การเทศน์ที่ลืมไม่ลง
 


 

   ปีใหม่ ยังนึกอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยออก หลายท่านปรารภว่า เห็นผู้เขียน-เขียนเรื่องเก่าๆ เล่าประสบการณ์แล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ "มีเรื่องอื่นอะไรอีกไหม" ผู้เขียนนั่งคิดไปคิดมา นี่เราจะแก่เฒ่าถึงกับเอาเรื่องเก่าๆ ออกมาขายกินแล้วหรือ เพราะคนที่ยังเป็นเด็กกระทั่งถึงวัยกลางคนนั้นท่านว่ามักจะคิดถึงเรื่องอนาคต สำหรับคนชราแล้วก็ไม่มีอะไรจะคิดถึงนอกจากพระจากเจ้าและอดีต ดังนั้นคนที่เล่าเรื่องอดีตก็คือคนชราหรือคนแก่ นี่แหละคือสาเหตุที่ผู้เขียนไม่อยากเขียนเรื่องเก่า กลัวจะถูกคนมองว่าเป็นตาแก่ พูดมาก พร่ำเพรื่อ หลงวัย ไม่ทันโลก ฯลฯ

     แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเขียนในวันนี้ ถึงจะเป็นประสบการณ์ของพระหนุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งขอยืนยันว่ายังไม่แก่ แต่ก็ฝืนใจแก่ขอเขียนไว้ให้บุคคลที่รักมักคุ้นทั้งหลายได้รับทราบ เกี่ยวกับประสบการณ์แปลกๆ ในชีวิต ที่คิดว่าน่าจะแตกต่างจากบุคคลทั่วไปบ้าง

     กล่าวถึงการเทศน์หรือการแสดงธรรมแล้ว แต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นก็จะมีศิลปะการเทศน์แตกต่างกันไป ภาคกลางนั้นใช้ภาษากลางหรือภาษาของคนบางกอกเป็นภาษาพระ นิยมเทศน์ทั้งปาฐกถา (เทศน์ปากเปล่า ไม่อ่านคัมภีร์) เทศน์มหาชาติ ซึ่งอาจจะมีทั้งท่วงทำนองการเอื้อนเสียงไปตามสำนวนเพื่อให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งเป็นที่ประทับใจของญาติโยมผู้ฟัง เป็นต้น ภาคอื่นๆ ก็มีไม่ด้อยไปกว่ากัน อาจจะต่างกันก็เพียง "ภาษา-ศิลปะการแสดง" เท่านั้น

    สำหรับเชียงใหม่ อันเป็นเสมือนใจกลางเมืองเหนือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เขียนนั้น ก็มีการเทศน์ทั้งเทศน์มหาชาติ เทศน์ใบลาน และปาฐกถา ซึ่งแต่ละแขนงนั้นก็เรียนยากหนักหน่วงไม่แพ้กัน ว่ากันว่า เทศน์ใบลานเป็นการฝึกเทศน์ระดับประถม มหาชาตินั้นเป็นชั้นมัธยม และปาฐกถาก็คืออุดม ใครจะหัดเทศน์มหาชาติท่านว่าต้องผ่านการอ่านคัมภีร์ใบลาน อันเป็นสำนวนร้อยแก้วของนักปราชญ์ที่จารลงบนใบลานทำเป็นผูกๆ ใบลานเหล่านี้สมัยเก่าท่านเขียนด้วยตัวเมืองหรือตัวธรรม อันเป็นภาษาล้านนาโบราณ เหมือนกับภาษาพม่าและภาษาเขมร การเรียนนั้นก็ยากพอดู แต่ถ้าเรียนจบจนอ่านออกเขียนได้ก็จะสนุก เพราะมีศัพท์โบราณ สำนวนนิยม รวมทั้งเทคนิคการเขียนที่ไม่เหมือนภาษาสมัยใหม่ ให้เก็บเกี่ยวเป็นกำไรในเวลาเรียนเทศน์อีกด้วย พ้นจากนั้นแล้วจึงค่อยไต่เต้าเข้าเรียนเทศน์มหาชาติ หรือพระเวสสันดรชาดก มี 13 กัณฑ์ นับจาก ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศน์ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และกัณฑ์นคร ซึ่งเป็นตอนท้ายสุดที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี และกัณหา-ชาลี สองพระราชโอรสพระราชธิดา ได้กลับคืนสู่พระนครสีพี

