กรณีตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไหน เพียงใด ?
 


 

     วันนี้เรามาลองวิเคราะห์กรณีตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา 6 เดือน ของรัฐบาลไทย ลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) ซึ่งได้แต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา และพระมหาเถระที่ได้รับแต่งตั้งนั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระในฝ่ายมหานิกาย ประกาศแต่งตั้งนั้นมีข้อความดังนี้

    

ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

     ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวรหลายระบบ และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นปี 2545 นั้น คณะแพทย์ได้ถวายการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนพระอาการบางระบบดีขึ้น สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาลไป ทรงปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นครั้งคราว แต่โดยเหตุที่ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ จึงมีพระภารกิจหลายอย่างที่รัฐบาลและคณะสงฆ์ จำเป็นต้องถวายเพื่อทรงบัญชาการ ทรงตราพระบัญชา ทรงวินิจฉัยสั่งการและทรงลงพระนาม รวมทั้งการที่ต้องทรงปฏิบัติศาสนกิจในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องทรงปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และพระอารามอื่นๆ เช่น วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี และประธานกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งงานในภาระหน้าที่เหล่านี้ หากถวายเพื่อทรงปฏิบัติหรือวินิจฉัยสั่งการทุกเรื่องก็จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระสุขภาพ ประกอบกับทรงมีพระชนมายุสูงถึง 90 พรรษา ครั้นมิได้ถวายให้ทรงลงงาน หรือการดำเนินการล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ ก็อาจกระทบต่อการปกครองคณะสงฆ์ เป็นเหตุให้มีผู้กล่าวอ้างยกขึ้นมาวิจารณ์ อันอาจกระทบต่อพระเกียรติยศได้ เหตุทั้งนี้ เนื่องจากยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้ใดให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

     รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นรัตตัญญูมหาเถระ เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างสูง แม้แต่ชาวต่างประเทศและศาสนิกอื่นก็ยกย่องว่า ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างของผู้รอบรู้ด้านปริยัติและปฏิบัติ เป็นปราชญ์ของพระศาสนาและชาติ
แต่โดยที่พระสุขภาพทรุดโทรมลงตามพระวัสสายุกาล สมควรจัดให้ประทับพักผ่อนเพื่อรับการถวายดูแลรักษาโดยคณะแพทย์อย่างเต็มที่และต่อเนื่องไม่มีภาระงานใดๆ มารบกวน จนก่อให้เกิดความตรากตรำหรือความกังวลพระทัย อีกทั้งเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการบริหารพระศาสนามิให้ต้องสะดุด เพราะขาดผู้รับผิดชอบวินิจฉัย สั่งการหรือบังคับบัญชา ประการสำคัญคือ เพื่อเป็นการรักษาพระเกียรติยศ มิให้มีผู้อ้างพระสุขภาพหรือพระอาการประชวร กระทำการใด อันอาจก่อความเสียหายหรือแอบอ้างนำพระบัญชา พระลิขิต หรือพระนามไปแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

    
อาศัยมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลจึงได้ขอความเห็นจากคณะแพทย์และคณะกรรมการวัดบวรวิหารมีพระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน แล้วนำความเห็นดังกล่าวประกอบกับความเห็นของพุทธศาสนิกชนที่ห่วงใย เสนอที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2547 ซึ่งที่ประชุมมีมติตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 อนุโมทนาสนองข้อเสนอดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว และโดยที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิตร สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์มีอายุถึง 96 พรรษา อีกทั้งยังอาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อันต้องตรากตรำได้เช่นกัน จึงเห็นสมควรให้สมเด็จพระราชาคณะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ลำดับถัดไป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ซึ่งพระราชาทรงไว้วางพระทัย มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของประธานที่ประชุมมหาเถรสมาคมและปฏิบัติศาสนกิจบางเรื่องแทนพระองค์อยู่แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชไปพลางก่อน โดยมีสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะอื่นอีก 5 รูป เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ เป็นคณะร่วมกัน เพื่อช่วยกันในการกลั่นกรองงานและรักษาความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ ดังนี้


1.สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

2.สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

3.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

4.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

5.สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

6.พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่

     ให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในรูปขององค์คณะ มีการประชุมหารือและใช้มติร่วมกัน โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติศาสนกิจในพระนามสมเด็จพระสังฆราช หรือการอันจำเป็นเร่งด่วนก็ให้ดำเนินการไปได้ โดยให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมทำรายงานกราบทูลการปฏิบัติงานต่อสมเด็จพระสังฆราชทุก 30 วัน ในกรณีมีปัญหาสำคัญ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอาจพิจารณากราบทูลหารือสมเด็จพระสังฆราชได้ ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมีพระประสงค์โปรดมีพระบัญชาเรื่องใดตามที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เชิญมาแจ้ง ตามระบบการกลั่นกรองงานที่กำหนดขึ้นอย่างรอบคอบรัดกุม ให้คณะปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชดำเนินการสนองพระบัญชานั้น ทั้งนี้ให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีกำหนดเวลาหกเดือน เว้นแต่คณะแพทย์มีความเห็นก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระอาการดีขึ้นสามารถเสด็จกลับไปทรงงานได้เป็นปกติโดยไม่กระทบพระสุขภาพ หรือมหาเถรสมาคมมีมติเป็นประการอื่น

    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และมาตรา 160 แห่งพระราชกฎษฏีกา ทบวง กรม พ.ศ.2545 นายกรัฐมนตรีจึงขอประกาศนามผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและคณะดังกล่าว

    ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย และพระกุศลกรรมสัมมาปฏิบัติที่สมเด็จพระสังฆราชทรงกระทำบำเพ็ญมาแล้วอย่างยั่งยืนมั่นคง จงอภิบาลรักษาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ทรงพระเกษมสำราญ มีพระสุขภาพพลานมัยดีโดยเร็ววัน เพื่อเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรแก่บรรดาคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดกาลนาน
 

ประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547

ลายมือชื่อ  วิษณุ เครืองาม
(นายวิษณุ เครืองาม)
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี



     ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งและไม่ใช่คณะรัฐบาลก็คือ ประเด็นทางกฎหมาย ในที่นี้ก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 มีข้อความดังนี้

     มาตรา 10 ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

    
ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

     ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน

     ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราช มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตาม
วรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้
ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

    
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ ในราชกิจจานุเบกษา

     นั่นละคือมาตรา 10 อันโด่งดัง เป็นเคสสตั๊ดดี้ที่คอกฎหมายคณะสงฆ์กำลังแกะกันจ้าละหวั่นอยู่ในเวลานี้ ทีนี้เมื่อเอามาตรา 10 มาวางไว้แล้ว ก็ต้องดูต่อไปด้วยว่า เวลาใช้กฎหมายมาตราอะไรนั้น จะใช้เพียงมาตราเดียวเพียวๆ ได้ไหม หรือมีอะไรอื่นอีกบ้างที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาสนับสนุนหรือคัดค้านได้ เราก็ต้องดูสเตปต่อไป นั่นคือ มาตราที่ 73 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีข้อความดังนี้

     มาตรา 73 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองแก่พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันทร์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต

     ก็สั้นๆ ง่ายๆ แต่ที่ไม่ง่ายนั้นก็เพราะ ข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น "กำกวม" คือว่ากว้างเกินไป ต้องใช้แว่นส่อง หมายถึงต้องตีความคำว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองแก่พระพุทธศาสนา" ว่าหมายถึงอะไร อะไรคือความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา การถวายสังฆทานถือว่าเป็นการอุปถัมภ์หรือไม่ คุ้มครองนั้นเล่าต้องเอาตำรวจทหารไปอารักขาพระสงฆ์สามเณรด้วยหรือเปล่า ?? พวกนี้สามารถนำมาตีความได้หมด ที่สำคัญก็คือว่า มาตรานี้สามารถใช้ตีความไปถึงการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราชด้วยได้หรือเปล่า ?

