"พระจริงหรือเปล่า
พระจริงหรือพระปลอม มีใบสุทธิไหม ไหนเอามาดูซิ
!"
เป็นคำสั่ง คำขู่
คำเตือน และ คำตะคอก ของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ใช่แล้ว เขาเป็นตำรวจ
ตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ
มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนตามอุดมการณ์ของทางการที่ตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นมา
พระที่โดนขู่ในครั้งนี้มีชื่อว่า
พระภิกษุสมศักดิ์ พุทธิวฑฺฒโน
สังกัดสำนักสงฆ์เทพประทานพร อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
เหตุเกิดบนรถไฟขบวนพิษณุโลก-กรุงเทพฯ ขบวนที่ 110 คันที่ 13 ชั้น 3
เลขที่นั่ง 27 เวลาเกิดเหตุนั้นประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 14 มีนาคม 2547
พระสมศักดิ์นำแก้มอันแดงด้วยลายมือ
เดินขึ้นโรงพักแจ้งความกับร้อยเวรสถานีสามเสน ต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล
เพื่อจะบอกข่าวแก่
"ขนานแม้ว"
หรือ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีตพระภิกษุวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งบัดนี้มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย
บังคับบัญชาข้าราชการทุกหมู่เหล่า ให้รับรู้รับทราบว่า
"บัดนี้
พระภิกษุสามเณรในประเทศที่ขนานปกครองอยู่นั้นเดือดร้อนหนัก
ไร้ศักดิ์ศรีไม่มีเกียรติ
เพราะถูกเจ้าหน้าที่เหยียดหยามถึงกับตบหน้าต่อธารกำนัน"
พระสมศักดิ์เล่าว่า ตนเองโดยสารรถไฟขบวนมหานรกนี้จากพิษณุโลกเข้ากรุงเทพฯ
เพื่อจะนำเอาข่าวงานบุญสงกรานต์ไปแจ้งแก่ญาติโยมที่จะไปทำบุญที่วัด
ช่วงรถไฟวิ่งผ่านจังหวัดนครสวรรค์ เวลาประมาณ 09.00 น. ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ
5 นาย
โผล่มาจากนรก เอ๊ย
เดินมาจากทางท้ายขบวน ทำทีตรวจโน่นดูนี่
แล้วก็มาสะดุดเอากับผ้าเหลืองที่นั่งอยู่บนเบาะหมายเลข 27 ชั้น 3 คันที่ 13
หนึ่งในนั้นจำชื่อได้ว่า
"นิติกร เหลืองอร่าม"
ถามด้วยกริยาอาการและถ้อยคำอันอ่อนน้อมดังกล่าวข้างต้น
แต่เมื่อตนเองย้อนกลับไปว่า
"เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
จะพูดกับพระกับเจ้าก็ควรพูดดี ๆ ถ้าพูดไม่ดีก็จะไม่ให้ตรวจนะ"
เพียงเท่านั้นเอง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีนามว่า
นิติกร เหลืองอร่าม
ก็ถวายสังฆทานพระสมศักดิ์เป็นแป้นมือสดๆ ลงบนแก้มซ้ายและปลายหูอย่างถนัดถนี่
โทษฐานบังอาจสอนมารยาทเจ้าหน้าที่บนรถไฟ ด้วยเข้าใจว่าหน้าที่นี้เป็นของพ่อแม่ของตนเองเท่านั้น นอกนั้นไม่ว่าใครไม่มีสิทธิ์สอน
แม้แต่พระ ถวายเสร็จโดยไม่ยอมรับพร ตำรวจทั้ง 5 นายก็พากันกระทืบเท้ากลับไป
โดยไม่สนใจจะดูใบสุทธิหรือบัตรประจำตัวประชาชนของพระที่ว่าสำคัญนักหนานั้นอีก
เป็นข่าวที่ผู้เขียนซึ่งเป็นพระไทย แต่จากบ้านจากเมืองมาอยู่เสียไกล๊ไกล
คือในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว
แต่ก็ยังมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นพระไทยอยู่ทุกอณู
เมื่อได้อ่านข่าวนี้แล้วก็เศร้าจนแทบจะร้องไห้
เศร้าและเสียใจแทนศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของพระไทย
ที่บรรพบุรุษเราเคารพยกย่องกราบไหว้มาตั้งแต่สมัยสร้างชาติ
บัดนี้พระไทยกลายเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง
ไปไหนมาไหนไม่ว่าชาวบ้านไม่ว่าเจ้าหน้าที่มีแต่หวาดระแวง
คอยสะกิดสะเกาเดาอาการว่า
"พระจริงหรือว่าพระปลอม"
และถึงกับลงไม้ลงมือกับพระสงฆ์สามเณรถ้าหากว่าไม่พอใจ
พระไทยคือใคร ?