     งานเทศน์มหาชาตินี้ทางเชียงใหม่เรียกว่า "ตั้งธรรมหลวง" ถือเป็นงานใหญ่ นิยมจัดกันในเดือนยี่ คือเดือน 12 ของภาคกลาง ตรงกับงานลอยกระทง โบราณนั้นว่ากันว่าเทศน์กันถึงสองวันสองคืนซ้อน ต้องหอบเสื่อหอบหมอนไปนอนฟังเทศน์ที่วัด เอากันขนาดนั้น ส่วนพระนักเทศน์นั้นก็ต้องคัดเสียงคัดลูกคอกันชนิดรายการ "ชุมทางคนเด่น" ของประจวบ จำปาทอง ยังต้องอายเชียว ยิ่งพระนักเทศน์เสียงดีมีรูปหล่อเหลาเข้าด้วย รับรองว่าแม่ออกตอมกันตรึม กลับวัดแต่ละทีได้ทั้งกัณฑ์เทศน์ ทิปพิเศษ เพียบย่าม เผลอๆ จะมีจดหมายฝากใจฝากตัวจากสาวงามตำบลนั้นติดย่ามมาด้วย เรื่องอย่างนี้ถือเป็นปกติที่เล่าขานสู่ลูกหลานจากปู่ย่าตายาย

     เห็นพระหนุ่มเณรน้อยสมัยนี้ ไม่ค่อยสนใจในเรื่องศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน อันเป็นถิ่นเกิดของตัวเอง มุ่งเรียนแต่ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์โลกสามสมัย และไอที เช่นนี้แล้ว ก็เป็นห่วงบ้านเกิดเมืองนอนว่าจะไปรอดในสังคมโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร เขียน-พูด คำพ่อคำแม่ยังไม่ค่อยถูกเลย ก็ดัดจริตจะเป็นฝรั่งมังค่ากับเขา ตามองดาว เท้าติดดิน ผลสุดท้ายก็เดินสะดุด เพราะผิดยุทธวิธี ที่ถูกนั้นจะเดินไปจุดไหนก็ต้องจ้องมองไปที่จุดนั้น มิใช่ตาไปทางตีนไปทาง เพ้อฝันไปวันๆ กับเมกะโปรเจ็ค นี่เห็นครูบาอาจารย์เมืองเหนือหลายรูป ให้ศีลให้พรเป็นภาษา "เมืองคำไทยคำ" ก็อดขำไม่ได้ บางรูปเป็นถึงเจ้าคณะ ไม่รู้ภาษาท้องถิ่น แต่กลับได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำท้องถิ่น ยิ่งเคยมีพระต่างถิ่นเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ศิลปะวัฒนธรรมพื้นเมืองเชียงใหม่ไม่บรรลัยก็ให้มันรู้ไป นี่ว่ากันตามที่เห็นและเป็นไป

    ชั้นสูงสุดนั้นท่านวัดภูมิกันที่ "เชาว์ในการปาฐกถา" คือการยืนพูดต่อหน้าคนจำนวนมากในห้องโถง ซึ่งใจจะต้องกล้า หน้าจะต้องด้าน แถมยังต้องมีไหวพริบปฏิภาณ รู้จักหลีกหลบและแก้เกมการพูดในเวลาติดขัดนึกอะไรไม่ออก นี่ยังมินับสำนวนโวหารที่จะตกแต่งเรื่องราวให้มีสีสันต์อีกต่างหาก การเทศน์ปาฐกถาจึงนับว่าเป็นสุดยอดของการแสดงธรรม ใครผ่านด่านนี้ไปได้ก็ย่อมจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้ระดับนักปราชญ์คนหนึ่ง ส่วนผู้เขียนนั้นทำได้เพียงปูๆ ปลาๆ จะว่าไม่รู้ก็พอรู้อยู่บ้าง จะให้รู้มากเหมือนครูบาอาจารย์ก็กลับไม่รู้เสียอีก อยู่ตรงกลางระหว่างกึ่งรู้และไม่รู้ ได้แค่นั้น นั่นเป็นเรื่องที่ต้องขอออกตัวไว้ในคอลัมน์นี้ว่า "พระมหานรินทร์ มิใช่ผู้รู้"

