ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ในคณะสงฆ์ภาค 7 และคณะจังหวัดเชียงใหม่ |
||||||||||||||
วงการสงฆ์ภาคเหนือกระเพื่อมหนัก หลังเจ้าคณะใหญ่หนเหนือลาออก ส่งผลให้ตำแหน่งต่างๆ ว่างลงระนาว พลันที่ข่าวจากมหาเถรสมาคม วันที่ 20 มีนาคม 2558 กระจายสู่สังคมสงฆ์ไทย ว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แจ้งความประสงค์ต่อมหาเถรสมาคม "ขอลาออก" จากตำแหน่งใหญ่ 3 ตำแหน่งซ้อน มีตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ" เป็นหลัก แต่ยังมี "อ็อฟชั่น" ตามมา โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้เสนอให้ "พระวิสุทธิวงศาจารย์-วิเชียร" รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 7 ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือแทน ทันที ซึ่งมหาเถรสมาคมก็ยอมรับ "โดยดุษณี" หมายถึงว่าเรียบร้อยโรงเรียนวัดปากน้ำไปแล้ว สำหรับการถ่ายโอนอำนาจในหนเหนือ หลวงพ่อใหญ่วัดปากน้ำคงจะสบายใจ ไม่ต้องคิดมากว่า "เจ้าคุณวิเชียรจะน้อยใจ เพราะเจ้าคุณสุชาติได้เป็นแม่กองบาลีแล้ว ส่วนตัวเองยังเป็นเจ้าคณะภาค 7 เดิมๆ อยู่เลย" ก็เลยต้องลงเอยกันตรงนี้ ตรงที่..ยกเก้าอี้หนเหนือให้นั่งซะ จะได้ประกันตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำในอันดับต่อไป ดังนั้น ที่สนทนากันหนาหูว่า "เจ้าคุณสุชาติได้มากกว่าหลวงพ่อวิเชียรซึ่งอาวุโสกว่า" ก็เป็นอันจบ สงบปากสงบคำ เพราะตำแหน่งแม่กองบาลีไม่มีทางจะใหญ่กว่าเจ้าคณะใหญ่ได้เลย สมเด็จวัดปากน้ำ ยอมยกตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือให้เจ้าคุณวิเชียรไปในคราวนี้ เป็นการ "กันอำนาจหนเหนือไว้ในวัดปากน้ำ" ก็จริง แต่ก็ต้องแลกกับการ "ยอมเสียตำแหน่งเจ้าคณะภาค 7" ไปหนึ่งตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งนี้ถึงไม่ใหญ่ระดับเจ้าคณะใหญ่ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เล็ก เพราะเป็นรองแค่ "เจ้าคณะภาค 1" เท่านั้น ความสำคัญที่ว่านี้ เขาวัดกันจากจังหวัดใหญ่ๆ ในประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครราชสีมา อยุธยา ฯลฯ ตำแหน่งเจ้าคณะภาค ซึ่งปกครองจังหวัดเหล่านี้ก็จะมีอำนาจตามฐานแห่งการปกครองดังกล่าว ก็สรุปว่า วัดปากน้ำยอมเสียสละตำแหน่งเจ้าคณะภาค 7 ออกไปให้วัดอื่น คำว่า "วัดอื่น" ในที่นี้ ก็เห็นจะไม่มีวัดอื่นใด นอกจาก "วัดปทุมคงคา" เขตสัมพันธวงศ์ อันมีเจ้าอาวาสชื่อ "พระพรหมเสนาบดี" หรือเจ้าคุณพิมพ์ ญาณวีโร ซึ่งครองตำแหน่ง "รองเจ้าคณะภาค 7" อยู่ เมื่อเจ้าคณะภาคว่าง รองภาคก็ต้อง "เลื่อน" ขึ้นไปครอง ตามธรรมนองคลองธรรม ซึ่งก็คิดว่าคงไม่มีกรณี "ฟ้าผ่า" เหมือนกรณีเจ้าคณะภาค 10 ในอดีต "เจ้าคุณพิมพ์เป็นเจ้าคณะภาค 7 แน่นอน" สายข่าววัดปากน้ำคอนเฟิร์ม ดังนั้น ตำแหน่งนี้จึงไม่ต้องเจาะข่าวตื้นให้เสียเวลา กล้องส่องทางไกล "โฟกัส" ไปที่ตำแหน่ง "รองเจ้าคณะภาค 7 อันดับที่ 2" ทันที ว่าจะมีผู้ใดเข้ามาในไลน์ คือแต่เดิมนั้น ในภาค 7 ซึ่งปกครองคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มีผู้ปกครองดังนี้ 1. พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ กรุงเทพฯ เป็นเจ้าคณะภาค 2. พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร ป.ธ.7) วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ เป็นรองเจ้าคณะภาค อันดับที่ 1 3. พระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ ป.ธ.7) วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ เป็นรองเจ้าคณะภาค อันดับที่ 2 ทีนี้ว่า เมื่อหลวงพ่อวิเชียรเลื่อนขึ้นเป็นหนเหนือ ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 7 ก็ต้องว่าง เมื่อว่าง "รองอันดับหนึ่ง" ก็ต้องเลื่อนขึ้นไป รองอันดับสองก็เลื่อนเป็นรองหนึ่ง ส่งผลให้ "รองสอง" ว่างลงทันที ต้องหาคนมาเสริมในตำแหน่งนี้ ตำแหน่ง "รองอันดับ 2" ของภาค 7 นี้ ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีอะไร เป็นตำแหน่งรองภาคทั่วไป แต่นับตั้งแต่เกิดความไม่ลงตัวในตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่" มาตั้งแต่สมัย "พระเทพโกศล-สังวาลย์ พฺรหฺมวณฺโณ" ยังเป็นรอง จ่อจะได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัด แต่มีความลักลั่นกันเกิดขึ้น จึงมีการ "โยก" พระเทพโกศล ขึ้นไปเป็น "รองภาค 7" และพระเทพวิสุทธิคุณ (กุศล คนฺธวโร) วัดบุพพาราม ได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ จนเกษียนอายุ 83 ปี ใน พ.