คำถามนี้รู้สึกว่าจะมีขึ้นอย่างหนาหูอยู่เรื่อย ๆ ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ
ถึงบริบทของสังคมไทยที่มีมาแต่สมัยสร้างชาติ
ว่าชาติไทยเรานั้นก่อเกิดเป็นรูปร่างก่อนจะเป็นประเทศไทยจนได้ดิบได้ดีเช่นทุกวันนี้
ก็เพราะว่ามีพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิด เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน ทุกๆ เช้า
เราจะถูกจับตัวเข้าแถวเรียงหน้ากระดาน มีตัวแทนฝ่ายชาย-หญิง
อย่างละหนึ่งคนออกไปเชิญ
"ธงชาติ"
ขึ้นสู่ยอดเสา ธงนั้นมีอยู่สามสีเป็นริ้วยาวลายไม้บรรทัดสลับกันอยู่ 5 แถบ
ไล่จากบนลงล่าง แถบแรกเป็นสีแดง แถบที่สองเป็นสีขาว แถบที่สามจะหนากว่าเพื่อน
เป็นเหมือนแถบหลัก มีสีฟ้าหรือน้ำเงิน แถบที่สี่เป็นสีขาวอีก
และแถบที่ห้าปิดท้ายนั้นเป็นสีแดงแถบที่สอง
มองดูก็สนิทกลมกลืนกันดีไม่มีผิดพ้องหมองใจ ครูบอกชื่อว่า
"ธงไตรรงค์"
แปลว่า ธงที่ประกอบด้วยองค์สามตามสี
สีแดงนั้น
ครูท่านอธิบายว่า เป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของ
"ชาติ"
ได้แก่ ชาติไทย ชนชาติไทย
เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ที่อยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย ทุกคนเป็นชาวไทย
มีความเป็นชาติไทยเสมอกัน
สีขาวนั้น
ท่านอธิบายว่า เป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของ
"ศาสนา"
ได้แก่ พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ
แม้ว่าในรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะอายไม่กล้าเขียนไว้ก็ตาม
แต่คุณครูก็ยืนยันว่า "สีขาวคือสีสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาแต่สมัยเริ่มสร้างชาติ"
สีน้ำเงิน
ท่านแปลว่า คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
เป็นหลักชัยให้แก่แผ่นดิน เป็นผู้นำปวงชนชาวไทย
ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูที่บังอาจเข้ามารุกราน สัตว์มีจ่าฝูงฉันใด
คนก็ต้องมีผู้นำฉันนั้น เพราะถ้าไม่นำก็ไม่มีใครไป ก็ไม่รู้ทิศทาง
ผู้นำจึงสำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างชาติ
เวลาร้องเพลงชาตินั้น
ท่านห้ามมิให้กระดุกกระดิกหรือแสดงอาการอื่นใดที่ไม่เป็นการเคารพ
ต่างไปจากการร้องเพลงเต้นรำบนฟลอร์หรือเวทีดิสโก้เทค
ซึ่งคนที่เข้าร่วมนั้นจะสวิงสวายวาดลวดลายกันอย่างเต็มที่
มีอะไรเด็ดๆ ก็เก็บใส่เข้าไปให้มันหยด
มือหรือเท้าหรืออะไรที่พอจะใช้ให้เกิดความสนุกสุดเหวี่ยงได้ก็อนุญาตหรือยกย่องให้ใช้ได้เต็มที่ไม่มีลิมิต
หากแต่เวลาร้องเพลงชาติจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถือว่าเป็นการไม่เคารพ
ทำไมต้องเคารพ ? นั่นนะสิ เป็นคำถามที่น่าจะเรียกว่า
"บื้อเหลือเกิน"
แต่ก็จำต้องถามนำ เพราะหาคนตอบอย่างถูกต้องได้ยาก คือว่า
กลุ่มคนหรือฝูงชนที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่ามากเข้าเป็นประเทศหนึ่งๆ นั้น
จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ยากมาก ถ้าหากว่าไม่มีอุดมการณ์ร่วมกัน
และอุดมการณ์นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยสิ่งประเสริฐสองประการ คือ
ชาติและศาสนา โดยผู้นำคือพระมหากษัตริย์
คำว่า "ชาติไทย"
ไม่มีใช้ในพจนานุกรมหรือในตลาดการพูดของคนไทมาแต่เดิม
แต่ว่าเพิ่งจะมาเริ่มใช้
"ชาติไทย"
เป็นจริงจังมั่นคงก็คงจะในสมัยรัชกาลที่ 4
ซึ่งมีปัญหาทางด้านการเมืองกับชาติมหาอำนาจของยุโรป คืออังกฤษกับฝรั่งเศส
ทั้งสองประเทศนั้นอาศัยแสนยานุภาพอันทันสมัยกว่ารบรุกและแย่งดินแดนของไทยไปจำนวนมหาศาล
และขู่เข็ญถึงกับจะยิงพระบรมมหาราชวังถ้าหากว่าพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามประเทศไม่ยินยอมตามคำเรียกร้องของตน
คนไทเราเพิ่งจะมาเริ่มรู้จัก
"ชาติไทย"
ก็สมัยนั้น โดยพระราชดำริอันประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ทรงคิดและทรงกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้
