จับตา
 !

"21 มกรา"

มหาเถรจะเลือกใครมาดำรงตำแหน่งสำคัญ

แทนเจ้าคุณเสนาะ

เจ้าคุณเสนาะ-พระพรหมสุธี

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
อดีตเจ้าคณะภาค
12
อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม
และว่าที่อดีตประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

 

ขณะที่เจ้าคุณเสนาะถูกปลดจากตำแหน่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 12 เหลือเพียงตำแหน่งเดียวที่ยังไม่ได้ปลด ก็คือ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นโควต้ากลางไม่เป็นอำนาจของเจ้าคณะใดโดยเฉพาะ ต้องพิจารณาในมหาเถรสมาคมเท่านั้น ข่าวสารในสื่อทั่วไปก็จับเจาะเฉพาะประเด็น "ทุจริตเงินงานศพ" ของเจ้าคุณเสนาะ รวมทั้งบรรยากาศต่างๆ ภายในวัดสระเกศว่าคึกคักหรือเหงาหงอยอย่างไรบ้าง แต่สำหรับ "วงการพระระดับสูง" แล้ว เขามิได้มองจุดนั้นแล้ว แต่เขามองข้ามช็อต มองไกลไปถึง "ตำแหน่งต่างๆ ที่ว่างลง" ว่าจะมีใครได้รับแต่งตั้งให้เป็นแทน เพราะเก้าอี้ต้องมีคนนั่ง รถต้องมีคนขับ หน้าที่ต่างๆ ก็ต้องมีคนทำงาน หากเก้าอี้ไม่มีคนนั่ง รถไม่มีคนขับ หรืองานไม่มีคนทำ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะกลายเป็นอัมพาต ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนงานของคณะสงฆ์ให้เดินหน้าต่อไป มหาเถรสมาคมก็จำเป็นต้องพิจารณาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเหล่านั้นแทน ซึ่งในบรรดาตำแหน่งอันมากมายเหล่านั้น ขอเจาะลึกลงไปดังนี้

1. เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ตำแหน่งนี้ไม่ว่าง เพราะพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศ ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการไปแล้ว

2. เจ้าคณะภาค 12 ตำแหน่งนี้ก็ไม่ว่าง เพราะพระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) วัดสระเกศ ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการไปแล้วเช่นกัน

3. กรรมการมหาเถรสมาคม ตำแหน่งนี้ยังว่าง

4. ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ตำแหน่งนี้ก็ยังว่าง

รวมความว่า ว่าง 2 ไม่ว่าง 2

หรือมองอีกมุมหนึ่ง 2 ใน 4 ตำแหน่งของเจ้าคุณเสนาะนั้น ถึงจะหลุดจากมือเจ้าคุณเสนาะ ก็ยังตกอยู่ภายในวัดสระเกศครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้น ยังไม่รู้ว่าจะอยู่กับใคร จนกว่าจะถึงวันที่ 21 มกราคม ศกนี้ ซึ่งจะมีการประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลงเหล่านั้น

"กรรมการมหาเถรสมาคม" ตำแหน่งนี้ เทียบได้กับ "รัฐมนตรี" ร่วมรัฐบาล เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมั่นคง ถึงจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้ว หากไม่มีปัญหาอะไรรุนแรง ก็จะได้รับการต่ออายุและอยู่ต่อไปจนมรณภาพ ในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ มีกรรมการมหาเถรสมาคม เพียง 2 รูปเท่านั้นที่โดนปลดโดยสมเด็จพระสังฆราช คือ

1. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) วัดราชโอรสาราม (ปัจจุบันคือพระมหาโพธิวงศาจารย์) ต้องบัญชาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ให้ออกจากกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ.2542

2. พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) วัดสระเกศ ต้องบัญชาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ออกจากกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา

ที่เหลือจากนั้นก็อยู่กันแบบ "ชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ" และต่ออายุไปเรื่อยๆ จนหมดอายุขัย เป็นวัฏจักรการปกครองคณะสงฆ์ไทยในระดับสูง คือมหาเถรสมาคม ดังนั้น การได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จึงถือว่าเป็นตำแหน่งที่มั่นคงสูงสุด และมีอำนาจสูงสุดด้วย

 

 

พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญญาวุโธ)
วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง เจ้าคณะใหญ่หนใต้

 

สำหรับ "แคนดิเดท" กรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ปัจจุบันมีหลายรูป ได้แก่

1. พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญญาวุโธ) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง มีตำแหน่งใหญ่ระดับ "เจ้าคณะใหญ่หนใต้" ซึ่งถ้าอยู่ในกรุงเทพฯก็ต้องได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ควบกับกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง แต่เนื่องจากมีอะไรก็ไม่รู้มาอ้างว่า "ถ้าพระต่างจังหวัดได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จะลำบากเรื่องการเดินทางมาประชุม" จึงกลายเป็นข้ออ้างให้พระในกรุงเทพฯ กีดกันพระต่างจังหวัดไม่ให้ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่ว่าจะใหญ่ระดับไหน เช่นพระพรหมจริยาจารย์ มีตำแหน่งและอำนาจมากกว่ากรรมการมหาเถรสมาคมหลายสิบรูป แต่ก็ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้ มหาเถรสมาคมก็ประชุมกันเดือนละแค่ 3 วัน คือวันที่ 10-20-30 จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระต่างจังหวัดจะไม่สามารถเข้ามาประชุมมหาเถรสมาคมที่พุทธมณฑล ขนาด ส.ส. หรือรัฐมนตรี ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย ก็ยังสามารถมาประชุมสภาและคณะรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาลได้ทุกวัน ดังนั้น ข้ออ้างนี้จึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล สมควรที่มหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน จะได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ กระจายอำนาจการปกครองออกไปให้ทั่วประเทศไทย ให้พระต่างจังหวัดที่มีความรู้ความสามารถ ได้มีโอกาสเข้ามานั่งบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยบ้าง เพราะมีแต่ได้กับได้ ได้ขยายฐานบุคคลากรออกไปอย่างกว้างไกล ไม่ต้องอ้างว่า "หาตัวไม่ได้" หรือ "ไม่มีตัวเลือก" เหมือนที่เคยเป็นมา เพราะว่าเวลามีปัญหาก็ขอให้เขาช่วย แต่เวลามีตำแหน่งว่าง กลับอ้างโน่นอ้างนี่ ดังนั้น แคนดิเดทอันดับหนึ่งจึงเป็น "พระพรหมจริยาจารย์" มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ยกเว้นแต่กรรมการมหาเถรสมาคมส่วนกลางจะอ้างการเดินทางเพื่อกีดกันเหมือนเคย

และถ้าหากว่า มีการเปิดกว้างให้พระพรหมจริยาจารย์เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมได้ พระราชาคณะระดับสูงรูปอื่นๆ ในต่างจังหวัด เช่น พระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าคณะภาค 15 วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน ป.ธ.6) เจ้าคณะภาค 6 วัดพระแก้ว เชียงราย เป็นต้น ก็เข้าข่ายเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมได้ทั้งสิ้น

 

พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ)
รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค
10

 

2. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 10 มีฐานเป็นเจ้าคณะภาค และมียศสูงถึงรองสมเด็จพระราชาคณะ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับการพิจารณา ติดแต่ว่ายังเพิ่งเข้ามารักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศได้ไม่กี่วัน อำนาจในวัดสระเกศยังไม่มั่นคง ดังนั้น จึงค่อนข้างจะไวเกินไปในสายตาของกรรมการมหาเถรสมาคมรูปอื่นๆ โดยเฉพาะสายอยุธยา ซึ่งอยู่ข้างพระพรหมสุธี (เจ้าคุณเสนาะ) นั้น ก็คงไม่เห็นด้วย จังหวะของเจ้าคุณธงชัยจึงดูกระชั้นเหลือเกิน ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า ไม่มีตัวหนุนส่งในระดับสูง เพราะสิ้นสมเด็จเกี่ยวไปแล้ว กว่าจะได้นั่งเก้าอี้ "รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ" ก็เลือดตาแทบกระเด็น เจ้าคุณธงชัยจึงน่าจะพอใจในสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันมากกว่าจะเข้าแข่งขันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมกับเขา เว้นแต่พระผู้ใหญ่เสนอ แบบนั้นก็ต้องสนอง

 

สามนาคหลวงปี 19

ซ้าย : พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะภาค 2 กรรมการมหาเถรสมาคม และอธิการบดี มจร.

 กลาง : พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค 13

ขวา : พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ แม่กองบาลีสนามหลวง เจ้าคณะภาค 5 และกรรมการมหาเถรสมาคม


 

 

พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค
13

 

3. พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค 13 เจ้าคุณประกอบมีดีกรีเป็นเณรนาคหลวง (สอบได้ ป.ธ.9 ขณะเป็นสามเณร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ารับการอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ.2519 วันเดียวกับพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9) วัดประยุรวงศาวาส และพระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองรูปได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมไปหมดแล้ว ตอนที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ยังมีชีวิตอยู่นั้น เจ้าคุณประกอบได้เลื่อนสมณศักดิ์ไวกว่าเพื่อน

