ของฝากจากอินเดีย

 

ผู้เขียนไปอินเดียมาแล้ว 3 ครั้ง !

ครั้งแรก วันที่ 3 พ.ย. 2552 ถึง 14 พ.ย. 2552

ครั้งที่สอง วันที่ 1 ธ.ค. 2554 ถึง 22 ธ.ค. 2554

ครั้งที่สาม วันที่ 7 พ.ย. 2558 ถึง 14 พ.ย. 2558

ครั้งแรกนั้น ไปคนเดียว บินเดี่ยวเข้าเมืองแขก เลยโดนสอนมวยเสียยับเยิน แต่โชคดีได้ภาพกลับมาทำเป็นมินิซี่รี่ ให้ท่านผู้อ่านได้ไปอินเดียด้วยกัน

 

 

อาจารย์ ดร.พระมหาบาง เขมานนฺโท ที่ไวศาลี ปี 54

 

ครั้งที่สอง ไปเป็นคณะ มีท่านอาจารย์ ดร.พระมหาบาง เขมานนฺโท เจ้าคณะอำเภอหนองหาน อุดรธานี เป็นผู้นำ ซึ่งก็เป็นคณะเล็กๆ ไปกันสิบกว่าคน แต่ทริปนี้มี 2 ช่วง คือ ช่วงแรกนั้น ใช้เวลา 10 วัน นำพระสงฆ์และญาติโยมไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 นับตั้งแต่ พุทธคยา กุสินารา ลุมพินี พาราณสี แล้วส่งคณะขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยที่สนามบินกัลกัตตา เพราะว่ามาลงเครื่องที่นี่ แล้วนั่งรถบัสไปพุทธคยาอีกทอดหนึ่ง พักที่วัดศรีลังกา-กัลกัตตา รวม 2 คืน วันที่ 2 นั้นไปชมพิพิธภัณฑ์เมืองกัลกัตตา ซึ่งว่ากันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดีย เพราะเมืองนี้สมัยอังกฤษยึดครอง เคยถูกยกขึ้นเป็นเมืองหลวง ก่อนจะย้ายไปเดลลีถึงทุกวันนี้

 

รถลากที่..กัลกัตตา (โกลกาต้า)

 

 

ช่วงที่สอง : ครั้น ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2554 ท่านอาจารย์ ดร.พระมหาบาง ก็พาผู้เขียน "นั่งรถไฟ" จากกัลกัตตา มุ่งหน้าไปยังเมืองโภปาล-สาญจี อันอยู่ทางใต้ของอินเดีย เพื่อไปชมมหาสถูป "สาญจี" อันเล่าลือว่าเป็นสถูปที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในอินเดีย นับตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้สร้างขึ้นมาในพุทธศตวรรษที่ 3 ก็หมายถึงว่า มีอายุเก่าแก่กว่า 2200 ปี จากนั้นจึงตีรถยนต์ไปชมถ้ำ "อชันตา-เอลโรล่า" ซึ่งอยู่ที่เมืองอชันตา-เอลโรล่านั่นแหละ แล้วขึ้นเครื่องบินเข้ามหานคร "เดลลี" ไปพักกับ "มิสเตอร์นารึมาสึ" ชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาจารย์ ดร.บาง สนิทสนมตั้งแต่สมัยอยู่ในอินเดีย เขามีร้านขายของมินิมาร์ทชื่อว่า "Yamato-ya" อยู่กลางกรุงเดลลี และมีคอนโดหรูในย่านคนรวย มีห้องหับหลายห้อง สามารถรับแขกได้สบาย จากนั้นไปเยี่ยมวัดลาวเดลลี ชมกรุงเดลลีอยู่ 2-3 วัน จึงตีตั๋วรถไฟขึ้นเหนือ ไปรัฐปัญจาป ต่อจากนั้นจับรถคันเล็กๆ วิ่งวนขึ้นดอยสูงไปยัง "ธรรมศาลา" เพื่อชมอาณาจักรของท่าน "ดาไล ลามะ" ผู้โด่งดังสะท้านโลก

อาจารย์บางหลอกผู้เขียนว่า "จะพาไปฉัน โมโม่-โจโจ้ ที่ธรรมศาลา หากินได้ยาก" แหมอยากชิมอาหารสุดขอบฟ้าจากหลังคาโลก เลยยอมตามท่านไปในงวดนั้น อยู่ธรรมศาลา 2 คืน 3 วัน ก็กลับมาเดลลี แล้วตีเครื่องบินของการบินไทย กลับมาสู่ "สุวรรณภูมิ" ในเช้าวันที่ 22 ธันวาคม 2554 มีภาพติดย่ามมานับหมื่นรูป ยังไม่ได้ทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวเลย หลายพันรูปคิดว่าผู้คนอีกหลายล้านยังไม่เคยได้เห็น แต่เอาไว้มีเวลาจะค่อยๆ นำเสนอ

 

 

พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ

(วิเชียร วชิรวํโส ป.ธ.5 Ph.D.)

