เปิดตำแหน่งสมเด็จใหม่ในประวัติศาสตร์
 


   ข่าวชิ้นเล็กๆ ที่ไม่เล็ก ที่ออกจากห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล อันเป็นการประชุมของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นรัฐบาลของคณะสงฆ์ไทย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศาราม ในฐานะโฆษกมหาถรสมาคม ท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่า

     ใน พ.ศ.2549 จะมีการตั้งพระราชาคณะ (พระเจ้าคุณ) ใหม่เพิ่มขึ้น 69 รูป เนื่องในอภิมหามงคลวาระฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะมีการสถาปนา สมเด็จพระราชาคณะ เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษอีก 2 ตำแหน่ง !

     วันที่จะทำการสถาปนานั้นก็น่าจะเป็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็น วันฉัตรมงคล เป็นวันครบรอบของการเสด็จขึ้นครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 นับถึงปีหน้า 2549 ก็ครบ 60 ปี พอดี

     ข่าวนี้สร้างความสนใจให้แก่ผู้เขียนอย่างมาก ถึงกับคิดว่า "เป็นประวัติศาสตร์" ทีเดียว ท่านที่สนใจใคร่ทราบก็ขอกรุณาหันมาทางนี้ ผู้เขียนจะสาธยายให้ท่านทราบว่า เหตุใดจึงเรียกการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะในครั้งนี้ว่า เป็นครั้งประวัติศาสตร์

     เราเริ่มกันที่คำว่า "สมเด็จ" คำๆ นี้ ท่านชี้ว่า แต่เดิมแล้วมิใช่ภาษาไทย หากแต่เป็นภาษาขอมหรือเขมร หรือกัมพูชา ไทยเราได้คำนี้มาใช้เป็นของสูง สมัยที่ได้มานั้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นผู้สร้างพระนครศรีอยุธยาขึ้นมา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ระบุว่า

     ..แล้วให้ขึ้นไปเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระราเมศวร ลงมาแต่เมืองลพบุรี ซึ่งกรุณาตรัสว่า "ขอมแปรพักตร์จะให้ออกไปกระทำเสีย" พระราเมศวรได้ฤกษ์ยกพลห้าพัน ไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดีเพลาพลบค่ำ พระยาอุปราชราชบุตรพระเจ้ากัมพูชาธิบดีทูลว่า "ทัพเจ้าซึ่งยกมาเมื่อล้าอยู่ ยังมิได้พร้อมมูล จะขอออกโจม (ตี) ทัพ" พระเจ้ากัมพูชาธิบดีเห็นด้วย พระยาอุปราชก็ออกโจมทัพ ทัพหน้ายังมิทันตั้งค่ายก็แตกฉานมาปะทะทัพหลวง เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ชาวกัมพูชาธิบดี มีข่าวเข้ามาถึงพระนคร มีพระราชโองการให้ขุนตำรวจออกไปอัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพะงั่ว) ผู้เป็นพระเชษฐาอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ครั้นเสด็จเข้ามาถึงพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้า อู่ทอง) ตรัสว่า ให้อัญเชิญท่านออกไปช่วยหลานท่าน สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า จึ่งยกทัพรีบออกไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดี ได้รบเอาชัยชำนะได้ ได้กวาดข้าว ถ่ายครัวชาวกัมพูชาธิบดี เข้าในพระนครเป็นอันมาก...

     เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีแรกที่ตั้งกรุงศรีอยุธยา ก็คือ พ.ศ.1893 การถ่ายครัวเข้ามาในครั้งนั้น ท่านว่าขนหมด ทั้งช้างม้าข้าคนมนตรีและสมณชีพราหมณ์ ซึ่งคำว่า "สมเด็จ" ก็ติดเข้ามาในครั้งกระนั้นด้วย พงศาวดารเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า เทครัว พระบรมราชาธิราชเจ้าจึงเป็นพระยาเทครัวพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย

     เขียนถึงตอนนี้ก็ขออ้างอิงเอาไว้ให้ครบ คือว่า พระสงฆ์ในลานนา อันมีเชียงใหม่เป็นราชธานี นั้น และสุโขทัย (คนละแคว้นกับอยุธยา) ทั้งสองแคว้นนี้ตั้งขึ้นและรุ่งเรืองมาก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยา จึงไม่มีตำแหน่ง "สมเด็จ" แต่ทั้งสองแคว้นนี้ใช้ตำแหน่ง "สวามี" อันเป็นสมณศักดิ์ที่ได้มาจากศรีลังกา

     จากอยุธยาก็มารัตนโกสินทร์ รวบเอากรุงธนบุรีไว้ตรงกลางด้วยก็ได้ กรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นใน พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งมหาราชจักรีวงศ์ ทรงโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี อันอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามมาอยู่ในฝั่งตะวันออก ทรงให้สร้างวัด-สร้างวัง คู่กัน เสมือนฟื้นกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาอีก ทั้งนี้ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนั้น ทรงสร้างเลียนแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงโปรดให้สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง วัดนี้ไม่มีพระอยู่จำพรรษามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงให้ว่างไว้เพื่อเป็นสถานที่ทำพิธีของสำนักพระราชวัง และที่สำคัญก็คือ เป็นสถานที่ทรงโปรดให้พระภิกษุสามเณรเข้าทดสอบความรู้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า สอบธรรม-สอบบาลี สนามหลวง ก็คือสอบในพระบรมมหาราชวัง ต่อพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ไปสอบที่ทุ่งพระสุเมรุหรือท้องสนามหลวงที่เด็กๆ ไปเล่นว่าวอยู่ทุกฤดูหนาวแต่อย่างใด

      สถาปัตยกรรมที่สำคัญในวัดพระแก้วที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ พระเจดีย์สามองค์เรียงกัน ทั้งสามองค์นี้จำลองมาจากพระเจดีย์ใหญ่สามองค์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มิผิดเพี้ยน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น ทรงเกิดในกรุงศรีอยุธยา บวชเป็นพระรุ่นน้องของพระเจ้าตากสิน 1 พรรษา ก็อยู่ในสมัยอยุธยา เรียกว่าทรงเห็นความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของอยุธยา เมื่อจะสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นมา จึงทรงจำลองแบบอยุธยามาแทบทั้งหมด แม้กระทั้งระบบการปกครองที่เรียกว่าจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา อันเป็น 4 กระทรวงหลักในยุคนั้น เพิ่งจะมาปฏิรูปใหม่ก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้เปลี่ยนแปลง ภายหลังจากเสด็จนิวัติกลับจากการเสด็จเยือนประเทศในทวีปยุโรป ใน พ.ศ.2435 รัชกาลที่ 5 นั้น แบ่งการบริหารประเทศออกเป็น 12 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประทศ กระทรวงนครบาล กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงยุทธนาธิการ กระทรวงธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ และ กระทรวงมุรธาธิการ เพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงอย่างยกใหญ่อีกก็ในสมัยรัชกาลที่ 9 ใน พ.ศ.2545 ที่เรียกว่า ปฏิรูประบบราชการไทย

      ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะก็เช่นกัน ทรงโปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก และระเบียบแบบแผนทางการคณะสงฆ์ก็ยังคงเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา แต่ว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 นั้น ยังไม่มีคณะธรรมยุติ สมัยนั้นคณะสงฆ์ไทยที่เรียกว่า "นิกายอริยวงศ์" แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หนใหญ่ ๆ ได้แก่

1. คณะกลาง มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปกครองพระสงฆ์ในกรุงเทพมหานครทั้งหมด

2. คณะเหนือ มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปกครองพระสงฆ์ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

3. คณะใต้ มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปกครองพระสงฆ์ในภาคใต้ทั้งหมด

