สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
(อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

 

 

 

แกะรอย

มติสภา มมร. เลือกและเสนอแต่งตั้งอธิการบดี มมร.

 

เขียนเรื่อง "เหตุเกิด ณ มมร." ไปเมื่อหลายวันก่อน ผู้เขียนก็กลับไปอ่านข่าวทบทวนอีกหลายรอบ จนเห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อท่านผู้อ่าน สิ่งที่ว่านี้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับ "เส้นทางพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช" เกี่ยวกับตำแหน่งอธิการบดี มมร. ที่ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในแวดวงมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอยู่ในเวลานี้ เอาละ ไม่พูดพล่ามทำเพลงละ จะขอนำเสนอดังต่อไปนี้

 

พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก ป.ธ.5 M.A.) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับการสรรหาและมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นเทอมแรก ในวันที่ 25 เดือนตุลาคม พ.ศ.2550 ดำรงตำแหน่งจนครบเทอม คือ 4 ปี ตามมาตรา 25 ของ พรบ.มมร. ที่ระบุว่า "อธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี" ดังนั้น วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2554 จึงเป็นวันสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของพระเทพปริยัติวิมล

ข้อบังคับ มมร. ข้อที่ 4 มีบทบัญญัติว่า "การแต่งตั้งอธิการบดี ให้นายกสภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเสนอและดำเนินการ เพื่อกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยให้เสร็จไม่น้อยกว่าสามเดือน ก่อนผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง"

แต่กลับปรากฏว่า ทางสภา มมร. มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ มมร. ข้อที่ 4 นี้แต่อย่างใด ปล่อยปละละเลยให้วันเวลาผ่านไป จนกระทั่งวันที่ 7 ต.ค. พ.ศ.2554 ข่าวว่า ทางสภา มมร. ได้ประชุมและลงมติเลือกให้ "พระเทพปริยัติวิมล" ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีก 1 สมัย ทั้งนี้ จะได้มีการนำเอามติสภามหาวิทยาลัย มมร. ขึ้นทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงมีพระบัญชาต่อไป

ถามว่า เหตุใดทางสภามหาวิทยาลัย มมร. มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่ทุกรูปทุกองค์และทุกคนทุกท่านในกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็ล้วนแต่อ่านข้อบังคับผ่านตากันมาแล้วทั้งสิ้น ?

เราจึงต้องย้อนมองการเข้ามาดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ว่าเป็นอย่างไร

ตำแหน่ง "นายกสภา" มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ.2531 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก 1 ปี และทรงดำรงตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนาน

แต่ตั้งแต่ พ.ศ.2545 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2547 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกประกาศแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.) วัดสระเกศ เป็นประธาน

วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2547 มหาเถรสมาคม ได้ลงมติให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2549 มหาเถรสมาคม ได้ต่ออายุในตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายให้แก่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) อีก 1 สมัย

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2550 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ได้ถึงแก่มรณภาพ ส่งผลให้ตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายว่างลง

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2550 มหาเถรสมาคมได้ลงมติให้ "พระพรหมมุนี" (จุนฑ์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย แทนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ที่มรณภาพไป

พระพรหมมุนีนั้น ปัจจุบันคือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร

นั่นคือตำแหน่ง "เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย" ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

อีกตำแหน่งหนึ่งก็คือ "นายกสภา" มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ซึ่งตำแหน่งนี้แต่เดิมก็เป็นของ "สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช" อีกเช่นกัน

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2554 มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้ง "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ให้ดำรงตำแหน่ง "นายกสภา" มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งพระบัญชานั้นลงนามโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ถามว่า ก่อนหน้านั้น คือนับตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมีการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชให้ปฏิบัติหน้าที่แทน รวมทั้งตั้งรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายอีกด้วยนั้น สำหรับตำแหน่ง "นายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย" มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

