|
|||
ปฏิญญากรุงเทพฯ
ผู้เขียนเรียนไม่จบด๊อกเตอร์ จึงรู้ว่าตัวเองเป็นคนโง่ ยิ่งเมื่อได้เห็นพวกด๊อกเตอร์ทำงานกันแล้วยิ่งเซ่อหรือใบ้กินเข้าไปใหญ่ ในการประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ซึ่งทางมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการนั้น เราได้เห็นภาพและสีสันต์ที่ใหญ่ยิ่งขึ้นทุกๆ ปี คือมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้น การระดมบุคคลากรให้เข้ามาช่วยงานหลากหลายหรือเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ามันต้อง "จ่ายมากขึ้น" เป็นเงาตามตัว ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าออกจากกระเป๋าใคร ถ้ามหาจุฬาฯจะบอกว่าควักกระเป๋าเองก็คงไม่มีใครเชื่อ เพราะเห็นของบประมาณจากรัฐบาลทุกปี แล้วถามว่ารัฐบาลเอาเงินมาจากไหนให้ มจร. ไปจัดประชุม ก็เงินจากภาษีอากรของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศไงล่ะ เรื่องเงินนั้นผู้เขียนไม่ติดใจอันใด เพราะอะไรๆ สมัยนี้มันก็ต้องใช้เงิน คือว่าต้องมีทุน เพื่อลงทุน จึงจะได้กำไร ไม่ว่าจะเป็นการค้าการขาย การเมือง หรือแม้แต่การศาสนาเช่นที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกำลังปั่นต้นทุนให้เป็นกำไรอยู่ในปัจจุบัน แต่การลงทุนในทางพระพุทธศาสนานั้น นอกจาก "เงิน" ที่พูดให้สวยว่า "ปัจจัย" แล้ว ก็ยังต้องมี "ศรัทธา" นำหน้าด้วย มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นทุนนิยม คือเห็นแก่กำไรถ่ายเดียว โดยมิได้มุ่งหวังความสุขสมบูรณ์ทั้งด้านกายภาพและจิตภาพ ถ้าถึงตอนนั้นก็จะเรียกได้ว่า ไม่เป็นการบูรณาการ เป็นการทำงานแบบมักง่าย จับฉ่าย ฉาบฉวย ไร้วิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในปัจจุบัน มีผู้บริหารสูงสุด เรียกตามตำแหน่งว่า อธิการบดี มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ป.ธ.9 Ph.D. ฯลฯ ถ้าไปถามพระนิสิต มจร. ในยุคปัจจุบัน ก็จะชื่นชมท่านเจ้าคุณประยูรกันเป็นเสียงเดียวกันว่า "สุดยอด" ท่านเป็นอัครมหาบัณฑิตแห่งยุคสมัย นำมหาจุฬาฯโกอินเตอร์ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ฯลฯ แต่ถ้าไปถามพระบัณฑิต-มหาบัณฑิต ที่เคยเห็นการทำงานของอดีตอธิการบดีคนเก่ามาเทียบกับการทำงานของท่านอธิการคนปัจจุบันแล้ว ก็พูดได้คำเดียวว่า "ผิดหวังอย่างแรง"ยกตัวอย่างที่เห็นๆ ก็คืองานประชุมวิสาขบูชาโลกนี่แหละ ผู้เขียนประมวลเอาปฎิญญากรุงเทพฯ ของการประชุมมาเสนอรวมกัน 3 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการเพิ่มเติมมากขึ้น จาก พ.ศ.2552 มีเพียง 9 ข้อ ปีถัดมา (2553) ก็เพิ่มเป็น 11 ข้อ พอปีนี้ (2554) ก็เสริมเข้าไปอีก 2 ข้อ รวมเป็น 13 แต่ถ้ารวมทั้ง 3 ปีเข้าด้วยกันก็จะได้ปฏิญญาทั้งสิ้น 33 ข้อ เวลาแค่ 3 ปี ที่ประชุมวิสาขบูชาโลก ผลิตนโยบายระดับโลกออกมาแล้วถึง 33 ข้อ คิดเล่นๆ ว่าถ้าประชุมต่อเนื่องกันไป (ตามที่มีมติให้มหาจุฬาฯและประเทศไทยเป็นเจ้าภาพถาวร) ถึง 100 ปี ก็คงจะได้ปฏิญญาไม่ต่ำกว่า 1,000 ข้อ และเมื่อนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็จะชิดซ้ายไปเลย คำว่า ปฏิญญา (Declaration) นั้น ท่านหมายถึง คำมั่นสัญญา การมีเจตนารมณ์ร่วมกัน ในอันที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แปลแบบลูกทุ่งก็คือว่า "สัญญาใจ" ปฏิญญาจึงมิใช่กฎหมายที่มีผลบังคับ แบบว่าจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ต่างกับสนธิสัญญา (Treaty) ซึ่งมีผลบังคับตามกฎหมายนานาชาติ ดังนั้นปฏิญญาเมื่อประกาศออกไปแล้ว จึงไม่มีผลผูกพันในด้านกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำ และไม่มีความผิดกรณีที่ไม่ทำ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าผู้ทำปฏิญญานั้นเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดา อาจจะคิดเขียนอะไรขึ้นเล่นโก้ๆ เช่นในเพลงว่า หนูอยากเป็นหมอ เพราะทุกคนก็มีสิทธิ์ฝัน เหมือนคำกล่าวของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่กล่าวว่า "I have a dream" นั่นแหละ แต่สำหรับการประกาศของพระสงฆ์ทั่วโลกนั้นมันมิใช่คำประกาศอันเลื่อนลอยที่นึกอยากจะประกาศก็พ่นน้ำลายออกไป โดยไม่สนใจว่าจะทำได้หรือไม่ได้ เพราะพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศไทยและทั่วโลกเขาเคารพนับถือพระเจ้าพระสงฆ์ ส่งเสริมให้ไปประชุม เมื่อออกปฏิญญามาแล้วก็คาดหวังว่าจะได้เห็นมรรคเห็นผล คือการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม มิใช่การตั้งวงกินข้าวเล่าเรื่องเพ้อเจ้อไปเป็นปีๆ ดังที่เห็น เพราะคำพูดของพระ แม้ว่าจะมิใช่กฎหมายที่มีบทบังคับตายตัว แต่เพราะพระเป็นบุคคลที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพศรัทธา เวลาท่านพูดอะไรไปแล้ว เขาเชื่อพอๆ กับกฎหมาย แต่ถ้าท่านทำไม่ได้หรือไม่ยอมทำ ก็เท่ากับบ่อนทำลายศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไปในตัว ยิ่งถ้าสะสมปฏิญญาอันเลื่อนลอยมากๆ เข้า ท่านก็จะกลายเป็นบุคคลล้มละลายทางศรัทธาต่อสาธารณชน น่าที่จะทำการประชุมวิสาขบูชานานาชาติให้เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของพระพุทธศาสนาในสายตาของชาวโลก ก็จะกลายเป็นการเล่นตลกไม่ต่างไปจากสภาโจ๊ก ยกตัวอย่าง ปฏิญญาข้อแรกในปี พ.ศ.2552 ที่ว่า "1. วิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคมมีสาเหตุมาจากการไร้ศีลธรรมภายในจิตใจของมนุษย์จึงต้องเพิ่มความ พยายามมากยิ่งขึ้น ในการส่งเสริมศีลธรรมภายในจิตใจ ซึ่งจะช่วยแก้วิกฤตการณ์ของโลกได้" ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูเถิด แค่ข้อแรกนี้ก็เขียนอ้างถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคม เรียกว่าครอบจักรวาล เพราะแค่เศรษฐกิจเพียงด้านเดียวก็พูดกันร้อยวันพันปีไม่มีจบ ยิ่งเรื่องการเมืองยิ่งยาว สิ่งแวดล้อมก็อ้อมใหญ่สังคมยิ่งยุ่งเหยิง แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า การพูดแบบนี้มันมีความหมายอะไร คือมันไม่มีความหมายอะไรเลยในทางปฏิบัติอันจะนำเอาพระธรรมคำสอนในบวรพระพุทธศาสนาไปเป็น "ตัวช่วย" ให้แต่ละด้านนั้นดีขึ้น (ในกรณีที่เห็นว่าแย่ถึงระดับวิกฤต) เพราะถ้าทำงานอย่างเป็นระบบจริงๆ ก็จะต้องมีการวิเคราะห์เจาะลึกของสถานการณ์ในแต่ละด้านว่ามีสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร ที่บอกว่าวิกฤตนั้นวิกฤตระดับไหน และที่สำคัญก็คือว่า ถ้าจะเอาพระธรรมคำสอนหรือพระพุทธศาสนาเข้าไปช่วยนั้น ช่วยได้ขนาดไหนเพียงไร ทั้งนี้คงมิใช่เอาคำว่า "พระพุทธศาสนา" ไปเป็นตัวอ้างหรือตัวเบิกทางในการทำงาน เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่ตัวที่จะเป็นได้ก็คือ เพาเวอร์ หรือพลังของชาวพุทธที่มาประชุมกันที่กรุงเทพฯ ว่าจะสามารถจับมือกันทำงานได้ขนาดไหน มีอะไรเป็นเครื่องไม้เครื่องมือสนับสนุน และระยะเวลาในการบรรลุผลนั้นนานเท่าใด นี่ยังมินับภาวะแปรปรวนจากเหตุปัจจัยของแต่ละด้านที่เปลี่ยนไปทุกเมื่อเชื่อวันอีกด้วย