ผ้าจีวรของพระมาจากไหน ?
 


     เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างมาก ถูกจุดประกายขึ้นโดยหนังสือ "ศิลปวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นผู้นำในการเสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ทั้งในส่วนของศาสนาและสังคมมายาวนาน ถ้าใครไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็คงไม่ทันสมัยเก่ากับเขา เอาเป็นว่าเรามาวิสัชนาปัญหาหญ้าปากคอกเรื่องจีวรของพระที่เห็น ๆ กันเต็มบ้านเต็มเมืองกันเต็มร้อยเสียทีเป็นไรไป ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว

     ก่อนอื่นขอเชิญท่านผู้อ่าน ได้อ่านข้อมูลจากหนังสือ
ศิลปะวัฒนธรรมกันตรงนี้ (อ่านคอลัมน์นี้ด้านล่างสุด)  แล้วจากนั้นเรามาว่ากันในรายวิจารณ์ต่อไปตรงนี้

     ถ้าถามไอ้จุกเด็กวัดคนหนึ่งก็คงตอบว่า
"มาจากร้านค้าแถวเสาชิงช้าข้างวัดสุทัศน์" แต่ถ้าถามกองบรรณาธิการหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมแล้ว ก็คงได้คำตอบว่า "มาจากฝรั่งชาติกรีก" แถมด้วยเหตุผลว่า "เพราะมีหลักฐานเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ห่มผ้าแบบกรีก" วันนี้ผู้เขียนก็เห็นจำเป็นต้องเขียนแตกต่างไปจากหนังสือศิลปะวัฒนธรรมตามความรู้และความเข้าในของตน

     เท่าที่ได้ศึกษามา ผู้เขียน (ย้ำ - ไม่ใช่ผู้อื่น) เคยทราบแต่ว่า ตั้งแต่สมัยโบราณก่อนจะมีพระพุทธศาสนาแล้ว ชนชาติต่าง ๆ ในแถบถิ่นนี้ ก็ตั้งแต่อินเดีย พม่า มอญ ไทย เขมร ลาว เป็นต้น ต่างก็ใช้ผ้าเป็นผืนในการนุ่งและห่ม ชาติเหล่านี้ไม่มีวัฒนธรรมของการนุ่งกางเกงหรือเตี่ยวหรือกระโปรงใด ๆ ทั้งสิ้น ใช้ผ้านุ่ง-ห่ม เป็นผืน ๆ ทั้งชาย-หญิง โดยไม่จำกัดเพศและวัย พวกกางเกงและกระโปงที่เรารู้จักกันนั้นเพิ่งมาจากยุโรปไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง

     คราวนี้ย้อนเวลาไปหาอดีตเมื่อ 3000 ปีก่อน ในสมัยพุทธกาล คือเวลาที่พระพุทธเจ้าโคดมยังทรงพระชนม์อยู่ เวลานั้นก็มีหลักฐานทั้งจากพระไตรปิฎกและหนังสือรุ่นหลัง ๆ ที่เรียกว่าอรรถกถา ยืนยันชัดเจนว่า
"คนอินเดียใช้ผ้านุ่งผ้าห่มเป็นผืน ๆ แบบเดียวกันทั้งชายและหญิง" มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งมีฐานะยากจนมาก มีผ้านุ่งคนละผืน ส่วนผ้าห่มนั้นมีเพียงผืนเดียว ข้อนี้ดีก็แต่ในเวลานอนเท่านั้น ที่ไม่ต้องนอนห่างกัน ส่วนเวลานอกนั้นแล้วลำบาก จะออกนอกเรือนไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีผ้าห่มท่อนบนก็เป็นคนไม่ค่อยสุภาพ ดังนั้น ผัวเมียคู่นี้จะออกนอกบ้านไปไหนด้วยกันไม่ได้ หากคนหนึ่งไปคนหนึ่งต้องอยู่ เพราะต้องเปลี่ยนกันใช้ผ้า

     พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเวลานั้นก็เช่นกันกับชาวบ้าน คือใช้ผ้านุ่งผ้าห่มแบบเดียวกัน หากแต่ใช้สีต่างกันเท่านั้น การนุ่งห่มของพระสงฆ์อินเดียในสมัยโบราณจึงไม่ต่างไปจากชาวบ้านเลย ไม่เหมือนเมืองไทยสมัยนี้ที่พระสงฆ์ไทยใส่กางเกงหรือกระโปรงไม่ได้ เพราะเรายังนิยมใช้ผ้าแบบแขกอินเดียโบราณกันอยู่ สู้พระจีนไม่ได้ เขาหันไปใช้กางเกงเป็นพันปีแล้ว

