Conflict of powers
แปลว่า
ความขัดแย้งทางอำนาจ แต่ถ้าเป็น
Conflict of
Flowers
ก็แปลว่า ความขัดแย้งของดอกไม้
สำนวนหลังนี้ต้องรอให้เซียนเวทีนางงามช่วยวินิจฉัย
ในวันนี้ผู้เขียนยังไม่ว่างจะไปพูดเรื่องนั้น
อำนาจในเมืองไทยเรานี้มีอยู่ 3 ทาง ใหญ่ๆ ได้แก่
1.
อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์
2.
อำนาจของสถาบันคณะสงฆ์
3.
อำนาจของรัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของปวงชน ตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเมืองไทยนั้น นำเสนอโดย
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี
พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎร์
ผู้นำในการปฏิวัติหรือ
ที่เรียกอย่างสวยงามว่า
"การอภิวัฒน์"
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี และในวันที่
27 มิถุนายน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับแรก
ซึ่งถือว่าเป็นฉบับชั่วคราว และนั่นคือเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า
"รัฐธรรมนูญ"
มาจนกระทั่งปัจจุบัน
ถามว่า ก่อนหน้านั้นรัฐธรรมนูญไปไหน ? ทำไมไม่มีใครรู้จัก ? ก็ตอบว่า แต่เดิมมานั้น
ประเทศชาติปกครองโดยระบบพ่อขุนหรือพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นจอมทัพ
และเป็นต้นบัญญัติแห่งพระอาญาและกฎหมายทั้งปวง ใครจะล่วงละเมิดมิได้
พระดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินคือพระอาญาสิทธิ์ กษัตริย์ตรัสแล้วมิคืนคำ
เป็นกฎหมายใช้ได้ทันที ไม่ต้องมีการลงมติแม้แต่วาระเดียว
!
ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงรัฐธรรมนูญไทยสมัยโบราณ ก็ต้องกล่าวว่า
พระมหากษัตริย์นั่นแหละคือรัฐธรรมนูญ เพราะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นผู้ออกกฎหมาย หรือแม้แต่เป็นปฐมแห่งประเพณีอันดีงามแทบทุกอย่าง
และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเทิดทูนสถาบันพระพุทธศาสนา
ทรงให้ความเคารพยกย่องพระภิกษุสามเณร พระพุทธศาสนาอันรวมถึงพระภิกษุสามเณรจึงอยู่เหนือหรือสูงกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์
และแน่นอนว่าย่อมอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย
พอมามีรัฐธรรมนูญเป็นตัวหนังสือในปี 2475 นั้น ปรากฏว่า
มีการบังคับให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงพระภิกษุสามเณรด้วย
หากแต่กับคำว่า
"พระพุทธศาสนา" คณะราษฎรมิได้ระบุว่า
"ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" หรือไม่ ? แม้แต่คำว่า
"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" ก็มิได้เขียนไว้
!!
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญก็ยังให้สิทธิและอำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์หลายมาตรา
รวมไปถึงสถาบันพระพุทธศาสนาด้วย
นั่นเป็นเรื่องของอำนาจที่เปลี่ยนรูปร่างจากเดิมมาสู่ระบบปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม การมีหรือทรงไว้ซึ่งอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันสงฆ์
อันหมายถึงพระพุทธศาสนาโดยรวมนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ
"พระราชจริยาวัตร" และ
"วัตรปฏิบัติ"
ของพระมหากษัตริย์และพระสงฆ์สามเณรเอง ว่าทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม บำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือไม่
และพระสงฆ์สามเณรนั้น ยังคงรักษาศีล ประพฤติธรรม
นำพาศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอยู่หรือไม่ ?
