EXCLUSIVE

พิเศษสุด

สัมภาษณ์

ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต

ณ วัดไทย ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา

 

 

ชื่อ "จำนงค์ ทองประเสริฐ" นั้น ในแวดวงนักการศึกษาพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นชื่อที่ "ขลัง" มากๆ จะว่าเป็น The man of dreams เป็น "ฮีโร่" เป็น "ตำนาน" หรือเป็นแม่แบบแห่งความสำเร็จของอดีตพระภิกษุก็คงไม่มีใครปฏิเสธ เพราะความสามารถอันหลากหลายและเอกอุของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ นั้น ได้รับการพิสูจน์ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า 50 ปี มิใช่ดาราหน้าจอที่ถูกผู้กำกับดันเพียงเรื่องสองเรื่องก็ร่วงเหมือนที่พบเห็นอยู่ทั่วไป

ความเป็นตำนานของอาจารย์จำนงค์นั้นเริ่มมาจาก "การบวชและเรียนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค" ได้ในปี พ.ศ.2496 ในนามสำนักเรียนวัดสระเกศ และในปีถัดมา (2497) ก็สามารถคว้าปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิตติดมือเป็นใบที่ 2 ซึ่งการเรียนจบปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิตนั้น จัดเป็น "รุ่นแรก" หรือรุ่นที่ 1 ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. ซึ่งรุ่นนั้นท่านว่ามีพระนิสิตเรียนจบเพียง 6 รูปเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2500 พระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนาม "พระกวีวรญาณ" ขณะมีอายุพรรษาเพียง 8 พรรษาเท่านั้น

ถึงปี พ.ศ.2502 พระกวีวรญาณ ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอเชีย ให้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มลรัฐคอนเนกติกัต สหรัฐอเมริกา ซึ่งพระกวีวรญาณใช้เวลาเพียงปีครึ่งก็สำเร็จปริญญา ก่อนจะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิและดำเนินการสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. ให้เป็นปราการอันแข็งแกร่งต่อไป

Yale เป็นมหาวิทยาลัย "ท็อปทรี" ของสหรัฐอเมริกา รองลงมาจากฮาร์วาร์ดและพรินซ์ตัน เกาะกลุ่มกันมานานนับร้อยปี ใครมีโอกาสได้เข้าศึกษาและสำเร็จจากสามมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็การันตีได้ว่า มีคุณภาพคับแก้วระดับที่โลกต้องยอมรับ ไปไหนไม่มีวันอับจน มีแต่คนเชิญขึ้นเรือน

และ "พระกวีวรญาณ" เป็นพระไทยรุ่นแรกๆ ที่เดินแหวกประเพณีโบร่ำโบราณของคณะสงฆ์ไทย ที่ไม่นิยมให้พระไทยไปเมืองนอก ยิ่งเมืองยุโรปและอเมริกาแล้ว "ห้ามไป" เพราะพระสงฆ์ไทยถือว่าเมืองเหล่านี้เป็นเมืองเดียรถีย์ วิชาการของตะวันตก แม้แต่ภาษาอังกฤษก็ถูกตราหน้าว่าเป็น "วิชามาร" จึงมีตำนานการ "ห้ามพระไทยไปเมืองนอก" อย่างที่เล่าเมื่อไหร่ ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ก็ถือว่า "ตลก" แต่สำหรับคนรุ่นเก่าแล้วเขาอาย เพราะมีดาราดังๆ ระดับสมเด็จพระสังฆราชเข้ากระบวนการจำอวดกับเขาด้วย

การไปเมืองนอกของพระไทยในยุคนั้นจึงเจออุปสรรคอย่างสาหัส แค่ด้านวิชาการก็อานแล้ว ไหนจะเจอแรงกีดกันจากพระผู้ใหญ่และคนไทยพุทธที่ไม่อยากให้พระไทยไปเมืองนอกอีก ใครดื้อไป ถ้าไปได้ดีก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าไปแล้วไม่ได้อะไรกลับมา ก็ไม่ต่างอะไรจากตายทั้งเป็น เดิมพันชีวิตพระไทยยุคบุกเบิกมันสูงถึงเพียงนี้ ดังนั้น ถ้าไม่แน่จริงก็อย่าคิดไปเมืองนอก

ในปี พ.ศ.2507 พระกวีวรญาณ ได้ตัดสินใจ "ลาสิกขา" ทั้งๆ ที่เวลานั้นท่านเป็นพระหนุ่มไฟแรงแห่งยุค มีทั้งดีกรีที่เอกอุระดับประเทศ เป็นเจ้าคุณหนุ่มที่สุด เป็นผู้สั่งการอธิการบดีมหาวิทยาลัยหนุ่มแน่นที่สุด แต่ความเป็นที่สุดทั้งหมดนี้ก็หาได้หยุดยั้งความตั้งใจของท่านได้

ในการตัดสินใจลาสิกขาครั้งนั้น อาจารย์จำนงค์เล่าให้ฟังว่า มีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือได้เขียนจดหมายมาหา แจ้งให้ทราบว่า "ถ้าอยู่ในผ้าเหลืองต่อไปก็จะให้ความเคารพนับถือ แต่ถ้าลาสิกขาวันใดก็จะไม่นับถืออีกต่อไป" พระกวีวรญาณก็อาจหาญตัดสินใจ "ตอบจดหมายรัก" ไปว่า "ถ้าเช่นนั้นก็ขอความกรุณา-เลิกนับถือกระผม-เสียแต่เดี๋ยวนี้" เพราะแสดงว่าท่านเคารพผมแต่เพียงผ้าเหลือง มิได้เคารพในตัวมหาจำนงค์แต่อย่างใด แต่ปรากฏว่าผิดคาด หลังจากลาสิกขาออกมาแล้ว ผู้ใหญ่ท่านนั้นกลับนิยมชมชอบ "ทิดจำนงค์" มากกว่า "พระกวีวรญาณ" เสียอีก ถึงกับเชิญไปร่วมงานที่บ้านทุกครั้ง

อาจารย์จำนงค์มีเชื้อนักเลง กล้าได้กล้าเสีย เคยเป็นเซียนไฮโลมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเรื่องเหลี่ยมคูนักเลงจึงไม่เป็นสองรองใคร โชคดีที่ "หลวงพี่ชั้น" ลูกผู้พี่ดึงไปบวชเสียก่อน ไม่งั้น "เหลา สวนมะลิ" อาจจะไม่มีสิทธิ์เกิด