     ทีนี้ก็จะเข้าเรื่องเสียทีละ เราเริ่มกันที่คำสั่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งอ้างเอาพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชมาเกริ่นนำก่อนจะเข้าสู่คำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในคำสั่งนั้นเกริ่นนำสาเหตุไว้หลักๆ 2 ประการ คือ

     1. สมเด็จพระสังฆราชทรงพระประชวร ทำให้ทรงงานได้ไม่เต็มที่

     2. รัฐบาลต้องการให้สมเด็จพระสังฆราชพักรักษาพระองค์ซักระยะ

     จึงได้มีคำสั่งดังกล่าวออกมาข้างต้น นี่เป็นเหตุผลแวดล้อม ส่วนอำนาจหน้าที่นั้น รัฐบาลอ้างเอารัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 มาตราที่ 7. และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 10 มาใช้บังคับ

     ทีนี้ก็จะมีคำถามว่า ถ้าว่ากันตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 10 นั้น การแต่งตั้งเช่นนี้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ทำได้หรือไม่ นั่นคือว่า ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชยังไม่สิ้นพระชนม์ (คือยังไม่ตาย) ไม่ได้เสด็จออกนอกประเทศ หรือยังไม่ป่วยทุพพลภาพถึงขนาดว่าทรงงาน (ทำงาน) ไม่ได้ รัฐบาลมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ในการออกคำสั่งดังกล่าว ?

     มาตรา 10 นั้น แม้ในวรรคสุดท้ายจะเขียนไว้ว่า "ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราช มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งการจะใช้วรรคนี้ได้นั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือรัฐบาลต้องปฏิบัติตามวรรคแรก ๆ มาก่อน เช่น

     ถ้าสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชทันที

     ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์รูปนั้นก็ตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพ คือว่ารับงานไม่ไหว คราวนี้ก็ให้อำนาจแก่มหาเถรสมาคมพิจารณาเลือกสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์รองลงมา ขึ้นปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทน ถ้าองค์มีอาวุโสรองนั้นยังไม่ไหวอีก ก็ให้ลดอาวุโสลงมาจนกว่าจะได้ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

     ถ้าสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปต่างประเทศ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งก็ดี ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน (ตรงนี้มิได้ระบุว่า ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสโดยพรรษาหรือโดยสมณศักดิ์ เรียกว่าเป็นการให้สิทธิและอำนาจแก่สมเด็จพระสังฆราชเต็มๆ)

     ทีนี้ก็มาถึงวรรคสุดท้ายที่ว่า "ถ้าสมเด็จพระสังฆราชเสด็จออกไปนอกประเทศโดยมิได้ตั้งผู้รักษาการแทนพระองค์ หรือทรงประชวรจนไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้นำเอาข้อความตามวรรค 1 และวรรค 2 ในมาตราที่ 10 นี้มาบังคับใช้โดยอนุโลม" ตรงนี้หมายถึงว่า ถ้าไม่มีสมเด็จพระสังฆราช (คือทรงสิ้นพระชนม์) ก็ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุดขึ้นปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทนทันที แต่ว่าวรรคนี้มิได้นำมาบังคับใช้ เพราะว่าสมเด็จพระสังฆราชยังมีอยู่ คือยังไม่สิ้นพระชนม์ รัฐบาลจึงอ่านข้ามไปอีกวรรคหนึ่ง จนถึงวรรคที่ 2 ที่ว่า "ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช"

     มาตรานี้แหละที่ถูกรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นำมาอนุโลมบังคับใช้ในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา จนเกิดปัญหาวุ่นวายไปทั่ว

     ปัญหานั้นก็มาจากการตีความพระราชบัญญัตินี้ในมาตราที่ 10 ตามลำดับนั่นแหละ คือผู้คัดค้านเขาถามว่า ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชยังไม่สิ้นพระชนม์ มิได้เสด็จไปต่างประเทศ และยังไม่ทุพพลภาพถึงขนาดว่าทรงงานไม่ได้ (เพราะปรากฏว่ายังสามารถตรัสได้ และเสด็จลงอุโบสถสดับพระปาฏิโมกข์ได้อย่างปกติภาพ) แล้วรัฐบาลอ้างได้อย่างไรว่า พระองค์ทรงไม่สามารถจะปฏิบัติพระภารกิจได้

     คำถามนี้ นายวิษณุ เครืองาม นักกฎหมายมือหนึ่งของเมืองไทย อธิบายว่า "ที่ว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่สามารถทรงงานได้นั้น มิได้หมายความว่าทรงป่วยถึงขั้นนอนให้น้ำเกลือหรือใช้อ๊อกซิเจ้นช่วยหายใจ หากแต่ว่าทรงไม่สามารถจะปฏิบัติงานได้อย่างเป็นปกติ" กรณีนี้นายวิษณุยกตัวอย่าง นายกรัฐมนตรีที่ติดภารกิจอื่นหรือเจ็บป่วยด้วยโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถจะตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้

     ทางฝ่ายผู้คัดค้านก็ค้านว่า นั่นมันกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้รักษาการแทน หากแต่ในกรณีแต่งตั้งครั้งนี้ ปรากฏว่านายวิษณุลงมือเซ็นต์เองเสร็จสรรพ โดยที่สมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงรับทราบมาก่อนเลย แสดงว่ารัฐบาลนี้ย่ำยีพระเกียรติยศสมเด็จพระสังฆราช เป็นการตั้งสังฆราชซ้อน ! จึงต้องขอคัดค้านว่า คำสั่งดังกล่าวผิดกฎหมาย !

     ถามว่า ผิดกฎหมายอะไร ? ก็ตอบว่า กฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 10 นี่แหละ เพราะข้ออ้างของรัฐบาลนั้นฟังไม่ขึ้น !!! อีกมาตราหนึ่งซึ่งรัฐบาลทำผิดอย่างจัง ก็คือ รัฐธรรมนูญไทยมาตราที่ 11 มีข้อความดังนี้

     มาตรา 11 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

     คำว่า ฐานันดรศักดิ์ นั้นนับรวมถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย การที่รัฐบาลทำอุกอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบ้ติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเสียเอง จึงน่าจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญข้อนี้ด้วย

     รัฐบาลก็อ้างเอารัฐธรรมนูญมาครอบจักรวาลลงไปว่า รัฐบาลตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้ไม่ผิด เพราะว่ารัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองแก่พระพุทธศาสนา ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 73 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2535 เป็นเพียงกฎหมายลูก จะขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าขัดก็แสดงว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2535 นั้น เป็นโมฆะ จะต้องแก้ไข

     ในกรณีนี้ก็มีกรณีเทียบเคียง สด ๆ ร้อน ๆ ที่เราท่านคงจะทราบกันดีก็คือเรื่องนามสกุล ซึ่งมีนางผณินทรา ภัคเกษม ผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การที่กฎหมายบังคับให้สตรีผู้แต่งงานต้องใช้นามสกุลสามีนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 มาตราที่ 30 ซึ่งมีข้อความว่า

     มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
           ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
           การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

     ดังนั้น กฎหมายหรือพระราชบัญญัติชื่อบุคคล ซึ่งออกใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ก็เป็นอันว่า "โมฆะ" เพราะว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพิ่งจะคลอดออกมาในปี พ.ศ. 2540 นี่เอง แต่รัฐธรรมนูญก็ใหญ่กว่ากฎหมายลูก และตรงนี้จะตีชิ่งไปถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 ซึ่งถ้าจะเอามาตีความแข่งกับมาตรา 73 ก็น่าจะเป็นโมฆะ คือว่าฝ่ายรัฐบาลย่อมชนะแหง ๆ

     แต่เราก็ต้องมาตีความกันต่อไปว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 10 นั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 73 หรือไม่ ? ถ้าไม่, ก็แสดงว่า รัฐบาลทำผิดทั้งกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 และผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ต้องยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งสถานเดียว !