"ราชอาณาจักรสยามและคนไทยในแผ่นดินนี้อยู่รอดปลอดภัยจากข้าศึกศัตรู
ไม่ตกเป็นขี้ข้าของต่างชาติ"
และหลังจากนั้นเราก็มีธงชาติไทย ซึ่งสมัยแรกๆ ก็ชูช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์
แต่ต่อมาก็พัฒนาเป็นธงไตรรงค์ตามที่ได้อธิบายมา
ตั้งใจจะอุปถัมภก
ป้องกับขอบขัณฑสีมา |
ยอยกพระพุทธศาสนา
รักษาประชาชนและมนตรี |
นี่คือพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ปฐมบรมมหาราชจักรีวงศ์ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ไว้ในนิราศท่าดินแดง
ที่ทรงเสด็จนำทหารหาญออกต้านทานข้าศึกศัตรูที่เข้ามารุกรานแดนไทยให้พ่ายแพ้ไป
สมัยก่อนนั้น
วัดคือสถานที่อันประเสริฐ
ไม่มีกิจการผลาญศรัทธาสาธุชนแบบครบวงจรเหมือนสมัยนี้
ที่มีตั้งแต่ตั้งด่านรีดเงินค่าจอดรถ ไปจนถึงจะสวดศพเผาผีมีกิจการงานอะไรๆ
ก็ต้องใช้
"เงิน"
ไม่มีเงินก็ไม่มีสิทธิ์เข้าวัด หากแต่วัดแบบดั้งเดิมนั้นเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญโดยการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ศรัทธาสาธุชน
ผู้เดือดเนื้อร้อนใจหวังจะได้รับความสงบเย็นจึงเข้าวัด
และพระในวัดก็มิได้ติดอามิสสินจ้าง
หากแต่ทำงานสาธารณสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยไมตรีจิตโดยมิคิดหวังสิ่งตอบแทน
เป็นการ
"give away"
หรือ
"ให้เปล่า"
คนเขาจึงนับถือ มีอะไรดีๆ เช่น อาหารการกินที่อร่อยๆ
ก็คิดถึงพระถึงเจ้าก่อน ขนาดลูกอ่อนร้องไห้จะขอกินก็ยังถูกดุว่า
"กินก่อนพระจะเป็นบาป"
ทางด้านหนึ่งนั้น พระสงฆ์ไทยสมัยโบราณ
อาศัยเวลาที่ว่างมากกว่าโยมเพราะไม่ต้องวุ่นวายกับการหาเลี้ยงชีพนั้น
ช่วงนั้นท่านก็จะทุ่มเทศึกษาวิชาการทั้งคดีโลกและคดีธรรมไว้ให้พร้อมสรรพ
จนรู้มากกว่าประชาชนทั่วไป
คนไทยสมัยโบราณตั้งแต่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ลงมาจึงนิยมนำเอาพระโอรสและลูกหลานไปฝากตัวไว้รับใช้ใกล้ชิดกับพระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตในวัด
พระจึงมีตำแหน่งใหม่ในนามว่า "พระครู" คือเป็นทั้งพระทั้งครู
เป็นทั้งผู้สืบศาสนาและเป็นอาจารย์ผู้สอน
สถานะของวัดที่พระอาศัยอยู่นั้นจึงเป็นทั้ง
สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาการ
มีศิษย์เก่าที่จบออกไปรับใช้ชาติบ้านเมืองตั้งแต่ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินไปจนถึงกรรมกร
นี่คืออิทธิพลของพระพุทธศาสนาอันเป็นแถบสีขาวๆ ติดอยู่บนผืนผ้าต่อหน้าพวกเรา
ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสยุโรปกลับมา ก็ทรงปฏิวัติวัฒนธรรมทางการศึกษาของคนไทยเสียใหม่
เพื่อให้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงได้มีโอกาสทางการศึกษาวิชาการอย่างทัดเทียมกัน
จึงทรงโปรดให้ตั้งสถานศึกษาแบบถาวรหรือโรงเรียนขึ้นมาเป็นครั้งแรก และแรก ๆ
ก็มอบถวายภาระหน้าที่ให้พระสงฆ์เป็นต้นแบบ หากแต่เนิ่นนานไป
พระสงฆ์ไทยไม่รู้จักบทบาทของตัวเอง
นึกว่ากูคือสถานบันที่ไม่ว่าใครถ้าเกิดในผืนแผ่นดินไทยแล้วต้องมากราบตีน
มีอะไรๆ ก็ต้องเอามาให้กูกินก่อน เพราะแต่ก่อนเขาเคยกินมาแบบนี้
นับจากนั้น พระสงฆ์ไทยก็เอาแต่หลับไหลไม่ยอมพัฒนาตัวเอง หาว่า ร.5
ทางแยกวัดออกจากโรงเรียน ทำให้เราตกงาน
ในขณะที่นักบวชชาวคริสต์นั้นเขามาทีหลัง แต่ไม่บ่น
เขาตั้งโรงเรียนทั้งการแพทย์การพยาบาล ดาราศาสตร์ อักษรศาสตร์
พัฒนาให้ล้ำหน้ามาทุกยุค ปัจจุบันวันนี้ คริสเตียนมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเมืองไทยมากกว่าสถาบันทางพระพุทธศาสนา
เช่น มาแตร์เดอี เซนต์จอห์น เซนต์หลุยส์ เซนต์โจเซฟ มงฟอร์ต ปริ๊นส์รอย
มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค
ซึ่งว่ากันว่าค่าเล่าเรียนแพงที่สุดและมีนักเรียนอยากเข้าเรียนมากที่สุดด้วย
สถาบันศึกษาทางคริสตศาสนาเหล่านี้
