กรณีแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.
2505

บังคับให้วัดทั่วราชอาณาจักรต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย

หาไม่จะมีโทษ

 

 

01

 

ว่าจะไม่เขียนแล้วเชียวนา เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของวัดนี่ เพราะผู้เขียนก็แค่ "สมาชิกคนหนึ่ง" ของคณะสงฆ์ไทย มิได้มีวาสนาบารมีอะไรจะไปห้ามใครไม่ให้ทำอะไร คณะสงฆ์ไทยมีทั้ง "สมเด็จพระสังฆราช" เป็นองค์พระประมุข และมี "มหาเถรสมาคม" เป็นรัฐบาลบริหารกิจการพระศาสนา แถมยังมีเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ตั้งแต่ระดับ หน-ภาค-จังหวัด-อำเภอ-ตำบล-หมู่บ้าน ปกครองตามลำดับชั้น "ลดหลั่นกันไป" แบบว่ามีเครือข่ายคลุมอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ส่วนพระมหานรินทร์นั้นกระจอก "ไม่มีตำแหน่งแห่งหนอะไรเลย" ในประเทศไทย เพราะได้ย้ายตัวเองออกไปปฏิบัติงานที่เรียกว่า "ปฏิบัติศาสนกิจ" ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ.2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาโน่นแล้ว

วัดไทยลาสเวกัส ที่ตั้งขึ้นมา ว่าโดยกฎหมายก็มิได้อยู่ในบังคับของรัฐบาลไทย ถึงจะสังกัดคณะสงฆ์ไทยก็โดยพฤตินัย ในทางนิตินัยนั้นมิได้สังกัด ดังนั้น ถึงรัฐบาลไทยจะออกกฎหมาย "บังคับ" ให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้ง วัดราชบพิธ ของสมเด็จพระสังฆราช ให้ต้องชี้แจงรายรับ-รายจ่ายเป็นรายปี ต่อรัฐบาล (ผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ก็ไม่มีผลอะไรกับวัดไทยลาสเวกัส กฎหมายที่จะบังคับวัดไทยลาสเวกัสได้นั้น ต้องเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพราะมันคนละประเทศ ดังนั้นจึงว่า ไม่มีผลต่อวัดไทยลาสเวกัสที่ผู้เขียนพำนักอยู่ แต่จะมีผลในทางอ้อม ก็เพราะว่าผู้เขียนเป็นพระไทย ยังมีครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก และญาติโยมพุทธศาสนิกชน ทั่วประเทศไทย ที่เคารพนับถือ รู้จักมักคุ้น และเกื้อกูลกันอยู่ และตัว "สายใย" ที่ว่านี้แหละ จะให้ผู้เขียน "นิ่งดูดาย" แบบว่าธุระไม่ใช่ ก็ใช่ที่

ตอนเข้ารับการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศนั้น ท่านเตือนว่า "ให้ไปเผยแผ่พระธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก โดยไม่จำกัดเพศพรรณวรรณะและเชื้อชาติศาสนา" เราก็ท่องจำไว้ในใจเรื่อยมา แบบว่าฝรั่งมังค่าเดือดร้อน เดินเข้าวัดมาขอข้าวขอปลา เราก็ยังมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือไปตามสมควร แต่เมื่อวัดวาอารามพระศาสนาในประเทศไทยอันเป็นญาติใยของเรา เกิดปัญหาเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จะให้พวกเรา-เหล่าพระธรรมทูต นิ่งดูดายได้อย่างไร นี่มิใช่แรงบันดาลใจ แต่เป็น "จิตใต้สำนึก" ที่มิใช่แค่พระธรรมทูตเท่านั้นมี แต่คนไทยทุกคนก็ย่อมจะรู้สึกรักถิ่นฐานบ้านเรือนและประเทศชาติ โดยสัญชาติญาณ

ข่าวสารล่าสุดในทางพระศาสนาในประเทศไทย ที่ผู้เขียนรับทราบผ่านสื่อออนไลน์นั้นมีเนื้อหาดังนี้

 

สปท.ชงแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด 3,700 แห่ง ทั่วประเทศ
 

สปท. ชง ครม. แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์-กฎกระทรวง ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่ง ออกกฎให้วัดส่งรายการบัญชีทรัพย์สินให้สำนักงานพระพุทธศาสนาตรวจสอบความโปร่งใส เผย 92 วัด อู้ฟู่มีรายได้ 30 ล้านต่อเดือน

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.60 ที่รัฐสภา นายบวรเวท รุ่งรุจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬาศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. เห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจสอบได้

โดยมีข้อเสนอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นำเสนอมหาเถรสมาคม (มส.) ให้พิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ให้ทันสมัยสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันและบังคับใช้ได้จริง อาทิ การกำหนดให้ พศ. มีอำนาจตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดและต้องรายงานผลการตรวจสอบให้ มส. นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ โดยวัด 37,000 แห่งทั่วประเทศ ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดตามเกณฑ์มาตรฐานที่ พศ.กำหนด ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมดตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อส่งให้ พศ. ตรวจสอบความโปร่งใสว่า มีความถูกต้องหรือไม่จากเดิมที่เพียงให้วัดส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้ พศ. เก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่มีการตรวจสอบทั้งนี้หาก พศ. ตรวจสอบแล้วพบความไม่โปร่งใสสามารถดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายได้

นายบวรเวท กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะนำข้อเสนอของ กมธ. ส่งให้ ครม. และ พศ. เพื่อไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม กมธ. ยังกังวลว่าจะได้รับความร่วมมือจากวัดในการตรวจสอบทรัพย์สินหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้หารือกับวัดถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพียงแค่เชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลความเห็นเท่านั้น ทั้งนี้จากการแบ่งกลุ่มประเภทของวัดพบว่ามีวัด 92 แห่ง มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาทต่อเดือน

 

 

ก่อนจะมาถึงบทบาทของ สภาปฏิรูปประเทศ (สปท) นั้น มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่า จะมีการออกกฎหมายบังคับให้พระภิกษุสามเณรทุกรูปทุกองค์ ต้องแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย ให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาทราบ แรกนั้นก็กำหนดไว้กว้างๆ ว่า "พระภิกษุสามเณรที่มีรายได้เกินหมื่น ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน" แต่นานเข้าก็กลายเป็นว่า "ห้ามพระภิกษุสามเณรรับทรัพย์สิน ไม่เว้นแม้แต่สังฆทาน" ปรากฏว่าถูกชาวบ้านโห่ฮาป่า เพราะว่าเขารับสังฆทานมานานนับพันปี ไม่เคยมีกฎหมายอะไรมาบังคับ เพราะการให้ทาน (Donation) เป็นการให้โดยสมัครใจ ให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้ ให้เท่าไหร่ก็ได้ ไม่ให้เลยก็ได้ แล้วจะเอาอะไรไปบังคับทั้งผู้ให้และผู้รับเล่า เพราะเขามิได้ทำผิดกฎหมาย เช่น รับของโจร เป็นต้น เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรรับเงินทองก็เงียบหายไป

