|
||||||
|
||||||
3 ปี ธุดงค์ธรรมชัย บุญคุณที่ต้องตอบแทนของธัมมชโย
จากการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้ร่วมกันแถลงข่าว การมอบรางวัลผู้นำพุทธโลก (World Buddhist Outstanding Leader Award) ให้แก่บุคคลและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณ ต่อคุณูปการที่ได้บำเพ็ญในบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่พุทธมณฑล โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะเดินทางมาเป็นประธานมอบ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ก็เกิดข้อสงสัยต่อสาธารณชนว่า รางวัลนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร รวมทั้งมีกำหนดกฎเกณฑ์ในการมอบอย่างไร หรือมีใครบ้างที่เป็นคณะกรรมการคัดสรรผู้มีคุณสมบัติดีเด่นในทางพระพุทธศาสนา และลงมติว่า "สมควรได้รับรางวัลระดับโลก" ที่ว่านี้ โดยเริ่มต้นนั้น ทางผู้แถลงข่าวได้อ้างถึงองค์กร 2 องค์กร ได้แก่ 1. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 2. องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ใช้นามย่อว่า (ย.พ.ส.ล.) โดยทาง ย.พ.ส.ล. มี นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การฯ มาร่วมงานแถลงข่าว ส่วนทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีนายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นตัวแทนของ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักพุทธฯ เพื่อร่วมแถลงข่าวด้วย สำหรับบุคคลที่ได้รับการประกาศนาม เพื่อเข้ารับรางวัลนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 178 รางวัล โดยแบ่งออกเป็นในประเทศไทยและต่างประเทศ มีทั้งพระภิกษุฝ่ายเถรวาทและมหายาน แม่ชี องค์กรการกุศล บุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา แยกออกเป็นส่วนบุคคล ดารา นักร้อง นักแสดง รวมทั้งสื่อสารมวลชน ซึ่งยังแยกออกเป็นประเภทบุคคลและองค์กรอีกด้วย ในการแถลงข่าวนั้น ทางผู้ดำเนินการได้เปิดเผยรายชื่อบุคคลสำคัญเพียงไม่กี่ชื่อ ถึงกระนั้นก็สร้างความสนใจให้แก่สาธารณชนได้ไม่น้อย อาทิ ท่านติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระมหายาน และมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ท่านธัมมชโย หรือพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นพระที่มีบารมีมากมาย และมีเรื่องราวพิลึกพิลั่นให้ผู้คนเล่าขานไม่จบสิ้น รวมทั้ง นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักพุทธฯ ก็มีชื่อเป็นผู้ได้รับรางวัลในการแถลงข่าวด้วย
โครงการธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ.2555
ต่อมา อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ได้บัญชีรายชื่อของผู้ที่ได้รับการเลือกสรรให้เข้ารับรางวัลมาทั้งหมด จำนวน 178 ท่านด้วยกัน และเมื่อสำรวจดูแล้วก็ต้องแปลกใจ เมื่อพบว่า 1. มีพระภิกษุวัดพระธรรมกาย และญาติธรรม รวมทั้งบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและต่างประเทศ มีชื่อเข้ารับรางวัลอย่างมากมาย ไม่น้อยกว่า 40-50 ชื่อ หรือบางทีอาจจะถึง 100 ชื่อด้วยซ้ำไป 2. องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกนั้น มีชื่อปรากฏเป็น "ภาคี" ของวัดพระธรรมกาย ในการจัดกิจกรรมของวัดนี้อย่างต่อเนื่องมาหลายปี 3. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นภาคีในการจัดพิธีมอบรางวัลในครั้งนี้ ก็มีชื่อเป็น "ภาคี" ของวัดพระธรรมกายมาหลายงาน แม้ว่าโดยกฎหมายแล้ว สำนักพุทธฯจะมีฐานะเป็น "เลขาธิการ" ของมหาเถรสมาคม ก็ตาม 4. มีหน่วยงานอื่นเข้ามาแทรกเป็นยาดำในบัญชีผู้ที่ได้รับรางวัล อีก 3 หน่วยงาน นั่นคือ 4.1 ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ 4.2 ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย 4.3 สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ ซึ่งข้อที่ 4.1 และ 4.3 นั้น เป็นหน่วยงานที่เนื่องกับวัดพระธรรมกาย เพราะวัดปากน้ำเป็นบ่อเกิดของวิชชาธรรมกาย โดยหลวงพ่อสด ทั้งพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ก็ได้รับการอุปสมบทที่วัดปากน้ำ ก่อนจะออกไปตั้งวัดพระธรรมกายที่จังหวัดปทุมธานี ส่วนสหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาตินั้นก็เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยบุคคลากรของวัดพระธรรมกาย โดยการตั้งชื่อให้หลากหลาย ทำนองแยกบริษัทลูกออกไปให้เยอะเท่าที่จะทำได้ เมื่อตั้งได้แล้วก็เอาชื่อมาใช้เป็นองค์กรสนับสนุน หรือร่วมมือ ในการทำงานของวัดพระธรรมกาย ซึ่งก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่มิได้รับเลือกให้เข้ารับรางวัลทีว่านี้ แต่ในปีต่อไป ถ้ายังมีการมอบรางวัลอีก ก็ต้องได้เห็นองค์กรเหล่านั้นผลัดกันเข้ามารับรางวัลอย่างทั่วหน้า ดังนั้น องค์กรเหล่านี้เราจะตัดทิ้งไป เพราะมองยังไงก็ "ธรรมกาย" อยู่วันยังค่ำ โดยสรุป ณ เบื้องต้น เท่าที่เห็น ก็กล่าวได้เลยว่า รางวัลผู้นำพุทธโลก ที่ก่อตั้งในครั้งนี้ เป็นรางวัลของ "วัดพระธรรมกาย-เพื่อชาวธรรมกาย" อย่างแท้จริง ส่วนสำนักพุทธฯ หรือองค์กรอื่นใด ล้วนแต่เป็น "ภาคี" คือผู้เข้าร่วมงานกับวัดพระธรรมกายเท่านั้น ดังงานอื่นๆ ในอดีตที่วัดพระธรรมกายจัด อาทิเช่น งานตักบาตพระแสนรูป งานเดินธุดงค์ธรรมชัย เป็นต้น ซึ่งแต่ละงานนั้นมีการอ้างเอาองค์กรมากมายมาเป็นภาคี แต่พอถึงเวลาจัดงาน ทุกอย่างกลายเป็นของธรรมกายหมด แม้แต่ผลงานก็ถูกธรรมกายฮุบไปสิ้น หน่วยงานอื่นๆ เหมือนแขกมาร่วมงานหรือไม้ประดับ กินอิ่มแล้วก็กลับ เท่านั้นเอง ที่เรากล่าวเช่นนี้ เพราะเห็นว่า มีพระภิกษุ องค์กร และญาติธรรม ของวัดพระธรรมกาย ทั้งภายในและต่างประเทศ มีชื่อเข้ารับรางวัลนี้อย่างมากมาย แน่นอนว่าต้องผิดสังเกต โดยจะนำเสนอต่อไปนี้
ธุดงค์ธรรมชัย ได้รับรางวัล "เดินบนกลีบดอกไม้ยาวที่สุดในโลก"
จาก..เดินบนกลีบดอกไม้ยาวที่สุดในโลก ถึง..รางวัลผู้นำพุทธโลก การล่ารางวัลจนหลุดโลกของธรรมกาย
ก็คงไม่ผิดนักที่จะเท้าความกันอย่างนี้ เพราะเมื่อมีการจัดกิจกรรมเดินธุดงค์ขึ้นมาในต้นปี 2555 นั้น ทางธรรมกายถือว่าประสบผลสำเร็จ คือมีแต่คนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่มีใครขัดขวางจนล้มเหลว ส่งผลให้วัดพระธรรมกายจัดโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 2-3 ฯลฯ และยังขยายเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ออกไปอีกเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีรางวัลตอบแทนบุญคุณผู้มีอุปการคุณ ทางธรรมกายจึงคิดสร้างรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ใบนี้ขึ้นมา แต่เพื่อให้มันเนียน ก็ไม่กล้าออกหน้าเอง แต่ได้ชงลูกให้แก่องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นตัวเดินเกม และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นฐานปฏิบัติการ โดยจะมีการมอบรางวัลให้ที่พุทธมณฑล อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบัน ส่วนองค์กรอื่นๆ หรือบุคคลเด่นดังอื่นใดที่ได้รับรางวัลด้วยนั้น ก็เป็นเพียง "ตัวหลอก" เพื่อให้งานนี้กลมกลืนแบบที่เรียกว่า "ตบตา" ได้เนียน เพราะเห็นออกข่าวมาหลายวันแล้ว สังคมไทย (โดยสื่อมวลชนทุกแขนง) ทำได้แค่ "อื้อหือ-โอ้โห" ฮือฮาเสนอข่าวออกไปไม่กี่เวลาก็เงียบ แต่จะมีใครสนใจเข้าไปดูเนื้อในของโครงการนี้อย่างละเอียดนั้นแทบหามีไม่
นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ย.พ.ส.ล.)
ที่กล่าวว่า รางวัลผู้นำพุทธโลกเป็นของธรรมกายนั้น ก็ด้วยเหตุผลว่า ตัว นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธาน ย.พ.ส.ล.นั้น ก็หาใช่คนอื่นไกลไหนไม่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ สาวกของวัดพระธรรมกาย ที่เรียกว่า กัลยาณมิตร เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมของวัดพระธรรมกายอย่างแข็งขัน ทำให้มองได้ว่า องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ก็คือองค์กรลูก ของวัดพระธรรมกายอีกแห่งหนึ่งนั่นเอง ดังนั้น ถึงจะไม่ออกชื่อ "ธรรมกาย" ว่าเป็นโต้โผในการจัดงานครั้งนี้ แต่เมื่อเห็นหน้าผู้จัด รวมทั้งผู้ที่เข้ารับรางวัลแล้ว มองไปทางไหนก็เห็นมีแต่ "ธรรมกาย" และ "ธรรมกาย" เป็นหลัก จริงหรือไม่ก็ขอให้ดูกันต่อไป
เราเริ่มกันที่ "ผู้มอบรางวัล"
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้รับการอาราธนาไปเป็นองค์ประทานรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ให้แก่ผู้ได้รับการคัดสรร ณ พุทธมณฑล ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 แม้จะมองด้วยใจที่มีอคติ คือเคารพนับถือหลวงพ่อใหญ่วัดปากน้ำ ว่าเป็นผู้มีเมตตาธรรมต่อพระสงฆ์สามเณรทั่วไป ไม่จำเพาะว่าจะสังกัดวัดปากน้ำหรืออยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์หนเหนือของท่านเท่านั้น คือเชื่อว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่เหนือเรื่องส่วนตัวเหล่านี้แล้ว แต่สถานภาพ "พ่อ-ลูก" ผูกพันระหว่างหลวงพ่อวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายยังไงก็ตัดกันไม่ขาด เพราะขนาดคนไกลท่านยังรักยังเมตตา แล้วนี่ลูกในไส้จะให้ท่านใจร้ายไส้ระกำทิ้งได้ลงคอเชียวหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "โครงการธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 1" นั้น มีจุดหมายเพื่อ "นำเอารูปหล่อหลวงพ่อสด ทองคำ หนักถึง 1 ตัน ไปถวายไว้ในพระเจดีย์วัดปากน้ำ" จึงจะจบโครงการ ดังนั้น เมื่อบุคคลที่เข้ารับรางวัลผู้นำพุทธโลกมากมายหลายท่าน ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการของวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ โครงการธุดงค์ธรรมชัย ก็ทำให้ไม่สามารถจะตัดหลวงพ่อใหญ่วัดปากน้ำออกไปเสียจากประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง นี่ขนาดว่าเอนเอียง ไม่มองหลวงพ่อว่าเป็นผู้หนุนธรรมกายแล้วนา ดังนั้น จึงมีคำถามตามมาว่า เหตุใดจึงเจาะจงนิมนต์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไปเป็นประธานมอบรางวัลนี้ จริงอยู่ ถึงแม้ว่าหลวงพ่อใหญ่วัดปากน้ำ จะมีความเหมาะสม และสมควรอย่างยิ่ง ที่จะเป็นผู้มอบรางวัลอันสูงสุดในทางพระศาสนาในประเทศไทย ใครได้รับก็ต้องถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรภาคภูมิใจไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่กระนั้น สายสัมพันธ์ระหว่าง "วัดปากน้ำ" กับ "วัดพระธรรมกาย" ก็ไม่สามารถจะมองให้เห็นเป็นอื่นใดไปได้ นอกจากจะเป็นรางวัล "โดยธรรมกาย-เพื่อธรรมกาย" เพราะวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายคือวัดเดียวกันโดยพฤตินัย หลวงพ่อใหญ่เคยกล่าวยืนยันเอาไว้แล้ว
ต่อไปก็มาถึง "ผู้รับมอบรางวัล"
นัมเบอร์วันของงานนี้ ต้องยกให้แก่ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้มีบารมีเหนือกว่าพระสงฆ์ไทยทั้งประเทศในปัจจุบัน ที่กล้ากล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่า ขนาดว่า กรรมการมหาเถรสมาคม นับตั้งแต่สมเด็จพระราชาคณะ ลงไปจนถึงพระเณรหัวขี้กลาก ต่างก็ต้องยกย่อง "หลวงพ่อธัมมชโย" ว่าเป็นผู้มีอำนาจวาสนาบารมี "ไม่มีใครในประเทศไทยจะเทียมได้" หรือต่อให้เอาพระสงฆ์ไทยทั้งโลกมาเทียบก็สู้ไม่ได้อีก เพราะในปัจจุบัน วัดพระธรรมกายมีสาขาในต่างประเทศมากว่าวัดใดๆ ในหล้า แม้แต่วัดปากน้ำเองก็ยังมีน้อยกว่า นี่คือเรื่องจริง ดังนั้น นัมเบอร์วันของรางวัลนี้ จึงโฟกัสไปที่ หลวงพ่อธัมมชโย ว่านี่คือตัวจริงเสียงจริง แต่ว่าท่านคงไม่มีเวลาไปรับรางวัลนี้หรอก ขนาดพัดยศ "พระเทพญาณมหามุนี" ที่พระสงฆ์ไทยต่างขวนขวายเข้าวังไปรับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านธัมมชโยก็ยัง "ไม่ว่าง" จะไปรับ อ้างว่า "ป่วยคืนเดียว" พอตกรุ่งขึ้นก็สลัดไข้เดินปร๋อ จัดมณฑลพิธีรับพัดในสภาธรรมกายสากลอย่างอลังการงานสร้าง กระชุ่มกระชวย ไม่เหลือเชื้อไข้ให้เห็นแม้แต่ขี้มูก สงสัยท่านมียาสั่งหรือยาวิเศษ จึงหายไวเหมือนเป็นไข้การเมืองงั้นแหละ พระเทพญาณมหามุนี มีชื่ออยู่ในอันดับที่ 22 ของผู้รับรางวัล อันนี้ท่านจัดตามลำดับของ "สมณศักดิ์" แต่ถ้าจะจัดกันตามความสำคัญจริงๆ แล้ว ชื่อของท่านธัมมชโยต้อง "น้มเบอร์วัน" ฟันธง !