     มีหลักฐานจากพระธรรมบทหลายแห่ง เช่นในเรื่องยมกปาฏิหาริย์ เล่าเรื่องพระมหาโมคคัลลาน์และพระปิณโฑลภารทวาชะ ออกจากวัดนอกตัวเมืองเดินมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงสาวัตถี ถึงเขตใกล้ประตูเมืองจึงเลี่ยงไปยืนห่มผ้าบนหินดาดแผ่นหนึ่ง ซึ่งให้ความหมายว่า เวลาพระสงฆ์จะเดินทางก็นิยมนุ่งเพียงสบงเท่านั้น ส่วนผ้าจีวรนั้นจะห่มให้เป็นปริมณฑล (แปลว่าเรียบร้อย) ก็ต่อเมื่อเข้าไปในตัวเมือง หรือในการกระทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น นี่เป็นหลักฐานชั้นต้น

     ต่อมาประมาณ พ.ศ. 300 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งแคว้นมาซิโดเนียในประเทศกรีก ทรงยกกองทัพเข้ารุกรานอินเดียตอนเหนือ สามารถตีได้หลายหัวเมือง พอมาเจอกับกองทัพเมืองปาฏลีบุตรลุ่มแม่น้ำคงคา ก็ทรงยินยอมเชื่อมสัมพันธไมตรีแล้วทรงยกทัพกลับ ก่อนกลับก็ทรงแต่งตั้งขุนทหาร ให้เป็นผู้กำกับการหัวเมืองในอินเดียตอนเหนือไว้หลายสิบเมือง นับเป็นการเข้ามาสู่อินเดียของฝรั่งเป็นครั้งที่ 2 เพราะก่อนหน้านั้นหลายพันปีก็เคยมีฝรั่งชาติอารยัน เดินทางจากโปแลนด์และรัสเซียรุกข้ามประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน เข้ามาครอบครองอินเดียเป็นรุ่นพี่แล้ว

     และตรงนี้นักปราชญ์ก็ระบุอีกว่า
ชาวกรีกเป็นชนชาติแรกที่นิยมสร้างรูปเคารพและนิยมชมชอบ เช่น เทพเจ้าอพอลโล่ เป็นต้น ครั้นชาวกรีกมาพบกับพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และหนึ่งในความศรัทธานั้นก็คือความคิดจะสร้างรูปเคารพของพระโคดมพุทธเจ้าขึ้นตามวัฒนธรรมของตน ซึ่งตรงนี้ผิดไปจากวัฒนธรรมของคนอินเดียในยุคก่อนหน้านั้นที่นิยมสร้างเฉพาะความ "ว่างเปล่า" แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระพุทธรูปปางตรัสรู้ ก็สร้างเฉพาะต้นโพธิ์เป็นแบ๊กกราวน์ไว้เบื้องหลัง ตรงกลางเป็นแท่นว่าง ๆ สองข้างนั้นทำเป็นกวางหมอบ ก็เข้าใจว่าเป็นรูปเคารพในปาง "ตรัสรู้" ไม่มีใครกล้าทำรูปพระพุทธเจ้าขึ้นมาจริง เพราะถือว่าเป็นการไม่เคารพไป

     นายช่างชาวกรีกนั้น เมื่อจะสร้างพระพุทธรูปก็คิดแบบกรีก คือนำเอานายแบบของกรีกมาเป็นโมเดิล ปั้นหุ่นให้ออกมาเหมือนเทพยดาของกรีก จากนั้นก็เสริมเติมความพิเศษลงไป โดยเฉพาะบริเวณพระเศียรและพระพักตร์ พระเศียรนั้นสมัยนั้นสร้างเป็นเส้นผม เห็นพระเกศเป็นเส้น ๆ ที่นักปราชญ์นิยมเรียกในภายหลังว่า
"ผมหวี" นั่นแหละ เพราะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ยังไม่มีขดหอยตามมหาบุรุษลักษณะที่บอกว่า "พระเศียรแต่ละเส้นนั้นขดวนกันเป็นประทักษิณ คือเวียนขวาเหมือนก้นหอย" พระพุทธรูปรุ่นแรกของโลกนี้ท่านเรียกว่า ศิลปะคันธาระ เพราะสร้างขึ้นที่เมืองคันธาระ ในแคว้นกัสมีระหรือแคชเมียร์ เป็นรุ่นแรก เวลาสร้างก็ตกราวประมาณ พ.ศ. 500

     กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปรุ่นแรกนี้จะสร้างในอินเดีย แต่ผู้สร้างนั้นเป็นกรีก มีอิทธิพลทางการเมืองสูงกว่าชาวอินเดีย กรีกจึงสร้างตามใจตน ไม่ได้สร้างตามใจแขก เหมือนพระพุทธรูปในประเทศไทย เขมร พม่า จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ไปดูเถิดจะเห็นว่า แต่ละชนชาติก็สร้างพระพุทธเจ้าให้เป็นชนชาติเดียวกับตนทั้งสิ้น นั่นไม่รู้ว่าเป็นเพราะชาตินิยมหรือศาสนานิยม

