OVERHEAT !

ลุยดงแดดอริโซน่า

130 องศา !

 


 

ก็เป็นเหตุการณ์บังเอิญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้เขียน เพราะเกิดมาก็ไม่เคยเจออะไรที่มันสุดๆ แบบนี้มาก่อน นั่นคือการตะลุยดงแดดซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นจุดที่ "ร้อนที่สุดในโลก" วันเวลาที่ว่านี้ก็คือ วันเสาร์ ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2556 ส่วนสถานที่ที่ว่านั้นก็คือ เมืองฟีนิกซ์ รัฐอริโซน่า ถามว่าผู้เขียนไปมาอย่างไรถึงไปอยู่กลางเปลวไฟในวันนั้นได้

 

เรื่องมีอยู่ว่า วันที่ 3 มิถุนายน 2556 ก่อนงานประชุมใหญ่สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ที่วัดไทย ดีซี เพียง 4 วัน  มีอีเมล์จากเมืองไทยถึงวัดไทยลาสเวกัส ข้อความดังนี้

 

 



เรียน พระมหานรินทร์ นรินฺโท

ผมจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ไปพร้อมกับท่านอธิการบดี มจร และคณะ รวม 20 รูป/คน เพื่อร่วมประชุมกับสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดีซี.จากนั้น จะไปบอสตัน และนิวยอร์ค คณะ มจร จะเดินทางกลับเมืองไทย โดยออกจาก New York ในวันที่ 13 มิ.ย. เหลือผมที่ยังจะอยู่ต่อ เพื่อจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนพระธรรมทูตตามวัดต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา

ผมมีกำหนดจะไปเยี่ยมท่านมหาที่ Las Vegas, NV ระหว่างวันที่ 27-30 มิ.ย. โดยในวันที่ 27 มิ.ย. ผมจะบินจาก Utah มาที่ Las Vegas ซึ่งตอนนี้กำลังให้โยมซื้อตั๋วเครื่องบินอยู่ครับ และวันที่ 30 June, 2013 จะบินไป San Francisco ตามกำหนดเวลาที่ผมจะไปเยี่ยมท่านมหานี้ จะเป็นการรบกวนอะไรหรือเปล่า หรือท่านมหากำลังมีงานอะไรที่ไม่สะดวกไหม? ถ้าไม่สะดวกอย่างไร ผมจะได้เปลี่ยนโปรแกรมข้างต้นนี้ได้

 

ด้วยความนับถือ
พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร ดวงคิด)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

 

นี่แหละคือปฐมเหตุเหตุให้ผู้เขียนพลัดหลงเข้าไปในดงแดดอริโซน่าในวันที่ 29 มิถุนายน ดังกล่าว

 

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เจ้าของอีเมล์ฉบับนี้เป็นใคร เพราะในแวดวงพระนิสิตนักศึกษาและครูบาอาจารย์ทั้งในและต่างประเทศ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก "พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์" (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.9 พธ.บ.) ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นพระนักปราชญ์ของประเทศไทยในระดับอินเตอร์ในยุคปัจจุบัน

แต่..คนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะ "พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์" เท่านั้น ส่วนบุคคลสำคัญท่านนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ท่านนั้นก็คือ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ หรือพระอาจารย์อินศร จินฺตาปญฺโญ

ที่ผู้เขียนว่าท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณเป็นบุคคลสำคัญก็เพราะว่า ท่านเป็นพระเลขานุการของหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์นั่นเอง งานตำรับตำราจำนวนมหาศาลที่ผลิตออกมาสู่สายตาของพุทธศาสนิกชน นับตั้งต้นจนถึงปัจจุบันวันนี้ มีชื่อ "พระพรหมคุณาภรณ์" เป็นผู้เขียนก็จริง แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ มีชือ "พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ" เป็นผู้จัดการระบบ ทั้งด้านการประสานงาน การตรวจปรู๊ฟ และตรวจความเรียบร้อยทุกขั้นตอน ก่อนจะส่งถึงมือผู้อ่าน แบบว่าถ้าไม่มีท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณรูปนี้แล้ว งานเขียนของหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นที่เห็นนี้หรือเปล่า ?