      แต่ถ้าหากว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็แสดงว่า รัฐบาลทำถูกต้องแล้ว ถึงจะไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ก็อย่าไปใส่ใจ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมสูงสุดอยู่แล้ว

      แต่ยังก่อน การจะชี้ว่า "ขัดหรือไม่ขัด" "ผิดหรือไม่ผิด" นี้ นายวิษณุ หรือนายทองก้อน หรือหลวงตาบัว ก็ไม่มีสิทธิ์ชี้ขาด ผู้มีอำนาจชี้ขาดนั้นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่า ถ้าจะให้คำสั่งนี้เคลียร์ ว่ารัฐมีอำนาจในการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานเดียว ซึ่งก็ออกหวาดเสียวอยู่ เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความเข้าข้างรัฐบาลก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า "รัฐบาลทำผิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 และผิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตราที่ 73" ดังนี้ ก็ซี้ม่องเท่งกันทั้งคณะแน่ และโดยเฉพาะนายวิษณุ เครืองามนั้น ก็จะตกชั้นจากมือกฎหมายอันดับที่ 1 ไปเป็นอันดับบ๊วยในสารบัญนักกฎหมายไทย อันจะส่งผลให้เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายต้องเด้งจากก้นไปอีกต่างหาก นี่..เดิมพันมันสูงฉะนี้แหละโยม

      อย่างไรก็ตาม เมื่อจะมีการลากเอาคำสั่งนี้ไปสู่กระบวนการตีความ ว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ซึ่งฝ่ายที่ไม่ยอมรับก็หาเหตุผลอ้างอิงว่า รัฐบาลละเมิดอำนาจสมเด็จพระสังฆราช เพราะ

     1. สมเด็จพระสังฆราชยังไม่สิ้นพระชนม์

     2. สมเด็จพระสังฆราชมิได้เสด็จออกนอกประเทศ

     3. สมเด็จพระสังฆราชมิได้ป่วยทุพพลภาพถึงขนาดว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ (ถึงจะป่วยก็ไม่หนักหนาสาหัสอะไร ยังคงมีพระปฏิสัณฐานคือคุยได้ ทั้งยังเสด็จลงพระอุโบสถได้ด้วย)

     4. การแต่งตั้งครั้งนี้ รัฐบาลรวบรัดตัดความทำไปแต่ฝ่ายเดียว โดยสมเด็จพระสังฆราชมิได้รับรู้ด้วย แสดงว่ารัฐบาลไม่เห็นสมเด็จพระสังฆราชในสายตา เป็นการจาบจ้วงพระอำนาจอย่างบังอาจที่สุด

     5. ถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจ ไฉนจึงไม่นำความขึ้นขอคำปรึกษาจากสมเด็จพระสังฆราชก่อน

     6. การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าให้ชอบธรรมแล้ว รัฐบาลควรจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบก่อน ก็จะเป็นการสวยงาม ดีกว่าทำแบบหักพร้าด้วยเข่าอย่างนี้

     7. มหาเถรสมาคมมีอำนาจมากว่าสมเด็จพระสังฆราช เพราะว่าบังอาจออกมติตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยที่สมเด็จพระสังฆราชผู้ยังทรงมีพระสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่แท้ ๆ ยังไม่รู้เรื่องเลย และ

     8. ในคำสั่งนั้นระบุว่า "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว" มิได้บอกว่า "ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช" คือไม่มีคำว่า "แทน" ก็แสดงว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์จริงเสียงจริง คำสั่งของรัฐบาลจึงเป็นการตั้งสังฆราชซ้อนขึ้นมาอีกองค์

     รวมความตามข้อ 8 นี้ก็คือว่า ปัจจุบันวันนี้มีสมเด็จพระสังฆราชแล้ว 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุขวฑฺฒโน ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร (ฝ่ายธรรมยุติ) สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 และองค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ฝ่ายมหานิกาย) รัฐบาลแต่งตั้งในวันที่ 13 มกราคม 2547

     และข้อสุดท้ายนี้ยังตีชิ่งไปถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มาตราที่ 11 เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีข้อความว่า

     มาตรา 11 สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         
(1) มรณภาพ
          (2) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
          (3) ลาออก
          (4) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

     ทีนี้เมื่อสมเด็จพระสังฆราชยังไม่มรณภาพ ยังไม่สึก ยังไม่ลาออกเอง และยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากตำแหน่ง แล้วถามว่า รัฐบาลเอาอำนาจอะไรไปปลดพระองค์ไม่ให้ทรงงาน !

      ประมวลปัญหาข้อกฎหมายคณะสงฆ์และรัฐธรรมนูญทั้ง 8 ข้อนี้ รัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร แก้ตัว เอ๊ย แก้ต่างว่า

     รัฐบาลจำเป็นต้องออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพราะว่า

     1. ทรงป่วยด้วยพระโรคหลายโรค รัฐบาลได้รับคำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า สมเด็จพระสังฆราชพระชนมายุมากถึง 90 กว่าพรรษาแล้ว ควรพักรักษาพระองค์ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดซักระยะ

     2. เนื่องเพราะทรงป่วยนั้น ทำให้ทรงงานได้ไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงจำต้องตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน (คำว่าแทนในที่นี้เป็นคำอธิบาย ไม่ได้ใช้ในการแต่งตั้ง)

     3. การกระทำดังกล่าวของรัฐบาล ถือว่าทำไปด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสังฆราช ปรารถนาให้พระองค์มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทยของพุทธศาสนิกชนชาวไทยไปอีกตราบนานเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์อย่างอื่นแอบแฝง

     4.     ข้อที่ว่ารัฐบาลไม่ได้ปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก็เพราะไม่อยากรบกวนพระองค์ท่าน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำคนเดียว โดยได้ปรึกษาคณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ขอความเห็นจากคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศน์ ทั้งขอคำปรึกษาจากมหาเถรสมาคม ซึ่งมีมติให้ดำเนินการแต่งตั้งดังกล่าวในวันที่ 9 มกราคม 2547 ที่ผ่านมาแล้วด้วย

     5. การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นไปเพียงระยะเวลาชั่วคราวเพียง 6 เดือนเท่านั้น หากว่าคณะแพทย์มีมติว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระวรกายแข็งแรงแล้ว พระองค์ก็อาจจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ดังเดิม หรือไม่ถ้าหากมหาเถรสมาคมมีมติออกมาใหม่ให้ยกเลิกคำสั่งนี้ ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

     6. การแต่งตั้งครั้งนี้มิได้แต่งตั้งแต่เพียงองค์เดียว หากยังมีคณะผู้กลั่นกรองงานถวายผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอีกด้วย (ทั้งนี้เพื่อให้อุ่นใจไม่ต้องพะวงว่า ลำพังสมเด็จพระพุฒาจารย์จะดำเนินงานคณะสงฆ์แต่เพียงลำพัง) ความตรงนี้ยังอาจชี้ด้วยว่า "รัฐบาลมิได้ตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หากแต่ในประกาศก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพียงแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นหัวหน้าคณะเท่านั้น"

