|
|||||||
ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (2)
แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง
ฐานข้อมูล : 1. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535
2. กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
3. กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 28
พ.ศ.2546
แก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24
พ.ศ.2541
4. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 รับร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ....
เมื่อวาน เขียนเรื่อง "ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย" ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไป ก็ไม่รู้ว่าตื่นเช้าขึ้นมา นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเอามือคลำศีรษะของตัวเองแล้วนับดูหรือเปล่าว่า "กูมีกี่หัว" กันแน่ แต่ไม่ว่าจะมีกี่หัวก็ยังดีกว่า "ไม่มีเงาหัว" นะ คุณนพรัตน์นะ ดูอย่างพระธรรมกิตติวงศ์สิ สู้อุตส่าห์โชว์ตัวไม่รู้กี่ร้อยรอบ แต่มหาเถรสมาคมกลับมองไม่เห็น เลยเล่นบททศกัณฑ์ขวางโลก "ปิดถนนทั่วกรุงเทพฯ นั่งเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมนอกตำหนักสมเด็จฯวัดสระเกศ เอ้เต้" โชว์เต็มๆ ยิ่งกว่ามหาโชว์แบบนี้ เห็นหรือไม่เห็นก็ให้มันรู้ไปสิ อิอิ วันนี้ ผู้เขียนมีเรื่องที่จะเขียนอีก ก็ตามหัวข้อที่ยกคัตเอ๊าต์ไปนั่นแหละว่า "ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เรามาแก้ตรงนี้กันก่อน มิดีกว่าหรือ ภาค 2" เพราะเห็นว่ามีมากมายหลายจุดในวงการสงฆ์ที่จำเป็นต้องแก้ไข มิใช่แค่ "สมควรแก้ไข" เท่านั้น เพราะสถานการณ์การเมืองเรื่องศาสนาในเวลานี้พัฒนาไปไกลถึงระดับ "ยึดอำนาจมหาเถรสมาคม" กันไปแล้ว เรื่องของเรื่องมันก็ไม่มีอะไร ก็คล้ายๆ กับการเมืองไทยนั่นแหละ ที่ว่า กลุ่มอำมาตย์เก่าครองอำนาจมายาวนาน มีแต่กินกับโกง ไม่เคยสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ไปถึงประชาชนระดับรากหญ้า ขณะที่ทักษิณนั้นคิดใหม่ทำใหม่ แม้ว่าจะกินบ้างโกงบ้าง แต่ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ ก็เลยเกิดการเปรียบเทียบว่า "ซื่อแต่เซ๋อ" กับ "ฉลาดแต่แกมโกง" สุดท้ายเขาก็เลือกเอาแบบหลัง เลือกตั้งอีกร้อยครั้งก็สู้ทักษิณไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงาน เชื่อไม่เชื่อก็ตามใจ
ส่วนเรื่องที่ว่าจะนำเสนอนั้นมีดังนี้ เริ่มจากร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2544 ที่เรียกชื่อกันว่า "ฉบับมหาคณิสสร" อันเป็นฉายาที่ได้จากการที่มีมาตราว่าด้วยคณะกรรมการที่เรียกว่ามหาคณิสร ประกอบด้วยพระราชาคณะจำนวน 21 รูป มีอำนาจหน้าที่ "ครอบจักรวาล" คือว่า ยกสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมให้เป็นกิตติมศักดิ์ ส่วนอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ก็ยกให้เป็นของมหาคณิสสร แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น กรรมการมหาคณิสสรทุกรูปทุกองค์ ต้องได้รับการคัดเลือกจากมหาเถรสมาคม และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคมแล้วส่งไปถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 26 พ.ย. 2544 และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบ ตามที่นำเสนอข้างต้น แต่เมื่อข่าวกระจายไปถึงวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี อันมี พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระมหาเถระผู้มากบารมีในคณะธรรมยุติกนิกายสายหลวงปู่มั่น ก็เกิดการวิจารณ์กันว่า "เป็นการริดรอนอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช" จากนั้นจึงกลายเป็นปฏิกิริยาต่อต้านไม่ยอมรับร่าง พรบ.