      การเทศน์นั้น ท่านว่า พระภิกษุ-สามเณร ต้องเรียนรู้อักขระพยัญชนะให้ถูกต้องทั้งการออกเสียงและความหมาย รวมรู้ถึงความเหมาะสมในการใช้ถ้อยคำสำนวนในแต่ละครั้งแต่ละที่ ว่าคำไหนควรใช้อย่างไร และใช้ในสถานการณ์เช่นไร ซึ่งมีคำจำกัดความอย่างกว้างๆ ว่า ต้องรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้การเวลา รู้สถานที่และตัวบุคคล จำแนกแจกแจงในใจให้แยบยล เหตุผลกลใดควรจะพูดหรืออธิบายก็ยกขึ้นมากล่าว สิ่งไหนเห็นว่าไม่เข้ากับกาละเทศะก็งดไว้ไม่กล่าวถึง มิใช่ดันทุรังพูดมันทุกเรื่อง หรือพอเห็นได้ทีก็ขี่ม้าไล่เอามันเข้าไว้ อย่างนี้ยังถือว่ามิใช่นักเทศน์ที่ดี นี่ว่ากันโดยทั่วไป สมัยก่อนนั้น ครูบาอาจารย์ที่เฮี๊ยบๆ เจอลูกศิษย์คนไหนเทศน์ไม่ได้เรื่อง ทำขายหน้าขายตาอาจารย์ละก็ ท่านถึงกับไล่ลงธรรมาสน์กลางคันกันเลยทีเดียว เสียหน้าไปถึงพ่อแม่และพี่น้อง มันเดิมพันกันเป็นบัญชีหางว่าวไปเช่นนี้ ดังนั้น การเทศน์จึงเป็นหัวใจสำคัญของการบวชส่วนหนึ่งทีเดียว ดังนั้นพระเณรและเด็กวัดสมัยผู้เขียนเรียนเทศน์จึงต้องคร่ำเคร่งกันหนัก ทีวีก็อยากดู แต่ถ้าเทศน์ไม่ผ่านมันเสียเชิงชาย จึงต้องอดหวานกินเปรี้ยวไปหลายเพลา สมัยวัยรุ่นนั้นผู้เขียนก็เจ้าบทเจ้ากลอนมิใช่เบา ยังจำมาได้ถึงทุกวันนี้เกี่ยวกับกลวิธีการเทศน์ ซึ่งใครก็ไม่รู้ได้เขียนไว้นานแล้วว่า

      นักเทศน์ที่ดีนั้น ต้อง... เริ่มต้นให้โน้มน้าว เรื่องราวให้กระชับ ตาจับที่ผู้ฟัง เสียงดังให้พอดี อย่าให้มีเอ้ออ้า ดูเวลาให้พอควร สรุปจบให้จับใจ และ...จากไปให้คิดถึง   ซึ่งวลีสุดท้ายนั้นรู้สึกว่าจะสำคัญสุดยอด เพราะถ้าเทศน์แล้วผู้คนไม่คิดถึงก็เท่ากับว่ามิได้เทศน์เลย

     อย่างไรก็ตาม สมัยเรียนนักธรรมชั้นตรีนั้น มีคุณสมบัติของนักเทศน์อยู่ในหนังสือนวโกวาท ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรียกว่า องค์แห่งพระธรรมกถึก มี 5 อย่าง คือ

1. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
2. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
3. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
4. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
5. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

     คุณสมบัติทั้ง 5 ข้อนี้ เมื่อนำมาแยกแยะดูแล้ว ก็เห็นว่า เป็นคุณสมบัติรวมตั้งแต่ การมีภูมิธรรม ภูมิความรู้ มีสปิริต ไปจนถึงเทคนิควิธีในการเทศน์ ซึ่งใครทำได้ก็ต้องยกให้เป็นยอดพระธรรมกถึกโดยแท้

