พระวินัย ใครผิด ใครถูก ใครจะเป็นผู้ตัดสิน
 

 

    "ในมหาเถรสมาคมที่เห็นด้วยถือว่าทำผิดพระวินัย" เป็นคำประกาศอย่างอหังการณ์ของนายทองก้อน วงศ์สมุทร ศิษย์เอกของหลวงตาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นหัวหอกในการโจมตีรัฐบาลและคณะสงฆ์อยู่ในขณะนี้ ว่าด้วยเรื่อง "คำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นประธาน"

     หลวงตาบัวและนายทองก้อน เคยก่อวีรกรรมประกาศประจานความผิดที่เรียกว่า อาบัติ ของคณะรัฐบาลสงฆ์ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) เป็นประธาน มาหลายครั้งแล้ว คือ

     ครั้งที่ 1 วันที่ 22 เมษายน 2545 หลวงตาบัวพาพระธรรมยุติภาคอีสานประมาณ 5,000 รูป ไปประชุมกันที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ประกาศนิคคหกรรม ปรับอาบัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในข้อหา "ละเมิดพระวินัยสิกขาบท 3 ข้อเข้าอาบัติสังฆาทิเสส ทำให้แตกแยกในหมู่สงฆ์ มุสาวาทวรรค อาบัติปาจิตตีย์ พูดจากลับไปกลับมาและสุราปานวรรค อาบัติปาจิตตีย์ เป็นการกระทำซึ่งขาดสติ เนื่องจากยื่นร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไปโดยขาดสติไม่สอบถามคณะสงฆ์"

     ครั้งที่ 2 วันที่ 28 มกราคม 2547 คณะพระธรรมยุติภาคอีสานประมาณ 600 รูป (และมหานิกายบางรูป) นัดประชุมกันที่วัดกกสะท้อน ระบุว่า "และถึงแม้มหาเถรสมาคมจะมีมติย้อนหลังเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2547 ก็เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมาย"

     นอกจากนั้น หลวงตาบัวยังแสดงปาฐกถาผ่านประชาชนคนเป็นจำนวนมาก ประจานทั้งมหาเถรสมาคมและคณะรัฐบาลว่าบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา เรียกว่าไม่ยอมรับนับถือถึงขนาดว่าไม่ขอสังฆกรรมร่วมทั้งสองพวกเลยทีเดียว เปรียบเทียบแม้กระทั่งว่า รัฐบาลและมหาเถรสมาคม เป็นหมา รุมทึ้งรุมแทะสมเด็จพระสังฆราช

     พฤติกรรมคำพูด  ของหลวงตาบัวนี้ ถ้าเป็นของเณรน้อยองค์ใดองค์หนึ่งคงไม่มีใครติดใจกันนัก หากแต่ว่าเป็นของพระราชาคณะที่มีราชทินนามว่า "พระธรรมวิสุทธิมงคล" มีเกียรติคุณเป็นที่รู้จักกันว่า ท่านเป็นศิษย์องค์ท้าย ๆ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต ปรมาจารย์พระกรรมฐานสายภาคอีสาน แห่งธรรมยุติกนิกาย คำพูดของหลวงตาบัวจึงมีน้ำหนักชักจูงให้คนส่วนใหญ่ "คล้อยตาม" จนถึง "เชื่ออย่างสนิทใจ" ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

     1. เพราะเขาเห็นว่าท่านเป็นพระนักปฏิบัติ ไม่ใช่พระนักปริยัติ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแต่งตั้ง ดังนั้น ท่านจึงน่าจะออกมาเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะคนไทยเชื่อว่า พระปฏิบัติมีคุณธรรมสูงส่งกว่าพระปริยัติ ซึ่งเอาแต่เรียนโดยไม่ได้ปฏิบัติ พระที่ปฏิบัติจึง "รู้มากกว่าทฤษฎี"

     2. ท่านบรรลุธรรมแล้ว ไม่ใช่บรรลุกิเลส ถ้าเอาภาพของหลวงตาบัวมาเปรียบเทียบกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) หรือสมเด็จองค์อื่นๆ หลวงตาบัวย่อมกินขาด ในภาพของ "พระกรรมฐานบ้านนอก"

