กรณีหลวงตาบัวถวายฎีกา ไม่ใช่จารีตประเพณี
เพราะไม่เคยมีพระไทยทำเยี่ยงนี้มาก่อน
 


 

  เรื่องนี้มิใช่เขียนขึ้นเพื่อแก้ทางของนายเซี่ยงเส้าหลง ทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งได้เขียนไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า "ถวายฎีกาถอดสมเด็จเกี่ยว-แนวทางรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี" แต่ที่ผู้เขียนอยากเขียนเพราะมีข้อปลีกย่อยหลายอย่าง ซึ่งออกจะแตกต่างจากมุมมองของนายเซี่ยงเส้าหลงอยู่ไม่น้อย ทั้งเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนผู้สนใจ จึงได้ตัดสินใจตั้งชื่อไปตามนั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ชื่อกระทู้ในวันนี้ผู้เขียนมีอยู่ในใจหลายชื่อ แต่ก็ขอเอากระแสมาเป็นตัวเดินเรื่องดีกว่า จึงเป็นที่มาของข้อเขียนนี้

     ก็ดังที่เคยปรารภกับแฟนๆ ในคอลัมน์นี้มาร่วมปีแล้วว่า พักหลังมานี้ ถ้าไม่มีประเด็นที่เหมาะสมเพียงพอ ก็จะไม่เขียน คือถ้าเป็นเรื่องแบบสำนวนตลาดว่า "ขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง" แล้วละก็ ก็ขอผ่านไป ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ มันเปลืองสมองเปลืองเวลาไปทำประโยชน์ด้านอื่น หรือแม้แต่ "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" ดูจะสุขกายสบายใจกว่า เพราะการออกมาทำหน้าที่ในที่นี้ก็มีแต่เสียเป็นส่วนใหญ่ ลองเขียนกระทบถึงใครเข้า ก็มีหมาเห่าหมาหอน อีเมล์มาด่าก่นถึงโคตรพ่อโคตรแม่ ซึ่งแต่ละคนก็อ้างว่า "เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิด และปฏิบัติธรรมกับท่าน (องค์นั้น) มานาน ยืนยันได้ว่าท่านเป็นพระดี เป็นศรีศาสนา" แต่ว่าไม่ยอมพูดในเรื่องตามเหตุผลที่ผู้เขียนได้เคยยกมา เอาแต่สีข้างเข้าถู ยกเรื่องส่วนตัวเข้ามากลบหลักการ อ้างแม้กระทั่ง "ความฝัน" มาเป็นหลักธรรมคำสอน พวกนี้สอนคนโง่ได้ (คนที่จบ Ph.D. ก็มีสิทธิ์โง่ในกรณีเช่นนี้ได้) แต่สอนคนฉลาดไม่ได้ ยิ่งถ้าไปสอบธรรมหรือบาลีสนามหลวงด้วยแล้ว รับรองว่าตกเกลี้ยง

     หลักการตรวจสอบภูมิธรรมอันปรากฏในสาธารณะชนนั้น ท่านสอนให้นำเอาพระสูตรและพระวินัยในพระไตรปิฎกไปตรวจสอบหรือวัดภูมิ  ถ้าหากปรากฏว่า "ไม่ถึง-ไม่ผ่าน" เราก็ไม่สามารถจะ "ให้ผ่าน" เพราะ "เห็นแก่หน้า" หรือเพราะว่า "ท่านเป็นพระดัง เป็นเจ้าคุณชั้นนั้น" ดังนี้ได้ ไม่มีเหตุผลพิเศษ ไม่มีการบกพร่องโดยสุจริต คือจำต้องกีดกันสถานภาพส่วนตัว (ปัจเจกภาพ) ออกไปเสียจากข้อมูลหรือเหตุผลนั้นๆ นั่นคือหลักการและวิธีการ หากแต่กับพระเกจิอาจารย์ดังๆ หลายท่านในปัจจุบันนี้กลับมีปฏิกิริยาจากบริวารรอบข้างในทาง "อาฆาตมาดร้าย มุ่งคิดแต่ว่า เขาจงใจทำลายอาจารย์ของตน" มากกว่าจะตริตรองว่า "สิ่งที่เขาพูดมานั้นถูกต้องหรือไม่" ก็คนเขาใช้วิจารณ ญาณในการอ่านหรือเสพข่าวสารกันอย่างนี้ แถมยังมีความผูกพันธ์ฉันท์ครูกับศิษย์ จึงเป็นการยากที่จะให้บุคคลเหล่านั้นวางใจให้เป็นกลางได้ ยิ่งพูดไปก็เหมือนทะเลาะกัน สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ "เลยตามเลย" คือ เราพูดแล้ว เตือนแล้ว ด้วยเหตุด้วยผล แต่คนเขาไม่เชื่อ เพราะเขาเชื่อตัวบุคคล (ผู้เป็นอาจารย์ของเขา) มากกว่าหลักการในพระไตรปิฎก แต่เราเชื่อข้อความในพระไตรปิฎกมากกว่าตัวบุคคล ไม่ว่าเขาจะอยู่ในระดับไหน ถ้าใช้มาตรฐานทางวิชาการในชั้นนี้ยังไม่ผ่าน เราก็จำต้องว่าไปตามกฎเกณฑ์ที่ได้ศึกษามา ไม่งั้นการเล่าเรียนศึกษาที่จัดเป็นระบบอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ต้องโละทิ้งหมด ต้องคอยฟังพระเกจิอาจารย์เทศน์สอนอย่างเดียว

