"นายวิษณุ
เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์ว่า
นายกฯได้แสดงความเป็นห่วงถึงกรณีที่จะมีพระสงฆ์มาชุมนุมใหญ่กันที่ท้องสนามหลวง
ซึ่งครั้งนี้นอกจากจะเล่นงานตน
ยังมีการเสนอถอดสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัติยาราม ด้วย
ซึ่งตนได้ไปกราบสอบถามสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ก็ทราบว่าถูกกล่าวหาอธิกรณ์
ในฐานะเป็นผู้ทำการเจ้าคณะธรรมยุต ที่ไปสั่งพระสายธรรมยุต ไม่ให้ออกมาชุมนุม
เลยถูกกล่าวหาว่าทำผิดธรรมวินัย"
นั่นเป็นกระแสข่าวจากหนังสือพิมพ์
"ข่าวสด"
วันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเนื้อข่าวแบบ
"ผ่านๆ"
แต่จากการเกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองเรื่องคณะสงฆ์ไทย
ไล่ตั้งแต่กรณีสันติอโศก-ธรรมกาย ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับมหาคณิศร
กระทั่งคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ซึ่งระบาดเหมือนไข้หวัดไก่ไปทั้งประเทศ
ความเสียหายทางศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เกิดขึ้นนั้นบอกได้เพียงคำเดียวว่า
"ยับเยิน ยับเยิน"
จากเนื้อข่าวเพียงนิด ๆ ติดกระแสว่า
"ยังมีการเสนอถอดสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัติยาราม ด้วย"
นั้น เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนให้เห็นว่า
บัดนี้ คณะธรรมยุติกนิกาย
ซึ่งตั้งขึ้นมาโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
4 นั้น
ได้เกิดความร้าวฉานภายในอย่างรุนแรงถึงขั้น
"สังฆเภท"
แล้ว
ทำไมผู้เขียนจึงว่าอย่างนั้น ?
นั่นเป็นประเด็นที่อยากจะให้ท่านผู้อ่านติดตามมา จะได้เห็นร่องรอยอะไรหลาย ๆ
อย่างที่จะนำไปสู่บทสรุปที่ว่า
"คณะธรรมยุตในบัดนี้ไม่มีสภาพแห่งองค์กรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว"
แล้วใครบ้างจะแยกตัว ใครจะอยู่ฝ่ายไหน เราไปพบกับมหากาพย์ดังกล่าวกันดีกว่า
เราเริ่มกันที่ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ พ.ศ.2535 แก้ไขใหม่ในปี พ.ศ.
2544
ซึ่งมหาเถรสมาคมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาและปรับปรุงขึ้นมาคณะหนึ่งจำนวน
๑๑ รูป มีพระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหมฺคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศ
กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการเรียกในตอนนั้นว่า "คณะทำงาน"
เริ่มงานกันในวันที่
10 มกราคม
2544 ซึ่งพระเทพโสภณ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ได้ระบุไว้ในหนังสือพระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่
8 สรุปว่า
"จากแค่แก้มาตราที่
13
เพียงมาตราเดียว ก็ขยายกลายเป็นแก้ร่างทั้งฉบับ ตามคำแนะนำของนายมีชัย
ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของมหาเถรสมาคม และ ดร.วิษณุ เครืองาม"
ร่างพระราชบัญญัติฉบับปี
44 นี้มีจุดโดนตีใหญ่ ๆ อยู่
2 จุด คือ มาตราที่
8
แห่งหมวดที่
1 ซึ่งมีข้อความดังนี้
มาตรา ๘
พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความ
เห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้น
ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ
และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
และอีกจุดหนึ่งก็คือหมวดที่ 3 เกี่ยวกับมหาคณิสร
ซึ่งเป็นองค์กรตั้งขึ้นใหม่ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ (ที่ใช้คำว่า
"ร่าง"
เพราะเป็นเสมือนพิมพ์เขียว คือมิใช่ตัวจริง หากเป็นเพียงเนื้อหาสาระคร่าว ๆ
ที่จะนำไปใช้เป็นฉบับจริงต่อไป) อำนาจหน้าที่ของมหาคณิสรนั้นมีดังนี้
(1)
ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม และเป็นไปตามกฎหมาย พระธรรมวินัย
กฎมหาเถรสมาคม และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
(2)
ควบคุมและส่งเสริม
การศาสนศึกษา
การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
(3)
รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(4)
ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(5)
กำหนดกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
(6)
วินิจฉัยอุทธรณ์ของพระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมถึงขั้นให้สึก
(7)
กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลางและที่วัดร้าง
(8)
พิจารณาเสนอแนะต่อมหาเถรสมาคมเพื่อตรากฎมหาเถรสมาคม
(9)
เสนอรายนามพระสังฆาธิการต่อมหาเถรสมาคมเพื่อนำความกราบบังคมทูลทรงสถาปนาตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์
(10)
ให้คำแนะนำในการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
(11)
ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ
ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่มหาเถรสมาคมมีมติมอบหมาย
ทั้งนี้
ตามนโยบายและแผนการปกครองคณะสงฆ์ที่มหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบแล้วตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (2)
เพื่อการนี้ให้มหาคณิสสรมีอำนาจออกข้อบังคับ
ระเบียบ หรือมีคำสั่งหรือมติใดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย
และกฎมหาเถรสมาคม ใช้บังคับได้
และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 32
เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
มาตรา
29
เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์มหาคณิสสรจะเสนอให้มีกฎมหาเถรสมาคมเพื่อกำหนดนโยบายหรือวิธีดำเนินการทางการปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติตนไม่สมควรหรือก่อให้เกิดความเสียหายก็ได้
การดำเนินการทางการปกครองตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดถึงขั้นให้สละสมณเพศก็ได้
นั่นล่ะคือมหาคณิศร ซึ่งจะเห็นว่า
"มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดินแบบที่เรียกว่าครอบจักรวาล"
ไล่ตั้งแต่
1. ปกครองคณะสงฆ์ (แทนมหาเถรสมาคม)
2.
