|
|||||||||||||||||||||||||||||
ตอบคำถามนายพนม ศรศิลป์
เป็นอีเมล์สดๆ ร้อนๆ ที่ได้รับจากประเทศไทยในวันนี้ หลังจาก อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ได้เกาะติดและนำเสนอข่าวสารว่าด้วยงานตักบาตรพระล้านรูปของวัดพระธรรมกาย ซึ่งท่านผู้อ่านที่เป็นแฟน อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ทั้งที่รักและที่ชังก็คงจะผ่านตามาโดยลำดับ สำหรับมีเมล์ที่ผู้เขียนต้องนำมาเป็นกระทู้ของข้อเขียนในวันนี้ ก็เพราะว่าเจ้าของอีเมล์หรือเจ้าของคำถามข้างต้นนั้นมิใช่แฟนเว็บทั่วไป หากแต่ท่านมีตำแหน่งใหญ่โต เป็นถึง "รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ชื่อของท่านก็คือ นายพนม ศรศิลป์ ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อันดับที่ 2 รองจากนายอำนาจ บัวศิริ เท่านั้น คาดหมายกันว่า นายพนม ศรศิลป์ น่าจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต่อจากนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เหตุผลนั้นก็ง่าย แค่ว่า นายอำนาจ บัวศิริ เกิดปีเดียวกับนายนพรัตน์ จึงต้องเกษียนอายุราชการพร้อมกันในปีหน้า (2556) ส่วนนายพนมนั้นถ้าไม่เกิดอุปสรรคร้ายแรงก็คาดว่าน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ผอ.สำนักพุทธฯ คนต่อไปในวันนี้ นายพนม ศรศิลป์ ได้มีคำถามถึง อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ดังมีรายละเอียดที่นำเสนอข้างต้นแล้ว ผู้เขียน ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการเว็บไซต์แห่งนี้ จึงต้องหยิบปากกามาตอบคำถามท่านรอง ผอ. เพราะถ้าไม่ตอบ ก็แสดงว่าเราไม่แน่จริง ทำงานชุ่ยๆ ไม่มีข้อมูลอะไรแล้วก็เขียนวิพากษ์วิจารณ์ผู้หลักผู้ใหญ่ให้เสียหายโดยไร้เหตุผล ซึ่งเราก็มีตำแหน่งเป็นถึงพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ถ้าไม่ตอบคำถามให้กระจ่างก็แสดงว่าเสียภูมิพระธรรมทูตหมด ดังนั้น จึงต้อง "ขอตอบ" รอง ผอ. ดังต่อไปนี้
ตามที่ท่านรอง ผอ. พนม ศรศิลป์ ถามมานั้น ก่อนอื่นก็ต้องขอถามกลับไปว่า ท่านถามมาในฐานะอะไร คือว่า ถามในฐานะส่วนตัวที่เกิดความอยากรู้อยากเห็น (หลังจากอ่านข่าว) หรือว่าถามในนามของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะว่าทางอะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ได้นำเสนอข่าวพาดพิงถึงนายพนม ศรศิลป์ ซึ่งไปร่วมงานตักบาตรพระล้านรูป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งจุดจัดงานนั้นคือ บริเวณถนนเยาวราช ถึงถนนเจริญกรุง ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ในงานวันนั้น มีท่านรองนายกรัฐมนตรี คือ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ เดินทางมาเป็นประธานในพิธี ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้ว ในวันที่ 18 มีนาคม 2555 ซึ่งมีการตักบาตรที่บริเวณถนนราชปรารภ ประตูน้ำ วันนั้น มีท่านนายกรัฐมนตรี คือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเป็นประธานในพิธี และในวันที่ 17 มีนาคม 2555 มีพิธีตักบาตรที่บริเวณทางเข้าลานจอดรถ BTS ที่แยกสะพานควาย วันนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เดินทางไปร่วมงานที่เกริ่นนำมาดังนี้ ก็เพื่อที่จะบอกว่า การที่ นายพนม ศรศิลป์ ไปร่วมงานตักบาตรล้านรูปที่เยาวราช ในวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น ถือว่าไปในฐานะตัวแทนของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะวันนั้นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ไปร่วมงานตักบาตรที่ไหนเลย มีแต่ส่งรองนายกรัฐมนตรี (ยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ไปเป็นประธานแทนที่เยาวราช ดังนั้น เมื่อผู้ใหญ่ที่สุดในงานก็คือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี กรณีของนายพนม ศรศิลป์ ที่ไปแทน ผอ.สำนักพุทธฯ (นายนพรัตน์) ก็จึงถือว่าไปในนามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดังนั้น คำถามที่นายพนมถาม "อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ" มานั้น จึงถือว่า "ถามในนามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" มิใช่ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่อย่างใด นี่คือประเด็นที่อยากจะถามกลับ ? และที่ถามกลับก็ไม่มีอะไร เพียงแค่อยากจะทราบให้แน่ใจว่า "ถามในนามสำนักพุทธฯ หรือถามในนามส่วนตัว" จะได้ตอบคำถามให้ครอบคลุมต่อไปก็จะเข้าสู่คำถามของนายพนม ศรศิลป์ ที่ถามว่า "ถ้าจะเมตตาขยายอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่าไม่สมควรไปร่วมงาน (ตักบาตรพระล้านรูป) ได้ ก็จะเป็นพระคุณ"
ขอสรุปประเด็นเป็นเบื้องต้นก่อน ดังนี้ 1. โครงการตักบาตรพระล้านรูปเป็นของใคร และคำว่า "คณะสงฆ์" ที่ใช้อ้างในการจัดงานนั้น หมายถึงอะไร 2. เหตุใดไม่มีการเสนอโครงการผ่านมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรปกครองประเทศ กลับมีชื่อเป็นภาคีในการจัดงานครั้งนี้ 3. เหตุใดจึงนำเอาพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายมาตั้งเป็นประธานในพิธี 4. เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงไปเป็นประธานจัดงาน ทั้งยังสวมชุดอุบาสิกาของวัดพระธรรมกาย ขณะที่งานพุทธชยันตีของมหาเถรสมาคม (โดยรัฐบาลเห็นชอบให้จัดที่วัดสระเกศ) กลับมีเพียงแค่รัฐมนตรีประจำสำนักนายก (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ไปร่วมงาน 5. เหตุใดทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเลขามหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง กลับมีชื่อเป็นภาคีในการจัดงานร่วมกับวัดพระธรรมกาย โดยที่ไม่ยอมนำเสนอโครงการนี้ให้มหาเถรสมาคมรับทราบ 6. เหตุใด พระธรรมกิตติวงศ์ ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และปัจจุบันก็ไม่ได้มีตำแหน่งในทางการปกครองคณะสงฆ์ (ยกเว้นตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม) จึงได้รับการอาราธนาให้ไปเป็นประธานในจุดสำคัญที่สุดของงานตักบาตร จุดที่ว่านั้นคือบริเวณประตูน้ำ 7. เหตุไฉนในเว็บไซต์ของรัฐบาลก็ดี ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ดี ซึ่งเป็นภาคีในการจัดงานครั้งนี้ กลับไม่มีข้อมูลของการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงการ วิธีการ การประชาสัมพันธ์ และรวมทั้งข้อมูลข่าวสารด้านอื่น เช่น ภาพ วีดิโอ เป็นต้น แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของวัดพระธรรมกายเพียงแห่งเดียว 8. งานตักบาตรพระล้านรูป เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการช่วยชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยถึงกับต้องรับเป็นภาคี (หุ้นส่วน) ในการจัดงาน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นโตโผในการจัดด้วยซ้ำไป เพราะรัฐบาลมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพระหรือโยมก็ตาม ดังนั้น เมื่อจะจัดงานเพื่อชาติแล้ว เหตุใดรัฐบาลไทยไม่ขอความร่วมมือจากมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ แต่กลับไปร่วมมือกับวัดพระธรรมกาย นั่นหมายถึงว่า รัฐบาลมองว่ามหาเถรสมาคมไม่มีความสามารถในการจัดงานดังกล่าวใช่หรือไม่ 9. จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้พระตั้ง 1,000,000 รูป ระดมกำลังออกบิณฑบาตเพื่อเลี้ยงพระในสี่จังหวัดชายแดนใต้ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 2 อาทิตย์ และคุ้มหรือไม่กับการใช้รถขนอาหารจากกรุงเทพฯลงไปส่งทุกวัดในสี่จังหวัดชายแดนใต้ เอาแค่ 9 ข้อก็คงพอนะ ทีนี้ก็จะขออธิบายขยายความให้ท่านรอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติฟัง ดังต่อไปนี้ ข้อที่ 1 : โครงการตักบาตรพระล้านรูปเป็นของใคร และคำว่า "คณะสงฆ์ไทย" ที่ใช้อ้างในการจัดงานนั้น หมายถึงอะไร คำว่า "คณะสงฆ์" ตามความหมายในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 มาตรา 5 ทวิ. ให้ความหมายไว้ว่า "คณะสงฆ์" หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร "คณะสงฆ์อื่น" หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรืออนัมนิกายนั่นคือความหมายของคำว่า "คณะสงฆ์" หรือคณะสงฆ์ไทยที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) และรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขของชาติ ทีนี้ว่า ในโครงการตักบาตรพระ 1,000,000 รูป นี้นั้น กลับมีข้อความระบุผู้ร่วมงานว่า ได้แก่
แต่เมื่อตรวจดู "มติมหาเถรสมาคม" ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2555 กลับไม่ปรากฏว่ามีโครงการตักบาตรพระหนึ่งล้านรูปผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคมเลย จึงแปลกใจว่า คำว่า "คณะสงฆ์" ที่ถูกอ้างอิงไว้ในโครงการนี้ หมายถึงอะไร ในฐานะที่นายพนม ศรศิลป์ เป็นถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คงจะมีความสามารถให้ความหมายได้กระมัง ว่าถ้านอกจากคณะสงฆ์ไทยภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมแล้ว มีพระสงฆ์องค์ไหนบ้างที่ได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้อ้างหรือใช้ชื่อของตัวเองว่า "คณะสงฆ์" ถ้าหากว่าไม่ถนัด จะไปกราบเรียนขอคำอธิบายจากพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) ซึ่งท่านเป็นราชบัณฑิต คิดว่าคงจะสามารถให้ความกระจ่างได้เช่นกัน เพราะท่านเป็นประธานในงานนี้ด้วย แต่ตามความเข้าใจของผู้เขียนแล้ว เมื่อพิจารณาตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นี้แล้ว ก็ไม่เห็นจะมีคณะสงฆ์อื่นใดที่สามารถใช้ชื่อว่า "คณะสงฆ์" ได้ นอกจากคณะสงฆ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม นอกจากนั้นแล้ว กฎหมายไทยยังอนุญาตให้มีได้อีกแค่ 2 คณะสงฆ์ ได้แก่ คณะบรรพชิตจีน และอนัมนิกาย (ญวน) ดังนั้น การใช้ชื่อว่า "คณะสงฆ์" ไปเป็นหุ้นส่วนในงานนี้ โดยที่มหาเถรสมาคมไม่ได้รับทราบ ก็จึงอยากจะถามว่า มันหมายความว่าอย่างไร ในเมืองไทยนี้ยังมี "คณะสงฆ์อื่น" นอกจากที่กล่าวมานี้อีกหรือ หรือถ้าหากจะให้ความหมายว่า ก็หมายถึงพระไทยโดยทั่วไปที่มิใช่มหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ มิใช่พระสงฆ์ทั่วไป เหมือนรัฐบาลไทยที่เป็นคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศ จึงมิใช่ประชาชนคนไทยโดยทั่วไป ดังนั้น การใช้ชื่อว่า "คณะสงฆ์" จึงมิได้เกี่ยวข้องกับมหาเถรสมาคม ถ้าอ้างแบบนี้ก็ถือว่าเป็น "ศรีธนญชัย" ในทางการศาสนา เป็นพวกลิ้นสองแฉก เลียได้ถึงใบหู ตวัดพลิกแพลงตลบแตลงเข้าข้างตัวเองอย่างไม่ละอายแก่ใจ แม้ว่าจะทำโครงการบุญการกุศลก็ตาม แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์ซื่อตรง ก็ไม่ต่างไปจากการปล้นประชาชนโดยใช้ศาสนาบังหน้า
