต้องแม่นยำ
ใช้เป็นคู่มือของผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์มานาน

ประกาศสงกรานต์ จุลศักราช 1368
พุทธศักราช 2549

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2549 เป็นวันแรม
1 ค่ำ เดือน 2
แต่ด้านใต้นั้นกลับระบุว่า พระจันทร์เพ็ญ เวลา 16.30 น.
หรือสี่โมงครึ่ง

ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549
ก็เช่นเดียวกัน
วันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 แต่พระจันทร์กลับเพ็ญ ??

วันนี้ยิ่งไปใหญ่ วันที่ 15 มีนาคม
2549
ด้านบนบอกว่าเป็นวันแรม 2 ค่ำ เดือน 4
แต่ด้านล่างกลับบอกว่า พระจันทร์เพ็ญเวลา 06.25 น. ?

วันที่ 12 เมษายน 2549
ด้านบนบอกว่า เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5
แต่ด้านล่างกลับไม่มีคำว่า "พระจันทร์เพ็ญ"

ในวันที่ 13 เมษายน 2549
ซึ่งเป็นวันสงกรานต์
ด้านบนบอกว่า เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5
แต่ด้านล่างกลับระบุว่า พระจันทร์เพ็ญ เวลา 23.12 น. ?

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549
ด้านบนบอกว่า "แรม 2 ค่ำ เดือน 7"
แต่ด้านล่างกลับระบุว่า "จันทร์เพ็ญ เวลา 01.05 น."

วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2549
ด้านบนบอกว่า "ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8"
และด้านล่างขวามือบอกว่า "วันอาสาฬหบูชา"
แต่ด้านล่างซ้ายมือกลับไม่ระบุว่า "พระจันทร์เพ็ญ" ?

วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2549
ด้านบนบอกว่า "แรม 1 ค่ำ เดือน 8"
แต่ด้านล่างระบุว่า "พระจันทร์เพ็ญ เวลา
10.12 น."
แถมยังบอกด้วยว่า "วันเข้าพรรษา"

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2549
เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
พระจันทร์ก็ไม่ยอมเพ็ญ ?

วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2549
ปฏิทินบอกว่า "แรม 1 ค่ำ เดือน 10"
แต่กลับบอกด้วยว่า "พระจันทร์กลับเพ็ญ เวลา 01.25 น."

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2549
ด้านบนระบุว่า "ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11"
และด้านล่างระบุว่า "จันทร์เพ็ญเวลา 09.44 น."
วันขึ้น 15 ค่ำ กับพระจันทร์เพ็ญ
เพิ่งจะมาตรงกันก็ในวันนี้เป็นวันแรก

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2549
ก็ตรงเช่นกัน

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2549
ก็ตรงเช่นกัน
และตรงกันไปจนสิ้นปี
นั่นละคือสิ่งที่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ดู
โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่มีพระวินัยบังคับให้ต้องเข้าพรรษาในวันแรม
1 ค่ำ เดือน 8
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงเรื่องที่ว่า ทำไมต้องเข้าพรรษาในวันแรม
1 ค่ำ เดือน 8
เข้าวันอื่นไม่ได้หรือ ?
ข้อนี้ก็ต้องตอบว่า ไม่ได้
!
สาเหตุหรือก็คือว่า
เพราะพระวินัยกำหนดไว้เช่นนั้น
คือแต่เดิมนั้น ทรงมีพระบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาในหน้าฝนเป็นเวลา 3
เดือน ออกพรรษาแล้วจึงจาริกคือย้ายที่อยู่ได้ และในประเทศอินเดียสมัยนั้น
กำหนดหน้าฝนไว้ว่า เริ่มที่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน
11 เป็นอันสิ้นสุดฤดูฝน
ดังนั้น เมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเริ่มฤดูฝน
พระภิกษุสงฆ์ก็จำต้องเริ่มเข้าพรรษาในวันนั้น
จะย้ายไปเข้าวันอื่นหรือเข้าก่อนวันนั้นก็ไม่ได้
ใครฝ่าฝืนต้องอาบัติ
! (เว้นแต่พระภิกษุผู้เข้าพรรษาสอง
ซึ่งต้องเลื่อนไปเข้าในเดือนต่อไป)
เมื่อเราไปดูปฏิทินหลวงซึ่งบอกวันเวลาไว้ว่า
"วันที่ 11 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2549 วันแรม
1 ค่ำ เดือน 8 และเป็นวันเข้าพรรษา"
แต่เมื่อเรามาดูวันเดียวกันนั้นเทียบในปฏิทินโหราศาสตร์แล้ว ก็จะพบว่า
"วันนั้นมิใช่วันเดือนแรม"
โปรดดูปฏิทินด้านล่างนี้