ตอนอยู่เมืองไทยนั้น พระมหาจำนงค์สนใจในวิชาปรัชญาและตรรกวิทยา ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยการหาเหตุผล มีน้อยคนนักที่จะศึกษาสำเร็จและสอนคนอื่นได้ แต่อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ทำได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับการขนานนามเป็น "บิดาตรรกวิทยาแห่งประเทศไทย" ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ และเป็นราชบัณฑิต สาขาตรรกศาสตร์ อีกต่างหากด้วย

เพื่อนฝูงสมัยยังเป็นบรรพชิตของอาจารย์จำนงค์นั้นมียศถาบรรดาศักดิ์ระดับ "สมเด็จพระราชาคณะ" ไปหมดแล้ว ขนาดรุ่นน้องยังเป็นรองสมเด็จ ถ้าอาจารย์จำนงค์ยังคงอยู่ในผ้าเหลือง ก็คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะได้เป็น "สมเด็จพระราชาคณะ" แต่แม้ว่าจะลาสิกขาออกไป อาจารย์จำนงค์ก็เดินขึ้นสู่จุดสูงสุดของนักการศึกษา นั่นคือ ตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ แถมยังเป็นถึงราชบัณฑิต อันเป็นเกียรติยศสูงสุดอีกด้วย

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ จึงเป็นตำนานที่พระหนุ่มเณรน้อยเล่าขานอย่างไม่รู้จบ นับตั้งแต่ พ.ศ.2500 มาถึงปัจจุบันวันนี้ ก็ยังไม่มีใครทำได้เหมือนอาจารย์จำนงค์ อย่านับแต่ว่าจะล้ำหน้าเลย

 

พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ใครๆ ก็อยากเป็น จำนงค์ ทองประเสริฐ


 

เย็นวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา เสียงโทรศัพท์จากยูท่าห์ โดยพระมหาเกรียงไกร กิตฺติภทฺโท แจ้งมาว่า "พรุ่งนี้ อาจารย์จำนงค์จะเข้ามาที่วัดไทย ลาสเวกัส และขอพักหนึ่งคืน" แรกนั้นผู้เขียนก็งง เพราะไม่เคยมีเพื่อนที่ชื่อจำนงค์มาก่อน แต่พอพระมหาเกรียงไกรระบุว่า "อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ น่ะครับ" เพียงแค่นี้ก็ถึงบางอ้อ เพราะมีพระรูปไหนบ้างล่ะที่ไม่รู้จักท่านศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ น่ะ ผู้เขียนจึงตอบตามสายไปทันทีว่า "ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง ขอให้มาจริงๆ เถอะ"

และถามถึงกำหนดการต่างๆ ก็ทราบว่า ท่านอาจารย์จำนงค์นั้นเกษียนอายุแล้ว อยากจะมาเยี่ยมลูกศิษย์ลูกหาในสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญก็คืออยากไปดูป่าสงวนธรรมชาติอันมีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา คือ เยลโล่ สโตน ซึ่งท่านเดินทางมาลงที่แอลเอ จะไปเยลโลสโตนก็ต้องผ่านลาสเวกัส และยูท่าห์ ตามลำดับ วัดไทย ลาสเวกัส จึงมีโอกาสต้อนรับท่านอาจารย์จำนงค์แบบส้มหล่น

ที่ว่า "ส้มหล่น" นั้น เพราะในเมืองลาสเวกัสแห่งนี้มีวัดไทยตั้ง 5-6 วัด มีพระธรรมทูตที่เป็นนิสิต มจร. ก็หลายวัด ส่วนใหญ่ก็เรียนกับอาจารย์จำนงค์มาแล้วทั้งสิ้น ส่วนเจ้าอาวาสวัดไทย ลาสเวกัส นั้น ไม่เคยเรียนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงไม่เคยเรียนกับอาจารย์จำนงค์ บางทีวัดอื่นๆ อาจจะติดต่อขอให้อาจารย์ไปพักกับลูกศิษย์ก็เป็นได้ แถมอาณาเขตของวัดไทยลาสเวกัสก็เล็กเท่าแมวดิ้นตาย จึงไม่มีเหตุผลกลใดที่อาจารย์จำนงค์จะเลือกวัดไทย ลาสเวกัส เป็นที่พำนักค้างคืน ยกเว้นแต่เป็นความโชคดีระดับ "ส้มหล่น" ดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น เพื่อความชัวร์จึงต้องถามให้แน่ใจว่า "อาจารย์จำนงค์มาจริงๆ นะ" ทางยูท่าห์ก็ตอบ "คอนเฟิร์ม" ก็โอเค แต่เอ..ถ้ามาจริงๆ แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่ออาจารย์จำนงค์นั้นอายุก็ปาเข้าไปตั้ง 80 กว่าปี อาจจะมาอเมริกาเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็เป็นได้ แถมท่านยังจะพักที่วัดไทย ลาสเวกัส "เพียงหนึ่งคืน" ตกเช้าก็จะเดินทางไปยูท่าห์แล้ว เวลาเพียง "หนึ่งคืน" ที่ว่านั้น ถ้าหากไม่เตรียมการอะไรไว้บ้างก็อาจจะชวดโอกาสทองไป เรื่องการบันทึกภาพนั้นปัจจุบันเป็นของสามัญนิยมไปแล้ว การจะให้สำคัญยิ่งกว่านั้นก็เห็นจะต้องขอ "บันทึกเสียง" ของท่านไว้ด้วย  ดังนั้น ผู้เขียนจึงวางแผน "ขอสัมภาษณ์" ท่านอาจารย์จำนงค์ โดยออกไปหาซื้อถ่านมาเติมเครื่องอัดเสียง นอกนั้นก็เอาหนังสือของอาจารย์จำนงค์ 2-3 เล่ม ที่มีอยู่ในคอลเล็คชั่นส่วนตัวมาอ่านไปพลางๆ เพื่อเตรียมการ "สัมภาษณ์" ราชบัณฑิต ในครั้งนี้


 

ร่วมๆ 2 ทุ่ม คืนวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2553 ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ มีคุณสุบิน ศิษย์เอก เป็นสารถี ก็เดินทางมาถึงวัดไทย ลาสเวกัส ซึ่งบรรดาศิษย์สายมหาจุฬาหลายรูป/ท่าน เมื่อทราบข่าวว่าท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ จะมาที่วัดไทย ลาสเวกัส ก็ชวนกันเดินทางมารอต้อนรับโดยมิได้นัดหมายกับอาจารย์ไว้ก่อนเลย นับเป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจจริงๆ

 

