แกะรอย

พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งอธิการบดี มมร.

 

 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงถูกยกไว้ในตำแหน่ง "กิตติมศักดิ์" มิได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547 และนับตั้งแต่นั้น สมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จไปประทับ ณ ชั้นที่ 6 ตึกวชิรญาณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมิได้เสด็จกลับมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารอีกเลย ตำแหน่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงเคยดำรงนั้น ได้รับการสนองงานดังนี้

1. สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รัฐบาลและมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เป็นประธาน ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547

2. เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย มหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์มรณภาพลงในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2550 ตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ย้ายมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) ได้เข้ารับตำแหน่งแทนมาจนกระทั่งปัจจุบัน

3. นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งให้ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เข้าดำรงตำแหน่งแทน ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2554

ดังนั้น คำว่า "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ที่ใช้นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบันนี้นั้น จึงมิได้ลงพระนามโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หากแต่ลงนามโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กระนั้นก็ยังเรียกว่า "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" มิได้เรียกว่า พระบัญชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ดังนี้เลย

 

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ลงมติ "เลือกและเสนอ" ให้พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก ป.ธ.5 M.A.) วัดบวรนิเวศวิหาร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยต่อไปอีก 1 สมัย (4 ปี) ทั้งนี้ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม (และกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร โดยตำแหน่ง) จะเป็นผู้นำเสนอต่อมหาเถรสมาคม เพื่อประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะมีพระบัญชาลงมาตามลำดับ

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง "พระเทพปริยัติวิมล" ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเรียกว่า มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้พระเทพปริยัติวิมล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่ออีก 1 สมัย

โดยในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชนั้น ระบุว่า "ให้พระเทพปริยัติวิมล ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย มมร. นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2554" ก็หมายถึงว่า ให้มีผลย้อนหลังไปเป็นจำนวน 19 วัน !

 เป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ว่าทำไมจึงไม่มีพระบัญชาออกมาก่อนวันที่ 25 ตุลาคม แต่ทำไมจึงล้าหลังไปตั้ง 19 วัน และทำไมจึงให้มีผลย้อนหลังด้วย ทั้งๆ ที่ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ข้อที่ 4 ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "การแต่งตั้งอธิการบดี ให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอและดำเนินการ เพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยให้เสร็จ ไม่น้อยกว่าสามเดือน ก่อนผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง"

"ไม่น้อยกว่า 3 เดือน" คือต้องก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม 2554

นี่ก็ผิดข้อบังคับเป็นข้อแรกแล้ว

ต่อมา เมื่อสภามหาวิทยาลัย ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการสรรหา คือไม่ยอมตั้งกรรมการสรรหาตามที่ข้อบังคับมหาวิทยาลัย มมร. กำหนดไว้ แต่ได้ใช้อำนาจตามมาตราที่ 19 แห่ง พรบ.มมร. ข้อที่ว่า "สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้...(7) พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนอธิการบดี" แล้วก็รวบรัดตัดตอนเอาชื่อของ "พระเทพปริยัติวิมล" ทำเรื่องเสนอให้ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งอธิการบดี มมร.

เหตุผลแห่งการ "รวบรัดตัดตอน" นั้น ก็คงจะมาจาก "ความลักลั่น" ในการปฏิบัติหน้าที่ "นายกสภามหาวิทยาลัย มมร." ของพระมหาเถระ 2 รูป ได้แก่

1. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช) นับจากปี พ.ศ.2540 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2554

2. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ในวันที่ 16 กันยายน 2554

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย มมร. ในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ทั้งๆ น่าจะเป็นสมเด็จพระวันรัต จะได้เรียกประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัย มมร. เพื่อแต่งตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 โน่นแล้ว

แต่..สมเด็จพระวันรัต ไม่ได้ทำ

โยนงานผ่านมาจนถึงมือของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์เมื่อรับตำแหน่ง "นายกสภา มมร." แล้ว ก็จำเป็นต้อง "แก้ไข" ไปตามเหตุปัจจัย เพราะขืนปล่อยไว้ให้นานไป กิจการมหาวิทยาลัยก็จะยิ่งเสียหาย

แต่กลับกลายเป็นว่า "ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง" ดังปรากฏ

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 (หลังจากที่มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ไป 5 วัน) นายบรรณฑูรย์ บุญสนอง ประธานชมรมคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ มมร. ได้ออกมาระบุว่า

"ตนได้รับข้อมูลภายในซึ่งเชื่อถือได้ว่า การเสนอพระบัญชาแต่งตั้งอธิการบดี ได้ถูกยับยั้งและส่งกลับให้สภามหาวิทยาลัยตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการสรรหา เนื่องจากพบว่า ยังไม่ผ่านกระบวนการสรรหาตามบทบัญญัติข้อ 4 แห่งข้อบังคับ มมร. ว่าด้วยการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ที่ระบุว่า การแต่งตั้งอธิการบดี ให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 ตามที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอ และดำเนินการเพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะพ้นวาระ แต่พบว่ายังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว และทางพระเทพปริยัติวิมลกลับเสนอตัวเองในการประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่อย่างใด"

ถ้าข่าวนี้เป็นความจริงก็แสดงว่า การที่สภา มมร. ส่งรายชื่อพระเทพปริยัติวิมล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. เป็นสมัยที่ 2 นั้น ถูกตรวจสอบและยับยั้ง โดยประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ และมีการ "ส่งเรื่องคืน" มายังสภา มมร. อีกด้วย

แต่มีข้อที่น่าสนใจอยู่ก็คือว่า มีการส่งเรื่องคืนจริงหรือไม่ ถ้าหากว่ามีการส่งเรื่องคืนจริง ก็ต้องถามต่อไปว่า ทางประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มีคำถาม-ถามต่อทางสภา มมร. ว่าอย่างไร ซึ่งเป็นเหตุผลในการ "ส่งเรื่องคืน"

เพราะถ้าดูระยะช่องว่างระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่สภา มมร. ลงมติเลือกพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ลงนามในพระบัญชาแต่งตั้งอธิการบดี มมร. ตามที่สภามหาวิทยาลัย มมร. เสนอไป ก็เป็นเวลานานถึง 1 เดือน กับอีก 1 อาทิตย์เต็มๆ

ถ้ามองว่า กระบวนการเสนอพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. นั้น เป็นไปโดยปรกติ ก็ไม่น่าจะใช้เวลานานถึง 37 วัน อย่างมากก็ไม่น่าจะเกิน 1-2 อาทิตย์ ก็ต้องมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชลงมาแล้ว

แต่การที่มีการถ่วงเวลาให้นานถึง 5 อาทิตย์ ดังข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมานั้น ก็แสดงให้เห็นว่า "มีการทักท้วงจากประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" จริง !

แต่ที่จริงยิ่งกว่านั้นก็คือว่า เมื่อทางสภามหาวิทยาลัย มมร. ได้รับเรื่องที่ส่งคืนมาจากทางประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้ว ได้ดำเนินการอย่างไร คือว่าได้ชี้แจงอย่างไร จึงเป็นเหตุเป็นผลให้ทางประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ ยินยอมลงนามในพระบัญชาแต่งตั้งให้พระเทพปริยัติวิมล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. เป็นสมัยที่ 2 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2554

และอยากจะถามว่า ใคร ? ที่อาสาเป็นทนายแก้ต่างแทนสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้อาสาไปชี้แจงต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ จนยินยอมลงนามในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคำถามนี้ยังแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ

1. ทางนายกสภา มมร. คือสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้ดำเนินการชี้แจงด้วยตนเอง หรือได้ลงนามในหนังสือชี้แจงด้วยตนเองไปยังสมเด็จพระพุฒาจารย์

2. นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม และเป็นกรรมการสภามหามกุฏราชวิทยาลัยโดยตำแหน่ง เป็นทั้งผู้ลงมติเห็นชอบให้พระเทพปริยัติวิมลดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่ออีกหนึ่งสมัย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสรรหาเหมือนครั้งแรกที่ผ่านมา และเป็นทั้งบุรุษไปรษณีย์นำเอาหนังสือเสนอแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมล ไปถวายยังสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งอธิการบดี มมร. ตามที่สภามหาวิทยาลัย มมร. เสนอขึ้นมา

เชื่อว่า นายนพรัตน์ น่าจะเป็นคนที่รู้เส้นสนกลในของเรื่องนี้ดีที่สุดกว่าใคร รู้เรื่องตั้งแต่วัดราชบพิธ วัดบวรนิเวศวิหาร ไปถึงวัดสระเกศภูเขาทอง มิเช่นนั้นคงไม่ออกมาให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ว่า "การแต่งตั้งพระเทพปริยัติวิมลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. เป็นสมัยที่สองนั้น ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบมหาวิทยาลัย มมร. แล้วทุกประการ !"

ซึ่งนั่นก็ยังหมายถึงด้วยว่า ผู้ที่ขันอาสาเป็นทนายชี้แจงแทนสภามหาวิทยาลัย มมร. จนเป็นผลให้ทางประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเชื่อและยินยอมลงนามในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้พระเทพปริยัติวิมลดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. ต่อไปนั้น หาใช่อื่นไกลไหนเลย

 

 

คือ..นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์

ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย โดยตำแหน่ง

และ เลขาธิการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง

เป็น "น.นพรัตน์" นั่นเอง ที่วางยาจน สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัย มมร. เสียมวย และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เสียเครดิตย่อยยับอยู่ในวันนี้

เพราะนี่เป็น "ครั้งแรก" ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย ที่ "พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" ไร้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์

ลงนามในพระบัญชาไปแล้ว

แต่ไม่มีผล กลายเป็นโมฆะ !

 

ใครที่สามารถหลอกล่อให้ระดับปรมาจารย์ทั้งสองนิกายต้องเสียศูนย์ได้นั้น ต้องนับว่าไม่ธรรมดา

 

แต่ไม่รู้ว่า จะหารางวัลอะไรให้ ?

เอาฉายา "ลิงหลอกเจ้ายุคไอโฟน" ไปก่อนก็แล้วกัน

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
26 กันยายน 2555
09
:00 P.M. Pacific Time.

 

 

 
 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
 

 

alittlebuddha.com  วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264