|
||
การเมืองเรื่องคณะสงฆ์ พ.ศ.2556 โดย...พระมหานรินทร์ นรินฺโท
ซ้าย : สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ขวา : พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) วัดยานนาวา
จากซ้ายไปขวา พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 12 กรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะภาค 8 และกรรมการมหาเถรสมาคม พระราชสุตาภรณ์ (ประชัน ฐิตปญฺโญ ป.ธ.5) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ รองเจ้าคณะภาค 14 และเลขานุการสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
ใครเป็นใครในคณะสงฆ์ไทย
พลันที่ทราบข่าวการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 10 สิงหาคม คือเมื่อวานที่ผ่านมา ยังมิทันได้เชิญสรีระสังขารของสมเด็จพระพุฒาจารย์ มาบำเพ็ญกุศลที่วัดสระเกศ สำนักข่าวต่างๆ ก็วิเคราะห์ถึง "ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ว่างลง โดยระบุตรงกันว่า น่าจะเป็นคิวของ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" วัดปากน้ำ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะที่เหลืออยู่ 6 รูปด้วยกัน
หวยเลขนี้คงไม่มีปัญหา เพราะในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้ระบุไว้ว่า
ดังนั้นไม่ว่าจะแทงเจ้าไหน หวยก็ต้องออกที่วัดปากน้ำอยู่ดี เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เขียนล็อกเลขไว้ที่ "ความอาวุโส" ดังกล่าวมานี้ คำว่า "อาวุโส" นั้น หมายถึง อาวุโสโดยสมณศักดิ์ หมายถึงว่า ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อนรูปอื่นๆ โดยแม้แต่ว่า ในปีเดียวกัน ถ้ามีพระราชาคณะรองฯ (รองสมเด็จ) ได้รับการสถาปนาพร้อมกันมากกว่า 1 รูป พระราชาคณะรองฯรูปที่ได้เข้ารับการสถาปนาก่อน ถือว่ามีอาวุโสทางสมณศักดิ์ก่อน ทำนองนาคที่เข้าโบสถ์พร้อมกัน แต่ท่านให้นับนาคเป็นอันดับ 1-2-3 เรียกว่า นาคเอก นาคโท และนาคตรี ฉะนั้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.9) วัดสัมพันธวงศาราม จะมีอายุมากถึง 95 ปี และมีพรรษา 76 พรรษา ก็ตาม แต่เพราะได้รับการสถาปนาในปี พ.ศ.2544 หลังสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์นานถึง 6 ปี (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้รับการสถาปนาในปี พ.ศ.2538) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์จึงไม่ถูกจัดเป็น "พระผู้มีอาวุโสสูงสุด" ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ความจริงแล้ว ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น หาใช่เรื่องที่พระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศไทยให้ความสนใจแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้มิใช่เพราะว่าตำแหน่งนี้ไม่น่าสนใจ คือเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจสูงสุดก็จริง แต่ที่ว่าพระเณรไม่สนใจนั้น เพราะอ่านกฎหมายคณะสงฆ์ก็รู้ได้ทั่วกันว่า "สมเด็จวัดปากน้ำ" ได้เป็นแน่ แบเบอร์ ดังนั้น ความสนใจของพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศไทย จึงหันไปจ้องมองตำแหน่งอื่นๆ ที่ว่างลงอย่างมากมาย เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น หาใช่ดำรงตำแหน่ง "ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" เท่านั้นไม่ หากแต่ท่านยังมีตำแหน่งและยศศักดิ์อีกมายมายไว้เต็มภูเขาทอง อันได้แก่ 1. ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 2. ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก 3. ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม (โดยตำแหน่ง ไม่ต้องแต่งตั้ง) 4. ตำแหน่งประธานกรรมการฝึกอบรมพระภิกษุไปต่างประเทศ 5. ดำรงสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏที่ "สมเด็จพระราชาคณะ" อันเป็นสุดยอดปรารถนาของพระสงฆ์ไทย และ 6. ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง รูปเดียว 6 ตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งก็ใหญ่บะละฮึ่ม แบบว่าใครได้ไปแค่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งก็อิ่มแปล้ไปจนตาย ดังนั้น แม้ว่าตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะตกเป็นของสมเด็จฯวัดปากน้ำไปโดยปริยายก็ตาม ก็ยังมีอีกตั้ง 5 ตำแหน่งที่น่าสนใจ จึงขอวิเคราะห์ว่าใครจะได้ตำแหน่งไหนไปครอง ดังนี้
1. เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปกครองภาคอีสานและภาคตะวันออกไว้ทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่และประชากรมากที่สุดของประเทศไทย ถ้าเป็นการเมืองเรื่องเลือกตั้งละก็ ใครคุมภาคนี้ไว้ได้ก็ถือว่ากุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไว้ในมือ มีสิทธิ์ขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทีเดียว แต่ในทางการเมืองเรื่องคณะสงฆ์ไทยเรานั้น ตำแหน่งนี้ยังเป็นรองตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่หนกลาง" แต่ถึงกระนั้นก็ต้องนับเป็นนัมเบอร์ทูของอภิมหาอำนาจในคณะสงฆ์ไทย ใครๆ ก็อยากเป็น ตำแหน่งนี้มีแคนดิเดทหลายท่าน ที่น่าจับตาก็น่าจะเป็น 2 รูปนี้ ได้แก่
1. พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าคณะภาค 8 เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นศิษย์เอกของพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร ป.ธ.7) ซึ่งมีเกียรติคุณเกรียงไกรมาก สามารถขึ้นครองตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกได้ในขณะเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ และดำรงตำแหน่งจนกระทั่งมรณภาพ พระวิสุทธาธิบดีนั้นมีศิษย์เอกชื่อว่า "สมเด็จพระพุฒาจารย์-เกี่ยว" อยู่วัดสระเกศ และได้เป็นทั้งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกและประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หากพระพรหมเวทีศิษย์อีกรูปหนึ่งของพระวิสุทธาธิบดีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ ก็จะเป็นการสืบทอดอำนาจที่อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรเคยดำรงมาก่อน
2. พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 ซึ่งถือว่ามีเส้นสายใหญ่โตระดับในรั้วในวัง เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะ กทม. และเจ้าคณะภาค 10 ว่างลง ก็มีข่าวว่าท่าน "จะ" ได้รับแต่งตั้ง แต่ก็พลาดทุกครั้ง ครั้งนี้คิดว่าด้วยความอาวุโสสูงสุดในด้านสมณศักดิ์และผลงานที่ไม่เป็นสองรองใครในรุ่นเดียวกัน น่าจะสามารถต่อรองเอาตำแหน่งนี้มาไว้ในครอบครองสำเร็จ
2. ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ตำแหน่งนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ โดยตำแหน่งกับโดยแต่งตั้ง โดยตำแหน่งก็คือ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง คือไม่ต้องแต่งตั้ง แบบว่าเมื่อได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จฯ แล้ว ก็ดำรงตำแหน่งโดยอัตโนมัติ และไม่สามารถลาออกได้ ยกเว้นแต่มรณภาพหรือลาสิกขาบทออกไปเท่านั้น โดยแต่งตั้งก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กำหนดให้มี "กรรมการมหาเถรสมาคมโดยแต่งตั้ง" อีกจำนวน 11 รูป โควต้านี้ปัจจุบันเต็มแล้ว แต่กำลังจะว่าง เพราะเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์มรณภาพ โควต้าโดยตำแหน่งก็ว่าง ซึ่งเมื่อว่าง รองสมเด็จพระราชาคณะ และกรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 11 รูปเหล่านั้น รูปใดรูปหนึ่ง ก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ และเมื่อนั้นก็จะทำให้ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม "โดยแต่งตั้ง" นั้นว่างลง พระราชาคณะนอกทำเนียบกรรมการมหาเถรสมาคมรูปอื่นก็จะได้รับการ "แต่งตั้ง" เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นโควต้าของพระมหานิกาย และโดยปรกติแล้ว จะพิจารณาแต่งตั้งจาก "เจ้าคณะภาค" ซึ่งปัจจุบันนี้ ในฝ่ายมหานิกาย มีเจ้าคณะภาคที่ยังมิได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอยู่มากมายถึง 13 รูปด้วยกัน ได้แก่
1. เจ้าคณะภาค 1 พระราชวิสุทธิเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) อายุ 48 พรรษา 28 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ได้เป็นเจ้าคณะภาคท่ามกลางคำครหาของพระสงฆ์ไทยทั่วประเทศ ว่าได้ดีเพราะผีลุง ตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันยังไม่มั่นคง เพราะมีข่าวว่าจะถูกโยกไปกินภาค 2 แทนพระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส แถมยังมีสมณศักดิ์เพียงชั้นราชเท่านั้น จึงไม่อยู่ในไลน์ที่จะได้รับการพิจารณาครั้งนี้ แค่รักษาเก้าอี้ตัวเดิมไว้ได้ก็นับว่าเก่งแล้ว
2. เจ้าคณะภาค 3 พระธรรมปริยัติโมลี (อาทร อินฺทปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข กรุงเทพมหานคร องค์นี้ก็ดีกรีเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในด้านการศึกษา ถ้าเส้นสายถึงก็คาดว่าน่าจะได้รับการพิจารณา
3. เจ้าคณะภาค 4 พระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตฺตคุตฺโต ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม องค์นี้ก็ถือว่ามีความเพียบพร้อมทั้งด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิ ถ้าไม่ติดที่ว่ามีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ภทฺทจารีมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งอยู่แล้ว ก็น่าจะได้รับการพิจารณา