     นั่นเป็นประเด็นหลักในใจคน แต่ก็ยังมีประเด็นปลีกย่อย เช่น ในกรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ผลักดันให้พระธรรมวิสิทธิเวที (เสนาะ ปัญญาวชิโร ป.ธ.6) วัดสระเกศ ลูกศิษย์ของตนเอง เข้าไปเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม คนก็มองว่า "สมเด็จเกี่ยวท่านวางหมากให้วัดสระเกศครองอำนาจในมหาเถรสมาคมต่อไปไม่สิ้นสุด" ทั้งๆ ที่จริง เรื่องเหล่านี้คณะธรรมยุติเคยทำและกำลังทำอยู่แล้วทั้งสิ้น วัดบวรนิเวศวิหารนั่นก็มีกรรมการมหาเถรสมาคมถึง 2 รูป วัดเทพศิรินทร์ ก่อนสมเด็จพระวันรัตจะเสีย ก็มีกรรมการมหาเถรสมาคมถึง 2 รูป แถมรูปหลัง (คือสมเด็จพระญาณวโรดม) ยังเป็นถึงรองสมเด็จอยู่ตั้งนานด้วย

     แต่กับสมเด็จวัดสระเกศนี้ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาจากคนรอบข้าง เนื่องเพราะวัดในมหานิกายนั้นมีมากมายนัก การจะตั้งให้วัดใดวัดหนึ่งมีกรรมการมหาเถรสมาคมมากถึง 2 รูป ย่อมถูกมองว่า "การเมืองมากไป" ส่วนพวกธรรมยุติที่มีสององค์บ้าง สามองค์บ้าง นั้น เขามีเหตุผลตะแบงกันว่า "เพราะวัดธรรมยุติมีน้อย ตัวเลือกจึงน้อยไปด้วย" หรือไม่ก็ "เพราะพระเถระรูปนั้นมีคุณสมบัติต้องตามพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสังฆราช" ดังพระราชรัตนมงคลนำมาอ้างเข้าข้างตัวเอง ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่า ถ้าสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งเอง ก็ไม่มีใครกล้าขัด เพราะถือว่าพระสังฆราชบัญชานั้น "สูงสุด" หากแต่กรณีสมเด็จเกี่ยวตั้งพระมหาเสนาะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนี้ แม้จะผ่านกระบวนการอย่างถูกต้อง แต่ก็น่าสงสัย เพราะว่าช่วงหลังๆ คือสองปีกว่ามานี้ สมเด็จเกี่ยวได้นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคมแทบทุกนัด เหมือนๆ กับว่า เป็นผู้ชงเอง กินเอง เบ็ดเสร็จ การอ้างเอา "มติมหาเถรสมาคม" ถึงแม้จะมีความถูกต้องตามกระบวนการ แต่ก็ถูกมองในแง่ของ "ความชอบธรรม" ไม่ต่างไปจากกรณี "พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช"

     นั่นเป็นประเด็นรายรอบ ก่อนจะเข้าเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และการประกาศแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของรัฐบาล ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในเวลานี้

     ถึงตรงนี้ต้องขอชี้แจงเกี่ยวกับสถานภาพของพระสงฆ์ไทย 2 นิกาย คือ มหานิกายกับธรรมยุติกนิกาย ว่ามีความเสมอภาคทางพระธรรมวินัยอย่างไรบ้าง

     อย่างที่เคยเล่าไว้แล้ว คือว่าคณะธรรมยุติเพิ่งจะมาเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยผู้ที่ให้กำเนิดก็คือ พระภิกษุวชิรญาณ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี จะมีพระศักดิ์เป็นอะไรในประเทศไทยสมัยปัจจุบันก็ขอให้ได้โปรดไปตรวจสอบกันเอาเอง

     เราจะเข้าประเด็นที่ว่า "การร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่เป็นเหตุให้เกิดสังฆเภทขึ้นในคณะสงฆ์ไทย" ซึ่งเป็นหัวใจของการวิเคราะห์ในวันนี้ คำว่า สังฆเภท นั้นก็แปลว่า เป็นการทำให้พระสงฆ์แตกแยกกัน ซึ่งคำว่า "พระสงฆ์นี้ก็ต้องตีความหมายไปถึงว่า ได้แก่พระภิกษุจำนวนตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ผู้อยู่สังวาส คือร่วมทำสังฆกรรม มีอุโบสถ เป็นต้น ร่วมกัน"

    แต่ถามว่า พระไทยนิกายมหานิกายและธรรมยุติมีการลงอุโบสถทำสังฆกรรมร่วมกันหรือไม่ ? คำตอบก็คือว่า "ไม่" ทีนี้เมื่อพระสงฆ์ทั้งสองนิกายไม่กินเส้นกัน คือว่าเป็นนานาสังวาส (แยกกันอยู่) เช่นนี้แล้ว จะมีปัญหาทางพระวินัยให้ตีความอีกสองประเด็น คือ

