ด้วยได้รับเอกสารเป็นหนังสือจาก
สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงวอชิงตัน ดีซี
ประเทศ สหรัฐอเมริกา โดย
ท่านเอกอัครราชทูต กษิต ภิรมย์
ส่งไปถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศในประเทศไทย เป็นหนังสือพิเศษ
ว่าด้วยเรื่องพระสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา คือพระธรรมทูตไทย โดยเฉพาะ
เป็นหนังสือราชการ เป็นงานเป็นการ และเขียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ
ทำให้ผู้เขียนต้องยอมเสียสละเวลามาอ่านเอกสารฉบับนั้นด้วยความสนใจ
ก่อนจะลงมือเขียนบทความนี้ ด้วยทัศนะอันเป็นปัจเจกคือว่าเป็นการส่วนตัว (Private)
มิได้เขียนในฐานะตัวแทนใครในสหรัฐอเมริกานี้
หรือถ้าจะให้มีฐานะก็ต้องขออ้างเพียง
"ตำแหน่งพระธรรมทูต"
ซึ่งติดตัวผู้เขียนอยู่ตลอดมา และคิดว่าจะยังคงอยู่ตลอดไป ก่อนอื่นก็ขอนำแฟนๆ
ไปพบกับจดหมายของเอกอัครราชทูตที่ว่านี้เสียก่อน ดังต่อไปนี้
จดหมายของเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี
ถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย
---------------

ที่ 56001/11/ 519
30 มีนาคม 2548
เรื่อง
ปัญหาเกี่ยวกับวัดและพระธรรมทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาและแนวทางการปรับปรุงแก้ไข
เรียน
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
สิ่งที่ส่งมาด้วย
เอกสารว่าด้วยปัญหาวัดพุทธและพระธรรมทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา
และแนวทางการแก้ไขปรับปรุง
ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมศกนี้
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ไต่ถามทุกข์สุข รับฟังประเด็นปัญหา
และเข้าร่วมกิจกรรมของวัดต่างๆ ชุมชนคนไทย ผู้อพยพจากอินโดจีน และคนอเมริกัน
อย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ รวมทั้งได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 3
แห่ง เป็นระยะๆ ก็ได้เห็นและตระหนักว่า
มีประเด็นปัญหาเกิดกับวัดและพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา ค่อนข้างมากมาย
ควรแก่การดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางคือที่ประเทศไทย จนถึงปลายทาง
คือประเทศสหรัฐอเมริกา และบทบาทของสถานเอกอัครราชทูตฯ
ควรมีการกำหนดอย่างแน่ชัด นอกเหนือจากการดูแลทุกข์สุข
การไปร่วมในงานพิธีการและสถานที่จัดงาน การต่ออายุหนังสือเดินทาง
การเป็นตัวกลางจัดส่งเงินช่วยเหลือของรัฐบาลไปยังวัดบางวัด
และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในการนี้ ผมและข้าราชการฝ่ายกงสุล
จึงได้ร่วมประมวลประเด็นปัญหาต่างๆ
พร้อมกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการแก้ไขปรับปรุง โดยแบ่งเป็น 3
หัวข้อหลัก คือ 1. พระธรรมทูต 2. วัด 3.
บทบาทของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ฯ
ความปรากฏดังกล่าวตามสิ่งที่ส่งมาด้วยแนบมาพร้อมนี้
การที่จำเป็นต้องมีการทบทวน ประมวลประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข
เพราะเพื่อให้คงไว้ซึ่งจุดประสงค์ของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา
การรักษาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
และป้องกันการเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนาและชื่อเสียงของวัด
คนไทยและสังคมไทยในสหรัฐอเมริกา
และเพื่อร่วมจรรโลงให้สังคมอเมริกันมีความสงบสุขยิ่งขึ้น
และเพื่ออำนวยให้การประสานงานสำหรับการพิจารณาเรื่องนี้มีความเห็นพ้อง
ทั้งที่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ให้มีความราบรื่นแน่ชัด
เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนและสังคมไทย
และความสัมพันธ์ในการสนองตอบด้านนโยบาย
จึงเรียนมาเพื่อกระทรวงฯ ได้โปรดพิจารณา และนำขึ้นหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม
สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ และคณะกรรมการของมหาเถรสมาคม
ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต่อไป ทั้งนี้ ในโอกาสที่คณะสงฆ์มหานิกาย
ซึ่งมีการปกครองในรูปแบบสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
จะมีการประชุมสมัชชาสงฆ์ฯ ประจำปี 2548 ในระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2548 ณ
วัดไทย กรุงวอชิงตัน ดีซี มลรัฐแมรี่แลนด์ และโดยเอกอัครราชทูตฯ
ได้รับเชิญให้เข้าร่วม อีกทั้งได้มีการแต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตฯ
ดำรำตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหารของสมัชชาสงฆ์ฯ
ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ จะใช้โอกาสดังกล่าวนั้น นำเสนอประเด็นปัญหา
พร้อมทั้งแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวข้างต้น
ขึ้นหารือในการประชุมดังกล่าวต่อไป และนอกจากนั้น
ทางคณะสงฆ์ธรรมยุติก็จะมีการประชุมใหญ่ที่วัดอลาสก้าญาณวราราม เมืองแอนขอเรท
มลรัฐอลาสก้า ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน ศกนี้ ซึ่งถานเอกอัครราชทูตฯ
ได้รับเชิญเข้าร่วม และจำนำประเด็นปัญหาเข้าร่วมหารือในการประชุมด้วย
ขอแสดงความนับถือ
กษิต ภิรมย์
(นายกษิต ภิรมย์)
เอกอัครราชทูต
เอกสารว่าด้วยปัญหาวัดพุทธและพระธรรมทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา
และแนวทางแก้ไข
---------
1. พระธรรมทูต
1.1 ปัญหา
-
ความไม่แน่ใจเกี่ยวกับบทบาทของตนเอง
-
การมาอยู่เป็นการชั่วคราว คือมีวาระประจำการ
มีการหมุนเวียนมากกว่าการมาอยู่อย่างถาวร
- การมุ่งมาเพื่อมาขอ
Green Card
และเมื่อได้แล้วก็จะขอลาออกจากเพศบรรพชิต เท่ากับว่าใช้ผ้า
เหลืองและการเป็นพระธรรมทูตเพื่อมุ่งกลับสู่ทางโลก
และมาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา
-
การไม่รู้กฎเกณฑ์ของฝ่ายสหรัฐฯ
เกี่ยวกับสถานะของตนและสิ่งซึ่งควรปฏิบัติอย่างเพียงพอ
- การไม่รู้ภาษาอังกฤษ
ทำให้สื่อไม่ได้ ต้องพึ่งบุคคลที่สาม (โดยเฉพาะระดับเจ้าอาวาส) ซึ่งอาจถูกนำพาหรือแนะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดหรือการกระทำที่มิบังควร
- การไม่รู้ภาษาอังกฤษ
ทำให้การมีบทบาทในการเผยแพร่พุทธศาสนาแก่คนอเมริกันมีข้อจำกัด และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่า พุทธศาสนาแบบไทยนั้น เต็มไปด้วย
หรือกอปรด้วยพิธีกรรมทางกายมากกว่าจิต
- การโยกย้ายวัด
การถูกเชิญให้ไปอยู่วัดอื่น หรือไปตั้งวัดใหม่ดูค่อนข้างง่าย
และการรองรับวัดใหม่มักจะขาดความพร้อมต่างๆ
-
เจ้าอาวาสหรือพระธรรมทูต มิได้เป็นประธานวัด หรือมูลนิธิก่อตั้งวัด
อำนาจทางการบริหารวัดจึงตกอยู่ที่ฝ่ายฆราวาส
-
การขาดการติดตามว่าด้วยพระธรรมทูตอยู่ที่ไหน
หนังสือเดินทางมีอายุการใช้การได้หรือไม่ และสถานะการได้รับการตรวจตราหรือขอต่ออายุวีซ่า
-
การดำเนินการบริหารปกครองพระธรรมทูต โดยสมัชชาสงฆ์หรือองค์กรกลาง
ขาดความต่อเนื่องและทั่วถึง หรือขาดพละกำลัง หรือความศักดิ์สิทธิ์
1.2 แนวทางแก้ไข
ด้านกรุงเทพฯ/ต้นทาง
-
การฝึกอบรมให้สามารถให้การฝึกสอนเรื่องศีลธรรมและสมาธิปัญญา
-
การฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้ได้ระดับที่สื่อได้ในการดำรงชีวิตและในการอธิบายคำสั่งสอนเบื้องต้น
-
การต้องย้ำให้รับรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับบทบาทและภารกิจ
-
การกำหนดและบอกกล่าวเกี่ยวกับการจำวัด การย้ายวัดได้หรือไม่
-
ก่อนการจัดส่งควรได้รับการรับรู้จากสมัชชาสงฆ์และองค์กรกลาง
และสถานเอกอัครราชทูต และควรได้รับความเห็นชอบจากเจ้าอาวาส และได้รับทราบบทบาท/ภาระหน้าที่
- ความสามารถเฉพาะด้าน
เพราะวัดยังต้องดำเนินการเองอยู่มาก เช่น ด้านการก่อสร้างซ่อมแซมของใช้ ด้านศิลปะไทย ด้านภาษาไทย/บาลี เป็นต้น
ด้านสหรัฐอเมริกา
-
สมัชชาสงฆ์หรือองค์กรกลาง
ควรมีการจัดปฐมนิเทศเมื่อแรกเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา
-
การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม
- การต่อหนังสือเดินทาง
การต่อการตรวจลงตรา (วีซ่า) และการจะขอ
Green Card
ได้หรือไม่ ต้องผ่านการพิจารณาจากเจ้าอาวาสในชั้นต้น
2. วัด
2.1 ปัญหา
(สำหรับวัดที่เกิดขึ้นแล้ว)
-
วัดขาดความพร้อมแต่แรกเริ่ม และยังไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ อาทิ การเช่าอพาร์ตเม้นท์
การเช่าบ้านแล้วแปลงเป็นวัด
-
วัดมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไม่เพียงพอ
แต่มุ่งจัดหาเงินเพื่อทำการก่อสร้างให้ใหญ่เกินความจำเป็น
-
วัดหมดเวลาไปกับพิธีกรรมทางภายนอก (กาย) และการจัดหาวัสดุสิ่งก่อสร้าง
ทำให้มีเวลากับเรื่องทางจิตใจจำกัด
- กรุงเทพฯ
การเข้าออกวัดของฝ่ายฆราวาสไม่แน่นอนแน่ชัด
สาเหตุผู้หญิงอาจมาสร้างปัญหาในวัดได้ และไม่มีลูกศิษย์หรือฝ่ายมัคทายก ที่จะดูแลสถานที่และจัดหาอาหาร
- แนวทาง
โดยมุ่งเรื่องการเฉลิมฉลองทางศาสนา และจัดประเพณีสำคัญของไทย และยังขาดแผนส่งเสริมพระพุทธศาสนา และส่งเสริมสุขภาพจิตใจ
-
โฉนดที่ดินไม่ได้อยู่ในชื่อวัดหรือมูลนิธิวัด และอำนาจของผู้จัดซื้อให้
รวมถึงเจ้าอาวาสวัดด้วย
-
ปัญหาทางด้านบัญชีและรายรับรายจ่าย แผนการจัดหารายได้และการใช้สอย
และผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายและการว่าจ้างผู้ประเมิน
-
มักจะไม่มีการแจ้งและขอความเห็นชอบจากสมัชชาสงฆ์/องค์กรกลาง
ในการตั้ง/โอนพระภิกษุ
/พระธรรมทูตจากอีกวัดหนึ่ง
- ปัญหาเรื่องที่ดิน/โฉนด
ยังอยู่ในชื่อของผู้อื่น (ฝ่ายฆราวาส)
2.2 แนวทางแก้ไข
- สมัชชา/องค์กรกลาง
(อาจร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่/กิตติมศักดิ์) สำรวจความพร้อมของวัด สำรวจแผนงานประจำปี สำรวจสถานะการเงิน
สถานะของวัด/มูลนิธิทางกฎหมายอเมริกัน และการดำเนินการทางกฎหมายอเมริกัน
สำรวจสถานะของพระธรรมทูต/ภิกษุสงฆ์ และผู้มาอยู่อาศัย
- การแจ้งกรุงเทพฯ
เกี่ยวกับการจะตั้งวัดใหม่
โดยเฉพาะเงื่อนไขให้มีความพร้อมในระดับหนึ่งเกี่ยวกับสถานที่ และการให้สัญญาเช่า/ซื้อขายเป็นของวัด/มูลนิธิ แต่แรกเริ่ม
- การสำรวจโบสถ์ (Church)
ซึ่งร้างหรือเลิกกิจการ หรือจัดซื้อ/เช่า เป็นวัดพุทธไทย เพราะเป็นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นศาสนสถานแล้ว
เนื่องจากโดยทั่วไปต้องขออนุญาตและทำประชาพิจารณ์ใหม่
- สมบัติของวัดใดๆ
หากมีการเลิกล้ม ให้กำหนดให้โอนมาเป็นของสมัชชา/องค์กรกลาง หรือ
เถรสมาคม
3. บทบาทของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่
3.1 บทบาทในปัจจุบัน
มีอาทิ การต่อหนังสือเดินทาง การเข้าร่วมในพิธีทางศาสนาและงานประเพณีของไทย
และการร่วมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะกรณี
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหากเกิดความขัดแย้ง
การชักชวนโน้มน้าวให้วัดมีภารกิจฝึกสมาธิปัญญา
การตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสทางการเงิน การโอนที่ดิน/โฉนด เป็นของวัด/มูลนิธิ
การมีแผนงานประจำปี และการฝึกธรรมภาษาอังกฤษ เป็นต้น
3.2
บทบาทที่ควรได้รับมอบหมาย
-
การสำรวจความพร้อมเพรียงของวัด รวมทั้งแผนงานและสถานะของพระภิกษุสงฆ์
เกี่ยวกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ระยะเวลาการประจำการ
-
การประสานงานกับฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งรัฐบาลกลางและท้องที่
เพื่อให้ได้รับทราบถึงกฎหมายเกี่ยวกับวัด/ภิกษุสงฆ์ ในแง่ของไทย
บทบาทของวัด/พระธรรมทูต ปัญหาสำคัญในการดูแล ลู่ทางการร่วมมือ/ติดตามดูแล
เพื่อทางวัด/พระธรรมทูตปฏิบัติตามกฎหมายทางการสหรัฐฯ ทั้งนี้
เพื่อป้องกันปัญหาหรือแก้ไขปัญหา
- มีส่วนร่วมในการประชุม
และการจัดทำยุทธศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายภิกษุสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติ
เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยถูกต้อง
และเพื่อสร้างฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในสังคมอเมริกันยิ่งขึ้น
3.3
เกี่ยวกับทางกรุงเทพฯ และสมัชชา/องค์กรกลาง
ในการทบทวนยกร่างระเบียบกฎหมายและหลักการประสานงานต่างๆ ใหม่
ในการดูแลจัดการบริหารงานวัดและพระธรรมทูต/ภิกษุสงฆ์
4. เรื่องอื่นๆ
-
ปัญหาภิกษุสงฆ์ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อยู่อย่างคนเร่ร่อน
ควรได้รับการพิจารณาควบคู่กับเรื่องการออก/ต่ออายุหนังสือเดินทาง
และยกเลิกหนังสือเดินทาง
-
เงินทุนที่จะนำมาวางมัดจำในสหรัฐอเมริกา ไม่ควรนำมาจากประเทศไทย
เพราะประเทศไทยยังยากจนอยู่ และวัดในประเทศไทยยังต้องได้รับการบูรณะดูแล
ซึ่งเงินทุนควรมาจากศรัทธาของคนไทยและคนไทยใน/อเมริกันในสหรัฐอเมริกาเอง
-
พระภิกษุสงฆ์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าอาวาสในสหรัฐฯ ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง
และผู้รักษาการไม่ สามารถบริหาร/จัดการวัดได้อย่างเต็มที่
ควรมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสที่ประจำวัดจริง
และพระอาวุโสที่ประเทศไทยอาจมีตำแหน่งในมูลนิธิวัดได้
-
การจะสร้างวัดที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและราชวงศ์นั้น
ควรมีการปรึกษาหารือกับสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่เสียก่อน
แทนการเสนอเรื่องให้มีการเห็นชอบในประเทศไทยแล้วมามอบให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกลสุลใหญ่
ดำเนินการหรือมาแต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลใหญ่เป็นกรรมการ
โดยไม่ทราบเรื่องราวมาก่อน
สถานเอกอัครราชทูต ณ
กรุงวอชิงตัน
29 มีนาคม 2548
ทัศนะจากพระมหานรินทร์
จบแล้ว
!
สำหรับปัญหาของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา/วัดไทยในสหรัฐอเมริกา
และพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา ที่ท่านเอกอัครราชทูต คือ
ท่านกษิต ภิรมย์
ได้ศึกษาค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียง จนถึง
"นำส่ง"
เจ้านายใหญ่ คือท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่ประเทศไทย
เอกสารชุดนี้จำแนกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.
หนังสือนำส่งถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 2 หน้า
2.เอกสารว่าด้วยปัญหาวัดพุทธและพระธรรมทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาและแนวทางแก้ไข
อีกจำนวน 5 หน้า หรือ 5 แผ่น รวมทั้งหมดเป็น 7 แผ่นพอดี หนังสือนี้ลงวันที่
29 มีนาคม 2548 ดังนำเสนอแล้วข้างต้น
เอกสารเหล่านี้ถูกเสนอในการประชุมคณะสงฆ์ธรรมยุติ ที่วัดอลาสก้าญาณวราราม
เมืองแองคอเรจ รัฐอลาสก้า วันที่ 18-19 มิถุนายน 2548 ทั้งๆ
ท่านเองก็รับทราบมาตั้งนานว่ามีคิวปาฐกถา
โดยเป็นแขกรับเชิญของสมัชชาสงฆ์ไทยในการประชุมใหญ่ที่วัดไทย ดีซี
ซึ่งอยู่ชิดติดกับสถานเอกอัครราชทูตไทยของท่านทูต (วันที่ 8-9 มิถุนายน
ก่อนการประชุมของคณะธรรมยุติ 10 วัน)
แต่กลับไม่ปรากฏตัวของท่านทูตในที่ประชุม
ผู้เขียนทราบจากตัวแทนของท่านที่ส่งมา คือท่าน รท.จอมพละ เจริญยิ่ง
ว่าสาเหตุที่ท่านทูตมาไม่ได้นั้น
คือติดราชการ
แต่จะป่วยการเมืองหรือไม่ ?
เรื่องนี้ไม่มีใครซักไซ้ไล่เลียง
เพราะเฉพาะเรื่องที่ท่านรองทูตจอมพละต้องตอบแทนนั้นลองสอบถามท่านดูสิ
จะได้รู้ว่าหนักหนาสาหัสไม่แพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเลยทีเดียว
ก็แปลกนะ ทั้งๆ ที่วัดไทย ดีซี อยู่เมืองเดียวกับสถานเอกอัครราชทูต
ท่านกลับไม่ไป ที่น่าแปลกใจก็คือว่า
ถ้าท่านไม่มีความนัยอื่นแอบแฝง ใยจึงไม่ฝากเอกสารเหล่านี้ให้ท่าน รท.จอมพละ
เจริญยิ่ง นำมาแจกที่วัดไทย ดีซี
เพราะถ้าคนไม่มา เอกสารหรือสิ่งของก็ควรต้องมา นี้ว่ากันตามสถานการณ์ปกติ
แต่ท่านกลับแสดงความผิดปกติด้วยการงดมาแสดงปาฐกถาและแม้แต่เอกสารชุดนี้ก็เก็บเงียบ
นำไปแจกให้แก่คณะธรรมยุติที่อลาสก้าโน่น
ทำให้ข้อเขียนในคอลัมน์นี้จึงล่าช้ามาจนป่านนี้
ทีนี้ ผู้เขียนก็จะขอวิเคราะห์-วิจารณ์ งานของท่านเอกอัครราชทูต
ผ่านสายตาของมหาบ้านนอก (เพราะไม่เคยเรียนวิชาการทูต) เกิด-บวช-เรียน-อยู่วัดบ้านนอก
และเกิดจับพลัดจับผลูได้มาเมืองนอก จึงต้องขอออกตัวก่อนว่า
"นี่คือทัศนะแบบนอกๆ"
ไม่มีระเบียบแบบแผนเหมือนงานของสถานเอกอัครราชทูต
ความรู้-ความเข้าใจ หรือภูมิภาวะ
จึงอาจจะยังไม่ถึงระดับท่านเอกอัครราชทูตเป็นแน่แท้ ดังนั้น
จึงต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า
นี่เป็นทัศนะส่วนตัวของพระมหานรินทร์เพียงคนเดียวเท่านั้น
มิได้เกี่ยวข้องหนองยุ่งกับบุคคลอื่นใด
ขอเริ่มด้วยการอ่านจดหมายของท่านเอกอัครราชทูตไปตามลำดับ ดังนี้
ก็ตามเอกสารที่ท่านเอกอัครราชทูตแจ้งไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศนั้น
ในจดหมายนำ ท่านกล่าวว่า
ท่านได้เริ่มสัมผัสกับชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่
เดือนกรกฎาคม
ศกนี้ ก็ไม่ทราบว่าศกไหน
สงสัยจะตั้งแต่ พ.ศ.2547
เพราะวันที่ท่านเขียนหนังสือไปถึงท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศนั้นลงวันที่
29 มีนาคม 2548
เพิ่งเริ่ม พ.ศ.2548
ได้เพียง 3 เดือนเอง
ยังไม่ถึงเดือนกรกฎาคมใน
พ.ศ.2548
แต่อย่างใด ถ้างั้นเราก็จะนับระยะเวลาการศึกษา-รวบรวม
ข้อมูลเกี่ยวกับพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เดือน
กรกฎาคม 2547
และเมื่อนับถึงเดือน มีนาคม 2548
ก็จะได้เวลา 9 เดือน
โดยประมาณ ระยะเวลา 9 เดือน
ที่ว่ามานี้ ท่านเอกอัครราชทูตเกิดดวงตาเห็นธรรม
แน่ใจว่ารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จึงดำริสร้างเอกสารราชการฉบับนี้ขึ้นมา
เพื่อนำเสนอ
"เจ้านาย"
อย่างเป็นทางการ ถ้าเอกสารเหล่านี้ถูกต้องประมาณ
70
%
ขึ้นไป ก็ต้องนับว่าท่านกษิต
ภิรมย์
ท่านเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งของเมืองไทย
น่าจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอย่างแน่แท้
สาระของจดหมายนั้น
นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา
อันว่าด้วยปัญหาและแนวทางการแก้ไขแล้ว ท่านยังได้
"ร้องขอเพิ่มอำนาจ"
ให้แก่สถานเอกอัครราชทูต มากกว่างานรูทีนที่ได้รับ คือ การไปร่วมศาสนพิธี
ถวายผ้าป่า-กฐิน เป็นประธานงานวัด งานการกุศลอื่น ๆ เช่น คิงส์บอล ควีนส์บอล
ของสมาคมต่างๆ รวมถึงกล่าวสุนทรพจน์
แต่ไม่มีอำนาจในการบัญชาการเกี่ยวกับวัด
งานวัดๆ ที่ท่านได้รับมอบหมายอำนาจให้จัดการได้ก็มีแค่
ต่ออายุพาสปอร์ต ตรวจตราลงนาม (วีซ่า)
และไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ซึ่งข้อหลังนี้อาจจะไม่ใช่หน้าที่เต็มร้อย และเรื่องรองๆ อื่นๆ เช่น
เป็นตัวกลางนำเงินของรัฐบาลส่งให้วัดต่างๆ
เป็นต้น ก็หมดอำนาจและหน้าที่อันใหญ่โตมโหฬารในสายตาของชาวบ้านแล้ว
มิน่า ถ้าอายุพาสปอร์ตไม่หมด
จึงไม่ค่อยมีใครคิดถึงสถานเอกอัครราชทูตเท่าไหร่ สู้ไปวัดไม่ได้
เพราะที่วัดไทยเรานั้น...มีตั้งแต่
-
ศาสกิจ มีทุกระดับนับตั้งแต่ทำวัตร-สวดมนต์
เทศน์ธรรมวัตร-ปาฐกถา พระเทศน์แหล่ เทศมหาชาติ ผ้าป่า-กฐิน ถวายสังฆทาน ดูหมอ
แจกพระเครื่องของดี น้ำมูกน้ำมนต์ ฯลฯ
-
ด้านบันเทิงเริงรมย์
ก็มีเอนเตอร์เทนเม้น ตั้งแต่โขน ลิเก ฟ้อนรำไทยไปยันร็อคสะแด่ว ลูกทุ่ง ลูกกรุง คาราโอเกะ
และแม้แต่เสี่ยงเซียมซีก็มีบทกลอนปลอบใจให้ความหวังได้บ้าง
ดีกว่าไม่มีอะไรให้หวังเลย
-
ด้านโภชนาการ
ก็มีให้ชิมตั้งแต่ ไก่ย่าง-ส้มตำ ยำใหญ่ ซุปหน่อไม้ น้ำพริก ผักสด ผักลวก
ฟักแฟงแตงกวา กล้วยแขก ขนมจีนน้ำเงี้ยวน้ำยา ฯลฯ
ดังสุนทรภู่ท่านพรรณนาไว้ในตอนออกบิณฑบาตว่า
อิมัสมิง ริมฝั่ง อิมัง ปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอก
ดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน น้ำมันครึ่งโถ ส้มโอครึ่งผล
เป็นยอดกุศล เอ้า..สังฆัสสะ เทมิ ฯ
สารพันจะหาชม-หาชิม ได้ที่วัดไทยในสหรัฐอเมริกา แบบว่าได้ทั้งบุญได้ทั้งกุศล ซึ่งผู้เขียนก็หวังว่า
บทบาทอันออกจะเกินหน้าสถานเอกอัครราชทูตนี้
คงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ท่านเอกอัครราชทูตอยากได้อำนาจเพิ่มเติม
โดยการ
"ขอคุมวัด-ขอคุมพระ"
ไปไว้ที่สถานเอกอัครราชทูตด้วยนะ
ท่านกษิต ภิรมย์ ย้ำว่า
"การที่จำเป็นต้องมีการทบทวน ประมวลประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข
เพราะเพื่อให้คงไว้ซึ่งจุดประสงค์ของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา
การรักษาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
และป้องกันการเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนาและชื่อเสียงของวัด
คนไทยและสังคมไทยในสหรัฐอเมริกา
และเพื่อร่วมจรรโลงให้สังคมอเมริกันมีความสงบสุขยิ่งขึ้น
และเพื่ออำนวยให้การประสานงานสำหรับการพิจารณาเรื่องนี้มีความเห็นพ้อง
ทั้งที่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ให้มีความราบรื่นแน่ชัด
เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนและสังคมไทย
และความสัมพันธ์ในการสนองตอบด้านนโยบาย"
ก็ชัดเจนว่า
ท่านอยากเห็นพระศาสนาและสังคมไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเจริญมั่นคง
มีศักดิ์ มีศรี มีเกียรติ และเป็นเกียรติแก่ประเทศชาติศาสนา
มากกว่าจะมาเสื่อมเสียเกียรติยศ
เพราะทางการทูตนั้นท่านถือยศและเกียรติเป็นสำคัญ
!