จากซ้ายไปขวา 1.ผู้เขียน 2.พระอาจารย์คำผอง อาภากโร วัดศรีเจริญธรรม ลาสเวกัส 3.ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต 4.พระมหานคร โชติปาโล วัดศรีเจริญธรรม ลาสเวกัส 5.พระมหาอุทัย ธนลาโภ วัดทองธรรมชาติ ลาสเวกัส และ 6.คุณชนะ บรรเทาทุกข์ อดีตพระมหาชนะ มารชิโน เจ้าอาวาสวัดพุทธ ชิโน่ ฮิลส์ แคลิฟอร์เนีย หลายท่านบ่นว่า ท่านอาจารย์จำนงค์มาทั้งทีไม่มีใครบอกให้รู้เลย เพราะถ้านับจริงๆ แล้ว ศิษย์เก่า มจร. ในลาสเวกัสก็มีหลายสิบรูป/คน ทุกรูปทุกคนล้วนแต่ศรัทธาในอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐทั้งนั้น บรรยากาศการพบปะกันระหว่าง "ครู-ศิษย์" โดยมิได้นัดหมายในครั้งนี้ เป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง แม้จะเพียงสั้นๆ แค่ 1 ชั่วโมงก็ตาม เพราะทุกท่านอยากให้อาจารย์ได้พักผ่อน จึงขอตัวกลับก่อน

อาหารเย็นที่ทางคณะญาติโยมวัดไทย ลาสเวกัส เตรียมไว้ต้อนรับท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ก็ง่ายๆ ได้แก่ น้ำพริกปลา พร้อมด้วยผักสดผักลวก ทานกับข้าวสวย และมีต้มยำปลาอีกชามใหญ่ แถมด้วยผลไม้เป็นกล้วยและองุ่นอีกหนึ่งจาน อาจารย์จำนงค์ดูจะมีความสุขที่ได้พบหน้าพระธรรมทูตและลูกศิษย์ลูกหา จึงทานข้าวได้ไม่เท่าไหร่ สนใจจะพูดคุยมากกว่า จึงต้องตื้อให้ทานผลไม้เพิ่มอีกนิด ทานได้อีก 2-3 คำ ท่านก็บอกว่า "อิ่ม" และ "ทานมากกว่าอยู่ที่เมืองไทยด้วยซ้ำ"

จากนั้นอาจารย์จำนงค์จึงเดินทางไปชมไฟในเมืองลาสเวกัส ซึ่งว่ากันว่าสุกสว่างมากที่สุดในโลก จริงหรือไม่ประการใดผู้เขียนก็ไม่การันตี

 

แสงไฟในเมืองลาสเวกัส ถ่ายจากยอดหอคอย สตาร์โทสเฟียร์ ชั้นที่ 108

 

ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ
บนยอดหอคอย สตาร์โทสเฟียร์ ชั้นที่ 109

 

เครื่องนวดไฟฟ้า แบบว่าสบายๆ

 

นั่งพิจารณาว่าตู้อะไร ทำไมจึงมีคนติดกันงอมแงม

 

คืนนั้นกลับมาถึงก็เกือบตีหนึ่ง แต่แปลกว่าอาจารย์จำนงค์ไม่มีทีท่าว่าเหนื่อยเลย ดูท่าว่าลูกศิษย์จะเหนื่อยมากกว่า ก็เชิญอาจารย์พักผ่อนเสียก่อน เพราะพรุ่งนี้ต้องเดินทางไกล


 

 

 

เช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2553

หลังจากตื่นนอน ดื่มน้ำชากาแฟแล้ว ก็มี "ข้าวต้มกุ๊ย" สูตรวัดไทย ลาสเวกัส ต้อนรับเป็นกรณีพิเศษ เพราะว่าเจ้าอาวาสลงมือคุมเตาเอง ขั้นตอนก็ง่ายๆ เพียง 1.ต้มน้ำให้ร้อนก่อน 2.นำข้าวสารล้างน้ำเย็นแล้วรินน้ำออกให้หมดพักไว้ 3.พอน้ำเดือดพล่านจึงค่อยใส่ข้าวสารที่แห้งนั้นลงไป การใส่ข้าวในจังหวะเช่นนี้มีผลให้ข้าวไม่ติดก้นหม้อ ไม่ต้องคนจนเมื่อยมือ พอเทข้าวลงไป น้ำที่เดือดพล่านก็จะตีข้าวให้ลอยอยู่ในน้ำร้อน ใช้ไม้คนพอข้าวใกล้แตกก็ลดไฟลงให้น้ำเดือดปุดๆ แต่ก็ต้องคนช่วยอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งข้าวแตกพอประมาณจึงปิดไฟ นำไปตั้งไว้ให้เย็นพอประมาณ เพราะถ้าข้าวเย็นลงแล้ว น้ำข้าวก็จะข้นเป็นตังเม นั่นแหละถือว่าเป็นสุดยอดของข้าวต้มเชียว ใครต้มข้าวไม่แตกคนจีนเขาถือว่าต้มข้าวไม่เป็น แต่แตกมากก็ไม่ได้ เพราะข้าวจะเละเป็นโจ๊กซึ่งเกินสูตรไป

ส่วนเรื่องกับ ก็ง่ายๆ เรามีกุนเชียงอยู่ห่อใหญ่ ไข่นั้นเป็นอาหารสามัญประจำตู้เย็น ต้องมีติดตู้อยู่ตลอด ก็เจียวไข่โดยหยดน้ำปลาลงไป 3-4 หยดพอให้มีรสชาติ ก็เป็นไข่เจียวแล้ว กุนเชียงนั้นก็แกะห่อ นำไปล้างน้ำเย็นแล้วซับด้วยกระดาษให้แห้ง หั่นบางๆ ลงทอดขณะน้ำมันกำลังร้อนแต่ไม่ร้อนจัด เพราะถ้าร้อนจัดกุนเชียงจะไหม้ทำให้ไม่สวย พอน้ำมันร้อนนิดๆ ก็เทกุนเชียงลงไป ทอดไม่กี่นาที พอกุนเชียงบิดตัวนิดๆ ก็ตักขึ้น สีกำลังแดงสวยงามน่ากินเชียว

ไข่เค็ม เป็นเมนูคู่กับข้าวต้มเช่นกัน วัดเราก็มีไว้ประจำตู้เย็น ไข่เค็มนั้นเขาต้มสำเร็จรูปแล้วจึงผ่าทานได้เลย แต่ของเราเห็นว่าง่ายเกินไป จึงผ่าครึ่งแล้วนำไปปิ้งในเตาปิ้งขนมปังอีกประมาณ 5-6 นาที ส่งผลให้ไข่เค็มกำลังหอมกรุ่น กินกับข้าวต้มกำลังดีทีเดียว

หมูหยอง สูตรเยาวราช มีโยมนำมาฝาก หมูหยองนั้นแห้งสนิทเก็บไว้กินได้นาน ยิ่งอยู่ในตู้เย็นแล้วกินได้เป็นปี วันนี้เปิดห่อใหม่ต้อนรับอาจารย์จำนงค์เป็นกรณีพิเศษ แถมด้วยผักกาดดองอีกกระป๋องหนึ่งเผื่อชอบ