คณะสงฆ์ฉบับนี้ แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางไปนมัสการหลวงตาบัวถึงสวนแสงธรรมก็ตาม ก็หาสำเร็จไม่ สุดท้ายรัฐบาลไทยก็ต้อง "ยอมถอย" คือดองเรื่องไว้ ไม่เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติใช้เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ในเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติฉบับมหาคณิสสรนี้ ถ้าพิศดูให้ดีก็จะพบว่า "เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับก้าวหน้า" เพราะว่ามีการเรียกร้องกันมานานแล้ว โดยปรารภเหตุหลายประการ อาทิเช่น 1. มหาเถรสมาคม ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ และพระมหาเถระระดับสูง ซึ่งต้องทรงงาน หรือทำงานในตำแหน่งนี้ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียหาย จึงสมควรยกไว้ในฐานะปูชนียบุคคล ทำนองพระมหากษัตริย์และคณะองคมนตรี มีแต่พระคุณ ไม่มีพระเดช หรือจะเรียกว่า "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" ก็ว่าได้ 2. อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมนั้นครอบคลุมถึง 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารการปกครองคณะสงฆ์ เป็นองค์กรนิติบัญญัติ สามารถออกคำสั่งหรือกฎมหาเถรสมาคม บังคับใช้แก่พระสงฆ์สามเณรได้ (มีผลเท่ากับกฎหมาย) และเป็นศาลฎีกา เมื่อมหาเถรสมาคมวินิจฉัยแล้วถือว่าเป็นอันยุติ จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ อำนาจทั้งสามนี้กระจุกอยู่เฉพาะในมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการเพียง 20 รูป เท่านั้น เห็นว่าเป็นงานหนักเกินไป ควรจะมีคณะกรรมการทำงานแทน นี่แหละคือที่มาของมหาคณิสสร
คำถามเบื้องต้นก็คือว่า "มหาคณิสสร" เป็นใคร ? ตอบง่ายๆ ก็คือว่า เป็นบุคคลากรทางศาสนาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเข้ามาทำงานช่วยสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม โดยกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า ต้องเป็นพระราชาคณะและเป็นเจ้าอาวาสขึ้นไปเพราะปัจจุบันคนที่ทำงานในมหาเถรสมาคมก็มีเพียงสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งสิ้น 20 รูป/ตำแหน่งเท่านั้น แต่ถามว่า สำหรับงานพระศาสนาที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารการปกครอง ด้านนิติบัญญัติ และตุลาการ ถามว่าจำนวนพระมหาเถระ 20 ทำไหวหรือ ? ถ้าว่าทำไหว ก็คงไม่มีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กร ใช่ไหม ? เราต้องดูกันตรงนี้ก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปติในรายละเอียด เพราะต้องดูว่า วัตถุประสงค์หลักของการตั้งมหาคณิสสรขึ้นมานั้นคืออะไร ? ยิ่งกลุ่มคนที่มีอำนาจเช่นมหาเถรสมาคม ยอมสละอำนาจโดยไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเช่นนี้ ถามว่าหาได้ที่ไหนในโลก ดังนั้น ที่มหาเถรสมาคม ภายใต้การนำของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ ได้รับร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2544 ไปนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า มหาเถรสมาคมยุคนี้มีวิสัยทัศน์ มีความเสียสละอย่างสูงยิ่ง พยายามปรับปรุงองค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก แต่ว่า รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นั้น เล่นการเมืองมากไป ไม่เอามหาเถรสมาคมเป็นหลัก เห็นหลวงตามหาบัวซึ่งออกบิณฑบาตเอาเงินทองช่วยชาตินั้นสำคัญกว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเลยดูรัฐบาลดองไว้จนป่านนี้ วันที่ทักษิณสิ้นอำนาจไปแล้ว ผ่านไปตั้ง 11 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าองค์กรสงฆ์จะได้รับการปรับปรุงสมความตั้งใจ เห็นไหมล่ะว่า ไอ้ที่ว่าคิดใหม่ทำใหม่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็แค่สโลแกนหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้นเองอย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเกิดคำถามจากทางฝ่ายพระป่านำโดยหลวงตามหาบัวนั้น ถ้าหากว่ามหาเถรสมาคมมีการบริหารการจัดการที่ดี เปิดให้มีเวทีสังฆพิจารณ์ ให้พระสงฆ์สามเณรทุกหมู่เหล่า มิใช่เฉพาะแต่กลุ่มหลวงตามหาบัวเท่านั้น ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็คิดว่าน่าจะลดอูณหภูมิความขัดแย้งลงไปได้บ้าง คือถึงจะไม่ได้ร่างเดิมเต็มร้อย โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรไปบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลยทั้งร่าง แต่มหาเถรสมาคมกลับนิ่งเฉย พอร่าง พรบ. ผ่านมหาเถรไปแล้ว ก็อยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไร หมายถึงว่าไม่มีการติดตามผลงานที่ทำไป เลยตามเลย ส่งไปเหมือนส่งเดช แบบว่าถึงก็ชั่งไม่ถึงก็ชั่ง ถามว่าเมื่อถูกตีตกไปรอบแรกแล้ว