ศ.2552 พระเทพโกศล จึงได้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ แต่ในตอนนั้น ยังมีรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีบารมีอีกรูปหนึ่ง คือ พระเทพวรสิทธาจารย์ (ธงชัย สุวณฺณสิริ ป.ธ.7) วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ่อขึ้นดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งวัดปากน้ำก็ใช้สูตรเดิม คือโยกพระเทพวรสิทธาจารย์ ไปเป็นรองภาค 7 โดยเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็น "พระธรรมเสนาบดี" ในปีที่ผ่านมา จะบอกว่า "ตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 7 อันดับ 2 เป็นกรุพระของคณะจังหวัดเชียงใหม่" ก็ว่าได้ เทียบกับตำแหน่งทางบ้านเมืองแล้ว รองภาค 7 ก็คือ ผู้ตรวจการ หรือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ดีๆ นี่เอง ตำแหน่งนี้ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเปรียบเทียบว่าเป็นตำแหน่ง "เทกระโถน" ปีนี้ (พ.ศ.2558) พระเทพโกศล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ จะมีอายุครบ 80 ปี บริบูรณ์ ในวันที่ 11 เมษายน ตรงกับวันสงกรานต์พอดี (เกิด 11 เมษายน 2478) จึงมาประจวบกับตำแหน่ง เจ้าคณะภาค 7 และรองเจ้าคณะภาค 7 ซึ่งว่างลงพร้อมๆ กัน 2 ตำแหน่ง หากรวมทั้งตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่" ซึ่งจะเกษียนลงในเดือนเมษายน ศกนี้ ก็จะมีตำแหน่งใหญ่ในภาค 7 "ว่างลง" พร้อมๆ กันถึง 3 ตำแหน่งด้วยกัน จึงเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในแวดวงพระสังฆาธิการไทยในหนเหนือ หรือจะจำกัดลงก็ตรง "จังหวัดเชียงใหม่" อันเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศไทยเท่านั้น ที่น่าจับตาก็คือ 1. รองเจ้าคณะภาค 7 อันดับ 2 ใครจะได้ครองตำแหน่งนี้ และ 2. เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ใครจะได้ครอง จับประเด็นตรงที่ตำแหน่ง "รองเจ้าคณะภาค 7 อันดับ 2" กันก่อน เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่ง "เปิดใหม่" จะได้พระที่ยังไม่อยู่ในไลน์เข้ามาดำรงตำแหน่ง คือว่าจะเป็นพระ "หน้าใหม่" ซึ่งในภาค 7 นั้น ก็มีตัวเลือกหลากหลายจาก 3 จังหวัด แต่เมื่อขมวดปมเข้าจริงๆ ก็เหลือตัวเลือกจากจังหวัดเชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียว เพราะลำพูนก็ไม่มีตัว แม่ฮ่องสอนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ซึ่งตัวเลือกจากจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังไม่ลงตัวอีก ว่าจะเอาใครเข้ามาเป็น เห็นตัวเลือกจาก "ข้างนอก" อยู่ 1 รูป คือ พระราชสุตาภรณ์ (ประชัน ฐิตปญฺโญ ป.ธ.4) วัดปากน้ำ เจ้าคุณประชันนั้น ปัจจุบันเป็นเลขานุการสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 4 ช่วยปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิต กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ แต่เจ้าคุณประชันนั้น เป็นคนอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะภาค 4 จึงไกลบ้าน ไม่ค่อยถนัดเหมือนพูดภาษาเชียงใหม่ ไม่แน่ อาจจะมีการ "ทิ้งรองภาค 4" ข้ามห้วยเข้ามากินตำแหน่ง "รองภาค 7" ก็เป็นได้ ทีนี้ก็มาถึงตำแหน่ง "สำคัญที่สุด" ในภาค 7 คือ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสนามใหญ่รองจากกรุงเทพมหานคร เจ้าคุณเอื้อน-พระพรหมดิลก ยอมทิ้งตำแหน่งเจ้าคณะภาค 14 มาเป็นเจ้าคณะ กทม. ก็เพราะเมืองมันใหญ่ ฉันใด เชียงใหม่ก็ฉันนั้น พระเทพโกศลยอมสละตำแหน่ง "รองภาค 7" ลงมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ก็คล้ายๆ กัน จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีรองเจ้าคณะจังหวัดอยู่ 2 รูป คือ 1. พระเทพปริยัติ (สะอาด ขนฺติโก ป.