เจ้าอาวาสวัดไทยสิริราชคฤห์ รัฐพิหาร และวัดในเครืออีก 2 วัด กำลังสร้างวัดที่สี่ที่กัลกัตตา ท่านพระครูวิเชียรเป็นพระที่ขึ้นเขาคิชฌกูฏบ่อยที่สุดในโลก ขึ้นบ่อยกว่าพระเจ้าพิมพิสารผู้สร้างทางขึ้นเขาเสียอีก

 

 

ท่านพระครูวิเชียรกับภารกิจที่ไม่เคยท้อ

 

นำพุทธศาสนิกชนเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพื่อบูชาพระคันธกุฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินมาแล้วไม่รู้กี่ร้อยรอบ แต่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยหรือท้อถอย เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาในภาระหน้าที่..ที่สวรรค์มอบให้มา เป็นทั้งเจ้าอาวาส เจ้าของที่พัก เป็นไก๊ด์นำไหว้พระ ลงมาแล้วก็ต้องหาข้าวหาปลามาเลี้ยงดู จะออกเดินทางก็ต้องหารถหาราสารพัด เป็นงานที่ครบเครื่องสุดๆ ของเจ้าอาวาสวัดไทยสิริราชคฤห์และพระธรรมทูตไทยในอินเดีย

 

 

มาครั้งนี้ ก่อนสิ้นปี 58 มีโปรแกรมกลับเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายน เพราะต้องไปร่วมงานบุญทอดกฐินที่ขอนแก่น จึงคิดว่า เอ..ช่วงนั้นเป็นวันเกิดของเรา นอกจากกลับไทยไปทอดกฐินแล้ว ควรจะไปไหนดี..สุดท้ายก็มาสะดุดตรงที่ "ไปไหว้พระ"

พระที่ว่านี้ คือ พระศรีมหาโพธิ์ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย เหตุผลสำคัญก็คือ ไม่ได้ไปเกือบ 4 ปีแล้ว กลางพรรษาที่ผ่านมา ติดต่อกับท่านอาจารย์วิวัฒน์ อุทาโน ซึ่งท่านพระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (วิเชียร วชิรวํโส Ph.D.) เจ้าอาวาสวัดไทยสิริราชคฤห์ รัฐพิหาร และวัดจีนสารนาถ เมืองพาราณสี ซึ่งวัดหลังนี้ท่านยกให้ท่านอาจารย์วิวัฒน์อยู่ดูแลมาหลายปี แต่ปีนี้ ท่านวิวัฒน์บอกว่า "ผมย้ายมาอยู่พุทธคยาแล้ว" พร้อมกลับเล่าว่า ท่านอาจารย์พระครูวิเชียรได้ที่แห่งใหม่ ใกล้กับพระศรีมหาโพธิ์ อยู่หลังวัดป่าพุทธคยา ของท่านเจ้าคุณจิ๋วไปนิดเดียวเอง เดินไปไหว้พระศรีมหาโพธิ์ได้ทั้งเช้าทั้งเย็น แหมได้ยินเช่นนั้นผู้เขียนจึงอยากจะไปเยี่ยมวัดใหม่ของท่านพระครูวิเชียร ครั้นมาประสบโอกาสเดินทางกลับไทยในช่วงวันเกิด จึงเลือกที่จะเดินทางไปอินเดีย..อีกครั้ง

 

 

อาจารย์วิวัฒน์ อุทาโน

หัวหน้าสงฆ์วัดจีนสารนาท และปัจจุบันหัวหน้าสงฆ์วัดพระเจ้าอโศกมหาราช

มือขวาของท่านพระครูปลัดวิเชียร

 

 

ครั้งนี้ผู้เขียนตัดสินใจบินเข้าไทยไทยก่อนงานกฐิน ไปถึงบ่ายวันที่ 6 พ.ย. ตกเช้าวันที่ 7 ก็ตีตั๋วบินเข้าพุทธคยาเลย การบินไทยชาร์จไปพันกว่าเหรียญ (จองจากแอลเอ) เครื่องบินออกเที่ยงครึ่ง ตกบ่ายสามก็ถึงพุทธคยาแล้ว ท่านพระครูวิเชียรและท่านวิวัฒน์ให้เกียรติมารับด้วยตนเอง แค่นี้ก็ซาบซึ้งประทับใจแล้ว สำหรับคนเดินทางไกลไปต่างแดนเช่นเรา

ท่านพระครูวิเชียรถามไถ่ว่า "อาจารย์มหาจะอยู่กี่วัน จะได้ดูแลถูก" ก็เรียนท่านไปว่า "ซัก 6-7 วันน่ะครับ อยากจะมาไหว้พระและชมบารมีของท่านอาจารย์พระครู" ท่านก็อมยิ้ม พลางกล่าวว่า "นิมนต์ตามสบายเลยครับ มีอะไรก็บอกท่านวิวัฒน์ได้ ถือว่าเป็นเหมือนวัดของท่านอาจารย์เอง" นั่นเห็นไหม ไปถึงอินเดียท่านก็ยกวัดถวายแล้ว

