วิกฤติภาษาบาลีมีทางออกหรือไม่ ? |
ได้อ่านข่าววิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 24 คือเมื่อวานนี้ เรื่อง "วิกฤติภาษาบาลี" โดยทีมข่าวศาสนาแล้ว ผู้เขียนก็ตกใจ นึกไม่ถึงว่า สิ่งที่เราเคยคุยกันในวงกาแฟเล็ก ๆ เมื่อหลายปีก่อนนี้ บัดนี้ดังไปถึงหูรู้ไปถึงสื่อมวลชนเช่นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อันดับที่ 1 ของประเทศไทยเราแล้ว ข่าวเมื่อวานจึงเป็นเหมือนการจุดพลุในใจผู้เขียน ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการภาษาบาลีมาชั่วชีวิต ทั้งเรียนทั้งสอน และที่ยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์มีศรีในโลกนี้กับเขาคนหนึ่งนั้น ขอยืนยันว่า "เพราะภาษาบาลี" เพียงอย่างเดียว ดังนั้น วันนี้จึงขอนำเอาปัญหาภาษาบาลีมาประมวลทั้งคำถามและคำตอบตามแนวทางหรือแนวความคิดของผู้เขียน (ย้ำ ! ของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้ลอกเลียนแบบใครหรืออยากให้ใครลอกเลียน) ซึ่งได้เกาะติดปัญหานี้มานานปี บาลีเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ นักเลงบาลีเขาแปลกันอย่างนี้ คนที่ไม่เคยเรียนบาลีก็คงงงว่ารักษาพระพุทธพจน์ได้อย่างไร ? ก็ขอเฉลยว่า ที่ว่ารักษาก็คือ เป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสอนและพระวินัยหรือกฎหมายของคณะสงฆ์ซึ่งชาวพุทธไทยสายเถรวาท เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นต้น เชื่อว่า ภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้แสดงธรรมนั้นคือภาษาบาลีๆ จึงเป็นภาษาของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นนิกายในฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงทำการอนุรักษ์พระไตรปิฎกซึ่งเป็นหนังสือประมวลพระพุทธศาสนาเอาไว้ในรูปแบบของภาษาบาลี เราไม่ทำเหมือนทิเบต จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่พอพระพุทธศาสนาพ้นจากอินเดียเข้าสู่ประเทศเหล่านั้นแล้ว นักปราชญ์ราชบัณฑิตในประเทศนั้นก็ตกลงใจปริวัตรหรือแปลไปเป็นภาษาของตนเองหมด นิกายฝ่ายนี้เราเรียกว่า มหายาน แต่ความจริงแล้วการรักษานั้นจะให้หยุดอยู่เพียงตัวหนังสือ คือว่าทำเป็นรูปหนังสือแล้วยัดใสตู้พระไตรปิฎกเอาไว้ โดยไม่ยอมนำมาอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้และปฏิบัติตาม ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่การอนุรักษ์ ดังนั้น คำว่าอนุรักษ์ก็คือ การศึกษาภาษาบาลีให้รู้หรือเข้าใจในความหมาย ทั้งในรูปของไวยากรณ์คือหลักภาษาและอรรถสาระแห่งข้อความที่บรรจุอยู่ในภาษานั้นอีกทีหนึ่ง สองชั้นนะ นั่นแหละคือภาษาบาลี มีเรื่องเล่าอีกเยอะแยะ แต่ว่าวันนี้มีเวลาน้อย จะขอเข้าเรื่องของ "ความเสื่อมโทรมทางการศึกษาภาษาบาลี" กันเลย มีคำถามหลายข้อ ถามว่า ภาษาบาลีที่มีปัญหานั้นเพราะว่า 1.