     7. เรื่องของถ้อยคำ ที่ระบุไว้ในคำสั่งว่า "เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" นั้น เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ระบุไว้เช่นนั้น รัฐบาลจำต้องทำไปตามตัวบทกฎหมาย ถ้า พ.ร.บ. คณะสงฆ์เขียนไว้เป็นอย่างอื่น รัฐบาลก็ต้องเขียนเป็นอย่างอื่นไปเช่นกัน สรุปประเด็นที่ 5 นี้ นายวิษณุระบุว่า "ถ้าจะผิดก็ผิดตรงที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์เขียนไว้เช่นนั้น ทำให้ตนเองต้องทำตาม"

     8. (ข้อนี้สำคัญ) คือเพื่อตัดปัญหากรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ครั้งหลังสุดคือ ทรงตั้งพระราชรัตนมงคล เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งถูกทักท้วงว่าถูกต้องตามกระบวนการหรือเปล่า เหตุไฉนพระราชาคณะแค่ชั้นราช (ซึ่งยังอยู่ในขั้นต่ำมาก) จึงได้รับการแต่งตั้ง เพราะแม้ว่าจะทรงมีพระอำนาจแต่งตั้งได้ แต่ตามประเพณีที่ผ่านมา พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นมักจะเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม (คือสูงกว่าชั้นราชอีกสองชั้น) เป็นอย่างต่ำ ทำให้พระราชรัตนมงคลจำต้องยอม "ถอนสายบัว ขอลาออกไป" ภายหลังจากได้รับแต่งตั้งไม่กี่วันเอง

     ประเด็นข้างเคียงที่ถูกปล่อยข่าวออกมาเรื่อย ๆ เกี่ยวกับพระลิขิตและเรื่องอื่น ๆ ที่กระทบกับพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราชก็คือ เรื่องห้องกระจกและเรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์

     1. ห้องกระจก ไม่ทราบว่ากระจกใสหรือกระจกทึบ แต่มีเสียงซุบซิบนินทาออกมาแซ๊ดแซ่ด ! ว่า "ศิษยานุศิษย์ในห้องกระจกวัดบวรนิเวศนั้น มีอิทธิพลเหนือสมเด็จพระสังฆราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ มล. จิตติ นพวงศ์ ผู้ได้รับฉายาว่า  "เจ้าแม่ห้องกระจก"

     ม.ล. จิตติ นพวงศ์ เป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นอย่างยิ่งในคดีธรรมกาย เมื่อหลายปีที่ผ่านมา คราวนั้นได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า

     ต่อไปนายไชยบูลย์จะยิ่งเหิมเกริม เพราะถือว่าไม่มีใครกล้าทำอะไร ต่อไปธรรมกายคงครองเมืองเพราะผู้มีอำนาจไม่จัดการเด็ดขาด รู้สึกสลดใจอย่างยิ่ง ไม่เกี่ยวกับแพ้หรือชนะ ไม่รู้ว่าบ้านเมืองเราเป็นอะไรไป แต่ก็เห็นใจพนักงานสอบสวน คงมีคนที่เหนือกว่ามีอำนาจมากกว่ามาครอบงำตำรวจ

     สมเด็จพระสังฆราชทราบเรื่องดี ทุกสิ่งทุกอย่างท่านเก็บไว้ในพระทัย ถึงวันนี้พระพุทธศาสนายังอยู่ได้ แต่พระสงฆ์ดี ๆ และผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะพากันงงไปหมด เหมือนกับที่สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวไว้ว่าจะทำให้เกิดสังฆเภท เกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์

     ปัญญาคนไม่เท่ากัน ถ้าหากยังปล่อยธรรมกายลอยนวลจะทำให้หัวใจของคนไม่มีศาสนา ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วบ้านเมืองเราจะอยู่ได้อย่างไร เพราะเมื่อมีพระเห็นแก่ปัจจัย ทำอะไรเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน จะทำอะไรก็ขอร้องให้เห็นแก่สถาบันหลักเอาไว้ คนที่เอาเงินไปจ้างคนไปจ้างพระ คิดหรือว่าเขาจะกตัญญู เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ก็ไม่ทำให้คนอกตัญญูกลายเป็นคนกตัญญูขึ้นมาได้

     ซึ่งธรรมกายยังสงสัยอีกว่า พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชที่วินิจฉัยว่า พระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระไปแล้วนั้น เป็นผลงานการสร้างของเจ้าแม่ห้องกระจกด้วยหรือเปล่า ? ก็เอาเป็นว่า ม.ล. จิตติ นพวงศ์ ถูกหมายหัว (ไม่ใช่หมายศาล) จากทางวัดพระธรรมกาย หมายเลขต้น ๆ มาจนบัดนี้

     2. เรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์ รัฐบาลปูดข่าวว่า เงินที่รัฐบาลถวายสมเด็จพระสังฆราชใช้จ่ายเป็นการส่วนพระองค์ปีละ 23 ล้านบาทนั้น มีการทุจริตฉ้อฉลของคนใกล้ชิด ซึ่งอาจจะมีทั้งพระและฆราวาส อีกทั้งพระเครื่องที่สมเด็จพระสังฆราชทรงพกติดตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากจะทรงเก็บไว้ในประคตเอวเป็นจำนวน 7-8 เส้น มีทั้งพระสมเด็จวัดระฆัง พระซุ้มกอ พระนางพญา พระกริ่งปวเรศ และพระเครื่องยอดนิยมอื่น ๆ มูลค่าถ้าเซียนพระเห็นแล้วก็คงน้ำลายไหล พระเครื่องเหล่านี้ ปัจจุบันวันนี้ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใคร ใครเอาไปก็ยังจับมือดมไม่ได้ และบางองค์นั้นเป็นของพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ใครเอาไปก็ถือว่าบังอาจที่สุด

     ประเด็นสุดท้ายที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ ทำไมต้องเป็นสมเด็จเกี่ยว ! และเพราะเป็นสมเด็จเกี่ยวหรือเปล่า ที่ทำให้หลวงตาบัวและนายทองก้อนร้อนก้นร้อนกุฏิออกมาตีตราว่า เป็นสังฆเภท ! เรื่องนี้เห็นทีจะต้องร่ายกันยาว

     ท้าวความหลังในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่กันนิดหนึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์หรือสมเด็จเกี่ยวนั้น แต่ก่อนร่อนชะไรก็ไม่ดังเท่าใดนัก ไม่มีใครทราบด้วยซ้ำไปว่าท่านเทศน์เก่ง จนมาเกิดเรื่องธรรมกาย เมื่อมีหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน ออกมาแฉความฉ้อฉลของวัดพระธรรมกายซึ่งมีเจ้าอาวาสนามว่า พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

     ตอนนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ได้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ว่า "แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเอง" หมายถึงว่า แมลงวันถึงจะเหม็นอย่างไรก็ไม่รังเกียจ ไม่ทำลายกัน ท่านเอาแมลงวันมาเปรียบเทียบกับพระสงฆ์ โดยเฉพาะกรณีธรรมกายที่พระธรรมปิฎกเขียนว่า ถึงแม้พระจะชั่วช้าเพียงไหน ก็ไม่ควรประจานพระด้วยกันเอง ไม่กัดกันเอง ไม่ฆ่ากัน ต้องรักกันเหมือนแมลงวัน คือกอดคอกันเหม็นเข้าไว้