     คอลัมน์นี้จึงเสมือนคนวิ่งสวนกระแสของพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ได้เห็น มีน้อยนักที่จะได้หยิบยกประเด็นมาว่ากันเป็นหลักเป็นฐาน ซึ่งเป็นการทำงานในระดับที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้ว่า "ด้วยจิตว่าง" ไว้ว่างๆ ผู้เขียนจะประมวลทัศนะของผู้แอนตี้คอลัมน์นี้มานำเสนอ จะได้เห็นว่า "พระเถรานุเถระที่ว่าดังๆ ระดับประเทศนั้น ท่านมีศิษย์ผู้จงรักภักดีท่าน มีศีลาจารวัตรงดงามปานไหน" แต่ในวันนี้มีเวลาน้อย ขอเข้าเรื่องราวร้อนๆ เกี่ยวกับวงการสงฆ์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เป็นเรื่อง "ใหญ่ที่สุด" เท่าที่เคยมีมา เพราะว่า...

     นี่เป็นขบวนรถไฟซึ่งบรรทุกผู้โดยสารเป็นชาวบ้านชาวเมือง เป็นจำนวน 60 ล้านกว่าคน รวมทั้งผู้โดยสารกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินลงมา ต้องมาเร่งเกียร์ห้าปะทะกันที่ชุมทางเขาชุมทอง โดยพนักงานขับรถคือหลวงตาบัว และรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและออกพระราชกำหนดแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ให้รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ต่างก็ "ไม่ยี่หระ" ต่อรถไฟขบวนที่สวนทางมาแต่อย่างใด ดูเหมือนจะท่องไว้ในใจว่า "พอปอพอ = พังเป็นพัง" รวมทั้งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเอง ซึ่งทรงชราภาพ ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มานานหลายปีแล้ว ถ้าทรงเห็นว่า "ขืนอ้างแต่ว่า ฉันถูก เธอผิด หรือ เธอผิด ฉันถูก" แล้วใช้มานะทิฐิเข้าประจันหน้ากันแล้ว ก็มิแคล้วว่า "พระพุทธศาสนาในเมืองไทยจะแตกแยกไปไม่สิ้นสุด เป็นสังฆเภท" พระองค์ (ขอประทานโทษที่ต้องกล่าวถึงเช่นนี้) ก็ควรที่จะ "เสด็จออกมาประทานการสัมภาษณ์ มีพระโอวาทไปถึงคณะของหลวงตามหาบัวว่า ขอได้โปรดระงับเรื่องไว้แต่เพียงเท่านี้ พระองค์เองมีพระประสงค์จะพักผ่อน ได้สมเด็จพระพุฒาจารย์มาดูแลงานพระศาสนาแทน ก็นับว่าดี เพื่อความสงบเรียบร้อยของพระศาสนาและบ้านเมือง จึงขอให้ยุติเรื่องไว้เสีย" เท่านี้ หลวงตามหาบัวก็ต้องหมดข้ออ้าง (ถ้าเคารพในองค์สมเด็จพระสังฆราชจริงดังอ้าง)

     ในอีกทาง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ (ต้องขอกราบประทานอภัยที่บังอาจเขียนในเชิงแนะนำ) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่แรกนั้น พระคุณท่านรับภาระหน้าที่นี้ ก็เพราะเห็นแก่รัฐบาลและงานพระศาสนา ทว่า เมื่อทำดีแล้วไม่ได้ดี มีคนหาว่าท่านอยากเป็นใหญ่เป็นโต ก็เห็นเป็นการเหมาะสมที่จะแสดงสปิริต ทำหนังสือถึงรัฐบาล "ขอลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อันเป็นปัญหา" นี้เสีย โดยรัฐบาลจะทำอย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้อง