วัดใหม่ของท่านพระครูวิเชียรนั้น ชื่อว่า วัดพระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งเป็นเกียรติประวัติแก่พระมหากษัตริย์พุทธผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพิ่งสร้างได้ปีกว่าๆ ตั้งอยู่กลางทุ่งทางทิศใต้ของพระศรีมหาโพธิ์ เห็นยอดพระเจดีย์อยู่ไกลๆ ภายในวัดมีอาคาร 2 หลัง เป็นทั้งที่พักและรับแขก ส่วนโรงอาหารนั้น ท่านให้เอาไม้ไผ่มาปลูกเป็นเพิงหมาแหงนกันแดด ถมดินยกพื้นขึ้นนิดหน่อยพอน้ำไม่ท่วม หลังคาก็มุงด้วย "หญ้ากุสะ" หรือหญ้าคาน้ำ หาได้แถวๆ พุทธคยานั่นเอง อากาศช่วงนั้น "หนาวเนื้อนิดๆ" เหมือนเมืองฝางบ้านผู้เขียน ทางเหนือเรียกว่า "หนาวอ็อดฮ็อด" บรรยากาศแบบนี้ ได้ผ้าผวยผืนหนึ่ง กาแฟร้อนๆ ซักแก้ว นั่งคุยกันใต้เพิงหมาแหงนกลางทุ่ง อบอุ่นทั้งกายและใจเหมือนอยู่บ้านเราเลย

อินเดียทุกวันนี้มีอะไรแทบว่า "ทุกอย่าง" ขอเพียงเรา "มีตังค์" ก็ไม่อดอยาก ลำพังวัดไทยในพุทธคยาก็ปาเข้าไป 20 กว่าวัดแล้ว แต่ละวัดก็หรูหราระดับโรงแรมห้าดาว เอาเป็นว่าวัดไทยในอเมริกาอายไปเลยเชียวล่ะ เสียอย่างเดียวก็คือ "ยุงยังเยอะ" กัดซะจนหน้าผู้เขียนเหมือนเป็นโรคฝีดาดมาก่อน ขนาดหน้าหนาวนะ ถ้าหน้าร้อนจะขนาดไหน

 

 

ส.ค.ส.2559 จาก..อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม

 

วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านไป ท่านผู้อ่านคงจะแปลกใจกับภาพข้างต้นนี้ ว่านี่คือภาพอะไร ทำไม "อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม" นำมาเสนอพร้อมกับคำอวยพรในวันปีใหม่ พุทธศักราช 2559 นี่แหละคือที่มาของ "ของฝากจากอินเดีย" ในวันนี้

บทความนี้เกิดขึ้นได้เพราะ "โชค" ของผู้เขียน ซึ่งต้องอาศัยบารมีของท่านพระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (วิเชียร วชิรวํโส) เจ้าอาวาสวัดไทยในอินเดีย 3 วัด ซึ่งท่านมีอุบาสิกาที่ยอดเยี่ยม ชื่อว่า คุณโยมสุพิญย์ ศุพุทธมงคล ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในอินเดียท่านหนึ่ง

เรื่องราวก็คือว่า หลังจากชมอะไรๆ ใกล้ๆ กับพุทธคยา นับตั้งแต่พระเจดีย์พุทธคยา และพระพุทธเมตา แล้ว ก็ไปเมืองราชคฤห์ ขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพื่อนมัสการพระคันธกุฏีที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยนวนาลันทา เมืองนาลันทา แต่ไม่ได้เข้าไปวัดท่านอาจารย์ ดร.พระมหาพัน เพราะเคยไปแล้ว ค่อยแวะไปเยี่ยมวัดใหม่ของท่านระหว่างทางกลับมาราชคฤห์อีกที ช่วงที่อยู่ราชคฤห์นั้น ท่านพระครูวิเชียรกระซิบผู้เขียนว่า "อาจารย์มหาอยากอาบน้ำร้อนตโปทาไหม อากาศหนาวๆ แบบนี้ดีนา" ผู้เขียนก็ถามว่า "อาบได้หรือครับท่านพระครู" ท่านพระครูก็พยักหน้าตอบว่า "ดีมากเลยครับ แต่ต้องไปตอนค่ำๆ หน่อย ซักทุ่มสองทุ่มจะปลอดคน เราจะได้อาบน้ำร้อนที่มีชื่อเสียงมาแต่สมัยพุทธกาล" ก็ตกลงว่า คืนนั้น คณะของเรา มีท่านพระครูวิเชียร ท่านอาจารย์วิวัฒน์ ผู้เขียน และพระวัดไทยสิริราชคฤห์อีก 2 รูป ถือฤกษ์ไปใช้บริการ "บ่อน้ำแร่ตโปทา"