ข้อที่ 2 : เหตุใดไม่มีการเสนอโครงการผ่านมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรปกครองประเทศ กลับมีชื่อเป็นภาคีในการจัดงานครั้งนี้
ข้อนี้ก็สืบเนื่องมาจากข้อที่ 1 อีกนั่นแหละว่า เมื่อว่าโดยภาระหน้าที่ที่ต้องบริหารดูแลประเทศชาติพระศาสนาแล้ว รัฐบาลไทยและคณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคม ก็มีภารกิจร่วมกัน ดังนั้น ถ้าว่าโดยมารยาทหรือประเพณีอันดีงามแล้ว องค์กรต้องทำงานร่วมกับองค์กร รัฐบาลต้องทำงานกับรัฐบาล มิใช่รัฐบาลไปทำงานร่วมกับเอกชน ว่าโดยสถานะของ "วัดพระธรรมกาย" ก็คือ วัดในสังกัดของมหาเถรสมาคม ซึ่งถ้าหากทางรัฐบาลคิดจะจัดงานเพื่อชาติ ก็ควรจะขอความร่วมมือจากมหาเถรสมาคม แต่ถ้าเห็นว่ามีวัดใดที่มีบุคคลากรที่เหมาะสมกับงาน หรือทางรัฐบาลเห็นว่าอยากจะเชิญไปร่วมงานด้วย ก็ง่ายๆ แค่เพิ่มรายชื่อเข้าไป เพื่อขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม เมื่อมีมติมหาเถรสมาคมรองรับแล้ว ก็ถือว่าถูกต้องชอบธรรมตามระเบียบประเพณีที่ปฏิบัติ ไม่เกิดข้อกังขาครหาใดๆ แต่ในครั้งนี้หากระทำเช่นนี้ไม่ คือมีการข้ามหัว ไม่ยอมแจ้งแก่มหาเถรสมาคม แต่ขณะเดียวกันก็มีการอ้างชื่อ "คณะสงฆ์" ไปใช้ แถมยังมีการ "ดึงตัว" กรรมการมหาเถรสมาคมบางรูปไปเป็นผู้ร่วมงานอย่างไม่เป็นทางการ งานตักบาตรพระล้านรูปที่อ้างว่า "เป็นอภิมหาโครงการระดับชาติ" จึงกระดำกระด่าง กลายเป็นโครงการลับๆ ล่อๆ หรือโครงการอีแอบ ไม่โปร่งใส่ในเจตนาของการกระทำ จึงจำเป็นที่ เรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยและวัดพระธรรมกาย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ว่าความจริงมันคืออะไร คือถ้ามีการแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการว่า บัดนี้ ทางรัฐบาลไทยก็ดี ทางวัดพระธรรมกายก็ดี ได้ขออนุมัติจากทางมหาเถรสมาคม เพื่อจัดโครงการตักบาตรพระล้านรูป เพื่อนำเอาจตุปัจจัยไปช่วยเหลือพระไทยใน 4 จังหวัดภาคใต้ และทางมหาเถรสมาคมก็รับทราบแล้ว แค่นี้ ทางเราก็ยินดีให้ความร่วมมือ คือจริงๆ แล้วอยากจะช่วยชาติใจจะขาด แต่เมื่อเห็นการกระทำที่ลับๆ ล่อๆ ก็เกิดข้อกังขา แบบว่าไม่โปร่งใส จึงตั้งคำถาม แต่กลับไม่มีคนตอบ หนำซ้ำยังดันทุรังทำเหมือนไม่สนใจใคร เพราะเชื่อมั่นว่า "ถ้าอ้างว่าทำเพื่อชาติ" เสียอย่างเดียวแล้ว ก็ถือว่าเป็นความชอบธรรมทั้งสิ้น อย่านับแต่พระกระจอกๆ เพียงรูปสองรูปเลย ต่อให้ราชสำนักก็คงไม่กล้าจะออกมาถาม ถามว่า จะใช้วิธีการเช่นนี้ในการทำงานเพื่อประเทศชาติและศาสนากันอย่างนั้นหรือ ? อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการนี้ไม่ได้นำเสนอมหาเถรสมาคม แต่กลับมีกรรมการมหาเถรสมาคมหลายรูป ทั้งทำตัวเป็นโฆษกประชาสัมพันธ์งาน ทั้งเดินทางไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ก็แสดงว่า "วัดพระธรรมกายไม่ได้ยอมรับมหาเถรสมาคม เป็นแต่มหาเถรสมาคมไปยอมรับวัดพระธรรมกายเอง" ใครใหญ่กว่าใคร ก็ดูได้จากภาพของงานที่ปรากฏออกมา แต่จะเถียงผู้เขียนก็ได้นะว่าเข้าใจผิด ขอนิมนต์ทุกรูปที่ไปร่วมงานนั่นแหละ อีเมล์มาชี้แจงหน่อย จะได้ออกแถลงการณ์ขออภัยอย่างเป็นทางการ
ข้อที่ 3 : เหตุใดจึงนำเอาพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายมาตั้งเป็นประธานในพิธี
วัดพระธรรมกายนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ส่วนสถานที่จัดพิธีตักบาตรพระล้านรูปนั้น จัดภายในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น แต่ในงานกลับปรากฏว่ามีการนำเอาพระประธานศิลปะแบบวัดพระธรรมกาย คือนั่งรัดอก มาตั้งเป็นประธานในงานทุกจุดในกรุงเทพมหานคร จึงอยากจะถามว่า มันความคิดของใคร และใครอนุญาตให้ใช้พระพุทธรูปปางนี้ในพิธีนี้ ถ้าหากว่าวัดพระธรรมกายจัดการเอง ก็แสดงว่างานนี้เป็นงานของวัดพระธรรมกาย แต่ถ้ารัฐบาลจัด หรือมีภาคีสมาชิกร่วมกันจัด ก็อยากจะทราบว่ามีการประชุมและลงมติเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอย่างไร และทำไมจึงนำเอาพระพุทธรูปปางนี้มาจากปทุมธานี ทั้งๆ ที่วัดในกรุงเทพมหานครก็มีนับร้อยๆ วัด พระพุทธรูปก็มีถมเถ แค่ไม่ถึง 10 องค์ ถามว่ารัฐบาลก็ดี คณะสงฆ์ก็ดี ไม่มีปัญญาหาพระพุทธรูปอย่างนั้นหรือ ตรงนี้แหละที่แสดงถึงธาตุแท้ของโครงการที่ว่า ว่ามีเจตนาหรือวัตถุประสงค์อย่างไร ผู้เขียนให้คำนิยามได้เพียงว่า "ใช้ศาสนาบังหน้า เพื่อรุกคืบเข้ายึดกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวง โดยใช้สัญลักษณ์ของธรรมกาย" เรื่องรุกคืบทางสัญลักษณ์นี้ในยุคปัจจุบันถือว่ามีความหมายมาก มันเป็นโลโก้ เป็นแบรนด์ ซึ่งถือว่ามีราคาสูงมาก ถึงขนาดสงวนลิขสิทธิ์ป้องกันคนอื่นนำไปใช้ การนำเอาพระพุทธรูปแบบธรรมกายมาใช้ในงานซึ่งรัฐบาลร่วมจัดนั้น จึงถือว่าเป็นการฉวยโอกาสอย่างหน้าด้านที่สุด ซึ่งเมื่อมองถึงการทำงานของวัดพระธรรมกายในวันนี้แล้ว น่าที่เราจะภาคภูมิใจในความเจริญก้าวหน้า แต่ต้องเศร้าใจเมื่อพบว่า "บุคคลากรและทรัพย์สินอื่นใดที่วัดพระธรรมกายได้มานั้น มาจากการปล้นชิงจากชาวพุทธกันเอง" ดูไปก็ไม่ต่างไปจากกองทัพพม่าเขามาตีกรุงศรีอยุธยาแล้วขนเอาทองไปสร้างพระเจดีย์ทอง เป็นการสร้างผลงานบนการทำลายชาวพุทธด้วยกัน เพียงแต่ต่างลัทธินิกายเท่านั้น ถ้าแน่จริงก็ออกไปสู้กับศัตรูข้างนอกสิ จะหันมาปล้นพวกเดียวกันทำไม ? และถ้าวันนี้ เราไม่ท้วงติงกันไว้ พวกหน้าด้าน พวกเก้อยาก ก็จะฉวยโอกาสต่อไปไม่สิ้นสุด เพราะอ้างได้ว่า ก็ทำมากี่ครั้งแล้ว ไม่เห็นมีใครว่า แสดงว่าเราทำถูกต้องแล้ว ฯลฯ
ข้อที่ 4 : เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงไปเป็นประธานจัดงาน ทั้งยังสวมชุดอุบาสิกาของวัดพระธรรมกาย ขณะที่งานพุทธชยันตีของมหาเถรสมาคม (โดยรัฐบาลเห็นชอบให้จัดที่วัดสระเกศ) กลับมีเพียงแค่รัฐมนตรีประจำสำนักนายก (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ไปร่วมงาน
นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบระหว่างงานของคณะสงฆ์ ซึ่งทางรัฐบาลได้เห็นชอบให้จัดงานมาฆบูชาพุทธชยันตีที่วัดสระเกศ ในวันที่ 5 มีนาคม 2555 โดยข่าวระบุภาคีที่จัดงานไว้ว่า "มหาเถรสมาคม สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และวัดสระเกศ" ในงานวันนี้ มีเพียงนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา ไปเป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำโดยนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ (นายพนม ศรศิลป์ ก็ไปด้วย) ส่วนคณะสงฆ์นั้นก็มีเพียงพระวัดสระเกศ เด่นที่สุดก็คือพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) โดยนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ มาให้โอวาทเปิดงานเพียงไม่กี่นาทีก็จบข่าว จากนั้นก็มีการเปิดป้ายงานมาฆบูชาพุทธชยันตี ไม่มีแม้แต่พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พอตกวันที่ 7 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา ก็มีคนกลุ่มเดิม คือนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) พร้อมด้วยพระสงฆ์วัดสระเกศ เพิ่มเติมอีกรูปโดยพระพรหมสุธี (เสนาะ) ก็สู้ออกงานประพรมน้ำมนต์ด้วย ทีนี้ก็จะเปรียบเทียบกับงานตักบาตรพระล้านรูปของธรรมกาย ซึ่งข่าวระบุว่า มีคณะรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ดังนี้
จะเห็นได้ว่า บรรดาคณะรัฐมนตรี นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างเดินทางไปเป็นประธานในงานนี้ต่างกรรมต่างวาระโดยพร้อมเพรียงกัน ไฮไลต์ของงานนั้นอยู่ที่ประตูน้ำ-ราชประสงค์ ซึ่งจัดในวันที่ 18 มีนาคม 2555 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส ส่วนประธานฝ่ายสงฆ์นั้นคือ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงทุนสวมชุดอุบาสิกาของวัดพระธรรมกายด้วย ทีนี้ เมื่อเทียบกับการจัดงานของมหาเถรสมาคมที่วัดสระเกศ ก็มีเพียงนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปร่วมงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักพุทธฯ เท่านั้น ความจริงแล้วจะว่าไปเฉพาะกลุ่มสำนักพุทธฯ ก็คงว่าได้ เพราะนายนิวัฒน์ธำรงนั้นได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักพุทธฯอยู่แล้ว มันก็เหมือนกับว่า "รัฐบาลไม่ได้ให้ความร่วมมือในโครงการของคณะสงฆ์เลย" ขนาดว่างานมาฆบูชาพุทธชยันตีนั้นจัดที่วัดสระเกศ ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถร) ซึ่งเป็นถึงประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พำนักอยู่แท้ๆ แต่คณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ก็คิดง่ายๆ เพียงแค่ว่า ถ้าจะอ้างว่า บังเอิญวันที่ 7 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีไม่ว่าง เพราะติดภารกิจต้องเดินทางไปราชการที่ต่างประเทศ (เยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2555) ก็ไม่ว่ากัน แต่ถามว่า รองนายกรัฐมนตรีมีตั้งหลายพระหน่อ ทำไมไม่เห็นมีใครไปร่วมงานเลย คณะรัฐมนตรีอีกตั้ง 30 กว่าคน คนพวกนี้หายหัวไปไหนหมด ไม่มีใครว่างเลยหรือ พอวันงานของธรรมกายกลับว่างกันทั้งรัฐบาล จะว่าเป็นโรคอุปาทานหมู่ก็ใช่ที่ เห็นมีก็แต่โรคเดียวเท่านั้น คือ "ป่วยการเมือง"
