ปัญหาว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชนบนรัฐธรรมนูญ
 


 

    มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
           ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
           การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
     มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม


     มาตรา 28
บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

     มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

        มาตรา 27
สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย
และการตีความกฎหมายทั้งปวง


 

    นั่นคือบางตอนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ใช้เป็นแม่บทกฎหมายอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนไม่ถนัดภาษาอังกฤษ จึงไม่ได้เอารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาเสนอ เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญไทยหรือส่วนใหญ่ทั่วโลกก็แทบจะเอาของอเมริกามาเป็นแม่บทอยู่แล้ว ดังนั้น มาตราต่าง ๆ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ก็คงไม่ต่างกันเท่าใดนัก แต่ถ้าแตกต่างกันมากก็ต้องขออภัยที่ใช้แม่บทผิด ทีนี้ก็จะเข้าเรื่องเข้าราวกันเสียที

     ที่จะเขียนในวันนี้ เพราะมีข่าวคราวเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในหลายประเทศหลายปัญหา ซึ่งยังกังขาค้างคาใจใครต่อใครหลายคน (โดยเฉพาะก็คือผู้เขียนเอง) เช่น การโคลนนิ่งคน การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สตรีที่แต่งงานแล้วไม่จำเป็นต้องใช้นามสกุลฝ่ายสามี การที่ศาลสูงรัฐแมสสาจูเสตต์ อนุญาตให้เกย์ เลสเบี้ยน แต่งงานกันได้ และนายกเทศมนตรีเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย อนุญาตให้เกย์และเลสเบี้ยนแต่งงานได้ เป็นต้น

     ปัญหาเหล่านี้ ดูผิวเผินก็แทบว่าจะห่างไกลกับวิถีชีวิตของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอย ฯลฯ คนส่วนใหญ่เมื่อได้ข่าวจึงแค่ "ทึ่ง" หรือ "สะดุดใจ" ถ้าจะมีความเห็นก็งั้น ๆ อาจจะมีการต่อต้านบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงนัก ไม่เหมือนชาวสเปนออกเดินขบวนต่อต้านการก่อการร้ายเป็นล้าน ๆ เมื่อวานซืนนี้ ตรงนี้เราจะมาวิพากษ์กันในหลายมุมมอง (ความจริงก็มุมของผู้เขียนมุมเดียวเท่านั้น ไม่เคยยอมรับมุมของผู้อื่นเท่าใดนักหรอก หัวแข็งจะตาย)

     ปัญหาการโคลนนิ่งมนุษย์ ว่าด้วยใช้เซลล์ในร่างกายของคนสร้างตัวอ่อนขึ้นมาใหม่ให้เป็นคน โดยไม่ผ่านการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ และอาจจะมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือไปจากเป็นประชากรโลก เช่น การโคลนนิ่งคนเพื่อใช้คนโคลนนิ่งนั้นมาเป็นอะไหล่ให้คนอีกคน ปัญหานี้มีการตีความว่า "ตกลงคนโคลนนิ่งนั้นเป็นคนหรือเปล่า ?" ถ้าเป็น, การใช้คนเป็นอะไหล่ให้คนก็เป็นการฆ่าคนและผิดกฎหมายละสิ ! นายแพทย์และพยาบาลคนไหนอุตริสร้างคน (แท้) ขึ้นมาเพื่อนำอวัยวะไปให้แก่อีกคนก็ต้องโดนข้อหา "ฆ่าคนตายโดยเจตนา" หรือ "ค้าอวัยวะคน"

     ปัญหาเรื่องการโคลนนิ่งคนนี้ มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะกรรมวิธีที่ว่านี้มิได้เป็นไปโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นไปโดยวิทยาศาสตร์ ซึ่งความจริงแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่นับเนื่องกัน เช่น ข้าวหรือพืช GMO ซึ่งได้มาโดยการสกัดยีนส์เหมือนการโคลนนิ่งคน ก็ถูกคนต่อต้านว่า อันตราย จะนำมะเร็งหรือโรคร้ายมาให้ สัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ก็ได้รับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถเพิ่มผลการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคของคนซึ่งมีจำนวนมากขึ้น (ปัจจุบันประชากรทั้งโลกมีถึง 6,354 ล้านคน ถ้าปลูกข้าวกินอย่างสมัยก่อนก็คงอดตายกันเป็นเบือ) การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นอย่างยิ่งในหลาย ๆ ด้าน แม้แต่การรับมือกับโรคร้ายสารพัด ทั้งโรคเก่าโรคใหม่ โรคใหม่ ๆ เช่น เอดส์ ซาส์ ไข้หวัดนก เป็นต้น บางโรคก็เป็นโรคเก่า แต่กลับมาแพร่ขยายใหม่ หรือโรคเก่าที่กลายพันธุ์ไป สามารถติดจากคนไปสู่สัตว์ หรือจากสัตว์ไปสู่คน หรือจากคนสู่คน เป็นต้น

