100 ปี พุทธทาสภิกขุ


 

หลวงพ่อพุทธทาส ขณะเทศน์ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2491
ครั้งแรกที่ท่านไปเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนยังไม่เกิด นับเป็นเรื่องประหลาดที่พระยืนเทศน์


 
    "มาจากไหนล่ะ ?" พระภิกษุวัยชราบนม้าหินอ่อนเอ่ยถามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ในเช้าตรู่ฤดูหนาววันหนึ่ง แม้จะเคยผ่านผู้คนที่มากราบกรานทุกวันเป็นปรกติ แต่แปลกว่าท่านมิได้แสดงความเหนื่อยหน่ายหรือรังเกียจต่อแขกแปลกหน้านั้นเลย คำตอบที่ท่านได้รับคือ "เกล้าฯ กระผม มาจากเชียงใหม่ ขอรับ"

      "มาทำไมหรือ ?" ท่านถามอีก

      "เอ้อ.." จะตอบยังไงดีล่ะ เพราะว่าตั้งใจจะมาอยู่กับท่าน แต่จะขออยู่ก็กลัวท่านจะว่ามักง่ายเกินไป หรือท่านสงสัยว่าเราอาจจะมีประวัติไม่ดีก็อาจจะถูกท่านปฏิเสธได้ โชคดีที่นึกคำตอบดีๆ (ที่คิดว่าดีที่สุด) ได้ คือคำตอบว่า "เกล้าฯ กระผม จะขอมาศึกษากับหลวงพ่อ ขอรับ"

     "ที่นี่ไม่มีการศึกษา มีแต่ปฏิบัติ" ท่านตอบแบบไม่เชิงปฏิเสธ แต่ก็ไม่ตอบรับ นับว่ายากเอาการ

     "เอ้อ..." แขกผู้นั้นถึงกับจนปัญญาเข้าจริงๆ เพราะไม่เคยคิดว่าจะเจอปัญหาที่ต้องใช้เชาว์ในระดับนี้มาก่อน แม้ว่าจะผ่านการศึกษาถึงระดับนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยคมาแล้วก็ตาม แต่คำตอบต่อหน้าพระมหาเถระผู้มีกิตติศัพท์เกริกไกรในแผ่นดินที่เห็นอยู่ ณ เบื้องหน้านี้ ไม่เคยเจอมาก่อนเลยจริงๆ นึกว่ามาถึงวัดของท่านแล้ว จะมีพระเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ คอยต้อนรับ หรือมีแบบฟอร์มให้กรอก เหมือนไปสมัครเรียนตามสถาบันต่างๆ ครั้นเจอเข้ากับการสัมภาษณ์จากเจ้าสำนักใหญ่เสียเอง แขกแปลกหน้าผู้นั้นถึงกับอึ้ง  พูดไม่ออกไปหลายนาที และแล้วเหมือนโชคช่วย เมื่อท่านกล่าวต่อไปว่า "เรียนจบนักธรรมเอกมาหรือยัง ?" เป็นคำถามที่ง่าย ไม่อัตนัยอะไรเลย แขกผู้นั้นจึงรีบตอบออกไปว่า "จบแล้วขอรับ" ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า "เออ ก็เอานักธรรมที่เรียนมานั่นแหละมาปฏิบัติ ที่นี่ต้องการการศึกษาแค่นั้น..." จากนั้นท่านก็เชื้อเชิญแขกแปลกหน้าให้ขึ้นนั่งบนม้าหินอ่อนซึ่งอยู่ซ้ายมือของท่าน ห่างออกมาซักสองวาเห็นจะได้ ซึ่งแขกแปลกหน้าผู้นั้นรู้สึกอึดอัดขัดข้องที่จะขึ้นนั่ง คือยินดีจะขอนั่งกับพื้นทรายเพื่อกราบเรียนกับท่าน แต่ก็ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ เมื่อท่านบอกให้ลุกก็ต้องลุก การลุกขึ้นจากพื้นทรายและขึ้นนั่งบนม้าหินอ่อนต่อหน้าท่านแบบสองต่อสองตอนนั้น ทำให้แขกแปลกหน้าคนนั้นมีสภาพเหมือนหุ่นยนต์หรือตุ๊กตาที่หาจิตวิญญาณมิได้เอาเสียเลย แปลง่ายๆ ก็คือ เกร็งสุดขีด !

      นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแขกแปลกหน้าของสวนโมกขพลารามผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งกำลังพิมพ์บทความ "100 ปี พุทธทาสภิกขุ" อยู่ในเวลานี้  เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน ผู้มีชื่อในตอนนั้นว่า สามเณรนรินทร์ แก่นราช ต่อหน้าพระมหาเถระนามอุโฆษ "พุทธทาสภิกขุ" ในตอนเช้าตรู่ของวันใดวันหนึ่งหลังออกพรรษา ประมาณเดือนตุลาคม ปลายปีพุทธศักราช 2531

 

หนีจากกรุงเทพฯ ในปี 2475 กลับพุมเรียง ไปอยู่กับธรรมชาติ

 

    สมัยนั้น ผู้เขียนเป็นเณรที่ยังสับสนในหนทางเดินของชีวิต กำลังค้นคว้าตำรับตำราและแสวงหาความรู้ ครูบาอาจารย์ในระหว่าง 25 พุทธศตวรรษ ประมาณปีที่กล่าวมานั้น เด่นๆ ในเมืองไทยก็เห็นจะมี พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเป็นที่หนึ่ง อีกแห่งหนึ่งก็เห็นจะเป็น หลวงพ่อชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงพ่อปัญญานันทะ วัดชลประทานรังสฤษฏิ์ นนทบุรี ก็ดังทางโครงการอบรมพระธรรมทายาท หรือถ้าใครอยากศึกษาวิชาการสมัยใหม่ พระ-เณรไทยสมัยนั้นก็จะมุ่งหน้าไปอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่สำนักจิตตภาวัน ของท่านกิตติวุฑฺโฒ เพื่อเรียนเอาการเทศน์ และวิชาการสมัยใหม่ เช่น อีเล็กโทรนิค ซ่อมรถซ่อมเรือ ตู้เย็น ทีวี สเตริโอ หรือแม้แต่การฉายและพากษ์หนังกลางแปลง เป็นต้น นอกนั้นก็มุ่งหน้าเข้ากรุงเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยหรือไม่ก็ต่อขั้นบาลี บ้านนอกคอกนาสมัยนั้นสูงสุดก็เรียนกันที่ประโยค 3 หรือ 4 ส่วนประโยค 5 นั้นถือว่าสูงแล้ว เขาไม่อยู่กันหรอกบ้านนอกน่ะ (ยกเว้นแต่เป็นอาจารย์หรือรอสึก) สำหรับผู้เขียนแล้ว ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงตัดสินใจไปสวนโมกข์ !

     "หลังเลยพ่อ ๆๆ" เป็นคำตะโกนเตือนของกระเป๋ารถเมล์สายอะไรจำไม่ได้แล้ว วิ่งออกตัวเมือง สุราษฎร์ธานีผ่านอำเภอไชยา และจะผ่านหน้าสวนโมกขพลาราม นึกไปถึงเมื่อคืนวันวาน เวลาสามทุ่มกว่าๆ ผู้เขียนมีพี่สาวและพี่เขย อุ้มเอาหลานที่ยังไม่อย่านมมาส่งถึงสถานีขนส่งสายใต้ เพื่อส่งเณรน้องผู้บอกความประสงค์ว่า "จะไปใต้ ไปหาพุทธทาสภิกขุ ที่สุราษฎร์ธานี" เหตุผลอื่นนั้นมิได้บอก รถออกจากสถานีก็ประมาณเวลานั้นแหละ (มิได้จดเวลา) หลับบ้างตื่นบ้างไปตามทาง ส่วนใหญ่ก็คิดถึงอนาคตวันพรุ่งนี้ที่สวนโมกข์ว่า "ถ้าเราเจอท่านพุทธทาสแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เราจะได้บรรลุธรรมเหมือนพระเบญจวัคคีย์ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าไหมหนอ ?" และ "ฯลฯ"