คิดว่ารอบต่อไปจะผ่านง่ายๆ อย่างนั้นหรือ เพราะคนเรามันรู้ทางกันแล้วน่ะ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) น่าจะได้รับการยกย่องไว้ในฐานะผู้นำในการเปิดศักราชการบริหารกิจการคณะสงฆ์ยุคใหม่ "ยุคมหาคณิสสร" ก็พลาดโอกาสตุ๊กตาทองไป เพราะไม่สามารถทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จดังที่เห็น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น่าเชื่อต่อไปก็จะพูดถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 คือว่า ท่านจะตั้งชื่อเสียใหม่ว่า พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 แบบนี้ก็ไม่ทำ ทั้งนี้เพราะมิใช่การร่าง พรบ.คณะสงฆ์ ขึ้นมาใหม่ เป็นแต่เพียงปรับปรุงแก้ไขของเก่าที่มีอยู่แล้วเป็นบางหมวดบางมาตรา ก็เลยตั้งชื่อทับกันไปดังที่เห็น ถ้าแก้ไขซักสิบรอบ ก็รับรองว่าจะได้ชื่อยาวหลายบรรทัดแน่นอน ในหมวดที่ 2 และหมวดที่ 3 ที่ยกขึ้นมาเสนอข้างต้นนั้น มีมาตราว่าด้วยมหาเถรสมาคมและการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งกระจายอำนาจไปเป็นการปกครองในส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ไล่ไปจนถึงเจ้าคณะตำบล แต่ที่ผู้เขียนสนใจก็คือ "วาระการดำรงตำแหน่ง" ในมาตราที่ 14 ระบุว่า "กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้" นอกจากนั้นแล้ว กรรมการมหาเถรสมาคมจะพ้นตำแหน่งก็ต่อเมื่อ (1)
มรณภาพ นั่นเป็นเนื้อหาในหมวดที่ 2 ส่วนในหมวดที่ 3 นั้น เรื่องการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะใหญ่ไปจนถึงเจ้าคณะตำบลนั้นท่านบอกว่า "ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม" ดังนั้น เราจึงต้องตามไปดูกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ว่านั้นว่าเขียนไว้อย่างไรบ้าง
ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ระบุถึงการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการไว้ว่า พระสังฆาธิการหมายถึงพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ดังต่อไปนี้ 1. เจ้าคณะใหญ่ 2. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค 3. เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด 4. เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ 5. เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล 6. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ข้อ 6 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการต้องมีคุณสมบัติ 1. มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง 2. มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง 3. มีความประพฤติเรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่ง 4. เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์ 5. ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ 6. ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน 7. ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใดเพราะความผิดมาก่อน
เจ้าคณะใหญ่มีคุณสมบัติดังนี้ 1. มีพรรษาพ้น 30 และ 2. มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่ารองสมเด็จพระราชาคณะ
เจ้าคณะภาค-รองเจ้าคณะภาค มีคุณสมบัติดังนี้ 1. มีพรรษาพ้น 20 และ 2. กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ 3. กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดในภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ 4. มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นเทพ หรือ 5. เป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นพระคณาจารย์เอก หรือเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 2-3-4-5 ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 10 เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค ให้นำบทบัญญัติในข้อ 11 วรรคแรก มาใช้โดยอนุโลม (คือให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะใหญ่ในการพิจารณาเสนอมหาเถรสมาคม) เจ้าคณะภาค-รองเจ้าคณะภาค อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
