มหาวิทยาลัยบาลีเฉลิมพระเกียรติ

 


ปรับหลักสูตรบาลีเสริมวิชาสามัญ

พระธรรมปัญญาภรณ์ เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะสงฆ์ รวมถึงสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง กำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนนักธรรม-บาลีใหม่ โดยจะมีการเพิ่มวิชาสามัญเข้าไปด้วย โดยเบื้องต้นจะจัดเวลาการเรียนการสอนไม่ให้กระทบต่อการเรียนวิชาบาลี ซึ่งจะจัดการสอนวิชาสามัญในช่วงที่เรียนบาลีจบแล้ว เพื่อไม่ให้สามเณรเรียนหนักจนเกินไป ทั้งนี้ การปรับหลักสูตรดังกล่าว จะช่วยให้สำนักเรียนบาลีมีมาตรฐานการศึกษามากขึ้น และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองสามเณรด้วย เพราะสามเณรจะได้เรียนวิชาสามัญเหมือนกับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา และจะใช้วุฒิการศึกษาไปสอบเรียนต่อในที่ต่างๆ ได้ด้วย เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นต้น

เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง เปิดเผยด้วยว่านอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบการเรียนการสอนของสำนักเรียนบาลี ให้มีคุณภาพ และให้ประชาชนยอมรับ โดยคาดว่าภายใน 5 ปี สามเณรที่เรียนในสำนักเรียนบาลี จะสามารถนำคะแนนไปสอบโอเน็ตได้ด้วย เมื่อสามเณรสึกไปจะได้ไปศึกษาต่อทางโลกได้ทันที ซึ่งการที่ต้องมีการปรับบทบาทของสำนักเรียนบาลีเช่นนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองมีทางเลือก เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่า เมื่อส่งลูกหลานมาบวชเรียนแล้ว พอสึกไปก็ต้องไปเรียนทางโลกอีก บางครั้งเรียนไม่ทันผู้อื่น วุฒิไปสมัครเรียนต่อลำบาก ส่งผลให้จำนวนสามเณรลดลงเรื่อยๆ "เราต้องหาแรงจูงใจให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานมาบวชเรียนในสำนักเรียนบาลีมากขึ้น และทำให้เขามองเห็นอนาคตว่า ลูกหลานสึกไปแล้วจะเป็นคนดี รวมทั้งสามารถที่จะใช้วุฒิการศึกษาไปสอบเข้าในสถาบันการศึกษาอื่นๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ เด็กที่เข้ามาเป็นสามเณรยังได้รับความรู้ด้านบาลี ซึ่งถือว่าเป็นความรู้เฉพาะด้านไปด้วย อย่างไรก็ตาม เราก็หวังว่าสามเณรที่มาเรียนกับเรา ส่วนหนึ่งจะสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นศาสนทายาทที่ดีของสังคม และอีกส่วนหนึ่งจะกลายเป็นฆราวาสที่มีคุณภาพต่อสังคมสืบไป"

 

ก็ห่างหายไปเสียนานกับคอลัมน์นี้ ที่อุตส่าห์เอาหน้าตามาการันตี ว่าเป็นถึง "วิชั่น" หรือวิสัยทัศน์ของพระมหานรินทร์ ความจริงแล้วก็เป็นเพียง "ความเห็นหนึ่ง" ของผู้เขียนซึ่งคันมือ หรืออยู่ไม่เป็นสุข พอได้ยินได้ฟังเรื่องราวข่าวสารทั้งการศาสนาและการบ้านการเมือง ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความคิดเห็น แต่การจะทำอะไรให้เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจสาธารณชนนั้น ก็ต้องตั้งชื่อเสียงเรียงนามให้โก้เก๋เข้าไว้ จะได้รู้ว่า "ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้"

ท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาโดยตลอด ก็คงจะเห็นว่า ผู้เขียนหายหน้าหายตาไปนานมาก ความจริงแล้วก็ทำอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เป็นทางการ คือการเสนอข่าวนั้นก็อัพเดทอยู่เกือบทุกวันที่มีโอกาส แต่ช่วงเข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน สงกรานต์ เป็นต้นนั้น ถือว่าเป็นเทศกาลใหญ่ มีงานวัดมากมายให้ต้องทำ ก็เลยไม่ว่างที่จะเข้ามาทำหน้าที่ที่อาสามา ณ จุดนี้ และอีกอย่าง พักหลังมานี้ผู้เขียนก็มีงานรัดตัวมากขึ้น ความคิดความอ่านก็รู้สึกเชื่องช้ากว่าก่อนมาก อายุก็แค่ 40 แต่ไม่น่าจะแก่ขนาดนั้น จะทำอะไรก็คิดแล้วคิดอีก ทำให้หลายครั้งลงมือทำไม่ได้ซักที เข้าตำรา "เงื้อง่าราคาแพง" คอลัมน์นี้ก็เลยเข้าในหนังสือประเภท "รายสะดวก" แบบว่าสะดวกเมื่อไหร่ก็ออก ไม่สะดวกก็ไม่ออก ไม่เหมือนหนังสือที่วางจำหน่ายขายประจำ นั่นต้องตรงต่อเวลา ไม่งั้นลูกค้าหนี

ดังนั้น ถ้าจะว่าถึงเรื่องราวที่จะเขียนแล้วก็มีประเด็นในแทบทุกวัน แต่เพราะผู้เขียน-เขียนฟรี ไม่มีค่าตอบแทนอื่นใดจากผู้อ่าน นอกจากคำชมและคำแช่ง ถ้าถูกใจก็ชม ถ้าไม่ถูกใจก็แช่งชักหัก..เห็นเป็นปฏิปักษ์กันไปโน่น แต่ก็ต้องทำใจเพราะในเมื่อเราอาสาทำงานสาธารณะก็ต้องทำตัวให้เป็นสาธารณะ คือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เรื่องชอบหรือไม่ชอบจึงไม่ใช่สาระของการอ่านคอลัมน์นี้ เพราะแม้ว่าท่านจะไม่ชอบวิสัยทัศน์ของผู้เขียน แต่ก็ยังอุตส่าห์เข้ามาอ่าน ก็แสดงว่าท่านสนใจในคอลัมน์นี้ แต่ความสนใจในคอลัมน์นี้ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายของผู้เขียน "ความสนใจในเรื่องราวและเนื้อหาที่ผู้เขียน-เขียนลงไป" นั่นต่างหากที่น่าสนใจกว่า ขอให้มองผ่านตัวผู้เขียนและความเห็นของผู้เขียนไป อย่าติดความคิดเห็นของพระมหานรินทร์ ก็บอกอยู่เป็นประจำว่า "ไม่ใช่ผู้รู้ แต่เป็นผู้อวดรู้" เพราะผู้รู้เขาไม่พูด คนที่พูดนั่นแหละคือผู้ไม่รู้ เมื่อข้ามความเห็นของพระมหานรินทร์ไปได้ ท่านก็จะได้เนื้อหาสาระที่เป็นมากกว่า "กะพี้" ที่เรียกว่า "แก่น" เพราะเป้าหมายสูงสุดของผู้เขียนในการทำงานตรงจุดนี้ก็คือ "สร้างหรือแสวงหาแนวร่วม" ในการทำงานเพื่อพระศาสนา แบบว่าหาเพื่อน มิใช่หาแฟน

เมื่อข้ามความเห็นของผู้เขียนไปได้แล้วนั้น ท่านผู้อ่านก็จะได้ความเห็นของตัวท่านเอง อาจจะเป็นมุมมองใหม่ที่คิดได้ทำได้ เหมือนทำอาหารเอง ลองใส่โน่นใส่นี่ลงไป ผัดไทยมีเป็นร้อยสูตร ก๋วยเตี๋ยวก็มีหลายร้อยรส ความงดงามของโลกอยู่ที่ความแตกต่าง มิใช่ความเหมือน ใครที่แสวงหาแฟนเพราะความเหมือนรับรองว่าอยู่กันไม่ยืด การได้คู่ที่แตกต่างกันมานั่นต่างหากจึงจะเป็นธรรมชาติแท้ เพราะเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายในชีวิตจริง

และวันนี้ที่ต้อง "ขอเขียน" อีกครั้ง เพราะมีข่าวดังนำเสนอแต่ข้างต้นนั้นมาสะกิดใจ คือเรื่องของการปรับหลักสูตรวิชาภาษาบาลี ให้มีความหลากหลาย คือเพิ่มเติมวิชาการทางโลกที่เรียกในวงการพระสงฆ์ว่า วิชาสามัญ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านนั้นเขาไม่รู้จักวิชาประเภทสามัญหรือวิสามัญอะไรหรอก เขารู้จักก็แต่วิชาบังคับกับวิชาเลือก สายวิทย์กับสายศิลป์ พอมาคุยกับพระเณรกลับเจอวิชาสามัญกับวิสามัญเหมือนวิชาตำรวจจับผู้ร้าย ถ้าจับเข้าคุกได้ก็เป็นสามัญ ถ้ายิงทิ้งเสียก่อนก็เป็นวิสามัญ นั่นเห็นไหม แค่ใช้ชื่อก็ฟังไม่รู้เรื่องแล้วเรื่องบาลีนี่