ดังนั้น ท่านซึ่งรักชาติและพระศาสนามากที่สุดคนหนึ่ง จึงจำต้องทำหน้าที่นี้
ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีเอกอัครราชทูตไทยคนไหนเคยทำมาก่อน ถ้าดูตรงนี้
ก็จะเห็นว่า ท่านกษิต ภิรมย์
ท่านเป็นสุดยอดของเอกอัครราชทูตไทย ที่เราเคยมีมา
เพราะนอกจากว่าท่านจะมีสปิริตของความเป็นพุทธอยู่เต็มตัวแล้ว
ท่านยังมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล มองปัญหาอย่างเป็นระบบ
ล้วงลึกไล่ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวบุคคลไปจนถึงระดับนโยบาย
โยงไยไปจนถึงรัฐบาล-มหาเถรสมาคม ที่เมืองไทย ส่วนองค์ประกอบอะไรต่างๆ
ในสหรัฐอเมริกานี่ ท่านก็ชี้ได้ชัด เหมือนหลวงพ่อคูณตีหัวดังโป๊ะๆๆๆ
จึงขออนุโมทนาสาธุในกุศลเจตนาของท่านเอกอัครราชทูต
กษิต ภิรมย์
และคณะในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี มาเป็นเบื้องต้นก่อน
และทีนี้ก็จะเข้าสู่ส่วนที่ 2 คือส่วนของปัญหาและการแก้ไข
ตามที่ท่านเอกอัครราชทูตไทยได้นำเสนอปลัดกระทรวงการต่างประเทศข้างต้น
โดยท่านได้แบ่งเอกสารชุดนี้ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พระธรรมทูต
(ปัญหาและการแก้ไข) 2.วัด (ปัญหาและการแก้ไข)
3.บทบาทของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่
(มีการขอเพิ่มอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา
แสดงว่าสถานทูตไม่มีปัญหาให้แก้ไข มีก็แต่ปัญหาของพระให้แก้ไข)
ปัญหาว่าด้วยพระธรรมทูต
ท่านกษิต ภิรมย์ ประมวลได้ความว่า
พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาทั้งปวงนี้มีปัญหามาก สิ่งแรกคือ
"ความไม่รู้และไม่เข้าใจในบทบาทและภาระหน้าที่ของตนเอง-คือของพระธรรมทูต"
ข้อนี้ก็ขอวิจารณ์ว่า "มันคลุมเครือ"
คือว่า
"เป็นข้อหาครอบจักรวาล"
แบบว่าพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนกำปั้นทุบดิน ทั้งนี้ต้องถามย้ำด้วยว่า
"ซึ่งท่านว่าพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเองนั้น
บทบาทหน้าที่ตรงไหน อย่างไร และใครบ้าง ยกตัวอย่างได้ไหม ?"
เพราะถ้าจะพูดกำหนดเอาเฉพาะคำว่า
"บทบาทและหน้าที่ของพระธรรมทูต" แล้ว
เราก็อาจจะต้องถามไปยังประชุมชนรอบข้างด้วย ว่าเขารู้สึกเช่นไร พอใจหรือไม่ ?
กับภาระหน้าที่ที่พระธรรมทูตไทยดำรงอยู่และปฏิบัติอยู่ ?
ผู้เขียนค่อนข้างแน่ใจว่า ส่วนใหญ่ต้องมองว่า
"ดี"
มากกว่า "เสีย"
อย่างน้อยก็ต้อง "พอใจ"
ดีกว่าไม่มีพระไทยมาอยู่เลย ไฉนจึงกล่าวเช่นนั้น
ตรงนี้ต้องเข้าใจว่า ทัศนะหรือมุมมองของ
ท่านกษิต
ภิรมย์
อาจจะแตกต่างกับคนไทยทั่วไปในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะญาติโยมผู้หาเช้ากินค่ำ
ไม่มีโอกาสวิสาสะกับผู้หลักมักใหญ่ เช่น ท่านประธานาธิบดี ท่านนายกรัฐมนตรี
ท่านรัฐมนตรี ท่านเอกอัครราชทูต ท่านประธานองค์การ ท่านนายกสมาคม เป็นต้น ว่าโดยพื้นเพ
พวกเขาส่วนมากก็มาจากคนยากคนจน หาเช้ากินค่ำ
ชาติหนึ่งได้มีโอกาสมาอเมริกากับเขาสักหน จนตั้งหลักปักฐานได้
เขาก็อยากได้วัด อย่างน้อยตอนตายก็ขอให้ได้เห็นผ้าเหลือง
ดีกว่าไปให้พระคริสต์สวด มันไม่อุ่นใจเท่ากับพระไทยสวดให้
และท่านทูตคิดเช่นไร ..
สถานะอันอยู่ในระดับ
"ผู้ดี-มีการศึกษา" อย่างท่าน
อาจจะคิดว่า พระไทยมาถึงอเมริกานี่ ต้องเปอร์เฟค สปิ๊ก ต้อง เวอรี่กู๊ด แสตน
อินฟร้อนท์ ออฟ เดอะ มิตติ้ง รูม ออร์ อิน เดอะ พลับบลิก เพรซ ฟอร์ เดอะ เวอรี่
คิ๊ว แอนด์ อินทะเรสติ้ง ดาร์มะ สปีช ไล๊ กะ มาติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ฮู
แฮ๊ด เดอะ สปีช "ไอ แฮฟ อะ ดรีม.." ออร์ ไล้ กะ ดาไล ลามะ ฟอร์ม ทิเบต
ฮู แฮส เดอะ ป๊อปปูล่าร์ พิกเจอร์ อิน อินเตอร์เนชั่นแนล วิว ..โส ฮาว อะเบ๊าท์
ไทยมั๊ง ?? ดี๊ส อีส เวอรี่ ซีเรียส เควสชั่น ..
เปรียบเทียบความฝันของท่านเอกอัครราชทูตกษิต ภิรมย์
กับของปวงชนชาวไทยในระดับรากหญ้าในสหรัฐอเมริกาแล้ว อาจจะเหมือนคนไทยบ้านนอก
ใจก็อยากจะถูกรางวัลที่ 1 แต่ถ้ามันไกลเกินฝันก็ขอเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว
ไว้แก้ขัดก่อน พอให้ผ่อนรถผ่อนบ้านต่อไปได้ แต่สำหรับท่านทูตแล้ว
เงินแค่นี้ขี้ประติ๋ว ระดับท่านนั้นต้องร้อยล้านพ้นล้าน เป็นเมกะโปรเจ๊ค
พระกิ๊กก๊อกด๊อกเตอร์อินเดียอะไรพวกนี้ท่านอาจจะเห็นว่า
"กระจอก"
และ
ต้องอัพเกรด
!
ซึ่งมันไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องเหล่านี้
เพียงแต่มีปัญหาว่า ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปนั้น
เขามีความพอใจกับบทบาทของพระธรรมทูตไทยที่มีอยู่
ซึ่งบางอย่างดูออกจะมีมากเกินต้องการด้วยซ้ำไป ที่สำคัญก็คือ
เขาไม่สนใจว่าใครจะเป็นอย่างไร
และไม่ต้องการจะไปบังคับขู่เข็ญใครให้ต้องพออกพอใจไปตามตัวเอง
ต่างจากท่านเอกอัครราชทูตซึ่งมีสติปัญญาเหนือกว่านั้น ท่านเห็นว่า
ถ้าปล่อยพระไทยจัดวงหมอลำอยู่อย่างนี้
กี่ปีกี่ชาติจะได้ขึ้นเวทีใหญ่จัดระดับอินเตอร์เนชั่นแนลได้
เมื่อสถานภาพแตกต่าง ความเห็นก็แตกต่าง การจะปรับความเห็นที่แตกต่างนั้นให้สอดคล้องต้องกัน ทำได้
2 ทางด้วยกัน คือ
1. ท่านต้องเป็นอย่างเขา
หรือเปลี่ยนเขาให้ลองเป็นอย่างท่าน
เช่น ท่านเคยขับรถหลวง กินเบี้ยเลี้ยงเงินเดือน เจอใครก็ต้องให้เขากราบไหว้
ไปไหนก็ต้องเชื้อเชิญ
เหมือนได้รับเชิญให้ไปร่วมงานประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในปีนี้ ก็ควรเปลี่ยนเป็น
ลาออก
แล้วไปดำรงชีพเป็นสามัญชน ไม่มีอภิสิทธิ์อภิเษกอะไร ไปไหนก็ต้องไหว้เขาก่อน
ไม่มีห้องพิเศษต้อนรับ กินก็ต้องแย่งกันกิน
ไม่มีโต๊ะวีไอพีจัดไว้เป็นการเฉพาะ เวลาจะพูดนั้นก็ต้องตะโกนแข่งกัน
ใครเสียงดังกว่าก็ชนะไป เหตุผลเอาไปไว้กันทีหลัง
เหมือนระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย คำพูดถ้าไม่ใช่ "ครับ"
"ค่ะ"
อันเป็นภาษาสุภาพสำหรับชาวบ้านแล้ว ส่วนมากเขาก็เรียกกัน
"กูๆ มึงๆ"
หรือ "ไอ้นั้น อีนี่"
กันทั้งนั้น อย่างท่านคงจะต้องดัดจริตกันอีกนานมั๊ง
กว่าจะพูดมึงพูดกูกับเขาได้ ส่วนชาวบ้านนั้นคาดหวังว่าจะให้เขานั่งพับเพียบในสถานที่อันรโหฐานเหมือนอยู่ต่อหน้าพระหน้าเจ้า
เขาคงทำได้ยาก อย่านับแต่จะให้เปลี่ยนไปนั่งรถหลวงให้หลังแข็งเลย
ซึ่งข้อนี้ดูทีจะเป็นไปได้ยาก
2. ต้องฟังเสียงเขา
มากกว่าให้เขาฟังเสียงท่าน และลงท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นของกันและกัน
นำไปประยุกต์ประสานปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องลงตัวเท่าที่จะเป็นไปได้ เหมือนว่า
"ให้เขาเสนอ และเราสนอง"
ไม่ใช่
"เสนอหน้าจนเกินงาม-พูดพล่ามอยู่คนเดียวเหมือนเก็บกด"
หรือเห็นอะไรก็นึกถึงแต่ "เจ้านายๆ
ที่เมืองไทย"
โดยหวังจะให้จัดการปัญหาสารพัดเหมือนซุปเปอร์ซีอีโอ ซึ่งท้าให้ว่า
ต่อให้ท่านดำรงตำแหน่งไปจนอายุ 100 ปี
ก็คงไม่มีโอกาสเห็นการแก้ปัญหาได้อย่างจริงจังและเป็นมรรคเป็นผลหรอก
เพราะมันขาดความรู้ความเข้าใจและการร่วมแรงร่วมใจของเจ้าของปัญหาที่แท้จริง
สาระตรงนี้จึงมีว่า ท่านกษิต ภิรมย์
แม้จะมีจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชน
แต่ก็ยังคงคิดแบบข้าราชไทยอยู่
คือว่าต้องใช้ระบบราชการจัดการแก้ไขปัญหาให้คนไทยในสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะปัญหาพระธรรมทูต ทั้งๆ ที่คนไทยและพระธรรมทูตไทย
แทบจะไม่เคยสนใจเลยว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยมีอิทธิพลต่อเขาอย่างไรบ้าง
นอกจากจะถือหนังสือนำจากมหาเถรสมาคมไปขอต่ออายุหนังสือเดินทางทุกๆ 4 ปี
เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า
สถานเอกอัครราชทูตไทยไร้บทบาท ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์
ขาดความขลังในกลุ่มชุมชนชาวไทย
จึงทำได้แต่เพียง "ออกงานสังคม"
ดังที่เห็น เหมือนเป็นทางผ่านอันเป็นงานระดับบุรุษไปรษณีย์
จึงไม่แปลกอะไรที่ท่านกษิต ภิรมย์ จะร้องขอ
"อำนาจ"
เพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ ดูเหมือนกับว่า เนื้อชิ้นนี้ที่ชื่อ
"วัดและพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา" นั้น ใหญ่หรือเหนียวเกินไป มีดใบเล็กๆ ระดับ
"เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี"
ทำได้เพียงแค่ปอกมะม่วง นอกนั้นยังไม่สามารถทำอะไรได้
"ต้องขอปังตอ"
ว่างั้น
แต่ถึงแม้ท่านจะได้รับอำนาจเพิ่มเติมขึ้น เช่น
ให้มีอำนาจในการตรวจสอบวัดและสถานะของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา
ก็ต้องถามว่า ทำได้หรือ ?