เจ้าคณะจังหวัดมีคุณสมบัติดังนี้ 1. มีพรรษาพ้น 10 มีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ 2. กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ 3. กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ 4. มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า 6 ประโยค ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 2-3 หรือ 4 ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี เจ้าคณะภาคมีอำนาจในการพิจารณาเจ้าคณะจังหวัด เพื่อเสนอเจ้าคณะใหญ่ นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง ส่วนเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส หรือตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้น ผู้เขียนขอเว้นไว้ไม่กล่าวถึง ยังมีกำหนดอายุของพระสังฆาธิการในส่วนที่ 7 ดังนี้ "พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และรองเจ้าคณะตำบล ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุ 80 ปี บริบูรณ์ ให้ยกย่องเชิดชูเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ เว้นแต่ทุพพลภาพ หรือพิการ ถ้ายังมีความเหมาะสม หรือยังหาผู้ดำรงตำแหน่งในชั้นนั้นๆ ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม กรรมการมหาเถรสมาคมจะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี เฉพาะกรณี" ในหมวดที่ 3 ส่วนที่ 8 ข้อ 36 ระบุเหตุพ้นจากตำแหน่งพระสังฆาธิการเอาไว้ว่า 1. ถึงมรณภาพ (ตาย) 2. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ (ลาสิกขา) 3. ลาออก 4. ย้ายออกไปนอกเขตที่ตนเองมีสำนักอยู่ (เฉพาะตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลงไปจนถึงรองเจ้าคณะตำบล) 5. ยกเป็นกิตติมศักดิ์ (อายุเกิน 80 ปี หรือชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้) 6. รับตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะอื่น (เลื่อนชั้น) 7. ให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ 8. ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ 9. ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
ก็สรุปวาระและอายุของพระสังฆาธิการระดับต่างๆ ได้ดังนี้ 1. เจ้าคณะใหญ่ ไม่มีเทอมในการดำรงตำแหน่ง และไม่จำกัดอายุ 2. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ดำรงตำแหน่งเทอมละ 4 ปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซ้ำเรื่อยๆ ไปจนอายุ 80 ปี ต่ออายุได้อีก 3 ปี ก็จะได้รับการยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ 3. เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล ไม่มีเทอมการดำรงตำแหน่ง แต่เมื่ออายุครบ 80 ปี หรือทุพพลภาพก่อน ก็จะได้รับการยกให้เป็นกิตติมศักดิ์ สำหรับรูปที่ยังแข็งแรงก็อาจจะได้รับการผ่อนผันให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี 4. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ดำรงตำแหน่งไปไม่จำกัดเทอม และไม่จำกัดอายุ คือสามารถดำรงตำแหน่งไปจนตาย ถ้าไม่ถูกปลด ไม่ลาสิกขา ไม่ลาออก ตามเส้นทางเดินของพระสังฆาธิการระดับสูงในปัจจุบัน พอจะประมวลได้ว่า ถ้าพูดถึงตำแหน่งพระสังฆาธิการในต่างจังหวัดแล้ว ตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัด" ถือว่ามีอำนาจและบารมีมากที่สุด เพราะปกครองพระสงฆ์ทั้งจังหวัด ขณะที่เจ้าคณะภาคนั้น ปกครองได้แค่รองเจ้าคณะภาคกับเจ้าคณะจังหวัดในภาคของตน ขณะเดียวกัน รองเจ้าคณะภาคก็ต้องรอรับมอบหมายงานหรือบัญชาจากเจ้าคณะภาคอีก ก็เลยทำงานกันแค่ไม่เกิน 4-5 รูป ดังนั้นจึงว่าเจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจและบารมีมากที่สุด และเชื่อไหมว่า ไม่มีเจ้าคณะจังหวัดรูปไหนในต่างจังหวัดอยากเป็นเจ้าคณะภาคหรือรองภาค ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งสูงกว่าเจ้าคณะจังหวัดเสียอีก มันก็เหมือนนายพลจเรกับผู้บัญชาการเหล่าทัพนั่นแหละ แม้ว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพจะมียศต่ำกว่าจเร แต่มีอำนาจบังคับบัญชากำลังพลมากกว่าจเร พระเจ้าคณะจังหวัดรูปไหนถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะภาค ก็ถือว่าโชคร้ายแล้ว เพราะนั่นคือจุดสิ้นสุดเส้นทางพระสังฆาธิการของตนเอง ส่วนตำแหน่งพระสังฆาธิการระดับสูงในกรุงเทพมหานครนั้นยังมีเส้นทางที่หลากหลาย เพราะถนเป้าหมายใหญ่คือ "ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม" เป็นสิ่งที่หมายปองสูงกว่าตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด หรือแม้แต่ตำแหน่งเจ้าคณะภาค แม้ว่าจะมีอำนาจสูง-แต่แคบ เพราะบังคับบัญชาได้เฉพาะรองเจ้าคณะภาคกับเจ้าคณะจังหวัดในภาคของตนเท่านั้น กระนั้น ตำแหน่งเจ้าคณะภาคก็ยังเป็นฐานอำนาจชั้นดีที่จะได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมและได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นจนถึงสมเด็จพระราชาคณะ ทั้งนี้เพราะตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นมีค่านิยมว่า "ต้องแต่งตั้งพระสังฆาธิการในกรุงเทพมหานครเท่านั้น" ที่มีค่านิยม (มิใช่กฎหมายหรือระเบียบมหาเถรสมาคม) ไว้เช่นนี้เพราะว่า "ถ้าพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอยู่ในวัดต่างจังหวัด ก็จะไม่สะดวกในการประชุมมหาเถรสมาคม" แต่ความจริงแล้ว เรื่องนี้เป็นปัญหาในยุคที่การจราจรล้าหลัง แต่สมัยปัจจุบันนั้นการจราจรทั้งทางบกทางอากาศสะดวกมาก ไกลสุดก็คือเชียงราย นั่งเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว และมหาเถรสมาคมก็ประชุมกันเดือนละแค่ 3 ครั้ง คือวันที่ 10-20-30 จึงไม่เห็นจะเป็นเหตุสำคัญห้ามมิให้พระสังฆาธิการในต่างจังหวัดดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เว้นเสียแต่ว่าพระกรุงเทพฯจะหวงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมไว้แต่ในวงตัวเองเท่านั้น นี่ไงเหตุผลที่มิใช่เหตุผล แต่ก็เอามาอ้างเสียจนเด็กอนุบาลอาย จริงอยู่ว่า มีพระเถระบางรูปในต่างจังหวัดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะภาค แต่นั่นก็คือตำแหน่งสูงสุดของพระต่างจังหวัดแล้ว ยกเว้นแต่พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นรูปแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของคณะสงฆ์ไทย เนื่องเพราะเกิดปัญหารุนแรงในสี่จังหวัดชายแดนใต้ ถึงขนาดวัดวาอารามถูกปล้น พระสงฆ์ถูกฆ่า ออกบิณฑบาตก็อันตราย ถึงกับต้องใช้ทหารคุ้มกัน พระสังฆาธิการในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยแต่แย่งตำแหน่งปกครองนั่งอยู่บนหัวพระต่างจังหวัด พอเจอปัญหาใต้เข้ามาจริงๆ ก็หัวหดตดหายกลัวตายกันทั้งมหาเถรสมาคม ไม่มีใครกล้ารับเผือกร้อนนี้ ก็เลยยินยอมยกตำแหน่งให้พระพรหมจริยาจารย์ไป ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีแต่ผลประโยชน์เช่นเจ้าอาวาสวัดพุทธโสธรแล้ว รับรองว่าข้ามศพข้าไปก่อนสิ ถึงจะมีสิทธิ์ได้ครองวัดนี้ ทีนี้ว่าเมื่อพระเถระในต่างจังหวัดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค หรือแม้แต่เป็นเจ้าคณะหน ก็ไม่มีสิทธิ์ได้แอ้มสมณศักดิ์ชั้น "สุพรรณบัฏ" คือไม่มีโอกาสได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ขนาดว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ยังทรงพระชนม์อยู่ วัดบวรยังได้สมเด็จพระวันรัตซ้อนวัดเข้าไปอีก เห็นได้ชัดว่า พระต่างจังหวัดเก่งกาจยังไงก็ยังสู้พระกรุงเทพฯไม่ได้อยู่ดี เพราะเขาอยู่ใกล้วังมากกว่า จึงมีสิทธิ์หยิบชิ้นปลามันก่อน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแล้ว ก็เหมือนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทางคณะสงฆ์ สมัยก่อนเรียกว่า "สังฆมนตรี" แม้ว่าตำแหน่งในมหาเถรสมาคมก็มิได้มีอำนาจอะไร เพราะอำนาจถูกรวบไว้ที่สมเด็จพระสังฆราชหรือประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เพียงรูป/พระองค์เดียว เช่นนี้ก็ตาม ถึงกระนั้นตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังสำคัญ เพราะงานคณะสงฆ์ทุกประเภท ตั้งแต่งานเกิดจนถึงงานตาย ต้องผ่านการพิจารณารับทราบเห็นชอบมอบหมายจากมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะโผสมณศักดิ์ประจำปี ที่สำคัญก็คือ ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมสามารถเป็นบันไดไต่ขึ้นสู่สมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระราชาคณะ" ได้ สำหรับสมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระราชาคณะ" นั้น ก็มีข้อกำหนดเช่นกันว่า "ต้องพิจารณาจากพระสังฆาธิการในกรุงเทพมหานครเท่านั้น" นั่นหมายถึงว่า อัตราพระสมเด็จราชาคณะจำนวน 8 รูปนั้น เป็นโควต้าที่มาจากพระภิกษุในกรุงเทพมหานครเพียง 422 วัด เท่านั้น ส่วนพระต่างจังหวัดอีกตั้ง 33,000 กว่าวัดนั้นมีสิทธิ์แตะแค่พัดรองสมเด็จฯเท่านั้น อ่านตรงนี้แล้วก็อย่าตกใจ มหาเถรสมาคม นี่แหละ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ตัวจริงเสียงจริงยิ่งกว่าลิงเป็นวอกเสียอีก นี่คือเนื้อหาในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24/2541 ส่วนว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับมหาคณิสสร พ.