ได้หรือไม่ ?
วันก่อน ผู้เขียนนำเสนอเรื่องของคุณสุวิทย์ หรือพุทธะอิสระ ได้ประกาศ "ปลงอาบัติให้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช" ตามด้วยการวิเคราะห์พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2 ฉบับ ซึ่งมีคำว่า "อาวุโสโดยพรรษา" กับ "อาวุโสโดยสมณศักดิ์" เป็นจุดสำคัญ ก็ได้รับการ "ตอบรับ" จากคุณสุวิทย์มายาวยืด ซึ่งก็ถือว่าใช้ได้ ยังอ่านภาษาคนรู้เรื่อง ถึงจะกักขฬะไปบ้างก็ตามเถิด เพราะใครๆ เขาก็รู้กำพืดของแกดี ที่เขียนวันนี้ก็เพราะมีประเด็นอีกเช่นเคย ประเด็นก็คือว่า พุทธะอิสระแกอ้างว่า "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีพระบัญชาให้ธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกและต้องโดนจับสึก" นั่นเอง
ก็จึงเกิดคำถามว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาให้พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกได้หรือ ???
เมื่อเกิดคำถามก็ต้องหาคำตอบ ซึ่งคำตอบนั้นก็ต้องมี "หลักฐาน" ทั้งด้านพระธรรมวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระสังฆราชมายืนยัน
1. ด้านพระธรรมวินัย ในด้านพระธรรมวินัยนั้น ไม่มีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช (ย้ำ) ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่อุปโลกน์ขึ้นมาในหลายประเทศ ซึ่งหลายประเทศก็ไม่มี ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งใครให้เป็น "ศาสดา" แทนพระองค์ โดยมีหลักฐานยืนยันอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ว่า "โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถาติ" แปลว่า ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและวินัยอันใด ที่เราตถาคตแสดงและบัญญัติไว้แก่ท่านทั้งหลาย พระธรรมและวินัยอันนั้น จะเป็นพระศาสดาของท่านทั้งหลาย ภายหลังเราสิ้นไป แม้แต่พระอานนท์ซึ่งอุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้าจนนาทีสุดท้าย ก็ไม่ได้เป็นสังฆราช เพราะพระพุทธองค์ "ไม่ทรงตั้ง" ตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" จึงไม่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย แต่เป็นตำแหน่งที่ชาวพุทธในประเทศนั้นๆ "อุปโลกน์" กันขึ้นเอง ในภายหลังพุทธกาล คือหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว เรียกว่า ปู่ครู บ้าง สังฆปาโมกข์ บ้าง สังฆราช บ้าง แล้วก็ยอมรับนับถือกันในลัทธินิกายของตน ทั้งนี้เพราะเห็นว่า "มิได้ขัดกับพระธรรมวินัย" แต่เป็นการยกย่องส่งเสริมพระพุทธศาสนา จึงอนุโลมตามหลักการ "อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺเตตุ" ได้ ส่วนตำแหน่งพระสังฆราชของชาวไทยเรานั้น ตามประวัติศาสตร์แล้วก็ตั้งกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จนกลายเป็นประเพณีตั้งสังฆราชกันไปแล้ว ทั้งๆ ที่ตำแหน่งนี้ "มีก็ได้-ไม่มีก็ได้" เพราะมีหรือไม่มี ก็ไม่มีผลต่อพระธรรมวินัยแต่อย่างใด (แต่มีผลในทางการสถาปนาอำนาจของคณะสงฆ์ควบคู่กับอาณาจักร ที่เรียกว่า State religion) เมื่อในทางพระธรรมวินัยไม่มีตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของไทย จึงมีฐานะเป็นเพียง "พระเจริญ สุวฑฺฒโน" หรือ สุวัฑฒโนภิกขุ เท่านั้น ถ้าจะลงลึกไปในรายละเอียดก็คือ พระเจริญก็ถือศีล 227 ข้อ เท่าๆ กับพระภิกษุรูปอื่นๆ ไม่มากหรือน้อยไปกว่า ถึงใครได้เป็นสังฆราชก็ไม่ได้ถือศีลเพิ่มเลย การจะเป็นพระภิกษุ การถือศีล การปฏิบัติธรรม รวมทั้งการบรรลุธรรม จึงไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแต่อย่างใด และทีนี้ว่า สมเด็จพระญาณสังวร หรือว่าพระเจริญ จะสั่งให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง "ต้องอาบัติ" ถึงกับสึก ได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ "ไม่ได้" ทำได้ก็แต่เพียง "โจทย์ฟ้อง" พระภิกษุรูปนั้น เมื่อรู้หรือเห็นว่าพระภิกษุรูปนั้น ทำผิดพระวินัยข้อใดข้อหนึ่ง และการโจทย์นั้นก็ต้องโจทย์ต่อพระสงฆ์ ให้พระสงฆ์รับทราบ แล้วคณะสงฆ์จึงจะตั้งกรรมการ "สอบสวน" เหมือนในทางศาล ถ้าพบว่าผิดก็วินิจฉัยให้สละสมณเพศคือสึกออกไป ถ้าไม่ผิดก็ประกาศรับรองว่าเธอบริสุทธิ์ กระบวนการยุติธรรมทางสงฆ์หรือทางพระธรรมวินัยมีอยู่เช่นนี้ ไม่มีภิกษุรูปใดมีอภิสิทธิ์ "ไปสั่ง" ให้ภิกษุรูปใดต้องอาบัติหรือสึกได้เลย ถ้าบังเอิญมีคนสั่ง แล้วมีพระบ้าจี้ไปทำตาม ก็แสดงว่า "บ้องตื้น" !
