วัดบวรนิเวศวิหารในยุคถดถอยจนเสียศูนย์

 

วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู นั้น สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งวังหน้าในรัชกาลที่ 3 จึงตั้งชื่อวัดตามพระนามของกรมพระราชวังบวรว่า วัดบวรนิเวศวิหาร การสร้างนั้นผนวกเอาที่วัดเก่าคือวัดรังษีสุทธาวาส หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดรังษี เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกียรติแก่วัดรังษีจึงตั้งชื่อคณะหนึ่งในวัดบวรนิเวศว่า คณะรังษี มาจนปัจจุบัน วัดเก่าหรือวัดรังษีนี้มีของดีที่นักเลงพระรุ่นเก่าเขารู้จักกัน คือ พระวัดรังษี เป็นพระเครื่องขนาดเล็กเท่าปลายก้อย ขนาดพอๆ กับพระรอดพิมพ์ใหญ่ แต่ไม่มีลวดลาย คล้ายกับพระขรัวอีโต้ แต่พุทธคุณร้อนแรงนัก นักเลงพระกล่าวขานกันมาแต่โบราณว่า "มีพระวัดรังษี ชีวีไม่วอดวาย" นั่นคือจุดเริ่มต้นของวัดบวรนิเวศวิหาร ส่วน พ.ศ. ที่สร้างนั้นท่านมิได้ระบุไว้

 

 

จากวัดวังหน้ากลายเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย

วัดบวรนิเวศวิหาร คงจะไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ถ้าไม่มีบุคคลสำคัญระดับชาติคนหนึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ นั่นคือ พระภิกษุวชิรญาณ หรือต่อมาทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อันดับที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี เฉลิมพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่เดิมนั้น เจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงผนวชเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ฉศก พ.ศ.2367 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้ฉายาว่า "วชิรญาโณ" เป็นการบวชตามพระราชประเพณี เนื่องเพราะพระองค์ทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (บุญรอด) พระอัครมเหสี จะต้องได้ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อไปตามกฎมณเฑียรบาล แต่การณ์กลับตาลปัตร เมื่อทรงผนวชได้เพียง 13 วัน พระราชบิดา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงประชวรหนักสิ้นพระชนม์กะทันหัน ขณะนั้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าชายทับ) ซึ่งเป็นพระเชษฐาประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม (ไม่ใช่พระอัครมเหสี) ทรงมีพระชนมายุมากกว่าพระภิกษุวชิรญาณถึง 17 พรรษา ทั้งในปลายรัชกาลที่ 2 นั้น ทรงกุมอำนาจทางการทหารไว้ในมือ ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฏยังเพิ่งอายุ 20 ปี ต้องผ่านการบวชจึงจะถือว่าบรรลุนิติภาวะ ด้วยเหตุนั้น จึงทำให้ทรงยินยอมผนวชต่อไปอีก โดยทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ต่อมาทรงย้ายไปจำพรรษาที่วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส และทรงทำการอุปสมบทใหม่กับคณะพระมอญวัดลิงขบหรือวัดบวรมงคล อันเป็นต้นกำเนิดของคณะธรรมยุต

พระภิกษุวชิรญาณ ด้วยความที่ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์สูงส่ง จึงทรงถูกเพ่งเล็งจากหลายผู้ ว่าจะทรงเป็นอริกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ยิ่งทรงตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมาที่วัดราชาธิวาสนั้น เสียงลือเสียงเล่าอ้างยิ่งกระพือไกล ตัวอย่างในสมัยอยุธยา พระพิมลธรรม เชื้อพระวงศ์ ก็เคยทำการปฏิวัติล้มล้างพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าทรงธรรมสำเร็จมาแล้ว สมัยนั้น วัดราชาธิวาส ถือว่าอยู่นอกเขตพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นจะทรงระอากับเสียงกระซิบ จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดอาราธนาพระภิกษุวชิรญาณ ให้เสด็จเข้ามาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในตำแหน่งเจ้าอาวาส อันเป็นจุดกำเนิดเป็นดาวอย่างเต็มตัวของวัดบวรนิเวศ วันที่ย้ายไปครองวัดบวรก็คือ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2379