และถ้าจะว่ากันให้กระชับเข้าไปอีกก็เห็นจะต้องบอกว่า "ประชาชนคนไทยก็ไม่รู้จักวิชาภาษาบาลี" มีที่รู้จักก็แต่พระสงฆ์องค์เณรเท่านั้น แต่คนไทยทั่วไปนั้นเขารู้จักบาลีก็ในฐานะของ "วิชาเป็นมหา" คือรู้ว่าพระรูปโน้นได้เป็นมหา เณรองค์โน้นสอบได้มหา แต่ไม่รู้ว่าพระเณรเรียนอะไร ไม่รู้แม้แต่ว่าวิชาบาลีนั่นแหละคือวิชาสร้างมหาขึ้นมาจนเต็มบ้านเต็มเมือง ดังนั้นการเรียกวิชาการในโรงเรียนมัธยมศึกษาว่าเป็น "วิชาสามัญ" คู่กับวิชาภาษาบาลี จึงไม่เข้าคู่กัน กลับจะถูกจัดเข้าคู่กับ "วิสามัญ" ของตำรวจไปโน่น

แต่การได้เป็นวิชาประเภท "วิสามัญ" ของบาลีนั้น ก็ถือว่าตรงความหมายกับคำว่า "วิสามัญ" ของตำรวจ เพราะบาลีนอกจากจะเป็นภาษารักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ (คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) แล้ว ยังเป็นภาษาที่ไม่มีการใช้พูดหรือสื่อสารกันในวิถีชีวิตประจำวัน บาลีจึงเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว มิใช่ภาษาเป็นหรือมีชีวิต ต่างจากภาษาอังกฤษ จีน รัสเซีย สเปน หรือภาษาไทย ที่ใช้พูดเขียนกันอยู่ทุกวี่วัน การเรียนภาษาเป็นจึงง่ายกว่าภาษาตาย เพราะเรียนแล้วได้ใช้ การนำมาใช้หรือเห็นเขาใช้เป็นการสร้างความคุ้นเคย เมื่อคุ้นเคยก็ง่ายต่อการเรียนและการใช้ นี่ไงสาเหตุที่ทำให้ภาษาบาลีไม่ได้รับความนิยม เพราะเรียนแล้วไม่ได้ใช้ เข้าในสำนวนไทยแต่โบราณว่า "ของไม่กินก็เน่า ของไม่เล่าก็ลืม"

ภาษาเป็นกุญแจไขไปสู่โลกของการเรียนรู้ การเรียนรู้ภาษาจึงเป็นการเริ่มต้นของการศึกษาในทุกแขนง ซึ่งภาษานั้นก็มีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาสัญลักษณ์หรือรูปภาพ รวมทั้งภาษาใบ้ซึ่งใช้สำหรับผู้พูดหรือเขียนไม่ได้ แม้แต่ภาษาของคนตาบอดก็ยังมี นี่แหละคือความจำเป็นของภาษา ใครรู้ภาษามากก็ย่อมมีความสามารถในการไขเอาวิชาความรู้ใส่ตนได้มาก ภาษาจึงมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของการศึกษา การเรียนรู้นั้นจึงเริ่มต้นตรงที่ "ให้อ่านออก-เขียนได้" เสียก่อน

ในโลกนี้มีเป็นหมื่นๆ ภาษา แล้วถามว่าทำไมเจาะจงเขียนเฉพาะเรื่อง "ภาษาบาลี" ทั้งๆ ที่ไม่มีคนพูดหรือเขียนกันแล้ว เรื่องนี้ก็โยงใยไปถึง "พระพุทธศาสนา" ซึ่งเป็นศาสนาใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก และบังเอิญอีกว่า ประชาชนคนไทยแต่โบราณกาลมานั้น ได้ยอมรับนับถือเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำบ้านเมือง แม้จะไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติก็ตาม เพราะคำว่าชาติเพิ่งเกิดได้ไม่กี่สิบปีมานี่เอง ธงไตรรงค์เพิ่งคิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แบบว่าตามก้นชาวยุโรปที่เอาธงไปปักไว้ที่หัวเรือ จะได้รู้สัญชาติของเรือในทะเล อย่างเรือที่แล่นตามลำคลองในกรุงเทพฯ นั้นก็มีธงสีต่างๆ มัดไว้ที่หัวเรือ สมัยเรียนบาลีประโยค 8 อยู่ที่วัดบางขุนเทียนกลางนั้น ผู้เขียนต้องเดินออกมาจับรถเมล์สาย 10 จากบางขุนเทียนไปวัดปากน้ำ ซึ่งสุดสายลงตรงนั้น จากนั้นเดินผ่านวัดไปยังท่าเรือวัดปากน้ำ รอเรือไปยังปากคลองตลาด จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าจะสีเขียวหรือสีเหลืองนี่แหละ สีของธงที่หัวเรือจะบอกว่า "เรือลำนี้ไปจอดที่ท่าไหน" เช่นท่าราชินีที่ปากคลองตลาด ท่าเตียนวัดโพธิ์เป็นต้น ดังในบทเพลง "ลานเทสะเทือน" ที่ว่า "เขียวเอยขาวเอย แล่นเลยทุกลำ ไม่มีโฉมงามสาวลั่นทมเจ้ากลับลานเท ฯลฯ" นี่ก็เป็นเรื่องของธงที่หัวเรือเช่นกัน

เมื่อภาษาบาลีเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา เทียบค่ากับภาษาละติน เป็นภาษาหลักที่ใช้บันทึกคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา และภาษาอาหรับ เป็นภาษาหลักที่ใช้บันทึกคัมภีร์กุรอานของศาสนาอิสลาม ทำให้ภาษาบาลีเป็นที่สนใจในแวดวงของคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าหากเป็นชาวคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นคริสตังหรือคริสเตียน ก็จะสนใจในภาษาละติน ส่วนชาวมุสลิมเขาก็จะสนใจในภาษาอาหรับ เราแยกกลุ่มกันตรงนี้ก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ก่อนจะเข้าสู่การศึกษาเรียนรู้ในแต่ละศาสนานั้น ก็ต้องศึกษาเรื่องของภาษาให้เข้าใจ ไม่งั้นก็จะเข้าทำนองท่องกันงูๆ ปลาๆ เหมือนโยมไปสวดมนต์นั่นแหละ ผิดบ้างถูกบ้างก็ว่ากันไปตามความจำ หนังสือสวดมนต์บางเล่มบางวัดก็พิมพ์ผิด สะกดผิด ญาติโยมก็เข้าใจว่าพิมพ์ถูกต้องแล้ว ก็ท่องตามไป เหมือนเณรดูเถรส่องบาตรก็ส่องตามจนเป็นแฟชั่น เพราะไม่รู้ว่าถูกหรือผิด

การที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและดำรงคงมั่นอยู่ได้นานถึงปัจจุบัน นับเวลากว่า 2544 ปีนั้น ก็เพราะมีการสังคายนาจัดหมวดหมู่พระธรรมคำสอนของพระโคดมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา ให้เป็นระเบียบแบบแผน โดยมีภาษาบาลีเป็นแกนกลาง คือตัวบันทึก เรียกว่าเป็นภาษาสากลของพระพุทธศาสนาสายเถรวาท (สายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต) มิใช่เพราะว่ามีพระอรหันต์มาก เพราะพระอรหันต์นั้นเป็นผลผลิตของพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎกก็ไม่มีพระอรหันต์ ใครที่สนใจเรื่องพระอรหันต์ก็ต้องหันมาสนใจในพระไตรปิฎก ยกเว้นแต่พวกโง่ๆ ที่ไปให้ความสนใจกับพินัยกรรมของหลวงตาทางภาคอีสานองค์หนึ่ง ซึ่งก่อนตายก็เขียนสั่งว่า "ให้นำเงินไปเข้าคลังหลวง" แล้วก็ยกย่องกันว่าเป็นอรหันต์ ก็ไม่รู้เป็นอรหันต์ประเภทไหนในพระไตรปิฎก สงสัยประเภทที่ 5

การสืบพระพุทธศาสนาในสมัยโบราณนั้น พระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะส่งทูตไปอัญเชิญพระสงฆ์รวมทั้งพระไตรปิฎกมายังบ้านเมืองของตนเอง แล้วทำนุบำรุงให้มีการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงนำเอาสาระในพระไตรปิฎกมาประยุกต์ปฏิบัติให้เข้ากับกาลสมัย ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ

ในเมืองไทยเรานี้ ตั้งแต่สมัยโบราณที่เริ่มต้นยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ก็มีการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทำนองนี้ พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณถึงกับทรงสร้างวัดคู่กับวัง เพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกของพระสงฆ์สามเณร ซึ่งต้องศึกษาภาษาบาลีเป็นอันดับแรก ดัง "พระเจ้าทรงธรรม" แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงพระอุตสาหะถึงกับเสด็จออก ณ วัดพระศรีสรรเพชญ เพื่อทรง "บอกหนังสือ" ให้แก่พระสงฆ์สามเณรในสมัยนั้น กับทั้งทรงโปรดให้มีการ "วัดผลการเรียนการสอน" ในวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เรียกว่า "สอบธรรมสนามหลวง" และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาขึ้นมาในปี พ.ศ.2325 นั้น ก็ทรงโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นมาคู่กับพระบรมมหาราชวัง กับทั้งทรงโปรดให้มีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา คือภาษาบาลี โปรดให้มีการสอบวัดผลที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็ยังคงเรียกว่า "สอบนักธรรมสนามหลวง-สอบบาลีสนามหลวง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้

นี่คือปูมหลังของภาษาบาลี

เมืองไทยสมัยการสื่อสารยังไม่เจริญ จะเรียกว่าปิดประเทศก็ไม่ถนัด เพราะยังมีการติดต่อค้าขายกับนานาชาติอยู่เรื่อยมา สมัยนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเอาพระทัยในพระพุทธศาสนา เหล่าเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารก็ปฏิบัติตามพระบรมราโชบาย ไล่ลงไปจนถึงไพร่ฟ้าพลเมือง จึงกล่าวได้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ โดยไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะรัฐธรรมนูญก็เพิ่งเกิดมาเมื่อปี พ.ศ.2475 นี่เอง

สมัยโบราณนั้นการจะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตได้ก็ต้องผ่านการบวชเรียน และวิชาที่เรียนก็ต้องเป็น "ภาษาบาลี" เท่านั้น แบบว่าถ้าไม่ได้เป็นมหา สึกออกมาก็อย่าหวังว่าจะมีตำแหน่งการงานมีหน้ามีตากับเขาเลย ภาษาบาลีนอกจากจะเป็นวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นวิชาการที่มีอิทธิพลในทางโลก คือทางบ้านเมือง (เพราะบ้านเมืองยกย่องพระพุทธศาสนาอย่างออกหน้า) วิชาภาษาบาลีจึงเป็นวิชาหลัก หรือวิชาบังคับให้คนไทยทั่วไปต้องศึกษา ผ่านโรงเรียนวัดซึ่งมีพระเป็นครูสอน พระที่สอนนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินให้เป็น "พระครู" คือเป็นทั้งพระทั้งครู

และเราก็อยู่กันอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่มาใช้ในเมืองไทย ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล มองเห็นอนาคตกาลว่าจะต้องปรับปรุงการศึกษาให้ทันสมัย นอกจากจะทรงโปรดให้สร้างมหาวิทยาลัยในทางโลกสำหรับประชาชนทั่วไปได้ศึกษากันแล้ว ก็ยังทรงโปรดให้ตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งมหาธาตุวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และโปรดให้ตั้ง "บาลีวิทยาลัย" ขึ้นที่วัดสุทัศนเทพวราราม

ปัจจุบันมหามกุฏราชวิทยาลัยก็ยังคงเป็นมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนมหาธาตุวิทยาลัยนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้มีการเรียนการสอนเรื่อยมา แม้ว่าบางช่วงจะขาดหายไป แต่ในปัจจุบันได้รับการลดฐานะ เอ๊ย ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในทางโลกแล้ว

ส่วนว่า "บาลีวิทยาลัย" ขอวัดสุทัศนฯนั้น กลับสูญหายไปจากสารบบของมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด

ในสมัยก่อน คณะสงฆ์ไทยยอมรับการศึกษาเพียง 2 สาขาเท่านั้นว่าเป็นการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา คือนักธรรมกับบาลี บาลีมีมาก่อนนักธรรม เพราะนักธรรมนั้นเริ่มตั้งหลักสูตรโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนว่ามหามกุฎราชวิทยาลัยก็ดี มหาธาตุวิทยาลัยก็ดี ก่อนหน้านี้คณะสงฆ์ไทยไม่รับรอง

การที่คณะสงฆ์ไทยไม่รับรองสองมหาวิทยาลัยดังกล่าวมานี้ ส่งผลให้พระเณรที่อยากศึกษาวิชาการทางโลก เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งแล้ว ปรากฏว่า "ไม่มีศักดิ์และสิทธิ์" คือว่าปริญญาบัตรที่ได้รับมานั้นไม่ได้รับการยอมรับโดย ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรทรงอิทธิพลในการกำหนดอัตราเงินเดินให้แก่ผู้ถือปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ ก.พ. ก็อ้างว่า แม้แต่คณะสงฆ์ไทยเองก็ยังไม่ยอมรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ แล้วจะให้โยมยอมรับได้อย่างไร นิมนต์ไปเสนอให้คณะสงฆ์ไทย (มหาเถรสมาคม) ยอมรับเสียก่อนเถิด

ก็เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา เชื่อไหมว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง เพิ่งได้รับการยอมรับให้เป็นมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2540 คือเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมานี่เอง ทั้งๆ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปี

และเราจะตัดเรื่องมหาจุฬาฯกับมหามกุฏฯ สองมหาวิทยาลัยเหล่านี้ออกไป เพราะว่าวันนี้จะพูดเรื่อง "มหาวิทยาลัยบาลี" ตามหัวข้อที่เกี่ยวกับภาษาบาลีเท่านั้น

ก็ดังที่ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้ง "บาลีวิทยาลัย" ขึ้นที่วัดสุทัศนเทพวราราม โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว ป.ธ.4) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ทรงดำรงตำแหน่งแม่กองบาลีเป็นรูปแรกในประวัติศาสตร์ แต่คณะสงฆ์วัดสุทัศนฯ กลับไม่ได้สานต่องานด้านนี้ที่ทรงโปรดริเริ่มไว้เลย การศึกษาภาษาบาลีสมัยก่อนนั้นใช้ระบบ "เดินเรียน" คือไปขึ้นครูเอาจากวัดต่างๆ เช่น สมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) ซึ่งเป็นเณรนาคหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น สมัยนั้นวัดเบญจมบพิตรกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาภาษาบาลี ถึงกับมีวลีว่า อยากเป็นนักเทศน์ให้ไปวัดประยูร อยากเป็นเจ้าคุณให้ไปวัดมหาธาตุ อยากเป็นนักปราชญ์ให้ไปวัดสามพระยา อยากเป็นมหาให้ไปอยู่วัดเบญจฯ ทั้งนี้สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจฯ นั้นท่านเป็นแม่กองบาลีรูปที่ 2 ต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ทำให้อำนาจทั้งด้านการปกครองและการศึกษาไปรวมศูนย์อยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเพียงที่เดียว

ในสมัยพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.9) เป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณนั้น ท่านเชี่ยวชาญทางด้านนี้มาก จึงมีพระสงฆ์สามเณรนิยมไปเรียนกับท่านมาก ทำให้สำนักเรียนวัดทองนพคุณโด่งดัง สามารถสร้างสามเณร ป.ธ.9 ได้เป็นองค์แรกในประวัติศาสตร์ คือ สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้เป็นนาคหลวงองค์แรกในรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันคือศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

แต่ต่อมา เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ท่านได้เปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีชั้นสูง คือประโยค ป.ธ.7-8-9 ขึ้นที่วัดสามพระยา อาจารย์รุ่นแรกๆ ก็เห็นจะเป็นนาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง ศิษย์เก่าวัดภคินีนาถ บางพลัด

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดำรงตำแหน่งแม่กองบาลีสนามหลวง ขณะเดียวกันก็ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งกุมอำนาจการบริหารคณะสงฆ์สูงสุดในประเทศไทยไว้ด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่มีอำนาจประหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชในฝ่ายมหานิกาย แบบว่าพระสงฆ์ไทยสมัยนั้นต้องขึ้นต่อวัดสามพระยาเพียงแห่งเดียว ต่างจากสมัยนี้ที่สมเด็จวัดสระเกศกับวัดชนะสงครามบารมีสูสีกัน ทำให้มหานิกายมีหลายหัว

วัดสามพระยาครองตำแหน่งแม่กองบาลีสนามหลวงถึง พ.ศ.2531 ก็ผ่องถ่ายตำแหน่งนี้ให้แก่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต ป.ธ.7) วัดเบญจมบพิตร จนกระทั่งสมเด็จสุวรรณมรณภาพลงในปี พ.ศ.2537 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงได้รับตำแหน่งแม่กองบาลีมาจนปัจจุบันวันนี้ วันที่เรามีเลขาแม่กองบาลีชื่อว่า พระธรรมปัญญาภรณ์ (สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9) ซึ่งเป็นผู้ออกมาให้ข่าวว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาบาลีในวันนี้

ถามว่าทำไมต้องปรับปรุง ?

