ขอยอมรับกับท่านผู้อ่านว่า นับแต่ก่อนประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
เดือนมิถุนายน ที่วัดไทยแอลเอ ในปีนี้
จนมาถึงบัดนี้ ผู้เขียนรู้สึกเพลียหนัก เลยทำให้คอลัมน์นี้ไม่มีข้อเขียนใหม่ๆ
ให้สมใจท่านที่สนใจเข้ามาเยี่ยมเว็บนี้เลย ต้องขอกล่าวคำว่า
"ขอโทษ"
นับพันครั้ง หวังว่าคงไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวังเพราะหวังผิด
เรื่องภิกษุณีนี้ ผู้เขียนให้ความสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง
ซึ่งได้ศึกษาหาข้อมูลมาเป็นเวลานาน ติดตามข่าวสารโดยตลอด
ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงทราบกันดีว่า พักหลังมานี้มีกระแส (เก่าที่กลับมาใหม่)
ขอให้คณะสงฆ์ไทยยอมรับสถานะของพระภิกษุณี หมายความว่า ขอให้คณะสงฆ์ไทย
โดยเฉพาะก็คือมหาเถรสมาคมและรัฐบาลไทย
ออกกฎหมายรองรับสถานภาพนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนา อันได้แก่พระภิกษุณีและสามเณรี
และก็มีเรื่องราวร้อยพันที่ว่ากันมาไปไม่สิ้นสุด
ปัญหาที่ว่าก็ยังค้างเติ่งอยู่กลางทางด่วน ทั้งๆ
ที่เป็นเรื่องรีบด่วนเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทยที่ควรรีบตัดสินใจจะเอาอย่างไรก็ฟันธงลงไป
ไม่ใช่กั๊กหรือกันกันไว้เหมือนไม่ทุกข์ไม่ร้อน
อาศัยความไม่แน่นอนของมหาเถรสมาคมและองค์กรพุทธส่วนใหญ่ในเมืองไทยที่ใช้กระแสเป็นเครื่องนำ
หรือแม้แต่สตรีหลายๆ ท่าน ซึ่งยังคงนิยมในเรื่องของจารีต
(ที่ถูกผู้ชายสร้างให้มานมนาน) ก็ยังออกมาคัดค้านการบวชภิกษุณีกับเขาด้วย
ประเด็นที่ผู้เขียนจะเขียนดังต่อไปนี้ ขอออกตัวก่อนว่า
มิได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงบวชเป็นพระภิกษุณี
และก็มิได้มีเจตนาจะคัดค้านการบวชเป็นพระภิกษุณีของสตรีทั้งหลายด้วย (อ้าว
! งั้นก็แสดงว่าแทงกั๊กละสิ
สงสัยกลัวมหาเถรสมาคมเล่นงาน) ก็ขอเรียนชี้แจงว่า
"มิได้กลัว แต่เกรงใจ"
ในที่นี้ผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไป แนวโน้ม
และผลได้ผลเสียของการมีพระภิกษุณีรวมถึงสามเณรีในเมืองไทยเราด้วย
โดยมิได้จำเพาะเจาะจงว่า สตรีต้องบวชเป็นภิกษุณีให้ได้เพียงสถานเดียว ฟังนะ
ขอเล่าท้าวความว่า ว่าตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาแล้ว ผู้เขียนขอสันนิษฐานว่า
ในพรรษาที่ 10 ภายหลังจากการตรัสรู้ และ 1 พรรษา
ภายหลังจากเสด็จนิวัติกลับสู่มาตุภูมิเป็นครั้งแรก
ภายหลังเสด็จหนีออกจากวังในกลางคืน ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8)
ไปทรงเพศเป็นสมณะของเจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ ซึ่งภายหลังเราท่านรู้จักกันในพระนาม
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา"
พรรษาที่ 10 นั้น พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุประมาณ 39 พรรษา ปรากฏว่า
พระเจ้า สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ทรงประชวรหนัก ข่าวด่วนส่งตรงถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้กำลังประทับเผยแผ่พระสัทธรรมอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองไพศาลี
แคว้นวัชชี ทำให้ทรงต้องเสด็จกลับพระนครกบิลพัสดุ์อีกครั้ง ทั้งๆ
ที่เพิ่งเสด็จกลับเมื่อก่อนเข้าพรรษานี่เอง และครั้งหลังนี้มิได้เสด็จกลับช้าๆ
เหมือนในคราวก่อนที่เสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทไปวันละหนึ่งโยชน์ (16 กม.) เท่านั้น ทว่าเสด็จกลับโดยพลัน ใช้เวลาไม่เกิน 7 วันก็น่าจะเสด็จถึงกรุง กบิลพัสดุ์แล้ว
ทั้งนี้เพราะพระเจ้าสุทโธทนะนั้นพระอาการอยู่ในขั้นโคม่า
แต่ว่าเป็นเรื่องใดนั้นอย่าให้เล่าในที่นี้เลย โปรดอาราธนามาอีกกัณฑ์
จะเทศนากลางพรรษาให้ฉ่ำใจและแจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปเลย สรุปก็คือว่า
พอพบหน้าพระโอรสได้เพียงไม่กี่อึดใจ พระเจ้าสุทโธทนะก็เสด็จสวรรคตไปอย่างรีบร้อน
พอพ้นจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองในเมืองกบิลพัสดุ์ผันผวนหนัก
เพราะมีแคนดิเดทพระเจ้าแผ่นดินอยู่หลายพระองค์
ทั้งนี้เพราะสิ้นเชื้อพระวงศ์ในสายของพระเจ้าสุทโธทนะแล้ว คือหมายถึงว่า เจ้าชายสิทธัตถะก็ออกผนวชเป็นพระพุทธเจ้า
เจ้าชายนันทะก็ออกผนวชเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เจ้าชายราหุลพระโอรสในเจ้าชายสิทธัตถะและพระนางยโสธราก็บรรพชาเป็นสามเณร
เป็นอันสิ้นเชื้อขาดวงศ์ "โคตมะ" ในสายสกุลของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางมายา-พระนางโคตมี
แต่เพียงเท่านี้
ที่เหลือใครอยากเป็นก็ใช้หอกดาบปืนผาและหน้าไม้แย่งชิงกันเอาตามสะดวกเถิด
แต่ว่าปัญหามันมิได้มีเพียงเท่านั้น นั่นก็คือว่า เมื่อสิ้นพระเจ้าสุทโธทนะแล้ว พระนางเจ้ามหาปชาบดีโคตมีอดีตพระมหาราชินีก็หมดอำนาจวาสนา
หวังจะพึ่งบุญลูกชายๆ ก็บวชเป็นพระไปแล้ว
ซ้ำตัวก็มาตกพุ่มหม้ายซึ่งเป็นที่รังเกียจในสังคมพราหมณ์แห่งอารยันอีก
นี่เป็นประเด็นผลักดันให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี ตัดสินใจพานางสากิยานี
(สนมหรือสาวใช้) เป็นจำนวน 500 นาง ทำใจเด็ดเสด็จพระดำเนินด้วยเท้าเปล่า จากกรุงกบิลพัสดุ์มุ่งหน้าไปหาพระพุทธเจ้า
ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี
โดยไม่มีกำหนดกลับ
!
พระอานนท์ได้พบกับพระนางเจ้ามหาปชาบดีโคตมี ในภาพของนักบวชหญิง คือ โกนศีรษะเกลี้ยง
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ มีเท้าเปลือยเปล่า เดินเท้ามาอย่างทุลักทุเล
มีน้ำตาไหลนองหน้า ด้วยหวังว่า
"จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทให้แก่สตรีเพศในพระพุทธศาสนา ด้วยพระเมตตาธิคุณเป็นล้นพ้น"
ครั้นพระอานนท์ผู้คุ้นเคย
ได้รับเอาคำวิงวอนของพระนางและหญิงบริวารไปทูลถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงภายในพระคันธกุฏี
ก็ได้รับพระดำรัสตอบง่ายๆ เพียง "อย่าเลย
อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่สตรีเพศออกบวชในธรรมวินัยนี้เลย"
ทรงตรัสย้ำอยู่ถึง 3 ครั้งด้วยกัน
"หมดหวัง" ท่านพระอานนท์ออกพระคันธกุฏีมาด้วยความท้อแท้และเหนื่อยอ่อน
จะมีใครใดในโลกที่สามารถจะบังคับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงยอมรับในสิ่งทรงปฏิเสธได้
! แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อพระแม่เจ้ามหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นสตรีแท้ๆ
พร้อมกับหญิงสาวชาววังตั้ง 500 นางเหล่านี้ ทรงสละทรัพย์สมบัติบรรดามีเสียสิ้น
มีเพียงผ้า 3 ผืนครองกาย มุ่งหมายจะขอบรรพชาอุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนา
โดยมิมีทีท่าว่าจะกลับเช่นกัน
!
มันเป็นปัญหาที่คนระดับพระอานนท์ซึ่งมีสมองไบรท์ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคต้องใคร่ครวญหนัก
จะดันทุรังขอต่อพระพุทธเจ้าก็เข้าไม่ไหว จะไปบอกแก่พระนางมหาปชาบดีว่า
"ไม่มีทาง"
ทั้งๆ ที่รับปากพระนางมาแล้ว
จะทำได้อย่างไร ?
