นานาสังวาสสากัจฉา
 


 

     วันนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่อง "นานาสังวาส" ซึ่งก็แปลตามสำนวนนิยมว่า พระสงฆ์ต่างนิกายกัน เขาถือว่าต่างอย่างไร อะไรเป็นจุดชี้ขาดว่าต่างนิกายหรือเป็นนานาสังวาสแก่กัน เพราะเห็นพูดกันบ่อยเหลือเกิน แถมพระคณะธรรมยุตและมหานิกายก็ไปทำสังฆกรรมร่วมกันอีก มีการปรับอาบัติพระข้ามนิกายได้ด้วย ทำให้เป็นงงว่า เดี๋ยวนี้พระป่าพระธรรมยุตที่อุตริอ้างว่าตัวเองเคร่งครัดในพระวินัยกว่าฝ่ายมหานิกายนั้น ก้าวหน้าในการพัฒนาพระวินัยใช้ถึงขนาดนี้แล้วหรือ

     คำว่า นานาสังวาส นั้น ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ของพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎกให้คำนิยามไว้ว่า "มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วม (คืออุโบสถและสังฆกรรมเป็นต้น) ที่ต่างกัน, สงฆ์ผู้ไม่ร่วมสังวาส คือไม่ร่วมอุโบสถและสังฆกรรมด้วยกัน เรียกว่าเป็นนานาสังวาสของกันและกัน เหตุที่ทำให้เป็นนานาสังวาสมี 2 คือ ภิกษุทำตนให้เป็นนานาสังวาสเอง เช่น อยู่ในนิกายหนึ่งไปขอเข้านิกายอื่น หรือแตกจากพวกเพราะเหตุวิวาทาธิกรณ์อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ถูกสงฆ์พร้อมกันยกออกจากสังวาส"

     ก็ขอแปลอย่างง่าย ๆ ว่า พระที่เป็นนานาสังวาสหรือต่างนิกายกัน เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย จีนนิกาย ญวนนิกาย เป็นต้น เหล่านี้นั้น สิ่งที่จะวัดได้ว่าต่างนิกายหรือต่างสังวาสกันนั้นได้แก่

     1. พระบางรูปอยู่ในนิกายนี้ แต่มีใจเอนไปนิยมชมชอบวัตรปฏิบัติหรือแนวทางการปฏิบัติของอีกนิกายหนึ่ง แค่คิดด้วยใจก็นับว่าเป็นนานาสังวาสแบบเป็นชู้ทางใจแล้ว ถ้าไปเข้ากับอีกนิกายหนึ่ง เช่น พระภิกษุวชิรญาณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จแยกออกจากพระสงฆ์อริยกวินัยของคณะสงฆ์ไทย ไปขอรับการอุปสมบทซ้ำใหม่กับพระนิกายมอญ ที่วัดราชาธิวาส อย่างนี้เป็นนานาสังวาสประเภทที่ 1 นี้ร้อยเปอร์เซ็นต์

     2. พระที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ถูกสงฆ์ตักเตือนก็ยังดื้อ จึงถูกพระสงฆ์ทั้งหมดขับออกจากหมู่ คือโดนไล่ออกแบบพระโพธิรักษ์แห่งสันติอโศก ก็เป็นอันหมดสังวาส จะมาอ้างสิทธิตามที่สงฆ์คณะนั้น ๆ เขามีอยู่ไม่ได้

     ถามว่า การแยกตนออกไปจากคณะสงฆ์เดิมถือเป็นสังฆเภทคือทำสงฆ์ให้แตกจากกันหรือไม่ ?

     ตอบชัด ๆ ก็คือว่า "แม่นแล้ว เป็นสังฆเภทแน่นอน"

     ถามอีกว่า แล้วกรณีมหานิกายกับธรรมยุตในสมัยรัชกาลที่  3 นั้นเป็นอะไร ?