เก็งกันว่า เจ้าคุณประกอบ อาจจะได้เป็นรองสมเด็จและกรรมการมหาเถรสมาคมก่อนเพื่อนร่วมรุ่น แต่แล้ว เมื่อสิ้นสมเด็จพระมหาธีราจารย์ แถมด้วยเจ้าคุณประกอบไปติดคดีรื้อพระเจดีย์ของราชนิกูลในวัดกัลยาณมิตร ซึ่งตนเองย้ายไปดำรงตำแหน่งจากวัดชนะสงคราม ก็เลยทำให้เจ้าคุณประกอบเหมือนมีชนักติดหลัง เพิ่งจะได้เป็นรองสมเด็จ เมื่อ 5 ธันวาคม 57 ที่ผ่านมา ช้ากว่าเพื่อน แต่ถึงกระนั้น เจ้าคุณประกอบก็ยัง "อยู่ในไลน์" หากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมคราวนี้ สามสหายนาคหลวง พ.ศ.2519 ก็จะเข้ามาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแบบครบทีม ซึ่งอาจจะเป็นเหมือนสามสหาย คือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม) วัดชนะสงคราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา เข้ามาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ ส่งผลให้ทีมมหานิกายเข้มแข็งมากในยุคหนึ่ง ถ้าหากไม่เกิดปัญหาธรรมกาย รับรองว่าทีมมหานิกายไปไกลกว่านี้ ดังนั้นจึงต้องจับตาอย่ากะพริบว่า วันของเจ้าคุณประกอบมาถึงแล้วหรือไม่ ?

 

 

พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร ป.ธ.7)
วัดปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์ รองเจ้าคณะภาค
7

 

4. พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร ป.ธ.7) วัดปทุมคงคา รองเจ้าคณะภาค 7 เจ้าคุณพิมพ์เพิ่งได้เป็นรองสมเด็จ เมื่อ 5 ธันวาคม 57 ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเจ้าคุณประกอบ คุณสมบัตินั้นเป็นรองเจ้าคุณประกอบอยู่หลายอย่าง ทั้งเป็นเปรียญ 7 เป็นรองเจ้าคณะภาค แต่เจ้าคุณพิมพ์มีคุณสมบัติดีประการหนึ่งคือ "เข้าคนได้ทุกระดับชั้น" มีแต่เพื่อน ไม่มีศัตรู ซึ่งคุณสมบัติที่ว่านี้ ย่อมเป็นที่มองหาของพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม ต้องการคนมาประสานงาน เหมือนพระพรหมบัณฑิต ที่อาสาไปทุกแห่งหนนั่นแหละ พระพรหมเสนาบดีจึงเป็นตัวเลือกที่ดี หากคนอื่นๆ เขามีปัญหาว่าด้วยคุณสมบัติบางข้อที่ไม่ลงตัว

 

พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต)
วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร

 

5. พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต) ก็เป็นชื่อที่ฮือฮา เป็นตัวเต็งตัวเก็งมาตลอดระยะเวลา 20 มีอะไรมากมายในชีวิตของเจ้าคุณทองดี ตัดกันทั้งดำและขาวเหมือนไพ่สองหน้า ที่เป็นแผลเป็นก็คือ ถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมกับตำแหน่งเจ้าคณะภาค 16 เมื่อปี 2542 นับตั้งแต่นั้นเจ้าคุณทองดีก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปนั่งประชุมมหาเถรสมาคมอีกเลย จนกว่า สมเด็จเกี่ยวและสมเด็จพระญาณสังวร สิ้นพระชนม์ไป สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ได้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โอกาสของเจ้าคุณทองดีจึงเปิดโล่ง เข้าวังรับพัดรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ "พระมหาโพธิวงศาจารย์" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 57 ที่ผ่านมา

เจ้าคุณทองดีมีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ด้านบวกนั้น ก็คือ เจ้าคุณทองดีมีดีหลายอย่าง เป็นประโยคเก้า เป็นราชบัณฑิต เป็นอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ชำนาญภาษาบาลี โดยเฉพาะการแต่งฉันท์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนัมเบอร์วันของสายบาลีในยุคปัจจุบัน ถึงหันไปเอาดีด้านอื่น เช่น เทศน์หรือแต่งหนังสือ ก็ถือว่าเข้าขั้น ถึงสำนวนจะไม่หวือหวาแต่ว่าคนเชื่อ เพราะมีตรา "ราชบัณฑิต" เป็นประกัน กรรมการมหาเถรสมาคมหลายรูปชุดปัจจุบันยังเคยเป็นลูกศิษย์ของเจ้าคุณทองดีด้วยซ้ำ ดังนั้น เรื่องสายสัมพันธ์กับกรรมการมหาเถรสมาคมจึงไม่มีปัญหา สรุปรวมว่า เจ้าคุณทองดีเป็นพระเก่งครบเครื่อง