หมายถึงว่า ได้มีการแต่งตั้งใครให้ดำรงตำแหน่งนี้แทน เพราะ 2 เพราะ คือ

1. เพราะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มิได้ทรงงานในตำแหน่งต่างๆ มานับตั้งแต่ พ.ศ.2545 แล้ว

2. เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ให้รายชื่อว่า ท่านผู้ใดคือนายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นมาในปี พ.ศ.2540 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 51 ก. หน้า 4 วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540)

โดยในบทเฉพาะกาลของ พรบ. ฉบับนี้ ให้เวลาแก่มหาวิทยาลัย มมร. ในการแต่งตั้งนายกสภารูปใหม่ และสรรหาอธิการบดีรูปใหม่ ไว้เป็นเวลา 1 ปี ดังนี้

 

บทเฉพาะกาล

มาตรา 61 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง และเงินอุดหนุนของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ไปเป็นของมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 62 ส่วนงานของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้คงอยู่ต่อไป จนกว่าจะได้ออกข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยจัดตั้งส่วนงานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 63 ให้อธิการบดี และรองอธิการบดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดีขึ้นใหม่ ตามมาตรา 25 ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 64 ในระยะเริ่มแรก ให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการ สภามหาวิทยาลัย และเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และเลขานุการสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจนกว่าจะได้มีสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา 17 ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

ถ้าอาศัยบทเฉพาะกาลเหล่านี้มากำหนดระยะเวลาการมีนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. และอธิการบดี มมร. แล้ว ก็ตีซะว่า ไม่เกินวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2541 จะต้องมีนายกสภา มมร. และอธิการบดี มมร. รูปใหม่ หรือจะรูปเก่าก็ได้ แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งและสรรหาตามที่กำหนดไว้ใน พรบ.มมร. และข้อบังคับของ มมร. ว่าด้วยการแต่งตั้งอธิการบดี

สำหรับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540 เป็นต้นมา มีพระภิกษุเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้วจำนวน 3 รูปด้วยกัน ได้แก่

1. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) วัดมกุฏกษัตริยาราม

2. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม

3. พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก ป.ธ.5 ศน.บ. M.A.) วัดบวรนิเวศวิหาร

ส่วนตำแหน่ง "นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" นั้น ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเข้ามาดำรงตำแหน่ง มีเพียงพระนามของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เท่านั้นที่ยังทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ดูได้จากข่าวของ มมร. วันที่ 20-21 เมษายน พ.ศ.2551 มีงานทักษิณานุปทาน ปรารภเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชครบ 19 ปี ทั้งนี้เนื้อข่าวยังระบุด้วยว่า ในปี พ.ศ.2551 นั้น สมเด็จพระญาณสังวรยังทรงดำรงตำแหน่ง "นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" อยู่

แล้วไปดูในประวัติสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.9) วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งถือว่ามีบทบาทมากรูปหนึ่งในมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ได้เป็นเพียง "อุปนายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย"

สมเด็จพระญาณวโรดม มรณภาพในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 และหลังจากนั้นก็ปรากฏชื่อของ "สมเด็จพระวันรัต" (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร เข้ามาดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัยแทน

ส่วนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.5) วัดมกุฏกษัตริยาราม นั้น ก็ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ "เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย" และอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นก็คือ "อธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัย" ซึ่งเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์มรณภาพลงไปในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2550 จึงเป็นปีที่พระเทพปริยัติวิมลได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นเทอมแรก

จึงสรุปได้ว่า นับจากวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยบังคับใช้ถึงปัจจุบันนี้ มหามกุฏราชวิทยาลัยมีนายกสภามหาวิทยาลัยเพียง 2 รูป คือ

1. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

2. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

 

แล้วถามว่า นับตั้งแต่ พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2554 เป็นเวลานานถึง 14 ปี ใครเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย คำตอบก็คือ มาตรา 17 แห่ง พรบ. มมร. ข้อที่ว่า "ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้" ก็สรุปว่า ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 นั้น นายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ก็คือ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร นั่นเอง