ตอบให้สั้นๆ ก็คือว่า ไม่มีคนสนใจเรียนบาลีอีกต่อไปแล้ว คนที่ว่านี้ก็คือพระภิกษุสามเณรนั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบริบทของสังคมไทยแต่โบราณ ที่นิยมให้ลูกหลาน "บวชเรียนเพื่อสืบทอดศาสนา" มิใช่ต้องการให้ได้บรรลุธรรมอะไร ขอเพียงให้พ่อแม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูกซักพรรษา อายุ 20 ปี จึงได้เกณฑ์บวช ออกพรรษารับกฐินแล้วก็ลาสิกขา ออกไปทำมาหากินโดยสุจริตต่อไป

ส่วนใครที่บวชเรียนนานกว่านั้นก็มุ่งเอาวิชาการในวัด ซึ่งวัดในสมัยโบราณนั้นเป็นศูนย์กลางการศึกษา วิชาการสารพัดไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี ภาษาไทย วิชาการช่าง การบัญชี การบริหารการปกครอง การช่าง การแพทย์ วรรณกรรม รวมทั้งวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งยกย่องว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงมาแต่สมัยพุทธกาล ก็เป็นหลักสูตรที่สอนกันอยู่ภายในวัดทั้งสิ้น วัดจึงเป็นทั้งศาสนสถานและโรงเรียนไปในตัว ใครเรียนจบโรงเรียนวัดออกมาก็โก้เก๋ สาวๆ หมายตากันก่อนเพื่อน ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ก็เชียร์ เพราะเห็นเป็นคนสุก ผ่านผ้าเหลืองน้ำขมิ้นมาแล้ว การบวชเรียนในสมัยก่อนจึงดีด้วยประการทั้งปวง ใครๆ จึงอยากบวช

แต่..แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนไทยใจใหญ่ ประเทศไทยเปิดกว้าง รับเอาศาสนาสารพัดเข้ามา เหมือนเป็นตลาดเสรี แบบใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย ไม่มีการบังคับให้ต้องนับถือพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว และเมื่อมีการนำเอาวิชาการของประเทศทางตะวันตกคือยุโรปและสหรัฐอเมริกาเข้ามาพร้อมๆ กับการศาสนาด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาแม้ว่าด้านพระธรรมคำสอนจะไม่เป็นสองรองใคร แต่ด้านวิชาวิทยาการแล้วเราเริ่มด้อย ผู้คนนับตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เสนาอำมาตย์ข้าราชบริพาร ไล่ไปจนถึงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน หรือราษฎรเต็มขั้น หันไปสนใจวิชาการของประเทศทางตะวันตกกันหมด ส่วนวิชาการเก่าๆ ที่เราเคยมีนั้นก็ปล่อยให้พระสงฆ์สามเณรท่านนั่งท่องจำกันไปในกำแพงวัด ประชาชนคนไทยจะเข้าวัดก็ต่อเมื่อ 1.มีญาติตาย 2.ไปทำบุญตามเทศกาล และ 3.ไปดูหมอ สะเดาะเคราะห์ สืบชาตา บูชาโชค เรื่องการศึกษาพระธรรมคำสอนไม่มีใครสนใจจะรู้จักมักคุ้น เพราะมองเห็นว่า "เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์สามเณรที่จะสืบทอดพระศาสนา"

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ยกพระพุทธศาสนาให้เป็นภาระของพระสงฆ์เพียงกลุ่มเดียว

กล่าวทางพระสงฆ์ ในสมัยที่การศึกษายังไม่เจริญ การเรียนการสอนในวัดก็ยังขายได้ ทั้งนี้ เพราะวัดในสมัยนั้นเป็นที่ให้โอกาสแก่เด็กที่ยากจน ไม่ว่าจะหัวดีหรือหัวขี้เลื่อย เมื่อเข้าไปอาศัยในวัด ก็จะได้รับการดูแลและส่งเสริมโดยทั่วหน้า วัดในสมัยก่อนจึงเป็นสถานสงเคราะห์อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกันดังว่ามานี้

ทีนี้ว่า เมื่อถึง พ.ศ.2545 รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ได้ออกกฎหมาย "การศึกษาภาคบังคับ" บังคับให้เด็กไทยอายุตั้งแต่ 7-16  ปี ต้องเรียนให้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 9 หรือเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นอย่างต่ำ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องถูกปรับหนึ่งพันและหนึ่งหมื่นบาท

กฎหมายดังกล่าวนี้ส่งผลให้การศึกษาในวัดต้องกระเทือนอย่างหนัก เพราะบังคับให้เด็กต้องเรียนจนอายุ 17 ปี ซึ่งกว่าจะจบภาคบังคับออกมานั้น เด็กเหล่านั้นก็โตเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวไปหมดแล้ว จะดึงให้หันหน้าเข้าวัดนั้นไม่มีทาง อย่างสมัยผู้เขียน สมัครเข้าเป็นเด็กวัดแต่อายุ 10 ขวบ หัดสวดมนต์ ล้างกระโถน ทำกิจวัตร สารพัดประดามีในวัด ครั้นอายุ 12 ปี จบ ป.6 ปุ๊ปก็บวชปั๊ป แล้วก็เรียนนักธรรมบาลีต่อเนื่องมาอีก 10 ปี จนจบหลักสูตรทั้งสองสายเหล่านี้

สมัยนั้น (พ.ศ.2526-2636) อำเภอฝางยังไม่เจริญ ตัวเมืองเชียงใหม่นั้นใครได้เห็นก็เป็นบุญตา กรุงเทพมหานครนั้นอยู่ไกล สำนักวัดเจดีย์งามนั้นถ้าสอบไม่ผ่านประโยค 3 แล้วท่านไม่ส่งไปเรียนบางกอก เห็นรุ่นพี่ได้ไปอยู่กรุงเทพฯ ไอ้เราก็อยากไปบ้าง แต่พอได้ประโยค 3 แล้ว สำนักเรียนก็ขยายเวลาการศึกษาว่าต้องได้ประโยค 5 ก่อน จึงจะส่งเข้ากรุงเทพฯ เห็นไหมว่าความฝันนั้นยิ่งนานก็ยิ่งไกลไปทุกที

ช่วงปี พ.ศ.2526-2536 นั้น ถือได้ว่าเป็นยุคทองของภาษาบาลีในเชียงใหม่และลำพูน มีสำนักเรียนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด สำนักวัดเก่าๆ อย่างวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดบุพพาราม วัดพันอ้น เป็นต้น ยังคงเส้นคงวา สำนักเรียนใหม่ๆ เช่น วัดเจดีย์งาม วัดท่าตอน วัดดอยสะเก็ด วัดศรีบุญเรือง วัดทรายมูล (สันกำแพง) เป็นต้น ที่ลำพูนก็มี 2 สำนักดัง ได้แก่วัดพระธาตุหริภุญไชย ซึ่งเป็นสำนักเรียนเก่าแก่ และวัดพระพุทธบาทตากผ้าของครูบาพรหมจักร ก็โด่งดังขนาดว่าต้องสอบเอ็นทร้านซ์เข้าเรียน ปีหนึ่งรับไม่กี่สิบรูป ใครสอบเข้าได้ก็ยืด ภูมิอกภูมิใจในความสำเร็จ พวกที่สอบตกก็หันหน้าไปศึกษาด้านอื่นหรือไม่ก็ลาสิกขาออกไปทำไร่ไถนาเดินตามควายตามยถากรรม

ที่เชียงรายก็มีสำนักเรียนวัดป่างิ้วขอท่านอาจารย์ใหญ่พระมหาทรัพย์ นรินฺโท ศิษย์เก่าวัดพระพุทธบาทตากผ้า สร้างสำนักเรียนให้เกรียงไกร ใครๆ ก็อยากเรียนที่วัดป่างิ้ว ลงมาด้านล่างที่จังหวัดอุตรดิตถ์ก็มีสำนักเรียนวัดคลองโพธิ์ ศิษย์คนโตในสำนักนี้ก็คือ พระมหารุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.9 ปัจจุบันคือ พระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ นนทบุรี วัดเดิมของหลวงพ่อปัญญานันทะ  ที่จังหวัดพิจิตรมีสำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อ ศิษย์เก่าที่โด่งดังก็เห็นจะเป็นพระราชปริยัติเมธี (สมชาย กุสลจิตฺโต ป.ธ.9) วัดจันทาราม ฝั่งธน เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร. ก่อนจะเกษียนอายุไปในหลายปีก่อน