บริหารกิจการคณะสงฆ์ในรูปแบบที่เรียกว่ารัฐบาลคณะสงฆ์ ประธานมหาคณิสรจึงเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทางบ้านเมือง
3. เป็นศาลสงฆ์มีอำนาจสั่งให้สังฆราชสึกได้
4.ออกกฎหมายแทนรัฐสภา
5. ตรากฏมหาเถรสมาคม
เหมือนมติคณะรัฐมนตรีหรือพระราชกฤษฎีกา
6. บริหารจัดการศาสนสมบัติกลางและที่วัดร้าง
ข้อนี้ก็คือว่า มหาคณิสรเป็นสำนักงานงบประมาณแผ่นดินของคณะสงฆ์
แทนกรมการศาสนา
ตามพระราชบัญญัติเดิม พ.ศ.2505 แก้ไขใหม่ (นิดหน่อย) พ.ศ.2535 เรื่อง
05 กับ
35 นั้นมิใช่หวยนะท่าน หากแต่เป็นลีลาการเขียนกฎหมาย
คือว่าน่าจะแก้ใหม่ทั้งเล่มแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่แทนไปเสียก็สิ้นเรื่อง
แต่ท่านไม่ทำอย่างนั้น ต้องอ้างอิงเอาของเก่ากับของใหม่ใส่ด้วยกัน เช่น
"พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขใหม่ พ.ศ.2535" ทำให้เราอ่านแล้วก็ดับเบิ้ลงง
ในพระราชบัญญัติฉบับเก่านั้นอำนาจทั้ง
6 ข้อข้างต้นนั้น
"กระจาย"
กันอยู่ในที่ต่างๆ รวม
3 แห่งด้วยกัน คือ
1. สมเด็จพระสังฆราช
2.มหาเถรสมาคม
และ
3. กรมการศาสนา
สมเด็จพระสังฆราชทรงสามารถจะออกพระบัญญัติเป็นกฎหมายโดยสิทธิ์ขาดพระองค์เดียวได้
อำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ทั้งสังฆมณฑล นับรวมทั้งมหานิกายและธรรมยุต
เป็นของมหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมยังมีอำนาจในการพิจารณาคดี
และวินิจฉัยให้พระที่ต้องคดีฉาวโฉ่สึกได้ตามมาตรา
21
ซึ่งเพิ่งจะออกมาในปี พ.ศ.2538
และอำนาจหน้าที่ในการควบคุมทรัพย์สินส่วนกลางที่เรียกว่า
"ศาสนสมบัติกลาง"
นั้น ให้กรมการศาสนาเป็นคนเฝ้า ถ้าจะใช้ต้องให้มหาเถรสมาคมลงมติ
และทีนี้ เมื่อมีร่างพระราชบัญญัติ (คือกฎหมายคณะสงฆ์
ในต่างประเทศเขาเรียกว่า
ลอว์-Laws
แต่บ้านเราเรียกว่าพระราชบัญญัติ
เพราะต้องผ่านการลงพระปรมาภิไธยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงจะมีผลใช้ได้)
ฉบับใหม่นี้ขึ้นมา ก็เท่ากับว่า
1. สมเด็จพระสังฆราชถูกยก
"ขึ้นหิ้ง"
ห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ศาลพระภูมิมีอำนาจวาสนาพูดจาไม่ออกฉันใด
สมเด็จพระสังฆราชก็ต้องมีอันเป็นไปฉันนั้น แม้จะทรงสามารถ
"ตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช"
ออกมาได้ แต่ก็ต้องไม่ขัดกับกฎมหาเถรสมาคม
ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมนั้นจะออกได้ก็โดยการเสนอของมหาคณิศรเท่านั้น
ตรงนี้ตีความได้ว่า
สมเด็จพระสังฆราชต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาคณิสร
แม้ในมาตราที่
9 จะกำหนดไว้ว่า
มาตรา 9
สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
ทรงปกครองและบัญชาการคณะสงฆ์
และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย
และกฎมหาเถรสมาคม
ดังนี้ก็ตาม แต่ก็เขียนไว้
"หลวมๆ" เหมือนผ่าน ๆ ไป
จะไปย้ำนักย้ำหนาก็ในมาตราของมหาคณิสรโน่น ใครสนใจร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
คลิกที่นี่ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ
2.
มหาเถรสมาคมกลายเป็นเพียง
"ตราประทับ"
หรือ "ร่างทรง"
ของมหาคณิสร ถ้าเรียกให้โก้กว่านิดหน่อยก็อาจจะเป็น "สภาพี่เลี้ยง" หรือ
"วุฒิสภา" ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ "กลั่นกรองกฎหมาย" เท่านั้น
3. มหาคณิสรคือผู้มีอำนาจวาสนาตัวจริงเสียงจริง
คนหรือพระภิกษุเจ้าคุณหรือพระราชาคณะเพียง 33 รูป มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน
เข้ามาดำรงตำแหน่งมหาคณิสรนี้แล้ว จะมีอำนาจทั้ง ปกครองสมเด็จพระสังฆราช
ปกครองคณะสงฆ์ เป็นรัฐมนตรี เป็นศาล เป็น ก.พ.
และเป็นธนาคารการเงินของคณะสงฆ์ เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็น 33
อรหันต์แห่งประเทศไทยตัวจริงเสียงจริง
ทว่าที่มาของมหาคณิสรนั้น
"น่าฉงน"
นัก เพราะท่านเขียนไว้กว้างขวางเหลือเกินว่า
"มาตรา
23 ให้มีมหาคณิสสรคณะหนึ่ง
ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการสองรูป
และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่ายี่สิบรูปและไม่เกินสามสิบรูป
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระราชาคณะโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม
พระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาคณิสสรต้องเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป"
ส่วนว่าวิธีการสรรหานั้น กลับไม่มี ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่ากระไรเลย ทั้ง ๆ
ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในพระราชบัญญัติฉบับนี้
เพราะที่ไปที่มานั้นจะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติและขั้นตอนตรวจสอบต่าง ๆ
แต่กลับเขียนไว้แต่เพียงว่า
"พระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาคณิสสรต้องเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป"
ไม่ได้มีการแบ่งเส้นแบ่งสายหรือแบ่งโควต้าไปตามกลุ่มหรือสาขาวิชา
ซึ่งจำเป็นสำหรับการแสวงหาบุคคลากรเข้ามาบริหารกิจการพระศาสนา
ซึ่งจำเป็นต้องใช้คนหลากหลาย
สมัยเก่าเขาใช้ระบบ
"เด็กใคร เส้นใคร"
แต่งตั้งกันเข้าไปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เช่น วัดบวรก็คว้าไว้ 2 เก้าอี้ วัดเทพศิรินทร์ก็กินตำแหน่งทั้งเจ้าอาวาสและลูกวัดรวมแล้ว
3 ตำแหน่งแห่งเดียว วัดสระเกศก็รวบไว้ 2 ตำแหน่ง
ในฐานะสมเด็จพระสังฆราชในฝ่ายมหานิกาย
ทีนี้จึงมีคำถามว่า
"ถ้าพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้
ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"
ใครจะได้เป็นมหาคณิสร และราคาค่า
"เก้าอี้"
หรือ "ตำแหน่งมหาคณิสร"
นั้น เท่าไหร่ ? เพราะอย่าลืมว่าถ้าใครได้รับแต่งตั้งแล้วก็จะอยู่ในตำแหน่งนานถึง
4 ปี โดยไม่มีการยุบสภา เว้นเสียแต่ว่าจะตายหรือลาออกก่อนเท่านั้น
ซึ่งประการหลังมานี้ยังไม่เคยมีใครทำ
ผู้เขียนหลับตานึกภาพดูก็เห็นภาพของใบแดงปลิวว่อนทั่วฟ้าเมืองไทย
และเงินค่าเก้าอี้ที่จะจ่ายนั้นก็คงอยู่ที่หลัก
"สิบล้าน"
ขึ้นไปต่อ 1 เก้าอี้
ที่ว่านี้เพราะต้องคัดเก้าอี้ออกก่อนไปประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 15 ตัว
กันไว้สำหรับ
"เด็กเส้น"
ในสายสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะอีก 8 รูป
ยึดกันคนละตัวสองตัวเก้าอี้ก็เต็มไปร่วม ๆ 20 ตำแหน่งแล้ว เหลือเพียง 10
ตัวขึ้น-ลงนิดหน่อย ก็ปล่อยให้พระนักวิชาการหรือเทคโนแครตด้านอื่นเข้ามานั่ง
แต่ก็ยัง "สงวน"
เก้าอี้ประธานมหาคณิสรไว้ในสายของผู้มีอำนาจ
ครั้นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
"ผ่าน"
การพิจารณาของมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9)
วัดสระเกศ ในฐานะประธานในการประชุมมหาเถรสมาคมแทนสมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งทรงอาพาธไม่สามารถลงประชุม
(หรือจะทรงงดประชุมตั้งแต่มหาเถรสมาคมไม่ยอมออกคำสั่งให้พระธัมมชโยสึกแล้ว)
สมเด็จเกี่ยวได้นำร่างไปยื่นให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่วัดสระเกศ
ในงานบุญ โดยกำชับว่า "ขออย่าให้มีการแก้ไขในรายละเอียดใด ๆ"
แบบว่าดูมาเป็นอย่างดีแล้ว และนายกรัฐมนตรีก็ดีนักหนา
รีบนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วตีไปถึงกฤษฏีกาเพื่อตรวจสำนวน