     เมื่อกรีกสร้างตามใจตน คนภายหลังไปพบเข้าก็เข้าใจว่า
"พระพุทธรูปซึ่งสร้างในอินเดียเป็นครั้งแรกยุคแรกนั้น ห่มผ้าแบบกรีก" ความจริงข้อนี้ก็ผิดอีก เพราะพระสงฆ์อินเดียจะห่มผ้าแบบกรีกนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน ที่แน่นอนก็คือ กรีกต้องใช้การครองผ้าของพระอินเดียมาเป็นแม่แบบให้แก่พระพุทธรูปที่ตนสร้าง นอกจากนั้นก็อ้างอิงเอาพุทธลักษณะมาจากตำราของพราหมณ์บ้าง เอาหุ่นจากเทพเจ้าของตนบ้าง มาร่วมกันสร้างเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกขึ้นมา

     ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะกล่าวได้อย่างไรว่า
"ผ้าของพระสงฆ์อินเดียในสมัยก่อนและตอนสร้างพระพุทธรูปนั้น มาจากประเทศกรีก
!" เพราะไม่เคยมีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกเลยว่า พระสงฆ์อินเดียสั่งผ้ามาใช้จากประเทศกรีก เหมือนพระไทยใช้ไหมสวิสในปัจจุบัน อินเดียสมัยนั้นผลิตผ้าได้เอง ผ้าชั้นดีของอินเดียนั้นผลิตได้จากหลายเมือง เช่น กาสี เป็นต้น

     เหตุผลก็อย่างที่บอก ว่าพระพุทธรูปนั้นถูกสร้างโดยนายช่างชาวกรีก ซึ่งผสมผสานจินตนาการระหว่าง
"รูปแบบการครองผ้าของพระสงฆ์อินเดียในยุคนั้น" เข้ากับ "เทพเจ้าของชาวกรีก" และ "ความเชื่อในเรื่องพุทธลักษณะ เช่น พระกรรณยาวกว่าคนปกติเป็นต้น" จนได้พระพุทธรูปในรูปแบบที่เห็น ซึ่งก็สวยแบบฝรั่ง ถ้าสั่งช่างไทยให้ไปปั้นหุ่นพระพุทธรูปรุ่นแรกนี้ได้ พระพุทธรูปก็คงผิดแปลกไปจากนี้แน่นอน

     ก็จึงขอคัดค้านและแก้ต่างว่า
ผ้าจีวรของพระสงฆ์อินเดียนั้นไม่ได้มาจากประเทศ
กรีกหรอก หากแต่เป็นผลงานของชาวอินเดียล้วนๆ ส่วนเรื่องพระพุทธรูปนั้นเพิ่งมาเริ่มสร้างใน พ.ศ. 500 แล้ว จะเอาไปวินิจฉัยผ้าไตรจีวรในสมัยพุทธกาลนั้นมันคนละรุ่นกัน

     เรื่องการครองผ้ายังไม่จบเพียงเท่านี้ ถามอีกทีว่า
การครองผ้าแบบไหนที่พระสงฆ์ไทยใช้มาแต่เดิม ? อันนี้ก็เห็นที่จะต้องตอบแบบเวิร์บทูเดา เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันร้อยเปอร์เซ็
นต์ แต่มีบันทึกประวัติศาสตร์อยู่ว่า ก่อนหน้าที่เจ้าฟ้ามงกุฏจะทรงผนวชนั้น พระไทยสมัยรัชกาลที่ 2 ล้วนแต่ครองผ้าแบบ
"พาดมังกร" แบบที่พระมหานิกายในวัดใหญ่ๆ นิยมห่มกัน ครั้นเจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชแล้ว ภายหลังทรงไปทำอุปสมบทซ้ำในนิกายพระมอญ แล้วทรงให้พระสงฆ์ในสังกัดของพระองค์เปลี่ยนไปครองจีวรแบบพระมอญ จนเป็นปัญหาทางด้านการเมือง เมื่อถูกตำหนิจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภิกษุวชิรญาณจึงออกคำสั่ง ให้พระธรรมยุติทั้งหมดกลับมาครองผ้าแบบพระไทยตามเดิม แต่ภายหลัง เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้ว มีพระสงฆ์ธรรมยุติทำเรื่องร้องเรียนเรื่องการครองผ้า เวลานั้นรัชการที่ 4 ทรงเลี่ยงบาลีว่า "การครองผ้าเป็นเรื่องของพระสงฆ์ โยมเป็นฆราวาสไม่สามารถออกความเห็นได้"
พระสงฆ์นิกายธรรมยุติเลยดีอกดีใจรีบเปลี่ยนมาใช้สไตล์มอญกันจนเกร่อทั่วเมืองไทยในปัจจุบันนี้