ไม่ว่ากฎหมายไทยและกฎหมายอเมริกา
เขาให้อำนาจหน้าที่ท่านแทรกแซงกิจการองค์การไม่แสวงหาผลกำไรเช่นวัด
และให้อำนาจละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวได้หรือ ? ท่านเป็นถึงเอกอัครราชทูต
คงไม่ต้องรอคำตอบจากทางเมืองไทย ก็คงมองเห็นแล้วมิใช่หรือว่า
Impossible !!
สรุปก็คือว่า ที่ท่านสู้อุตส่าห์เขียนจดหมายรายงานไปเป็นเรื่องเป็นราวนั้น
เป็นปัญหาของพระธรรมทูตหรือปัญหาของสถานทูตกันแน่ ?
ผู้เขียนสงสัยว่า
จะเป็นปัญหาสถานภาพหรืออำนาจหน้าที่ของท่าน มากกว่าจะเป็นปัญหาว่าด้วยสถานภาพของพระธรรมทูต เสียเองละกระมัง
เพราะยังมิทันรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระธรรมทูตไทยด้วยการฟังเสียงสะท้อนจากประชุมชน
ท่านก็ฟันธงเองว่า "บกพร่อง"
ผู้เขียนจึงจำต้องมองว่า
"เป็นปัญหาของท่าน
เพียงแต่ท่านอาศัยปัญหาของพระธรรมทูตที่ท่านยังมองไม่ทะลุนี้ไปเป็นข้ออ้างเพื่อขออำนาจเพิ่ม"
เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า
เป็นปัญหาว่าด้วยทัศนคติหรือวิสัยทัศน์ของท่านกษิต
ภิรมย์ ที่ยังไม่กว้างไกลเท่าที่ควรอีกส่วนหนึ่งด้วย และปัญหานี้
ถ้าผู้ใหญ่ทางเมืองไทยอ่านจดหมายของท่านแล้ว
"เชื่อ"
โดยไม่ใช้วิจารณญาณอันถ่องแท้ก็แปลว่า
"ระบบราชการไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุงเลย"
ก็เห็นทีว่า
ผู้เขียนคงจำเป็นต้องเขียนหนังสือเจริญพรนายกรัฐมนตรีให้ได้รับทราบเป็นการด่วน
!
ปัญหาข้อที่ 2
"การมาอยู่เป็นการชั่วคราว คือมีวาระประจำการ
มีการหมุนเวียนมากกว่าการมาอยู่อย่างถาวร"
ข้อนี้ ท่านเขียนเป็นประโยคบอกเล่า กล่าวให้ทราบเพียงว่า
"มีพระมาอยู่แบบหมุนเวียนมากกว่าอยู่ประจำการ"
เท่านั้น โดยมิได้ชี้ชัดว่า
"อย่างไหนดี อย่างไหนเสีย"
แต่ถึงท่านจะไม่ชี้ ผู้เขียนซึ่งชอบชี้อยู่แล้ว ก็ขอชี้เพิ่มเติมว่า
"มันมีทั้งดีและเสีย"
คือว่า
พระที่มาอยู่อย่างถาวร มีข้อเสียคือ
อาจจะจับจด ฝังราก ติดวัดติดวา ติดอำนาจวาสนา นานไปก็อาจจะตั้งตัวเองเป็นมาเฟีย
ยึดวัดวาอารามเป็นของตนเอง และบังคับบัญชาพระที่มาใหม่ให้อยู่ในอำนาจ
โดยใช้อำนาจเจ้าอาวาสเป็นเครื่องต่อรอง
ส่วนข้อดีนั้น
พระที่อยู่ประจำก็คือพระที่เสียสละ ไม่ถ่างขาคร่อมแม่น้ำ
ไม่อยู่หลายวัด ไม่กินหลายตำแหน่ง ไม่วิ่งไปวนมา
คือว่าไม่บิณฑบาตแบบเวียนเทียน รับที่แห่งเดียวแล้วกลับวัดเลย อย่าง
หลวงตาชี
เป็นต้น
ท่านอยู่ที่นี่จนได้เป็นเสาหลักของสมัชชาสงฆ์ไทย
ไม่เห็นใครว่าท่านอยู่นานแล้วรากเน่าเลย มีแต่นิยมยกย่องว่า
"เป็นรากแก้ว"
กันทั้งนั้น จริงๆ นะ
พระที่มาอยู่ชั่วคราว มีข้อเสียก็คือ
ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง แต่ร้อนวิชา เหมือนพระธรรมทูตรุ่นใหม่ๆ
มาอยู่ได้เดือนสองเดือนก็อวดภูมิ ทุบโต๊ะทุบตั่ง ระบายอารมณ์ว่า
"ผมเตรียมตัวจะมาสอนฝรั่ง ท่องดิ๊กชันนารีมาเป็นเล่มๆ
อบรมกรรมฐานจนผ่านญาณ 16 มาแล้ว ทำไมให้ผมไปเลี้ยงไก่"
กะอีแค่ไก่คุณยังเลี้ยงจนเป็นไข้ตาย แล้วเลี้ยงฝรั่งน่ะจะไปไหวเหรอ
เดี๋ยวก็เจอข้อหาพาฝรั่งไปพระนิพพานโดยไม่ผ่านมหาเถรสมาคมหรอก
ยิ่งจรไปจรมาก็จะจรจัด เหมือนมวยดีแต่เต้นฟุ๊ตเวอร์ค แต่หมัดไม่เคยออกซักที
ครบยกแล้วเขาเชิญให้ไปรับรางวัลวิ่งวนแทน
ส่วนข้อดีนั้นก็คือว่า
ไม่ฝังราก ไม่ฝากลาย หรือถึงจะฝังจะฝากก็ฝังฝากได้ไม่มากนัก ไม่ลึกมาก
สามารถจะขุดรากถอนโคนได้ง่ายๆ เหมือนไม้ล้มลุก เช่น ถั่วลิสง เป็นต้น
พวกนี้ถอนง่าย ส่วนพวกไม้ตะเคียนนั้น ลวดลายเงางามมาก แต่มีน้ำมัน
แถมมีวิญญาณสิงสู่อยู่ด้วย ยิ่งงามยิ่งน่ากลัว
ต้องระดับจอมขมังเวทย์ถึงคุมอยู่
สรุปของปัญหาข้อนี้ก็คือว่า
มันแล้วแต่ตัวบุคคล มันบ่แน่ดอกนาย
บางนาย เอ๊ย บางรูปอาจจะอยู่นานแล้วดี อยู่ชั่วครู่แล้วแย่ก็มี
บางทีก็อยู่ประเดี๋ยวแล้วดี แต่ยิ่งนานยิ่งแย่ก็มี ผู้เขียนว่า
เราควรจะใช้ระบบ "วิภัชชวาที"
คือว่า แยกเกรดด้วยคุณสมบัติ ดีกว่าจะจัดให้เป็นระดับเดียวกันทั้งระบบ
มันจะเสียมากกว่าดีนะท่านทูตนะ
ปัญหาข้อที่ 3
"การมุ่งมาเพื่อมาขอ
Green Card
และเมื่อได้แล้วก็จะขอลาออกจากเพศบรรพชิต
เท่ากับว่าใช้ผ้าเหลืองและการเป็นพระธรรมทูตเพื่อมุ่งกลับสู่ทางโลก
และมาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา"
ข้อนี้รู้สึกจะหนักหนาสาหัสมาก โดยเฉพาะกับผู้เขียนแล้ว นึกๆ
จะสึกอยู่หลายลมหายใจ
เคยได้ยินคนว่าให้ก็ชักจะอ่อนอกอ่อนใจไม่กล้านุ่งกางเกงแล้ว
ยิ่งมาเจอท่านทูตเขียนเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้อีก ทำให้แทบปลงตกว่า
"ชาตินี้เห็นทีจะต้องตายในผ้าเหลือง ไม่งั้นเสียศักดิ์ศรีพระธรรมทูตหมด
ต้องจำใจอยู่ต่อไป จนกว่าคนไทยจะยอมรับโน่นแหละ
มื้อได๋เล่าน้อสิก้าวผ่านความยากเข็ญ..."
ความจริงแล้ว (ตรงนี้ต้องขอย้ำว่าจริงๆ ประเดี๋ยวคนจะไม่เชื่อว่าจริง) คือว่า
เรื่องนี้มันก็อยู่ที่ตัวบุคคลอีก เพียงแต่..เพียงแต่ว่า สถานะของพระธรรมทูต
โดยเฉพาะก็คือ
วีซ่า
R-1
นั้น ขลังนัก มาอยู่อเมริกาได้ไม่เท่าไหร่
แอพพลายขอกรีนคาร์ดก็ตกมาเหมือนเสกใบไม้
ทำให้พระไทยหลายรูปซึ่งเป็นห่วงพ่อแม่ที่บ้านนอก
กลัวท่านจะตายก่อนได้ทดแทนคุณน้ำนม จึงสู้สละความสุขสบายส่วนตัวออกไปทำงานงกๆ
เพื่อหาเงินช่วยบ้าน และทั้งๆ ที่ออกไปก็มีแต่ความลำบากยากแค้น พี่ทิดคนหนึ่ง
เป็นมหาเปรียญนี่แหละ ระบายความในใจกับผู้เขียนว่า
"เฮ้อ..หนักใจ อาจารย์เอ๊ย
อยู่เป็นพระนี่แหละ สบาย อย่านึกสึกออกมาเล้ย ดูหัวผมสิ
ล้านยิ่งกว่าตอนเป็นพระเสียอีก.."
ทีแรกผู้เขียนก็นึกฉุนว่า
"..ชะไอ้เวร ! มึงนี่ห้ามสวรรค์เสียแล้ว ที่บังอาจมาห้ามกูสึก
ตะทีมึงจะสึกเคยฟังใครห้ามมั่ง"
แต่เมื่อได้ฟังอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ก็ชักจะ
"เห็นใจ.."
โดยไอ้ทิดอดีตเพื่อนซี้มันชี้ว่า
"แต่เดิมนั้น ก็ฝันหวานกันทั้งนั้น เหมือนตอนก่อนพวกเรามาอเมริกานี่แหละ
นั่งกรรมฐานที่แคมป์สนธ์ยังเห็นเป็นเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์และเทพีสันติภาพเลย
พอได้กรีนคาร์ด ก็นึกสึกออกไป กะไปเช่าเขาอยู่ซัก 2-3 เดือน
เก็บเงินซักก้อนก็จะซื้อบ้าน จะผ่อนรถ นอกจากต้องส่งเสียให้ทางบ้านทุกๆ
เดือนแล้ว แต่คนอย่างเรา การศึกษาก็ปูๆ ปลาๆ การงานก็หายาก
กว่าจะได้ก็เล่นเอาเกือบพรรษา จะกลับมาขอข้าววัดกินก็กลัวคนครหา รู้ไหมว่า
เหรียญเซ็นต์สองเซ็นต์ที่เคยเอาปาจิ้งจกนั้น ผมเก็บนับยังเพชรกะพลอย..ทั้งนี้
เพราะพวกเราไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวมาเลย ทำงานอยู่ในวัดก็ไม่มีค่าจ้าง
อยู่ไปวันๆ เหมือนไม่รู้อนาคต"
"ตอนหลัง มีพี่เขาใจดี อายุเขาก็ห่างกับผมประมาณซักสิบกว่าปี
บ้านเขาว่าง เห็นว่าผมลำบากจึงชวนไปอยู่ด้วย ผมก็คิดว่าดีกว่าอยู่อย่างนี้ จึงตัดสินใจไป
ก็เช่าเขาอยู่นั่นแหละ แต่ก็มีคนนินทาว่า พวกทิดเราเป็นชาวเกาะ
คือเกาะผู้หญิงอยู่ ดูสิ ผมละเบื้อเบื่อ นี่ถ้าเป็นวันพระนะ
ผมไม่อยากมาวัดหรอก ขี้เกียจมองหน้าคน..."