     พอรถจอดทอดท่าที่สถานี ก็มีกลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้างเข้ามาจอดเทียบ ตะโกนโหวกเหวกแย่งผู้โดยสาร เมื่อผู้เขียนบอกว่า "ไปสวนโมกข์" หนึ่งในกลุ่มก็ถามว่า "แล้วท่านมาจากไหน ?" ก็ตอบไปว่า "มาจากกรุงเทพฯ" "อ้าว แล้วทำไมไม่ลงที่สวนโมกข์เล่า รถคันนี้วิ่งผ่านสวนโมกข์มาแล้ว" อ้อ เพิ่งรู้ว่า สวนโมกข์และอำเภอไชยาอยู่ระหว่างกรุงเทพฯก่อนจะถึงตัวเมืองสุราษฎร์ธานีนี่เอง โง่จังเลยเรา แต่ไม่เป็นไร ไหนๆ ก็ไหนๆ เลยไปก็กลับมาได้ ยังไงเสียเราก็ยังไม่ไปไกลถึงสุไหงโกลก จึงถามเขาว่าจะไปสวนโมกข์ยังไง ก็ได้รับการแนะนำให้นั่งรถเมล์สายอะไรก็ไม่ทราบอีก ได้ยินก็แต่เสียง "หลังเลยพ่อๆๆ" ตะโกนใส่หูหลายคำ จึงรู้ว่าคำว่า "พ่อ" นั้น เป็นคำที่ชาวสุราษฎร์ธานีใช้เรียกพระภิกษุหรือสามเณร ที่ถูกเรียกซ้ำๆ ก็เพราะนั่งผิดเบาะ เบาะที่หนังสำหรับพระภิกษุ-สามเณรนั้นเขาจัดไว้เหมือนรถเมล์กรุงเทพฯ สมัยเก่า คือแถวหลังทั้งหมดเป็นของพระเณร และนั่งฟรีด้วย นับว่าระบบที่สุราษฎร์ธานีใช้ได้ดีพอๆ กับ ขสมก.กรุงเทพฯ เลยทีเดียว ถึงสวนโมกข์แล้ว สังเกตเห็นแผงขายไข่เค็มไชยาอยู่เต็มสองข้างทางจึงเดินผ่าน และผ่านพระภิกษุหลายรูปอุ้มบาตรเดินสวนออกมา จึงเลี่ยงเข้าไปถามว่า "หลวงพ่อพุทธทาสอยู่หรือเปล่า" และเมื่อเขาชี้มือไปทางกุฏิของท่าน จึงไปตามทางจนพบและได้สนทนากับท่านดังกล่าว

 

ม้าหินอ่อนที่หลวงพ่อพุทธทาสชอบนั่งรอรับแขกอยู่หน้ากุฏิ

 

     บทสนทนาบนม้าหินอ่อนยังคงดำเนินต่อไป ท่านถามว่า "ฉันเช้ามาหรือยัง ?" ผู้เขียนยกมือขึ้นประณมตอบว่า "ยังขอรับ" สักครู่ พระภิกษุหุ่นผอมบางก็เดินทางมาพบ ท่านเรียกชื่อว่า "ท่านโพธิ์" และบัญชาการให้ท่านโพธิ์จัดแจงที่อยู่อาศัยให้แขก พร้อมทั้งให้นำไปหาอาหารประทังชีวิตที่โรงครัว ซึ่งพระเณรสวนโมกข์จะฉันจังหันวันละมื้อเท่านั้น ผู้เขียนเป็นสามเณรจึงได้ที่นั่งท้ายอาสนะ เมนูในเช้านั้นก็จำได้ชัดๆ ว่ามีไข่เค็มไชยามาเป็นปฐม ตามด้วยแกงปลีมะพร้าวใส่กะทิหม้อใหญ่ เขาใส่รถเข็นผ่านมาตามลำดับอาสนะ ที่น่าสนใจก็คือมีผักบุ้งสดๆ เป็นกำๆ นับทั้งข้าวและอาหารชนิดอื่นๆ อีก คละกันไป