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2394 รุ่งขึ้น วันที่ 3 เมษายน พระภิกษุวชิรญาณได้รับอาราธนาจากเสนาบดีทั้งปวงให้เสด็จลาผนวชเพื่อขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 จึงทรงลาผนวชในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2394 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถานที่เดิมที่ทรงผนวชเมื่อ 27 ปีก่อน

แต่แม้ว่าพระภิกษุวชิรญาณจะทรงลาผนวชแล้ว วัดบวรนิเวศก็หาสิ้นอิทธิพลแต่อย่างใดไม่ ยิ่งจะเฉิดฉายกว่าวัดใดๆ ในปัถพีด้วยซ้ำ เพราะได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูเป็นอย่างดียิ่งจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งนี้ ยิ่งพระองค์ทรงมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน สามารถจะให้คุณแก่ใครได้สูงสุด นึกดูทีสิว่าวัดไหนจะได้รับกฐินพระราชทานก่อนเพื่อน ?

ไม่นานต่อมาปรากฏว่า เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระภิกษุวชิรญาณนั้น ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงได้รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสืบจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ปีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งคือ พ.ศ.2396 และทรงดำรงตำแหน่งยาวนานมากมาจนถึง พศ.2436 รวมถึง 40 ปี เป็น 40 ปี ที่วัดบวรนิเวศวิหารผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางหรือทำเนียบรัฐบาลของคณะสงฆ์ไทย เพราะสมเด็จพระสังฆราชทรงสถิตอยู่ที่นี่

แต่เดิมมานั้น เมื่อเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ศรี) ทรงประทับอยู่ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรี เป็นเวลา 12 ปี นับจาก พ.ศ.2325 ถึง พ.ศ.2337 เมื่อสิ้นสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) แล้ว ก็เริ่มประเพณีแห่พระสังฆราชมาประทับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งอยู่ชิดกับพระบรมมหาราชวังทางทิศเหนือ หรือถ้าจะดูอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า วัดมหาธาตุอยู่ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า (ปัจจุบันวังหน้าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) โดยวัดนี้ได้รับการบูรณะอย่างใหญ่โตโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ายังเคยทรงผนวชและประทับที่วัดนี้ใน พ.ศ.2338 อีกด้วย

สมเด็จพระสังฆราชที่ประทับอยู่วัดมหาธาตุนั้น มีทั้งสิ้น 5 พระองค์ คือ

1. สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์นี้ทรงประทับอยู่วัดมหาธาตุมาแต่เดิม ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ พ.ศ.2337-2359

2. สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบุรณะ หรือวัดเลียบ ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และทรงโปรดอาราธนามาประทับ ณ ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2359-2362

3. สมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่เดิมพระองค์ทรงอยู่วัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุสิ้นพระชนม์แล้ว ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และทรงโปรดให้อาราธนามาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2362-2365

4. สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) แต่เดิมพระองค์ประทับอยู่วัดสระเกศ เมื่อได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก็ได้รับอาราธนามาประทับ ณ วัดมหาธาตุ ตามประเพณีที่มีมา เวลาดำรงตำแหน่งของพระองค์ คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2365-2385

5. สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ หรือวัดเลียบ ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชใน พ.ศ.2386 ก็เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ ตามสังฆประเพณี

แต่ในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (นาค) นี้ วัดมหาธาตุฯ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แล้ว เกิดชำรุดทรุดโทรมหนัก จำต้องบูรณะครั้งใหญ่ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงต้องย้ายกลับไปประทับ ณ วัดราชบุรณะเป็นการชั่วคราว แต่การบูรณะครั้งนั้นทำกันใหญ่มาก จนสิ้นรัชกาลที่ 3 ก็ยังหาสำเร็จไม่ และเมื่อสมเด็จพระสังฆราช (นาค) สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2394 นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์ ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อันดับที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงประทับ ณ วัดพระเชตุพน มิได้เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ ตามสังฆประเพณีอีก จนสิ้นพระชนม์ ซึ่งในช่วงที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนี่เอง คณะธรรมยุตได้ถือกำเนิดขึ้น