     ทั้งสองทางนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างนุ่มนวล เหมาะสม และสมภูมิภาวะ ของพระเดชพระคุณที่ดำรงตำแหน่งระดับ "สูงสุด" อยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าเห็นมีคนหนุนหลังแล้วก็นึกอิ่มอกอิ่มใจในบุญวาสนา ถ้าใครยกพวกมาด่าก็ให้ศิษย์ "ปิดประตูวัดไล่" แต่ถ้าใครยกพวกมาเชียร์ก็ดีใจถึงกับ "รีบเปิดประตู ยกน้ำร้อนน้ำชาออกมาต้อนรับ ถ่ายรูปถ่ายร่างกันอย่างเอิกเกริก" ซึ่งดูยังไงมันก็ไม่เข้าแก๊บ ทางออกนั้น "มี" แต่ "ไม่มีคนออก" มันเป็นปัญหาพระศาสนาแตกเช่นนี้แล

    และเมื่อผู้ใหญ่สูงสุดทั้ง 2 รูป 2 ค่าย ต่างบำเพ็ญตนเป็นพระเตมีย์ใบ้ในกลียุคเช่นนี้ ผลมันก็ออกมาเห็นๆ คือเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่ละองค์ก็อ้างว่า "รักและเทิดทูน" ต้องกลับมัวหมองเพราะมองไม่เห็น หรือเห็นก็เห็นด้วยมานะทิฐิ เห็นเป็นฝักเป็นฝ่ายและเป็นมึงเป็นกู แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ วันนี้ถ้าพระพุทธศาสนาในเมืองไทยถึงกาลวิบัติฉิบหาย พระสงฆ์องค์เณรแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า พุทธศาสนิกชนก็ถือหางเข้าข้างพระ ถามว่า "สมเด็จองค์ไหนจะแอ่นอกออกมารับผิดชอบ" หรือจะออกแถลงการณ์ในนามของคณะสงฆ์ เหมือนพระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9) วัดประยุรวงศาวาส เคยออกแถลงการณ์ในนามมหาจุฬาฯ ในกรณีธรรมกายมาก่อนหน้านี้

     นี่แหละคือสิ่งที่อยู่ในใจของผู้เขียน อยากเห็น "คนเก่ง คนดี คนมีศีลธรรม" ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อบ้านต่อเมือง ไม่ใช่ "ต่อพรรคต่อพวก" หรือ "ต่อสำนักวัดวาอาราม" หรือแม้แต่ "ต่อครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถือ" อยากให้เบิ่งตาดูบ้านดูเมืองเขา ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว แต่เรายังบำเพ็ญตัวเป็นหมาหมู่กัดกันอยู่แต่ในกำแพงวัด ผลก็คือ ศรัทธาสาธุชนเขาก็เบื่อหน่ายไม่เข้าวัด หนักๆ เข้าเขาถึงกับไปเข้ารีตศาสนาอื่นเสีย เพราะเอือมระอาพฤติกรรมของพระสงฆ์ไทยไม่ว่าสายป่าสายบ้าน ทำดีต่อสำนัก ต่อครูบาอาจารย์ ต่อเส้นต่อสาย มามากมายแล้วมิใช่หรือขอรับ พณฯ ท่านผู้ทรงศักดิ์ทั้งหลาย จะขอโปรดเมตตา "เสียสละเพื่อพระศาสนา" บ้าง มิได้หรือครับ อย่างน้อยก็ในวิกฤติการณ์เช่นนี้

     หลับตานึกภาพย้อนไปในปี พ.ศ.2535 ก่อนพฤษภาทมิฬ ขณะพล.ต.จำลอง ศรีเมือง นำพลพรรคประท้วงรัฐบาลอยู่ตรงกันข้ามกับท้องสนามหลวง อีกด้านหนึ่ง ทหาร-ตำรวจ-พลเรือน ในสังกัดของรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็เตรียมความพร้อมรับมือกับ "ม็อบ" ด้วยปืนผาหน้าไม้ ไม่ต่างไปจากหนังเรื่อง "เจ็ดประจันบาน" เท่าไหร่เลย