เรื่องสวมชุดอุบาสิกาธรรมกายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ความจริงก็ไม่น่าจะเป็นประเด็น เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จุดนี้ถือว่าสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการประกาศสัญลักษณ์ความเป็นสาวิกาประจำวัดพระธรรมกาย ซึ่งยังโยงไปถึงว่า ใครคือโต้โผใหญ่ในการจัดงานตักบาตรล้านรูปครั้งนี้ ถ้าเรามองโดยทั่วไป ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ไปร่วมงานอย่างเป็นพิธีการ ไม่ว่าจะเป็นงานรัฐพิธีหรืออะไรก็ตามแต่ การแต่งกายก็ต้องให้เหมาะสมกับงาน การไปร่วมงานตักบาตรล้านรูปในเช้าวันที่ 18 มีนาคม นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ สวมชุดขาว ก็ถือว่าถูกต้อง แต่มันผิดสังเกตตรงที่ว่า "ทำไมต้องเป็นชุดธรรมกาย" นี่มิใช่การอคติต่อธรรมกายอย่างจงใจ แต่เพราะภาพมันฟ้อง จึงต้องตั้งข้อสงสัยว่า 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มีชุดขาวใส่ไปออกงานหรืออย่างไร ถึงได้ไปขอชุดขาวจากวัดพระธรรมกายมาใส่ไปในงานนั้น 2. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตื่นสาย ไม่ทันแต่งตัว จึงเดินทางไปร่วมงานแบบฉุกละหุก เจ้าหน้าที่วัดพระธรรมกายจึงได้จัดชุดให้สวมแบบฉุกเฉิน 3. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นสาวิกาประจำวัดพระธรรมกายมาแต่เดิม หมายถึงว่าได้ชุดอุบาสิกาของวัดพระธรรมกายมาตั้งแต่ก่อนจัดงานตักบาตรล้านรูปแล้ว แต่ถึงกระนั้น การสวมชุดอุบาสิกาของวัดพระธรรมกายในครั้งนี้ ก็เท่ากับประกาศให้ประชาชนคนไทยทราบ 2 ประการ คือ 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นสาวิกาประจำวัดพระธรรมกาย 2. วัดพระธรรมกาย คือผู้จัดการงานตักบาตรล้านรูป เมื่อรวมสองข้อนี้เข้าด้วยกันแล้ว จึงเห็นภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สวมชุดอุบาสิกาของธรรมกาย เดินทางไปร่วมงานตักบาตรล้านรูปของวัดพระธรรมกาย โดยใช้โครงการช่วยเหลือพระสงฆ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้เป็นตัวนำ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือว่า มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 1/2555 ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2555 มหาเถรสมาคมได้ลงมติให้จัดงานฉลองพุทธชยันตีในช่วงเทศกาลวิสาขบูชา ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน พ.ศ.2555 โดยได้เชิญให้นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานจัดงาน เพราะเห็นว่างานนี้เป็นงานใหญ่ในรอบ 2600 ปี แต่กลับปรากฏว่า ทางนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้ปฏิเสธที่จะเป็นประธาน โดยได้แจ้งให้แก่มหาเถรสมาคมทราบ พร้อมกับแนะนำให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) รับหน้าที่ประธานแทน ข้อนี้มิได้ถามนายพนม ศรศิลป์ แต่ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวม ควรแยกให้มีระยะห่างซักเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
ข้อที่ 5 : เหตุใดทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเลขามหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง กลับมีชื่อเป็นภาคีในการจัดงานร่วมกับวัดพระธรรมกาย โดยที่ไม่ยอมนำเสนอโครงการนี้ให้มหาเถรสมาคมรับทราบ นายพนม ศรศิลป์ (รวมทั้งนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ทุกคนด้วย) ขอให้อ่านให้ดี คือว่า อำนาจของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หมวดที่ 2 มาตราที่ 13 มีข้อความว่า "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม" ความหมายคงไม่ต้องแปล เพราะงานเลขาฯ ไม่ว่าจะเป็นเลขานุการหรือเลขาธิการ ก็ต้องสนองงานเจ้านายอยู่ดี ทีนี้ว่า เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีฐานะเป็น "เลขาธิการ" ของมหาเถรสมาคม ก็หมายถึงว่า ต้องรอรับคำสั่งจากมหาเถรสมาคมแล้วปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ แต่กลับปรากฏว่า มีชื่อของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นภาคีร่วมกับมหาเถรสมาคมในการจัดงานพุทธชยันตีด้วย ก็ถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ที่เลขาไปมีชื่อร่วมงานกับประธาน นี่ก็เป็นข้อที่น่าสังเกตว่า เลขาธิการมหาเถรสมาคมทำนอกอำนาจหน้าที่ หรือไม่ก็สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรพิเศษ ทั้งสนองงานคณะสงฆ์และเป็นองค์กรอิสระที่อยากจะไปร่วมงานกับใครก็ได้ ไม่ว่ากับมหาเถรสมาคมหรือองค์กรอื่นใด "ไปเป็นกรรมการจัดงานร่วมกับมหาเถรสมาคม" ก็ถือว่าเป็นเรื่องประหลาดแล้ว แต่การมีชื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการจัดงานตักบาตรพระ 1,000,000 รูป ร่วมกับวัดพระธรรมกาย ก็ยิ่งเป็นเรื่องพิลึกกึกกือเข้าไปใหญ่ เพราะเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ 1. วัดพระธรรมกาย ว่าโดยสถานะเป็นวัดในสังกัดมหาเถรสมาคม แต่มิได้จัดงานในนามของมหาเถรสมาคม แต่ไปจอยกับรัฐบาลไทย 2. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม กลับไม่ยอมร่วมงานกับมหาเถรสมาคม โน่นโผล่ไปร่วมงานกับรัฐบาลหรือกับวัดพระธรรมกาย ในข้อสองนี้ถ้ามหาเถรสมาคมเห็นชอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นกรรมการร่วม (หรือมหาเถรสมาคมร่วมงานกับสำนักพุทธฯ) ก็ต้องเป็นเรื่องแปลกแน่แท้ เพราะบอกแล้วไงว่า องค์กรลูกร่วมงานกับองค์กรแม่ และองค์กรลูกไม่ร่วมงานกับองค์กรแม่ แต่ไปร่วมงานกับองค์กรอื่น โดยที่องค์กรแม่มิได้ไปร่วมแต่อย่างใด มองมุมไหนก็พิลึกกึกกือทั้งสิ้น ! ถามว่า มีเหตุผลจำเพาะอะไรหรือ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อได้รับเชิญให้ไปร่วมงานตักบาตรล้านรูปของวัดพระธรรมกาย จึงไม่ยอมเอาเรื่องเข้าสู่มหาเถรสมาคมเพื่อรับทราบ ก่อนที่จะตอบรับไปเป็นกรรมการจัดงาน ถ้าสำนักพุทธฯตอบไม่ได้ก็ไม่ต้องตอบ และถามว่า เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ "ฉีกบทบาท" ยกระดับตัวเองขึ้นเป็น 1.ผู้ร่วมงานกับทางมหาเถรสมาคม 2.ผู้ร่วมงานกับองค์กรอื่นที่มิใช่มหาเถรสมาคม ก็แล้วอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ล่ะ ยังมีศักดิ์และสิทธิ์อีกหรือ อย่างไรก็ตาม ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549 ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไว้ดังนี้ (ที่ยกมาอ้างข้างต้นนั้นมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535) 1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2. รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ 3. เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา 4. ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา 5. ดูแล รักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง 6. พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา 7. ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม 8. ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี มอบหมาย
ถ้าจะวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาตามกฎกระทรวงนี้ก็เห็นจะเป็นว่า สำนักพุทธฯถูกแยกภารกิจออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหนึ่งให้เป็นสำนักงานเลขาธิการของมหาเถรสมาคม (ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535) และให้สนองงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และถ้าพิศดูให้ดีอีก กฎกระทรวงข้างต้นนี้จะมีอำนาจมากกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ด้วยซ้ำไป เพราะกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติครอบคลุมหรือมากกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 ด้วยซ้ำไป ถ้าจะเปรียบไปแล้วก็คือว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ใหญ่กว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 ดังนั้น ถ้าจะใช้เพียงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 มาตีความอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ย่อมจะผิดพลาดได้ สรุปตามกฎกระทรวงฉบับนี้ก็คือว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีเจ้านาย 2 เจ้า คือ 1.มหาเถรสมาคม และ 2.รัฐบาล ทีนี้ กรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยปรกติก็ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม วันผิดปรกติก็มีชื่อเป็นกรรมการร่วมงานมหาเถรสมาคม และวันพิเศษก็โผล่มีชื่อเป็นกรรมการร่วมงานกับรัฐบาลไทย (สำนักนายกรัฐมนตรี) ถ้าจะตอบตามกฎกระทรวงก็ต้องบอกว่า "เป็นการสนองงานตามที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และกฎกระทรวง พ.ศ.2549 ได้ให้อำนาจหน้าที่แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ดังนั้น จะว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาผิดฝาผิดตัวก็ว่าไม่ได้ เพียงแต่ไม่ทราบว่า ระหว่าง 2 เจ้านาย คือมหาเถรสมาคมกับรัฐบาลไทยนั้น ใครใหญ่กว่าใคร หรือสำนักพุทธฯให้ความสำคัญแก่เจ้านายคนไหนมากกว่า เรื่องบทบาทของสำนักพุทธฯเราจะข้ามไปก่อน แต่จะขอไปพูดถึงว่า ถ้ารัฐบาลไทยกับคณะสงฆ์ไทย (ซึ่งปกครองโดยมหาเถรสมาคม) มีความสัมพันธ์เป็นอันดี การสนองงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแม้ว่าจะต้องรับหน้าที่ทั้งสองทาง ก็ย่อมจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยกับคณะสงฆ์ไทย (ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม) ไม่ถูกต้องร่องรอยกัน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ซึ่งมาจากการปฏิวัติ และถูกกำกับโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งตราหน้า "สมเด็จพระพุฒาจารย์" ว่า ได้รับการแต่งตั้งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หมายถึงว่ามิได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่ถูกต้องชอบธรรม ถึงกับมีความพยายามปลดสมเด็จเกี่ยวมาแล้ว ถามว่า ถ้าสถานการณ์เป็นดังที่ว่านี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ต้องสนองงานทั้ง 2 ทาง จะทำไฉน ไม่กลายเป็นนกสองหัวหรือ ? แม้แต่การฉีกตัวไปร่วมงานตักบาตรพระล้านรูปของวัดพระธรรมกายในครั้งนี้ ทางสำนักพุทธฯก็อาจจะอ้างว่า "เป็นการสนองงานนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้" แต่สำหรับภาพที่ออกมา ปรากฏว่ามหาเถรสมาคมไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่เป็นงานพระงานเจ้าแท้ๆ แบบนี้ก็ดูผิดฝาผิดตัวเช่นกัน ดังนั้น ที่นายพนม ศรศิลป์ ถามว่า "ผมไปร่วมงานนั้นผิดตรงไหน" ผู้เขียนก็ขอตอบว่า "ว่าตามกฎหมายนั้นไม่ผิดหรอก" แต่มัน "ผิดฝาผิดตัว" ดังกล่าวมาแล้ว เพราะอย่าลืมว่า เรื่องอำนาจหน้าที่ก็เรื่องหนึ่ง เรื่องภาพลักษณ์ที่ปรากฏก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องต้องกันก็ได้ ดังบทบาทของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แบบว่าสร้างความสับสนให้แก่พระสงฆ์องค์เณร แต่ก็ช่วยไม่ได้นะ เพราะว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ เมื่อไม่ผิดกฎหมายซะอย่าง ถึงจะวิปริตผิดประเวณีอย่างไรก็คงไม่มีใครสนใจแล้วล่ะ ไม่แน่นะ ต่อไปถ้านายกรัฐมนตรีนับถือศาสนาอื่นที่มิใช่พระพุทธศาสนา เราก็อาจจะได้เห็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นกรรมการร่วมงานกับองค์กรทางศาสนาอื่นด้วยก็ได้ เพราะอย่าลืมว่า กฎหมายบังคับให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องสนองงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วย แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น" เมื่อวันนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศจับมือกับวัดพระธรรมกายจัดพิธีตักบาตรพระล้านรูป โดยไม่มีมหาเถรสมาคมไปร่วม แต่ได้สั่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีอีกตำแหน่งเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม ให้ไปร่วมงานด้วย ต่อไปถ้าสำนักนายกรัฐมนตรีจะสั่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปร่วมงานสันติอโศกบ้าง ศาสนาคริสต์บ้าง ศาสนาอิสลามบ้าง ก็ถามว่า "ทำไมจะสั่งไม่ได้" แต่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ คงไม่คิดให้ปวดหัวไปไกลปานนั้น เพราะปีหน้าแกก็จะเกษียนอายุราชการแล้ว ส่วนกรรมการมหาเถรสมาคมก็คงไม่คิดอะไรเช่นกัน สมเด็จพระราชาคณะแต่ละรูปแต่ละองค์วันๆ ก็ง่วนอยู่กับหมอกับยาและบรรดาศิษย์ใกล้ชิดเท่านั้น ก่อนตายก็ห่วงแต่พระใกล้ชิดว่าจะได้เป็นสมเด็จฯ เป็นกรรมการมหาเถร เป็นเจ้าคณะ หรือเจ้าคุณ กับเขาหรือเปล่ามิฉะนั้นก็ตายตาไม่หลับ
