รักพระให้ถูกทาง เราจะมีพระดีไว้กราบไหว้ไปนานๆ
 


 

     เรื่องที่จะเขียนเรียนต่อท่านผู้อ่านวันนี้ ขอย้ำไว้แต่หัวเรื่องว่า เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในพระศาสนาเลยทีเดียว เพราะเกี่ยวเนื่องถึงแทบทุกเรื่องในพระศาสนาบ้านเรา จะน่าเศร้าเพียงใดถ้าได้รู้ความจริงว่า เรา-ชาวพุทธ บกพร่องในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็คือ พระภิกษุ ซึ่งเป็นบุคคลากรสำคัญ ยิ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีอาวุโสพรรษา และดำรงตำแหน่งสำคัญในทางคณะสงฆ์ หรือมีชื่อเสียง เช่นพระเกจิอาจารย์ ด้วยแล้ว ถ้าหากว่าเกิดเรื่องเสื่อมเสียเกี่ยวกับท่านเหล่านั้น ก็จะมีผลกระจายเป็นวงกว้าง กระทบถึงศรัทธาของสาธุชนให้สบสันวุ่นวาย บางรายถึงกับเบื่อพระเบื่อเจ้าไม่อยากเข้าวัดเข้าวา ทั้งนี้ก็เพราะว่า เราไม่มีการดูแลรักษาบุคคลากรทางศาสนาเหล่านั้นอย่างรัดกุมเพียงพอนั่นเอง

     ลองพลิกหนังสือพิมพ์อ่านข่าวดูเอาเองเถิด แต่ไหนแต่ไรมา เวลามีข่าวเสียๆ หายๆ เกี่ยวกับพระดังๆ แล้ว สังคมก็จะฮือฮาว่า "โห ไม่น่าเลย เป็นถึงระดับนี้ยังมีพฤติกรรมเช่นนี้" บ้างสะใจ บ้างเสียใจ ยิ่งถ้าเป็นคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้าม มีหรือเขาจะไม่ดีใจ ในเมื่อเห็นวงการพระศาสนาของไทยเราอ่อนเปลี้ยเสียแขน ถ้าล้มคว่ำลงดินได้มีหรือเขาไม่อยากทำ

     ดังนั้น ตรงนี้ต้องขอย้ำถึงความรับผิดชอบไปถึงทางการคือรัฐบาลไทยโดยตรง ว่าอย่าปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะถึงตอนนั้นมันเอาอะไรไม่ทันแล้ว

     คดีดังๆ ในอดีต เช่น พระอาจารย์นิกร ธมฺมวาที วัดสันปง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พระอาจารย์ยันตระ อมโร สำนักสุญตาราม กาญจนบุรี พระอิสรมุนี สำนักสงฆ์ป่าละอู จังหวัดเพชรบุรี อดีตพระอาจารย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ วัดบ้านไร่ นครราชสีมา และล่าสุดก็คือ พระวิสุทธาธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งถูกฟ้องร้องคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ในการสร้างเหรียญพระพุทธโสธร รุ่นจารึกนามสกุล เพื่อนำปัจจัยไปก่อสร้างอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีปัญหาว่าด้วยการจ่ายเงินไม่ครบ

     ก่อนจะเข้ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องสร้างพระพุทธโสธรนั้น ผู้เขียนก็อยากบอกเล่าเกี่ยวกับแนวความคิดของผู้เขียนในภาพรวมของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทยเสียก่อน ดังนี้

     ผู้เขียนเคยคุยกับเพื่อนฝูงว่า "เราไม่มีมาตรการดูแลรักษาบุคคลากรทางพระพุทธศาสนาอย่างเพียงพอ ทำให้เราต้องสูญเสียพระดีๆ ดังๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า" ไม่ว่าจะเป็น พระนิกร พระยันตระ พระอิสรมุนี สามท่านนี้ ลองไปสำรวจเกียรติประวัติดูสิ แต่ละรูปแต่ละองค์นั้นครองความศรัทธามหาชนล้นหลาม แต่ไม่นานก็เกิดเรื่องไม่ดีไม่งามกับท่านทั้งสาม และลามไปถึงศรัทธาของสาธุชนที่หดหายไป มองแบบตื้นๆ ก็อาจพูดได้ว่า "สมแล้ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" แค่นั้น แล้วก็แล้วกันไป แต่มองในแง่ของประโยชน์ต่อพระศาสนาโดยรวมแล้วจะตกใจมาก หากทราบว่า ถ้าเราดูแลรักษาพระเหล่านี้ไว้ให้ดีด้วยวิธีการอันรัดกุม เราจะสามารถใช้ท่านให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและพระศาสนาได้อีกมหาศาลนัก

     สมัยดังๆ นั้น ท่านนิกร ท่านยันตระ จะคิดจะทำอะไร หรือไปที่ไหน มีแต่คนแย่งกันออกหน้าบริจาคหรืออาสาทำงานแทน หาเงินสิบล้านร้อยล้านได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ แต่ปรากฏว่าท่านเหล่านั้นมีสมณศักดิ์เป็นเพียงพระธรรมดาๆ รูปหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าเจ้าคณะผู้ปกครองในมหาเถรสมาคมด้วยซ้ำไป ถ้าพระผู้ใหญ่มองการณ์ไกลมีวิสัยทัศน์ ไม่มองเห็นเป็นเพียงพระเกจิอาจารย์ตามป่าตามเขาหรือพระในสังกัดของรูปอื่น แล้วยกย่องพระเหล่านี้ไว้ในตำแหน่งพระสังฆาธิการ ให้มีสมณศักดิ์เป็นพระครูหรือเจ้าคุณเสีย เราก็จะสามารถดึงท่านเข้ามาช่วยงานพระศาสนาในวงในได้มากโข ดีกว่าปล่อยให้ท่านไปตั้งมูลนิธิกระจัดกระจายอยู่ในกรรมสิทธิ์ของใครก็ไม่รู้