     อันนี้ก็ขอตอบว่า ไม่รู้สินะ ลองไปถามพระธรรมยุตเขาดูก็แล้วกัน ว่าตั้งแต่มีธรรมยุตเกิดขึ้นมานั้น ได้มีการทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับพระสงฆ์มหานิกายไหม ? ถ้าไม่, ก็แปลว่า เป็นสังฆเภท และเป็นนานาสังวาสของกันและกัน นี้ว่าตามบทพระบาลีมิได้มีเจตนาจะบังอาจกระทบกระทั่งไปถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ประการใด

     ถามว่า ถ้าพระที่เป็นนานาสังวาสคือต่างนิกายกันนั้น มาทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกันจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกจะมีโทษทัณฑ์สถานใด ?

     ข้อนี้ก็ขอตอบตามพระบาลีวินัยปิฎกมหาวรรค อุโบสถขันธกะ ดังนี้ ที่ว่าพระนานาสังวาสมาสังวาสกันนั้น พระวินัยแยกออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

     1. ถ้าพระภิกษุเดินทางไกลไปต่างแดน (พระอาคันตุกะ) พบพระเจ้าถิ่นหรือเจ้าอาวาสประจำวัดนั้นมีสังวาสต่างกันกับตน แต่พระอาคันตุกะเหล่านั้นมิได้เฉลียวใจว่าพระเจ้าถิ่นเขาจะเป็นนานาสังวาสกับตัวเอง จึงมิได้ไถ่ถามและก็ลงทำอุโบสถสังฆกรรมด้วยกัน ข้อนี้ไม่ต้องอาบัติ (ความจริงน่าจะต้อง เพราะว่าสะเพร่า ไม่ไถ่ถามให้ดี)

     แต่ถ้าพระอาคันตุกะเหล่านั้นถามพระเจ้าถิ่นดูแล้ว รู้ว่าต่างสังวาสต่างนิกายกัน ก็ยังฝืนยินดีทำสังฆกรรมร่วมกัน อันนี้เป็นอาบัติทุกกฎ (โทษฐานรู้แล้วฝืนทำ แบบว่าข่มขืนสังวาส)

      แต่ถ้าไถ่ถามแล้ว รู้ว่าต่างกัน ยังเคารพกัน แต่ไม่ได้ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน แยกกันไปทำต่างหาก อย่างนี้ไม่ต้องอาบัติ (เพราะเคารพในความต่างสังวาสกัน นับว่าดี)

     2. พระอาคันตุกะไปต่างแดน พบกับพระอีกวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนิกายเดียวกัน มีสังวาสเสมอกัน ก็กลับคิดว่ามีสังวาสต่างกันกับตน (คือคิดว่าต่างนิกายกัน) เมื่อคิดแล้วก็ไม่ได้ไถ่ถามอะไร ถึงเวลาก็ห่มผ้าลงอุโบสถทำสังฆกรรมด้วยกัน อันนี้เป็นอาบัติทุกกฏ โทษฐานสงสัยแล้วไม่ทำให้กระจ่าง ฝืนทำไปทั้ง ๆ ที่ยังสงสัย

      แต่ถ้าพระอาคันตุกะเหล่านั้นถามไถ่แล้ว รู้ว่าเป็นนิกายเดียวกัน แต่กลับทำเป็นรังเกียจ ไม่ยินยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน อันนี้เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะไม่เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย ไม่ให้เกียรติแก่พระในนิกายเดียวกัน

   ถ้าไต่ถามแล้ว ทราบว่าเป็นนิกายเดียวกัน ถึงมีความรังเกียจก็ยังยินยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน อย่างนี้ไม่ต้องอาบัติ และยังน่าสรรเสริญ เพราะให้เกียรติแก่ผู้อยู่ในสังวาสเดียวกัน

     3. พระภิกษุเจ้าถิ่นพบพระอาคันตุกะมาหา มีสังวาสต่างกันกับตน แต่กลับคิดว่าพระเหล่านั้นมีสังวาสเสมอกับตน แล้วก็ทำสังฆกรรมร่วมกันโดยมิได้ไถ่ถาม ข้อนี้ไม่ต้องอาบัติ

     ถ้าถามแล้ว รู้ว่าต่างสังวาสกัน แต่กลับยินดีทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน อย่างนี้เป็นอาบัติทุกกฎเพราะไม่เอื้อเฟื้อนิกายเดียวกัน

