พระเทพวิสุทธิคุณ (กุศล คนฺธวโร) เจ้าอาวาสวัดบุพพาราม อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ |
เชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2528-2538 ถือว่าเป็นยุคทองของการศึกษาภาษาบาลีอีกครั้ง หลังจากที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีตเมื่อ 500 ปีก่อน สมัยพระเจ้าลก (ติโลกมหาราช) ทรงครองราชย์ ในต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งในปี พ.ศ.2020 ก็ทรงโปรดให้มีการประชุมพระเปรียญ บัณฑิต ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก นับเป็นครั้งแรกของชนชาติไทย ที่วัดมหาโพธาราม หรือวัดพระเจดีย์เจ็ดยอด ในปัจจุบัน ที่ว่า ช่วงปี 28-38 เป็นปีทองของบาลีเชียงใหม่นั้น ก็เพราะว่าเป็นช่วงบูมสุดๆ ของภาษาบาลี มีสำนักเรียนผุดขึ้นมากมาย และมีนักเรียนทำลายสถิติสอบได้เป็นจำนวนมากแทบทุกสำนักเรียน จุดเริ่มต้นนั้นก็เริ่มมาจาก พระมหาจรูญ จนฺทมาลัย จากสำนักวัดท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไปสอบได้ประโยค 9 มาจากสำนักวัดราชสิงขร กรุงเทพมหานคร ถือเป็นเปรียญเก้ารูปแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ปีที่ท่านสอบได้ก็คือ พ.ศ.2526 ซึ่งปีนั้น ผู้เขียนเพิ่งบวชเณรเป็นพรรษาแรก มีหนังสือแจก (ใบฎีกา) ไปยังวัดต่างๆ ให้ทราบข่าวการกุศล เพื่อร่วมฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยคของพระมหาจรูญ ผู้เขียนเป็นเณรไร้เดียงสา จำได้ชัดเจนว่า ยืนมุงดูหนังสือที่หลวงพี่ขรรค์ชัย รองเจ้าอาวาสวัดเสาหิน ท่านเอามาอ่านให้ฟังที่หน้ากุฏิ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า บาลีคืออะไร ? ในปีถัดมา เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2527 ขณะตั้งวงเล่นฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกับเณรเพื่อนๆ และเด็กวัด อยู่ใต้ถุนกุฏิในช่วงบ่าย หลวงพี่ขรรค์ชัย คำอุ่น รูปเดิม ซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือเมื่อเริ่มเข้ามาอยู่ในวัด ท่านเดินทางกลับมาจากการประชุมคณะสงฆ์ระดับเจ้าอาวาสที่วัดเจดีย์งามในอำเภอฝาง มาถึงวัดก็เจอพวกเราเปิดทีมฟุตบอลกันเต็มสนาม เพราะหลวงพ่ออินถา วรจิตฺโต เจ้าอาวาสก็ไม่อยู่ หนูก็เลยเริงร่ากันใหญ่ ทีนี้พอหลวงพี่ขรรค์ชัยมาเจอเข้า พวกเราก็วงแตก แต่หนีไม่รอด ถูกท่านเรียกมาปรับทัศนคติกันอย่างพร้อมหน้า นึกว่าจะโดนท่านลงโทษ แต่ท่านถามว่า ทางอำเภอเขารับสมัครนักเรียนบาลี มีใครสนใจจะไปเรียนมั่ง ผู้เขียนไม่รู้จักบาลี จึงถามว่า บาลีคืออะหยังคับ ! (บาลีคืออะไรครับ) ท่านก็ตอบว่า ไม่ต้องถามหรอก จะเรียนหรือเปล่าล่ะ ? ผู้เขียนก็ตอบว่า เรียนสิครับ ! แค่นั้นแหละ หลวงพี่ขรรค์ชัยท่านจึงบอกว่า ถ้างั้นให้เณรเตรียมตัวเก็บข้าวของให้พร้อม พรุ่งนี้จะให้คนไปส่งที่วัดเจดีย์งาม ! นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่..วงการบาลี ของผู้เขียน มันมาจากการไม่รู้ว่า "บาลีคืออะไร" นี่แหละ !
ตกวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันเพลเสร็จ ก็มีสามล้อในหมู่บ้านมาที่วัด หลวงพี่ขรรค์ชัยท่านก็ให้ผู้เขียนนั่งสามล้อคันนั้นไปกับท่าน จากวัดเสาหินวิ่งเข้าเมืองฝาง มุ่งตรงไปยังวัดเจดีย์งาม ท่านนำผู้เขียนไปฝากไว้กับ "พระมหาคำ" ซึ่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดเจดีย์งามในขณะนั้น เพราะช่วงนั้น พระมหาสมเจตน์ เขมชยราโช เจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม ท่านเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ จึงตั้งรักษาการเจ้าอาวาสแทน ฝากฝังเสร็จ ท่านก็บอกลากลับ ปล่อยให้เรานั่งเหงาอยู่ท่ามกลาง "คนแปลกหน้า" ซึ่งก็คือพระเณรวัดเจดีย์งามอันมีร่วมๆ ครึ่งร้อย เดินกันขวักไขว่ ไม่มีใครรู้จักเราซักคน ! นั่งงงอยู่น๊านนาน สุดท้าย รักษาการเจ้าอาวาสท่านก็เมตตา สั่งให้เณรรูปหนึ่ง ชื่อว่า เณรชาติ จากบ้านแม่สะลัก อำเภอแม่อาย ให้พาผู้เขียนไปยังที่พัก ซึ่งก็คือ ใต้ถุนโรงเรียน อันเป็นห้องโถงกว้างใหญ่มาก ยกพื้นสูงขึ้นไปหลายวา มีประตูบานใหญ่เปิดทั้งสองด้าน และมีหน้าต่างรอบห้องหลายๆ บาน (โรงเรียนหลังเก่า) ในห้องมีเตียงอยู่ 2 เตียง ตั้งอยู่มุมเหนือสุดและใต้สุด (ตรงกลางว่าง) เตียงใต้นั้นเณรชาตินอน ส่วนเตียงเหนือยังว่าง เณรชาติชี้ให้ผู้เขียนเป็นเจ้าของเตียงตัวนั้น แต่สังเกตว่า เตียงใต้มีมุ้งครอบอยู่ด้วย ขณะที่เตียงเหนือของผู้เขียนนั้นโล่ง ! ตอนนั้นยังไม่มืดค่ำ ก็ยังไม่รู้ความแตกต่างระหว่าง 2 เตียง ตกกลางคืน ท่องหนังสือเสร็จ ได้เวลาจำวัด ปิดไฟลงพร้อมๆ กัน และแยกย้ายกันไปนอน ปรากฏว่าเณรชาตินอนสบาย แต่ผู้เขียนมีแขกมาเยี่ยมไม่ขาดสาย เสียงยุงเจ้าถิ่นบินมาต้อนรับผู้เขียนสนั่นสองหู ครั้นเราจะดึงผ้าห่มขึ้นคลุมโปงก็ร้อนฉิบ ! เปิดหน้าก็โดนต่อย ปิดหน้าก็หมดลมหายใจ เลยนอนแบบลักกะปิดลักกะเปิด ดิ้นไปดิ้นมา ไล่ยุงไปด้วย เณรชาติได้ยินคงจะรำคาญ จึงตะโกนบอกว่า "ถ้าทนยุงไม่ไหว ก็มานอนเตียงนี้ด้วยกัน" ผู้เขียนจึงย้ายไปนอนเตียงใต้ ซึ่งพอจะแบ่งปันกันได้ในคราวคับขัน นั่นเป็นประสบการณ์ "วันแรก" ของการเดินเข้าสู่..ถนนสายบาลี ของผู้เขียน
วัดเจดีย์งามนั้น ถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดท่าตอน (มีอะไรก็ต้องช่วยเหลือกัน อิอิ !) เพราะว่าเจ้าอาวาสสองวัดนั้นท่านมาจากวัดเดียวกัน คือ ท่านพระอาจารย์สมาน กิตฺติโสภโณ (ปัจจุบันคือพระเทพมังคลาจารย์-รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) กับท่านพระมหาสมเจตน์ เขมชยราโช (ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธวราราม นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด้ และลาสิกขา ในปี พ.