    วิธีการก็คือ พิจารณาดูข้าวและกับแกงภายในบาตรของเรา ถ้ามีมากเกินไป ก็ให้นำออกไว้เป็นกองกลาง ถ้าน้อยก็ตักจากกองกลางเพิ่มเข้าไปให้พออิ่ม โดยให้ดูท้องของเราเป็นประมาณ อย่าโลภจนเหลือกิน และอย่ามักน้อยจนท้องร้องในตอนบ่ายๆ แม้จะมีน้ำปานะ เช่น น้ำเหง้าบัว เลี้ยงตอนทำวัตรเย็นเสร็จก็ตาม ก็อาจช่วยได้ไม่มากนัก สำหรับผู้เขียนแล้วมาใหม่ยังไม่ได้เดินบิณฑบาตเลย จึงต้องตักทั้งข้าวและแกง ใส่บาตรคนคละเคล้าให้เข้ากัน กินไปพิจารณาไป มันเกร็งๆ ยังไงชอบกล อิ่มแล้วก็เอาบาตรล้าง เช็ดให้แห้ง เก็บติดตัวใครตัวมัน ท่านโพธิ์นำผู้เขียนให้ไปพักที่เรือ คือกุฏิที่สวนโมกข์นั้นท่านทำเป็นรูปเรือลำใหญ่เหมือนในวัดยานนาวา พระหรือแขกที่มาท่านก็จะให้ไปปักกลดพักที่นั่น และที่หัวเรือนั้น หลวงพ่อพุทธทาสท่านบอกว่า "มีห้องสมุดอยู่ อยากรู้อะไรก็ไปค้นคว้าได้ สงสัยหรือติดปัญหาข้อไหนก็ให้มาถาม" นั่นเป็นคำสนทนาบทสุดท้ายที่ท่านมีกับแขกแปลกหน้ามาจากเชียงใหม่ในเช้านั้น แสดงว่าท่านเมตตารับผู้เขียนเป็นศิษย์สวนโมกข์แล้ว !

 

ภาพปฏิจจสมุปบาท ในโรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกข์

 

โรงหนังหรือโรงมหรสพทางวิญญาณในสวนโมกข์ มีรูปภาพมากมายให้ศึกษา

 

     ได้ที่พักบนเรือแล้ว ก็กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์โพธิ์ที่มาส่ง ลับหลังท่านไปก็จัดแจงกางกลดกะเอาประมาณให้ยุงเข้าไม่ได้ แล้วจึงออกสำรวจลำเรือ ก่อนจะลามออกนอกเขตเรือไปถึงภายในบริเวณสวนโมกข์ ขาดไม่ได้แน่ก็คือโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งมีภาพปฏิจจสมุปบาทจากทิเบตอันโดดเด่นเป็นปริศนาอยู่ ผ่านสระมีบัวใบโตเท่ากระด้งบานอยู่เต็ม เป็นบัวใบแปลกไม่เคยเห็นมาก่อน

 

บัวใบบานที่สวนโมกข์

 

     รูปปั้นพระอวโลกิเตศวร ซึ่งตั้งอยู่บนแท่นสูงเหนือศีรษะเหมือนอนุสาวรีย์ ทราบว่าเป็นเพียงรูปจำลอง ของจริงนั้นเป็นเนื้อสำริด ค้นพบที่วัดพระบรมธาตุไชยา แต่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน กรุงเทพฯ ก็ยังอยู่ที่นั่นถึงปัจจุบัน

 

รูปปั้นจำลองพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ที่สวนโมกข์

 

     สระมะพร้าวโทน หรือเจ้านาฬิเก คำว่า นาฬิเก หรือนาฬิกา แปลว่า มะพร้าว ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเครื่องวัดเวลาของไทยสมัยโบราณ โดยท่านว่าก่อนจะมีนาฬิกาสมัยใหม่ใช้ เขาก็ใช้กะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้น กะให้น้ำไหลเข้ากะลาจนเต็มเป็นยามหนึ่ง พอจมแล้วก็เปลี่ยนใหม่ไปเรื่อยๆ จนหมดวัน ครั้นมีเครื่องวัดเวลาสมัยใหม่เข้ามา จึงใช้คำว่า "นาฬิกา" หรือ "กะลามะพร้าว" มาเป็นชื่อเครื่องวัดเวลา หรือนาฬิกา ในปัจจุบัน แหมเท่ห์ซะไม่มี

 

สระนาฬิเก มีต้นมะพร้าวโทนอยู่กลางเกาะ

 

     นอกนั้นผู้เขียนก็ก้าวเท้าออกรอบนอกจนลึกเข้าป่าเข้าเขา พบกุฏิหลายหลังตั้งอยู่ห่างๆ กัน จึงเข้ายกมือไหว้ถามไถ่เจ้าของกุฏิ ทราบว่าบางท่านมาปฏิบัติอยู่ที่นี่ 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง ทุกรูปดูยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เบื่อที่จะสนทนาและให้คำแนะนำกับเรา นับว่าเป็นกัลยาณมิตรโดยแท้