     แต่การเทศน์ใบลานในทางเมืองเหนือนั้นมีพิเศษประเภทหนึ่ง คือการเทศน์ธรรมหมู่ มักใช้ในคราวมีเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์เยอะ ๆ แต่มีเวลาจำกัด โดยแต่ละเจ้าภาพก็ปรารถนาจะถวายใบลานที่ตนเองซื้อมา จึงนิมนต์พระเทศน์ ซึ่งพระจะเทศน์ทีละรูปทีละกัณฑ์ใช้เวลานับวันกว่าจะเสร็จ เมื่อเวลามีน้อยท่านจึงอนุโลมให้ "เทศน์หมู่" ได้ โดยมีเทคนิคการเทศน์ประเภทนี้ว่า "เค้าใบปลายใบ" หมายถึง เทศน์ต้นคัมภีร์เสียหน้าหนึ่ง แล้วข้ามไปเทศน์ต่อที่ใบลานหน้าสุดท้ายเลย ก็จบ ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีต่อกัณฑ์หนึ่ง และถ้าระดมเทศน์กันประมาณ 5-10 รูป ก็จะได้ 5-10 กัณฑ์ต่อเวลา 5 นาที นับว่าเป็นกลวิธีย่นเวลาอันเยี่ยมยอด จะเรียกว่า "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" ก็คงว่าได้

     ใบลานที่ว่านั้น ท่านตัดเอามาจากต้นตาลหรือต้นลาน ตัดให้ได้ขนาดยาว (แนวขวาง) สัก 1 ศอก กว้าง (แนวดิ่ง) ประมาณ 2 นิ้ว เขียนได้หน้าละประมาณ 5-6 บรรทัด แล้วเขียนต่อไปในใบอื่นจนจบ เรื่องหนึ่งๆ เรียกว่า ผูกหนึ่ง จะมีใบลานประมาณ 10-20 ใบ โดยประมาณ เรื่องที่ใช้จารหรือจารึก ต้นๆ ก็มีทศชาติชาดก หรือพระเจ้าสิบชาติ ได้แก่ พระเตมีย์ใบ้ พระมหาชนก สุวรรณสาม เนมิราช มโหสถ ภูริทัต จันทกุมาร พระพรหมนาท และวิธูรชาดก ยกเว้นเวสสันดรชาดก เพราะถือเป็นชาติใหญ่ ต้องยกไปเทศน์เป็นเอกเทศ ส่วนใบลานอื่นๆ นั้นก็มีทั้งคติธรรมสอนใจให้ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส อันเป็นกุศโลบายเบื้องต้น อานิสงส์การให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม รวมถึงนิทานธรรมอื่นๆ มีพระมาลัยเป็นต้น

     กล่าวถึงกระบวนการที่พระจะได้เทศน์นั้น มิได้เริ่มมาจากว่าพระอยากจะเทศน์ไม่ หากแต่มาจากญาติโยมอยากฟังเทศน์ จึงมีฎีกาหรือหนังสือนิมนต์พระไปแสดงธรรม ซึ่งก็เป็นไปตามกาละเทศะอีก การเทศน์มีหลายแบบ แยกออกเป็นงานมงคลและอวมงคล งานมงคลก็เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ กินแขกแต่งงาน เปิดร้าน ทำบุญอายุ งานประเพณี หรืองานที่เกี่ยวกับสิ่งที่ดีๆ อื่นๆ ส่วนงานอวมงคลนั้นก็เกี่ยวกับการตายหรือคนตาย แม้แต่สวดมนต์ก็เช่นกัน ท่านว่า คำว่า "สวดมนต์" ใช้ในงานศพ ถ้าเป็นงานมงคลจะใช้คำว่า "เจริญพระพุทธมนต์" พระสงฆ์องค์ไหนไปงานมงคล แต่เอาพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ขึ้นมาสวดละก็ รับรองว่าโดนไล่ลงกระไดไม่ทันสวมรองเท้าแน่