ดูกันให้จะจะ
พระจันทร์เพ็ญขึ้น 15 ค่ำ
แต่กลับระบุว่า วันแรม 1 ค่ำ
แถมบอกด้วยว่า "วันเข้าพรรษา"
บรรทัดแรกด้านบนของปฏิทินวันนี้
ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นปฏิทินหลวง
ซึ่งระบุว่า "อังคาร 11 กรกฎาคม
(พ.ศ.2549) ร 1 ด 8" คือ
แรม 1 ค่ำ เดือน 8
ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันเริ่มฤดูฝน แต่มีปัญหาว่า
วันนี้มิใช่วันแรม 1 ค่ำ ตามปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ
คือว่า วันนี้เป็นวันพระจันทร์เพ็ญ คือ
ขึ้น 15 ค่ำ
เดือนมิได้แรมดังที่เขียนไว้ในด้านบนของปฏิทินแต่อย่างใด ?
หมายความว่าอย่างไร ?
ก็หมายความว่า
ข้อความข้างต้นกับข้อความข้างล่างซึ่งบอกปรากฏการณ์ธรรมชาติของดวงจันทร์นั้นไม่รับกัน
แสดงว่าต้องมีที่ใดที่หนึ่งผิดใช่ไหม ? ก็ต้องตอบว่า
ใช่ !
และถ้าจะให้ระบุต่อไปอีกว่า ปฏิทินอันไหนที่ผิดพลาด คือใช่ไม่ได้ คำตอบก็คือ
ปฏิทินหลวงนั่นเองที่บอกเวลาผิด
ถามกันให้ชัดๆ ก็คือว่า วันขึ้นวันแรมนั้นเราเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน ?
คำตอบก็คือ
ต้องเอาการโคจรของพระจันทร์ซึ่งปรากฏเป็นเดือนขึ้นเดือนแรมนั่นแหละมาเป็นตัวกำหนด
คือคนต้องสังเกตการขึ้นการแรมของพระจันทร์ แล้วจึงบอกว่า
"ขึ้นกี่ค่ำ
แรมกี่ค่ำ" มิใช่การเขียนแผนที่ให้เดือนเดิน
แม้เดือนจะไม่แรมก็บอกว่าแรม เดือนไม่เพ็ญก็บอกว่าเพ็ญ
แล้วจะเป็นปฏิทินได้อย่างไร
การที่ปฏิทินระบุไว้ในหน้าเดียวกันว่า "วันแรม 1
ค่ำ" และ
"พระจันทร์เพ็ญ"
เช่นนี้ จึงบ่งบอกว่า
"คนทำปฏิทินมั่วตั้ว"
แถมที่ระบุว่า "วันเข้าพรรษา"
ด้วยนั้น
แสดงว่าคนทำปฏิทินไม่รู้เรื่องพระธรรมวินัย
เพราะพระสงฆ์จะเข้าพรรษาในวันเพ็ญเดือน 8 ได้อย่างไร
ในเมื่อมันยังไม่ใช่หน้าฝน
เพราะหน้าฝนคือวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 8
!
นี่แหละที่ผู้เขียนเกรงว่า
ถ้าพระสงฆ์ไทยเข้าพรรษาตามปฏิทินหลวงแล้ว มิแคล้วจะต้องอาบัติกันทั้งประเทศ
!
แม้ปฏิทินหลวงจะกำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2549 เป็นวันแรม 1
ค่ำก็ตาม ก็ถือว่าฝืนธรรมชาติ เพราะในเมื่อพระจันทร์ยังไม่แรม
จะไปบังคับพระจันทร์ให้แรมได้อย่างไร ถ้าเป็นหนังสือหาทั่วไปก็เชื่อได้ว่า
ผู้ซื้อคงไม่เชื่อถือ !
แต่ว่านี่เป็นปฏิทินหลวง ซึ่งเป็นแม่บทของกำหนดการงานทั้งปวง
จะทิ้งก็เสียดาย จะทำตามก็ลำบากใจ แล้วจะให้ทำอย่างไร ?
ในที่ประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา วันที่ 8-9 มิถุนายน พ.ศ.2548
ที่วัดไทย กรุงวอชิงตัน ดีซี มีกระทู้ถามเรื่องนี้อยู่ด้วย ในตอนนั้น
ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยท่านตอบว่า
"ต้องยึดถือปฏิทินหลวงเป็นหลัก"
ก็หมายถึงว่า
ท่านจะให้พระสงฆ์ไทยเข้าพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นฤดูร้อน
!
ดังนั้น ถ้าถือตามพระธรรมวินัยจริงๆ แล้ว วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2549
จึงควรเป็นวันอาสาฬหบูชา และวันต่อไป คือวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ซี่งเป็นวันแรม