     นี่คือลำดับความเป็นไป ไม่ใช่เรื่องพระพุทธรูปปางอะไรทั้งสิ้น ความจริงมีอยู่และมีได้ในหลายแนวทาง ใช่จะหาได้เฉพาะหลักฐานจากโบราณวัตถุเช่นพระพุทธรูปหรือศิลาจารึกเท่านั้น หากแต่หลักฐานทางคัมภีร์ก็มีความสำคัญไม่น้อย และคงไม่ด้อยศักดิ์ศรีไปกว่าโบราณวัตถุเหล่านั้นเป็นแน่

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
4 พฤศจิกายน 2546


 

ผ้าจีวรพระมาจากฝรั่ง

ข้อมูลจากหนังสือ "ศิลปะวัฒนธรรม"
ปีที่ 25 ฉบับที่ 01 ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546

 

จีวรพระ มาจาก "ผ้าห่มฝรั่ง" ฝีมือช่างกรีก-โรมัน

     จีวรพระ ที่มักเรียกกันทั่วไปว่าผ้าเหลือง แล้วเชื่อกันต่อๆ มาช้านานว่าเป็นผ้าห่มแขก ของชมพูทวีปหรืออินเดีย เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปจริงๆ ปรากฏว่าไม่ใช่ผ้าห่มแขก แต่เป็นผ้าห่มฝรั่งจากโรมันโน่น ไม่น่าเชื่อ! แต่ต้องจำนนด้วยหลักฐานสำคัญ คือพระพุทธรูปแบบแรกในโลกที่สร้างเป็นรูปมนุษย์ทำโดยช่างกรีก-โรมัน ห่มจีวรแบบโรมันชัดๆ


ผ้า ๓ ผืนของภิกษุครั้งพุทธกาล

     ไตรจีวร เป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ที่ปรากฏในพระวินัยมาแต่ครั้งพุทธกาล มีข้ออนุญาตและข้อห้ามเกี่ยวกับจีวรในลักษณะต่างๆ เช่น เดิมพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้แต่จีวรที่เก็บเศษผ้าห่อศพมาเย็บปะติดปะต่อกันเรียกว่า "บังสุกุลจีวร" ต่อมาจึงทรงอนุญาตให้ใช้จีวรที่ผู้มีศรัทธาถวายให้ เรียกว่า "คฤหบดีจีวร"

     ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการใช้ผ้าของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปยังทักขิณาคิรี (เขตภูเขาภาคใต้ของอินเดีย) ทอดพระเนตรเห็นนาชาวมคธมีขอบคันและกระทงนา จึงตรัสให้พระอานนท์ลองตัดจีวรเป็นรูปนั้นดู เมื่อทำเสร็จทรงสรรเสริญว่าฉลาด ต่อมาทรงอนุญาตให้ใช้จีวร 3 ผืน (ไตรจีวร) ประกอบด้วยสบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอกหรือผ้าพาด)

     สีที่ใช้ย้อมจีวรทรงอนุญาตให้ทำจากรากไม้ ลำต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้และผลไม้ ทรงห้ามใช้สีไม่สมควร คือสีเขียวล้วน สีเหลืองล้วน สีแดงล้วน สีเลื่อมล้วน สีดำล้วน สีแดงเข้ม สีแดงกลาย และเนื่องจากทรงห้ามสีเหลืองล้วน พระภิกษุบางรูปจึงนิยมย้อมกรัก คือสีจากแก่นขนุนทับอีกครั้ง เพื่อให้เป็นสีน้ำฝาด

     ต่อมาเกิดปัญหาการแต่งกายไม่รัดกุมในที่สาธารณะ จึงทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าคาดเอว หรือ "รัดประคด" เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง และจากเดิมที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีเฉพาะไตรจีวรสำหรับนุ่งห่มเวลาเดินทาง จนเมื่อพระภิกษุมีปัญหาเรื่องการเดินทางในฤดูฝนจึงทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าอาบน้ำฝนที่พุทธศาสนิกชนถวายได้อีกอย่างหนึ่ง


พระพุทธรูปแบบแรกในโลกห่มผ้าแบบกรีก-โรมัน

     เป็นที่รู้แล้วยอมรับทั่วกันทั้งโลก ว่าพระพุทธรูปแบบแรกในโลกทำโดยฝีมือช่างกรีก-โรมัน เป็นต้นแบบให้พระพุทธรูปต่อมาอีกนานจวบจนถึงทุกวันนี้

     ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือจีวร หรือผ้าเหลือง ก็เป็นอย่างเดียวกับผ้าห่มของพวกกรีก-โรมันด้วย ขอยกเรื่องพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธารราฐ พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (จากหนังสือท่องอารยธรรม สำนักพิมพ์ธุรกิจก้าวหน้า พ.ศ. 2539) มาดังต่อไปนี้