วัดท่าตอน นับแต่ พระมหาจรูญ จนฺทมาลัย ไปสอบได้ ป.ธ.9 ที่วัดราชสิงขร เมื่อ พ.ศ.2526 กลับไปช่วยงานคณะสงฆ์ตั้งสำนักเรียนขึ้น ก็ได้ผลิตพระเณรเปรียญขึ้นมาอย่างมหาศาล ผู้เขียนก็เหมือนเป็นศิษย์สายนั้น เพราะวัดเจดีย์งามกับวัดท่าตอนนั้นเป็นวัดพี่วัดน้องกัน เพราะหลวงพ่อพระราชปริยัติเมธี (สมาน กิตฺติโสภโณ) เจ้าอาวาสวัดท่าตอน กับท่านอาจารย์พระมหาสมเจตน์ เขมชยราโช อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม (ลาสิกขาแล้ว) ทั้งสองท่านเป็นเพื่อนบวชเรียนมาด้วยกัน เมื่ออาจารย์สมานไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าตอน อำเภอแม่อาย อาจารย์สมเจตน์ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม อำเภอฝาง ทำให้สองสำนักนี้เป็นพันธมิตรกันในทางการศึกษา พระเณรวัดเจดีย์งามก็อ้างได้ว่าเป็นศิษย์วัดท่าตอน พระเณรวัดท่าตอนก็อ้างได้ว่าเป็นศิษย์วัดเจดีย์งาม

วัดท่าตอนในสมัยนั้นสามารถผลิตเปรียญเอกอุ คือ ป.ธ.9 ได้หลายรูป นับตั้งแต่พระมหาบุญส่ง คุตฺตจิตฺโต พระมหานิมิต สิขรสุวณฺโณ (ปัจจุบันเป็นพระศรีสิทธิเมธี เจ้าอาวาสวัดสวนดอก เชียงใหม่) และรุ่นน้องอีกหลายรูป อย่างสามเณรประเสริฐ สัจจัง นั้นก็ลุ้นให้ได้เป็นเณรนาคหลวงองค์แรกของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ตัดสินใจลาสิกขาออกไปก่อน ก่อนที่สามเณรบุญปั๋น น้อยหน่อ จะประสบความสำเร็จ สอบได้ ป.ธ.9 ในนามสำนักเรียนวัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2537 ปีเดียวกับผู้เขียน

กิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาบาลีก็คือ การอบรมบาลีก่อนสอบ ซึ่งสมัยนั้น หลวงพ่อพระครูอุดมกิตติมงคล เจ้าอาวาสวัดบุพพาราม ถนนท่าแพ (ตรงข้ามกับวัดแสนฝาง) ปัจจุบันคือพระเทพวิสุทธิคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดด้วย ได้เริ่มโครงการอบรมบาลีก่อนสอบที่วัดบุพพาราม โดยจับมือกับคณะจังหวัดลำพูน นำเอาพระเณรที่เรียนบาลีทุกระดับมาติวเข้มก่อนสอบเป็นเวลา 1 เดือน พวกเราจึงมาชุมนุมกันที่วัดบุพพาราม กิน นอน ท่องตำรา เรียนบ้าง ออกเดินชมตลาดวโรรส หรือกาดหลวง เพื่อเปิดหูเปิดตาบ้าง จากเมืองฝางไปเชียงใหม่สมัยนั้นก็พอๆ กับจากบางกอกไปแอลเอ อยู่บ้านนอกเคยฟังก็แต่คลื่นเอเอ็มของหนานโฮะ พอถึงเชียงใหม่ปรากฏว่าคลื่นวิทยุใสกว่าเดิม เลยนอนฟังเอฟเอ็มกันเพลินไป

เดินผ่านร้านขายเครื่องเสียงบนถนนช้างคลาน เห็นไอ้ตัวอะไรที่เรียกว่าซาวด์อะเบ๊าท์ ตัวเล็กๆ กะทัดรัด ใส่เทปคลาสเส็ท มีหูฟังเป็นการส่วนตัว ส่วนเสียงนั้นใสนิ๊ง แหมนึกอยากจะได้ใจจะขาดแต่ไม่มีเงิน แค่จะเดินทางเข้าเชียงใหม่ไปกินนอนเป็นเดือนๆ ยังมีเงินติดย่ามมาไม่ถึงร้อย แต่ไอ้ตัวที่ว่านั้นตั้ง 400-500 บาท ชาตินี้หมดหวัง ขนาดว่ารางวัลนักเรียนดีเด่น (สอบซ้อมได้คะแนนดี) ประจำจังหวัดเชียงใหม่สมัยนั้น รางวัลที่ 1 ได้ 300 บาท ที่สองได้ 200  ที่สามได้ 100 ก็ว่าเยอะแล้ว การไปอบรมบาลีก่อนสอบนั้นนอกจากจะได้พบปะเพื่อนฝูงอย่างมากมายแล้ว ยังได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้เปิดหูเปิดตา เป็นทัศนานุตริยะ เรื่องราวเหล่านี้ผ่านมาหลายสิบปีก็ยังไม่มีลืม

แต่โลกนี้มีเจริญย่อมมีเสื่อม ฉันใด ในวงการการศึกษาภาษาบาลีก็ฉันนั้น บรรยากาศเก่าๆ ที่เราเคยสัมผัส เช่นเสียงครูด่าทุกเช้าที่เข้าห้องเรียน ว่ากินข้าวต้มทุกวันเนี่ย ได้ทำอะไรเป็นการตอบแทนคุณข้าวคุณน้ำญาติโยมเข้าบ้างหรือเปล่า ทำไมเอ็งมันโง่เหมือนควาย จากนั้นก็จะมีเสียงสั่งให้เขกโต๊ะตามมา แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ค่อยเจอด่าหรือเขกโต๊ะ แต่เห็นเพื่อนๆ โดนกันหลายองค์ ไอ้เราอยู่ในห้องเดียวกันก็พลอยเครียดไปด้วย แหมมันหัวอกเดียวกันน่ะ ครูบาอาจารย์สอนบาลีสมัยนั้นท่านเฮี๊ยบมาก ด่าเก่งไม่มีใครเกิน ไม่รู้ว่าวิชาด่านั้นเขาสอนกันที่ไหน แต่ท่านด่าได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า มีเรื่องเล่าว่า พระมหาเถระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่ง อยู่วัดใหญ่ในกรุงเทพฯ นอกจากจะด่าเก่งแล้วท่านยังตบตีเก่ง ลูกศิษย์ในห้องล้วนเป็นโดนท่านตบตีซะหัวแตกเดี้ยงไปทุกราย สุดท้ายท่านโดนปลด ปรากฏว่าเกิดล้มป่วยลงอย่างยากจะเยียวยา โดยยาที่จะรักษาท่านให้หายนั้นมีเพียงขนานเดียว คือขอสอนบาลี ไม่งั้นต้องตายแน่ๆ ทางเจ้าอาวาสจึงต่อรองว่าสอนได้ (เพราะท่านสอนดี) แต่ห้ามตบตีพระเณร

ท่านก็บอกว่า "ท่านอดไม่ได้"

"ถ้าอดไม่ได้ก็ไม่ต้องสอน"

"งั้นกระผมต้องตายแน่ๆ"

สุดท้ายการเจรจาจึงลงเอยที่ว่า "อนุญาตให้สอนบาลีได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอนอยู่ในกรง" คือมีการสร้างกรงขังเป็นพิเศษขึ้นมา แล้วให้พระมหาเถระรูปนั้นเข้าไปในกรง เดินวนสอนอยู่ในนั้นเหมือนเสือติดจั่น เมื่อท่านโกรธขึ้นมาคราใด ก็ไม่สามารถจะออกจากกรงมาตบตีนักเรียนเหมือนเคยได้ ท่านก็ออกอาการสั่นเพราะคุมตัวเองไม่อยู่ เอาสองมือจับลูกกรงเขย่าและคำรามเหมือนลิงกอริลล่า ปัจจุบันเห็นว่าท่านมรณภาพไปแล้ว ก่อนตายได้เป็นรองสมเด็จด้วยนา และสาบานว่าเรื่องนี้เรื่องจริง ศิษย์ของท่านยังเหลืออีกหลายรูป

ตี่สี่ ตีระฆัง ตีห้า พร้อมกันทำวัตรสวดมนต์ในพระวิหาร หกโมงกวาดวัด เจ็ดโมงฉันข้าวต้ม แปดโมงเคาะระฆังเข้าเรียนภาคเช้า 11 โมงฉันเพล บ่ายโมงเข้าเรียนภาคบ่าย เลิกสี่โมงเย็น จากสี่โมงถึงหกโมงเย็นเป็นเวลาพักผ่อนรวมทั้งอาบน้ำ หกโมงเย็นลงทำวัตรในโรงอุโบสถ หนึ่งทุ่มฉันโอวัลตินเสร็จพร้อมกันท่องหนังสือที่กุฏิพระอาจารย์ สามทุ่มต่อหนังสือ หรือแปลหนังสือ สี่ทุ่มเข้านอน รอระฆังรอบใหม่ในตีสี่วันพรุ่งนี้ต่อไป เป็นวัฏจักรนักเรียนบาลี