นัมเบอร์ 2 ไม่ต้องดูไกล หลวงพ่อทัตตชีโว เดินตามหลังท่านธัมมชโยมาติดๆ ก็เป็นอันรู้กันมานานกาเลแล้วว่า หลวงพ่อธัมมชโยนั้น ท่านชอบอยู่เงียบๆ ไม่ชอบงานสังคม นอกจากการพูดคุยมีความสุขอยู่กับเด็กๆ โรงเรียนอนุบาลในฝันทางดาวธรรมเท่านั้น ดังนั้น งานหลวงงานราษฎร์ประดามี จึงโอนไปไว้ที่ "หลวงพ่อทัตตชีโว" หมดทั้งวัด ต้องเดินสายทั้งในและต่างประเทศ เหน็ดเหนื่อยไม่ต้องพูดถึง วัดพระธรรมกายนั้นมิใช่แค่วัดใหญ่และใหญ่เท่านั้น หากแต่เป็นระดับที่ต้องเรียกว่า "อาณาจักร" หากขาดหลวงพ่อทัตตชีโวไปคน ก็รับรองว่ามาไม่ถึงวันนี้แน่นอน ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงความกว้างขวางแล้ว ในประเทศไทยเรานี้ to be number #1 ก็ต้องยกให้แก่ พระราชภาวนาจารย์ (เผด็จ ทตฺตชีโว) แต่ถึงกระนั้น การที่มีชื่อหลวงพ่อทัตตชีโวรับรางวัลผู้นำพุทธโลกร่วมกับหลวงพ่อธัมมชโยด้วย ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องประหลาด เพราะรองเจ้าอาวาสไปรับรางวัลระดับเดียวกับเจ้าอาวาส จึงไม่ทราบสมการหรือหลักการของการมอบรางวัลนี้ว่า ใช้ตรรกะอะไร ? หรือว่ารางวัลที่ว่านี้เป็น "รางวัลฟุตบอลโลก" ที่เล่นกันเป็นทีม ได้เท่ากันทุกคน แม้แต่กองเชียร์ ?
นัมเบอร์ 3 ก็ยังหนีไม่พ้นอาณาจักรธรรมกาย ได้แก่ ดร.พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หน้าตาคมเข้ม วาจาคมคาย พูดจาเนื้อหาออกทางวิชาการ เดินขึ้นมายืนแป้น "อันดับสาม" ในอาณาจักรธรรมกาย แทนอดีตพระเมตตานันโท ซึ่งวอล์คเอาท์ออกจากอาณาจักรไป ตามภาษิตจีนที่ว่า "ถ้าเตี่ยไม่ตาย เสี่ยก็ไม่โต" พระมหาสมชายนั้น รู้สึกว่าจะเอาดีทางเป็นดาราหน้าจอ คือออกทีวีทางดาวธรรมเป็นว่าเล่น จะว่าเป็น "ดารา" ของค่ายธรรมกายก็คงว่าได้ แม้ว่าจะมีพระหนุ่มเณรน้อยอื่นๆ ผลัดกันออกฉากก็ตาม แต่บทบาทดารารุ่นใหญ่ก็ยังถูกพระมหาสมชายยึดครองแบบไร้คู่แข่ง แต่การทำงานของท่านสมชายนั้นอะไรก็คงไม่หนักหรือเครียดเท่ากับ "การรักษาระยะห่างกับเจ้านาย" เพราะอย่าลืมภาษิตไทยที่ว่า "ทิฐิพระ มานะกษัตริย์" นั้นแรงแค่ไหน แค่คำแนะนำให้รักษาครอบครัวของญาติโยมเอาไว้ไม่ให้ล่ม แลกกับการได้ปัจจัยมาสร้างวัดอย่างอลังการ เหมือนภมรค่อยๆ เคล้าเกษรดอกไม้ แค่นี้ก็ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างท่านธัมมชโยกับเมตตานันโทขาดผึง ถึงกับ "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" กันไปเลย อีกรูปหนึ่งก็คือ พระมหาสุวิทย์ วิชฺเชสโก มหาประโยค 9 รูปแรก และอาจารย์ใหญ่บาลีองค์แรกของวัดพระธรรมกาย ก็หายไปกับสายลม เห็นมีชื่อสังกัด "วัดโพธิญาณ ลาสเวกัส" ของพระมหาไมย์ คุณากโร แต่ก็ไม่เห็นตัวและไม่มีบทบาทอะไร พระมหาสุวิทย์จึงเป็น "เมตตานันโท-2" ที่ต้องออกจากสังกัดวัดพระธรรมกาย ทั้งๆ ที่มาก่อนหน้าพระมหาสมชายด้วยซ้ำไป พูดได้เลยว่า ถ้าพระมหาสุวิทย์ไม่ไป พระมหาสมชายก็คงไม่ได้มา ดังนั้นก็ใจเย็นๆ นะท่านสมชายนะ อย่าล้ำหน้าเป็นอันขาด ไม่งั้นจะหัวขาด
นัมเบอร์ 4 พระธรรมกิตติวงศ์ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาวัดพระธรรมกาย และพระอุปัชฌาย์ของเหล่าธรรมทายาท ก็คงไม่ต้องอารัมภบทมากสำหรับชื่อนี้ พระธรรมกิตติวงศ์นั้นถ้าเป็นนักมวยก็ต้องเรียกว่า "ครบเครื่อง" คือได้ทั้งบู๊ทั้งบุ๋น ความคิดเป็นเลิศ แถมใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย รักใครรักจริง ด้วยอุปนิสัยดังว่ามานี้ ทำให้ท่านต้องถูกดองไว้ ไม่ได้เลื่อนสมณศักดิ์มานานกว่า 20 ปี ปีหน้า ถ้าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้เป็นสังฆราช พระธรรมกิตติวงศ์ก็อาจจะผงาดอีกครั้ง ตามตำรา "ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน" และ "เกิดเป็นชายอย่าหมิ่นชาย" ขณะพระธุดงค์ธรรมชัยกำลังเดินเหยียบกลีบกุหลายมุ่งหน้าเข้ากรุง ในต้นเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมานั้น กระแสสังคมก็สับสนปนเป บ้างว่าเป็นการเดินธุดงค์ที่วิปริตผิดพระธรรมวินัย บ้างก็ว่าเป็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น เห็นแล้วก็เป็นงงว่าใช่หรือไม่ พระธุดงค์ทำไมไม่เข้าป่า มาทำอะไรในเมือง บ้างก็ปลื้มใจน้ำตาไหลพราก ฯลฯ ถ้าเป็นสงครามก็โรมรันพันตูกันไม่รู้ใครเป็นใคร ณ นาทีนั้น พระธรรมกิตติวงศ์ ก็อาสาเป็นแม่ทัพหน้า ขึ้นเวทีที่สนามกีฬาเทพหัสดิน ในตอนหัวค่ำวันที่ 6 เมษายน 2555 เพื่อนำขบวนพระธุดงค์ฝ่ากระแสชาวกรุงมุ่งไปให้ถึง "วัดปากน้ำ" ตามเป้าหมายและกำหนดการไม่งั้นพังกันทั้งขบวน ส่วนท่านอธิบายว่าอย่างไรนั้น ผู้เขียนก็บรรยายไปหมดแล้ว พระธรรมกิตติวงศ์ลงจากเวทีไปในคืนนั้น ทิ้งถ้อยคำเอาไว้ในประวัติศาสตร์ จะดี จะชั่ว จะขาว หรือจะกระดำกระด่างอย่างไรก็ตามแต่ แต่ถ้ามองในมุมของคนทำงานแล้ว ก็ย่อมเห็นว่า "พระธรรมกิตติวงศ์ได้ทุ่มสุดตัวแล้ว ทำดีที่สุดแล้ว เพื่อธรรมกาย" ใครจะมองเห็นความเสียสละในภาวะวิกฤตของ "พระธรรมกิตติวงศ์" ที่มีให้แก่ธรรมกายในชั่วโมงนั้นบ้าง ? วีรกรรมของพระธรรมกิตติวงศ์ในคืนนั้น เทียบได้กับการ "คาบดาบพาดพะองปีนหน้าค่าย" ของสมเด็จพระนเรศวรโน่นเชียว เพราะเสี่ยงตายถวายชีวิต เป็นความสามารถพิเศษที่ห้ามลอกเลียนเป็นอันขาด น่าประหลาดว่า พระธรรมกิตติวงศ์ยังคงอยู่ในสังคมสงฆ์ไทยได้อย่างเป็นปรกติ ถ้าเป็น "มหานรินทร์" พูดแบบนั้นบ้าง คงโดนกระทืบจมธรณีไปแล้ว วันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า "ธัมมชโยก็จริงใจไม่แพ้กัน" เพราะมิได้ทิ้งเพื่อนเมื่อถึงคราวกิน ในงานตักบาตรพระล้านรูปที่ปิดกรุงเทพมหานครในเดือนมีนาคม 2555 นั้น มีเวทียักษ์ตั้ง 6 แห่ง แต่พระธรรมกิตติวงศ์ได้รับตำแหน่ง "สูงสุด" ที่ประตูน้ำ-ราชประสงค์ สูงกว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่ได้เยาวราชไป มาวันนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ก็ยังมีชื่อเป็นผู้เข้ารับรางวัลผู้นำพุทธโลก ถึงจะไม่รู้ว่าโลกไหน แต่ก็เชื่อใจได้ว่า "ธัมมชโยไม่ทิ้งเพื่อน" ฟังแล้วก็ชื่นใจ จัดอีกซักกี่งานผู้คนก็ล้นขบวน เพราะท่านธัมมชโยนั้น พูดจริง ทำจริง และจ่ายจริง ขอเพียงจริงใจ ไม่จิงโจ้ ไม่งั้นไม่โตมาจนป่านนี้หรอกจะบอกให้
นัมเบอร์ 5 พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ผู้มีบารมีรูปใหม่ในวงการสงฆ์ไทย ความจริงจะให้อยู่นัมเบอร์ 4 แล้ว แต่สายสัมพันธ์อันแนบแน่นระดับ "ตายแทนกันได้" ระหว่างท่านธัมมชโยกับพระธรรมกิตติวงศ์มากั้นไว้ ส่งผลให้พระพรหมเวทีต้องมาอยู่ในอันดับนี้ อันดับที่เรียกว่า "ก้าวกระโดด" เพราะมิใช่จะได้กันง่ายๆ ถ้ามิใช่ "เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก" อันใหญ่บะเริ่มเทิ่ม จนท่านธัมมชโยต้องเกรงใจ ถามว่า ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกนั้นสำคัญไฉน ? ก็ต้องตอบว่า สำคัญสูงสุดในประเทศไทยเลยเชียวล่ะ เพราะคุมอำนาจการปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยไว้ได้ทั้งหมด นับจำนวนประชากรแล้วมากกว่าทุกภาค ดังนั้น หลวงพ่อใหญ่วัดไตรมิตรจึงมีฐานคะแนนสูงสุดในบรรดาคณะสงฆ์ไทยสมัยปัจจุบัน มองโดยภาพรวม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ทำให้สายธรรมกายเข้าไปสร้างงานเผยแผ่ได้ง่าย เพราะเป็นสายเดียวกัน ส่วนสายใต้นั้นก็มีหลวงพ่อสงัด (พระพรหมจริยาจารย์) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นสายวัดปากน้ำ คุมอำนาจอีก ก็ทำให้ธรรมกายลงไปสร้างงานทางใต้ได้ง่าย เหลือเพียง 2 ภาค คือภาคกลางกับภาคตะวันออก (อีสาน) ภาคกลางนั้น เดิมเป็นฐานอำนาจของ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม ซึ่งไม่เอากับธรรมกาย ส่งผลให้ฐานภาคกลางของวัดพระธรรมกายค่อนข้างแคบ ท่านธัมมชโยโดนคดีเท่ากับถูกดองมาสิบกว่าปี ถ้าสมเด็จวัดชนะยังไม่เสีย ก็ไม่รู้ว่าเสี่ยจะโตได้หรือเปล่า ถึงปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางผ่องถ่ายให้แก่ "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์" วัดพิชัยญาติ ซึ่งก็ต้องรักษาอุดมการณ์ครูบาอาจารย์เอาไว้ ไม่งั้นเสียคน แถมตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ก็ยกให้แก่ "มหาสายชล" ซึ่งเป็น "หลาน" ของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เรียกว่ากันไว้สองชั้น แต่ความจริงก็คือชั้นเดียวนั่นแหละ เพราะคนที่คุมอำนาจตัวจริงก็คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ส่วนมหาสายชลนั้นมองยังไงก็ไม่ต่างไปจาก "นอมินี-ร่างทรง" ของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เพราะจะทำอะไรก็ไม่กล้า กล้าอย่างเดียวคือ "เอาตำแหน่ง" แบบนี้เขาไม่เรียกว่ากล้า แต่เรียกว่า "หน้าด้าน" มากกว่า
กล่าวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ก่อนหน้านั้น "สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)" วัดสระเกศ ครองอำนาจอยู่ ซึ่งสมเด็จเกี่ยวนั้นมีบารมีเหนือกว่าสมเด็จวัดชนะกับสมเด็จวัดปากน้ำ เพราะว่าอายุอ่อนกว่าเพื่อน แต่มีอำนาจมากกว่าผู้อาวุโสทั้งสองรูป แน่ไม่แน่ก็ดูเอาเถิด ทีนี้ว่า ขนาดสองสมเด็จยังเกรงบารมีของสมเด็จวัดสระเกศ แล้วธัมมชโยจะไม่เกรงใจได้อย่างไร ฐานเสียงทางภาคอีสานของธรรมกายในยุคก่อนจึงค่อนข้างแคบ แม้ว่าจะได้พระเณรอีสานมาปั้นเป็นบัณฑิตนับร้อยๆ รูปก็ตาม