หากว่ายังคงดำรงรักษาสถานภาพอันดีงามอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
สถาบันทั้งสองก็ย่อมได้รับการเคารพบูชาและให้อำนาจอย่างสูง
ถ้าตรงกันข้ามก็เสื่อมอำนาจความนิยมไปเช่นกัน
ส่วนอำนาจของรัฐบาลนั้น เป็นอำนาจย่อยที่ซอยแบ่งกับอีก 2
สถาบันอันขึ้นตรงต่อรัฐธรรมนูญ คือ ศาลอาญา และสภาผู้แทนราษฎร รวมเป็น 3 อำนาจ
ที่ใช้อำนาจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อสรุปตามนี้แล้ว ก็พอจะประมาณได้ว่า อำนาจในเมืองไทยเรานี้มีอยู่ 5 สถาบันหลัก
ได้แก่
1. สถาบันคณะสงฆ์
หรือสถาบันพระพุทธศาสนา
2. สถาบันพระมหากษัตริย์
3. สถาบันศาลฎีกา
4. สถาบันผู้แทนราษฎร
หรือรัฐสภา
5. สถาบันคณะรัฐมนตรี
แต่ศาลอาญาก็ดี สภาผู้แทนราษฎรก็ดี ถูกตีกรอบให้
"ศาลอาญาต้องสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม" และ
"ผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง"
ทำให้อำนาจทางศาลอาญาและสภาผู้แทนราษฎร ต้องขึ้นตรงต่อ
"นายกรัฐมนตรี"
ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้น
ผู้เขียนจึงยุบรวมอีกสองอำนาจนี้ไว้ในอำนาจของรัฐบาลเป็นอำนาจเดียว
ยิ่งนายกรัฐมนตรีมีเสียง ส.ส.อยู่ในพรรคมากเท่าใด
ก็ยิ่งมีอำนาจทั้งสามนี้เพิ่มขึ้นเท่านั้น นั่นละกระมั่งที่เขาเกรงกันว่า
"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จะเป็นเผด็จการ
เพราะสามารถรวบอำนาจทั้ง 3 มาไว้ในมือ โดยถูกต้องตามกฎกติกาและมารยาทแบบไทยๆ
อย่างไรก็ดี
วันนี้จะเขียนเรื่อง ความขัดแย้งทางอำนาจ
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน จึงขอนำเสนอเป็นเรื่องๆ
ดังต่อไปนี้
Conflict of
powers ครั้งที่ 1
พ.ศ.2544
มีการปรับปรุงระบบราชการในประเทศไทยขนานใหญ่ รวมถึงกรมการศาสนา
ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงในคราวนั้นทำกันอย่างยิ่งใหญ่ มหาเถรสมาคม โดยการแนะนำของนายมีชัย
ฤชุพันธุ์ และนายวิษณุ เครืองาม
ได้ตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535)
ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
เมื่อคณะกรรมการทำการ
"ยกร่าง" เสร็จสรรพแล้ว
ก็นำเสนอมหาเถรสมาคม ๆ ก็ลงมติ
"ให้ผ่าน"
อย่างเป็นเอกฉันท์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
วัดสระเกศ ในฐานะประธานการประชุมมหาเถรสมาคม ได้นำไปมอบให้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในงานบุญที่วัดสระเกศ
กล่าวทาง
พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว
พระวัดป่าบ้านตาด สายพระอาจารย์มั่น จู่ๆ ก็ชวนลูกศิษย์ลูกหาสายวัดป่าประมาณ 5,000
รูป ไปประชุมกันที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 22 เมษายน 2545
กล่าวคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นประธานว่า
"ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย" จึงขอให้รัฐบาล
"ถอนร่างออกไป-ไม่งั้นจะสู้ตาย" ปรากฏว่า
รัฐบาลไทยซึ่งตอนแรกก็กระดี้กระด้านำร่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ
และส่งต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขัดเกลาสำนวน
รอเพียงส่งเข้าสู่ที่ประชุมผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ก็จะสำเร็จเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์สมบูรณ์แบบ แต่ครั้นถูกหลวงตาบัวประท้วง
ก็รีบรับมุก (แต่ก่อนเขียนเป็น-มุข) ของหลวงตาบัว โดยการ
"ดองเรื่อง"
เอาไว้
ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ - ขัดๆ เกาๆ ไปจนกว่าพระสงฆ์จะเข้าใจกันให้เป็นเอกฉันท์ค่อยผลักดันกันขั้นต่อไป นับเวลามาถึงบัดนี้ก็ 4 ปีดีดักแล้ว
คนไทยก็ใกล้จะหายจนกันทั่วทุกตัวตนแล้ว เหลือเพียงพระสงฆ์ยังไม่หายสงสัยว่า
"รัฐบาลไทยเอากฎหมายคณะสงฆ์ฉบับมหาเถรสมาคมไปเก็บไว้ในเซฟของแบงค์ไหน
เมื่อไหร่จะเบิกออกมา.."