เป็นภาษาตาย ไม่มีใครใช้เรียนเขียนอ่านหรือพูดกันเหมือนภาษาปัจจุบัน 2.เรียนไปไม่ได้อะไร ท่องหนังสือแทบเป็นแทบตาย เรียนจบประโยคเก้า ทางรัฐบาลให้การรับรองเป็นแค่ปริญญาตรีสาขาภาษาศาสตร์ อย่างอื่นก็ทำไม่เป็น ถ้าเก่งอย่างมากสึกไปก็แค่ไปเกาะรุ่นพี่ที่อยู่ในกองอนุศาสนาจารย์ทหารเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นคนหลงโลก พูดไม่เข้าหูคน ฯลฯ ? นั่นคือคำบ่นของคนเรียนภาษาบาลี ซึ่งทีจะให้เรียนนั้น ครูบาอาจารย์ก็กล่าวขานกันใหญ่โตว่า เรียนแล้วจะได้เป็นมหา มันเท่ห์สุดๆ เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล แต่เมื่อเรียนจบแล้ว ถ้าคิดจะสึก จะเอาใบประกาศเปรียญธรรมไปทำอะไร ก็ไม่มีใครตอบได้ สุดท้ายพวกมหาก็เลยกลายเป็นบุคคลที่ไร้สมรรถภาพในทางโลก อยู่ในวัดก็พูดอวดคุณสมบัติพอๆ กับพระอัครสาวก แต่พอสึกออกไปได้เมียน่ะหรือ อะไรๆ ก็ต้องให้เมียสอน นี่เป็นเรื่องจริง ปัญหานี้มิใช่เกิดเฉพาะกับภาษาบาลีเท่านั้น กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็เหมือนกันด้วย คือสมัยก่อนนั้น คณะสงฆ์จัดการการศึกษากันเอง ใครไม่ต้องมายุ่ง อาตมาเก่งที่สุดในโลก เหมือนสมเด็จพระสังฆราชปลดวัดเบญฯ พูดปรามาสพระพิมลธรรมวัดมหาธาตุฯ แต่ครั้นคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก (เพราะมีสอนถึงพระอภิธรรมซึ่งคนฟังไม่เข้าใจ ต้องนางมายาเทพธิดาพระพุทธมารดาเท่านั้นจึงจะฟังออก และพระที่เรียนจบมาต้องเก่งไม่ด้อยกว่าเทวดาเป็นแน่) นำเอาใบประกาศมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ไปยื่นให้เถ้าแก่ดู กลับถูกถามว่า ใบประกาศที่ไหนเนี่ย อั๊วไม่เคยเห็ง ลื้อทำเองหรือเป่า ? พอพระ เอ๊ย ทิดชี้แจงว่า มหาจุฬาฯ มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ที่วัดมหาธาตุและวัดบวรไง วัดหลังนี้เป็นวัดสังฆราชด้วย ดังนี้ เถ้าแก่ก็ปัดลงโต๊ะว่า "อั๊วไม่รู้จัก" นั่นคือว่า คณะสงฆ์ก้มหน้าก้มตาทำการเรียนการสอนไปตามแบบฉบับของตนเอง ซึ่งวิธีการนี้เคยได้รับการยกย่องว่าทันสมัยเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา และพระสงฆ์ไทยที่มีสันดานอวดดื้อถือดีอยู่ในตัว แบบถ้าเลือดหัวไม่ออกก็ไม่รู้สึกนั้น ก็ยังคงเชื่อและมั่นใจว่า "วิถีทางนี้เท่านั้นที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ นอกนั้นไม่มีทาง" ปัญหาเรื่องศักดิ์และสิทธิ์ในใบปริญญา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทื้งสองแห่ง ได้รับการแก้ไขผ่านไปแล้ว โดยทาง กพ.