บ่อน้ำแร่ที่ว่านี้ ท่านทำเป็น 2 ชั้น คือชั้นบน จะทำเป็นท่อน้ำร้อนไหลออกมา โดยหัวหรือปลายท่อนั้น จะทำเป็นรูปสัตว์ เช่น โค ด้านล่างนั้นท่านทำเป็นบ่อน้ำร้อนขนาดใหญ่ มีน้ำร้อนผุดขึ้นตรงกลาง  คิดว่าน่าจะลงอาบได้ทีละ 20-30 คน น้ำนั้นร้อนระอุพอๆ กับบ่อน้ำแร่ที่เมืองลาสเวกัส ช่วงที่เราเข้าไปนั้น มีคนอาบอยู่เพียง 2-3 คน คณะของเราจึงยึดพื้นที่ไว้หมด ใครขืนยึกยักก็สั่งล็อกแขนได้เลย แหมพูดเล่น !

นั่นก็เป็นประสบการณ์สำคัญในชีวิต เพราะไม่เคยคิดว่าจะได้อาบน้ำแร่ในบ่อน้ำที่ชาวอินเดียเชื่อกันว่า "มาจากโลหกุมภีนรก" หมายถึงว่า สายน้ำแห่งนี้ "ผ่าน" นรกมาแล้ว อยากรู้ว่า "นรก" ร้อนเพียงใด ก็สัมผัสได้จากสายน้ำ..ตโปทา

 

อีกที่ที่อยากไปก็คือ ถ้ำบาราบา ซึ่งมีชื่อปรากฏว่ามีจารึกของพระเจ้าอโศกอยู่ ถึงจะอยู่ไม่ไกลจากพุทธคยา แต่มีปัญหาว่า แถวนั้นโจรดุ นักท่องเที่ยวโดนปล้นเดือนหนึ่งหลายราย นอกจากจะต้องไป "กลางวัน" และรีบกลับ "ก่อนค่ำ" แล้ว ก็ยังถูกบังคับให้ต้อง "จ้างตำรวจท่องเที่ยว" นั่งเบียดรถของเราไปด้วยอีกตั้ง 2 คน แต่ท่านพระครูวิเชียรก็ใจป้ำ เท่าไหร่เท่ากัน เราจึงได้ไปถึงถ้าบาราบาสมใจ

 

 

ไหว้พระ-นั่งสมาธิ ที่ใต้พระศรีมหาโพธิ์ จุดมุ่งหมายไป..อินเดีย

 

 

นอกนั้นถามว่าผู้เขียนอยากไปไหน ก็ตอบสั้นๆ ว่า "ไปนั่งสมาธิที่ใต้ต้นโพธิ์" แต่ก็รู้ว่าคงนั่งได้ไม่นาน เพราะผู้คนพลุกพล่านมาก สถานที่ก็จำกัด แถมเมื่อเกิดเหตุระเบิดเมื่อปีก่อน ทางเจ้าหน้าที่ก็ห้ามมิให้ใครเข้าไปนั่งสมาธิข้ามคืนอีก กว่าจะเปิดก็ตีห้า ถึงสามทุ่มก็ไล่คนออกแล้ว ช่วงออกพรรษาหน้าหนาวพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกก็หลั่งไหลไปพุทธคยา ดังนั้น ถ้าได้นั่งสมาธิซัก 5 นาที ก็ถือว่าโชคดียิ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว เพราะเลือกไปในวันเกิดพอดี แบบว่าไม่อยากได้อะไร ไม่ใช่ไม่มีเงินซื้อ แต่อยากจะ..ไปนั่งสมาธิเท่านั้น จริงๆ

 


 

คารวะเจ้าเมือง

พระเทพโพธิวิเทศ หรือท่านเจ้าคุณวีรยุทธ วีรยุทฺโธ Ph.D.

เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล

 

ตัดเวลาไปเลยว่า ครั้นวันที่ 14 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายนั้น ผู้เขียนมีไฟลท์บินกลับไทยในตอนบ่าย จึงมีเวลาช่วงเช้าแบบสบายๆ ในบริเวณเมืองคยา ซึ่งก็ตั้งใจว่าจะไปไหว้เจ้าเมือง เจ้าเมืองในที่นี้ก็คือ "ท่านเจ้าคุณพระเทพโพธิวิเทศ-วีรยุทธ วีรยุทฺโธ" เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ท่านมีตำแหน่งดังนี้ ก็เท่ากับเจ้าเมือง ไปบ้านเมืองท่านไม่ไปให้ท่านเห็นหน้านั้นถือว่าเสียมารยาท ก็โชคดีอีกที่พบท่าน เจรจาปราศรัยพอประมาณจึงกราบลาท่านกลับ

 

 