     ถ้าถามไถ่แล้ว รู้ว่าต่างนิกายกัน ก็เคารพกัน แต่ถึงเวลาทำสังฆกรรมก็แยกกันทำ อย่างนี้ไม่ต้องอาบัติ

     4. พระภิกษุเจ้าถิ่นพบพระอาคันตุกะมาหา มีสังวาสเหมือนกันกับตน แต่กลับเข้าใจว่าพระอาคันตุกะเหล่านั้นเป็นนานาสังวาสกับตน ไม่ไถ่ถามก็ลงทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน ข้อนี้เป็นอาบัติทุกกฏเพราะไม่เอื้อเฟื้อสังวาสของตน

     ถ้าถามแล้ว รู้ว่าเป็นนิกายเดียวกัน กลับทำรังเกียจไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน อันนี้เป็นอาบัติทุกฏ เพราะไม่เอื้อเฟื้อนิกายเดียวกัน

     ถ้าถามแล้ว รู้ว่าเป็นนิกายเดียวกัน ถึงจะไม่ชอบใจก็ยังยอมลงทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน อย่างนื้ถือว่าดีมาก เพราะเคารพสังวาสหรือนิกายเดียวกัน

     นั่นละคือเรื่องของนานาสังวาส แล้วถามต่อไปว่า กรณีที่หลวงตาบัวนำพระป่าทั้งธรรมยุตและมหานิกายในภาคอีสานนับหมื่นรูปไปประชุมทำนิคคหกรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศนั้น ถูกต้องตามธรรมวินัยหรือไม่ ? ข้อนี้เห็นทีจะต้องตอบยาว

     คือว่า ต้องถามก่อนว่า มหานิกายกับธรรมยุตนั้นเป็นนานาสังวาสของกันและกันหรือเปล่า ? ซึ่งได้คำตอบว่า "เป็นแน่นอน" ก็หมายถึงว่า การที่คณะพระมหานิกายและธรรมยุตไปร่วมชุมนุมลงอุโบสถทำงทำสังฆกรรมร่วมกัน อย่างนี้ถือว่าผิดแต่เริ่ม ทีนี้เมื่อเริ่มหรือตั้งต้นผิด สิ่งใดที่อยู่ตรงกลางและตรงปลายก็ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะพระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่มีความชอบธรรมในการออกมติใดๆ เกี่ยวกับคณะสงฆ์ ถึงออกมาก็ไม่มีผลทางพระธรรมวินัย เพราะว่าเป็นโมฆะมาแต่ต้น (ย้ำ)

     ตรงนี้เป็นปัญหาสองมิตินะท่าน ขอได้โปรดพินิจให้ดี คือว่า พระมหานิกายกับธรรมยุตนั้นเป็นนานาสังวาส ไม่ลงอุโบสถทำสังฆกรรมร่วมกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว แล้วจู่ ๆ พระทั้งสองนิกายก็ไปรวมตัวกันที่วัดอโศการาม วัดกกสะท้อน และวัดป่าบ้านตาด ทั้งสามครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการทำสังฆกรรมที่ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ดังนั้น ถึงแม้พระสงฆ์ทั้งหมดนั้นจะใช้ชื่อว่า "คณะสงฆ์ไทย" และออกมติอะไรออกมาอีกมากมายก็ตาม ก็ถือว่าเป็นโมฆะไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมันผิดตรงที่องค์ประชุมไม่ถูกต้องแล้วนั้นเอง

     ดังนั้น ถ้าใครก็ตาม เช่น มหาเถรสมาคม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เกิดบ้าจี้ไปทำตามมติบ้าบอของพระป่าสายหลวงตาบัวที่ประกาศออกไปนั้น ก็ถือได้ว่าปฏิบัติตามกติกาอันไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย และผิดพระวินัยแน่นอน

