ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ... (2544)

 

 

ร่าง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. .....
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

ให้ไว้ ณ วันที่ .. เดือน..... พ.ศ. ....
เป็นปีที่ .... ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ พระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 และมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.....”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“คณะสงฆ์” หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร

“คณะสงฆ์อื่น” หมายความว่า บรรพชิตจีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย

“นิคหกรรม” หมายความว่า การดำเนินการตามพระธรรมวินัยเพื่อลงโทษแก่พระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย

“พระราชาคณะ” หมายความว่า พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ

“สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกันให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน

มาตรา 5 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ ของพระภิกษุในคณะสงฆ์

มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมและมหาคณิสสร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 


 

หมวด 1
สมเด็จพระสังฆราช

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาคณิสสร

มาตรา 9 ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่ง หรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือตำแหน่งอื่นใด ตามพระราชอัธยาศัยก็ได้

มาตรา 10 ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ปฏิบัติหน้าที่แทน

ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้นายกรัฐมนตรี ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรานี้ ในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา 11 สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

1. สิ้นพระชนม์
2. ทรงพ้นจากความเป็นพระภิกษุ
3. ทรงลาออก
4. ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

 


 

หมวด 2
มหาเถรสมาคม

มาตรา 12 มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอีกจำนวนไม่เกิน 13 รูป พระภิกษุผู้ที่จะได้รับบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ต้องเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป

มาตรา 13 ให้เลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

มาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 15 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 14  กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

1. มรณภาพ
2. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
3. ลาออก
4. สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก

ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่งตามความในวาระของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา 16 การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามมาตรา 12 และการให้กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 15 ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

มาตรา 17 มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระสังฆราชในการบัญชาการคณะสงฆ์
2. ให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนการปกครองคณะสงฆ์ตามที่มหาคณิสสรเสนอ
3. ให้ความเห็นชอบในการตรากฎมหาคณิสสร ข้อบังคับ ระเบียบ ของมหาคณิสสร ตามที่มหาคณิสสรเสนอ
4. พิจารณารายนามพระสังฆาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูล ทรงสถาปนาสมณศักดิ์ ให้ความเห็นชอบรายนามพระสังฆาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูล ทรงตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ ตามที่มหาคณิสสรเสนอ
5. ให้คำแนะนำในการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 18 ในกรณีที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป้นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

มาตรา 19 การประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมต้องมีกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการโดยการแต่งตั้ง รวมกันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุ

ระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมหาเถรสมาคม

มาตรา 20 ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา 15 วรรคสอง ให้ถือว่ามหาเถรสมาคมมีกรรมการเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ในขณะนั้น

 


 

หมวด 3
มหาคณิสสร

มาตรา 21 สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะพระราชาคณะเป็นคณะกรรมการมหาคณิสสร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยประธานกรรมการรูปหนึ่ง รองประธานกรรมการ 2 รูป และกรรมการรวมไม่เกิน 21 รูป

พระภิกษุผู้ที่จะได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาคณิสสร ต้องเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป

มาตรา 22 ให้เลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาคณิสสรโดยตำแหน่ง และสำนักเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นสำนักเลขาธิการมหาคณิสสร

มาตรา 23 กรรมการมหาคณิสสรอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 24 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 23  กรรมการมหาคณิสสร พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

1. มรณภาพ
2. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
3. ลาออก
4. สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
ในกรณีที่กรรมการมหาคณิสสรพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน กรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา 25 การแต่งตั้งกรรมการมหาคณิสสรตามมาตรา 21 และการให้กรรมการมหาคณิสสรพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 24 ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

มาตรา 26 มหาเถรคณิสสรมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
2. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
3. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
4. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
5. วินิจฉัยอุทธรณ์ของพระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคคหกรรมถึงขั้นให้สละสมณเพศ วางหลักเกณฑ์ในการดูแลและจัดการศาสนสมบัติกลาง
6. กำหนดกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
7. ให้คำแนะนำในการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
8. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

เพื่อการนี้ ให้มหาคณิสสรมีอำนาจออกข้อบังคับ วางระเบียบ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม หรือออกคำสั่ง มีมติ ออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้ภิกษุรูปใด หรือคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ ตามมาตรา 30 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาคณิสสรจะตรากฎมหาคณิสสร โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดนโยบายหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้

พระภิกษุสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศ ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ

มาตรา 27 เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาคณิสรจะตรากฏมหาคณิสรโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดนโยบายหรือวิธีลงโทษทางการปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้

พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งลงโทษ

มาตรา 28 การประชุมกรรมการมหาคณิสสรต้องมีกรรมการรวมกันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุ

ระเบียบการประชุมมหาคณิสสร ให้เป็นไปตามกฎของมหาคณิสสร

มาตรา 29 ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการมหาคณิสสรแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา 24 วรรคสอง ให้ถือว่ามหาคณิสสรมีกรรมการเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ในขณะนั้น

มาตรา 30 สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามมติมหาคณิสสร โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อมหาคณิสสร และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาคณิสสรมอบหมาย โดยขึ้นตรงต่อมหาคณิสสร

การจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ การแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการหรืออนุกรรมการ และระเบียบการประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบของมหาคณิสสร

มาตรา 31 มหาคณิสสรจะออกข้อบังคับเพื่อจัดตั้งสำนักกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้ ข้อบังคับจัดสำนักตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดคณะผู้รับผิดชอบอำนาจหน้าที่และวิธีการบริหารด้วย ข้อบังคับตามมาตรานี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแล้วให้ใช้บังคับได้

 


 

 

หมวด 4
การปกครองคณะสงฆ์

มาตรา 32 พระภิกษุสามเณรต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาคณิสสร
การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรคณิสสร

มาตรา 33 เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์

เมื่อมหาคณิสสรเห็นสมควร จะให้มีรองเจ้าคณะใหญ่ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆด้วยก็ได้

การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร

มาตรา 34 การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครอง ดังนี้
1. ภาค
2. จังหวัด
3. อำเภอ
4. ตำบล

จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร
 

มาตรา 35 การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับดังต่อไปนี้
1. เจ้าคณะภาค
2. เจ้าคณะจังหวัด
3. เจ้าคณะอำเภอ
4. เจ้าคณะตำบล

เมื่อมหาคณิสสรเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้นๆ ก็ได

เจ้าคณะและรองเจ้าคณะตามมาตรา 33 และมาตรา 35 เป็นพระสังฆาธิการ

ให้มีสำนักงานของเจ้าคณะชั้นนั้นๆ

มาตรา 36 การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ พระสังฆาธิการ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร

 


 

 

หมวด 5
นิคหกรรมและการสละสมณเพศ

มาตรา 37 พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรม ก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงแก่ภิกษุก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย

มาตรา 38 ภายใต้บังคับมาตรา 37 มหาคณิสสรมีอำนาจตรากฎมหาคณิสสร กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้นิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาคณิสสรจะกำหนดในกฎมหาคณิสสร ให้มหาคณิสสรหรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใด เป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่ผู้ภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย กับทั้งการกำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใดๆ นั้นด้วย

มาตรา 39 พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา 40 เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา 38 ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
2. ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ
3. ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
4. ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
5. ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร

พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

คำวินิจฉัยของมหาคณิสสรเป็นอันถึงที่สุด

มาตรา 41 พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

มาตรา 42 พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตน แล้วแต่กรณี รับมอบตัวไว้ควบคุม

ถ้าเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่ยอมรับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนและเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตน แล้วแต่กรณี เชื่อว่าพระภิกษุรูปนั้นจะหลบหนี หรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

การสละสมณเพศตามความในวรรคก่อน เมื่อปรากฏว่าพระภิกษุรูปนั้นมิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และในระหว่างเวลาที่ถูกให้สละสมณเพศยังปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัย ให้ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ

มาตรา 43 เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขัง พระภิกษุรูปใด ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

 


 

 

หมวด 6
วัด

มาตรา 44 วัดมีสองอย่าง
1. วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
2. วัดที่ได้ประกาศตั้งเป็นวัดแล้ว ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป

มาตรา 45 การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณียุบเลิกวัด ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิก ให้ตกเป็นศาสนสมบัติกลาง

มาตรา 46 วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด ให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดนั้น รวมทั้งที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย ในระหว่างที่ยังไม่ยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น ให้ตกเป็นศาสนสมบัติกลาง
การยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 47 ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้
1. ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น
2. ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
3. ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา

มาตรา 48 การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง

การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาคณิสสรไม่ขัดข้อง และได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือศาสนสมบัติกลาง

มาตรา 49 ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา 50 วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควร จะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้

เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นพระสังฆาธิการ

มาตรา 51 เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้
1. บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
2. ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาคณิสสร ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาคณิสสร
3. เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
4. ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 52 เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้
1. ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
2. สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
3. สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาคณิสสร ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาคณิสสร

มาตรา 53 ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส

ารแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร

 


 

 

หมวด 7
ศาสนสมบัติ และกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา

มาตรา 54 ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท
1. ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง
2. ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง

การดูแลรักษาและการจัดการศาสนสมบัติกลาง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามวิธีการที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร เพื่อการนี้ให้ถือว่าสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย

การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎมหาคณิสสร

มาตรา 55 ให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลาง ด้วยความเห็นชอบของมหาคณิสสร และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้งบประมาณนั้นได้

มาตรา 56 ให้มีกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. ส่งเสริมการบริหาร การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์
2. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
3. ส่งเสริมงานวิชาการพระพุทธศาสนา
4. สนับสนุนและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
5. ให้กองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา มีฐานะเป็นนิติบุคคล

ผู้จัดการกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา เป็นผู้แทนของกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา ในกิจการทั่วไป

มาตรา 57 สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา ตามมติมหาคณิสสร โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย
1. เลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประธานกรรมการ
2. ผู้แทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คนหนึ่ง กรรมการ
3. ผู้แทนกระทรวงการคลัง คนหนึ่ง กรรมการ
4. พระราชาคณะจำนวน 4 รูป กรรมการ
5. คฤหัสถ์จำนวน 4 คน กรรมการ
6. ผู้จัดการกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา กรรมการและเลขานุการ

มาตรา 58 คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
1. มรณภาพ หรือตาย
2. ลาออก
3. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งมาในฐานะเป็นพระภิกษุ
4. สมเด็จพระสังฆราชทรงถอดถอนตามคำแนะนำของมหาคณิสสร ในกรณีที่ประธานกรรมการ หรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระภิกษุหรือคฤหัสถ์เป็นกรรมการแทน กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่งตามความในวาระของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา 59 คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. วางนโยบายในการหารายได้ ดูแล รักษา และใช้จ่ายกองทุน เสนอมหาคณิสสรเพื่อเห็นชอบ
2. กำกับ ดูแล ประเมินผล การดำเนินงานของผู้จัดการกองทุน
3. แต่งตั้ง ถอดถอนผู้จัดการกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา โดยความเห็นชอบของมหาคณิสสร
4. การดำเนินงานของการประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนากำหนด

มาตรา 60 ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา แต่งตั้งคฤหัสถ์คนหนึ่งซึ่งมิได้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และมีความรู้ความชำนาญในด้านการบริหาร และจัดการทรัพย์สิน กฎหมาย หรือบัญชี เป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา
ผู้จัดการกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. บริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา
2. ควบคุมดูแลบุคคลากรในสำนักงานกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา
3. จัดทำและเสนอแผนการจัดประโยชน์ การดูแลรักษาและการใช้จ่าย
4. จัดทำงบประมาณรายรับ รายจ่าย ประจำปี เสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา
5. ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและข้อบังคับ ของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา

มาตรา 61 รายได้ของกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา มีดังนี้
1. เงินอุดหนุนจากศาสนสมบัติกลาง
2. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน
3. ดอกผลของกองทุน
4. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับทดแทน หรือทรัพย์สินที่ซื้อด้วยรายได้ของกองทุน หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของกองทุน
5. เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

 


 

 

หมวด 8
สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

มาตรา 62 ให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานอิสระ เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติการ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และจะให้มีรองเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้ช่วยเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ด้วยก็ได้

ให้เลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือ

ให้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าใช้จ่าย ของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่ออุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในกิจการของคณะสงฆ์

มาตรา 63 ให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่สนองงานของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม มหาคณิสสร ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎมหาคณิสสร ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศ ของมหาคณิสสร รับผิดชอเกี่ยวกับการอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา และประสานงาน กิจการทั่วไปของคณะสงฆ์ และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ดูแลรับผิดชอบงานประชุมของมหาเถรสมาคมและมหาคณิสสร
2. จัดทำแผนการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน เสนอมหาคณิสสร
3. ประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เพื่อส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น
4. ศึกษา วิจัย รวบรวม และวิเคราะห์สถิติ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา
เผยแพร่ และให้ความรู้ด้านวิชาการพระพุทธศาสนาและกิจการคณะสงฆ์
5. ดูแลรักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน และศาสนวัตถุในทางพระพุทธศาสนา
ดูแลรักษา และพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของชาติ
6. ประสานงานกับรัฐ เพื่อให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และอารักขาคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา เมื่อมีการจาบจ้วง ล่วงละเมิด เหยียดหยาม หรือเผยแพร่ข้อความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพระภิกษุหรือพระพุทธศาสนา มีอำนาจเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และดำเนินคดีกรณีมีการกระทำความผิดอาญา ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่น เพื่อการนี้ ให้เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐ จะต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยไม่ชักช้า
7. ดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานสมณศักดิ์ งานพระราชพิธี งานพระราชกุศล งานรัฐพิธี และงานศาสนพิธี
8. ดำเนินการเกี่ยวกับการสร้าง ตั้ง รวม ย้าย ยุบเลิกวัด การส่งเสริมฐานะวัด และการจัดทำทะเบียนประวัติของวัด
9. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช มติมหาคณิสสร คำสั่งนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้พระภิกษุเป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงาน หรือมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด และมหาคณิสสรมีมติว่า การนั้นมิใช่เป็นการอันพระภิกษุพึงกระทำ หรือด้วยเหตุขัดข้องประการอื่น มหาคณิสสร จะมีมติมอบหมายให้เลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนก็ได้ และให้ถือว่าเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงาน หรือมีหน้าที่ตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 64 ในกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การพระศาสนา โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม จะกำหนดให้มีศูนย์พระพุทธศาสนาประจำภาค โดยไม่เป็นส่วนราชการก็ได้


การดำเนินงานของศูนย์พระพุทธศาสนาประจำภาค ให้เป็นไปตามระเบียบที่มหาคณิสสรกำหนด โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

 


 

 

หมวด 9
บทกำหนดโทษ

มาตรา 65 ผู้ใดมิได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์ตามมาตรา 36 แล้ว กระทำการบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา 66 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคสอง มาตรา 39 มาตรา 40 วรรคสาม หรือมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา 67 ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 38 หรือไม่ก็ตาม แต่มารับบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวความเท็จหรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา 68 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 69 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความมหาเถรสมาคม มหาคณิสสร คณะสงฆ์ หรือคณะสงฆ์อื่น อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 70 ผู้ใดแสดงให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยการกล่าว หรือไขข่าว แพร่หลาย หรือด้วยการโฆษณา หรือกระทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ เพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายแก่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม มหาคณิสสร หรือคณะสงฆ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 71 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 68 มาตรา 69 และมาตรา 70 ให้ถือว่า เลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามความในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา

 


 

 

หมวด 10
เบ็ดเตล็ด

มาตรา 72 ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ และไวยาวัจกร และพนักงานศาสนการ เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 73 การปกครองคณะสงฆ์อื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 


 

 

บทเฉพาะกาล

มาตรา 74 ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์ หรือกิจการของศาสนาอื่น อันมิใช่พระพุทธศาสนา ไปเป็นของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ให้ตรากฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายในสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 75 ภายใต้บังคับมาตรา 76 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานศาสนการ ลูกจ้างศาสนการ และเงินงบประมาณของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ให้อธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รักษาการแทนเลขาธิการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 76 ให้โอนกรรมสิทธิ์ การดูแลรักษา และการจัดศาสนสมบัติกลางไปเป็นของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้กระทรวงศึกษาธิการและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกันสำรวจ ตรวจสอบ และจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติกลางให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน เพื่อมอบให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติรับไปดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนบรรดาสิทธิ์ หนี้ ภาระติดพัน และสิทธิเรียกร้องใดๆ อันเกี่ยวกับศาสนสมบัติกลาง ไปเป็นของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

มาตรา 77 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 78 เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 77 บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับ ระเบียบ เกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด หรือคณะกรรมการสงฆ์ใด ซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาคณิสสรมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาคณิสสร ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใด หรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะ ตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา 79 ให้ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม กรรมการมหาคณิสสร ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใดตามวรรคหนึ่ง ให้มหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่แทนมหาเถรสมาคมและมหาคณิสสร

มาตรา 80 ให้วัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เป็นวัดตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะเขต เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะแขวง รองเจ้าคณะ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และกรรมการ หรืออนุกรรมการ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ตลอดจนกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ยังคงดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์อยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ยังมีสมณศักดิ์นั้นต่อไป

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายกรัฐมนตรี
 

ปล.ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับนี้ นิยมเรียกว่า ฉบับมหาคณิสสร

 

 

 
 

 

เรายินดีน้อมรับความคิดเห็นและคำชี้แนะจากทุกท่าน

Editor : peesang2555@hotmail.com

 

 


WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE  LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. PHONE 702-384-2264