NANGZI DORJE

เลขาธิการมหาโพธิสมาคม พุทธคยา

 

ช่วงก่อนจะออกจากวัดพระเจ้าอโศกมหาราชในตอนเช้านั้น มีผู้เดินทาง 2 ชุดด้วยกัน คือโยมของท่านพระครูวิเชียร คือ คุณโยมสุพิญย์ ศุพุทธมงคล ประธานกฐินสามัคคีในปีนี้  จะเดินทางกลับเมืองไทยในตอนบ่าย ส่วนผู้เขียนก็จะบินกลับในตอนค่ำ ห่างกันไม่กี่ชั่วโมง เราจึงออกจากวัดกลางทุ่งพร้อมๆ กัน เพื่อจะเข้าไปกราบลา "หลวงพ่อพระพุทธเมตตา" ภายในพระมหาโพธิ์เจดีย์ ขณะเข้าไปนั้นก็ประมาณ 9 โมงกว่าๆ ก็โอ้เอ้กันอยู่พักใหญ่ จึงไปรวมกันที่ "หน้าประตู"

แล้วจู่ๆ อาจารย์วิวัฒน์ก็เดินมาบอกว่า "อาจารย์เห็นไหม วันนี้มีบุคคลสำคัญมาที่นี่" เราก็นึกว่าเป็น "สมเด็จพระธีรญาณมุนี-สมชาย วรชาโย" วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งท่านมาเป็นประธานงานบวช ซึ่งจัดอย่างอลังการที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่ท่านวิวัฒน์บอกว่า "ไม่ใช่ครับ คนสำคัญที่ว่านั้นคือ คนนั้น" พลางชี้ให้ดูผู้ชายวัยกลางคนคนหนึ่ง ผู้เขียนดูแล้วก็งง เพราะไม่รู้จักว่าเป็นใคร ?

อาจารย์วิวัฒน์ก็อธิบายว่า "นี่แหละอาจารย์ คนๆ นี้มีอิทธิพลสูงสุดในพุทธคยา เพราะว่าเป็นเลขาคณะกรรมการบริหารที่นี่ ชื่อว่าดอจีนี่แหละ"

"เหรอ" ผู้เขียนรับคำพลางจ้องสายตาตามไป

ไม่กี่อึดใจ ท่านพระครูวิเชียรก็เดินมาบอกว่า "โอ ถือว่าวันนี้เป็นวันโชคดีจริงๆ เราพบกับเลขาธิการมหาโพธิสมาคม โยมสุพิญย์เขารู้จักและขอขึ้นไปไหว้พระข้างบน เขาอนุญาตแล้ว นิมนต์ครับ"

 

 

ภาพพบเลขามหาโพธิสมาคม (ซ้ายสุด) คุณโยมสุพิญย์ ศุพุทธมงคล

 

 

ผู้เขียนได้ฟังก็ยังงงๆ คือนึกไม่ถึงว่าจะมีบุญได้ขึ้นไป "ชั้นบน" ของพระมหาเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเคยพยายามมาหลายครั้ง

ครั้งแรกที่ไปอินเดียนั้น เดินเข้าไปขอขึ้น "ตรงๆ" แต่เจ้าหน้าที่เซย์โน บอกว่าขึ้นไม่ได้

ครั้งที่สอง ไปพักที่วัดศรีลังกาเมืองกัลกัตตา ท่านอาจารย์ ดร.พระมหาบาง เล่าว่า เจ้าอาวาสวัดนี้มีอิทธิพลที่พุทธคยาสูงมาก ผู้เขียนก็เลยเอ่ยปาก "ขอช่วยติดต่อ" ให้ขึ้นไปชั้นบนของพระเจดีย์ ซึ่งท่านก็พยักหน้ารับคำ แต่ครั้นกลับมาแล้วก็ไม่ได้ติดต่อ พอจะไปก็ไม่บอกใคร แถมมีเวลาแค่ประเดี๋ยวเดียว แล้วจะได้ขึ้นไปยังไง ?

ก็จึงขอเรียนว่า เป็นโชคของผู้เขียน ได้อาศัยบารมีท่านพระครูวิเชียรซึ่งมีโยมดี รู้จักคุ้นเคยกับท่านเลขาธิการของมหาโพธิสมาคม อันควบคุมดูแลและบริหารกิจการพุทธคยาทั้งหมด เพียงแค่ท่านเลขาฯพยักหน้าอนุญาต เจ้ายามหน้าตาขมึงตึงดังยักษ์วัดโพธิ์นั้นก็คลายท่าทีกลายเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนยังกะเทพพนม รีบเปิดประตูผายมือเชิญเราให้ "ขึ้นไป"  เพื่อกราบพระประธานบนชั้นที่สองของพระเจดีย์พุทธคยา

 

 