     พระพุทธรูปแบบคันธารราฐเจริญขึ้นในแคว้นคันธาระ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย หรือที่เป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน เชื่อกันว่าเป็นศิลปะแบบแรกที่กล้าสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นรูปมนุษย์

     ศิลปะคันธารราฐเจริญขึ้นในสมัยที่ชนชาติยุยเจ้ หรือซิเถียน อันเป็นชนชาติที่อพยพมาจากภาคกลางของทวีปเอเชีย ได้เข้าครอบครองดินแดนแถบนี้ และได้ตั้งราชวงศ์กุษาณะ อันมีพระเจ้าแผ่นดินที่สำคัญคือพระเจ้ากนิษกะเป็นประมุข (ราว พ.ศ. 663-705)

     พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกทางพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ในขณะนั้นคงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานยิ่งกว่าลัทธิเถรวาท เชื่อกันว่าพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์คงสร้างขึ้นในรัชกาลนี้

     ดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เคยเป็นที่ซึ่งชนชาติกรีกเข้าครอบครองมา ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ทรงยกทัพเข้าไปรุกรานดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในราว พ.ศ. 217-218 และต่อมาชาวโรมันก็ตามเข้าไปค้าขายบ้าง เมื่อศิลปะคันธารราฐเกิดขึ้นนั้น พวกยุยเจ้คงจะได้ใช้ศิลปินกรีก-โร มันให้ทำงานให้แก่ตน ด้วยเหตุนั้นทั้งพระพุทธรูปและรูปบุคคลต่างๆ ในศิลปะคันธารราฐ จึงมีหน้าตาเป็นฝรั่งทั้งสิ้น

     สำหรับพระพุทธรูปนั้น น่าชมช่างกรีก-โรมันที่เป็นผู้คิดขึ้น เพราะขณะที่เขาคิดพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์ขึ้นนั้น พระพุทธองค์ได้ปรินิพพานไปแล้วร่วม 600 กว่าปี แต่ช่างก็ยังสามารถทำให้บุคคลโดยทั่วไปยอมรับว่าประติมากรรมที่ตนคิดขึ้นนั้นเป็นพระพุทธรูปได้ ในการนี้ช่างได้อาศัยสิ่งต่างๆ 3 อย่าง คือ

     1. เนื่องจากเป็นช่างกรีก-โรมัน จึงใช้ความงามหรือสุนทรียภาพตามแบบฝรั่ง เป็นต้นว่าพระพักตร์ก็งามตามแบบฝรั่ง มีพระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระขนงวาดเป็นวงโค้งมาบรรจบกันเหนือดั้งพระนาสิก ประภามณฑลเป็นรูปวงกลมเกลี้ยงอยู่เบื้องหลังพระเศียร เช่นเดียวกับเทวรูปอพอลโลของกรีก จีวรที่ครองก็เป็นผ้าหนา ส่วนใหญ่ห่มคลุมทั้งสองบ่า ริ้วเป็นริ้วใหญ่ตามธรรมชาติ คล้ายการห่มผ้าของพวกโรมัน

     2. กระทำตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ ซึ่งบ่งไว้นานแล้วว่ามหาบุรุษจะต้องมีลักษณะเช่นนั้นเช่นนี้ เช่นใบหูยาน (อันอาจเกิดจากการที่ชาวอินเดียแต่โบราณนิยมใส่ตุ้มหูหนัก เมื่อใส่นานๆ เข้าก็ถ่วงใบหูให้ยานลงมา ใบหูยานจึงกลายเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษไป) มีอูรณาหรืออุณาโลมอยู่ที่กลางหน้าผากหว่างขนคิ้ว หรือลายธรรมจักรบนฝ่ามือ ฯลฯ

     3. เป็นความคิดอย่างชาญฉลาดของช่าง ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เห็นประติมากรรมแบบนี้แล้วทราบได้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธองค์ เมื่อสร้างรูปนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้วร่วม 600 กว่าปี พระรูปโฉมโนมพรรณของพระองค์เป็นอย่างไร ย่อมไม่มีผู้ใดทราบอย่างแน่ชัด จะสร้างให้เป็นภาพเหมือนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดีช่างย่อมทราบจากพระพุทธประวัติว่า เมื่อพระองค์ทรงออกผนวชนั้น พระองค์ทรงปลงพระเกศา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องปรากฏอีกว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าประเสนชิตแห่งแคว้นโกศล แรกจะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่กับพระสาวก พระเจ้าประเสนชิตยังต้องรับสั่งถามว่าพระพุทธเจ้าคือองค์ไหน ข้อนี้แสดงว่าพระพุทธองค์ก็ทรงมีลักษณะเช่นเดียวกับพระสาวกองค์อื่นๆ นั่นเอง แต่ถ้าช่างจะสร้างพระพุทธรูปให้มีเศียรโล้นตามความเป็นจริง ใครจะสามารถทราบได้ว่ารูปนั้นเป็นพระพุทธองค์เล่า