ข้อที่ 6 : เหตุใด พระธรรมกิตติวงศ์ ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และปัจจุบันก็ไม่ได้มีตำแหน่งในทางการปกครองคณะสงฆ์ (ยกเว้นตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม) จึงได้รับการอาราธนาให้ไปเป็นประธานในจุดสำคัญที่สุดของงานตักบาตร จุดที่ว่านั้นคือบริเวณประตูน้ำ ข้อนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า "ผู้เขียนมิได้มีอคติกับหลวงพ่อพระธรรมกิตติวงศ์เป็นการส่วนตัว" เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ทั้งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ พระธรรมกิตติวงศ์ และพระพรหมดิลก ล้วนแต่เป็นครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือผู้เขียนมาแล้วทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงเคารพนับถือทุกรูปทุกองค์ แต่ถ้าท่านเหล่านี้ทำหน้าที่เพียงเป็นครูสอนหนังสือ ก็คงจะอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วประเทศให้ความเคารพนับถือโดยไม่ตะขิดตะขวางใจ แต่ทุกท่านล้วนมีตำแหน่งทางการปกครองในคณะสงฆ์ระดับสูงถึงเจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค และกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นบทบาทในทางการเมืองเรื่องอำนาจ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะการกระทำของท่านมีผลต่อพระศาสนาในวงกว้าง พูดง่ายๆ ว่า ถ้าท่านมิใช่นักการเมือง (ในผ้าเหลือง) ผู้เขียนก็จะไม่เปลืองน้ำหมึกเขียนถึง หรือถึงเขียนถึงก็คงเป็นไปในทางเคารพบูชาอย่างเดียว แต่เมื่อท่านเลือกที่จะอยู่ในเกมแห่งอำนาจ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกตรวจสอบพฤติกรรมรวมทั้งผลงาน ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งถูกวิจารณ์มาก บางรูปบางองค์ถึงกับได้ฉายา "เสียคนตอนแก่" ด้วยซ้ำไป ดังนั้น ที่ผู้เขียน-เขียนถึงพระธรรมกิตติวงศ์ก็ดี ครูบาอาจารย์รูปอื่นก็ดี ก็เป็นบทบาทและหน้าที่ต่อสาธารณชน มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวส่วนตัวของท่านเหล่านั้นเลย ว่าโดยฐานะ พระธรรมกิตติวงศ์นั้น เคยดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมและตำแหน่งเจ้าคณะภาค 16 ก่อนจะถูกปลดโดยคำสั่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งว่ากันว่าสาเหตุแห่งการปลดนั้นมี 2 ชนวน คือ 1.บัญชีเลื่อนสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 2.กรณีธรรมกาย พ.ศ.2542 ทั้งสองกรณีนั้นไว้ว่างๆ ผู้เขียนจะเขียนวิเคราะห์ให้ฟัง รับรองว่าไม่เข้าใครออกใครแน่ แต่จะเข้าทางใครนั้นก็ช่วยไม่ได้ ทีนี้ว่า เมื่อพระธรรมกิตติวงศ์เป็นพระนอกทำเนียบคณะสงฆ์ว่าด้วยความเป็นพระสังฆาธิการระดับสูง แต่จะว่าพระธรรมกิตติวงศ์ไม่ใช่สังฆาธิการก็ไม่ได้อีก เพราะตำแหน่งเจ้าอาวาส "วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร" นั้นก็เป็นพระสังฆาธิการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว แถมยังเป็นถึงพระอารามหลวงชั้นเอก ซึ่งเคยเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 อีกด้วย ดังนั้น คำว่า "นอกทำเนียบพระสังฆาธิการระดับสูง" ในที่นี้ จึงหมายถึงตำแหน่ง "เจ้าคณะภาคและกรรมการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น ว่าโดยธรรมเนียมนิยมแล้ว งานของรัฐหรือที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ โดยมีองค์กรของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงาน ประธานของงานนั้นต้องทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์หรือไม่ก็องคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือข้าราชการ มาเป็นประธานของงาน ถ้าเป็นงานของคณะสงฆ์ ก็จะนิยมนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม หรือเจ้าคณะพระสังฆาธิการระดับสูง เช่นเจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น มาเป็นประธานของงาน แต่สำหรับงานตักบาตรพระหนึ่งล้านรูปที่สำนักนายกรัฐมนตรีมีส่วนร่วมจัดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทางสำนักนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีด้วยตนเอง แต่ในทางคณะสงฆ์นั้น กลับไม่ปรากฏว่ามีการนิมนต์คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือกรรมการมหาเถรสมาคม หรือพระสังฆาธิการระดับสูงรูปใดๆ ไปเป็นประธานของงานเลย กลับปรากฏชื่อของ "พระธรรมกิตติวงศ์" มานั่งเป็นประธานแทน ก็เลยงงว่า นี่มันงานที่จัดอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการกันแน่ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีก็เห็นว่าต้องเป็นทางการ แต่สำหรับการมาของพระธรรมกิตติวงศ์นั้นเห็นเป็นทางการไปไม่ได้ เพราะพระธรรมกิตติวงศ์มิใช่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหรือพระสังฆาธิการระดับสูง ถามว่า ถ้ามิใช่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือมิใช่พระสังฆาธิการระดับสูง (เช่นเจ้าคณะภาค) จะสามารถไปเป็นประธานงานของรัฐหรือของคณะสงฆ์ที่จัดอย่างเป็นทางการได้หรือไม่ คำตอบก็คือ โดยปรกติแล้วเขาจะไม่เชิญ หรือถึงเชิญ ผู้ถูกเชิญก็จะไม่กล้ารับ เพราะผิดธรรมเนียม แต่วันนี้มีประเพณีใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือนายกรัฐมนตรีในนามของสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในพิธีที่มีพระธรรมกิตติวงศ์ซึ่งอยู่นอกวงมหาเถรสมาคมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ถามอีกว่า ตำแหน่งราชบัณฑิตของพระธรรมกิตติวงศ์ เพียงพอสำหรับการเป็นประธานงานนี้หรือไม่ ก่อนตอบก็ต้องถามอีกว่า "ราชบัณฑิต" นั้นเป็นอะไร คำว่า "ราชบัณฑิต" ท่านให้ความหมายว่า คือนักปราชญ์หลวง เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เงินเดือนไม่มี มีแต่เงินตอบแทนเป็นรายเดือน ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ตำแหน่งราชบัณฑิตก็คงจะพอๆ กับตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งมิใช่อธิการบดี ทีนี้เมื่อเทียบกับตำแหน่งพระสังฆาธิการระดับสูง เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค กรรมการมหาเถรสมาคม แล้ว พระธรรมกิตติวงศ์จึงถือได้ว่า "เป็นพระราชาคณะนอกทำเนียบผู้บริหาร" ส่วนเรื่องที่ว่า พระธรรมกิตติวงศ์สามารถรับนิมนต์เป็นประธานงานตักบาตรพระได้หรือไม่นั้น ได้หรือไม่ได้ก็รู้กันอยู่แล้ว เรื่องได้-ไม่ได้จึงมิใช่ประเด็น ประเด็นก็คือว่า "เหมาะสมหรือไม่" นั่นต่างหาก ส่วนเหตุผลในการตัดสินใจไปนั้นคงไม่มีใครไปซักไซ้ไล่เรียงเอากับท่านพระธรรมกิตติวงศ์ เพราะคนระดับราชบัณฑิตนั้นไปบอกท่านก็เท่ากับ "สอนสังฆราช"
ตรงนี้มีคำถามสำคัญว่า วัตถุประสงค์อันใดในการนิมนต์ให้พระธรรมกิตติวงศ์ไปเป็นประธานงานตักบาตร 1,000,000 รูป ของวัดพระธรรมกาย ? คำตอบก็คือว่า น่าจะเป็นการหาเวทีให้พระธรรมกิตติวงศ์ได้กลับมามีบทบาทในทางคณะสงฆ์ แม้ว่าทางมหาเถรสมาคมจะไม่ยินดีต้อนรับ ถึงกับขับไล่ให้พ้นตำแหน่งและกีดกันไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรแห่งอำนาจมานานถึง 15 ปีนี่แล้ว แต่บทบาทในทางสังคมสงฆ์ด้านอื่น ซึ่งวัดพระธรรมกายโดยท่านธัมมชโยได้ปูพื้นรับรองเอาไว้อย่างแน่นหนาและยิ่งใหญ่ระดับโลก และพระธรรมกิตติวงศ์นั้นต้องมรสุมชีวิตเพราะกรณีธรรมกาย ทั้งยังยอมทุ่มเทจิตใจให้แก่วัดพระธรรมกายอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา เมื่อวัดค่าความจริงใจที่พระธรรมกิตติวงศ์มีให้แก่วัดพระธรรมกายในวันต้องมรสุมเช่นกันแล้ว ถึงวันนี้ วันที่วัดพระธรรมกายล้มแล้วลุกขึ้นยืนได้ ก็ย่อมไม่ลืมที่จะยื่นมือไปดึงพระธรรมกิตติวงศ์ให้พ้นจากหล่มด้วย ถ้ามองมุมนี้ก็ต้องขอแสดงความนับถือว่า ท่านธัมมชโยนั้นใช้ได้ทีเดียว เพราะไม่ทิ้งเพื่อนในยามยาก ที่ว่าวัดพระธรรมกายล้มแล้วลุกได้นั้น เพราะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "พระเทพมหาญาณมุนี วิ." นั่นแหละคือหลักฐานการล้มแล้วลุกของวัดพระธรรมกาย ส่วนพระธรรมกิตติวงศ์นั้น นับตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ มีแต่ข่าว "ว่าจะๆ" จะได้เป็นพระพรหม จะได้เลื่อนเป็นรองสมเด็จฯ แต่จนแล้วจนเล่า รอจนรุ่นน้องถึงรุ่นลูกศิษย์ปลายแถว ไปยืนอยู่หน้าแถวหมดแล้ว พระธรรมกิตติวงศ์ก็ยังคงเป็น "พระธรรมกิตติวงศ์" อยู่เช่นเดิม