     แต่ถ้าหากเรายอมรับว่า มหานิกายและธรรมยุตยังร่วมอุโบสถสังฆกรรมยอมรับนับนับถือกันอยู่ ไม่มีอะไรลักลั่นกันเลย ตรงนี้ก็มีคดีให้วินิจฉัยอีก 2 ประเด็นคือ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าคำฟ้องร้องของหลวงตาบัวและคณะเป็นความจริง สมเด็จพระพุฒาจารย์และสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมด รวมทั้งพระพรหมมุนีก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ แต่ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคำฟ้องของหลวงตาบัวและคณะเป็นจริง  หลวงตาบัวและคณะพระทั้งหมื่นกว่ารูปก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส มาตราที่ 8 และ 9 อย่างพร้อมเพรียงกัน พระอรหันต์จะเป็นสังฆาทิเสสหรือไม่ก็ต้องให้พระวินัยธรวินิจฉัย

     ในกรณีกลุ่มพระของหลวงตาบัวแอบอ้างชื่อตัวว่า "คณะสงฆ์ไทย" ก็เช่นเดียวกัน จำนวนพระสงฆ์ทั้งหมดในประเทศไทยนั้น ตามสถิติว่ามีถึง 300,000 ว่ารูป แต่พระที่ไปประชุมนั้นมีประมาณ 10,000 รูป ยังขาดอีกตั้ง 290,000 กว่ารูป แต่กลับถูกหลวงตาบัวและคณะแอบอ้างเอาชื่อไปใช้ว่า "คณะสงฆ์ไทย" แทนหมดทุกรูป ถือได้ว่าเป็นการ "ปล้นสิทธิ์" ของพระที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่หลวงตาบัวและคณะประกาศปรับอาบัติปาราชิกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ว่าชิงเอาสิทธิของสมเด็จพระสังฆราชไปนั้น จึงเป็นการประกาศที่ไม่ชอบ ไม่มีผล เป็นโมฆะแต่เริ่มแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกันที่ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่าเป็นโจรปล้นสิทธิ์ของสมเด็จพระสังฆราช หลวงตาบัวและพรรคพวกมีพฤติกรรมต่างอะไรไปจากสมเด็จพระพุฒาจารย์บ้าง สมเด็จพระพุฒาจารย์และคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชทั้ง 5 รูป ยังดีที่มีผู้แต่งตั้งและมีตราตั้ง แต่สำหรับหลวงตาบัวและพรรคพวกนั้น ถามว่ามีใครแต่งตั้งบ้าง หรือจะอ้างว่า "ตั้งตัวเองตามพระธรรมวินัย" เออ พระอริยะเขาใช้วิธีการเช่นนี้นะหรือ หลวงตาบัวและคณะพระวัดป่าควรทราบประเด็นนี้ ว่าพวกท่านตะโกนด่าเขาปาว ๆ ว่าไม่ถูกต้อง แต่ถามว่า ตัวเองทำถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้วหรือ ?

      ที่พระสมุห์สุชินกล่าวว่า "ข้อความทั้งหมดนี้มีอยู่ในพระธรรมวินัยเด่นชัด สามารถตรวจสอบได้ ฉะนั้น พระสงฆ์เมื่อทราบแล้วจึงเดินทางไประชุมร่วมกันด้วยความสงบและเรียบร้อยเป็นอย่างดี ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับสถานที่และบ้านเมือง พระสงฆ์ไทยที่ไปร่วมประชุมกันในวันนั้นมาจากจตุรทิศทั้ง 4 ทั้งพระธรรมยุตและมหานิกายกว่าหมื่นรูป มีทั้งคามวาสีและอรัญวาสี" ตรงนี้แหละถือเป็นจุดตายที่คณะพระสงฆ์หมื่นกว่ารูปนั้นร่วมกันทำสังฆกรรมอันไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย แม้ว่าการประชุมในวันนั้นจะเป็นการประชุมโดยสงบ ไม่รบกวนเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองให้ลำบากเหมือนม็อบเดินขบวน แต่ตามกระบวนการทางพระธรรมวินัยแล้วถือได้ว่า "ไม่ถูก" ความสงบหรือไม่สงบไม่สามารถนำมาวินิจฉัยความผิดความถูกในกรณีนี้ได้