เมื่อสิ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสแล้ว พระภิกษุพระองค์เจ้าฤกษ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในพระนาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของคณะธรรมยุต ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ นั้น ทรงเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดในพระภิกษุวชิรญาณ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงย้ายจากวัดราชาธิวาสมาอยู่วัดบวรนิเวศพร้อมกับพระภิกษุวชิรญาณในคราวนั้นด้วย

ก็เป็นอันว่า นับจากนี้ไป วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ถูกละเลยประเพณีที่เคยปฏิบัติ สมเด็จพระสังฆราชไม่จำเป็นต้องประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ อีกต่อไป ด้วยเหตุผลสืบเนื่องกันคือ หนึ่งนั้น เพราะต้องบูรณะวัดมหาธาตุ สองนั้น เพราะวัดมหาธาตุเป็นวัดสังกัดมหานิกาย ถ้าสมเด็จพระสังฆราชนิกายธรรมยุตจะเสด็จไปอยู่ พระสงฆ์วัดมหาธาตุก็คงไม่ยอม หรือไม่ก็สมเด็จพระสังฆราชนั่นเองที่ไม่อยากเสด็จไป ก็เป็นอันสิ้นสุดสถานะของวัดมหาธาตุอันเป็นวัดหลักของประเทศไทย หรือเป็นศูนย์กลางอำนาจของคณะสงฆ์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่เพียงเท่านี้

เมื่อสิ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว ป.ธ.9) วัดราชประดิษฐ์ ได้รับการสถาปนาขึ้นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระองค์นี้ เป็นศิษย์ในพระภิกษุวชิรญาณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) อีกองค์หนึ่ง ย้ายมาจากวัดราชาธิวาสคราวเดียวกับพระภิกษุวชิรญาณและสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ด้วย แน่นอนว่าพระองค์ทรงเป็นธรรมยุต และเป็นสังฆราชธรรมยุต องค์ที่ 2 แต่เดิมพระองค์ก็จำพรรษาอยู่กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ที่วัดบวรนิเวศด้วย แต่ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ขึ้นมา ใน พ.ศ.2407 เพื่อเป็นอารามหลวงประจำรัชกาลของพระองค์ จึงทรงโปรดอาราธนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว ป.ธ.9) จากวัดบวรนิเวศมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นองค์แรก สมเด็จพระสังฆราช (สา) สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2442 ในรัชกาลที่ 5

ต่อจากนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษย์นาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอีก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชคณะธรรมยุต องค์ที่ 3 ได้รับตำแหน่งติดต่อกัน ถึงจะย้ายวัดไปมั่งก็ไม่เป็นไร ยังถือว่าเป็นไทย เอ๊ย เป็นธรรมยุตเหมือนกัน สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ทรงมีอิทธิพลมหาศาลต่อคณะสงฆ์ไทย ทั้งในด้านการบริหารการปกครองและการศึกษา โดยทรงปรึกษากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด และว่ากันว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกที่ออกมาใช้ใน ร.ศ.121 นั้น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ทรงมีส่วนร่วมร่างด้วย

22 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สวรรคต แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาถึงรัชกาลที่ 6 และในรัชกาลที่ 6 นี่เอง ที่สถานที่ประชุมรัฐบาลคณะสงฆ์ไทยร่วมกันระหว่างธรรมยุตและมหานิกายได้ถือกำเนิดขึ้น สถานที่แห่งนั้นเรียกว่า ตำหนักเพชร

 

 

 

 

กำเนิดตำหนักเพชร

ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6 ตรงกับสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช วัตถุประสงค์ก็คือ เป็นท้องพระโรงว่าราชการทางคณะสงฆ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม หรือรัฐบาลของคณะสงฆ์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นทำเนียบรัฐบาลของคณะสงฆ์ มีบันทึกว่า  ใน พ.ศ.2457 สถานที่แห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ประชุมคณะธรรมยุตวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างพระมหานิกายและธรรมยุตมาแล้ว