ต่อมา ก็มีข่าวอีกว่า จะมีการออกกฎหมาย "ห้ามพระสงฆ์รับมรดก" แบบว่าให้ตัดญาติขาดมิตรกับพ่อแม่และญาติพี่น้องตั้งแต่วันเข้าโบสถ์ โดยทางผู้จะออกกฎหมายย้ำว่า "เพราะผู้บวชในสมัยปัจจุบันมิได้มุ่งมั่นในการสละกิเลส แต่เป็นการบวชตามประเพณีเท่านั้น" ครั้นจะหาคนบวชเพื่อสละกิเลสจริงๆ ตามที่ต้องการก็หายาก เพราะถ้าจะเอาจริงก็ต้องออกกฎหมาย "ใครบวชต้องบวชจนตาย ใครบวชแล้วสึกต้องถูกประหารชีวิต" ถ้าทำได้จริงก็รับรองว่าพระพุทธศาสนาจะบริสุทธิ์ผุดผ่องอำไพ ไม่มีใครสึกเลย แต่ก็จะไม่มีใครบวชเช่นกัน ว่ากันว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ่านข่าวนี้แล้วก็ควันออกหู พูดกลางที่ประชุม ครม. ว่า "สงสัยไอ้พวกนี้ (สมาชิก สปท) มันไม่มีอะไรทำหรือไง ถึงได้อุตริคิดบ้าๆ แบบนี้" เรื่องก็จึงเงียบหายไปอีก

ต่อมา ในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 มีข่าวสะเทือนใจพุทธศาสนิกชนไทยทั่วโลก เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมสามเณรรูปหนึ่ง ในวัดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่สืบหาสาเหตุก็พบว่า "มาจากเรื่องเงินๆ ทองๆ ภายในวัด" ซึ่งวัดนี้มีทรัพย์สินมากมายหลายสิบล้าน ภายในวัดมีมาเฟียทั้งผ้าเหลืองผ้าลาย กินเงินวัดกันสนุกสนาน ใครขวางทางก็กำจัด เพื่อจะกำราบมาเฟียให้อยู่หมัด ทางการถึงกับต้องส่งทหารเข้าคุ้มครองวัดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคืนสู่ปกติ

และทีนี้ก็มีการ "รับลูก" หรือโหนกระแสฆาตกรรมเณรปลื้มวัดวังตะวันตกนี้แหละ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน เจ้าเก่า ก็เอาเรื่องเณรปลื้มมาขยายผล นำเรื่องใหม่ไปยำเข้ากับเรื่องๆ เก่า (รวมทั้งวัดพระธรรมกาย) โยงไยให้สังคมไทยคล้อยตาม และเห็นว่า "ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำการปฏิรูปพระพุทธศาสนาอย่างถึงรากถึงโคน" โดยชี้เป้าไปที่ "เงินทอง" ของวัดต่างๆ ว่าคือตัวปัญหาให้พระศาสนาเสื่อมโทรม ถ้าจัดระเบียบวัดว่าด้วยเงินทองได้ ก็จะไร้ปัญหาที่ว่านี้ทันที

"ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก" ภาษิตไทยว่าไว้เช่นนี้ เรื่องเณรปลื้มยังมิทันจางหาย เรื่องลำไย เอ๊ย เรื่องประนอม ก็เข้ามาแทรก โดยจู่ๆ ในเช้าวันที่ 8 มิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป) ได้สนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นทั่วประเทศไทยเป็นจำนวนมากมายถึง 12 จุดด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ บ้านเลขที่ 89/5 หมู่บ้านธนาภิรมย์ ถนนศรีนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นบ้านพักของ "นางประนอม คงพิกุล" รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ตกเช้าวันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เจ้านายของนางประนอม คงพิกุล ก็ให้สัมภาษณ์นักข่าว ระบุว่า "มีการทุจริตงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ถวายบำรุงวัดต่างๆ โดยวิธีการ "ทอนเงิน" คือคืนเงินที่ถวายไปสูงถึง 75-80 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน"

ต่อมาก็มีการ "แฉรายชื่อ" วัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุนและมีรายการ "ทอนเงิน" ที่ว่านี้ จำนวน 12 วัดด้วยกัน 2 ใน 12 นั้น เป็นวัดดังที่ใครๆ ก็รู้จัก คือ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งทั้งคู่เป็นพระอารามหลวง

ข่าวทอนเงินบำรุงวัดนี่แหละ ที่เป็น "หอกโมกขศักดิ์" ของ สปท. จะนำไป "ทะลวง" กำแพงวัดทั่วประเทศ ให้มีรูสามารถดูได้ ผ่านบัญชีที่ต้องรายงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ "เป็นกฎหมาย" หากใครทำผิดก็มีสิทธิ์ติดคุก ไม่ว่าพระหรือกรรมการญาติโยมที่เกี่ยวข้อง เพราะมีการตีความว่า สมบัติของวัดก็คือสมบัติของพระศาสนาๆ ก็คือ สมบัติของแผ่นดิน ใครโกงเงินวัดก็เท่ากับโกงเงินแผ่นดิน ความผิดก็น่าจะน้องๆ ประหารชีวิต

ตกวันที่ 13 มิถุนายน ศกนี้ สปท. โดย นายบวรเวท รุ่งรุจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬาศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ให้สัมภาษณ์ตามเนื้อข่าวข้างต้น โดยใจความก็คือ สปท. จะแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2505) บังคับให้วัดต่างๆ ต้องแจ้งบัญชีรายรับ-รายจ่าย แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยทั้งนี้ "จะมีบทลงโทษกำกับ" สำหรับวัดที่ฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎหมาย

 

02

 

"ข่าวสารที่คลาดเคลื่อน ข้อมูลที่ไม่ตรงประเด็น แต่ถูกนักฉวยโอกาสทางการเมือง โยงให้เป็นเรื่องเป็นราว" ต้องกล่าวเช่นนี้ คือมีการอ้างถึงคดีเณรปลื้ม วัดวังตะวันตก นครศรีธรรมราช ว่าวัดแห่งนี้มีปัญหา จึงต้องสังคายนาวัด "ทั่วประเทศ" ว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งถ้ามองแค่ปัญหา "หน้าหนังสือพิมพ์" มันก็ถูกเผง แต่ถ้ามองให้กว้าง วัดทั่วประเทศไทยร่วมๆ 40,000 วัด (สี่หมื่นวัด) มีปัญหาไม่กี่วัด ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คงไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป การจะอ้างคดีวัดวังตะวันตกไปบังคับวัดทั่วประเทศก็จะเป็นการขยายผลที่เกินจริงไปไม่หน่อยเลย แบบว่าเป็นฝีที่ปลายเท้า แต่ต้องผ่าตัดทั้งตัวรวมทั้งหัวด้วย อะไรประมาณนั้น

เงื่อนงำต่อมา กรณีที่ ปปป. เข้าตรวจค้นบ้านพัก "นางประนอม คงพิกุล" รอง ผอ.พศ. และกลายเป็นการปูดรายชื่อวัดทั่วประเทศ จำนวน 12 วัด ว่ามีส่วนร่วมในการทุจริตทอนเงิน มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ระหว่างปี พ.ศ.2555-2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ "นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์" ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธ กรณีนี้มีการชี้ด้วยว่า เป็นการทำลายเครือข่ายนายนพรัตน์ ซึ่งมีนางประนอม เป็นหุ้นส่วนใหญ่อยู่ด้วย

ซึ่งถ้าหากเราเท้าความกลับไปอีก ก็จะพบว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2555 มีข่าวใหญ่ในทางศาสนา เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้สนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นและจับกุม "นายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์" ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา พร้อมเงินสดจำนวน 3.2 ล้านบาท (สามล้านสองแสนบาท)

โดยเจ้าหน้าที่ได้แถลงข่าวว่า เริ่มต้นนั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับแจ้งจาก "พระครูบริหารสังฆานุวัตร" เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ขอให้ตรวจสอบความพิรุธ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณการจัดกิจกรรมและการเผยแผ่ ของวัดชลธาราวาส ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ประการใด

