ผลสอบเอ็นทรานซ์ ปี 47
 

 

  สำนักทดสอบกลาง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เผยผลคะแนนสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1/2547 เดือนมีนาคม ทุกรหัสวิชา เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้
      
       รหัสวิชา 01
ภาษาไทย - มีผู้เข้าสอบ 144,035 คน คะแนนต่ำสุด 4.00 คะแนนสูงสูด 84.00 คะแนน เฉลี่ย 44.67 คะแนน
       รหัสวิชา 02 สังคม - มีผู้เข้าสอบ 144,619 คน คะแนนต่ำสุด 6.25 คะแนน สูงสุด 82.50 คะแนน เฉลี่ย 40.41 คะแนน
       รหัสวิชา 03
ภาษาอังกฤษ - มีผู้เข้าสอบ 158,833 คน คะแนนต่ำสุด 7.00 คะแนน สูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 33.98 คะแนน
       รหัสวิชา 04 คณิตศาสตร์ 1 - มีผู้เข้าสอบ 122,889 คน คะแนนตำสุด 0.00 คะแนนสูงสุด 94.00 คะแนน เฉลี่ย 24.61 คะแนน
       รหัสวิชา 05 เคมี - มีผู้เข้าสอบ 89,660 คน คะแนนต่ำสุด 2.00 คะแนน สูงสุด 98.00 คะแนน เฉลี่ย 27.70 คะแนน
      
       รหัสวิชา 06 ฟิสิกส์ - มีผู้เข้าสอบ 92,705 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 25.66 คะแนน
       รหัสวิชา 07 ชีววิทยา - มีผู้เข้าสอบ 80,474 คน คะแนนต่ำสุด 10.00 คะแนน สูงสุด 87.00 คะแนน เฉลี่ย 29.77 คะแนน
       รหัสวิชา 08 วิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ - มีผู้เข้าสอบ 73,470 คน คะแนนต่ำสุด 5.00 คะแนน สูงสุด 88.75 คะแนน เฉลี่ย 40.01 คะแนน
       รหัส 09 คณิตศาสตร์ 2 - มีผู้เข้าสอบ 79,367 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 25.16 คะแนน
       รหัสวิชา 10
ภาษาฝรั่งเศส - มีผู้เข้าสอบ 10,295 คน คะแนนต่ำสุด 8.75 คะแนน สูงสุด 97.50 คะแนน เฉลี่ย 35.97 คะแนน
      
       รหัสวิชา 11
ภาษาเยอรมัน - มีผู้เข้าสอบ 1,212 คน คะแนนต่ำสุด 11.25 คะแนน สูงสุด 91.25 คะแนน เฉลี่ย 31.99 คะแนน
       รหัสวิชา 12
ภาษาบาลี - มีผู้เข้าสอบ 302 คน คะแนนต่ำสุด 13.75 คะแนน สูงสุด 83.75 คะแนน เฉลี่ย 28.94 คะแนน
       รหัสวิชา 13
ภาษาอาหรับ - มีผู้เข้าสอบ 1,362 คน คะแนนต่ำสุด 10.00 คะแนน สูงสุด 80.00 คะแนน เฉลี่ย 30.29 คะแนน
       รหัสวิชา 14
ภาษาจีน - มีผู้เข้าสอบ1,281 คน คะแนนต่ำสุด 10.00 คะแนน สูงสุด 96.25 คะแนน เฉลี่ย 31.13 คะแนน
       รหัสวิชา 15
ภาษาญี่ปุ่น - มีผู้เข้าสอบ 2,516 คน คะแนนต่ำสุด 11.25 คะแนน สูงสุด 96.25 คะแนน เฉลี่ย 37.65 คะแนน
      