ด้านค่อนข้างลบนั้น ก็คือ เจ้าคุณทองดีเป็นคนเก่งเกินไป เชื่อมั่นในตัวเองสูง แถมด้วยนิสัยนักเลง กล้าได้กล้าเสีย จึงเมื่อเดินเกมพลาดก็พลาดยาว กว่าจะได้เข้าคิวใหม่ก็นานถึง 20 ปี การถูกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ปลดออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม จึงถือเป็น "แผลเป็น" ของเจ้าคุณทองดีตลอดมา ว่าถ้าจะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งนั้น มหาเถรสมาคมจะให้คำตอบแก่ "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ได้อย่างไร นั่นหมายถึงว่า ต้องถามทางฝ่ายธรรมยุตเขาด้วย ว่าทำเช่นนี้ เขาพอใจหรือไม่ เพราะถ้าทำได้ก็เท่ากับ "ล้มมติคณะรัฐมนตรี" เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ยังไม่มีใครทำ

แน่นอนว่า ผู้ที่จะอุ้มเจ้าคุณทองดีอาบน้ำล้างหน้าปะแป้งแต่งตัวดันกลับเข้ามาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีกรอบได้นั้น ในประเทศไทยมีเพียงคนเดียว คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะต้องลงแรงถึงขั้นทุบโต๊ะ จึงจะเข็นเจ้าคุณทองดีเข้ามหาเถรสมาคมได้ มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นประเด็นประวัติศาสตร์ "ลบล้างพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ถึงสามารถทำได้ ต่อไป ถ้าสิ้นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ก็อาจจะมีการ "เอาคืน" โดยผู้มีอำนาจรุ่นหลัง แบบทีใครทีมัน หรือไม่ก็จะเป็นแนวทางให้เกิดการแบ่งแยกแล้วปกครองในมหาเถรสมาคม แบบว่าใครมีอำนาจก็ลบล้างอำนาจเก่า เอาคนของตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่งเต็มไปหมด ทำให้บทบาทของสมเด็จพระสังฆราช มิใช่พระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทยอีกต่อไป แต่จะเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น นั่นก็ยิ่งอันตราย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์จะเลือก "หลักการ" หรือ "หลักกู" ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

แน่นอนด้วยว่า บทบาทของการเป็น "ประธานที่ปรึกษาและอุปัชฌาย์ของวัดพระธรรมกาย" ย่อมจะเป็นที่จับจ้องมองของพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เพราะ ณ เวลานี้ ธรรมกายกับเจ้าคุณทองดี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปแล้ว ไม่มีทางแยกจากกันได้ ได้เจ้าคุณทองดีมาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ก็คือ ได้ "ธัมมชโย" มาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

เจ้าคุณทองดีนั้น เดิมเป็นพระสังกัดวัดปากน้ำ ก็เป็นศิษย์ผู้น้องของหลวงพ่อช่วง ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม แต่ก็ยังถือว่า "อยู่ในเครือวัดปากน้ำ" ซึ่งสายนี้จะเริ่มต้นที่ วัดโพธิ์ท่าเตียน ซึ่งหลวงพ่อสดเคยจำพรรษา และหลานของหลวงพ่อสด คือสมเด็จป๋า (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อสิ้นหลวงพ่อสด ตามด้วย "วัดเบญจมบพิตร" ในยุคสมเด็จพระสังฆราชปลด ซึ่งสมัยนั้นรุ่งเรืองเรื่องบาลีเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ดังคำกล่าวว่า "อยากเป็นพระนักเทศน์ให้อยู่วัดประยูร อยากเป็นเจ้าคุณให้อยู่วัดมหาธาตุ อยากเป็นนักปราชญ์ให้ไปวัดสามพระยา อยากเป็นมหาให้ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร" หลวงพ่อสดผู้เห็นการณ์ไกล จึงส่งพระมหาช่วงกับพระมหาบุญมา ไปเรียนบาลีที่วัดเบญจฯ จนจบประโยคเก้าทั้งคู่ ครั้นสิ้นหลวงพ่อสด พระมหาช่วงจึงกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เจริญในด้านการปกครองเป็น "เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ" และ "กรรมการมหาเถรสมาคม" เจริญยศเป็น "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" และเป็น "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" อันสูงสุดในปัจจุบัน สายสัมพันธ์ระหว่าง "วัดปากน้ำ" กับ "วัดเบญจมบพิตร" จึงต่อเนื่องยาวนาน ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือนั้น เดิมก็อยู่ที่วัดเบญจฯ แต่ต่อมาก็ผ่องถ่ายมาให้วัดปากน้ำ รวมทั้งตำแหน่งแม่กองบาลีสนามหลวงด้วย โดยเมื่อวัดปากน้ำได้ดี ก็ไม่เคยทิ้งวัดเบญจฯ ปัจจุบัน เจ้าคุณฉ่ำ (พระเทพกิตติเวที) เจ้าอาวาสวัดเบญจฯ ก็ถือว่าอยู่ในทีมวัดปากน้ำ ส่งลงไปช่วยงานในภาคใต้ ไม่แน่ ถ้าต่อไปวัดปากน้ำอ่อนอำนาจลง ก็อาจจะโอนอำนาจมาไว้ที่วัดเบญจฯ เหมือนวัดสระเกศกับวัดไตรมิตร ซึ่งจับคู่รักษาฐานอำนาจในภาคตะวันออก (อีสาน) อย่างแน่นหนามาถึงปัจจุบัน