พูดถึงข้าวต้มวัดเจดีย์งามในสมัยนั้นเป็นข้าวต้มจริงๆ คือมีแต่ข้าว ส่วนหมูนั้นแทบหาไม่เจอ หรือเจอก็แต่วิญญาณหมู ค้นหาแทบเป็นยา แต่ก็จำต้องกินกันไป เพราะไม่มีอะไรจะกินนอกจากข้าวต้ม แต่เมื่อไปวัดท่าตอนแล้วก็รู้สึกว่าข้าวต้มวัดเจดีย์งามอร่อยกว่าเยอะ เพราะวัดท่าตอนสมัยนั้นท่านเล่นเอาข้าวดอยซึ่งเหนียวๆ แดงๆ มาต้มให้พระเณรฉัน จะเป็นข้าวหลามก็ไม่ใช่ ข้าวต้มก็ไม่เชิง เหมือนข้าวแดงของนักโทษเสียมากกว่า แต่พระเณรในยุคนั้นก็ทรหดอดทน ทนทั้งคำด่า ทนทั้งมือทั้งตีน ไม่มีใครสำออย แถมยังทำสถิติสอบได้เป็นว่าเล่น เพิ่งจะมารู้ตอนหลังว่าข้าวแดงๆ นั้นมีวิตามินเกรดเอ ซึ่งพวกชีวจิตเอามาโฆษณาขายในปัจจุบัน

เคยมีครั้งหนึ่ง นักเรียนหนีเที่ยว ไม่ยอมไปต่อหนังสือ ปรากฏว่าพระอาจารย์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสด้วย ท่านโมโหจัดสั่ง "ห้ามนอน" ให้เดินรอบพระเจดีย์ท่องหนังสืออยู่ทั้งคืน

อีกครั้งหนึ่ง มีเณรองค์หนึ่ง ทำเวรจัดโต๊ะอาหาร แต่แอบจิ๊กขนมกินและมีคนเห็นไปฟ้องเจ้าอาวาส ท่านสั่งให้เทอาหารทิ้งให้หมด ไม่ให้ใครกินเลย พวกเราเลยอดเพลกันทั้งวัด ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับเณรองค์นั้นเลย

เข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ตีตั๋วรถไฟได้ชั้นสาม ซึ่งถูกที่สุด โง่แสนโง่นั้นไม่รู้จะหาไหนเปรียบ เดินหารถชั้นสามตั้งนานสองนาน เพราะเห็นตู้ไหนก็มีแต่ชั้นเดียว ไม่มีชั้น 2 และชั้น 3 เลย กว่าจะได้ขึ้นก็เล่นเอาแทบไม่ทันขบวนรถ คืนนั้นนอนไม่หลับทั้งคืน เสียงรถไฟก็ว่าดังแล้ว เสียงคนในโบกี้ก็ดังกว่าอีก เก้าอี้ที่นั่งก็ไม่เป็นสัดส่วน มีคนเดินไปๆ มาๆ ตลอด แล้วใครจะหลับลง มีงีบบ้างเป็นบางครั้งเพราะง่วงจัด แต่เอาหัวเซไปกระแทกหน้าต่างบ้าง เป็นที่น่าเวทนา พอถึงนครสวรรค์ก็มีสรรพสินค้านำหน้าโดยขนมโมจิขึ้นมาขาย

"โมจิ ฮะ โมจิ"

"ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชนค่ะ"

"ผ้าเย็นครับผ้าเย็น"

"เหนียวไก่ย่างคร๊าบ เหนียวไก่ย่าง" ฯลฯ

ทีแรกเราก็นึกว่าคนเรียกกัน ที่ไหนได้พวกพ่อค้าแม่ค้านั่นเอง เฮ้อบ้านนอกเข้ากรุง

พอผ่านพ้นบรรยากาศดังว่ามานี้แล้ว ประมาณ พ.ศ.2534-35 ซึ่งผู้เขียนลงมาเรียนและอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว พวกเราในสมัยนั้นก็เริ่มปรารภกันถึงการศึกษาภาษาบาลีว่าจะมีความเป็นไปได้อีกสักเท่าไหร่ เพราะเริ่มมีการเปิดกว้างให้พระเณรไปเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไปได้ อย่างสมัยก่อน พระเณรรูปไหนจะเรียน มสธ. (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) ก็ถูกห้าม จึงต้องแอบสึกไปทำบัตรประชาชน แล้วใช้ชื่อเป็นนายไปลงทะเบียน เมื่อเรียนจบ วันรับปริญญาบัตรก็แอบสึกไปรับ เพราะว่าคณะสงฆ์กับทางมหาวิทยาลัยมีสัญญาร่วมกันว่าห้ามรับพระเณรเข้าเรียน

แต่เมื่อกระแสเชี่ยว เรือใหญ่เพียงใดก็ขวางไม่อยู่ ต่อมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ก็ประกาศรับนักศึกษาที่เป็นพระภิกษุสามเณร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เปิดตามกันเป็นแถว มสธ.ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป เพราะดีกรีต่ำกว่ากันมาก และเมื่อนั้นมหาเถรสมาคมก็หมดปัญญาห้ามปราม หนำซ้ำเมื่อมีพระราชบัญญัติรองรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์เสียอีกที่ถูกบีบให้เปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในโลกนี้ ขอเพียงแต่มีโอกาส

เมื่อมีเสียงสนทนาเรื่องการปรับปรุงการศึกษาภาษาบาลีให้เป็นสากล คือมีวิชาการด้านอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เข้าเสริม เพื่อให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานในการศึกษาด้านอื่นด้วย ก็มีอาจารย์ใหญ่ในวัดสามพระยารูปหนึ่งพูดสะบัดว่า "แค่เรียนบาลีอย่างเดียวพวกท่านก็จะตายกันอยู่แล้ว สอบตกมากกว่าสอบได้ทุกปี ถ้าเพิ่มวิชาด้านอื่นเข้ามาจะเรียนไหวหรือ"

เรื่องดังกล่าวจึงเงียบหายไปกับสายลม แม้จะพัดหวนกลับมาบ้างเป็นบางครั้ง แต่ตราบใดที่พระอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนวัดสามพระยายังคงคิดเช่นนี้อยู่ การปรับปรุงวิชาบาลีให้ทัดเทียมกับวิชาการด้านอื่นก็คงไม่มีสิทธิ์เกิด เพราะพระผู้ใหญ่นั้นท่านอีโก้สูง มักอ้างคำพูดของสมเด็จพระสังฆราชปลด วัดเบญจมบพิตรมาเป็นยันต์กันผีว่า "ให้ผมตายเสียก่อนจึงค่อยแก้" แต่พอพระองค์ท่านตาย ก็มีพระองค์ใหม่สืบสานปณิธานต่อไปไม่สิ้นสุด ท่านเข้าใจว่าเป็นทายาทเทพ แต่พระเณรส่วนใหญ่เห็นเป็นทายาทอสูรกันทั้งเมือง

กระทั่งมาถึงวันนี้ วันที่เลขาแม่กองบาลีออกมาให้ข่าวเสียเองว่า "จะปรับปรุงวิชาบาลีให้มีความหลากหลายขึ้น"

การประกาศของเลขาแม่กองบาลีในวันนี้ มิใช่การจุดประกายใหม่ในวงการการศึกษาบาลีอะไรเลย เพราะเรื่องเหล่านี้พวกเราพูดกันมาร่วมๆ 20 ปี จนพวกเราส่วนใหญ่นั้นเกษียนอายุจากครูบาลีในห้องเรียนเลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นผู้บริหาร นับตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาส เป็นอาจารย์ใหญ่ เสียเป็นส่วนใหญ่ เสียงของเลขาแม่กองบาลีจึงไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอันใดให้แก่พวกเรา นอกจากจะหันมาถามว่า "เออจะปรับปรุงแล้วเหรอ" แค่นั้น มันเหมือนกับพระยากาลนาคราชละเมอเพ้อออกมา เมื่อได้ยินเสียงถาดของพระสมณสิทธัตถะ ลอยลงไปกระทบในเมืองบาดาลให้สะดุ้งตื่นฉะนั้น