จะส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออกเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ใช้ให้ทันใจพระเดชพระคุณกันเลย
แต่ปรากฏว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกพระธรรมวิสุทธิมงคล
หรือหลวงตาบัว
แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีศิษย์เอกชื่อว่า นายทองก้อน
วงศ์สมุทร นำคณะสงฆ์กว่า
5000 รูป (บางแห่งว่าถึง
10,00 รูป) ไปประชุมกันที่วัดอโศการาม
จังหวัดสมุทรปราการ ประกาศ
"คว่ำพระราชบัญญัติฉบับนี้"
แบบว่าเป็นตายร้ายดีก็ไม่ยอมให้ผ่านเด็ดขาด ประกาศในวันที่
22
มกราคม
2546
วันที่ 30 กันยายน 2546 นายทองก้อน วงศ์สมุทร และศิษย์ของหลวงตาบัว
ได้ยื่นหนังสือต่อ "กรมการศาสนา" ขอให้จัดการกับพระ 5 รูป คือ
พระราชกวี
(เกษม สัญญโต) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
วัดราชาธิวาส
พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย
กุสลจิตโต) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)
พระมหาโชว์ ทัสนีโย
ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศน์ มจร. วัดชนะสงคราม
พระศรีญาณโสภณ
(สุวิทย์ ปิยวิชโช) วัดพระรามเก้า และพระพิศาลพัฒนาทร
(ถาวร จิตตถาวโร) วัดปทุมวนาราม
โดยข้อหา "พระทั้ง 5 รูปนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับสมณเพศ กล่าวความเท็จ
ใส่ร้ายป้ายสี ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือว่า
"พระทั้งห้ารูปนั้นออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับเจ้าปัญหาที่หลวงตาบัวและนายทองก้อนแอนตี้"
จึงขอให้กรมการศาสนาชงเรื่องเข้ามหาเถรสมาคมเพื่อดำเนินการกับพระทั้ง 5
รูปเหล่านี้มิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
เรื่องนี้ใครได้ยินก็คงต้องอมยิ้มหรือหัวเราะ เพราะว่าพระทั้ง 5
รูปเหล่านั้นออกมาเคลื่อนไหว
"สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติให้ผ่านสภา ก็หมายถึงว่าสนับสนุนมหาเถรสมาคม"
แล้วนายทองก้อนซื่อบื๊อหรือไรจึงจะขอให้มหาเถรสมาคม
"ลงโทษคนของตนเอง"
ดูอย่างรัฐบาลสิ พวกลิ่วล้อของนายกรัฐมนตรีที่ออกมาปกป้องเจ้านายน่ะ
เคยถูกตั้งกรรมการพิจาณามารยาทซะที่ไหน รู้ไว้ใช่ว่า ดังนั้น
การกระทำของนายทองก้อนและหลวงตาบัว แม้จะอ้างว่าชอบธรรม
แต่ก็เป็นโมฆะไปโดยปริยาย เพราะมหาเถรสมาคมไม่ให้ความสนใจนั่นเอง
คิดเสียว่าเป็นเรื่องของคนประสาทเสีย
แล้วร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็
"เงียบ"
ไปตามกระแส เพราะรัฐบาลไม่กล้าเล่นกับพระ ทั้ง ๆ ที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
"ผ่าน"
การพิจารณาของมหาเถรสมาคมซึ่งเป็น
"รัฐบาลคณะสงฆ์ไทย"
อย่างถูกกระบวนพิธีแล้ว การดองเรื่องไว้ดังกล่าวของรัฐบาลนั้นแสดงให้เห็นว่า
"รัฐบาลไทยไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความสำคัญกับรัฐบาลคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคมเลย
แต่กลับไปให้ความสำคัญกับกลุ่มของหลวงตาบัวและคณะเพียง
10,000 รูป"
แล้วจะมีมหาเถรสมาคมไปทำไม มันอายใจแทนกรรมการมหาเถรสมาคมที่ถูกรัฐบาลไทย
"ดิ๊สเครดิต"
เหลือเกิน
แล้วก็มาถึงประเด็น
"สองสังฆราช" ซึ่งกลายเป็นไฮไลท์ข่าวตัวโตบนหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ
ทุกกระแสก็ยืนยันว่า
"ออกมาจากปากของนายวิษณุ
เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี"
สถานที่พูดนั้นคือ
"ทำเนียบรัฐบาล"
เมื่ออ่านจบแล้ว
ก็มีเสียงสงสัยไปทั่วประเทศว่า
"ใครกันหรือ คือผู้มีความปรารถนาลามก จะยกคนของตนขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่สอง"
คำถามนี้มีผู้เดากันมากมายเหลือหลายกระแส บ้างก็ว่า
"ฝ่ายมหานิกายจะแยกตัวออกจากมหาเถรสมาคมไปเป็นเอกเทศ
มีสมเด็จพระสังฆราชของตนเอง"
บ้างก็ว่า
"วัดพระธรรมกายจะแยกตัวออกไป"
บ้างก็ว่า
"นายทองก้อนนั่นแหละที่อุตริจะยกหลวงตาบัวขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่สอง"
ถึงขนาดบางกระแสว่า เมื่อสมเด็จพระวันรัต วัดเทพศิรินทร์ (ธรรายุต)
มรณภาพลงไปนั้น ทางฝ่ายธรรมยุตต้องรีบดำเนินการ
"ตั้งพระญาณวโรดมขึ้นเป็นสมเด็จแบบฉุกเฉิน"
ทั้งนี้เพื่อปิดทางแห่งความผันผวนในเรื่องสังฆราชสององค์นี่เสีย