     กาลครั้งนั้น องค์กรสงฆ์คือมหาเถรสมาคม ซึ่งได้รับการสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงสมณศักดิ์และมีอำนาจในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล เป็นองค์กรสูงสุดในทางศีลธรรมจริยธรรม ก็รู้เห็นเต็มจอทีวีว่า "ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ ถ้าไม่มีใครห้าม จะต้องเกิดการรบราฆ่าฟันระหว่างคนไทยด้วยกันเป็นแน่" แต่กลับไม่เห็นว่า "มหาเถรสมาคม" จะได้รีบเปิดประชุม แสดงมติ "คัดค้านการใช้กำลังเข้าประทุษร้ายกันระหว่างคนไทย" ว่ากระไรเลย ปล่อยให้ "คนตายเป็นเบือ" ต่อหน้าต่อตา

     ทีนี้ พอสงครามกลางเมืองสงบ ญาติโยมตาย พุทธศาสนิกชนตาย พระสงฆ์ไทยค่อยๆ โผล่หัวโล้นๆ ออกมาจากประตูวัด พร้อมด้วยบาตรเปล่าเดินขอข้าวเขากินต่อไป ไม่รู้สึกรู้สาเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น การ "เข้าฌาน" แบบนี้นี่แหละที่แสดงถึง "ความไม่มีประโยชน์ของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย" ดีก็แต่ "ขอ-เอา และเอาลูกเดียว" โดย "อ้างสวรรค์ อ้างนิพพาน" เป็นเบื้องหน้า แต่ว่าประโยชน์ในปัจจุบันกลับหาไม่เจอ แล้วจะไปโทษใคร

     ไปฟังพระผู้ใหญ่ "แก้ตัว" สิ จะได้ยินคำว่า "ถึงไปก็ไม่มีใครเขาฟัง สู้ดูข่าว นั่งภาวนาในกุฏิดีกว่า เดี๋ยวมันหมดแรงแล้วก็มานิมนต์พระไปสวดมนต์ฉันเพลเอง" ซึ่งเป็นเหตุผลที่ "งี่เง่าและลามกที่สุด"

    นั่นเป็นสมัยเก่า มันผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว ถึงจะย้อนกลับมาใหม่ได้ยาก แต่ก็น่านำมาเป็นกรณีศึกษาเรื่อง "บทบาทของคณะสงฆ์ไทยต่อสังคมไทยในภาวะวิกฤติ" มิใช่หลับหูหลับตานั่งกรรมฐาน หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ยังคงมุ่งมุ่นสรรค์สร้างพระนิสิตผู้วิจัยจนจบ "พระนิพพาน" แต่สื่อสารกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง และไม่รู้แม้กระทั่งว่า "วันนี้มีคนในหมู่บ้านที่วัดของท่านขอข้าวเขากินนั้น เป็นชายกี่คน หญิงกี่คน แต่ละคนอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร ขาดแคลนสิ่งไหน ไหว้พระเป็นกี่ครอบครัว ที่ไปขายตัวนั้นมีกี่สาวกี่นาง" แต่เรารู้หมดว่า "จะไปสวรรค์ชั้นฟ้านั้นต้องหลับหูหลับตาให้ผ่านญาณ 16 โดยหลวงพ่อองค์นี้หรือแม่ชีนางนั้นจะเป็นผู้พยากรณ์" ซึ่งมันต่างกันลิบลับกับภาพของพระพุทธศาสนา ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระสงฆ์ออกไปประกาศพระธรรมคำสอนด้วยพระบรมพุทโธวาทว่า "ท่านทั้งหลายจงจาริกไปตามหมู่บ้านคามนิคมน้อยใหญ่ ให้เป็นประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชาวโลก"

     นี่มิใช่การ "สอนสังฆราช" เพียงแต่ฉุกคิดในใจว่า "ทำไมจึงเป็นเช่นนี้" ทำไมพระผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น "ผู้นำ" กลับไม่ "นำ" ในทางที่ถูกที่ควร และวันนี้ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2548 เราก็กำลังจะได้เห็นพระสงฆ์ไทย (ผู้ใหญ่) ปฏิบัติธรรม "เข้าฌาน" ซ้ำรอยกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 อีกหน


 

     กลับมาเข้าเรื่องที่จั่วหัวไว้กันดีกว่า ก็ตามที่นายเซี่ยงเส้าหลงยกมาเป็นอารัมภกถาให้แก่คอลัมน์ "ข่าวปนคนคนปนข่าว" ว่า "รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี หรือ Constitutional Convention ที่พระมหากษัตริย์ของสยามประเทศ ทรงรับฎีกา และ ทรงบำบัดทุกข์ให้ราษฎร"