"ถึงเวลาเปิดหน้าเล่น" ต้องบอกอย่างนี้ จากปี พ.ศ.2535 ถึงปีนี้ ปี พ.ศ.2555 20 ปีเต็มๆ กับตำแหน่งเดิมๆ ของพระธรรมกิตติวงศ์ ขณะที่รุ่นน้องแซงขึ้นชั้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะไปหมดแล้ว รุ่นลูกศิษย์พาสชั้นขึ้นเป็นรองสมเด็จฯ แถมมีตำแหน่งใหญ่บะเริ่มเทิ่ม อย่างพระราชปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ) วัดชนะสงคราม เจ้าคณะภาค 1 นั้น เป็นรุ่นลูกศิษย์ของลูกศิษย์ เพิ่งได้เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี่เอง (พ.ศ.2550) วันนี้มีสมณศักดิ์แค่ชั้นราช กลับกระโดดขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 หน้าตาเฉย นักกายกรรมเห็นแล้วยังเสียวแทนเลย อย่างเช่น สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) วัดพิชยญาติการามนั้น เมื่อปี พ.ศ.2535 ยังมียศเป็นเพียง "พระราชปริยัติโมลี" ขณะที่พระเทพปริยัติโมลี (ทองดี สุรเตโช) ขยับขึ้นเป็น "พระธรรมกิตติวงศ์" ภาษานักกรีฑาก็ต้องบอกว่า "ทิ้งห่างไปถึงสองช่วงตัว" ปีเดียวกัน พระราชสุมนต์มุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนยศเป็นพระเทพกวี ปัจจุบันได้เป็น สมเด็จพระวันรัต ไปแล้ว แถมยังจ่อคิวเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2535 นั้น พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) วัดยานนาวา สมัยนั้นอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาส ยังเป็นแค่ พระเทพประสิทธิมนต์ ปัจจุบันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.6) วัดสระเกศ ยังเป็นแค่ พระราชสิทธิมงคล ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะภาค 12 และกรรมการมหาเถรสมาคม พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ยังเป็นแค่ พระเทพสุธี ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะภาค 7 และกรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธ ยังเป็นแค่ พระราชปฏิภาณโกศล ปัจจุบันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศ์ ยังเป็นแค่ พระราชธรรมาภรณ์ ปัจจุบันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) วัดปากน้ำ ยังเป็นแค่ พระราชพุทธญาณวงศ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะภาค 5 พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศ ยังเป็นแค่ พระสุวรรณเจติยาภิบาล พระราชาคณะชั้นสามัญ ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะภาค 10 หรือแม้แต่ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) วัดสามพระยา เวลานั้นก็ยังเป็นแค่ "พระศรีปริยัติบดี" ปัจจุบันเป็นถึงรองสมเด็จ เป็นเจ้าคณะภาค 14 และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีสมณศักดิ์ "ต่ำกว่า" พระธรรมกิตติวงศ์ทั้งสิ้น ถ้าไม่สะดุดเรื่องธรรมกายแล้ว รับรองว่าพระธรรมกิตติวงศ์ต้องได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะไปก่อนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) วัดพิชัยญาติ อย่างแน่นอน หรือบางทีอาจจะแซงหน้า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ป.ธ.9) วัดสุทัศนเทพวราราม ด้วยซ้ำไป แต่โบราณว่า "วาสนานั้นแข่งกันไม่ได้" ฉันใด เส้นทางชีวิตของพระธรรมกิตติวงศ์ก็ฉันนั้น เมื่อพระธรรมกิตติวงศ์ถูกปลดจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมไปนั้น ตอนนั้นพระธรรมกิตติวงศ์ก็คงคิดว่า "ผู้มีอำนาจ" คงจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตำแหน่ง "เจ้าคณะภาค 16" ก็ถูกกระชากออกจากวัดราชโอรสารามอีก ใครเป็นคนลงมือหรือลงลายเซ็นปลด พระธรรมกิตติวงศ์คงจำได้ นับจากนั้นพระธรรมกิตติวงศ์ก็ไม่มีตำแหน่งในทางการปกครองของคณะสงฆ์ นอกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามพระอารามหลวงเท่านั้น แม้ว่าจะสามารถคว้าเอาตำแหน่ง "ราชบัณฑิต" มาประดับบารมีได้ แต่ก็มิใช่สิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง เพราะพระธรรมกิตติวงศ์ต้องการตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ต้องการยศทางสงฆ์ มิใช่ต้องการยศภายนอกเช่นราชบัณฑิต แต่การได้ราชบัณฑิตมาก็ถือเสียว่า "ดีกว่าไม่ได้" เหมือนเป็นรางวัลปลอบใจนางงามตกรอบ ถามว่าถ้าให้แลกระหว่างการเป็นสมเด็จพระราชาคณะกับราชบัณฑิต พระธรรมกิตติวงศ์จะเลือกอย่างไหน ? เปรียบเทียบกับพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) วัดสามพระยา หลังจากพระธรรมกิตติวงศ์ถูกปลดได้ไม่นาน พระพรหมดิลกก็ถูก "ย้าย" ออกจากตำแหน่ง "รองเจ้าคณะภาค 1" สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ยังเมตตาให้ไปเป็น "เจ้าคณะภาค 14" ซึ่งยังทำให้มีที่ยืนอยู่ในวงพระสังฆาธิการระดับสูงได้ ทำให้พระพรหมดิลกสามารถใช้ตำแหน่งและหน้าที่ "ไต่เต้า" ขึ้นสู่จุดสูงเกือบสุดในวันนี้ คือเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ และไม่แน่นัก อาจจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งในอนาคต ถ้าหากว่าโอกาสเปิด การถูกปลดออกจากตำแหน่ง "เจ้าคณะภาค 16" นี่แหละ คือการ "ประหารชีวิต" พระธรรมกิตติวงศ์อย่างแท้จริง เป็นการกระทำที่ต้องถือว่าอำมหิต ปลิดชีวิตกันทางการเมือง นักการเมืองพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค ยังถูกเว้นวรรคแค่ 5 ปี แต่นี่พระธรรมกิตติวงศ์ แค่เห็นต่างกรณีธรรมกาย ซึ่งเป็นเรื่อง "ทิฐิพระ มานะกษัตริย์" ล้วนๆ แต่กลับถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเรื่องสมณศักดิ์ "ตลอดชีวิต" ใครเป็นพระธรรมกิตติวงศ์ก็คงเห็นใจว่า เล่นกันแรงไป ไม่มีการอภัยโทษกันเลยหรือ ดูแต่พระธัมมชโยสิ โดนคดีท่วมศาล พอการเมืองเปลี่ยน มาถึงมือของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถปลดชนักออกจากหลังได้ และหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็ก้าวขึ้นเป็น "พระเทพญาณมหามุนี" อย่างสง่าผ่าเผย เพราะไม่ยอมเข้าวังไปรับพัด ต้องให้สำนักพระราชวังนำไปประเคนให้ถึงวัดพระธรรมกาย ก็ดังที่บอกแล้วว่า เมื่อโดนปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 16 ไปนั้น พระธรรมกิตติวงศ์กลายเป็นคนรากลอย หรือมีแต่รากฝอยไม่มีรากแก้ว ไม่มีฐานอำนาจทางคณะสงฆ์หนุนส่งให้ขึ้นสู่ยศและตำแหน่งที่สูงขึ้น แรกนั้นพระธรรมกิตติวงศ์ก็คิดว่า "เป็นการกระทำของฝ่ายธรรมยุตแต่ข้างเดียว" แต่พอนานไป แม้ว่าทางฝ่ายมหานิกายจะเข้าครองอำนาจในมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศ ได้ขึ้นเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มาตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงปัจจุบันก็ร่วมๆ 9 ปีเข้าไปแล้ว บัญชีสมณศักดิ์ผ่านการประกาศไปถึง 11 บัญชี ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อของพระธรรมกิตติวงศ์ได้เลื่อนยศกับเขาเลย อย่าง พระราชธรรมเวที (โกเมศ เขมธมฺโม ป.ธ.9) วัดราชโอรสาราม เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงของพระธรรมกิตติวงศ์เอง ยังได้เลื่อนสมณศักดิ์ในปี พ.ศ.2542 หมายถึงว่า มหาเถรสมาคมยอมให้เลื่อนสมณศักดิ์แก่พระลูกวัด ขณะที่เจ้าอาวาสกลับไม่ได้เลื่อน เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ตรงนี้แหละที่พระธรรมกิตติวงศ์รู้ซึ้งว่า "ในมหานิกายเองก็มีตัวการกีดกันท่านอยู่" เผลอๆ จะมากกว่าทางฝ่ายธรรมยุตด้วยซ้ำไป เพราะถ้าพระธรรมกิตติวงศ์ได้เลื่อนชั้น ก็มิได้ไปเบียดเบียนตำแหน่งของทางธรรมยุต หากแต่จะต้องเป็นโควต้าทางฝ่ายมหานิกายเท่านั้น เพราะท่านเป็นพระมหานิกาย นี่ไงที่ว่าผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร เมื่อเอาดีทางมหาเถรสมาคมไม่ได้ (เพราะหนทางถูกปิด) พระธรรมกิตติวงศ์จึงหันไปเอาดีทางงานวิชาการ จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ในปี พ.ศ.2539 พร้อมๆ กับการเทียวไล้เทียวขื่อเข้าวัดพระธรรมกาย จนกลายเป็นพระอุปัชฌาย์หลักของวัดพระธรรมกายไปแล้ว แต่การไปวัดพระธรรมกายของพระธรรมกิตติวงศ์นั้น แม้ว่าจะส่งเสริมให้งานของวัดพระธรรมกายรุดหน้า แต่ก็เป็นผลงานของท่านธัมมชโยแต่ผู้เดียว ในฐานะเจ้าของผู้ก่อตั้งวัดตัวจริง ถ้าจะพิจารณาผลงานของวัดพระธรรมกายเพื่อเลื่อนยศให้แก่พระธรรมกิตติวงศ์ก็คงเป็นไปไม่ได้ เหมือนๆ กับเขานิมนต์ท่านไปร่วมงาน รับสังฆทานแล้วก็กลับ จะนับเป็นผลงานของตัวเองโดยตรงนั้นไม่ได้ ก็สรุปว่า การไปงานวัดพระธรรมกายก็ไม่ได้ช่วยให้มีผลงานในทางคณะสงฆ์เช่นกัน มันเป็นอะไรที่เรียกว่า ทำก็เท่านั้น ไม่ทำก็เท่านั้น
จุดเปลี่ยนของพระธรรมกิตติวงศ์ ถ้าศึกษาดูพฤติกรรมของพระธรรมกิตติวงศ์ให้ตลอด นับตั้งแต่ถูกปลดออกจากกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ก็จะพบว่า ระยะแรกนั้น พระธรรมกิตติวงศ์ยังคง "เกรงใจ" ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยให้ความเคารพเมตตามาก่อน ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระพุทธมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม และสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ พระธรรมกิตติวงศ์จึงก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรม พยายามอ่อนน้อมถ่อมตน โดยหวังว่าผู้ใหญ่จะเมตตาให้อภัยและให้โอกาส แต่รอจนแล้วจนเล่า แบบว่าสมณศักดิ์ว่าง หรือในบัญชีเลื่อนสมณศักดิ์ประจำปี รวมทั้งบัญชีพิเศษอีก 2 บัญชีในรอบ 10 ปี ไม่เคยมีชื่อของพระธรรมกิตติวงศ์ติดโผกับเขาเลย หนำซ้ำ พระราชาคณะรุ่นน้องยังแซงหน้า พระเด็กๆ รุ่นลูกศิษย์ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงกันโครมๆ แบบว่าว่างปุ๊ปตั้งปั๊ป ตั้งข้ามยศ ตั้งข้ามห้วย ตั้งข้ามหัว ตั้งทั้งกลางวันกลางคืน ตั้งลูกตั้งหลานว่านเครือ ทำยังกะตำแหน่งทางการคณะสงฆ์เป็นทายาททางสายเลือดเหมือนราชวงศ์ เป็นเรื่องที่อย่าว่าแต่พระธรรมกิตติวงศ์เห็นแล้วจะหัวร่อเลย แม้แต่พระสงฆ์องค์เณรทั่วไปก็ร้องยี้กันทั้งประเทศ เว้นแต่พวกที่ได้รับแต่งตั้งก็ปลื้มอกปลื้มใจในอำนาจวาสนาที่ได้มาโดยการประจบสอพลอ แล้วพระพวกนี้นะหรือที่จะมาปกครองบ้านปกครองเมือง เป็นเรื่องที่พระธรรมกิตติวงศ์คงยอมไม่ได้ ที่ว่ายอมไม่ได้นั้นหมายถึงว่า ยอมรอเพื่อจะต่อคิวพระเด็กๆ อีกต่อไปไม่ไหวแล้ว เป็นไงเป็นกัน มันเกินเรื่องความอยากได้ใคร่เป็นไปเสียแล้ว วันนี้ถึงพระธรรมกิตติวงศ์จะได้เลื่อนเป็นรองสมเด็จฯ ก็คงไม่ได้ทำให้ดีใจอะไรเลย ถ้าลองเปรียบเทียบฝีมือหรือภูมิปัญญาบารมี ระหว่างพระธรรมกิตติวงศ์กับครูบาอาจารย์ที่สอนอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทยที่วัดสามพระยา ก็พอจะทราบว่า นอกจากพระธรรมวโรดมซึ่งเป็นรุ่นพี่แล้ว พระธรรมกิตติวงศ์สูงส่งกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D) วัดพิชัยญาติ ซึ่งสมัยนั้นยังสอนประโยค 7-8 ขณะที่พระธรรมกิตติวงศ์สอนชั้น ป.ธ.8-9 ไม่ว่าจะเป็นพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9 Ph.D.) วัดสามพระยา ซึ่งสมัยนั้นยังสอนประโยค ป.