    พระอิสรมุนี องค์นี้ดังมาก เพราะมีศิษย์หาเป็นถึงระดับนายกรัฐมนตรี แต่ก่อนนี้มีใครเคยได้ยินชื่อป่าละอูบ้าง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านประกาศว่า "ผมเป็นศิษย์ท่านอาจารย์อิสรมุนี" ทีนี้ละป่าละอูแตก มีแต่คนมุ่งหน้าไปหาพระอิสรมุนี อาทิตย์หนึ่งนับพันนับหมื่น ถามว่า พระที่มีสมบัติดีๆ เช่นนี้มีกี่รูปในเมืองไทย ?

     เมื่อพระอิสรมุนีมีปัญหานั้น หลายฝ่ายกลับดีอกดีใจที่ได้เห็นพระดังถึงกาลดับ ยิ่งฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลก็ยิ่งกระพือข่าวกันใหญ่ ว่านายกรัฐมนตรีเป็นศิษย์เดียรถีย์ นี่เป็นเรื่องของการใช้อาวุธทางการเมืองอย่างเห็นแก่ได้ถ่ายเดียว มิได้มองถึงความเสื่อมเสียในวงการพระศาสนาโดยรวมแต่อย่างใด แบบว่าใจแคบมาก ยิ่งเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีด้วยแล้ว ท่านออกมาให้สัมภาษณ์หน้าตาเฉยเลยในทำนองว่า "พระรูปนี้ไม่เคยสุงสิงกับใคร ไม่มาหา จึงไม่รู้จักมักคุ้นด้วย"

    ก็แปลกนะ ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นพระสังฆาธิการ มีหน้าที่ในการดูแลรักษาพระภิกษุสามเณรในเขตการปกครอง ทำไมต้องให้เขามาหาท่าน ท่านเองทำไมไม่ไปดูแลเขา และเมื่อเขาเพลี่ยงพล้ำเสียหาย ท่านน่าจะช่วยปกป้องในฐานะผู้ปกครอง แต่กลับออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนอง "ซ้ำเติม" แบบนี้ก็มี นี่คือสปิริตของเจ้าคณะผู้ปกครองทั่วไทยแลนด์ในเวลานี้

     ถ้าเรามองให้ดี มองให้กว้าง พระระดับอิสรมุนี ถ้าเรารักษาไว้ให้ดี จัดคนเข้าไปดูแลท่านอย่างเหมาะสม เกียดกันสิ่งไม่ดีไม่งามออกไปจากตัวท่าน หรือยกย่องท่านให้เข้าสู่หมู่สงฆ์ด้วยการขอพระราชทานสมณศักดิ์ถวายท่านเสีย วันนี้เราก็จะมีพระดีไว้กราบไหว้ โดยเฉพาะก็คือ ดึงคนเข้าวัด คือถ้ามีพระดีๆ อยู่ที่ไหนไม่ว่าป่าเขาลำเนาไพร ผู้คนก็สนใจบุกป่าฝ่าดงไปหาเอง โดยไม่จำเป็นต้องเช่าศูนย์การค้าเพื่อทำเป็นวัดหวังจะดึงคนให้สนใจในพระศาสนา

     ผู้เขียนคิดเช่นนี้ มองเช่นนี้ !

     ก็ลองตรองดูอีกทีสิ ถ้าคนระดับนายกรัฐมนตรี สละเวลาไปฟังเทศน์หรือไหว้ครูบาอาจารย์ คณะรัฐมนตรีก็ต้องตามไป ประชาชนก็สนใจ มันได้ประโยชน์ทุกทาง เพียงแต่เราอย่าคิดว่า เป็นประโยชน์เฉพาะของพระอิสรมุนีเท่านั้น เพราะนั่นคือความคิดจิตคับแคบ แบบว่าต้องเอามาให้กูกินด้วย จึงจะนับเป็นพรรคพวก

     แต่ในเมื่อเราเสียท่านไปแล้ว ลองดูข่าวเป็นไร มีวัดไหนบ้างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปหาเป็นครูบาอาจารย์เหมือนพระอิสรมุนี แล้วถามอีกทีว่า ใครเล่าจะสามารถสร้างพระอิสรมุนีขึ้นมาใหม่จึงจะดึงคนระดับนี้เข้าวัดได้ มันไม่น่าเสียดายหรือ ?

     หลวงพ่อคูณก็เช่นกัน ลูกหลานเข่นฆ่ากันไปหลายศพ เพราะผลประโยชน์ภายในวัดบ้านไร่ ทำให้ท่านต้องช้ำอกช้ำใจถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อเข้าโรงหมอโรงพยาบาล ยังดีที่ท่านมีลูกศิษย์เป็นตำรวจผู้ใหญ่ สามารถไกล่เกลี่ยได้ในระดับหนึ่ง ก็นับว่ายังพอมีช่องระบาย

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ขนาดว่าเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชนะ ก็ยังไม่วายมีข่าวเสียๆ หายๆ ว่าด้วยลายพระหัตถ์ปลอม ถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ? ถ้าระดับสมเด็จพระสังฆราชยังมีคนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ง่ายดายเช่นนี้ แล้วพระเณรอื่นๆ ที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือถึงมีก็ต่ำต้อยด้อยกว่าพระองค์ล่ะ ท่านเหล่านั้นจะตกอยู่ในสภาพเช่นไร ?