แต่ในโลกนี้ล้วนมีความสมดุลอย่างที่เรียกว่า "เทพบันดาล" นักร้องดังๆ นั้น ล้วนมิได้แต่งเพลงเอง แต่เกิดมาก็มี "ครูเพลง" เกิดมาเป็นคู่ ช่วยสร้างงานที่เรียกว่า "ปั้น" นักร้องท่านนั้นให้โด่งดังเป็นดาวค้างฟ้า แม้แต่สมเด็จพระบรมศาสดาในพระพุทธศาสนา ก็ทรงได้อัครอุปัฏฐาก (พระเลขา) มีนามว่า "ท่านพระอานนท์" เป็นคนปรนนิบัติดูและทั้งด้านส่วนตัวและการงานได้อย่างยอดเยี่ยม ส่งผลให้สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสามารถประกาศพระศาสนาได้ยาวนานถึง 45 พรรษา

 

ตำแหน่ง "เลขา" จึงเป็นคนปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง

 

กล่าวได้ว่า "ท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ก็คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์" นี่เป็นคำพูดของพระมหานรินทร์เองนะ ท่านพระครูฯมิได้พูดแต่อย่างใด

เพราะท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณนั้นมีอุปนิสัยอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ "เป็นคนพูดน้อย" อ่อนน้อมถ่อมตน และเก็บเนื้อเก็บตัว ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ออกหน้า ทั้งๆ ที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญในคณะสงฆ์ไทยระดับแนวหน้าท่านหนึ่ง แต่ก็ดังว่า ต้องเป็นครูบาอาจารย์ในแวดวงการศึกษาคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น จึงจะรู้จักท่านพระครูปลัดฯอินศรดี

และจะว่าท่านพระครูปลัดฯอินศร เป็นคนโชคดีมากที่สุดท่านหนึ่งในบรรดาพระสงฆ์ไทยจำนวนกว่า 300,000 รูปก็ว่าได้ นั่นเพราะท่านมีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ผู้เป็นสุดยอดพระนักปราชญ์ไทยในสมัยปัจจุบัน

เรื่องแบบนี้มิใช่นึกอยากจะเป็นก็เป็นได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบมากมายหลายประการ ทั้งเรื่องบุญ เรื่องโชค หรือความเหมาะเจาะลงตัว ทำให้ท่านพระครูปลัดอินศรฯ ได้เข้าไปรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร จนปัจจุบันนี้ท่านมีอายุพรรษามากถึง 60 ปีแล้ว ถึงแม้ท่านพระครูปลัดฯจะติดตามหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์มานานเหมือนเงาตามตัว ท่านจึงรู้เรื่องของหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ดีที่สุดกว่าใคร (ยกเว้นหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์) แต่กระนั้น ท่านพระครูปลัดฯอินศรก็ยังทำตัวเป็น "เด็กน้อย" คอยพินอบพิเทารับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แบบว่าถ้าท่านไม่สั่งก็ไม่กล้าทำ-ทำนองนั้น เรื่องราวของหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ที่จะออกจากปากท่านพระครูปลัดอินศรจึงมีน้อยมาก ต่างไปจากศิษย์พระอรหันต์แก่แดดที่ตะโกนบอกชาวบ้านว่า "อาจารย์ของกูเป็นพระอริยะๆ"

 

กลองดีต้องมีคนตีถึงดัง ถ้าดังโดยไม่ได้ตีท่านว่าเป็นกลองอัปรีย์

กลองประเภทหลังนี้มีให้เห็นเกลื่อนเมืองในยุคปัจจุบัน

ถึงกระนั้น "กลองดี" ก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่คนตาดีเท่านั้นที่เห็น

 

เมื่อได้รับอีเมล์ฉบับนี้ จะไม่ให้ผู้เขียนดีใจได้อย่างไร เพราะนั่นเท่ากับว่า วัดไทยลาสเวกัส ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นถึงระดับปัญญาชนของประเทศไทย แม้ว่าจะมิใช่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ก็ตาม แต่การได้ต้อนรับท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณก็ไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ตอบอีเมล์กลับไปว่า

 


เรียน ท่านอาจารย์ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ


ตามที่ท่านอาจารย์พระครูฯได้แจ้งว่า จะมาเยี่ยมเยือนวัดไทยลาสเวกัส ในระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน ศกนี้นั้น กระผมและพระธรรมทูตวัดไทยลาสเวกัส รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีต้อนรับ เป็นอย่างยิ่งครับ

จึงขอกราบอาราธนาท่านอาจารย์พระครูพร้อมด้วยคณะ (จะกี่รูปก็ได้) มาเยี่ยมวัดไทยลาสเวกัส ตามช่วงเวลาดังกล่าว

โปรดแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนเดินทางมาถึง และขอความกรุณาแจ้งจำนวนพระสงฆ์และผู้ติดตามที่จะเดินทางมาด้วยครับ


เพื่อความสะดวกในการต้อนรับนะครับ

กราบอาราธนาและเรียนมาด้วยความเคารพ
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทยลาสเวกัส
 

 

วันที่ 7-8-9 มิถุนายน ผู้เขียนเดินทางไปประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ที่วัดไทย ดีซี พบท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ เดินทางมาร่วมประชุมด้วย (ตามที่แจ้งมาในอีเมล์) ก็เข้าไปกราบท่าน และอาราธนาท่านด้วยวาจา ครั้นวันที่ 9 ผู้เขียนก็บินกลับมาก่อน

27 มิถุนายน 2556 เวลา 14.30 น. (บ่ายสองโมงครึ่ง) ท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) ก็เดินทางมาตามกำหนดการ ผู้เขียนและ ดร.พระมหาทองจันทร์ สุวํโส เจ้าอาวาสวัดทองธรรมชาติ ลาสเวกัส ไปรอรับที่สนามบิน

ออกจากสนามบินมาแล้ว ก็เรียนถามท่านพระครูปลัดฯว่า "มิทราบว่าท่านอาจารย์เดินทางมาลาสเวกัสในครั้งนี้ มีความประสงค์จะเดินทางไปสถานที่แห่งใดบ้าง จะได้ถวายการต้อนรับได้ถูก" ท่านพระครูปลัดก็ตอบว่า "ก็อยากจะมาเยี่ยมวัดวาอารามแถบนี้นะครับ"

ผู้เขียนก็จึงปรึกษากับท่านอาจารย์ ดร.พระมหาทองจันทร์ ว่า ถ้างั้น วันที่ 28 ถวายโอกาสให้ท่านอาจารย์ ดร.ทองจันทร์ ได้ดูแลท่านพระครูปลัดฯ นิมนต์ท่านไปเยี่ยมเยือนวัดต่างๆ ในเมืองลาสเวกัส ส่วนวันที่ 29 นั้น เราจะพาท่านไปเยี่ยมชมวัดพรหมคุณาราม เมืองฟีนิกซ์ ด้วยกัน เพราะท่านปรารภว่า "เคยไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนมาแล้ว" ก็ตกลงกันตามนั้น

และนั่นแหละคือจุดเชื่อมต่อให้ผู้เขียนได้พาท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณไปเยือนวัดพรหมคุณาราม รัฐอริโซน่า ในเวลา "ร้อนที่สุดของโลก" ดังกล่าว

คณะของเราออกเดินทางกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพราะโทรแจ้งไปยังท่านพระครูวิเทศพรหมคุณ หรือท่าน ดร.พระมหาวินัย ปุญฺญญาโณ เจ้าอาวาสวัดพรหมคุณาราม ว่าจะพาท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณมาเยี่ยมวัด ท่านพระครูวิเทศพรหมคุณก็ออกปากว่า "นิมนต์มาให้ทันฉันเพลนะครับ" ดังนั้น ถ้าจะไปให้ทันเพล เราก็ต้องออกกันเช้าหน่อย เพราะระยะเวลาจากลาสเวกัสไปฟีนิกซ์นั้น อย่างเร็วก็ 4 ชั่วโมง อย่างช้าก็ 5 ชั่วโมง จะไปให้ทันเพลก็ต้องออกตั้งแต่ 6 โมงเช้า นี่ถือว่าสายแล้วนะ

10.57 น. ก่อนเพลเพียง 3 นาที คณะของเราก็ถึงประตูวัดพรหมคุณาราม ท่าน ดร.พระมหาวินัย พร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดพรหมคุณาราม รอต้อนรับยังกะว่าคณะของเราเป็นรองสมเด็จฯ สืบถามก็ทราบว่า ท่านพระมหาวินัยนั้นเป็น "ศิษย์รุ่นน้อง" ของท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ สมัยเรียน มจร. ช่วงระหว่าง พ.ศ.2524-2525 ประมาณนั้น และเคยทำงานหนังสือร่วมกันมาก่อน จึงรู้จักมักคุ้นและเคารพนับถือกันมาไม่เสื่อมคลาย