ธ.7 เท่านั้น ในทางยศทางศักดิ์นั้นอาจจะพอวัดชั้นกันได้ แต่สำหรับบารมีหรือเพาเวอร์ส่วนตัวแล้ว ทุกรูปที่เอ่ยนามมานี้ เจอพระธรรมกิตติวงศ์แล้วเป็นต้องหลีกทางให้ ดังนี้ เมื่อพระเถระเหล่านี้เข้าครองอำนาจในคณะสงฆ์ยุคปัจจุบัน พระธรรมกิตติวงศ์ซึ่งรู้มือกันอยู่จึงเห็นว่า "สู้ตัวเองไม่ได้" เมื่อตัวเองเหนือชั้นกว่า แต่ต้องมายอมอยู่ภายใต้การปกครองของพระเถระเหล่านั้น ถามว่าพระธรรมกิตติวงศ์ยอมรับได้หรือ โดยเฉพาะการขึ้นสู่บัลลังก์แห่งอำนาจอันสูงสุดในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย 2 รูปนี้ ได้แก่ 1.พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D.) วัดพิชยญาติการาม (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์) พระพรหมโมลีนั้น พ.ศ.2535 มีสมณศักดิ์เป็น "พระราชปริยัติโมลี" ขณะที่พระธรรมกิตติวงศ์นั้นเป็นชั้นธรรม สูงกว่าพระพรหมโมลีไป 1 ชั้น ครั้นเกิดกรณีธรรมกายในปี พ.ศ.2542 พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) วัดยานนาวา ถูกปลดจากเจ้าคณะภาค 1 และผู้มีอำนาจในสมัยนั้น (สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง) ได้โยกพระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D.) วัดพิชยญาติการาม ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แล้วย้ายพระเทพสุธี (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9 Ph.D.) วัดสามพระยา จากรองเจ้าคณะภาค 1 ไปเป็นเจ้าคณะภาค 14 และจากนั้นอีกไม่นาน พระธรรมกิตติวงศ์ก็โดนปลดจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะภาค 16 ต่อมา เมื่อพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) ได้เป็นประธานศาลสงฆ์นิคหกรรมพระธัมมชโย แต่ก็ไม่สามารถหาความผิดในทางพระธรรมวินัยได้อย่างตรงๆ ต้องรอให้ศาลอาญาพิจารณาคดีก่อน และเมื่อศาลอาญาได้อนุญาตให้ "ถอนฟ้อง" ตามคำร้องของอัยการ ในปี 2549 ส่งผลให้พระธัมมชโยพ้นมลทิน เพราะศาลสงฆ์ได้ใช้การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมมาเป็นตัวนำคดี ว่าเมื่อศาลอาญาพิจารณาไม่ฟ้อง ก็ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดคดี ทีนี้ว่า ถ้าว่าพระธัมมชโยไม่ผิด แล้วพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) อดีตเจ้าคณะภาค 1 และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม (มติมหาเถรสมาคม 10 กุมภาพันธ์ 2543) นั้นเล่า กรณีพระธรรมกิตติวงศ์ที่ถูกปลดจากกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะภาค 16 อีกเล่า ทั้งสองกรณีนี้จะทำอย่างไร หมายถึงว่าจะคืนความชอบธรรมให้อย่างไร พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9 Ph.D) วัดยานนาวา นั้น มรณภาพลงไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2544 จึงไม่มีโอกาสได้เรียกร้องความยุติธรรม แต่สำหรับ "พระธรรมกิตติวงศ์" นั้นยังไม่ตาย ยังหายใจสบาย และยิ้มได้เต็มหน้า ทีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับพระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม ซึ่งเป็นประธานศาลสงฆ์ โดยได้ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 มาจากข้อหาว่าไม่ยอมปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวา แต่พอพระธรรมโมลีได้เป็นประธานศาลสงฆ์จริง ก็ทำอะไรธัมมชโยไม่ได้อีก หนำซ้ำยังปล่อยให้ธัมมชโยลอยนวล ทั้งๆ ที่ศาลอาญาก็พิพากษาแล้วว่า "ธัมมชโยได้นำเอาปัจจัยที่ได้รับบริจาคไปร่วมพันล้านจริง แต่ได้คืนให้แก่วัดพระธรรมกายหมดแล้ว" ปรากฏต่อมาว่า หลังจากศาลสงฆ์ของพระธรรมโมลีได้ยกฟ้องตามศาลอาญาไปแล้ว ก็ไม่มีการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำในคดีธรรมกายแต่อย่างใด หมายถึงว่าตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งได้มาโดยการปลดเจ้าคณะองค์เก่าออกไปนั้น ยังไม่มีการคืน หนำซ้ำพระธรรมโมลียังได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "พระพรหมโมลี" อันเป็นตำแหน่งเดิมของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวาอีกต่างหาก ต่อมา เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางว่างลง พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางแทน แถมยังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมานี้อีก ขณะที่พระธรรมกิตติวงศ์ซึ่งโดนมรสุมกรณีธรรมกายนั้น ไม่เคยได้รับอะไรกลับคืนมาเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านสมณศักดิ์หรือตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ระดับภาคที่ถูกปลด
ทำไม ในคดีเดียวกัน คนทำงานก็เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์กลับต่างกันราวฟ้ากับเหว
2. พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุทฺโฒ ป.ธ.9) อายุ 45 พรรษา 25 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 (ปัจจุบันคือพระราชปริยัติเวที) หลังจากพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางแล้ว ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ก็ว่างลง ตอนนั้นถ้ามีการตั้งให้พระธรรมกิตติวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 ก็คิดว่าพระธรรมกิตติวงศ์คงจะพอใจ เพราะเจ้าคณะภาค 1 นั้นใหญ่ที่สุดในบรรดาเจ้าคณะภาคทุกภาคในประเทศไทย และเพราะพระธรรมกิตติวงศ์นั้นเป็นพระผู้ใหญ่ระดับสมเด็จพระราชาคณะ จะให้ของขวัญชิ้นเล็กๆ ก็คงไม่เหมาะสมกับฐานันดรศักดิ์ แต่เมื่อพระพรหมโมลีตัดสินใจตั้ง พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 แทน สายใยในใจพระธรรมกิตติวงศ์ก็ขาดผึง เพราะเมื่อเอาเด็กระดับมหาสายชลมาปกครองภาคหนึ่งได้ ก็ไม่ต้องไปมองภาคอะไรในประเทศไทยอีกแล้ว ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 อันเอกอุ กลายเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ปล่อยให้พระเด็กๆ เล่นกันจนมอมแมมไปทั้งมหาเถรสมาคม เวลานี้อย่านับแต่เจ้าคณะภาค 16 เลย แม้แต่เจ้าคณะภาค 1 ก็ไม่มีค่าในสายตาของพระธรรมกิตติวงศ์ เพราะลงให้เด็กๆ ขึ้นนั่งเก้าอี้ใหญ่ระดับนี้แล้ว ผู้ใหญ่อย่างพระธรรมกิตติวงศ์จะไปนับทับนั่งซ้อนมันก็ไม่สมศักดิ์ ยกเว้นแต่พระที่ไม่มีศักดิ์ศรีเท่านั้นจึงยินดีนั่ง เมื่อพระโสภณปริยัติเวที หลานชายสุดที่รักของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้พาสชั้นขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 อันเอกอุที่สุดในบรรดา 18 ภาคนั้น มันส่งผลกระทบไปถึง "มหาเถรสมาคม" ให้ดูต่ำต้อยด้อยค่าในสายตาของปัญญาชน ว่ามหาเถรสมาคมหมดปัญญาหาคนดีมีฝีมือกว่ามหาสายชลแล้วหรือ ถึงได้อุ้มเอา "เด็กเมื่อวานซืน" มาทำงานระดับประเทศ ดูในเว็บไซต์ของเจ้าคณะภาค 1 สิ ระดมกองงานเลขานุการ ขนข้าวสารอาหารแห้งไปช่วยเหลือวัดที่ถูกน้ำท่วมในภาค 1 เจ้าคณะภาคต้องออกแรงไปแบกข้าวสารเอง ตัวเองเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ลงไปใช้แรงงานเป็นจับกัง ก็คงพอๆ กับสำนวนไทยที่ว่า "คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง" เป็นเรื่องที่หัวร่อไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก แต่ก็เป็นไปแล้ว คำถามจึงมีว่า "ความดีความชอบอะไร ที่ส่งให้พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และได้รับการเสนอจากมหาเถรสมาคมให้เข้ารับการสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์" ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า "ความผิดร้ายแรงอะไร ทำให้พระธรรมกิตติวงศ์ถูกปลด และถูกดองไว้นานถึง 20 กว่าปี โดยไม่มีโอกาสเลื่อนสมณศักดิ์หรือแม้แต่กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม คือเจ้าคณะภาค 16" คำถามเหล่านี้คงจะมีคนคิดกันหลายคน โดยเฉพาะพระธรรมกิตติวงศ์คงจะคิดมากว่าใคร "แล้วจะมีอะไรให้เกรงใจอีก ในเมื่อทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเกรงใจใครอยู่แล้ว" พระธรรมกิตติวงศ์คงคิดเช่นนี้ นี่แหละคือจุดเปลี่ยนของพระธรรมกิตติวงศ์ ก่อนจะยอมรับนิมนต์ไปเป็นประธานงานตักบาตรล้านรูปของธรรมกายเมื่อวานนี้
นี่ไงที่ท่านธัมมชโยก็คงเห็นหัวอกของพระธรรมกิตติวงศ์อย่างลึกซึ้ง จึงเมื่อมีโครงการตักบาตรพระหนึ่งล้านรูป ในบรรดาพระมหาเถระที่ได้รับการนิมนต์ให้ไปเป็นประธานตามจุดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 10 ถึง 25 มีนาคม นั้น ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พระพรหมดิลก พระวิสุทธิวงศาจารย์ และพระธรรมกิตติวงศ์ ปรากฏว่าชื่อของ "พระธรรมกิตติวงศ์" ได้รับการวางไว้ในตำแหน่งสำคัญที่สุดของงาน คือได้เป็นประธาน ณ ประตูน้ำ-ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ซึ่งความสำคัญที่ว่านี้มีจุดบ่งชี้ คือ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในจุดนี้ ขณะที่จุดอื่นๆ นั้นได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่นๆ กระจายกันไป แม้แต่ในวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา พิธีตักบาตรที่เยาวราช ขนาดว่ามีการนิมนต์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ รวมทั้งมีรองสมเด็จพระราชาคณะตั้งหลายรูปไปนั่งหัตถบาตรร่วมพิธี แต่กลับปรากฏว่านายกรัฐมนตรีไม่ยอมไป ได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานแทน นั่นแสดงว่าธรรมกายให้ค่าแก่พระธรรมกิตติวงศ์มากกว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ รวมทั้งกรรมการมหาเถรอีกหลายรูป แต่พระธรรมกิตติเมธีจะรู้หรือเปล่าก็ไม่รู้สินะ เพราะเห็นยิ้มย่องออกหน้าเวลารับประเคนไทยธรรมจากรองนายกรัฐมนตรี และนี่คือเหตุผลที่ว่า ในบรรดาพระมหาเถระที่ไปเป็นประธานงานตักบาตรล้านรูปของวัดพระธรรมกายนั้น พระธรรมกิตติวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญสูงสุด สูงกว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สูงกว่ากรรมการมหาเถรสมาคมรูปอื่นๆ มันเป็นรางวัลแห่งความจงรักภักดีในธรรมกายขั้นสูงสุดเท่าที่ธัมมชโยจะมอบให้ แต่ถามว่า พระธรรมกิตติวงศ์รู้หรือไม่ ว่าถูกจัดให้อยู่หัวแถวของงานนี้ งานที่ต้องคิดบัญชีกันอีกยาว ? คำตอบก็คือว่า คนระดับราชบัณฑิต ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะรูปหนึ่งในวงการสงฆ์ไทย โดยเฉพาะสายบาลีนั้น ยอมรับพระธรรมกิตติวงศ์ว่าแต่งฉันท์บาลีได้ดีเป็นที่หนึ่งไม่มีสอง ขนาดว่าตอนที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอยู่ งานแต่งฉันท์ของมหาเถรสมาคมต้องมอบหมายให้พระธรรมกิตติวงศ์แต่งทุกครั้ง