     การที่พระองค์ถูกแขวนไว้ในฐานะ "ผู้อาพาธ" แล้วรัฐบาลตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทนมาจดป่านนี้ นี่มิใช่เพราะการไม่ดูไม่แลพระองค์ท่านของคณะศิษย์วัดบวรนิเวศวิหารดอกหรือ อีกทางหนึ่ง ศิษย์บางคนก็เห็นแก่ตัว อาศัยความใกล้ชิดใช้อำนาจของพระองค์ท่านไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ทำให้ครูบาอาจารย์ต้องมัวหมอง จะว่าคนพวกนี้ไม่รักครูบาอาจารย์ก็คงไม่ใช่ แต่ต้องบอกว่า "รักไม่เป็น" และเมื่อครูบาอาจารย์เสียหาย ผลกระทบก็ตกแก่พวกตนจนได้ เข้าทำนอง โลภมากลาภหาย ถ้าเป็นสำนวนใหม่เขาใช้ชื่อหนังเกาหลีว่า "แด (ก) จังมึง"

     และเมื่อเรากวาดสายตาไปทั่วฟ้าเมืองไทย ก็จะตกใจ เมื่อพบว่า พระเกจิอาจารย์หรือพระสังฆาธิการหลายรูปล้วนตกอยู่ในวงจรอันตรายนี้ทั้งสิ้น ถ้าไม่ดูแลรักษาตัวของท่านเองแล้วก็มิแคล้วต้องเสียพระเสียเจ้า โดยเฉพาะวัดใหญ่ๆ ดังๆ มีผลประโยชน์เยอะ แต่บางครั้งการปัองกันตนเองยังไม่เพียงพอ เพราะบางเรื่องมิใช่เรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัยเท่านั้น หากแต่เกี่ยวพันกับตัวบทกฎหมายในทางโลก หากไม่มีที่ปรึกษาที่ดีแล้วลงนามอะไรลงไป เกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ พระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นตัวอย่างที่ร้อนๆ อยู่ในวันนี้

     ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการวันนี้รายงานว่า นายประเสริฐ ไพลวัฒนชัย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศนเทพวราราม และนายสิทธิกร บุญฉิม ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนในการผลิตเหรียญพระพุทธโสธร รุ่นจารึกนามสกุล เป็นคดีอาญาที่ 1390/2547

     ความจริงแล้ว เรื่องนี้ผู้เขียนเคยเขียนมาแล้วครั้งหนึ่ง ในหัวข้อ อาลกถาแด่มหาจุฬาฯ แต่ขอท้าวความอีกนิดหนึ่งว่า

    ตามที่ทราบนั้น ขั้นตอนของการสร้างพระเครื่องเหรียญพระพุทธโสธร รุ่นจารึกนามสกุล ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นั้น เริ่มที่โครงการสร้างหอประชุม หรือ อาคาร มวก.48 พรรษา ซึ่งมหาจุฬาฯเขียนไว้ในแพลนกำหนดจะสร้างขึ้น แต่ว่าเงินไม่มี จึงหาวิธีด้วยการเข้าไปขอพึ่งบารมีของพระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดีให้เป็นองค์อุปถัมภ์ ก่อนหน้านั้น (โครงการสร้างโรงฉัน) มหาจุฬาฯ ก็เคยขอต่อพระเดชพระคุณมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้น หลวงพ่อพระวิสุทธาธิบดีท่านมอบหมายให้ นายสิทธิกร บุญฉิม เป็นผู้ดำเนินการสร้าง ได้เงินทั้งสิ้น 85 ล้านบาท โดยที่ มจร. ไม่ต้องทำอะไรเลย

    ครั้งนี้เมื่อมีการขอความอุปถัมภ์อีก พระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดี ก็มีเมตตารับเป็นองค์อุปถัมภ์ โดยทางมหาจุฬาฯ ก็ขอให้นายสิทธิกรเข้ามาร่วมด้วย แต่ว่าโปรเจ็คครั้งนี้มันใหญ่กว่าเก่ามาก จึงต้องวางแผนงานกันหลายอย่าง และเพื่อความมั่นใจจึงได้ทำสัตยาบันร่วมกันที่ศาลาภัททจารี คณะ 11 วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2546 โดยตกลงกันอย่างกว้างๆ ว่า ทางมหาจุฬาฯ ขอเงิน 200 ล้านบาทมาเป็นค่าก่อสร้าง ส่วนต้นทุนนั้นไม่มี จึงขอให้นายสิทธิกรรับไปจัดการทั้งหมด ทั้งหาทุน สร้างพระ จัดจำหน่าย หักต้นและดอกออก แล้วนำผลกำไรมาให้แก่มหาจุฬาฯ

     จากนั้นอภิมหาอมตะสร้างพระของประเทศไทยก็เดินเครื่อง "พระพุทธโสธร รุ่นจารึกนามสกุล" เป็นชื่อที่ตั้งให้แก่พระชุดนี้ มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว เพื่อเสริมสร้างความศรัทธาของสาธุชน จึงจัดทำพิธีแปลกใหม่ ให้จารึกนามสกุลของผู้สั่งจองไว้ที่ด้านหลังของเหรียญ แถมด้วย จะจารึกชื่อของผู้ร่วมทำบุญ-เช่าเหรียญในครั้งนี้ไว้ที่อาคารหอประชุมธรรมบริการด้วย แบบว่าได้ 3 เด้ง คือ 1.ได้พระ  2.ได้บุญ 3.ได้ชื่อ จึงเป็นที่ฮือฮากันมาก คาดการกันไปต่างๆ นาๆ ว่า พระชุดนี้มียอดจองและจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และบางกระแสลือกันถึงขนาดว่ายอดจองพุ่งสูงถึง 1,000 ล้านบาท !