4. เจ้าคณะภาค 5 พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ว่าโดยคุณสมบัติแล้ว เจ้าคุณสุชาตินั้นมีความพร้อม เพราะเป็นเณรนาคหลวงรุ่นเดียวกับพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อธิการบดี มจร. และเจ้าคณะภาค 2 ซึ่งแซงหน้าขึ้นเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมไปก่อนเพื่อนแล้ว พระพรหมโมลีเป็นที่เจ้าคณะภาค 5 และเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง ซึ่งมีผลงานด้านบาลีเป็นตัวชู เสียแต่อย่างเดียวก็คือ อยู่วัดปากน้ำ ซึ่งปัจจุบันวัดนี้มีกรรมการมหาเถรสมาคมอยู่แล้วถึง 2 รูปด้วยกัน คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และพระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) เจ้าคณะภาค 7 ดังนั้น การที่วัดปากน้ำจะมีกรรมการมหาเถรสมาคมถึง 3 รูปในวัดเดียวกันจึงถือว่ามากเกินไป จังหวะของพระพรหมโมลีจึงไม่สวยเอาเสียเลย
5. เจ้าคณะภาค 6 พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย รูปนี้ถือว่าเป็นพระที่มีผลงานดีเด่น แต่เป็นเจ้าคณะภาคในต่างจังหวัด ซึ่งถ้าไม่มีการตั้งข้อกำหนดเป็นการภายในเอาไว้ว่า "กรรมการมหาเถรสมาคมต้องเป็นพระสังฆาธิการในกรุงเทพมหานครเท่านั้น" ดังนี้ พระธรรมราชานุวัตรก็น่าจะมีโอกาส แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะขนาดพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง มีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ซึ่งใหญ่กว่าเจ้าคณะภาคมากมายนัก ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา นับประสาอะไร ดังนั้นจึงต้องผ่านไป
6. เจ้าคณะภาค 9 พระธรรมวโรดม (สมเกียรติ กิตฺติวฑฺฒโน ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดทินกรนิมิต จังหวัดนนทบุรี รูปนี้ก็เหมือนพระธรรมราชานุวัตร
7. เจ้าคณะภาค 10 พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก พธ.บ.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้รับตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 แบบก้าวกระโดดหรือข้ามห้วย แถมยังพาสชั้นขึ้นเป็นรองสมเด็จฯอีกต่างหาก จะว่าโชคช่วยก็คงไม่ใช่ หากแต่ต้องบอกว่า เจ้าคุณธงชัยรูปนี้ก็มีฝืมือไม่ธรรมดา ห่วงแต่ว่าถ้าไม่มีสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นแบ๊กกราวน์ให้แล้ว จะสามารถแสดงบทบาทได้เหมือนเดิมหรือไม่ คือว่าถ้าได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมในงวดนี้ ก็ต้องยอมรับว่านี่คือของจริง
8. เจ้าคณะภาค 11 พระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ถือว่ามีคุณสมบัติโดดเด่นมากๆ แต่เพราะความมักน้อยสันโดษ ไม่วิ่งไม่เต้น จะได้เป็นกับเขาหรือไม่ เพราะในสังคมสงฆ์ไทยสมัยปัจจุบันนั้น ถ้าไม่วิ่งไปหาก็อย่าหวังว่าเจ้าพระยาจะมาให้ดื่มถึงในห้องนอน ดังนั้น ถ้าหลวงพ่อเที่ยงได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมในงวดนี้ก็ต้องถือว่าเป็นบารมีสมเด็จพระพุฒาจารย์โตเป็นแน่แท้ 9. เจ้าคณะภาค 13 พระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร องค์นี้เคยมาแรงแซงทางโค้ง แรงกว่าเณรนาคหลวง พ.ศ.2519 รุ่นเดียวกัน คือ พระพรหมบัณฑิตและพระพรหมโมลี มาสะดุดอย่างแรงก็ตรงไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร สั่งรื้อพระเจดีย์เก่าแก่ประจำตระกูลทรงอิทธิพลเข้า ถูกฟ้องร้องหลายคดี ถึงจะไม่ทำให้หลุดจากตำแหน่ง แต่ก็แป๊กอยู่กับที่มานาน แถมเมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม มรณภาพไป ก็เหมือนไร้ที่พึ่ง จึงถูกรุ่นเดียวกันแซงหน้าไปหมด ถ้าได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมในงวดนี้ก็ต้องยอมรับว่า ของเขาดีจริง
10. เจ้าคณะภาค 15 พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ องค์นี้ก็ไม่ธรรมดา แบบว่ามีครบทั้งความรู้ความสามารถ และที่สำคัญก็คือ เงินถึง วัดพระปฐมเจดีย์มีเงินถุงเงินถัง สามารถสร้างงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ติดก็แต่อย่างเดียวคือ อยู่ต่างจังหวัด ถึงจะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นเขตนอกกรรมการมหาเถรสมาคม
11. เจ้าคณะภาค 16 พระเทพสุธี (สงคราม อสิญาโณ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดไตรธรรมาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ถือว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง ได้เป็นเจ้าคณะภาคในต่างจังหวัดนั้นท่านถือว่าสุดยอดแล้ว
12. เจ้าคณะภาค 17 อดีตเจ้าคณะภาคคือพระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.9) วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ เพิ่งมรณภาพและพระราชทานเพลิงศพไปไม่นาน ตำแหน่งเจ้าคณะภาคยังว่างอยู่ มีผู้รักษาการคือ พระเทพกิตติเวที (ฉ่ำ ปุญฺญชโย ป.ธ.9) รองเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ก็ลุ้นขึ้นเป็นเจ้าคณะภาคเท่านั้น ส่วนตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมยังไม่หวัง เจ้าคุณฉ่ำอยากจะนั่งเก้าอี้เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรให้เต็มก้นเสียก่อน ถ้าได้ตำแหน่งนี้มา เรื่องกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นถือว่าหมูในอวย
