ปัญหาใหญ่ๆ ในประเทศไทยเวลานี้
ประมวลแล้วน่าจะมีอยู่ประมาณ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ไข้หวัดนกระบาดในไก่และสัตว์ปีก 2.
เรื่องคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และ 3.
ปัญหาอาชญากรรมในสามจังหวัดภาคใต้
ในเรื่องที่ 2 และ 3 นั้น แม้จะต่างศาสนากัน แต่ก็เหมือนๆ
กันในแง่ของการไม่ยอมรับอำนาจรัฐ คำว่ารัฐในที่นี้ก็คือ
"รัฐบาลไทย"
ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากปวงชนชาวไทยให้บริหารประเทศเป็นตัวแทนประชาชน
และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อย่างถูกต้องตามระเบียบแบบแผนแล้วด้วย
กรณี พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตาบัว และพระสายวัดป่ากว่า
10,000 รูป ประชุมกันที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ประกาศมติ 7 ข้อ
ไม่ยอมรับคำประกาศแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของรัฐบาล
(ขอย้ำว่าเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่ของนายวิษณุคนเดียว
คนที่ต้องรับผิดชอบกรณีนี้เต็มๆ ก็คือ รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีทักษิณ
ชินวัตร) และประกาศว่า
จะไม่ยอมรับมติหรือคำสั่งใดๆ
ที่ออกจากมหาเถรสมาคมและคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งก็ร่วมเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งโดยตำแหน่งและโดยแต่งตั้ง
รวมทั้งยังประกาศเอาผิดกับมหาเถรสมาคมและรองนายกรัฐมนตรีคือนายวิษณุ เครืองาม
เสียอีก
นั่นเป็นปัญหาการท้าทายอำนาจรัฐ และอำนาจคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทย
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 20 ซึ่งมีข้อความว่า
"คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม"
ดังนั้น การประกาศไม่ยอมรับคำสั่งหรือมติใดๆ ของมหาเถรสมาคม
ของหลวงตาบัวนั้น จึงเป็นการท้าทายอำนาจรัฐบาลสงฆ์อย่างชัดแจ้ง
และเด่นชัดขึ้นไปอีก เมื่อหลวงตาบัวประกาศเอาผิดกับนายวิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่งดังกล่าว
เรื่องตัวบทกฎหมายอะไรที่เกี่ยวกับเรื่อง "ผิด-ถูก" ในประเด็นการแต่งตั้งนั้น ได้วิเคราะห์ไปมากแล้ว
แต่วันนี้จะว่าเฉพาะประเด็นที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือการไม่ยอมรับคณะผู้ปกครองสงฆ์และไม่ยอมรับรัฐบาลไทยเท่านั้น
ถามว่า หลวงตาบัวและคณะมีสิทธ์ที่จะฟ้องร้องมหาเถรสมาคมและรัฐบาลไทยได้ไหม ?
ตอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
มาตรา 308 ซึ่งมีข้อความว่า
มาตรา 308 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ
กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ
ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย
มาตรา
309 ผู้เสียหายจากการกระทำตามมาตรา
308
มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา
301 (2) ได้ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ก็แปลว่า
ฟ้องไม่ได้
เพราะกฎหมายเขียนไว้เป็นรายบุคคล ไม่ได้บอกเป็นคณะบุคคล เช่น รัฐบาล
มหาเถรสมาคม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำผิดกฎหมาย
รัฐธรรมนูญก็ให้โอกาสแก่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน
50,000
คนขึ้นไป ให้เข้าชื่อกัน
"ยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภาทำการถอดถอน" ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย
ได้แก่การรวบรวมรายชื่อส่งให้วุฒิสภาเพื่อพิจารณาเป็นเบื้องต้น
เมื่อวุฒิสภาเห็นว่าคำร้องดังกล่าวมีองค์ประกอบถูกต้อง
ก็จะส่งเรื่องต่อไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ
ปปช.
ตรวจสำนวน เมื่อเห็นว่า "มีมูล"
แล้ว ปปช.