เพราะถ้าเกิดมีมือดีส่งชื่อตัวเองลัดคิวเข้าเป็นสมเด็จองค์ใหม่
เรื่องก็คงไปกันใหญ่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือความเห็นของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ที่วา
"ตราบเท่าที่ผมยังอยู่ในอำนาจ
จะไม่ยอมให้มีการตั้งสังฆราชสองพระองค์เป็นอันขาด"
แม้นายกฯ จะมิได้ย้ำว่า
"ตายเป็นตาย"
แต่ก็สามารถจมกระแสลงไป
หากแต่ในกระแสแล้ว เมื่อมองดูบุคคล 3 กลุ่มที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
เราก็จะเห็นได้ว่า สองกลุ่มแรกนั้น
"นิ่งเป็น"
คือทางฝ่ายมหานิกายนั้นไม่รับลูกอยู่แล้ว ทางวัดพระธรรมกายก็เงียบ ธัมมชโยมิใช่ดาวบู๊จึงไม่นิยมความรุนแรง
กระแสทั้งมวลจึงม้วนตัวไปลงที่
"สวนแสงธรรมของหลวงตาบัว" เพียงแห่งเดียว
เพราะพระคุณท่านเล่นโชว์ออฟรายวันเรื่องทองคำช่วยชาติ
ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2546
มีคำสั่งสมเด็จพระสังฆราช
ประกาศตั้งพระราชรัตนมงคล
(มนตรี อภิมนฺติโก ประโยค 1-2) วัดบวรนิเวศวิหาร
ศิษย์ก้นกุฏิของสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง เข้าไปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
แทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ งานนี้หลวงตาบัวเงียบ ปล่อยให้พระผู้ใหญ่อื่น ๆ เช่น
พระพรหมวชิรญาณ
กรรมการมหาเถรสายในวัง วัดยานนาวา
ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของสมเด็จพระสังฆราชว่า
"ไม่เหมาะสม"
จนพระราชรัตนมงคลร้อนก้น ต้องชิงลาออก
"เพื่อปกป้องสมเด็จพระสังฆราชไม่ให้เสียไปมากกว่านี้"
สรุปว่า
งานนี้สมเด็จพระสังฆราชโดน
"มวยหมู่"
ถลุงจนตรัสไม่ออก ต้องประทับอยู่ในโรงพยาบาลต่อไปอีก
แต่รัฐบาลและมหาเถรสมาคมมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ว่า
"เมื่อท่านมนตรีแสดงสปิริตลาออกไปแล้ว
ก็จบ ไม่ติดใจจะเอาความอีกต่อไป"
หากแต่รัฐบาลโดยนายวิษณุ
เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กลับอาศัยสถานการณ์อันชุลมุนนั้น
นำเรื่องเข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมมหาเถรสมาคมแบบเร่งด่วน จนกระทั่งวันที่
13 มกราคม 2547 ก็มีคำสั่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมา
เป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งมีผู้ได้รับการแต่งตั้งจำนวน 5 รูป คือ
1.
สมเด็จพระพุฒาจารย์
วัดสระเกศ (มหานิกาย)
เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
2. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม
(มหานิกาย) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่
3. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ
(มหานิกาย) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่
4.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม
(ธรรมยุต) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่
5.สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส
(ธรรมยุต) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่
6.พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร
(ธรรมยุต) เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่
ตามรายชื่อดังกล่าวมานี้ เราจะเห็นว่า มีการคานอำนาจกันที่
3/3 โดยในฝ่ายธรรมยุตนั้น แม้จะมีสมเด็จพระราชาคณะที่แข็งแรงไม่ครบ 3 รูป
ก็ยังตั้งพระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศเข้ามาเสริม
ซึ่งอัตราของพระพรหมมุนีที่ว่านี้
อาจจะเป็นผลของการต่อรองระหว่าง รัฐบาล-มหานิกาย-ธรรมยุต ที่ว่า
ในเมื่อจะปลดหรือยึดอำนาจสังฆราชแล้ว เพื่อไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ
ก็ต้องตั้งคณะกรรมการจาก 3 ฝ่ายเข้ามาเป็นสังฆราชร่วมกัน คือ ฝ่ายมหานิกาย
ฝ่ายธรรมยุต และฝ่ายวัดบวร
พระพรหมมุนีจึงเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสังฆราชซึ่งสูญเสียอำนาจไป
นี่ละกระมังที่หลวงตาบัวอหังการณ์ประกาศว่า
"เป็นการรุมกินโต๊ะสังฆราช"
เราจะเห็นว่า
เริ่มแรกที่หลวงตาบัวให้นายทองก้อนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของนายวิษณุนั้น
ย้ำอยู่จุดเดียวคือ
"คำว่า แทน
ไม่มีในคำสั่งนั้น"