ครั้นสมเด็จเกี่ยวเสียไปเมื่อปีกลาย อำนาจตกมาอยู่กับ พระพรหมเวที วัดไตรมิตร ส่งผลให้เส้นทางไปอีสานของธรรมกาย "โล่งโจ้ง" ขึ้นมาในทันที นึกภาพในมุมกลับ ถ้าสมเด็จเกี่ยวยังไม่เสีย รางวัลผู้นำพุทธโลกก็อาจจะไปกองอยู่ที่กุฏิเจ้าคุณเสนาะทีละ 5 ใบก็เป็นได้ แต่เวลานี้ไม่มีสมเด็จเกี่ยวแล้ว แม้แต่รางวัลปลอบใจก็ไม่มีให้แก่พระวัดสระเกศแม้แต่ใบเดียว เป็นอนิจจังของสังขาร ว่าถ้าเอาแต่อำนาจ ไม่มีความชอบธรรม และไม่สร้างงานหรือผลงานในเมื่อมีโอกาส ครั้นโอกาสหลุดลอยไปก็กล่าวได้แต่เพียงว่า "เสียดาย" ที่ยกมาทั้งนี้ เพราะมีข้อเปรียบเทียบว่า ทางวัดสระเกศได้ประกาศเชิดชูเกียรติคุณ "เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์-เกี่ยว อุปเสโณ" อดีตเจ้าอาวาส ว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้บุกเบิกกิจการพระธรรมทูตสายต่างประเทศ แทบจะเรียกว่ามีบทบาทดีเด่นไม่แพ้ "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช" วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งทางโน้นก็อ้างว่า "มีบทบาทสำคัญในด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ" เช่นกัน มันชิงดีชิงเด่นกันอยู่อย่างนี้ และในปัจจุบันนี้ พระพรหมสุธี หรือท่านเจ้าคุณเสนาะ ก็ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศอยู่อีกด้วย คือบรรดาพระสงฆ์ไทยที่จะไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ ต้องผ่านการอนุมัติของท่านเจ้าคุณเสนาะ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ถ้าจะไป) หมายถึงว่า เจ้าคุณเสนาะเป็นผู้บังคับบัญชาในสายต่างประเทศของมหานิกายในทุกระดับ แต่กลับปรากฏว่า ไม่มีการมอบรางวัลระดับโลกให้เจ้าคุณเสนาะแม้แต่ครึ่งใบ ทำแบบนี้มันหมายความว่าอย่างไร ? ผู้เขียนไม่ขอตอบ เพราะอยากให้ท่านธัมมชโยกับท่านเจ้าคุณเสนาะร่วมกันหาคำตอบเองจะเหมาะสมกว่า
วันธรรมชัย (22 กันยายน 2556) ท่านธัมมชโย ได้กราบอาราธนานิมนต์ พระเดชพระคุณพระพรหมเวที ไปรับการฉลองตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก" ที่สภาธรรมกายสากล แม้ว่าวัดพระธรรมกายจะอยู่ใน "หนกลาง" ก็ตาม มิได้เกี่ยวข้องดองญาติกับหนตะวันออกเลย แต่ก็มีความปีติยินดีที่หลวงพ่อใหญ่วัดไตรมิตรได้เป็นใหญ่เป็นโต สายสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายกับวัดไตรมิตรวันนี้ ต่อให้เอาเลื่อยไฟฟ้ามาตัดก็ไม่มีทางขาด และคอยดูต่อไปนะ อีกไม่เกิน 10 ปีต่อนี้ไป สาขาวัดพระธรรมกายสายอีสานจะผุดเป็นดอกเห็ด ทั้งนี้เพราะมีเชื้อเห็ดอยู่แล้ว เป็นพระเณรลูกหลานเหลนของชาวอีสานที่นำมาเลี้ยงเป็นธรรมทายาท จบเปรียญและปริญญาสูงๆ กำลังจะตั้งทัพกลับไปยึดภาคอีสานให้เป็นดินแดนธรรมกาย ส่วนหนองหาน-สกลนครนั้น เรื่องจิ๊บจ๊อย ได้ยินเสียงใครแถวๆ คลองสามคำรามว่า "จะเอาเมื่อไหร่ก็ได้" อ้อ รางวัลนั้น ถ้าเป็นคนโนเนม ไม่เคยมีผลงานหรือไม่มีตำแหน่งแห่งหน เขาก็จะต้องทดสอบใช้งานจนปรากฏผลงานอย่างชัดเจน ถึงค่อยให้รางวัล แต่สำหรับผู้หลักมักใหญ่ มีอำนาจวาสนายศถาบรรดาศักดิ์แล้ว ท่านว่า คนระดับนี้ต้องปูนบำเหน็จก่อนจึงจะได้ใจท่าน ดังนั้น การที่ท่านธัมมชโยเล่นบทอ้อน นิมนต์ "พระพรหมเวที" ไปฉลองตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก" ถึงในสภาธรรมกายสากล ก็นับเนื่องในข้อท้ายนั้นเอง ส่วนรางวัลผู้นำพุทธโลกนั้นถือว่าเป็นการให้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่า ตราบใดที่ยังเป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก บำเหน็จจากธรรมกายก็คงส่งไปถวายวัดไตรมิตรไม่ขาดสาย และต้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะปลาตัวใหญ่ก็ต้องกินเหยื่อชิ้นใหญ่ หลวงพ่อสดทองคำหนัก 1 ต้น ที่ขบวนพระธุดงค์ธรรมชัยนำไปถวายวัดปากน้ำนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด รางวัลผู้นำพุทธโลก ที่มอบให้แก่ "พระพรหมเวที" ในวันนี้ ตอบได้คำเดียวว่า "มิใช่รางวัลเชิดชูผลงาน" หากแต่เป็น "รางวัลซื้อใจ" เพราะพระพรหมเวทีเป็นผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ ถึงจะยังไม่ปรากฏผลงานก็ไม่เป็นไร เอารางวัลไปก่อน ส่วนผลงานนั้น ตราบใดที่ยังอยู่ในอำนาจ ก็สร้างไม่ยากหรอกครับ เชื่อครูไม่ใหญ่เถิด มันเหมือนคนมีเครดิตน่ะ ถึงไม่มีเงินสด แต่จะซื้ออะไรก็ไม่ใช่ปัญหา ดูให้ไกลต่อไปสิว่า ปีหน้าพระพรหมเวทีก็จะได้เป็น "สมเด็จ" แล้ว เครดิตนับพันล้านระดับนี้ จะชี้นิ้วเอาทั้งร้านก็ยังได้ !
นัมเบอร์ 6 พระพรหมดิลก หรือเจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยา ผู้ยังคงเส้นคงวากับธรรมกาย ก็เรียกได้ว่า ไม่ผิดหวัง เพราะท่านธัมมชโยยังไม่ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่หรืองานเล็ก เป็นต้องมีพระพรหมดิลกร่วมขบวนด้วยทุกครั้ง ในฐานะที่ยอมลดตัวเองลงมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ธรรมกายในหลายโครงการ แถมยังออดอ้อนได้ถึงอกถึงใจว่า "พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี" กลอนสดน้ำตาลสดแบบนี้ ท่านเจ้าคุณเอื้อน ก็เอื้อนลูกคอให้ได้ยินจนดังไปทั้งโลก ดังนั้น การได้รับรางวัลผู้นำพุทธโลกของธรรมกาย จึงไม่เกินความคาดหมาย เพราะอย่าลืมว่าเจ้าคุณเอื้อนท่านเป็นทั้งเจ้าคณะ กทม. คุมพื้นที่อันเป็นโซนเมืองหลวงของประเทศไทย แถมยังมีตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมสูงส่งอีกต่างหาก ยศถาบรรดาศักดิ์หรือก็ระดับ "รองสมเด็จ" วัดสามพระยาเองก็เป็นทั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทย เปิดสอนเปรียญธรรม 7-8-9 เพียงแห่งเดียว นอกนั้นยังเปิดศาลาอบรมสงฆ์ให้เป็นที่อบรมพระอุปัชฌาย์ และงานอื่นอีกสารพัดงาน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์การประชุมของพระสงฆ์ไทย นึกอะไรไม่ออกก็บอกท่านเจ้าคุณเอื้อน เมื่อมีทั้งอำนาจครองกรุงเทพมหานคร มีทั้งพื้นที่ให้ใช้สอย แถมยังเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยสงฆ์ภาคบาลีอีกต่างหาก บทบาทของเจ้าคุณเอื้อนจึงมองข้ามไปไม่ได้เลย ใครได้เจ้าคุณเอื้อนไปเป็นเพื่อนหรือพรรคพวกก็ต้องถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ดังนั้น จึงต้องมอบรางวัลกันลืม
นัมเบอร์ 7 พระธรรมปิฎก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี ผู้ยอมพลีชีพเพื่อธรรมกาย ที่ว่ายอมพลีชีพนั้น เพราะท่านเจ้าคุณชวลิตยอมตระบัดสัตย์เพื่อธรรมกาย โดยเมื่อมีข่าวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 ว่า งานตักบาตรดอกไม้ที่จัดในจังหวัดสระบุรีนั้น มีธรรมกายเป็นแม่งาน และเป็นผลงานของธรรมกาย ถ้าไม่มีธรรมกาย ก็ไม่มีใครจัดได้ ดังนี้ ตอนนั้น พระธรรมปิฎก ท่านได้ให้เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี ออกหนังสือชี้แจงถึงหนังสือพิมพ์มติชนว่า "งานตักบาตรดอกไม้ไม่เกี่ยวกับธรรมกายเลย" โดยทางสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสระบุรีได้แสดงรายนามองค์กรที่ร่วมกันจัดตักบาตรดอกไม้ว่าได้แก่
1. คณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี เมื่อระดับพระธรรมปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นพระน้ำดีแถมมียศสูงส่งในสมัยนั้นออกมายืนยันอย่างนี้ สังคมไทยก็ต้องเชื่อไว้ก่อนละครับ แม้ว่าภาพของพระธรรมปิฎกที่ไปนั่งเป็นประธานงานตักบาตร โดยมีพระพุทธรูปแบบธรรมกายตั้งเป็นประธานกลางเมืองสระบุรีนั้น มันดูทะแม่งๆ แบบว่าค้านสายตาคนดูทั่วประเทศก็ตาม
แต่ผู้คนก็คิดว่า ท่านเจ้าคุณชวลิตคงจะประกาศอิสรภาพ ปลดพันธนาการจากการครอบงำของธรรมกายไปในตอนนั้นแล้ว คืออดีตก็ส่วนอดีต อนาคตพระสงฆ์สระบุรีคงจะจัดกิจกรรมเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาธรรมกาย แต่ที่ไหนได้ พอเปิดโครงการธุดงค์ธรรมชัยขึ้นมาในเดือนเมษายน พ.ศ.2555 ผู้ที่แหวกม่านลิเกแบกกลดออกเดินนำหน้าคู่กับพระธรรมกิตติวงศ์นั้น หาใช่ใครอื่นใดไม่ นอกจาก "พระมหาชวลิต อภิวฑฺฒโน" หรือพระธรรมปิฎก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรีนั่นเอง เป็นการ "เสียสัตย์เพื่อธรรมกาย" อย่างแท้จริง ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุอันใดทำให้พระดีมีพร้อมทุกสิ่งสรรพ ระดับ "พระธรรมปิฎก" เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท และเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี ยินยอมพร้อมใจกระทำไปเช่นนั้น เพราะการโกหกต่อหน้าสาธารณชนนั้น ในทางธรรมถือว่าเป็นการกระทำร้ายแรงระดับอัตตวินิบาต-ฆ่าตัวเอง มีการยกเอาพระพุทธพจน์มาอ้างอิงแทบทุกครั้งว่า "คนที่พูดโกหก จะไม่ทำชั่วอย่างอื่น เป็นไม่มี" การออกเดินธุดงค์ท่ามกลางคำครหาว่า "เสียสัตย์" ของพระธรรมปิฎกนั้น มันก็ไม่ต่างไปจากการอธิบายธุดงค์ธรรมชัยของพระธรรมกิตติวงศ์ เสียทั้งภูมิอรรถ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา เสียผู้เสียคน และ "เสียพระ" ไปเลย ต่อให้เดินไปจนสุดขอบสุริยจักรวาลก็อย่าหวังว่าจะพานพบสวรรค์นิพพาน นอกจากเป็นสวรรค์นิพพานกำมะลอเท่านั้น ประทานโทษเถิดครับ ถ้าเรื่องที่เล่ามานี้ไม่จริงแล้วไซร้ ผู้เขียนก็ยอมไปกราบเท้าขอขมาอภัยถึงวัดพระพุทธบาทเลย ด้วยสัจจะลูกผู้ชายครับ แต่ก็ดังที่ว่า ท่านธัมมชโยนั้นท่านมีนิสัยนักเลง รักคนที่รักท่าน จริงจังกับคนที่จริงใจ ไม่คบใครที่ไม่ไว้ใจเต็มร้อยต่อกัน ดังนั้น เมื่อพระธรรมปิฎกยอมเสียสัตย์เพื่อธรรมกาย ธรรมกายก็กล้าที่จะปูนบำเหน็จอย่างถึงใจเช่นกัน เพราะคนระดับนี้เขาแลกกันด้วยใจ เสียดายก็เพียง รางวัลผู้นำพุทธโลกที่พระธรรมปิฎกได้ในวันนี้ น่าที่จะมีพื้นฐานมาจาก "ความมีสัจจะ" แต่กลับมาจาก "ความเสียสัตย์" เป็นรางวัลแห่งความโกหกพกลม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "รางวัลโกหกระดับโลก"