13. เจ้าคณะภาค 18 พระธรรมวงศาจารย์ (นิมิต ทนฺตจิตฺโต ป.ธ.4) เจ้าอาวาสวัดโคกสมานคุณ จังหวัดสงขลา ก็ถือว่าห่างไกลจากขั้วแม่เหล็กมาก คงจะเป็นเจ้าคณะภาคไปจนถึง 80 ปี ซึ่งเป็นกำหนดเกษียนอายุราชการของพระสังฆาธิการไทย ถ้าไม่มรณภาพลงไปเสียก่อน
ก็สรุปว่า มีลุ้นอยู่ 5 ภาค คือ ภาค 3-4-10-11-13 แต่ถ้าจะให้คัดแบบรอบสุดท้ายแล้ว น่าจะเป็นการชิงดำระหว่างภาค 4 กับภาค 11 จริงหรือไม่ก็ต้องคอยดูกันต่อไป
ถามว่า มีดาวหางคือพระที่อยู่นอกวงโคจรที่จะเบียดเข้ามาในวงเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมบ้างไหม แบบพระพรหมสิทธิ (ธงชัย) วัดสระเกศ บินข้ามห้วยจากภาค 9 เข้ามากินภาค 10 น่ะ คำตอบก็คือ น่าจะมี แต่รูปที่ว่านี้ต้องเส้นใหญ่จริงๆ ไม่งั้นก็คงได้แค่ฝัน เพราะข้างในเขาก็เบียดกันจนกระดูกแทบละเอียดแล้ว คนข้างนอกถ้ากระดูกไม่ใหญ่จริงๆ ระดับเส้นสายในรั้วในวังหรือประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชลงมาชงลูกเองแล้ว เซียนพระสมเด็จเมืองไทยส่ายหน้าว่า "ยากส์" ปัจจัยในการชี้ขาดตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมที่ว่างอยู่ คือเราต้องยอมรับว่า ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นเป็น "โควต้ากลาง" ไม่มีการสืบทอดอำนาจเหมือนตำแหน่งทางการปกครอง เช่น เจ้าคณะภาค เป็นต้น ทีนี้ว่า เมื่อผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในการ "ชี้เป็นชี้ตาย" ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช หรือประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ดังนั้น ถ้าหากว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ได้เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มตัวแล้ว ก็จะมองเห็นได้ว่าหวยจะออกที่ใคร คือถึงแม้ว่าสายวัดปากน้ำจะไม่ได้ตำแหน่ง เพราะจะมากเกินไป เป็นการเสียมารยาททางการเมือง แต่การที่สายวัดปากน้ำจะเทคะแนนเสียงให้ใครก็ต้องเข้าใจว่า มิได้ให้กันเปล่าๆ ต้องเข้าใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือมีทางไมตรีต่อกันในระดับตายแทนได้ ไม่งั้นก็อย่าหวัง ส่วนว่า "สายไหน-วัดใด" มีความสนิทชิดเชื้อกับวัดปากน้ำนั้น คงต้องรอการวิเคราะห์ในรอบต่อไป
3. ตำแหน่งประธานกรรมการฝึกอบรมพระภิกษุไปต่างประเทศ ตำแหน่งนี้ดีกรีก็ไม่บันเบา เพราะมีอำนาจควบคุมพระภิกษุสามเณรที่จะไปต่างประเทศไว้ได้ทั้งหมด พระที่ไปต่างประเทศนั้นเรียกว่า "พระธรรมทูต" ไปเมืองนอกเมืองนา ต้องมีทั้งความรู้ เงิน และเส้นสาย แถมเป็นปัญญาชน ดังนั้น ใครได้คุมทางเส้นนี้ไว้ในมือก็ต้องเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างไม่ต้องสงสัย ดูแต่นายกรัฐมนตรีสิ ทำไมต้องวิ่งไปเมืองนอก ตำแหน่งนี้คาดว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์จะควบเก้าอี้เสียเอง เหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์เคยปฏิบัติมา ถือว่าเป็นตำแหน่งประดับบารมี ถ้าหากจะมีองค์อื่นใดได้ไปก็คงต้องฉงนใจกันยิ่งทีเดียว อย่างไรก็ดี ตำแหน่งนี้ ถ้าว่าจะให้เวิร์คจริงๆ แล้ว ก็เห็นจะมีเพียงหนึ่งเดียวที่ควรคู่ นั่นคือ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะภาค 2 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. ซึ่งมีบทบาททางด้านงานเผยแผ่ระดับนานาชาติอย่างโดดเด่นมาตลอด ถ้าพระผู้ใหญ่มองเห็นคนทำงานและมุ่งผลงานจริง ก็คงไม่สามารถจะมองข้าม "พระพรหมบัณฑิต" ไปได้ ได้เจ้าคุณประยูรมานั่งตำแหน่งนี้ ก็ชี้นิ่วได้ทั่วโลก ก็อยู่ที่วัดสมเด็จวัดปากน้ำจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลหรือไม่เพียงใด ถ้าคิดแต่เพียงจะเอาตำแหน่งมาประดับบารมีแล้ว ก็คงเห็นแววว่าการพระศาสนาระดับนานาชาติจะไปไม่ไกล
4. สมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏ หรือสมเด็จพระราชาคณะ สมณศักดิ์ชั้นนี้ต้องพิจารณาจาก "รองสมเด็จพระราชาคณะ" ซึ่งปัจจุบันจะนิยมตั้งราชทินนามว่า "พระพรหม" ถ้าเห็น "พรหม" แล้วก็เชื่อได้เลยว่านั่นคือ "รองสมเด็จ" ปัจจุบันในสายมหานิกาย มีพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จอยู่จำนวนหลายรูป อาทิเช่น 1. พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.4) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน พระธรรมปัญญาบดีนั้น ปัจจุบันมีอายุพรรษาถึง 97 พรรษา เพราะว่าเกิดในปี พ.ศ.2459 อีก 3 ปีก็ครบ 100 ขวบแล้ว เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ไม่มีตำแหน่งการปกครองทางสงฆ์ จึงถือว่าเป็นกิตติมศักดิ์ ถ้าจะได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะก็ต้องไม่มีตัวในมหาเถรสมาคมเลย แต่ว่ายังมีรองสมเด็จฯอีกหลายรูปที่รอคิวอยู่ ดังนั้นเรื่องไม่มีตัวนั้นจึงไม่มี 2. พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะภาค 8 และกรรมการมหาเถรสมาคม ปีนี้มีลุ้นหลายตำแหน่ง ตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏหรือสมเด็จพระราชาคณะ ดังที่กล่าวแล้วว่า ท่านเจ้าคุณสนิทนั้นสนิทกับสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดสระเกศมาก จึงมีคนคาดการณ์ว่าท่านน่าจะเป็น "ทายาท" ของสายวัดสระเกศ เมื่อสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏว่างลงในปี พ.