ศ.2544 ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดนั้น ก็ยังบกพร่องมากมายหลายจุด อาทิเช่น 1. เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพระสังฆาธิการ (รวมทั้งกรรมการมหาคณิสสร) ว่าควรดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินคนละกี่ปีหรือกี่เทอม เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพระสังฆาธิการนี้ ไม่มีการระบุไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์หรือกฎมหาเถรสมาคม แม้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24/2541 และฉบับที่ 28/2546 ได้กำหนดการเกษียนอายุของพระสังฆาธิการไว้ว่า "พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และรองเจ้าคณะตำบล ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุ 80 ปี บริบูรณ์ ให้ยกย่องเชิดชูเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ เว้นแต่ทุพพลภาพ หรือพิการ ถ้ายังมีความเหมาะสม หรือยังหาผู้ดำรงตำแหน่งในชั้นนั้นๆ ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม กรรมการมหาเถรสมาคมจะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี เฉพาะกรณี" นี่ก็ลองเอาไปคิดกันดูว่า คนอายุเกิน 60 ปีแล้วนั้น ในทางราชการเขาถือว่าอยู่ในวัยเกษียนแล้ว แต่พระสงฆ์เรากลับเกษียนเอาตอนอายุ 80 ปี แถมยังให้ต่ออายุได้อีก 3 ปี ถามว่าคนแก่อายุ 80 ปีนั้น ทำงานไหวหรือ เพราะที่เห็นๆ ก็คือ กรรมการมหาเถรสมาคมพออายุพ้น 60 ปี ขึ้นไป ก็เริ่มป่วยเรื้อรัง ต้องมีหมอประจำตัว บางรูปบางองค์ก็เข้าประชุมมหาเถรสมาคมแทบไม่ได้ งานมหาเถรสมาคมถ้าไม่ตกอยู่ที่กองงานเลขาเจ้าคณะต่างๆ ก็ไปรวมอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด ดังนั้น การออกกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ออกมาก็แทบว่าไม่ได้สร้างสรรค์อะไรในคณะสงฆ์ไทย เพราะพระเถระอายุเกิน 80 ปีแม้ว่าจะทำงานได้ แต่สติปัญญาและกำลังวังชาก็ล้าโรยเกินไปเสียแล้ว อายุ 65 ก็คิดว่าน่าจะกลับไปเฝ้ากุฏิเลี้ยงแมวได้แล้ว ดังนั้น คิดว่าน่าจะกำหนด "วาระการดำรงตำแหน่ง" ของพระสังฆาธิการเอาไว้ใน พรบ.คณะสงฆ์ โดยอาจจะให้ดำรงตำแหน่งได้เทอมละ 4 ปี และไม่เกิน 2 เทอม เพราะเวลา 8 ปีที่ดำรงตำแหน่งนั้นก็ถือว่ายาวนานมากแล้ว ใครทำงานถึง 8 ปียังมีไฟอยู่ก็ต้องถือว่าเป็นอัจฉริยะ แต่ส่วนใหญ่แล้วทำได้ 4-5 ปีก็หมดไอเดียแล้ว ยิ่งนานไปก็ยิ่งเรื้อรัง หรือถ้าหากว่าทำงานดีมีผลงาน ก็ยังสามารถเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งอื่นๆ ได้ ผลพลอยได้จึงมิใช่การได้พระสังฆาธิการที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น หากยังเป็นวิธีการสับเปลี่ยนบุคคลากรให้สามารถเข้ามารับช่วงงานได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย 2. เรื่องการดำรงตำแหน่งซ้อนกันหลายตำแหน่งของพระสังฆาธิการ เช่น เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าคณะภาค เป็นเจ้าอาวาส หรือเป็นแม่กองธรรม-แม่กองบาลี-อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ พร้อมๆ กัน เรื่องนี้ก็เป็นปัญหา ลองอ่านข่าวดูก็จะพบว่า พอสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งมรณภาพลง ก็จะมีตำแหน่งว่างพร้อมกันตั้ง 4-5ตำแหน่ง ถามว่าทำงานอย่างไร พระมหาเถระรูปนั้นเก่งกาจปานเทพเชียวหรือ คำตอบก็คือ ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอก แค่ทำงานตามสายงาน แต่ที่ไม่มีใครกล้าวิจารณ์ผู้มีอำนาจ เพราะสามารถให้โทษแก่ตนเองได้ เท่านั้นเอง ลองเปิดฟรีสไตร์แบบอเมริกันดูสิ เผลอๆ พระเลขานั่นแหละจะลุกขึ้นสอนสังฆราช เช่น พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D.) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 2 อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เอาแค่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็อานแล้ว ไหนจะต้องปกครองคณะสงฆ์ในภาค 2 อีก 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสระบุรี ไหนจะต้องเข้าประชุมมหาเถรสมาคมอันเป็นคณะรัฐมนตรีของคณะสงฆ์ แถมยังเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสพระอารามหลวงเสียอีก นี่ยังมินับว่าท่านเป็นนักเทศน์ฝีปากเอก ต้องรับกิจนิมนต์ออกบ่อย เรื่องไปประชุมสัมมนาวิชาการหรืองานอื่นใดที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมอีกทั่วโลก ใครได้เห็นตำแหน่งท้ายนามของท่านพระธรรมโกศาจารย์ก็คงอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพ แต่ถ้ามองให้ถ่องแท้ก็จะเห็นว่า เล่นหลายตำแหน่งแบบนี้ต่อให้ขงเบ้งกลับชาติมาเกิดก็ยากจะประสบความสำเร็จ แต่เพราะในวงการคณะสงฆ์เราไม่มีคณะกรรมการประเมินผลงาน ว่าถ้าเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเทียบเท่ารัฐมนตรีนั้น ควรมีผลงานระดับไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ในการพิจารณา ดังนั้นที่สรรเสริญเยินยอกันอยู่ทุกวันจนเอียนนั้น ก็เป็นระบบ "นายว่า ขี้ข้าพลอย" คือการประจบสอพลอของผู้ที่หวังผลประโยชน์ทั้งสิ้น จริงอยู่ แม้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24/2541 จะระบุไว้ว่า "พระสังฆาธิการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ หรือรองเจ้าคณะได้เพียงตำแหน่งเดียว" ดังนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนในสายงานการปกครองเท่านั้น เช่นเป็นทั้งเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสควบสองตำแหน่งในวัดเดียวกัน มันก็ดูไม่สวย หรือจะดำรงตำแหน่งข้ามวัดก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ที่ผู้เขียนกล่าวถึงก็คือ การดำรงตำแหน่งอย่างมากมายหลายองค์กร เช่น เป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรี และเป็นประธานบริษัทเอกชน พร้อมๆ กัน นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาว่าด้วยความทับซ้อนผลประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับแต่งตั้งก็ยังทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ ทีนี้ว่า เมื่อพระสังฆาธิการระดับสูงดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างทั่วถึง งานของเจ้าคณะพระสังฆาธิการจึงตกอยู่ที่ "เลขานุการ" แทน ปัจจุบัน "พระเลขานุการ" กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการสงฆ์ เพราะเป็นคนชงเรื่องทุกเรื่องให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการ จะนิมนต์เจ้าคณะพระสังฆาธิการจึงต้องนิมนต์พระเลขานุการด้วย เพราะถ้าไม่ผ่านเลขานุการแล้ว เรื่องก็ไม่ถึงพระมหาเถระ จนแทบจะเรียกได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคเลขาฯครองเมือง ทั้งนี้ก็เพราะมีช่องโหว่ คือการดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนของพระสังฆาธิการนั่นเอง 3. คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการมหาคณิสสร ว่าควรมีคุณสมบัติเช่นไร ทั้งนี้เพราะมหาคณิสสรนั้น จะใช้อำนาจทั้ง 3 ทาง ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าไม่มีการคัดสรรบุคลาการให้ตรงกับสายงานแล้ว ลำพังจำนวนคนแค่ 21 รูป เห็นว่าไม่พอแน่ ดังนั้น เพื่อให้ได้บุคคลากรตรงกับสายงาน จึงควรระบุคุณสมบัติของมหาคณิสรแต่ละสาขารวมทั้งอัตราเอาไว้ว่า ในแต่ละสายควรจะมีจำนวนเท่าไหร่ และคุณสมบัติมีอะไรบ้าง เช่นถ้าจะเป็นฝ่ายบริหาร ต้องผ่านการทำงานในระดับใดบ้าง หรือมีผลงานเฉพาะทางที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ ถ้าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติต้องจบกฎหมาย หรือมีความสามารถพิเศษเกี่ยวกับพระวินัยบัญญัติและกฎหมายคณะสงฆ์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ และถ้าเป็นฝ่ายตุลากร จะต้องผ่านงานด้านใดมาบ้าง ระดับนี้อาจจะต้องกรองคุณสมบัติสูงซักหน่อย เพราะเป็นผู้พิพากษา สามารถตัดสินประหารชีวิตคนได้ ยิ่งเป็นศาลสงฆ์ด้วย มันก็ต้องกำหนดคุณสมบัติระดับเปาบุ้นจิ้นเลยทีเดียว 4. น่าจะตั้ง สังฆมนตรี สังฆสภา และสังฆวินยาธิการ เพื่อรองรับงาน 3 ด้าน คืองานบริหารงานปกครอง งานกฎหมาย และงานตุลาการ เหมือนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้อำนาจกระจุกอยู่แต่เฉพาะคนกลุ่มเดียว พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับ พ.