1 ค่ำตามปรากฏการณ์ของพระจันทร์นั้น ควรเป็นวันเข้าพรรษา
ถ้าพระสงฆ์รูปใดไม่อยากต้องอาบัติก็ต้องไปเข้าพรรษาในวันที่ 12 กรกฎาคม
พ.ศ.2549 เท่านั้น ! เพราะวันที่ 12 นั้น
เป็นวันแรม 1 ค่ำจริงๆ
แต่อาจจะมีพระภิกษุบางรูปอ้างพระพุทธานุญาตที่ว่า
"อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ
อนุวตฺเตตุ" ซึ่งแปลว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้อนุวัติคือคล้อยตามพระราชา
ที่มาของพระอนุโลมนี้ก็คือ ปีนั้นมีเดือน 8 สองหน ถ้าถือตามหลักการแล้ว
วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แรก ก็ย่อมจะเป็นวันเข้าพรรษา แต่พระเจ้าพิมพิสารเกรงว่าพระภิกษุสงฆ์จะเข้าและออกพรรษาเช้าเกินไป
จึงเข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้าขอให้ทรง
"เลื่อนกาลฝนออกไปอีก 1 เดือน"
คือให้พระสงฆ์เลื่อนไปเข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง
นั่นนับเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทูลขอ
และเราก็ยึดถือธรรมเนียมนี้เรื่อยมา
ซึ่งพระภิกษุบางรูปอาจจะอ้างเอาพระบาลีข้อนี้มาอนุโลมใช้กับปฏิทินหลวงในปีนี้
เพื่อเข้าพรรษาในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
ซึ่งก็สุดแต่ว่าจะตีความพระธรรมวินัยไปใช้ และยอมรับกันหรือไม่ ?
มีข้อสังเกตก็คือว่า ในปีนี้ไม่มีเดือนแปดสองหน เหมือนในสมัยพุทธกาล
แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นข้ออ้างในการเข้าพรรษาเช้ากว่าปกติ 1 วัน
อย่าลืมพระวินัยบัญญัติที่ว่า "ให้พระภิกษุเข้าพรรษาในฤดูฝน"
ไม่ใช่ฤดูร้อน
!
และถ้าจะพูดกันให้หมดก็ต้องกล่าวว่า ปีนี้วันสำคัญทางศาสนา คือ วันมาฆบูชา
วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา คลาดเคลื่อนหมด
พระสงฆ์ไทยถ้าใช้ปฏิทินฉบับหลวงล้วนแต่ทำสังฆกรรมไม่ขึ้นทั้งสิ้น !
เพราะ..
1.
วันมาฆบูชาที่แห่กันทำพิธีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2549 ไปแล้วนั้น
ปฏิทินบอกว่าเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ
เดือน 3 ก็จริง
แต่ว่าพระจันทร์ไม่เต็มดวง
จะไปเต็มดวงก็ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 11.32 น.
2. วันวิสาขบูชา
ซึ่งปฏิทินระบุว่าเป็นวันที่ 11 พฤษภาคม 2549 และบอกว่า
"ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6-วันวิสาขบูชา"
ด้วยนั้น ปรากฏว่าวันนั้นเดือนไม่เต็มดวง จะไปเต็มดวงก็อีกสองวันถัดมา
คือวันที่ 13 พฤษภาคม 2549 ซึ่งปฏิทินระบุว่าเป็นวันแรม 2 ค่ำ
แต่ปรากฏว่าวันนั้นเป็นวันเดือนเพ็ญ ในเวลา 13.2 น.
3.
วันอาสาฬหบูชา ซึ่งปฏิทินหลวงระบุว่าเป็นวันที่ 10 กรกฎาคม 2549
แต่ว่าวันนั้นพระจันทร์เพิ่งได้ 14 ค่ำเอง จะไปเพ็ญก็ในวันรุ่งขึ้น เวลา
10.12 น. พระจันทร์เพ็ญตรงกับวันเข้าพรรษา
และ 4.
วันเข้าพรรษา ดังพรรณนามาแล้ว
ก็ต้องเรียกว่า ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเลื่อนลอยไปหมด !
ดังนั้น ปัญหานี้เห็นทีต้องรบกวนมหาเถรสมาคม
ช่วยออกแถลงการณ์ให้พระสงฆ์สามเณรในสังฆมณฑลได้รับทราบโดยทั่วกันแล้วล่ะขอรับ
ว่าจะให้พระสงฆ์ไทยเข้าพรรษาวันไหน ?
|