     ผู้เขียนไปยืนสะดุดอยู่ตรงหน้าศาลาหลังหนึ่ง มีศิลาแผ่นใหญ่ๆ หลายแผ่น กองเรียงรายระเกะระกะไป เป็นรูปสลักพระพุทธประวัติบ้าง ดอกไม้บ้าง ด้านหน้าของศาลานั้นท่านเขียนชื่อไว้ว่า "โรงปั้น" "สงสัยจะปั้นหุ่น" และด้วยความสงสัยนั้นจึงถือวิสาสะเข้าไปดู ก็พบกับพระภิกษุวัยชราอีกรูปหนึ่ง ทราบชื่อว่า "หลวงตาไสว" ท่านมีพระลูกมือช่วยกันปั้นหุ่นปั้นตุ๊กตาอยู่อีก 2-3 รูป ซึ่งต่อมาผู้เขียนได้อาศัยโรงปั้นแห่งนี้เป็นที่ทำงานยามว่าง และที่สำคัญก็คือ ได้อาหารมื้อเพลเป็นของแถมอีกห่อใหญ่ๆ ด้วย ใครจะรู้ว่าอยู่สวนโมกข์สมัยนั้นผู้เขียนน้ำหนักไม่ได้ลดลงกว่าอยู่ข้างนอกแต่อย่างใด

     วันเสาร์หรืออาทิตย์ ที่โรงปั้น จะมีกลุ่มเด็กนักเรียนเป็นจำนวนสิบๆ คน นำหน้าด้วยคุณครู เข้ามาหาหลวงตาเพื่อขอโอวาท ซึ่งหลวงตาจะสั่งสอนว่าด้วยความกตัญญูรู้คุณบิดรมารดา ตามด้วยความรู้จักประหยัดมัธยัสอดออม รอบแรกก็จะแจกลูกโป่งให้ก่อนคนละลูก โดยท่านซื้อลูกโป่งมาเตรียมแจกเป็นร้อยๆ มีเครื่องเป่าลูกโป่ง เราก็จะช่วยท่านอัดลูกโป่งแจกเด็ก จากนั้นท่านก็จะแจก "ไอ้ตัวออมเงิน" คือตุ๊กตานานาชนิด มีทั้งรูปกระต่าย สุนัข แมว เป็นต้น โดยในวันปกติ พระในโรงปั้นก็จะช่วยกันปั้นตุ๊กตา มีหุ่นสำเร็จรูปอยู่ ใช้ปูนพลาสเตอร์ผสมน้ำ กรอกลงไป แล้วต้องรีบพลิกวนไปรอบๆ เพื่อให้ปูนเกาะติดริมผนัง ไม่งั้นจะแห้งขอดก้นหุ่นหมด แรกๆ ก็แทบท้อ เพราะว่าไม่ได้ขนาด หนา-บาง เท่ากัน แต่หลังๆ ก็พอใจชื้นเมื่อท่านตรวจดูแล้วบอกว่า "พอใช้ได้ ให้หัดทำไปเรื่อยๆ" ก็เป็นอันว่าผู้เขียนได้เป็นสมาชิกโรงปั้นด้วยผู้หนึ่ง ตุ๊กตาเหล่านี้แหละที่ถูกเจาะหัวจนกลายเป็นออมสิน หลวงตาไสวท่านสอนเรื่องประหยัดอดออมแล้วก็จะต่อบทว่า "ถ้าแม่ให้เงิน 5 บาท ก็ใส่ไว้ในนี้ 2 บาท ถ้าแม่ให้ 4 บาท ก็ใส่ไว้บาทหนึ่ง หรือมากกว่าก็ยิ่งดี เราจะได้มีเงินเก็บ โตขึ้นจะได้มีกินมีใช้ไม่ต้องพึ่งพาใคร" แล้วท่านก็แจกตุ๊กตาออมสินให้เด็กๆ ไปฟรีๆ นับเป็นกุศโลบายยอดเยี่ยมของสวนโมกข์เลยทีเดียว

 

ลานหินโค้ง โรงทำวัตร และฟังเทศน์ ของสวนโมกขพลาราม

 