มีลูกศิษย์ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไปจนถึงนายพันนายพลและคุณหญิงคุณนาย
จบไปแล้วได้ดิบได้ดีมีตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารบ้านเมือง
แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็จบโรงเรียนคริสต์
ส่วนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนพุทธนั้น ที่เคยมีผู้หลักมักดีมาขอเป็นลูกศิษย์
ก็กลายเป็นโรงเรียนสงเคราะห์คนอนาถา ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา
จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลไทยขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับให้เด็กไทยตั้งเรียนจบชั้น
12 แล้ว พระภิกษุสามเณรก็ยิ่งขาดแคลนหนัก
เจ้าอาวาสเจ้าสำนักเรียนถึงกับต้องวิ่งไปหานักเรียนนอกจากรัฐฉานประเทศพม่า
จากลาว จากกัมพูชา เข้ามาเสริมให้ห้องเรียนเต็ม
เพื่อจะได้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นรายหัว
แล้วก็โดนข้อหา "ให้ที่พักพิงแก่คนต่างชาติผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย"
ในขณะเดียวกัน ใครเรียนโรงเรียนวัดหรือแม้แต่จากมหาวิทยาลัยสงฆ์
(มหาจุฬาฯท่าพระจันทร์-มหามกุฏ บางลำพู) แล้ว ก็จะรู้สึกว่า "ตัวเองด้อย"
เพราะวิชาการสู้เขาไม่ได้
พระไทยสมัยนี้จึงกระเสือกกระสนอย่างหนักที่จะพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยทางโลก
เช่น จุฬาฯ มธ.หรือธรรมศาสตร์ มหิดล มช.หรือเชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช
ศรีนครินทรวิโรฒ เกษตรศาสตร์ แม่โจ้ นิด้า ฯลฯ
ถ้าพระสงฆ์องค์เณรได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาเหล่านี้แล้วจะรู้สึกว่า
"มันเท่ห์" มีหน้ามีตามากกว่าเรียนมหาจุฬา-มหามกุฏ พูดง่ายๆ ก็คือว่า
คิดว่าเป็นลูกศิษย์ชาวบ้านดีกว่าเป็นลูกศิษย์พระด้วยกัน
ภาพที่เห็นจึงเป็นว่า จากอดีตกาล
พระสงฆ์ไทยเคยมีบทบาททางด้านการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจของสรรพสิ่ง
และมีอิทธิพลทางสังคม ก็กลับกลายเป็นว่า พระไทยไร้บทบาท
จากที่เคยเป็นครูก็ลดตัวเองไปเป็นนักเรียน มหาวิทยาลัยสงฆ์มีแต่พระด๊อกเตอร์จากอินเดียเข้าครองอำนาจ
เล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่แถวๆ มคธ ปูเน่ห์ เดลลี พาราณสี สาวัตถี มาจนถึงอ่าวเบงกอล
แสดงวิสัยทัศน์และโลกทัศน์ไม่ต่างไปจาก
"โชว์ห่วย"
คุยเรื่องแขกกับขี้ได้ดิบได้ดีจนเต็มบ้านเต็มเมือง ส่วนเรื่องจะไปสู้อังกฤษ
รัสเซีย อเมริกา หรือว่าแม้แต่มาเลเซียกับสิงคโปรนั้น
สมองของท่านยังคิดไม่ถึง
ทางด้านองค์กรปกครองสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม ก็มีแต่พระด๊อกเตอร์หรือปริญญาโทจากอินเดียเข้าครองอำนาจ
ได้ยศถาบรรดาศักดิ์มาโดยวิธีการ
"เป็นศิษย์ก้นกุฏิของสมเด็จฯ
ท่านไว้วางใจจึงให้เป็นกรรมการมหาเถร" เหมือนพระราชรัตนมงคล วัดบวรนิเวศ
อ้างอิงคุณสมบัติอันเหมาะสมของตนเองเมื่อตอนได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช
โปรดให้พระมนตรี ประโยค 1-2 เข้าไปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
ผลก็คือ เละเทะ ทั้งสังคมสงฆ์ การบริหารการปกครอง งานการศึกษา
ยิ่งมีปัญหาระหว่างสายวัดมหาธาตุกับวัดสามพระยา-วัดไตรมิตร
เมื่อหลายสิบปีก่อน การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในสายมหานิกายถูกแยกตายออกเป็น 2
สาย ใครอยากดิบได้ดีเป็นผู้บริหารการศึกษาสงฆ์ในระดับสูง เช่น เจ้าคณะจังหวัด
เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน และกรรมการมหาเถรสมาคม ก็ให้ไปไต่เต้าเรียนวิชา
"รัฐมนตรี" ที่วัดสามพระยา นับดูได้เลย
ในมหาเถรสมาคมทุกองค์ในปัจจุบันนี้มีใครบ้างได้ดิบได้ดีนอกสายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น
ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยากันบ้าง ?