ผู้ที่ขึ้นไปในวันนั้นก็คือ 1.ท่านพระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ (วิเชียร) 2.ผู้เขียน 3.อาจารย์วิวัฒน์ 4.หลวงตา 5.คุณโยมสุพิญย์ ศุพุทธมงคล  และเพื่อน รวมเป็น 6 ชีวิตด้วยกัน

เรามีเวลาสั้นๆ เพียง 20 นาที ทั้งกราบพระและถ่ายรูป ซึ่งรูปที่ได้มาครั้งนี้ ถือว่า "มีค่ามากที่สุด" ในบรรดารูปที่ได้มาจากอินเดีย สาเหตุก็เพราะ "ชั้นบนเป็นเขตหวงห้าม" นั่นเอง ถ้าไม่เฮงจริงๆ ก็อย่าหวังว่าจะได้ขึ้นไป ดังนั้น รูปพระที่ทางอะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม นำมาให้ท่านผู้อ่านทัศนาเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2559 จึงถือว่าเป็นอุดมมงคลอันสูงสุดอย่างแท้จริง เพราะเชื่อว่า มีน้อยคนนักที่จะได้ขึ้นไปชั้นสองของพระเจดีย์พุทธคยา และเคยกราบพระประธานในชั้นบน เพราะร้อยทั้งร้อย ไปถึงพระเจดีย์พุทธคยาแล้ว ก็เดินเข้าไปไหว้หลวงพ่อเมตตา จากนั้นก็เดินอ้อมไปด้านหลัง ไปไหว้พระศรีมหาโพธิ์และนั่งสมาธิ เสร็จแล้วก็กลับ เพราะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านั้นแล้ว

ท่านพระครูวิเชียรเลยนิมนต์ผู้เขียนให้ไปถ่ายรูปร่วมกับเลขาธิการมหาโพธิสมาคม "เจ้าพ่อ" ในวงการพระพุทธศาสนาโลก ตัวจริงเสียงจริง

เอาละ โอ้เอ้และอืดอาด มักจะพลาดปรารถนา พลาดแล้วจะโศกา อนิจจา มาช้าไป.. ดังนั้น ก็ขอเชิญท่านผู้อ่าน ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระประธาน บนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา อันสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ด้วยกัน ณ บัดนี้

 

 

เราจะขึ้นไป..ชั้นบนโน้น

 

 

 

หลับตานึกภาพง่ายๆ ว่า ขณะเดินเข้าสู่ภายใต้พระมหาเจดีย์พุทธคยานั้น ก่อนจะเข้าสู่ห้องกลาง ซึ่งจะผ่านเข้าไปถึงองค์พระพุทธเมตตา ซึ่งอยู่ห้องในสุด ด้านซ้ายมือก็จะมีบันไดสำหรับเดินขึ้นไปยังชั้นสองหรือชั้นบนของพระเจดีย์ ซึ่งมีห้องโถงอยู่อีกห้องใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางยืนประทานพร ซึ่งน่าจะสร้างมาพร้อมๆ กับพระพุทธเมตตาเช่นกัน (ถ่ายภาพบันไดขณะเดินขึ้นมาถึงช่วงเลี้ยว)

(ความจริงแล้ว มีบันไดขึ้นสู่ชั้นบนได้ทั้งสองฝั่ง แต่เจ้าหน้าที่จัดให้ขึ้นทางฝั่งใต้ ส่วนฝั่งเหนือนั้นปิดไว้)

 

 

 

เดินตรงขึ้นไปก็จะพบว่ามีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรยืนขวางอยู่ เราต้องเลี้ยวขวา เดินขึ้นไปอีกหลายขั้น จากนั้นก็จะพ้นจากบันได

 

 

 

นั่นแหละฮะ เดินขึ้นมาจากช่องนั้น

ส่วนห้องโถงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น ก็อยู่ด้านขวามือ (ขณะเดินขึ้น) แต่ถ้ามองจากในภาพนี้ก็จะอยู่ซ้ายมือ หรืออยู่ด้านหน้าของเจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่นั่นเอง

 

 

 

พอพ้นจากช่องทางขึ้นมา เราก็จะเห็นบริเวณชั้นสองเป็นแบบนี้ คือจะมีทางยาวไปจนสุดแนวพระเจดีย์ และมีเจดีย์องค์เล็ก (เจดีย์มุม) อยู่ตรงมุมพระเจดีย์ใหญ่ ส่วนห้องโถงใหญ่ในพระเจดีย์นั้นก็อยู่..ขวามือ

 

จับภาพเข้าใกล้พระเจดีย์องค์ใหญ่อีกนิด

 

 

พระเจดีย์เล็ก (เจดีย์มุม) ที่เห็นด้านหน้า มีพระพุทธรูปยืนตั้งอยู่ด้านใน

 

 

พระพุทธรูปยืนด้านในพระเจดีย์เล็ก

 

 

ภาพพระเจดีย์องค์เล็กๆ เรียงรายไปตามแนวพระเจดีย์ชั้นบน

 