ทั้งข้าวต้มและกับทั้งหมดนี้ใช้เวลาเตรียมการและลงมือทำทั้งสิ้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว เพราะเราต้มข้าวก่อนเพื่อน ขณะต้มข้าวอยู่นั้นก็เตรียมเครื่องกับข้าวไปด้วย พอยกหม้อข้าวต้มออกจากเตาก็เอากระทะวางลงไปแทน เปิดแก๊สเพียงไม่กี่วินาทีพอกระทะร้อนก็ทอดไข่ตามด้วยกุนเชียง ส่วนเรื่องไข่เค็มนั้นก็ผ่าครึ่งแล้วนำเข้าเตาอบขนมปัง ตั้งเวลาอัตโนมัติไว้ซัก  7 นาที ก็ได้ไข่เค็มปิ้งหอมฉุยแล้ว เห็นอาจารย์สุบินบอกว่า ท่านอาจารย์จำนงค์ทานข้าวต้มหมดถ้วยเลย ท่านบอกว่าทานเยอะมากทีเดียว ได้ฟังดังนั้นพระวัดไทย ลาสเวกัส ก็ดีใจ อาจารย์จะได้มีแรงเดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์ทั่วสหรัฐอเมริกาต่อไป

พูดถึงเรื่องกิน อาจารย์จำนงค์ได้เล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีการประชุมวุฒิสภา ปรากฏว่ามีการอภิปรายล่วงเวลาอาหาร สมาชิกหลายท่านคงจะหิวจัด จึงเข้ามาหาอาจารย์จำนงค์เพื่อขอให้ช่วยตัดเวลาการประชุมให้สั้นเพื่อจะได้ไปทานข้าว แต่อาจารย์จำนงค์ได้ตอบไปว่า "เรื่องกินมิใช่เรื่องใหญ่" บรรดาสมาชิกวุฒิสภาก็งง จึงถามอาจารย์ว่า "แล้วเรื่องอะไรที่อาจารย์เห็นว่าใหญ่" อาจารย์จำนงค์ก็ตอบว่า "เรื่องไม่ได้กินสิครับ เรื่องใหญ่" ปรากฏว่าที่ประชุมชอบอกชอบใจและยอมเลิกไปกินข้าว

 

อายุ 82 ความจำยังแจ่มแจ๋ว เล่าเรื่องราวได้คล่องแคล่วเหมือนพลิกหนังสือขึ้นมาพูด สายตาคมกริบ ไหวพริบยังฉับไว แถมด้วยลูกเล่นลูกฮาสารพัด สมฉายา "มหาจำนงค์"

 

และแล้วเวลาสำคัญก็มาถึง ผู้เขียนขอโอกาสถามประสบการณ์และสิ่งอื่นใดสุดแต่ท่านศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ จะเห็นสมควร เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ณ วัดไทย ลาสเวกัส ซึ่งท่านศาสตราจารย์จำนงค์ได้เมตตาให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง หลายเรื่องที่มิได้ถามท่านก็เล่าให้ฟัง นับว่าเป็นความโชคดียิ่ง

เกริ่นนำเรื่องความรู้ อาจารย์จำนงค์ประกาศอาสภิวาจาว่า "ไม่มีคำถามใดที่ผมตอบไม่ได้"

จึงมีคำถามตามมาว่า "แสดงว่าอาจารย์รู้สิ้นทุกอย่าง"

"เปล๊า !" อาจารย์จำนงค์ปฏิเสธทันที พลางกล่าวว่า "คือที่ผมว่าผมตอบได้ทุกคำถามนั้นก็เพราะมีหลักการว่า สิ่งใดรู้ เราก็จะบอกว่าเรารู้ สิ่งใดไม่รู้ เราก็จะบอกว่าเราไม่รู้"

"การตอบว่าไม่รู้ก็เป็นคำตอบเช่นกัน แต่ตอบว่าไม่รู้" ผู้เขียนช่วยสรุป

อาจารย์จำนงค์ก็พยักหน้ากล่าวว่า "ครับ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผมมิใช่สัพพัญญู สิ่งใดเรารู้ก็ตอบไปตามที่รู้ สิ่งที่ไม่รู้จะไปบอกว่ารู้ก็ผิดวิสัย" จากนั้นอาจารย์ก็ยกเอาพระคาถาภาษาบาลีมาอ้างอิงดังนี้

 

โย พาโล มญฺญตี พาลยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
พาโล จ ปณฺฑิตมานี เว พาโลติ วุจฺจติ

 

แปลว่า คนโง่ที่รู้ตัวว่าตัวเองโง่ ยังพอถือว่าเป็นบัณฑิตได้ แต่คนโง่ที่สำคัญตัวว่าฉลาด นั่นแหละเรียกว่าคนโง่แท้

เช่นกรณีเดินทางมาสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เมื่อถามว่าอาจารย์มีโปรแกรมไปไหนบ้าง อาจารย์ก็โบ้ยไปยังโชเฟอร์ว่า "สุดแท้แต่เจ้านายเขาจะพาไปล่ะครับ" ทั้งๆ ที่เจ้านายที่ว่านั้นก็เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เอง แต่อาจารย์ก็มิได้ถือว่าตัวเองเป็นอาจารย์ในการเดินทาง ทั้งนี้เพราะมีอุปนิสัย "อ่อนน้อมถ่อมตัว" อยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลายนั่นเอง

กับคำถาม "อาจารย์อายุมากแล้ว เดินทางไกลไม่กลัวหลงหรือ" อาจารย์จำนงค์ก็ตอบว่า "คงไม่หรอกครับ เพราะผมถือว่าหนทางอยู่ที่ปาก ไปไหนไม่รู้ก็อาศัยปากถามเขาเรื่อยไป ผมใช้วิธีนี้ เคยเดินทางไปรอบโลก แต่ก็ไม่หลงนะ"

เห็นไหมว่าความเป็นจำนงค์ ทองประเสริฐ นั้น น่าสนใจเพียงใด

 


 

"ผมเป็นนิสิตมหาจุฬาฯ คนแรก ที่เข้ารับปริญญาบัตร" เป็นคำกล่าวเกี่ยวกับประวัติการศึกษาของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ซึ่งจบปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก ในปี พ.ศ.2497 นอกจากจะเป็นรุ่นแรกแล้ว อาจารย์จำนงค์ยังเป็น "รูปแรก" ที่รับปริญญาในบรรดาพระนิสิตมหาจุฬาอีกด้วย

ถามถึงบรรดาครูบาอาจารย์ที่สอน มจร. ในยุคนั้น ว่ามีใครบ้าง ?