 



วัดพระธรรมกายร่วมบำเพ็ญกุศลศพพระพุทธวรญาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจฯ

 

ธรรมกาย เมื่อเริ่มบวชธรรมทายาทนั้น ก็ใช้วัดเบญจมบพิตรเป็นฐาน คือมาขอบวชที่วัดเบญจมบพิตร (ไม่เคยบวชที่วัดปากน้ำ ยกเว้นธัมมชโยกับทัตตชีโว) ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาว่าด้วยพระไตรปิฎก ธรรมกายจึงค่อยๆ ถอนตัวออกจากวัดเบญจฯ โดยนิมนต์พระอุปัชฌาย์มีพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี) เป็นต้น ไปทำการบวชที่วัดพระธรรมกาย แต่ถึงกระนั้น ธรรมกายก็ยังไม่ทิ้งวัดเบญจฯ ดูอย่างในงานศพพระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจฯ นั้น วัดพระธรรมกายก็ขนกันมาช่วยงานแบบว่าเป็นทีม

นี่คือสายสัมพันธ์ที่พระธรรมกิตติวงศ์มี ยังไม่รวม "นักเรียนบาลีระดับสูง ป.ธ.7-8-9" ในช่วงที่เจ้าคุณทองดีสอนหนังสือที่วัดสามพระยานานหลายสิบปี ปัจจุบันนักเรียนบาลีเหล่านั้นเจริญเติบโต เข้าบริหารกิจการคณะสงฆ์ในทุกระดับ นับตั้งแต่เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และกรรมการมหาเถรสมาคม ฐานของเจ้าคุณทองดีจึงถือว่ากว้างขวางมาก ถ้าไม่ติดผู้ใหญ่ในอดีต และถ้าไม่ติด "คำสั่งสมเด็จพระสังฆราช" ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว เจ้าคุณทองดีได้เป็น "สมเด็จ" ไปนานแล้ว

ปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไปไม่ได้ ก็คือ เจ้าคุณทองดี ถูกปลดจากเจ้าคณะภาค 16 ในคราวนั้นด้วย ปัจจุบันก็ยังไม่ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม จึงทำให้ฐานของเจ้าคุณทองดีไม่แข็งแรง จริงอยู่ มีกรรมการมหาเถรสมาคมบางท่าน เช่น พระพรหมวชิรญาณ ก็ไม่ได้เป็นเจ้าคณะภาค แต่พระพรหมวชิรญาณก็ไม่มีชนักติดหลังเช่นพระมหาโพธิวงศาจารย์ งานนี้จึงต้องชั่งน้ำหนักกันอย่างรอบคอบที่สุด

ผลกระทบที่เจ้าคุณทองดีจะเข้ามาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น มีอยู่เรื่องเดียว คือ ธรรมกาย แน่นอนว่าธรรมยุตทั้งหมดไม่เอาธรรมกาย (ยกเว้นวัดสัมพันธวงศ์) และมหานิกายสายวัดชนะสงครามกับวัดพิชัยญาติ ก็ไม่เอาธรรมกาย (ยกเว้นวัดสามพระยาของเจ้าคุณเอื้อน) หากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ทุบโต๊ะตั้งพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี) ขึ้นเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมในคราวนี้ ก็จะมีผลกระทบมาถึงตัวของท่านเอง โดยเฉพาะก็คือ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แบบว่า ยังมิทันได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ใช้อำนาจปานนี้แล้ว ถ้าได้เป็นสังฆราชจะขนาดไหน และธรรมกายจะยิ่งใหญ่ปานใด ในฐานะเจ้าอาวาสวัดต้นกำเนิดธรรมกาย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จึงหนีคำครหาไม่พ้นแน่นอน จะมีคนกล่าวหาว่าล้มล้างบัญชาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สร้างกระแสขึ้นต่อต้าน ซึ่งถือว่าฉกาจฉกรรจ์ จะเลือกเอาอะไรระหว่าง "พระสังฆราช" กับ "กรรมการมหาเถรสมาคม" ก็อยู่ที่หลวงพ่อใหญ่วัดปากน้ำจะวินิจฉัย เพราะไม่มีใครกล้าชี้นำ ส่วนเจ้าคุณทองดีนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้ว อะไรก็ได้ เพราะทำใจมานาน วันนี้ได้รองสมเด็จก็ถือว่ากำไรล้นมือ เพราะได้ทำอะไรตามใจอยาก แถมยังได้ยศถาบรรดาศักดิ์กลับมาอีก ถึงจะช้าแต่ก็เหมือนพร้าเล่มงาม แต่ถ้าได้เร็วกว่านี้ก็ดี เข้าในหลักไม่ประมาท เพราะพลาดแล้วยาว..