     กระบวนการการสร้างและเสริมชีวิตคนบนโลกให้ ๑.ปลอดภัยจากอันตรายทั้งภายในและภายนอก ๒.มีกินมีใช้ไม่อดตาย ๓.ไม่สร้างปัญหาทางสังคม คือการเบียดบังเอาผลประโยชน์มาใช้เฉพาะตนหรือกลุ่มของตน โดยให้กลุ่มอื่นๆ เสียเปรียบ อ่อนล้า อดจนตายไป และ ๔. การใช้คนมาเป็นเครื่องมือในการรักษาชีวิตคนในทางการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของผลประโยชน์อีกโสตหนึ่งด้วย

     ไอ้ความเกี่ยวเนื่องนี่แหละที่เป็นตัวต้องพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะว่ามันไปพัวพันกับหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างโบราณนั้น การค้าขายทาสถือว่าถูกกฎหมาย แต่ต่อมาก็มีการต่อสู้เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างคนผิวดำและผิวขาว แม้แต่ในประเทศไทยเอง คนผิวเดียวกันก็ถูกแบ่งชนชั้นเป็นนายเป็นบ่าว เพิ่งจะมาเลิกทาสเอาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็แค่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี่เอง

     ศาสนาและสิทธิเสรีภาพ เป็นหลักใหญ่ในการวินิจฉัยความถูกต้องเหมาะสมของพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งจะเป็นตัวนำไปสู่กระบวนการทางศาล นับตั้งแต่การออกกฎหมาย การตีความกฎหมาย และการวินิจฉัยอรรถคดี ซึ่งมีผลให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง "ผิด" หรือ "ถูก" ได้รับความคุ้มครองหรือเสียสิทธิ ซึ่งก็คือผลประโยชน์ อันอาจจะเป็น "ประโยชน์ส่วนตัว" หรือ "ประโยชน์ส่วนรวม" ก็สุดแต่ว่าเรื่องไหน ประเด็นอะไร

      ผู้เขียนเคยดูหนังเรื่องหนึ่งเร็ว ๆ นี่แหละ เป็นเรื่องนักการศาสนาเกิดมาเมื่อร้อยปีก่อน มีคน ๆ หนึ่งสร้างแมชชีนขึ้นมาได้ เป็นเครื่องย่นระยะเวลาเหมือนในหนังเจาะเวลาหาอดีตนั่นแหละ แต่นี่เป็นการเจาะเวลาหาอนาคต เครื่องนั้นส่งนักการศาสนาไปยังเมือง ลอส แองเจลิส ใน ค.ศ.นี้ คือว่าส่งไปดูงานล่วงหน้า 100 ปี

     ทีนี้ก็มีประเด็นคอนฟริ๊ก คือขัดแย้งกันหลายอย่าง ศาสนาจารย์ท่านนั้น ถือเอาคัมภีร์เก่าสมัยร้อยปีก่อน โผล่ขึ้นมาในซอกหนึ่งของมหานครแอลเอ เจอะกับความระยำตำบอนของวัยสะรุ่น ไปซื้อแม๊กโดนัลกิน พบเด็กหญิงสองคนคบคิดกันมิดีมิร้าย โรงเรียนเลิกแล้วก็ไม่ยอมกลับบ้าน แถมยังวางแผนหนีพ่อแม่ไปเที่ยวกันเสียงดังลั่นร้านอีก ศาสนาจารย์ท่านนั้น (ด้วยสปิริตของผู้รักคุณธรรมในสมัยโบราณ) จึงเข้าไปตักเตือนว่าไม่ดี กลับถูกตอกกลับว่า "เสือก ฉันเป็นสาวแล้วนะยะ Who are you ?"