ศ.2530) ท่านเป็นชาวบ้านท่าตอน บวชที่วัดท่าตอนด้วยกัน และลงมาเรียนหนังสือที่วัดราชสิงขร เขตบางคอแหลม พระอาจารย์สมานเรียนพระอภิธรรมที่สำนักวัดระฆังโฆสิตาราม จนจบชั้นจูฬอภิธรรมิกเอก ส่วนพระมหาสมเจตน์เรียนบาลีได้ประโยค 3 เมื่อเรียนจบแล้ว ทั้งสองท่านก็ชวนกันกลับเชียงใหม่ ไปพัฒนาบ้านเกิด พระอาจารย์สมานกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าตอน พลิกวัดท่าตอนจากป่าดงดอนเป็นสำนักเรียนดีเด่น และเป็นพระอารามหลวงอันสวยงามตระการตาในปัจจุบัน ส่วนพระมหาสมเจตน์นั้น ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม กลางอำเภอฝาง ต่อจากหลวงพ่อพระครูโสภณเจติยาราม (หลวงพ่อแดง) อดีตเจ้าอาวาสและอดีตเจ้าคณะอำเภอฝาง วัดเจดีย์งามกับวัดท่าตอนจึงเป็นวัดพี่วัดน้องกัน ด้วยประการฉะนี้ มิได้เกี่ยวเรื่องเงินๆ ทองๆ เลย ส่วนพระมหาจรูญ จนฺทมาลโย (จันทมาลัย) นั้น เป็นศิษย์วัดท่าตอน รุ่นน้องหลวงพ่อสมานและอาจารย์สมเจตน์ ได้เข้ามาศึกษาที่วัดราชสิงขรด้วย จนจบประโยคเก้าดังกล่าว และอาจารย์จรูญนี่แหละ ที่กลับไปช่วยงานอาจารย์สมาน ตั้งสำนักเรียนบาลีวัดท่าตอนขึ้นมาในปี พ.ศ.2526 สามารถผลิตเปรียญธรรมได้หลายร้อย นับแต่เพียง "เปรียญเอก" ก็เข้าหลักร้อยแล้ว ศิษย์เอกสำนักแห่งนี้ในปัจจุบันก็น่าจะใช่ "พระราชรัชมุนี- นิมิต สิขรสุวณฺโณ ป.ธ.9)" ซึ่งได้ประโยคเก้ารุ่นเดียวกับผู้เขียน และผู้ใหญ่ไว้วางใจให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกพระอารามหลวง เพิ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไวๆ นี้ ก่อนที่วัดท่าตอนจะยกระดับขึ้นเป็นพระอารามหลวง เป็นสำนักเรียนดีเด่น และเป็นอะไรอีกมากมายในวันนี้ ต้องชี้ว่า "เจ้าอาวาส" คือหลวงพ่อสมานนั้น ท่านเป็นอัจฉริยะบุคคล อ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มแย้มแจ่มใส ด่าใครไม่เป็น แต่เป็นคน "พูดจริงทำจริง" ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการต้อนรับขับสู้ใครต่อใครที่แวะเวียนไปวัดท่าตอน น้ำท่าอาหารมีต้อนรับไม่เคยขาด ที่สำคัญก็คือ ได้ทีมงานดี มีพระมหาจรูญเป็นหัวหน้า ประกาศศักดา "สร้างศูนย์กลางการศึกษาใหม่" ขึ้นในเขตกันดารที่วัดท่าตอน อันติดกับเขตแดนพม่า เพราะว่าถ้าไปถึงท่าตอนแล้ว ข้ามสะพานแม่น้ำกกไปอีกไม่กี่กิโลก็สิ้นสุดการเดินทาง เพราะสมัยนั้นถนนสายฝาง-ท่าตอน ยังไม่ทะลุเข้าเขตอำเภอแม่จันทน์ จังหวัดเชียงราย เหมือนในปัจจุบัน สมัยนั้นใครจะไปเชียงรายก็ต้องใช้เส้นทางสาย "บ่อน้ำมันฝาง-แม่สรวย" ซึ่งเปลี่ยวและไม่มีรถประจำทาง กับเส้นทาง "เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงราย" ซึ่งมีรถประจำทางที่สถานีช้างเผือก ก็แปลว่า ต้องวิ่งอ้อมท้องช้างลงมาจากแม่อาย ผ่านฝาง-ไชยปราการ ข้ามดอยหัวโทเข้าเชียงดาว ผ่านแม่แตง แม่ริม ตามลำดับ จนถึงตลาดช้างเผือก ซึ่งมีคิวรถเมล์อยู่ที่นั่น จากนั้นจึงตั้งต้นซื้อตั๋วจากช้างเผือกไปเชียงราย จะผ่านอะไรบ้างก็เกินจะจาระไน