แคนดิเดทกรรมการมหาเถรสมาคมในสายมหานิกาย ก็คงหมดตัวแล้ว




 

ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

 

ตำแหน่งสุดท้าย ได้แก่ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมมานั้นเป็นของ "สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)" เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ครองตำแหน่งนี้มายาวนานจนมรณภาพลง หมายถึงว่า ขนาดระดับรองๆ คือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ หรือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ก็ไม่มีโอกาสสัมผัสเก้าอี้ตัวนี้

เก้าอี้ตัวนี้สำคัญไฉน ? ก็เทียบได้กับ ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในระดับนานาชาติแล้ว ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นเป็นหน้าตาของประเทศ เพราะต้องติดต่อพูดคุยกับต่างประเทศแทนรัฐบาล รัฐมนตรีต่างประเทศจึงมีบทบาทโดดเด่นกว่ารัฐมนตรีทุกกระทรวง ถ้าเล่นเป็นเล่นดี บางทีคนรู้จักมากกว่านายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีด้วยซ้ำ

 

 

งานเสวนาพระธรรมทูตไทยในสี่ทวีป
สมโภช
100 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

 




 

 

งานสัมมนาพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

วันที่ 7-9 มีนาคม พ.ศ.2557 ณ มจร. วังน้อย อยุธยา

 

 

ในงานฉลอง 100 พรรษายุกาล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2556 มีงานสัมมนาพระธรรมทูตจากทั่วโลก เรียกชื่อว่า "งานเสวนาพระธรรมทูตไทยในสี่ทวีป" ทั้งนี้ เพื่อเทอดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร ว่ามิใช่เพียงแค่มีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของไทยเท่านั้น แต่ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ ส่งพระธรรมทูตเผยแผ่ออกไปในทุกทวีป เรียกได้ว่า ทรงมีบทบาทยิ่งใหญ่ระดับโลก

ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2557 มีกิจกรรมสำคัญคือ การประชุมพระธรรมทูตนานาชาติ เป็นเวลา 3 วัน ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. วังน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อถวายเกียรติยศแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์เกี่ยว อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

แน่นอนว่า ตำแหน่งประธานพระธรรมทูตนั้น เป็นตำแหน่งที่ "มีเกียรติอย่างสูง" ดัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถวายความคิดเห็นในงานเสวนาพระธรรมทูตไทยในสี่ทวีป ที่วัดบวรนิเวศวิหาร การคัดคนที่จะมาบริหารกิจการพระธรรมทูตสายต่างประเทศ จึงต้องเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ ระดับเอกอัครราชทูต เพราะเป็นหัวหน้าทูตแห่งธรรม มิใช่แค่ทูตทางการเมือง นี่คืองานอินเตอร์ มิใช่งานภูเขาทองวัดสระเกศที่จะจัดใครลงเล่นก็ได้ เพราะเล่นกันเอง ถูกผิดอย่างไรก็ไม่มีผลในวงกว้าง

ในปี พ.ศ.2509 รัฐบาลไทยสมัยนั้น ส่งเสริมให้เกิดโครงการอบรมพระธรรมทูตขึ้นมา เป็นโครงการร่วมของสองนิกาย และได้ "สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร" เป็นประธาน มีพระดังระดับประเทศเข้าร่วมเป็นกรรมการมากมาย อาทิเช่น หลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม ไชยา หลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพใหญ่แห่งพระกรรมฐานในภาคอีสาน ถึงปัจจุบัน ตำแหน่งประธานและกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตชุดนี้ ยังคงความเป็นอมตะ เพราะถือว่าเป็นการเปิดศักราชพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ

การฝึกอบรมพระธรรมทูตขาดหายไปหลายปี ในปี พ.ศ.2538 ทางมหาเถรสมาคมและสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้แนวคิดร่วมกันในการฟื้นฟูการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้นมาอีกครั้ง และครั้งนั้นได้ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" เกี่ยว อุปเสโณ วัดสระเกศ ซึ่งถือว่ามีอำนาจวาสนาบารมีมากที่สุดในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะมหานิกาย มาดำรงตำแหน่งประธาน จนกระทั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์มรณภาพลงในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2556