ศาสตราจารย์จำนงค์ก็เล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นมีการเชิญครูบาอาจารย์ระดับ "ตำนาน" ของเมืองไทยมาถวายความรู้แก่พระนิสิต มจร. แบบที่เรียกว่าปัจจุบันหาไม่ได้ เท่าที่จำได้ก็ได้แก่

อาจารย์เสฐียร พันธรังษี ปรมาจารย์ด้านศาสนาเปรียบเทียบ

ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร ผู้ชำนาญด้านภาษาสันสกฤตของประเทศไทยในยุคแรก ผู้แปลตำราชินกาลมาลีปกรณ์ออกได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย สุดยอดนักปราชญ์ชาวไทยผู้ชำนาญด้านภารตะ

อาจารย์สิริ เพ็ชรชัย ป.ธ.9 ปรมาจารย์ผู้คร่ำหวอดด้านภาษาบาลีที่หาตัวจับได้ยาก

..ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล อักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.ล.จิรายุ นพวงศ์ องคมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลี-สันสกฤต อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระพิเทศพจนวิสุทธิ์ (เสริม บุนนาค) ปรมาจารย์ด้านภาษาอังกฤษ

อาจารย์จรูญ วงศ์สายัณห์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปรมาจารย์ด้านภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์

อาจารย์ประยูร ศรียรรยงค์ ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์

พันตรีสุจิต สิทธิ์สมัธ

ร.อ.พงษ์นาค สวัสดิภูโต

อาจารย์จำรัส สุขุมวัฒน์

อาจารย์ทองอินทร์ สุขขจร

เป็นต้น

อีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์ประถม จอห์นสัน เดิมเป็นชาวตะวันตกมีชื่อว่า Tom Johnson แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไทยดังกล่าว

ครูบาอาจารย์แต่ละท่านนั้นเป็นผู้รู้ระดับนักปราชญ์ของชาติไทยในสมัยนั้น ได้รับเกียรติเชื้อเชิญให้มาถวายความรู้แก่พระนิสิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งมีคณะพุทธศาสตร์เพียงคณะเดียว ปีที่อาจารย์จำนงค์ทองประเสริฐสำเร็จการศึกษานั้นมีเพื่อนร่วมรุ่นจบด้วยกันเพียง 6 รูป ปีถัดมาก็เข้ารับปริญญาเพียง 4 รูปเท่านั้น ซึ่งทุกรูปทุกองค์นั้น เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ถือว่าเป็นเพชรที่เจียระไนระดับ "น้ำเอก" จึงได้รับตำแหน่งผู้บริหารมหาจุฬารวมทั้งเป็นครูบาอาจารย์ช่วยสร้างมหาจุฬาฯ ให้แตกกิ่งก้านสาขามาจนกระทั่งปัจจุบัน

คำถาม "อยากให้อาจารย์เปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างครูบาอาจารย์ มจร. ในยุคนั้นกับยุคนี้"

อาจารย์จำนงค์ตอบว่า "ผมไม่อยากเปรียบเทียบ เพราะเทียบกันไม่ได้ อาจารย์สมัยก่อนนั้นท่านมีทั้งความรู้และประสบการณ์ ปัจจุบันนี้ความรู้ใช่ว่าไม่มี รวมทั้งความตั้งใจที่ดี แต่ประสบการณ์อาจจะด้อยไปนิด"

พูดเรื่องการเป็นครูสอนในมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็กล่าวว่า "จริงๆ แล้ว ผมอยากเป็นครูมากกว่าเป็นอาจารย์ เพราะอาจารย์นั้นเป็นกันง่าย พระใบ้หวย หมอดู คนทรงเจ้าเข้าผี พวกนี้ถูกเรียกว่าเป็นอาจารย์หมด และอีกอย่าง แต่โบราณมาก็มีแต่คนเขาไหว้ครู ไม่มีใครไหว้อาจารย์ ความเป็นครูจึงเหนือกว่าอาจารย์"

พูดถึงลูกศิษย์ คำถามนี้มีเว้นวรรคไว้ด้วยว่า "นอกจากพระพรหมคุณาภรณ์ หรือหลวงพ่อประยุทธ์ ปยุตฺโต แล้ว อาจารย์เห็นว่ารูปไหนหรือคนใดบ้างที่เก่งระดับไว้เนื้อเชื่อใจได้" ท่านก็ตอบว่า "ก็มีครับ ที่เห็นๆ ก็คือ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D.) เป็นคนที่เก่งมาก และเก่งกว่าผมเสียอีก" ดูสิ ขนาดสังคมไทยยอมรับอาจารย์จำนงค์ว่าเป็นสุดยอดแล้ว แต่ท่านก็ยังยกย่องลูกศิษย์ให้เหนือกว่าตัวเอง เหมือนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในสมัยพุทธกาล


 

ห้วงชีวิตในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ชีวิตการเป็นผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) รุ่นบุกเบิก ต้องผจญอุปสรรคสารพัด นับตั้งแต่เรื่องงบประมาณไปจนถึงปัญหานานัปการจากการทำงานบ้าง จากผู้ใหญ่ด้วยกันบ้าง หนึ่งในคำถามที่ตั้งใจให้ศาสตราจารย์จำนงค์ตอบก็คือ "ในช่วงที่อาจารย์เข้าไปบริหารงานใน มจร. (ประมาณ พ.ศ.2504-05) นั้น เวลานั้นหลวงพ่ออาจ (พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นายกสภามหาวิทยาลัย มจร.) กำลังถูกฟ้องร้องสารพัดเรื่อง ถามว่าอาจารย์ได้รับผลกระทบบ้างไหม"

อาจารย์จำนงค์ตอบว่า "ไม่มีครับ เพราะผมไม่เคยทะเลาะกับใคร เรื่องผู้ใหญ่ทะเลาะกันก็เรื่องของผู้ใหญ่ ส่วนผมเป็นผู้น้อย มิได้ยุ่งเกี่ยวอันใด"

"แล้วทำไมพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) จึงผิดใจกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา" เป็นคำถามเด็ดที่เราบรรจงป้อนให้อาจารย์จำนงค์ตอบ ซึ่งอาจารย์จำนงค์ได้อธิบายว่า "เรื่องมันก็เกี่ยวพันกับมหาจุฬาฯ เพราะว่าก่อนหน้านั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาจุฬาฯ แต่พอตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ว่างลง หลวงพ่ออาจ (พระพิมลธรรม) ซึ่งครองวัดสุวรรณดาราราม อยุธยา เดินทางเข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ซึ่งต้องดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วย ตำแหน่งนี้ใหญ่กว่าอธิการบดี จึงทำให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์รับไม่ได้ สุดท้ายก็ลาออกพร้อมๆ กับผู้ผิดหวังอีกหลายท่าน ทำนองเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้"