โดยโครงการนี้นั้น ทางวัดชลธาราวาส ได้รับแจ้งจาก นายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์ ผอ.พศจ.สงขลา ว่าทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาท) ถวายให้แก่วัดชลธาราวาส หากทางวัดได้รับแล้ว ให้หักไว้ใช้จ่ายในโครงการเป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท ที่เหลืออีก 3,200,000 บาท ให้นำไปมอบให้แก่นายเสถียร เพื่อจะได้นำไปถวายวัดอื่นๆ ต่อไป โดยได้นัดหมายให้ทางวัดชลธาราวาสนำเงินสดไปมอบให้ที่ลานจอดรถ ห้างโลตัส สาขาอำเภอเมืองสงขลา ในเวลา 17.30 น. ของวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2555

วัดชลธาราวาสเห็นเป็นผิดสังเกต จึงสั่งการให้พระครูบริหารสังฆานุวัตร ให้แจ้งแก่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้าทำการตรวจสอบ จนกระทั่งสามารถจับกุมนายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์ พร้อมกับของกลางได้ในที่สุด

แต่คดีมาพลิก เมื่อ นางประนอม คงพิกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ส่วนกลาง) ซึ่งถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการของสำนักพุทธฯ ได้ให้การว่า "นายเสถียรมิได้ทำผิด แต่อาจจะผิดในขั้นตอนของการทำงาน" ซึ่งก็น่าจะเป็นการ "ให้วัดเบิกเงินสดไปให้ที่โลตัส" นั่นเอง

สรุปว่า รายการกินเงินวัดที่สงขลา

1. นางประนอม คงพิกุล รอดตัวไปเฉียดฉิว ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดวินัย แต่คณะกรรมการให้ทำทัณฑ์บนไว้ หมายถึงว่าคาดโทษ ซึ่งเป็นลหุโทษ

2. นายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์ ผิดวินัยร้ายแรง แต่ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2559 นายเสถียรก็ถูกนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ผอ.พศจ.สงขลา

ถึงการสอบสวนทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจบลงไปแล้ว รวมทั้งอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง แต่ทางอื่นนั้นหายังจบไม่ โดยทาง ปปช. ได้เรียกขอสำนวนจากอัยการมาสอบสวนต่อ จนกระทั่งขยายผลนำไปสู่การค้นบ้านพักของนางประนอม คงพิกุล ในเช้าวันที่ 8 มิถุนายน ศกนี้ ที่ผ่านมา แล้วเลยลามปามกลายเป็นประเด็นให้ทาง สปท. นำไปขยายผล จ่อออกกฎหมายบังคับให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย รวมทั้งกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนอีกต่างหาก

ตรงนี้ขอย้ำว่า การตรวจสอบการทุจริต "เงินทอน" ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น เริ่มมาจาก "วัดชลธาราวาส" จังหวัดสงขลา ที่เห็นท่าไม่ดี จึงให้พระครูบริหารสังฆานุวัตร ไปแจ้งเบาะแสแก่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จนเรื่องบานปลายใหญ่โตถึงทุกวันนี้

พูดง่ายๆ ก็คือว่า การตรวจสอบการทุจริตในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติครั้งมโหฬารในประวัติศาสตร์นี้ มีพระวัดชลธาราวาสเป็นผู้กล้าชี้เบาะแส ถึงจะได้เงินมามากมายก็มิได้สนใจ แต่สนใจในความยุติธรรม จึงนำไปสู่การชำระสะสางอย่างที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก

แต่แปลกว่า ไม่มีใครให้เครดิตวัดชลธาราวาสเลย !

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เอย นายบวรเวท รุ่งรุจี เอย สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท) เอย ก็ไม่เคยเอ่ยถึง "วีรกรรม" ของพระสงฆ์ไทยที่เป็นผู้นำในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการเงินในครั้งนี้ โทษทีเถิด มีแต่คนโหนกระแสตีกิน

ไม่ให้เครดิตพระยังไม่พอ พวกนี้ยังนำเอาเรื่องเหล่านี้ มากล่าวหาวัดวาอารามต่างๆ ว่า ร่วมมือกับข้าราชการสำนักพุทธฯ (บางคน) ทำการฉ้อฉลโกงงบประมาณแผ่นดินไปเสียอีก ถึงได้ร่ำๆ จะออกกฎหมายบังคับวัดให้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักพุทธฯ ทุกบาททุกสตางค์ ดังกล่าว

 

03

 

 

หลักการตรวจสอบวัด และองค์กรอื่นๆ ที่มิใช่หน่วยงานราชการ

 

ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกระหว่าง "หน่วยงานราชการ" กับ "หน่วยงานนอกราชการ" ซึ่งก็เปรียบเทียบง่ายๆ ได้แก่ ประชาชนคนธรรมดา กับข้าราชการ ที่มีเบี้ยหวัดเงินเดือน กินเงินหลวงหรือเงินภาษีของราษฎร ซึ่งสองประเภทนี้จะมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องรายได้และอำนาจหน้าที่

ประชาชนคนธรรมดานั้น เขาทำมาหากินเองโดยสุจริต ไม่ได้รับราชการ ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ใคร (แต่ถ้าใครมีอำนาจโดยไม่มีกฎหมายรองรับก็จะกลายเป็นผู้มีอิทธิพล ถ้าเป็นฝ่ายดีก็จะเป็นผู้มีบารมี ถ้าเป็นฝ่ายเลวก็จะเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นเจ้าพ่อ มาเฟียต่างๆ) ประชาชนจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปรายงานทรัพย์สินให้แก่ใคร ถ้าหากว่าได้มาโดยสุจริต (ยกเว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเข้าข่ายแห่งกฎหมายที่ให้ต้องชี้แจงแสดงที่ไปที่มา เช่น ทรัพย์สินอันเป็นมรดก หรือทรัพย์สินอันเข้าข่ายกฎหมายฟอกเงิน) แต่ถึงจะได้มาโดยสุจริต ก็มีลิมิต (พิกัดหรือเพดานของรายได้) เช่นว่า ถ้ามีรายได้เกิน 100,000 บาท ต่อปี จะต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ต่ำกว่านั้นไม่ต้องเสีย ส่วนร้านค้าอาคารสถานที่ต่างๆ ก็จะมีการเสียภาษีแยกออกไปตามประเภทอีกนับร้อยนับพันรายการ จะว่าประชาชนถูกรัฐควบคุมตรวจสอบเรื่องรายได้ และการจ่ายภาษีอยู่ทุกคนเป็นนิจสิน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ว่าได้

แต่การที่ว่า "บุคคลธรรมดาไม่มีหน้าที่ต้องชี้แจงรายได้ให้แก่รัฐ" นั้น หมายถึง รายได้ที่ได้มาโดยสุจริตและไม่อยู่ในขอบข่ายแห่งกฎหมายที่จะต้องชี้แจง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่มีความสงสัย ก็ย่อมจะสามารถขอตรวจสอบได้ โดยยื่นขอต่อศาลให้ออกหมายค้น หมายเรียก หรือหมายจับ อีกทั้งรัฐก็มีอำนาจในการตรวจสอบประชาชนได้ทุกคนอยู่แล้ว ตามกฎหมายความมั่นคง ซึ่งครอบจักรวาล อย่านับแต่จะแค่ตรวจสอบบัญชีเลย แม้แต่ดักฟังโทรศัพท์ ล้วงตับอีเมล์ หรือข้อมูลอีเล็กโทรนิกส์ รัฐก็มีอำนาจทำ ทั้งเคยทำในอดีต ปัจจุบันก็ยังทำ และทำกันในทุกประเทศ