นั่นคือหัวอกอดีตพระธรรมทูตรูปใดรูปหนึ่ง
และคงจะมีอีกหลายท่านที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
ท่านเอกอัครราชทูตลองฟังเสียงเหล่านี้บ้างสิเป็นไร
อาจจะเห็นใจขอเปลี่ยนข้อหาจาก
"คนเห็นแก่ตัว" มาเป็น
"เธอ..ผู้เสียสละ"
แบบพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ บ้าง
มุมมองระหว่างเรื่องนี้ก็มีสองทัศนะ คือทัศนะของคนที่ไม่เคยบวช เช่นท่านกษิต
ภิรมย์ ก็จะมองเห็นว่า "พระธรรมทูตไทยใช้สิทธิพิเศษของพระธรรมทูต พอได้กรีนคาร์ดแล้วก็สึกไป"
ซึ่งมันก็จริง แต่ท่านต้องมองให้จริงด้วยสิว่า พระที่จะสึกนะ
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ห้ามเขาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเรื่องสึกเป็นเรื่องธรรมชาติ ถึงไม่มาอเมริกา
ถ้าอยู่เมืองไทยท่านก็ต้องสึกอยู่ดี
แต่ถ้ามองในแง่ของพลเมืองคนไทยก็อาจจะได้อีกมุมว่า
"เออ พระไทยมาถึงอเมริกา
ได้กรีนคาร์ดแล้วสึก ก็ดีสิ มีทิดอยู่เยอะๆ เขารู้เรื่องวัดเรื่องวา
อนาคตพระศาสนาในอเมริกานี่ก็ยังไม่แน่นอน คนเฒ่าคนแก่ก็นับแต่จะร่วงโรย
ได้พวกทิดหนุ่มๆ เขามีครอบมีครัว ต่อไปเขาก็ต้องเข้าวัดมาเป็นกำลังพระศาสนา"
ซึ่งพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในคราวไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดีย
เมื่อ พ.ศ. 2528 ว่า
"แล้วก็ต้องขอโทษ ถ้าจะกล่าวว่า
การเป็นบุคคลชั้นนำอะไรนี่ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะอยู่เพศบรรพชิตเท่านั้น
เพราะว่าท่านที่สำเร็จไปจากที่นี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ได้ลาสิกขาไป
แล้วไปมีงานมีการทำ เป็นคฤหัสถ์ อยู่ในวงการราชการบ้าง เอกชนบ้าง
ผมถือว่าท่านเหล่านั้นยังอยู่ในภาวะเป็นบุคคลชั้นผู้นำสำหรับวงการพระศาสนา
และก็มีประโยชน์เกื้อกูลแก่กิจการพระศาสนามาก..." (ตามทางพุทธกิจ หน้า 39
บรรทัดที่ 6)
ลองฟังทัศนะจากนักปราชญ์ผู้มองโลกในแง่ดีมั่งสิ ท่านทูตที่รัก
อีกประการหนึ่ง การที่พระธรรมทูตได้กรีนคาร์ดแล้วสึกนั้น
น่าจะเป็นคุณต่อสถานทูตเอง
ที่ไม่ต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยอะไรอีก
เพราะคนที่มีกรีนคาร์ดแล้ว ส่วนมากเขาไม่ก่อปัญหาให้แก่สถานทูตไทย
หรือท่านอยากให้มีโรบินฮู๊ดไทยเต็มอเมริกา ??? นี่ไง
!
ที่คนไทยเขาพูดกันจนฝังใจว่า ข้าราชการไทยนั้น ดีก็แต่กีดกันพวกเดียวกันเอง
ไปยื่นเรื่องมาเมืองนอกก็ทำหน้างอขู่ตะคอก นอกจากจะไม่ส่งเสริมแล้ว
ยังกีดกันกันอีก แต่พอทางนี้ดิ้นรนจนได้ดิบได้ดีแล้ว
ก็พวกข้าราชการไทยนี่แหละรีบขอความช่วยเหลือเชียว
!
อย่าให้พูดเลย
ในความเป็นจริงแล้ว กรีนคาร์ดมิใช่สาเหตุใหญ่ว่าพระธรรมทูตไทยทุกรูปจะต้องสึก
ถ้าหากว่าได้กรีนคาร์ดแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไม
หลวงตาชีเอย พระเทพกิตติโสภณ
ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยเอย พระราชธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยแอลเอ
และรองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยเอย
และอื่นๆ อีกมากมาย ทำไมท่านเหล่านั้นไม่สึก
? เพราะทุกรูปก็ล้วนแต่มีกรีนคาร์ด
ปัญหาเรื่องกรีนคาร์ดถ้าพูดอย่างเปิดอกแล้ว พวกพระธรรมทูตเขาไม่กลัวหรอก
กลัวแต่ว่าพวกโยมนั่นแหละจะไม่กล้า เพราะว่าโยมมีอคติต่อพระนะสิ
มันจึงเหมือนคำถามที่คิดขึ้นด้วยความอิจฉาในความได้ดีของคนไทยด้วยกัน
ส่วนฝรั่งนั้นผู้เขียนยังไม่เคยได้ยินเขาพูด อยากรู้หรือว่าพระไทยคือใคร
ก็ลองไปอ่าน
"คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา"
ดูได้ ตะทีพระไทยทำงานงกๆ บางรูปนั้นตายในหน้าที่ จะนำศพกลับไปยังยากเย็น
ต้องขอบริจาคจากญาติโยมอีก อยู่วัดยังไม่มีอินชัวรั้นเลย
มิต้องนับว่าจะมีเงินเดือนเงินดาวหรือเงินประจำตำแหน่งเหมือนข้าราชการสถานทูต
ขนาดสร้างวัดอยู่เองแท้ๆ ไม่ได้ขอเงินรัฐบาลแม้แต่เซ็นเดียว
ยังถูกมองตาเขียวว่า "จะโกง"
บางรูปผ่าตัดติดหนี้เป็นหมื่นเป็นแสน
ไม่เห็นว่าทางสถานเอกอัครราชทูตจะยกขึ้นเป็นปัญหาเร่งด่วน กลับยกปัญหากรีนคาร์ดมาพูดก่อน
เห็นแล้วอ่อนใจ
พูดเหมือนกับว่าพระไม่มีหัวใจ
!
เราคนไทยด้วยกันนะ
ปัญหาข้อที่ 4
"การไม่รู้กฎเกณฑ์ของฝ่ายสหรัฐฯ
เกี่ยวกับสถานะของตนและสิ่งซึ่งควรปฏิบัติอย่างเพียงพอ"
ข้อนี้ก็เอาอีก ถามว่า
"ท่านเอกอัครราชทูตคิดเองเออเองหรือเปล่า ?"
พระธรรมทูตไทยเรานั้นมิได้โง่ถึงขนาดอ่าน เอ บี ซี ดี ไม่ออกหรอก
ส่วนใหญ่แล้วเขาเรียนจบปริญญาตรี ถึงไม่มีปริญญาก็ยังมีผู้ช่วย
ถึงแม้ท่านจะตั้งกฎเกณฑ์ว่า
"ไม่รู้...อย่างเพียงพอ" ก็ขอถามว่า
"อะไรหรือคือความพอเพียงของท่าน"
ตรงนี้เราอย่าเถียงกันแบบเอียงเข้าข้างตัวเองดีกว่า
เอาสถิติมาว่ากันเลยก็ได้ ถามว่า
"พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาจำนวน 800 รูป
โดยประมาณนั้น มีซักกี่องค์ที่เกิดปัญหาว่าด้วยกฎเกณฑ์ของฝ่ายสหรัฐฯ
เกี่ยวกับสถานะของตนและสิ่งซึ่งควรปฏิบัติอย่างเพียงพอ" ขนาดเขาออกกรีนคาร์ดให้แทบจะทุกองค์เนี่ยนะ
ท่านยังว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหรัฐอเมริกาไม่เพียงพออีกหรือ
หรือว่าต้องให้พระไทยได้เป็นผู้ว่าการรัฐแมรี่แลนด์หรือนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์คก่อน
จึงจะถือว่ารู้เรื่องอเมริกาอย่างเพียงพอ
ถ้าจะหาคุณสมบัติตามที่ท่านกษิต ภิรมย์ กำหนดมานั้น
ผู้เขียนว่าคงไม่มีพระธรรมทูตท่านไหนได้มาอเมริกาหรอก นอกจากว่าท่านกษิต
ภิรมย์
จะตัดสินใจไปบวชแล้วสมัครเป็นพระธรรมทูตมาสหรัฐอเมริกาเสียเองเท่านั้น
ก็จะได้พระธรรมทูตไทยที่เปอร์เฟคสุดยอดคนหนึ่ง
กลัวแต่ว่าจะไปจำพรรษาในสถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
แทนการไปอยู่ที่วัดไทยนะสิ
ปัญหาข้อที่ 5
การไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อไม่ได้ ต้องพึ่งบุคคลที่สาม
(โดยเฉพาะระดับเจ้าอาวาส)
ซึ่งอาจถูกนำพาหรือแนะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดหรือการกระทำที่มิบังควร
ข้อนี้ก็ขอถามว่า
"วิตกวิจารณ์ไปเองหรือเปล่า"
คนระดับเจ้าอาวาสถ้ายังถูกนำพาหรือแนะนำไปในทางที่ผิดพลาดจนถลำไปสู่การกระทำที่มิบังควร
ผู้เขียนว่าก็สมควรแล้ว แต่นั่นมันเป็นเรื่องส่วนตัว
มิใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะต้องไปร้อนแทนถึงกับจะต้องจับไปอบรมภาษาอังกฤษเสียใหม่
ในความเป็นจริงแล้ว พระธรรมทูตยุคใหม่
ก่อนจะมาก็ได้รับการอบรมด้านภาษามาพอประมาณ
ที่ไม่รู้เรื่องนั้นมีเพียงน้อยนิด แต่ก็ยังมีผู้ช่วยดังว่า
และส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าอาวาสแต่พูดจาภาษาอังกฤษไม่ได้นั้น
ก็เป็นเจ้าอาวาสวัดไทย อยู่ในชุมชนไทย
ท่านมีมือมีเท้ามีที่ปรึกษามากมายถ้าต้องการ
เว้นเสียแต่จะโง่แล้วอวดฉลาด หรือ
"ถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก" เท่านั้น
ก็เท่ากับว่าสมยอม
ซึ่งนั่นมิใช่เรื่องไม่รู้ภาษาอังกฤษเพียงด้านเดียว
บางคนขนาดจบด๊อกเตอร์เมืองนอกยังโดนหลอกให้ชอกช้ำใจเลย เรื่องนี้ขอผ่าน
ปัญหาข้อที่ 6
การไม่รู้ภาษาอังกฤษ
ทำให้การมีบทบาทในการเผยแพร่พุทธศาสนาแก่คนอเมริกันมีข้อจำกัด
และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่า
พุทธศาสนาแบบไทยนั้นเต็มไปด้วยหรือกอปรด้วยพิธีกรรมทางกาย มากกว่าจิต
ปัญหาข้อนี้ ทางสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะคณะกรรมการอำนวยการ
และทางมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ควรจะตระหนักให้ดี
เพราะเขามิได้ถามเฉพาะคุณสมบัติส่วนตัวเรื่องภาษาอังกฤษ
แต่ยังคลุมไปถึงนโยบายในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกานี่เอง
ท่านทูตจะจงใจหรือไม่ก็ตามแต่ แต่ก็ต้องขอยืดอกยอมรับว่า
"ท่านพูดถูก"
ความสามารถของพระไทยในการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร
และเผยแพร่พระพุทธศาสนา
รุกเข้าไปในสังคมอเมริกันนั้น
"อ่อนปวกเปียก ไม่เป็นโล้เป็นพาย"
ทั้งนี้ต้องโทษตั้งแต่ต้นทางคือ ระบบการศึกษาของพระไทยที่ไม่สอนสั่ง
เมื่อไม่สอนแล้วจะเอาความรู้ความสามารถมาจากไหน เห็นมีก็แต่
กำหนดกฎเกณฑ์เอาคุณสมบัติระดับนั้นๆ เท่านั้น นั่นจึงเป็นปัญหาที่นับว่า
ท่านทูตกษิต ภิรมย์
ได้นำเสนอประเด็นอย่างถูกต้องและกล้าหาญ แม้ว่าประเด็นอื่นๆ
ท่านจะไม่ค่อยชัดเจนก็ตาม แหมขยันต่อยตั้งร้อยกว่าหมัด
มันก็ต้องโดนมั่งแหละน่า...ไม่บนก็ล่างล่ะ
ทางออกนั้น ก็เห็นจะต้องร้องเรียนไปทางต้นสังกัด คือมหาเถรสมาคม
ให้ปรับปรุงยกระดับการศึกษาของพระสงฆ์ไทยให้เป็นอินเตอร์
จะได้ไม่ถูกคนตำหนิว่าพูดเป็นแต่ภาษากระเหรี่ยงอีก
ส่วนเรื่องพิธีกรรมที่เน้นไปทางกายภาพมากกว่าทางใจ
ข้อนี้ก็เห็นสมควรกราบเรียนทางสมัชชาสงฆ์ไทยทำหนังสือเวียนไปให้วัดต่างๆ
ได้หันมาจัดศาสนพิธีแบบสมดุล จะเป็นมรรคเป็นผลมากกว่า ของมันซ่อม เอ๊ย แก้ได้น่ะ
ดูแต่ภาษาบาลีสิ เดี๋ยวนี้มีสอบซ่อมแล้วนะจ๊ะ
ต่อไปก็คงลงทะเบียนเรียนออนไลน์ได้เลย
ปัญหาข้อที่ 7
การโยกย้ายวัด
การถูกเชิญให้ไปอยู่วัดอื่น หรือไปตั้งวัดใหม่ดูค่อนข้างง่าย
และการรองรับวัดใหม่ มักจะขาดความพร้อมต่างๆ
ปัญหาข้อนี้ท่านตีขลุมเลย ตั้งแต่ การโยกย้ายวัด การถูกเชิญให้ไปอยู่วัดอื่น
ซึ่งเป็นปัญหาส่วนบุคคลของพระธรรมทูต ส่วนคำว่า
"การตั้งวัดใหม่ดูค่อนข้างง่าย"
ข้อนี้เป็นปัญหาขององค์กรคือวัด และข้อที่ว่า
"การรับรองวัดใหม่ มักจะขาดความพร้อมต่างๆ"
นั้น
เป็นปัญหาว่าด้วยความบกพร่องของการรับรองวัดให้เป็นสมาชิกของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
เป็นปัญหา 3 ระดับทีเดียว
7.1 การโยกย้ายวัด
การถูกเชิญให้ไปอยู่วัดอื่น ดูง่าย ? ความจริงแล้ว
สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาก็รับรู้รับทราบปัญหามานานแล้ว
ไม่ใช่ว่าเป็นแต่จำวัดอย่างเดียว ข้อนี้มีที่อ้างอิง คือว่า
มีมติสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
ว่าด้วยการย้ายวัดของพระธรรมทูตมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 แล้ว สาระก็คือ
พระธรรมทูตที่จะย้ายวัดนั้น
ต้องได้รับการยินยอมหรือรับรองจากเจ้าอาวาสทั้งวัดที่ตนเองสังกัดอยู่และวัดที่จะย้ายไปอยู่ใหม่
เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในวงพระธรรมทูต
แต่วงการทูตของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี
กลับไม่มีข้อมูลอยู่ในมือหรือไง จึงได้นั่งเทียนเขียนด้วยข้อมูลเก่าๆ
เหมือนตกยุค ที่บอกว่าใช้เวลานานถึง 9 เดือนในการศึกษาและรวบรวมเรื่องนี้
ก็ไม่ทราบว่าท่านไปรวบรวมมาจากปากของใคร หรือจากหนังสือพิมพ์ฉบับไหน
แค่ข้อมูลโต้งๆ ก็ยังพลาด ทั้งๆ ที่วัดไทย ดีซี ก็อยู่ไกลไม่กี่คืบ
ข้อมูลไม่มีท่านก็ไม่ยอมขอ ไม่รู้ก็ไม่ยอมถาม มองข้ามไปหมด
แล้วมาอวดตรัสรู้เขียนเป็นตุเป็นตะรายงานเจ้านาย ทั้งๆ
เขามีการแก้ไขเป็นขั้นเป็นตอนมาก่อนท่านจะมาดำรงตำแหน่งแล้ว
หรือจะอ้างว่าระลึกชาติไม่ได้ จึงไม่รู้ข้อมูลของสมัชชาสงฆ์ไทยดังกล่าว
7.2 การตั้งวัดใหม่
ดูง่าย ?