แต่แรกนั้น ตำหนักเพชรถูกใช้เป็นที่ประชุมของพระสงฆ์คณะธรรมยุตเท่านั้น ไม่ทราบว่าถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมร่วมระหว่างสองนิกายมาแต่สมัยไหน ที่พอได้กระแสก็คือ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2494 สถานที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ประชุมร่วมระหว่างสองนิกาย เพื่อหาข้อยุติในกรณีพิพาทเรื่องตำแหน่งสังฆนายก ซึ่งสมัยนั้นพระธรรมยุตกินรวบตั้งแต่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและสังฆนายก จนถูกพระสงฆ์มหานิกายประท้วงรุนแรงจึงยอมคายเก้าอี้ที่ละโมบไปนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ตรงกับรัชกาลที่ 9 ก่อนการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จากฉบับ พ.ศ.2484 มาเป็น พ.ศ.2505

สรุปก็คือว่า ตำหนักเพชร-วัดบวรนิเวศวิหาร คือศูนย์กลางแห่งอำนาจของคณะสงฆ์ไทย แทน ตำหนักสมเด็จ-วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ที่กินตำแหน่งนี้มาแต่เดิม และเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หรือสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งกระโน้นแล้ว (ถ้านับอย่างไม่เป็นทางการก็เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2464 ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตกอยู่แก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นธรรมยุตอีก และกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ก็ครองตำแหน่งยาวมาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองใน พ.ศ.2475 พระองค์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2480 เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 5 ปี ครานี้ สมเด็จพระวันรัต (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นพระมหานิกายองค์แรก ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นครั้งแรกในรอบ 84 ปี แต่พระองค์ก็ครองตำแหน่งได้ไม่นาน ถึง พ.ศ.2487 ก็สิ้นพระชนม์

เมื่อสิ้นสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศฯนั้น สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อันดับที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ.2488 พระองค์ดำรงตำแหน่งมาจนถึง พ.ศ.2500 ซึ่งปีนั้นเกิดเหตุการพลิกแผ่นดินสยามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมด้วยพลพรรคทหารมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ส่งผลให้ประชาธิปไตยต้องชงัก ประเทศไทยเข้าสู่ยุคพ่อขุนอีกครั้งหนึ่ง ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2501 สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็สิ้นพระชนม์ และอีก 3 ปีต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ฉีกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ของคณะราษฎรทิ้ง ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ขึ้นมาใช้แทน และใช้มาจนกระทั่งปัจจุบัน

หลังสมัยสมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกายได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชถึง 2 พระองค์ซ้อน คือ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตร ดำรงตำแหน่งอยู่เพียง 2 ปี ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคกะทันหัน  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทัย ป.ธ.9) วัดสระเกศ จึงได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทน แต่สมเด็จอยู่ก็อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา ใน พ.ศ.2508

คราวนี้ เป็นคิวของพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุต สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม อายุเพียง 68 ปี ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเสียก่อน ก็เป็นที่แน่นอนว่า พระองค์คงจะดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าสังฆราชพระองค์ใด แต่แล้ววันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514 ก็เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่บางพลี ส่งผลให้สมเด็จพระสังฆราช (จวน) สิ้นพระชนม์ทันที ขณะพระชนม์เพียง 74 ปี จึงถึงคิวของพระมหานิกายบ้าง

สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ ป.ธ.9) ชาวสุพรรณ ที่คนรู้จักกันดีว่า สมเด็จป๋า แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2515 แต่สมเด็จป๋าอยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคมะเร็ง ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2516 ช่วงนี้เปลี่ยนสังฆราชบ่อย

หลังจากสิ้นสมเด็จป๋าแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน ป.ธ.4) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 22 มิถุนายน 2517 สมเด็จวาสน์ครองตำแหน่งยาวนานมาก มาจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2531 จึงสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา สิริพระชนมายุ 91 ปี รวมเวลาดำรงตำแหน่ง 14 ปี จึงมาถึงคิวของวัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้ง