และทีนี้ว่า กรณีทรัพย์สินของวัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย หมายถึงว่า มิใช่หน่วยงานของรัฐ ถึงจะมีการระบุว่า "พระสังฆาธิการเป็นเจ้าหน้าที่" ก็ยังตีความไม่สะเด็ดน้ำ ว่าหมายถึงอะไร เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ประเภทไหน เพราะถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วถามว่า พระสังฆาธิการ ได้รับสิทธิและผลประโยชน์อะไรจากรัฐเหมือนข้าราชการทหารตำรวจและพลเรือนบ้าง ? ดังนั้น การจะลงโทษพระสังฆาธิการ (เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน กรรมการมหาเถรสมาคม) เหมือนข้าราชการทั่วไปนั้น จึงไม่สมเหตุสมผล ดังกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยกหลักกฎหมายว่าด้วยการรับของกำนัลของข้าราชการ ว่าต้องไม่เกิน 3,000 บาท (สามพันบาท) ก็จะบังคับพระสงฆ์ "ห้ามรับปัจจัยเป็นการส่วนตัวเกิน 3,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นสังฆทานหรืองานอะไรก็ตาม" ปรากฏว่าฟังไม่ขึ้น ไม่สามารถออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ เพราะพระสังฆาธิการมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว หากว่ามีการออกกฎหมายจริง ก็ต้องยื่นให้ "ตุลาการรัฐธรรมนูญ" เป็นผู้วินิจฉัย ดังกรณีแม่ชี ที่ถูกวินิจฉัยว่า มิใช่นักบวช เป็นต้น

ทีนี้ก็มาถึง "รายได้ของวัด" ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. รายได้จากการบริจาคของบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการถวายสังฆทาน ผ้าป่า กฐิน หรือทำบุญตามโอกาส มากบ้างน้อยบ้าง ถือว่าประชาชนถวายให้แก่วัดด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ได้มาโดยชอบ รัฐไม่มีสิทธิ์ห้ามประชาชนบริจาค และไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการเงินประเภทนี้ กรณีนี้ กฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดให้วัดและมูลนิธิต่างๆ อยู่ในประเภทนี้ กำหนดว่า หากองค์กรนั้นๆ มีรายได้เกิน 50,000 ดอลล่าร์ ต่อปี ต้องยื่นบัญชีแสดงรายรับ-รายจ่าย หากต่ำกว่านั้นก็ไม่ต้องแจ้ง นั่นหมายถึงว่า การออกกฎหมายว่าด้วยการแสดงทรัพย์สิน ก็ต้องมีมูลค่าพอประมาณเช่นกัน ดังกฎหมายที่ระบุให้ประชาชนที่มีรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อปี ต้องยื่นบัญชีเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ถ้าต่ำกว่านั้นก็ไม่ต้องยื่น ถือเป็นมาตรฐานเดียวกัน

2. รายได้จากการบำรุงของรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นเงินบำรุงวัดของรัฐบาล ที่สั่งจ่ายผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่นใด เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นต้น เงินประเภทนี้ถือว่าเป็นเงินของหลวง จึงต้องมีการบังคับให้วัดที่ได้รับเงินอุดหนุน ต้องแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย รายงานอย่างชัดเจน

ก่อนจะไปถึงการออกกฎหมายบังคับให้วัดทั่วประเทศ ต้องแสดงบัญชีการเงินต่อสำนักพุทธฯ นั้น ก็ต้องพูดกันตรงนี้ก่อน แต่ดูเหมือนว่า ทาง สปท. จะไม่อธิบายรายละเอียดตรงนี้ เหวี่ยงแหคลุมไปหมดทั้ง 4 หมื่นวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีฐานะแตกต่างกันหลายสิบขั้น ได้แก่

1. พระอารามหลวง ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับการยกขึ้นเป็นวัดหลวง มีสังกัดพิเศษ พระเจ้าอาวาสและพระลูกวัดก็มีฐานะพิเศษ ได้รับเงินอุดหนุนจากหลวง ได้รับผ้ากฐินพระราชทาน วัดวาอารามชำรุดทรุดโทรมก็ของบประมาณซ่อมแซมได้ง่าย แถมพระในวัดก็มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นเจ้าคุณ เป็นพระครู ฯลฯ นี่ถือเป็นชั้นที่ 1 แต่พระอารามหลวงก็ยังแยกออกไปอีกนับสิบชั้น ตั้งแต่ พระอารามหลวงชั้นเอกอุ ชนิดราชวรมหาวิหาร (ชั้นเอก-ชั้นโท-ชั้นตรี) ชนิดวรมหาวิหาร (ชั้นเอก-ชั้นโท-ชั้นตรี) ชนิดวรวิหาร และชั้นสามัญ รวมพระอารามหลวงทั่วประเทศกว่า 200 วัด และมีการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นวัดหลวงอยู่เป็นระยะ ในวาระสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกทีก็ขึ้นกันทีละ 10-20 วัดเลยทีเดียว

2. วัดราษฎร์ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายชั้น อาทิเช่น

2.1 วัดราษฎร์ที่มีชื่อเสียง มีภูมิทัศน์สวยงาม มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เป็นวัดที่มีรายได้มาก

2.2 วัดราษฎร์ทั่วไป มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งอาจจะขึ้นกับฐานะของญาติโยมใกล้วัดหรือสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

2.3 วัดราษฎร์บ้านนอก มีฐานะยากจน ประชาชนที่อุปถัมภ์มีจำนวนน้อย หรือมีฐานะยากจน ลำพังจะทำบุญปีละ 100-200 บาทก็ยากเย็นแล้ว ส่วนใหญ่จึงทำได้แค่ถวายข้าวปลาอาหารเท่านั้น แถมจะถวายทุกวันก็ทำไม่ไหวอีก ต้องใช้ระบบ "ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันส่งข้าวพระ" ให้ 4-5 ครอบครัว รวมหัวหมวดกันส่งข้าวพระในวันหนึ่ง หมุนเวียนกันไปทั้งหมู่บ้านซึ่งมีไม่กี่สิบครัวเรือน เดือนหนึ่งๆ จึงทำบุญได้เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ยิ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีเด็กวัดคอยรับใช้พระ ก็จำเป็นต้องใช้วิธี "เก็บเงินค่าอาหารบำรุงวัด" โดยยกเว้นสำหรับผู้ที่รับอาสาไปเก็บเงินประเภทนี้อีกต่างหาก หากครอบครัวใดไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะถูกที่ประชุมหมู่บ้านใช้ "กฎชุมชน" ลงโทษ เช่น ตัดความช่วยเหลือจากส่วนรวม ทำให้อยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ จำเป็นต้องหันมาให้ความร่วมมือ ส่วนการถวายปัจจัยนั้นจะทำก็ต่อเมื่อมีงานบุญ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ กินแขกแต่งงาน หรืองานศพ ซึ่งงานเหล่านี้ "เจ้าภาพมีหรือไม่มีก็ต้องมี" เพราะในชีวิตหนึ่งคงจัดบ่อยไม่ได้ หนุ่มสาวบางคู่แต่งงานกันแบบเงียบๆ เสียแค่ค่าผี เพราะมีปัญหาการเงิน คนตายบางคนทำพิธีแบบโบราณ ตายปุ๊ปเผาปั๊ป นิมนต์พระสวดอภิธรรมแค่รอบเดียวก็เสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว สวรรค์มีตั้ง 16 ชั้น ไม่ต้องสูงส่งถึงชั้นอินทร์ชั้นพรหมหรอก ชาวบ้านนอกเขาขอแค่ชั้น "ภูมิเทวดา" ก็ถือว่าดีกว่าตกนรกถมเถแล้ว