ได้ขอเข้าร่วมแก้หลักสูตรให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั่วไป ทั้งยังบังคับอีกหลายอย่าง ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้อง "ยอม" เพราะไม่งั้นทั้งศิษย์เก่าศิษย์ใหม่ก็จะไร้อนาคต ซึ่งผู้เขียนเคยประณามไว้ว่า "นี่คือผลงานอัปยศของพวกด๊อกเตอร์จากอินเดียทั้งหลาย" ทำให้พณฯ ท่านด๊อกเตอร์ที่มีส่วนได้ส่วนเสียควันออกหูกันหลายท่านเลยเชียวล่ะ เพราะดันไปด่าด้วยเรื่องจริงเข้า ตะทีนี้มาถึงเรื่องบาลี กลับปรากฏว่า "ไม่มีการดิ้นรนอะไรเลย" ทางมหาเถรสมาคมและแม่กองบาลีสนามหลวง (คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ) ต่างก็ยังมั่นใจว่า "ภาษาบาลียังไปได้ดี" ทั้งๆ ที่จำนวนพระภิกษุสามเณรที่ศึกษานั้สาละวันเตี้ยลงไปอย่างฮวบฮาบทุกปี ทั้งนี้เพราะมีปัญหาทั้งภายในและภายนอก ปัญหาภายใน ปัญหานี้มีแน่นอน ซึ่งก็คือ ความไร้วิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งก็คือมหาเถรสมาคม ซึ่งมอบหมายให้แม่กองบาลีเป็นผู้รับผิดชอบอีกทีหนึ่ง และแม่กองบาลีก็มอบให้เลขาและรองเลขา และฯลฯ เป็นผู้รับผิดชอบลดลงไปตามลำดับ ก็อย่างที่บอกว่า ภาษาบาลีนั้นเป็นภาษาที่ตาย เอามาสื่อสารกับคนเป็นไม่ได้ ถ้าจะสื่อได้ก็เฉพาะกับผีเท่านั้น ดังนั้น เพื่อจะให้พระไทยเอาภาษาที่ตายสื่อกับคนเป็นๆ รู้เรื่อง จึงมีการเสนอให้เพิ่มหลักสูตรภาษาบาลี เช่น เพิ่มวิชาภาษาอังกฤษ (ซึ่งเคยถูกคณะสงฆ์ไทยประณามว่าเป็นภาษาเดียรถีย์ เพราะพระคริสต์เขาพูดภาษาอังกฤษ) คณิตศาสตร์ วาทศิลป์ ครุศาสตร์การสอน เป็นต้น แล้วนับเวลาจากเรียนไวยากรณ์ภาษาไปจนจบนั้นเท่ากับ 10 ปี ซึ่งเทียบจากมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 และอุดมศึกษาหรือปริญญาตรีอีก 4 ปี จบมาก็จะได้ทั้งภาษาเป็นและภาษาตาย ทำให้พระภิกษุสามเณรสามารถรู้ทั้งโลกนี้และโลกหน้าได้ เคยมีคนนำเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาพระมหาเถระที่เคยสอนบาลีประโยคสูงๆ ที่วัดสามพระยารูปหนึ่ง ท่านตอบสะบัดว่า "กะแค่แต่งฉันท์แต่งไทย พวกท่านก็หัวปั่นสอบตกกันแล้ว เอาแค่นี้ให้มันรอดก่อนเถิด" ความฝันอันบรรเจิดที่จะเห็นภาษาบาลีมีรูปแบบการเรียนและการวัดผลที่ชัดเจนและแน่นอนก็เป็นอันสลายไปกับสายลม ด้านภายนอกคือสิ่งแวดล้อมนั้น ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ต่างก็มีนโยบายเปิดกว้าง รับคนเข้าเรียนไม่จำกัดเพศวัย ทำให้พระภิกษุสามเณรถือเป็นโอกาสทองจะได้เป็นลูกศิษย์ในสำนักเหล่านั้นบ้าง ปัจจุบันทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหิดล ศิลปากร สถาบันราชภัฏ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ มีพระภิกษุสามเณรเรียนอยู่กระจัดกระจาย ใบประกาศของมหาวิทยาลัยทางโลกนั้นน่าทึ่งจริงๆ ที่ว่า เมื่อจบมาแล้วเอาไปใช้สมัครงานได้ แต่ของคณะสงฆ์อาจจะได้ แต่ก็ยากกว่า จึงทำให้พระสงฆ์องค์เณรไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์และไม่อยากเรียนบาลี เพราะเขาเห็นว่าไม่มีประโยชน์ นี่เป็นเรื่องจริง ถามว่า เคยมีการแก้ไขปัญหานี้จากแม่กองบาลีสนามหลวงบ้างไหม ? ตอบว่า ก็พอมีร่องรอยอยู่บ้าง เช่น การลดข้อสอบที่ยากให้ง่ายลง สมัยก่อนนั้น นักเรียนประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 ต้องแปลหนังสือพระธรรมบทภาษาบาลีทั้ง 8 ภาคให้จบ การวัดผลก็จะใช้ข้อสอบทั้งท้องเรื่อง (คือที่เป็นประโยคบอกเล่าแบบร้อยแก้ว เขียนดำเนินความเรื่อยไป) ทั้งคาถาและแก้อรรถ (คาถาก็คือร้อยกรอง เป็นฉันทลักษณ์ เช่น ปัฐยาวัตร อินทรวิเชียร อุเปนทรวิเชียร เป็นต้น แก้อรรถก็คือ การวิเคราะห์ไขความหมายของศัพท์แสงที่ยากๆ ในคาถาหนึ่งๆ ซึ่งมีรูปแบบของการแปลที่สลับซับซ้อน มีทั้งการแปลเข้า แปลออก การไขความด้วยสำนวน คือ คือว่า ได้แก่ เป็นต้น ซึ่งต้องคนที่มีทั้งความจำดีและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เท่านั้นจึงจะเรียนรู้เรื่องและสอบผ่าน) ครั้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในสมัยสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ขึ้นดำรงตำแหน่งแม่กองบาลีสนามหลวง ปรากฏว่ามีการประกาศลดหลักสูตรการสอบ (ไม่ใช่การเรียน) คือสำหรับประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 นั้น ท่านยืนยันว่า "จะไม่ออกข้อสอบที่เป็นคาถาและแก้อรรถซึ่งยาก" ทั้งนี้วัตถุประสงค์ก็คือ ดึงความสนใจของนักเรียนให้หันมาเรียนมาบาลีมากขึ้น จึงต้องทำให้มันง่าย ๆ เข้าไว้ ต่อมาอีก สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ประกาศให้มีการสอบซ่อมวิชาภาษาบาลีสำหรับประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 ได้ ซึ่งคิดว่าต่อไปก็คงจะมีการขยายผลไปจนชั้นประโยค 9 เมื่อทราบข่าวนี้แล้วผู้เขียนก็ใจแป้ว รู้ในใจทันที่ว่า หายนภัยของภาษาบาลีมาถึงแล้ว ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ถ้าท่านผู้อ่านเคยเรียนภาษาบาลีมา หรือยิ่งเคยสอนด้วยก็ยิ่งดี จะทราบดีว่า การเรียนภาษาบาลีนั้นหัวใจก็คือ ไวยากรณ์ และไวยากรณ์นั้นเขาเรียนกันที่ประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 ประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 จึงเป็นหัวใจของของวิชาภาษาบาลี เป็นฐานของการเรียนรู้ไปจนถึงประโยค 9 อนึ่ง ไวยากรณ์ภาษานั้นถ้าไม่ทบทวนกันอย่างต่อเนื่อง