หากแต่เป็นคำสั่ง
"ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช"
ก็หมายถึงว่า
"ตั้งสังฆราชองค์ที่สองซ้อนกับสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ยังอยู่โรงพยาบาลจุฬา"
ไล่ความหมายไปจนสุดท้ายก็คือว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์
วัดสระเกศเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลไทย
ส่วนสมเด็จพระญาณสังวรนั้นเป็นสมเด็จที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา
ต่างกันอยู่อย่างนี้ (นี่เป็นความเข้าใจในกระแสนะ)
แต่การเริ่มเล่นที่ลูก
"คำว่า แทน
ไม่มีในคำสั่งนั้น"
ของนายทองก้อนนั้น ก็เป็นเพียงการ
"เปิดเกม"
หรือ "โหมโรง"
อีก เพราะยังมีอีกหลายลูกหลายดอกหลายลีลาที่จะนำมาแสดงบนเวทีละครว่าด้วย
"ยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้ที่อ้างตัวว่า ข้า-คือพุทธสาวก หัวโล้น ๆ
อยู่ทั่วเมืองไทยในเวลานี้"
นั่นคือว่า
ต่อมาทั้งตาบัวและนายทองก้อนก็เปิดเกมลามปามไปจนถึง
ไม่ยอมรับสมเด็จวัดสระเกศ-จะปลดนายวิษณุ-ระดมพระนับหมื่นคว่ำบาตรรัฐบาล-และสุดท้ายก็คือ
ไม่ยอมรับมหาเถรสมาคมและคำสั่งอันนั้น
ดังนั้น เมื่อไม่ยอมรับคำสั่งแต่งตั้ง โดยตีตกไปตามความเห็นของตนเองว่า
"เป็นโมฆะ"
แล้ว ผลพวงใด ๆ ที่เกิดจากคำสั่งนั้น ทั้งตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งและคำสั่ง
การสั่งการ หรือความคิดเห็นใด ๆ
ที่ออกมาจากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ก็ถูกฝ่ายหลวงตาบัว
"ไม่ยอมรับ ไม่นับถือ
ไม่รับรู้ และไม่ปฏิบัติตาม แถมยังเทศนาด่าเช้าด่าเย็นอีก"
เพราะถือว่าไม่ชอบธรรมไปก่อนแล้ว
ในฝ่ายของรัฐบาลโดยนายวิษณุ
เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี และ
พล.ต.ท.อุดม เจริญ
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น ก็ทั้งปิดป้องและรุกไล่ในคำสั่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอันนั้น
ตั้งแต่อ้างเรื่องกฎหมายคณะสงฆ์ว่า
"เขียนไว้เช่นนี้
ทำให้ตนต้องปฏิบัติตามอย่างเลี่ยงไม่ได้" อ้างรัฐธรรมนูญ อ้างความเห็นแพทย์
แต่ที่หนักที่สุดก็คือ การขุดคุ้ยเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ
ของสมเด็จพระสังฆราชออกมาประจานทางหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่
ทรงป่วยเป็นโรคหลายอย่าง ทรงต้องการพักผ่อน ทรงเซ็นต์คำสั่งออกมาบ่อยเกินไป
แล้วก็ลามไล่เข้าไปถึงเรื่องส่วนเนื้อส่วนตัว
คือเจ้าแม่ห้องกระจกและเรื่องเงินๆ ทองๆ
จนถึงพระเครื่องของสมเด็จพระสังฆราชหายไปหลายสิบองค์ สองสามเรื่องหลังๆ
นี้ยิ่งมีข่าวก็ยิ่งฉาวแล้วฉาวอีก
ว่าสมเด็จพระสังฆราชถูกครอบงำโดยคณะศิษย์ห้องกระจก คือ
ม.ล.จิตติ นพวงศ์
ท่านเธอเป็นผู้ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงพูดไม่ออก หรือแม้กระทั่งว่า
สมเด็จพระสังฆราชทรงกลัวผี เพราะทรงห้อยพระทีละหลายสิบองค์รอบตัว เป็นต้น
นั่นละที่หลวงตาบัวเหลืออดเหลือทน เพราะนอกจากจะปลดพระสังฆราชออกจากอำนาจแล้ว
รองนายกรัฐมนตรียังทำการอุกอาจ
"ประกาศประจานสมเด็จพระสังฆราชไปทั้งสิบทิศ"
หลวงตาบัวและคณะจึงคว่ำบาตรนายวิษณุเต็ม ๆ ยังรอแต่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี จะว่าอย่างไร ถ้าถือหางทางนายวิษณุแล้ว
ก็คงเห็นแววว่าหลวงตาบัวจะคว่ำบาตรรัฐบาลทั้งคณะให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
พฤติกรรมของหลวงตาบัวและคณะนี้ เรียกแบบไทย ๆ ก็ได้ว่า
"ตีปลาหน้าไซ"
แต่ต่อไปนี่สิ ถ้าไม่มีปลาให้ตีที่หน้าไซ เพราะปลาหลบหมด ไม่ออกมาตอบโต้
หรือมีตัวโต้แทนอยู่แล้ว คือนายวิษณุ เครืองาม และพล.ต.ท.อุดม เจริญ
คนตีปลาเก่งอย่างนายทองก้อนและหลวงตาบัวจึงต้องตามไปตีถึงในไซ
คือรุกไล่กันให้จนตรอกกันไปข้างหนึ่ง จนมาถึงกระแสข่าว
"หลวงตาบัวและพระป่าจะยื่นถอดถอนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม
(ธรรมยุต) ออกจากตำแหน่ง"
ซึ่งออกจากปากของนายวิษณุ รองนายกรัฐมนตรี
กระแสนี้มิใช่เรื่อง
"ไม่มีมูล" หากแต่
"มีมูลกองโต"
เลยเชียวล่ะ
ก็ในเมื่อเรื่องมันลามปามไปเป็นเช่นนี้ คือว่า
หลวงตาบัวนำคณะพระป่าออกมาอาละวาด ประกาศนิคหกรรมสมเด็จเกี่ยว ครั้งหนึ่ง