วัดประเภทหลังนี้ นานปีจึงจะมีผ้าป่ากฐินจากกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดมาช่วย ซึ่งก็คงจะมาเฉพาะในเวลาที่วัดมีการก่อสร้าง เช่น โบสถ์ วิหาร การเปรียญ หากเสร็จแล้วก็ไม่มีเหตุให้อ้างไปบอกบุญกับญาติโยมเช่นกัน การบอกบุญจึงต้อง "สมเหตุสมผล" บอกมั่วไม่ได้ ขืนบอกมั่วก็เตรียมตัวโดนไล่ ญาติโยมที่ทำบุญเขาก็มีสมองคิดได้ ไม่ต้องให้รัฐบาลมาสอนว่าต้องกินอย่างไร นอนอย่างไร หรือทำบุญอย่างไร เพราะเขาทำมาก่อนจะมีรัฐบาลและ สปท. ชุดนี้เสียด้วยซ้ำ

ประเภทสุดท้าย "วัดที่อยู่ในโซนอันตรายในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือวัดในถิ่นทุรกันดาร" ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา ชาวประชาก็ขาดที่พึ่ง นานไปพระพุทธศาสนาก็จะอันตรธานไปหรือถูกกลืนโดยศาสนาอื่น รัฐและคณะสงฆ์ จึงต้องมีนโยบายพิเศษ อุดหนุนให้พระภิกษุสามเณรสามารถอยู่ในที่คับขันเหล่านั้นได้ โดยการถวายเงินค่าภัตตาหารและความช่วยเหลืออื่นใดที่จำเป็น "เป็นรายหัว" แบบว่าช่วยเหลือทุกรูปทุกองค์ในพื้นที่เหล่านั้น เพราะท่านเท่ากับ "เสี่ยงชีวิต" เพื่อรักษาพระศาสนาเอาไว้

ถ้าจัดประเภทของวัดออกตามฐานะดังที่ว่ามานี้ ก็จะพบว่า "วัดมีฐานะยากจนมีมากกว่าวัดมีฐานะร่ำรวย" ไม่ต้องดูอื่นไกล ก็เทียบจำนวน "คนจน-คนรวย" ในประเทศไทยดูเถิด ว่าประเภทไหนมีมากกว่ากัน วัดของคนรวยกับคนจนก็ย่อมจะมีสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่มีฐานะดังว่ามานี้

เมื่อวัดประเภทหลังนี้มีมากกว่าวัดประเภทแรกๆ เหมือนจำนวนประชาชนที่ยากจนมีมากกว่าประชาชนที่ร่ำรวย จึงมีคำถามว่า รัฐควรช่วยเหลือวัดประเภทไหน ? เพราะในความเป็นจริงแล้ว รัฐก็อุ้มชูหรืออุปถัมภ์วัดที่ใหญ่ๆ รวยๆ แบบว่ารวยแล้วรวยอีก ดังมีข่าววัดที่มีเงินมหาศาล แต่ยังได้รับเงินอุปถัมภ์จากสำนักพุทธฯ "มากกว่าใคร" ในบรรดาสี่หมื่นวัด มันก็ย่อมสะท้อนถึง "วิสัยทัศน์" ของรัฐบาลไทย ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ว่ามุ่งพัฒนาประเทศชาติพระศาสนา หรือว่ามุ่งหาเสียง และสุดท้ายก็ "อุ้มคนรวย" ที่จนจึงจนซ้ำซาก แบบว่าทำบุญด้วยใจที่ไม่เป็นธรรม

การออกกฎหมายในแนวเศรษฐกิจ โดยหลักการแล้ว มุ่งหมายไปที่ "การปรับความสมดุลย์ระหว่างคนในชาติ" หรือ "ลดช่องว่างระหว่างรายได้ของประชาชนลง" เช่น เมืองกรุงกับบ้านนอก เมื่อคนแห่ไปอยู่เมืองกรุง ซึ่งมีความสะดวกสบายที่รัฐจัดไว้ให้มากกว่าใคร คนกรุงจึงต้อง "จ่ายภาษีแพงกว่าบ้านนอก" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องดื่ม นับรวมว่าเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำมันหรือแก๊ส ที่ต้องจ่ายแพง ส่วนชาวบ้านนอกนั้น ฐานะยากจน จึงควรได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม หรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชาวบ้านนอก "อยู่ได้-ไม่ทิ้งถิ่นฐานเข้ากรุง" รวมทั้งการทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนายกระดับการศึกษาของสถาบันการศึกษาในต่างจังหวัด ให้ทัดเทียมหรือดีเด่น ก็จะเป็นปราการด่านสุดท้ายในการพัฒนาประเทศ เพราะถ้าการศึกษาทัดเทียมกันแล้ว ฐานะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต รวมทั้งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ก็จะทัดเทียมกันโดยอัตโนมัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็จะหันไปร้องเพลง "บ้านนอกสุขใจ" มากกว่าเพลง "นักร้องบ้านนอก" ที่บอกว่า "ทุกวันคืนนอกร้องไห้ อีกเมื่อไหร่จะโชคดี ฯลฯ"

ทิศทางที่จับได้ในการพยายามเข้ามาควบคุมการเงินการทองของวัดก็คือ รัฐมุ่งควบคุม มากกว่าจะมุ่งอุ้มชูดูแล ปากก็บอกว่า "มุ่งมั่นกำจัดภัยพระศาสนา ยกย่องให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ผุดผ่อง" แต่กลับไม่เห็นกระบวนการ "ในทางบวก" เห็นแต่ในทางลบ เพราะเอาคนที่มีอคติต่อวัดมาทำงานและสร้างข่าวในทางเสียหายแก่ทางวัด โดยผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลกลับทำยักคิ้วหลิ่วตาให้ เป็นอกเป็นใจไปกับพวก "ไพบูลย์-บวรเวท" ด้วย

 

รัฐบาลอาจจะมองแค่ด้านเดียว คือกลบข่าวเสียหายรายวันที่เกิดกับพระศาสนา แบบว่าอยากอยู่อย่างสบายหู ซึ่งมันก็ผิดธรรมชาติ ทะเลไม่มีคลื่นก็จะเป็นทะเลเน่า ประเทศชาติไม่มีเสียงร้องของผู้คนทุกชนชั้น ก็เป็นประเทศที่สุขสมบูรณ์ไปไม่ได้ ฉันใด พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีประชากรทั้งพระทั้งโยมก็ "เต็มประเทศ" แถมยังกระจายไปในต่างประเทศอีกมากมาย จะให้เงียบเสียงไปเลย หรือได้ยินแต่เสียงบวก ไร้เสียงลบเลยนั้น มันก็ประหลาด เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่เข้าใจจริงๆ หรือ ว่าธรรมชาติของมนุษย์ก็ดี ปกติภาพของสังคมมนุษย์ก็ดี ต้องมีปากมีเสียง มีถกมีเถียง มีถูก มีผิด มีพลาด ดังคำว่า "ลิ้นกับฟัน" จะไม่ให้กระทบกระทั่งกันเลยนั้นก็เป็น "ฟันที่ขาดลิ้น" หรือ "ลิ้นที่ไม่มีฟัน" เท่านั้นเอง การแก้ปัญหาสังคมก็ต้อง "ค่อยเป็นค่อยไป" ตามเหตุตามปัจจัย ดังที่มีพระพุทธปุจฉาถามนายแพทย์คนหนึ่งว่า "ถ้าหากท่านรู้ว่าจะเกิดฝีขึ้นที่ตรงนี้ และมันจะแตกในอีก 3 วัน 7 วันข้างหน้า แพทย์ที่ฉลาดจะทำอย่างไร"

นายแพทย์ก็ตอบว่า "ข้าพเจ้าก็จะคอยให้ฝีโต แล้วจึงค่อยทำการฝ่าและรักษาฝี จนกระทั่งหายสนิทดี"