และยิ่งไปกว่านั้น
ถ้าพระนางไม่ได้รับการบรรพชาอุปสมบทจริง
ถามว่า พระนางมหาปชาบดีและสตรี 500 นางเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน
เพราะในกรุงกบิลพัสุด์นั้นถูกยึดอำนาจไปหมดสิ้นแล้ว
สุดท้าย ท่านพระอานนท์จึงเล่นไม้ตาย ได้เข้ากราบทูลโดยปริยายว่า
"ถ้าสตรีเพศออกบวชเป็นพระภิกษุณีในพระธรรมวินัยนี้
จะมีโอกาสได้บรรลุธรรมเช่นพระภิกษุสงฆ์หรือไม่ ?"
คำตอบจากพระบรมศาสดาก็คือว่า
"มีโอกาสเท่ากัน"
ท่านพระอานนท์จึงถามตามไปอีกข้อว่า
"ก็ในเมื่อสตรีถ้าบวชแล้ว
มีความสามารถบรรลุ ธรรมได้เช่นเดียวกับบุรุษแล้วไซร้
พระแม่นางมหาปชาบดีโคตมีนี้ ทรงเป็นพระแม่น้าของพระพุทธองค์
เมื่อครั้งแรกประสูติได้เพียง 7 วัน ครั้งนั้น พระนางเจ้ามายาได้เสด็จสวรรคต
พระพุทธองค์จึงทรงดื่มขีรรสจากพระเต้าของพระนางจนเติบโตมา ด้วยคุณูปการดังพรรณามาฉะนี้
จะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดให้พระนางพร้อมด้วยกัญญาสากิยานี
500 นางเหล่านี้ รับบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนามิได้เทียวหรือ ?"
พระพุทธองค์ทรงนิ่งอยู่นาน ท้ายที่สุดจึงตรัสว่า
"เอาละ อานนท์ ถ้าหากว่า พระนางมหาปชาบดี โคตมี
มีความประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุณีในพระธรรมวินัยนี้จริงแล้วไซร้
เธอจงไปแจ้งแก่พระนางว่า จะทรงยินดีรับเงื่อนไขจำนวน 8 ข้อได้ไหม ?"
ท่านพระอานนท์จึงรีบรับพระบรมพุทธโองการ
พร้อมด้วยเงื่อนไขการบวชจำนวน 8 ข้อนั้น
ซึ่งภายหลังเรียกว่า ครุธรรม
มาเสนอแก่พระนางมหาปชาบดี มีดังนี้
1. ภิกษุณีแม้อุปสมบทแล้วได้
100 พรรษา ก็พึงเคารพกราบไว้พระภิกษุ แม้จะอุปสมบทได้วันเดียว
2. ภิกษุณี จะอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีพระภิกษุนั้นไม่ได้ ต้องอยู่ในวัดที่มีพระภิกษุ
3. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับฟังโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
4. ภิกษุณี อยู่จำพรรษาแล้ว วันออกพรรษา
ต้องทำปวารณาในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
(ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
5. ภิกษุณี ถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสส อยู่ปริวาสกรรม ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
(คือให้ตั้งกรรมการจากสงฆ์สองฝ่ายควบคุมการอยู่ปริวาสกรรม)
6. ภิกษุณี ต้องอุปสมบทในสำนักสงฆ์สองฝ่าย หลังจากเป็นนางสิกขมานารักษาสิกขาบท 6 ประการ คือ 1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ 2. เว้นจากการลักขโมย 3. เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ 4. เว้นจากการพูดเท็จ 5. เว้นจาการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา 6. เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล ทั้ง 6 ประการนี้
มิให้ขาดตกบกพร่องเป็นเวลา 2 ปี ถ้าบกพร่องในระหว่าง 2 ปี ต้องเริ่มปฏิบัติใหม่
7. ภิกษุณี จะกล่าวอักโกสกถาคือ ด่าบริภาษภิกษุ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้
8. ภิกษุณี ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป พึงฟังโอวาทจากภิกษุเพียงฝ่ายเดียว จะให้โอวาทภิกษุมิได้
เมื่อพระนางมหาปชาบดีได้สดับครุธรรมทั้ง 8 ประการเหล่านี้แล้ว
ทรงยกพระหัตถ์ไหว้พระอานนท์ด้วยพระดำรัสว่า
"ข้าพเจ้ายินดีรับเอาพระครุธรรมทั้ง 8 ประการนี้ไว้ โดยไม่มีข้อแม้"
ก็เป็นอันว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้เป็นพระภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา
แต่ภายหลังมายังปรากฏว่า พระนางทรงหัวหมอ ได้เข้าไปขอแก้พรข้อที่ 1 เป็น
"ขอให้พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์ จงลุกรับ
กราบไหว้ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม (ทั้งหมดนี้เป็นการทำความเคารพ)
แก่กันและกันตามอายุพรรษา" ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ
แต่หลังจากนั้นก็ยังมีสตรีออกบวชกันเรื่อยๆ จนมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ถึงสมัยหนึ่ง
ภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งทั้งสาวทั้งสวยและพ่อรวยด้วย ได้ออกบวช
แต่ต้องไปพำนักในกระท่อมกลางป่า จึงถูกชายโฉดทำร้ายพรหมจรรย์
ทำให้พระพุทธองค์จำต้องเข้มงวดกวดขันพระภิกษุณีมากยิ่งขึ้น
ว่ากันโดยศีลสิกขาบทแล้ว พระภิกษุณีต้องรักษาศีลถึง 311 ข้อ มากกว่าพระภิกษุถึง 84
ข้อ (พระภิกษุถือศีลเพียง 227 ข้อ) ทั้งๆ ที่ภิกษุณีเกิดทีหลัง
แต่ก็ดังกว่าด้วยการประพฤติเสียหายหลายคดี
พระพุทธองค์จำต้องทรงกวดขันกับลูกสาวมากเป็นพิเศษ โดยทรงขอกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
"ขอจงทรงสร้างอารามให้พระภิกษุณีอาศัยในพระนครอยู่เถิด เพื่อความปลอดภัย"
และทรงตั้งกฎไว้ว่า
"พระภิกษุณีจะอยู่ในอารามที่ขาดพระภิกษุสงฆ์ปกครองมิได้"
สถานภาพของพระภิกษุณีในสมัยนั้น เราท่านเกิดไม่ทัน จึงไม่รู้ความเป็นไปเป็นมาแน่ชัด
ได้ยินได้ฟังก็อาจจะรู้สึกขัดๆ ขืนๆ เอากับพระพุทธเจ้า แต่เราต้องทราบด้วยว่า
บรรดาพระภิกษุณีแทบจะทั้งหมด ก็ยินดีที่จะประพฤติปฏิบัติตามที่ทรงมีพระบัญญัติไว้
มิได้คิดล้มล้างหรือฝ่าฝืนแต่ประการใด จนกระทั่งสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพาน
หลังจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว
เรื่องราวของพระภิกษุณีก็ดูทีว่าจะเงียบเซาไปไม่เป็นข่าวเลย
มาปรากฏอีกทีก็ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 หรือราว พ.ศ.300 ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
ผู้ทรงปรีชาสามารถรวบรวมอินเดียตอนเหนือ
ตอนกลาง และตอนล่าง ทั้งสิ้นทั้งปวงเข้าเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวกันได้
จึงได้รับการขนานพระนามว่า
พระเจ้าอโศกจักรพรรดิราช
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาใน พ.ศ.236
นั้นบันทึกว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งภิกษุณีสงฆ์
ซึ่งมีพระนางสังฆมิตตา พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกเอง
ไปประดิษฐานวงศ์ภิกษุณีที่ประเทศศรีลังกา และภายหลังจากนั้นมาก็ดูเหมือนว่า
อินเดียจะขาดการติดต่อกับศรีลังกาว่าด้วยพระพุทธศาสนา สาเหตุนั้นก็เพราะว่า
อินเดียเปลี่ยนนิกายไปเป็นมหายาน ส่วนศรีลังกายังคงรักษาความเก่าเอาไว้ได้
จึงเป็น
"วิภัชชวาทหรือเถรวาท"
สมบูรณ์ที่สุด ตามที่พระมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
ได้สังคายนาไว้ในสมัยพระเจ้าอโศก
ชาวพุทธในอินเดียเปลี่ยนไปใช้ภาษาสันสกฤตจารึกและสอนพระพุทธศาสนาใน พ.ศ.500
รัชกาลของพระเจ้ากนิษกะ ส่วนชาวพุทธในศรีลังกาก็ยังคงรักษาจารีตเดิม
นั่นคือใช้ภาษาบาลีบันทึกและสอนพระพุทธศาสนา กระทั่งถึง พ.ศ.1750
ซึ่งเป็นปีที่มุสลิมยกทัพเข้ามีตีอินเดียได้ทั้งหมด
พระพุทธศาสนาจึงสูญสิ้นไปจากอินเดีย
เพิ่งจะมาขุดพบซากปรักหักพังของถาวรวัตถุต่างๆ ซึ่งประกาศว่า