ละเลยไว้แค่เดือนสองเดือนก็ลืมเลือนหมดแล้ว ต้องมานับหนึ่งนับสองกันใหม่ ดังนั้น นักเรียนที่เรียนภาษาบาลีกันจริงๆ เขาจะท่องหลักไวยากรณ์ภาษาบาลีตลอดปี ไม่ใช่ถึงเวลาสอบก็ท่องกันเสียทีหนึ่ง อย่างนั้นตายแน่ ทีนี้ เมื่อแม่กองบาลีประกาศให้มีการสอบซ่อมภาษาบาลีสำหรับประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 ได้นั้น ก็จะทำให้นักเรียนที่สอบบาลีไวยากรณ์ผ่านแล้ว ไม่ต้องเรียนต่อไป คือได้เครดิตไปไม่ต้องเรียนซ้ำ ก็จะไปมุ่งเรียนวิชาแปลพระธรรมบทเพื่อเก็บแต้มให้เต็มเป็นมหาเปรียญหรือเณรเปรียญกันอย่างง่ายๆ นั่นละคือจุดอันตรายของภาษาบาลีที่ต้องตายเพราะฝีมือของแม่กองบาลีรูปนี้ ที่กล้ากล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ถ้าหากนักเรียนประโยค 1-2 และ ป.ธ.3 สามารถสอบซ่อมได้ และส่วนมากจะผ่านวิชาไวยากรณ์ไปก่อน ก็จะพักไว้ไม่เรียน จะไปเก็บเฉพาะแต่วิชาแปล ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งปี สองปี หรือสามปี จึงผ่านประโยคหนึ่ง ๆ และเมื่อจะเรียนประโยคสูงๆ ขึ้นไป ก็ปรากฏว่า "ลืมหลักภาษาหรือไวยากรณ์ไปหมดแล้ว" แล้วจะเอาอะไรไปไต่เต้าขึ้นประโยคสูงๆ เพราะว่าฐานของภาษาบาลีไม่มีในหัวแล้ว ! นี่แหละ ที่ผู้เขียนกล้าฟันธงว่า สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ แม่กองบาลีสนามหลวงรูปปัจจุบัน คือผู้ทำลายการศึกษาภาษาบาลีอย่างย่อยยับ การกระทำเช่นนี้ก็เหมือนกับคนปัญญาอ่อนแก้ปัญหา ก็ไม่รู้ว่าทีมงานของแม่กองบาลีมีใครบ้าง ทำไมถึงได้คิดอะไรที่มันบ้องตื้นออกมาเช่นนั้นก็ไม่ทราบ ขอวิจารณ์ว่า ภาษาบาลีนั้นมันยาก เพราะว่าเป็นภาษาตาย แต่จะตายหรือไม่ตายมันไม่ใช่สาระของความยากความง่าย ในความหมายที่แท้จริงแล้ว ความยากง่ายไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้คนไม่สนใจเรียน หากแต่ว่า ค่านิยมของการเรียนบาลีมันไม่มีแล้ว ใครจบไปแล้วไม่มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนสมัยเก่า ไม่มีใครให้ความสำคัญกับพวกมหาเปรียญสักเท่าไหร่ อย่างมากก็แค่ว่า "อ๋อ เนี่ยเหรอมหา ที่เขาว่าเก่ง" ก็แค่นั้น นอกจากนั้นก็สู้พวกพระครูปลัดที่เอาแต่แจกปลัดขิกเสกอีเป๋อขายไม่ได้ พวกนี้มันรวยเอาๆ ชาวบ้านเข้าวัดที่เป่ากระหม่อมมากว่าจะสอนพระธรรมวินัย เราจึงกล้าขัดคอว่า "ที่สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการวัดผลของภาษาบาลีอยู่ทุกวันนี้นั้น ผิดทั้งหมด และท่านต้องรับผิดชอบโดยการลาออกไป อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างว่า บาลีตายในมือของท่าน เมื่อท่านทำไม่ได้ก็นิมนต์ลาออกเสียเถิดครับ จะสง่างามในนามลูกศิษย์หลวงพ่อสด" ขอย้ำว่า