"อ้าว ! ท่านไม่จัดการผ่าฝีตั้งแต่วันนี้ดอกหรือ" พระพุทธองค์ทรงย้อนถาม

นายแพทย์ก็ตอบว่า "หามิได้พ่ะย่ะค่ะ เพราะว่าฝียังไม่แตก การจะผ่าฝีก่อนนั้น เป็นการสร้างความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น และไม่มีใครเขาทำ เราไปกรีดแผลเขาที่ยังไม่สุก ประเดี๋ยวก็โดนตีหัวเท่านั้น"

พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า กรณีการบัญญัติสิกขาบทกฎเกณฑ์ต่างๆ ในพระศาสนาของเราก็เช่นกัน เราก็ต้องรอให้มีเรื่องราวเกิดขึ้นก่อน จึงค่อยบัญญัติพระวินัยไปตามเหตุตามปัจจัย ใช่นึกจะบัญญัติก็บัญญัติ

ข้อนี้รัฐบาลและ สปท. อาจจะได้ทีตีกินว่า "อ้อก็นี่ไง เกิดเรื่องเกิดราวแล้ว หลายครั้งหลายครา ทั้งปัญหาธรรมกาย ปัญหาทรัพย์สิน เณรคำ วัดวังตะวันตก ฆ่าหมกศพเณร และทุจริตที่สมคบคิดกันระหว่างวัดและสำนักพุทธ ถามว่ายังมีสาเหตุไม่เพียงพออีกหรือ"

คำตอบก็คือว่า มันอยู่ที่ว่า ปัญหามันตกผลึกหรือยัง ดังที่นายบวรเวทอ้างว่า "คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬาศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. เห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจสอบได้" นั่นแสดงว่า มีการศึกษาปัญหาพระศาสนามาพอสมควร แต่ถามว่า ถ้าศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว เหตุใดจึงมาอ้างแค่ "ปัญหาฆ่าเณรวัดวังตะวันตกและทุจริตในสำนักพุทธฯ" ซึ่งเพิ่งเกิดเมื่อวานนี่เอง มาเป็นสาเหตุหลักในการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ คือหมายถึงว่า ถ้าศึกษามาอย่างดีแล้ว ก็ควรจะมีเหตุผล หรือข้อมูลที่ชัดเจนเป็นระบบกว่านี้ แต่นี่กลับเล่นโหนกระแสสื่อตีกินไปวันๆ เหมือนสมัยหนึ่งซึ่ง "ฝ่ายค้าน" ถูกวิจารณ์ว่า "อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยการอ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์" หมดเครดิตเลย

 

04

 

 

แก้ปัญหาให้ถูกจุด

 

คำว่า "แก้ปัญหาให้ถูกจุด" นั้น ถือว่าเป็นคำสุภาพ ยกระดับจากคำว่า "แก้ปัญหาไม่ถูกจุด" หรือ "แก้ปัญหาไม่เป็น" จุดที่เห็นว่า รัฐบาลและ สปท. แก้ไม่ถูก เหมือนเกาไม่ถูกที่คันนั้น ก็ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง ทุจริตเงินทอนในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

คำถามเบื้องต้นก็คือ ต้นทางของเงินนั้นอยู่ที่ไหน ? ก็ได้คำตอบว่า อยู่ในสำนักพุทธฯ ส่วนวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนนั้นเป็นแค่ "ปลายทาง"

ทีนี้ว่า เมื่อมีปัญหาการจ่ายเงิน เริ่มมาจากสำนักพุทธฯ รัฐบาล หรือ สปท. ก็ควรแก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายของสำนักพุทธฯ ซึ่งเป็นต้นทาง จึงจะถูกต้อง แต่นี่กลับไม่ยอมทำในจุดนี้ โน่น..ชี้ไปที่วัดทั่วประเทศซึ่งเป็นปลายเหตุหรือปลายทาง ว่าต้องปฏิรูปและแสดงบัญชีการเงินให้โปร่งใส ทั้งๆ ที่วัดที่ได้รับเงินอุดหนุนและเป็นปัญหานั้น มีแค่ 12 วัด แล้วถามว่า อีก 4 หมื่นกว่าวัดเขาผิดอะไร จะไปบังคับเขาด้วยเหตุอันใด แก้ปัญหาแบบนี้มันตรงหรือไม่ ?

กรณีธรรมกาย น่าจะจัดการ "จับธัมมชโย" ไปขึ้นศาล สะสางปัญหาให้เรียบร้อยเป็นเรื่องเป็นราว แต่รัฐบาลก็ไม่ทำหรือทำไม่ได้ โน่น เดินหน้าให้นายไพบูลย์ตีฆ้องร้องเปล่า จะเอากฎหมายห้ามพระจับเงินจับทอง ห้ามรับมรดก ให้บวชจนตาย ฯลฯ แบบว่าไปไหนมาสามวาสองศอก โหวกเหวกโวยวาย หาเรื่องหาราว เป็นอันธพาลรายวัน ประเดี๋ยวก็โดนชาวบ้านรุมกระทืบมั่งหรอก ไม่รู้หรือไงว่าใครๆ เขาก็รำคาญ

กรณีทุจริตเงินทอนในสำนักพุทธฯ ก็สั้นๆ ง่ายๆ แค่สั่งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และวัดที่เกี่ยวข้อง แค่ 12 วัด วัดอื่นๆ เห็นตัวอย่างก็ร้อนๆ หนาวๆ แล้ว ไม่มีใครอยากขึ้นโรงขึ้นศาลถึงคุกถึงตะรางหรอก

แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ โน่น ให้ไพบูลย์กับบวรเวท ออกมาประกาศ "จะแก้กฎหมายคณะสงฆ์ ให้สำนักพุทธฯ มีอำนาจดำเนินคดีกับวัดที่ทำบัญชีไม่ตรงกับความจริง" ก็ถามว่า ปัญหาเรื่องเงินทอนนั้นก็มีต้นเหตุมาจาก "สำนักพุทธฯ" มิใช่หรือ มีวัดไหนไปขโมยเงินหลวงจากสำนักพุทธฯโดยลำพังได้เล่า ?

นี่ไงที่ผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลและ สปท. คิดไม่ซื่อ ทำไม่ตรง ปากอย่างใจอย่าง บอกผิดตรงนี้ แต่ไปแก้ที่โน่น เหมือนลำไยราคาตก แต่บิ๊กตู่กลับออกรายการจัดการกับปัญหาการเต้นของ "ลำไย ไหทองคำ" ผลก็คือ "ค่าไหของนังลำไยพุ่งกระฉูดเลย" อุบ๊ะ !

 

กรณีที่ชี้ตรงไปยังชื่อของ "นายไพบูลย์ นิติตะวัน" กับ "นายบวรเวท รุ่งรุจี" นั้น ใช่ว่ามีอคติเป็นการส่วนตัว แต่เพราะสองท่านนี้เคยมีประวัติในทาง "ลบ" กับวัดต่างๆ มาก่อน ซึ่งตามวิธีการแก้ปัญหาพิพาทต่างๆ นั้น นักการปกครองที่ดีต้องมีกุศโลบาย รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้ด้วยว่า จะใช้คนไหนไปทำอะไรจึงจะสำเร็จ ตามหลักของ "Put the right man on thre right job" คืออย่างน้อยก็ต้องหาแนวร่วมในอีกฝั่งหนึ่ง ถึงไม่ได้ก็ต้อง "สร้างบรรยากาศ" ของการร่วมมือในการแก้ปัญหา แบบว่าสร้างสรรค์บรรยากาศให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการโดยละมุนละม่อม ถึงเสียก็ยอมเสีย ไม่อาฆาตมาดร้าย มิใช่การบังคับขู่เข็น ตะโกนด่าเหย็งๆ อยู่นอกกำแพงวัด แล้วบอกว่า "จะปฏิรูปพระศาสนาให้พระสงฆ์องค์เณร"

 

เห็นแล้วก็ทึ่งในวิสัยทัศน์ของท่านผู้นำ !