ตรงนี้เท่ากับว่า
"รัฐบาลคณะสงฆ์" หรือ
"มหาเถรสมาคม" โดนรัฐบาลตบหน้า
ไม่ยอมรับอำนาจระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และเห็นแก่คณะหรือหมู่ของหลวงตาบัว
"ทัดเทียม" หรือ
"มากกว่า"
มหาเถรสมาคม จึงฟังเสียงหลวงตาบัวมากกว่ากรรมการมหาเถรสมาคม |
Conflict of
powers ครั้งที่
2
วันที่ 16 พฤษภาคม 2548
มีข่าวจากมหาเถรสมาคมว่า ก่อนหน้านั้นมีหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ถึงมหาเถรสมาคม ขอความร่วมมือ "ออกกฎมหาเถรสมาคม ให้วัดต่างๆ
ทั่วประเทศห้ามมิให้มีการขายหวยบนดินภายในบริเวณวัด"
ซึ่งมหาเถรสมาคมได้มีมติว่า
ไม่ควรจะมีการขายหวย เหล้า
และบุหรี่ในเขตวัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โรงเรียน
แต่เนื่องจากหวยบนดินนั้นเป็นผลผลิตหรือสินค้าของรัฐบาล ฉะนั้นการที่จะมาให้ มส.
มีมติห้ามคนขายหวยในวัดจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและสร้างปัญหาให้กับวัด
เพราะคนที่ขายหวยส่วนมากจะเป็นชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณวัด และเป็นผู้ที่มีอิทธิพล
ในทางปฏิบัติจึงค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม
เพราะขึ้นอยู่กับผู้ซื้อเป็นสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม
การพนันทุกชนิดเป็นอบายมุขประเภทหนึ่งตามหลักของพระพุทธศาสนา
ซึ่งวัดและพระสงฆ์ได้สั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้ละเว้นมาโดยตลอด
แต่การที่รัฐบาลจะให้พระสงฆ์มีมติไปห้ามโดยคำสั่งจาก มส.
เกรงว่าจะมีปัญหาแก่วัดและพระสงฆ์ โดยเฉพาะอาจไปสร้างความลำบากใจให้กับวัดเล็กๆ
ในต่างจังหวัดหรือวัดที่มีคนเข้าไปสักการะมากๆ
ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวัดกับชุมชนได้ อย่างเช่นที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ก็เคยมีการห้ามไม่ให้คนมาขายหวยในเขตวัด แต่ก็ถูกประท้วงใหญ่โต
จนที่สุดก็ต้องมีการยกเลิกไปในที่สุด
ดังนั้น
ม.ส.
จึงให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหนังสือหารือรัฐบาล
เพื่อให้เป็นเรื่องของภาครัฐที่จะไปควบคุมกันเอง
โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีห้าม ไม่ใช่โดย ม.ส. !
อนึ่ง
สมเด็จพระพุฒาจารย์
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า
กรณีการขายหวยบนดินก็จะมีการขายลอตเตอรี่ควบคู่ไปด้วย
หากจะห้ามรัฐบาลก็ควรจะห้ามทั้งหมด รวมทั้งเหล้าและบุหรี่
และจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังด้วย.."
ซึ่งหลายคนเขายังชื่นชมว่า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านพูดดี ดีกว่าพูดเรื่องแมลงวันเป็นไหน ๆ
นั่นนับเป็นการ
"ปัดทิ้งข้อเสนอของรัฐบาลไทย"
โดยรัฐบาลคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการ แบบว่า
"เบิ้ล"
หรือ
"ตอกกลับ"
อย่างไม่ไว้หน้า แทบว่าจะเป็นการ
"สอนมวย"
กันเลยทีเดียว
แม้ก่อนหน้านั้นจะมี
"กรณีพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินวัด" ซึ่งมหาเถรสมาคม
"ไม่เห็นชอบ" แต่ก็เป็นการออกมติ
"แบนพระราชบัญญัติฉบับนั้น" ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มิได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง |
Conflict of
powers ครั้งที่
3
วันที่
22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีรายการขัดแย้งเรื่องจัดงานวันวิสาขบูชากันขึ้น ระหว่าง รัฐบาล ซึ่งได้มอบหมายให้
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแผนกทรัพยากรมนุษย์ เข้ามาเป็นผู้ประสานงาน
กับคณะสงฆ์ไทยส่วนใหญ่อันอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม
พล.ต.จำลอง เป็นผู้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ก้าวเข้าสู่ประตูการเมือง
ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ได้ดิบได้ดีเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ก็ยังเอื้อเฟื้อเจอจานยกยอ พล.ต.จำลอง ไว้ในตำแหน่ง
"ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายทรัพยากรมนุษย์"
และมอบหมายงานใหญ่ให้ทำ เช่น
10 เมษายน 2548 เป็นผู้ประสานงานทำบุญประเทศ
โดยครั้งนั้นมหาเถรสมาคม ด้วยความรู้ไม่ทัน
จึงยินยอมออกมติสนับสนุนยกขบวนกันไปร่วมงานจนล้นวันพระแก้ว
แล้วอีกสามวันหลังจากนั้น ก็มีข่าววว่า "โต้โผที่จัดงานทำบุญประเทศไทยครั้งนี้ คือ
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
!!"