"อย่างท่านเจ้าคุณไสว วัดไตรมิตร นั่น ท่านพูด ลื้อ-อั๊ว กับผมนะ แต่ผมไม่ได้พูดลื้อ-อั๊วกับท่านแต่อย่างใด" อาจารย์จำนงค์หยอดท้าย เรียกเสียงหัวเราะไปรอบวง ลูกศิษย์ของอาจารย์จึงเสริมว่า "อาจารย์ยังดีนะที่พระวิสุทธาธิบดี (ไสว) ท่านใช้สรรพนามว่าลื้อ-อั๊ว แต่กับพวกผมนั้นท่านขึ้นมึงขึ้นกูเลย"

นั่นคือปฐมเหตุแห่งเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยสมัยกึ่งพุทธกาล เป็นตำนานอมตะ เพราะว่าพระพิมลธรรมถูกรัฐบาลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ จับกุมคุมขังในข้อหาสารพัด ต้องติดคุกอยู่ที่สันติบาลเป็นเวลานานถึง 5 ปี ก่อนศาลทหารจะพิพากษาว่า "ไม่ผิดอะไรเลย แต่เอาผิดใครไม่ได้ เพราะมีขบวนการทำลายท่านตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา จึงขอให้ถือเสียว่าเป็นกรรมเก่า"

อาจารย์จำนงค์ซึ่งเป็น "คนวงใน" จึงรู้เรื่องดีที่สุดคนหนึ่ง แต่ท่านไม่เคยพูดเรื่องคนอื่น ถึงพูดก็พยายามอิงหลักการ ไม่ใช้อารมณ์หรืออัตโนมัติใดๆ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ถึงกับการันตีว่า ในบรรดานักปราชญ์ของเมืองไทย เคยถามเรื่องบุคคลที่สามแล้ว ไม่ได้คำตอบจากมหาปราชญ์ 2 ท่าน คือ 1.อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และ 2.อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ แต่ถ้าถามเรื่องวิชาการแล้ว ทั้งสองท่านสามารถตอบได้หมดสิ้น ก็เป็นบุคลิกที่น่าเลื่อมใส


 

ตัดฉากจากมหาจุฬามาถึงมหาวิทยาลัยเยล

เดินเข้ามหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นแหล่งรวมบรรดานักเรียนเกรดเอจากทั่วโลก พระกวีวรญาณ (จำนงค์) ก็ถูกบรรดาเพื่อนๆ สัมภาษณ์ว่า "คุณเป็นคนเก่งที่สุดของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช่ไหม" อาจารย์จำนงค์ก็ตอบว่า "ไม่ใช่ครับ คนที่เก่งกว่าผมก็มี แต่พี่ๆ น้องๆ เขาให้โอกาสผมมาเรียน" ทั้งนี้อาจารย์ให้เหตุผลว่า ถ้าจะว่าตัวเองเก่งก็คงอ้างได้ แต่ดูไม่เหมาะสม เพราะถ้าหากว่าเราซึ่งคุยว่าเก่งที่สุดแล้วเกิดสอบตกขึ้นมาก็จะขายหน้าแย่ เพราะขนาดว่าเก่งที่สุดยังตก แล้วทั้งมหาวิทยาลัยจะไปไหวได้ยังไง แต่ถ้าบอกว่า เราไม่ได้เก่ง คนเก่งกว่าเราก็ยังมีอีกมาก ถ้าหากว่าเราสอบตกก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ถ้าบอกว่าเก่งที่สุดจะอันตรายต่อสถาบัน

กลยุทธ์เรียนให้จบภายในปีครึ่งของอาจารย์มีอยู่ว่า แม้ว่าเราจะเรียนได้ แต่สู้นักศึกษาต่างประเทศไม่ได้ ตรงที่เขาอ่านหนังสือเก่งกว่าเรา ทีนี้ก็ต้องหาวิธีไล่ให้ทัน อาจารย์จึงสืบดูว่าพวกนี้ใช้เวลาแต่ละวันทำอะไรบ้าง ก็พบว่า Weekday คือตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์นั้น ต่างคนต่างเรียนเหมือนกัน แต่เมื่อไปสำรวจดู Weekend คือวันเสาร์-อาทิตย์ แล้ว พวกนั้นจะหนีเที่ยวหมด "เราก็เลยเอาสองวันนี้มาอ่านหนังสือชดเชย ซึ่งก็เหลือเฟือ" อาจารย์สรุปยุทธวิธีแข่งกับนักศึกษาต่างประเทศ

จากประสบการณ์การศึกษาและเดินทางไปดูงานในต่างประเทศมากมายในสมัยนั้น อาจารย์จำนงค์ได้นำมาเขียนเป็นบันทึกประสบการณ์ส่วนตัว และตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในชื่อว่า "ประสบการณ์รอบโลก" ซึ่งเป็นหนังสือที่อาจารย์จำนงค์ภาคภูมิใจมาก เพราะว่าเป็นประสบการณ์ล้วนๆ


 

พูดเรื่องเมืองอเมริกา

ผู้เขียนเกริ่นนำว่า ตามข้อมูลที่ทราบนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2504 ขณะที่คณะพระสงฆ์ไทยซึ่งริเริ่มก่อตั้งวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ตามบันทึกคือ พระวชิรธรรมโสภณ หรือครูบาศรีนวล วัดทุ่งสาธิต พร้อมกับพระจากวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์ท่าเตียน) อีก 2 รูป คือ พระเทพโสภณ (กมล โกวิโท หรือหลวงเตี่ย วัดไทย แอลเอ) และพระมหาสิงห์ทน คำซาว Ph.D. เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2512 (หลังจากอาจารย์จำนงค์เดินทางมาเรียนที่อเมริกา 10 ปี) และอีก 3 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2515 วัดไทย แอลเอ จึงก่อตั้งขึ้นเป็นวัดแรกในสหรัฐอเมริกา แล้วผู้เขียนก็สรุปเป็นคำถามว่า "เมื่อข้อมูลยืนยันว่า พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร) มาเรียนที่เยลในปี 02 อาจารย์จำนงค์ก็เป็นพระไทยองค์แรกที่มาสหรัฐอเมริกา"

อาจารย์จำนงค์ตอบว่า "ผมไม่ใช่พระไทยองค์แรกที่มาอเมริกา แต่ผมเป็นพระไทยองค์แรกที่มาเรียนจบจากอเมริกา"