ถ้าใครว่ามีก็ขอดู "หลักฐาน" จะได้เอาไปศึกษาหาความรู้ต่อ
2. ด้านกฎหมายบ้านเมือง ด้านกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายไทย ซึ่งบังคับใช้ในเขตประเทศไทย หรือราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดให้มี "ตำแหน่ง" สมเด็จพระสังฆราชขึ้นมาในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (กฎหมายปกครองสงฆ์) พร้อมกับมีมาตรา "คุ้มครอง" สมเด็จพระสังฆราช ว่าด้วยการหมิ่นประมาท หรือฝ่าฝืนพระบัญชา ว่าจะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโทษพวกนี้ก็เพิ่งจะมามีไม่กี่ปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าลบหลู่ดูหมิ่นพระสังฆราชหรอก เพราะตำแหน่งนี้ ได้รับการยกย่องจากราชสำนักไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใครบังอาจลบหลู่ก็เท่ากับ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เลยทีเดียว ทีนี้ว่า การออกกฎหมายคณะสงฆ์นั้น จะตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า "จะขัดหรือฝ่าฝืนต่อพระธรรมวินัย ไม่ได้" ดังนั้น การจะเขียนกฎหมาย "ให้อำนาจ" แก่พระสังฆราช สามารถ "สั่งสึก" พระภิกษุรูปใดๆ ที่ทรงเห็นว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้วนั้น ถือว่าขัดหรือฝ่าฝืนพระธรรมวินัย เพราะว่าโดยพระธรรมวินัยแล้ว พระสังฆราชมีฐานะเป็นเพียง "พระภิกษุรูปหนึ่ง" ดังกล่าว วิธีการก็คือ ถ้าเห็นว่าพระภิกษุรูปใดทำผิดพระวินัย จะร้ายแรงหรือเบาบางก็ตามแต่ ก็ต้องไป "โจทย์ฟ้อง" ต่อสงฆ์ ให้สงฆ์ได้สอบสวนและวินิจฉัย จะโดยวิธีการใดก็แล้วแต่ ถ้าเขียนกฎหมายให้อำนาจพระสังฆราช "สามารถสั่งพระภิกษุให้สละสมณเพศได้" ก็เท่ากับว่า เขียนกฎหมาย "ขัดแย้ง" กับพระธรรมวินัยเสียเอง ก็เป็นโมฆะอีก คงไม่มีใครยอมรับกฎหมายแบบนี้ เพราะย่ำยีพระธรรมวินัยเสียเอง
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ซึ่งยังคงบังคับใช้ในปัจจุบัน ให้อำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ไทยเอาไว้ ดังนี้
ตามเนื้อหาใน พรบ.คณะสงฆ์ที่นำเสนอนี้ พบเห็น "อำนาจ" ของสมเด็จพระสังฆราช เพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 14 สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม มาตรา 15 (4) สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีอำนาจ "บัญชา" ให้กรรมการมหาเถรสมาคม พ้นจากตำแหน่ง สรุปก็คือ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีอำนาจในการ "แต่งตั้ง" และ "ปลด" กรรมการมหาเถรสมาคมเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอำนาจ ส่วนอำนาจในการ "ปกครอง" คณะสงฆ์ไทย พรบ.คณะสงฆ์ฉบับนี้ กำหนดให้เป็นอำนาจของ "มหาเถรสมาคม" โดยระบุอย่างชัดเจนว่า มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม (2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร (3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์ (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือกฎหมายอื่น
และยังระบุด้วยว่า "คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม" ไม่เห็นมีมาตราใดเลยที่ให้อำนาจ "สมเด็จพระสังฆราช" ในการปกครองคณะสงฆ์ หรือให้คณะสงฆ์ "ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสังฆราช" ทั้งนี้ กฎหมายก็ให้อำนาจแก่สมเด็จพระสังฆราช ในตำแหน่ง "ประธานมหาเถรสมาคม" อยู่แล้ว รวมทั้งการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมก็เป็นอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช "โดยสมบูรณ์" จะปลดหรือจะตั้ง ก็อยู่ที่องค์สมเด็จพระสังฆราช "จะทรงโปรด" กฎหมายเขาเขียน "โยงกัน" ไว้ฉันนี้ แต่ถึงอย่างไร กฎหมายก็ไม่ยอมให้สมเด็จพระสังฆราชทรงใช้อำนาจแต่เพียงลำพัง ซึ่งก็เป็นเกราะ "ป้องกัน" ให้แก่สมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง ตามหลักของ The king can do no wrong !