4. คณะอรัญญวาสี มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะอรัญญวาสี คณะนี้เป็นคณะของพระป่าหรือพระปฏิบัติวิปัสสนาโดยเฉพาะ

      และมีสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ปกครองพระสงฆ์ทั้งสังฆมณฑล และสมเด็จพระสังฆราชทรงประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์

     ครั้นเกิดพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว คณะธรรมยุติก็ยังมิได้รับการรับรองอย่างถูกต้องมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 5 ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทยฉบับแรก ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121 เนื้อหาสาระก็คือ ให้แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ ดังนี้

1. คณะกลาง มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปกครองพระสงฆ์ในกรุงเทพมหานครทั้งหมด

2. คณะเหนือ มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปกครองพระสงฆ์ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

3. คณะใต้ มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปกครองพระสงฆ์ในภาคใต้ทั้งหมด

4. คณะอรัญญวาสี มีเจ้าคณะเรียกว่า เจ้าคณะอรัญญวาสี คณะนี้เป็นคณะของพระป่าหรือพระปฏิบัติวิปัสสนาโดยเฉพาะ

5. คณะธรรมยุติ มีเจ้าคณะใหญ่เรียกว่า เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปกครองพระสงฆ์นิกายใหม่ (ธรรมยุติ) ทั้งหมด

       คณะสงฆ์ใหม่คือธรรมยุติถูกตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการเพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้ และภายหลังอีก คณะอรัญญวาสีถูกยุบทิ้ง ทำให้เหลือการปกครองสงฆ์เพียง 4 คณะ คือ 1. คณะกลาง 2. คณะเหนือ 3. คณะใต้ 4. คณะธรรมยุติ แต่ละคณะนั้นมีเจ้าคณะรองหรือรองเจ้าคณะอย่างละ 1 รูป รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกด้วย ก็มีจำนวน 9 ตำแหน่ง เมื่อแยกแยะดูแล้วก็จะพบว่า จำนวน 9 ตำแหน่งเหล่านี้ แบ่งออกเป็นของมหานิกายซึ่งมีมาแต่เดิมเสีย 6 ตำแหน่ง และของคณะธรรมยุติซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ 2 ตำแหน่ง แต่สมัยนั้นธรรมยุติได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย จึงมีเสียงในรัฐบาลคณะสงฆ์จำนวน 3 เสียง เป็น 3 ต่อ 6 ทั้งนี้เพราะสมัยนั้น พระสงฆ์ธรรมยุติมีไม่กี่สิบวัด แต่วัดมหานิกายมีเป็นหมื่นวัด พระภิกษุสามเณรในฝ่ายมหานิกายก็มากกว่าธรรมยุติตั้งหลายสิบเท่า

     ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2454-2456 ธรรมยุติก็เล่นหัวหมอ คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ในสมัยนั้น ทรงโปรดแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะรองทั้งหมดเสียใหม่ ดังนี้

      คณะกลาง ให้พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ (ธรรมยุติ) เป็นเจ้าคณะใหญ่ ให้พระพรหมมุนี (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม (มหานิกาย) เป็นรองเจ้าคณะ

     คณะเหนือ ให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต) วัดโสมนัสวิหาร (ธรรมยุติ) เป็นเจ้าคณะใหญ่ ให้พระพิมลธรรม (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา ฉายา ญาณฉนฺโท) (มหานิกาย) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นรองเจ้าคณะ

      คณะใต้ ให้สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ (มหานิกาย) เป็นเจ้าคณะใหญ่ ให้พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณจนฺโท) วัดเบญจมบพิตร (มหานิกาย) เป็นรองเจ้าคณะ

     คณะธรรมยุติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติเอง และให้พระศาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) วัดราชประดิษฐ์ (ธรรมยุติ) เป็นรองเจ้าคณะ