     สำหรับจุดสิ้นสุดของโครงการนั้น คือวันที่ 30 เมษายน 2547 ถ้านับระยะเวลาจากวันที่ลงนามร่วมกันก็แค่ 8 เดือนเท่านั้น กับโครงการหาเงิน 200 ล้านบาทของมหาจุฬาฯ

     แต่จู่ๆ ก็เกิดรายการออฟไซด์ ในวันที่ 27 เมษายน 2547 เวลา 18.30 น. นายชาติชาย พิทักษ์ธนาคม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้มีหนังสือเลขที่ ศธ.6100.1/610 ถึงนายสิทธิกร บุญฉิม ประธานการจัดหาทุนทรัพย์สร้างอาคารหอประชุม ขอให้

1. นำเงินที่ตกลงไว้ว่าจะให้แก่ มจร. จำนวน 200 ล้านบาท มามอบให้แก่ มจร. ทันที

2. หากมีเงินเหลือเกินกว่า 200 ล้านบาทนั้น ทาง มจร. ก็ขอเพิ่มอีก 300 ล้าน ซึ่งแต่เดิมเงินจำนวนส่วนเกินนั้น ตกลงกันว่าถ้ามี ก็ยินยอมให้นายสิทธิกรนำไปใช้ในสาธารณประโยชน์ตามแต่จะนายสิทธิกรจะเห็นสมควร แต่บัดนี้ มจร. จะขอรับเงินก้อนนั้นมาใช้เอง

3.ขอให้ระงับการโฆษณาใดๆ ในทางสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป

     เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ก็กลายเป็น "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" คือกล่าวขานกันไปทั้งเมือง เนื่องเพราะพระเครื่องชุดนี้ดังมาก

     สาเหตุที่ทาง มจร. ตัดสินใจยื่นโนติ๊สถึงนายสิทธิกรนั้น  นายชาติชาย พิทักษ์ธนาคม อ้างไว้ในหนังสือมีใจความว่า "บัดนี้ ทางมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับแจ้งว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบกรณีการสร้างพระกริ่งจักรพรรดิ และพระเหรียญโสธร หลังสลักนามสกุล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าอาจมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย ประกอบกับทราบจากหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับว่า นายสิทธิกรจะเปิดให้บูชาเหรียญโสธรหลังสลักนามสกุลเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2547 นี้ "

     แปลให้ชัดก็คือ 1. มจร.ได้ตรวจสอบการสร้างพระของนายสิทธิกรแล้ว เห็นว่าอาจจะมีผลกระทบต่อ มจร. และ 2.ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์

     เพียงแค่นี้ ทาง มจร. ก็ตัดสินใจยื่นคำขาด ให้นายสิทธิกรนำเอาเงินจำนวน 200 บวก 300 ล้าน เป็นเงิน 500 ล้านบาท มาให้ในทันที เหมือนๆ กับว่า เป็นหนี้ที่คงค้างและต้องชดใช้ไม่ว่ากรณีใดๆ

    แต่ตามพันธสัญญา (ไม่ใช่หนังสือสัญญา เป็นเพียงบันทึกความร่วมมือหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่าง มจร. กับนายสิทธิกรเท่านั้น) ที่ทำไว้นั้น ระบุว่า

1. ให้นายสิทธิกรเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง ระดมทุน ทั้งหมด โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มจร. จะขอรับเพียงกำไรสุทธิ 200 ล้าน ถ้ามีเงินเหลือนอกนั้นก็ยินดีให้นายสิทธิกรนำไปใช้ได้ตามแต่อัธยาศัย

2. กำหนดการแล้วเสร็จคือ 30 เมษายน พ.ศ.2547

    แต่เหลือเวลาอีกตั้ง 3 วัน ทาง มจร. ไปฟังข่าวลือมาจากไหนไม่ทราบ ตื่นตูมกลัวว่านายสิทธิกรจะทำเงินได้มากเกินไป แล้วจะจ่ายให้แก่ มจร. เพียง 200 ล้าน ซึ่งบัดนี้มองเห็นว่าเป็นเพียงเงินนิดน้อย เมื่อเทียบกับกระแสข่าวที่ว่านายสิทธิกรปั่นยอดได้ถึง 1,000 ล้าน ทาง มจร. จึงขอรับเงินเพิ่มเติมเป็นพิเศษอีก 300 ล้าน ก็ไม่มาก แค่มากกว่าสัญญาเก่าเท่าครึ่งแค่นั้น

    กับข่าวที่ทราบมาจากหนังสือพิมพ์ว่า "วันที่ 30 เมษายน 2547 นั้น นายสิทธิกรจะเปิดให้บูชาเหรียญพระพุทธโสธรรุ่นนั้นทิ้งทวนเป็นวันสุดท้าย" ซึ่งทาง มจร. วิเคราะห์ตามกระแสข่าวแล้ว เห็นว่า สิทธิกรโลภมากเกินไป ได้เงินเป็นพันล้านแล้ว สงสัยกะจะฟันกำไรไม่อั้น แต่ มจร. จะได้แค่ 200 ล้าน มันเป็นการค้าที่ไม่น่าจะเป็นธรรม ทาง มจร.จึงตัดสินใจแจ้งให้นายสิทธิกร ยกเลิกการให้บูชาพระในวันที่ 30 เมษายน นี้เสีย และให้นำเงินมามอบให้โดยไว

    แล้วถามว่า ใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ ?