แต่เอาละ "มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา" และไหนๆ เมื่อจะมาทั้งที ผู้เขียนก็ขอร่วมด้วยช่วยกัน เพราะแม้จะจากวงการบาลีมาอยู่สหรัฐอเมริกานานถึง 14 ปีมานี่แล้ว แต่ก็ยังรักบาลีอยู่มิรู้หาย หลังสุดมานี่ผู้เขียนลงทุนบินกลับประเทศไทย เพื่อพิมพ์หนังสือ "พุทธโฆสนิทาน" ประวัติปรมาจารย์สายบาลี ถวายเป็นมุทิตาสักการะแด่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นวงการการศึกษาภาษาบาลีให้มีสีสันต์ขึ้นบ้าง

ทีนี้เมื่อดูตามสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่ามีตัวแข่งคอยบั่นทอนวงการบาลีให้อ่อนด้อยลงอย่างน่าใจหาย เพราะจำนวนพระเณรที่ศึกษาภาษาบาลีลดลงวูบวาบ สำนักเรียนต่างๆ ที่เคยติดป้ายประกาศรับสมัครนักเรียนบาลีเมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันต้องเอารถตู้ออกตะลอนหาพระเณรมาเสริมห้องเรียนให้เต็ม ซึ่งเมื่อได้ตัวมาแล้วนั้นก็ต้องเลี้ยงลูกของเขาให้ดี จะตบตีเหมือนสมัยก่อนนั้นทำไม่ได้แล้ว นอกจากจะไม่กล้าดุด่าและตบตีแล้ว ยังต้องขุนด้วยอาหารการกินสารพัด หลวงพ่อพระราชปริยัตยาลงกรณ์ เจ้าอาวาสวัดบางนาใน ท่านเล่าให้ฟังว่า แต่ละเดือนต้องให้เงินค่าขนมเณรเรียนบาลีองค์ละหลายร้อย เพราะค่าอาหารอย่างเดียวไม่พอซะแล้ว ประเดี๋ยวมีรถไอติมเข้าไปในวัดตอนบ่าย ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายให้ถ้วนหน้า ควักไปควักมาเดือนละหมดเป็นล้าน เพราะนับตั้งแต่ค่าน้ำค่าไฟ ค่าภัตตาหาร ค่าครูผู้สอน ค่าอุปกรณ์ต่างๆ เช่นคอมพิวเตอร์เป็นต้น สารพัดที่จะต้องหามาจ่าย ใครคิดจะตั้งสำนักเรียนบาลีจึงต้องคิดหนัก เพราะเป็นภาระที่ไม่มีที่สิ้นสุด แถมยังไม่มีผู้ช่วยอีกด้วย นี่คิดแค่นี้ก็เหนื่อยแสนแล้ว

กล่าวทางในวงการการศึกษาของคณะสงฆ์เองก็แข่งขันกัน นั่นคือโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ซึ่งตั้งขึ้นโดยนายมาณพ พลไพรินทร์ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ทำนองเป็นโรงเรียนมัธยมของพระสงฆ์ๆ องค์เณรก็หันหน้าไปเรียน โรงเรียนประเภทนี้ไม่มีทุนต้องจ่าย เพราะมีงบประมาณสร้างโรงเรียนให้ มีทุนให้บริหาร แถมพระเณรที่เข้าเรียนยังได้รับงบประมาณเป็นรายหัวอีกด้วย แบบนี้ใครๆ ก็อยากตั้ง ปัจจุบันมีโรงเรียนปริยัติสามัญทุกอำเภอ บางอำเภอมีหลายแห่งด้วย ขณะที่โรงเรียนบาลีนั้นมีไม่ครบทุกจังหวัด สถิติมันต่างกันไกล จะว่าโรงเรียนปริยัติสามัญเป็นตัวทำลายโรงเรียนบาลีให้ย่อยยับลงไปก็ว่าได้ แม้ว่าแต่เดิมนั้นผู้คิดโครงการจะมิได้ตั้งใจก็ตาม

มองออกไปรอบนอกบ้าง มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วไทย ล้วนเปิดกว้าง มีสาขาวิทยาเขตทั่วประเทศ อย่างอำเภอฝางบ้านเกิดของผู้เขียนนั้น สมัย พ.ศ.2526 โดยประมาณ ถ้าไม่เรียนบาลีก็ไม่มีสิทธิ์เกิด อย่างเก่งก็เรียนทางไกลของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เรียนจบก็ได้ใบประกาศที่เรียกว่า เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ ... ครั้นไม่มีเปรียญจะกระเสือกกระสนเข้ากรุงเทพฯก็อย่าหวังว่าจะมีวัดไหนรับ มันปิดหนทางจนมืดมนไปหมด

แต่ปัจจุบันนี้ทุกพื้นที่ทุกอำเภอมีตัวเลือกให้เรียนมากมาย ทั้งระดับมัธยม อาชีวศึกษา และอุดม แถมยังมีโรงเรียนอินเตอร์สาขาของมหาวิทยาลัยต่างประเทศเปิดสอนกันเกลื่อนเมือง แล้วบาลีจะเอาอะไรไปสู้

ปัญหาว่าด้วยภาษาบาลีนอกจากจะเป็นภาษาตายที่ไม่ใช้สื่อสารกันแล้ว ก็ยังมีปัญหาว่าด้วย "ค่านิยม" คือว่าแต่เดิมมานั้นพระเณรที่เรียนจบบาลีได้เป็นมหา พอสึกออกไปก็เป็นผู้มีวิชาความรู้ หาการหางานก็ง่าย เมื่อหางานง่าย หาเมียก็ง่ายไปด้วย ยิ่งงานดี ศรีภริยาก็ย่อมดีตามดีกรีไปด้วย แต่ปัจจุบันค่านิยมแบบนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว พวกที่เรียนจบมหา อย่างมากที่สุดก็สมัครเป็นอนุสาสนาจารย์กองทัพบก เรือ อากาศ เป็นทหารพิธีกรรม ไม่มีอำนาจวาสนาจะได้เป็นใหญ่เป็นโตระดับผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพอะไรกับเขา นอกนั้นที่เรียนจบสูงๆ ก็บินไปต่อยอดปริญญาที่อินเดีย ได้ด๊อกเตอร์กลับมาก็รวมตัวกันยึดมหาจุฬา-มหามกุฏ ไปเป็นมหาวิทยาลัยแขก มีแต่ศิษย์เก่าเดลี ปูเน่ห์ ไมซอร์ โอรังคาบาด พาราณสี มคธ เป็นต้น จนสายอื่นไม่มีใครกล้าเข้าไปตอแย

แล้วเมื่อเป็นเช่นนั้น ใครกันอยากจะบวช อยากจะเรียน เพราะถ้าบวชแล้วเรียนแล้ว ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมีวิชาความรู้ แบบนี้มันก็น่าส่งเสริม แต่ถ้าบวชแล้วเป็นคนดีจริง แต่โง่ ไม่ทันกิน ตอนบวชนั้นขึ้นธรรมาสน์เทศน์ หลับหูหลับตาสอนโยม รู้ทุกเรื่องแม้แต่สวรรค์นิพพานก็จาระไนได้เหมือนไปเอง แต่พอสึกออกมา อะไรๆ ก็ต้องให้เมียสอน พอครอบครัวไปไม่รอด จะหันหน้ากลับมาบวชก็อายเพื่อน เลยหันหน้าเข้าหาอบายมุข กินเหล้าเมายาเสียผู้เสียคนไปมากต่อมาก ซึ่งน่าที่สังคมไทยจะเข้าใจ แต่กลับไม่ มีแต่คนเย้ยหยันเหยียดหยาม ลามปามถึงกับว่าอย่าบวชเลยลูก เพราะบวชแล้วไม่เห็นได้ดี แถมยังเสียผู้เสียคนเอาเสียอีก ดูแต่ไอ้ทิดคนโน้นสิ แต่ก่อนนะเห็นท่าดี แต่วันนี้ทีเหลว ฯลฯ

เคยมีความคิดจะปฏิรูปการศึกษาทั้งด้านภาษาบาลีและนักธรรมอยู่บ้าง ซึ่งบางทีก็ดูดีแล้วเชียว คือความคิดน่ะถึง แต่ใจไม่ถึง ไม่กล้าเดินหน้าปฏิรูป ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนสิ้นอายุขัย พอรูปใหม่มารับตำแหน่งแทน ทุกอย่างก็ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ มันจึงไปไม่ถึงไหนซักที

เช่นเมื่อตอนที่นางจุฬารัตน์ บุณยากร เป็น ผอ.สำนักพุทธฯ นั้น ก็เคยมีความดำริจะตั้ง "วิทยาลัยบาลี" ขึ้นมา แต่พอนางจุฬารัตน์เกษียนออกไป เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีการสานต่อ

ความจริงแล้ว ผู้เขียนเคยคิดและพูดกับเพื่อนฝูงว่า ภาษาบาลีไม่ใช่ไม่มีทางออก แต่ทางออกนั้นค่อนข้างจะต้องถางกันหนักหนาสาหัส โดยต้องตั้ง "มหาวิทยาลัยบาลีแห่งประเทศไทย" ขึ้นมา มิเช่นนั้นก็คงรอวันตายอย่างเดียว