"แสดงว่ามีพระมาอเมริกาก่อนหน้าอาจารย์เสียอีก" ผู้เขียนถามตาม

อาจารย์จำนงค์ก็ตอบว่า "ครับ ก่อนหน้าผมจะมาอเมริกานั้น พระมหาประสิทธิ์ กิตฺติสทฺโท วัดเบญจมบพิตร เป็นเลขาสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) เดินทางมาก่อนหน้าผม 2 ปี"

"พระมหาประสิทธิ์เป็นเปรียญอะไร"

"รู้สึกจะเป็นเปรียญ 6"

"เมื่อพระมหาประสิทธิ์เดินทางมาอเมริกาก่อนหน้าอาจารย์ ก็แสดงว่ามิใช่ศิษย์มหาจุฬาละสิ เพราะว่าอาจารย์เป็น มจร.รุ่นแรก"

"ครับ พระมหาประสิทธิ์วัดเบญจฯเขาส่งมา แต่ท่านก็ได้รับทุนจากมูลนิธิเอเซียเหมือนกัน แต่ท่านเรียนปริญญาตรี ที่อเมริกันยูนิเวอร์ซิตี้ กรุงวอชิงตัน ดีซี แรกมานั้นผมก็ไปนอนกับท่านมหาประสิทธิ์ที่ดีซีก่อน ก่อนจะย้ายไปอยู่หอพักในมหาวิทยาลัย"

คำถามสำคัญ "ในตอนนั้น มีความคิดจะสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้นมาไหม เคยพูดกันหรือไม่"

อาจารย์จำนงค์ตอบว่า "ยังครับ ยังไม่มีความคิด เพราะมุ่งแต่จะเรียนให้จบเท่านั้น"

 


 

กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

อาจารย์จำนงค์บอกว่า "สมเด็จเกี่ยวกับผมนั้นเคารพนับถือกันมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ท่านถึงกับกล่าวว่า ผมเป็นกัลยาณมิตรของท่าน"

อาจารย์จำนงค์เล่าอีกว่า สมัยยังเป็นพระภิกษุอยู่วัดสระเกศนั้น สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร ป.ธ.9) ทรงไว้วางใจในพระมหาเกี่ยวกับพระมหาจำนงค์มาก ทรงแบ่งวัดให้ดูแลคนละครึ่ง คือจากคณะ 1 ถึงคณะ 12 แบ่งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) รับผิดชอบ ส่วนคณะ 13-18 มอบให้พระกวีวรญาณ (จำนงค์) รับผิดชอบ

"แต่เราก็ไม่ได้แข่งขันกัน" อาจารย์จำนงค์ย้ำ และว่า "เราทำงานร่วมกัน มีอะไรก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาโดยตลอด จนกระทั่งผมลาสิกขาไป"


 

ความสามารถด้านอื่น

อาจารย์จำนงค์ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ชำนาญด้านภาษาไทยอย่างหาตัวจับได้ยาก มีผลงานด้านภาษาไทยมากมาย รวมทั้งงานหลักในตำแหน่งราชบัณฑิต คือการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งอาจารย์ผ่านงานมาทุกระดับ นับจากเจ้าหน้าที่ระดับล่างจนถึงตำแหน่ง "เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน" จึงกล่าวได้ว่า พจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่เราท่านได้ใช้เป็นคู่มือศึกษาภาษาไทยในทุกระดับนั้น มีอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ดูแลแก้ไขมาตั้งแต่ พ.ศ.2507

แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักก็คือ อาจารย์จำนงค์เป็นนักฟังเพลงระดับเซียน จนกระทั่งได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสินในงานประกวดเพลงไทยด้วย โดยอาจารย์เล่าว่า

"ผมสะสมเพลงไว้เยอะ ทั้งเพลงสากลและเพลงไทย เพลงสากลคลาสิก เช่น บีโธเฟ่น ไชค๊อกกี้ ส่วนเพลงไทยก็มีแทบทุกคน ที่บ้านผมแบ่งออกเป็นห้องๆ ห้องหนึ่งมีเครื่องเล่นเทปคาสเส็ต ห้องหนึ่งมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง อีกห้องเป็นห้องเก็บพวกสารคดีเที่ยวต่างประเทศ เครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นซื้อมานานหลายสิบปี ทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้ดีอยู่ เพราะเล่นมือเดียว แล้วจู่ๆ ก็มีหนังสือเชิญผมให้ไปเป็นกรรมการตัดสินนักร้อง ผมก็ยังโทรไปถามว่า ส่งจดหมายมาผิดคนหรือเปล่า ทาง พล.ต.อ.พจน์ บุณยจินดา (อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) ก็ตอบกลับมาว่า ไม่ผิดหรอกครับ ผมตั้งใจเชิญอาจารย์ จากนั้นก็เลยคุ้นเคยกันมาก แต่ผมมิใช่นักร้องนะ ผมชอบฟังมากกว่า"

พูดถึงวงการเพลงไทยแล้ว ถามถึงตัวบุคคล อาจารย์จำนงค์ก็ระบุนามปรมาจารย์ในวงการเพลงไทย เช่น ท่านอาจารย์ประเสริฐ ณ นคร  ครูเอื้อ สุนทรสนาน  ครูมงคล อำมาตยกุล  ครูแก้ว อัจฉริยกุล เป็นต้น อาจารย์จำนงค์เหมือนเข้าสู่วงการเพลงไทยเพราะได้สมาคมกับบรรดาปรมาจารย์เหล่านี้ รวมทั้งเป็นกรรมการตัดสินบนเวทีประกวดร้องเพลงไทยสากลอีกด้วย

"อย่างคุณดาวใจ ไพจิตร นี่สนิทกันมาก ผมยังเคยคุยกับครูเอื้อว่า น่าจะแต่งเพลงมีธรรมะบ้าง เพราะว่าเพลงที่ครูแต่งเนี่ยคนติดใจ ครูเอื้อก็บอกว่า อาจารย์ก็แต่งเนื้อมาให้ผมสิ ผมจะใส่ทำนองให้ แต่งเป็นกลอนหกกลอนแปดได้ทั้งนั้น แต่ผมก็ไม่มีเวลา.."