     อีกข้อหนึ่งนั้น พระสมุห์สุชินกล่าวว่า "ที่ไปประชุมสงฆ์ที่วัดอโศการามก็ทำตามหลักธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้อย่างถูกต้อง อย่างเช่นเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นขัดธรรมวินัยจารีตประเพณี พร้อมกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทราบว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ อยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัยเมื่อทราบแล้วนิ่งเฉยไม่คัดค้านและท้วงติงกลับทำไม่รู้ไม่เห็น ภิกษุเหล่านั้นต้องเป็นอาบัติถือว่าเพิกเฉย"

      ตรงนี้ต้องแยกวินิจฉัยออกเป็น 2 ประเด็น คือข้อแรกที่ว่า "ไปประชุมสงฆ์ที่วัดอโศการามก็ทำตามหลักธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้อย่างถูกต้อง" ถามว่าถูกต้องจริงหรือ ? เอาพระวินัยข้อไหนมาอ้างอิงล่ะ ?

     และข้อต่อมาที่ว่า "อย่างเช่นเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นขัดธรรมวินัยจารีตประเพณี พร้อมกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทราบว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ อยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัยเมื่อทราบแล้วนิ่งเฉยไม่คัดค้านและท้วงติงกลับทำไม่รู้ไม่เห็น ภิกษุเหล่านั้นต้องเป็นอาบัติถือว่าเพิกเฉย"

      ข้อนี้ก็ขอแย้งว่า พระสมุห์สุชินอ้างไม่ถูกต้องทั้งหมด คืออ้างเอาเฉพาะกรณีที่ตนเองและพรรคพวกถูกใจ ทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน แต่ถ้าตนเองและพรรคพวกถูกใจก็ตัดสินว่า "ถูก" หากแต่ถ้าคนพวกอื่นเขาทำแบบนั้นก็กล่าวหาเขาว่า "ไม่ถูก" ทั้ง ๆ ที่มันไม่ถูกเหมือนกัน ขอเล่าเรื่องเพื่อเปรียบเทียบว่า

     ตามหลักฐานดั้งเดิมคือพระบาลีในพระไตรปิฎกนั้น ก่อนจะเสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพาน องค์สมเด็จพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบต่อท่านพระอานนท์ว่า "โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถาติ" แปลว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเรา-ตถาคต ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว พระธรรมและวินัยที่เราแสดงบัญญัติไว้แล้ว จะเป็นพระศาสดาของท่านทั้งหลายแทนเรา"

      หลักฐานทางพระบาลีมีแค่นี้ ไม่มีข้อไหนที่ระบุให้มีตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ดังนี้เลย แล้วขอถามหลวงตาบัวและคณะว่า "ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่พวกท่านเทิดทูนและกล่าวตู่เอาว่าถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั้น มันอยู่ในพระธรรมวินัยหมวดไหน ?" ถ้ามี, ก็ขอความกรุณายกมาอ้างอิงให้ชัดเจนเป็นเครื่องประดับสติปัญญาแก่ข้าพเจ้าด้วย หากว่าไม่มี ก็ขอถามว่า ที่พวกท่านอ้างว่าปกป้องพระธรรมวินัยนั้น ปกป้องอะไรกันแน่ ปกป้องพระสังฆราชเป็นการส่วนตัวหรือว่าป้องกันพระธรรมวินัย ?

     เพราะถ้ารักพระธรรมวินัยจริง พวกท่านก็ควรนำเอาข้อความทั้งหมดมาประติดประต่อให้ถูกลำดับกาล แล้วค่อยวินิจฉัยไปตามสภาวการณ์ มิใช่ยกเอามาแบบหยิบโหย่ง นึกอยากจะตีความมาตราไหนก็ตะบี้ตะบันดึงดันเข้าไป ใครจะเข้าใจหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว เหมือนกับว่า "กูคือเจ้าของพระศาสนา" แม้แต่การแอบอ้างว่าคณะของตัวเองเป็น "คณะสงฆ์ไทย" ถือว่าชอบธรรมหรือไม่ ? ผู้เขียนไม่อยากพูดถึงเรื่องการออกบิณฑบาตหาเงินทองเข้าคลังหลวงและเล่นการเมืองของหลวงตาบัวหรอก เพราะเคยวิจารณ์ไว้หลายเล่มแล้ว