ศ.2554 นั้น คาดว่าท่านน่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่กลับปรากฏว่าถูก "พระพรหมโมลี-สมศักดิ์" วัดพิชยญาติการาม ตัดหน้าคว้าไปทั้งตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางและเป็นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ พระพรหมเวทีจึงถูกข้ามมาแล้วครั้งหนึ่ง มาครั้งนี้ก็ยังถือว่ามีลุ้น 3. พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 และกรรมการมหาเถรสมาคม ปีนี้พระพรหมวชิรญาณมีลุ้นทั้งด้านตำแหน่งและสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏที่ว่านี้ ปีหน้าท่านมีงานใหญ่สร้างวัดนวมินทราชูทิศที่เมืองบอสตันถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มูลค่ามหาศาลถึง 1500 ล้านบาท จะจัดงานฉลองยิ่งใหญ่ระดับโลก ถ้าได้เป็นสมเด็จฯด้วยก็คงจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดในสหรัฐอเมริกาในรอบ 50 ปีทีเดียว 4. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม พระนักปราชญ์ระดับโลกของไทยเรา ไม่เอาเรื่องตำแหน่งหรือยศศักดิ์มาตั้งนานแล้ว แต่ก็มีบรรดาผู้หวังดีต่อท่าน ตั้งคำถามต่อสังคมว่าท่านน่าจะได้เป็นตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้หรือชั้นนั้นชั้นนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ตำแหน่ง "นักปราชญ์" ที่ท่านเป็นอยู่ทุกวันนั่นแหละ คือสุดยอดปรารถนามหาชนอย่างแท้จริง แล้วจะเอาตำแหน่งหรือยศศักดิ์มาครอบอีกทำไม สำหรับผู้เขียนแล้ว "เชื่อว่า" ให้ตายท่านก็ไม่เอาหรอก แต่อย่าเชื่อพระมหานรินทร์เลย 5. พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 12 และกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นทายาทของสมเด็จเกี่ยว ที่สำคัญก็คือ ตีตรายี้ห้อ อย. มิใช่อาหารและยานะ แต่ "อย." นั้น วงการพระเครื่องเขารู้ดีว่ายี่ห้อนี้ขลังมากๆ โดยเฉพาะสายอำนาจในภาคกลาง "อย." ก็คือ "อยุธยา" ว่ากันว่าถ้าเป็นพระสายอยุธยาแล้ว จะช่วยเหลือกันแบบว่าจนคนใต้อายไปเลย แต่สำหรับปีนี้นั้น พระพรหมสุธียังมีอาวุโสต่ำกว่าพระเถระอีกหลายรูปในมหาเถรสมาคม แถมยังต้องลุ้นขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศให้เต็มตัวเสียก่อน เรื่องอื่นค่อยเอาไว้ทีหลัง 6. พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะภาค 7 และกรรมการมหาเถรสมาคม ว่ากันโดยความรู้ความสามารถและความอาวุโสแล้ว เจ้าคุณวิเชียรถือว่าไม่ด้อยกว่าใคร มาติดก็แต่เรื่องเดียวก็คือ ในวัดปากน้ำมีสมเด็จฯอยู่แล้ว นั่นคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ การจะได้เป็นสมเด็จฯรูปที่สองภายในวัดเดียวกันจึงเป็นไปไม่ได้ ก็พูดได้คำเดียวว่า เสียดาย 7. พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโร ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง ตำแหน่งสูงส่งเป็นถึงเจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นรูปแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย และก็เป็นเจ้าคณะใหญ่เพียงรูปเดียวในประวัติศาสตร์เช่นกันที่มิได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ปีนี้พระพรหมจริยาจารย์นั้นเจริญอายุพรรษาถึง 85 ปีแล้ว แต่เพราะตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่นั้นไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเกษียนอายุเมื่อครบ 80 ปี พระพรหมจริยาจารย์จึงอาจจะดำรงตำแหน่งไปเรื่อยๆ จนมรณภาพ ถ้าไม่ลาออกเสียก่อน ส่วนเรื่องจะได้เป็นสมเด็จฯนั้นเลิกหวังเลย 8. พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเอกอุ เคยมีสมเด็จพระสังฆราชมาแล้ว แต่หลังจากสิ้นพระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ.9) แล้ว วัดเบญจฯก็เหมือนเข้าสู่ยุคถดถอย เพราะพระพุทธวรญาณขึ้นดำรงตำแหน่งแบบถืออาวุโส มิใช่ถือความสามารถ แต่เพราะวัดเบญจฯนั้นเป็นวัดใหญ่ จึงทำให้เจ้าอาวาสวัดนี้มีความโดดเด่น แต่เนื่องจากว่าพระพุทธวรญาณไม่เคยดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในระดับสูงมาก่อน จึงไม่อยู่ในไลน์ที่จะได้เป็นสมเด็จฯใหม่ในปีนี้ 9. พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และกรรมการมหาเถรสมาคม ผู้คนรู้จักท่านในชื่อจริงว่า "เจ้าคุณเอื้อน" เป็นชาวอยุธยา ตีตรา "อย." หรามาแต่ไกล บทบาทฉวัดเฉวียนมาก เมื่อเกิดกรณีธรรมกายในปี พ.