แหมแบบนี้ผู้เขียนก็ไม่ต้องแนะนำแขกละซี สบายเลยเรา ปล่อยให้สองท่านคุยกันไป ผู้เขียนก็หันไปคุยเรื่องตะไคร้ใบมะกรูดกับพระอาจารย์บุญลือ สนฺตวาโจ ซึ่งเป็นพระธรรมทูตวัดพรหมคุณารามมานานหลายปี

 

อ๊ะ อย่าเสียเวลาเลย เชิญท่านผู้อ่านลุยอริโซน่าฝ่าดงแดดร้อนเป็นไฟด้วยภาพกันเลยดีกว่า

 

กลาง : ท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ บันทึกภาพกับพระวัดไทยลาสเวกัส

 

ท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ เยี่ยมวัดพุทธภาวนา วัดไทยแห่งแรกในลาสเวกัส

 

ซ้าย : ท่านพระครูวิจิตรปุญสาร เจ้าอาวาสวัดพุทธภาวนา

ขวา : พระอาจารย์คำผอง อาภากโร พระธรรมทูตรุ่นที่ 4/2540

 

 

พระอาจารย์ศรีไพร กุสลจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดศรีเจริญธรรม ลาสเวกัส ถวายการต้อนรับ

 

พระประธานวัดศรีเจริญธรรม ลาสเวกัส

 

 

คณะพระธรรมทูตวัดป่าพุทธยานันทาราม ลาสเวกัส

 

 

หน้าโบสถ์หลังใหม่ของวัดป่าพุทธยานันทาราม

 

 

วัดโพธิญาณ ลาสเวกัส

 

แวะชมเขื่อนฮูเวอร์

 

10.57 น. ถึงหน้าวัดพรหมคุณาราม

 

วัดพรหมคุณาราม  เมืองฟีนิกซ์ รัฐอริโซน่า

ดินแดนร้อนระอุที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ระดับที่ว่า เมืองซานเบิร์นยังเรียกพี่

 

ผู้เขียนและคณะเดินทางมาวันนี้ เหมือนหนีร้อนมาเจอร้อน

เพราะลาสเวกัสก็ร้อนระดับดีกรีไม่หนีจากอริโซน่าเท่าใดนัก เรียกพี่เรียกน้องกันได้ถนัด

 

 

ซ้าย : ดร.พระมหาทองจันทร์ สุวํโส เจ้าอาวาสวัดทองธรรมชาติ ลาสเวกัส

ขวา : ท่านพระครูประโชติพัฒนากร (อาจารย์เรียบ) วัดไทยลาสเวกัส

 

ประตูใหญ่วัดพรหมคุณาราม

 

ด้านหลังระบุ สร้างเป็นอนุสรณ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศ

 

พระประธานภายในพระอุโบสถวัดพรหมคุณาราม

 

พระแก้วมรกต

 

กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 

องค์อุปถัมภ์วัดพรหมคุณาราม

 

ภาพพระสงฆ์ที่ถูกฆาตกรรม ณ วัดพรหมคุณาราม ปี พ.ศ.2535

 

ขอคั่นเวลาไว้ตรงนี้ว่า กลางพรรษา พ.ศ.2534 ขณะผู้เขียนกำลังนั่งเรียนหนังสือชั้น ป.ธ.8 อยู่ที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร อยู่นั้น ก็ได้ข่าวดังข้ามโลกว่า เกิดการฆาตกรรมพระไทยในสหรัฐอเมริกา จำนวนมากถึง 6 รูป รวมกับสามเณร แม่ชี และเด็กวัดแล้ว ก็เป็นจำนวนถึง 9 ชีวิต ขณะนั้นเป็นรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ข่าวอึกทึกโครมครั้งนั้น ส่งผลให้ชื่อของ "วัดพรหมคุณาราม อริโซน่า" ดังทะลุฟ้า ในฐานะเป็น "ทุ่งสังหาร" ของพระธรรมทูตไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

 

บันทึกเหตุการณ์มหาวิปโยคจากเว็บไซต์วัดพรหมคุณาราม

 

หนึ่งในพระธรรมทูตที่มรณภาพครั้งนั้น ก็คือ พระอาจารย์บุญช่วย ชยธมฺโม ชาวบ้านห้วยน้ำเย็น อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เลยสะพานข้ามแม่น้ำกกและวัดท่าตอนไปหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งผู้เขียนตอนเป็นเณรได้ชวนกันไปหามะม่วงอร่อยๆ มาชิมอยู่เป็นประจำ