ที่แน่ๆ ก็คือ ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด คิดเวลาไปกลับก็คง 2 วันโน่นแหละ ไกลพอๆ กับอีก้อเข้ากรุง เดี๋ยวนี้วิ่งรถจากวัดท่าตอนไปสนามบินเชียงราย แค่ชั่วโมงเดียวก็ถึงแล้ว แวะร้านกาแฟ "เล่าต๋า" ได้อีกพักหนึ่งด้วย จากวัดสุดเส้นทาง วัดสุดเขตชายแดน กลายมาเป็น "พระอารามหลวง" เป็นศูนย์กลางของหลายสิ่งหลายอย่าง ส่งผลให้เจ้าอาวาสคือพระอาจารย์สมานนั้น ปัจจุบันได้เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพมังคลาจารย์ มีตำแหน่งเป็นถึง..รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ! แต่..ในช่วงปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งก่อตั้งสำนักเรียนวัดท่าตอนอยู่นั้น ช่วงนั้น บรรดาสำนักเรียนต่างๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ยังต้องพึ่งพาบารมีของ "วัดบุพพาราม" ซึ่งมีเจ้าอาวาสชื่อว่า พระครูมงคลศีลวงศ์ (กุศล คนฺธวโร) ท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดด้วย
แรกนั้น ชื่อเสียงเรียงนามของหลวงพ่อพระครูมงคลศีลวงศ์ เริ่มโด่งดังมาจาก "งานพัฒนา" เกี่ยวกับการเกษตร เพราะดอยสะเก็ดที่ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอนั้น มีหน่วยงานสำคัญตั้งอยู่ นั้นคือ ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.2525 ตรงกับเวลาที่หลวงพ่อพระครูมงคลศีลวงศ์ เป็นเจ้าคณะอำเภอพอดี ท่านจึงมีโอกาสได้นำคณะสงฆ์อำเภอดอยสะเก็ดเข้าไปศึกษา พัฒนา และรับเอาพระบรมราโชบายนำมาเผยแพร่แก่ประชาชน จนดอยสะเก็ดดังกว่าดอยเต่าโดยไม่ต้องตั้งวงดนตรี แต่ก็มีคนเอาไปแต่งเป็นเพลง "ไอ้หนุ่มเด๊ดสะกอย" ดังระเบิดเถิดเทิงเช่นกัน อัจฉริยภาพในด้านการเกษตรของหลวงพ่อพระครูมงคลศีลวงศ์ (พระเทพวิสุทธิคุณ) นั้น เล่ากันว่า ท่านมีมะม่วงในมือเพียงใบเดียว สามารถยืนอธิบายด้านที่หงายขึ้นนั้นได้ชั่วโมงหนึ่ง ครั้นพลิกด้านบนลงด้านล่าง ก็สามารถอธิบายได้อีกชั่วโมงหนึ่ง ถ้าปอกดูด้านในก็อาจจะได้อีกหลายชั่วโมงหรือทั้งวัน ละเอียดขนาดกล้องดิจิทัลยังต้องเรียกพี่ทีเดียว คนที่รู้ใจเวลาไปคุยกับหลวงพ่อพระครูมงคลศีลวงศ์ ถ้าจะให้คุยได้นานก็ต้อง..การเกษตร ถามเรื่องผลหมากรากไม้เถิด รับรองว่าไม่มีพันธุ์ไหนที่ท่านไม่รู้จัก ! พ.ศ.2534 ตอนผู้เขียนเรียนบาลีประโยค 7 ในสำนักวัดดอยสะเก็ด ของหลวงพ่อพระโพธิรังษี (พายัพ ฐิตปุญฺโญ) อยู่นั้น ครั้นถึงวันเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดจะต้องไปถวายสักการะ "สระเกล้าดำหัว" พระมหาเถระ อดีตเจ้าคณะอำเภอและปัจจุบัน (ตอนนั้น) ได้เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่แล้ว หลวงพ่อพระโพธิรังษีท่านก็สั่งจัดรถสองแถวไว้หลายคัน ให้พระเณรนั่งกันเต็มคัน มุ่งหน้าไปวัดบุพพาราม ส่วนตัวผู้เขียนได้นั่งรถของท่านไปด้วย