      สรุปตรงนี้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงแต่งตั้งพระสงฆ์ธรรมยุติเข้ามากินตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะรองของฝ่ายมหานิกายเดิมไปถึง 2 ตำแหน่ง ขณะที่ฝ่ายธรรมยุตินั้น พระมหานิกายมิเคยได้แตะ รวมความแล้ว พระสงฆ์มหานิกายได้ตำแหน่งเจ้าคณะและรองเจ้าคณะเพียง 4 ตำแหน่ง (จากเดิมที่มี 6 ตำแหน่ง) ส่วนธรรมยุตินั้นได้เพิ่มเป็น 4 ตำแหน่ง (จากเดิมที่มี 2 ตำแหน่ง) วัดสัดส่วนเก้าอี้เวลานี้จึงเป็น 4/4 และเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย คณะธรรมยุติจึงมีเสียงในคณะรัฐมนตรีคณะสงฆ์จำนวน 5 เสียง ขณะมี่มหา นิกายมีเพียง 4 เสียง

      การปล้นตำแหน่งของมหานิกายในครั้งนี้เป็นที่ครึกโครมอย่างยิ่ง เพราะธรรมยุตินั้นเข้ามากินตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่" อย่างอุกอาจ ที่ยังมิบังอาจก็คือ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ซึ่งเป็นของสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) วัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชเคยประทับเท่านั้น ไม่งั้นก็ไม่แน่ และตรงนี้ยังชี้ด้วยว่า คณะธรรมยุติที่กินตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางและหนเหนือนั้น มีอำนาจปกครองทั้งธรรมยุติและมหานิกาย ส่วนในคณะธรรมยุตินั้นไม่มีพระสงฆ์มหานิกายไปดำรงตำแหน่งเลย ก็แสดงว่า มหานิกายไม่มีอำนาจในการปกครองธรรมยุติ เป็นอย่างนี้มาเนิ่นนาน พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่มีจำนวนมากมายมหาศาล มากกว่าธรรมยุติถึง 10 เท่าในประเทศไทยนั้น ต้องจำยอมรับความไม่ชอบธรรมอันนั้น ทั้งนี้เพราะสมัยนั้นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ประชาธิปไตย ใครเรียกร้องก็แป๊กแน่ พระสงฆ์มหานิกายแม้จะเป็นประชากรสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศจึงจำต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพระธรรมยุติเหมือนลูกเมียน้อย

      ครั้นมาถึง พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ต่อมาใน พ.ศ.2477 พระภิกษุสามเณรในฝ่ายมหานิกายจำนวนมาก (ประมาณ 300 รูป) ได้รวมตัวกันในนาม "คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา" ได้เรียกร้องให้ฝ่ายมหานิกายสามารถปกครองตนเองได้ ไม่ใช่กินน้ำใต้ศอกของธรรมยุติแต่ฝ่ายเดียว รัฐบาลสมัยนั้นได้รับลูกเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายทองม้วน อัตถากร ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส.จังหวัดธนบุรี เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติร่วมกัน ใน พ.ศ.2478 และ พ.ศ.2479 จนกระทั้งสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เราจึงได้พระราชบัญญัติฉบับใหม่ใช้ในชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกจอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ ฉีกทิ้ง แล้วเขียนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นมา ใน พ.ศ.2505 เรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งใช้มาจนกระทั่งปัจจุบัน

      สาระของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้น ก็คือ ให้มีมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย

1. ให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง

2. ให้สมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งสมัยนั้นมีสมเด็จอยู่จำนวน 8 รูป เป็นมหานิกาย 4 และธรรมยุติอีก 4 ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง

3. พระราชาคณะ (พระเจ้าคุณ) โดยแต่งตั้งของสมเด็จพระสังฆราช เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีก ไม่เกิน 8 รูป

