เมื่อมหาเถรสมาคมไอเดียกระฉูด
จะประชุมออกทีวี-ออกมหาเถรสัญจร
 

 

   "ที่ประชุมยังมีมติให้มีการถ่ายทอดสดการประชุม มส. ผ่านทางโทรทัศน์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 และวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ มส. ในเดือนเมษายนนี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นวันไหน จากนั้นจะจัดประชุม มส.นอกสถานที่ด้วย"

      เป็นคำสัมภาษณ์ของ พลตำรวจโท อุดม เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. รายงานผ่านหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวานนี้ แม้จะเป็นปลายข่าว แต่ก็สร้างความตื่นเต้นตกใจให้กับผู้เขียนเป็นอันมาก ถึงขนาดว่า ถ้าไม่เขียนก็คงไม่หายคันหัวใจ

      นับว่าเป็นมิติใหม่อย่างแท้จริงในวงการพระสงฆ์ไทย แต่ไหนแต่ไรมานั้นมีแต่คนเย้ยหยันว่า "พระไทยล้าหลัง ไม่ทันบ้านทันเมือง" ขนาดว่า ถ้าใครพูดถึงเรื่องธรรมะธัมโมแล้ว ก็จะถูกมองว่าเป็นคนหัวโบราณไปทันที และเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยก็จับตาเฝ้าดูว่า "คณะใหม่จะมีอะไรให้เซอร์ไพรซ์กับตำแหน่งใหม่ ๆ กันบ้าง" แล้วก็ไม่ผิดหวัง เมื่อได้ฟังคำสัมภาษณ์ของท่าน ผอ.พศ. เมื่อวานนี้

       ระยะหลัง ๆ มานี้ หลังจากมีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้ว เราท่านจะได้รับฟังข่าวสารที่ออกมาจากสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมซึ่งก็คือ พ.ศ.กันอย่างต่อเนื่อง เรื่องอะไร ๆ พล.ต.ท. อุดม ก็จะรายงานสดเหมือนซีเอ็นเอ็นเป็นซีอีโออย่างแท้จริง

     ตะทีนี้ว่า เราควรจะมาวิเคราะห์เจาะลึกถึงที่มาที่ไปของไอเดียประชุมออกทีวีและออกประชุมนอกสถานที่ (คือนอกตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ ซึ่งเคยใช้เป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคมมานาน) กันอย่างกว้างขวาง จะได้สมกับเป็นแฟนานุแฟนของ อะลิตเติ้ล บุ๊ดด่ะ ดอทคอม อย่างเต็มภาคภูมิ

      วัตถุประสงค์ของการพิจารณาในแบบที่เรียกว่า วิเคราะห์และวิจารณ์ ก็คือว่า การจะกระทำเช่นนั้นเหมาะสม สมควร หรือควรหรือไม่ และถ้าทำไปแล้ว ประชาชนคนไทยหรือพูดให้แคบลงก็คือว่า พุทธศาสนิกชนคนไทยจะได้อะไร พระสงฆ์องค์เณรจะได้รับผลดี-ผลเสียอย่างไร หรือแม้แต่กรรมการมหาเถรสมาคมเองจะได้รับผลของงานนี้อย่างไร

     ก่อนอื่นเราต้องย้อนมองถึงสถานภาพทางตำแหน่งของกรรมการมหาเถรสมาคมกันเสียก่อน มหาเถรสมาคมนั้น เป็นเหมือนรัฐบาลคณะสงฆ์ ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงใหม่ (นิดหน่อย) ในปี พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากจะให้อำนาจแก่สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์แล้ว ก็ยังให้มีมหาเถรสมาคมขึ้นมาเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ หรืออาจจะเรียกว่า "รัฐบาลคณะสงฆ์" ก็คงได้

      องค์ประกอบของมหาเถรสมาคมนั้นก็คือ ให้สมเด็จพระราชาคณะทั้งสองฝ่ายสองนิกาย คือ มหานิกาย 4 รูป ธรรมยุต 4 รูป รวมเป็น 8 รูป นับทั้งสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งอีก 1 พระองค์ ก็เป็น 9 รูป แต่ก็เกรงว่าแค่ 9 รูป จะน้อยไป จึงกำหนดให้มีกรรมการโดยแต่งตั้งมาจากคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายนั้นอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เกิน 12 รูป เข้ามาเป็นองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมด้วย