     1. การที่พระสงฆ์สายวัดป่าในภาคอีสานทั้งธรรมยุติและมหานิกาย นำโดยหลวงตาบัว มาร่วมประชุมทำสังฆกรรมกันนั้น ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ เพราะในพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า "พระที่เป็นนานาสังวาสแก่กันและกันจะร่วมสังฆกรรมกันไม่ได้ ถ้าฝืนทำสังฆกรรมร่วมกัน สังฆกรรมที่ทำนั้นก็เป็นโมฆะ" ก็แสดงว่า การที่พระสงฆ์ทั้งสองนิกายมาร่วมกันทำสังฆกรรมนิคคหกรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ นั้น เป็นการทำผิดพระวินัยแต่เริ่มแล้วด้วย ทีนี้เมื่อเริ่มต้นผิดแล้ว มติอะไรต่างๆ ที่ออกมาจึงผิดไปด้วย โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะมีเหตุผลกลอื่นใดก็ตาม

     2. การที่พระธรรมยุติออกมติเอาผิดพระมหานิกาย คือสมเด็จเกี่ยวนั้น ถือได้ว่าเป็นการเล่นข้ามนิกาย ผิดระเบียบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ถามว่า เป็นการถูกตามกติกามารยาทหรือไม่ หรือว่าที่หลวงตาบัวทำไปเช่นนั้นเป็นความจงใจทำ ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า "มันไม่ถูก" หรือ "ไม่มีผลทางภาคปฏิบัติ" แต่อย่างใดเลย ก็แสดงให้เห็นว่า หลวงตาบัวไม่รู้ระเบียบจารีตประเพณี แต่อาจจะมีเจตนาอื่นแอบแฝง เช่น อยากได้ความชอบธรรมจากมวลชนหรือจากพระสงฆ์รูปอื่นๆ ทีไม่เห็นด้วยกับมหาเถรสมาคม เป็นต้น

     เหล่านี้คือประเด็นหลักทางพระธรรมวินัย แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก คือเมื่อมองในแง่ของคณะผู้ปกครองพระสงฆ์ไทย ซึ่งถืออำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้ในมาตราที่  15 มีข้อความว่า

     มาตราที่ 15 (ตรี) มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

   (1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

   (2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

   (3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

   (4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

   (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

   เพื่อการนี้ ให้มีมหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ ตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

     มาตรา 15 จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ก็ได้

     พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศ ต้องสึกภายในสามวัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ"

     นั่นคืออำนาจและหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วย สมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 8 รูป มีมหานิกาย 4 ธรรมยุติ 4 และกรรมการโดยแต่งตั้งอีก 12 รูป ประกอบเป็นมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน และที่สำคัญก็คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งนั้น ทรงประชวรประทับอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มาสองปีกว่าแล้ว เกิดปัญหาในการบัญชาว่าการและออกคำสั่งของพระองค์ จนทำให้รัฐบาลตัดสินใจตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 6 เดือน

     ปัญหาที่ควรหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยก็คือ เรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย และเรื่องเกี่ยวกับระเบียบการปกครองทางคณะสงฆ์ ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ไทย พ.ศ. 2535 มาตราที่ 15 ที่ได้ยกขึ้นแสดงแล้ว

     ถ้าว่ากันตามพระธรรมวินัย การที่พระสงฆ์ในมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ได้รับการแต่งตั้งให้ร่วมรัฐบาลเดียวกัน คือในนามของมหาเถรสมาคม ในทางพระธรรมวินัยแล้วถือว่าเป็นการทำสังฆกรรม ซึ่งผิดวินัยสงฆ์ แต่ว่าเพราะอำนาจทางการเมืองซึ่งบังคับไว้ว่า "คณะสงฆ์ไทยได้แก่ บรรดาพระภิกษุที่ได้รับการบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร" และว่า "(มาตราที่ 20) คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม" ซึ่งมหาเถรสมาคมนั้นก็คือองค์รัฐบาลคณะสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งจากฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติในอัตราไล่เลี่ยกัน

     นอกจากนั้นยังกำหนดด้วยว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง" ตัวนี้เป็นการบังคับว่า ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีกี่นิกาย ก็ไม่สามารถจะตั้งสมเด็จพระสังฆราชเกินหนึ่งพระองค์ได้

     คำถามจึงมีว่า ถ้าจะใช้พระราชบัญญัตินี้กันเพียวๆ โดยไม่เหลียวมองสิ่งอื่น เพราะถือว่าถูกตราออกมาใช้โดยความชอบธรรมแล้ว (เพราะไม่เห็นคณะสงฆ์องค์ไหนออกมาประท้วงรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ แถมยังเห็นดียอมปฏิบัติตามมาสิบปีกว่าแล้ว) ในเมื่อหลวงตาบัวและพระสงฆ์สายวัดป่าภาคอีสาน ได้ทำการประท้วงถึงกับต่อต้านมติมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมาย มหาเถรสมาคมทำไมจึงไม่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินั้น นิคคหกรรมหลวงตาบัวและคณะ แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีการยั่วยุกันมากยิ่งขึ้น ตรงนี้แสดงว่า มหาเถรสมาคมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่ ?

