ศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัย
 


 

     นับเป็นข่าวใหญ่ในวงการนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในประเทศไทยเรา เมื่อ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล สุดยอดนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย สิ้นชีพิตักษัยไปแล้ว เมื่อเวลา 07.15 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายหลังจากประชวรด้วยโรคพระทัยวาย (หัวใจวาย) ซึ่งทรงเข้ารับการรักษาเป็นเวลานานถึง 6 ปีเต็ม ๆ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศพระองค์นี้มีความสำคัญต่อวงการศึกษาบ้านเราอย่างไร ผู้เขียนจะขอฉายสไลท์ให้ท่านผู้อ่านได้ชมเป็นเกร็ดประวัติกันนิดหน่อย

     กล่าวถึงพระบิดาของ
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศนั้น ดูที่ราชสกุล (นามสกุล) ก็คงร้องอ๋อกันไปทั่วบ้านเมือง นั่นคือราชสกุล "ดิศกุล" นั้นเป็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตหลาย ๆ อดีตในตำแหน่งที่สำคัญของประเทศไทย สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชบิดาทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุดยอดพระมหากษัตริย์ไทยที่โด่งดังไปทั้งโลก และโลกรู้จักประเทศไทยก็เพราะพระองค์

     ขอคัดประวัติส่วนพระองค์จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 มาเสนอตรงนี้ ดังนี้

    
สำหรับ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ(พระองค์เจ้าอิศวรกุมาร) ต้นราชสกุลดิศกุล พระองค์ทรงได้รับฉายาว่า "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และวิชาโบราณคดีของประเทศไทย" ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาชุ่ม (สกุลเดิมโรจนดิศ)

     ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2466 สมรสกับหม่อมอรพินทร์ มีโอรส-ธิดาคือ ม.ร.ว.สุภาณี, ม.ร.ว.ดำรงเดช, ม.ร.ว.อรอนงค์ และ ม.ร.ว.อภิรดี ดิศกุล

     ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2486 เอกด้านประวัติศาสตร์และภาษาอังกฤษ ไปศึกษาต่อเกี่ยวประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีทางเอเชียอาคเนย์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอกในสถาบันโบราณคดี มหาวิทยาลัยลอนดอน

     เมื่อกลับมาแล้วทรงทำงานอยู่ในกรมศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่ พ.ศ.2496-2507 นอกจากยังเป็นคนแรกที่เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในโรงเรียนศิลปศึกษาของกรมศิลปากร เป็นพระอาจารย์สอนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

     ทรงดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ พ.ศ.2519-2524 หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีตั้งแต่ พ.ศ.2525-2529 เมื่อเกษียณอายุแล้วทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สปาฟา หรือศูนย์ทางด้านโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แขนงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งซีมีโอ

     ม.จ.สุภัทรดิศทรงเป็นคนแรกที่พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในสถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา จนมีการทวงทับหลังชิ้นกลับคืนสู่ประเทศไทย

     ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญรัตนากรณ์รัชกาลปัจจุบัน ชั้น 3 นอกจากนี้ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากต่างประเทศอีก เช่น จากประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์ก

     ทรงมีผลงานทางวิชาการสำคัญๆ เป็นต้นว่า เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ศิลปะอินเดีย ศิลปะศรีลังกา ชวา ขอม เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียสมัยโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหม์ในอาณาจักรขอม ศิลปะในประเทศไทย(พิมพ์ครั้งที่ 10) Art in Thailand : A Brief History (พิมพ์ครั้งที่ 7) Thailand ในชุด Archaeologia Mundi ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

     อนึ่ง ม.จ.สุภัทรดิศ ทรงได้รับยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ทรงเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเทพฯ ทั้งเมื่อครั้งทรงศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงเป็นหนึ่งในแกนนำที่ทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมาจากสถาบันศิลปะชิคาโก สหรัฐอเมริกา จนเป็นผลสำเร็จ


     ก็คงคอมพลีทแล้วสำหรับประวัติส่วนพระองค์ ขอเล่าเพิ่มว่า เนื่องเพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพระบิดาของ ม.จ. สุภัทรดิศ นั้นทรงเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ใครเรียนประวัติศาสตร์ทั้งด้านการศาสนาและการเมืองแล้วไม่รู้จักสมเด็จฯ กรมดำรง ละก็ ถือว่ายังไม่ได้เรียน เอากันอย่างนั้นเลย ดังนั้น อุปนิสัยคงจะได้รับการถ่ายทอดให้ ม.จ. สุภัทรดิศ ได้รับและสั่งสมจนสามารถศึกษาพัฒนาก้าวหน้าขึ้นยืนแป้นนักประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยในระดับอินเตอร์ได้ในปัจจุบัน
 