     ค่ำนั้นที่ลานหินโค้ง เป็นชื่อเรียกลานทราย มีหินซึ่งเป็นอาสนะของพระเรียงรายเป็นรูปโค้งเหมือนวงพระจันทร์ ตรงกลางมีพระพุทธรูปตั้งอยู่องค์หนึ่ง ซึ่งพระเณรในสวนโมกข์จะมาชุมนุมกันที่นี่เพื่อทำวัตรเช้า-เย็น และฟังเทศน์จากหลวงพ่อในวันอาทิตย์เป็นประจำ ตอนเช้านั้นก็ตีห้าเป็นเวลาทำวัตร เย็นก็เริ่มที่ 6 โมงตามปกติของวัดทั่วไป ใครจะมาหรือไม่ ? ไม่มีใครไปตาม แต่รู้สึกว่าถ้าไม่อาพาธหรือป่วยก็จะไม่มีใครยอมขาด เพราะที่นี่ทุกรูปทุกองค์เขามาและอยู่ด้วยใจรัก จึงยินดีปฏิบัติตามที่รุ่นพี่เขาทำอย่างเต็มใจ

     แต่ก่อนจะถึงตีห้านั้น ตีสี่ครึ่งก็จะมีเสียงปลุกเป็นเสียงเทศน์ของหลวงพ่อพุทธทาสเปิดดังกังวาลไปทั่วทั้งลานหินโค้ง เสียงนั้นดังเข้าไปในเรือ ปลุกผู้เขียนให้ลุกขึ้นล้างหน้าล้างตา อ่างน้ำที่ใช้นั้นเป็นท่อดีๆ นี่เอง แต่ตันด้านหนึ่ง หงายอยู่ในที่โล่ง และมีก๊อกน้ำต่อมาลงตรงนั้น ก็ได้บ่อน้ำธรรมชาติแล้ว เพราะที่นี่ท่านเน้นธรรมชาติ

    ผู้เขียนรู้จักหลวงพ่อพุทธทาสทางไหนหรือ ? เพราะท่านอยู่ไกลถึงภาคใต้ ส่วนผู้เขียนนั้นอยู่ถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เกือบๆ จะเหนือสุดยอดในสยาม อันนี้คงไม่ต้องบรรยาย เพราะชื่อเสียงของหลวงพ่อพุทธทาสนั้นขจรขจายไปเหมือนกลิ่นของศีลอันทวนได้แม้กระทั่งลม กลิ่นแห่งคุณงามความดีของท่านก้องไกลไปทั่วประเทศ และอาจจะหลายๆ ประเทศ ถ้าบวชเป็นพระเณรแล้วไม่รู้จักพุทธทาสก็คงสงสัยจะหมกตัวอยู่แต่ในถ้ำกระมัง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเคยอ่านงานเขียนของหลวงพ่อพุทธทาสหลายเล่ม ทั้งตอบบาทหลวง คำอบรมผู้พิพากษา เรื่องตถตา อิทัปปัจจยตา ที่สะดุดใจมากที่สุดก็คือ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ซึ่งมีคำจำกัดความอย่างง่ายๆ ว่า "พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า คัมภีร์บังพระธรรม ลูกชาวบ้านบังพระสงฆ์" นับเป็นการกะเทาะเปลือกสมองของผู้เขียนออกเป็นครั้งแรก เหมือนการหัดเดินหมากฮอสที่ต้องดูสามขั้น ก่อนหน้านั้นก็แลกกันแบบ 1 ต่อ 1 กินกันจนหมดกระดานก็ยังหาผู้ชนะไม่เจอ

    อยู่สวนโมกข์ได้ 6 วัน พบพระที่มาจากต่างถิ่นท่านจะกลับ หลายรูปที่พบก็ทักทายผู้เขียนว่าเป็นสามเณร เรียนจบประโยค 4 แล้ว "น่าจะเรียนต่อ" ว่างั้น วันนั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังเกิดวิจิกิจฉาอย่างรุนแรง สามเณรรูปหนึ่งรูปเดียวในสวนโมกข์มาคุยด้วย ทราบว่าผู้เขียนเรียนถึงประโยค 4 แล้ว ส่วนท่านนั้นกำลังจะเริ่มเรียนไวยากรณ์ "ตอนนี้มาอบรมใจให้หนักแน่นก่อน" ท่านกล่าว ไม่ทราบว่าเวลานี้ท่านสอบได้กี่ประโยคแล้ว ผู้เขียนจึงต้องนอนคิดทั้งคืนกับอนาคตของตัวเองว่า "อยากเป็นพระอรหันต์ในตอนนี้" หรือว่า "ยังคิดจะมีอนาคตทางการศึกษาเพิ่มเติมอีก"