ว่ากันว่าเล่นเอาสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปแทบลมจับเลยทีเดียว หน้าเขียวเข้าใส่รัฐบาล
โทษฐานหลอกพระผู้เฒ่า แต่ก็ทำไงได้ มันถลำตัวถลำใจไปแล้ว
คิดว่ารัฐบาลเจตนาดีไม่มีอื่นแอบแฝง แต่ที่ไหนได้ เรื่องนี้เขาปิดกันให้แซ่ดตั้งแต่ภูเขาทองยันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
22 พฤษภาคม 2548 กำหนดการจัดงานวิสาขบูชาโลก
รัฐบาลกะจะให้ประเทศไทยได้หน้า จึงอาสาเป็นเจ้าภาพ อนุมัติงบประมาณ
"ไม่อั้น" แต่ครั้นแบชื่อ
"ผู้จัดการ" ออกมาอีก บุรุษหัวเกรียน สวมเสื้อม่อฮ่อม ศิษย์เอกสันติอโศก
(พล.ต.จำลอง ศรีเมือง) ก็โผล่หน้าหราออกมาทักทายพระสงฆ์สามเณร
อ่านรายนามคณะกรรมการจัดงานวิสาขบูชาโลกของรัฐบาลไทย ได้ดังนี้
1. มหาเถรสมาคม
(สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
2. สำนักสันติอโศก ของนายรักษ์
รักษ์พงษ์ ซึ่งถูกคณะสงฆ์ไทยลงปกาสนีย กรรมและปัพพานียกรรม ประจานและขับไล่พ้นคณะสงฆ์ไทยไปตั้งแต่
พ.ศ.2532
3. เสถียรธรรมสถาน
ของแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
เป็นต้น
การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาล เท่ากับว่า
เห็นมหาเถรสมาคมเป็นเพียงองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง เทียบค่าเท่ากับ สำนักสันติอโศก
และเสถียรธรรมสถาน
ไม่ต่างไปจากที่เคยให้ค่าหลวงตาบัวเท่ากับมติมหาเถรสมาคมในเรื่องพระราชบัญญัติก่อนหน้านี้
นี่คือจินตนาการและวิธีการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
มหาเถรสมาคมจึงลงมติ
"ไม่ร่วมจัดงานกับสำนักสันติอโศก"
แต่จะขอจัดเอง โดยให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ งานนี้
นายกรัฐมนตรีไม่แฮปปี้ เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา
ทำบุญประเทศครั้งก่อนก็ใช้ยี่ห้อจำลองช่วยจนสำเร็จล้นเหลือมาแล้ว ไม่เห็นมีอะไร
แต่ทำไมครั้งนี้ถึงได้ยุ่ง
นายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เป็นถึงด๊อกเตอร์ ศึกษาคอมพิวเตอร์และอาชญวิทยามาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งวิชาเหล่านี้ต้องศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา-หาสาเหตุ อย่างเป็นระบบ
แต่ท่านกลับมองปัญหาเหล่านี้อย่างลวกๆ ง่ายๆ คิดว่าพระสงฆ์ไทย
"อะไรก็ได้" โดยลืมอ่านค่าที่ตั้งเอาไว้เป็นระดับ
เช่น
1.
ในการจัดงานทำบุญประเทศ เมื่อ 10 เมษายน ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลให้ พล.ต.จำลอง
ศรีเมือง เข้ามาช่วยจัด ไม่มีปัญหา ไม่มีใครโวยวาย เพราะ พล.ต.จำลอง ฉลาด
ไม่ยอมเชิญ
"พ่อท่านโพธิรักษ์-สันติอโศก"
ไปวัดพระแก้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระสงฆ์ไทยนั้น "ตายใจ"
เพื่อต่อไปจะได้ "ยัดไส้" ให้เต็มกล่อง
2.