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร พระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน คราวทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2499 ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่  19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 ทรงดำรงตำแหน่งนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน ปัจจุบันที่น่าจะเรียกว่า เป็นการขึ้นสู่จุดสูงสุดของวัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งหนึ่ง หลังจากว่างเว้นมายาวนาน ถ้าไม่เกิดปัญหาธรรมกาย ถ้าไม่เกิดปัญหาห้องกระจก ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องพระลิขิต ถ้าหลวงตาบัวไม่ออกมาตำหนิพระวัดบวรว่าดูแลพระสังฆราชไม่ดี ถ้านายทองก้อนจะไม่พาคนมาประท้วงหน้าตำหนักเพ็ชร และ ถ้า ถ้า ถ้า ฯลฯ

รวมแล้ว ถึงปี 2547 สมเด็จพระญาณสังวร ทรงครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชทั้งสิ้น 15 ปี

วันที่ 13 มกราคม 2547 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ชั่วคราว) ลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับแต่งตั้งคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ กระทบอารมณ์ของพระกรรมฐานชื่อดัง คือ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านมีลูกศิษย์ผู้เกรียงไกรอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า นายทองก้อน วงศ์สมุทร นายทองก้อนรับคำสั่งหลวงตาให้นิมนต์ทั้งพระสงฆ์และนำชาวบ้านเป็นจำนวนมากออกมาประท้วงคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของรัฐบาล โดยการขนม็อบทั้งพระทั้งโยมไปยื่นประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล และที่พลาดไม่ได้ก็คือ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม ร้อนถึงรัฐบาลต้องส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อกรรมการมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่หลวงตาบัวด่าเช้าด่าเย็นนั้น

สมัยนั้น นายวิษณุ เครืองาม ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กำกับการดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมี พล.ต.ท.อุดม เจริญ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

 

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2547 มีการประชุมมหาเถรสมาคมนัดพิเศษ เป็นนัดที่โทรทัศน์ช่อง 11 ได้ทำการถ่ายทอดสดการประชุมมหาเถรสมาคมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย ไม่มีใครเฉลียวใจว่า การประชุมครั้งนั้นจะเป็นนัดสั่งลาตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศ เป็นครั้งสุดท้าย !

ด้วยเหตุผล "ไม่สะดวกแก่การประชุม เพราะมีคนประท้วงมหาเถรสมาคม" จึงมีการย้ายสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคมจากตำหนักเพชรไปเป็นหอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งรัฐบาลไทยได้สร้างขึ้นในคราวครบ 2500 ปี พุทธศาสนายุกาล เรื่องนี้จะเป็นไปโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเป็นการย้ายศูนย์กลางทางอำนาจของคณะสงฆ์ไทยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และอาจจะยิ่งใหญ่กว่าการย้ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยซ้ำไป และไม่น่าเชื่อว่า นี่แหละคือการลดอำนาจวัดบวรนิเวศวิหารจากวัดอันดับที่ 1 ของเมืองไทยไปเป็นอันดับบ๊วย ด้วยเหตุผล ดังนี้

 

วันที่ 13 มกราคม 2547 ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชออกมานั้น มีรายนามพระเถระผู้ดำรงองค์คณะจำนวน 6 รูป ได้แก่

1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ (มหานิกาย) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

2. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม (มหานิกาย) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

3. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ (มหานิกาย) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

4. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม (ธรรมยุต) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

5. สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

6. พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า พระเถระทั้ง 6 รูปเหล่านี้ 5 องค์แรกเป็นสมเด็จหมด แต่องค์สุดท้ายนั้นชื่อว่า พระพรหมมุนี (จุณฑ์ พฺรหฺมคุตฺโต) เป็นเพียงรองสมเด็จ แต่ถามว่าทำไมจึงได้รับแต่งตั้งกับเขาด้วย ?

ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชครั้งแรกนั้น เป็นการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจกันระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ มหานิกาย ธรรมยุต และวัดบวร ในฐานะตัวแทนของสมเด็จพระสังฆราช