พระเณรไทยหลายรูปที่ไปต่อที่อินเดีย ก็รู้ว่าที่อินเดียนั้นมีมหาวิทยาลัยสันสกฤตอยู่ที่พาราณสี ที่นั่นมีการศึกษาภาษาสันสกฤตแทบว่าจะเป็นศูนย์ใหญ่ของโลก มีนักวิชาการหลากหลายจากทุกมุมโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน นั่นเพราะอินเดียเขายกย่องสันสกฤตว่าเป็นภาษาหลักของชาติ ขณะที่ประเทศไทยแม้จะรู้อยู่ว่าภาษาบาลีเป็นภาษาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติไทย และบาลีก็เป็นแม่บทของภาษาไทยอีกด้วย ใครจะเรียนภาษาไทยให้แตกฉานก็ต้องผ่านบาลีไปทั้งนั้น แต่ไทยเรากลับไม่ยอมตั้งมหาวิทยาลัยบาลีขึ้นมา

แต่จะว่าไม่ตั้งก็ว่าไม่ได้ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริมไว้แล้ว แต่ว่าคณะสงฆ์ไทยกลับไม่ยอมสานต่อบาลีวิทยาลัย ที่สานต่อมาก็เพียงมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าคิดจะสร้างค่านิยมและต่อยอดให้ภาษาบาลีมีทางออกและออกไปได้ไกลในระดับอินเตอร์กับเขา ก็ต้องคิดกันถึงขั้นว่าต้องตั้งมหาวิทยาลัยบาลีแห่งประเทศไทยขึ้นมา ถามว่าทำได้หรือเปล่า ?

คำตอบก็คือว่า ทำไมจะทำไม่ได้

อย่างมหาวิทยาลัยชินวัตรนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้เงินแค่ 500 ล้าน ก็สร้างได้แล้ว คณะสงฆ์ไทยทั้งประเทศจะไม่มีปัญญาสร้างมหาวิทยาลัยบาลีขึ้นมาก็ให้มันรู้ไปสิ

ผู้เขียนอ่านข่าวสารโดยเฉพาะในวโรกาสสำคัญของชาติ เช่นงานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2549 นั้น น่าที่คณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคม จะทำกิจกรรมสำคัญของชาติขึ้นมา โดยการขอพระบรมราชานุญาตและพระบรมราชูปถัมภ์ สร้าง "มหาวิทยาลัยบาลีเฉลิมพระเกียรติแห่งประเทศไทย" ขึ้นมา แต่ว่าคณะสงฆ์ไทยทั้งประเทศกลับไม่มีใครมีความคิดสร้างสรรค์ เห็นก็แต่เพียงโปรแกรมเข้าวัง เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพร เท่านั้น แล้วโอกาสเงินโอกาสทองก็ผ่านไป เห็นแล้วก็หดหู่ใจ

ในปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะทรงเจริญพระชนมายุยืนถึง 84 พรรษา ก็น่าที่คณะสงฆ์ไทย โดยมหาเถรสมาคม จะได้ริเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยบาลีเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล อันจะเป็นกิจกรรมที่ยั่งยืนกว่ากิจกรรมอื่นๆ เป็นไหนๆ

ถามว่า สร้างมหาวิทยาลัยบาลีแล้วจะมีอะไรดีขึ้น

ตอบว่า มีมากมายมหาศาลทีเดียว คือว่า มหาวิทยาลัยบาลีเฉลิมพระเกียรติแห่งประเทศไทย จะกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าภาษาบาลีและพระไตรปิฎกของโลก สามารถจะระดมมันสมองของนักปราชญ์ทั้งด้านบาลีและสันสกฤตจากทั่วโลกได้อย่างเต็มรูปแบบของงานวิชาการ มิใช่กระจุกอยู่แต่พระราชาคณะเพียง 4-5 รูป ที่วัดสามพระยาเหมือนในปัจจุบัน

ทางหนึ่งนั้น เมื่อมีมหาวิทยาลัยบาลีขึ้นมาแล้ว ก็สามารถจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีให้ครอบคลุมวิชาการทุกแขนง โดยให้มีโรงเรียนบาลีสาธิตขึ้นประจำทุกจังหวัด เรียนจบประโยค 6 ใช้เวลา 6 ปี มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ามัธยมศึกษา ปีที่ 6 จากนั้นก็สามารถเดินเข้าเรียนปริญญาตรีปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยบาลีแห่งนี้ได้

สำหรับผู้ที่เรียนจบประโยคเก้าแล้ว ก็ยังจะมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกเพื่อต่อยอดอีกด้วย โดยพระเณรที่เรียนจบสายนี้ก็ไม่ต้องบินไปเรียนที่อินเดียอีกต่อไป หรือถ้าจะไปก็ไปเพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการ

แถมยังสามารถเปิดสอนวิชาการด้านอื่นๆ เช่น ภาษาสันสกฤต อังกฤษ จีน รัสเซีย วิศวกรรมศาสตร์ (คอมพิวเตอร์และอื่นๆ) เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีวิชาเลือกที่หลากหลาย รองรับกับจำนวนนักศึกษาทั้งที่เป็นพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยมผู้สนใจจะได้มีตัวเลือก

การสร้างมหาวิทยาลัยบาลีขึ้นมา นอกจากจะเป็นการกำจัดจุดอ่อนของการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยเราแล้ว ยังเป็นการต่อยอดให้ก้าวไกลไปในระดับอินเตอร์ เพราะถ้าเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ก็สามารถจะทำโครงการอะไรก็ได้ที่เป็นอิสระเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป แม้ว่ามหาวิทยาลัยที่ว่านี้จะยังคงอยู่ในความกำกับดูแลของมหาเถรสมาคมก็ตาม

อย่าลืมว่า ถ้าจะปรับปรุงบาลีโดยการเพิ่มเติมรายวิชาเข้าไปนั้น ก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อ "ผลิตนักเรียนส่งโรงงานอื่น" เท่านั้น ดังพระธรรมปัญญาภรณ์ให้สัมภาษณ์ ซึ่งยังไม่ได้มีความคิดถึงขั้นว่า เมื่อเราผลิตนักเรียนบาลีในระดับต้นมาจากทั่วประเทศได้แล้ว ทำไมเราไม่สร้างมหาวิทยาลัยรับรองนักเรียนเหล่านั้นเสียเอง ทำไมต้องอ้างว่าเพื่อให้นักเรียนบาลีของเราสามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งเป็นความคิดที่ยังไร้หลัก รอแต่จะพึ่งพาผู้อื่นแต่ถ่ายเดียว ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำได้ แต่ก็เป็นแต่เพียงสร้างตัวมิใช่ส่วนหัว เพราะเมื่อเรียนจบบาลีไม่ว่าจะประโยคไหน นับตั้งแต่ ประโยค ป.ธ.3 ถึง ป.ธ.9 ก็ไปไม่รอด ต้องไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอื่น ทำให้บาลีกลายเป็นบันไดไต่เต้าให้เขาเอาไปต่อยอด เช่นมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งประกาศรับพระภิกษุสามเณรผู้เรียนจบ ป.ธ.9 เข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก พอเรียนจบแล้วก็กลายเป็นผลผลิตของเขา พร้อมๆ กับการลืมสถานะเดิมคือ ป.ธ.9 ไปโดยปริยาย

ทำแบบนี้สิที่เรียกว่า "สร้างศักดิ์และสิทธิ์" ให้แก่วงการการศึกษาบาลี มิใช่แค่เพิ่มโน่นเสริมนี่ แล้วยกให้เขาเอาไปกิน เจ้าคุณสุชาตินั้นท่านก็เป็นถึงเณรนาคหลวง รุ่นเดียวกับเจ้าคุณประยูร อยากจะเห็นกึ๋นของพวกท่านที่เกิดมาเพราะบาลี และได้ดิบได้ดีเป็นผู้บริหารระดับสูงของคณะสงฆ์ไทยอยู่ในเวลานี้ ว่าจะทำได้ดังที่พระหนุ่มเณรน้อยมุ่งหวังหรือไม่

ดังนั้น ก็ขอกราบเรียนไปยังเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แม่กองบาลีรูปปัจจุบัน ว่า ทำเถิดครับ สร้างมหาวิทยาลัยบาลีเฉลิมพระเกียรติขึ้นมา เพื่อสถาปนาความยั่งยืนให้แก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

มันยิ่งใหญ่กว่าการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญทีเดียวล่ะครับ

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
19 เมษายน
2554
01
:00 P.M. Pacific Time.

 

 

 
 

 

ALITTLEBUDDHA.COM  WAT THAI LAS VEGAS NEVADA 89121 USA (702) 384-2264