       รหัสวิชา 16 พื้นฐานทางวิศวกรรม - มีผู้เข้าสอบ 28,961 คนคะแนนต่ำสุด 4.00 คะแนน สูงสุด 88.00 คะแนน เฉลี่ย 32.06 คะแนน
       รหัสวิชา 18 วัดแววความเป็นครู - มีผู้เข้าสอบ 26,904 คน คะแนนต่ำสุด 4.00 คะแนน สูงสุด 86.00 คะแนน เฉลี่ย 52.64 คะแนน
       รหัสวิชา 19 พลศึกษา - มีผู้เข้าสอบ 308 คน คะแนนต่ำสุด 15.86 คะแนน สูงสุด 64.41 คะแนน เฉลี่ย 49.99 คะแนน
       รหัสวิชา 22 - มีผู้เข้าสอบ 562 คน คะแนนต่ำสุด 12.00 คะแนน สูงสุด 73.00 คะแนน เฉลี่ย38.07 คะแนน
       รหัสวิชา 23 ทฤษฎีทัศนศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 376 คน คะแนนต่ำสุด 31.00 คะแนน สูงสุด 82.00 คะแนน เฉลี่ย 51.66 คะแนน
       รหัสวิชา 24 ปฏิบัติทัศนศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 409 คน คะแนนต่ำสุด 10.00 คะแนน สูงสุด 85.00คะแนน เฉลี่ย 41.66 คะแนน
       รหัสวิชา 25 ทฤษฎีนฤมิตรศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 735 คน คะแนนต่ำสุด 24.00 คะแนน สูงสุด 78.00 คะแนน เฉลี่ย 49.11 คะแนน
      
       รหัสวิชา 26 ปฏิบัตินฤมิตรศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 768 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 98.00 คะแนน เฉลี่ย 34.11 คะแนน
       รหัสวิชา 29 วาดเส้น - มีผู้เข้าสอบ 904 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 95.00 คะแนน เฉลี่ย 26.44 คะแนน
       รหัสวิชา 30 องค์ประกอบศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 879 คน คะแนนต่ำสุด 5.00 คะแนน สูงสุด 90.00 คะแนน เฉลี่ย 34.62 คะแนน
       รหัสวิชา 31 มัณฑนศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 2,180 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 90.00 คะแนน เฉลี่ย 37.39 คะแนน
       รหัสวิชา 32 ออกแบบภายใน - มีผู้เข้าสอบ 628 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 96.00 คะแนนเฉลี่ย 14.38 คะแนน
       รหัสวิชา 33 ออกแบบนิเทศศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 1,134 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนนสูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 18.20 คะแนน
      
       รหัสวิชา 34 ออกแบบผลิตภัณฑ์ - มีผู้เข้าสอบ 622 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 85.00 คะแนน เฉลี่ย 30.77 คะแนน
       รหัสวิชา 35 ออกแบบประยุกต์ศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 361 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 46.43 คะแนน
       รหัสวิชา 36 เครื่องเคลือบดินเผา - มีผู้เข้าสอบ 20 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 45.20 คะแนน
       รหัสวิชา 37 ความถนัดนิเทศศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 1,997 คน คะแนนต่ำสุด 0.00 คะแนน สูงสุด 100.00 คะแนน เฉลี่ย 22.59 คะแนน
       รหัสวิชา 38 ทฤษฎีดุริยางคศิลป์ - มีผู้เข้าสอบ 316 คน คะแนนต่ำสุด 17.00 คะแนนสูงสุด 80.00 คะแนน เฉลี่ย 38.53 คะแนน

 


 

ทัศนะจากพระมหานรินทร์

    เมื่อเช็คดูตามตารางข้างต้น จะพบว่า มีภาษาที่ใช้ทดสอบภูมิปัญญาของนักเรียนไทยทั้งสิ้น 8 ภาษา 8 รายวิชาด้วยกัน คือ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น อาหรับ และภาษาบาลี โดยที่ภาษาไทยและภาษาบาลีมีนักเรียนเข้าสอบน้อยที่สุด และทำคะแนนได้น้อยที่สุดเช่นกัน ขอเปรียบเทียบใหม่ในตารางตามอันดับคะแนนสูงสุดลงไปดังนี้

ชื่อรายวิชา ผู้เข้าสอบ/คน ผลสอบ/คะแนนสุงสุด
ภาษาอังกฤษ
ภาษาฝรั่งเศษ
ภาษาจีน
ภาษาญี่ปุ่น
ภาษาเยอรมัน
ภาษาไทย
ภาษาบาลี
ภาษาอาหรับ
158,833
10,295
1,281
2,516
1,212
144,035
302
1,362
100 (เต็ม)
97.50
96.25
96.25
91.25
84.00
83.75
80.00