ปัญหาภาษาบาลีมิใช่ปัญหาเรื่องการเรียนการสอน หรือว่าเป็นเรื่องของความยากความง่าย หากแต่อยู่ที่ "ค่านิยม" เพียงประการเดียวเท่านั้น ดูอย่างวิชาการด้านอื่นในทางโลกสิ ที่ยากกว่าภาษาบาลีก็มี แต่ทำไมคนเขาใฝ่ฝันอยากเรียนกัน ทำไมไม่มีใครท้อถอยทั้งๆ ที่มันยาก ความจริงก็คือว่า เพราะวิชาการเหล่านั้นเมื่อเรียนมาแล้วมันได้ผลทันตาเห็น ทำงานเงินเดือนแพง มีศักดิ์สิทธิ์ทางใบปริญญาแน่นอน แต่คนที่เรียนจบภาษาบาลีไม่มีสิ่งเหล่านี้ค้ำชูเขา การเรียนบาลีที่ว่ายากก็เลยกลายเป็นตัวหักเหให้นักเรียนไม่สนใจ นั่นเป็นประเด็นต่อเนื่องไปอีก ดังนั้น ถ้าสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์และกรรมการมหาเถรสมาคมมีวิสัยทัศน์จริง ก็น่าจะหาทางออกที่มันถูกทาง โดยการ "สร้างค่านิยมของการเรียนภาษาบาลีให้ดีดังเดิม" โดยการเชิญนายกรัฐมนตรีมารับฟังปัญหาพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะวิกฤติภาษาบาลี ขอให้หลวงหรือรัฐบาลช่วยสนับสนุนพระพุทธศาสนา โดยการหาตำแหน่งสำหรับมหาเปรียญที่เรียนจบแล้ว ตามมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันราชภัฏ และโรงเรียนมัธยมต่างๆ ขอให้มีอัตราสำหรับผู้สำเร็จวิชาการทางพระพุทธศาสนา เช่นครูสอนวิชาศีลธรรมจริยธรรมนั้น จะพิจารณาผู้สำเร็จการศึกษาภาษาบาลีเป็นอันดับแรก เป็นต้น เมื่อดำเนินการด้านค่านิยมรองรับกับผู้จบการศึกษาแล้ว ก็ต้องหันไปดูระบบการศึกษาว่ามีความรัดกุมหรือไม่เพียงใด นี่ต้องว่ากันทั้งระบบนะครับ เช่น ค่าตอบแทนครูบาลี ปรากฏว่าไม่มีเป็นเม็ดเป็นหน่วย สำนักเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไม่เว้นแม้แต่สำนักเรียนวัดปากน้ำเอง มีสวัสดิการครูบาอาจารย์ในด้านนี้น้อยมาก แทบจะเรียกว่าไม่เป็นระบบ เหมือนรถแท๊กซี่ คือวันไหนออกแรงวิ่งก็ได้ค่าเหนื่อย ถ้าหยุดก็อด ครูสอนภาษาบาลีจึงอยู่กันอย่างอดๆ อยากๆ ไม่มีใครเขาอยากเป็นกันเท่าไหร่ถ้าไม่รักศาสนาจริง สู้เรียนทางโลกจบปริญญาตรี โท เอก ไม่ได้ นั่นเขาได้ค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถามว่าภาษาบาลี ถ้าคณะสงฆ์ไม่ออกมาจัดการด้านนี้เอง จะให้รัฐบาลไหนเขารับรอง ? สำนักเรียนภาษาบาลีทั่วประเทศก็เป็นสำนักอิสระ ใครอยากจะสอนก็สอน อยากจะหยุดก็หยุด ไม่มีมาตรการอะไรจริงจัง เป็นอุดมคติส่วนตัวของเจ้าอาวาส ปีไหนหาเงินไม่ได้หรือไม่มีอารมณ์ก็หยุดเอาเสียดื้อๆ ที่ร้ายหนักก็คือ พักหลังมานี้มีการศึกษาของสงฆ์จะว่านอกระบบก็ไม่เชิง แต่ว่าเป็นคนละระบบ คือโรงเรียนปริยัติสามัญที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประกาศให้ค่าเล่าเรียนเป็นรายหัวนั่นแหละ โรงเรียนประเภทนี้คือตัวบี้ภาษาบาลีให้ตกไป