นัมเบอร์ 8 พระเทพสุวรรณโมลี (สะอิ้ง สิรินนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระดีอีกองค์ที่ถูกสังคมมองว่า "เสียหลัก" เพราะออกเดินธุดงค์ธรรมชัยร่วมคณะพระธรรมกิตติวงศ์ไม่ขาด หลวงพ่อสะอิ้งนั้นมีฐานะสำคัญ คือเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นถิ่นกำเนิดของหลวงพ่อสด ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ดังนั้น จึงต้องเกี่ยวข้องกับธรรมกายโดยตรง เพราะธรรมกายต้องการเข้าไปทำกิจกรรมในเขตจังหวัดนี้ และนี่คือมูลเหตุให้ต้องร่วมงานกัน ในอีกทางหนึ่งนั้น สังคมสงฆ์ไทยมีผู้ใหญ่คอยดูแล แม้ว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์จะมิได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง แต่ก็เป็นผู้มีบารมีในระดับประเทศที่พระสงฆ์ทั่วทั้งประเทศไทยต้องให้ความยำเกรง เมื่อเจอทั้งอำนาจ วาสนา และบารมี ปิดล้อมเข้ามาทุกทิศทางเช่นนี้ ก็มีหนทางเดียวที่จะรอดตัว นั่นก็คือ ยอมสยบ เพราะถ้าไม่ยอมสยบก็ต้อง "ยอมตาย" การยอมสยบต่ออำนาจในเมืองไทยเรานั้น นอกจากจะไม่ต้องสูญเสียแล้ว ยังมีแต่ได้กับได้ ได้ทั้งยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินศฤงคาร แล้วเรื่องอะไรจะต่อต้านให้เหนื่อย สู้เล่นบท "ตามน้ำ" ไปไม่ดีกว่าหรือ หรือบางทีแม้จะไม่เห็นด้วยในหลายจุดหลายประเด็น แต่หลายท่านก็เห็นว่า สู้ไปก็เปลืองแรงเปล่า พระศาสนาและบ้านเมืองมิใช่ของเราคนเดียว ดังนั้น ก็รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ตามคติของสุนทรภู่ไว้จะปลอดภัยกว่า มองดูแล้ว พระเทพสุวรรณโมลีเป็นพระเถระที่น่ารัก ใครว่าอย่างไรท่านก็ไม่ขัดทั้งเบื้องล่างเบื้องบน เห็นดังนั้น ท่านธัมมชโยจึงจัดให้เป็นหนึ่งในทีมงานธุดงค์ธรรมชัย และคงจะกอดรัดกันไปอีกนาน รางวัลผู้นำโลกที่มอบให้กับ "ผู้ตามธรรมกายในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์" ในครั้งนี้ จึงเป็นเครื่องการันตีถึงความจงรักภักดีต่อท่านธัมมชโยอย่างเด่นชัดที่สุด
นัมเบอร์ 9 พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะภาค 7 เป็นอีกรูปที่ "ขาดไม่ได้" ไม่ว่าจะโดยสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นตั้งแต่ท่านธัมมชโย-ท่านทัตตชีโวเดินเข้ามาสู่อาณาจักรวัดปากน้ำ จนถึงปัจจุบันก็ยังรักเสมอต้นเสมอปลาย แม้ว่าหลวงพ่อวิเชียรจะมิได้ครองอำนาจในเขตจังหวัดปทุมธานีหรือสุพรรณบุรี แต่ไปดำรงตำแหน่งปกครองภาค 7 อันมีจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ในภาคเหนือตอนบนโน้น กระนั้นก็ตาม ความที่เป็น "คนสุพรรณ" เหมือนกัน เลือดสุพรรณย่อมเข้มกว่าเลือดสายอื่น และที่สำคัญ พระวิสุทธิวงศาจารย์ยังมีแคนดิเดทเป็น "เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ" รูปต่อไป ถือว่าเป็นเบอร์สอง รองจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งตำแหน่งนี้จะเป็นผู้มีอำนาจ "ดูแลสรีระสังขารของหลวงพ่อสดที่ยังเก็บไว้ไม่ได้ฌาปนกิจ" เพราะในความเป็นจริงนั้น สายธรรมกายเขารู้ดีว่า ต่อให้หล่อรูปเหมือนหลวงพ่อสดด้วยทองคำหนักถึงล้านกิโล ก็หามีค่าเท่ากับสรีระสังขารตัวจริงของหลวงพ่อสดได้ไม่ เพราะหลวงพ่อสดคือผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย คนอื่นเป็นเพียงผู้ศึกษาและปฏิบัติตามเท่านั้น ใครมีอำนาจดูแลสรีระสังขารของ "หลวงพ่อสด" จึงเป็น "ผู้มีอำนาจสูงสุด" ในสายธรรมกายตัวจริงเสียงจริง เรื่องนี้ท่านธัมมชโยก็รู้ ดังนั้น จึงข้ามพระวิสุทธิวงศาจารย์ไปไม่ได้เป็นอันขาด ต้องปูนบำเหน็จให้ถึงขนาดระดับแม่ทัพใหญ่เลยทีเดียว
นัมเบอร์ 10 พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ชัยวัฒน์ ปญฺญาสิริ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เรื่องนี้ต้องพูดถึง "วัดพระปฐมเจดีย์" เสียก่อน ได้รับการยกย่องเป็นพระอารามหลวงเอกอุมาตั้งแต่สมัยในหลวง ร.4 เสด็จไปบูรณะให้ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาพระเจดีย์ประดามีในประเทศไทย ซึ่งเคยได้ยินตำนาน "นกเขาเหิน" ก็เพราะพระปฐมเจดีย์นี่แหละ พระปฐมเจดีย์จึงเป็นทั้งปูชนียสถานสำคัญและเป็นที่ท่องเที่ยวระดับประเทศ นำรายได้ให้วัดเป็นกอบเป็นกำ แถมยังเป็นพระอารามหลวงเอกอุ สามารถปั้นเจ้าอาวาสให้เป็นทั้งผู้มียศถาบรรดาศักดิ์และอิทธิพลทางด้านการเงิน ไม่ด้อยไปกว่าวัดโสธรวราราม-ฉะเชิงเทรา วัดพระพุทธบาท-สระบุรี วัดพระธาตุพนม-นครพนม วัดพระธาตุดอยสุเทพ-เชียงใหม่ เป็นต้น ปัจจุบันวัดพระปฐมเจดีย์มีเจ้าอาวาสนามว่า พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม ป.ธ.9) ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 15 อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ส่วนพระเทพมหาเจติยาจารย์นั้นเป็นเพียง "ผู้ช่วยเจ้าอาวาส" แต่มีอำนาจวาสนาได้เป็นถึง "เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม" นั่นแสดงว่า วัดพระปฐมเจดีย์มีอิทธิพลยิ่งใหญ่กว่าพระอารามหลวงในต่างจังหวัดทุกวัดในประเทศไทย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญก็คือว่า ในจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นเขตปกครองของท่านเจ้าคุณชัยวัฒน์นั้น เป็นที่ตั้งของอาณาจักร "พุทธมณฑล" อันเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย ซึ่งทางธรรมกายได้กำหนดให้เป็นสถานที่ประกาศเกียรติคุณ "มอบรางวัลผู้นำพุทธโลก" ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ดังนั้น การจะเข้าไปสู่ "พื้นที่อิทธิพล" ของใคร ก็ต้องรู้จักมักจี่กับเจ้าของพื้นที่เอาไว้จะปลอดภัยที่สุด พระเทพมหาเจติยาจารย์จึงมีชื่ออยู่ในบัญชีนิมนต์ของวัดพระธรรมกายในระดับ "แนวหน้า" แบบว่าให้ความสำคัญกว่า "พระธรรมปริยัติเวที" ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ด้วยซ้ำ นั่นเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เรื่องแปลกแต่จริงในวัดพระปฐมเจดีย์มาปูดออกก็ตอนประกาศรายชื่อ "ผู้รับรางวัลผู้นำพุทธโลก" ในครั้งนี้แหละ เพราะไม่มีชื่อของ "พระธรรมปริยัติเวที" แต่กลับมีชื่อของ "พระเทพมหาเจติยาจารย์" เข้ารับแทน มันก็น่าสงสัยว่า ระหว่างเจ้าอาวาสกับพระลูกวัด ใครมีผลงานมากกว่ากัน แต่นั่นก็เป็นเกมที่ท่านธัมมชโยเลือกเล่นกับพระธรรมปริยัติเวที ซึ่งคงจะมีทีท่า "แข็ง" เอากับธรรมกาย ผลก็เลยออกมาดังที่เห็น งานนี้ธัมมชโยมีแต่ได้กับได้ แต่ท่านเจ้าคุณชัยวัฒน์จะกล้ารับรางวัลผู้นำพุทธโลกหรือไม่ รับแล้วจะกลับไปฉลองที่วัดพระปฐมเจดีย์ได้หรือเปล่า ก็ต้องติดตามข่าวกันต่อไป
นัมเบอร์ 10 พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นธรรมยุตหนึ่งเดียวที่แหกคอกออกมาการันตีธรรมกาย แถมยังอุ้มเอา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม อายุร่วมร้อยปี ออกมาร่วมงานตักบาตรพระล้านรูปที่เยาวราช จึงเป็นวีรกรรมที่ท่านธัมมชโยนิยมชมชอบเป็นที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ต้องจัดให้อยู่ในอันดับนี้ เพราะการมาเพียงตัวคนเดียว แม้จะดูดี แต่เมื่อไม่สามารถพา "ธรรมยุต" วัดอื่นๆ มาด้วย เจ้าคุณจำนงค์จึงเหมือนโดดเดี่ยวในท่ามกลางดงธรรมยุต แต่ในดงธรรมกายแล้วกลับอบอุ่นยิ่งกว่าแรกรัก รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้เป็นการตีตราว่า "วัดสัมพันธวงศารามนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เป็นสาขาหนึ่งของธรรมกาย" อย่างถาวร เพราะปัจจุบัน "หลวงปู่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์" ก็แก่ชราเกินจะรับรู้การงานภายในวัดแล้ว งานและอำนาจทุกอย่างตกอยู่ที่เจ้าคุณจำนงค์หมด เจ้าคุณจำนงค์ก็คือเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามตัวจริงเสียงจริง มอบรางวัลให้เจ้าคุณจำนงค์ โดยไม่ต้องมอบให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จึงตรงตัวที่สุด เพราะท่านชื่อ "จำนงค์"
นัมเบอร์ 11 พระราชเมธี (วิชา อภิปญฺโญ ป.ธ.7) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม รองเจ้าคณะภาค 8 และเลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคุณวิชานั้น ถือว่าเป็นพระใหม่ไฟแรง เพราะเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 8 ไปหยกๆ คือหลังจากหลวงพ่อใหญ่วัดไตรมิตรได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลางแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดสระเกศ ส่งผลให้ พระเทพมุนี (เก็ง อาสโภ ป.ธ.9) วัดไตรมิตร รองเจ้าคณะภาค 8 ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 8 แล้วคว้าเอาเจ้าคุณวิชาเข้ามานั่งเป็นรองภาค 8 สรุปว่าทุกตำแหน่งยังอยู่ในวัดไตรมิตร ไม่มีกระเด็นออกนอกวัดแม้แต่เก้าอี้เดียว โชคดีเหมือนมหาสายชลเกิดเป็นหลานสมเด็จพระมหาธีราจารย์เลย ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อใหญ่วัดไตรมิตรนั้น ท่านมีนโยบายอนุรักษ์นิยมว่า "พวกเราได้ ดีกว่าพวกเขาได้" ดังนั้น ถึงท่านจะไม่ค่อยโปรดปรานบางรูปบางองค์ แต่เพราะอยู่ในสังกัดเดียวกัน ก็ต้องเอาพวกเราไว้ก่อน หลวงพ่อสอนไว้ อันตำแหน่ง "รอง" เจ้าคณะภาค 8 ของมหาวิชานั้น ดูไปก็ไม่น่าจะสลักสำคัญอันใด เพราะไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ต้อง "ได้รับมอบหมาย" จากเจ้าคณะภาค แต่ตำแหน่ง "เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก" นี่ซี ที่ยิ่งใหญ่ระดับที่เรียกว่า จะเข้าหาเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรก็ต้องผ่าน "มหาวิชา-หน้าห้อง" ไปก่อน ดังนั้น ด่านนี้จึงต้องตีให้แตก ชื่อของมหาวิชาจึงถูกขึ้นบัญชีเป็นแขกวีไอพีของวัดพระธรรมกายด้วยสายตาของพญาอินทรีย์ และปัจจุบันเจ้าคุณวิชาก็ปวารณามอบตัวและหัวใจถวาย "วัดพระธรรมกาย" ไปเรียบร้อย เพราะลงทุนออกเดินธุดงค์ธรรมชัยไปหลายรอบ แหมหลอมง่ายกว่าทองคำที่ใช้หล่อหลวงพ่อสดเสียอีก น่ารักเสียจริงมหาวิชานี่ ปีนี้มีรางวัลปลอบใจในฐานะ "กัลยาณมิตรใหม่ดีเด่นของธรรมกาย" ถวายท่านเจ้าคุณวิชา ถ้ายังเสมอต้นเสมอปลายก็คงสนองคุณกันอีกหลายเท่าตัว ขอให้เชื่อใจในธัมมชโย