 

นั่นแหละฮะ พระเจดีย์แถว องค์เล็กๆ ทั้งหมดนั้นแหละ

 

 

ดูใกล้ๆ ก็ใหญ่นะ ฐานกว้างซักศอก-สองศอก ประมาณนั้น

 

 

เป็นไอเดียใครไม่รู้ เอาพระเจดีย์เล็กๆ เก่าๆ จากด้านล่าง ขึ้นมาเรียงไว้ข้างบนพระเจดีย์ ดูสวยไปอีกแบบ แต่เดิมน่าจะไม่มีพระเจดีย์เหล่านี้ ดูขนาดและทรวดทรงซีฮะ ไม่เหมือนกันเลย

 

 

มองลงไปตรงๆ

 

 

ส่องกล้องไปทางด้านหลัง

 

 

เราจะไปดู..พระศรีมหาโพธิ์ ใกล้ๆ

 

 

แต่เสียใจ ได้แค่นี้ เพราะมี "รั้วเหล็ก" กั้นไว้

 

 

จึงได้แต่เพียง..มองด้วยตา

 

 

ขึ้นมาชั้นสอง นึกว่าจะได้เห็นใกล้ๆ ดูไปแล้วไกลกว่าชั้นล่างเสียอีก

 

 

แต่..ไม่ไปก็ไม่รู้

 

 

ดูพระเจดีย์เล็กแทนก็แล้วกัน

 

 

ผู้เขียนก็ "เข้าใกล้" ได้แค่นี้

 

 

คราวนี้เราก็เข้ามาด้านในห้องโถงชั้นแรก

ขวามือนั้น เป็นประตูติดกระจกบานใหญ่ เปิดออกไปเป็นระเบียงด้านหน้าพระเจดีย์ แต่เวลานี้ท่านปิดตาย ก็ได้แค่ชะโงกมองดังที่เห็นนี่แหละ

 

 

ขยับกล้องเข้าใกล้ๆ ได้ภาพมุมกว้าง มองเห็นพระเจดีย์เล็กหลายองค์

ด้านหน้าโน้นเป็นบันไดที่เราเดินลงมานั่นแหละ

 

 

แบบนี้เห็นกว้างกว่านิดหน่อย

 

 

ขยับกล้องมาทางซ้าย

 

 

ตรงนี้เห็นทางเดินชัดเจน

 

 

นี่ฮะ ! ระเบียงและพระเจดีย์รายด้านหน้าทั้งหมด เป็นซุ้มยื่นออกไปไม่กี่เมตร

 

 

เห็นแนวทางเดินด้านล่างตรงมาด้านหน้าพระเจดีย์

 

 

 

ยิงกล้องไปทางด้านหน้าพระเจดีย์ลงไปทางทิศใต้ (ด้านหน้าคือทิศตะวันออก มีแม่น้ำเนรัญชราไหลไปทางซ้ายมือ คือไหลขึ้นเหนือ)

 

 

ขยับมาตรงกลาง หลังคาสองหลังที่เห็นนี้คืออาคารด้านซ้ายมือเวลาเดินเข้ามา

 

 

นี่ฮะ ! ขยับมาเรื่อยๆ ประติดประต่อเอาเองก็แล้วกัน

 

 

มุมนี้ก็สว่างดี เห็นภาพรวมชัดเจน

 

 

 

แหงนหน้าขึ้นมองด้านบนยอดพระเจดีย์

 

 

ตัวพระเจดีย์แบบใกล้ที่สุดแล้ว

 

เบนกล้องไปทางโน้นบ้าง

 

 

 

ส่องกล้องขึ้นฟ้า

 

 

ตรงกลาง

 

 

หน้าแหงนเลย

 


 

แผนที่บนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา

 

ครานี้ก็จะกลับเข้ามายัง "ห้องโถงกลาง" ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นนอกกับชั้นใน ถ้าไม่ชัดก็ขอความกรุณาดูแผนที่ด้านบน มุมล่างขวาสุด คือบันไดที่เราขึ้นมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ขึ้นมาจากใต้พระเจดีย์มุม) โผล่ออกไปทางทิศตะวันตก ถ้าเดินตรงไปก็จะไปถึงพระเจดีย์มุมองค์ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเห็นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้านหลัง แต่ถ้าจะเข้าไปในห้องโถงบนชั้นสองก็ต้อง "เลี้ยวขวา" พอผ่านประตูแรกเข้าไป เราก็จะอยู่ใน "ห้องโถงชั้นนอก" ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าประตูไปอีกชั้นหนึ่ง จึงจะถึงองค์พระประธานที่อยู่ด้านในสุด (วงกลมสีดำ) ท่านยืนผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งผู้เขียนก็คิดว่า น่าจะเป็นจุดๆ เดียวกับหลวงพ่อพระพุทธเมตตาประดิษฐานอยู่ชั้นใต้

 

 