พระอาจารย์บุญช่วยนั้น ผู้เขียนรู้จักท่านดี เพราะท่านเป็นน้องชายของพระมหาสมเจตน์ ชัยราช เจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม อาจารย์ของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเริ่มเรียนนักธรรมและบาลีที่สำนักนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 แม้ว่าในปี 34 นั้นจะลงมาศึกษาที่กรุงเทพฯ ก็ยังคงสังกัดวัดเจดีย์งามอยู่

ก่อนเข้าพรรษานั้น มีงานฉลอง ป.ธ.8 ของผู้เขียนที่วัดเจดีย์งาม ท่านพระอาจารย์บุญช่วย ได้เดินทางมาร่วมงานด้วย ผู้เขียนเข้าไปไหว้และถามถึงการเดินทางมาของท่าน ท่านก็ตอบว่า "จะกลับไปอเมริกาก่อนเข้าพรรษา" มาได้ข่าวอีกทีก็ตอนท่านมรณภาพไปแล้ว นึกแล้วใจหาย เพราะแค่เดือนกว่าเอง !

ผู้เขียนจึงรู้สึกคุ้นเคยกับวัดพรหมคุณารามมาตั้งแต่อยู่ที่เมืองไทย แม้ว่าตอนนั้นจะไม่มีความคิดมาอเมริกาเลยก็ตาม

ศพพระสงฆ์ที่ถูกฆาตกรรมนั้น รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยได้นำกลับเมืองไทย นำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ผู้เขียนก็ไปร่วมงานด้วย และเมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว ก็มีการแยกอัฐิไปบำเพ็ญบุญตามภูมิลำเนาของแต่ละท่าน อาจารย์สมเจตน์ ชัยราช พี่ชาย (ลาสิกขาที่เดนเวอร์ก่อนเกิดเหตุการณ์วิปโยค) ได้นำอัฐิของพระอาจารย์บุญช่วยไปทำบุญที่วัดราชสิงขร แขวงวัดพระยาไกร มีพระอาจารย์สาโรชเป็นประธาน ผู้เขียนพำนักอยู่ที่วัดบางขุนเทียนกลาง ได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมงานด้วย ก็ไม่ขาด จากนั้นเรื่องราวก็จางหายไป เพราะมัวแต่เรียนกับสอบ แถมยังสอบตก ต้องสอบซ่อมอีกหนึ่งปี

พ.ศ.2540 ผู้เขียนเดินทางมาสหรัฐอเมริกา สังกัดวัดธรรมคุณาราม รัฐยูท่าห์ เดือนสิงหากลางพรรษานั้นมีงานวัดมหารำลึกถึงพระสงฆ์ที่ถูกฆาตกรรมและประชุมสมัยวิสามัญของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาที่วัดพรหมคุณาราม ผู้เขียนก็ตามท่านเจ้าอาวาสไปร่วมประชุมเป็นครั้งแรกด้วย จึงได้สัมผัสกับวัดพรหมคุณารามเป็นครั้งแรกเช่นกัน

จากนั้นมาจนถึงวันนี้ 16 ปีแล้วที่ผู้เขียนมาอเมริกา ก็แวะเวียนไปวัดพรหมคุณารามออกบ่อย ทั้งไปประชุม ไปเยี่ยม หรือแม้แต่ไปหาตะไคร้-ใบมะกรูด เพราะวัดนี้มีเนื้อที่มาก ปลูกผักพื้นบ้านไทยได้ผลชงัด วัดไทยลาสเวกัสมีพื้นที่น้อย ก็ต้องอาศัยเพื่อนวัดเพื่อนบ้านเป็นแหล่งอาหาร ซึ่งครูบาอาจารย์ในวัดต่างๆ เหล่านั้นท่านก็เมตตา มาเยี่ยมวัดไทยลาสเวกัสทีไรเป็นขนเอาตะไคร้-ใบมะกรูด มะนาว ฯลฯ สารพัด มาฝากเหมือนรู้ใจ ถ้าพระวัดไทยลาสเวกัสไปเยี่ยมวัดท่าน ก็ต้องออกปากขอผักผลไม้ติดรถมา โดยท่านเมตตาไม่คิดมูลค่าแม้แต่เซ็นต์เดียว  พระธรรมทูตไทยในอเมริกาน่ารักอย่างนี้แหละ