ก็จะส่งเรื่องกลับไปให้ประธานวุฒิสภาเพื่อส่งต่อไปให้อัยการสูงสุดๆ
ก็จะชงเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาตัดสิน ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย
จะรอดหรือจะตายก็ต้องไปดูกันที่จุดนั้น แต่ทั้งนั้นก็ยังมีคำถามอีกว่า
"แล้วหลวงตาบัวเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ด้วยหรือเปล่า"
ถ้าไม่, ก็ถือว่าไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องเช่นกัน นั่นเป็นเรื่องของการฟ้อง
ในส่วนของการตีความกฎหมายว่า รัฐบาลทำผิดกฎหมายคณะสงฆ์หรือรัฐธรรมนูญหรือไม่? ข้อนี้ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ผลออกมาอย่างไรก็ยอมรับกันไปตามนั้น นั่นเป็นเรื่องของกฎ กติกา และมารยาท
แต่...แต่ว่า
หลวงตาบัวและคณะไม่มีสิทธิ์ในการไม่ยอมปฏิบัติตามมติหรือคำสั่งของรัฐบาลหรือของมหาเถรสมาคม
ตราบที่ยังไม่มีคำพิพากษาจากศาลอาญาว่า ใครทำผิดกฎหมาย
หรือศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้วินิจฉัยออกมาว่า "รัฐบาลหรือมหาเถรสมาคมทำผิดรัฐธรรมนูญ" ก็เรียกง่ายๆ ว่า
ต้องให้ผ่านกระบวนการวินิจฉัยไปให้เรียบร้อยเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม คำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
ถูกประกาศอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่ใช่กฎหมายที่จะไปอภิปรายกันในสภา
คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลในทางปฏิบัติทันที (คือตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2547) ดังนั้น คำสั่ง หรือมติ อะไรต่างๆ
ที่ออกมาจากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศ เป็นองค์ประธานนั้น จึงถือว่า
มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายทุกประการ ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม
แต่ใครจะยอมรับหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ยอมรับก็ถือว่า
ฝ่าฝืนคำสั่งอันถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย (ในขณะนี้)
ถึงแม้คณะของหลวงตาบัวจะประกาศว่า
"คำสั่งนี้ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ"
ก็ตาม
คำประกาศของหลวงตาบัวและคณะจึงถือเป็นโมฆะ
เพราะว่าหลวงตาบัวและคณะมิใช่เจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธิ์ชี้ขาดในตัวบทกฎหมายเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่งั้น ตาสี ตาสา ยายมา ตามี หรือใครๆ ใดๆ ในประเทศไทย
ก็มีสิทธิ์พิพากษาได้ว่า
"คำสั่งหรือมติอะไรต่างๆ ของรัฐบาลหรือรัฐมหาเถรสมาคม ไม่ถูกต้อง
ผิดพระธรรมวินัยหรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"
ซึ่งถ้าทำได้ก็คงจะมีทนายเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด
และถ้าไม่รอให้มีการวินิจฉัยจากองค์กรที่ถูกต้อง แต่กลับใช้อัตตโนมัติฟันธงลงไปว่า
"ผิด"
แล้วไม่ยอมทำตาม
เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็มีสิทธิ์เอาผิดกับคณะบุคคลเหล่านั้นได้
พฤติการณ์ของหลวงตาบัวที่แสดงออกจึงทำตัวเป็นทั้ง
"ผู้ฟ้องร้อง"
และ "ศาล"
ไปในตัว เรียกว่า ฟ้องไปด้วยตัดสินไปด้วย
สวมหมวกสองใบในขณะเดียวกัน แบบว่า พูดเองเออเอง ชงเรื่องเอง ฟันธงเอง