"เอ..เป็นไปได้ยังไง อดีตมหาเปรียญอย่างอาจารย์นี่น่าจะไปเป็นกรรมการตรวจภาษาบาลี หรือฉันทลักษณ์ภาษาไทยมากกว่า" ผู้เขียนถาม

อาจารย์ก็กล่าวว่า "นั่นนะสิ เป็นเรื่องอีกด้านหนึ่งของ ป.ธ.9 ซึ่งไม่ค่อยมีใครเชื่อนะ" พลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี


 

คำถามสำคัญ

 

"82 ปีที่ผ่านมา อยากจะถามว่า มีอะไรที่อาจารย์คิดว่าอยากทำ แต่ไม่ได้ทำ"

อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ หยุดคิดนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า "อืม..รู้สึกว่าไม่มีนะ"

คุยกันเพลินจนเกิน 8 โมงเช้าไปไกล แบบว่าอาจารย์จำนงค์หลงไม่ดูเวลาแล้ว ต้องให้ลูกศิษย์มาเตือนเรื่องเวลาเดินทาง ผู้เขียนจึงตัดสินใจถามคำถามสุดท้ายว่า

 

ทำไมถึงสึก ?

 

อาจารย์จำนงค์หัวเราะร่า บอกว่า "โอ๋เนี่ย มีคนถามเยอะ เพราะผมไม่เคยบอกใครว่าผมจะสึก และผมก็ไม่เคยบอกใครว่าผมจะไม่สึก ผมถือว่าผมเป็นผลผลิตของมหาจุฬาฯ เหมือนสินค้าของโรงงาน จะรู้ได้ว่ามีคุณภาพดีหรือไม่เพียงใด ก็ต้องทดลองใช้ ผมจึงตัดสินใจสึก..." จากนั้นอาจารย์ก็ออกลีลาแชมป์โลก เอาหลังพิงเชือก ออกหมัดรบกวนคู่ต่อสู้ พลางถอยวนไปรอบๆ เวที จนกระทั่งระฆังหมดยกสุดท้ายดังขึ้น และได้รับการชูมือเป็นผู้ชนะไปในที่สุด นั่นแปลว่า คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่ก็นั่นแหละ เก็บงำความลับมาเป็นเวลานานถึง 50 ปี จะมาต้อนกันให้จนมุมง่ายๆ ที่เวทีวัดไทย ลาสเวกัส อย่างนั้นหรือ ฉายา "จำนงค์ ทองประเสริฐ" นั้นโปรดทราบว่าไม่ธรรมดา เข้าตำรา "เสือนั้นถึงจะแก่ แต่ก็ไม่ทิ้งลายเสือ"

เมื่อนำมาเทียบกับหลักการของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ที่ว่า  "สิ่งใดรู้ เราก็จะบอกว่าเรารู้ สิ่งใดไม่รู้ เราก็จะบอกว่าเราไม่รู้" เมื่อถึงคำถามสุดท้ายแล้ว ก็ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกข้อหนึ่ง คือว่าแต่เดิมนั้น อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ จะพูดเฉพาะสิ่งที่ตนเองรู้ สิ่งใดไม่รู้ก็จะออกตัวว่าไม่รู้ แต่ตรงนี้อาจารย์ได้ทิ้งหลักการข้อที่ 3 ไว้ก็คือ แม้ว่าท่านอาจารย์จะรู้ แต่เมื่อเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรพูด หรือไม่ถึงเวลาพูดก็ตาม อาจารย์ก็ยังสงวนสิทธิ์ที่จะ "ไม่ตอบ"

คำถามว่า ทำไมพระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร ป.ธ.9) สุดยอดพระไทยในยุคกึ่งพุทธกาลถึงลาสิกขา จึงยังเป็นปริศนาอีกต่อไป และอาจจะตลอดไป

และนี่คือ Top Secret ของท่านศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ซึ่งได้ทิ้งท้ายไว้ ณ วัดไทย ลาสเวกัส ในเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2553

 


 

ลงบันทึกในสมุดเยี่ยมกิตติมศักดิ์
หลายปีแล้วที่วัดไทย ลาสเวกัส ไม่เปิดสมุดบันทึก
เพราะถ้าไม่วีไอพีจริงๆ เราก็จะไม่ยอมให้ใครบันทึก
แต่สำหรับศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐแล้ว พลาดไม่ได้เด็ดขาด
ยังไงก็ต้องขอลายเซ็น

 

ลายมือราชบัณฑิต ฉบับประวัติศาสตร์ ณ วัดไทย ลาสเวกัส

 

อวยชัยให้พรพระลูกพระหลาน ขอให้ทำงานสำเร็จ

 

มอบบันทึกประวัติศาสตร์ให้เจ้าอาวาสวัดไทย ลาสเวกัส

 

เซอร์ไพรซ์ !

สงสัยจะถามถูกใจ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ จึงตัดสินใจ "มอบปากกา" ซึ่งนำติดตัวมาจากเมืองไทย ให้แก่พระมหานรินทร์ นรินฺโท ไว้เป็นที่ระลึก ถือว่าเป็นของขวัญล้ำค่า จะเก็บไว้เป็นสมบัติของวัดไทย ลาสเวกัส ตลอดไป

 

อายๆ

ไม่มีอะไรตอบแทนการมาเยือนของท่านศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ มีเพียงหนังสือเล่มเล็กๆ ติดวัดอยู่ 2 เล่ม ขอมอบให้แก่อาจารย์เป็นที่ระลึก เอาไปให้เด็กๆ ไว้อ่านเล่น เพราะรู้ว่าระดับศาสตราจารย์และราชบัณฑิตแล้ว หนังสือเหล่านี้เป็นแต่เพียงของเล่นเท่านั้น

 

หมายเหตุ : การสัมภาษณ์ครั้งนี้ มีขึ้นด้วยเหตุปัจจัยสำคัญหลายอย่าง อย่างแรกคือการเดินทางมาเยี่ยมของท่านศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ แบบไม่คาดหมาย อย่างที่สองก็คือ อาศัยที่พระมหานรินทร์ นรินฺโท มิใช่นิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มิใช่ศิษย์ของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ โดยตรง เพราะตามกิตติศัพท์แล้ว ศิษย์ของอาจารย์จำนงค์มักจะไม่กล้าถาม ผู้เขียนจึงอาศัยคุณสมบัติข้อที่ว่า "มิใช่ศิษย์โดยตรงของอาจารย์จำนงค์" จึงถามแบบไม่เกรงใจอาจารย์ ทำให้ได้บทสนทนาครั้งประวัติศาสตร์ฉบับนี้มาเสนอแก่ท่านผู้อ่าน ผู้เป็นแฟนอะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ในวันนี้

 

ขอขอบพระคุณท่านศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต
มา ณ โอกาสนี้

 

 

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท สัมภาษณ์
พระมหาสิชฌากร ปสิทฺธิกโร บันทึกภาพ
ปิดการสัมภาษณ์ เวลา 09.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2553

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
16 ตุลาคม
2553
04:00 P.M. Pacific Time.

 

 

 
 

 
E-Mail

peesang2555@hotmail.com

 

ALITTLEBUDDHA.COM  WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE  LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. Phone 702-384-2264