ต่อมาก็ประกาศคว่ำร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ครั้งที่สอง
ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ครั้งที่สาม และประกาศไม่ยอมรับมหาเถรสมาคม เป็นครั้งที่ 4
ทั้งหมดนี้มิใช่การ
"แยกหรือแกะคนในนิกายของตนออกมาจากมหานิกายเสียก่อนแล้วค่อยโจมตี"
หากแต่เป็นการ "ตีรวบ
ตีรวน ตีทั้งกลุ่มทั้งก้อน"
ดังนั้น พระเถระที่ "โดนตี"
จึงมีทั้งมหานิกายและธรรมยุต ไล่ตั้งแต่
พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศ
ในฐานะประธานคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ที่ถูกหลวงตาบัวอีเจ็คถอนออกไปนั้น
ท่านเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
หลวงตาบัวเล่น
"ยกย่องสมเด็จพระสังฆราช
แต่กลับเหยียบย่ำลูกศิษย์ลูกหาซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในวัดบวรแบบไม่ไว้หน้า
ไม่ให้เกียรติ ไปหมดทุกองค์"
แม้ว่าพระพรหมมุนีจะไม่มีปฏิกิริยาออกมานอกหน้า จะมีก็แต่พระราชชัยกวี
แห่งวัดราชาธิวาส ที่ออกมาประณามฝ่ายหลวงตาบัวอย่างต่อเนื่อง
ทีนี้ก็จะเข้าเรื่อง
"นิกาย"
เพราะว่ามหาเถรสมาคมนั้นประกอบด้วยพระสงฆ์สองฝ่าย คือมหานิกายและธรรมยุต
แบ่งกำลังกันคนละครึ่ง แยกกันปกครอง
แต่เวลาจะออกคำสั่งอะไรออกมาก็มาออกร่วมกัน ในนามของมหาเถรสมาคม ทั้ง ๆ
ทั้งมหานิกายกับธรรมยุตนั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาแต่เริ่มแรกแล้ว
เป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 7 ของโลก
ที่มีรัฐบาลประกอบด้วยพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาร่วมกันเป็นรัฐบาล
หมายถึงว่ามหาเถรสมาคมคือรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบายตรงข้ามกันมาอยู่รวมกัน
ซึ่งมิใช่เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่ที่เป็นนั้นเพราะความ
"จำใจ"
ต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ทีนี้เมื่อหลวงตาบัวและคณะเป็นพระในฝ่าย
"ธรรมยุต" ซึ่งธรรมยุตเขาก็มี
"เจ้าคณะใหญ่" เป็นผู้ปกครองโดยตรงอยู่แล้ว
เรื่องหลวงตาบัวทุกเรื่องจึงถูกฝ่ายมหานิกาย
"แปรลูก"
ไปลงที่ธรรมยุตหมด โดยนัยยะว่า
"ไหนล่ะ คนของพวกท่านออกมาเล่นแรงๆ อย่างนี้
กินข้ามโตะไปจนถึงวัดสระเกศ
เป็นการเล่นที่ไม่มีกติกามารยาทตามสายงานการปกครอง แล้วพวกท่านจะทำอย่างไรก็ให้รีบทำ
อย่าทำปากว่าตาขยิบ เดี๋ยวมหานิกายเล่นมั่งจะลำบาก" แต่ธรรมยุตก็อ้างว่า
"ทำอะไรไม่ได้ เพราะเจ้าคณะใหญ่คือสมเด็จพระสังฆราช นอกนั้นใครไม่มีอำนาจ"
ดังนั้น คำสั่ง
"ปลดสมเด็จพระสังฆราชจากเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต" จึงออกมาในวันที่
18 กุมภาพันธ์ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งแทนก็คือ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5)
วัดมกุฏกษัตริยาราม และงานแรกที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตองค์ใหม่เริ่มทำก็คือ
ลงดาบพระสังฆาธิการซึ่งเป็นหัวแรงในการชุมนุมต่อต้านมหาเถรสมาคมของหลวงตาบัว
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
เรียกประชุมพระมหาเถระในฝ่ายธรรมยุตตั้งแต่รองเจ้าคณะภาคขึ้นไป
ณ
ตึกติสสมหาเถระ วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
เพื่อหามาตรการกำหราบพระสงฆ์ในความปกครองที่ไปเข้ากับฝ่ายหลวงตาบัว
วันที่ 24 มีนาคม
2547 พระสมุห์สุชิน ปริปุณฺโณ
เจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต (ธรรมยุต) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ถูกคำสั่งจากพระราชรัชมงคลโกวิท
เจ้าคณะจังหวัดระยอง
(ธรรมยุต)
สั่งให้ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อการไปร่วมชุมนุมประท้วงคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ
วันที่ 26 มีนาคม 2547
เวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี
โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ควบคุมดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องหลวงตาบัว
ก็ได้รับคำตอบว่า
"ขณะนี้เป้าหมายในการขับไล่ไม่ใช่พุ่งมาที่ตนหรือ
พล.ต.ท.อุดม เจริญ ผู้อำนวยการ พศ.แล้ว
แต่มีการเปลี่ยนเป้าหมายไปยังสมเด็จพุฒาจารย์เกี่ยว เจ้าอาวาสวัดสระเกศ"
วันที่ 26 มีนาคม 2547
เวลา 17.15 น.