     ตรงนี้มีความลักลั่นกันกับสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยนิดหนึ่ง คือว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น หมวดที่ 1 มาตราที่ 3 ระบุว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" ก็หมายถึงว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เพียงแต่ว่าที่มาของแต่ละตำแหน่งออกจะแตกต่างกันเท่านั้น นั่นคือการใช้พระราชอำนาจผ่านองค์กรทั้งสาม ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อให้คานอำนาจกันเหมือนก้อนเส้าด้วย

     หากแต่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชนี้ แม้จะมีบทบัญญัติว่า "สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก" ซึ่งก็น่าจะเทียบเท่ากับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในทางบ้านเมือง หากแต่เมื่อไปดูในเรื่อง "อำนาจ" แล้ว ก็จะพบว่า "แตกต่างกันไกล"

      คือในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้นระบุว่า "สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม" แปลให้ชัด ๆ ก็คือว่า สมเด็จพระสังฆราชนั้นต้องอยู่ภายใต้ กฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

     กฎหมายและพระธรรมวินัยนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าสูงส่ง แต่กฎมหาเถรสมาคมนี่สิ เป็นอะไร ? เราก็ต้องตามไปดู

     ทีนี้ว่า เมื่อมีสมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์แล้ว คนทั่วไป (แม้กระทั่งหลวงตาบัวและนายทองก้อน) ก็เข้าใจว่า "สมเด็จพระสังฆราชทรงสูงส่งอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ใครจะอาจเอื้อมแตะต้องมิได้ เหมือนพระมหากษัตริย์ไทย" แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่

     ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ดังกล่าว เมื่อให้อำนาจสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็ยังมีการปรามไปในตัว เท่านั้นไม่พอ ยังบังคับให้สมเด็จพระสังฆราชต้องดำรงตำแหน่ง "ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง" อีกด้วย

      โดยคำว่า "มหาเถรสมาคม" นั้นก็อย่างที่บอกแล้วว่า เป็นองค์กรที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้มีขึ้น เพื่อเป็นรัฐบาลปกครองคณะสงฆ์ไทย แต่รัฐบาลคณะสงฆ์ไทยนี้แปลกประหลาดที่สุดในโลก คือว่า เป็นทั้งคณะรัฐมนตรี เป็นทั้งรัฐสภา และเป็นทั้งศาลฎีกา มีอำนาจครอบจักรวาล ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ทำงานทุกประเภท ตั้งแต่บริหารกิจการคณะสงฆ์ ออกกฎหมาย และพิจารณาคดีความที่เกิดขึ้น พิจารณาความดีความชอบของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไล่ไปจนถึงเรื่องจิปาถะเหมือนพระอิศวร และแม้กระทั่ง "เปลี่ยนชื่อวัด"

      ซึ่งเราจะเห็นว่ามหาเถรสมาคมนั้นมีอำนาจล้นฟ้า เพราะนอกจากจะมีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว ยังมีอำนาจเหนือกว่า "สมเด็จพระสังฆราช" อีกด้วย โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราชจะทรงทำอะไรผิดไปจากกฎมหาเถรสมาคม "ไม่ได้" หากแต่มหาเถรสมาคมจะทำอะไรที่นอกเหนือไปจากพระอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชนั้น "ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าได้หรือไม่ได้" แต่ตามการตีความแล้ว เมื่อไม่ได้บอกว่า "ไม่ได้" ก็ย่อมหมายถึงว่า "ได้" เข้าใจนะ

     นั่นคือสถานะของสมเด็จพระสังฆราชที่แท้จริง ที่เป็นสาเหตุให้ผิดพ้องหมองใจกันอยู่ระหว่างกลุ่มหลวงตาบัวและนายวิษณุ เครืองาม ก็เป็นเรื่องนี้แหละ คือหลวงตาบัวเข้าใจว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นเหมือนพระเจ้าอยู่หัว ใครจะเอื้อมอาจแตะต้องมิได้ แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมายที่นายวิษณุช่ำชองแล้ว มีความหมายว่า "สมเด็จพระสังฆราชมิได้ยิ่งใหญ่อะไรไปกว่าตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเท่านั้น" ดังนั้น เมื่อมหาเถรสมาคมมีมติให้ "พักงานสมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว" นายวิษณุจึง "เชื่อมหาเถรสมาคม" มากกว่าจะเชิดชูสมเด็จพระสังฆราชในฐานะองค์สังฆบิดร