     ตรวจสอบย้อนไปถึงภูมิประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) กับวัดพระธรรมกาย ปรากฏว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์กลายเป็น "ธรรมกาย" ระดับแนวหน้า เนื่องเพราะ

     1. ท่านรับเป็นประธานสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ของวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีพระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6) เป็นเจ้าอาวาส

     2. มีมูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกายตั้งอยู่ในวัดสระเกศ

     นอกนั้นยังเคยสังฆกรรมกับคณะธรรมกายอยู่บ่อย ๆ การออกมาเทศน์เรื่องแมลงวันดังกล่าวของสมเด็จเกี่ยวจึงเกี่ยวกับความหลังครั้งเก่าแน่นอน มิใช่เรื่องธรรมะธัมโมที่ยกขึ้นมากล่าวลอย ๆ ภาพของสมเด็จเกี่ยวจึงเกี่ยวข้องกับกรณีธรรมกายในฐานะผู้อุปถัมภ์และผู้อยู่เบื้องหลังวัดพระธรรมกายที่คนทั่วไปมอง และที่สำคัญก็คือ ท่านไม่ได้ออกมาปฏิเสธภาพที่คนมองเหล่านี้เลย การไม่ปฏิเสธนั้นตีความง่าย ๆ ก็คือการยอมรับดี ๆ นี่เอง

     หลังจากนั้นก็มีกรณีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ซึ่งร่างโดยคณะกรรมการซึ่งได้รับการมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ร่างเสร็จแล้ว สมเด็จเกี่ยวในฐานะประธานการประชุมมหาเถรสมาคม (เพราะสมเด็จพระสังฆราชไม่ยอมเข้าร่วมประชุมมหาเถรสมาคม หลังจากมหาเถรสมาคมไม่ดำเนินการตามพระวินิจฉัยให้พระธัมมชโยสึก) ก็นำเอาร่างพระราชบัญญัตินั้นไปมอบให้พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่วัดสระเกศ แถมกำชับด้วยว่า "ขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ"

     หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว พระกรรมฐานภาคอีสานแห่งจังหวัดอุดรธานี ศิษย์หางแถวของหลวงปู่มั่น ผู้โด่งดังจากวีรกรรม "บิณฑบาตเงินทองช่วยชาติ" ได้ประกาศพาพระสงฆ์สายอีสานกว่า 5000 รูป ไปประชุมกันที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการนิคคหกรรมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ในข้อหา เกี่ยวข้องกับการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขัดกับพระธรรมวินัย ละเมิดพระราชอำนาจ บังอาจเขียนให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้คัดเลือกผู้จะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่

     ครั้งนั้น หลวงตาบัวตีปลาหน้าไซ ประกาศปรับอาบัติสมเด็จเกี่ยวหลายกระทง เช่น

     1.สิกขาบทที่ 10 แห่งอาบัติสังฆาทิเสส (การกระทำให้เกิดความแตกแยก)

     2.สิกขาบทที่ 1 แห่งมุสาวาทวรรคในอาบัติปาจิตตี (การพูดกลับไปกลับมา) โดยกรณีนี้ทางคณะสงฆ์เห็นว่า สมเด็จเกี่ยวพูดกลับไปกลับมากรณียื่น พ.ร.บ.สงฆ์

     3. สิกขาบทที่ 4 แห่งสุราปานวรรค ในอาบัตปาจิตตีย์ (การกระทำที่ขาดสติ และไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย)

     ท้ายที่สุดนั้นยังมีมติให้รัฐบาล "ถอน" ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจากรัฐสภาเสียดี ๆ  หาไม่แล้วพระสงฆ์ธรรมยุติสายหลวงตาบัวทั้งหมดจะพร้อมใจกัน "สละชีวิตเพื่อรักษาพระธรรมวินัย" หมายความว่า จะพร้อมใจกันฆ่าตัวตาย

     ผลของการประชุมคณะพระธรรมยุติในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลยอมอ่อนข้อ "ส่งร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่กลับคืนไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาใหม่" จนบัดนี้ร่วม 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าไปถึงไหน

     ในกรณีเดียวกัน การนิคคหกรรมสมเด็จเกี่ยวของพระป่าสายหลวงตาบัวนั้น ก็หายเงียบไปเหมือนคนละเมอ วันดีคืนดีก็ยกพวกมาตะโกนเย้ว ๆ เดี๋ยวเดียวก็กลับ ทั้ง ๆ ที่มติของพระป่าสายหลวงตาบัวนั้นเป็นข้อหาฉกาจฉกรรจ์นัก เนื่องเพราะ

     1. เป็นการกล่าวโทษพระระดับสมเด็จพระราชาคณะ โดยพระที่มีสมณศักดิ์ต่ำกว่า

     2. เป็นการเล่นข้ามนิกาย

     ทางสมเด็จพระพุฒาจารย์เอง ก็เหมือนจะใช้หลัก "เมตตา" ต่อกรณีดังกล่าว ทั้งๆ ที่ยืนยันมาหลายกระแสว่า สมเด็จเกี่ยวไม่ได้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติแต่เพียงผู้เดียว แต่ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าท่านเกี่ยวนั้น นอกจากชื่อเดิมของท่านจะชื่อ "เกี่ยว" แล้ว ท่านยังเกี่ยวข้องในขั้นตอนต่อไปนี้คือ

     1. เป็นประธานในการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จนถึงปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข จนพอใจแล้ว จึงลงมติให้ "ผ่าน"

     2. เมื่อผ่านร่างไปเรียบร้อยแล้ว น่าจะส่งผ่านสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมตามระเบียบราชการ แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านกลับนำเอาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปมอบให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมตรี ที่วัดสระเกศ ในงานทำบุญวันเกิดของท่าน ทำให้ภาพชัดเจนเข้าไปอีกขั้นว่า "สมเด็จเกี่ยวต้องเกี่ยวข้องแน่ๆ" โดยเฉพาะที่ท่านกำชับกับนายกรัฐมนตรีว่า "ขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระใดๆ"

     ดังนั้น จะว่าสมเด็จเกี่ยวไม่เกี่ยวก็ไม่ได้ เพราะท่านเกี่ยวข้องจริง ๆ แต่เราจะมาวิเคราะห์ถึงประเด็นทางพระธรรมวินัยและทางการปกครองดังต่อไปนี้

     กรณีทางพระธรรมวินัย ที่คณะหลวงตาบัวโจทย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ด้วยข้อหาอาบัติหลายตัวนั้น จะเป็นจริงหรือไม่ ข้อนี้ยังไปไม่ถึง เราขอพูดถึงแต่เพียงว่า ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว คณะสงฆ์มหานิกายและธรรมยุตินั้น ถือว่าเป็นนานาสังวาสของกันและกัน ก็หมายถึงว่า ไม่อยู่ร่วมกัน ไม่ลงทำสังฆกรรม เช่น อุโบสถ สวดปาติโมกข์ ร่วมกันเป็นต้น เพราะถ้าลงทำสังฆกรรมก็ถือว่าผิดพระวินัย สังฆกรรมนั้นก็เป็นโมฆะ คือใช้การไม่ได้

     ทีนี้ การที่หลวงตาบัวเล่น "ข้ามโต๊ะ" กล่าวโทษสมเด็จเกี่ยวเช่นนี้ ถามว่า ถูกตามพระวินัยบัญญัติไหม ? มีผลทางพระวินัยหรือไม่ ? คำตอบก็คือ ไม่มีผลอะไรเลย แต่จะว่าไม่มีผลเลยก็คงว่าไม่ได้ เพราะอย่างน้อยก็มีผลต่อรัฐบาลที่ยอมถอย และมีผลในทางมวลชนอีกทางหนึ่งด้วย