ในการจัดงานวิสาขบูชาโลกครั้งนี้
มีการเชื้อเชิญสำนักสันติอโศกเข้ามาร่วมอย่างเป็นทางการ
ไม่ว่าจะแบบัญชีไหนให้ดูก็รู้เห็นเช่นชาติ
ทั้งสองรายการนี้คือ
"บอล"
ที่ถูกต่อและเปลี่ยนหรือเสริมตัวผู้เล่น เข้ามาอย่างมีแผนและเป็นระบบ
คิดหรือว่าจะปกปิดได้
มหาเถรสมาคมจึงไม่ยอมให้รัฐบาล
"หลอก" ซ้ำสอง เพราะเคยเต็มใจให้หลอก เหมือนศิรินทรา
นิยากร มาแล้ว
ดร.แม้ว อ้างรัฐธรรมนูญ ว่าทุกคน ทุกฝ่าย ย่อมมีสิทธิ์ร่วมหรือจัดงานวิสาขบูชาโลกได้ในนามของประเทศไทย
เพราะเป็นคนไทย ไม่งั้นก็ขัดรัฐธรรมนูญ
แต่
ดร.ทักษิณ ลืมคิดไปกระมังว่า รัฐธรรมนูญนั้นมิใช่ทุกผู้ทุกคนเป็นคนร่าง หากแต่เป็น "กระแสเสียงของคนส่วนใหญ่" ลืมแล้วหรือไรว่าท่านเองก็อ้าง
"11 ล้านเสียง"
มาเป็นความชอบธรรมสนับสนุนตนเองอยู่ตลอดเวลา ถามว่า แล้วคนส่วนใหญ่อีก "41 ล้านเสียง" หายไปไหน ?
สุดท้าย เมื่อมหาเถรสมาคมไม่เอากับรัฐบาล รัฐบาลก็จึงไม่เอากับมหาเถรสมาคม
เพราะข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่า ในการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ที่พุทธมณฑล
อันมีมหาเถรสมาคมเป็นเจ้าภาพหลักนั้น มีตัวแทนชาวพุทธตั้ง 40
กว่าประเทศมารวมแสดงความสามัคคี
แต่ไม่มีเงาของนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยไปร่วมงานด้วย
อะไรเป็นอะไร
?
คำสั่งนายกรัฐมนตรี หนังสือจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ มติมหาเถรสมาคม
ที่ออกมา "ขัดแย้งกัน" อย่างสุดขั้ว ตามที่นำเสนอนี้
ไม่ค่อยมีหรืออาจจะไม่พบเจอเลยในอดีต คือในรัฐบาลก่อนๆ
เพิ่งจะมาประทุเป็นเรื่องเป็นราวต่อเนื่องยาวนานก็ในสมัยนี้ ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
จึงน่าหนักใจในฐานะพระไทยองค์หนึ่ง เห็นสถาบันหลักของบ้านเมืองกระทบกระทั่งกัน
มันมิใช่เรื่องที่ดี แต่จะมีใครไหนบังอาจ
"สอนสังฆราช"
ได้
3 ปรากฏการณ์ที่ยกขึ้นมาเสนอนั้น
สรุปผลได้ดังนี้
ครั้งที่ 1
รัฐบาลชนะ พระสงฆ์เงียบ
ครั้งที่ 2
มหาเถรสมาคมชนะ รัฐบาลเงียบ
ครั้งที่ 3 ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ เรียกว่า เจ๊ากันไป
เพราะต่างคนต่างไม่ไปร่วมงานของกันและกัน และหันหลังให้กันอย่างมึนตึง
ไม่มีการพูดถึงความสำเร็จของเนื้องานเลย ไม่ว่าฝ่ายไหน เป็นเรื่องที่แทบว่า
ใครๆ ก็อยากลืม
!!
ทว่าผู้แพ้กลับเป็น
"ประเทศชาติ-ศาสนา"
ต้องมารับเคราะห์กรรมครั้งนี้อย่าง ยับเยิน
!!
ถ้ารู้อย่างนี้
สู้ไม่จัดจะดีเสียกว่า
!!!