ธ.7) วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อายุ 73 พรรษา 53 2. พระเทพมังคลาจารย์ (สมาน กิตฺติโสภโณ) วัดท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อายุ 65 พรรษา 45 เมื่อตอนที่ "พระเทพวิสุทธิคุณ-กุศล คนฺธวโร" วัดบุพพาราม เกษียนจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ในตอนนั้น แคนดิเดทที่จะได้เป็นก็คือ "พระเทพวรสิทธาจารย์-ธงชัย" วัดพระธาตุดอยสุเทพ (ปัจจุบันคือพระธรรมเสนาบดี) แต่ก็มีการโยกพระเทพวรสิทธาจารย์ไปเป็นรองภาค 7 คล้ายๆ กับการโยกพระเทพโกศล จากรองจังหวัดเชียงใหม่ ไปเป็นรองภาค 7 เช่นกัน เพื่อเปิดทางให้พระเทพวิสุทธิคุณได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ครั้นพระเทพวิสุทธิคุณเกษียน พระเทพโกศลจึงสละตำแหน่ง "รองภาค 7" ลงมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ หากใช้สูตรนี้ พระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ ป.ธ.7) วัดพระธาตุดอยสุเทพ ก็น่าจะเป็นตัวเต็ง ซึ่งเมื่อนั้น ตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 7 จะว่างทันที 2 ตำแหน่ง หรือพูดง่ายๆ ว่า ว่างหมดทั้งภาค ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองภาคอันดับ 1 และ 2 ก็ต้องถือว่าเป็นประวัติศาสตร์เลยทีเดียว แต่ถ้าหากเกมไม่เป็นไปตามคาด คือถ้าพระธรรมเสนาบดีไม่ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ถามว่า ใครจะได้เป็น ? ซึ่งคำถามนี้ก็จะชี้ไปที่ "รองเจ้าคณะจังหวัด" ทั้งสองรูปข้างต้น หลวงพ่อสะอาด-พระเทพปริยัติ วัดเจ็ดยอดนั้น ท่านสะอาดสมชื่อ คือเป็นพระสุปฏิปันโน แทบจะเป็นพระเกจิอาจารย์ไปแล้ว แต่จะมีปัญหาว่าด้วยการบริหารงานคณะสงฆ์ ซึ่งเชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ ต้องอาศัยทั้งคุณสมบัติส่วนตัวและทีมงาน รวมทั้งความพร้อมด้านอื่นๆ เข้ามาขับเคลื่อน จะดำรงตำแหน่งเพียงอย่างเดียวนั้นก็ยาก เผลอๆ ถ้าหลวงพ่อนิ่งเกินไป ก็อาจจะเปิดโอกาสให้คนใกล้ชิดใช้ตำแหน่งไปในทางมิชอบได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องอาวุโสแล้ว พระเทพปริยัตินั้นสูงสุด แรงหนุนสำหรับหลวงพ่อสะอาดนั้น คีย์แมนสำคัญอยู่ที่ "พระราชสุตาภรณ์" หรือเจ้าคุณประชัน รองภาค 4 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือมายาวนาน เจ้าคุณประชันเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสะอาด ก็ย่อมจะต้องยกย่องครูบาอาจารย์ให้ได้ขึ้นเป็นใหญ่เป็นโต ทีนี้เจ้าคุณประชันนั้น เป็นเพื่อนกับเจ้าคุณโสภณ วัดพระสิงห์ ถ้าหากจะเอาหลวงพ่อสะอาดขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องเอาเจ้าคุณโสภณเข้ามาช่วย โดยเจ้าคุณประชันจะคุมเชิงอยู่ห่างๆ เกมจะต้องออกมาในรูปแบบนี้ ก็หมายถึงว่า ถ้าหลวงพ่อสะอาดได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ก็จะตกอยู่ภายใต้การคอนโทรลของ "พระราชสุตาภรณ์" โดยมีหุ้นส่วนสำคัญคือ "วัดพระสิงห์" จริงไม่จริงก็ไม่รู้นะ บอกแล้วไงว่าข่าววิเคราะห์ เจาะลึกเจาะตื้น ก็เจาะมั่วๆ ไปงั้นแหละ หลวงพ่อสมาน-พระเทพมังคลาจารย์ วัดท่าตอน ถือว่าเป็นพระทำงาน เก่งสารพัด ถึงลูกถึงคน งานใหญ่ล่าสุดที่รับอาสาคณะสงฆ์ทำก็คือ สร้างพุทธมณฑลเชียงใหม่ในอาณาบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด แถมยังเข้าวัดปากน้ำได้ใกล้ชิดที่สุด การสามารถผันตัวเองจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแม่อาย ซึ่งถือว่าเป็นอำเภอเล็กอันดับท้ายๆ ของเชียงใหม่ ข้ามดอยหัวโท เข้ามาดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดได้ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา หลวงพ่อสมานติดคุณสมบัติอยู่ 2 ข้อ คือ 1.