โดยท่านให้รถคันอื่นๆ ล่วงหน้าไปวัดบุพพารามก่อน ส่วนรถยนต์ของเจ้าอาวาสไปถึงช้า เพราะว่าต้องแวะกลางทาง ที่ให้แวะก็เพราะว่าเกิดเหตุฉุกเฉิน ส้มสูกลูกไม้ที่สั่งเอาไว้ว่าจะนำไปถวายหลวงพ่อวัดบุพพารามนั้น หาไม่ได้ตามต้องการ จึงต้องอาศัย "ไปหากลางทาง" นั่นคือที่ตลาดวโรรสหรือกาดหลวง พอรถจอดปุ๊ป ท่านก็ให้ผู้เขียนและเณรอีก 3-4 รูป ถือกระบุงเปล่าเดินตามท่านเข้าตลาดไป เจอผักไม้ไส้เครืออันไหนใหญ่ๆ ยาวๆ ท่านก็จะชี้ให้ลูกศิษย์ซื้อหา ได้มาแล้วก็จัดแจงเป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปวัดบุพพาราม ซึ่งมีพระเณรวัดดอยสะเก็ด..รออยู่พร้อมหน้าแล้ว ครั้นหลวงพ่อพระอุดมกิตติมงคล (พระครูมงคลศีลวงศ์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระอุดมกิตติมงคล ในปี พ.ศ. 2530) เห็นเข้าเช่นนั้น ท่านก็เอ่ยปากทักทายทันทีเลยว่า "โอ นั่นน่ะ นั่นน่ะ เห็นไหม อะไรน่ะ โอ ท่านเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด ท่านพระครู (ตอนนั้นยังเป็นพระครูโสภณปริยัติสุธี) ท่านมาหา ไม่มามือเปล่า ยังเอาส้มสูกลูกไม้ โตๆ ใหญ่ๆ มาให้เราด้วย โอ..ดูสิ แต่ละลูกทั้งใหญ่ทั้งยาว ขาวๆ อวบๆ โอ้โห โอ้แหม ผลหมากรากไม้ดอยสะเก็ดเดี๋ยวนี้ สวยงามดีกว่าสมัยเราอยู่ดอยอีก งามแต๊งามว่า ผ่อแน ผ่อแน (ดูนะ ดูนะ)" ว่าพลางก็หัวเราะชอบใจ หลวงพ่อพระโพธิรังษี (พระครูโสภณปริยัติสุธี) ได้ยินได้ฟังเช่นนั้นก็ยิ้มที่มุมปาก ยกมือไหว้รับปากรับคำเออออห่อหมกกับท่านไป จะบอกว่ามาจากกาดหลวงหน้าวัดบุพพารามก็เกรงใจ ผู้ใหญ่ท่านว่าอย่างไรก็ไม่ขัด เพราะ "เด๊ดสะกอย" กับ "ดอยสะเก็ด" มันที่เดียวกัน จะต่อกลอนทำไมให้มากความ สรุปว่าสังฆทานเข้าพรรษาปีนั้นถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
และทีนี้ก็จะมาถึง "บทบาทสำคัญ" ในด้านการศึกษา ของหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ ที่ว่าบรรดาสำนักเรียนต่างๆ ทั้งในเชียงใหม่และใกล้เคียง ยังต้องพึ่งพาบารมีของท่าน นั่นเพราะ ก่อนหน้านั้น สำนักเรียนต่างๆ เมื่อส่งนักเรียนเข้าสอบ ผลปรากฏว่า "สอบตกมาก" จนแทบจะหาสถิติมิได้เลย แบบว่าส่งไปหลายสิบ สอบได้ 1 รูป 2 รูป หรือ..ไม่ได้ซักรูป ยิ่งกว่าแทงล็อตเตอรี่ พ่อหนานถนอม มัคคทายกวัดเจดีย์งาม เคยเล่าให้ฟังว่า หลายสิบปีก่อน มีข่าวครึกโครมว่า ทางอำเภอเขาจะจัดงานฉลองมหา ใครอยากเห็นมหาให้ไปร่วมงานได้ ชาวบ้านสวนดอกเลยแห่กันไปดูมหากันใหญ่ ครั้นถึงวันงาน ก็พบว่า เขาแห่มหามาบนเสลี่ยง มีร่มหรือฉัตรกั้นให้อย่างดี พิศดูอีกที "อ้อนึกว่ามหาเป็นใคร ที่แท้ก็ตุ๊สีชาวบ้านเรานี่เอง ไปสอบได้มหา เรียกชื่อว่า มหาสี" เรื่องนี้บอกให้ทราบว่า "มหา" เป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก แทบจะเป็น "ตัวประหลาด" ไปเลยในสมัยนั้น ถ้าออกเหรียญก็รับรองว่าดัง !