อีกท่านหนึ่งซึ่งไปด้วยกันในวันนั้น คือท่านพระครูเรียบ หรือพระครูประโชติพัฒนากร เป็นเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเริ่มเรียนบาลีที่วัดเจดีย์งาม ก็คุ้นเคยกับพระอาจารย์บุญช่วยเป็นอย่างดี ท่านทราบว่าผู้เขียนจะพาท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณไปเยี่ยมวัดพรหมคุณาราม ก็ขอตามไปด้วย รวมกับท่าน ดร.พระมหาทองจันทร์ สุวํโส วัดทองธรรมชาติ จึงเป็น 4 รูปด้วยกัน

นั่นคือจำนวนที่แจ้งให้ท่านพระครูวิเทศพรหมคุณทราบก่อนออกเดินทาง

ส่วนเรื่องราวฆาตกรรมพระสงฆ์ไทยและคดีความนั้น ผู้เขียนไม่ขอเล่า เพราะค้นหาในเว็บไซต์ต่างๆ ก็มีให้อ่านมากมาย วันนี้มุ่งหมายจะพาท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณไปเยี่ยมวัดพรหมคุณารามอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น

 

 

ภาพวาดพระอาจารย์ไพรัช พฺรหฺมวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมคุณาราม

 

ถ่ายภาพหน้าพระประธานในโบสถ์วัดพรหมคุณาราม

โปรดสังเกตว่ามีพระฝรั่งรวมอยู่ด้วยตั้ง 2 รูป

 

ซ้าย : พระครูวิเทศพรหมคุณ (วินัย ปุญฺญญาโณ Ph.D.) เจ้าอาวาสวัดพรหมคุณาราม

 

ดร.พระมหาวินัย นำท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ดูสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม ซึ่งอยู่ด้านหลังพระประธานในโบสถ์

 

ห้องโถงห้องนี้แหละ จุดสำคัญจุดหนึ่งของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา

นับเวลาเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันวันนี้ ได้ถึง 20 ปีแล้ว

เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ วัดพรหมคุณาราม จะจัดงานวันมหารำลึก ครบรอบ 20 ปี

อย่าลืมไปร่วมรำลึกด้วยกันเด้อ !

 

 

ลงนามในสมุดเยี่ยมของวัดพรหมคุณาราม

 

ท่านพระครูปลัดฯเคยมาวัดพรหมฯ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน วันนี้มาเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2

เรียกเป็นภาษาพระว่า "ทุติยัมปิ" ถ้าครั้งที่สามเมื่อใดก็เป็น "ตะติยัมปิ"

 

วางผ้ามหาบังสุกุล อุทิศบุญกุศลให้แก่ท่านผู้มรณภาพ หน้าอนุสาวรีย์พระอาจารย์ไพรัช (ภายใต้มีอัฐิของทุกรูปบรรจุอยู่)

 

 

นิมนต์พระสงฆ์พิจารณา

 

 

สุคติ สวรรค์ และนิพพาน นิพพานํ ปรมํ สุขํ

 

แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์

 

 

ภาพหมู่

 

ศิษย์พี่-ศิษย์น้อง ของ มจร.

 

ถวายภัตตาหารเพล

 

ศรัทธานาบุญวัดพรหมคุณาราม

อาหารพื้นบ้านมีทั้งผัดกะเพรา ลาบ แกงส้ม น้ำพริกผักสด ผักลวก แถมด้วยขนมจีนน้ำยาอีกชามใหญ่ ใบแมงลักเด็ดสดๆ จากสวน ใบสะเดาอ่อนลวกจิ้มน้ำพริก ขมนิดๆ ติดใจ อุ๊ย เดี๋ยวก็อร่อยจนลืมกลับวัดหรอก

 

เสร็จเพลแล้ว เป็นหน้าที่ของ ดร.พระมหาวินัย เป็นไกด์นำท่านพระครูปลัดฯชมวัด ส่วนผู้เขียนนั้นหันไปคุยกับท่านบุญลือ ได้ตะไคร้ ใบมะกรูด และมะรุม กลับวัดไทยลาสเวกัสสามถุงใหญ่ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ภายในวิหารสมเด็จฯวัดพรหมคุณาราม

 

พระอาจารย์บุญลือ สนฺตวาโจ ผู้จัดการวัดพรหมคุณาราม

 

 

เนื้อที่ 5 เอเคอร์ ประมาณ 13 ไร่

 

กว้างใหญ่ไพศาล แค่สร้างลานจอดรถก็หมดหลายล้านแล้ว

 

จับภาพจากมุมหลังวัด

 

ทิศตะวันตกของวัด

 

หลังสุด

 

ร้อนจัด ร้อนจริงๆ เดินตากแดดไม่ไหว ต้องใช้ร่ม ถึงกระนั้นก็ยังร้อน พ่ะย่ะค่ะ

 

นานๆ มาที ต้องนิมนต์เดินชมให้ทั่วทั้งวัด

 

 

อุณหภูมิแตะ 50 องศาเซลเซียส เกิดมาไม่เคยพบเคยเจอ

 

 

มุมนี้มีอะไรให้ดู ?