อาวุโสน้อยกว่าหลวงพ่อสะอาด 2. เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าตอนพระอารามหลวงชายแดน คือมีฐานอยู่ที่แม่อาย ไม่ได้อยู่ในเมืองเชียงใหม่ หากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเหมือนย้ายเมืองหลวงไปชายแดน คือพระในเชียงใหม่จะต้องวิ่งไปหาเจ้าคณะจังหวัดถึงวัดท่าตอนซึ่งลำบาก ถึงจะเอาวัดสวนดอก ของเจ้าคุณนิมิต (พระราชรัชมุนี) ลูกศิษย์สายวัดท่าตอนเป็นสำนักงานเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งสามารถทำได้ แต่ก็จะก็เป็นเรื่องแปลกอีก เพราะตำแหน่งตามใบแต่งตั้งจริงๆ คือ วัดท่าตอน จะให้หลวงพ่อวัดท่าตอนมากินนอนสั่งงานอยู่ที่วัดสวนดอกตลอดเวลาก็ไม่น่าจะสวย พูดง่ายๆ ว่า จะหนักกว่ากรณีวัดบุพพารามเอาวัดพระสิงห์เป็นสำนักงานเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเสียอีก นี่เป็นประเด็นน่าคิดสำหรับหลวงพ่อสมาน ก็กลับมาถึง "สูตรเดิม" ที่เคยใช้ คือโยก "พระธรรมเสนาบดี" วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ลงมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนพระเทพมังคลาจารย์ ก็อาจจะขึ้นชั้นเป็น "รองเจ้าคณะภาค 7" ปูนบำเหน็จให้เป็น "อันดับ 1" คู่กับ "พระราชสุตาภรณ์" ไปเลย แต่ถ้าไม่ลงตัวจริงๆ ก็ต้องหันไปใช้สูตรโบราณ นั่นคือ "นับอาวุโส" ซึ่งหวยจะไปออกที่วัดเจ็ดยอดแทน บ้านเมืองสงบจริง แต่การพัฒนาจะไปไม่ไกล ไม่ต่างจากสมัยวัดบุพพารามเป็นเจ้าคณะจังหวัด แต่ใช้วัดพระสิงห์เป็นสำนักงานเลขานุการ มีอะไรๆ ก็ต้องวิ่งไปวัดพระสิงห์ นานไปเลยกลายเป็นว่า วัดพระสิงห์รู้เรื่องงานคณะสงฆ์มากกว่าวัดบุพพารามเสียอีก นี่ก็เป็นเกร็ดที่พระเณรแถวถนนท่าแพเขาเล่ากันมันปาก ซึ่งวัดปากน้ำต้องเลือกว่าจะเอาทางไหน จะใช้คนมีฤทธิ์ก็กลัว "เหาะเลยลงกา" แต่ถ้าใช้คนไร้ฤทธิ์ก็กลัว "ไปไม่ถึงลงกา" โลกนี้หาความพอดียากอยู่แล้ว ดูแต่เรื่องเจ้าคุณวิเชียรกับเจ้าคุณสุชาตินั่นปะไร ปัดยังไงก็ไม่ลงตัว ต้องยอมลุกจากเก้าอี้เจ้าคณะใหญ่หนเหนือจึงค่อยเอาอยู่ ส่วนรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ที่ว่างลง ก็มีแคนดิเดทมากมายหลายรูป อาทิเช่น พระโพธิรังษี (พายัพ ฐิตปุญฺโญ ป.ธ.6) วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ซึ่งก็สร้างผลงานการศึกษาและการพัฒนามาไล่เลี่ยกับพระเทพมังคลาจารย์ จึงถือว่าอาวุโส น่าจะอยู่ในไลน์เข้ามาเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด, พระราชสิงหวรมุนี (โสภณ โสภโณ) เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ รูปนี้ก็มาแรง ล่าสุดได้ตำแหน่ง "รองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่" ไปแบบบิ๊กเซอร์ไพรซ์ เพราะเจ้าคุณโสภณนั้นเรียนจบ มมร. แต่ได้รับตำแหน่งรองอธิการ มจร. ก็ต้องถามอธิการบดี มจร. ว่า มจร. ไม่มีคนดีแล้วหรือ ? อย่างไรก็ตาม เจ้าคุณโสภณนั้น ถือว่าเป็นพระทำงานเก่ง อัธยาศัยใจคอกว้างขวาง คอนเน็กชั่นกว้างไกล แถมได้ฐานเป็นวัดใหญ่คือวัดพระสิงห์ พระคู่บ้านคู่เมือง ดีกรีไม่ด้อยไปกว่าดอยสุเทพ เสียเปรียบนิดหนึ่งก็คือ ไม่มีวุฒิเปรียญ ถ้าติดบาลีซัก 4-5 ประโยค รับรองไปไกล แต่แค่เท่านี้ก็แทบไม่มีอะไรฉุดเจ้าคุณโสภณอยู่แล้ว เจ้าคุณโสภณครองวัดพระสิงห์ อันเป็นตำแหน่ง "กลางเวียง" ตามหลักฮวงจุ้ยของกษัตริย์เชียงใหม่แต่โบราณ เทียบได้กับตำแหน่งของวัดสุทัศน์ ใครอยู่วัดนี้จึงไม่มีตกต่ำ รอให้สุกซักหน่อย ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่ไปไหน ขนาดตำแหน่งรองว่าง เจ้าคุณโสภณก็ถูกสปอตไลต์ฉายใส่ทันที นี่ก็มองข้ามไม่ได้ พระราชรัชมุนี (นิมิต สิขรสุวณฺโณ ป.ธ.9) เจ้าคุณหนุ่มไฟแรง จากวัดท่าตอนของหลวงพ่อสมาน ถูกดึงตัวมาเข้ามาครองวัดสวนดอกพระอารามหลวง ซึ่งกว่าจะได้เป็นก็เล่นเอาเหงื่อตก เพราะเจ้าที่วัดสวนดอกนั้นแรง กว่าเจ้าคุณนิมิตจะเข้าวัดสวนดอกได้ ก็ต้องอาศัย "ครูบาอาจารย์" ช่วยถางทางให้ ว่ากันถึงขนาดว่า หลวงพ่อสมเด็จวัดปากน้ำ ถึงกับจูงมือเจ้าคุณนิมิต เดินไปยังห้องพัก แล้วชี้บอกว่า "ท่านเจ้าคุณจำวัดที่ห้องนี้นะ" แหมแบบนี้ใครจะกล้าขวาง ก็ดู ดร.พระมหาบุญช่วยเป็นปะไร ต้องตกอับถึงระดับ "บุญไม่ช่วย" ไปเสียแล้ว ปัจจุบันการศึกษาบาลีตกต่ำสุดขีด วัดปากน้ำซึ่งคุมการศึกษาบาลีอยู่ก็ต้องการคนทำงานด้านนี้ เจ้าคุณนิมิตซึ่งเป็นประโยคเก้า และจับสายบาลีมาตลอด จึงถูกจับให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนดอก แบบออกแรงกันทั้งกองทัพ เพราะซ้อนทับกับสายมหาจุฬาฯ อันมี ดร.