ส่วนสายพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ อาสภมหาเถร ป.ธ.8)
วัดมหาธาตุนั้นเหรอ อย่ามองไกลไปเลย พระราชรัตนโมลี หรือท่านเจ้าคุณนครนั้น
กินยศเก่ามาตั้งแต่ก่อนปี 2500 ปัจจุบันก็แขวนท่านไว้ในตำแหน่ง
"ที่ปรึกษามหาจุฬาฯ"
ความดีความชอบซึ่งออกจะมากกว่าพระสมเด็จหลายๆ รูปกลับถูกมองข้าม
ทั้งนี้เพราะท่าน
"เป็นเด็กของพระพิมลธรรม-อาจ"
เพียงเรื่องเดียว
ทีนี้ เมื่อมีวิสัยทัศน์มากมายพอๆ กับขันทีที่เล่นจ้ำจี้กันอยู่แต่หลังม่าน
งานการศึกษา การบริหารและการปกครองของคณะสงฆ์ไทย
ซึ่งต้องใช้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรหลักในการผลักดันให้สัมฤทธิ์ตามอำนาจในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
มหาเถรสมาคมซึ่งมีการแตกแยกการปกครองออกเป็นถึง 5 นิกาย ก็ตายกับตาย
เพราะว่าเล่นแทงกั๊กเอาผลประโยชน์ระหว่างพรรคพวกและนิกายของตนไว้ก่อน
เหมือนกับรัฐบาลผสม 5 พรรค
พรรคแรก คือพรรคธรรมยุต หัวหน้าพรรคนั้นอยู่วัดบวร ย้ายไปวัดราชประดิษฐ์
วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทร์ เหล่านี้บ้างเป็นครั้งคราว
แต่ส่วนใหญ่ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตจะอยู่ที่วัดนี้
ก่อนหน้านี้ตำแหน่งเป็นของสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศ
แต่ปัจจุบันสมเด็จพระญาณสังวรถูกปลดยกเก้าอี้ให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นแทน พรรคนี้มีสมาชิกเป็นคณะธรรมยุตทั้งหมดสังกัดอยู่
พรรคที่ 2 เป็นพรรคในมหานิกาย แต่เรียกว่า เจ้าคณะใหญ่ และใหญ่ที่สุด คือ
เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นอำนาจตกอยู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
วัดสามพระยา แล้วผ่องถ่ายมาไว้ในมือสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺโร
ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม ครองตำแหน่งมาจนปัจจุบัน
ในการชิงตำแหน่ง
"เจ้าคณะใหญ่หนกลาง"
ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดของคณะสงฆ์ไทยมาไว้นี้ เป็นที่น่าทึ่งใจว่า
"ทำกันอย่างคลาสสิก" คือว่า แต่เดิมนั้นสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม)
ท่านเป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ทีนี้พอสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์มรณภาพไป
มีผู้เหมาะสมจะขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่องค์ใหม่แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก็คือ
พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) วัดเบญจมบพิตร
แต่กลับมีการเล่นเก้าอี้ดนตรีขึ้นวงใหญ่ โดยการสลับให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์จากเจ้าคณะใหญ่หนใต้มากินตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
แล้วให้พระพรหมจริยาจารย์ผู้มีบุญอันน้อยกว่านั้นไปครองตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้แทน
ตรงนี้ภาษาพระท่านว่ามิใช่เรื่องกิเลสหรือความอยากได้ใคร่มีอะไรเลย
หากแต่เป็นเพราะผลบุญไม่เท่ากันเท่านั้น
พรรคที่ 3 หนตะวันออก (มหานิกาย)
หนนี้กินพื้นที่ตั้งแต่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ไว้ทั้งหมด ตกอยู่ในการปกครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร
ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พรรคที่ 4 หนเหนือ (มหานิกาย) ตกอยู่ภายใต้การบัญชาการของสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์