เมื่อสถานการณ์ยังคงวิกฤตเช่นนี้ ทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนจึงประชุมปรึกษาหารือกัน ได้ความเห็นว่า ต้องมีการ "ติวเข้ม" ในทุกวิชา ก่อนจะส่งนักเรียนเข้าห้องสอบ จึงเป็นที่มาของ..โครงการอบรมบาลีก่อนสอบ ทั้งนี้ ทุกสำนักเรียนยกให้ "วัดบุพพาราม" ของพระครูมงคลศีลวงศ์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งปีแรกที่ผู้เขียนได้เข้ารับการอบรมด้วยก็คือ พ.ศ.2529 พวกเราเหล่านักเรียนบาลีในรุ่นนั้น ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จึงเหมือนดาวกระจายโคจรมาเจอกันที่วัดบุพพาราม กินนอนด้วยกัน แข่งขันกันอย่างสนุกสนาน อาหารดี พระวิทยากรก็ระดับเซียน เพราะพระมหาจรูญ เปรียญเก้ารูปแรกของเชียงใหม่ เข้ารับตำแหน่ง "หัวหน้าทีม" ด้วยตัวเอง แถมมีเงินรางวัลเป็นกำลังใจให้อีก งานนี้ก็พอๆ กับ "มาราโดน่า" เป็นกัปตันทีมอาเจนติน่า จึงทุ่มเทท่องแปลหนังสือกันอย่างที่เรียกว่า เอาชีวิตเข้าแลก ถึงกับปีนั้น มีสามเณรวัดบุพพารามรูปหนึ่ง มุมานะหนักเกินไป เกิดเครียดและมรณภาพกลางโครงการมิทันถึงวันสอบ พวกเราเห็นแล้วน้ำตาร่วง เหมือนทหารเห็นเพื่อนร่วมชาติต้องตายกลางสนามรบฉะนั้น ผลที่ได้รับก็คือ สถิติพระเณรที่สอบผ่านบาลี ดีขึ้นอย่างที่เรียกว่าก้าวกระโดด เชียงใหม่ลำพูนสามารถผลิต "เพชรเม็ดงาม" ประดับวงการบาลีได้หลายสิบรูป/องค์ เผลอๆ จะแตะหลักร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณนั้น ไม่มีวุฒิเปรียญ แต่สามารถสร้างเปรียญได้มากมาย ประวัติศาสตร์ยุคทองของบาลีในเชียงใหม่และลำพูน บันทึกไว้เช่นนี้ ทุกวันนี้ ที่รับๆ ภาระหน้าที่บอกสอนวิชาบาลีต่อกันมา ก็ล้วนแต่เป็นเด็กในระยะที่ว่านั้นทั้งสิ้น ก่อนที่วัดท่าตอนจะรับเอาโครงการอบรมบาลีก่อนสอบไปในอีกหลายปีถัดมา และหลวงพ่อพระครูมงคลศีลวงศ์ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระอุดมกิตติมงคล พระราชพุทธิญาณ และพระเทพวิสุทธิคุณ ตามลำดับ พร้อมๆ กับการขึ้นดำรงตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่" ในปี พ.ศ.2542 ศิษย์รุ่นอาวุโสของวัดบุพพาราม เด่นๆ เท่าที่ทราบก็เห็นจะเป็น 3-4 ท่านเหล่านี้ ได้แก่
1. สามเณรอุทิศ ศิริวรรณ ป.ธ.9 เณรนาคหลวง ปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ ถึงจะเป็นศิษย์หลายสำนัก แต่ช่วงหนึ่งนั้นก็เคยผ่าน "กำแพง" วัดบุพพารามมาเช่นกัน สมัยปัจจุบัน ถ้าพูดเรื่องบาลีแล้วไม่พูดถึง "สามเณรอุทิศ ศิริวรรณ" ก็ถือว่าตกเทรนด์อย่างแรง ผลงานของ "ดร.อุทิส ศิริวรรณ" นั้น เปรียบไปก็เหมือนอรรถกถาทางภาษาบาลียุคใหม่ ที่ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน ถือเป็นแบรนด์เนมในทางภาษาบาลีขายดีที่สุด 2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อินทนนท์ หรืออดีตพระมหาวิโรจน์ ป.