บุญช่วย โชว์ผลงานทางวิชาการเอกอุขึ้นป้ายหราอยู่หน้าวัด แต่สุดท้ายสาย มจร. ก็พ่ายให้แก่สายบาลี เจ้าคุณนิมิตโชว์ผลงานบาลีออกมาดี ปีกลายได้เลื่อนเป็นชั้นราช แต่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ ดังนั้น คิวนี้เป็นของเจ้าคุณนิมิตแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น "รองจังหวัด" หรือ "รองภาค" ก็ตาม ไม่โผใดก็โผหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ "เจ้าคณะอำเภอ" ซึ่งจะว่างลง หลังจากเจ้าคณะได้เลื่อนขึ้นเป็นรองจังหวัดในคราวเดียวกัน ไม่แน่นะ อาจจะไปลงที่ "เด๊ดสะกอย-ดอยสะเก็ด" ก็เป็นได้ มันอยู่ที่การเจรจาของผู้ใหญ่น่ะ เจ้าคุณนิมิตเป็นแต่เพียงผู้รับสนองบัญชาเท่านั้น ถามว่า แล้วเจ้าคุณนนทพันธ์ (พระวิมลมุนี) เลขาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ล่ะ ไปไหนเสีย คำตอบก็คือ เจ้าคุณนนทพันธ์ก็คงไม่ยอมตกขบวนหรอก ก่อนหลวงพ่อเจ้าอาวาสจะเกษียนก็ต้องต่อรองขอไว้ซักตำแหน่งหนึ่ง อย่างน้อยได้ซักเจ้าคณะอำเภอก็ค่อยยังชั่ว เพราะวัดศรีโสดานั้นมีงานดูแลชาวเขาอันเป็นฐานสำคัญทางภาคเหนือแห่งหนึ่ง จึงต้องให้ตำแหน่งไว้ด้วย มิเช่นนั้นงานสาธารณะสงเคราะห์ของสงฆ์ภาคเหนือจะลำบาก ลามไปถึงการศึกษาอีกต่างหากด้วย ถามว่ามีพระวัดอื่นอีกไหม ที่จะเข้าไลน์ ? ยังมีครับ มีอีกรูปหนึ่ง ซึ่งยังคงรอวันเข้ามามีบทบาททางคณะสงฆ์อยู่เช่นกัน รูปที่ว่านั้นคือ พระราชกิตติสุนทร (บุญเลิศ ธมฺมกาโม ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม รองเจ้าคณะอำเภอฝาง ซึ่งถือว่าเป็นพระประหลาดที่สุดในเมืองไทย เพราะได้เป็น "ชั้นราช" ขณะมีตำแหน่งทางการปกครองเพียง "รองเจ้าคณะอำเภอ" เท่านั้น ส่วนเจ้าคณะอำเภอตัวจริงคือ พระครูสุจิตตานุรักษ์ (แก้ว ทนฺตจิตฺโต น.ธ.เอก) วัดพระบาทอุดม นั้นก็มียศเพียงชั้นพระครู เซียนพระราชาคณะเห็นแล้วก็งงว่า อาจารย์บุญเลิศได้ชั้นราชได้ยังไง ? คำตอบที่น่าจะได้จากอาจารย์เลิศก็คือ "ผู้ใหญ่ท่านเมตตา" ก็หมดปัญหาจะถามต่อ แต่ทีนี้ว่า ตำแหน่ง "รองเจ้าคณะอำเภอฝาง" น่ะ มันเล็ก มันน้อย พูดตามสำนวนมหาปรินิพพานสูตรก็ต้องบอกว่า "เป็นเมืองเล็ก เมืองกิ่ง เมืองดอน" มังกรตัวใหญ่จะอยู่ในหนองนานไปนั้นจะกลายพันธุ์เป็นงูหลามไป ดังนั้น มังกรตัวใหญ่ระดับ "อาจารย์บุญเลิศ" ต้องเหาะเหินเดินอากาศโน่นแหละ ผู้คนจึงจะเห็นปาฏิหาริย์ ว่านี่คือตัวจริงเสียงจริง ปี พ.ศ.2530 เมื่อ พระมหาสมเจตน์ เขมชยราโช เจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม ซึ่งลาไปปฏิบัติศาสนกิจในสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธวราราม นครเดนเวอร์ ได้บอกลาญาติโยมขอลาสิกขา ต่อมา ญาติโยมโดยคำปรึกษาของหลวงพ่อสมาน-พระเทพมังคลาจารย์ วัดท่าตอน ได้เห็นชอบให้ไปกราบอาราธนาพระมหาบุญเลิศ ธมฺมกาโม ประโยค 7 สังกัดคณะ 6 วัดปทุมคงคา สมัยที่ท่านเจ้าคุณพิมพ์-พระพรหมเสนาบดี เป็นเจ้าคณะนั่นแหละ มาดำรงตำแหน่งแทน วัดเจดีย์งามจึงมีสมภารนามว่า "พระมหาบุญเลิศ-พระสุธรรมเมธี-พระราชกิตติสุนทร" คนบ้านพนมทวน กาญจนบุรี มาตั้งแต่บัดนั้น การได้เป็น "ชั้นราช" ขณะมีอำนาจเป็นเพียง "รองอำเภอฝาง" ก็ย่อมจะประจักษ์แก่สายตาสาธารณชนว่า เจ้าคุณบุญเลิศนั้น "เลิศด้วยบุญ" แต่มิได้เลิศด้วยอำนาจ แต่ด้วยความเป็น "รุ่นใหญ่" ระดับเดียวกับอาจารย์สมาน-วัดท่าตอน เป็นรุ่นน้องของ "หลวงพี่พิมพ์-วัดปทุมคงคา" ในฐานะศิษย์ของ หลวงพ่อสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท เขมจารี ป.ธ.9) แบบกินข้าวหม้อเดียวกัน หรือแม้แต่เป็นน้องรักของ "หลวงพี่เบิร์ด-ธงชัย วัดดอยสุเทพ" ทำให้ "อาจารย์บุญเลิศ" มีไลน์อยู่ในรุ่นซีเนียร์ หรือรุ่นอาวุโส จะมาดำรงตำแหน่งแข่งกับพระเด็กๆ รุ่นลูกศิษย์ เช่น เจ้าคุณนิมิตเป็นต้น มันก็จะดูไม่เหมาะ เพราะคนละรุ่นดังกล่าว ดูแต่พี่น้องคือ อาจารย์สมอิง จากวัดปทุมคงคาเช่นกัน เคยร่วมงานกันมานาน ปัจจุบันท่านได้ดีเป็นเจ้าคณะจังหวัดระยอง ครองชั้นราชเป็น "พระราชสิทธินายก" ไปแล้ว แล้วอาจารย์เลิศล่ะ จะให้อยู่ในระดับไหน จึงจะเหมาะสม ? ก็คงมีแค่ตำแหน่งเดียวเท่านั้นที่มองเห็นว่า "พอจะสมน้ำสมเนื้อ" กับอาจารย์บุญเลิศ ซึ่งเป็นพระรุ่นใหญ่ คิดการใหญ่ มีคอนเน็กชั่นกว้างไกลไปถึง "เขมรัฐเชียงตุง" เขตประเทศพม่า ตำแหน่งที่ว่านี้ก็คือ "รองเจ้าคณะภาค 7 อันดับ 2" เพราะจะได้ช่วยงาน "หลวงพี่พิมพ์-หลวงพี่เบิร์ด" อย่างเต็มไม้เต็มมือ และท่านเจ้าคุณพิมพ์-ท่านเจ้าคุณธงชัย ก็สามารถ "สั่งงานอาจารย์เลิศ" ได้อย่างไม่เคอะเขิน ได้อาจารย์เลิศมาเป็นรองภาค 7 ถือว่ายิงกระสุนเดียวแต่ได้นก 2 ตัว คือ 1. ปลดปัญหาคาใจว่ารองเจ้าคณะอำเภอฝางได้เป็นชั้นราช มันค้านสายตาสาธารณชน เดี๋ยวคนจะครหาว่า "อำเภอฝางใหญ่สุดในประเทศไทย เพราะแค่รองยังเป็นถึงชั้นราช" ขนาดนั้น จากนั้นก็ปล่อยให้พระในท้องที่ฝางแต่ละเผ่าเขาดูแลกันไป สบายๆ 2. อาจารย์เลิศได้ร่วมทีมกับ "หลวงพี่พิมพ์" ก็เหมือนทีม "คณะ 6 วัดปทุม" ได้เข้ามาคุมภาค 7 เต็มไม้เต็มมือ แถมยังได้ดอยสุเทพเป็นกำลังสนับสนุนอีก งานภาค 7 รับรองว่าต้องรุ่งโรจน์กว่าทุกภาคในประเทศไทย แบบนี้ เจ้าคณะหนเหนือรูปใหม่ก็คงจะชื่นใจ เหนือกว่าคำว่าสบายใจ เพราะตอนที่จะได้เป็นหนเหนือนั้น ท่านต้องหนักใจ เกรงว่าจะบารมีไม่ถึงระดับหลวงพ่อสมเด็จฯ ตามที่ว่านั้น สูตรการปกครองคณะสงฆ์ในภาค 7 ก็จะออกมาแบบนี้ คือ พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร ป.ธ.7) เป็นเจ้าคณะภาค 7 พระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ ป.ธ.7) เป็นรองเจ้าคณะภาค 7 อันดับที่ 1 พระราชกิตติสุนทร (บุญเลิศ ธมฺมกาโม ป.ธ.7) เป็นรองเจ้าคณะภาค 7 อันดับที่ 2 ซึ่งจะถือว่าเป็นเหตุการณ์แปลกประหลาดครั้งหนึ่งของคณะสงฆ์ไทยเลยทีเดียว เพราะว่าทั้งพระพรหมเสนาบดี พระธรรมเสนาบดี และพระราชกิตติสุนทรนั้น ล้วนแต่เป็นเปรียญธรรม 7 ประโยคทุกรูป เมื่อทั้ง 3+7 ได้ครองภาค 7 จึงเป็นเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ถ้าหากว่าเกิดขึ้นจริง ถ้าจัดอันดับแบบนี้ ก็ถือว่าสวยงามลงตัว ไม่ต้องมีการคานอำนาจกัน เพราะทั้งสามรูปข้างต้นนั้น ล้วนเป็น "พี่น้อง" กินนอนมาด้วยกัน ยอมรับนับถือกันและกันมาตามอาวุโส ไม่มีใครคิด "ข้ามหัวใคร" ก่อนจะไปปกครองคณะสงฆ์ทั้งบ้านเมือง ก็ต้องจัดระเบียบคณะสงฆ์ให้ลงตัวแบบนี้ ถ้าปีนี้ อาจารย์เลิศได้เป็น "รองภาค 7" ก็ประกาศข่าวแทนท่านได้เลยว่า จะเปิด "ร้านกาแฟเจ้าคุณ" หน้าวัดเจดีย์งาม เลี้ยงฟรี 7 วัน 7 คืน เอาให้นอนตาค้างไปเลย อิอิ ! ทีนี้ว่า ถ้าสูตรภาค 7 ออกมาเช่นนี้ แล้วถามว่า "สูตรจังหวัดเชียงใหม่" จะออกมาเช่นใด คำตอบก็น่าจะพอเห็นเค้าลางว่า วัดเจ็ดยอดน่าจะได้ขึ้นเป็นจังหวัด เพราะนับตามอาวุโส ส่วนวัดท่าตอนจะเลื่อนเป็น "รอง 1" แล้วหารอง 2 เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งก็ต้อง "ชิงดำ" กันระหว่างวัดพระสิงห์กับวัดสวนดอก แต่วัดสวนดอกน่าจะเป็นรอง เพราะวัดพระสิงห์มีฐานะสูงกว่า อาวุโสกว่า แถมยังครองตำแหน่ง "เจ้าคณะอำเภอเมือง" อีกต่างหากด้วย พระราชสิงหวรมุนีนั้น มีทั้งวัดพระสิงห์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ และรองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตล้านนาเชียงใหม่ อยู่ในมือ แถมยังเคยเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ถึง 2 สมัยซ้อน ตั้งแต่ตอนที่หลวงพ่อวัดพระสิงห์และหลวงพ่อวัดบุพพารามเป็นเจ้าคณะจังหวัดติดต่อกัน นานกว่า 20 ปี นี่คือประสบการณ์ที่การันตีได้ว่า "เจ้าคุณโสภณ" ไม่ธรรมดา แค่พอเจ้าคุณนิมิตขยับจากวัดท่าตอนเข้ามาวัดสวนดอก เจ้าคุณโสภณก็เลื่อนขึ้น "ชั้นราช" ทันที กินอาวุโสทางสมณศักดิ์เห็นๆ เป็นมวยที่รู้ทางออกลูกกันไว้ก่อนเพราะนอนใจไม่ได้ ยิ่งอีกฝ่ายมี "ป.ธ.9" เป็นตรา ยิ่งถือว่าอันตราย ถามว่า เจ้าคุณนิมิตจะไปอยู่ไหน ? คำตอบก็คือ ก็เจ้าคณะอำเภอเมืองไง ใหญ่บะเริ่มเทิ่ม ถ้ายอมให้เจ้าคุณโสภณเป็นรองจังหวัด แล้วยกเจ้าคณะอำเภอเมืองให้วัดสวนดอก ก็จะออกมาแบบเรียงแต้ม คือไม่มีใครเสีย ได้ลดได้หลั่นกันไป เจ้าคุณนิมิตนั้นได้วัดสวนดอกและเจ้าคณะอำเภอเมืองก็ถือว่าเฮงสุดๆ แล้ว เพราะตอนพระครูบุญช่วยขวางคลองอยู่นั้น เจ้าคุณนิมิตยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกหรือเปล่า ถ้าไม่เอาแบบนี้ก็ระวังทาง "จอมทอง" เอาไว้ให้ดี มีแซงทางโค้งแน่ ปัญหาน่าห่วงสำหรับเจ้าคุณนิมิตมีเพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นคือ "เจ้าที่" ในท้องที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ว่าจะยอมรับเจ้าคุณนิมิตในฐานะเจ้าคณะอำเภอไหม หาไม่ก็จะกลายเป็น "ฝางภาคสอง" ซึ่งถ้าหากว่าสูตรนี้ไม่เวิร์ค ก็จะเป็นโอกาสทองของวัดพระธาตุดอยสะเก็ดที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง "รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ รูปที่ 2" ตามรอยของหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิคุณ วัดบุพพาราม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดมาก่อนเช่นกัน แต่ก็ไม่แน่ เผลอๆ หลวงพ่อพายัพ-พระโพธิรังษี อาจจะได้รับการวางตัวให้อยู่ใน "แผนแรก" ด้วยซ้ำไป เพราะท่านอยู่ในรุ่นเดียวกับหลวงพ่อสมาน ซึ่งขึ้นเป็นรองจังหวัดไปนานแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้น เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดก็น่าจะเป็นของ "วัดสวนดอก" ชั่วคราว เพื่อให้เจ้าคุณนิมิตมีฐานอำนาจทางการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งถ้าหากได้เป็นเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด เจ้าคุณนิมิตก็จะสามารถใช้คณะสงฆ์ดอยสะเก็ดสนับสนุนหลวงพ่อสมาน ในการสร้างพุทธมณฑลเชียงใหม่ได้สะดวกยิ่งขึ้น แบบว่าได้ทั้งหนุนทั้งนำว่างั้น แต่ถามว่า ถ้าดอยสะเก็ดตกสำรวจเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดไปในปีนี้ล่ะ ถึงจะมีอาวุโสสูงกว่าวัดพระสิงห์และวัดสวนดอก ถามว่าผู้ใหญ่จะทำอย่างไรให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ซึ่งก็มีคำตอบอยู่ว่า หากไม่ได้ตำแหน่ง ก็จะพิจารณา "เลื่อนสมณศักดิ์" ให้แก่พระโพธิรังษี ซึ่งเป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้ชงัดเช่นกัน เห็นไหมว่ามีตัวเล่น-ตัวเลือกเยอะแยะ พื้นที่เชียงใหม่มีบุคลากรคุณภาพคับแก้วมากมายไม่ด้อยไปกว่ากรุงเทพมหานครเลย ระดับเทพทั้งน้าน.. ซึ่งขอย้ำว่า ทุกวิธี ทุกสูตร ทุกแผน ทุกตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับการเจรจาต้าอวยกันทั้งสิ้น ถ้าคุยกันลงตัวก็ลงเอย แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็ต้องเปลี่ยนแผน-สับไพ่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจกันทุกฝ่าย แต่พระสงฆ์เราโดยเฉพาะภาคเหนือนั้น "คุยง่าย" อยู่แล้ว ผู้ใหญ่ให้อะไรก็เอาไว้ก่อน ดีกว่าท่านไม่ให้ ใครค้านผู้ใหญ่ก็เท่ากับ "ฆ่าตัวตาย" รู้ไว้ใช่ว่า
คำถามสุดท้าย มีวัดอื่นอีกไหมที่มีคุณสมบัติจะได้เข้าไปเบียดฐานเสียงในเชียงใหม่ คำตอบก็คือ วัดพระธาตุศรีจอมทองของหลวงพ่อทองกำลังอยู่ในยุคทอง ปัจจุบันวันนี้ บรรดาพระมหาเถราวุโสในภาคเหนือ ยกเว้นหลวงพ่อพระอุบาลีคุณุปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา เสียองค์หนึ่ง ก็คงไม่มีใครจะมีบารมีเบ่งบานเกินไปกว่า "หลวงพ่อพระธรรมมังคลาจารย์" หรือหลวงพ่อทอง สิริมงฺคโล เมื่อตอนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองว่างลงในปี พ.ศ.2534 เพราะ "พระครูสุวิทย์ธรรม" มรณภาพลงไปนั้น คณะสงฆ์ตกลงให้นิมนต์ "พระสุพรหมยาน (ทอง สิริมงฺคโล)" จากวัดร่ำเปิง เมืองเชียงใหม่ ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ก็ถูกต่อต้านแบบว่าไม่เอา เพราะชาววัดศรีจอมทองเขาจะเอาพระลูกหลานที่ไปเรียนได้เปรียญจากลำพูนกลับมาเป็นตุ๊หลวง แต่สุดท้ายคณะสงฆ์เชียงใหม่ สามารถเจรจาสำเร็จ หลวงพ่อทองได้เป็นเจ้าอาวาสวัดจอมทอง นับจากปี พ.ศ.2534 ถึงปีนี้ (2558) แทบไม่เชื่อว่า บารมีของหลวงพ่อทองจะแก่กล้า แบบว่า ถนนทุกสายมุ่งหน้าไปวัดพระธาตุศรีจอมทอง แทบไม่มีใครเข้าเชียงใหม่กันแล้ว ก็นับตั้งแต่หลวงพ่อสมเด็จวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชัยญาติ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นว่าเล่น แล้วใครไหนอื่นจะไม่อยากไป..จอมทอง หลวงพ่อทองได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นสูงส่งถึงชั้นธรรม ที่ "พระธรรมมังคลาจารย์" ในปี พ.ศ.2552 ซึ่งยังมีข่าวว่า "จะได้เลื่อนอีกขั้น" ซึ่งก็คงไม่ไกล เผลอๆ ปลายปีนี้แหละ นอกจากนั้น หลวงพ่อทองยังแสดงปาฏิหาริย์ ส่งเสริมพระเณรในวัดพระธาตุศรีจอมทองให้ได้ดิบได้ดี เป็นเจ้าคุณมากมายถึง 3 รูป ด้วยกัน ได้แก่ 1. พระสุวรรณเมธี (แสวง ปญฺญาปชฺโชโต ป.