แนวโน้มแห่งการประสานงาน-ประสานงา ทางอำนาจทั้ง 2 ขั้วเหล่านี้ จะเป็นไปในทิศทางใด
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามจับตามองอย่างใกล้ชิดประติดประต่อ
ด้วยความละเอียดรอบคอบและรอบด้าน บ้านเมืองวันนี้มีองค์ประกอบเพิ่มขึ้นเยอะ
ถ้าเป็นศัพท์ทางเทคโนโลยีก็เห็นทีจะต้องเรียกว่า มีหลายฟังชั่น (functions-เอนกประสงค์)
และหลายโซลูชั่น (solutions-วิธีการแก้ไข) จะใช้ตำราหมอดูเพียวๆ
แบบพระครูวิจิตรสุธาการ-บ้านหมี่ -ลพบุรี ท่านใช้
คงไม่สามารถบอกหรือแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ ต้องอ่านค่าทุกระดับ นับตั้งแต่โปรแกรมแม่
เช่น วินโดวส์ ลีนุกซ์ เป็นต้น ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่มาที่ไป
คือบริบทของสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และโปรแกรมย่อย ซึ่งใช้จอยเข้ากับโปรแกรมแม่นั้นอย่างถูกต้อง-ถูกเวอร์ชั่น
ก็จะไม่ผันแปรค่าไปจากที่กำหนดไว้ในเสป็ก พวกนี้ได้แก่กฎหมายลูก
ซึ่งต้องอนุโลมตามรัฐธรรมนูญ นอกนั้นยังมีอุปกรณ์อิสระ-ไร้สาย หรือวายเลส (wireless)
ได้แก่พวกองค์กรอิสระ เป็นอำนาจนอกระบบ ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบแม่ได้ในบางครั้ง
และนี่คือ
Conflict of powers
ที่ผู้เขียนขอนำเสนอแด่แขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่สู้อุตส่าห์สละเวลาอันมีค่าเข้ามาเยี่ยมวัดไทย
ลาสเวกัส ทางโฮมเพจเล็กๆ แห่งนี้ โดยเฉพาะกับคอลัมน์นี้
ขอชื่นชมท่านอีกครั้งด้วยวลีหวานๆ ของดอกหญ้าว่า "เพียงแวะเข้ามาชม
เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ.."
มีหลายคนไล่ให้ผู้เขียนไปนั่งสมาธิอยู่ในป่า อย่ามายุ่งกับเทคโนโลยี
เพราะว่านี่เป็นเรื่องของโลก ๆ แต่ผู้เขียนไม่ตอบโต้
เพราะเคยทำการสำรวจความนิยมแล้ว ปรากฏว่ามีทั้งคนเห็นด้วย-กลางๆ และคัดค้าน
คือคนที่อยากให้ทำงานด้านนี้ก็มี ที่เห็นว่าไร้สาระก็มี ที่เห็นว่า
"แล้วแต่"
ก็มีเยอะ นั่นเป็นกระแสเสียงในสังคมประชาธิปไตย
สำหรับผู้เขียนแล้ว
ขอยืนยันว่า ตั้งใจอุทิศความคิดความอ่านให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
โดยยึดเอาความถูกต้อง-เที่ยงธรรม และเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาและประเทศชาติเป็นหลัก
มันอาจจะไม่ถูกใจใครบางคน-บางกลุ่ม บางพวก แต่ว่าถ้าประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์
เราก็จำต้องชั่งน้ำหนักเลือกเอาทางนั้น
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเป็นนโยบายทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ว่า
"พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย" แปลว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของชนหมู่ใหญ่
และเพื่อเกื้อกูลแก่โลก
จริงอยู่ เราอาจจะมิใช่พระอริยเจ้าผู้รู้เห็นเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่เราก็พยายามวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบที่ได้รับการบรรจุเป็นหลักสูตรสอนสั่งกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี
โท เอก และเปรียญธรรมชั้นไวยากรณ์ถึงประโยค ป.ธ.9 เราจึงค่อนข้างจะแน่ใจว่า
สิ่งที่เรานำเสนอตามค่าที่วิเคราะห์ได้ทั้งหมดนี้ มีความถูกต้องชัดเจน
ตอบคำถามได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่โมเมมั่วนิ่ม
ถ้าหากจะมีข้อผิดพลาดบ้างก็คงจะมาจาก 1.แหล่งข่าว 2.การติดต่อสื่อสาร และ
3.ความอ่อนด้อยทางสติปัญญาและประสบการณ์ของเราเอง หรือด้านอื่นๆ ที่คาดไม่ถึง
จึงต้องขอออกตัวไว้ ณ ตรงนี้ ว่านี่คือหลักการ วิธีการ การทำงานของเรา
ก่อนจะมาเป็นทุกความเห็นของพระมหานรินทร์ในคอลัมน์นี้
ด้วยรักและจริงใจ
|