 

05

 

 

ผลข้างเคียงจากการออกกฎหมายบังคับวัดและพระสงฆ์

 

แน่นอนว่า รัฐบาลและ สปท. อาจจะคิดว่า ถ้าออกกฎหมายมาบังคับวัดและพระสงฆ์ได้ ก็จะสามารถควบคุมวัดให้อยู่ในร่องในรอย ไม่เกิดความเสื่อมเสียอีกต่อไป ซึ่งใครคิดเช่นนั้นก็ปัญญาอ่อน เพราะปัญหากับวัดวาอารามนั้นมีหลายมิตินัก คิดจะใช้กฎหมายปกครองประเทศอย่างเดียวไม่มีทางสำเร็จหรอก ถ้าทำได้ก็แสดงว่า "บิ๊กตู่เก่งกว่าพระพุทธเจ้า" เอ้าจริงๆ !

ยกตัวอย่าง ถ้าควบคุมวัดอย่างเบ็ดเสร็จ แบบว่าพระเจ้าอาวาสมีหน้าที่ไปหาเงินมาบริหารวัด ทั้งการก่อสร้าง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหารการกิน และรายจ่ายจิปาถะ  ดูแลทุกชีวิตในวัด ไม่เว้นแม้แต่หมาและแมว แต่ว่าจะทำอะไรก็ถูกรัฐบาลควบคุมดูแลตลอดเวลา ผิดพลาดก็เข้าคุก แบบนี้ถามว่าจะมีพระเจ้าอาวาสองค์ไหนมีกำลังใจสร้างวัด วัดต่างๆ ก็จะอยู่อย่างซังกะตาย เรื่อยๆ เฉื่อยๆ ทำไปก็เท่านั้น ทำกับไม่ทำก็ค่าเท่ากัน หรือไม่ทำยังดีกว่าทำ เพราะไม่ทำก็ไม่ผิดไม่พลาด ถ้าทำดีก็ดีไป แต่ถ้าเกิดพลาดก็ช้ำใจ พระสงฆ์ไทยไม่ใช่อรหันต์ จะใช้กฎหมายหรือแม้แต่พระธรรมวินัยเพียวๆ ก็หวาดเสียวว่าจะสร้างความเสียหายมากกว่าเป็นผลดี ดูเมืองจีนซี ท่านประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง เห็นว่า ถ้าใช้ระบอบคอมมิวนิสต์เพียวๆ รับรองว่าไปไม่รอด จึงเริ่มเปิดประเทศ และประกาศนโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ปรากฏว่าได้ผล จนจีนกลับมาเป็นมหาอำนาจแทบว่าจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า เพราะว่าถ้าหากวัดต่างๆ ทั่วประเทศมีปัญหาว่าด้วยการพัฒนา ซึ่งติดที่พระเจ้าอาวาสไม่เอาใจใส่ มันก็จะกระทบถึงชุมชน และองค์รวมของประเทศชาติ การออกกฎหมายจึงจะมองแต่เพียงด้านเดียวไม่ได้ อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น ตั้งขึ้นมาก็เพื่อ "ศึกษาผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลผ่านกระทรวงต่างๆ มิให้ปัญหาเก่าเรื้อรังและสร้างปัญหาใหม่ที่คาดไม่ถึง"

อย่างกรณีวัดบ้านนอกคอกนา ซึ่งอย่าว่าแต่จะมีปัญญาชนไปบวชเป็นเจ้าอาวาสเลย แม้แต่เจ้าอาวาสที่จบนักธรรมเอกก็ยังหายาก บางวัดก็มีแค่หลวงตาซึ่งบวชตอนแก่แล้ว บางแห่งต้องให้เณรโค่งอยู่รักษาการแทน ญาติโยมก็ไม่รู้เรื่องบัญชงบัญชี ซื้อโน่นซื้อนี่จิปาถะในแต่ละมื้อแต่ละวัน จะให้ท่านมานั่งทำบัญชีได้อย่างไร ดังนั้น เรื่องบัญชี หากรัฐจะออกกฎหมายบังคับ ก็ต้องมีตัวช่วย ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งหน่วยช่วยทำบัญชีของวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ขาดตกบกพร่องตรงไหนก็เข้าไปช่วย มิใช่สั่งเอาๆ ใครไม่ส่งก็เอาผิด แบบนี้แหละที่มันฟังไม่ขึ้น อย่าลืมหลักการในรัฐธรรมนูญว่า "รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา" มิใช่มีหน้าที่ "บังคับบัญชา" แต่อย่างใด พระสงฆ์องค์เณรนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้อยู่ในความปกครองดูแลขององค์กรสงฆ์ ซึ่งก็คือมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน โดยมี "พระธรรมวินัย" เป็นหลักใหญ่ กฎหมายที่รัฐจะออกมาใช้ในทางศาสนาจึงต้อง "ไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย" รวมทั้งต้องมองบริบทของสังคมไทยให้รอบด้านด้วย ไม่งั้นก็ใช้ไม่ได้

 

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า โบราณว่า

 

อีกเรื่องที่สำคัญที่ผู้คนมองข้ามกันก็คือ การที่หน่วยงานของรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ โรงร่ำโรงเรียน หรือกรมกองอื่นใด ได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากวัดต่างๆ ที่มีฐานะดี หรือมีชื่อเสียง มีพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดัง ให้ช่วยเหลือในการก่อสร้างหรือโครงการอื่นใดก็ตาม ก็ได้รับความเมตตาจากวัดวาอารามต่างๆ ด้วยดีเสมอมา แทบว่าไม่มีปัญหาในด้านนี้ เม็ดเงินที่วัดต่างๆ ช่วยเหลือในด้านนี้นั้น ว่ากันว่าปีละพันกว่าล้านขึ้นไป ยังไม่รวมทุนการศึกษาเอย งานสังคมสงเคราะห์ในด้านต่างๆ ที่วัดแทบทุกวัดก็ทำกันตามกำลัง แต่ทีนี้ว่า ถ้ารัฐบาลจะควบคุมการเงินการทองของทุกวัดอย่างเข้มงวด มันก็จะกลายเป็น "บีบ" ให้วัดต่างๆ หมางเมินกับรัฐบาล ผ่านหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่างๆ ก็เลยกลายเป็นว่า ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครช่วยเหลือใคร ถามว่า มันคุ้มหรือไม่กับการออกกฎหมายมา เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างวัดกับรัฐบาลอย่างยากเยียวยา

 

 

การพระราชทานสมณศักดิ์

 

สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์ของพระสงฆ์ แต่เดิมนั้น พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานแก่บุคคลและสัตว์รวม 3 ประเภท คือ (ยศ) ช้าง ขุนนาง พระ ปัจจุบันนั้น ทรงงดพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ข้าราชการ แต่เปลี่ยนเป็น "ยศ" แทน (ทางทหารและตำรวจเป็น หมวด หมู่ จ่า นายร้อย นายพัน นายพล และจอมพล) ทางพลเรือนก็เปลี่ยนเป็น "ซี" เช่น ซี 7 ซี 8 และมีการพระราชทาน "เครื่องราชย์" ตามแบบอย่างของทางยุโรป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำแบบอย่างมา จากการเสด็จประพาสยุโรป ก่อนหน้านั้นไทยก็ไม่เคยมี