 

ดังลำดับความมาฉะนี้

 

ดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ลงนามโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 9 เดือนกันยายน พ.ศ.2554 ที่ผ่านมานั้น จึงมี 2 ความหมาย ได้แก่

1. เป็นการแต่งตั้งให้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นครั้งแรก ซึ่งข้อนี้ทางผู้ใหญ่ในธรรมยุติกนิกายคงจะพิจารณาแล้ว เห็นว่า ไหนๆ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก็ทรงถูกยกไว้ในฐานะ "กิตติมศักดิ์" พ้นเสียจากโลกธรรมทั้งปวงแล้ว ดังตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ดี เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายก็ดี ก็มีการรับสนองงานด้วยการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายมานานแล้ว ทำให้งานทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี เหลือเพียงตำแหน่งเดียวคือนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. เท่านั้น ที่ยังคาราคาซังอยู่ ในอดีตนั้นไม่มีปัญหาว่าด้วยตำแหน่งอธิการบดี จึงยังคงพระนามสมเด็จพระสังฆราชไว้ กิจการมหาวิทยาลัยก็ไม่เสียหาย แต่บัดนี้มีปัญหาในตำแหน่งอธิการบดีแล้ว ไหนๆ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็ทรงงานไม่ได้แล้ว จึงเห็นควรตั้งพระมหาเถระรูปอื่นขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเจริญรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยต่อไป ซึ่งนี่เป็นการมองในแง่บวกนะ

2. ส่วนแง่ลบนั้นก็แสดงให้เห็นว่า มีการปลดสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งการปลดครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามแล้ว ครั้งแรกก็คือ ปลดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช โดยการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชขึ้นมา ครั้งที่สองก็คือ ปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย โดยแต่งตั้งให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน และเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์มรณภาพ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ก็เข้ารับตำแหน่งแทนโดยไม่เก้อเขิน ดังนั้น การปลดสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในครั้งที่สามนี้ จะว่าเป็นการปลดเฉยๆ ก็คงไม่ได้ แต่อาจจะเรียกได้ว่า "ปลดระวาง" ไปเลย เพราะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นั้น ทรงเจริญพระชนมายุยืนถึง 100 ปีแล้ว เหลือเพียงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเท่านั้นเองกระมังที่ยังไม่ถูกปลด

 

ข้อที่ควรสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือว่า

1. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. เป็นครั้งแรก ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2554

2. พระเทพปริยัติวิมล ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. เป็นสมัยที่ 2 ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2554

 

การแต่งตั้ง "พระเทพปริยัติวิมล" ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เป็นสมัยที่ 2 จึงเกิดขึ้นในช่วงที่ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ชัดเจน แน่นอน !

 

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 มีวาระการประชุมสภามหามกุฏราชวิทยาลัย ระเบียบวาระที่ 5 วาระที่ 5.8 เรื่อง การแนะนำรายนามพระสงฆ์ผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุกราชวิทยาลัย ซึ่งในวันนั้น สภามหามกุฏราชวิทยาลัยได้ลงมติเลือกให้ "พระเทพปริยัติวิมล" ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย มมร. อีกหนึ่งสมัย โดยไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาแต่อย่างใด ?

เป็นการทำงานครั้งแรกในการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์

เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงเบ้อเริ่มเทิ่ม ของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งๆ ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ มือกฎหมายระดับประเทศ นั่งประชุมกันเต็มสภา มมร.

หรือจะเป็นการต้อนรับเจ้านายใหม่ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" ในฐานะนายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย

 

ถ้ามิใช่โรค "อุปาทานหมู่" แล้ว

ก็ขอถามว่า

ใครบังอาจ "วางยา" สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ?

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
24 กันยายน 2555
09
:00 P.M. Pacific Time.

 

 

 
 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
 

 

alittlebuddha.com  วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264