เรายกมาเทียบกันทีละประเด็น

1. กรณีที่ มจร.บอกว่า ทราบข่าวระแคะระคายการจัดสร้างพระกริ่งจักรพรรดิ และพระโสธร รุ่นสลักนามสกุล มีกลิ่นทะแม่งๆ เกรงว่าจะมีผลกระทบคือเสียหายต่อมหาวิทยาลัย จึงขอให้ระงับการดำเนินการทั้งหมดโดยพลัน

    กรณีนี้ ถ้ามองในแง่ของพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน ถามว่า แต่แรกเมื่อจะเซ็นในพันธสัญญานั้น ทำไมมหาวิทยาลัย มจร. ไม่ตรวจสอบประวัติของนายสิทธิกรให้ดีว่าไว้วางใจได้เพียงใด ทีนี้ เมื่อเซ็นหนังสือไปแล้ว และยังไม่ถึงกำหนดการนัดหมายจ่ายเงิน ทาง มจร. กลับมีหนังสือเร่งรัดขอเงินก่อนกำหนดการ แสดงว่าฝ่ายนายสิทธิกรเป็นผู้ผิดพันธสัญญากระนั้นหรือ

     เรื่องที่ มจร.แจ้งว่า ทราบว่านายสิทธิกรได้เงินมากมายหลายร้อยล้าน จึงขอเพิ่มอีก 300 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้เป็นความวิตกวิจารณ์ของทาง มจร. แต่ฝ่ายเดียว คือได้ยินข่าวลือว่า "สิทธิกรรวย" โดยยังมิได้เห็นตัวเงินที่เล่าลือกันนั่นเลย มจร. กลับออกลายโลภมากเสียเอง โดยขอเงินเพิ่มอีกถึง 300 ล้านบาท ถามว่า ระหว่าง นายสิทธิกร กับ มจร. ใครโลภมากกว่าใคร?

     เรื่องรายได้นั้น นายสิทธิกรชี้แจงว่า จำนวนพระที่สร้างนั้นมี 500,000 เหรียญ ราคาเหรียญละ 900 บาท เมื่อคูณออกมาแล้ว ถ้าขายได้ทั้งหมดก็จะได้เงิน 450,000,000 บาท (สี่ร้อยห้าสิบล้านบาท) ถ้านำถวาย มจร.ตามสัญญา 200 ล้าน ก็จะเหลือเงิน 250 ล้านบาท แต่ค่าสร้างพระ ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าพิธีกรรม ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นเท่าไหร่ ? นายสิทธิกรสงวนสิทธิ์ไว้ไม่ยอมชี้แจง แสดงว่า โครงการนี้มีความไม่โปร่งใสจริง สมควรร้องขอให้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบธุรกรรมการเงินของนายสิทธิกร

     จำนวนตัวเลขที่ มจร.ได้รับทราบนั้น จะเป็นข่าวลือหรือข่าวกรองก็ตามแต่ แต่เมื่อนายสิทธิกรชี้แจงมาเท่านี้ ถามว่า มจร. มีหลักฐานแสดงให้เห็นหรือไม่ ว่านายสิทธิกรได้กำไรมากเกินจริง ถ้าทาง มจร. ไม่มีหลักฐานดังว่ามานี้ ก็แสดงว่า มจร. เป็นกระต่ายตื่นตูม ตัดข่าวเอามาวิเคราะห์เหมือน ส.ส.ฝ่ายค้านในบางสมัย ทำให้ มจร. ต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ สติปัญญาของคนระดับด๊อกเตอร์ปล่อยขี้เท่อออกมาได้อย่างไร ?

2. ระยะเวลาของโครงการที่กำหนดไว้ในพันธสัญญา ว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2547 แต่วันที่ มจร. ยื่นโนติ๊สให้นายสิทธิกรนั้น คือวันที่ 27 เมษายน 2547 ยังเหลือเวลาอีกตั้ง 3 วัน จึงจะถึงจุดสิ้นสุดโครงการ

    กรณีนี้ ไม่ว่า มจร.จะได้ข่าวมาจากทางไหนก็ตาม แต่ถ้าทำงานเป็น ก็ต้องเอาพันธสัญญานั้นมากางวิเคราะห์ร่วมกันก่อนว่า ถ้าเรียกร้องตอนนี้มันจะมีปัญหาตามมาไหม ? ถ้าเขาไม่ให้จะทำอย่างไร และถ้ารอไปให้ถึงวันที่ 30 เมษายน เสียก่อน หมดเขตตามพันธสัญญาแล้วค่อยว่ากัน มันจะมีความชอบธรรมในการเรียกร้อง ตรงนี้แหละที่เป็นจุดตายให้ มจร. ทวงเงินไม่ได้มาจนป่านนี้