     การออกมา "นิคคหกรรมกล่าวโทษสมเด็จเกี่ยว" ของหลวงตาบัวครั้งนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการ "ตีปลาหน้าไซ" หรือคือการดิสเครดิตสมเด็จพระพุฒาจารย์อย่างตรง ๆ และที่น่าแปลกก็คือ ไม่มีปฏิกิริยาอะไรจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ซึ่งถูกกล่าวโทษ หรือแม้แต่จากศิษย์ผู้ใกล้ชิด เช่น พระธรรมสิทธิเวที (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) วัดสระเกศ ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วยผู้หนึ่ง

     โดยนัยยะที่กล่าว่า เป็นการตีปลาหน้าไซ นั้น เนื่องเพราะหลวงตาบัวคงเห็นแล้ว่า อย่างไรเสียสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) คงได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแน่ แต่ด้วยความไม่ยอมรับมาแต่เดิม จึงรีบออกมาทำนิคคหกรรมกล่าวโทษสมเด็จเกี่ยวเอาไว้ก่อน จะผิดหรือถูกก็ไม่สนล่ะ เพราะหลังจากประกาศนิคคหกรรมแล้ว หลวงตาบัวก็ไม่ได้ตั้งศาลสงฆ์ทำการสืบสวนสอบสวนและเรียกสมเด็จเกี่ยวไปให้การแต่อย่างใด แต่หลวงตาบัวกลับตั้ง "ศาลเตี้ย" ประกาศไม่เอากับสมเด็จเกี่ยวทันที ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่ก็ไม่สนใจ อย่างนี้หมายความว่ายังไง ???

      ที่หลวงตาบัวและคณะเล่นงานสมเด็จเกี่ยวแบบ "รวดเดียวจบ" เช่นนี้ ถือว่าเป็นเกมที่คลาสสิกมาก เพราะว่าเป็นการ "ไม่ยอมรับสมเด็จเกี่ยวในฐานะผู้นำ"  ไม่ว่าจะนำระดับไหนก็ไม่สนใจ แต่เกมที่หลวงตาบัวเปิดออกมาเล่นเช่นนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะว่า ถ้าหากไม่รีบประกาศไม่ยอมรับเสียตอนนี้ ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อ จนกระทั่งว่าสมเด็จเกี่ยวได้เป็นสังฆราชขึ้นมาจริงๆ ถึงตอนนั้นหลวงตาบัวก็คงไม่สามารถจะกระทำอะไรสมเด็จเกี่ยวได้ งานนี้จึงต้องใช้ยุทธการตีปลาหน้าไซ คือไม่ยอมรับสมเด็จเกี่ยวเสียก่อนจะได้เป็นสังฆราชนี่แหละ

     ตรงนี้บานปลายไปอีก 2 ประเด็น คือว่า

     1. ถ้าหากสมเด็จเกี่ยวได้เป็นสังฆราชขึ้นมาจริงๆ แล้ว หลวงตาบัวจะทำอย่างไร (ผู้เขียนขอตอบว่า หลวงตาบัวจะประกาศอิสระไม่ยอมรับ และไม่ขออยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม โดยจะขออยู่ในการปกครองของพระธรรมวินัยแทน) หมายถึงว่า หลวงตาบัวจะตั้งตัวเป็นสังฆราชในแถบทางอีสานเสียเอง

     2. เป็นปัญหาทางด้านมวลชน เมื่อหลวงตาบัวขนพระป่ามาที่วัดอโศการามนั้น มีพระมาร่วมเป็นพันๆ รูป ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึง "เพาเวอร์" หรือ "พลัง" แห่งศรัทธาของพระป่าเหล่านั้นที่มีในหลวงตาบัว เขาไม่ได้มาด้วยอามิสสินจ้างหรือว่าด้วยอำนาจการบังคับการใด ๆ มีแต่ใจให้กันล้วน ๆ แล้วถามว่า ถ้าสมเด็จเกี่ยวหรือสมเด็จองค์อื่น ๆ จะทำอย่างหลวงตาบัวบ้างจะมีพระมามากเช่นนั้นหรือ อันนี้ผู้เขียนขอประเมินว่า "น่าจะสู้หลวงตาบัวไม่ได้"

     ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะว่าสมเด็จพระราชาคณะในมหาเถรสมาคมนั้น มีอำนาจวาสนาล้นฟ้าก็จริง แต่ว่าไม่มีพระคุณ คือดำรงตำแหน่งอยู่แต่ในเมืองกรุง ปกครองก็บังคับบัญชาผ่านเจ้าคณะภาค ทำให้ตีนไม่ติดดิน พระบ้านนอกแทบไม่มีใครรู้จักเลยว่า สังฆราชชื่ออะไร สมเด็จหรือกรรมการมหาเถรสมาคมมีใครบ้าง ดังนั้น คำสั่งที่ออกไปจึงเป็นเหมือนคำสั่งมหาดไทย ใช้แต่พระเดชเพียงด้านเดียว ต่างกันกับหลวงตาบัว ซึ่งอยู่คลุกคลีกับบรรดาศิษยานุศิษย์เคารพนับถือไปมาหาสู่กัน ทีนี้พอเกิดเรื่องเกิดราวอะไรขึ้น ขอแรงกันไปทำอะไรก็ไม่มีใครขัด เขายินดีไปช่วยเหลือโดยไม่ต้องว่าจ้าง สรุปว่า ถ้าวัดกันเรื่องพลังแล้วหลวงตาบัวกินขาด

     จริงอยู่ แม้ว่ากำลังของหลวงตาบัวซึ่งมีประมาณไม่เกิน 5,000 รูปนั้นจะดูไม่มากหากเทียบกับจำนวนพระสงฆ์ทั้งประเทศกว่า 300,000 รูป แต่ความเหนียวแน่นเอาจริงเอาจังถึงระดับ "สู้ตาย" นั่นต่างหากที่จะวัดพลังกันได้จริง ๆ แม้แต่วัดพระธรรมกายก็เถอะ ถ้าไม่เอาเงินล่อมีหรือพระจะไปร่วมงานกันล้นวัด เพราะพวกที่มาด้วยเหยื่อ ถ้าไม่มีเหยื่อให้กินมีหรือเขาจะมา

     ด้านศรัทธาในพุทธศาสนิกชน ตรงนี้สมเด็จเกี่ยวก็ตกเป็นรองอีก เพราะคนเขาเชื่อหลวงตาบัวมากกว่าสมเด็จเกี่ยว ที่สำคัญ สมเด็จเกี่ยวเป็นถึงสมเด็จ แต่หลวงตาบัวเป็นพระบ้านนอก สมณศักดิ์ก็เป็นแค่ชั้นธรรม แต่เล่นเลื่อนชั้นขึ้นมาต่อยกับสมเด็จ ถ้าสมเด็จลงไปคลุกวงในด้วยก็เสียระดับ แต่ถ้าปล่อยให้หลวงตาบัวด่าเอา ๆ ก็เสียเหลี่ยมเช่นเดี่ยวกัน วิบากกรรมของสมเด็จเกี่ยวในครั้งนี้ยังมิมีทีท่าว่าจะลงเอยไปในทางไหน