(ช่วง วรปุญฺญมหาเถร ป.ธ.9) วัดปากน้ำภาษีเจริญ
พรรคที่ 5 หนใต้ (มหานิกาย) ตกอยู่ภายใต้การบริหารของพระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) วัดเบญจมบพิตร
ซึ่งชวดตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้
เพราะถ้าว่ากันถึงอิทธิพลและบทบาทแล้ว พระพรหมจริยาจารย์ได้เป็นใหญ่เป็นโตก็เพราะมีบารมีของพระธรรมวโรดม
(บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ.9) หนุนอยู่ เพราะในขณะสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ
สุวณฺณโชโต ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรยังมีชีวิตอยู่ พระพรหมจริยาจารย์มิได้มีบทบาทอะไรเลย
เป็นแต่เพียง
"เพื่อนสมเด็จที่เข้ามาอยู่วัดเบญจฯ พร้อมกัน
และเกิดปีเดือนเดียวกันเท่านั้น"
ส่วนอำนาจทางด้านการบริหารและงานในระดับประเทศกลับตกอยู่กับพระธรรมวโรดม
(บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ.9)
ศิษย์รุ่นน้อง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนบาลีในสำนักเรียนส่วนกลางของคณะสงฆ์ไทย วัดสามพระยา
พระธรรมวโรดมตอนนั้นสอนประโยค 9 ถึง 2 ใน 3 วิชา คือ
วิชาแต่งไทยกับพระอภิธรรม
ส่วนวิชากลับหรือแปลไทยเป็นมคธ ซึ่งใช้คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นแบบเรียนนั้นยกให้พระธรรมกิติวงศ์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) วัดราชโอรสารามสอนแทน
พระธรรมวโรดมแม้จะมีอาวุโสในวัดเบญจมบพิตรน้อยกว่าพระพรหมจริยาจารย์
แต่บทบาทในทางคณะสงฆ์แล้วกลับมีมากกว่าพระพรหมจริยาจารย์ต่างกันลิบลับ
ว่ากันถึงขนาดว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์มรณภาพลงไปนั้น
พระธรรมวโรดมเกรงว่าจะเป็นการแข่งบารมีกับพระพรหมจริยาจารย์
จึงมิยอมออกกุฏิไปรับแขกในงานศพ ร้อนถึงพระพรหมจริยาจารย์ต้องวิ่งขึ้นกุฏิของพระธรรมวโรดมอ้อนวอนให้ไปช่วยรับแขก
เพราะส่วนใหญ่เขาจะรู้จักพระธรรมวโรดมมากกว่า ทีนี้ เมื่อพระพรหมจริยาจารย์ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจฯ
สืบต่อจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ตามลำดับอาวุโส
แต่พระธรรมวโรดมก็ยังคงเส้นคงวาในอำนาจวาสนา เป็นทั้งกรรมการมหาเถรสมาคม
รองแม่กองบาลีสนามหลวง เจ้าคณะภาค 6 และอาจารย์สอนบาลีในวัดสามพระยา
ซึ่งรักษาไว้แต่วิชาแต่งไทยเพียงวิชาเดียว
นั่นเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อกับยศถาบรรดาศักดิ์
จะถูกหรือผิด ผู้เขียนก็เอาหูฟัง ข่าวก็ไม่ได้กรอง หรือถ้าจะกรองก็กรองเอง
แต่จะกรองกากหรือกรองเนื้อนั้นก็ขอได้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเอาเอง
มาถึงข้อความสำคัญที่ผู้เขียนว่า
"เมืองไทยมีพระสงฆ์มากถึง 5 นิกาย" นั้น
บางท่านได้อ่านก็อาจจะหัวเราะเยาะว่า
"ผู้เขียนเป็นบ้า"
เพราะว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เขาบังคับไว้ว่า พระสงฆ์ไทยมีเพียงหนึ่ง
แต่แยกการปกครองออกเป็น 2 นิกาย คือมหานิกายกับธรรมยุติกนิกาย
โดยธรรมยุตมีเจ้าคณะใหญ่เพียงรูปเดียว
ส่วนมหานิกายนั้นเนื่องเพราะมีประชากรมาก จึงแบ่งการปกครองออกเป็น 4 คณะใหญ่
ตามที่ได้จำแนกมา
แต่ผู้เขียนก็ขอยืนยันว่า
"ถึงบ้า แต่ว่าไม่โง่"
ทั้งนี้ได้ใช้สมองตรองดูรูปการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์ไทยสายมหานิกายแล้ว
เห็นชัดเจนว่า
"ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่าใครในด้านอำนาจการปกครองระหว่างเจ้าคณะใหญ่ทั้งหลาย"