แสดงว่าท่านเคยตั้งวัดมาแล้วหรือไงจึงเห็นว่าง่าย
! เรื่องนี้ถ้าใครอยู่ในฐานะคนทำงานตัวจริง ก็จะรู้ว่า "มันไม่ง่ายเหมือนท่านทูตพูดหรอก"
เพราะการตั้งวัดนั้น ต้องมีองค์ประกอบมากมาย เช่น ปรัชญา อุดมการณ์
หรือวัตถุประสงค์ บุคคลากร และเงินทุน
ยังไม่นับว่าจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไรในแต่ละรัฐ
โดยเฉพาะระยะเวลานั้นไม่มีกำหนดยุบเลิก เว้นเสียแต่ว่าจะไปไม่รอดเท่านั้น
แค่นี้เราก็จะเห็นว่า
คนผู้ริเริ่มสร้างวัดต้องมองให้ไกลไปจนถึงรุ่นต่อไปว่าจะหาใครมาทำงานแทน
มิใช่ตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่มีแต่คนแย่งกันเป็น
จึงไม่ต้องพะวักพะวงว่าจะไม่มีคนมาดำรงตำแหน่ง กลัวจะล้นตำแหน่งเสียมากกว่า
น้ำตาสมภารกับน้ำตาเอกอัครราชทูตนั้นจึงต่างสีกันฉะนี้
แต่ทีนี้มิใช่ว่าตะแบง ในความเป็นจริงเราก็ต้องยอมรับว่า
การแก้ไขปัญหาในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสิทธิส่วนตัวบุคคลดังกล่าวนี้ ยกตัวอย่าง ที่เมืองไทย
มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ.2505 แต่ว่าเวลาวินิจฉัยให้ใครสึก ถ้าหากว่าพระรูปนั้นดึงดันไม่ยอมทำตาม
มหาเถรสมาคมจะเอาอำนาจอะไรไปจัดการ
ก็ต้องขอการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของราชการ ทีนี้ถ้าทางราชการไม่ร่วมมือ
มหาเถรสมาคมจะทำอะไรได้
ดูอย่างพระราชบัญญัติฉบับมหาเถรสมาคมที่ส่งผ่านมือนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่ปีมะโว้นั่นประไร
จะให้มหาเถรสมาคมตั้งกองกำลังติดอาวุธไว้จัดการปัญหาเองฉะนั้นหรือ ?
ปัญหาพระไทยในอเมริกานี่ก็เช่นกัน
ถ้าพระรูปนั้นมิได้ประพฤติผิดกฎหมายสหรัฐอเมริกา แต่อาจจะผิดกฎเกณฑ์ทางศาสนา
ซึ่งเขาถือว่าเป็นเพียงองค์กรการกุศล เหมือนชมรม-สมาคม
ใครจะเข้าจะออกก็เป็นสิทธิที่กระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ
นอกเสียจากว่าจะทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเขาเท่านั้น
ท่านเป็นถึงเอกอัครราชทูตย่อมจะทราบปัญหาดีว่า
"มีความลักลั่นกันในจุดนี้"
จุดที่
"สมัชชาสงฆ์ไทยไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชานอกเหนือไปจากเรื่องพระธรรมวินัย"
พระผู้ใหญ่จึงพยายามใช้ "พระคุณ"
มากกว่า "พระเดช"
จัดการแก้ปัญหาแต่ละข้อด้วยความละมุนละม่อม
จึงสามารถพยุงฐานะของสมัชชาสงฆ์ไทยให้ยืนยงคงอยู่ได้มาจนทุกวันนี้ ไม่งั้นแตกกันไปนานแล้วโยม
7.3 การรองรับวัดใหม่
มักจะขาดความพร้อมต่างๆ
ข้อนี้ท่านก็ไม่ชี้ให้ชัดอีก ว่าคำว่า
"ความพร้อมต่างๆ"
ที่ท่านตั้งประเด็นไว้นั้น มันมีอะไรบ้าง เช่น วัดต้องมีที่กี่เอเคอร์
สมาชิกกี่พัน ตู้เย็น ทีวี หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชามรามไห จำนวนเท่าไร่
เงินในแบงค์อีกซักกี่หมื่น เจ้าอาวาสต้องพูดจาภาษาอังกฤษได้
หรือต้องบรรลุธรรมขั้นไหน เป็นต้น จึงจะเข้าเกณฑ์
"ความพร้อมต่างๆ"
ที่ท่านอยากให้มีให้เป็น ก็เขียนให้มันชัดเจนหน่อยสิ
การพิจารณาเลื่อนขั้นขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศคนต่อไปจะได้ง่ายขึ้น
ความจริงแล้ว สมัชชาสงฆ์ไทยมีข้อกำหนดว่าด้วยคุณสมบัติของวัดต่างๆ
ที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกของสมัชชาสงฆ์ไทยค่อนข้าง
"หิน"
ทีเดียว คือว่า ต้องประกอบด้วย 1.ใบโฉนดที่ดินเป็นชื่อวัด
2.บายลอว์ส
และ
3.ใบยกเว้นภาษีจาก
IRS
จึงจะถือว่าเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา
สมัชชาสงฆ์ไทยก็ถือเอากฎเกณฑ์อันเป็นสากลนั้นๆ มาเป็นหลักใหญ่ในการพิจารณา
แต่ทั้งนี้ยังมีเรื่องของจริยาพระสังฆาธิการ
ว่าด้วยความร่วมมือกับองค์กรสงฆ์คือสมัชชาสงฆ์ไทย เป็นองค์ประกอบ
แม้แต่ว่าถ้ามีปัญหาในการบริหาร หรือเกิดอธิกรณ์ขึ้นกับวัดต่างๆ
สมัชชาฯ ก็มีอำนาจในการเข้าไปจัดการดูแล ตามเหตุและปัจจัยจะเอื้ออำนวย
มิใช่ว่าพอใครตั้งวัดได้แค่ "ตั้งไข่ล้มต้มไข่ยืน"
สมัชชาฯก็ปล่อยผ่านให้เป็นสมาชิกถาวรแห่งความมั่นคงอย่างนั้น
สมัชชาสงฆ์ไทยไม่ใจง่ายเหมือนเมื่อปีกลายหรอก สิบอกไห่
ปัญหาข้อที่ 8
เจ้าอาวาสหรือพระธรรมทูต มิได้เป็นประธานวัด หรือมูลนิธิก่อตั้งวัด
อำนาจทางการบริหารวัดจึงตกอยู่ที่ฝ่ายฆราวาส
ปัญหาข้อนี้ถ้าดูให้ดี จะเป็นปัญหาสำหรับวัดใหญ่ๆ และเก่าแก่เสียมากกว่า
ส่วนวัดใหม่ๆ สมัยนี้ ไม่มีปัญหาแล้วล่ะ สมัยเก่านั้นพระไทยมาทีหลัง
เขาตั้งเป็นสมาคมอะไรขึ้นมาก่อน แล้วสร้างวัดไว้ภายในสมาคมนั้น
พระเจ้าอาวาสจึงไม่มีอำนาจ แต่พระไทยยุคหลังๆ
ท่านรู้และเข้าใจปัญหา
จึงพยายามสร้างวัดให้พระมีอำนาจ แต่ก็ยังมีคนมองว่า
"กลัวพระจะมีอำนาจมากไป"
เสียอีก มองมุมไหนก็ไม่สะมะดุลอยู่ดี
ดังนั้น ปัญหานี้จึงแทบจะเป็นปัญหาเก่า เวอร์ชั่นนี้น่ะเขาไม่ดูกันแล้วล่ะโยม
ปัญหาข้อที่ 9
การขาดการติดตามว่าด้วยพระธรรมทูตอยู่ที่ไหน
หนังสือเดินทางมีอายุการใช้การได้หรือไม่ และสถานะการได้รับการตรวจตราหรือขอต่ออายุวีซ่า
ข้อนี้ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร สมัชชาสงฆ์ไทยเองก็มีระเบียบอยู่แล้ว
ว่าพระธรรมทูตไทยต้องมีสังกัดอยู่เป็นหลักแหล่ง
ถ้าไม่ชัดเจนก็ไม่ขอต่อวีซ่าหรืออายุพาสปอร์ตให้
ถือว่าเป็นการควบคุมในระดับที่ดี (เป็นระดับประหารชีวิตเชียวล่ะ)
แต่จะให้สืบเสาะว่าแต่ละวันมันไปไหนกันบ้าง ก็ขอถามว่า
"ว่างนักหรือไง ?"