ธ.7 สำนักวัดบุพพาราม และเป็นศิษย์รุ่นแรก ของ มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ ซึ่งสามารถไปต่อยอดจนสำเร็จปริญญาเอกจากประเทศอินเดียกลับมา ถือว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของ มจร. เชียงใหม่ได้อย่างภาคภูมิใจ ว่ากันว่าถ้าไม่ลาสิกขาเสียก่อน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุพพารามก็ต้องเป็นของพระมหาวิโรจน์ เผลอๆ จะก้าวเข้ามาในตำแหน่งรองและเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่รุ่นต่อไปอีกด้วย 3. พระครูอมรธรรมทัต (บุญส่ง อมรทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดพันอ้น ตอนยังอยู่วัดบุพพารามนั้น เห็นท่านสนุกกับงานสอนหนังสือเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นพระนักกิจกรรมมือเยี่ยมเลยทีเดียว 4. พระมหาเทวัญ วิสุทฺธิจารี ป.ธ.9 ชาวแม่สะเรียง บ้านเดียวกับหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ ซึ่งก็เดินตามพระมหาวิโรจน์ออกไปสู่โลกกว้าง ถ้ายังอยู่ก็คงได้เป็นพระราชาคณะไปแล้ว สายสัมพันธ์อีกเส้นหนึ่งซึ่งพระเณรวัดบุพพารามรุ่นหลังไม่ค่อยรู้ ก็คือว่า หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณนั้น ท่านมีความสนิทสนมกับ "พระวิสุทธาธิบดี-ไสว ฐิตวีโร" เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม อดีตเจ้าคณะ กทม. ผู้เรืองนาม สายสัมพันธ์ของวัดทั้งสองแนบแน่น หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณได้ส่ง "พระมหานิรันดร์" ไปฝากไว้ในสำนักวัดไตรมิตรวิทยาราม จนได้ประโยค 7 ถ้าไม่สึกหาลาเพศไปก่อน ตอนนี้ก็คงใหญ่ไม่เบา
องค์สุดท้ายที่ยังคงอยู่ และได้รับแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาสในวันที่หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณมรณภาพ ก็คือ พระมหาดวงรัตน์ ฐิตรตโน ป.ธ.9 เช่นกัน ถือว่าวัดบุพพาราม ไม่สิ้นศาสนทายาทที่มีความรู้ความสามารถระดับ "เพชร" ประดับยอดมงกุฎ ทั้งสิ้นทั้งปวงนี้ ต้องยกถวายเป็นผลงานของหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ เพียงรูปเดียว หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูน สร้างผลงานด้านการศึกษา การพัฒนา ไว้อย่างเอกอุ ฉันใด หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ ก็ทำได้ ฉันนั้น เมื่อสอบได้ ป.ธ.5 ในปี พ.ศ.2532 นั้น ผู้เขียนไปสมัครเรียน มจร. วัดสวนดอก หวังจะเดินเข้ารั้วมหาวิทยาลัยกับเขาบ้าง พร้อมๆ กับขอไปอาศัยอยู่ในสำนัก "วัดบุพพาราม" ซึ่งหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณก็เมตตารับไว้ แต่ก่อนเข้าพรรษาปีนั้น มีเหตุผกผันให้ต้องไปอยู่ที่อำเภอสันกำแพง และย้ายไปอยู่กับหลวงพ่อพระครูอมรธรรมประยุต เจ้าคณะอำเภอแม่ริม จนกระทั่งสอบได้ ป.ธ.6 ในปีถัดมา ผู้เขียนจึงถือว่าเป็นศิษย์สำนักวัดบุพพารามด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตาม เดือนมิถุนายน พ.ศ.2543 หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ ท่านเดินทางมาเยือนสหรัฐอเมริกา มีอาจารย์จรูญ จันทมาลัย (อดีตพระมหาจรูญ จนฺทมาลโย ป.