"นี่คือดินแดนของพระพุทธศาสนา"
อีกครั้งก็ในสมัยอังกฤษยึดครองอินเดียได้ (อังกฤษตีได้อินเดียทั้งหมดในปี พ.ศ.2420
อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2490
รวมเวลาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
70 ปี) แล้วนักโบราณคดี-นักประวัติศาสตร์
ชาวอังกฤษ จึงอาศัยใบเบิกทางทางการเมืองเข้าไปขุดค้นกันใหญ่ จนพบว่า
ดินแดนมหาภารตะแห่งนี้ เคยมีศาสนาที่ยิ่งใหญ่ครอบครองอยู่ก่อนมา
นั่นคือพระพุทธศาสนา
นั่นจึงเท่ากับเปิดให้ชาวพุทธทั่วโลกได้หันไปสนใจอินเดียซึ่งเป็นแดนดินถิ่นกำเนิดของพระพุทธเจ้า
จากการต่อสู้เรียกร้องของมหาบุรุษชาวศรีลังกาผู้หนึ่ง นามว่าอนาคาริกธัมมปาละ
ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นรัฐพิหารของอินเดีย
ยินยอมให้ชาวพุทธเข้าไปทำพิธีกรรมในเขตซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้
ซึ่งเราท่านรู้จักกันดีในบัดนี้ว่า ได้แก่
บริเวณพุทธคยา
ขอตัดภาพไปยังศรีลังกา ทางศรีลังกาเองนั้น
ขนาดว่าลอยล่องอยู่กลางทะเลก็ใช่ว่าจะไร้เสี้ยนหนาม ตามประวัติศาสตร์นั้น
ศรีลังกาประเทศเล็กกระจิ๊ดริดเท่าหยดน้ำตานี้
เคยถูกรุกรานและยึดครองโดยฝรั่งมังค่าหลายชาติหลายภาษาเป็นเวลากว่า 400 ปี
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2048-2200 ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งชาติโปรตุเกส
รวมแล้ว 152 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2201-2338 ตกเป็นเมืองขึ้นของฮอลันดา รวมเวลานาน 137 ปี
และตั้งแต่ พ.ศ.2339-2491 ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รวมเวลานานถึง 152 ปี
และรวมอีกทีก็เป็นเวลาที่ศรีลังกาตกเป็นขี้ข้าเขาทั้งหมดถึง 441 ปี
ระยะเวลาอันยาวนานเท่ากับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาเหล่านี้
มีผลเสียต่อพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล ชาวพุทธถูกกดดันสารพัด
ทั้งพระสงฆ์องค์เณรและพระภิกษุณีต้องหนีตาย
แม้แต่พระเขี้ยวแก้วองค์จริงที่นำไปจากอินเดียและประดิษฐานอยู่ที่เมืองศิริวัฒนบุรีนั้น
ก็ว่ากันว่าถูกโปรตุเกสทุบทิ้งไม่เหลือหลอแล้ว นั่นเป็นข้าศึกภายนอก
แต่ท่านว่าปัญหาหนักนั้นมาจากชาวศรีลังกาเอง พูดแบบทุบโต๊ะก็คือ
เป็นปัญหาทางการเมืองเรื่องภายใน
คือท่านเล่าว่า พ.ศ.2070 พระเจ้าวิชัยพาหุ ได้ครองราชย์สืบต่อจากพระภาดา
คือพระเจ้าธรรมปรักกมพาหุ
แลพระเจ้าวิชัยพาหุนั้นมีพระโอรสประสูติแต่พระอัครมเหสีอยู่ 3 พระองค์ ต่อมา
พระอัครมเหสีเกิดสิ้นพระชนม์ จึงทรงมีพระมเหสีใหม่ ๆ
นอกจากจะไฉไลแล้วยังทรงให้กำเนิดพระโอรสอีกองค์หนึ่ง
ซึ่งเรื่องก็เข้าเค้ากับปฐมกำเนิดของศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า นั่นก็คือว่า
พระเจ้าวิชัยพาหุทรงหลงคารมเมียใหม่ ตัดใจยกราชบัลลังก์ให้แก่พระโอรสผู้ไร้เดียงสา
ว่ากันว่าพระนางทรงขอบัลลังก์ให้ลูกตอนอยู่บนเตียงบรรทม
แต่ประวัติศาสตร์ไม่ยอมซ้ำรอยเดิม เพราะราชโอรสซึ่งโตเป็นหนุ่มรุ่นกระทงทั้งสาม
เมื่อเห็นว่าพ่อหลงแม่ใหม่ก็แค้นใจ
จึงรวมกันทำการปฏิวัติจับพระบิดาประหารชีวิตพร้อมกับพระมเหสีใหม่และราชโอรสผู้ไร้เดียงสาด้วย
แล้วก็ยกพระเชษฐาองค์โตที่สุดขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.2085 ทรงพระนามว่า พระเจ้าภูวเนกขพาหุ
พระเจ้าภูวเนกขพาหุ ทรงจัดให้พระอนุชาทรงพระนามว่ามายาธนะ ให้ไปครองเมืองเสตวัตจะ
และอีกองค์ทรงพระนามว่าทันธาระให้ไปครองเมืองราชคาม
ต่อมาพระธิดาของพระองค์ทรงมีพระโอรส
ทรงโปรดปรานหนักถึงขั้นจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป
พระอนุชาทั้งสองพระองค์ได้ข่าวพี่ชายยกราชสมบัติให้หลานก็ไม่พอใจ
จึงยกทัพมารวมกันหวังจะจับตัวพี่ชายมาสังหารให้หายแค้น พระเจ้าภูวเนกขพาหุเห็นเหลือกำลัง
จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งชาติโปรตุเกส โดยสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือคริสตศาสนา
ขณะรบพุ่งกันนั้น ฝรั่งโปรตุเกสยกกำลังพลไปถึงไหน พบพระสงฆ์องค์เณร ภิกษุณี-สามเณรี
ก็ถือดาบปรี่เข้าไปฆ่าฟัน ปล้นสะดมภ์วัดวาอารามซึ่งร่ำรวยกันยกใหญ่
เป็นการปล้นฆ่าอย่างถูกกฎหมายด้วย
ข่าวการทำร้ายพระพุทธศาสนาดังไปถึงเมืองมายาซึ่งอยู่กลางเกาะ
ชาวมายาจึงส่งกำลังสนับสนุนเจ้ามายาธนะ ทำการรบพุ่งกับภูวเนกขพาหุจนมีชัย มายาธนะจึงได้เป็นเจ้าเมืองชัยวัฒนบุรีพระองค์ใหม่
ต่อมาอีก พระเจ้ามายาธนะเกิดมีปัญหากระทบกระทั่งกับพระโอรสผู้ทรงพระนามว่า ราชสิงหะ
ๆ จับพ่อประหารสำเร็จจึงได้เป็นพระเจ้าราชสิงหะ ๆ (รัชกาลที่ 159)
ขึ้นครองบัลลังก์ได้ไม่กี่วันก็เกิดกลัวว่า การฆ่าพ่อในครั้งนี้คงจะมีบาปหนักเหมือนประวัติพระเจ้าอชาตศัตรู
จึงทรงประสงค์จะล้างบาปจากพระทัย ทรงเผดียงพระสงฆ์และพราหมณาจารย์ในศาสนาพราหมณ์เพื่อหาทางล้างบาป
ปรากฏว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาถวายวิสัชนาว่า
"อันว่าการฆ่าพ่อนั้นเป็นอนันตริยกรรม ห้ามสวรรค์
ห้ามนิพพาน เป็นกรรมหนักเกินแก้ สุดวิสัยจะแก้ไขได้"
พระเจ้าราชสิงหะได้ฟังดังนั้นก็พิโรธ จึงทรงหันไปเข้ารีตพราหมณ์
รับสั่งให้ทำลายล้างพระพุทธศาสนา วัดวาอาราม พระสงฆ์องค์เณร
ถูกฆ่าและทำลายอย่างถอนรากถอนโคนอีกครั้ง นับเป็นการสูญสิ้นพระพุทธศาสนาในศรีลังกา
ถามว่า แล้ววงศ์ของพระภิกษุณีล่ะ ? นั่นน่ะ เข้าเรื่องเลย
อย่าว่าแต่พระภิกษุณีเลยท่าน
แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ไม่คงค้างเหลือบนเกาะลังกาแม้แต่เพียงรูปเดียว
มีเพียงสามเณรเพียงไม่กี่องค์ที่ยังคงเพศสมณะไว้ได้
แต่ก็ห่มเพียงผ้าเหลืองเท่านั้น ส่วนเรื่องธรรมะธัมโมนั้นไม่มีใครรู้เรื่องเลย
จำต้องไปขอศึกษาภาษาบาลีกับฆราวาสที่ชื่อ
เลวุเก ราละหะมี
ซึ่งต้องคดีฉกรรจ์ติดตารางอยู่ สามเณรองค์นั้นชื่อว่า
สรณังกร
เป็นเณรโค่ง มีอายุรุ่นพ่อแต่ก็ยังต้องเป็นเณร เพราะไม่มีพระสงฆ์ทำการอุปสมบทให้
ด้วยความยากแค้นดังว่ามานี้ จนถึงปี พ.ศ.2293 พระเจ้ากีรติราชสิงห์ (รัชกาลที่ 163)
ตั้งราชธานีศรีลังกาอยู่ที่สิงขันธนคร อันนี้เป็นภาษาบาลี
แต่ภาษาปัจจุบันท่านว่าเป็นเมืองแคนดี้ (Kandy) มีพระประสงค์จะฟื้นพระพุทธศาสนา
ทรงทราบจากพวกพ่อค้าชาวฮอลันดาว่า ที่กรุงศรีอยุธยาประเทศสยามนั้นพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง
บ้านเมืองเต็มไปด้วยวัดวาอารามและผ้ากาสาวพัสตร์ จึงทรงส่งราชทูตนามว่า
"ปัตตะโปละ"
มาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์รัชกาลที่ 32 แห่งพระนครศรีอยุธยา
ขอทรงมีพระมหากรุณาส่งพระสงฆ์พระไตรปิฎกไปฟื้นพระพุทธศาสนาในศรีลังกา
ซึ่งเป็นการเริ่มต้น "สยามวงศ์"
คือวงศ์พระสงฆ์จากประเทศสยาม หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า
"อุบาลีวงศ์" ตามชื่อของพระอุบาลี
หัวหน้าคณะสงฆ์สยามจากวัดธัมมาราม
ผู้ไปตั้งวงศ์พระสงฆ์ไทยขึ้นในศรีลังกา
สามเณรสรณังกรพร้อมด้วยสามเณรอีก 5 รูป ได้รับการอุปสมบทโดยคณะสงฆ์สยาม
มีพระอุบาลีเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ ณ คามสีมา เมืองวัฒนบุรี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
(วันอาสาฬหบูชา ก่อนเข้าพรรษา 1 วัน) ปี พ.ศ. 2295
แสดงว่ากว่าคณะสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาจะเดินทางไปถึงศรีลังกาก็กินเวลาเกือบ 2 ปี
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียและศรีลังกา
ต่อมาก็จะเป็นสยามเมืองยิ้มบ้าง
ว่ากันตามหลักฐานดั้งเดิมแล้ว พระพุทธศาสนาเข้าสู่แคว้นแดนที่คนไทยครอบครองอยู่
ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา จนจดหัวเมืองใหญ่ในภาคใต้
นั่นคือนครศรีธรรมราช ท่านระบุว่า มีอยู่ 2 สาย คือ สายพม่ากับสายลังกา
สายพม่านั้น นับเอาสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อเป็นปฐม
พระองค์ทรงนำทัพอันเกรียงไกรตีเมืองหลวงของมอญคือเมืองสุธรรมหรือสะเทิ้มได้ใน
พ.ศ.1587 ทรงนำเอาพระสงฆ์และพระไตรปิฎกฉบับมอญ
รวมทั้งตัวหนังสือของมอญไปเป็นของพม่า แล้วทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบพุกาม
(ทรงตั้งพุกามเป็นราชธานี) ไปทั่วดินแดนแถบนี้ รวมถึงหัวเมืองเหนืออันกินกินดินแดนหริภุญไชยหรือลำพูนเข้าไปด้วย
สายนครศรีธรรมราช
สายนี้มีการสั่งตรงพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากประเทศศรีลังกาเข้ามาเมื่อประมาณ
พ.ศ.1789 ซึ่งการนำพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกา (ลังกาวงศ์) เข้ามาในครั้งนั้น
จิตร ภูมิศักดิ์ ระบุว่า
"เป็นการทำสงครามเพื่อศาสนา" เหมือนพม่าในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อนั่นเอง
สงครามศาสนาระหว่างนครศรีธรรมราชกับศรีลังกาในครั้งนั้น ปรากฏว่า
ศรีลังกาขอเจรจาเป็นไมตรี ทางนครศรีธรรมราชโดยพระยาจันทรภาณุเจ้าเมืองได้ขอพระพุทธสิหิงค์มาเป็นที่ระลึกด้วย
แต่พอได้พระพุทธสิหิงค์มาไม่นาน
นครศรีธรรมราชก็ถูกพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยรุกราน จำต้องสูญเสียพระพุทธสิหิงค์ให้แก่กรุงสุโขทัยไปอีกทอดหนึ่ง
ต่อมา เมืองเชียงใหม่ของพระยามังรายรุ่งเรืองขึ้น มีพระยางำเมืองแห่งพระยา
พระยาร่วงแห่งสุโขทัย เป็นสามสหายรักใคร่ปรองดองกัน รวมถึง
"เมืองอโยธยา"
และลพบุรี ซึ่งเป็นญาติของพระร่วงด้วย
เมื่อทางการเมืองถูกต้องคล้องจองกันดังนี้แล้ว
การค้าการขายก็ไหลรื่นเหมือนเป็นตลาดเดียวกัน
พระพุทธศาสนาก็แลกเปลี่ยนกันไปมาด้วยความทัดเทียม และในตอนปลายกรุงสุโขทัย
สมัยนั้นกรุงศรีอยุธยาอ้าขาบุกรุกเข้าไปในแคว้นพระร่วง
กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงหรือสุโขทัยไม่พอใจพฤติกรรมของอยุธยา
จึงเอื้อมมือไปสานสัมพันธ์กับเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ยกกองทัพลงมาช่วยยันกันอยุธยาที
สงครามระหว่างพระเจ้าติโลกราชและพระบรมไตรโลกนาถ กินเวลานานหลายปี
อยุธยาเพลี่ยงพล้ำ
จำที่พระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกสองแควอยู่หลายปี
สุดท้ายทรงทำไมตรีกับเมืองเชียงใหม่ โดยเสด็จออกผนวชที่วัดจุฬามณี
ในการสานสัมพันธไมตรีระหว่างเชียงใหม่และสุโขทัยขับไล่อยุธยานี้
ชาวสุโขทัยมอบของที่ระลึกให้แก่ชาวเชียงใหม่แบบไม่เคยให้ใครมาก่อน นั่นคือพระพุทธสิหิงค์
หรือพระสิงห์
ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
กลางเมืองเชียงใหม่นั่นเอง พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองมาก่อนจะพบพระแก้วมรกต
คุณค่าจึง "ควรเมือง"
ด้วยเหตุดังนี้แหละ
ยุคบวชแปลง พงศาวดารบันทึกว่า พระสงฆ์สยามจากเชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย ลพบุรี และอโยธยา ได้รวมกันเป็นคณะ เดินทางบุกป่าฝ่าเขาผ่านหัวเมืองมอญ
(เมืองเมาะตะมะ) แล้วข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังเกาะลังกา
เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาที่มั่นใจว่า
"บริสุทธิ์" รุ่นแรกที่เดินทางไปนั้นไปใน
พ.ศ.1967 มีจำนวน 39 องค์ ปรากฏนามตามชินกาลมาลีปกรณ์ก็มี
พระธัมมคัมภีร์ พระเมธังกร
พระญาณมงคล พระศีลวงศ์ พระสารีบุตร พระรัตนากร พระพุทธสาคร พระญาณสิทธิ์ เป็นต้น
พระสงฆ์สยามและมอญเหล่านี้ เดินทางไปถึงลังกา ศึกษาในคณะมหาวิหาร
เล่าเรียนการเขียนอ่านอักขรพยัญชนะเป็นภาษาบาลีแบบลังกา
ก่อนจะกลับก็ตกลงปลงใจขอทำการอุปสมบทใหม่
ในเรือขนานที่พระเจ้าแผ่นดินสิงหลทรงจัดถวาย ที่ท่าเรือยาปาในแม่น้ำกัลยาณี
ในวันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ปีนั้นเดือน 8 สองหน) ตรงกับ พ.ศ.1968
มีพระวันรัต เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วลาพระอุปัชฌาย์กลับมาถิ่นเดิม
เริ่มเผยแพร่พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ไปทั่วถิ่นดินแดนสยาม
เราเรียกพระสงฆ์นิกายนี้ว่า
คณะป่าแดง
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ไม่มีเรื่องภิกษุณีเข้ามาเกี่ยวข้องเลย คือหมายถึงว่า
ไม่มีการส่งพระภิกษุณีจากอินเดียหรือศรีลังกามายังประเทศไทยที่ยังคงใช้ชื่อว่า
"สยาม"
อยู่ในสมัยนั้น หัวเมืองใหญ่ๆ ในแถบนี้ ไล่ตั้งแต่ เชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่
ตองอู พุกาม สะเทิ้ม หงสาวดี พะเยา สุโขทัย ชัยนาท (พิษณุโลก) ลพบุรี อยุธยา
เพชรบุรี จนถึงนครศรีธรรมราช และสุดขอบทะเลอันดามันหรือเข้าอ่าวไทย
ไม่เคยปรากฏข่าวว่ามีสตรีไปบวชสืบทอดวงศ์พระภิกษุณีมาจากที่ใดในโลกใบนี้เลย
สรุปแบบดื้อๆ ก็เห็นจะเป็นว่า
ไม่เคยมีพระภิกษุณีในพม่า ไทย ลาว เขมร และมาเลเซีย
จนแม้กระทั่งองค์เดียวในประวัติศาสตร์
กล่าวถึงคำว่า ภิกษุณี
นั้น พระไตรปิฎกให้ความหมายไว้ว่า ได้แก่
สตรีผู้ได้รับการอุปสมบทจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
คือจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงขอรับการรับรองจากพระภิกษุสงฆ์อีกต่อหนึ่ง
จึงจะเป็นพระภิกษุณีที่สมบูรณ์ได้ตามพระวินัยบัญญัติ
ก็ในเมื่อในเมืองไทยเราไม่เคยมีพระภิกษุณีสงฆ์แม้แต่องค์เดียวดังเล่ามาแล้ว
แล้วจะหาภิกษุณีสงฆ์จากไหนมาให้การบรรพชาอุปสมบท
แก่สตรีผู้อยากบวชเป็นพระภิกษุณีแถวนี้ได้เล่า
จะให้พระสงฆ์จัดการบวชแบบรวบรัดตัดตอนเอาเองก็เกรงจะไม่ต้องตามพระวินัยบัญญัติอีก
ใครขืนทำก็เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของพระพุทธเจ้า เท่ากับว่าเป็นพระทรพีดีๆ นี่เอง
อาจจะมีสตรีบางคนยกเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาแย้งว่า
"บวชได้" โดยพระสงฆ์นั่นแหละต้องบวชให้
เพราะมีพระพุทธบัญชาว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุทำการอุปสมบทให้แก่ภิกษุณี"
แต่ก็ขอบอกด้วยว่า ที่อ้างมาทั้งนี้ยังอ้างไม่หมด เพราะข้อความจริงๆ
นั้นพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้รับครุธรรม 8 ประการแล้ว ก็จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
แล้วกราบทูลว่า "สำหรับสตรีศากยะ 500
นางเหล่านี้ ยังไม่ได้บรรพชาอุปสมบทเลย หม่อมฉันควรทำอย่างไร ?"