     ตอบให้ชัดก็คือว่า มจร.ทำผิดสัญญา หรือ ละเมิดสัญญา ไปทวงเงินนายสิทธิกรก่อน ซึ่งเมื่อข่าวออกไป ทำให้การจัดจำหน่ายพระเครื่องชะงักงันหมด เงินที่คาดหวังว่าจะได้ก็เลยไม่ได้ สุดท้าย ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 นายสิทธิกร ได้นัดหมายถวายเงินแด่ มจร. โดยมอบเป็นเช็คจำนวน 100 ล้านบาท พร้อมกับพระเครื่องที่เหลือจำหน่ายอีก 25,000 เหรียญ  มีพระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D) อธิการบดี มจร. เป็นผู้รับมอบ

     มีการซักถามว่า ทราบว่าในวันที่จัดจำหน่ายเหรียญที่วัดโสธรวรารามนั้น จำนวนเหรียญไม่เพียงพอต่อความต้องการ หมายถึงว่าจำหน่ายหมดแล้วตั้งแต่วันนั้น และอาจจะหมายถึงว่า พระเครื่องชุดนั้นจำหน่ายเข้าเป้า ไม่เหลือแม้แต่เหรียญเดียว แล้วเรื่องเงินล่ะ ?

    ข้อนี้นายสิทธิกรแก้ตัวว่า วันจำหน่ายที่วัดโสธรวรารามนั้น มีเหรียญที่นำไปจำหน่ายทั้งหมดเพียง 25,000 เหรียญ วันนั้นจึงขายพระได้เงินทั้งสิ้น 22,500,000 บาท ไม่ใช่ 450 ล้านบาท เพราะยังมีพระที่ส่งออกไปให้แก่ศูนย์จำหน่ายทั่วประเทศอีกถึง 2,800 ศูนย์ ไม่ได้นำไปจำหน่ายที่วัดโสธรเพียงแห่งเดียว

     นายสิทธิกรกล่าทิ้งท้ายไว้ว่า "ตามข้อตกลง ฝ่ายหาทุนจะต้องมอบเงินให้กับทาง มจร. จำนวน 200 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของการเปิดให้ประชาชนบูชาเหรียญดังกล่าว แต่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 มีหนังสือจาก มจร. ขอรับเงิน 200 ล้านบาท และขอเพิ่มอีก 300 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของ มจร. ซึ่งไม่สามารถยินยอมได้ จึงต้องขอยกเลิกโครงการดังกล่าว และขอมอบให้แก่ มจร. ดำเนินการโครงการต่อไป.."

    เอวํ ฯ แปลว่า จมเกม นายสิทธิกรย้อนศรเอากับทางมหาจุฬาฯแบบว่าสอนมวย ให้เงินมาเพียงครึ่งเดียว แถมด้วยพระเครื่องอีกราคาไม่ถึงร้อยล้าน อย่างอื่นนั้นไม่ขอคุยด้วย ทั้งนี้เพราะในหนังสือที่เซ็นกันนั้นเป็นเพียง "บันทึกข้อตกลงร่วมกัน" ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่สาบาน เมื่อทาง มจร. ละเมิดข้อตกลงก่อน สิทธิกรจึงขอสละสิทธิ์ ไม่รับตำแหน่งประธานฝ่ายจัดหาทุนอีกต่อไป ถามว่าใครเจ็บ ?

    เรื่องนี้ไม่จบแน่นอน เพราะทางฝ่ายมหาจุฬาฯ เมื่อเอาเรื่องทางกฎหมายไม่ได้ ก็ต้องหาทางเล่นงานนายสิทธิกรด้านอื่น ด้านสังคมนั้นแน่นอนว่านายสิทธิกรตกเป็นจำเลยตั้งแต่วินาทีแรกที่มีข่าวออกมาแล้ว ต่อมาไม่นานก็มีคนไปแจ้งความกับตำรวจ ขอให้ดำเนินคดีกับ พระวิสุทธาธิบดี (ภทฺทจารีมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม และนายสิทธิกร บุญฉิม ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน

    ทั้งๆ ที่ นายสิทธิกร บุญฉิม  เป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด จึงควรรับข้อหานี้ไปเพียงคนเดียว

    หรือถ้ากล่าวให้ชัดขึ้นอีก โครงการนี้ที่ล้มเหลวนั้น มหาจุฬาฯ มีส่วนทำลายด้วยครึ่ง เพราะเป็นผู้ทำหนังสือไปถึงนายสิทธิกรก่อน หรือทางมหาจุฬาฯจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ?

   แต่กับพระเดชพระคุณฯ พระวิสุทธาธิบดีนั้น เหตุใดจึงหาเรื่องราวกล่าวหาท่าน ว่ามีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์ในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพราะพระเดชพระคุณฯ เป็นเพียงองค์อุปถัมภ์ มิได้เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรในโครงการนี้ มีเพียงเมตตา เมื่อมหาจุฬาฯ มาขอ ท่านก็เออออห่อหมก หวังให้โครงการการศึกษาของพระลูกเณรหลานได้สำเร็จสมประสงค์ ก็อาคารหอฉันที่สำเร็จไปนั้น เงินตั้ง 85 ล้าน ทำไมไม่ฟ้องพระเดชพระคุณฯ ว่าฉ้อโกงประชาชน มจร.กินเข้าไปแล้วเต็มท้อง ตรงนั้นไม่ร้อง แต่ตอนนี้ได้เงินไม่ครบเพราะตัวเองทำงานพลาด กลับปล่อยให้เป็นคดีแปดเปื้อนไปถึงหลวงพ่อผู้เมตตาช่วยเหลือ อย่างนี้ถ้าไม่ "เนรคุณ" จะให้เรียกคณะมหาจุฬาฯว่าอย่างไร ???