     ข้อนี้จึงจำต้องชมความฉลาดของช่างคันธารราฐที่สามารถคิดแก้ไขได้ ด้วยการปล่อยให้พระพุทธรูปยังคงมีพระเกศายาว และพระเกศานี้รวบเป็นมวยไว้เหนือพระเศียรมีเส้นอาภรณ์เล็กๆ คาดอยู่ที่เชิงมวยนั้น ในศิลปะคันธารราฐพระเกศานี้ก็ทำเป็นเส้นเหมือนเส้นผมคนธรรมดา บางครั้งก็วาดเป็นมุมแหลมอยู่กลางพระนลาฏ ชั่วแต่มีประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่เบื้องหลังพระเศียรเท่านั้น ต่อเมื่อพระพุทธรูปได้แพร่เข้าไปในหมู่ชาวอินเดียแล้วชาวอินเดียจึงคิดแก้ไขให้พระเกศาขมวดเป็นทักษิณาวรรต คือเวียนขวาตามแบบคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อทำพระเกศาเวียนขวาไว้เหนือมวยบนพระเศียรด้วย ลักษณะของมวยผมจึงหายไปและดูคล้ายกับว่าพระเศียรของพระพุทธเจ้าตรงกลางโป่งขึ้นไปข้างบนผิดปกติ ลักษณะเช่นนี้อินเดียเขาเรียกว่าอุษณีษะ แต่ไทยเราเรียกว่าเกตุมาลา หรือเมาลี

     เมื่อได้กล่าวถึงลักษณะของพระพุทธรูปคันธารราฐมาพอสมควรแล้ว ก็ขอให้เราได้พิจารณาพระพุทธรูปแบบ นี้ดูบ้างทางด้านวิชาโบราณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการครองจีวร ณ ที่นี้จะขอแบ่งพระพุทธรูปแบบนี้ออกเป็น 2 แบบ คือ

     แบบประทับยืน พระพุทธรูปประทับยืนแบบคันธารราฐส่วนใหญ่ครองจีวรห่มคลุม และพระพุทธรูปห่มคลุมแบบนี้ก็เป็นต้นเค้าของพระพุทธรูปห่มคลุมแบบต่อๆ มาด้วย เราทราบกันแล้วว่า ไตรจีวรที่พระภิกษุสงฆ์ใช้นั้นประกอบด้วยผ้า 3 ผืน คือ

     สบงหรืออันตรวาสก สำหรับนุ่งอยู่ชั้นล่าง พันรอบตั้งแต่บั้นเอวลงไปจนถึงข้อเท้า บางครั้งก็มีรัดประคดหรือเข็มขัดคาด

     จีวร หรืออุตราสงค์ คือผ้าสำหรับห่มท่อนบน อาจครองได้ทั้งห่มคลุมหรือห่มเฉียง และครองได้ด้วยวิธีต่างๆ กัน

     สังฆาฏิ เป็นผ้าอีกผืนหนึ่งสำหรับห่มทับเหนือจีวร แต่ผ้าสังฆาฏินี้บางครั้งก็ใช้ บางครั้งก็ไม่ใช้

     ทั้งผ้าจีวรหรือผ้าสังฆาฏินี้เป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยมใหญ่ พันรอบองค์พระพุทธรูปไปตามด้านความยาว ชายด้านหนึ่งซึ่งเป็นชายแรกที่ใช้ในการห่มจะวางอยู่บนด้านซ้ายของพระอุระ ต่อจากนั้นผืนผ้านี้ก็ห่มข้ามพระอังสาซ้ายลงไปยังพระขนอง คลุมพระขนองแล้วย้อนกลับมาคลุมพระอังสาขวาเพื่อวกมาคลุมพระอุระด้านซ้ายอีกต่อหนึ่ง หลังจากนั้นชายผ้าชายหนึ่ง คือมุมบนของผ้าและส่วนที่เหลือของผ้าก็จะห่มไปยังด้านหลังพระขนองอีก คือเลยผ่านพระอังสาซ้ายลงไป แต่คราวนี้นำย้อนกลับมาพันไว้รอบพระกรซ้าย และมักจะพันไว้รอบข้อพระหัตถ์ซ้ายด้วย คือที่เราเรียกว่า ลูกบวบ นั่นเอง

