เปรียบเทียบมาตราว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราช

ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2 ฉบับ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา 9 สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

มาตรา 10 ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชจะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสรองลงมาโดยพรรษาตามลำดับปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 

"สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์" หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกัน ให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน

มาตรา 5 ตรี พระมหากษัตริย์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ ของพระภิกษุในคณะสงฆ์

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่ สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

มาตรา 9 ในกรณีที่ สมเด็จพระสังฆราช ทรงลาออกจากตำแหน่ง หรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราช หรือตำแหน่งอื่นใด ตามพระราชอัธยาศัยก็ได้

มาตรา 10 ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ถ้าสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่เหลืออยู่ เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่ง ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน

ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

เปรียบเทียบมาตราว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราช

ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2 ฉบับ

 

 

สมเด็จพระสังฆราช

(อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9)
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

สมเด็จพระสังฆราช

(เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศวิหาร

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2505

นายอานันท์ ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2535

พลเอกสุจินดา คราประยูร

ผู้ยึดอำนาจการปกครอง ปี 2535


 

วันนี้เรามาคุยเรื่อง "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์" กันหน่อยไหม ที่เถียงๆ กันอยู่ในเวลานี้แหละว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช "อาวุโสโดยสมณศักดิ์" ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า กฎหมายคณะสงฆ์ นั้น ไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย อะไรไปโน่น ผู้คนทั่วไปก็เอาพระราชบัญญัติฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน คือ พ.ศ.2535 มากางอ่าน แล้วก็ชี้ไปที่มาตราว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราช แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ โดยมองผ่านไป ไม่ได้นึกถึงว่า พระราชบัญญัติที่ว่านี้ "มีที่มาที่ไปอย่างไร" ดังนั้น เพื่อให้รู้ต้นกำเนิดของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ตาม "มุมมองของพระมหานรินทร์" จึงขอนำเสนอเหตุการณ์สำคัญต่อกฎหมายคณะสงฆ์ทั้ง 2 ฉบับ ดังต่อไปนี้

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2505 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ทั้งนี้ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ซึ่งตราขึ้นใช้โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย

จอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจโดยการปฏิวัติล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 จากนั้นจึงเชิด "นายพจน์ สารสิน" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร จนกระทั่งทั้งนายพจน์และจอมพลถนอม รู้ว่าอยู่ไม่ไหวในตำแหน่งนายกนอมินี จึงขอถอนตัวไปตามลำดับ แต่การถอนตัวของจอมพลถนอมนั้นเป็นมหกรรมอำพรางระดับตำนานของโลก เพราะขณะนั้น ตนเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับสับขาหลอก ประกาศ "ลาออก" จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงไปด้วย ในคืนวันเดียวกันนั่นเอง (20 ต.ค. 2501) ถนอมได้ลดตัวลงไปเป็น "รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ" ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากนั้นก็กลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรี" ในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์อีกรอบหนึ่ง เป็นพิธีกรรมขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ที่อลังการงานสร้างที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรียกชื่อว่า ถนอมปฏิวัติตัวเอง !

จอมพลสฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ครั้นถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2505 จึงฉีกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ทิ้ง แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แทน ดังกล่าวมานี้

ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้น ถือกำเนิดในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ถามต่อไปว่า ในปี พ.ศ.2505 นั้น มีพระภิกษุรูปใดดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็มีคำตอบว่า

ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2505 (ก่อนรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์) สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตร ได้สิ้นพระชนม์ลง ส่งผลให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงไปด้วย ขณะนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9) วัดสระเกศ มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษายุกาล จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" จนถึงพระราชพิธีวันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2506 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9) วัดสระเกศ จึงได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นพระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สรุปว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกาศใช้ในเวลาที่คณะสงฆ์ไทย "ว่าง" จากองค์พระประมุข คือไม่มีสมเด็จพระสังฆราช มีแต่..ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระราชบัญญัติฉบับนั้น ใช้มาจนถึงปี พ.ศ.2535 รวมเวลา 30 ปี ก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพ นำโดย

1. พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

2. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก

3. พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ

4. พล.ร.อ.ประพันธ์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ

ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยใช้ชื่อคณะปฏิวัติว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. จากนั้น ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2534 ประเทศไทยก็มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 นามว่า อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี "คนนอก" เพราะคณะปฏิวัติไม่ยอมขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ได้เชิญนายอานันท์มาเป็นแทน

ครั้นต่อมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มี ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขปรับปรุง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แบบว่าไม่ได้ยกเลิก แต่ได้นำเอากฎหมายเก่ามาปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ได้รับสนองพระบรมราชโองการในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และใช้มาจนกระทั่งปัจจุบันวันนี้

ก็หมายความว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ออกมาในสมัยรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ซึ่งบุคคลผู้มีอำนาจสุงสุดในประเทศไทยเวลานั้น ก็คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประธานนายทหาร จปร. รุ่นที่ 5 ที่ใช้รหัส 0143 หัวหน้าคณะปฏิวัติตัวจริง ซึ่งต่อมาได้ขยับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากนายอานันท์ ปันยารชุน เหมือนจอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นแทนจอมพลถนอมนั่นเอง ทั้ง นายพจน์ สารสิน จอมพลถนอม กิตติขจร และนายอานันท์ ปันยารชุน จึงได้รับฉายา "นายกขัดตาทัพ" เพราะมิใช่ผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง

สรุปว่า ทั้ง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ล้วนแต่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารทั้งสิ้น

ถามต่อไปว่า ในปี พ.ศ.2535 ซึ่ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันประกาศใช้นั้น ในคณะสงฆ์ไทย มีพระภิกษุรูปใดดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ตอบได้ว่า ขณะนั้น สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

ก็จบเรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับที่ไปที่มาของพระราชบัญญัติหรือกฎหมายคณะสงฆ์ทั้งสองฉบับแล้ว


 

ต่อไปก็จะพิจารณาที่มาของคำว่า "ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา" กับ "ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์" ในพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

ขอให้ท่านผู้อ่าน-อ่านดูเนื้อหาในกฎหมายคณะสงฆ์ทั้งสองฉบับข้างต้น ก็จะพบว่า ใน พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งตราขึ้นในสมัยที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9) วัดสระเกศ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น คณะสงฆ์เวลานั้น "เห็นชอบ" ให้ใช้คำว่า "ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา" ครั้นมาถึง พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นสมัยที่ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช กลับเห็นชอบให้เปลี่ยนเป็นคำว่า "ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์" แทน

ดังนั้น การที่ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย ซึ่งประกาศว่า ตนเองเคารพเทิดทูน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร อย่างสูงสุด ยอมทำแม้กระทั่งการแจ้งความเอาผิดกับพระธัมมชโย โดยมุ่งหวังจะ "ปลดเปลื้อง" อาบัติสังฆาทิเสสให้แก่พระองค์ ซึ่งทรงต้องมานานถึง 15 ปีนั้น ได้ประกาศ "ไม่ยอมรับ" พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดว่า

"ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช" นั้น ก็แสดงว่า

พุทธะอิสระไม่ยอมรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสียเอง

เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ในสมัยที่สมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

 

พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม

ยอมรับสมเด็จพระญาณสังวร แต่ไม่ยอมรับพระราชบัญญัติ ที่ออกมาในสมัยสมเด็จพระญาณสังวรเป็นสังฆราช

พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

ยอมรับพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่ยอมรับอรรถกถาและมหาเปรียญ ผู้แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย

 

เรื่องนี้เปรียบเทียบได้กับ กรณี พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล แห่งวัดนาป่าพง จังหวัดปทุมธานี ได้ประกาศ "ไม่ยอมรับ" อรรถกถาและภาษาบาลี ซึ่งแปลและศึกษาโดยคณะสงฆ์ไทยแต่สมัยโบราณ แต่พระคึกฤทธิ์กลับนำเอา "พระไตรปิฎก" ฉบับภาษาไทย ที่คณะสงฆ์ไทยผู้ศึกษาภาษาบาลีและแปลไว้นั้น มาเป็นคู่มือในการศึกษาและสอนของตนเอง

ซึ่งประเด็นนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุต ปยุตฺโต ป.ธ.9) พระนักปราชญ์ของคณะสงฆ์ไทย ได้วินิจฉัยเอาไว้ว่า