ว่าโดยหลักการของ พรบ.คณะสงฆ์นั้น ก็คือ ให้อำนาจมหาเถรสมาคมเป็นรัฐบาลปกครองคณะสงฆ์ มิได้ให้อำนาจแก่สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ปกครองสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว ไม่งั้นก็ไม่ต้องมีมหาเถรสมาคม ตั้งสมเด็จพระสังฆราชเพียงตำแหน่งเดียว จะทำอะไรๆ ก็ออกพระบัญชามา ก็เบ็ดเสร็จเผด็จการแล้ว จริงอยู่ ในกฎหมายคณะสงฆ์นั้น ให้อำนาจสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาด้วยพระองค์เองได้ แต่ต้องเป็นเฉพาะเรื่อง (Limit) เช่นการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นต้น (กรณี พระธรรมกิตติวงศ์ ทองดี สุรเตโช วัดราชโอรสาราม เป็นตัวอย่าง พระสังฆราชทรงมีพระบัญชาตั้งและทรงมีพระบัญชาปลดได้เอง ทั้งนี้ มาตราเหล่านี้ ให้อำนาจพระสังฆราชเกี่ยวกับตำแหน่งมหาเถรสมาคมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยเช่นกัน) ดังนั้น เรื่องใดที่ไม่ให้อำนาจแก่สมเด็จพระสังฆราช ก็จะมีการเขียนกำกับไว้ตลอดว่า "ทรงมีพระบัญชา..ตามมติมหาเถรสมาคม" ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงใช้อำนาจอย่างพร่ำเพรื่อนั่นเอง ถึงใส่ผ้าเหลืองก็เถอะ อดีตไม่ไกลก็เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้ว หลักการใหญ่ๆ ทั้งด้านพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์ "วางไว้" เช่นนี้ สมเด็จพระสังฆราชจึงไม่มีอำนาจอะไรจะไปสั่งใครสึก ดังที่พุทธะอิสระอ้าง ! การอ้างเช่นนี้นี่แหละ ที่ถือว่า "หมิ่น" สมเด็จพระสังฆราชเสียเอง เพราะเท่ากับบอกว่า "สมเด็จพระสังฆราชทรงทำผิดพระวินัยและผิดกฎหมายคณะสงฆ์" สมมุติว่า ถ้ากฎหมายคณะสงฆ์ "ให้อำนาจ" สมเด็จพระสังฆราช ในการ "สั่งสึก" พระภิกษุรูปใดก็ได้ ที่ทรงเห็นว่าต้องอาบัติร้ายแรงระดับปาราชิก เมื่อเป็นเช่นนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะทรงมีพระบัญชามาที่ "มหาเถรสมาคม" ทำไม ก็ทรงบัญชาไปที่ "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" ให้จับพระภิกษุรูปนั้นสึกเสีย ก็สิ้นเรื่อง
กรรมวิธี "สืบสวน สอบสวน และลงโทษ" พระภิกษุ ในกรณีที่ถูกโจทย์ฟ้องว่าต้องอาบัตินั้น พรบ.คณะสงฆ์ระบุไว้เพียงวิธีเดียว คือ กฎนิคหกรรม ซึ่งมหาเถรสมาคมเป็นผู้มีอำนาจในการออกกฎนิคหกรรม จนถึงแต่งตั้งศาลสงฆ์ให้พิจารณาคดีได้ ไม่มีมาตราใดให้อำนาจสมเด็จพระสังฆราช "สั่งสึก" พระภิกษุรูปใดได้โดยลำพัง ดังนั้น การที่พระภิกษุรูปใด หรือแม้แต่สมเด็จพระสังฆราช จะเห็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง กระทำผิดพระธรรมวินัย ถึงระดับร้ายแรง คือปาราชิก จะเขียนหรือโพนทะนาให้ชาวประชารับรู้อย่างใดก็ตาม ก็ยังไม่มีผลทางพระธรรมวินัยและทางกฎหมาย เพราะยังมิได้ผ่านการสอบสวนตามกระบวนการเสียก่อน ยกเว้นแต่พระภิกษุรูปนั้นจะสารภาพยอมรับความผิดเสียเอง