     ผ้าสังฆาฏิที่ครองอยู่เหนือผ้าจีวรหรือผ้าจีวรเฉยๆ ไม่มีผ้าสังฆาฏิ สำหรับพระพุทธรูปคันธารราฐแบบนี้ ผ้ามักครองอยู่อย่างหลวมๆ รอบพระศอปรากฏมีริ้วผ้าขนาดใหญ่เพื่อย่นเนื้อผ้าทางด้านนั้นให้แคบเข้า ริ้วผ้าขนาดใหญ่รอบพระศอเหล่านี้ทำให้ปรากฏมีริ้วผ้าขนาดเล็กๆ ขึ้นบนพระอุระด้วย ริ้วผ้าเล็กๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นเป็นริ้วขนานกัน และดูเหมือนจะลงมาแต่จุดๆ หนึ่งใกล้พระอังสาขวา แต่ด้านหน้าพระกายเบื้องล่างริ้วผ้ากลับซ้อนกันเป็นรูปสามเหลี่ยมเอาหัวลงหรือเป็นรูปครึ่งวงกลม ทั้งหมดนี้ย่อมขนานกันได้ระดับกับเส้นกึ่งกลางของพระวรกาย

     เนื่องจากสำหรับพระพุทธรูปประทับยืน ผ้าสังฆาฏิ (หรือผ้าจีวร) ได้คลุมลงมาจนถึงพระชงฆ์และทางด้านขวาของพระองค์ ผ้าสังฆาฏินี้ก็มิได้มีช่องแต่อย่างใด พระพุทธองค์จึงต้องทรงยกผ้าสังฆาฏิขึ้นเพื่อยื่นพระหัตถ์ออกมาแสดงปาง ดังนั้นช่วงพระกรขวาเบื้องหน้าจึงยกขึ้นครึ่งหนึ่งเพื่อยกผ้าสังฆาฏิหรือจีวรขึ้น ทำให้ขอบเบื้องล่างของผ้าวาดเป็นวงโค้งขึ้นไปทางด้านขวามือตั้งแต่ส่วนล่างของพระกายขึ้นไปจนถึงระดับรัดประคด

     สำหรับท่าปางประทานพรซึ่งหาได้ยาก พระกรขวาก็ยกขึ้นเพียงเล็กน้อยและเส้นโค้งนี้ก็หยุดอยู่แค่เพียงพระชานุเท่านั้นเอง ถ้าพระกรขวาไม่ได้แสดงปางใดๆ ผ้าสังฆาฏิก็จะคงอยู่ในที่เดิม คือเป็นกรอบล้อมรอบส่วนล่างของพระกายและคลุมทั้งพระกรและพระหัตถ์ขวา

     พระหัตถ์ซ้ายถ้าต้องการจะโผล่ออกมา ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยกผ้าสังฆาฏิขึ้น ทั้งนี้เพราะเหตุว่าช่วงหน้าของพระกรซ้ายแทรกอยู่ระหว่างการครองผ้าวนรอบพระกายครั้งที่ 1 และครั้งที่ ๒ ดังนั้นจึงโผล่ออกมาได้อย่างสะดวก และ ณ ที่นี้ก็มีชายผ้า (ลูกบวบ) พันอยู่รอบข้อพระหัตถ์ซ้ายด้วย

     ดังนั้นชายผ้าเบื้องล่างของผ้าสังฆาฏิ จึงมิได้วาดเป็นรูปวงโค้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระกาย เพราะเหตุว่าเบื้องหน้าของพระกรมิได้ยกผ้าทางด้านนี้ขึ้น ชายผ้าทางด้านนี้จึงตกลงไปเป็นเส้นตรงและเปิดอยู่ให้เห็น ริ้วผ้าก็เป็นริ้วที่ตกลงมาเป็นเส้นตรงๆ คือเป็นของขอบที่ตกเป็นเส้นตรงขอบใดขอบหนึ่ง อาจเป็นขอบตั้งแต่การห่มครั้งแรก หรือขอบของการห่มครั้งที่สองก็ได้ เมื่อมุมผ้าด้านบนได้ห่มคลุมทับลงไปทางด้านหลังพระขนองและได้ย้อนมาพันรอบข้อพระหัตถ์ซ้าย จึงทำให้มุมล่างของผ้าตกลงไปยังเบื้องล่างของพระกาย

     จากการครองผ้าแบบนี้ ผลก็คือพระพุทธรูปคันธารราฐที่ประทับยืนห่มคลุม จะครองสังฆาฏิหรือจีวรซึ่งมีขอบเบื้องล่างวาดเป็นวงโค้งอยู่ทางด้านขวา แต่ตกลงมาเป็นเส้นตรงทางด้านซ้าย เราจะเห็นว่าลักษณะเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกนานสำหรับการครองผ้าของพระพุทธรูปอินเดีย