ถ้าว่า พระคึกฤทธิ์ไม่ยอมรับอรรถกถาและมหาเปรียญ พระคึกฤทธิ์ก็ต้องไม่ยอมรับ "พระไตรปิฎกภาษาไทยทุกฉบับ" เพราะเป็นผลงานการแปลของมหาเปรียญ ซึ่งใช้หนังสือ "อรรถกถา" มาอธิบายด้วย

ถ้าประกาศไม่ยอมรับอรรถกถาและดูหมิ่นบรรดามหาเปรียญ ซึ่งศึกษาภาษาบาลี และใช้ความรู้นั้น "แปล" พระไตรปิฎกฉบับบาลีมาเป็นภาษาไทย แต่กลับไป "ใช้" พระไตรปิฎกภาษาไทย ที่บรรดามหาเปรียญเขาแปลเสร็จแล้วนั้น ก็เท่ากับว่า พระคึกฤทธิ์ เป็นมหาโจร เพราะปล้นผลงานของเขาไปเป็นของตนเองอย่างหน้าด้านๆ (แต่บรรดาสาวกของคึกฤทธิ์ไม่รู้เบื้องหลังเหล่านี้ รู้แต่ว่าอาจารย์ของตนเอาของดีมาให้ ถึงคึกฤทธิ์จะปล้นใครมาก็ไม่สนใจ เพราะเอามาแปรรูปเป็นพุทธวจนะไปแล้ว ใส่กล่องใหม่ ใครก็จำไม่ได้)

กรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้าพระพุทธะอิสระ "ยอมรับ" สมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระพุทธะอิสระก็ต้อง "ยอมรับ" พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติสมเด็จพระสังฆราชว่า ต้องมาจาก..สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ด้วย เพราะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงยอมรับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้ และทรงใช้พระอำนาจตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ตลอดจนสิ้นพระชนม์

ถ้าพระพุทธะอิสระ "ไม่ยอมรับ" พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้ (ในกรณีที่มหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามบทบัญญัติ) ก็เท่ากับว่าพระพุทธะอิสระ "ไม่ยอมรับ" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นั่นเอง เพราะคุณสมบัติของสมเด็จพระสังฆราชในพระราชบัญญัติฉบับนั้น ผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ในสมัยที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อย่างเต็มอำนาจ

สรุปสั้นๆ ว่า "ถ้าไม่ยอมรับพระสังฆราชที่มาจาก พรบ.คณะสงฆ์ 35 ก็เท่ากับว่าไม่ยอมรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช" นั่นเอง ที่กล้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพราะเห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2535) ประกาศใช้ในสมัยสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เท่ากับว่า สมเด็จพระญาณสังวร ทรงยอมรับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้ หาไม่แล้วย่อมจะทรงทัดทานและแก้ไขไปแล้ว

ทางเดียวเท่านั้นที่จะ "ไม่ทำตาม" พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ก็คือ รัฐบาล หรือ สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ต้องดำเนินการ "แก้ไข" พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 แล้วนำเอาคำว่า "สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา" กลับมาใช้ หรือจะเพิ่มคุณสมบัติอื่นใดเข้าไป ก็ต้องไปแก้ไขกันตรงนั้น

ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยก็เป็นแค่ "บ้านป่าเมืองเถื่อน" เพราะใครคิดจะทำอย่างไรก็ทำ

อำนาจน่ะ "มี" แถมมี "เต็มๆ" ด้วย แต่จะใช้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลไทย คงไม่มีใครให้คำตอบได้

เพราะถ้า มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือรัฐบาล ไม่ดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ "กำหนด" ก็แสดงว่า มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือรัฐบาล ทำผิดกฎหมายเสียเอง

นี่แหละคือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ดังที่พระพุทธะอิสระนำมาอ้าง ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำได้ดังนี้ จึงจะถือว่า พุทธะอิสระ ซื่อสัตย์ ซื่อตรงจริง

 

ไม่ใช่ "จิ้งจอก" ในร่างราชสีห์ !

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
19 ธันวาคม 2558

 

 

 

E-Mail To BK.

peesang2555@hotmail.com

ALITTLEBUDDH.COM HOMEPAGE WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. (702) 384-2264