เป็นทั้งกองหน้า กองหลัง และกรรมการตัดสิน เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ทั้งนี้มีพระป่าจำนวนกว่า 10,000
รูป ร่วมเป็นองค์คณะของหลวงตาบัวในมหกรรมครั้งนี้ด้วย ก็ไม่ทราบว่า
พฤติกรรมของหลวงตาบัวและพระป่าทั้งหมดนั้นเป็น
"โมฆะ"
เหมือนกรณี "เป็นพระอริยะโมฆะ"
เพราะออกบิณฑบาตหาเงินทองมาประเคนรัฐบาลนั้นหรือเปล่า
นั่นเป็นประเด็นว่าด้วยการไม่ยอมรับอำนาจรัฐในภาคอีสาน
ซึ่งมีหลวงตาบัวผู้นุ่งเหลืองห่มเหลืองประกาศตนเองว่าเป็นอริยบุคคล
เดินนำหน้าในการท้าทายอำนาจรัฐ ส่วนในภาคใต้หรือปักษ์ใต้บ้านเรานั้น
ข่าวเมื่อวานนี้ ก็รายงานว่า
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ปัตตานี ยะลา
และนราธิวาส ประกาศไม่ขอสังฆกรรม
คือไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย
ที่ส่งลงไปควบคุมดูแลและดำเนินการหาผู้กระทำความผิด
ในกรณีกลุ่มบุคคลจำนวนมากบุกค่ายทหารทั้งปล้น-ฆ่า เจ้าหน้าที่ของราชการ
และมีเหตุการณ์แบบที่เรียกว่า
อาฟเตอร์ช็อก
ทั้งสังหารพระภิกษุสามเณรและเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่เว้นในแต่ละวัน
คณะกรรมการอิสลามเหล่านั้นให้เหตุผลว่า
ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยได้นั้นเพราะรัฐบาลไทยไม่ให้เกียรติแก่ศาสนสถานในศาสนาอิสลาม
โดยนายศักดิ์กรียา
บิลแสละ ประธานฝ่ายกิจการฮาลาล
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามทั้ง 3
จังหวัดไม่พอใจการทำงานของพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจบัญชาการทางทหารในพื้นที่ 3
จังหวัดภาคใต้ ภายใต้กฎอัยการศึก
กรณีที่คณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัด ไม่ยอมรับบทบาทของพลเอกธรรมรักษ์
อิศรางกูร ณ อยุธยา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น
ดูไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากคณะสงฆ์สายวัดป่าภาคอีสานนำโดยพระธรรมวิสุทธิมงคลหรือหลวงตาบัว
ไม่ยอมรับบทบาทของนายวิษณุ
เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ที่ดำเนินการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะต่างกันก็เพียง
กลุ่มแรกเป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนกลุ่มหลังเป็นอิสลามิกชนเท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอกธรรมรักษ์
อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลไทย
ซึ่งมีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้า ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การกระทำใดๆ ของนายวิษณุและพลเอกธรรมรักษ์
จึงเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่จากนายกรัฐมนตรี หรือที่ทำไปนั้นก็เป็นการ
"ช่วยงานนายกรัฐมนตรี" ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำไปโดยพลการ
ซึ่งถ้าพูดให้กระชับเข้าไปอีกก็หมายถึงว่า
ทุกเรื่องที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทำไปนั้น
ทำไปภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องมีการรายงานให้ผู้บังคับบัญญชาคือนายกรัฐมนตรีทราบและเห็นชอบแล้วทั้งสิ้น
ถ้าว่าเป็นการฟันธงแล้ว ก็หมายถึงว่า เป็นการไฟเขียวจากนายกรัฐมนตรีให้ทำ
ไม่ใช่ต่างคนต่างทำหรือแยกกันทำ