ไม่มีใครเขาอยากเรียน ยิ่งบางสำนักเรียนมีทั้งบาลีมีทั้งปริยัติธรรมและนักธรรมให้เรียนทีเดียวสามสาขารวด ถามว่าอัจฉริยะคนไหนจะสามารถรับกับระบบบ้าๆ พวกนี้ได้ ต้องแก้กฎหมายคณะสงฆ์ หรือออกเป็นมติมหาเถรสมาคม ให้พระสงฆ์องค์เณรทุกองค์ต้องเรียนบาลีเป็นวิชาหลัก ไม่ใช่วิชารองหรือวิชาเลือกอย่างที่เห็นเช่นนี้ อีกทางหนึ่ง ในด้านการบริหารการปกครองของคณะสงฆ์ พระสังฆาธิการ เช่น เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น ต้องออกระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ให้ชัดเจน เช่นว่า ถ้าตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ต้องเป็นเปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป ถ้าเป็นเจ้าคณะอำเภอ ต้องเป็นเปรียญธรรม 5 ประโยคขึ้นไป ถ้าเป็นเจ้าคณะจังหวัดต้องเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยคขึ้นไป และถ้าเป็นรองเจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะภาคขึ้นไป ต้องสำเร็จวิชาภาษาบาลีเป็นเปรียญ 9 เพียงประการเดียว อย่างนี้เราจึงจะได้คนดีมีการศึกษาในสายตรงของพระพุทธศาสนามาปกครองและดำเนินนโยบายพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ไม่ใช่ดังที่เจ้าคุณเสนาะกล่าวว่า "การใช้เงินซื้อสมณศักดิ์นั้นไม่ผิด จะผิดก็เพียงแต่ว่าไม่เหมาะสมเท่านั้น" นั่นดูเป็นพูดที่สะเหร่อที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา ย้ำอีกครั้ง วิกฤติภาษาบาลีมีทางออกแน่นอน แต่ต้องมองเห็นปัญหาอย่างถ่องแท้ มิใช่ไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย แต่ว่าได้ตำแหน่งแม่กองบาลีมาด้วยวาสนาบารมีและเงินตรา เมื่อได้มาแล้วก็ให้เด็ก ๆ อย่างมหาสุชาติคุม ส่วนแม่กองบาลีนั้นก็คอยแต่ร่างสาส์นสวยๆ ไว้เปิดสอบอย่างเป็นทางการประจำปีเท่านั้น นี่คือการแก้ปัญหาแบบที่เรียกว่า "บูรณาการ" ต้องแก้ที่ตัวปัญหา อย่าไปแก้อ้อมเมือง และการแก้ก็ต้องใช้เทคนิควิธีการทุกอย่างเข้าช่วย ไม่ใช่คิดง่ายๆ เหมือนเด็กเลี้ยงควาย ที่พอนักเรียนตะโกนบอกว่า "ภาษาบาลีมันยาก ไม่อยากเรียน" แม่กองก็ตะลีตะลานลดหลักสูตรและข้อสอบให้มันง่ายลง แล้วเป็นไง มันแก้ได้ไหมกับมาตรการที่ท่านทำมาสิบกว่าปีแล้วน่ะ ทบทวนบทบาทได้แล้วล่ะครับ สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ที่เคารพ วิกฤติจะเป็นโอกาส หรือว่าโอกาสจะกลายเป็นวิกฤติก็อยู่ที่ท่านจะพิจารณา หรือว่ายังหาที่ลงให้วัดพระธรรมกายไม่เจอ !
|
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail To BK.
ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV 89121 U.S.A. 702-384-2264