 

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
(ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.
9)
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จสมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

 

 

ครั้นวันประชุมมหาเถรสมาคม วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2556 กลับปรากฏว่า มหาเถรสมาคมยกตำแหน่ง "ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ" ให้แก่ พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 12 ส่งผลให้งานพระธรรมทูตในต่างประเทศเข้าสู่ภาวะชลอตัวทันที

ทั้งนี้เพราะพระพรหมสุธีนั้น มีคุณสมบัติ "ไม่ดีเด่น" ในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การบริหาร การปกครอง หรือแม้กระทั่งวิสัยทัศน์ส่วนตัวก็มัวหมอง เคยใช้วาจาดุด่าตำหนิติเตียนพระที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ทำนองว่าไปทำไม อยู่ไทยดีกว่า ไปเที่ยวมากกว่าไปทำงานมั๊ง ดูหมิ่นเหยียดหยาม หน้าไม่รับแขก ฯลฯ เป็นที่รู้ดีในวงการพระธรรมทูตว่า "เจ้าคุณเสนาะไม่ชอบและไม่ส่งเสริมพระไทยไปต่างประเทศ" และที่สำคัญก็คือ ช่วงดำรงตำแหน่งเลขานุการสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสำนักงานฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศมายาวนานนั้น เจ้าคุณเสนาะไม่เคยเดินทางไปดูงานต่างประเทศเลย หากินอยู่แถวๆ ตีนภูเขาทองเท่านั้น เปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตผ่านมาร่วมๆ 20 ปี เจ้าคุณเสนาะไม่เคยเหลียวแลแม้แต่จะโผล่หัวไปดู รอแต่ให้เขามากราบฝ่าพระบาทที่วัดสระเกศเท่านั้น ทำงานเหมือนอัครมหาเสนาบดียุคราชาธิปไตย ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง

แน่นอนว่า บทบาทของพระธรรมทูตสายต่างประเทศยุคหลังมานี้ ดีเด่น จึงเป็นที่หมายปองของใครหลายคน เจ้าคุณเสนาะก็เพิ่งจะมารู้สึกตัวเอาเมื่อสาย คือเมื่อครูบาอาจารย์ตายไปแล้ว เห็นว่าตำแหน่งนี้มีบทบาทสำคัญมาก สามารถสร้างเกียรติยศชื่อเสียงได้ ไม่ต่างไปจากตำแหน่งพระสังฆราช เพราะพระธรรมทูตสายเสือหิวเมืองนอกบินมากราบตีนถึงในกุฏิเพื่อขอพัดเจ้าคุณ มีอำนาจเสียอย่าง อะไรก็เล่นไม่ยาก เจ้าคุณเสนาะเห็นเป็นกำไรงาม จึงขยับหมากเข้ามาขอคุมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ

แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า มหาเถรสมาคม ชุดที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ได้นั่งเป็นประธานเป็นครั้งแรกนั้น จะเห็นงานพระธรรมทูตเป็นงานกระจอก ยินยอมยกตำแหน่งให้แก่เจ้าคุณเสนาะไปอย่างง่ายดาย

ผลสุดท้าย เมื่อเจ้าคุณเสนาะต้องมลทิน หลุดจากตำแหน่งต่างๆ ดังที่เป็นข่าว ตำแหน่งประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ก็ต้องพบกับความมัวหมองด้วย เมื่อเทียบกับเกียรติประวัติของสมเด็จพระญาณสังวรและสมเด็จเกี่ยว ถามว่า มหาเถรสมาคม และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จะให้คำตอบแก่พระธรรมทูตสายต่างประเทศอย่างไร ท่านเอาใครมาเป็นหัวหน้าเขา ดูหน้าดูตาบ้างหรือเปล่า ว่ารับแขกไหวไหม ทำไมเมืองไทยมันไม่มีพระดีหรือพระเก่งๆ ไปกว่านี้อีกแล้วหรือ ?