    ตามตารางข้างต้นนั้นจะเห็นว่า ภาษาอังกฤษมีนักเรียนสมัครเข้าทดสอบความรู้มากที่สุด รองลงมาก็คือภาษาไทย ส่วนภาษาสุดท้ายนั้นคือภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาใช้จารึกพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก ซึ่งเราท่านทราบดีว่า ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเป็นแม่แบบของภาษาไทย การจะเรียนภาษาไทยให้ลึกซึ้งถึงต้นตอ ถ้าไม่รู้ภาษาบาลีและสันสกฤตแล้วก็ยากที่จะเป็นผู้รู้ได้ คะแนนภาษาไทยกับบาลีที่ออกมาไล่ๆ กันนั้นก็เป็นการยืนยันว่า ภาษาทั้งสองนี้มีฐานใกล้เคียงกัน จะต่างก็แต่จำนวนนักเรียนที่สนใจเรียนเท่านั้น ข้อนี้นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

    ในฐานข้อมูลระดับอินเตอร์นั้น ท่านระบุว่า ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาที่ 1 และมีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 แต่ที่เห็นตามสถิตินี้ชี้ชัดว่า ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่ใช้สอบเพื่อเข้าเรียนมากที่สุด แน่นอนว่าภาษาอังกฤษย่อมจะเป็นภาษาในการใช้ทำงาน ส่วนภาษาไทยนั้นกลับเป็นรองทั้งด้านจำนวนนักเรียนและผลของการทดสอบ

     จะแปลกอะไรถ้าเราจะใช้สถิตินี้หันมามองดูในแวดวงพระพุทธศาสนากันบ้าง พระไทยวันนี้มีซักกี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้พระพุทธศาสนาเป็นหลัก และมีความรู้ในเรื่องอื่นๆ เป็นรองลดหลั่นกันไป หากแต่ถ้าเปิดเผยออกมาแล้วจะตกใจ เพราะพระไทยวันนี้มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาน้อยกว่าวิชาการทางโลกมาก ที่ว่านี้หมายถึง เรื่องภาษาบาลี ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และการวิเคราะห์วิจัยในเนื้องานที่เกียวกับพระไตรปิฎกหรือการประยุกต์พุทธธรรมให้เข้ากับยุคสมัย พระ-เณรไทยทั่วไปในวันนี้มุ่งมั่นกันอยู่ที่ดีกรีเป็นปริญญาตรี โท และเอก นิยมเป็นด๊อกเตอร์มากกว่าเป็นมหา เพราะว่ามันดูโก้ดี สึกออกไปก็ไม่ติดกลิ่นอายผ้าเหลืองมากนัก เรียกว่าปรับตัวได้ง่ายกว่า

     จากบทบาทในอดีต ที่พระไทยเคยเป็นครู มีสมณศักดิ์ที่ทรงเกียรติว่า "พระครู" กลับกลายเป็นว่า เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยน ข่าวพระไทยสามารถสอบเอ็นทร๊านซ์ติดมหาวิทยาลัยทางโลก เช่น จุฬา ธรรมศาสตร์ มหิดล เชียงใหม่ หรือ ม.ช. เป็นต้น แห่งละองค์สององค์ กลายเป็นที่ยกย่องว่า "พระไทยเก่ง" หารู้ไม่ว่า ตะก่อนนั้น ชาวบ้านต่างหากที่ต้องมาขอความรู้จากพระ มีวัดเป็นโรงเรียนเป็นมหาวิทยาลัย พระสงฆ์ในวัดเป็นผู้ดีมีการศึกษามากว่าประชาชนทั่วไป แต่บัดนี้ การศึกษาของพระไทยตกต่ำถึงขั้นลดตัวเองจากครูไปเป็นลูกศิษย์ สอบติดได้เพียงสองสามรูปก็ตีข่าวว่า "เก่งเกือบๆ เท่าชาวบ้านเขาแล้ว"

   และไม่แปลกใจอันใดเช่นกัน ในรายการแฟนพันธุ์แท้ที่แข่งขันกันในเรื่อง "พุทธประวัติ" ปรากฏว่ามหาเปรียญธรรม 9 ประโยค แพ้เด็กหญิงนักเรียนมัธยมศึกษาไปอย่างไม่เห็นฝุ่น เป็นการตอกย้ำให้ผู้บริหารการศึกษาของสงฆ์ควรจะหันมาพินิจพิจารณาในนโยบายอย่างเร่งด่วน ไล่ตั้งแต่มหาเถรสมาคม แม่กองบาลี แม่กองธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง และพระผู้บริหารกิจการสำนักเรียนทั่วประเทศ ว่าควรจะมียุทธศาสตร์ทางการศึกษาพระพุทธศาสนาให้แก่พระภิกษุ-สามเณรอย่างไร จึงจะสามารถกู้ศักดิ์ศรีคืนมาได้