ส่วนช้างนั้น มี 2 ประเภท คือช้างเผือกกับช้างเนียม แต่ช้างสองประเภทนี้มีไว้ประดับพระเกียรติสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตามตำนานแขก ไทยเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของอินเดียจึงต้องอนุวัตรตาม เมื่ออินเดียยกย่องช้างเผือกช้างเนียม เราก็เอาอย่าง แถมยังตกแต่งอลังการมากกว่าแขก คือให้ยศเป็นถึง "เจ้าพระยา" แต่ปัจจุบันคตินิยมเรื่องช้างก็จางหาย เลยกลายเป็นว่า ไม่มีการพระราชทานไปโดยปริยาย

พระสงฆ์ไทยเรานั้น ได้รับการยกย่องให้มี "สมณศักดิ์" มีลำดับนับตั้งแต่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไปจนถึงพระครูประทวน ถึงจะไม่มีการพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ขุนนางหรือข้าราชการไทยอีกต่อไป ถึงช้างไทยจะไร้บทบาทในทางการทหารและการเมือง จึงไม่มีการพระราชทานยศให้แก่ช้างอีกต่อไป แต่พระไทยยังมีบทบาทอยู่ในประเทศเขตนี้อย่างสำคัญ ในทางราชการนั้น ถึงจะทรงงดพระราชทานบรรดาศักดิ์ไปแล้ว แต่ก็ยังมีการพระราชทาน "บรรดาศักดิ์" ในรูปแบบอื่น เช่น เครื่องราชอิสริยารภรณ์ เป็นต้น จะว่าเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพระราชทานบรรดาศักดิ์ก็คงว่าได้ เหลือกลุ่มสุดท้ายก็คือ พระสงฆ์ ที่ยังคงทรงเห็นว่าสำคัญ และพระศาสนาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ศิลปะและวัฒนธรรม จึงควรจะมีการ "คงสมณศักดิ์" เอาไว้ จึงยังคงมีการพระราชทาน "ยศ" ให้แก่พระสงฆ์ไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ถามว่าทำไมต้องตั้ง เรื่องนี้เป็นกุศโลบายทางการเมืองชั้นยอด เพราะคนทุกคน นอกจากจะต้องการอาหารเสื้อผ้าที่อยู่อาศัยหรือปัจจัยครองชีพที่สะดวกสบายแล้ว โดยธรรมชาติก็ยังต้องการ "เกียรติยศ" พระสงฆ์ไทยก็เช่นกัน ถึงจะไม่มีครอบครัวเพราะตัวมาบวชแล้ว แต่ในการทำงานก็ยังต้องการกำลังใจ เมื่อได้รับการยกย่องก็มีแรงใจ ให้มุ่งทำงานเพื่อสาธารณชน แต่ถ้าจะเอา "พระธรรมวินัย" มาจับ ก็ชัดเจนว่า "ขัดกัน" เพราะโดยหลักเดิมของพระศาสนานั้น กุลบุตรที่ออกบวช ย่อมจะมุ่งสละกิเลส มีพระนิพพานเป็นที่หมาย แต่พระสงฆ์ไทยในปัจจุบันหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ได้ตกผลึกกลายเป็น "ส่วนหนึ่งของสังคมไทย" ที่มีบริบทอีกมากมาย เราจึงได้เห็น งานหลวง งานราษฎร์ ซึ่งพระสงฆ์ถูกจัดลำดับแตกต่างกัน ทั้งฐานะ รูปแบบ และบทสวด ที่เราเคยได้ยินว่า "ทำนองหลวง" นั่นแหละ แสดงว่ามีอีกทำนองหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นทำนองราษฎร์ หรือลูกทุ่งนั่นเอง

"แยกศาสนาออกจากการเมือง" เป็นเสียงจากนักวิชาการที่มองงานพระศาสนาในอีกรูปแบบหนึ่ง แบบว่าให้ศาสนากับรัฐบาลเป็นเอกเทศต่อกัน แต่มันยังทำไม่ได้ ประเทศไทยยังมีเงื่อนไขอีกมากมาย ที่ต้องใช้คณะสงฆ์ไทยเป็นตัวช่วยอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งรักษาระบอบของประเทศไทย "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" พูดง่ายๆ ว่า สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ของไทยเรานั้น ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน จนลงตัวดังที่เห็น การที่เห็นๆ บ้านอื่นเมืองอื่นว่าดีๆ แล้วคิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างกะทันหันนั้น ก็ต้องระมัดระวังให้จงหนัก

 

06

 

 

พบกันครึ่งทาง

 

ทางออกที่เห็นว่า "น่าจะพอไปได้" ถึงมิใช่ทางที่ดีที่สุด แต่ก็น่าไปกันได้แบบ "บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น" ก็คือ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี เข้ากราบถวายรายงานต่อสมเด็จพระสังฆราช ถึงปัญหาต่างๆ ที่รับทราบ และขอพระราชทานแนวทาง พร้อมกับถวายการอุปถัมภ์ให้มหาเถรสมาคมได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ในสิ่งที่เห็นว่าควรแก้ไข สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วก็ยังคงเอาไว้

เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ณ เวลานี้ ประเทศไทย คณะสงฆ์ไทย เรายังมี "มหาเถรสมาคม" เป็นองค์กรปกครองสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของคณะสงฆ์ และเรายังมี "พระมหากษัตริย์" ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครศาสนูปถัมภก ซึ่งก็ยังมีศักยภาพอีกมากมายในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ไทย อาจจะช้าไปบ้างในบางปัญหา แต่มหาเถรสมาคมก็ยังรอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยในหลายจุดอยู่เช่นกัน มันก็ถ้อยทีถ้อยอาศัย

เราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร งบประมาณรั่วไหล ต้องอุดยังไงและจ่ายยังไง จึงจะเกิดประสิทธิผล กำลังพลไม่พอ ต้องเพิ่มเติมจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมหรือเปล่า หรือต้องปรับเปลี่ยนเป็น 2 บอร์ด บอร์ดบน เรียกว่า สภาที่ปรึกษา มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน บอร์ดล่าง เรียกว่าอะไรก็ได้ ตั้งชื่อให้เหมาะสม มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ โดยมีสภาที่ปรึกษาทำหน้าที่เหมือนวุฒิสภา ในการกลั่นกรองนโยบายที่สำคัญต่างๆ หรือบางที เพื่อให้มีพระสงฆ์ผู้ชำนาญในทางพระวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์ เป็นองค์คณะโดยเฉพาะ ทำหน้าที่เป็นตุลาการทางพระศาสนา ก็น่าจะไปได้ดี

นี่คือสิ่งที่พระสงฆ์องค์เณรท่านอยากเห็น มิใช่ไม่อยากปฏิรูป หลายท่านอึดอัด แต่สิ่งที่อยากให้ทำ รัฐบาลก็ไม่ทำ สิ่งที่ควรทำรัฐบาลก็ไม่ทำ หรือทำอะไรก็แค่ "ไฟไหม้ฟาง" ลามนิดก็ดับนิด ลามหน่อยก็ดับหน่อย ปล่อยๆ ทิ้งๆ เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางศาสนาหรือการเมือง ที่ยุ่งเหยิงเป็นลิงแก้แหอยู่ทุกวันนี้ ก็มีสาเหตุมาจาก รัฐบาล ปล่อยปละละเลยมานาน

 

ถามท่านนายกรัฐมนตรีสิว่า

พระมหานรินทร์ พูดตรงประเด็นไหม ?

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
15 มิถุนายน 2560

 

 

 

E-Mail To BK.

peesang2555@hotmail.com

 


ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV 89121 U.S.A. 702-384-2264