     สถานะของสมเด็จพระสังฆราชไทยกับพระมหากษัตริย์ไทยจึงต่างกันตรงนี้ ตรงที่กฎหมายระบุไว้ อย่าไปเข้าใจแบบหลวงตาบัวหลับตานึกภาพเอาเอง ในขณะเดียวกัน ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทยก็ยัง "ยิ่งใหญ่" และอาจจะใหญ่กว่าตำแหน่งพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะว่าเขามิได้แขวนพระองค์ไว้ให้เป็นตราประทับแบบรัชกาลที่ 7 เคยตรัสยอมรับว่าเป็น "เจว็ด" เฉย ๆ 

     คือพระมหากษัตริย์ไทยเรานั้น ทรงถูกยกให้ "อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง" ไม่ว่าจะดีหรือร้าย รัฐธรรมนูญจึงระบุว่า "ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" แต่กับสมเด็จพระสังฆราชนี้ นอกจากจะมีฐานะเป็นสังฆบิดรแล้ว ก็ยังให้ดำรงตำแหน่ง "ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม" คือเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา รวบอีก 3 ตำแหน่งด้วย ทีนี้เมื่อให้เป็นมากมายก่ายกองแบบรับทรัพย์ประจำตำแหน่งจนย่ามบานเช่นนี้แล้ว เขาก็เกรงว่าจะทรง "เหลิงอำนาจ" จึงสร้างมาตรา "คานอำนาจไว้" ให้พระองค์ต้องไม่กระทำการอันใดนอกเหนือไปจากกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

      ซึ่งผู้เขียนก็ว่า "แฟร์ดี" ทั้งนี้เพราะทรงเป็นนายกรัฐมนตี ประธานรัฐสภาและประธานศาลฎีกาอยู่แล้ว จะทำอะไรก็ใช้อำนาจทั้งสามนั้นโดยตรงสิ ส่วนพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาหรือว่าประธานศาลฎีกาเลย

      ความจริงแล้ว ปัญหาเรื่อง "สมเด็จพระสังฆราช" นั้น ก็มาจากหลวงตาบัวเอง คือว่า เมื่อคณะทำงานของมหาเถรสมาคมเห็นว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเหนื่อยเกินไปกับพระภารกิจ เห็นควรจะยก "ขึ้นหิ้ง" เหมือนองค์พระมหากษัตริย์ ที่ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ผ่านอำนาจทั้งสาม คือจะมีมหาเถรสมาคมเป็นรัฐสภาออกกฎหมาย จะมีมหาคณิสรเป็นรัฐบาลบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้งปวง และจะมีคณะพระวินัยธรเป็นศาลสถิตยุติธรรมทางคณะสงฆ์ เหมือนศาลอาญาทางโลก แล้วยกสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นแต่สกลมหาสังฆปริณายก อยู่เหนือความดีและความร้ายทั้งปวง

      ตรงนี้ถูกหลังตาบัวออกมาคัดค้านว่า "ริดรอนพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช" แต่ความจริงแล้ว เป็นเพียงกลลวงของหลวงตาบัว เพราะหัวใจหลักของการเคลื่อนไหวในครั้งแรกนั้นอยู่ที่ "มหาคณิสร" คือว่า หลวงตาบัวกลัวว่าจะเป็นการยึดอำนาจสมเด็จพระสังฆราช จึงประกาศไม่เอากับร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นั้น จนปัจจุบันก็ยังเป็นหมันอยู่ในท้องของกฤษฎีกา

     แต่พอมาถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หลวงตาบัวก็โวยวายอีก บอกว่า "เป็นการปล้นอำนาจสมเด็จพระสังฆราชไปจากพระองค์" เออ แปลกนะ ทีแรกเขาจะยกให้สมเด็จพระสังฆราช "สูงส่ง" เป็นองค์พระประมุขของชาติ หลวงตาบัวก็ไม่เอา (อยากให้สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์เหมือนเก่า คืออยากให้พระสังฆราชเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา ควบเลยที่เดียว 4 ตำแหน่ง เหมือนพระอิศวร) แต่พอรัฐบาลใช้อำนาจปลด เพราะเห็นว่าพระสังฆราชทรงออกพระบัญชามาอย่างไม่รู้ที่ไปที่มา (ผิดพลาดในการบริหารในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) หลวงตาบัวก็ออกมาชนอีก หาว่ารัฐบาลอาจเอื้อมเล่นกับของสูง นั่นคือสถานะของสมเด็จพระสังฆราชซึ่งมีทั้งสูงและต่ำในบุคคลเดียวกัน อันนักกฎหมายพึงศึกษาเปรียบเทียบไว้