ด้วยเกียรติคุณดังว่ามานี้ ถ้าไม่รู้ก็คงไม่ใช่พระธรรมกิตติวงศ์ ดังนั้น เมื่อพระธรรมกิตติวงศ์รู้ตัวและตัดสินใจไปเป็นพระเอกของงานตักบาตรล้านรูปที่ราชประสงค์ ก็แสดงว่าเป็นความประสงค์ของพระธรรมกิตติวงศ์ที่อยากจะ "เปิดหน้าเล่น" กับใครบางคนในมหาเถรสมาคม เพราะเรื่องใหญ่ระดับประเทศแบบนี้ ตบมือข้างเดียวรับรองว่าไม่ดัง หมายถึงว่า ถ้าพระธรรมกิตติวงศ์ไม่สมัครใจแล้ว ถึงท่านธัมมชโยจะเข็นอย่างไรก็คงยากจะสำเร็จ พระธรรมกิตติวงศ์คงมองออกแล้วว่า ด้วยวัย 66 ปี ยังเดินมาได้แค่นี้ (ในวงการคณะสงฆ์เรื่องสมณศักดิ์) นอกจากจะถูกไล่ออกแล้วยังถูกปิดทางเข้ามานานนับ 20 ปี มันเป็นอะไรที่สายเสียแล้วที่จะกลับไปเดินบนเส้นทางเดิน ทางที่ถูกรุ่นน้องและรุ่นลูกศิษย์แซงหน้าไปหมดแล้ว ขืนกลับไปก็คงเสียคน แต่กรุงเทพมหานครนั้นใช่ว่ากว้างใหญ่ ไปงานวัดไหนก็เจอคนกันเองทั้งนั้น ไม่รู้ว่ามือที่ยกมือไหว้ทุกครั้งนั้น จิตใจของเขาไหว้เราด้วยหรือเปล่า เพราะสังคมสงฆ์ไทยก็สวมหน้ากากใส่กันทุกวัน ดังนั้น เมื่อไปทางนี้ไม่ได้ และมีทางใหม่ให้เดิน คือทางที่ธรรมกายปูไว้ให้อย่างสวยหรู มีหรือพระธรรมกิตติวงศ์จะไม่เดิน เพราะพระธรรมกิตติวงศ์ในวันนี้ไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไปแล้ว ! นั่นอาจจะเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่เพิ่มน้ำหนักการตัดสินใจให้แก่พระธรรมกิตติวงศ์ ก่อนรับเชิญเป็นประธานงานตักบาตรพระสงฆ์ 1,000,000 รูป เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนขอให้ฉายาว่า "ถึงเวลาเปิดหน้าเล่นแล้ว" ถามว่า เปิดหน้าเล่นเช่นนี้ พระธรรมกิตติวงศ์จะได้อะไร ? คำตอบก็คือ ได้ความสะใจไงครับ ! ได้โชว์เพาเวอร์ให้ผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมได้เห็น ว่าคนที่ชื่อ พระธรรมกิตติวงศ์ นั้น ยังมีทางไปอีกเยอะ ยังใหญ่ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เวทีมหาเถรสมาคมก็ตาม ในโลกใบนี้ยังมีเวทีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งราชบัณฑิตที่พระธรรมกิตติวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรูปที่ 2 ในประวัติศาสตร์ (รูปแรกคือพระพิมลธรรม-ชอบ อนุจารี วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี) รวมทั้งตำแหน่ง "ประธานของวัดพระธรรมกาย" ในงานตักบาตรล้านรูปดังกล่าว และหลังจากโชว์เพื่อความสะใจหลังจากนี้แล้ว สัมพันธภาพระหว่างผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมกับพระธรรมกิตติวงศ์ก็คงจะเป็นไปในทำนอง "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" อีกแล้ว เพราะเหยียบกันจนแบนติดดิน พระธรรมกิตติวงศ์โดนเหยียบจนแบนเรื่องสมณศักดิ์และตำแหน่งทางการปกครอง ผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมก็โดนพระธรรมกิตติวงศ์ "เหยียบหน้า" ภาษานักมวยเรียกว่า "บาทาลูบพักตร์" ด้วยการสร้างอำนาจนอกระบบขึ้นมาคาน แบบว่าไม่สามารถนั่งหัวแถวในพระบรมมหาราชวังได้ก็ไม่เป็นไร ธรรมกายยังสามารถ "ปิดถนนกลางกรุงเทพมหานคร" เปิดเวทีใหพระธรรมกิตติวงศ์ขึ้นนั่งเป็นประธาน ท่ามกลางพระสงฆ์สามเณรนับหมื่นๆ รูป ประชาชนอีกเรือนแสน แถมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคมอีกมากมายหลายรูป มานั่งประดับบารมีให้แก่พระธรรมกิตติวงศ์ ขนาดสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็ยัง "นั่งต่ำ" กว่าพระธรรมกิตติวงศ์ นี่ยังโชคดีนะที่สมเด็จพระราชาคณะในฝ่ายมหานิกายไม่ไป ไม่งั้นพระธรรมกิตติวงศ์คงได้ภาพฮาชุดใหญ่ไปนอนดูเล่น ก็คิดดูสิ เริ่มตักบาตรมาตั้งแต่วันที่ 10-11 มีนาคม 2555 หมายถึงว่าถ้าจะเปิดงานก็ต้องเป็นวันที่ 10 ซึ่งน่าจะเชิญนายกรัฐมนตรีไปในวันนั้น แต่ปรากฏว่าทางผู้จัดการได้เชิญ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร มาเป็นประธานแทน ส่วนประธานฝ่ายสงฆ์นั้นได้แก่ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ เจ้าคณะภาค 7 และกรรมการมหาเถรสมาคม ตกวันที่ 11 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของงาน นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่โผล่ ถัดมาอีกเสาร์หนึ่ง คือวันที่ 17 มี.ค. ทางรัฐบาลได้ส่ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กระทรวงกลาโหม มาเป็นประธาน ขณะที่ทางผู้จัดการใหญ่ได้จัดเอา "พระพรหมดิลก" (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะภาค 14 และกรรมการมหาเถรสมาคม ลงแทน ตกวันอาทิตย์ ที่ 18 มี.ค. 2555 จึงถือว่าเป็นวันเปิดงานอย่างเป็นทางการ เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตื่นนอนแต่เช้ายิ่งกว่าตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่งชุดขาว มีแถบพาดไหล่ทั้งยาวลงไป ได้เดินทางไปยังบริเวณมณฑลพิธีที่ประตูน้ำ-ราชประสงค์ เพื่อตักบาตรทำบุญ โดยไม่ลืมชวนน้องเอมพิณทองทา ชินวัตร บุตรสาวสุดรักของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปทำบุญด้วย สำหรับประธานฝ่ายสงฆ์นั้น ท่านผู้จัดการใหญ่ได้คัดชื่อของ "พระธรรมกิตติวงศ์" ลงไปนั่งอยู่ท่ามกลางพระสงฆ์นับหมื่นๆ รูป และพุทธศาสนิกชนอีกนับแสนคน เหมือนดาวล้อมเดือน สป็อตไลต์นับพันดวง กล้องทีวี กล้องถ่ายรูป แย่งกันบันทึกภาพของพระธรรมกิตติวงศ์วูบวาบเหมือนซูเปอร์สตาร์ เกิดมาจนอายุขึ้นเลขสี่ก็ยังไม่เคยเห็นพิธีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่านี้ วัน-เวลา และสถานที่ อันเป็นอภิมหามงคลฤกษ์นี้ ถามว่าพระเจ้าองค์ไหนเสกสรร ถ้าหากมิใช่ผู้จัดการมือทองที่ชื่อ "พระเทพญาณมหามุนี" เป็นมืออภิมหามิตรที่บรรจงป้อนลูกให้พระธรรมกิตติวงศ์เพียงแค่แตะตามน้ำเบาๆ ก็สไลด์เข้าโกลอย่างสวยงาม ขนาดว่านายทวารทิ้งตัวลงขวางพร้อมกับเอื้อมมือไปจนสุดตัวก็ยังยากจะไขว่คว้า ต้องปล่อยให้ลูกบอลวิ่งเข้ามุมซ้ายไปอย่างยากจะลอกเลียน ใช่แล้ว มันเป็นศิลปะเฉพาะตัว ต้องอัจฉริยะระดับ "พระธรรมกิตติวงศ์+พระเทพญาณมหามุนี" เท่านั้น ที่กล้าเล่นเช่นนี้ได้ นอกนั้นแล้วอย่าคิดเล่นเลย หลังหักเปล่าๆ และนี่ก็คือ ของขวัญอันสูงสุดที่ท่านธัมมชโยมอบให้แก่พระธรรมกิตติวงศ์ ในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ สรุปว่า ถ้าจะว่าพระธรรมกิตติวงศ์เล่นแรง แบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม พระธรรมกิตติวงศ์ก็คงตอกกลับบ้างว่า "ตะทีพวกท่านทำกับผมล่ะ มันไม่แรงหรือ มีใครในประเทศไทยเจอทำแบบผมบ้าง" หนังเรื่องยาวเรื่อง "ยศช้างขุนนางพระ" ตอน "12 สิงหาคม 2535" ยังคงเป็นเรื่องยาวอีกต่อไป และต่อไป หรือจะเป็นดังคำกล่าวที่ว่า "หลังเสือนั้น ขึ้นแล้ว ลงยาก..."
ข้อที่ 7 : เหตุไฉนในเว็บไซต์ของรัฐบาลก็ดี ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ดี ซึ่งเป็นภาคีในการจัดงานครั้งนี้ กลับไม่มีข้อมูลของการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงการ วิธีการ การประชาสัมพันธ์ และรวมทั้งข้อมูลข่าวสารด้านอื่น เช่น ภาพ วีดิโอ เป็นต้น แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของวัดพระธรรมกายเพียงแห่งเดียว จริงๆ แล้วก็คงไม่อยากเขียนมาก เพราะมิใช่เรื่องสำคัญ มันยังเป็นรองบทบาทอื่นๆ ของตัวละครที่แสดงออก เพียงแต่ว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์งานตักบาตรล้านรูปนั้น ถ้าสำนักนายกรัฐมนตรีก็ดี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้ ได้ร่วมกันเป็นภาคีกับวัดพระธรรมกาย ก็น่าจะมีการโปรโมทโฆษณาในเว็บไซต์ของรัฐบาลและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอย่างทั่วถึง แต่กลับมีเพียงเว็บไซต์ของวัดพระธรรมกายเพียงแห่งเดียวที่เสนอข่าว แบบนี้ก็แสดงว่า การจัดงานใหญ่ในครั้งนี้ เป็นการล็อบบี้ของธรรมกายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนภาคีอื่นๆ นั้นเพียงแต่ให้ชื่อไปโฆษณาว่ามีส่วนร่วม แค่นี้ธรรมกายก็พอใจแล้ว เพราะต้องการเพียงแค่ชื่อเท่านั้นจริงๆ มิได้ต้องการให้เข้ามาก้าวก่ายในงานเลย ไม่ว่าส่วนไหน แม้แต่เรื่องชุดอุบาสิกาของนายกรัฐมนตรีก็เป็นเกมอันคลาสสิกของธรรมกาย ใครถลำตัวเข้าไปไกลถึงปานนั้นจะบอกว่า "หนูไม่รู้" ก็คงเสียคน ดังนั้นสู้นิ่งไว้ไม่ดีกว่าหรือ
ข้อที่ 8 : งานตักบาตรพระล้านรูป เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการช่วยชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยถึงกับต้องรับเป็นภาคี (หุ้นส่วน) ในการจัดงาน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นโต้โผในการจัดด้วยซ้ำไป เพราะรัฐบาลมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพระหรือโยมก็ตาม ดังนั้น เมื่อจะจัดงานเพื่อชาติแล้ว เหตุใดรัฐบาลไทยไม่ขอความร่วมมือจากมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ แต่กลับไปร่วมมือกับวัดพระธรรมกาย นั่นหมายถึงว่า รัฐบาลมองว่ามหาเถรสมาคมไม่มีความสามารถในการจัดงานดังกล่าวใช่หรือไม่ เรื่องนี้ก็ดังที่เห็น คือว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยคิดจะเข้าเป็นหุ้นส่วนจัดงานกับวัดพระธรรมกายในการช่วยเหลือพระในสี่จังหวัดชายแดนใต้ ทำไมจึงมองข้ามมหาเถรสมาคมไป รัฐบาลอาจไม่ได้มองว่ามหาเถรสมาคมไม่มีความสามารถ หากแต่ว่าโครงการนี้ริเริ่มโดยธรรมกาย ทำกันมานานหลายปีจนช่ำชองแล้ว เมื่อธรรมกายมาขอความร่วมมือ ทางรัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งข่าวว่าพักหลังนี้ศรัทธาในธรรมกายอย่างหัวปักหัวปำ ก็จึงยินดีรับเป็นหุ้นส่วน ทั้งนี้ ในฤดูกาลเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีข่าวหนาหูว่า ทางหลวงพ่อธัมมชโยได้มอบนโยบายการศาสนาให้แก่บรรดาสาวกว่า "ขอให้ทุ่มเทช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยอย่างสุดความสามารถ" ผลสุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ชนะและได้เป็นรัฐบาล งานตักบาตรพระล้านรูปจึงอาจจะเป็นการแสดงออกซึ่งปฏิการคุณที่ "ธัมมชโย" มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นได้ ไม่เท่านั้นนะ ถ้อยคำที่ว่า "มีหลวงพ่อองค์หนึ่งทำนายว่า ไม่ต้องรีบกลับเมืองไทย ขอให้อยู่เมืองนอกไปก่อน และไปอยู่เมืองนอกนั้นอาจจะหาทางค้าขายร่ำรวยกว่าอยู่เมืองไทยด้วย" นี่เป็นคำอ้างของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อสาวกทางการเมือง ส่วนหลวงพ่อเจ้าของคำพูดเหล่านี้ มีคนกระซิบผู้เขียนให้ทราบว่า คือท่าน... นั่นเอง นอกจากจะพยากรณ์กรรมทางดาวธรรมแม่นเหมือนตาเห็นแล้ว