     วันนี้พูดได้คำเดียวว่า พระพุทธศาสนาในเมืองไทยสโลว์ดาวน์ลงไปจนถึงพื้นแล้ว ถ้าไม่รีบฟื้นตัวขึ้นก็มีหวังต้องฝังกันในหลุม พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาจุฬาฯ อย่าชะล่าใจในยศถาบรรดาศักดิ์ "ศาสตราจารย์สาขาปรัชญา" อยู่เลย มันไม่น่าชื่นชมอันใดหรอก บอกตามใจจริง มิใช่เพราะว่าริษยาหรือว่าเกลียดชังเป็นการส่วนตัว แต่อยากจะเตือนท่านในฐานะหัวหน้า-ผู้นำพาการศึกษาของสงฆ์ ซึ่งตำแหน่งของท่านนั้นเป็นผู้นำในองค์กรใหญ่และมีอิทธิพลต่อพระพุทธศาสนาในเมืองไทยอย่างสูงสุด อย่าเล่นน้ำลายไปวันๆ ว่างๆ ก็บีบขมับเค้นหาสติปัญญาที่มันกินได้ใช้ได้แบบพิซซ่าออกมาให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองบ้าง เรื่องธรรมกายก็พลาดอย่างใหญ่หลวงมาแล้ว เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็ล้มอีก ติดปีกเป็นศาสตราจารย์โดยไม่มีผลงานวิจัยรองรับ นอกจากอวดแต่หนังสือ ซึ่งขนาดแปลร่วมกันเป็นคณะก็เอาไปสร้างผลงานคนเดียว เขายังไม่เรียกว่าโจรวรรณกรรมหรอก หากแต่มันคาบลูกคาบดอก คนที่ดูอยู่เขารู้ อย่าให้ด่า เอ๊ย วิจารณ์เลย กลับเนื้อกลับตัวกลับใจเสียใหม่เถิด อย่าล้มตอนแก่จะแย่กว่านี้ แล้วท่านจะลำบาก หากว่าเด็กๆ มันจะถอนหงอกเอาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าถ้าท่านเกษียนอายุไป ด้วยความรักนะจะบอกให้

     มหาเถรสมาคม แม่กองบาลี และแม่กองธรรมก็เช่นเดียวกัน กลับลำตั้งสติใหม่เสียทีเถิดครับ บ้านเมืองเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว อย่าเอาแต่งกๆ เงิ่นๆ เดินผิดเดินถูก อย่างสมเด็จวัดปากน้ำนั้นก็อย่าภูมิใจอะไรนักเลยกับผลการสอบภาษาบาลีที่มีวัดพระธรรมกายสอบได้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศน่ะ เพราะว่าถ้าจบเปรียญ 9 ประโยคกันจนล้นวัด แต่อ่านพระไตรปิฎกไม่เป็น ไม่รู้ว่าในพระไตรปิฎกระบุว่า "พระนิพพานเป็นอนัตตา" แต่ปล่อยให้ลัทธิหลวงพ่อสดบ้าง ธัมมชโยบ้าง ชี้นำ-ครอบงำวงการการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ก็ป่วยการเสียเปล่า จะจบเก้าจบสิบมันจะมีประโยชน์อันใด ในเมื่อเรียนจบมาแล้วไม่มีความรู้ ถึงมีก็ไม่ให้ใช้ แล้วจะมีทำไมการศึกษาภาษาบาลี ยุบทิ้งให้หมดเสียก็สิ้นเรื่อง จะได้ไม่มีใครเอาไปแอบอ้างอีกว่า "วัดผมมีประโยคเก้ามากที่สุด การตีความของวัดผมจึงถูกที่สุด ไม่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกเลย" นะ เกล้ากระผมว่านะ ด้วยความเคารพอย่างสูง
 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
5 เมษายน 2547

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264