พระพุทธองค์จึงทรงโปรดให้พระภิกษุสงฆ์ทำการบวชให้แก่สตรีศากยะเหล่านั้น
นั่นเป็นเหตุการณ์จำเพาะ จะนำมาขยายผลเป็นวงกว้างไม่ได้
ในเคสนี้มีข้อเปรียบเทียบ เช่นกรณีการให้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนานั้น แรกๆ
คนยังไม่มากก็ทรงบวชให้เอง เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสมบท
ต่อมามีผู้ประสงค์จะบรรพชามาก จึงทรงโปรดให้พระสาวกบวชให้เอง เรียกว่า
ไตรสมณคมอุปสมบท
ต่อมาอีก พระสาวกเริ่มย่อหย่อนในคุณสมบัติของผู้ขอบวช ทำให้เกิดข้อเสียหาย
จึงทรงโปรดให้ตั้งเป็นคณะกรรมการ เรียกว่า
คณะสงฆ์ เป็นจำนวน
10
รูปขึ้นไป ให้ร่วมกันวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ขอบวช เมื่อคณะสงฆ์ตกลงอย่างไรแล้ว
ก็เป็นอันสำเร็จเสร็จสิ้น ทรงให้เกียรติแก่คณะสงฆ์มากมายเพียงนี้
ทีนี้ถ้าจะมีคนอุตริไปยกเอาเหตุการณ์ตอนต้นพุทธกาล ที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทุกรูป
สามารถบวชกุลบุตรได้โดยไม่ต้องผ่านคณะสงฆ์ (เพราะมิได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
ต่อไปห้ามมิให้พระสาวกรูปไหนบวชให้แก่ใครๆ และต้องใช้ระบบคณะสงฆ์ซึ่งมีองค์ 10
เป็นผู้ทำการบวชเท่านั้น) แต่เพราะเคารพในพระพุทธเจ้า
เมื่อทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำการแทนแล้ว แม้แต่พระอริยสาวกก็ยังต้องใช้ระบบคณะสงฆ์ทำการบรรพชาอุปสมบท
จะเห็นได้ว่าเป็นไปด้วยความดีงามและอ่อนน้อม ไม่ใช่ก้าวร้าว แข็งกระด้าง
หรือหยาบคาย แต่ประการใด
ดังนั้น การตีความพระวินัยถึงสามารถกระทำได้
แต่ทั้งนี้ก็ต้องตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์ซื่อตรงทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น
มิใช่เอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง แล้วก็ตีความให้สอดคล้องอยู่ข้างเดียว
ไอ้อย่างนั้นก็เถียงกันตาย นี่ต่างหากคือสาระสำคัญ
!
กล่าวถึงสถานภาพของภิกษุณีในเมืองไทย ถามว่า
เมื่อไม่มีวงศ์พระภิกษุณีในเมืองไทยเรามาแต่เดิม แล้วผู้หญิงไทยอยากจะบวช
เขาทำกันอย่างไร ? ก็ตอบว่า หลักฐานเท่าที่ทราบ สตรีไทยสมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
(ส่วนใหญ่) เขาพอใจในสถานภาพพิเศษอันหนึ่งซึ่งสังคมไทยยอมรับ นั่นคือ
การเป็นแม่ชี
ซึ่งก็ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า
ใครเป็นผู้บวชชีคนแรก และใครเป็นผู้บวชให้ ?
สมัยอยุธยา พระมารดาของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์
(พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมราชวงศ์จักรี)
เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 นั้น เสด็จไปทรงผนวชเป็นรูปชี
ภายหลังทรงมีพระนามปรากฏว่า
สมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์
ทางพม่าก็มีเช่นเดียวกัน เช่น
เจ้าฟ้าหญิงสะหลิ่นสุภคยะ
ซึ่งดำรงตำแหน่งตะบินแดง
(ตำแหน่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อไป)
เมื่อเจ้าฟ้าชายสีป่อหรือสีป้อ เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2421 นั้น ฟ้าหญิงสะหลิ่นมิมีใจรัก
จึงเสด็จไปบวชเป็นรูปชี
ที่ประเทศกัมพูชาก็มีที่มาเช่นเดียวกัน
พระมารดาของนักองค์อี-นักองค์เภา
สองพระสนมในสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท
พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งทรงได้มาแต่ประเทศกัมพูชานั้น
ทรงผนวชเป็นรูปชีติดตามพระธิดามาด้วย
กรมพระบวรจึงทรงโปรดให้สร้างวัดสำหรับประทับไว้ในบริเวณวังหน้า เรียกว่า
วัดชีหลวง
ต่อมาก็กลายเป็นวัดพระแก้ววังหน้า นี้ว่ากันตามประวัติศาสตร์
มาถึงสมัย 25 พุทธศตวรรษ ปรากฏกระทาชายนายหนึ่งนามว่า
นายนรินทร์ ภาษิต
หรือ นรินทร์ กลึง เดิมเป็นชาวจังหวัดนนบุรี
เกิดเมื่อปี พ.ศ.2417 แต่เด็กนั้นเรียนหนังสือที่วัดพิชัยญาติ ต่อมาก็บวชเณร
แต่ไม่ทันได้บวชพระก็ลาสิกขาสึกมาเสียก่อน
ไปรับราชการที่จังหวัดชลบุรีมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ ทำงานเข้าตาผู้ใหญ่จึงได้เป็นหลวงศุภมาตรา
ต่อมาได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก พร้อมกับเลื่อนยศเป็น
"พระพนมสารนรินทร์"
แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 เขาก็ขอลาออกจากราชการด้วยเหตุผล
"ทนไม่ได้กับระบบราชการไทยที่ใช้ลิ้นทำงาน"
ทำให้ชีวิตข้าราชการของเขาต้องสะดุดลงตรงอายุ 35 ปีพอดี
นายนรินทร์มีอุปนิสัยเป็นคนเถรตรง หัวไวใจสู้ ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม
ไม่ว่าจะใหญ่ระดับไหน เบอร์อะไร
ถ้าทำไม่ถูกไม่ต้องละก็โดนนรินทร์ลากคอขึ้นศาลอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
ขนาดสมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นประมุขสงฆ์อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นเนื้อนาบุญของโลก
ยังถูกนรินทร์ทำหนังสือ
"ทูลเชิญให้สละทรัพย์สมบัติอันมากจนล้นพระตำหนักออกเสีย
เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พุทธศาสนิกชน"
ปรากฏว่านรินทร์โดนข้อหา
"หมิ่นประมาทสมเด็จพระสังฆราช"
ก็ขนาดสังฆราชยัง "โดน"
แล้วรองสังฆราชจะเหลือหรือ
กิตติศัพท์ของนรินทร์จึงเป็นดังหนามยอกใจของประดาผู้มีอำนาจวาสนาในสมัยนั้น
และสิ่งหนึ่งนั้นที่นรินทร์สร้างเป็นประวัติศาสตร์ไว้ในเมืองไทยก็คือ
การฟื้นวงศ์ภิกษุณี
นรินทร์มีลูกสาวอยู่ 2 คน คนโตชื่อว่า สาระ
คนเล็กชื่อว่า จงดี
นรินทร์มีเงินด้วยกิจการปรุงยาตรานกเขาขายก่อนไวอากร้าจะตีตลาด
ทำให้นรินทร์รวยกว่าตอนเป็นเจ้าเมือง และเมื่อคิดจะบวชลูกสาวให้เป็นภิกษุณี
นรินทร์ไม่คิดขอหรือง้อใคร จึงสร้างวัดขึ้นมาด้วยทุนของตนเอง
เป็นวัดประหลาดรูปร่างไม่เหมือนใครอยู่ในท้องที่จังหวัดนนทบุรี
มีหอคอยสูงลิ่วเป็นสัญลักษณ์ ตั้งชื่อว่า
วัตรนารีวงศ์

เรื่องราวการบวชลูกสาวเป็นภิกษุณีและสามเณรีของนรินทร์กลึง
เป็นข่าวเกรียวกราวไปทุกหัวระแหง มีสตรีเข้าบวชสมทบอีก 6 คน
หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ตีแล้วตีอีก ว่านรินทร์เป็นเทวทัต
บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ
ก็หาคนไปโต้วาทีกับนรินทร์ไม่มีแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอภิรัฐมนตรี
แต่ก็ไม่มีใครวินิจฉัยให้เด็ดขาดได้ จนเวลาล่วงเลยมาถึง 6 ปี
ขณะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประเทศชวา
รัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็ได้โอกาสนำกำลังเข้าตรวจค้นวัตรนารีวงศ์
จับภิกษุณีและสามเณรทั้งหมดถอดผ้าเหลือง ส่งเข้าคุกข้อหา
"บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา"
และต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ทรงออกคำสั่งสมเด็จพระสังฆราช มีข้อความว่า
คำสั่งสมเด็จพระสังฆราช
ประกาศ
ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต
หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องพระพุทธานุญาตนั้น
สำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา 12
ล่วงแล้วเป็นปวัตตินี คือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์
นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว
เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรีไม่มีแล้ว
สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน
ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ
เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา
เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ฯ
เพราะเหตุนี้ ห้ามไม่ให้พระเณรทุกนิกาย บวชหญิงเป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา
และเป็นสามเณรี ตั้งแต่นี้ไป ฯ
ประกาศแต่ วันที่ 18 มิถุนายน 2471
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
หมายเหตุ
ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ 16 หน้า 157
ก็เป็นอันว่า
โครงการฟื้นฟูภิกษุณีและสามเณรีของนายนรินทร์กลึงก็มีอันเป็นหมันไปด้วยประการฉะนี้
ทีนี้เมื่อมีการกล่าวถึงการบวชเป็นภิกษุณีของสตรีไทยในหลังจากนั้นมา
ชื่อของนายนรินทร์ ภาษิต ก็ถูกนำมาอ้างอิงเป็นปูชนียบุคคลของสตรีเพศเสมอๆ
ภิกษุณีวรมัย
กบิลสิงห์
ต่อมา มีสตรีไทยอีกคนหนึ่งอาสาเดินหน้าหาสัจธรรมตามแบบของลูกสาวนายนรินทร์บ้าง
หล่อนมีชื่อว่า วรมัย กบิลสิงห์ เกิดที่ ต.หนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2451 เรียนจบโรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม และอัสสัมชัญ คอนแวนต์
แถมไปเรียนภาษาอังกฤษครอสสั้นๆ ที่ปีนังอีกระยะหนึ่ง
จึงนับว่าเป็นผู้หญิงไทยคนเก่งในยุคบุกเบิกคนหนึ่งทีเดียว
นางสาววรมัยสมรสกับนายก่อเกียรติ สัฏเสน ซึ่งเคยเป็น ส.ส.จังหวัดตรัง
พรรคประชาธิปัตย์ ในปี พ.ศ.2485 มีลูกสาวคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
พ.ศ.2514 นางวรมัยเกิดเบื่อโลก
หลังจากวิ่งรอกไปเข้ากรรมฐานจากบรรดาพระดังในสมัยนั้น เช่น หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
หลวงพ่อลี วัดอโศการาม สมุทรปราการ และกรรมฐานระบบ พม่าที่บริกรรมว่า
"ยุบหนอ-พองหนอ" ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เป็นต้น จนไปยอมเป็นศิษย์รับศีล 8
กับพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
วัดบวรนิเวศ ก็ยังไม่หนำใจ จึงตัดสินใจเดินทางไปประเทศไต้หวัน
เพื่อทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีในนิกายมหายาน แล้วกลับมาไทยไปตั้งวัดใหม่ชื่อว่า
วัดทรงธรรมกัลยาณี
เลขที่ 195 ถนนเพชรเกษม ต.พระประโทน อ.เมือง จังหวัดนครปฐม
การกลับมาของภิกษุณีวรมัย เป็นข่าวใหญ่ให้สังคมไทยจ้องมอง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
บ้างก็คัดค้าน บ้างก็เห็นด้วย แต่เมื่อบวชในนิกายมหายานก็ถือว่าเป็นพระมหายาน
หีนยานอย่างไทยถึงจะทำอะไรไม่ได้
ก็ยังคงไม่ยอมรับสถานะของพระภิกษุณีให้มีในเมืองไทยดังเดิม
ทั้งนี้ก็คงจะยึดถือคำสั่งสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์เป็นหลัก
ภิกษุณีวมัย กบิลสิงห์ มีชีวิตยืนยาวมาจนถึง วันที่ 24 มิถุนายน 2546
ก็มรณภาพไปด้วยวัย 96 ปี ก่อนที่ทายาทบุตรสาวเพียงคนเดียวจะสาวเท้าก้าวตามแม่
ภิกษุณีฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
เป็นลูกสาวของคุณแม่วรมัย กบิลสิงห์ สำเร็จการศึกษาได้ปริญญาเอกตั้ง 2 ใบ
จากประเทศแคนาดาและอินเดีย ชำนาญมากในเรื่องพระพุทธศาสนา
เคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศ งานเขียนก็มากมาย
ตำแหน่งสุดท้ายในทางวิชาการก็คือ
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งงานมีลูกมีเต้าตั้งนานแล้ว
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
นางฉัตรสุมาลย์ในวัย 54 ปี ได้ตัดสินใจบินไปขอรับการบรรพชาเป็นสามเณรีกับพระภิกษุณีชาวศรีลังกา มีพระธัมมโลกมหาเถร
ซึ่งเป็นผู้ช่วยสังฆนายกของพระสงฆ์นิกายอมรปุระ (ไปจากประเทศพม่า) เจ้าอาวาสวัดตโปธาราม
เป็นผู้จัดการ ได้พระภิกษุณีสัทธาสุมนะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ชื่อใหม่ว่า
"ธัมมนันทา
สามเณรี" เดินทางกลับมาพำนักที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ซึ่งเป็นวัดของครอบครัว
ที่อำเภอเมือง นครปฐม ซึ่งข่าวระบุว่า การบวชครั้งนี้เป็นการอุปสมบทเป็นภิกษุณี
มิใช่แค่เพียงเป็นสามเณรีเท่านั้น
นั่นคือเรื่องของผู้หญิงแนวหน้าในสังคมไทย
ที่ตั้งใจจะให้มีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยให้ได้ ยังมีเรื่องแม่ชีอีกนิดหนึ่ง
สถานะของแม่ชีตามกฎหมายไทย
ตอบได้คำเดียวว่า ยังไม่มี,
เพราะไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนให้การรองรับสถานภาพนักบวชหญิงของสตรีไทย ในคำว่า
"แม่ชี"
คำว่าแม่ชีจึงมีความหมายเพียง
"อุบาสิกาผู้ถือศีลแปด" เท่านั้น
อันนี้ก็เห็นทีจะต้องโทษนักกฎหมายไทยเอาเอง ผู้เขียนเป็นพระ
ไม่มีสิทธิ์เขียนกฎหมายให้ใคร แต่พึงทราบว่า ว่ากันตามกระบวนการแล้ว
เมื่อไม่มีสิทธิ์ ทั้งๆ ที่มีสิทธ์
ก็ควรทวงสิทธิ์ หรือเรียกร้องขอสิทธิ์ ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญคุ้มครองโดยเสมอภาค
แต่ว่าการออกมาแสวงหาหรือทวงสิทธิของสตรีเพศในเรื่องของภิกษุณีไทยในสมัยนี้
มันมีอะไรลี้ลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่หลายชั้น นับตั้งแต่
รัฐธรรมนูญ พระธรรมวินัย พระไตรปิฎก กฎหมายคณะสงฆ์
และสิทธิสตรีเพศ
ซึ่งแต่ละเรื่องกว่าจะวิสัชนากันได้ในแต่ละประเด็นก็แทบจะวงแตกเสียก่อนแล้ว
จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะให้เกิดเอกภาพในการดำเนินการให้สตรีมีสิทธิทัดเทียมกับบุรุษเพศในประเทศไทย
สตรีบวชพระ
คือเป็นภิกษุณีได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือว่า ทั้งได้และไม่ได้,
คือตามพระวินัยบัญญัตินั้น กล่าวโดยทั่วไปแล้ว
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สตรีผู้มีอายุครบเกณฑ์ คือ 20 ปี มีสิทธิที่จะร้องขอต่อสงฆ์
เพื่อยกสถานะของตนเองขึ้นเป็นพระโดยสมบูรณ์
แต่ก็มีสตรีต้องห้ามด้วย เช่น ไม่ใช่สตรีจริง เป็นกึ่งสตรีกึ่งบุรุษ คือว่าเป็นทอม
ดี้ รักร่วมเพศ เลสเบี้ยน พวกนี้จัดอยู่ในสตรีต้องห้าม
เพราะจะเข้ามาทำให้ศาสนาวุ่นวาย ไปไหนไม่ได้ควงกับผู้ชายก็ไม่เป็นไร
เพราะฉันเป็นได้ทั้งชายจริงหญิงแท้อยู่แล้ว
ที่ห้ามเด็ดขาดตายตัวก็คือ ผู้หญิงที่ทำปิตุฆาตมาตุฆาต ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์
ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงกับพระโลหิตตก ยุยงสงฆ์ให้แตกร้าวกัน เคยบวชมาก่อน
แต่ตอนหลังไปเข้าคริสต์หรืออิสลาม หรือศาสนาอื่น แล้วเวียนกลับมาขอบวชใหม่
เป็นคนลักเพศ อายุไม่ถึงเกณฑ์ คุณสมบัติยังไม่ครบ ก็ปลอมอายุ ปลอมใบประกาศ
เข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีกับเขา ฯลฯ พวกนี้ ท่านระบุว่า
"เป็นปาราชิกก่อนบวช"
คือหมายถึงว่า ทรงห้ามมิให้บวชโดยสิ้นเชิง และถึงแม้ว่าคณะสงฆ์จะไม่ทราบกำพืด
แต่ก็ทรงวินิจฉัยไว้ว่า
"ถึงแม้ว่าจะได้รับการบวชจากสงฆ์ทั้งสองฝ่ายอย่างถูกพิธีแล้ว ก็ไม่มีผลใดๆ
คือว่าไม่เป็นภิกษุณี ไม่ว่ากรณีใดๆ"
เหล่านี้คือสตรีต้องห้ามไม่ให้บวช
ส่วนที่บวชได้วันสองวันก็อุตริสอนหรือด่าพระ อ้างว่าเคยสอนเปรียญ 9 มาแล้ว
คงไม่ต้องไปฟังโอวาทจากสงฆ์อีก เพราะว่าเก่งกว่า เป็นถึงรองศาสตราจารย์ก่อนนุ่งสบง
เป็นต้น อย่างนี้ก็เห็นควรให้สงฆ์ลงทัณฑกรรม ให้ล้างห้องส้วมซัก 50 ปี
เพื่อดัดสันดานประจานให้เข็ดหลาบ จะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป
ทีนี้ถ้าหากว่าสตรีท่านใดได้คุณสมบัติครบต้องตามพระบรมพุทธานุญาต
ก็ย่อมจะบวชได้เลยใช่ไหม ? เอ .. อันนี้ยังมีปัญหาอีกปมหนึ่งนะ เป็นปมใหญ่ด้วย...