    ทางเมืองเหนือนั้นมีใบลานสำคัญฉบับหนึ่งชื่อว่า "มหาวิบาก" นิยมนิมนต์พระเทศน์ให้แก่คนที่เจ็บหนักใกล้ตายหรือเห็นว่าจะไม่รอด มีเนื้อหาสาระให้ละวางสิ่งทั้งปวงที่มิได้เอามาด้วย หากจะไปก็ขอให้ไปดี ส่วนมากนั้นท่านผู้ใด (ผู้ป่วย) ได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ไม่ค่อยมีใครรอด คือตายทุกราย ท่านพระครูโสภณบุญญาภรณ์ หรือ หลวงปู่บุญทอง วัดโสภณาราม เจ้าคณะอำเภอแม่ริม ซึ่งเป็นนักเทศน์ดังแห่งเมืองเชียงใหม่ ท่านเล่าเจี้ยคือนิทานสั้นๆ แฝงคติธรรมไว้ว่า

     ครั้งหนึ่ง ผัวป่วยเรื้อรัง เมียประคบประหงมมานานก็ยังไม่เห็นหาย จึงคิดหาอุบายให้ผัวหาย ทราบว่าถ้าได้ฟังธรรมมหาวิบากแล้ว ถ้าไม่ตายก็จะหาย จึงไปนิมนต์พระมาเทศน์ใบลานเรื่อง "มหาวิบาก" โดยนำธรรมใบลานผูกนั้นกลับบ้านไปก่อนพระ

      ตัวผัวเห็นเมียถือใบลานขึ้นเรือนมาก็ถามว่า "มึงเอาอะไรมา" เมียก็บอกว่า "ไปบูชาธรรมมาให้แกฟังนั่นแหละ จะได้หายเสียที" ผัวก็ถามอีกว่า "ธรรมอะไร" เมียก็ตอบว่า "ธรรมมหาวิบาก" ผัวได้ฟังดังนั้นก็ตกใจตะคอกใส่หน้าเมียว่า "อ้อ นี่มึงอยากให้กูตายละสิ นึกว่ากูไม่รู้หรือ วันก่อนไอ้ลูนก็ตายเพราะฟังธรรมผูกนี้แหละ" ผลก็คือการเทศน์วันนั้นต้องระงับไป ส่วนตัวผัวนั้นจะหายหรือตายท่านไม่ได้เล่า

      นี่ก็เป็นประสบการณ์จากการ "ฟัง" นำมาเล่าสู่กันฟัง

     กลางพรรษา พ.ศ.2532 ตอนนั้นผู้เขียนยังเป็นสามเณร เพิ่งสอบได้บาลี ป.ธ.5 หมาดๆ ได้ย้ายจากสำนักวัดบุพพาราม ถนนท่าแพ ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดของหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่องค์ปัจจุบันนี้ ไปอยู่ที่วัดสันโค้ง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดเก่าถิ่นเกิดทางมารดาของผู้เขียน ก่อนจะเดินทางไปขอศึกษาวิชาการเทศน์มหาชาติกัณฑ์ "มัทรี" อยู่กับหลวงปู่พระครูอมรธรรมประยุต ณ วัดแม่ริม อำเภอแม่ริม ซึ่งมีชื่อเสียงเกรียงไกรเป็นนักเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีอันดับหนึ่งของล้านนาไทย เวลานั้นหลวงปู่ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแม่ริมอีกด้วย

     เย็นวันหนึ่ง คุณตาซึ่งเคารพนับถือได้มาหาที่วัดกล่าวว่า "ค่ำวันนี้ ขอนิมนต์ท่านไปเทศน์ที่บ้าน" ผู้เขียนก็ถามว่า "เทศน์เรื่องอะไร" คุณตาก็กล่าวว่า "เรื่องอะไรก็ได้ ตามที่ท่านถนัด หรือเอาธรรมอานิสงส์การให้ทานก็ดี" "แล้วจะให้ไปกี่โมง" ผู้เขียนถามอีก คุณตาก็บอกว่า "ซักสองทุ่มคงจะพอดี" "ได้" ผู้เขียนตอบคุณตา ก็เป็นอันว่า กิจนิมนต์ไปเทศน์หัวค่ำวันนั้นได้รับไว้แล้ว แล้วคุณตาก็ยกมือไหว้ลากลับไป