และโดยส่วนตัวของพระภิกษุรูปนั้น ตราบใดที่ศาลสงฆ์ยังไม่วินิจฉัยว่า "ผิด" ก็ยังถือว่าไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุอยู่ตราบนั้น (ข้อนี้เทียบเคียงได้กับกฎหมายอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิดจริง) ปัญหาว่าด้วยข้อนี้ มีความหมายไปถึง "สถานะ" ของความเป็นพระภิกษุ ซึ่งมี 2 ด้านด้วยกัน คือ 1. สถานะส่วนตัว พระภิกษุบางรูป ถ้าว่าโดยคุณสมบัติแล้ว อาจจะไม่ครบ ไม่สามารถบวชได้ เช่นเป็นโรคติดต่อ เป็นหนี้หนีมาบวช พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ได้อนุญาต เป็นต้น แต่ถ้าคณะสงฆ์เห็นสมควร "บวชให้" ก็ถือว่าได้รับการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่โทษในการอนุญาตบวชนั้น ตกอยู่ที่ "คณะสงฆ์" ผู้ทำสังฆกรรม (รวมทั้งพระอุปัชฌาย์) มีอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น ผู้ทำอนันตริยกรรมมาก่อนบวช (ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตตก ทำสังฆเภท-ยุยงให้พระภิกษุสงฆ์แตกแยกกัน) ข้อนี้ห้ามบวชโดยเด็ดขาด มาตรว่าบวชแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นพระ พระสงฆ์จะรู้หรือไม่รู้ ถึงรับรองเป็นพระภิกษุก็ไม่เป็นพระ รวมทั้งเคยต้องอาบัติปาราชิกมาก่อน ก็บวชไม่ขึ้นเช่นกัน (สังฆกรรมเป็นโมฆะ) ข้อนี้ใน พรบ.คณะสงฆ์ ก็มีมาตราลงโทษผู้ที่หลอกคณะสงฆ์ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องและบวชได้ 2. สถานะส่วนรวม คือสถานภาพในทางสังคม หมายถึงการยอมรับนับถือในหมู่สงฆ์หรือในหมู่พุทธศาสนิกชน เช่นว่า ถ้ามีพระหรือโยมบอกว่า "พระภิกษุรูปนั้นขาดจากความเป็นพระ ไม่ใช่พระ" แต่ยังมีพระภิกษุบางกลุ่มบางเหล่า ยังยินดียอมรับนับถือพระภิกษุรูปนั้นว่าเป็นพระอยู่ ยังยินดีร่วมสังฆกรรมโดยไม่ตะขิดตะขวางใจ แบบนี้ก็มีปัญหา กลายเป็นว่า คณะสงฆ์ไม่สามัคคีกัน เพราะไม่ยอมหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปด้วย เช่นว่า ถ้าพระหรือโยมบางกลุ่มบางเหล่า กล่าวโทษและปรับโทษว่าพระธัมมชโย "ไม่ใช่พระ" อีกต่อไปแล้ว แต่พระหรือหรือโยมอีกจำนวนหนึ่ง เห็นว่าพระธัมมชโย "ยังเป็นพระอยู่" ก็ต้องแตกแยกกันต่อไป เพราะใช้ "ความเห็นของตัวเอง" เป็นตัวตัดสิน ส่วนว่า ศาลสงฆ์ก็ดี ศาลอาญาก็ดี เมื่อไม่เอาผิดพระธัมมโย ในกรณีที่มีการ "คืนทรัพย์สิน" มูลค่าหลายร้อยล้าน ที่ได้ยึดครองไว้ก่อนนั้น ก็เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อ "ระบบยุติธรรม" ของคณะสงฆ์ไทยและของประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นทั้ง "บรรทัดฐาน" หรือต้องรื้อระบบเพื่อสังคายนากันต่อไป ประเด็นสำคัญมันจึงมิใช่เรื่องพระธัมมชโย "ผิด" หรือ "ถูก" แต่ปัญหามันอยู่ที่ "ศาลสงฆ์" และ "ศาลอาญา" เห็นว่าพระธัมมชโย "ไม่ผิด" หรือไม่เอาผิดกับธัมมชโย ต่างหาก !