คือก็ดังที่บอก ว่าภิกษุณีนั้นจะเป็นได้ก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ได้แก่
ต้องบวชเป็นสามเณรีมาก่อน แล้วจึงถือสิกขามานา (ถือศีล 6 ข้อแรกอย่างเคร่งครัด) อีก
2 ปี จึงจะมีสิทธิ์ขอบวชเป็นพระได้ แต่แม้จะมีสิทธิตามกฏเกณฑ์แล้วก็ตาม
ก็ยังต้องมาติดในเรื่องขององค์สงฆ์ที่จะทำการบวชให้
เพราะว่าไม่มีใครในโลกนี้สามารถจะบวชให้แก่ตนด้วยตนได้ ยกเว้นแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ดังนั้นก็จึงมาถึงกระบวนการการบวช ซึ่งการบวชเป็นภิกษุณีนี้ พระวินัยกำหนดไว้ว่า 1.
สามเณรีผู้ผ่านการเป็นสิกขามานาครบ 2 ปีแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อคณะภิกษุณีสงฆ์
เพื่อขอรับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี 2. ภิกษุณีสงฆ์เมื่อตรวจคุณสมบัติชัดเจนแล้ว
สามารถทำการอุปสมบทให้แก่สามเณรีองค์นั้นได้ 3. ภิกษุณีสงฆ์ที่จะทำการบวชให้ได้นั้น
ต้องมีจำนวน 10 รูปขึ้นไปในสังฆกรรม 4. ต้องมีปวัตตินีหรือพระอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณีผู้มีอายุพรรษาบวชพระผ่านมาแล้ว
12 ปีบริบูรณ์เป็นอย่างต่ำ จึงจะสามารถทำการอุปสมบทให้ได้
ได้ตามนี้ภิกษุณีสงฆ์จึงสามารถทำอุปสมบทกรรมให้แก่สตรีเพศได้
แต่แม้ว่าจะผ่านการอุปสมบทจากภิกษุณีสงฆ์มาอย่างถูกต้องแล้ว
ก็ยังหาเป็นภิกษุณีได้ไม่ เพราะพระวินัยบัญญัติไว้ว่า
"ยังเป็นได้แค่เพียงครึ่งเดียว"
ถ้าจะให้เต็มแล้ว ต้องขอบวชในภิกษุสงฆ์อีกรอบหนึ่งจึงจะสมบูรณ์
ขั้นตอนสุดท้ายนี้ไม่มีปัญหา เพราะว่าพระสงฆ์ไทยทุกนิกายยินดีต้อนรับ เอ๊ย
ยินดีบวชให้แก่สตรีที่ผ่านการอุปสมบทจากภิกษุณีสงฆ์มาแล้วแน่นอน
(ขอตอบแทนมหาเถรสมาคม) หากแต่ว่า คุณสมบัติด้านภิกษุณีสงฆ์ในข้อแรกนั้นนะสิ
มีครบหรือเปล่า ???
นี่แหละคือปมปัญหาที่หาพระสงฆ์ไทยบวชให้แก่สตรีไมได้ ทั้งๆ ที่อยากจะบวชให้ใจจะขาด
หากแต่มาติดขัดตรงคุณสมบัติ
"ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย"
ทำให้สตรีไม่มีโอกาสบวชเป็นสามเณรี และเป็นภิกษุณี ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน
และอนาคต พระสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคมเองก็จนปัญญาจะไปหาภิกษุณีไทยมาจากไหน
หลวงพ่อองค์เก่งที่สุดนั้นก็ปั้นได้แค่กุมารทอง จึงจำใจที่พระสงฆ์ไทยต้อง
"ระงับความหวังดีไว้แต่เพียงเท่านี้ ซอรี่นะโยม"
ปัญหาข้อไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทยเรามาก่อนเลยนี้ ถูกตีความโดยสตรีที่อยากจะบวช
โดยอ้างพระพุทธพจน์ข้อที่ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรา (คือพระพุทธเจ้า) อนุญาตให้ภิกษุสงฆ์บวชให้แก่สตรีได้"
แถมยังบังคับให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติตามนี้
โดยไม่ต้องสนใจในเรื่องของภิกษุณีสงฆ์อะไรทั้งสิ้น ถามว่าทำได้หรือ ?
คำตอบก็คือว่า "หามิได้"
คือ ไม่ได้
!
เพราะพระบรมพุทธานุญาตที่ประดาสตรีเพศทั้งหลายนำมาอ้างอิงนั้นเป็นการ
"อ้างไม่ถูก"
หรือ "อ้างไม่หมด"
เหตุผลนั้นผู้เขียนได้เขียนไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว
แต่ก็ยังมีการขับรถแบบบายพาส คือผ่านตรงๆ ไม่ได้ก็เล่นขับอ้อมเมือง เช่น
กรณีสตรีสองแม่ลูกสกุลกบิลสิงห์ ที่พอพบทางตันว่าด้วยภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย
ด้วยความเป็นผู้หญิงทันสมัย จึงคิดว่า หาที่เมืองไทยไม่ได้ ก็หามาจากที่อื่นสิ
พระสงฆ์ไทยก็ได้มาจากที่อื่นก่อนเช่นเดียวกันมิใช่หรือ ว่าพลางก็เอาแผนที่โลกมากาง
ชี้ไปในประเทศที่เป็นพุทธ สะดุดตรงไต้หวันและศรีลังกา
เพราะว่าที่สองประเทศนี้มีภิกษุณีสงฆ์อยู่พร้อม
จึงลงทุนบินไปขอรับการบรรพชา-อุปสมบท
จากภิกษุณีสงฆ์ในประเทศทั้งสองนั้นดังเล่าไว้แล้ว
การทำเช่นนี้ ภิกษุณีสองแม่ลูกคิดว่า
"พระสงฆ์ไทยคงยอมรับสถานภาพของภิกษุณี"
เพราะถ้าขืนมาตีก็จะตอบโต้มั่งว่า
"แล้วพวกท่านมาจากไหน ถ้าไม่ใช่ศรีลังกา ไปอ่านประวัติบรรพบุรุษของคณะสงฆ์ไทยดูเด่ะ"
นับว่าเป็นกลเม็ดเด็ดพรายที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์
ผู้ผ่านการสอนประโยคเก้ามาแล้ว นำมาใช้เป็นใบเบิกทาง
แต่คุณแม่ทั้งสองคงยังมองไม่ออกกระมังว่า พระไทยเรานั้นไปรับเอาสมณเพศจากศรีลังกามาก่อนก็จริง
แต่ภายหลังศรีลังกากลับมีปัญหามากกว่าไทยเราอีก ถึงกับสิ้นวงศ์พระสงฆ์ไปเลย
จนต้องมาขอเอาพระสงฆ์ไทยกลับไปฟื้นศาสนาขึ้นใหม่ในปลายกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาในศรีลังกาที่ว่าบริสุทธิ์มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3
ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระโอรสคือพระมหินทร์และพระธิดาคือพระภิกษุณีอสันธิมิตตาไปประดิษฐานไว้นั้น
ก็อันตรธานไปตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ที่ยังมีอยู่นี้นำเข้าไปทีหลังทั้งสิ้น
หนึ่งนั้นคือนิกายรามัญหรือมอญ สองนั้นนิกายอมรปุระของพม่า
สามนั้นเป็นเสียมหรือสยามวงศ์จากอยุธยา
ทีนี้เมื่อว่ากันถึงการยอมรับ
พระสงฆ์ไทยนั้นมองเห็นพระสยามวงศ์ในลังกาเป็นเหมือนลูกนอกไส้ เพราะแม้จะไปจากไทย
แต่ก็ไม่เหมือนไทยแล้ว เพราะพระไทยสมัยหลังถูกปรับปรุงหรือที่เรียกว่า
อัพเกรด
โดยเอานิกายของมอญมาครอบ เกิดเป็นธรรมยุต บวกกับพิธีหลวง
คณะสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 มาจนบัดนี้
จึงไม่เหมือนกับสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียทีเดียว จะว่ามีวิวัฒนาการก็ไม่ผิด
ดังนั้น เมื่อนำเอาพระไทยสมัยนี้ไปเปรียบเทียบกับพระศรีลังกาในสยามวงศ์แล้ว
มองแบบไทยๆ ก็ดูเหมือนจะเห็นพระสยามวงศ์ในลังกายังล้าหลังพระไทยอยู่หลายขีด
และการที่นางฉัตรสุมาลย์อาศัยกลยุทธ์
"หนามยอกเอาหนามบ่ง"
คือเมื่อคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมบวชให้แก่สตรีเพศโดยตรง
จึงบินตรงไปทำการบวชในสยามนิกายที่ศรีลังกาแล้วกลับมา
โดยหวังว่าคณะสงฆ์ไทยจะยินยอมรับสถานภาพภิกษุณีของนาง
เพราะสยามนิกายในลังกาเป็นพระที่ได้รับการส่งตรงไปจากไทยในสมัย 300 ปีก่อน
ถึงพระไทยรุ่นหลังจะเกิดไม่ทัน แต่ประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้อย่างชัดเชน