ดังนั้น การที่คณะของหลวงตาบัวทำเป็นเอาเรื่องเอาราวกับนายวิษณุ
แต่กลับไม่ยอมประกาศเอาเรื่องกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
จึงเป็นการเล่นปาหี่ทางการเมืองดีๆ นี่เอง คนระดับนายทองก้อนที่อาจหาญ
"จะฉีกตำรากฎหมายทิ้งและจะเลิกหากินกับกฎหมายไปตลอดชาติ
ถ้าหากนายวิษณุเป็นฝ่ายถูก" ย่อมมิใช่
"ขี้ไก่" ที่จะมองเรื่องพรรค์นี้ไม่ออก
แต่การเล่นแบบนี้มันเป็นลีลา "ศรีธนญชัยในคราบนักบุญ"
ของหลวงตาบัวและนายทองก้อน ศิษย์รัก นั่นเอง
คณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดในภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน
ประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล
แต่กลับขอพบเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นอิสลามด้วยกัน ตรงนี้ก็ตีความเห็นๆ ว่า
"เป็นการเรียกร้องความสนใจหรือขึ้นค่าตัวให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ" นั่นเอง
โดยอาศัยสถานการณ์ที่กำลังชุลมุนอยู่นี้ตีค่าตัวให้สูงขึ้น
ทั้งสองกรณีนี้นับได้ว่า
"เป็นการท้าทายอำนาจรัฐ"
อย่างไม่สะทกสะท้าน แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า
ทั้งกลุ่มของหลวงตาบัวและคณะกรรมการมุสลิมในภาคใต้
ต่างก็เกาะกุมพลังมวลชนไว้ในมืออย่างเหนียวแน่น
(หลวงตาบัวมีพระและโยมร่วมกลุ่มกว่า
100,000 รูป/คน
คณะกรรมการอิสลามก็มีพลังมวลชนทั้งใน 3 จังหวัดและมุสลิมทั่วประเทศ กะคร่าวๆ
ก็เป็นล้านคนขึ้นไป) ทำให้รัฐบาลต้อง
"ฟัง" ทั้งยังไม่กล้า
"กล่าวหา"
หรือกระทำการกร้าวร้าวใดๆ กับบุคคลสองกลุ่มสองศาสนาดังกล่าว
นี่ยังดีนะที่เมืองไทยไม่มีศาสนาอื่นๆ มากไปกว่านี้ ไม่งั้นก็คงมีการประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยเหตุผลคือ
"ไม่พอใจ"
ต่อไปเรื่อยๆ
การยอม "ฟัง"
ในลักษณะเหมือนเป็นเด็กดีของรัฐบาลไทยต่อกรณีหลวงตาบัวและคณะกรรมการอิสลามใน
3 จังหวัดภาคใต้นี้ มีความน่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งข้อสงสัยนี้จะนำไปสู่ปัญหาในแง่ของความมั่นคงแห่งรัฐทั้งขึ้นทั้งล่อง
คือว่า ถ้ารัฐบาลเล่นไม้แข็ง ไม่ยอมฟัง
ก็น่ากลัวว่าเหตุการณ์จะบานปลายจนเอาไม่อยู่ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า
ชาวมุสลิมนั้นเขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องศาสนามาก
เรื่องอื่นเป็นเรื่องหลังเรื่องรองทั้งสิ้น ส่วนสายหลวงตาบัวนั้นเล่าก็ไม่ใช่สายปริยัติแบบพระนิสิตมหาจุฬาฯ
ที่พออธิการบดีไม่เอาเรื่องเสียอย่างเดียวก็
"หงอย"
คือชกไม่เป็น หากแต่พระสายอีสานนั้นเป็นพระที่
"ใกล้ชิดสนิทสนมในฐานะครูอาจารย์และศิษย์ที่ใกล้ชิดกัน"
จึงสนับสนุนกันอย่างแน่นแฟ้น โดยนัยยะที่เรียกว่า
"แทบจะเอาอาจารย์ว่าเสียทุกเรื่อง"
ทีเดียว เห็นเหตุเห็นผลเช่นนี้แล้ว รัฐบาลไทยก็คงจำต้องยอม "ถอยเพิ่มขึ้น"
จากที่เคยถอยมาแล้วหลายก้าว
กรณีหลวงตาบัวนั้น รัฐบาลนายกทักษิณยอมถอยให้มาแล้ว 1 ก้าว
ในเรื่องของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่
ที่ถูกหลวงตาบัวออกมาด่าและคว่ำบาตรไปแล้ว ส่วนกรณีชาวมุสลิมในภาคใต้นั้น
ก็รับทราบกันมาโดยตลอดว่า พอเกิดเหตุการณ์รุนแรงอะไรขึ้น คนของรัฐบาลก็จำต้อง
"เข้าปรึกษาหารือกับหัวหน้ามุสลิมในจังหวัดนั้นๆ"
นั่นคือการถอยของรัฐบาลไทย