      ข้อความที่อ้างข้างต้นนี้ เท่าที่เคยทราบรู้สึกว่า "พ่อขุนรามคำแหง" แห่งกรุงสุโขทัย จะเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดังกล่าว และเราทราบอีกว่า สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ทรงมีพระราชจริยาวัตรเช่นนี้ นอกนี้แล้วถึงจะมีบ้างก็ประปราย นี่เป็นเรื่อง "รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี" ที่กล่าวถึง

     จึงไม่อาจปฏิเสธว่า พระราชกรณียกิจเช่นนี้ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตนั้น "ไม่มี" แต่ต้องยอมรับว่า "มีจริง" เพียงแต่ในความ "มี" นั้น ก็ยังมีข้อแปลกต่างออกไปอีก ก็คือว่า พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณ ทรงปรารภถึงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่ทุกข์ยาก ไร้อำนาจวาสนา ถูกบีฑาด้วยข้าราชการ เช่น กรมการเมือง หรือด้วยผู้มีอิทธิพล จนไม่สามารถจะร้องขอความเป็นธรรมต่อใครได้ จึงทรงโปรดให้แขวนกลอง-ห้อยกระดิ่งไว้ที่หน้าประตูเมือง เพื่อพระราชทานโอกาสให้ราษฎรเหล่านั้นได้ตีกลองร้องทุกข์ ระบายความอัดอั้นตันอุราได้โดยตรง และเรื่องร้องเรียนนั้นจะทรงมีพระมหากรุณา "เก็บไว้เป็นความลับ" มิแพร่งพรายออกไปให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะเกรงจะเป็นอันตรายต่อเจ้าทุกข์ประการหนึ่ง

     และแนวทางที่ว่านี้ ปัจจุบันวันนี้รู้สึกจะมีอยู่ แต่ไม่อยู่ในรูปของกลองหรือกระดิ่งอีกต่อไปแล้ว หากแต่อยู่ในรูปของการ "ถวายฎีกา" ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการขอ "ลดหย่อนผ่อนโทษ" ของนักโทษที่ถูกศาลพิพากษาว่า "กระทำผิดสมจริงดังพยานและหลักฐานบ่ง" และที่เป็นข่าวดังก็คือ กรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงปรารภว่า "การถวายฎีกาให้แก่นักโทษประหารด้วยข้อหายาเสพติด เป็นการถวายที่พร่ำเพรื่อ ไม่เหมาะไม่ควร เพราะนักโทษผู้นั้นกระทำความผิดต่อสังคมด้วย จึงทรงมีพระมหากรุณาให้ "ยกฎีกา" คือไม่รับไว้ในพระมหากรุณาธิคุณ" ข้อความในวงเล็บนี้ ผู้เขียนเล่าด้วยสำนวนโวหารของตนตามที่ได้ทราบ หากไม่ตรงกับพระราชดำรัสประการใดก็ขอได้ทรงโปรดมีพระมหากรุณาธิคุณอภัยโทษมา ณ โอกาสนี้ด้วย

     นั่นก็โดยพฤตินัย มิใช่นิตินัย หากแต่พฤตินัยที่ว่ามานี้ มีผลให้ "นิตินัย" คือกระบวนการทางกฎหมายไร้ผล หรือระงับผล หรือส่งผลได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้โดยอาศัยพระราชอำนาจ แต่เมื่อดูในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2540 แล้ว ก็พบว่า "ที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี" นั้น ก็รู้สึกว่าจะมิใช่เสียแล้ว เพราะมาตราที่ 7 มีข้อความว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งบอกไว้ชัดเจนว่า "หากสิ่งอื่นใดอันเข้าข่ายเป็นกฎหมายหรือจารีตประเพณี แต่ยังไม่มีคือยังไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต) ให้ใช้ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นหลักในการวินิจฉัย" ก็แปลว่า ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ "พระราชอำนาจ" ในการปกครองได้อย่างเต็มๆ

     ตรงนี้ถ้าตีความแล้วก็จะได้อีกหลายแนวทาง คือว่า ถ้าหาก "อยากจะให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์" ก็เลี่ยงบาลีเสียหน่อยเดียว โดยการ "ไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ" เพราะรัฐธรรมนูญ "เปิดกว้างไว้ในอีกมาตราหนึ่งแล้ว" นับเป็นลูกเล่นทางกฎหมายระดับเซียนทีเดียว และเช่นกัน ถ้าหากจะกีดกันพระมหากษัตริย์ออกไปจากการใช้พระราชอำนาจ ก็แค่ "เขียนคำจำกัดความเพิ่มเติมลงไปในรัฐธรรมนูญ" หรือโดยการ "ออกกฎหมาย" หรือ "ตราพระราชกำหนด" เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน เช่น กรณีที่รัฐบาลนายกทักษิณออกพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้อำนาจรัฐบาลสามารถ "ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ต้องผ่านพระเจ้าอยู่หัวได้" เมื่อปีที่ผ่านมานั่นเอง สุดยอดไหมเล่า !