ศ.2542 นั้น เวลานั้นพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) วัดยานนาวา เป็นเจ้าคณะภาค 1 ส่วนเจ้าคุณเอื้อน ตอนนั้นเป็น "พระเทพสุธี" เป็นรองเจ้าคณะภาค 1 จึงเป็นหนึ่งในองค์คณะพระวินัยธรมีหน้าที่ในการสอบสวนคดีธรรมกาย ที่เรียกเป็นภาษาพระว่า "นิคหกรรม" ต่อมา เมื่อพระพรหมโมลี (วิลาศ) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เพราะดื้อดึงไม่ยอมรับการฟ้องจากคฤหัสถ์ พระเทพสุธีหรือเจ้าคุณเอื้อนก็ได้เลื่อนขึ้นไปรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 โดยอัตโนมัติ พร้อมกับหน้าที่ "ประธานศาลสงฆ์" ตามระเบียบมหาเถรสมาคม แต่กลับปรากฏว่า พระเทพสุธีประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานศาลสงฆ์ โดยไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งควบกับตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะภาค 1 อีกด้วย ทำให้เกิดสุญญากาศทางด้านยุติธรรมในคณะสงฆ์ สุดท้ายสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง จึงสั่งย้ายพระเทพสุธีไปเป็นเจ้าคณะภาค 14 แล้วโยก "พระธรรมโมลี" (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม และเจ้าคณะภาค 15 ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แทน และปัจจุบันวันนี้ พระธรรมโมลีได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์" ควบตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่หนกลาง" มีอำนาจวาสนาล้นฟ้า แบบว่าสูงสุดกว่าใครในคณะสงฆ์ไทยไปแล้ว ส่วนเจ้าคุณเอื้อนนั้น หลังจากถูกโยกไปเป็นเจ้าคณะภาค 14 ก็ไต่เต้าขึ้นเป็น "พระธรรมคุณาภรณ์" ก่อนจะขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะในราชทินนาม "พระพรหมดิลก" ตามด้วยตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งได้รับแต่งตั้งในปี พ.ศ.2553 แต่ครั้นในปีนี้ (2556) เจ้าคุณเอื้อนซึ่งเป็นถึงเจ้าคณะภาคและกรรมการมหาเถรสมาคมอันสูงส่ง กลับยินยอมน้อมตัวลงไปรับตำแหน่ง "เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร" สืบต่อจาก "พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี)" วัดจันทาราม ซึ่งเกษียนอายุไป อันตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครนั้น ก็คือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดดีๆ นี่เอง แต่เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง จึงถือว่าเป็นสุดยอดของเจ้าคณะจังหวัด ถึงกระนั้นก็ยังต้องจัดอยู่ในทำเนียบ "เจ้าคณะจังหวัด" อยู่ดี การที่เจ้าคุณเอื้อนซึ่งเป็นเจ้าคณะภาคยอมลดศักดิ์ศรีลงมาเป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกรณีประวัติศาสตร์ ใช่แต่เท่านั้น ตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพฯนั้น ยังต้องขึ้นกับเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งก็คือพระราชวิสุทธิเวที หรือเจ้าคุณสายชล คนอยุธยา และเป็นลูกศิษย์ของเจ้าคุณเอื้อนด้วย เส้นทางเดินของเจ้าคุณเอื้อนจึงเหมือนจุดเทียนเวียนวน เพราะเป็นตั้งแต่ รองเจ้าคณะภาค 1 รักษาการเจ้าคณะภาค 1 เจ้าคณะภาค 14 กรรมการมหาเถรสมาคม แถมด้วยยศ "รองสมเด็จฯ" ก็ดำดิ่งลงมาเป็น "เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร" อันเป็นตำแหน่งภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าคุณเอื้อนมาแต่เดิมอีกด้วย ถ้าเจ้าคุณเอื้อนมิใช่พระนักปฏิบัติระดับอุกฤษฎ์ที่สามารถละทิ้ง "อัตตาตัวตน" ได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งน่าสรรเสริญแล้ว เจ้าคุณเอื้อนก็คือ "ตัวตลก" ในทางการเมืองเรื่องคณะสงฆ์ไทยเราดีๆ นี่เอง ส่วนว่าจะเป็นแบบไหนนั้นก็ต้องไปถามเจ้าคุณเอื้อนเอาเอง ว่าหมดสิ้นกิเลสตัณหาว่าด้วยยศถาบรรดาศักดิ์แล้วหรือไม่ สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระราชาคณะนั้น ถ้าว่าโดย "ยศ" แล้ว เจ้าคุณเอื้อนก็ต้องนับว่าอยู่ในไลน์ คือสามารถเป็นได้ แต่สำหรับตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ที่เจ้าคุณเอื้อนดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังไม่แน่ใจว่าในอดีต เคยมีเจ้าคณะกรุงเทพฯได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะหรือไม่ ? ถ้าเจ้าคุณเอื้อนได้เป็นก็ต้องนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ แต่ในโลกนี้อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เป็นเจ้าคณะภาคแล้วลงมาเป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นอาจารย์แล้วลงมาเป็นลูกศิษย์ เจ้าคุณเอื้อนก็เป็นหรือทำมาหมดแล้ว แล้วถ้าเจ้าคณะกรุงเทพฯจะเป็นสมเด็จฯบ้าง จะไม่ได้เชียวหรือ เพราะพอได้เป็นสมเด็จฯแล้ว ท่านเจ้าคุณเอื้อนก็อาจจะเล่นกล ขอเป็น "เจ้าคณะตำบลพระนครหลวง" อีกซักครั้ง ก็เป็นได้ เป็นชายก็อย่าดูหมิ่นชาย
10. พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเจ้าคณะภาค 5 ก็ถือว่ามีดีกรีเอกอุรูปหนึ่งในคณะสงฆ์ไทยสมัยปัจจุบัน ท่านเจ้าคุณสุชาตินั้นเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับเจ้าคุณประกอบ (พระธรรมเจดีย์) วัดกัลยาณมิตร และเจ้าคุณประยูร (พระพรหมบัณฑิต) วัดประยุรวงศาวาส เพราะสอบได้ ป.ธ.9 ขณะเป็นสามเณรรุ่นเดียวกันในปี พ.ศ.2519 บัดนี้ก็ไต่เต้าขึ้นมาแทบว่าจะสูงสุดในบรรดาพระราชาคณะไทยแล้ว แต่สำหรับ "คิวทอง" ในปีนี้ เจ้าคุณสุชาติยังไม่สนใจ เพราะรู้ดีว่ายังมี "พระวิสุทธิวงศาจารย์" ครองอาวุโสในชั้นรองสมเด็จฯอยู่ แถมพระวิสุทธิวงศาจารย์ก็ยัง "ติด" สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์อีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าคุณสุชาติจะได้เป็นสมเด็จฯใหม่ในปีนี้ 11. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก พธ.บ.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 10 ได้เป็นเจ้าคณะภาคและรองสมเด็จฯนั้นถือว่าเป็นความสำเร็จสุดยอดของเจ้าคุณธงชัยแล้ว แต่คนเราเกิดมาทั้งทีก็ต้องเอาดีให้ได้ เรื่องอะไรจะหยุดอยู่แค่นี้ หมวกนั้นเขามีไว้สวมหัว มิใช่สวมไหล่ ดังนั้นเรื่องอะไรจะพอใจแค่รองสมเด็จฯ แต่เส้นทางขึ้นสู่สมเด็จฯของเจ้าคุณธงชัยนั้นวันนี้ค่อนข้างสาหัส เพราะติด "พี่เหนาะ" พระพรหมสุธี ที่จะพาสชั้นขึ้นเป็น "เจ้าอาวาสวัดสระเกศ" ในวันพรุ่งนี้ ถ้าเจ้าคุณเสนาะยังไม่ได้เป็นสมเด็จฯ เรื่องที่เจ้าคุณธงชัยจะได้ "สมเด็จ" ก็เห็นจะต้องไปขอที่วัดระฆังเท่านั้น 12. รูปสุดท้าย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะภาค 2 กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. อะไรๆ ก็ดูดีไปหมดสำหรับเจ้าคุณประยูร เสียดายว่าขาดคุณสมบัติสำคัญไป 2 อย่าง คือ 1.ไม่ได้อยู่วัดสระเกศ วัดปากน้ำ วัดชนะสงคราม หรือวัดบวรนิเวศวิหาร และ 2. เป็นชาว "สพ.-สุพรรณบุรี" มิได้ติดยี่ห้อ "อย.-อยุธยา" ถ้ามิเช่นนั้นหมอดูท่านฟันธงไปนานแล้วว่า "เจ้าคุณประยูรได้เป็นสมเด็จไปแล้ว" แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานของเจ้าคุณประยูรนั้น ต้องยอมรับว่าล้ำหน้ากว่าใครในบรรดาพระสังฆาธิการไทยร่วมสมัย ทั้งนี้เพราะมีมหาวิทยาลัย มจร. เป็นฐานที่มั่นนั่นเอง จัดงานวิสาขบูชานานาชาติจนกระหึ่มโลก ผูกสัมพันธ์กับผู้นำชาวพุทธฯทั่วโลก เดินสายไปเทศน์ในสหรัฐอเมริกาเป็นว่าเล่น เป็นทั้งพระนักปกครองและนักบริหารการศึกษา ถ้าจะเทียบในอดีตก็น่าจะเทียบเท่า "สมเด็จพระพุฒาจารย์ อาสภมหาเถร" อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เลยทีเดียว ความที่ไม่ได้อยู่วัดใหญ่ๆ ดังกล่าว แถมไม่ได้ติดยี่ห้อ "อย." จึงไม่มีลูกพี่คอยดึงแขน ทำนองข้าวนอกนาปลานอกน้ำ เส้นทางเดินของเจ้าคุณประยูรจึงทุรกันดาร กว่าจะได้อะไรมาก็ต้องเสียอะไรไป แต่ก็ดีไปอีกอย่าง เพราะเป็นความภาคภูมิใจว่า ได้มาเพราะเหงื่อและหยาดน้ำตาล้วนๆ ส่วนสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฏนั้น ท่านเจ้าคุณประยูรก็รู้ว่า "อาวุโสยังไม่ถึง" จึงไม่ฝันใฝ่ให้เกินตัว ยกเว้นแต่ผู้ใหญ่จะคะยั้นคะยอให้รับ ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันอีกที แหมคนระดับนี้คงไม่มีใครเขายิงหน้าไม้ในเมื่อยังไม่เห็นกะรอก ตำแหน่งสำคัญที่ท่านเจ้าคุณประยูรหมายตาอยู่ในเวลานี้จึงน่าจะอยู่ที่ "ประธานกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ" เสียมากกว่า เพราะถ้าได้ตำแหน่งนี้มา ก็จะหนุนเนื่องมหาจุฬาฯให้โกอินเตอร์อย่างเต้มรูปแบบ และคิดว่า ถ้าลุ้นตำแหน่งนี้ก็คงพอมีหวัง เพราะยังเป็นเพียงตำแหน่ง "ทำงาน" มิใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจวาสนาเหมือนเก้าอี้อื่นๆ โบราณว่า ขอต้องพอประมาณ อย่ามากเกินไป แต่ถ้าขโมยนั้นต้องเอาให้เกลี้ยง จริงไหมครับท่านอธิการบดี ก็หมดแคนดิเดท "สมเด็จพระราชาคณะ" รูปใหม่ในวันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้แล้ว สรุปก็คือว่า คงจะพิจารณากันระหว่าง 2-3 รูปข้างต้นนั้นแหละ ในทัศนะของผู้เขียนแล้วก็เห็นว่า เปลี่ยนกันเป็นตามอาวุโสไปเถอะ ไม่ต้องแย่งกัน ไม่มีใครอยู่เกินร้อยหรอก
5. เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ก็ยังต้องถือว่าเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นฐานชั้นดีที่จะไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งหรือยศสูงสุดในทางคณะสงฆ์ ภายหลังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มรณภาพลงไปแล้ว ในวัดสระเกศมีรองสมเด็จพระราชาคณะอยู่ถึง 2 รูปด้วยกัน ได้แก่ 1. พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6) เป็นเจ้าคณะภาค 12 และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พื้นเพเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน เจ้าคุณเสนาะมีอายุ 56 ปี พรรษา 36 2. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก พธ.