     คล้อยหลังคุณตาไปแล้ว ผู้เขียนก็เดินดุ่มมุ่งหน้าไปหาตู้พระธรรม ค้นจนได้ใบลานชื่อที่ต้องการ ห่อไว้ด้วยคัมภีร์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกผ้าห่อใบลาน เหมือนปกหนังสือ มีสีออกแดงๆ ลายๆ รอจนได้เวลาประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง จึงครองจีวร สะพายย่าม คว้าตาลปัตรพร้อมกับพระธรรมคัมภีร์นั้น ถือไฟฉายเดินมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือของวัด เพราะบ้านของคุณตาอยู่ในทิศนั้น

     ครั้นถึงหน้าประตูบ้านคุณตาแล้ว ผู้เขียนต้องแปลกใจ เพราะไม่ได้ยินเสียงเฮฮาปาตี้มีผู้คนมาร่วมเหมือนงานเทศน์อื่นๆ ที่ผู้เขียนคุ้นเคย สองจิตสองใจว่าจะใช่บ้านคุณตาจริงหรือเปล่า ก็แน่ใจว่าใช่ เพราะว่ามาบ่อย จะผิดได้อย่างไร แต่ทำไมไม่มีคน น่าฉงนนัก แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ คุณตาเขาไปนิมนต์ถึงวัด เขาคงไม่นิมนต์ผิดหรอก น่าจะลองเคาะประตูดู เพราะนี่ก็ยังไม่ดึก แค่ทุ่มแก่ๆ เท่านั้นเอง

     พอผู้เขียนเคาะประตูเพียงสองครั้ง คุณตาก็ตะโกนออกมาว่า "นิมนต์ขึ้นมาได้เลยครับ" พร้อมกับเปิดประตูให้ ผู้เขียนก็ถอดรองเท้าขึ้นเรือนไป เรือนของคุณตานั้นเป็นบ้านสองชั้น สูงใหญ่ ด้วยเป็นคนมีฐานะพอสมควร พอคุณตานำผู้เขียนไปถึงห้องโถงแล้ว ก็จัดแจงดันโซฟาตัวใหญ่มาข้างหน้า นิมนต์ผู้เขียนให้นั่ง มีคุณยายพร้อมด้วยลูกสาวและหลานอีกสองคนก้มกราบทักทายอยู่ คุณตากล่าวกึ่งถามว่า "นิมนต์ท่านฉันน้ำฉันท่าดูข่าวก่อนครับ รออีกนิดค่อยเทศน์คงได้นะ" ผู้เขียนก็เลยตามเลย นั่งดูข่าวไปเรื่อยเปื่อย ในใจก็สับสน นี่คุณตาเล่นตลกกับเราหรือเปล่า เพราะไม่เห็นเชิญใครมาฟังเทศน์ด้วยเลย หรือว่าเขายังไม่ทันมา แต่ก็ไม่นี่นา เพราะเวลานี้ก็เหมาะที่จะเทศน์แล้ว ที่ไหนๆ เขาก็มากันจนล้นเรือนแล้ว ฯลฯ เหลือบสายตาไปทางขวามือก็เห็นกัณฑ์เทศน์กัณฑ์ใหญ่พร้อมดอกไม้ธูปเทียนครบครัน

     ครั้นหมดข่าวของช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ 2 ทุ่มตรงพอดี คุณตาก็เอื้อมมือไปปิดทีวี แล้วเลื่อนกัณฑ์เทศน์มาไว้ด้านหน้าของผู้เขียนเยื้องไปทางขวานิดหนึ่งพอไม่เป็นที่กีดขวาง พร้อมทั้งพานดอกไม้ใช้ขอศีล  จุดเทียน-รูป เริ่มนำคุณยาย ลูกสาว และหลาน รวม 4 ชีวิตนั้น ไหว้พระ รับศีล และอาราธนาพระธรรม ผู้เขียนก็ให้ศีลตามลำดับ เริ่มต้นเทศน์ด้วย นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นการไหว้ครู แล้วจึงลำดับพระธรรมเทศนาอันจารึกไว้ในใบลานจากบรรทัดแรกไปจนบรรทัดสุดท้าย ใช้เวลาประมาณ 25 นาที ก็เป็นอันสิ้นสุด นิฏฐิตัง เอวังลงไปอย่างบริบูรณ์

     ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มไหว้พระ รับศีล และฟังธรรมนั้น สังเกตว่า คุณตา คุณยาย ลูกสาว และหลาน (ลูกของลูกสาว) จะตั้งใจกล่าวตั้งใจฟัง ส่วนผู้เขียนซึ่งเป็นนักเทศน์นั้นก็รู้สึกว่าตั้งใจเทศน์มากกว่าที่เคยเทศน์มา ทั้งนี้เพราะความตั้งใจฟังของผู้ฟัง บวกกับความเงียบสงบของเคหะสถานในคืนนั้นนั่นเอง

     โดยทั่วไปนั้น งานเทศน์งานบุญประจำบ้านต่างๆ ในภาคเหนือ ที่ผู้เขียนเคยได้รับนิมนต์ไปนั้น จะมีการเชิญแขกบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมพิธีเลี้ยงพี่เลี้ยงน้องกันเอิกเกริก โดยมีประเพณีการเทศน์แซมไว้เหมือนไม้ประดับพอเป็นพิธี เมื่อพระเทศน์ก็มีคนแย่งพูด เสียงดังทางซ้ายทางขวาหน้าหลังสบสนปนเป ตะโกนโหวกเหวกต้อนรับแขกบ้าง พูดคุยกันบ้าง รับบริจาคบ้าง คิดตังค์กันฑ์เทศน์บ้าง จนฟังไม่ได้ศัพท์ พระนักเทศน์หรือก็มารยาทดี โยมไม่ฟังก็ยังตั้งหน้าเทศน์ไปจนจบ จะได้เนื้อหาสาระหรือไม่ก็ไม่ได้คำนึงถึง ถือว่าได้กัณฑ์เทศน์ก็พอใจแล้ว คนพื้นบ้านเราจะเอาอะไรมาก เพราะนี่คือการทำบุญ เขาหวังส่วนบุญมากกว่าอยากได้กุศลหรือความฉลาดอันเกิดจากการฟังเทศน์

    แต่สำหรับการเทศน์ที่บ้านคุณตา บ้านสันโค้ง อำเภอสันกำแพง ในค่ำวันนั้น ผู้เขียนรู้สึกประทับใจ เพราะคุณตาบอกว่า "ไม่เชิญคนมามากหรอกท่าน มันสับสน มาคุยกันมากกว่ามาฟัง จัดง่ายๆ กับลูกกับเมียอย่างนี้แหละ สบายใจดี"

     ที่ประทับใจผู้เขียนนั้น เพราะ

     1. ผู้ฟังตั้งใจฟัง นั่งใกล้ๆ ไม่กระแอมกระไอให้สะดุดการแสดงธรรม

     2. องค์เทศน์ก็ตั้งใจเทศน์ เพราะได้นั่งบนโซฟา ไม่ปวดเมื่อยขาเวลาเทศน์เหมือนอยู่บนธรรมาสน์

     3. เป็นการเทศน์ที่แปลก เพราะมีคนฟังเพียง 4 คนเท่านั้น

     4. ที่สำคัญก็คือ กัณฑ์เทศน์คืนนั้น นึกว่าคงจะได้นิดหน่อย ซักร้อยสองร้อยก็เต็มที่แล้ว แต่ที่ไหนได้ พอเปิดซองขาวออกมา เห็นแบงค์สีแดงเรียงรายกันอยู่ตั้ง 5 ใบซ้อน นับเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ออกจะมากที่สุดที่ผู้เขียนเคยได้ในชีวิตการเทศน์ใบลานเลยก็ว่าได้ หลังจากวันนั้นถึงวันนี้ วันที่จบประโยคเก้าแล้ว ก็ยังไม่เคยเทศน์ได้มากเท่าครั้งนั้นเลย แสดงว่า คุณตาและครอบครัวนั้น ตั้งใจทำจริง ฟังจริง ให้ทานจริง และเชื่อว่า ต้องได้บุญจริงด้วย อย่างน้อยก็ฟังธรรมรู้เรื่องล่ะ เพระพระพุทธองค์ตรัสว่า

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

นี่กระมัง ที่ทำให้ผู้เขียนลืมการเทศน์ครั้งนั้นไม่ลงมาจนบัดนี้

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
6 มกราคม 2549
เวลาแปซิฟิกโซน 05:00 p.m.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264