     ส่วนเกร็ดประวัตินั้น พระองค์ท่านมิได้เล่าไว้ เราก็ไปอ้างอิงจากข้างคูคือลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับการศึกษาจากพระองค์ท่าน นอกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีแล้ว ศิษย์ของหม่อมเจ้าสุภัทรดิสนั้นมีหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่ดังๆ ในวงการหนังสือบ้านเราก็เห็นจะเป็น ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ  เป็นต้น

     ขรรค์ชัย บุนปาน เคยเล่าไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง" ซึ่งเป็นการรวบรวมงานนิพนธ์ของ
ม.จ. สุภัทรดิศ ผู้เป็นพระอาจารย์ เพื่อเป็นอาจาริยบูชาในงานครบรอบ 80 ชันษาของพระองค์ท่านไว้ว่า

     "ใคร ๆ ก็รู้กันทั่วประเทศว่า ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นครูผม และผมเรียกติดปากติดใจว่า "ท่านอาจารย์" ตอนที่ผมเข้าไปเรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรใหม่ ๆ นั้น ท่านอาจารย์เพิ่งมีพระชันษา 40 เศษเห็นจะได้ พระรูปงาม พระวรกายสง่า ดำเนินตรง รับสั่งชัดถ้อยชัดคำ สุภาพเยือกเย็น วันหนึ่งจะเสด็จขึ้นบันใดใกล้ต้นลั่นทม เพื่อนนักศึกษาหญิงของผมคนหนึ่งก็กราบทูลเป็นราชาศัพท์กับท่านอาจารย์ ท่านก็หยุดรับสั่งด้วยสุรเสียงเนียนนุ่มว่า "นี่เธอ พูดธรรมดากับฉันก็ได้ ไม่ต้องดัดจริตใช้ราชาศัพท์ผิดๆ ถูกๆ หรอก" เล่นเอาผมเฮตกขอบจนลืมสำรวม และไม่เคยใช้ราชาศัพท์กับท่านอาจารย์ ทั้งในห้องเรียนหรือโดยเสด็จออกภาคสนาม ตลอดเวลาที่เรียนได้เรียนตก ฯลฯ

     ท่านอาจารย์เป็นผู้มีความจำเป็นยอด ความอาฆาตไม่เป็นเยี่ยม เป็นใหญ่ในแวดวงคดในข้องอในกระดูกไม่ได้ คำสอนแต่ละปีไม่เคยมีผิดเพี้ยน ปราสาทหินแห่งไหน ชำรุดตรงไหน แม้จะมีรอยชำรุดเพิ่ม หากท่านอาจารย์ยังมิได้ไปทอดพระเนตรเห็นด้วยองค์เอง ปราสาทหินแห่งนั้นก็ยังชำรุดอยู่แค่นั้น
นี่คือความซื่อสัตย์ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยการกระทำ ทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่น และต่อวิชาการ มิใช่สอนให้ซื่อสัตย์ด้วยคำพูด ความเป็นครูหรือครุนั้น หนักอย่างยิ่งตรงนี้

     ความไม่โกรธก็เป็นคุณสมบัติวิเศษของท่านอาจารย์ แม้มีการต่อล้อต่อเถียงเรื่องวิชาการ จบแล้วก็แล้วกัน ท่านอาจารย์จะไม่ถือเป็นอารมณ์ ซ้ำถือเป็นเรื่องสนุกในการอธิบายเสียด้วย ...

    
นั่นคืออาจริยบูชาที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ศิษย์เอกผู้หนึ่งในพระองค์ท่าน ได้เขียนเป็นคำนำไว้ในหนังสือเล่มนั้น ก่อนที่ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล จะสิ้นชีพิตักษัย "ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง" น่าเสียดายนักที่พระองค์ทรงจากไป แต่ไม่เสียดายเลยที่ประเทศไทยจะมีนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่เช่นพระองค์ท่าน สุคตินั้นพระองค์ทรงเลือกแล้ว และทรงดำเนินไปแล้วด้วยดี อย่างไม่มีมลทิน แม้คนภายหลังผู้ยังอยู่ก็ยังรำลึกนึกถึงสรรเสริญบูชาอยู่มิรู้หาย ในการจากไปของนักปราชญ์เช่นนี้ อะลิตเติ้ล บุ๊ดด่ะ ดอท คอม
จึงขอร่วมไว้อาลัยด้วยอีกผู้หนึ่ง
 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
4 พฤศจิกายน 2546

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264