บ.) เป็นเจ้าคณะภาค 10 ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พื้นเพเป็นชาวจังหวัดสระบุรี ปัจจุบันมีอายุ 57 ปี พรรษา 37 สองรองสมเด็จฯ อายุ-พรรษา-วิทยฐานะ ไล่เลี่ยกัน อยู่ภายในวัดเดียวกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ต้องแยกย้ายกันไปครองวัด เพื่อไม่ต้องมาผูกแข้งติดกัน ดังสมเด็จพระญาณวโรดมกับสมเด็จพระวันรัต วัดเทพศิรินทร์ หรือแม้แต่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์กับพระพรหมจริยาจารย์ วัดเบญจมบพิตร ก็ติดที่เพื่อนนี่แหละ ว่ากันตามน้ำตามเนื้อ พระพรหมสุธีมีดีกรีดีกว่าพระพรหมสิทธิ เพราะเป็นเจ้าคณะภาคก่อน เป็นรองสมเด็จก่อน แถมปัจจุบันยังเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีกด้วย ส่วนพระพรหมสิทธินั้นมาทีหลัง แต่โบราณว่า "มาทีหลังย่อมดังกว่า" ก็ไม่รู้จะเป็นดังโบราณว่าไว้หรือไม่ อีกไม่กี่อึดใจก็รู้ว่าหมู่หรือจ่า ก็สรุปว่า 5-6 ตำแหน่ง ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) นั้น เหมือนสมบัติกองใหญ่ที่ผู้มีอำนาจวาสนาหามาไว้ประดับบารมี เมื่อสิ้นบารมีก็ย่อมจะกระจายไปหาผู้ที่มีบารมีต่อไป เป็นวัฏจักรของโลกและธรรม คนที่จากไปนั้น ละวางทุกสิ่งแล้ว แม้แต่มือก็ยังแบและหงายออก ส่วนคนที่ยังอยู่นี่สิ กำลังวิ่งเข้าไปไขว่คว้ากันพัลวัน ถึงกับตบตีแย่งชิงกัน นั่นก็เป็นธรรมดาของโลก อย่าแปลกใจไปเลย
6. เลขานุการประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตำแหน่งสุดท้ายนี้ มิใช่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ "เลขานุการ" คือแรกนั้น ท่านเจ้าคุณเสนาะ (พระพรหมสุธี) ท่านมีตำแหน่งเป็นเลขานุการในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) แล้วพอสมเด็จเกี่ยวได้เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ท่านเจ้าคุณเสนาะก็ยกระดับ (อัพเกรด) ขึ้นเป็น "เลขานุการประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ไปด้วย ตำแหน่งนี้ก็คือ "เลขาธิการสมเด็จพระสังฆราช" ดีๆ นี่เอง แล้วจะรู้ว่าใหญ่ขนาดไหน ? ทีนี้ว่า เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์สิ้นบุญไปแล้ว ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นอันสิ้นสุด ตำแหน่งเลขานุการประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นสุดลงไปด้วย และเมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ได้เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ก็ต้องมีผู้สนองงานในตำแหน่ง "เลขานุการประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" รูปใหม่ ซึ่งทุกคนก็คงอยากจะรู้ว่า เป็นใคร ? ในวันนี้จะขอแนะนำ "เลขานุการประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" รูปใหม่ในวัดปากน้ำ ท่านมีชื่อว่า พระราชสุตาภรณ์ ชื่อเดิมคือ พระมหาประชัน ฐิตปญฺโญ ป.ธ.5 เป็นชาวอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะภาค 4 และเป็นเลขานุการในสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์มายาวนาน ตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาค 7 จนเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และจวนจะได้เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในวันพรุ่งนี้
เจ้าคุณประชันนั้นปัจจุบันอายุ 60 พรรษา 40 ก็ถือว่าโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็กแล้ว
เจ้าคุณเสนาะหรือพระพรหมสุธี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะรับตำแหน่งเลขานุการสมเด็จพระพุฒาจารย์ ฉันใด เจ้าคุณประชันก็จะเป็นฉันนั้น เพราะนับตั้งแต่นี้ไป ถนนทุกสายจะมุ่งสู่วัดปากน้ำ อันเป็นสำนักงานประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และตรงนั้นจะมีหลวงพี่ประชันนี่แหละ คอยต้อนรับขับสู้อยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นแม่บ้าน รวมทั้งงาน "เตรียมเอกสารการประชุมมหาเถรสมาคม" ซึ่งจะชงให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้อ่านและเซ็นนั้น ก็ต้องผ่าน "หลวงพี่ประชัน" ชาวเมืองพร้าว องค์นี้
นี่คือ คนที่มีตาทิพย์ สามารถเห็นรายชื่อพระราชาคณะทั่วประเทศไทย ได้เป็นคนแรก ก่อนจะชงบัญชีถวายสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชให้เซ็น เพื่อผ่านไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และนำความขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดฯแต่งตั้ง เป็นด่านสุดท้าย
ใครได้-ไม่ได้ เจ้าคุณประชัน รู้หมด !
หลวงพี่ประชัน หรือพระราชสุตาภรณ์ จึงเป็นดาวรุ่งที่จะมาพร้อมๆ กับพระอาทิตย์ดวงใหม่ ในวงการคณะสงฆ์ไทย และไม่แน่นะ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า พระราชสุตาภรณ์อาจจะทะยานไกลไปถึงตำแหน่งเจ้าคณะภาคใดภาคหนึ่งในภาคเหนือและกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมๆ กับสมณศักดิ์ชั้น "รองสมเด็จ" เหมือนท่านเจ้าคุณเสนาะก็เป็นได้ ใครจะรู้ ?
|
||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท 09:00 P.M. PACIFIC TIME |
E-Mail
ถึง บก.
peesang2555@hotmail.com
All Right Reserved @
2003
alittlebuddha.com วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264 |