ยิ่งเรื่องการตรวจดูอายุหนังสือเดินทางและวีซ่า
เรื่องนี้ถ้าพระธรรมทูตไม่ตรวจตราดูสถานะของตนเองก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
จะให้ไปตรวจให้คนอื่นหรือสอนคนอื่นให้พ้นทุกข์คงเป็นไปไม่ได้ ก็สรุปว่า
มิใช่เรื่องของสมัชชาสงฆ์ไทยที่จะต้องไปทำในจุดนั้น แต่หลวงพ่อประธานสมัชชาฯ
ท่านก็ประกาศอยู่ตลอดเวลาว่า
"ถ้าใครมีอายุวีซ่าหรือว่าพราสปอร์ตจะหมด ต้องแจ้งให้ทราบก่อนอย่างน้อย 6
เดือน ท่านจะรีบดำเนินการให้ จะส่งมาก่อนหน้านั้นก็ไม่ว่า
ขออย่าช้าเกินไปเป็นใช้ได้" แสดงว่า
ท่านเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องนี้อยู่เต็มหัวใจ
ถ้ายังตำหนิท่านอีกก็เห็นจะเป็นอนันตริยกรรมแล้ว
ปัญหาข้อที่ 10
การดำเนินการบริหารปกครองพระธรรมทูต โดยสมัชชาสงฆ์หรือองค์กรกลาง
ขาดความต่อเนื่องและทั่วถึง หรือขาดพละกำลัง หรือความศักดิ์สิทธิ์
ข้อนี้ถือว่าเป็นเผือกร้อนสำหรับองค์กรกลาง คือสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
ว่าโดยเฉพาะก็คือ คณะกรรมการอำนวยการ อย่างเต็มหน้าเลยทีเดียว
ผู้เขียนก็อยากอบอุ่น
จึงขอสนับสนุนให้สมัชชาสงฆ์เพิ่มการดูแลวัดวาอารามและพระสงฆ์องค์เณรให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ข้อนี้ขอสนับสนุนเต็มร้อย
ยิ่งส่งเงินมาช่วยโดยด่วนด้วยก็ยิ่งดี
ก็หมดปัญหาว่าด้วยพระธรรมทูตแล้ว
ต่อไปก็จะเข้ารายการของวัด
ปัญหาว่าด้วยวัด
ปัญหาข้อที่ 1-2
-
วัดขาดความพร้อมแต่แรกเริ่ม และยังไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ อาทิ การเช่าอพาร์ตเม้นท์
การเช่าบ้านแล้วแปลงเป็นวัด
-
วัดมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไม่เพียงพอ
แต่มุ่งจัดหาเงินเพื่อทำการก่อสร้างให้ใหญ่เกินความ
จำเป็น
สองข้อนี้มีข้อความเกี่ยวเนื่องกัน จึงนำมารวมตอบเสียทีเดียว
จะได้ไม่เสียเวลา คือที่ว่า
"วัดขาดความพร้อม จำต้องหาเช่าบ้านหรืออพาร์ตเม้นท์ทำเป็นวัดก่อน
จึงค่อยขยับขยายออกไปภายหลัง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ"
ข้อนี้ ก็ต้องย้อนถามไปทางรัฐบาลไทยเองนั่นแหละ ว่ามีงบประมาณสนับสนุนไหม
ตั้งแต่มีวัดไทยในสหรัฐอเมริกามาร่วม 30 ปี
เคยมีเงินของรัฐบาลมาสร้างวัดไทยในอเมริกานี่กี่วัด
นอกจากว่าพระธรรมทูตไทยจะต้องขวนขวายทอดผ้าป่าหากฐินหรือบอกบุญจากญาติโยมกันเอาเองแบบว่าตามมีตามเกิด
ปีกลายที่วัดไทย แอลเอ
ผู้เขียนเคยตั้งกระทู้ถามผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะขอเงินทุนจากรัฐบาลไทยซักก้อนมาวางไว้เป็นกองกลาง
ให้วัดต่างๆ ที่ยังมีปัญหาเรื่องเงินหยิบยืมไปใช้ก่อน
แล้วผ่อนใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ย ท่านผู้อำนวยการก็ตอบสะบัดว่า
"รัฐบาลไม่มีนโยบาย
เว้นเสียแต่ว่าท่านจะพาคนไปนั่งกรรมฐานได้เท่านั้น รัฐบาลจะจ่ายค่าหัวให้"
ซึ่งในส่วนของ "เรื่องอื่นๆ"
ท่านทูตก็นำเสนอเจ้านายว่า "เงินทุนที่จะนำมาวางมัดจำในสหรัฐอเมริกา ไม่ควรนำมาจากประเทศไทย
เพราะประเทศไทยยังยากจนอยู่ และวัดในประเทศไทยยังต้องได้รับการบูรณะดูแล
ซึ่งเงินทุนควรมาจากศรัทธาของคนไทยและคนไทยใน/อเมริกันในสหรัฐอเมริกาเอง"
ก็แปลว่า ต้องการให้วัดที่นี่พึ่งพาตนเอง โดยคนในประเทศไทยแม้จะมีเงิน
ท่านก็บอกให้ไม่ต้องช่วยเหลือ ตะทีวัดที่นี่มีทรัพย์สินสมบัติสมบูรณ์แล้ว ท่านกลับเสนอให้
"สมบัติของวัดใดๆ หากมีการเลิกล้ม
ให้กำหนดให้โอนมาเป็นของสมัชชา/องค์กรกลาง หรือเถรสมาคม"
ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะว่าเวลาเขาสร้าง
"กลับไม่ช่วย"
แต่เวลาเขามีครบแล้ว "อยากครอบครอง"
เป็นท่านท่านจะยอมหรือ ? ถามซื่อๆ อย่างนี้แหละ
มันแสดงธาตุแท้ของคนระดับเอกอัครราชทูตว่า
คิดค้ากำไรบนหลังคน
อย่างกรณีเหตุการณ์ "สึนามิ"
ที่ผ่านไปนั้น ท่านลองไปคำนวนดูสิว่า
มีเม็ดเงินจากวัดไทยในสหรัฐอเมริกาส่งไปช่วยจำนวนเท่าใด ?
หลายรูปรีบเดินทางไปดูถึงที่เกิดเหตุ เพื่อหาทางช่วยเหลือ
โดยไม่ได้ออกทีวี (แต่ก็มีบางรูปที่วิ่งไปออกทีวีเอาหน้า)
นี่แหละคือน้ำใจจากพระธรรมทูตและคนไทยผู้สนับสนุนวัดอยู่
ยังมินับว่าแต่ละปีมีความผิดปรกติในฤดูกาล หนาวจัด น้ำแห้ง ฝนแล้ง ไฟไหม้
ไต้ลาม และอื่นๆ
ลองโทรมาขอสิ
รับรองว่าเจ้าอาวาสส่วนใหญ่จะรับปากช่วยไว้ก่อน ทั้งๆ
ที่ข้าวจะกินวันนี้วันพรุ่งมีหรือไม่ก็ยังไม่รู้
รวมไปถึงการส่งเงินช่วยเหลือวัดต่างๆ ในเมืองไทย ผ่านโครงการก่อสร้าง งานบุญ
หรือที่เห็นชัดเจนแทบทุกวัดก็คือ ทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนผู้ด้อยโอกาส
พระไทยทำไปไม่เคยโฆษณา และไม่เคยมียศถาบรรดาศักดิ์อื่นใดเป็นของกำนัล
พวกท่านเอาแต่ตั้งข้อหาในแง่ลบ
หรือเพิ่มเสป็คคุณสมบัติมากขึ้นๆ ทั้งๆ ที่พระธรรมทูตนั้นมีแต่เสียสละ
มิเคยคิดเลยว่าสิ้นปีนี้ฉันจะได้กี่ขั้น
หรือว่าอยากจะย้ายไปกินตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ มหานครแห่งไหนในโลกนี้
หรือว่าคุณสมบัติดังว่ามาฉะนี้ นี่แหละ
คือความบกพร่องในสายตาของท่าน ว่าพระไทยนี่งี่เง่าชะมัด เมียก็ไม่มี
เงินเดือนก็ไม่เอา เขาขออะไรก็ให้ ให้ ให้
สู้พระฝรั่งไม่ได้เลย เขาเอาทุกอย่าง ทั้งเมีย ลูก รถ เงินเดือน
เงินประจำตำแหน่ง เบเนฟิต แถมทำงานแค่รูทีน
ไม่ต้องทอดผ้าป่าหากฐินให้หนักสมองเหมือนพระไทย
เอากันอย่างนั้นไหมล่ะ
!!
ปัญหาข้อที่ 3
-
วัดหมดเวลาไปกับพิธีกรรมทางภายนอก (กาย) และการจัดหาวัสดุสิ่งก่อสร้าง
ทำให้มีเวลากับเรื่องทางจิตใจจำกัด
ข้อนี้ก็ต่อเนื่องมาจากข้อที่ 2 คือว่า เมื่อไม่มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืม
พระสงฆ์เองก็โนอินคัม ทำงานให้วัดก็ไม่มีเงินเดือน ตรวจดูรายงานการเงินในโซเชี่ยลก็ไม่มีเครดิต
ไปขอกู้ยืมแบงค์ไหนเขาก็ไม่ให้ หาโยมมาเซ็นต์โคซายก็ยากเย็น
จำเป็นต้องเช่าวัดเพื่อออมเงินก่อน ก็ถูกท่านทูตต่อว่า
"กระจอก ไม่สมศักดิ์ศรี"
ตะทีจะขอเงินมาจากเมืองไทย ท่านก็ว่า
"ไม่เหมาะสม" พอจัดงานระดมทุน ก็หาว่า
"มุ่งมั่นจัดงานหาวัสดุสิ่งก่อสร้าง
มากกว่าจะสนใจเรื่องจิตใจ"
แล้วถามว่าจะให้พระสงฆ์ไทยทำอย่างไรไม่ทราบ ? ขอบอกเลยนะว่า
ไม่มีพระไทยองค์ไหนเขาอยากแบกหามหรอกของหนัก แต่ที่ต้องทำน่ะเพราะจำเป็น
ไหนล่ะที่ท่านว่าอยากช่วย อยากแก้ไข แต่ทำไมไม่เห็นมีมาตรการอะไรเลย
นอกจะพร่ำอยู่แต่ "ปัญหาๆๆๆๆ"
ส่วนแนวทางแก้ไขที่เป็นมรรคเป็นผลนั้นกลับไม่เห็นซักกระผีก
อย่าทำตัวเป็นตัวช่างฟ้องสิ ท่านต้องมีแนวทางที่ชัดเจนแน่นอนและจับต้องได้
ไม่ใช่วาดวิมานไว้สวยหรูเท่านั้น
ปัญหาข้อที่
4 5 6 7 8
และ ฯลฯ
- กรุงเทพฯ
การเข้าออกวัดของฝ่ายฆราวาสไม่แน่นอนแน่ชัด
สาเหตุผู้หญิงอาจมาสร้างปัญหาในวัดได้
และไม่มีลูกศิษย์หรือฝ่ายมัคทายก ที่จะดูแลสถานที่และจัดหาอาหาร
- แนวทาง
โดยมุ่งเรื่องการเฉลิมฉลองทางศาสนา และจัดประเพณีสำคัญของไทย และยังขาดแผนส่ง
เสริมพระพุทธศาสนา และส่งเสริมสุขภาพจิตใจ
-
โฉนดที่ดินไม่ได้อยู่ในชื่อวัดหรือมูลนิธิวัด และอำนาจของผู้จัดซื้อให้
รวมถึงเจ้าอาวาสวัดด้วย
-
ปัญหาทางด้านบัญชีและรายรับรายจ่าย แผนการจัดหารายได้และการใช้สอย
และผู้มีอำนาจในการ
สั่งจ่ายและการว่าจ้างผู้ประเมิน
-
มักจะไม่มีการแจ้งและขอความเห็นชอบจากสมัชชาสงฆ์/องค์กรกลาง
ในการตั้ง/โอนพระภิกษุ
/พระธรรมทูตจากอีกวัดหนึ่ง
- ปัญหาเรื่องที่ดิน/โฉนด
ยังอยู่ในชื่อของผู้อื่น (ฝ่ายฆราวาส)
ที่รวมๆ มาทั้งหมดน่ะ
เพราะขี้เกียจสาธยายให้มากความ ขอรวมตอบเป็นแกงสำรวมไปเลย คือว่า
ที่ท่านทูตพูดมาทั้งหมดน่ะ ไม่เห็นมีอะไรใหม่เลย
และปัญหาเหล่านี้บางทีเราต้องยอมรับกันว่า มันนอกเหนือวิสัยที่เราจะแก้ไขได้
หรือถ้าแก้ได้ก็ในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วก็แค่ให้คำปรึกษา
แต่จะถึงกับเข้าไปจัดการภายในขององค์กรนั้นๆ เลยนั้น ลำบากมาก
เพราะสมัชชาสงฆ์ไทยเองก็เป็นเพียงองค์กรไม่แสวงหากำไรองค์กรหนึ่งเท่านั้น
ไม่มีสิทธิพิเศษอะไร ทีนี้เมื่อชี้ทางดีทีเสียให้ฟังแล้ว
เจ้าอาวาสหรือกรรมการวัดนั้นๆ จะยินดีปฏิบัติตามหรือไม่ ก็สุดแต่ใจของท่านอีก
ปัญหาการสร้างวัดที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและราชวงศ์
ข้อเสนอ "การจะสร้างวัดที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและราชวงศ์นั้น
ควรมีการปรึกษาหารือกับสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่เสียก่อน
แทนการเสนอเรื่องให้มีการเห็นชอบในประเทศไทยแล้วมามอบให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกลสุลใหญ่
ดำเนินการหรือมาแต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลใหญ่เป็นกรรมการ
โดยไม่ทราบเรื่องราวมาก่อน"
เรื่องนี้ ถึงท่านทูตจะรักษามารยาทไม่ระบุชื่อวัดไว้ในหนังสือ
ผู้เขียนหรือใครได้อ่านก็ต้องรู้ว่าท่านหมายถึง
"วัดนวมินทรราชูทิศ" เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาจูเสต ซึ่งสร้างโดย
พระพรหมวชิรญาณ
โดยประกาศเป็นอภิมหาโครงการว่า
"ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงครองราชสมบัติครบ 60
พรรษา ในปีพุทธศักราช 2547 (ค.ศ. 2004) และทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา
ในปีพุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007)
พุทธศาสนิกชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์
มีโครงการที่จะจัดสร้างวัดขึ้น
เพื่อเป็นบุณยานุสรณียสถานถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ
ขึ้นในเมืองชาติภูมิที่พระองค์ประสูติ คือ ที่เมืองเคมบริดจ์–บอสตัน
หรือเมืองใกล้เคียงในรัฐแมสซาชูเซตส์ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
อันเป็นประโยชน์และสันติสุขต่อประชาชนนานาชาติ
ในชาติภูมิของพระองค์ในสหรัฐอเมริกา ตลอดถึงต่อชาวโลกทั้งมวล.."