กลับมาที่ "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งที่เราเคยเห็น เช่นในการแต่งตั้งพระสังฆาธิการต่างๆ นั้น ท่านเรียกว่า "รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" แต่โดยความเป็นจริงแล้ว สมเด็จพระสังฆราช ทรงเพียงแต่ "ลงพระนาม" ในคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งผ่านมติมหาเถรสมาคมมาแล้ว แม้แต่ "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ที่ทรงลงพระนาม ในกรณีที่ศาลสงฆ์ได้วินิจฉัยให้พระภิกษุรูปใด "ขาด" จากความเป็นพระ หรือสิ้นสุดสมณเพศนั้น ก็เป็น "พระบัญชา" ที่ทรงลงพระนามในฐานะ "ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม" มิใช่ในฐานะ "สมเด็จพระสังฆราช" แต่อย่างใด
ดังนั้น ที่พุทธะอิสระอ้างว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก จึงถือว่าไม่ถูกต้อง ทั้งโดยพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์
ถ้าพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช มีอำนาจตามกฎหมาย ดังที่พุทธะอิสระอ้างจริง พระธัมมชโยก็คงถูกจับสึกไปแล้ว โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม แต่ยังมีปัญหาว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่ทรงอิทธิพล มีผู้คนเคารพนับถือเป็นจำนวนมากเช่นท่านธัมมชโยนั้น ถามว่าจะทำแบบหักโหมได้อย่างไร ใครกล้ายกกำลังเข้าไปในวัดพระธรรมกายแล้วจับพระธัมมชโยสึก แม้แต่ตัวพุทธะอิสระก็ตาม กล้าหรือเปล่าล่ะ ! ไม่ต้องดูอื่นไกล ก็ตัว "พุทธะอิสระ" นั่นแหละ สมมุติว่า มีคนบอกว่าท่านต้องอาบัติปาราชิก ในข้อหา "กรรโชกทรัพย์" บ้าง "ฆ่าคนตาย" บ้าง ถามว่า พุทธะอิสระขาดจากความเป็นพระหรือยัง ? ถ้าพุทธะอิสระอ้างว่ายังเป็นพระ (ทั้งๆ ที่ถ้าทำความผิดก็ย่อมจะขาดจากความเป็นพระทันที ไม่ต้องรอให้ใครวินิจฉัยดังอ้าง) ก็ถามต่อไปว่า มันจะต่างจากธัมมชโยตรงไหน มันก็พันธุ์เดียวกันนั่นเอง แต่ที่คุณ "ยังอยู่ได้" นั้น เพราะคนเขาก็เห็นว่า พุทธะอิสระทำตัวเป็นพระมาเฟีย มีสมุนบริวารห้อมล้อมในเวลาไปไหนมาไหน ขนาดนำม็อบออกมาปิดถนนนานเป็นเดือนๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาล ก็ยังทำมาแล้ว
แล้วสุจริตชนทั่วไปใครจะยุ่ง !
โบราณเมืองเหนือท่านสอนว่า
เว้นงู หื้อปอศอก (ให้ไกลหนึ่งศอก) เว้นวอก (ลิง) หื้อปอวา (ให้ไกลหนึ่งวา) เว้นปาลา (คนพาล) หื้อปอโยชน์ (ให้ไกลถึงหนึ่งโยชน์)
ที่เขียนมาทั้งนี้ จะมีคนกล่าวหาว่า ผู้เขียนเขียนเข้าข้างสมเด็จวัดปากน้ำหรือธัมมชโยก็ชั่ง เพราะไม่สามารถจะห้ามหัวใจใครได้ อยากเชื่อก็เชื่อไป ตามสบายนะโยม |
|
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
To BK.
peesang2555@hotmail.com
ALITTLEBUDDH.COM HOMEPAGE WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. (702) 384-2264 |