การ "ยอม"
ของรัฐบาลไทยเช่นนี้ ถ้าแก้ปัญหาได้โดยละมุนละม่อม
คือพูดจากันฉันท์ผู้ที่มุ่งหวังเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
"มาก่อน"
ก็คิดว่าน่าจะลงเอยด้วยดี หากแต่ว่า ถ้าทั้งหลวงตาบัวและคณะกรรมการอิสลาม 3
จังหวัดภาคใต้ ไม่เอาผลประโยชน์ของชาตินำหน้า หากแต่ต้องการเพียง
"เอาเรื่องศาสนานำหน้า"
และรัฐบาล "ยินยอมตามคำเรียกร้อง"
ของทั้งสองกลุ่มนี้แล้ว ก็น่าหนักใจว่า
รัฐบาลไทยจะต้องแก้ไขปัญหาลูกโซ่ต่อกันไปไม่มีสิ้นสุด นั่นเพราะ
เพราะว่า ถ้ามีปัญหาอะไรคุกรุ่นขึ้นมาอีก
ทั้งกลุ่มหลวงตาบัวและคณะกรรมการอิสลามก็ย่อมจะใช้
"ไม้เดิม"
กับรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องความสนใจอีกเรื่อย ๆ นอกนั้นยังมีอีกหลายกลุ่ม
เช่น วัดพระธรรมกาย สำนักสันติอโศก
เป็นต้น ซึ่งกำลังนั่งลุ้นดูอยู่นอกสนามด้วยใจระทึกว่าเรื่องจะลงเอยไปเช่นใด
ถ้ารัฐบาลเล่นบทแตกหัก และกลุ่มหลวงตาบัวประกาศตัวเป็นอิสระ
หรือคณะกรรมการอิสลามไม่เอากับรัฐบาลไทยไปเรื่อย ๆ พวกนี้ก็จะเตรียมตัวประกาศอินดิเพนเด๊นซ์มั่ง
และนั่นแหละ ประเทศไทยก็เข้าสู่ "กลียุค" อย่างถาวรแน่นอน
การแก้ปัญหานี้ของรัฐบาลนายกทักษิณ
ชินวัตร จึงนับว่า
"ยากมาก"
เพราะศักดิ์ศรีเกียรติยศของรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ
จะต้องมาพินาศย่อยยับไปเพราะพลังมวลชนเพียงแค่นี้ ศักดิ์ศรีของรัฐบาลก็คือ
ความศักดิ์สิทธิ์ในทำงาน
ทั้งในด้านรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ทั้งในเรื่องของการสร้างงานตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาให้บรรลุผล
ภาวะน่ากลัวก็คือว่า ในกรณีไก่ตายเพราะไข้หวัดนกนั้น
นายกรัฐมนตรีทักษิณ
ชินวัตร ดำเนินการในแนว "รุก"
หลายครั้งหลายหน ทั้งกินไก่โชว์ในทำเนียบ
ทั้งระดมพลจัดมหกรรมการกินไก่ที่ท้องสนามหลวง
ประกาศให้รางวัลแก่ผู้กินไก่สุกแล้วตาย หากแต่ในกรณีที่อีสานและปักษ์ใต้
กลับไม่ปรากฎเงาของท่านนายกรัฐมนตรีว่ามีทีท่าเช่นใด
ที่อีสานนั้นท่านนายกรัฐมนตรีไม่เอ่ยถึงและไม่ไปชี้แจงอะไร
นายทองก้อนเดินทางมายื่นหนังสือถึงทำเนียบรัฐบาล นายกฯก็
"หลบ"
ในขณะเดียวกันที่ปักษ์ใต้ เมื่อมีข่าวคณะกรรมการอิสลาม
"บอยคอต"
รัฐบาลไทย ท่านนายกรัฐมนตรีกลับรีบบินด่วนไปประชุมที่
"จังหวัดสงขลา"
ซึ่งไม่ใช่สามจังหวัดที่มีปัญหาแต่อย่างใด
แผ่นดินไทย ไม่ว่า ภาคกลาง อีสาน
เหนือ หรือใต้
เมื่อเกิดปัญหาน่าสะพรึงกลัวขึ้นมา ถ้าขนาดว่า
"ผู้นำ"
คือนายกรัฐมนตรี "กลัวตาย"
ไม่กล้าไป ไม่กล้าเหยียบ
แล้วประชาชนคนไทยอื่นๆ ล่ะ จะให้เขามั่นใจได้อย่างไรว่าพื้นที่เหล่านั้น
"ปลอดภัย"
สำหรับเขา
ไก่ตายในแทบทุกภาค นายกรัฐมนตรีประกาศว่า
"ถ้าใครกินไก่สุกแล้วตาย
จะได้เงินบำรุงศพละ 3 ล้าน"
แต่ทหารตาย ตำรวจตาย พระตาย ประชาชนตาย ในภาคใต้ นายกรัฐมนตรีกลับ
"แหยง"
ไม่ประกาศใดๆ แถมยังไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดปัญหา
ทั้งที่น่าจะรีบเข้าไปเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในสามจังหวัดนั้นด้วย
การทำอย่างนี้ไม่เพียงแต่จะไม่สร้างขวัญและกำลังใจเท่านั้น หากยังหมายถึงว่า
"ท่านนายกรัฐมนตรีลอยแพชาวใต้ให้อยู่ภายใต้ชะตากรรมเองแล้วอย่างสิ้นเชิง"
จึงขอบอกว่า
"วิกฤติปักษ์ใต้น่าหนักใจที่สุด"
|