     วันต่อมาเขาเข้าไปในโรงหนัง เจอบทเลิฟซีนและอาจจะมีเมคเลิฟตามสไตล์หนังฝรั่งด้วย ปรากฏว่าคนดูอินในบทกันทั่ว มีแต่ตัวของศาสนาจารย์เองที่เต้นเป็นเจ้าเข้า รีบผลุดลุกจากที่นั่ง ตะโกนโวยวายออกมาว่า "You must stop playing this movie right now" ปรากฏว่ามีแต่คนหัวเราะเยาะ

     ไปเยี่ยมเพื่อนใหม่ เจอเด็กชายคนหนึ่ง อายุไม่ถึงสิบปี นอนดูทีวี มีบทเลิฟซีนระหว่างวัยรุ่นฉายโจ๋งครึ่ม ศาสนาจารย์ท่านนั้นรีบเดินไปหาทีวี เอาตัวกั้นไว้ไม่ให้เด็กเห็น ด้วยเหตุผลว่า "เป็นหนังที่เด็กไม่สมควรดู" หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็คงไม่ควรดูเช่นกัน เพราะว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี เป็นปากเป็นเสียงกันอีก (สมัยนั้นคงยังไม่มีหนังแบ่งเกรดเป็น PG 13, X หรือ R For Adult or Baby)

     อีกวัน ศาสนาจารย์หลงยุคท่านนั้นได้รับเชิญให้ไปแนะนำตัวในห้องเรียนในไฮสคูลแห่งหนึ่ง แนะนำตัวได้พักหนึ่งพ่อก็ท่องคาถา "จีซัส ไครซ์" ให้เด็กนักเรียนฟังเป็นกัณฑ์เทศน์ใหญ่ คุณครูประจำห้องซึ่งเป็นผู้เชิญศาสนาจารย์ท่านนั้นมาต้องรีบเข้าห้ามปราม ด้วยเหตุผลว่า ที่นี่เป็นโรงเรียน มีกฎห้ามมิให้สอนเรื่องศาสนาในโรงเรียน "คุณกำลังทำให้ฉันตกงาน" หล่อนต่อว่าด้วยใบหน้าอันแดงก่ำ ศาสนาจารย์ท่านนั้นก็งงว่า "อะไรนะ ห้ามไม่ให้สอนศาสนาในโรงเรียนงั้นเหรอ แล้วพวกคุณสอนอะไร ถ้าไม่สอนศีลธรรม" เถียงกันไปก็ไม่รู้เรื่อง หล่อนอ้างรัฐธรรมนูญ แต่ศาสนาจารย์อ้างพระเจ้า เลยถูกคุณครูไล่ออกนอกโรงเรียนด้วยการปิดประตูใส่หน้าดังโครม !

     นั่นเป็นหนังเปรียบเทียบวิถีชีวิตของมนุษย์บนโลกในยุคต่างๆ ว่า แม้แต่ในประชุมชนเดียวกัน ถ้าหากว่าต่างยุคกันแล้วก็ย่อมจะมีความแตกต่างกันในสภาพของสังคม ถ้าเจอคนหลงยุคแบบนักศาสนานิยมท่านนั้นเข้าก็คงสวนทางกันจนสุดขั้ว

    ข่าวคราวไม่นานมานี้ มีภาพทางหนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่ง เป็นภาพของนักบวชในพระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่าพระธรรมทูตไทย ยืนถ่ายรูปกับสตรี (สาวหรือไม่สาวก็ไม่รู้) ชาวต่างประเทศ โดยสตรีท่านนั้นใช้มือโอบกอดพระรูปนั้นจากด้านหลัง ยิ้มแป้นโพสท่าอย่างสนิทสนมกัน ปรากฏว่าฮือฮากันไปทั่วเมืองไทย เรียกร้องให้จัดระเบียบพระธรรมทูตไทยใน USA เสียใหม่ เพราะว่าคนไทย "รับไม่ด้าย รับไม่ได้"