     วันนี้ ขอเล่าที่ไปที่มาของตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นปัญหาร้อนวัดป่าอยู่ในปัจจุบันนี้ให้กระจ่างกันเสียที ก็ดังที่บอกว่า สมัยพุทธกาลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ใคร ๆ ก็เคารพพระพุทธองค์ในฐานะ "พระบิดา" ต่อมา เมื่อสิ้นพระพุทธองค์ไปแล้ว ก็ยึดถือพระธรราวินัยเป็นศาสดาแทนตามพระพุทธพินัยกรรม แต่ก็มีการยกย่องพระมหาเถระซึ่งเคยรับใช้ใกล้ชิดและได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นสังฆเถระแทน เช่น ท่านพระมหากัสสปเถระ ท่านพระอานนท์เถระ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่มีตำแหน่งสังฆราช

      ในพุทธศตวรรษที่ 3 เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำการปฏิรูปศาสนา ด้วยว่ามีเดียรถีย์ปลอมบวชจำนวนมาก ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระมาเป็นประธานในการทำสังคายนา ทั้งนี้ก็ได้รับความยินยอมพร้อมใจยอมรับนับถือของพระสงฆ์ทั้งสังฆมณฑล แล้วจากนั้นพระพุทธศาสนาก็กระจายจากอินเดียไปลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร จีน เวียตนาม เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น นั่นจึงเป็นการเริ่มต้นของตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช โดยของไทยเรานั้นไปลอกเอาตำแหน่ง "สวามี" ของศรีลังกามาเป็นตำแหน่งสังฆราชในกรุงสุโขทัยเป็นเริ่มแรก

     ผ่านสุโขทัยไปอยุธยา ตำแหน่งแห่งหนต่าง ๆ ก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างวิจิตรพิสดาร เพื่อให้ทันสมัยกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่สลับซับซ้อนขึ้น และเพื่อรองรับกับจำนวนประชากรทางสงฆ์ซึ่งเพิ่มมากขึ้น สมณศักดิ์ เช่น สวามี พระครู พระมหา เป็นต้น และตำแหน่งต่างๆ เช่น เจ้าอาวาส เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะเมือง  ไปจนถึงสมเด็จพระสังฆราช ก็จำเป็นต้องมี เพื่อใช้เป็นกลไกในการปกครอง กรณีครูบาศรีวิชัยนับได้ว่าเป็นความขัดแย้งในเรื่องพระธรรมวินัยกับสมณฐานันดรศักดิ์นี้อย่างชัดเจน

     ถ้าจะเอาตามพระธรรมวินัยแบบหลวงตาบัวว่าอย่างเดียว สมณศักดิ์ "พระธรรมวิสุทธิมงคล" ก็ไม่ต้องมี สมณศักดิ์ "พระสมุห์สุชิน" ก็ต้องไม่มี ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด เจ้าอาวาสวัดบวรสถิตย์ ก็ย่อมไม่มี และก็จะไม่มีพระที่ได้รับตำแหน่งและสมณศักดิ์ทั้งสองนี้ด้วย นี่ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าอยากจะใช้พระธรรมวินัยโดยไม่คำนึงถึงสิ่งสำคัญอื่นใด ยิ่งพระที่หลงไหลไป "รับตำแหน่ง" มาแล้ว กลับมาอ้างว่า การรับอีกตำแหน่งหนึ่งของอีกรูปหนึ่งนั้นไม่ถูกต้อง ดังนี้ มันจะมีค่าอะไรไปกว่าโจรกล่าวหาโจรหรือนักการเมืองด่านักการเมือง ดังนั้น ถ้าว่าให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า "เป็นโจร" พวกท่าน (คือหลวงตาบัว พระสมุห์สุชิน และคณะพระป่าพระบ้านทั้งหมด) ก็ต้องเป็นโจรด้วย

     ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่ว่า ผู้เขียนไม่เห็นพระธรรมวินัยอยู่ในสายตา หากแต่เชียร์แต่ฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองนั้นก็หามิได้ เพียงแต่ผู้เขียนต้องการให้มองอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่าจับจดยกเอามาเฉพาะที่ตนเองถูกใจแล้วก็ตีความเข้าข้างตนเอง