แน่นอนว่าการประชุมเพียงปีละครั้งนั้นมันจะทำอะไรได้ เพราะไม่มีการตั้งองค์กรทำงานในระดับที่เรียกว่า วอร์รูม ซึ่งจะทำหน้าที่เกาะติดสถานการณ์และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ทีนี้ถ้าเราแสกนเข้าไปในตัวบุคคลที่เข้าร่วมประชุมวิสาขบูชานานาชาติในแต่ละปีแล้วก็จะเห็นได้ว่า "เลื่อนลอย" เพราะมิใช่การประชุมของตัวแทนในแต่ละองค์กรอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากรายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุมซึ่งเปลี่ยนไปทุกปี หรือบางปีก็มา บางปีก็ขาดไปเฉยๆ แล้วจะเอาอะไรให้เป็นน้ำเป็นเนื้อได้เล่า ปฏิญญาอีก 32 ข้อที่เหลือนั้นก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้วิเคราะห์ดูเถิดว่ามันเกิดผลหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงแต่คำพูดสวยหรูดูฉาบฉวยเท่านั้น เปล๊า ! ผู้เขียนมิได้มีอคติกับ มจร. หรือท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ แต่อย่างใด ใจจริงก็ภาวนาอยากให้ท่านทำงานให้สำเร็จ เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของมหาจุฬาฯ และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย แต่ผู้เขียนเห็นภาพของงานที่ออกมาแล้วรู้สึก "สงสาร" ท่านพระธรรมโกศาจารย์เหลือเกิน วิ่งกวดความฝันบนก้อนเมฆไปเป็นปีๆ ดูสิ ผู้หลักผู้ใหญ่หดหายไปเรื่อยๆ มีแต่ส่งตัวแทนมาร่วมประชุม ขนาดนายกรัฐมนตรียังไม่ยอมมา ให้เพียงรองนายกฯ มาประชุมแทน แค่นี้ก็เห็นได้แล้วว่า รัฐบาลไทยเองยังไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมระดับโลก แล้วนับประสาอะไรกับประเทศอื่นๆ เขาจะชายตามอง ลองเอามุมมองของพระมหานรินทร์ตรงนี้ไปตรองบ้างสิครับท่านด๊อกเตอร์ "ติเพื่อก่อ ต่อสติ" เป็นนิยามของคนดีที่ชอบแก้ไข มิใช่คนจัญไรชอบแก้ตัว เมื่อผู้เขียนมองเห็นว่าการประชุมชักจะอ่อนล้าไร้กำลังลงทุกวัน สาเหตุหนึ่งซึ่งคิดได้ก็คือว่า เพราะจัดประชุมกันถี่เกินไป จัดทุกปี ใครจะมาร่วมประชุมไหว เพราะอะไรก็ตามที่ "บ่อยเกินไป" มันก็ไม่ขลัง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนการแสดงฤทธิ์นั่นแหละ แสดงทุกวันหรือทุกชั่วโมง ไม่นานก็กลายเป็นเด็กเล่นขายของ ดังนั้น ในมุมมองของพระมหานรินทร์ก็คือว่า น่าจะเว้นช่วงการจัดประชุม เอาซัก 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปีต่อครั้ง และถ้าจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ให้เป็นระดับโลกก็ต้องมีวาระพิเศษจริงๆ เช่นงานเฉลิมฉลองครองราชย์ในหลวงครบ 60 ปี หรือจัดงานพุทธชยันตี ครบรอบ 2550-2560-2570 ปี เป็นต้น ผู้คนจึงจะสนใจ ใครๆ ก็อยากมา แต่ถ้าจัดทุกปี มีแต่ปฏิญญาๆ เขียนใส่กระดาษไปส่งให้รัฐบาลเพื่อขอเงิน มันจะมีความหมายอะไร ของเก่าเป็นสิบๆ ข้อยังไม่ได้ทำให้เป็นชิ้นเป็นอันเลย ปีนี้จะขอเงินไปเขียนปฏิญญาเพิ่มเติมอีกแล้ว เพิ่มทุน แต่กำไรไม่เพิ่ม แถมผู้ถือหุ้นก็หดหายมีแต่คนขายทิ้ง ถามว่ามหาจุฬาฯ ลงทุนแบบไหน ? เอากลับไปคิดเป็นการวัดเถิดขอรับท่านพระธรรมโกศาจารย์ ก่อนที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยลัยจะกลายเป็นโรงลิเก
|
|||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท |
E-Mail
ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com
All Right Reserved @
2003
alittlebuddha.com วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264 |