หมายถึงว่า ถ้าพระเถระรูปใดได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่หนใดหนหนึ่ง
ก็ถือได้ว่าเป็นสังฆราชในหนนั้นทันที นี่เห็นไหม
พูดไปพูดมาก็ปูดออกมาจนได้ว่า
"เมืองไทยมี 5
สังฆราชมาแต่เดิมแล้ว มิใช่เพิ่งจะมาเกิดสังฆราชซ้อนสังฆราชในปี 47
นี้แต่อย่างใด"
หลักฐานที่ว่าเมืองไทยมี 5 สังฆราช หรือ 5 นิกายนั้น ขอเรียนว่า
"ไม่มี"
จะมีก็แต่
"พฤติกรรมที่ทำกันจนเป็นอาจิณ"
ทำให้เห็นว่า เจ้าคณะใหญ่ของแต่ละนิกายแต่ละหนนั้น
มีอำนาจสูงสุดในทางการปกครอง แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเจ้าคณะใหญ่หนอื่นๆ
ก็ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายในสายอื่นได้ มันล็อคกันตายตัวเช่นนี้
พฤติกรรมที่ว่านี้ก็เห็นจะมีแต่
"อำนาจและหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่แต่ละหน"
ที่กฎหมายบังคับไว้นั่นแหละว่า
"มาตรา 20 ทวิ
เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองสงฆ์"
ก็หมายถึงว่า ตั้งแต่ระดับภาคลงไปจนถึงหมู่บ้านซึ่งมีวัดประจำอยู่ทุกแห่งนั้น
ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าคณะใหญ่
แล้วเจ้าคณะใหญ่ก็จะนำปัญหาอะไรเข้าไปสู่ในที่ประชุมมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นรัฐบาลกลางระหว่างสมเด็จพระสังฆราชทั้ง
5 องค์อีกต่อหนึ่ง
นี่แหละคือสัจภาพทางสังคมคณะสงฆ์ไทยที่อยู่กินกันมาได้หลายร้อยปีแล้ว
ปิดงำซ่อนเร้นกันจนเป็นอาจิณ ทำเป็นอับอาย ทั้งๆ
ที่ความจริงมันก็คือความจริง
และเมื่อหนีความจริงไปไม่พ้นก็ต้องมาเจอวังวนเก่าเป็นปัญหาเน่าเหม็นให้แก้ไขกันไปอย่างไม่รู้จุดจบ
เมื่อการศึกษาล้าหลัง การปกครองก็อ่อนแอ พระอุปัชฌาย์แต่งตั้งกันไปปีหนึ่งๆ
เป็นว่าเล่น โดยไม่มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง
ปล่อยให้บุคคลต้องห้ามเข้ามาบวชกันมากมาย โดยอาศัยแต่
"เมตตา"
เพียงอย่างเดียว ทีนี้เมื่อไม่มีการ
"คัดวัตถุดิบ"
จึงทำให้มีของเสียมากกว่าของดี หรือมีวัสดุคุณภาพต่ำเต็มโรงงาน
สินค้าที่ชื่อว่า
"พระไทย"
ที่ผลิตโดยโรงงานที่ชื่อว่า
"มหาเถรสมาคม"
มีหัวจักรที่ชื่อ
"พระอุปัชฌาย์"
จึงไม่มีคุณภาพ ขายก็ไม่ได้ราคา
ยิ่งปล่อยให้มีการบวชเองสึกเองแบบสึกวันเดียวแล้วบวชเหมือนเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยนครปฐมนั้น
ทำให้เห็นว่า
"การบวชก็คือพิธีเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์หรือล้างบาปให้แก่ตนเอง"
เท่านั้น
มิได้คำนึงถึงความถูกต้องทางจารีตวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม หรือเป้าหมายสูงสุดในเพศพรหมจรรย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ข่าวพระปลอมถูกจับนับหลายสิบที่ทั้งในและนอกประเทศ ใช้เพศพระภิกษุหากิน
ปลอมใบสุทธิ
รวมไปถึงพระระดับเจ้าคณะอำเภอเอาเงินล่อซื้อยศเจ้าคุณแต่ถูกตุ๋นไป
มหาเถรสมาคมก็ไม่มีมาตรการอะไรไปกำหราบปราบปรามความเสียหายเหล่านี้
มีแต่เพียงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจัดการแทนเป็นบางกรณี
แต่อย่างกรณีพระครูเจ้าคณะอำเภอหนองกี่ที่เอาเงินซื้อสมณศักดิ์แต่ถูกเชิดไปกว่า
3 แสนบาทนั้น ตำรวจเขาไม่สามารถเอาผิดทางพระวินัยบัญญัติได้
เพราะไม่มีในประมวลกฎหมายอาญา หากแต่ก็รับเรื่องไว้ในคดี
"ฉ้อโกงทรัพย์"
ทั้ง ๆ ที่ทางคณะสงฆ์น่าจะลงโทษทางวินัยหรือจริยาพระสังฆาธิการ
แต่กลับถูกกรรมการมหาเถรสมาคมออกความเห็นตัดหน้าว่า
"พระใช้เงินทองซื้อยศนั้นไม่ผิด ขอแต่เพียงใช้ให้เป็นเท่านั้น"
นั่นนับเป็นความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงในกระบวนการยุติธรรมของคณะสงฆ์ไทยเท่าที่เคยได้ยินมา