     ในเว๊บไซต์ของมหาจุฬาฯ เวอร์ชั่นเก่านั้น ยังมีชื่อของ "พระวิสุทธาธิบดี" เป็นองค์อุปถัมภ์ แต่ในเว๊บที่ปรับปรุงใหม่ได้มีการตัดชื่อของท่านออกไป มีแต่เพียงสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และหลวงพ่อปัญญานันทะ เพียงสองรูปเท่านั้น อะไรคืออะไร ?

    สิทธิกรก็เช่นกัน ถ้ารักและเคารพหลวงพ่อจริง ก็ควรกีดกันหลวงพ่อออกไปเสียจากคดีนี้ อย่าให้พระดีๆ มีวัยมหาเถระปูนนี้ต้องมีมลทินเลย บาปกรรมนั้นมีจริงนะจะบอกให้

    ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ควรทราบว่า พระเดชพระคุณฯพระวิสุทธาธิบดีนั้น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ทั้งยังดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม อันเป็นรัฐบาลคณะสงฆ์ด้วย จึงมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีของคณะสงฆ์ จะดำเนินคดีอะไรก็ให้ระมัดระวัง อย่าเห็นเป็นเพียงคดีธรรมดา แม้ว่าคดีนี้จะเป็นคดีอาญา แต่ก็ไม่ใช่ข้อหาฆ่าคนตาย การสั่งการให้ดำเนินคดีต่อพระเดชพระคุณฯ จึงเป็นการตราบาปให้แก่พระคุณท่านฯ ทั้งๆ ที่ยังไม่กระจ่างซักประเด็น

     ขอย้ำว่า ถ้าโครงการสร้างพระโสธรรุ่นสลักนามสกุลครั้งนี้เป็นการฉ้อโกงประชาชน โครงการสร้างพระกริ่งจักรพรรดิหาเงินสร้างหอฉันให้แก่ มจร. ครั้งก่อน ก็ต้องเป็นการฉ้อโกงประชาชนเช่นกัน ! เพราะนำเงินมาให้แก่มหาจุฬาฯเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น มหาจุฬาฯก็ย่อมจะอยู่ในฐานะ "ผู้รับของโจร" อีกกระทงหนึ่งด้วย

    แต่น่าแปลกใจว่า โครงการครั้งแรกนั้นเป็นของพระเดชพระคุณฯพระวิสุทธาธิบดี กับนายสิทธิกร บุญฉิม กลับไม่มีปัญหา ทว่าเมื่อสร้างเหรียญพระพุทธโสธรขึ้นมา และเป็นโครงการของมหาจุฬาฯโดยตรง กลับมีปัญหา ที่แปลกยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า ในเมื่อโครงการนี้เป็นของมหาจุฬา นายสิทธิกรก็ต้องเป็นกรรมการของมหาจุฬาฯ เมื่อมีปัญหาขึ้นมาผู้เสียหายทำไมไม่ฟ้องมหาจุฬาฯ กลับไปฟ้องพระวิสุทธาธิบดีและนายสิทธิกรแทน แล้วพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D) อธิการบดี มจร. และคณะกรรมการคนอื่นๆ หายหัวไปไหน ทำไมไม่มีใครออกหน้ามารับผิดชอบกรณีนี้ นี่มิใช่กรณี "พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" หากแต่เป็นคดีความที่มีตัวตนอย่างแท้จริง ท่านอธิการบดีแสดงอัจฉริยภาพและสปิริตของผู้นำออกมาให้เห็นหน่อยสิ เห็นเขาว่าท่านเป็นพระอัจฉริยะแห่งยุคมิใช่หรือ ?

    นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการไม่รู้จักรักษาพระมหาเถระ รู้จักก็แต่ "เอากับเอา" ถ่ายเดียว

     ถ้าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีกับพระเดชพระคุณฯพระวิสุทธาธิบดี ในข้อหา "ฉ้อโกงประชาชน" โดยไม่ยอมดำเนินคดีกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. เลย ก็แสดงว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ! จึงอยากจะเจริญพรไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โปรดสละเวลาลงมาดูคดีนี้ เพราะมีผลกระทบที่กว้างไกลมาก

      คนเรานั้น ทำดีมาชั่วชีวิต แต่ต้องมาพลาดเพราะไว้วางใจคนใกล้ชิดเพียงนิดเดียว มันก็จะเป็นตราบาปไปจนวันตาย แต่ถ้าเรารักพระอย่างถูกทางแล้ว เราจะมีพระดีๆ เช่น พระวิสุทธาธิบดี ไว้กราบไหว้ตลอดไป


อกสารเพิ่มเติม

 

สาสน์จากประธานจัดหาทุนสร้าง
อาคารหอประชุม ธรรมบริการ 48 พรรษา มหาวิชราลงกรณ
โครงการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยมหาจฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์

วัดโสธรวราราม วรวิหาร และมหาวิทยาลัยมหาจฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมสร้างพระพุทธโสธรเหรียญนามสกุล เพื่อมอบให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ทำบุญประเดิมในการจัดหาทุนก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ที่ให้พระสงฆ์และผู้ที่ร่วมประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนวิชาการศาสตร์ชั้นสูงในพระพุทธศาสนา โดยจะได้จารึกชื่อของผู้ที่ประสงค์ ให้ประดับนาม ณ ผนังของอาคารหอประชุมใหญ่ จำนวนนามขอผู้ชายและผู้หญิงฝ่ายละ 1,999 ชื่อ