    จึงในตอนเช้าวันที่ 7 นั้น ครั้นทำวัตรสวดมนต์และฉันเช้าเสร็จแล้ว ได้ตัดสินใจกลับเชียงใหม่ โดยติดตามคณะพระอาคันตุกะออกมา ขณะกำลังจะเข้าไปกราบลาหลวงพ่อพุทธทาสนั้น พบท่านกำลังนอนพักอยู่บนม้าซึ่งเอนได้ หันศีรษะมาทางด้านนอก คือหันหน้าเข้าทางด้านใน มองยังไงก็คงไม่เห็นเรา จะเรียกท่านก็กลัวเป็นการรบกวน จึงยกมือขึ้นพนมก้มกราบหลวงพ่อท่าน ณ ที่นั้นสิ้น 3 ครั้ง กราบลา กราบขอขมาอภัยที่ลากลับโดยไม่ได้ยินเสียง

     และเพราะไม่ได้ยินเสียงนั้น ท่านคงจะจำไม่ได้หรอกว่า เคยมีเณรหัวขี้กลากจากเชียงใหม่องค์หนึ่งไปขอพึ่งพบารมีท่าน แต่เณรองค์นั้นเป็นเณรดื้อ ไม่ยอมอยู่ ถึงจะกลับก็ลาแบบเสียไม่ได้ แม้ผู้เขียนจะคุยกับศิษย์พุทธทาสหลายท่าน และอวดอ้างว่า "ผมก็เคยไปอยู่สวนโมกข์" แต่ก็รู้อยู่ลึกๆ ในใจว่า "ท่านมิได้รับเราเป็นศิษย์หรอก นอกคอกออกอย่างนั้น..."

    วันนี้ 100 ปีของหลวงพ่อเวียนมาบรรจบแล้ว ศิษย์นอกสารบบคนนี้ จึงขอถวายความเคารพแด่หลวงพ่อ ผู้เคยเมตตาให้ที่พักอาศัยให้รอดตายถึง 7 วันเต็มๆ และอาจจะด้วยอานิสงส์ของการไปนั่งทำวัตรสวดมนต์ที่ลานหินโค้งกระมัง จึงทำให้สามารถสอบเปรียญ 9 กับเขาได้ในอีก 6 ปีต่อมา และเล็ดลอดมาศึกษาหาความรู้ถึงอเมริกา ถ้าจะถามว่า "เพราะแรงดลใจอะไรหรือ" ผู้เขียนก็ขอตอบว่า "เพราะว่าหลวงพ่อพุทธทาสท่านเป็นคนเอาจริงไง ถ้าใครอยากเป็นศิษย์พุทธทาสก็ต้องจริงเท่านั้น"  ก็มิรู้ว่าอุตริสอนแทนท่านอีกหรือเปล่า ?

     ที่นำเรื่องนี้มาเขียน เพราะไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรถึงท่านดี เรื่องดีๆ เกี่ยวกับหลวงพ่อพุทธทาสนั้นมีคนเขียนแล้วเป็นร้อยเป็นพัน ขืนไปเขียนซ้ำเข้าก็คงไม่มีใครเขาอ่าน จึงขอถือวิสาสะเขียนประสบการณ์ส่วนตัวขึ้นไว้ด้วยใจ แม้จะรู้ว่า การแอบอ้างชื่อหลวงพ่อพุทธทาสมาเป็นครูบาอาจารย์ของตนของคนระดับผู้เขียน ซึ่งเปรียบเหมือนหิ่งห้อย เมื่อเทียบกับหลวงพ่อท่านผู้เปรียบปานพระอาทิตย์นั้น มิบังควรอย่างยิ่งก็ตาม ปัญญาชนได้อ่านจะตำหนิเอาได้ แม้จะไม่ถึงกับฟ้องโรงฟ้องศาลก็นับว่าไม่งามสำหรับผู้เขียนอยู่ดี ก็ต้องขอกราบขอขมาอภัยถ้าพลั้งผิดไป ขอทุกท่านได้โปรดทราบว่า มิได้เจตนาจะอาจเอื้อมเป็นศิษย์พุทธทาส หากจะขอเป็นเพียง "ศิษย์เพราะตำรา" อ้างอย่างนี้คงไม่มีใครว่าให้ผู้เขียนกระมัง

 

ด้วยความเคารพอย่างสูงถึงหลวงพ่อ..

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
9 พฤศจิกายน 2548
เวลาแปซิฟิกโซน 10:00 p.m.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264