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
ได้เดินทางไปนมัสการหลวงตาบัว ที่สวนแสงธรรม พุทธมณฑลสาย 3 นครปฐม
เพื่อชี้แจงเรื่องคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ต่อมา นายวิษณุให้สัมภาษณ์ว่า
นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงถึงกรณีที่จะมีพระสงฆ์มาชุมนุมใหญ่กันที่ท้องสนามหลวง
ซึ่งครั้งนี้นอกจากจะเล่นงานตน ยังมีการเสนอถอดสมเด็จพระพุทธชินวงศ์
วัดมกุฏกษัติยาราม ด้วย
ซึ่งตนได้ไปกราบสอบถามสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ก็ทราบว่าถูกกล่าวหาอธิกรณ์
ในฐานะเป็นผู้ทำการเจ้าคณะธรรมยุต ที่ไปสั่งพระสายธรรมยุต ไม่ให้ออกมาชุมนุม
เลยถูกกล่าวหาว่าทำผิดธรรมวินัย
ประเทศไทยในวันนี้
มีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ทั้งในเรื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ทั้งในภาคใต้ และในฝ่ายของคณะสงฆ์เอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีเองถึงกับหนักใจที่แก้ไขอะไรไม่ง่ายดังหวังดี
แต่การจะเปิดศึกหลาย ๆ ด้านนั้นทำให้หนักเกินไป จึงจำต้อง
"ตัดทิ้ง"
สิ่งที่พอจะตัดได้ และเกมการ
"ตัดไฟ"
ของรัฐบาลในจุดแรกก็คือ สยบความเคลื่อนไหวของพระป่าสายหลวงตาบัว
เพราะถ้าไม่หยุด ต่อไปจะลุกลามหนักไปจนถึงขั้น
"ยื่นเรื่องถอดถอนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต"
แล้วเมื่อนั้นจะมีอะไรเหลือ
ดูเหมือนว่า
การตัดสินใจไปสวนแสงธรรมของท่านนายกรัฐมนตรีในเย็นวันนั้นจะทำให้สถานการณ์
"เย็น"
ลงไปในระดับหนึ่งได้จริงๆ แต่สำหรับสถานการณ์ในฝ่ายธรรมยุตทั้งหมดนั้น
เมื่อได้ฟังนายวิษณุเล่าว่า
"มีการยื่นถอดถอนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ด้วย"
ดังนี้ ก็ชี้ว่า
สงครามเย็นในฝ่ายธรรมยุตเพิ่งเริ่มก่อตัว เห็นเป็นรอยร้าว รอยแยก
และแตกระแหงออกไปทุกหย่อมหญ้า
หลวงตาบัวนั้นทั้งแผ่นดินเคารพเชิดชูอยู่องค์เดียว
คือสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช
ทีนี้เมื่อสมเด็จพระญาณสังวรถูกปลดจากสังฆราช หลวงตาบัวก็ไม่ยอมรับสมเด็จพระพุฒาจารย์สังฆราชองค์ใหม่
ในขณะเดียวกัน เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ มารเก้าอี้ของสมเด็จพระญาณสังวร
ปลดสมเด็จพระญาณสังวรออกจากตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต
เป็นการยึดเก้าอี้ที่สอง แล้วมอบให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์นั่งแทน
มีหรือหลวงตาบัวจะยอมรับ ดังนั้น คำสั่งใดๆ ที่ออกจากมหาเถรสมาคมก็ดี
จากสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
(ไม่ใช่แทน-เพราะตำแหน่งนี้มีอำนาจปลดสมเด็จพระญาณสังวรจากเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตมาแล้ว)
ก็ดี จากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตองค์ใหม่ก็ดี
ทั้งหมดนี้หลวงตาบัว
"ไม่ยอมรับ ไม่นับถือ ไม่ให้ความเชื่อถือ และไม่ยอมปฏิบัติตามอย่างเด็ดขาด"
และดังนั้น (อีกที)
เมื่อมีคำสั่งจากเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตไล่ลูกลงไปถึงเจ้าคณะจังหวัดระยองให้
"ปลด"
เจ้าอาวาสที่ไปร่วมชุมนุมกับหลวงตาบัว แผน
"รุกฆาต-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์"
จึงเกิดขึ้น นี่กระมังที่เห็นเขาว่ากัน
"สังฆเภท"
|