ก็หมดตัวพระสงฆ์นอกสังกัดวัดพระธรรมกาย แต่เป็นเครือข่ายภายนอกวัด ซึ่งจะเห็นว่ามีทุกระดับ นับตั้งแต่สมเด็จพระราชาคณะ รองสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคุณทุกระดับ พระสังฆาธิการระดับสูงถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ล้วนแต่เป็นแนวร่วมของธรรมกาย ซึ่งให้ความร่วมมือ ช่วยผลักดันให้โครงการต่างๆ ของธรรมกายประสบความสำเร็จในระดับประเทศ และธรรมกายสามารถนำไปอวดแขกว่าเป็นผลงานระดับโลก ถึงกับตั้งรางวัล "ผู้นำโลก" ขึ้นมาในวันนี้
และทีนี้ก็จะมาถึงกลุ่มพระภิกษุที่ทั้งอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย และที่กระจายออกไปตั้งวัด ศูนย์ หรือสำนักอยู่ในที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ในปีนี้ พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา ได้รับการคัดสรรให้รับรางวัลผู้นำพุทธโลก จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 1. พระวิเทศธรรมรังษี (สุรศักดิ์ ชีวานนฺโท) หรือหลวงตาชี เจ้าอาวาสวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา 2. พระราชธรรมวิเทศ (อมรวุฒิ อมโร) หรือหลวงพ่อวิเชียร (เรียกชื่อตามความคุ้นเคยในสมณศักดิ์แรกที่ท่านได้รับ คือพระวิเชียรธรรมคุณาธาร อันเป็นสมณศักดิ์ประจำวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน) เจ้าอาวาสวัดไทยลอสแองเจลิส หรือวัดไทยแอลเอ รองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา 3. พระครูวิเทศปัญญาภรณ์ (สมบุญ สมฺมาปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย เมืองอซูซ่า รัฐแคลิฟอร์เนีย กรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
พระครูวิเทศปัญญาภรณ์
พระครูสมบุญนั้น ดำรงตำแหน่งสำคัญอันดับหนึ่งนอกประเทศของธรรมกาย นั่นคือวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย อันเป็นวัดแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีสาขาอยู่ในสหรัฐอเมริการ่วมๆ 20 วัดแล้ว และแน่นอนว่า เจ้าสถานีอันดับหนึ่งย่อมจะต้องยกย่องให้เป็นตัวอย่าง แต่ก่อนนั้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือหัวหน้าสงฆ์วัดนี้ต้องผลัดเปลี่ยนกัน เพราะวัดมันใหญ่ ฐานเสียงก็แน่นหนา ถ้าคิดจะแข็งเมืองละก็อันตราย คนอย่างธัมมชโยไม่เคยไว้ใจใคร ดูเมตตานันโทเป็นตัวอย่าง พระครูสมบุญเองก็ถูกโยกไปโยกมาหลายที แต่ช่วงนี้โชคดีได้มาประจำที่แคลิฟอร์เนีย รางวัลผู้นำพุทธโลกจึงตกใส่แบบส้มโอหล่น
พระราชธรรมวิเทศ
พระราชธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา และเป็นวัดที่สนิทกับวัดพระธรรมกาย เพราะพระธรรมราชานุวัตร หรือหลวงเตี่ย (กมล โกวิโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยแอลเอ เจ้านายเก่าของหลวงพ่อวิเชียรนั้น ท่านเป็นเลขาของสมเด็จพระสังฆราชป๋า (ปุ่น ปุณฺณสิริ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ จึงเคารพนับถือในหลวงพ่อสด อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต้นตำรับวิชชาธรรมกาย ซึ่งหลวงพ่อสดมีฐานะเป็นน้าของสมเด็จพระสังฆราชป๋า สายสัมพันธ์ระหว่างวัดโพธิ์กับวัดปากน้ำ จึงแนบแน่นและยาวไกลไปจนถึงวัดไทยแอลเอ สหรัฐอเมริกา
พระวิเทศธรรมรังษี (หลวงตาชี)
พระวิเทศธรรมรังษี หลวงตาชีนั้นเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) มีศิษย์พี่ชื่อว่า พระธรรมธีรราชมหามุนี หรือหลวงพ่อโชดก อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระของประเทศไทย สมัยหลวงพ่ออาจยังมีบารมีไพศาล เมื่อหลวงพ่อสดขอต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้ส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี ไปช่วยคุมการปฏิบัติธรรม (สอบอารมณ์) ที่วัดปากน้ำในช่วงหนึ่ง หลังจากนั้น หลวงพ่อสดได้ถวายรูปพร้อมกับถ้อยคำยกย่องสายวัดมหาธาตุฯ ว่าปฏิบัติถูกต้องตามพระบาลีทุกประการ ปัจจุบันรูปที่ว่านั้นยังเก็บไว้ในคณะ 5 ต่อมาได้เกิดประเด็นถกเถียงกันว่า หลวงพ่อสดปฏิบัติติด ต้องอาศัยหลวงพ่อโชดกช่วยจึงผ่านอุปสรรคในการปฏิบัติมาได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าว่าตามนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดปากน้ำ ก็หาใช่คนอื่นคนไกลไม่ แต่ถึงกระนั้น หลวงตาชีท่านมีอุปนิสัยที่เถรตรง จึงทำให้สายธรรมกายเข้าหายากซักหน่อย ในงานวันเกิด 88 ปี ของหลวงตาชี เมื่อปีที่ผ่านมา ก็แทบจะเรียกว่า "สำเร็จ" เพราะกัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย สามารถยกทีมเข้าไปเปิดบูธแจกน้ำชากาแฟและเครื่องดื่ม ด้วยสโลแกน "กาแฟดี ชีสเด็ด เน็ตแรง" ในงานของหลวงตาชีได้ตลอดงาน วัดไทยแอลเอนั้นชาวธรรมกายเข้าง่ายออกง่าย วัดไทยดีซีก็เปิดบูธได้แล้ว ก็คงไม่มีวัดไหนในสหรัฐอเมริกาที่ธรรมกายจะเข้าไม่ได้ เพราะด่านใหญ่ๆ ถูกตีแตกหมดแล้ว ที่เหลือก็ตัวใครตัวมันสิ พ่ะย่ะค่ะ มาวันนี้ มีชื่อ "พระวิเทศธรรมรังษี-หลวงตาชี" เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลผู้นำพุทธโลกอยู่ด้วย ซึ่งก็ควรชื่นชมยินดี เพราะหลวงตาชีทำงานมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นพระไทยรูปแรกที่ไม่เคยกลับมาจำพรรษาที่บ้านเกิดเลย จากเมืองนอนมา 40 กว่าปี วันนี้ก็ยังอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แถมยังเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยในเมืองหลวงของโลกอีกด้วย ดังนั้นจะมองข้ามหลวงตาชีไปไม่ได้
พระครูสมบุญ วัดพระธรรมกาย พร้อมด้วยคณะ
อย่างไรก็ตาม ในการจัดลำดับรายชื่อผู้รับรางวัลตั้งแต่ต้นนั้น จะเห็นว่า ทางกรรมการได้จัดลำดับตาม "สมณศักดิ์" เช่น พระเทพญาณมหามุนี ซึ่งเป็นผู้มีบารมีกว่าใครหลายรูป กลับต้องไปต่อคิวในอันดับที่ 22 ตามธรรมเนียมของราชสำนัก แต่สำหรับลำดับของหลวงตาชีในบัญชีเดียวกันนี้ น่าที่จะอยู่ในอันดับ 2 รองลงมาจากพระราชธรรมวิเทศ วัดไทยแอลเอ แต่กลับนำไปไว้ในอันดับที่ 3 รองลงมาจาก "พระครูวิเทศปัญญาภรณ์-สมบุญ สมฺมาปุญฺโญ" เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นพระรุ่นหลาน มองด้วยสายตาของคนเจ้าระเบียบก็จะเห็นว่า "เป็นการลดเกียรติของหลวงตาชี" ซึ่งเป็นพระมหาเถระอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา อายุพรรษามากถึง 90 ปี มีบารมีสูงกว่าพระราชธรรมวิเทศด้วยซ้ำไป แต่ถ้าใช้ระเบียบราชสำนักไทยก็ไม่ว่ากัน แต่การเอาหลวงตาชีไปไว้ต่ำกว่าพระครูสมบุญซึ่งเป็นพระเด็กๆ นั้น ถามว่าใช้หลักการอะไร ? เรื่องนี้บรรดาลูกศิษย์ของหลวงตาชีเห็นแล้วคงรับไม่ไหว ไม่รู้ว่าจะยกย่องหรือเหยียบย่ำกันแน่ เอารางวัลมาให้ แต่ให้ไปรับต่อจากพระเด็กๆ ถ้าหลวงตาชีไปรับก็คงเสียผู้ใหญ่ไปเลยเชียวล่ะ แบบนี้ถ้าไม่เจตนาก็ต้องถือว่า "โง่บัดซบ" เชียวล่ะ ทำงานระดับโลกประสาอะไร ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่รู้จัก แค่เหรียญห้ากับเหรียญบาทยังแยกไม่ออก แล้วจะสะเออะไปทำงานระดับโลก ก็งมงายอยู่กับโลกแห่งธรรมกายเท่านั้น
เรื่องตลกยังมีมากกว่านั้น คือว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น มีองค์กรที่พระธรรมทูตไทยสายมหานิกาย ก่อตั้งกันขึ้นมาได้ 40 กว่าปีแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ.2519) ชื่อว่า สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรดูแลพระธรรมทูตสายมหานิกายทั้งหมด รวมทั้งวัดในเครือธรรมกายทุกวัด ก็สังกัดสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาด้วย สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกามี "คณะกรรมการอำนวยการ" เป็นผู้บริหาร ผ่านการเลือกตั้งจากสมาชิก ปัจจุบันมี "พระราชพุทธิวิเทศ (ประชัน ชุตินฺธโร)" เจ้าอาวาสวัดพุทธาวาส นครฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสงฆ์ นั่นหมายถึงว่า ผลงานของบรรดาพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาทุกรูปทุกองค์นั้น ก็อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา อันมีหลวงพ่อประชันเป็นประธานในปัจจุบัน แต่การมอบรางวัลผู้นำพุทธโลก ให้แก่รองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยและเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา จึงเป็นที่น่ากังขาของกฎเกณฑ์การพิจารณาให้รางวัลนี้ แบบว่าให้ลูกน้อง แต่ไม่ให้เจ้านาย (ยกเว้นแต่ว่าพระธรรมทูตรูปนั้นจะมีคุณสมบัติพิเศษ-ดีเด่น-เอกอุ เฉพาะตัวจริงๆ เหมือน พระพรหมคุณาภรณ์-ปยุตฺโต เช่นนี้ก็ยอมรับได้) ก็เป็นเรื่องประหลาดระดับโลกอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาโลกไปอีกนาน
ในสายยุโรปนั้น มีการมอบรางวัลให้ "พระเทพพุทธิมงคล" วัดพุทธาราม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป ยกเว้นประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ยอมขึ้นต่อสหภาพยุโรป ตำแหน่งนี้ก็ถือว่าโอเคนะ แต่อย่าลืมว่า พระเทพพุทธิมงคลนั้นก็เป็นพระสังกัดวัดสระเกศมาแต่เดิม ก็คงจะมองหน้าท่านเจ้าคุณเสนาะได้ยากเช่นกัน ถ้าจะมอบให้ในรายประเทศที่เด่น เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ที่อังกฤษนั้นย่อมไม่สามารถมองข้าม "วัดพุทธประทีป ลอนดอน" ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรป ปัจจุบันมี "พระราชภาวนาวิมล" เป็นเจ้าอาวาส แต่ก็ไม่มีชื่อในบัญชี ที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น วัดใหญ่ก็ได้แก่ วัดศรีนครินทราราม อันมี "พระเทพกิตติโมลี" เป็นเจ้าอาวาส แต่ก็พลาดรางวัลอย่างไม่น่าเป็นไปได้ แค่สองวัดใหญ่นี้ก็มองเห็นแล้วว่า กฎ กติกา มารยาท รวมทั้ง "วิจารณญาณ" ของคณะกรรมการผู้คัดสรรรางวัลผู้นำพุทธโลก (ของธรรมกาย) ในครั้งนี้มีบรรทัดฐานเช่นใด นอกจากจะท่องคำว่า "ธรรมกาย" ไว้ในสมองเพียงอย่างเดียว เพราะมิได้ใช้คุณสมบัติ-ผลงาน มาเป็นตัววัด หากแต่ใช้ระบบ "คนของใคร" หรืออยากจะให้ใครก็ให้ ไม่อยากให้ใครก็ไม่ให้ แล้วจะตั้งชื่อทำไมว่าผู้นำพุทธโลก ก็ตั้งชื่อให้ตรงตามความเป็นจริงเสียเลยสิฮะว่า "รางวัลผู้นำของธรรมกาย" ถ้าแค่ชื่อก็ยังโกหก แล้วอย่างอื่นจะไม่ตอแหลได้อย่างไร ? บอกแล้วไงว่า ตะทีพระลูกวัดของธรรมกาย ที่เรียกว่า "เด็กเมื่อวานซืน-ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม" ยังถูกอุปโลกน์ให้รับรางวัลระดับโลก แต่ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งอาวุโสมากกว่า "ธัมมชโย-ทัตตชีโว" ด้วยซ้ำไป ก็ยังไม่ยอมยกย่องท่าน จะยกก้นแต่ในสายธรรมกายอย่างเดียวเท่านั้น พูดให้ชัดก็คือว่า รางวัลผู้นำพุทธโลกที่ว่านี้ น่าจะเป็นรางวัลสรรสร้างความสมานสามัคคีในบรรดาพระสงฆ์ไทยที่ทำงานกันอยู่ทั่วโลก กลับกลายเป็นการสร้างความร้าวฉาน นานไปก็อาจจะพัฒนากลายเป็นความแตกแยกในวงการคณะสงฆ์ไทยได้ เพราะมิได้ตัดสินด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะอย่าลืมว่า ที่เกิดปัญหาขึ้นในบ้านเมืองนั้น ก็มาจากความ "อยุติธรรม" ของผู้นำในสังคมนั่นเอง
พระครูวิเทศสุธรรมยาน
ออสเตรเลียถือว่าเป็นประเทศใหญ่ และเป็นอีกทวีปหนึ่งซึ่งแยกต่างหากจากประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ชนชาวออสเตรเลียก็คือฝรั่งชาวอังกฤษที่ย้ายไปอยู่กับกัปตันคุก บนเกาะที่พบใหม่ ภายหลังได้ตั้ง ชื่อว่า ออสเตรเลีย ภาษาของออสเตรเลียก็คือภาษาอังกฤษแขนงที่ 3 รองลงมาจาก อังกฤษแบบอังกฤษ อังกฤษแบบอเมริกา และอังกฤษแบบออสเตรเลีย นอกจากยุโรปและอเมริกาแล้ว นักทำงานศาสนาระดับอินเตอร์จะมองข้ามออสเตรเลียไปไม่ได้ และนั่นเอง วัดพระธรรมกายซิดนีย์จึงเกิดขึ้น พระครูสุธรรมซึ่งเป็นเจ้าอาวาสจึงได้รับการยกย่องจากท่านธัมมชโยว่าเป็นผู้เสียสละระดับโลก ส่วนพระไทยวัดอื่นๆ ที่ไปสร้างงานในต่างประเทศนั้น ไม่ได้รับรางวัล ก็ช่วยไม่ได้ เพราะไม่ได้สังกัดธรรมกาย และไม่ได้สนับสนุนธรรมกาย เพราะถ้าท่านรักธรรมกาย ธรรมกายก็จะรักท่าน
พระครูภาวนาถิรธรรม
พระภาสุระ ทนฺตมโน ห้ารูปเหล่านี้ คือเนื้อในของวัดพระธรรมกาย เป็นระดับลูกวัดหรือพระเด็กๆ แต่ได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัล "ผู้นำพุทธ" ระดับโลก กับท่านธัมมชโยด้วย ซึ่งนอกจากจะประกาศว่าธรรมกายเป็นเจ้าของโครงการตัวจริงแล้ว ก็ยังบอกให้เราทราบด้วยว่า กฎเกณฑ์การคัดเลือก และคุณสมบัติของผู้ได้รับรางวัลนี้ ไม่มีมาตรฐานเลย
กลุ่มกัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย นอกจากพระภิกษุในวัดธรรมกายและสายต่างประเทศ จะพาเหรดเข้ารับรางวัลกันอย่างทั่วหน้าแล้ว ก็ยังมีญาติธรรมที่เรียกว่า "กัลยาณมิตร" ในสายวัดพระธรรมกายหลายสิบท่าน ได้รับรางวัลนี้ด้วย อาทิเช่น
นายวีระศักดิ์ ฮาดดา "วีระศักดิ์ ฮาดดา" ชื่อนี้สำคัญไฉน ทำไมผู้เขียนจึงเอาเข้าคิวเป็นอันดับแรกในบรรดาสาวกของวัดพระธรรมกาย ตรงนี้ก็ขอชี้แจงว่า เพราะว่าตำแหน่งนายก อบต. ในปัจจุบันนั้นสำคัญยิ่งนัก มันเป็นตำแหน่ง "คุมพื้นที่" ซึ่งมีวัดพระธรรมกายอันเป็นฐานแม่ตั้งอยู่ จะปล่อยให้คนอื่นไกลที่ไม่ใช่คนของเราเข้ามาคุมพื้นที่ไม่ได้เด็ดขาด เพราะหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมามันจะกระทบองค์กรแม่ให้เสียหาย ดังนั้น นายวีระศักดิ์ ฮาดดา เด็กก้นกุฏิของหลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้ามูลนิธิธรรมกาย จึงต้องรับบทเจ้าที่เจ้าทาง ลงไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบต. ตำบลคลองสาม แต่ถึงกระนั้น ท่านธัมมชโยก็ไม่ทิ้ง จึงได้รับเลือกให้เป็นถึง "ผู้นำพุทธโลก" กับพลพรรคกัลยาณมิตรในวันนี้ นี่แหละคือของจริง
นพ.พรชัย
พิญญพงษ์
ความจริง นพ.พรชัย น่าจะได้ตำแหน่ง "นัมเบอร์วัน" ของงานนี้ เพราะเป็นโต้โผจัดงานระดับโลกครั้งนี้ขึ้นมา นพ.พรชัย แปลงร่างจากสาวกธรรมกายไปเป็นประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก แล้วนำเอาองค์กรแห่งนี้มารับใช้หลวงพ่อใหญ่ธัมมชโยด้วยความซื่อสัตย์ซื่อตรง ตรงตามนโยบาย "แปลงทรัพย์สินให้เป็นบุญ" ส่วนนโยบาย "แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน" นั้น ยกให้คุณแม้วเขาไป ตามรายชื่อที่เห็นข้างต้นนี้จะพบว่า มีการมอบรางวัลให้แก่คณะกรรมการองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ทั้ง 2 ชุด คือชุดเก่ากับชุดใหม่ ชุดละ 11 ท่าน รวมเป็น 22 ท่าน โดยชุดปัจจุบันมี นายแพทย์พรชัย พิญญพงษ์ เป็นประธาน ดังนั้น จำนวนกรรมการ ยพสล. ทั้ง 22 ท่าน จึงถือว่าเป็นสาวกธรรมกายไปโดยปริยาย ส่วนการมอบรางวัลที่ก่อตั้งโดย ยพสล. ให้แก่คณะกรรมการ ยพสล. ทั้งชุดปัจจุบันและย้อนหลังไปอีกชุดนั้น จะมีความชอบธรรมประการใด ก็ต้องให้ปัญญาชนช่วยกันวินิจฉัย เพราะรางวัลนี้เป็นรางวัลแห่งคุณธรรม ถ้าไม่ชอบธรรมก็ไร้คุณค่า อย่างไรก็ตาม การที่วัดพระธรรมกายได้รับรางวัลนับตั้งแต่เจ้าอาวาสลงไปจนถึงพระลูกวัดนั้น ก็มองเห็นได้อยู่แล้วว่า มีการเล่นปาหี่ระดับโลก ว่าเป็นรางวัลขององค์กรสากลจะมอบให้แก่บุคคลทั่วไป แต่ภายในกลับยัดไส้เป็นของธรรมกายไปหมด แม้แต่การประกาศรายชื่อผู้เข้ารับรางวัลก็ไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ของสำนักพุทธฯซึ่งเป็นภาคี แต่กลับมีอยู่ในเว็บไซต์ของ ยพสล. เพียงแห่งเดียว ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากโครงการอื่นๆ ของธรรมกาย ที่อ้างเอาองค์กรนับสิบนับร้อยมาเป็นภาคี แต่การดำเนินงานรวมทั้งผลงานทุกอย่าง กลับถูกธรรมกายฮุบไปหมด พวกที่มาร่วมงานจึงเหมือนถูกจ้างมาเป็นหางเครื่อง รับค่าจ้างในอัตราที่พอใจก็จบกันไป ทิ้งปัญหาไว้ให้แก่สังคมสงฆ์ไทยต่อไปไม่สิ้นสุด เพราะนี่คือการรับจ้างหรือการขายเสียงในทางพระพุทธศาสนา ลูกหลานรุ่นต่อไปจะต้องมารับเคราะห์กรรมเพราะกรรมที่บรรพบุรุษก่อไว้ ดังนั้น จะว่าประชาชนขายสิทธิ์ขายเสียงเพียงชั้นเดียวก็ยังไม่ชัดเจน ต้องมาดูมหกรรมขายเสียงของพระสงฆ์ไทยผ่านกิจกรรมของธรรมกายดูบ้าง แล้วจะถึงบางอ้อว่าทำไมประชาธิปไตยไทยๆ ถึงไม่ไปไหน ดูที่เฟสบุ๊คของ นพ.พรชัย จะพบว่ามีแต่รูปพระธุดงค์ธรรมชัยและกิจกรรมของวัดพระธรรมกายเต็มไปหมด แล้วจะให้เข้าใจเป็นอื่นใด หากไม่ใช่ "รางวัลธุดงค์ธรรมชัย" เพราะจัดเมื่อสิ้นสุดโครงการเดินธุดงค์เป็นปีที่ 3 ช่วงเวลาชั่งเหมาะเจาะอะไรจะปานนั้น สรุปตรงนี้ว่า การคัดสรรหรือสรรหาบุคคลผู้มีผลงานดีเด่น ให้เข้ารับรางวัลผู้นำพุทธโลกที่อุปโลกน์ขึ้นมานี้ ใช้ระบบโควต้า หรือระบบสัดส่วน แบ่งเค๊กกันไปจำนวนหุ้นส่วน วัดพระธรรมกายถือว่าเป็นขาใหญ่จึงได้มากกว่าเพื่อน ส่วนองค์กรอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมงานนั้น ก็ได้ส่วนแบ่งไปตามอำนาจต่อรอง โดยมี "โควต้ากลาง" ไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อดึงบุคคลอื่นๆ นอกองค์กรให้เข้ามาเป็นไม้ประดับของงาน เพื่อมิให้ดูอุจาดตาว่ามีเพียงธรรมกายเท่านั้นได้รับรางวัล แต่ถึงกระนั้น โควต้ากลางที่ว่านั้นก็ต้องผ่านการกลั่นกรองของธรรมกายอยู่ดี ว่าต้องมีความนิยมในลัทธิธรรมกาย หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่ต่อต้านธรรมกาย ไม่งั้นไม่มีสิทธิ์ผ่าน อย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งใหญ่ระดับเลขาธิการมหาเถรสมาคม ก็ยังได้มาแค่ 4 รางวัล ธรรมกายยิ่งใหญ่เพียงใด และสำนักพุทธฯกระจอกขนาดไหน ก็ดูได้จากจำนวนรางวัลของแต่ละหุ้นส่วนเหล่านั้น แต่กระนั้นก็อย่าไปว่าให้นายนพรัตน์เขาเลย เพราะขนาดว่า รองสมเด็จ-กรรมการมหาเถรสมาคม ยังทำตัวเป็น "ลูกน้อง" ของธัมมชโย แล้วตัวนายนพรัตน์ซึ่งเป็นเพียงเลขาจะทำอะไรได้ มันน่าเห็นใจด้วยซ้ำไป จริงๆ นะ
รางวัลต่อไปได้แก่
อนันต์ อัศวโภคิน ใครไม่รู้จัก "แลนด์แอนด์เฮาส์" บ้าง ผู้ชายคนนี้แหละคือเจ้าของ ปี พ.ศ.2555 นิตยสารฟอร์ป จัดอันดับของอนันต์ไว้เป็นอภิมหาเศรษฐีของไทยในอันดับที่ 18 มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท ที่สำคัญเขาเป็นสาวกของวัดพระธรรมกายมาตั้งแต่ต้น นายอนันต์จึงเป็นบุคคลตัวอย่างในสายธรรมกาย เป็นไอดอลของกัลยาณมิตร ศรัทธาของอนันต์ที่มีต่อวัดพระธรรมกายอย่างเสมอต้นเสมอปลายนั้นผลิดอกออกผลอย่างมากมาย และวันนี้ "มงกุฎช่องาม" ระดับ "ผู้นำพุทธโลก" ก็ตกอยู่ในมือของอนันต์ ในอันดับต้นของบัญชีที่หลวงพ่อใหญ่สั่งมา
บุญชัย เบญจรงคกุล
นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่า กทม. เกี่ยวดองกับนายบุญชัย เบญจรงคกุล เพราะแต่งงานกับนางสาววรรณา เบญจรงคกุล ซึ่งเป็นน้องสาวของนายบุญชัย พี่เมีย-น้องเขย เลยเกี่ยวก้อยกันรับรางวัลผู้นำพุทธโลก แบบว่าไม่มีครอบครัวไหนได้เปรียบใคร