เมื่อความเสื่อมเสียระบาดไปไวทั้งในมวลชนและสื่อสาร
ทำให้ผู้คนหวาดระแวงว่าที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองถือบาตรเดินมานั้น
"พระจริงหรือพระปลอม"
และเมื่อเห็นกริยาอาการอันไม่สำรวมสมสมณสารูปเข้าอีก จึงพลอยให้ตัดสินใจว่า
"นั่นมิใช่พระจริง"
บางทีก็ถึกกับลงไม้ลงมือตามอารมณ์เคยชินเช่นที่พระสมศักดิ์เจอบนรถไฟมานั่นแล
แต่ว่าจะแปลกอะไร ถ้าเรามองเข้าไปให้ลึกแล้ว
มิใช่แต่พระสมศักดิ์เท่านั้นที่โดนตบหน้า กล่าวได้ว่า
"มหาเถรสมาคมทั้งคณะก็โดนตบแบบเรียงตัวมาแล้ว"
กรณีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2542 นั้น
เป็นการตบครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
แล้วก็มาถึงการตบซ้ำว่าด้วยการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งแต่เดิมมานั้นสำนักงานนี้คือกรมการศาสนา
มีอำนาจหน้าที่เพียง
"เลขาธิการมหาเถรสมาคม"
แต่วันนี้ผยองลำพองขึ้นเป็นพญามังกร อาจหาญถึงขั้น
"ปลดสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช"
มาแล้ว นี่พระสงฆ์ไทยก็กำลังจะถูกรัฐบาลของขนานทักษิณ ชินวัตร
จำกัดที่อยู่ให้ใหม่ ไม่ให้ซ่าหรือมีอิทธิพลไปมากกว่านี้
พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินฉบับใหม่
ที่ให้เอาที่ดินของวัดทั้งสั้นทั้งปวงไปจัดโซนนิ่งนั้น
เป็นการรื้อที่ไล่พระเหมือนเด็กในโรงเรียนอนุบาล
ใครไม่คัดค้านก็เห็นจะเป็นว่า
"ทั้งบอดทั้งหนวก"
แน่แท้จริงเชียว
ฝ่ามือของเจ้าหน้าที่ทางการที่ชื่อ
"นิติกร เหลืองอร่าม"
ที่ฟาดลงบนใบหน้าของพระสมศักดิ์ไปนั้น เจ็บร้อนจากนอกถึงข้างในก็จริง
แต่ก็เพียงชั่วครู่ และเป็นเพียงความเจ็บปวดส่วนบุคคล
หากแต่ความเจ็บปวดจากรอยตบจากรัฐบาลไทย โดยการ
"ดองเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่"
การ
"ปลดสมเด็จพระสังฆราช"
และการ
"ออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินวัด"
ทั้งสามกรณีนี้
จะมีผลเป็นรอยแผลแสบร้อนไปทั่วทั้งศาสนจักรและเป็น
"แผนเป็น"
ไปตราบชั่วลูกหลานไทยให้ได้รับผลเป็นความ
"เจ็บปวด"
หากแต่ความเจ็บปวดนั้นเราสั่งสมรากเหง้าบ่มเพาะเชื้อไว้เป็นกระสายให้เขามองช่องทางออก
โดยมีตัวโมหะคือ
"ความอยากได้ใคร่มี"
ของคนในผ้าเหลืองบางคน ที่มุ่งหวังจะยกตนจากคนบ้านนอกขึ้นเป็นเจ้า
แล้วก็อยากจะธำรงรักษาสถานภาพอันสูงส่งเช่นนั้นไว้ไปจนตาย
จึงเล่นเกมกันว่าด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ หาศักดินาอย่างหน้ามือตามัว
ตัวเองยังไม่ทันตายก็สร้างทายาทอสูรไว้สืบทอดอุดมการณ์อันเน่าๆ
แล้วเราจะคาดหวังอันใดได้ จะไปเรียกหาศักดิ์หาศรีจากที่ไหน
นอกจากในนิทานว่าด้วยนางสงกรานต์ของธรรมปาลบัณฑิตและท้าวกบิลพรหม
ว่ากันว่า เศียรของท้าวกบิลพรหมนั้นอาถรรพ์นัก ทิ้งลงบนผืนดินๆ
ก็จะลุกไหม้เป็นไฟประลัยกัลป์ โยนขึ้นไปในอากาศๆ ก็จะวิปริตแปรปรวน
ฝนฟ้าจะมิตกต้องตามฤดูกาล หากทิ้งไปในมหาสมุทรๆ ก็จะแห้งเหือดไปในพริบตา
ช่างเหมือนกับกฎหมายปฏิรูปที่ดินฉบับใหม่แท้จริงเชียว ไปที่ไหนทำลายที่นั่น
ขนาดโยนเข้าเขตวิสุงคามสีมาที่แยกออกจากแดนทางราชอาณาจักรแล้ว
ก็ยังส่งผลให้พระประธานในโบสถ์ต้องเป็นพระโฮมเลส
ระเห็จออกไปตามมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ใครมีศรัทธาจะไหว้ก็ไหว้ไป
แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นทางเดียวว่า
"นี่ขนาดตัดแล้วนะ
ยังฤทธิ์มากอีก เห็นทีต้องทำลายทิ้งทางเดียวเสียแล้ว เศียรของรัฐบาลทักษิณ
เอ๊ย ของท้าวกบิลพรหมนี่"
|