ก็คงเป็นเรื่องของความอึดอัดขัดข้อง แบบว่า
"ถูกข้ามหัว"
เพราะเจ้าคุณพรหมวชิรญาณเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จึงสั่งการมาจากเมืองไทย ซึ่ง
"ใหญ่"
กว่าเอกอัครราชทูต เจอรายการน้ำท่วมปากแบบนี้เข้า ก็ทำให้ท่านเอกอัครราชทูตเก็กซิมไปได้เหมือนกัน
แต่ทราบว่าวัดนี้มีหลายก๊กนี่ พระที่อยู่ก็ไม่มีอำนาจ ทุกอย่างอยู่ที่โยมหมด
อะไรๆ เขาก็รายงานข้ามหัวไปให้เจ้าคุณพรหมที่เมืองไทย
ใช้ระบบเหมือนวัดไทยแอลเอเลยนะวัดนี้ สงสัยอยากแตกตัวเร็ว
ก็ต้องกราบเรียนไปยังประธานโครงการวัดนวมินทรราชูทิศนี้ด้วยว่า
ทำให้ดีนะขอรับ อย่าให้กระทบพระเกียรติยศที่ท่านอ้างอิงไว้ล่ะ ไม่งั้นตำแหน่งสมเด็จที่หมายตาไว้เป็นหมันแน่นอนขอรับ
ส่วนเรื่อง "พระภิกษุสงฆ์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าอาวาสในสหรัฐฯ
ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง
และผู้รักษาการไม่สามารถบริหาร/จัดการวัดได้อย่างเต็มที่
ควรมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสที่ประจำวัดจริง
และพระอาวุโสที่ประเทศไทยอาจมีตำแหน่งในมูลนิธิวัดได้"
เรื่องนี้ก็กำลังพ่นพิษที่วัดไทย แอลเอ ซึ่งเป็นวัดแรกในสหรัฐอเมริกา ใช้ระบบ
"เจ้าอาวาสตัวจริงอยู่เมืองไทย
แล้วให้เด็กรับใช้อยู่ทำงานแทน"
พอหลวงเตี่ยตาย เสี่ยใหม่ยังไม่ทันโต ศิษย์สำนักเดียวก็ทะเลาะกันลามปาม
แถมยังมีธรรมยุติเอย ธรรมกายเอย คอยแทรกคอยแซงกระหนาบสองสีข้าง
ดันทุรังออกมาแบบไม่ช้ำในตายก็บุญโขแล้ว พระราชธรรมวิเทศในยามนี้
เฮ้อ หลวงเตี่ย หนอ หลวงเตี่ย ..
ปัญหาว่าด้วยบทบาทและหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย
บทบาทที่ควรได้รับมอบหมาย
-
การสำรวจความพร้อมเพรียงของวัด รวมทั้งแผนงานและสถานะของพระภิกษุสงฆ์
เกี่ยวกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ระยะเวลาการประจำการ
-
การประสานงานกับฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งรัฐบาลกลางและท้องที่
เพื่อให้ได้รับทราบถึงกฎหมายเกี่ยวกับวัด/ภิกษุสงฆ์ ในแง่ของไทย
บทบาทของวัด/พระธรรมทูต ปัญหาสำคัญในการดูแล ลู่ทางการร่วมมือ/ติดตามดูแล
เพื่อทางวัด/พระธรรมทูตปฏิบัติตามกฎหมายทางการสหรัฐฯ ทั้งนี้
เพื่อป้องกันปัญหาหรือแก้ไขปัญหา
- มีส่วนร่วมในการประชุม
และการจัดทำยุทธศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายภิกษุสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติ
เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยถูกต้อง
และเพื่อสร้างฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในสังคมอเมริกันยิ่งขึ้น
3.3
เกี่ยวกับทางกรุงเทพฯ และสมัชชา/องค์กรกลาง
ในการทบทวนยกร่างระเบียบกฎหมายและหลักการประสานงานต่างๆ ใหม่
ในการดูแลจัดการบริหารงานวัดและพระธรรมทูต/ภิกษุสงฆ์
คำว่า
"บทบาทที่ควรได้รับมอบหมาย"
นั้น เป็นคำร้องขออำนาจเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ
"บทบาทในปัจจุบัน
มีอาทิ การต่อหนังสือเดินทาง การเข้าร่วมในพิธีทางศาสนาและงานประเพณีของไทย
และการร่วมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะกรณี
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหากเกิดความขัดแย้ง
การชักชวนโน้มน้าวให้วัดมีภารกิจฝึกสมาธิปัญญา
การตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสทางการเงิน การโอนที่ดิน/โฉนด เป็นของวัด/มูลนิธิ
การมีแผนงานประจำปี และการฝึกธรรมภาษาอังกฤษ เป็นต้น"
ท่านกษิต ภิรมย์ ได้ขอเพิ่มอำนาจเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ
"ขอให้มีอำนาจประสานงานกับฝ่ายสหรัฐ
ทั้งรัฐบาลกลางและท้องที่
เพื่อให้ได้รับทราบถึงกฎหมายเกี่ยวกับวัด/ภิกษุสงฆ์"
ข้อนี้ ถ้านำมาใช้ให้สร้างสรรค์ก็จะดี
แต่มิใช่ว่าเอามาตรวจสอบกันเองจนสับสนว่าคุณเป็นคนไทยหรืออเมริกันกันแน่
อย่างเช่นปัญหาพระธรรมทูตที่เกิดขึ้นวันนี้ คือว่า การยื่นขอวีซ่านั้น
สถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ประเทศไทย
นัดหมายให้พระธรรมทูตรุ่นใหม่ที่กำลังยื่นเรื่องขอวีซ่าเพื่อจะมาจำพรรษาที่วัดไทยในสหรัฐอเมริกา
ได้รับคำตอบให้ไปสอบสัมภาษณ์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งอยู่กลางพรรษาพอดี
ทำให้เดินทางไม่ได้ แถมวัดไทยทางนี้หลายวัด
โดยเฉพาะวัดที่จัดกฐินพระราชทานนั้น จะหมดสิทธิ์รับกฐิน
เพราะหาพระจำพรรษาได้ไม่ครบ 5 รูปตามกำหนดไว้ในพระวินัย
เรื่องนี้ท่านเอกอัครราชทูตจะแสดงความซื่อสัตย์ ซื่อตรงจริงใจ ได้โดยง่าย
โดยรีบทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาที่กรุงเทพฯ
อ้างพระธรรมวินัยให้เขาเข้าใจว่า
วัดไทยต้องประสบปัญหาอย่างไรถ้าพระไทยเดินทางไม่ทันเข้าพรรษา
จะเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก
ส่วนที่สองได้แก่ "ในแง่ของไทย
บทบาทของวัด/พระธรรมทูต ปัญหาสำคัญในการดูแล ลู่ทางการร่วมมือ/ติดตามดูแล
เพื่อทางวัด/พระธรรมทูตปฏิบัติตามกฎหมายทางการสหรัฐฯ ทั้งนี้
เพื่อป้องกันปัญหาหรือแก้ไขปัญหา"
ข้อนี้รู้สึกว่าท่านเป็นห่วงเป็นไยเหลือเกิน
กลัวว่าพระสงฆ์ไทยจะทำผิดกฎหมายสหรัฐอเมริกา จึงต้องขออำนาจเพิ่ม ทั้งๆ ที่
ว่าโดยตำแหน่งแห่งหนแล้ว ปัจจุบันวันนี้
ท่านสามารถใช้อำนาจหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่พระสงฆ์ไทยได้อย่างมากมายมหาศาล
เช่น การประชุมใหญ่สมัชชาสงฆ์ไทย ที่วัดไทย ดีซี เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน
ที่ผ่านมา ถ้าท่านสละเวลาไปร่วม รับฟังข้อคิดเห็น
และสนับสนุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์
ก็จะได้การยอมรับจากพระสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
และได้ศรัทธาจากคนไทยในสหรัฐอเมริกาแบบเนื้อๆ โดยไม่ต้องมาคอยน้อยอกน้อยใจว่า
"เรามีอำนาจวาสนาน้อย"
บทสรุป
ปัญหาเกี่ยวกับวัดวาอารามและพระธรรมทูตในสหรัฐอเมริกานี้
มีอยู่แน่นอน
ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มี
แต่ในความมีนั้นก็มีความแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัย
จะใช้วิธีการแก้เพียงวิธีเดียวนั้น รับรองว่าไม่ได้ผล
ซึ่งก่อนจะแก้นั้นเราต้องหาเหตุหาผลจนกระจ่างจึงค่อยสางออกเป็นชั้นๆ ไป
รวมถึงการแสวงหาข้อมูลและแนวร่วม รวมทั้งวิธีการในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน
หรือที่เรียกว่า บูรณาการ
เพื่อกำจัดปัญหาเก่าให้สิ้นซากและระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาใหม่
เหนือสิ่งอื่นใดก็คืออาการข้างเคียงหรือโรคแทรกซ้อนซึ่งอาจจะเกิดจากการให้ยาแรงเกินไปหรือการประเมินอาการคนไข้ผิด
เป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังอย่างยิ่งที่เดียว
การวางนโยบายให้เป็นระบบดังที่ท่านเอกอัครราชทูตนำเสนอก็เป็นวิธีการอันดี
แต่บางสิ่งบางอย่างมันสงบลงไปแล้ว หรือหาทางแก้ไขได้ผลแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องเปลืองกระดาษวาดโครงการอีกต่อไป ส่วนไหนเกินกำลังอำนาจของเรา
(ไม่ว่าจะโดยอำนาจหน้าที่หรือโดยภววิสัย เช่น
การที่โยมจะแก้ปัญหาของพระซึ่งมีสถานะทางสังคมสูงส่งกว่า เป็นต้น)
ก็ควรพิจารณากำลังอำนาจและภววิสัยของเราเอง
ไม่ใช่กะจะแบกน้ำหนักอย่างไม่มีลิมิต
ถ้าคิดเช่นนั้นก็อาจจะหลังหักหรือโดนน็อกได้
"ความพอเหมาะพอสม"
จึงเป็นคำนิยามของทัศนคติและวิธีการจัดการ ไม่ใช่คิดเป็นอย่างเดียวคือ
"บังคับบัญชา"
ถ้าว่ากันตามภาษาวิชาการก็คือว่า
การใช้นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ประสมประสานให้บรรลุภารกิจอย่างสูงสุด
บางอย่างอาจจะใช้นิติศาสตร์กำกับการอย่างเข้มงวด
แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีรัฐศาสตร์เป็นตัวนำ นั่นแหละจึงจะสมกับคำว่า
"ทูตซีอีโอ"
ตามเนื้อหาที่ประมวลมานี้ ชี้ให้เห็นว่า
ท่านทูตกษิต ภิรมย์
มีเจตนาดีที่จะแก้ไขปัญหาของสังคมพุทธไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา
หากแต่ว่าท่านเน้นไปที่การใช้กำลังมากกว่าจะนิยมความละมุนละม่อม
การประนีประนอม ความอ่อนน้อมถ่อมตัว
อันเป็นหลักการทางการทูตที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทั่วโลก
ส่วนความแข็งกร้าวนั้นเขาจะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นและเลี่ยงไม่ได้ในบางครั้งเท่านั้น
และก็น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านเองก็ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต
ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของโลกอยู่ในเวลานี้
ตำแหน่งหน้าที่ของท่านจึงเท่ากับว่า
เป็นสุดยอดของนักการทูตไทย
ใครผ่านตำแหน่งนี้ไปส่วนมากแล้วจะได้ดีเป็นถึงรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี
และอย่างน้อยก็เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายข้าราชการพลเรือน คุณสมบัติดังว่ามานี้
น่าที่จะเห็นท่านใช้วิถีหรือวิธีทางการทูตอันคลาสสิก
ในการแก้ปัญหาในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา
กลับปรากฏภาพของท่านเอกอัครราชทูตว่า
"นิยมใช้อำนาจ"
คือว่าเป็นคนอำนาจนิยม รวมไปถึงบุคลิกลักษณะอันโผงผางตรงไปตรงมา
ต่างไปจากนักการทูตส่วนใหญ่ที่ใช้การเจรจาต้าอวยเป็นตัวนำ จะว่าท่านกษิต
ภิรมย์ เป็นนักการทูตที่ประหลาดคนหนึ่งที่เคยพบก็คงว่าได้
เมื่อหลงบทบาท ไม่เข้าใจในอำนาจหน้าที่ของตนเอง แต่ไพล่ไปคิดเรื่องอื่นๆ
ซึ่งนอกเหนือภาระหน้าที่ของตนเอง ก็ทำให้ผิดฝาผิดตัว จึงทำให้เกิดอคติ
เกิดมุมมองในแง่ลบ (negative)
ต่อองค์กรสงฆ์ ต่อวงการพระธรรมทูต น่าจะมาเป็นอุบาสก
กลับคิดเป็นเจ้านายพระ น่าจะสนับสนุนกลับจะมาบังคับบัญชา จึงเป็นปัญหาว่าด้วย
ทัศนคติ วิสัยทัศน์ และโลกทัศน์ รวมถึงธรรมทัศน์ ของท่านเอกอัครราชทูตเอง ว่า
สมบูรณ์
หรือ
บกพร่อง
เช่นไร
ในส่วนที่ท่านชี้นำในทางที่ถูกนั้น อาตมาภาพก็ขอน้อมรับไว้ด้วยใจยินดี
และจะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาสงฆ์ไทย วาระวิสามัญ ในเดือนสิงหาคม ศกนี้
ต่อไป
ในส่วนที่ยังคลุมเครือ
ก็ต้องขอคำอธิบายที่ชัดเจนจากท่าน จะได้สบายใจกันทุกฝ่าย
ขอแจ้งให้ทราบว่า พระสงฆ์ไทยเรานั้นมีเมตตาอภัยเสมอ
จะด้วยพลั้งเผลอหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามเถิด
แต่ถ้าเกิดจิตสำนึกในทางเป็นกุศลแล้ว แจ้งให้พระสงฆ์ท่านทราบ กราบขอขมาอภัยเสีย
หรือเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่
พระสงฆ์ไทยเราจะแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน-ผู้ดำรงตำแหน่ง
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี
ยิ่งกว่าอะไร
|