ใครจะลบล้างไม่ได้ คณะสงฆ์ไทยเสียอีกที่ยังคงชื่นชมกับประวัติศาสตร์หน้านั้น
หน้าที่ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คณะสงฆ์ไทยได้รับเกียรติอย่างสูงส่งจากชาวศรีลังกา
เลือกให้กลับไปเป็นเสาหลักในการฟื้นกิจการพระพุทธศาสนา ทั้งๆ
ที่ศรีลังกาเคยเป็นชมพูทวีป
เป็นแหล่งส่งออกพระพุทธศาสนาสายเถรวาทใหญ่และยิ่งยงที่สุดยิ่งกว่าอินเดียเสียอีก
แต่ปรากฏว่าหาได้ผลไม่ เพราะพระสงฆ์ไทยมองต่างมุมไปจากธัมมนันทาว่า
"เหตุไฉน เมื่อคณะสงฆ์ไทยซึ่งเป็นพ่อ ไม่ยอมบวชให้
แต่คณะสงฆ์สยามวงศ์ในลังกากลับข้ามหน้าข้ามตาบวชให้เสียเอง
อย่างนี้ก็เท่ากับไม่ให้เกียรติคณะสงฆ์ไทย
ในเมื่อเขาไม่ให้เกียรติเราซึ่งอาวุโสกว่าในฐานะผู้ให้กำเนิดแก่เขา
แล้วเราจะต้องให้เกียรติเขาไปทำไม"
มันก็เลยกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องของศักดิ์ศรีไปอีกเรื่องหนึ่ง
ซึ่งคนที่จบปริญญาเอก 2 ใบ อย่าง
ดร.ฉัตรสุมาลย์ ผู้ชำนาญในปรัชญาพุทธ
มีหรือจะอ่านไม่ออก จึงจำต้องกล้ำกลืนฝืนใจอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า
"อึดอัด" เพราะสถานะในบัดนี้นางมิใช่นักวิชาการหรืออาจารย์แล้ว หากแต่เป็นนักเรียนผู้รอลุ้นผลสอบที่ทำเทสต์เสร็จไป
จะให้คะแนนแก่ตัวเองก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกติกามารยาทระบุไว้
เหล่านี้คือกรณีที่ยังคงค้างกลางโต๊ะสัมมนา เป็นปัญหาคาอกคาใจใครต่อใคร
ยังไม่นับประเด็นปลีกย่อยอีกเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่จะขอปิดสำนวนไว้เพียงเท่านี้ก่อน
เพื่อเข้าสู่ประเด็นหลักที่ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องไว้ในเบื้องต้นที่ว่า
ปมปัญหาภิกษุณี
ถ้าพระไม่ดูแลให้ดีก็มีสิทธิ์สูญเสียหนัก
ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะหยิบขึ้นมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาก็คือ
เรื่องของผลประโยชน์อันกระทบจากการมีภิกษุณีหรือไม่มีภิกษุณีในเมืองไทย
และผลประโยชน์อันนั้นเป็นประโยชน์ของพระสงฆ์ไทยเราเอง
ขอให้ท่านผู้อ่านมองดูด้วยสายตาอันเป็นปกติทีเถิดว่า ถ้านับดูจำนวนประชากรของคนที่
"เข้าวัด"
และ "ทำบุญ"
ในประเทศไทยเราวันนี้ มีผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน ? ตอบได้คำเดียวว่า
แทบจะร้อยทั้งร้อยเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น ส่วนผู้ชายนั้นมีสถิติไม่พอต่อการบันทึก
คือน่าจะไม่ถึง 1-2 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมองดูประชากรของคณะสงฆ์แล้ว
เห็นมีแต่พระภิกษุและสามเณรเท่านั้น ไม่มีภิกษุณีและสามเณรีเลย
ถึงจะมีแม่ชีก็ถูกจัดให้เป็นเพียง
"อุบาสิกาผู้รักษาศีล 8 เท่านั้น"
เมื่อผู้หญิงซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์แทบว่าเต็มร้อยให้กับพระพุทธศาสนาในเมืองไทยเช่นนี้แล้ว
หากว่าเขาอยากจะได้สิทธิบางอย่าง เช่น
เป็นสามเณรี เป็นภิกษุณี เป็นต้น
ซึ่งแม้ว่าคณะสงฆ์ไทยจะให้ไม่ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ควรจะมีท่าทีที่ละมุนละม่อม
ยอมรับนับถือ และหาทางออกให้โดยไม่ต้องหมองใจกัน
ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้ชายในผ้าเหลืองเองนั่นแหละ ขอแขวะหน่อย
จากท่าทีที่เราได้เห็น กลับเป็นว่า มหาเถรสมาคมของคณะสงฆ์ไทยใช้วีการ
"เพิกเฉย"
ไม่ดูไม่แล แต่ว่าไม่ให้เท่านั้นยังไม่พอ ยังแสดงอาการ
"คุกคาม"
ต่อสตรีผู้เรียกร้อง ในทำนอง "ประณาม"
แถมพระที่แสดงทัศนะสนับสนุน เช่น เมตตานันโท ยังถูกกดดันอีกต่างหาก
สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคมขาด
"เมตตาธรรม"
ทั้งๆ ที่ยังต้องพึ่งพาสตรีเพศถวายปัจจัยใส่บาตรให้กินอยู่ทุกวี่วัน
ผู้เขียนเกรงว่า ถ้าวันไหนผู้หญิงไทยเขาหมั่นไส้พระไทยมาก ๆ เกิดเอาใจออกห่าง
ไปสนับสนุนสตรี ไม่มีการทำบุญให้แก่พระภิกษุไทยอีกต่อไป
ถึงตอนนั้นแล้วพระไทยเราจะลำบาก และขอกราบเรียนว่า
บทเรียนนี้อาจจะเกิดขึ้นจริงเสียด้วย ดังได้ข่าวมาว่า บัดนี้ สตรีเพศทั้งหลาย
ได้ระดมทุนกันสร้างโรงเรียนคอนแวนพุทธขึ้นมา
เพื่อเป็นสถานการศึกษาระดับอินเตอร์ของสตรีโดยเฉพาะ นั่นก็เท่ากับว่า
เขาไม่รอพระผู้ชายในเมืองไทยหยิบยื่นสิทธิอะไรให้แก่เขาอีกต่อไปแล้ว
เขาจะสร้างเนื้อสร้างตัวของเขาเอง งบประมาณหรือก็ออกจะเยอะแยะ
แค่แปรปลายทางจากวัดของพระไทยไปลงที่วัดหรือโรงเรียนของพระผู้หญิงหรือแม่ชีเท่านั้น
ก็ออกจะเหลือเฟือ ข่าวคราวที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยทั้งสองแห่งในพักหลังๆ
นี้จึงมีแต่ "บ่จี้ บ่มีสตังค์"
ดังขึ้นเรื่อยๆ ทำพระโสธรขายก็ล้มละลายเพราะบริหารจัดการผิด จนกรอบหนักถึงกับขอเข้าเป็นมหาวิทยาลัยในระบบของรัฐ
เพื่อจะได้เงินมาบริหารอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นั่นละคือสถานการณ์ "อันตราย"
ของพระสงฆ์ไทย ผู้หลงระเริงใจอยู่ในกำแพงวัดว่า
"อย่างไรเสียผู้หญิงไทยจะไปไหนเสีย
มันก็ต้องเข้ามาไหว้พระอยู่วันยังค่ำ"
โดยหารู้ไม่ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีมาแล้ว
ต่อไปผู้หญิงอาจจะเป็นสังฆราชินีด้วยก็เป็นได้ ใครจะรู้
ก็ลองชั่งน้ำหนักตรองจิตตรองใจใคร่ครวญดู อย่าปิดหูปิดตาตัวเอง บุญกุศลนั้นใครๆ
อยากจะทำก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นเพียงกุสโลบายหรือคตินิยมที่สามารถสร้างและลบล้างได้
ถ้ารู้ถึงวัตถุประสงค์จริงก็ไม่มีใครเขายึดติด
เห็นเป็นแต่เพียงกระแสและวิธีการฝึกฝนอบรมคนเท่านั้น
จึงขอพูดกับพระผู้ชายที่นั่งอยู่ในมหาเถรสมาคมทุกท่านว่า
"หาทางออกให้แก่สตรีไทยให้ดีนะครับ พระคุณท่าน"
เพราะเราต้องพึ่งเขา ไม่ใช่เขาต้องพึ่งเรา จริงอยู่ พระสงฆ์ไทยมีระเบียบวินัยควบคุม
จะทำอะไรโดยพลการไม่ได้ หากแต่ที่ต้องพูดคุยกันก็คือว่า
ถ้าหากว่าเราให้สิทธิสตรีไทยเป็นสามเณรีและภิกษุณีไม่ได้
แล้วเป็นไปได้หรือไม่เล่าครับ ที่เราอาจจะให้สิทธิพิเศษแก่สตรีเพศในสถานะใหม่
อย่างน้อยก็ยกสถานะของแม่ชีจากอุบาสิกาผู้ถือศีล 8 มาเป็น
"นักบวชหญิงในพระพุทธศาสนา"
อย่างเต็มเนื้อเต็มตัวกันเสียที
ถ้าแค่นี้ยังทำไม่ได้
ก็ป่วยการจะไปรับสังฆทานจากผู้หญิงแล้วละครับ ท่านมหาเถร
!
|