 

 

นี่ฮะ ป่าตะไคร้วัดพรหมฯ ปีหนึ่งผลิตได้เป็นตัน คนไทยถ้าอยู่ที่ไหน มีกระเทียม พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และกะปิ เท่านี้ก็รอดตายแล้ว

 

ถามว่า สองต้นสีเขียวซ้าย-ขวานั้นคืออะไร ?

อ๋อ ท่านบุญลือบอกว่า "เจ้าต้นนี้แหละสำคัญนัก"

มันมีชื่อว่า "มะรุม" ทางเหนือเรียก "มะค้อนก้อม" ส่วนอีสานเรียกว่า "ผักอีฮุม"

 ขายได้ทั้งฝักทั้งใบ ร้านเวียตนามต้องการไม่อั้น

เป็นทั้งอาหารและสมุนไพร กินกับข้าวก็ได้ กินเป็นยาก็ดี

 

OASIS แหล่งน้ำกลางทะเลทรายโมฮาวี่ (Mojave Desert)

เจ้าทะเลทรายโมฮาวีนั้น ท่านว่ากินพื้นที่ตั้งแต่รัฐแคลิฟอร์เนีย พาดผ่านรัฐเนวาด้า อันมีลาสเวกัสเป็นเมืองใหญ่ ไล่เข้าไปถึงเขตรัฐอริโซน่า มีเมืองฟีนิกซ์เป็นจุดสำคัญ จุดร้อนที่สุดก็คือ Death Valley (หุบเขาแห่งความตาย) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะสมัยก่อนนั้น มีคนเดินทางไกล แวะพักที่บริเวณหุบเขาแห่งนั้น เกิดไหลตายเพราะขาดอากาศหายใจกันไปมากมาย หุบเหวแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า Death Valley อุณหภูมิปรกติของช่วงนี้ (มิ.ย.-ก.ค) จะอยูที่ 49-50 องศา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2456 หรือ 100 ปีที่ผ่านมา มีบันทึกไว้ว่า อุณหภูมิตรงจุด "Badwater" ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของเดตวัลเลย์ (ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 86 เมตร) วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 57 เซลเซียส หรือ 134 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ว่าวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น ท่านว่าปรอทพุ่งขึ้นแตะ 54 องศา เซลเซียส (130 ฟาเรนไฮต์) ใกล้เคียงกับอุณหภูมิเมื่อ 100 ปีก่อน

ร้อนระอุขนาดนี้ท่านชี้ว่าสามารถทำให้คนช็อกได้ง่าย เพราะหายใจเป็นลมร้อนเข้าไป ในฤดูหนาวหรือต้นฤดูร้อน ผู้เขียนชอบชวนพระวัดไทยลาสเวกัสไปเยือนดินแดนแห่งนี้ จุดสำคัญที่เราไปจอดรถกันก็คือ "Badwater" นั่นแหล เคยถ่ายรูปเอาไว้หลายใบ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

ส่วนที่เมืองฟีนิกซ์ก็ไม่เบา เวลาที่เราเดินชมวัดพรหมคุณารามนี้ อากาศร้อนจี๋ถึง 122 ฟาเรนไฮต์ คิดเป็นไทยได้เท่ากับ 50 องศาเซลเซียส

รูปด้านบนนี้ ดร.พระมหาวินัย ท่านบอกว่า "เป็นอ่างเก็บน้ำกลางทะเลทราย" เหตุผลก็คือว่า วัดต้องซื้อน้ำจากทางเทศบาล ต้องไปจ่ายที่สถานีส่งน้ำแล้วเปิดน้ำตามท่อมาลงที่หลังวัด เขาคิดราคาชั่วโมงละ 7 ดอลล่าร์ น้ำนั้นจะไหลแรงมากๆ เปิดได้แค่ชั่วโมงเดียวก็ล้นลานวัดเหมือนฝนตกห่าใหญ่เสียแล้ว ดร.พระมหาวินัยจึงรู้สึกเสียดายน้ำที่ต้องแห้งหายไปกับสายลม โดยที่ต้นไม้ใบหญ้านั้นไม่มีปัญญาดื่มกิน จึงนำเอาทฤษฎี "แก้มลิง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ให้คนขุดหลุมขนาดใหญ่ กว้าง 3 วา ยาว 5 วา ลึกเกือบ 3 วา เอาไว้เป็นสถานที่เก็บน้ำ ปัจจุบันนั้นขุดไปได้ 3 หลุมแล้ว อนาคตอาจจะเพิ่มมากขึ้น