     เช่น ที่หลวงตาบัวตั้งคำถามว่า การตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัยว่าด้วยอาวุโส, ไม่เคารพสังฆราช ก็ต้องถามกลับไปด้วยว่า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ได้รับการสถาปนาในขณะมีอาวุโสทางอายุพรรษาสูงสุดกว่าสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปในปี พ.ศ.2532 อย่างนั้นหรือ ? ตอบว่า หามิได้ อย่างน้อยก็สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ก็มีอาวุโสสูงกว่า แถมยังได้รักการประกาศให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก่อนสมเด็จพระญาณสังวรด้วย ดังนั้นที่หลวงตาบัวอ้างเอาเรื่องอาวุโสขึ้นมาบังหน้านั้นก็ไม่จริงอีก

     หลวงตาบัวว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทย ฉบับแก้ไขใหม่ให้สมเด็จพระสังฆราชมาจากการคัดเลือกของมหาเถรสมาคมก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยสถาปนาเป็นลำดับต่อไป "เป็นเผด็จการและยึดอำนาจจากพระเจ้าอยู่หัว" นั้น

     ข้อนี้ก็ขอถามว่า สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ทรงได้รับการสถาปนาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งร่างขึ้นโดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นเผด็จการใช่หรือไม่, แม้ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนั้นจะระบุไว้เพียงกว้าง ๆ ว่า "มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง" ดังนี้ก็ตาม แต่มันก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ พวกท่านว่าถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้วหรือ ?

      และต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งหนุนหลังโดยคณะปฏิวัติ รสช. ก็มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 7 นั้นแก้ไขเป็น

     "มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

      พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้อย่างถูกต้องมานานับสิบปี เพิ่งจะมีหลวงตาบัวออกมาแหกปากโวยวายไม่เห็นด้วยในปี พ.ศ. 2545 ช่างความรู้สึกช้าเหลือเกิน

      ถ้าหลวงตาบัวและคณะเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็น่าจะเคลื่อนไหวไม่ให้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับไหนๆ ใดๆ ในโลกนี้เลย เพราะมันไม่มีในพระธรรมวินัยหรือในพระไตรปิฏกทั้งสิ้น จะมายอมรับฉบับหนึ่งแล้วแอนตี้อีกฉบับหนึ่งแบบนี้ มันไม่ใช่ลักษณะของผู้ซื่อสัตย์ซื่อตรง หากแต่เป็นศรีธนญชัยทางพระธรรมวัยเท่านั้นเอง แม้ว่าจะอยู่วัดป่าก็ตามเถอะ ขอบอก

     ที่เขียนมาทั้งนี้ก็ด้วยความเคารพ ก็เหมือนพระเดชพระคุณพระธรรมปิฏกเคยกล่าวไว้ในกรณีสันติอโศกเมื่อหลายปีก่อนว่า "ถ้ามีเส้นคดอยู่สองเส้น เส้นหนึ่งคดมาก เส้นหนึ่งคดน้อย สิ่งที่จะวัดความคดได้นั้นคือไม้บรรทัด (ซึ่งตรงได้มาตรฐาน) ไม่ใช่การเอาเส้นที่คดน้อยไปวัดเส้นที่คดมาก แล้วตัดสินว่า เส้นคดมากนั้น "คด" แต่เส้นคดน้อยนั้น "ไม่คด"

     เพราะถ้าใครใช้ระบบเอาเส้นคดน้อยไปวัดเส้นคดมาก หรือใช้เส้นคดคนละมิติไปตัดสินกัน ผู้นั้นก็ย่อมได้ชื่อวา คนคด ไม่ใช่ผู้ซื่อตรง ยิ่งผู้ที่อ้างตัวเองว่าหมดสิ้นโทสะโมหะแล้ว แต่แค่เรื่องตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชบัญญัตินี้ ยังแสดงโทสะโมหะอย่างฟุ่มเฟือย จะให้เชื่อใจได้อย่างไรว่าท่านเป็นพระอริยะอย่างที่อ้างจริง

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
26
มีีนาคม 2547

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264