นายกฤษฎา จ่างใจมนต์ เจ้าของบริษัทเนเจอร์กิฟ ผลิตเครื่องดื่มเสริมสุขภาพนานาชนิด ตีตลาดไปทั่วโลก ถือว่าเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้า และเป็นสาวกที่เลื่อมใสในวัดพระธรรมกายอย่างมั่นคง พรุ่งนี้ต้องมั่นคงกว่านี้ เพราะมีรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" เป็นเครื่องประกันพันธสัญญา
น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล
สาวโสด อดีตรองนางงามสงกรานต์วิสุทธิกษัตรี ปี 2528 และรองนางสาวไทยในปีเดียวกัน จากนั้นลีลาวดีหันไปเอาดีทางการแสดง ก่อนจะบินไปเรียนนอก พอพ่อเสีย ก็เกิดวิกฤตชีวิตผกผันให้หันหน้าเข้าหาวัด และวัดพระธรรมกายคือที่หมายสุดท้าย ก่อนจะได้รับการสนับสนุนให้เล่นการเมือง จนได้เป็น "ส.ส.ลีลาวดี" สังกัดพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ลีลาวดีคือตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง "ธัมมชโย" กับ "ทักษิณ ชินวัตร" ตัวจริง ผลงานในโครงการ "ปิดกรุงเทพฯ ตักบาตรพระล้านรูป" ในวันที่ 10-25 มีนาคม 2555 เป็นเครื่องการันตีฝีมือของลีลาวดีได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถนำเอาคณะรัฐมนตรี มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวหน้า ให้มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า สร้างประวัติศาสตร์ให้หลวงพ่อธัมมชโยชื่นชมในตัวลูกสาว วันนี้ รางวัล "ผู้นำพุทธโลก" จึงเหมาะสมสำหรับลูกสาวของพ่อ ขอให้รักษาความดีตลอดไป นะจ๊ะ
สุวิทย์-ศศินา วิมุตตานนท์ ต้องเรียกว่าเป็น "ครอบครัวกัลยาณมิตร" อย่างแท้จริง และเป็นครอบครัวแรกที่ได้รับรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ทั้งผัวและเมีย หลังยุคของ "ติ๋ว-ศันสนีย์ นาคพงษ์" นักอ่านข่าวสาวเสียงหวานอมตะ ซึ่งผันตัวเองไปเล่นการเมืองแล้ว ช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณก็ขาดมือดีมาเป็นดาราหน้าจอ จนกระทั่ง "อ้อ-ศศินา สุทธิถวิล-วิมุตตานนท์" ก้าวเข้ามาเป็นดาวดวงใหม่ ทำให้เจ็ดสียังคงครองความแชมป์ในเวทีข่าวจอแก้วเอาไว้ได้ ไม่งั้นเสร็จช่องสามหมด ใครบ้างไม่เคยดู "สะเก็ดข่าว" ซึ่งคุณศศินาทำรายการคู่กับ พิศณุ นิลกลัด แม้จะเป็นเพียง "สะเก็ด" แต่มีทีเด็ดกลายเป็น "แม่เหล็ก" ของช่องเจ็ดสีทีเดียว ก็เพราะนักข่าวแม่ลูกอ่อนที่ชื่อว่า "ศศินา" คนนี้แหละ และทีนี้ว่า "นัมเบอร์วัน" ของนักข่าวสาวทางจอแก้ว ผันตัวเองมาเป็น "สาวิกา" ของวัดพระธรรมกาย พ่อใหญ่ธัมมชโยมีหรือจะไม่โปรดปราน อย่าลืมว่าสังคมไหนๆ ก็ "บ้าดารา" ยิ่งดาราระดับแม่เหล็กไปไหน ก็เหมือนได้กองทัพดาราไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าหลวงพ่อวัดไหนก็อยากได้ดารามาเป็นลูกศิษย์ ไม่เว้นแม้แต่หลวงพ่อธัมมชโย
ศศินาเคยสร้างความฮือฮาด้วยการแต่งชุด "เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์" ซึ่งมหาอุบาสิกาวิสาขาเคยสวมใส่ และเป็นต้นเหตุให้เกิดวัดบุพพาราม ในงานกฐินของวัดพระธรรมกายเมื่อหลายปีก่อน แม้ว่าจะเคยมีคนสวมชุดนี้มาก่อน แต่ก็ไม่เด่นเท่ากับ "ศศินา" เพราะว่าคุณสมบัติมันต่างกัน ในการจัดกลุ่มผู้เข้ารับรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ครั้งแรกนี้ ทางวัดพระธรรมกายจัดให้ศศินาอยู่ในกลุ่ม "สื่อมวลชน" ส่วน "สุวิทย์" สามีนั้น แยกไปอยู่ในกลุ่ม "นักธุรกิจ" ปีนี้โชคดีที่สุด เพราะได้รางวัลระดับโลกมาครองตั้ง 2 ใบในบ้านหลังเดียวกัน ต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อใหญ่ธัมมชโยที่เมตตา
ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่น โด่งดังทะลุฟ้า เพราะว่าเป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์คลองจั่น บริหารดีมีกำไร ใครๆ ก็อยากเป็นสมาชิก ขนาดสหกรณ์อื่นๆ ทั่วไทยยังขอเข้าเป็นหุ้นส่วน จนศุภชัยมีชื่อเสียงติดระดับอินเตอร์ ศุภชัยเป็นวิทยากรมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียในเรื่องสหกรณ์ อยากรู้เรื่องสุกร เอ๊ย สหกรณ์ ให้ถาม "ศุภชัย" แต่ใครจะรู้ว่า สหกรณ์คลองจั่นจะสั่นสะเทือนเพราะมือของศุภชัยเอง
เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องในสหกรณ์คลองจั่นในปีที่ผ่านมานั้น ก็มีการตรวจสอบการทำธุรกรรมการเงินในช่วงที่นายศุภชัยเป็นประธาน ปรากฏว่ามีการทดรองจ่ายหลายพันล้าน แถมยังปรากฏ "เช็คเงินสด" สั่งจ่าย-ถวายแก่วัดพระธรรมกาย และพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือท่านธัมมชโย รวมแล้วเป็นจำนวนเงินถึง 817 ล้านบาท นั่นเองจึงเป็นที่มาของคำสั่ง "ปลด" ศุภชัยให้พ้นคลองจั่น แถมยังสั่ง "อายัดทรัพย์สิน" เพื่อนำมาใช้หนี้ที่ก่อไว้ให้แก่คลองจั่น ศุภชัยเหมือนตายทั้งเป็น เข้าตำรา "หมองูตายเพราะงู" เพราะเกิดจากสหกรณ์ แต่ต้องมาตายเพราะสหกรณ์ ถึงทุกวันนี้ สหกรณ์คลองจั่นก็ยังตกอยู่ในสภาพแทบว่า "ล้มละลาย" ไม่ต่างไปจาก "เสือติดจั่น" เพราะเครดิตพังหมดแล้ว แต่ถึงกระนั้น เงิน 800 กว่าล้าน ก็ทำให้ทางวัดพระธรรมกายทอดทิ้งนายศุภชัยไม่ได้ รางวัล "ผู้นำพุทธโลก" จึงจัดสรรให้ศุภชัยอย่างตั้งใจในความเสียสละอย่างยากจะหาใดเทียม เครดิตทางโลกติดลบ แต่เครดิตทางธรรมพุ่งสูงระดับโลก ก็ไม่รู้ว่าจะทดแทนกันได้หรือไม่ ใครที่คิดอยากจะได้รางวัลผู้นำพุทธโลกปีต่อไป เห็นท่าว่าจะต้อง "ทดรองจ่ายถวายวัดพระธรรมกาย" ให้มากกว่าศุภชัย ไม่งั้นอย่าหวัง
ชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ)
ทีนี้เมื่อเปรียบกับกรณีของ นายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. ซึ่งก็ใช้อำนาจและหน้าที่ช่วยเหลือกิจกรรมเด็กและเยาวชนของธรรมกายอย่างได้ผลดียิ่ง แต่มาสะดุดอย่างแรงในคดีทุจริตสอบครูผู้ช่วย ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ถ้าผิดจริงก็มีโทษหนักถึงกับไล่ออก งดบำเหน็จบำนาญ ถ้าว่าโดยผลงานแล้ว ชินภัทรก็น่าจะได้รับการพิจารณาให้เข้ารับรางวัลผู้นำพุทธโลกในครั้งนี้ด้วย แต่เพราะมีชนักติดหลัง และชินภัทรนั้นทำงานให้ผ่านการใช้ตำแหน่งหน้าที่ มิได้ทุ่มเงินทุ่มทองให้เป็นพันล้านเหมือนนายศุภชัย ทำให้เมื่อไร้ตำแหน่งก็หมดอิทธิฤทธิ์ราชเดช เพราะไม่มีเงิน เงินจึงเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเข้ารับรางวัลผู้นำพุทธโลกอีกทางหนึ่ง กัลยาณมิตรท่านอื่นๆ
สมเกียรติ ศรลัมพ์
อุทัย คูตระกูล
วีระ สุภา
วิรงรอง รัตนฉายา
นายสมเดช สุประดิษฐ์อาภรณ์
พรลพัชร นรารัตน์วันชัย
เกษมสุข ภมรสถิตย์
นวรัตน์ ฤดีพิพัฒนพงษ์
องอาจ ธรรมนิทา (สื่อมวลชน)
สุธรรม ปั้นประเสริฐ
สัมพันธ์ เตชะเจริญผล
ข้างต้นเหล่านี้คือบรรดากัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย ผู้ทุ่มเทให้แก่วัดในบทบาทแตกต่างกันไป เพราะวัดพระธรรมกายนั้นใหญ่ระดับอาณาจักร จึงต้องการบุคคลากรที่หลากหลาย ในแต่ละสายจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น เมื่อให้สายหนึ่ง ก็ต้องให้อีกสายหนึ่ง ไม่งั้นเกิดปัญหา เหมือนพรรคการเมืองที่มีมุ้งเล็กมุ้งใหญ่ ดังนั้นก็อย่าแปลกใจว่า ทำไมวัดพระธรรมกายถึงต้องกระจายรางวัลให้ทั่วหน้า เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็จะมีปัญหาถึงกับวัดแตกทีเดียวเชียวล่ะ นี่ขนาดให้ตั้งหลายโหล รางวัลก็ยังไม่พอ ยังมีอีกหลายคน "แอบน้อยใจ" ให้หลวงพ่อ ว่ารักลูกคนโน้นมากกว่า ปวดหัวเหลือเกิน
เจ๊หน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ (นักการเมือง) รายนี้ไม่ทราบว่ามาหน่วยงานไหน เพราะหลังสุดก็ไปสมัครเรียนด๊อกเตอร์กับท่านเจ้าคุณเทียบ ที่ มจร. แต่ก็วิ่งเข้าวัดสระเกศกับวัดไทยลุมพินีของท่านเจ้าคุณวีรยุทธ (พระเทพโพธิวิเทศ) สร้าง BabyBuddha หรือพระพุทธเจ้าองค์น้อย จนสำเร็จอย่างงดงาม ก็คาดว่าน่าจะมาทางสาย มจร. นั่นแหละ แต่ท่านแยกไปไว้ในกลุ่มนักการเมืองแทน จากภาพที่เห็นนี้ก็เชื่อว่าเจ๊หน่อยแกเป็นนักการเมืองจริง เพราะใครเชิญไป ถ้าได้คะแนนเจ๊แกไปหมด
ประเภทองค์กร ใช่แต่ประเภทบุคคล (พระภิกษุ-อุบาสก-อุบาสิกา) ของธรรมกายเท่านั้น ที่ยึดครองรางวัลผู้นำพุทธโลกไปเกือบหมด ยังมีการเสนอประเภทองค์กรในสังกัดธรรมกาย ให้ได้รับรางวัลอีกด้วย ได้แก่
DMC สถานีทีวีดาวธรรม ของวัดพระธรรมกาย
ชมรมพุทธศาสตร์สากล สังกัดธรรมกาย
โครงการดวงตะวันสันติภาพ ของธรรมกาย
ถ้ารวมทั้งองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่เป็นโต้โผจัดสรรรางวัลในครั้งนี้ให้แก่ธรรมกายแล้ว ก็จะมีองค์กรที่สังกัดธรรมกายรับรางวัลไปถึง 25 รางวัล ทีเดียว
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สำนักพุทธฯประกาศตัวร่วมงานธรรมกาย
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์
นายอำนาจ บัวศิริ
นายพนม
ศรศิลป์
นายกนก
แสนประเสริฐ