     ถามอีกว่า พระราชบัญญัติฉบับปรุงใหม่นี้ ส่วนใหญ่ก็ใช้ร่างเก่า คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขใหม่ พ.ศ.2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งยึดอำนาจรัฐไว้โดยคณะ ร.ส.ช. เมื่อมีการแก้ไขใหม่ในปี พ.ศ. 2544 เขาก็เอาอันเก่ามาขัดสีฉวีวรรณ โดยเฉพาะมาตราที่ 10 เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก็มิได้เปลี่ยนแปลงอะไร พูดง่าย ๆ ก็คือว่า มาตราที่ให้มหาเถรสมาคมเลือกสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์ ( คือได้รับการต่างตั้งเป็นสมเด็จก่อนเพื่อน ไม่ใช่เอาอายุพรรษาเป็นเกณฑ์) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแทนองค์เดิมที่มรณภาพไปนั้น มีมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว เหตุไฉนหลวงตาบัวจึงเพิ่งจะมาโวยวายเอาในปี 2545 ซึ่งมาตรามีมีใช้มานานร่วม 10 ปีแล้ว คำตอบนี้เห็นทีต้องถามหลวงตาบัวเอง หรือถ้าขี้เกียจไปถามท่านก็ขอได้โปรดอ่านทบทวนกรณีธรรมกายเสียใหม่ คงจะพอเห็นทางได้บ้าง

     ปัญหาครั้งนี้สะท้อนสังคมสงฆ์ไทยในหลายระดับ นับตั้งแต่โครงสร้างมหาเถรสมาคม ไล่ลงไปจนถึงการปกครองในท้องถิ่น ยิ่งเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่มีปัญหากันอยู่นี้ยิ่งมีข้อสงสัยหนักว่า มหาเถรสมาคมเอาอำนาจอะไรไปแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติ แล้วก็ส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่เป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศกว่า 350,000 รูป ทำไมไม่มีใครรู้เลย รวบรัดตัดความเอาเองหมด ทำเหมือนกับว่ามหาเถรสมาคมคือเจ้าของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยฉะนั้นแหละ พฤติกรรมของมหาเถรสมาคมครั้งนี้ก็ชี้ได้ว่า "ดำเนินการเผด็จการเต็มรูปแบบ"

     พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D) อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวไว้ในหนังสือพระธรรมทูต (มหานิกาย) รุ่นที่ 8 มีใจความว่า

     แรกนั้นเริ่มที่กรมการศาสนา ในปี พ.ศ. 2544 มหาเถรสมาคมได้รับเรื่องจากกรมการศาสนาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ด้วยเหตุผลว่า "รัฐบาลกำลังจะยุบกระทรวงศึกษาธิการ กรมการศาสนาก็จะถูกย้ายไปอยู่ในกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในชื่อใหม่ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม" ทีนี้ก็ยังมีปัญหาต่อไปอีกว่า ในสำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมนั้น ยังจะมีคณะกรรมการเป็นคนจากศาสนาต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันบริหารพระพุทธศาสนาอีกศาสนาละ 1 คน คือ ศาสนาพุทธ 1 คน คริสต์ 1 คน อิสลาม 1 คน ฮินดู 1 คน และซิกซ์ 1 คน รวม 5 คน ทั้งหมดนี้จะช่วยกันบริหารกิจการศาสนาทุกศาสนา ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม และอื่น ๆ

     เมื่อมหาเถรสมาคมได้รับรายงานดังนั้นก็ไข้ขึ้น เพราะกลัวว่าคณะกรรมการศาสนาอื่น ๆ จะรวมตัวกันโหวตเสียงเอาชนะตัวแทนจากพุทธศาสนา เพราะว่าเขาให้โควต้าศาสนาละ 1 คนเท่ากัน นั่นจึงเป็นที่มาของการออก "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับโครงสร้างงานพระพุทธศาสนา" ประกอบด้วย พระภิกษุ 9 รูป คฤหัสถ์อีก 2 คน มีพระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการ

     พระเทพโสภณเล่าต่อไปว่า ทีแรกก็ถกเถียงกันอยู่เพียงประเด็นว่า กรมการศาสนาเดิมและมหาเถรสมาคมนั้นจะอยู่อย่างไร จะไปอยู่ในกระทรวงใหม่หรือว่าจะออกไปสร้างเรือนหออยู่ใหม่ แล้วก็มีผู้คิดชื่อใหม่ให้กรมการศาสนาว่า "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"

     สำนักงานนี้จะมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อรัฐมนตรีท่านใด หากแต่จะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว พูดง่าย ๆ ก็เหมือนกับทบวงมหาวิทยาลัยหรือกรมอิสระที่ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีมักจะมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลแทน เพียงแต่ว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะมีสถานะสูงส่งกว่ากรมนิดหน่อย

     ต่อมาก็มีตัวแปร คือท่านว่า เมื่อคณะกรรมการลงมือร่างหลักการบริหารของตนเองเช่นนี้ ทางคณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ) ซึ่งมีอำนาจพิจารณายุบ-โอน-ย้าย กรมการศาสนามาแต่เดิม พอเห็นว่าพระจะย้ายกรมการศาสนาไปเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นอิสระเสียเอง ก็บอกกับพระว่า "เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของ ส.ป.ศ." ขอให้พระที่อยากเป็นอิสระจะไปหาที่อยู่เอง ก็นิมนต์ไปจัดทำโครงสร้างทางกฎหมายเอาเอง แปลว่า ถ้าเก่งนักก็ทำเองเถิด

     การโยกย้ายกรมการศาสนาไปอยู่นอกกระทรวงศึกษาธิการในชื่อใหม่ว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในครั้งนี้ จะย้ายกันง่าย ๆ แบบว่าเช่ารถยูฮอร์มาขนของไปเลยนั้นไม่ได้ ราชการต้องมีระเบียบแบบแผน โดยเฉพาะก็คือต้องมีกฎหมายรองรับ และกฎหมายเก่าเกี่ยวกับกรมการศาสนาในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้นก็คือมาตราที่ 13 มีข้อความว่า

     มาตรา 13 ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งและให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

     แค่เนียะ คือสองบรรทัดเอง ถ้าเป็นผู้เขียนก็แก้ซักห้านาทีก็เสร็จ แต่ว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น คือพระเทพโสภณท่านระบุว่า ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ และ ดร. วิษณุ เครืองาม ได้ถวายความเห็นแก่คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ว่า "ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ในเมื่อจะแก้มาตราที่ 13 แล้ว ทำไมไม่แก้ทั้งฉบับไปเลย จะปรุงจะแต่งยังไม่ก็ใช้โอกาสนี้แหละเหมาะสมที่สุด เพราะกว่าจะรอให้มีปฏิวัติอีกก็คงนาน" และนั่นจึงเป็นที่มาของการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ. 2535 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

     เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้เห็นจะเป็นสารคดีเรื่องยาว ต้องสาวกันไปเป็นร้อยปีจึงจะกระจ่าง ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นพันปีแล้ว ที่ชาวไทยรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติ สมัยก่อนเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าอยู่หัวทรงอำนาจสิทธิ์ขาด จะประกาศอะไรเป็นกฎหมายใครก็ต้องฟัง และก่อน พ.ศ. 2367 (รัชกาลที่ 2) นั้น ยังมีคณะสงฆ์ไทยเพียงนิกายสงฆ์เดียว เรียกว่า นิกายอริยกะ

      พอถึงปี พ.ศ. 2367 สมเด็จเจ้าฟ้าวชิรญาณ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามโบราณประเพณีเมื่อทรงพระพระชนมายุ 20 พรรษา แต่ครั้นผนวชได้เพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต เสนาอำมาตย์ยกกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระโอรสในรัชกาลที่ 2 แต่ต่างพระมารดากับเจ้าฟ้ามงกุฎ (เจ้าฟ้ามงกุฎประสูติแต่พระอัครมเหสี) ขึ้นเสวยราชย์ ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎต้องทนอยู่ในผ้าเหลืองเพื่อลี้ภัยทางการเมืองต่อไป ไม่งั้นก็อาจจะเหมือนเรื่องศรีสุริโยทัย