ธ.9) เป็นผู้ติดตาม ท่านมีเมตตามาเยี่ยมวัดไทยลาสเวกัส วันนั้น ตรงกับวันเปิดประชุมใหญ่ สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดที่วัดพุทธเบเกอร์สฟิลด์ หรือวัดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในปัจจุบัน ผู้เขียนแจ้งแก่อาจารย์เสถียรพงษ์ วงษ์ท้าว กรรมการวัดไทยลาสเวกัส ไว้ว่า จะพยายามกลับมาให้ทันก่อน 2 ทุ่ม หากหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณมาถึงก่อน ก็ขอความกรุณาถวายการต้อนรับและนิมนต์ท่านพักผ่อนก่อนได้ ว่าแล้วก็ฝากกุญแจวัดไว้ ครั้นผู้เขียนเดินทางกลับมาถึงวัดไทยลาสเวกัส ก็ปรากฏว่า หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ เดินทางมาถึงก่อนหน้านั้นแล้วไม่นาน ผู้เขียนคลานเข่าเข้าไปกราบ แต่เห็นว่าหลวงพ่อท่านยังนั่งอยู่ "บนพื้น" มิได้ขึ้นไปนั่งบน "อาสนะ" ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ถวาย แสดงว่าท่านมี "คารวะธรรม" อย่างสูง ขนาดผู้เขียนเป็นพระเด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลาน ท่านก็ยังมิกล้าถือวิสาสะขึ้นนั่งบนที่นั่งเจ้าอาวาส ผู้เขียนจึงกราบขอนิมนต์หลวงพ่อขึ้นนั่งบนอาสน์นั้น ท่านจึงยอม กาละ เทศะ คารวะธรรม สัปปุริสธรรม รวมทั้งกริยามารยาทต่างๆ นั้น เดินผ่านกันผิวเผินก็คงมองไม่เห็น แต่ถ้าเพ่งพิศพินิจให้ดี ก็มีอยู่ และอยู่ตามผู้รู้ หรือนักปราชญ์ เฉกเช่น หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ ซึ่งท่านเมตตา "สาธิต" ให้ผู้เขียนดู ณ วัดไทยลาสเวกัส ดังกล่าวแล้ว ท่านปรารภกับอาจารย์จรูญว่า มาเยี่ยมมหานรินทร์ ลูกศิษย์เรา ยินดีที่มาสร้างวัดสร้างวาในเมืองนอก ขอให้ตั้งใจและประสบความสำเร็จ เสร็จจากนี้ เรา (หลวงพ่อ) ก็จะเดินทางไปหาเพื่อน มีเพื่อนชื่อว่า พระมหาสุรศักดิ์ อยู่ที่เมืองดีซี ผู้เขียนได้ยินชื่อก็นึก "อ๋อ" เพื่อนของหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณนั้น หาใช่ใครอื่นไม่ คือ พระราชมงคลรังษี (สุรศักดิ์ ชีวานนฺโท) หรือหลวงตาชี แห่งวัดไทย กรุงวอชิงตัน ดีซี พระมหาเถระผู้มีบารมีกว้างใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นั่นเอง เห็นเช่นนี้แล้วก็เข้าใจว่า หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณของเรา ก็ไม่ธรรมดา หาไม่คงไม่มีเพื่อนชื่อ..หลวงตาชี
วันนี้ หลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ ได้ละสังขาร ทิ้งไว้แต่ตำนานแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ให้ใครต่อใครได้ศึกษา ชีวิตและงานอันทรงคุณค่า ชั่วฟ้าดินสลาย
ขอประณมมือขึ้นเหนือเกล้าฯ กล่าวเป็นภาษาเมืองเหนือว่า
ไหว้สาครูบากุศล
กราบถวายสักการะหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณด้วยความเคารพยิ่ง |
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
To BK.
peesang2555@hotmail.com
ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV 89121 U.S.A. 702-384-2264