     ต่อไปก็จะมาถึงเรื่องผลได้-ผลเสีย ของไอเดียจะออกประชุมนอกสถานที่และออกทีวีของมหาเถรสมาคมนี้

     เท่าที่ทราบ กรรมการมหาเถรสมาคมส่วนใหญ่นั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีอายุอานามระดับ 70 ปีขึ้นไป การจะให้เดินเหินคล่องไปไหนมาไหนสบาย ๆ นั้นขอบอกว่า "ยากส์" สุขภาพร่างกายของกรรมการมหาเถรสมาคมจึงสมควรจะนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นเบื้องแรก

      เมื่ออายุมากถึง 70-80 ปี เช่นนี้แล้ว เราก็จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ต้องฉันยาเป็นประจำ ไปไหนมาไหนก็ต้องระมัดระวัง เกิดหน้ามืดวิงเวียนศีรษะจะลำบาก ยาหม่องขาว ยาหม่องแดง ยาผงแดงตราหมาป่าหรือยาหอมตราห้าเจดีย์ เป็นต้น ต้องมีติดย่ามเข้าไว้ เกิดหน้ามืดขึ้นมาก็จะได้ใช้ทันท่วงที แถมยังมีปัญหาเรื่องอาหารการกินอีก อย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ทราบว่าท่านยังต้องมีพระหมอประจำตัว คอยเช็คครอเลสโตรอล ความดันโลหิต ฯลฯ ทุกวัน

     เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถามว่า กรรมการมหาเถรสมาคมจะไปประชุมไกล ๆ ไหวหรือ ? เพราะถ้าจะไปก็ต้อง

1.จัดเตรียมสถานที่ให้พระเถระพัก ซึ่งจะเป็นภาระหนักอันหนึ่งสำหรับเจ้าของสถานที่ จะให้ไปพักโรงแรมคนก็จะตำหนิเอาได้

2.อาหารการกินก็ต้องจัดเมนูให้ตรงกับสภาพร่างกายของแต่ละองค์ จะทำแกงโฮะถวายแบบอาหารจานเดียวนั้น เกิดฉันแล้วช็อคแบบสมเด็จวัดปากน้ำเคยมีปัญหาที่ลำพูนเมื่อหลายปีก่อน แล้วจะทำอย่างไร จะให้จัดงานพระราชทางเพลิงศพสืบต่อจากประชุม ครม.คณะสงฆ์สัญจรอย่างนั้นหรือ

     นึกภาพดู ประชุมมหาเถรสมาคม แต่ระดมตั้งแต่ภารโรง คนทำอาหาร ยันแพทย์พยาบาล หมอใหญ่หมอเล็ก และรถเอ็มเมอร์เจนซี่เข้าร่วมรับมือด้วย แหมมันคงยิ่งใหญ่พิลึกล่ะผู้เขียนว่า ถ้ามีม็อบหลวงตาบัวมาร่วมประท้วงอีกก็คงเฮฮาน่าดู และโดยเฉพาะสมเด็จพระพุฒาจารย์น่ะจะต้องมี รปภ.ไปเคลียร์พื้นที่ซักหนึ่งกองร้อยด้วยหรือเปล่า เพราะท่านปูดข่าวว่า "มีคนปองร้ายหลายครั้ง" หลัง ๆ มานี้ไปไหนมาไหนยังต้องปิดข่าวหรือเปลี่ยนเส้นทางเป็นประจำ น่าจะถ่ายทอดสดเบื้องหลังการประชุมด้วยนะ จะได้เต็มโชว์ ฮ่า...

      นั่นว่าถึงความพร้อมเท่านั้น ที่สำคัญก็คือว่า "ไปแล้วได้อะไร" นี่เป็นหัวใจที่ต้องถามถึง เพราะถ้าไปแล้ว "คุ้ม" หรือ "ได้อะไรมากมายแบบที่ไม่เคยได้มาก่อน" อย่างนี้ผู้เขียนว่าก็น่าจะไป แต่ถ้าไปแล้วก็งั้นๆ แบบว่านัดหมายกันกินข้าว เล่าเรื่องไร้สาระ เอาแต่งานรูทีนขึ้นมาพากษ์ เช่น เปลี่ยนชื่อวัด ตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาคอันเป็นตำแหน่งเทกระโถน เหมือนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เปรียบเทียบไว้ จึงขอถามว่า "แล้วจะไปทำไมให้เสียเวลาเล่าครับ พระเดชพระคุณ"