     ในขณะผนวชนั้น พระภิกษุวชิรญาณทรงไปเลื่อมใสในพระมอญชื่อพระสมชาย แห่งวัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) จึงได้สมัครพระทัยทำการอุปสมบทซ้ำที่แพในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดราชาธิวาส มีพระสมชายเป็นพระอุปัชฌาย์ และด้วยความมีพระบารมีมาก จึงทรงให้กำเนิดคณะธรรมยุติขึ้นมาในคราวนั้น และเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สวรรคตแล้ว พระภิกษุวชิรญาณ เจ้าคณะธรรมยุติ และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ก็ปริวัตรลาสิกขาออกมาครองราชย์ ภายหลังจากทรงรอคอยเป็นเวลานานถึง 27 ปี ปีที่ขึ้นครองราชย์นั้น สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุได้ 47 ปี

     จากนั้น คณะธรรมยุติก็เติบใหญ่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2396 ถึง พ.ศ. 2547 เป็นเวลา 150 ปีนั้น เป็นของมหานิกายแค่ 11 ปี นอกนั้นฝ่ายธรรมยุติครองอำนาจเสีย 139 ปี มีสังฆราชฝ่ายมหานิกาย 3 องค์ นอกนั้นเป็นฝ่ายธรรมยุติ 7 องค์ ทั้ง ๆ ที่ถ้านับจำนวนประชากรพระสงฆ์ทั้งหมดแล้ว พระในฝ่ายมหานิกายมีมากกว่าฝ่ายธรรมยุติกนิกายถึง 10 เท่า

     พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น เริ่มมีเป็นหลักเป็นฐานก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มีเนื้อหาสาระคือ ยกระดับคณะธรรมยุติซึ่งโนเนมขึ้นเป็นคณะหนึ่งในบรรดาคณะทั้ง 5 คือ คณะใหญ่หนกลาง หนเหนือ หนใต้ คณะอรัญญวาสี และคณะใหญ่ธรรมยุติ และต่อมาก็เหมือนว่า คณะธรรมยุติได้เข้ายึดครองคณะอรัญญวาสีไปด้วย (ผู้ที่สนใจเรื่องนี้ กรุณาดูในจุลสารพระธรรมทูต วัดไทย ลาสเวกัส ฉบับที่ 5) และพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติก็ได้สิทธิ์ในการปกครองพระมหานิกายเรื่อยมา พระมหานิกายจึงเป็นเสมือนลูกเมียน้อย เขาให้อะไรก็ต้องเอา เพราะแผ่นดินนี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เราไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะเราไม่ใช่ลูกพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน คณะธรรมยุตินั่นต่างหาก เขาเป็นเชื้อเจ้า เพราะว่าถือกำเนิดจากเจ้า จึงควรเป็นเจ้านาย

     นี่ว่ากันตามสภาพความเป็นจริง สมัยนั้นมันสมบูรณาญาใครจะกล้าหือ ขนาดสมัยนี้ที่ว่าประชาธิปไตยเต็มใบ พอพูดเรื่องนิกายสงฆ์ขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็บอกว่า "เป็นเรื่องของคนมีกิเลส อยากเป็นใหญ่ และจะไม่ยอมให้มีสองสังฆราชเด็ดขาด" แต่เรื่องความถูกต้องชอบธรรมกลับไม่นำพามาพูด หรือทำอะไรให้มันถูกต้อง ตะทีทางบ้านเมืองก็เรียกร้องหาประชาธิปไตย อ้างเอาความบริสุทธิ์ยุติธรรมทางสิทธิและเสรีภาพ ได้คะแนนเสียงมา 10 ล้านเสียง ก็โอ่ว่า "ประชาชนเลือกผมมาเป็นรัฐบาล" แต่พอเรื่องคณะสงฆ์กลับบอกว่า "อยู่นิ่งๆ ในระบอบเผด็จการปกครองของพระราชบัญญัติฉบับเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์และคณะ ร.ส.ช. น่ะ ดีแล้ว"

      นี่แหละคือเกมการเมืองเรื่อง "นิกาย" ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีที่รัฐบาลตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชใน พ.ศ. นี้ ซึ่งมีทั้งกรณีธรรมกาย เรื่องห้องกระจก ฯลฯ เข้ามาผสม

    สรุปปัญหาทางคณะสงฆ์ที่ยังคาราคาซังกันอยู่ก็คือ

     1. กรณีธรรมกาย ยังค้างศาลสงฆ์ ที่มีพระธรรมโมลี เจ้าคณะภาค 1 วัดพิชยญาติการาม เป็นประธานตามกฎนิคคหกรรม

     เมื่อพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) วัดยานนาวา อดีตเจ้าคณะภาค 1 ทำงานกรณีธรรมกายไม่เดินหน้า ปรากฎว่าถูกสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปลดกลางอากาศ จนตรอมใจไปตายที่ประเทศพม่า แล้วสมเด็จพระมหาธีราจารย์ก็ตั้งพระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) ลูกศิษย์ในสายวัดชนะสงครามที่ส่งออกไปกินตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แทน แต่จนป่านนี้ ล่วงเลยมา 3 ปีกว่าแล้ว กรณีธรรมกายที่มีพระธรรมโมลีคุมคดีอยู่นั้น ก็ยังเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย และเราก็ไม่เห็นว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์จะกระเหี้ยนกระหรือปลดพระธรรมโมลีออกจากตำแหน่งเหมือนครั้งพระพรหมโมลีแต่อย่างใด หรือว่ากรณีธรรมกายเป็นเพียงเกมให้พระธรรมโมลีได้ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เท่านั้น ขอถามสมเด็จพระมหาธีราจารย์ว่า เมื่อไหร่เล่าครับ พระเดชพระคุณฯ จะปลดพระธรรมโมลีออกจากเจ้าคณะภาค 1 ?

     2. กรณีพระราชบัญญัติฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศ มอบให้นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไปนั้น ถูกดองได้สองปีกว่าแล้ว คงเค็มปิ๊ดปี๋แน่แล้ว ยังมิมีทีท่าว่าจะเสร็จออกมาเมื่อไหร่ มันต่างกับกฎหมายค้า ๆ ขาย ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกระวีกระวาดไล่ลูกออกมาให้ทัน

     3. คำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งดูท่าว่าจะเกิดการเผชิญหน้ากันสถานเดียว ถ้าไม่ฝ่ายหลวงตาบัวแพ้ (ซึ่งจะต้องประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคม และอาจจะถูกข้อหาแบบอดีตพระโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก เป็นรายต่อไปอีก) ก็ต้องรัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งหมายถึงว่า นายวิษณุ เครืองาม ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแบ็คอัพคือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอำนาจทางการเมืองแน่นปั๋ง

     งานนี้ไม่ใครก็ใครต้องไปกันข้างหนึ่ง 1. หลวงตาบัวผู้มีคนศรัทธาแน่นปั๋ง ต้องไป หรือไม่ก็ 2. นายกทักษิณจะ พพพ. พังเพราะพระ

     ส่วนผู้เขียน ขอติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ที่ วัดไทย ลาสเวกัส  เมืองคาสิโน่ในฝันของรัฐบาลไทย ร้อนก็เปิดแอร์ เย็นก็เปิดฮีตเตอร์ หนาวก็หาผ้าห่มนอน ลาก่อนคืนนี้ good night..

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
1 กุมภาพันธ์ 2547

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264