     ตรงนี้ ตำแหน่ง "โดยตำแหน่ง" ในกรรมการมหาเถรสมาคมของทั้งสองนิกายนั้น กลับมาเท่ากันโดยอัศจรรย์ คือแต่ละฝ่ายได้ 4 เก้าอี้เท่ากัน และถ้ามหานิกายได้เป็นสังฆราชด้วย ก็อาจจะมีเก้าอี้เป็น 5 ต่อ 4 ฝ่ายธรรมยุติก็เช่นเดียวกัน และเราก็ท่องสูตรนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน วันที่มีข่าวว่า "จะมีการสถาปนาสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏหรือสมเด็จพระราชาคณะเพิ่มขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง ใน พ.ศ.2549"

      ที่เล่ามาก็เพียงอยากให้ทราบว่า ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะอันเป็น "โดยตำแหน่ง" ในรัฐบาลคณะสงฆ์ไทย แบ่งกันฝ่ายละ 4/4 ของมหานิกายและธรรมยุตินั้น มีกำเนิดเกิดมาอย่างไร และทำไม เมื่อจะเพิ่มแล้ว ไฉนจึงเพิ่มทีละ 2 ตำแหน่ง เพิ่มตำแหน่งเดียวไม่ได้หรือ ? แหมข้อนี้ถ้าคนที่รู้อยู่วงในเขาก็ไม่ถามหรอก มันของง่าย แต่คนที่ไม่รู้เราก็จำต้องบอกว่า "เพื่อความเป็นธรรม เมื่อมหานิกายจะได้เพิ่ม 1 ธรรมยุติมีหรือจะยอม เพราะธรรมยุตินั้นประกาศตัวเองปาวๆ อยู่ตลอดเวลาว่า เคร่งครัดกว่าพระมหานิกาย กิเลสน้อยกว่า ดังนั้น พระมหานิกายซึ่งกิเลสหนากว่านี้จะมีตำแหน่งมากกว่าได้ไง ถ้ามึงได้กูก็ต้องได้ แต่ถ้ากูไม่ได้ ก็อย่าหวังว่ามึงจะได้" มันเป็นอย่างนี้แหละคณะสงฆ์ไทย แล้วเราอย่าไปถามเลยนะว่า ตะทีคณะธรรมยุติเอาเปรียบพระมหานิกายมานับร้อยปีนั้น ทำไมไม่คืนความชอบธรรมนั้นให้แก่เขา ? พระธรรมยุติก็จะตอบแบบเดียวกันนั่นแหละว่า "เพราะว่าเราเคร่งกว่า เราจึงต้องมีตำแหน่งมากกว่า" แต่ใครอย่าได้บังอาจแปลคำว่า "ตำแหน่ง" ว่าเป็น "กิเลส-ตัณหา" ล่ะ เขาเอาตายเชียว ! ที่ถูกนั้นต้องแปลว่า "บุญวาสนา" เพียงคำเดียว ไม่เชื่อก็ลองถามพระมหาระแบบ วัดบวรนิเวศ ผู้เที่ยงธรรมดูสิ ตอบไม่ได้หรอก คำถามกระจอกๆ แบบนี้

     การเพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะอีก 2 ที่ จึงนับเป็นเหตุการณ์สำคัญ ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย แต่ใครจะได้ตำแหน่งอันสำคัญสุดยอดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ข้อนี้ข้าน้อยมิทราบ ใครมีสายอยู่แถวๆ ทำเนียบรัฐบาล 1 วัดสระเกศ 1 วัดยานนาวา 1 คิดว่าน่าจะลองฟังกระแสดูนะ ว่าหุ้นตัวไหนคึกคักที่สุดในเวลานี้ และ..อะแฮ่ม ดีไม่ดีอาจจะมีการพิมพ์หนังสือสมโภชสุพรรณบัฏไว้ล่วงหน้า เพราะว่างานนี้ระดับบิ๊กเซอร์ไพรซ์ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเชียว !
 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
1 กันยายน 2548
เวลาแปซิฟิกโซน 12:30 p.m.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264