เราผ่านประตูเข้ามาจากด้านซ้าย

 

ซุ้มโขงเข้าสู่ห้องพระประธานบนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา

 


พระพุทธรูปยืนบนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา

ในหนังสือ "พุทธคยา-ราชคฤห์-นาลันทา" ของหลวงพ่อพระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.9 Ph.D.) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและอดีตหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า

"ห้องโถงชั้นบนของพระเจดีย์ ยาวประมาณ 6 เมตรเศษ กว้างประมาณ 5 เมตร กับ 47 เซนติเมตร มีพระพุทธรูปแบบทรงเครื่อง ปางประทานพร สูงประมาณ 1 เมตร กับ 65 เซนติเมตร สร้างสมัยปาละเช่นกัน ประทับยืนเป็นประธาน ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก"

แต่ในหนังสือเล่มนั้นไม่มีรูปพระประธานด้านบนให้ดู ไปค้นดูในหนังสือสมุดภาพแดนพุทธภูมิ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ "พระสุเมธาธิบดี- บุญเลิศ ทตฺตสุทธิ ป.ธ.8" อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทคยาและอดีตหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย ซึ่งถือว่ามีรูปภาพในดินแดนพุทธภูมิ "มากที่สุด" ก็ไม่พบรูปพระประธานด้านบนของพระมหาเจดีย์พุทธคยา

มาถึงหนังสือเล่มสำคัญ ที่ชื่อ "สู่แดนพระพุทธองค์" ของเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล รูปปัจจุบัน คือท่านเจ้าคุณพระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ Ph.D.) ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือ "ครบเครื่อง" เรื่องอินเดียมากที่สุดแห่งยุค ก็ปรากฏว่า "ไม่มี" ภาพหลวงพ่อพระประธานบนชั้นที่สองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา เช่นกัน !

หนังสือทุกเล่มพูดถึงเฉพาะ "หลวงพ่อพระพุทธเมตตา" เพียงองค์เดียว ทั้งๆ ที่ชั้นบนยังมีพระประธานประดิษฐานอยู่ "อีก 1 องค์"

ผู้เขียนติดใจมานานหลายปี ไปพุทธคยาทีไรก็ "ชะแง้" แลขึ้นไปชั้นบน หวังจะได้ขึ้นไป "กราบพระประธาน" บนชั้นสอง "สักครั้งในชีวิต" ซึ่งการไปในครั้งหลังนี้ มีความตั้งใจเพียง "นั่งสมาธิใต้พระศรีมหาโพธิ์ซัก 5 นาที" ก็เป็นบุญใหญ่ของชีวิตแล้ว นึกไม่ถึงว่าจะโชคดีได้ขึ้นไปบนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา แถมยังได้ภาพพระประธานมาเป็นของฝาก สำหรับแฟนเว็บไซต์แห่งนี้ ทั้งโลกา แบบว่าท่านอยู่ไหนก็ "ดาวโหลด" ไปบูชาได้หมด ท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้ผู้เขียนไปอินเดียคราวนี้ก็ดี ท่านที่อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัย-อาหารการกินก็ดี ท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้ได้ขึ้นไปไหว้พระประธานบนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยาก็ดี ขอจงอนุโมทนากับพระมหานรินทร์ และขอจงภูมิใจว่า "ท่านเป็นเจ้าของ" ภาพที่นำเสนอทั้งหมดด้วยกัน

เพราะ..ถ้าไม่มีท่านช่วยเหลือเกื้อกูล ก็คงไม่มี..พระมหานรินทร์ในอินเดีย ภาค 3

เอาละ ไหนๆ ก็ขึ้นมาแล้ว กว่าจะได้ขึ้นมาอีกครั้งก็คงนาน ดังนั้น จะเสียเวลาอยู่ไย เชิญท่านไปกราบพระประธานบนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา ให้อิ่มตาอิ่มใจและอิ่มบุญ ด้วยกันเถิด

 

 



 


 

ความจริงแล้ว ผู้เขียนเริ่มประมวลภาพและเรื่องราว ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี พอดีติดงานสวดมนต์ข้ามปี จึงได้เพียงมอบรูปพระประธานบนชั้นสองของพระมหาเจดีย์พุทธคยา เป็นของขวัญปีใหม่ "เซอร์ไพรซ์" แก่ท่านผู้อ่านก่อน เพิ่งจะเขียนเสร็จในวันนี้ ถึงจะผ่านปีใหม่มานานถึง 3 วัน ก็ยังถือว่าไม่ช้าเกินไป จึงขอมอบภาพและเรื่องราวทั้งหมด เป็นของขวัญให้แก่แฟนานุแฟนของ "อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม" ในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2559 นี้

 

HAPPY NEW YEAR

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
1 มกราคม 2559

 

 

 

E-Mail

peesang2555@hotmail.com

ALITTLEBUDDH.COM HOMEPAGE WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. (702) 384-2264