ยังดูดวงได้เด็ดขาดอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผลของงานที่ออกมาในรูปนี้ คือมีชื่อธรรมกายเป็นเจ้าของโครงการ นั่นก็เท่ากับฟ้องไปในตัวว่า "มหาเถรสมาคมลอยแพพระสงฆ์ไทยในสี่จังหวัดชายแดนใต้ คือไม่ดูไม่แล และถ้าไม่ได้ธรรมกายช่วยแล้ว ก็เห็นว่าวัดจะร้างทั้งสี่จังหวัด" ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ภาระหน้าที่ในการดูแลพระสงฆ์ในสี่จังหวัดชายแดนใต้นั้นก็มีผู้รับผิดชอบอยู่ นับตั้งแต่มหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าคณะภาค ลงไปจนถึงเจ้าคณะจังหวัด รวมทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมหาเถรสมาคมได้ลงมติให้จัดตั้งกองทุน "วัดช่วยวัด" ขึ้น แล้วให้หักเงินนิตยภัตของพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ปีละ 1 เดือน นำเข้าบัญชีที่ว่านี้ เพื่อนำไปช่วยเหลือพระสงฆ์ในสี่จังหวัดชายแดนใต้ดังกล่าว รวมทั้งงบประมาณด้านอื่นที่ผันจากรัฐบาลสู่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนามิได้นิ่งเฉย ทำงานหนักมาโดยตลอด แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ สู้วัดพระธรรมกายไม่ได้ เพราะเขาเก่งการตลาดมากกว่า แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า กรรมการมหาเถรสมาคมนับตั้งแต่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ลงมา กลับไปนั่งรับบาตรในโครงการนี้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา นั่นก็เท่ากับยอมรับไปในตัวว่า "มหาเถรสมาคมทำงานล้มเหลว เลี้ยงพระสี่จังหวัดชายแดนใต้ไม่ไหว จึงต้องขอความช่วยเหลือจากวัดพระธรรมกาย" ใช่ไม่ใช่ก็เชิญไปถามบรรดากรรมการมหาเถรสมาคมที่ไปร่วมงานเอาเอง
ข้อที่ 9 : จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้พระตั้ง 1,000,000 รูป ระดมกำลังออกบิณฑบาตเพื่อเลี้ยงพระในสี่จังหวัดชายแดนใต้ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 2 อาทิตย์ และคุ้มหรือไม่กับการใช้รถขนอาหารจากกรุงเทพฯลงไปส่งทุกวัดในสี่จังหวัดชายแดนใต้
ยกตัวอย่างที่อ้างว่า เปิดโครงการบิณฑบาตแก่พระ 1 ล้านรูป นำเอาข้าวสารอาหารแห้งไปช่วยเหลือพระสงฆ์ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวนทั้งสิ้น 266 วัด ซึ่งจำนวนพระสงฆ์นั้นคาดว่าน่าจะไม่เกิน 1,000 รูป เพราะมีหลายวัดที่ร้าง เพราะพระสงฆ์หนีภัย ต้องหาพระอาสาสมัครลงไปจำพรรษา ทีนี้ว่า พระภิกษุสามเณรแค่ 1,000 รูป ถามว่ารัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยดูแลไม่ไหวหรืออย่างไร จึงได้ปล่อยให้ธรรมกายเข้าช่วยเหลือ จนกลายเป็นว่า "ธรรมกายคือตัวหลัก" ในการช่วยเหลือพระสงฆ์ไทยในภาคใต้ไปแล้ว ในอีกทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธรรมกาย ก็มองให้เห็นว่า เวอร์เกินไป เพราะ 1. การประโคมข่าวตักบาตรพระสงฆ์ 1,000,000 รูป จัดกิจกรรมต่อเนื่องภายในเวลาแค่ 2 อาทิตย์ ทำเหมือนกับว่าเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงในสี่จังหวัดชายแดนใต้ ถ้าไม่ได้พระเป็นแสนเป็นล้านรูปไปช่วยแล้วจะยากเกินเยียวยา ถามว่าจริงหรือไม่ ทางมหาเถรสมาคมก็ดี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ดี เคยมีการวิเคราะห์หรือเปล่าว่า โครงการของวัดพระธรรมกายนั้นเว่อร์เกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้ว มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งรัฐบาล ก็ดูแลพระในสี่จังหวัดเหล่านั้น แบบว่าขาดเหลือสิ่งใดก็ขอให้บอก เพียงแต่ไม่โฆษณาเหมือนธรรมกายเท่านั้น 2.อาหารบิณฑบาตที่ได้จากโครงการตักบาตรล้านรูปนั้นมีจำนวนมหาศาล ประมาณว่าเป็นร้อยตัน ถามว่า ข้าวของทั้งหมดถ้านำไปให้แก่พระสงฆ์ในสี่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 266 วัดเหล่านั้น มันไม่เยอะเกินไปหรือ และถ้าพิจารณาลงไปอีก แม้ว่าจะเป็นอาหารแห้ง แต่ก็ต้องมีอายุ อย่างมากก็ไม่เกิน 1 ปี อาหารจำนวนมหาศาลเหล่านั้นจะฉันหมดอย่างไรภายใน 1 ปี และที่สำคัญก็คือว่า การใช้รถบรรทุกขนอาหารจากกรุงเทพฯ ไปส่งถึงทุกวัดในสี่จังหวัดชายแดนใต้นั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะน้ำมันแพง ระหว่างค่าขนส่งกับมูลค่าสิ่งของที่ส่ง อย่างไหนแพงกว่ากัน มันไม่เป็นโครงการขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือ หรือว่ามีวัตถุประสงค์แอบแฝงมากกว่านั้น
นี่จึงเป็นการเปิดหน้ากากของธรรมกายว่า "ใช้โครงการตักบาตรล้านรูปบังหน้า" เพื่อประชาสัมพันธ์วัดพระธรรมกายในเชิงรุกเข้ายึดกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงของประเทศ ทางหนึ่งก็ประกาศว่า "ตักบาตรช่วยชาติศาสนาช่วยภาคใต้" ทางหนึ่งก็หมกเม็ดโดยการนำเอาพระพุทธรูปแบบธรรมกายมาเป็นประธาน จุดคุ้มค่าจึงอยู่ที่ธรรมกายได้สร้างสัญลักษณ์ใหม่กลางกรุงเทพมหานคร ดังปรากฏแก่สายตาทุกท่านแล้ว มารยาทเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารการปกครองบ้านเมือง ที่ผู้เขียนนำเสนอมาทั้งหมดนั้น ก็ขมวดใจความได้แต่เพียงเรื่องของ "กติกาและมารยาท" ในการบริหารปกครองบ้านเมือง เป็นเรื่องที่พึงสังวรระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าลืมว่า พระธรรมกิตติวงศ์ถูกมรสุมอย่างแรงในชีวิต ถูกปลิดชีพจากวงอำนาจในคณะสงฆ์ก็เพราะเรื่องของมารยาท เพราะ1. ท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ในบัญชีพิเศษ ที่มิได้ผ่านมหาเถรสมาคม แม้ว่าจะเป็นพระบรมราชโองการ อันเป็นอำนาจสูงสุด แต่สำหรับพระธรรมกิตติวงศ์ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ถือว่าผิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง 2. ท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่เห็นต่างจากมติมหาเถรสมาคมเรื่องธรรมกาย และอีกหลายเรื่อง ก็ถือว่าเป็นการทำผิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรงเช่นกัน ถ้าเอาตัวบทกฎหมายมาจับ ก็รับรองว่าทำอะไรพระธรรมกิตติวงศ์ไม่ได้ แต่ถ้าใช้จริยาพระสังฆาธิการมาจับ พระธรรมกิตติวงศ์ก็คงเอวังดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่าลืมด้วยว่า มหาเถรสมาคมนั้น เป็นองค์กรปกครองรวบอำนาจสูงสุดไว้ทั้ง 3 หลัก ได้แก่ 1. เป็นรัฐบาลปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศ 2. เป็นสภาออกกฎหมายของคณะสงฆ์ มติหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคมมีศักดิ์และสิทธิ์เสมอกับกฎหมาย 3. เป็นศาลยุติธรรมสำหรับคณะสงฆ์ แม้จะไม่ยุติธรรมสำหรับบางฝ่าย แต่อำนาจด้านนี้ก็อยู่ในมือมหาเถรสมาคม ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งท่าน ผอ. ท่านรอง ผอ. ที่ไปร่วมงานตักบาตรพระล้านรูป และถูกพาดพิงถึงใน อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม นั้น ขอบอกให้ทุกท่านทราบว่า ขนาด สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ยังถือเป็น "พระรอง" ของเรื่อง กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะพระสังฆาธิการที่ไปร่วมงาน เปรียบได้แค่ "พระอันดับ" แล้วนับประสาอะไรกับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ พวกท่านดูไปแล้วก็แค่ "หางเครื่อง" ที่เขียนถึงเพราะเห็นว่าเต้นสวย เท่านั้นเองดอก จะบอกให้ทั้งสิ้นทั้งปวงนี้ คือคำตอบต่อคำถามของ นายพนม ศรศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าอยากทราบเหตุผลกลไกเกี่ยวกับการลงข่าวในทำนองว่า "เราไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว" ซึ่งผู้ที่อ่านข่าวอย่างผิวเผินก็คงจะคิดเห็นเช่นนั้น แต่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วก็คงจะทราบดีว่า นอกจากจะไม่แอนตี้แล้ว ทางเรายังอยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศชาติศาสนา หากแต่ว่า การทำงานร่วมกันนั้น ต้องมีกฎ กติกา และมารยาท แบบว่าโปร่งใส มิใช่ทำลับๆ ล่อๆ แบบที่วัดพระธรรมกายเคยทำและกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
เราจึงเพียงตั้งคำถามไปถึง "รัฐบาลและมหาเถรสมาคม" เท่านั้น ส่วน "วัดพระธรรมกาย" นั้นไม่กล้าถาม เพราะว่าวัดเป็นนิติบุคคล สามารถจะทำกิจกรรมใดๆ ก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย ยิ่งโครงการช่วยชาติด้วยแล้ว ใครบ้างจะกล้าคัดค้าน ทำดีเพื่อชาติ ใครบังอาจคัดค้านก็เสียคน แต่ในการทำงานเพื่อประเทศชาติศาสนานั้น ท่านสอนว่า "ทำงานเพื่อศาสนา อย่าแสวงหาอามิส" คืออย่าหวังได้ประโยชน์จากการกระทำ จงทำความดีให้เหมือนการปิดทองหลังพระ แต่พฤติกรรมของวัดพระธรรมกายกลับตรงกันข้าม มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์จนเว่อร์ ดังกล่าวมาหมดแล้ว ส่วนเมื่ออ่านข้อความเหล่านี้แล้ว นายพนม ศรศิลป์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทุกคน จะเข้าใจอย่างไร สมควรหรือไม่สมควรไปร่วมงาน "ตักบาตรพระล้านรูปของวัดพระธรรมกาย" ก็ไปคิดกันเอาเอง ว่าแต่ว่าจะถามทำไม ในเมื่อก็ไปแล้ว คำถามที่ว่า "ควรไปหรือไม่" นั้น คนมีสติเขาต้องถามกันก่อนไป มิใช่ไปแล้วจึงค่อยถาม ถามแบบนี้เรียกว่าถามแก้เกี้ยว อยากจะเลี้ยวกลับให้สวยๆ แต่กระนั้นก็ตาม ถึงถามและได้คำตอบแล้ว ถามว่าจะได้อะไรในการถาม ในเมื่อทุกอย่างมันสายเกินไปเสียแล้ว ประวัติศาสตร์ของทุกท่านถูกบันทึกไว้หมดแล้ว ทาง เรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่เคยมีอคติกับใคร ไม่ว่าจะเป็นมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือแม้แต่วัดพระธรรมกาย หรือถ้าจะว่าเรามีอคติก็ขอตอบว่า "เรามีทั้งคติและอคติ" มิใช่มีแต่อคติอย่างเดียว เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยในเหตุปัจจัยที่เห็นและเป็นไป ดี-เราก็สนับสนุน แย่หรือเสียหาย-เราก็ตำหนิ ตามพระบาลีที่ว่า นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ แปลว่า ข่มบุคคลที่ควรข่ม ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง และเราแน่ใจว่า ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างตรงไปตรงมา นับตั้งแต่เริ่มทำงานในสหรัฐอเมริกามา จากปี พ.ศ.2542 ถึงปัจจุบันวันนี้ก็เป็นเวลา 13 ปีแล้ว
ขอเจริญพรยุติการตอบคำถามไว้แต่เพียงเท่านี้
|
|||||||||||||||||||||||||||||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com
All Right Reserved @
2003
alittlebuddha.com วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264 |