ท่านที่ได้รับสาสน์นี้ หากมีความประสงค์จะจารึกนามของท่านเอง หรือนามบรรพบุรุษ นามผู้มีพระคุณ นามทายาทในวงศ์ตระกูล นามบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง ทั้งที่มีชีวิตอยู่และที่ลาโลกนี้ไปแล้ว เพื่อเป็นการฝากชื่อไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ให้เป็นอนุสรณ์แห่งความรักและความดี ได้ประจักษ์แก่นรชนคนรุ่นหลังให้ปรากฏเห็นเด่นชัด ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ปีพุทธศักราช 2546 รายนามที่ปรากฏคือนามผู้ร่วมสร้างอาคารหอประชุมใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ของพระพุทธศาสนา ให้คุณประโยชน์เป็นสถาบันการศึกษาศาสตร์วิชาชั้นสูง เป็นแหล่งกำเนิดของนักปราชญ์ราชบัณฑิตศาสนทายาทที่ทรงภูมิปัญญา เป็นศาสนาสถานที่ผลิตครูบาอาจารย์ จะได้นำนำความรู้ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปเผยแผ่ เพื่อสืบอายุบวรพระพุทธศาสนา ให้สถาพรในโลกมนุษย์สืบไป

ด้วยพระพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในสยามประเทศ แห่งองค์หลวงพ่อพระพุทธโสธร ที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมานานนับร้อยปี จะได้มีส่วนแห่งบารมีของหลวงพ่อ ให้ลูกหลานได้ร่วมสืบอายุพระพุทธศาสนา โดยการส่งเสริมการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ได้ทรงสถาปนาไว้ เป็นการฉลองครบ 150 ปี แห่งวันพระราชสมภพ ด้วยการสนองพระราชปนิธานนั้น

ร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์ 25,000 บาท จารึก 1 นามในอาคารหอประชุมใหญ่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างสูงถึง 200 ล้านบาท ร่วมทำบุญได้ที่ มหาวิทยาลัยมหาจฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ และที่ สำนักงานจัดหาทุนชั่วคราว ศาลาภัททจารี วัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า กรุงเทพฯ

ชาวต่างจังหวัด สามารถร่วมบริจาคทรัพย์ทำบุญ ธนาณัติสั่งจ่ายมาที่ ปณจ.ราชดำเนิน ในนาม "ประธานจัดหาทุนสร้างอาคารหอประชุม ธรรมบริการ 48 พรรษา มหาวชิราลงกรณ" ให้แจ้งนามที่จะสลักในอาคารพร้อมทั้งส่งชื่อ-สกุล ของผู้ทำบุญและที่อยู่ พร้อมเบอร์โทรศัพท์อย่างชัดเจน ส่งกลับมาที่ ตู้ ป.ณ.11 ปณจ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 เพื่อคณะกรรมการจะได้ส่งใบจารึกบัตรกลับไปให้เป็นหลักฐานในการขอรับมอบ พระพุทธโสธร เหรียญนามสกุล

สำหรับนามสกุลที่ปรากฏหลังเหรียญทองคำ จะสลักตรงกับชื่อผู้นั้น และสีของเหรียญที่จะลงยาจะตรงกับเพศของนามที่สลักในอาคารหอประชุม

ประชาชนชาวไทยทั่วไปที่ศรัทธา มีโอกาสทำบุญจารึกชื่อโดยรอร่วมทำบุญบูชา พระพุทธโสธร เหรียญนามสกุล ประจำตระกูล ที่สร้างขึ้นด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ และจะให้จารึกชื่อผู้ทำบุญไว้ใต้องค์หลวงพ่อพุทธโสธร ณ อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัย ซึ่งได้เปิดให้ทำบุญบูชาเหรียญนามสกุล 900 บาท ในต้นปีพุทธศักราช 2547

ณ ธนาคาร กรุงเทพฯ ทุกสาขาใกล้บ้านท่าน โทร. 02-221-1169


ภาพประกอบพิธีเททองพระพุทธโสธร รุ่นจารึกนามสกุล

แถวกลาง จากซ้าย รูปที่หนึ่ง พระราชมงคลวุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม รูปที่สอง พระวิสุทธาธิบดี รูปที่ 3 พระเทพโสภณ (พระธรรมโกศาจารย์) อธิการบดี มจร. รูปที่ 4 พระราชพิพัฒนโกศล วัดศรีสุดาราม รูปสุดท้าย พระวิสุทธิภัทรธาดา รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร. ผู้ชายที่สวมเสื้อขาวคนกลางแถวหน้านั่นคือ นายสิทธิกร บุญฉิม ประธานจัดหาทุน

 

พระเทพโสภณ (พระธรรมโกศาจารย์) อธิการบดี มจร.
เดินตามคอยรับใช้พระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดีในพิธีดังกล่าว

 

พระเทพโสภณ (พระธรรมโกศาจารย์) อธิการบดี มจร. (ซ้าย)
นั่งแถวหน้าคู่กับพระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดีในพิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธโสธร

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
23 มกราคม 2549
เวลาแปซิฟิกโซน 11:15 p.m.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264