    ถามว่า ในอดีตเคยมีพระสงฆ์ยื่นถวายฏีกาพระเจ้าอยู่หัวบ้างไหม ? ตอบตามหลักฐานก็พบว่า "เคยมี" เช่น ในรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2503 เกิดกรณีพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) ขึ้น คณะสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มี พระธรรมถาวร พระอมรเมธาจารย์ เป็นต้น ได้ทำฎีกาถวาย สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอประทานเมตตาธรรมให้พระพิมลธรรมได้ต่อสู้คดีโดยไม่มีอิทธิพลอื่นใดเข้าแทรกแซง ฎีกาฉบับนั้นนำขึ้นถวายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 ผลของฎีกาฉบับนั้นคือ "ไร้ผล" พระพิมลธรรมถูกจับกุมคุมขังติดคุกอยู่นานถึง 4 ปีเศษ

     นั่นเป็น "ฏีกาตัวอย่าง" ที่น่าศึกษา แต่ฏีกาเมื่อวานนี้ที่โผล่มาทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ อ่านแล้วก็รู้สึกว่าระทึกใจ เพราะในฎีกาฉบับใหม่ของหลวงตาบัวนี้ มีอะไรหลายอย่าง "ไม่เหมือน" กับฎีกาพระสงฆ์วัดมหาธาตุ พ.ศ.2503 ขอเปรียบเทียบว่า

1) ฎีกาวัดมหาธาตุ พ.ศ.2503 เป็นฎีกา "ขอความเป็นธรรมให้พระพิมลธรรม" แต่ "มิได้กล่าวโทษผู้ใด" เป็นแต่เพียง "การยืนยันความบริสุทธิ์ของพระพิมลธรรมของคณะสงฆ์วัดมหาธาตุ" เท่านั้น

2) ฎีกาวัดป่าบ้านตาด พ.ศ.2548 เป็นฎีกา "กล่าวหา ฟ้องร้อง และขอให้ใช้พระราชอำนาจในการปลดสมเด็จพระพุฒาจารย์ และขอให้งดใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นรัฐมนตรี"

     ทั้งสองฎีกานี้มีข้อเหมือนกันประการหนึ่งก็คือ ร้องขอความยุติธรรมให้แก่พระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ซึ่งถูกกระทำ ซึ่งผู้ถูกกระทำในฏีกาของคณะสงฆ์วัดมหาธาตุ ได้แก่ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) อดีตเจ้าอาวาสที่ถูกปลดไปโดยไม่เป็นธรรม โดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจมบพิตร ลงนามรับสนองพระสังฆราชโองการโดย พระธรรมรัตนากร สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2503 และผู้ถูกกระทำในฎีกาของคณะสงฆ์วัดป่าบ้านตาดในวันที่ 4 มีนาคม 2548 นี้ ได้แก่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงถูกพักงานด้วยลายเซ็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547

     ในความเหมือนและไม่เหมือนนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงดูทั้งในประเด็นหลักและปลีกย่อยแล้ว ก็พบว่า "ความไม่เหมือนมีมากกว่าความเหมือน" เพราะครั้งนี้ หลวงตาบัวท่านเล่นบท "ขอให้ในหลวงทรงปลดสมเด็จเกี่ยว และไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้ง ดร.วิษณุ ในตำแหน่งใดๆ อีกต่อไป" จะโดยอ้างเหตุผลกลใดก็ตามแต่ แต่ดูแล้วมันแปลกๆ อยู่นา ผู้เขียนจึงว่า "กรณีหลวงตาบัวยื่นถวายฎีกาในหลวง "มิใช่" จารีตประเพณี เพราะไม่เคยมีพระไทยปฏิบัติเยี่ยงนี้มาก่อน" ดังพรรณนามา ฉะนี้แล

 

ดูความหมายของคำว่า "ถวายฎีกา"

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
 
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
 3 มีนาคม 2549
 เวลาแปซิฟิกโซน 2:45 p.m.

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264