สี่พระเอกของสำนักพุทธฯ นับตั้งแต่ ผอ. รอง ผอ. คนที่ 1-2-3 ตบเท้าเข้ารับรางวัลระดับโลกเพียบ แรกนั้นก็คิดว่ามีเพียงนายนพรัตน์เท่านั้น ซึ่งก็ว่าน่าเกลียดแล้ว แต่พอโผจริงเปิดออกมาถึงรู้ว่าอัปลักษณ์ยิ่งกว่าอะไร แต่ถึงกระนั้นทางสำนักพุทธฯคงมองไม่เห็นว่าจะอัปลักษณ์อย่างไร เพราะวัดพระธรรมกายยังเอามากกว่านี้ นี่เราเอาแค่ 4 คนเอง จะเป็นไรไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจว่า สำนักพุทธฯนั้นก็บำเพ็ญตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน เอนเอียงไปตามการชี้นำของผู้มีอำนาจ ไม่สามารถจะกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้ ที่คุยโขมงว่าจะพัฒนาพระพุทธศาสนาอย่างโน้นอย่างนี้ก็ขี้โม้ทั้งนั้น เพราะถ้าสมองของพวกคุณสามารถทำงานระดับโลกได้ ประเทศอื่นๆ เขาคงไปไกลถึงระดับจักรวาลแล้ว ดังนั้นจะขวางเรือกลางน้ำเชี่ยวไปทำไม สู้เล่นตามน้ำและลู่ลมไปไม่ดีกว่าหรือ สบายก็สบาย งานก็เดิน เงินก็ดี อีกไม่ถึงปีนายนพรัตน์ก็จะเกษียนแล้ว จุดหมายของชีวิตก็มีแค่นี้ คือลงจากเก้าอี้อย่างสง่างาม บทบาทของสำนักพุทธฯในช่วงหลังนี้ นับว่า "ห่วยแตก" มากๆ หลังจากออกมาดับเครื่องชน "พุทธสภา" ของกรมการศาสนาจนแท๊งค์ไปแล้ว สำนักพุทธฯก็หันมาพิจารณาบทบาทของตัวเอง เห็นว่า "ศักยภาพมีมาก" แต่ยังขาดโครงการที่ดีเด่น จึงหันมาเล่นบท "ดาราหน้าจอ" แต่เพราะความไม่มีหัว เลยทำอะไรสะเปะสะปะ ลอกเลียนแบบเขาไปทั่ว อาทิเช่น เมื่อเห็นกรมการศาสนามี "โครงการพาพระไปอินเดีย" สำนักพุทธฯก็ออกโครงการ "บวชพระไปอินเดีย" บ้าง ซึ่งก็ไปชนกับอีกหลายโครงการของวัดไทยพุทธคยา และวัดป่าพุทธคยา รวมทั้งของกรมการศาสนาเอง แถมยังจัดทีหลังเขา เขาไปเหยียบอินเดียมาหลายรอบแล้ว สถานที่เอย วิทยากรเอย ถูกคณะอื่นๆ เขาล็อกคิวไว้หมด สำนักพุทธฯจึงต้องไปใช้ "ตัวสำรอง" นำร่องนำทาง เพราะคนอย่างเจ้าคุณวีรยุทธก็คงไม่โง่ที่จะให้โครงการอื่น "ดีกว่าจนล้ำหน้า" โครงการของตัวเอง ความคิดของอาจารย์จิ๋ว วัดป่าพุทธคยาก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น ดาราอินเดียที่เข้ามาร่วมทีมของสำนักพุทธฯน่ะ ถ้าไม่เกรด 2 ก็ต้องเป็นเกรด 3 เชื่อหรือไม่ก็ตามใจ
มาครั้งนี้ สำนักพุทธฯเห็นว่า กรมการศาสนามีอภิมหาโปรเจ็คใหญ่ ที่สามารถระดมบุคคลากรระดับ "แนวหน้า" ทั้งในและต่างประเทศมาเป็นพันธมิตร ผ่านโครงการมอบรางวัล "เสมาธรรมจักร" ซึ่งจัดในวันวิสาขบูชา มันน่าเล่น น่าแย่งตลาดจนขาดใจ สำนักพุทธฯ จึงคิดตั้งโครงการใหม่ ให้ยิ่งใหญ่กว่า "เสมาธรรมจักร" และเมื่อธรรมกายเสนอตั้งรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ขึ้นมา ทางสำนักพุทธฯก็รีบงับเข้าทันที ทั้งนี้เพื่อให้มันเนียน ก็เลยเปลี่ยนวันมอบมาเป็น "วันมาฆบูชา" แทน แต่การตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา โดยมี "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" เป็นผู้มอบให้นั้น มันทำให้รางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ตกเป็นรองรางวัลเสมาธรรมจักร เพราะรางวัลเสมาธรรมจักรนั้น ประทานโดย "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี" และโครงการหลังนี้ก็ทำก่อนหน้ามาหลายสิบปี จนผู้คนรู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมือง แบบว่ารางวัลเสมาธรรมจักรเป็นมาตรฐานสังคมพุทธไทยไปแล้ว อย่าลืมนาว่า บรรดายศถาบรรดาศักดิ์ประดามีในไทยแลนด์แดนพุทธนั้น ล้วนมีต้นธาตุต้นธรรมมาจาก "ราชสำนักไทย" ทั้งสิ้น แม้กระทั่งตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังต้องมาจาก "ราชสำนัก" ดังนั้น แค่เปรียบเทียบ "ผู้มอบรางวัล" มันก็ทิ้งห่างกันไม่เห็นฝุ่นแล้ว เรื่องรางวัล : การที่สำนักพุทธฯ ตั้งรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ขึ้นมาแข่งกับเสมาธรรมจักร ก็เหมือนตั้งเวที "มิสไทยแลนด์เวิลด์" แข่งกับเวที "นางสาวไทย" ซึ่งจะไป "นางงามจักรวาล-Miss Universe" ส่วนมิสไทยแลนด์เวิลด์นั้นไปเวที "Miss World-นางงามโลก" แบบนี้มันก็เป็นนางงามเกรดสองนะซี ไม่เชื่อก็ถามอดีตนางงาม "ลีลาวดี" ดูสิ ว่าจริงหรือไม่ ? สถานที่รับ : รางวัลเสมาธรรมจักร รับที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อยู่กลางกรุงเทพมหานคร ใกล้วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ส่วนรางวัลผู้นำพุทธโลกนั้น มอบกันที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ฮวงจุ้ยเหนือกว่ากันเห็นๆ วันที่มอบ : รางวัลเสมาธรรมจักร มอบให้ในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญอันดับหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า ส่วนวันมาฆบูชาเป็นแค่วัน "ประชุมพระสาวก" เท่านั้น เทียบกันไม่ติดเลย คณะกรรมการคัดสรร : รางวัลเสมาธรรมจักร รับผิดชอบโดยกรมการศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงมีการตั้งคณะกรรมการ มีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ซึ่งมองยังไงก็ใหญ่กว่าคณะกรรมการรางวัลผู้นำพุทธโลก ที่มาจากองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์สังกัดธรรมกายและสำนักพุทธฯเท่านั้น เอาแค่นี้ก็จะเห็นแล้วว่า รางวัลผู้นำพุทธโลก ตกเป็นรองรางวัลเสมาธรรมจักร ในทุกๆ ด้าน ถึงจะตั้งชื่อรางวัลระดับโลกก็ตาม แต่คุณค่าในสายตาคนไทยกลับมองเห็นเป็นรางวัลปลอบใจ ยิ่งหลายท่านที่เคยรับรางวัลเสมาธรรมจักรไปแล้ว จะให้ท่านเหล่านั้นไปรับรางวัลผู้นำพุทธโลกของธรรมกายอีก ถ้าไปรับก็คงไม่ต่างไปจากดาราขาลง เพราะหาที่เวทีแสดงไม่ได้ เขาจ้างให้ไปเล่นตามคาเฟ่ก็ต้องไป เพราะไปเพื่อปากเพื่อท้อง มิได้ไปด้วยเกียรติยศแต่อย่างใด นี่แหละคือ มันสมองของ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักพุทธฯ คนปัจจุบัน ที่สุมหัวกับอีก 3 พระหน่อ วิ่งเข้าไปตะครุบรางวัลผู้นำพุทธโลกของธรรมกายเข้าเต็มปาก พูดก็พูดไม่ออก เพราะว่าถลำตัวเข้าไปแล้ว โง่ไม่พอ ยังตะกละอีก เฮ้อ ! เสียดายเหลือเกิน เกิดมาทั้งที แต่เอาดีไม่ได้ มีตำแหน่งใหญ่กว่าเขา แต่ผลงานกระจอกกว่าเขา ก็สมควรแล้วล่ะครับ ที่จะไปรับรางวัล "ธรรมชัย"
และนี่คือกลุ่มธรรมกายที่เป็นกลุ่มใหญ่สุด ยึดครองรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" ปีแรกไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้ามองให้ขาดก็เห็นได้ชัดว่า ธรรมกายคือเจ้าของโครงการ และเป็นผู้จัดสรรโควต้าให้แก่กลุ่มต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนแบ่งแห่งรางวัลนี้ เพื่อมิให้ผู้คนครหาว่า "เป็นรางวัลของธรรมกาย เพื่อธรรมกาย" เท่านั้น แต่ถึงกระนั้น เมื่อเห็นภาพนับตั้งแต่ "เจ้าอาวาสยันลูกวัด" และอุบาสกอุบาสิกาสายธรรมกาย บางรายได้ยกครอบครัว หรือได้ทั้งพี่ทั้งน้อง เช่นนี้แล้ว จะเห็นเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากจะตั้งชือว่า
รางวัลธรรมกาย หรือ ธรรมกายอะวอร์ด จึงจะถือว่าถูกต้องและซื่อตรง
ว่าแต่ลงทุนทำกันถึงปานนี้แล้ว จะถ่อสังขารไปให้ไกลถึงพุทธมณฑลทำไมเล่า ก็จัดพิธีรับ-จัดเลี้ยงฉลองกันในสภาธรรมกายสากล แบบ Onestop Service ก็จบเรื่องแบบ Take it easy แล้ว ประหยัดออก เสร็จงานแล้ว ก่อนกลับ ก็ให้ทุกรูปทุกคนก้มกราบเท้าเพื่อกราบลา "พระเดชพระคุณพระเทพมหาญาณมุนี หัวหน้าผู้นำชาวพุทธโลก" ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แบบการถวายอดิเรกของราชสำนักไทยไปเลย หรือกลัวว่า ถ้าจัดที่ "สภาธรรมกายสากล" คนที่เชิญเขาจะรู้ทันและไม่ยอมไปร่วมงาน ก็เลย "ขอยืม" พุทธมณฑล เป็นโรงละครโรงใหญ่ให้ธรรมกายเล่นลิเก ถ้างั้นก็น่าเสียดายที่สู้อุตส่าห์สร้างอย่างใหญ่โตระดับโลก มุ่งหวังจะให้เป็น "ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก" ระดับเดียวกับ "กรุงวาติกัน" แต่สุดท้ายก็กลายเป็นแค่ตัวสำรองเท่านั้น รางวัลระดับโลก แต่ไม่จัดพิธีที่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ก็พูดได้คำเดียวว่า "เสียของหมด" ก็ไหนใครเขาว่า ท่านธัมมชโย ชอบลองใจคน ชอบคนจริงใจ แล้วทำไมไม่ใช้โอกาสทองครั้งนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดล่ะครับ เปลี่ยนสถานที่แจกรางวัลเป็นสภาธรรมกายสากลและวัดใจกันไปเลย
ใครไปก็จริงใจ ใครไม่ไปก็จริงโจ้ พวกเรา-พวกเขา มันตัดสินกันง่ายที่สุดตรงจุดนี้
ตามที่ลำดับความมาทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่า การอุปโลกน์รางวัลระดับโลกขึ้นมาของวัดพระธรรมกายในครั้งนี้ น่าที่จะนำเอารางวัลอันสูงส่งนั้นไปมอบแก่บุคคลที่มีผลงานดีเด่น-เอกอุ และเหมาะสมอย่างแท้จริง สมดังอ้างว่าเป็นรางวัล "ผู้นำพุทธโลก" แต่ธรรมกายหาทำอย่างนั้นไม่ นอกจากจะไม่ทำตามสากลนิยมแล้ว ยังกลับเอารางวัลเหล่านั้นมามอบให้แก่ตนเองและพรรคพวก แบบว่าสร้างขึ้นมา "โดยธรรมกายเพื่อธรรมกาย" รางวัลที่ว่านี้น่าจะมีคุณค่าระดับโลกก็กลับกลายเป็น "รางวัลกระจอก ไร้คุณค่า" เพราะว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์มาแต่ต้น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อหลายปีก่อน มีงานประชุมชาวพุทธนานาชาติที่ประเทศศรีลังกา ปรากฏว่า มีพระวัดหนึ่งไปสั่งทำถ้วยรางวัล จากร้านแถวๆ เสาชิงช้า แล้วนำเอาขึ้นเครื่องบินไปศรีลังกา พร้อมๆ กับช่างภาพระดับอาชีพ จากนั้นก็มีการ "สอดไส้" ใส่พิธีมอบรางวัลระดับโลกเข้าไปในรายการ ชงลูกให้ประธานาธิบดีศรีลังกาเป็นผู้มอบรางวัล จับภาพวูบวาบ ปรบมือกันเกรียวกราว แล้วก็ขนเอาถ้วยรางวัลใบนั้นกลับมาเมืองไทยให้ญาติโยมได้ชื่นชม โดยอ้างว่า "รับรางวัลจากผู้นำชาวพุทธทั่วโลก" ทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นถ้วยรางวัลที่ตนสั่งทำไปจากเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์นี่เอง
เป็นรางวัลโดยตัวเอง เพื่อตัวเอง
เรื่องนี้เขาเล่ากันเป็นโจ๊กอินเตอร์ในวงการพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ส่วนญาติโยมของวัดที่ว่านั้นก็ยกมืออนุโมทนา "สาธุ สาธุ สาธุ" กันสนั่นจอ
ผู้เขียนฟังแล้วก็ได้แต่เศร้าใจว่า "เฮ้อหนอ แบบนี้ก็มีด้วย"
|
||||||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
To BK.
peesang2555@hotmail.com
ALITTLEBUDDH.COM HOMEPAGE WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. (702) 384-2264 |