     ก็ตะทีเขาจัดงานวันมาฆบูชาที่พุทธมณฑล ต้องการให้พระสงฆ์เถระไปร่วมทำกิจกรรมระดับชาติ ทำไมไม่ไปกันเล่าครับ ที่ภาคใต้นั้นพระสงฆ์สามเณรถูกฆ่าฟันตายไปเท่าไหร่ ทำไมไม่เห็นกรรมการมหาเถรสมาคมยกทีมกันไปเยี่ยม แล้วนี่ออกมติมาว่าจะไปประชุมกันนอกสถานที่ มันมีประโยชน์อะไร จะสร้างกระแสกันอย่างนั้นหรือ หรือว่าอยากไปเล่นละครให้คนดู เอาละถ้าว่าไหว ก็ขอมิมนต์มาประชุมที่ วัดไทย ลาสเวกัส เป็นแห่งแรกเลยครับ จะรับรองทุกอย่าง

     และเรื่องประชุมออกทีวีก็เช่นกัน ถามว่ามันจำเป็นอะไรต้องไปโชว์ให้เข้าเห็น ว่ามีสมเด็จพระราชาคณะกี่รูปถูก "หิ้วปีก" เข้าร่วมประชุม หรือต้องใช้กล้องส่องทางไกลช่วยขยายตัวหนังสือหรือใช้เครื่องช่วยฟังเพราะได้ยินไม่ถนัด ฯลฯ มันเป็นภาพที่น่าดูอย่างนั้นหรือครับ มันไม่เหมือนนายกทักษิณเล่นไทวไลฟ์โชว์นาจะบอกให้

      เอาแค่ง่าย ๆ วันนี้ถ้ามหาเถรสมาคมฟิตจัดจริง ๆ ก็ลองกระจายอำนาจในการพิจารณางานต่าง ๆ ลงสู่ระดับล่าง เช่น พระสงฆ์องค์เณรจะไปต่างประเทศนั้น ก็ให้ตั้งสำนักงานศาสนวิเทศขึ้นมารองรับ แล้วก็ให้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติสำเร็จเสร็จสิ้นไปในตัว ไม่ต้องเอางานกระจอก ๆ พวกนี้เข้าประชุม ครม. ให้วุ่นวาย แล้วอย่างงาน เปลี่ยนชื่อวัดเอย พิจารณาปัญหาพระเครื่องเอย ฯลฯ พวกนี้มิใช่เรื่องสำคัญที่มหาเถรสมาคมต้องลงมาเล่นเสียทุกลูก ถ้าทำถูกและรู้บทบาทรวมทั้งความเหมาะสมของตนเองแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปกินไก่โชว์ เอ๊ย ออกทีวีโชว์หรอกครับ รับรองว่าศรัทธาจะล้นเหลือแน่นอน

      สุดท้ายจึงขอถามว่า "ไอเดียนี้เป็นของใคร" สงสัยจะของ ผอ.พศ. หรือไม่ก็คงเป็นนายวิษณุ เครืองาม ละกระมัง สงสัยอยากให้พระที่ตัวเองแต่งตั้งนั้นมีผลงานประชานิยมแบบนายกรัฐมนตรี ซึ่งขอชี้ว่า "ไม่เข้าท่า" แน่นอน

      ดังนั้น ก่อนจะทำอะไรขอได้โปรดคิดให้รอบคอบสักนิด อย่าเอากิจการพระศาสนาไปทำยำเล่น ตำแหน่งการปกครองทางคณะสงฆ์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะต้องรักษาศรัทธาของสาธุชน อย่าขนเอาไอเดียประชานิยมอะไรในทางโลกไปปะปนให้มากนัก เพราะนี่มิใช่สภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องซื้อหรือหาเสียง ส่วนพระเถระนั้นเราไม่ขอวิจารณ์ ก็เหมือนพระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต ป.ธ.๙) เคยกล่าวไว้นั่นแหละว่า "พระเถระบางทีท่านก็ไม่ได้รู้อะไรมากมาย ใครว่าอย่างไรท่านก็อือออห่อหมกตามไปงั้น ๆ บางทีท่านเสียอีกยังต้องถามหรือขอความคิดเห็นจากเด็ก ๆ เช่นพวกเราเลย"

จริงหรือไม่ ? พลตำรวจโท อุดม เจริญ ขอให้นำกลับไปทบทวนด่วน !

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
11
มีีนาคม 2547

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264