ธ.7) ได้เป็นเจ้าคุณ 5 ธ.ค. 2549 2. พระอมรเวที (อ็อด ชยาภินนฺโท ป.ธ.8) ได้เป็นเจ้าคุณ 5 ธ.ค. 2553 3. พระศรีศิลปาจารย์ (ประมวล ปญฺญาวโร) ได้เป็นเจ้าคุณ 5 ธ.ค. 2556 รวมว่า วัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง เล็กๆ แห่งนี้ มีพระราชาคณะกระจุกอยู่มากมายถึง 4 รูปด้วยกัน มากมายกว่าทุกวัดในจังหวัดเชียงใหม่หรือในภาคเหนือ ถ้ารวมพระครูเข้าไปด้วยก็จะมีถึง 9 รูปด้วยกัน ทั้งนี้ด้วยบารมีของ "หลวงพ่อทอง" องค์เดียวล้วนๆ เพราะมิได้มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์เป็นฐานเลย ชาวจอมทองที่ต่อต้านท่านนั้นก็ต้องกลับใจกลับไปขอขมาท่านเสียใหม่ เพราะในวันนี้ วัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นวัดนัมเบอร์วัน ของภาคเหนือไปแล้ว ทีนี้ว่า เมื่อลูกหลานมันเยอะจะอยู่กินกันยังไง หลวงพ่อทองวันนี้ก็มีวัย 92 ปีแล้ว เรียกหลวงปู่ได้ หากสิ้นบุญหลวงปู่ทองวันไหน ก็เกรงว่าบารมีจะหมดวัด ถ้าหาก..ไม่มีตำแหน่งทางการปกครองค้ำยันไว้ ยิ่งวัดศรีจอมทองอยู่ต่างอำเภอจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก็ไว้ใจไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง ดังนั้น เชื่อว่า พระราชาคณะ 1 ใน 3 รูป ของวัดศรีจอมทอง ต้องได้รับการ "ผลักดัน" ให้เข้ามามีตำแหน่งทางการปกครองระดับจังหวัดในไม่ช้า หรืออาจจะคราวนี้เลยก็ได้ เพราะโบราณว่า "น้ำขึ้นต้องรีบตัก" แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสูตรการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ลงตัวที่ "พระเทพปริยัติ" วัดเจ็ดยอด ได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดจริง ตามอาวุโส และมีการผันอาจารย์บุญเลิศ วัดเจดีย์งามไปเป็นรองภาค 7 ช่วยงานวัดปทุมคงคาและวัดดอยสุเทพฯ ตำแหน่งสำคัญจึงน่าจะอยู่ที่ "รองเจ้าคณะจังหวัดอันดับ 1" ซึ่งก็คือ พระเทพมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อสมาน วัดท่าตอน จะขึ้นแท่นเป็นเจ้าคณะจังหวัดในอันดับต่อไป เมื่อวัดเจ็ดยอดเกษียนอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งปีนี้ หลวงพ่อสมานมีอายุเพียง 65 ปี ได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ในขณะอายุ 72 ปี ก็ถือว่าไม่แก่ไม่อ่อน ครองตำแหน่งซัก 8 ปี เท่ากับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2 สมัยซ้อน ก็เหลือเฟือแล้ว ส่วนรองสองนั้น ถ้าพระโพธิรังษี (พายัพ) วัดดอยสะเก็ดมาจริง ก็คงลงตัว ถึงแม้ปีนี้ พระโพธิรังษีมีอายุ 70 ปีแล้ว มากกว่าพระเทพมังคลาจารย์ (สมาน) ไปถึง 5 ปี แต่การได้เป็นรองสองก็ถือว่าโอเค เป็นการปูนบำเหน็จให้ขึ้นเป็นพระผู้ใหญ่ในระดับจังหวัด สูงส่งกว่าเจ้าคณะอำเภอเป็นไหนๆ ส่วนเรื่องอายุพรรษานั้นก็ต้องตัดประเด็นออกไป ยกให้เรื่องเป็นเรื่องของบุญวาสนาก็จะสบายใจกันทุกฝ่าย นี่คือความเคลื่อนไหวรุนแรงในระดับ "9 ริกเตอร์" ในภาคเหนือ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ กินรัศมีไกลไล่ตั้งแต่หัวแม่น้ำกกตรงวัดท่าตอน อำเภอแม่อาย ยิงตรงเข้าสถานีดอยอ่างขางของเมืองฝาง พาดผ่านดอยหัวโทเขตอำเภอเชียงดาวเข้าแม่แตง จับแรงสะเทือนได้ที่ยอดดอยสุเทพ ส่งต่อสัญญาต่อถึงยอดดอยจอมทอง เชิงดอยอินทนนท์ คนนอกอาจมองไม่เห็น แต่สำหรับคนวงในแล้ว เห็นเส้นรุ้งเส้นแวงพาดทับกันเป็นสายยาวไหลตามแม่ปิงต่อเจ้าพระยาลงมาถึงปากน้ำโพธิ์ สิ้นสุดที่วัดปากน้ำกรุงเทพฯ ซึ่งมีไพ่หลายใบให้เล่น ทั้งไพ่โจ๊ก ไพ่จริง ไพ่เสริม หรือไพ่สำรอง ซึ่งถึงจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว แต่อำนาจทั้งปวงก็ยังคงอยู่ในมือของ...สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แต่เพียงผู้เดียว Only One !
อีกไม่นานก็รู้ ว่าเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นใคร ?
|
||||||||||||||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
To BK.
peesang2555@hotmail.com
ALITTLEBUDDH.COM HOMEPAGE WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. (702) 384-2264 |