     ตรงนี้กรุณาดูให้ดีนะท่านผู้อ่านที่รัก ในความจริงแล้ว หลวงตาบัวและคณะออกมาทำการ "นิคคหกรรมมหาเถรสมาคม" ก่อน เรียกว่าเอาผิดกับคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ก่อน ในข้อหา "ผิดพระวินัย" คำถามจึงมีว่า มหาเถรสมาคมทำผิดพระวินัยจริงหรือไม่ ? ถ้าทำผิดจริง ก็แสดงว่ามหาเถรสมาคมนั้นล้มเหลว หมดสถานภาพทางพระวินัย ซึ่งมีผลไปถึงว่า หมดคุณสมบัติที่จะดำรงองค์คณะเป็นมหาเถรสมาคมต่อไป กิจการสิ่งใดที่เป็นมติมหาเถรสมาคมจึงถือเป็นโมฆะ แต่การจะชี้ว่ามหาเถรสมาคมยังทรงมีสถานะอยู่หรือไม่นั้น ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก ว่าแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับตีความหรือเปล่า เพราะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้นระบุไว้ว่า "จะรับเรื่องได้ก็ต่อเมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างองค์กร" เท่านั้น แล้วถามว่า กรณีพิพาทระหว่างพระสงฆ์สายหลวงตาบัวกับมหาเถรสมาคม เป็นความพิพาทระหว่างองค์กรหรือเปล่า ?

    อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามว่าด้วยสิทธิของบุคคล (ไม่ใช่องค์กร) ว่าจะสามารถฟ้องร้ององค์กร (เช่นมหาเถรสมาคม) ได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญไทยมาตราที่ 56 ระบุว่า

     สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
           การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าวทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
           สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

 

     กลับไปดูในรัฐธรรมนูญไทย ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2540 มาตราที่ 38  มีข้อความว่า

     มาตรา 38 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

     ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น

     นั่นเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะสันติอโศกของนายรักษ์ รักพงษ์ นำมาเป็นข้ออ้างในการใช้สิทธิ "ขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ไทย" และถูกวินิจฉัยว่า "ลาออกไม่ได้" นอกจากจะต้องสึกออกไป แล้วถามว่า กรณีหลวงตาบัวนี้ เมื่อประกาศว่าแอนตี้มหาเถรสมาคม ก็แสดงว่า ไม่ยอมรับการปกครองของมหาเถรสมาคม เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลและมหาเถรสมาคมจะทำอย่างไร ?

      ถ้าหากว่า รัฐบาลและมหาเถรสมาคมปล่อยปละละเลย ปล่อยให้หลวงตาบัวประกาศตัวเป็นอิสระ คุมพรรคพวกอยู่แถวๆ อุดรธานี วันดีคืนดีก็ขึ้นธรรมาสน์ด่ามหาเถรสมาคมเป็นหมูเป็นหมา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า รัฐบาลยินยอมให้หลวงตาบัวตั้งนิกายใหม่โดยพฤตินัยได้ เพราะว่า อะไรที่ออกจากมหาเถรสมาคม ย่อมเป็นสิ่งที่หลวงตาบัวและคณะไม่ยอมรับ

     และเมื่อหลวงตาบัวแยกตัวออกไปได้ ต่อไปก็จะมีผู้แยกตาม นั่นคือสำนักสันติอโศกและวัดพระธรรมกาย ซึ่งพร้อมแล้วอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านทุนทรัพย์และบุคคลากร หรือแม้แต่วัดใหญ่ๆ อื่นๆ ที่มีผู้บริหารในแนวหัวก้าวหน้า ก็อาจจคิดตั้งตัวเป็นใหญ่บ้าง

     สิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งก็คือ กรณีที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา 7 ที่ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง" ซึ่งตรงนี้จะเป็นหนทางแห่งการแสวงหาอำนาจของพระสงฆ์ในนิกายต่างๆ ซึ่งมาร่วมกันอยู่ในภายใต้ "คณะสงฆ์ไทย" ในรูปแบบ หัวเดียวแต่หลายหาง นั่นคือปฏิกิริยาโดยอ้อมซึ่งกำลังเป็นภัยใหญ่ต่อคณะสงฆ์ไทยอย่างไม่รู้ตัว เพราะผู้เขียนกฎหมายคิดง่ายๆ แต่เพียงว่า "จะให้พระสงฆ์ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียวเท่านั้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังฆมณฑล" ถามเป็นข้อสุดท้ายว่า การเขียนไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เช่นนี้ ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ และผิดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะว่า

      บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

     ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
4 กุมภาพันธ์ 2547

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264