สามรูปแรกเป็นมหานิกาย สองรูปหลังเป็นธรรมยุต ส่วนพระพรหมมุนีนั้นเป็นวัดบวรนิเวศ ครั้งนี้ถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จะทรงสูญเสียพระอำนาจในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็ยังมีตัวแทนจากวัดบวรเข้าไปร่วมบริหาร หรือเป็นหูเป็นตา ในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชไว้องค์หนึ่ง ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ลงนามแต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต แต่เดิมมานั้น ตำแหน่งนี้เป็นของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แต่บัดนี้ทรงถูกยกไว้ในฐานะผู้อาพาธ ทรงงานไม่ได้ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จึงตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง คือสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ก็เป็นอันว่า สมเด็จพระญาณสังวรถูกยึดไปถึง 2 เก้าอี้ซ้อน คือสมเด็จพระสังฆราชและเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต

และต่อมา เมื่อคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ชั่วคราว) ครบกำหนด 6 เดือน คือสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดใหม่ ให้มหาเถรสมาคมสามารถแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้อย่างไม่มีกำหนดเวลา มหาเถรสมาคมจึงออกมติ "แต่งตั้งตัวเองให้ดำรงตำแหน่งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย มตินี้ออกมาในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2547 ส่วนพระเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งครั้งนั้นมีชื่อดังนี้

1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ (มหานิกาย)

    เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

2. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม (มหานิกาย)

     เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

3. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ (มหานิกาย)

    เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

4. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน ป.ธ.7) วัดสุวรรณาราม (มหานิกาย)

    เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

5. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฎกษัตริยาราม (ธรรมยุต)

    เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

6. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.9) วัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต)

    เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

7. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต)

    เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

รายการนี้ แม้จะมีการเพิ่มคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จาก 6 รูป เป็น 7 รูป แต่แปลกว่า ชื่อของพระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศ นั้น หายจ้อยไปจากสาระบบ และถ้าเรานึกย้อนไปถึงสิ่งที่วัดบวรสูญเสียมาแล้วก็จะพบว่า 3 ประการ คือ

1. อำนาจของสมเด็จพระญาณสังวรในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

2. อำนาจของสมเด็จพระญาณสังวรในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต และ

3. อำนาจของวัดบวร ซึ่งผ่านตัวแทนคือพระพรหมมุนี ซึ่งมีชื่อในคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชครั้งแรกด้วย

และเมื่อมาผนวกเข้ากับเรื่องการย้ายสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคมจากตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ไปเป็นหอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล แล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า บัดนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวงอันดับที่ 1 ของเมืองไทย วัดหลักของคณะธรรมยุต ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของคณะสงฆ์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ถูกลดชั้นลงเป็นเพียงวัดธรรมดาวัดหนึ่ง ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานไปคนไทยอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า "นี่คือวัดอันดับที่หนึ่งของเมืองไทยมายาวนาน" นับเป็นความสูญเสียคำรบ 4 ของวัดบวรนิเวศวิหาร

การสูญเสียและความสูญเสียครั้งนี้ จะยิ่งใหญ่ปานไหนคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารเอง เรื่องตำแหน่งแห่งหนนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง มันติดปีกบินไปกับสายลมพร้อมๆ กับเสียงตะโกนประท้วงของนายทองก้อนแล้ว ถ้าเงียบกว่านี้ก็คงยังมีโอกาสเอาคืนง่ายหน่อย แต่เพราะรักสังฆราชไม่เป็นมันจึงไปกันใหญ่ ตำหนักเพชร อันเอกอุ กลายเป็นเพียงห้องเก็บวัตถุโบราณ ให้พระผลัดเวรกันเข้าไปทำความสะอาดเหมือนอนุสาวรีย์แห่งความยิ่งใหญ่ งานนี้จะโทษใคร หลวงตาบัว ? นายทองก้อน ? ศิษย์ห้องกระจก ? สำนักนายก ? หรือ ฯลฯ

รู้แต่ว่า หลวงตาบัวและนายทองก้อนคงจะไม่เป็นที่โปรดปรานของคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารเท่าใดนัก เพราะมีส่วนแห่งความสูญเสียจน "เสียศูนย์" ของวัดบวรนิเวศวิหาร ดังพรรณนามาฉะนี้ แล.

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
21 กันยายน 2548
เวลาแปซิฟิกโซน 1:35 a.m.

 

 
 

 

E-MAIL TO BK > PEESANG2560@GMAIL .COM

 

WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV  89121 USA (702) 384-2264