ก็ดังที่กล่าวว่า ในอดีตนั้น ตำแหน่งประธานพระธรรมทูตนั้น "ต้องระดับสมเด็จพระสังฆราช" ทรงลงมากำกับเอง ถึงเมื่อแยกนิกายกันปกครองแล้ว ก็ยังต้องให้ "ผู้นำสูงสุด" ในแต่ละนิกายเข้ามาดูแล เพราะถือว่าพระธรรมทูตเป็นตำแหน่งเกียรติยศเป็นหน้าตาของคณะสงฆ์ไทย แต่มหาเถรสมาคม ชุดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กลับมองเห็นงานพระธรรมทูตสายต่างประเทศว่าเป็นงานเด็กๆ ให้พระเด็กระดับเจ้าคุณเสนาะมาควบคุม ซึ่งจะบอกว่าเจ้าคุณเสนาะไร้วิสัยทัศน์ก็ไม่ถนัด เพราะเจ้าคุณเสนาะผ่านการคัดเลือกของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้ลงนามเป็นด่านสุดท้าย ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

อ๋อแน่นอนว่า เมื่อมหาเถรสมาคมมีมติออกมาในตอนแรกนั้น ทางเรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ไม่เคยต่อต้านมหาเถรสมาคมหรือเจ้าคุณเสนาะ เพราะเราเคารพในมติของมหาเถรสมาคม จึงให้โอกาสคนทำงาน แต่ครั้นผลงานออกมาดังที่เห็น ก็เป็นเหตุให้ต้องนำมาว่ากล่าวกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนขึ้นอีก

ก็ไม่กล้าสอนสังฆราช เพราะเชื่อว่า วันนี้ อะไรๆ ก็คงกระจ่างแก่สายตาของทุกรูปทุกองค์แล้ว เข้าใจอยู่ว่า ครั้งก่อนนั้น สมเด็จวัดปากน้ำ ด้วยความเคารพในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) จึงยอมยกตำแหน่งประธานพระธรรมทูตให้แก่เจ้าคุณเสนาะ "ตามที่ขอ" แต่วันนี้ เงื่อนไขนั้นหมดไปแล้ว ดังนั้น การพิจารณาตัวบุคคลในมหาเถรสมาคมที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ หวังว่าคงไม่ขี้เหร่จนพระธรรมทูตทั่วโลกร้องยี้

มหาเถรสมาคมจะเอาใคร ผู้เขียนไม่ได้ติดใจจะไปก้าวก่าย แต่ขอร้องว่า ขอให้พิจารณาให้ถ่องแท้ ต้องเอาพระที่กอปรด้วยความรู้ความสามารถ มีบารมีทั้งทางโลกและทางธรรม มีวิสัยทัศน์ และที่สำคัญ "ต้องพร้อมสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ" อย่าสักแต่ว่าตั้ง เหมือนตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการในเมืองไทย เพราะมันไม่เหมือนกัน หลักการง่ายๆ ก็คือว่า "เอางานเป็นที่ัตั้ง แล้วหาคนให้เหมาะสมกับงาน" มิใช่เอาคนเป็นที่ตั้งดังเคยทำมาในกรณีเจ้าคุณเสนาะ

หนังสือ "สามชีวิตในอเมริกา" ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ บันทึกไว้ตลอดการเดินทางนั้น ดูสวยงาม เป็นดอกไม้ช่อใหญ่ประดับชีวิตรวมทีเดียวได้ตั้ง 3 รูป คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) และพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ) แต่ ณ วันนี้ สายธารเกียรติยศในนาม "พระธรรมทูตสายต่างประเทศ" นั้นสะดุดลง เพราะสมเด็จวัดปากน้ำ ผู้เขียนหนังสือดังเล่มนั้นอีกด้วย แต่ก็ยังไม่สาย ยังมีโอกาสแก้ตัวใหม่

สรุปว่า มหาเถรสมาคม "สอบตก" ในวิชาพระธรรมทูตมารอบหนึ่งแล้ว ตกแบบรุนแรงด้วย คะแนนติดลบทุกวิชา เพราะแค่ปีกว่าประธานสำนักงานพระธรรมทูตก็มัวหมองจนมองหน้าใครไม่ติด อย่านับแต่จะไปต่างประเทศเลย เดินแถวๆ วัดสระเกศก็ยังอายคน วันที่ 21 มกราคม ศกนี้ มีประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อสอบซ่อมวิชาพระธรรมทูต ก็หวังว่าคงไม่ซ้ำรอยเดิม

จะแก้จะไขอย่างไรก็รีบเถิดครับหลวงพ่อ โอกาสทองมาถึงแล้ว แก้ครั้งนี้ดีก็ดีไปอีกร้อยปี หวังว่าหนังสือดี "สามชีวิตในอเมริกา" อ้นงามสง่า จะไม่ถูกหนังสือเล่ม "ชีวิตของเจ้าคุณเสนาะ" มาบดบัง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็..น่าเสียดาย

 

หวังว่าท่านคงไม่ทำให้บรรดาพระธรรมทูตทั่วโลกผิดหวัง

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
18 มกราคม 255
8

 

 

 

E-Mail To BK.

peesang2555@hotmail.com

ALITTLEBUDDH.COM HOMEPAGE WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. (702) 384-2264