     เออนี่แค่ยุคเดียวกันแต่คนละประเทศคนละวัฒนธรรมเท่านั้นนะ พระรูปดังกล่าวต้องชี้แจงคอเป็นเอ็นว่าเป็น "ธรรมเนียมของชาวอเมริกันเขา" เมื่อพบกันนั้นเขาเช็คแฮนด์ ไม่ได้ยกมือไหว้เหมือนคนไทย เวลาจะถ่ายรูปอะไรเขาก็ทำอย่างที่เห็นนั่นแหละ ทั้งนี้เขาก็มีมารยาท คือขอโอกาสแล้ว ไม่ใช่ทะลึ่งตึงตังเข้าไปทำอนาจาร ที่สำคัญก็คือ เราไม่ได้มีเจตนาจะแต๊ะอั๋งเขาก็เท่านั้น ไม่เห็นเป็นไร เรื่องเล็กน้อย

     แต่คนไทยก็ยังใช้อัตตาว่ากันต่อไปว่า "เป็นพระก็น่าจะสำรวม รู้อยู่ว่าอะไรควรมิควร ถ้าเขาขอจับมือถือแขน เราจับไม่ได้ก็ต้องบอกเขาไปว่าจับไม่ได้ ไม่ใช่เอาเขาว่า อะไรๆ ก็ตามแบบอเมริกันไปหมด ไม่งั้นจะเป็นพระไปทำไม" ฟังดูก็มีเหตุผล แต่คนไทยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก็มองเห็นว่า "เป็นธรรมดา" แม้แต่พระสงฆ์ไทยที่นี่เองก็เฉยๆ หลายรูปอาจจะเคยเหมือนกับมหาณรงค์มาแล้วก็เป็นได้ (สำหรับผู้เขียนไม่ยืนยันนะ ฮ่า..) นี่แหละที่ท่านเรียกว่า Conflict of Cultures คือความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

    ข่าวล่ามาเร็วก็เร็ว ๆ นี้ (4 มี.ค.2547) รัฐสภาประเทศฝรั่งเศผ่านกฎหมายห้ามไม่ให้มีการแต่งกายด้วยเครื่องหมายทางศาสนาในศึกษาสถาน เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งคงจะมุ่งไปถึงสตรีชาวมุสลิมซึ่งนิยมในการโพกหัวในเวลาออกนอกบ้าน (สังเกตเห็นง่าย) แต่กฎหมายก็ครอบคลุมไปถึงรูปหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายทางศาสนา เช่น ไม้กางเขน พระเครื่อง เหรียญรูปเหมือน ปลัดขิก เป็นต้น ถ้าปกปิดมิดชิดไว้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าโชว์ให้คนเห็นก็เป็นเรื่อง

     ทีนี้มาถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือการที่ศาลในมลรัฐแมสสาจูเสตต์ ทางฝรั่งนอร์ธอีสต์ หรือภาคอีสานของสหรัฐอเมริกา ได้วินิจฉัยให้การแต่งงานระหว่างหญิงต่อหญิงและชายต่อชาย คือ พวกเกย์ เลสเบี้ยน ทอม ดี้ ตุ๊ด หรือกระเทย เป็นการถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ว่า

     ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

      ท่านผู้พิพากษาพิจารณาว่า การเขียนในกฎหมายสมรสไว้ว่า "การแต่งงานคือการร่วมชีวิตกันระหว่างชายกับหญิง" เป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ไม่ว่าชายต่อชาย หรือหญิงต่อหญิง เมื่อรักกันชอบกันแล้ว ก็ชอบธรรมที่จะอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถมีลูกได้เช่นเดียวกับคู่ชาย-หญิงก็ตาม แต่นั้นมิใช่ประเด็นในการพิจารณามาตราดังกล่าวมานี้ แล้วท่านก็ทุบโต๊ะแบบเปาบุ้นจิ้นว่า "ใครอยากจะแต่งก็แต่ง เรื่องความผิดความถูกนั้นพระเจ้าเท่านั้นที่รู้"