และนี่คือ โอเอซิสที่ผู้เขียนต้องหันหน้ากล้องขอเก็บภาพเอาไว้ เป็นภูมิปัญญาไทยในสหรัฐอเมริกา ต่อไปคณะรัฐมนตรีไทยอาจจะต้องมาดูงานเรื่องน้ำของวัดพรหมคุณารามก็ได้ เพราะสามารถเก็บน้ำไว้กลางทะเลทรายในอุณหภูมิร้อนที่สุดในโลกได้อย่างน่าพิศวง

 

สีน้ำดำเกือบคล้ำ แสดงถึงระดับน้ำที่ลึกมากๆ

 

 

นี่แหละคือสถานที่ที่ควรโชว์ให้แก่ชาวไทยได้รู้เห็น

 

ดร.พระมหาวิน้ย เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ในวันนี้

 

ร้อนสุดๆ แต่มีตัวช่วย โดยพระอาจารย์บุญลือได้นำเอาเครื่องแก้ร้อนมาถวาย

 

เย็นเจี๊ยบเลยครับ รับรองว่าจะชื่นใจ

 

ถวายทุกรูป แบบนี้เรียกว่าฝนตกทั่วฟ้า เพราะว่าเย็นทั่วทุกตัวคน

 

ดร.พระมหาทองจันทร์ ได้เครื่องดับร้อนแล้ว

 

เห็นไหม ยิ้มแย้มแจ่มใสทุกรูปเลย

 

เครื่องมือดับร้อนวัดพรหมคุณาราม

 

บ่ายโมงกว่า ลาท่าน ดร.พระมหาวินัย หมุนพวงมาลัยกลับลาสเวกัส ผ่านไวท์แทงค์ ผู้เขียนเลี้ยวซ้ายเข้าไป เพื่อชมป่าต้นกระบองเพชรยักษ์ ซึ่งมีที่นี่ที่เดียวเหมือนกัน แรกนั้นก็ลังเลใจว่าจะพาท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณไปดูหรือไม่ดี เพราะอากาศร้อนเหลือเกิน แต่เมื่อเรียนถามความเห็นของท่านแล้ว ก็ตกลงว่า "ไปดูพอให้เห็น" เพราะกว่าจะมาอีกทีก็คงอีกนาน ดังนั้น..

 

 

นี่แหละฮะ ป่ากระบองเพชรยักษ์ มีอยู่เป็นหมื่นๆ ต้น ต้องวิ่งรถดูกันเป็นชั่วโมงจึงจะทั่ว

เจ้าต้นเหล่านี้ ท่านชี้ว่า มันต้องใช้เวลานานหลายร้อยปีจึงจะโตเท่าที่เห็น

จึงเป็นต้นไม้ต้องห้ามมิให้ตัด ผู้ใดฝ่าฝืนก็จะถูกปรับอย่างแพง

 

ทดสอบความร้อน 130 องศา บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก

 

กลับมาถึงวัดไทยลาสเวกัสก็ตกค่ำ เปิดข่าวดูถึงรู้ว่า ช่วงที่เราเดินอยู่ในป่ากระบองเพชรที่ฟีนิกซ์นั้น อุณหภูมิพุ่งขึ้นถึง 50 องศาเซลเซียส ผู้เขียนถึงกับตกใจว่า

 

เราผ่านมาได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อ !

 

 

กราบขอบพระคุณ

พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) วัดญาณเวศกวัน อำเภอบางกระทีก จังหวัดนครปฐม

พระครูวิเทศพรหมคุณ (วินัย ปุญฺญญาโณ) วัดพรหมคุณาราม เมืองฟีนิกซ์ รัฐอริโซน่า

ดร.พระมหาทองจันทร์ สุวํโส วัดทองธรรมชาติ เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาด้า

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทยลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
1 กรกฎาคม 2556

05:55 P.M. PACIFIC TIME

 

 

 
 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
 

 

alittlebuddha.com  วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264