ศ.2544 กลับตั้งแค่มหาคณิสสรมีสมาชิกเพียง 21 รูป ก็เท่ากับว่าเปลี่ยนผู้รวบอำนาจจากมหาเถรสมาคมมาเป็นมหาคณิสสรเท่านั้น ใครได้เป็นมหาคณิสสรก็ยิ่งกว่าอรหันต์อีกสิ ปัญหาที่พบอยู่ในมหาเถรสมาคมก็คือว่า เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคมดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาคด้วย และตามกฎนิคคหกรรมนั้นระบุให้เจ้าคณะภาคเป็น "ประธานนิคคหกรรม" กรณีที่มีพระภิกษุในการปกครองของตนเองต้องอธิกรณ์ ก็เลยเป็นว่า กรรมการมหาเถรสมาคมเป็นทั้งรัฐมนตรี ทั้ง ส.ส. และเป็นผู้พิพากษา แต่มีปัญหาตามมาว่า บ่อยครั้งที่พระผู้ต้องอธิกรณ์นั้น มีสายสัมพันธ์กับกรรมการในมหาเถรสมาคม ก็เลยทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นที่โปร่งใส ดังนั้น การตั้งสังฆมนตรี สังฆสภา และสังฆวินยาธิการ ขึ้นมา เพื่อเป็นคณะทำงานสามเส้า เอาไว้คานอำนาจกัน น่าจะเป็นผลดีต่อพระศาสนามากกว่า 5. ไม่มีผู้ตรวจการคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้บางทีเรียกว่า "จเร" เป็นตำแหน่งเก็บเข้ากรุ ของข้าราชการที่มีปัญหาหรือว่าไม่กินเส้นกับเจ้านาย แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ตำแหน่งผู้ตรวจการนั้นโบราณถือว่าเป็นหูเป็นตาแทนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทีเดียว ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงโปรดให้ส่งผู้ตรวจการศาสนาออกไปประเมินผลงานทั่วชมพูทวีป ตำแหน่งนี้จึงยิ่งใหญ่และให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการได้สูงสุด เพราะจะเป็นผู้เพ็ดทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบ อีกทางหนึ่งก็ยังสามารถรับเรื่องราวร้องเรียนได้ ตำแหน่งผู้ตรวจการสงฆ์นี้ไม่จำเป็นต้องมีหลายรูป อาจจะแค่ 8-9 รูป ก็เห็นว่าเพียงพอ คำถามสำคัญก็คือว่า ถ้าหากว่าเราไม่ได้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับมหาคณิสสรแล้ว เราไม่สามารถจะทำอะไรได้เลยหรือ ? คำตอบก็คือว่า มีอีกตั้งหลายช่องทางที่ทำได้ เช่น 1. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 โดยเพิ่มมาตราที่ไม่เกิดข้อพิพาทเข้าไปก่อน ส่วนมาตราที่ยังเถียงกันไม่เสร็จนั้นก็ค่อยว่ากันทีหลัง 2. ออกเป็นกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจเสมอกฎหมายคณะสงฆ์ ช่องทางเหล่านี้มหาเถรสมาคมสามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่เลย ถ้ามีความคิดและมุ่งมั่นในการปฏิรูปองค์กรสงฆ์จริง ก็มิใช่เรื่องยากที่จะทำ เพราะมหาเถรสมาคมมีอำนาจเต็มอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าตั้งใจทำหรือไม่เท่านั้น เพราะท่านบอกว่า "ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น" ถามเป็นคำสุดท้ายว่า ถ้าตั้งพระหนุ่มๆ (ไม่ใช่เด็กๆ) เข้าทำงานแทนพระเถระหมด แล้วพระเถระจะเอาไปไว้ไหน คำตอบก็คือว่า แหมก็ให้ท่านหันไปเอาดีทางสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานบ้างเป็นปะไร ประเทศไทยจะได้มีพระอริยบุคคลมากขึ้น ถึงไม่บรรลุธรรม ได้แค่ชื่อว่าพระสุปฏิปันโนก็ชื่นใจแล้ว ดีกว่าถูกเด็กเมื่อวานซืนมันถอนหงอกเล่นอย่างที่เห็น บางทีก็เห็นใจ แต่บางทีก็เศร้าใจ เพราะถ้าท่านไม่หลงอยู่ในวังวนแห่งอำนาจจนถอนตัวไม่ขึ้น ท่านก็จะเป็นผู้พ้นโลก เมื่อนั้นรับรองว่าไม่มีวันที่ใครจะแตะท่านได้ กลัวก็แต่จะดันทุรังว่า "กูไม่ไป๊ กูไม่ไป กูอยากเป็นสมเด็จฯ" นะสิ อิอิอิ ว่าแต่อย่าลืมนะครับว่า "ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนเอง ก็จะมีผู้อาสามาเปลี่ยนให้" ดูอย่าง "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นไร ร่ำๆ จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ก็ลังเลพระทัย หาว่าประชาชนไม่พร้อม จึงดองเรื่องเอาไว้ สุดท้ายก็ถูกปฏิวัติสูญสิ้นอำนาจ ต้องประกาศสละราชสมบัติไปเป็นพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา อยากเป็นอย่างนั้นกันหรือครับ ท่านมหาเถร ?
|
|||||||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
ถึง บก.
peesang2555@hotmail.com
All
Right Reserved @
2003
alittlebuddha.com วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264 |