     นอกจากนั้น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยนายกเทศมนตรีมหานครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองที่สวยงามที่สุดในสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งเวสต์ ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองหลวงทางฝั่งตะวันตก (เปรียบเทียบกับนิวยอร์คเป็นเมืองหลวงทางฝั่งตะวันออก) ท่านได้ฟังศาลทางตะวันออกบอกให้เกย์และเลสเบี้ยนแต่งงานกันได้ดังนี้แล้ว ก็กุลีกุจอสั่งสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น ให้รีบทำการจดทะเบียนให้แก่ใครก็ได้ในสหรัฐอเมริกาที่จะมาขอขึ้นทะเบียนสมรส โดยได้เปลี่ยนข้อความในใบรับรองจาก "ฝ่ายชายชื่อ...ฝ่ายหญิงชื่อ..." มาเป็น "ผู้ยังมิได้สมรสชื่อ...และ ผู้ยังมิได้สมรสชื่อ..." แล้วก็เซ็นต์ชื่อแจกกันเกร่อ จนวันนี้ (15 มี.ค.04) มีชาวเกย์และเลสเบี้ยนจากรัฐต่าง ๆ  มาจดทะเบียนที่ซานฟรานผ่านไปแล้วถึง 4,000 กว่าคู่ ยังรอคิวอีก 2000 กว่าคู่ ยังดีที่ว่าผู้พิพากษาศาลสูงในรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งระงับไว้ ไม่งั้นคนจะแห่มามากกว่านี้  (คนอเมริกาสามารถจะแต่งงานในรัฐไหนก็ได้ ยิ่งที่เมือง Las Vegas ด้วยแล้ว มีการแต่งงานในระบบ Drive True คือขับรถเข้าเทียบที่หน้าต่างจดทะเบียนได้ ภายในไม่กี่นาทีก็เป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว ไม่ต้องแห่ขันหมากให้ยุ่งยากเหมือนเมืองไทยบ้านเรา เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องเสียค่าผ่านด่านอีกต่างหาก)

     ปัญหาที่ยกขึ้นมาพิจารณาเหล่านี้ มีผลกระทบกว้างไกลมาก เพราะว่าถ้า

1.แพทย์สามารถสร้างคนขึ้นมาเป็นอะไหล่สำหรับคนได้ ก็หมายความว่า ค่าของคนไม่เท่ากัน อาจจะถือว่า คนโคลนนิ่งมิใช่คน เพราะมิได้เกิดด้วยวิธีตามธรรมชาติ ถ้างั้นเด็กที่ทำกิฟ เด็กหลอดแก้ว พวกนี้ถือว่าเป็นคนด้วยหรือไม่ ถ้าไม่, ก็สามารถฆ่าเอามาประโยชน์ตามใจชอบ และแม้แต่จะซื้อขายเหมือนวัวควายก็ได้ใช่ไหม นี่ถามไปไกลแบบนักกฎหมายชอบตีวงเลย

2.การที่มีกฎหมายห้ามมิให้แสดงเครื่องหมายทางศาสนาในสถานศึกษา แล้วในธนบัตรของสหรัฐอเมริกาที่มีข้อความว่า "In God We Trust" นั้น จะต้องเปลี่ยนหรือเอาออกไปด้วยหรือเปล่า เพราะเครื่องหมายดังกล่าวเป็นของคริสต์ศาสนา ? และ

 3.การที่ชายต่อชายและหญิงต่อหญิง สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย แม้จะไม่ถูกศีลธรรมก็ตาม ต่อไปโลกนี้จะทำอย่างไร ในเมื่อไม่มีหญิงหรือชายอยู่ในโลกแล้ว เพราะในใบทะเบียนเขียนใหม่ว่า "ผู้ยังมิได้สมรสชื่อ.." ลบคำว่า "เจ้าบ่าว-เจ้าสาว" ทิ้งไป จะให้เป็น "เจ้าบ่าวชื่อ.. และเจ้าบ่าวชื่อ..." หรือ "เจ้าสาวชื่อ...และเจ้าสาวชื่อ...." ก็จะงงอีก เพราะจะให้มีแต่เจ้าบ่าวแต่งกับเจ้าบ่าว (เกย์ต่อเกย์) หรือเจ้าสาวแต่งกับเจ้าสาว (เลสเบี้ยนต่อเลสเบี้ยน) นั้นจะฟั่นเฝือเข้าไปใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ศาลอนุญาตให้ชายต่อชายและหญิงต่อหญิงแต่งงานกันได้ ก็หมายถึงให้ชายต่อชายและหญิงต่อหญิงร่วมเพศกันได้แล้ว (นี่ยังสงสัยว่าผู้พิพากษาเป็นเกย์ด้วยหรือเปล่า)

    นั่นแหละที่เราจะเห็นได้ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญที่ถูกยกขึ้นสูงส่งเป็นกฎหมายแม่บทประจำประเทศหนึ่ง ๆ นั้น มีอำนาจมากกว่าบทบัญญัติทางศาสนาเสียอีก เพราะการวินิจฉัยโดยศาลนั้นมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญว่า "มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" คือว่าเจ้าหน้าที่ทุกระดับในประเทศตั้งแต่ประธานาธิบดีไปจนถึงภารโรงต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ยอมก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย

      แต่ต้องอย่าลืมมาตราที่ 28 ข้อที่ว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

     วรรคสุดท้ายที่ขีดเส้นใต้ไว้นั่นแหละ ต้องนำมาประชาพิจารณ์ หรืออาจจะถึงขนาดต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า "การที่ศาลสูงสั่งการให้เป็นไปเช่นนั้น ผิดรัฐธรรมนูญมาตราที่ 28 หรือไม่" นี่สมมติว่าเป็นประเทศไทยนะ อย่าเข้าใจว่าผู้เขียนมั่วนิ่ม เอารัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยไปบรรยายเป็นรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา เพียงแต่นำมาเทียบเคียงเพื่อหาความเข้าใจร่วมกันเท่านั้น

     ปัญหาว่าด้วยตัวบทกฎหมายนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องดินแดนด้วย เช่น กฎหมายเมืองนี้ห้ามไว้ว่าทำอย่างนี้ "ผิด" แต่ไปอีกเมืองหนึ่งกลับเป็น "ไม่ผิด" ที่ว่าไม่ผิดนั้นเพราะว่าไม่มีกฎหมายระบุไว้ หรืออาจจะถึงกับระบุว่า "ไม่ผิด" คือเป็นถูกเลยก็ได้

     ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจว่า ในโลกนี้ทุกพื้นที่มีกฎหมายครอบคลุมหมด นอกจากจะออกนอกโลกไปแล้วเท่านั้นจึงจะทำอะไรไม่ผิดกฎหมาย แต่ความจริงแล้ว นอกจากเรื่องต่างรัฐต่างแดนกันนี่แล้ว ยังมีที่ทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมายเลย นั่นคือน่านน้ำสากล

     น่านน้ำสากลนั้น เป็นกลางทะเลหลวงหรือทะเลลึก เข้าไปในมหาสมุทรต่าง ๆ นับจากชายฝั่งประเทศต่าง ๆ ที่ 12 ไมล์ทะเล (1 ไมล์ทะเล เท่ากับ 1.8 กม. หรือ 1,800 เมตร) นี้เป็นคำจำกัดความตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ก็หมายถึงว่า กฎหมายประเทศใด ๆ ก็ตาม จะใช้บังคับได้ไกลสุดจากฝั่งทะเลออกไปแค่ 12 ไมล์ทะเลเท่านั้น นอกนั้นทำอะไรไม่ได้

     ที่ทำอะไรไม่ได้นี่มิได้หมายความว่า การกระทำผิดนอกอาณาเขตนั้นจะถูกนะท่าน หากแต่ไม่อยู่ในอำนาจจะดำเนินคดีได้ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่กฎหมายใช้บังคับถึง ดังเช่นการเล่นการพนัน หรือแม้แต่การขายน้ำมันเถื่อน เป็นต้น พวกนี้ทำในประเทศที่ห้ามก็ถูกตำรวจจับแน่ แต่ถ้าเอาเรือใหญ่ ๆ ไปแล่นไกล ๆ เกิน 12 ไมล์ทะเลแล้วก็สบาย แบบว่าเลี่ยงกฎหมายด้วยอาณาเขต แม้แต่เรื่องน่านฟ้าสากลก็คงจะมีกรรมวิธีคล้ายกัน หากแต่คงจะยากกว่าเรื่องเรือเยอะ เลยไม่ค่อยมีใครคิดทำผิดนอกน่านฟ้า

     นั่นเป็นปัญหาที่ทับซ้อนซ่อนเงื่อนกันอยู่หลายปมหลายระดับ ศีลธรรม กฎหมาย กฎหมู่ แดนแดน ศาสนา สิทธิและเสรีภาพ ฯลฯ ต้องถูกนำมาผสมผสานกันอย่างกลมกลืนในการออกกฎหมายแต่ละฉบับ เพื่อบังคับใช้กับคนในชาติโดยเท่าเทียมกันในนามว่า "Constitution" หรือ รัฐธรรมนูญ

     "ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ" เหมือนหลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้หรือไม่ แต่ในปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องศีลธรรมกันอีกต่อไปแล้ว คนส่วนใหญ่เขาอ้าง "Constitution" กันทั้งนั้น
 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
15
มีีนาคม 2547

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264