     ลักษณะของช่วงพระกรเบื้องหน้าก็น่าคำนึงถึงเช่นเดียวกัน เกือบแทบทุกกรณีพระหัตถ์ขวาจะแสดงปางซึ่งยังไม่ทราบกันแน่ว่าคืออะไร หรือมิฉะนั้นก็เป็นปางประทานอภัย ช่วงพระกรเบื้องหน้าพับขึ้นครึ่งหนึ่งมักจะยกขึ้นหาพระองค์เล็กน้อย และยื่นออกไปทางด้านหน้าของพระองค์ ลักษณะของพระกรซ้ายไม่สู้สำคัญ แต่ก็มักจะโก่งเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นว่ามีความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างช่วงพระกรเบื้องหน้าทั้งสองข้าง และลักษณะพิเศษเช่นนี้ก็จะมีอยู่ต่อไปอีก ความไม่ได้สัดส่วนเช่นนี้ย่อมไม่ปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปปางประทานพร แต่พระพุทธรูปดังกล่าวก็มีอยู่น้อยมาก รวมทั้งไม่มีปรากฏอยู่อีกแก่พระพุทธรูปบางองค์ซึ่งช่วงหน้าของพระกรซ้ายได้ยกขึ้นยังบั้นพระองค์หรือยังพระอังสา แต่พระพุทธรูปคันธารราฐดังกล่าวก็คงเป็นพระพุทธรูปรุ่นหลังหรือมิฉะนั้นก็ได้รับอิทธิพลมาจากภายนอก

     นอกจากนี้ยังควรกล่าวถึงลักษณะอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าสบงหรืออันตรวาสกนั้นยื่นลงมาเล็กน้อยภายใต้สังฆาฏิ สบงนี้พันรอบพระชงฆ์และยื่นออกไปภายนอกเล็กน้อย ประกอบด้วยริ้วผ้าเป็นเส้นตั้งตรงอย่างค่อนข้างได้ระเบียบ ผ้าจีวรหรืออุตราสงค์ยังคงมองเห็นได้ทางด้านขวา ภายใต้ผ้าสังฆาฏิที่พระกรขวายกเลิกขึ้น พระองค์ของพระพุทธรูปเองก็ประกอบด้วยตริภังค์ คือยืนเอียงตะโพกเล็กน้อย พระบาทแยกออกจากกัน ข้อพระบาทนั้นสลักติดอยู่กับพื้นเบื้องหลัง

     สำหรับพระพุทธรูปยืนแบบนี้ พระพุทธรูปยืนครองจีวรห่มดองซึ่งมีน้อยมากก็ไม่มีลักษณะแตกต่างออกไปมากนัก สิ่งที่แตกต่างก็คือว่าผ้าสังฆาฏิหรือจีวร แทนที่จะมีขอบอยู่ล้อมรอบพระศอก็ครองพาดเฉียงอยู่ใต้พระกรขวาเหนือรัดประคดเล็กน้อย ขอบด้านบนจึงพาดเฉียงผ่านพระอุระตั้งแต่พระปรัศว์ (สีข้าง) ด้านขวาไปยังพระอังสาซ้าย โดยวาดเป็นเส้นโค้งเล็กน้อย ริ้วผ้าเป็นเส้นเฉียงขนานอยู่กับขอบจีวรนี้ สำหรับส่วนอื่นๆ ลักษณะพิเศษของผ้าที่ครองก็ยังคงเป็นอยู่เช่นเดียวกัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านข้าง ด้านล่างหรือการที่ชายผ้ามาพันพระกรซ้าย (ลูกบวบ)

     แบบประทับนั่ง ในแบบนี้พระพุทธรูปคันธารราฐประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (วัชราสน์) เท่านั้น คือพระชงฆ์ไขว้กัน แลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระพักตร์มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปยืนที่กล่าวมาแล้ว ผ้าสังฆาฏิหรือจีวรบางครั้งก็ครองห่มคลุม บางครั้งก็ครองห่มเฉียง ซึ่งทำให้อาจแบ่งพระพุทธรูปกลุ่มนี้ออกได้อีกเป็น ๒ หมู่

     หมู่แรก คือพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ผ้าจีวรหรือสังฆาฏิก็เปลี่ยนแปลงไปสุดแล้วแต่ปางที่พระพุทธรูปทรงกระทำ แต่ส่วนใหญ่ก็คงคล้ายกับพระพุทธรูปประทับยืนที่กล่าวมาแล้ว ผ้าสังฆาฏิหรือจีวรห่มล้อมรอบพระองค์เหมือนกับพระพุทธรูปยืนและวาดเป็นริ้วใหญ่ๆ ขนานกันตกลงมาจากจุดๆ หนึ่งบนพระอังสาซ้ายยังด้านหน้าของพระวรกาย ตั้งแต่หน้าตักลงมาด้านหน้าของจีวรก็เป็นแผ่นใหญ่ปกคลุมข้อพระบาทที่ไขว้กันและพระบาทเกือบทั้งหมด รวมทั้งห้อยอยู่ด้านหน้าของฐาน

     ลักษณะของผ้าแบบนี้ก็เหมือนกับการครองจีวรห่มคลุมสำหรับพระพุทธรูปยืนนั่นเอง คือครองด้วยวิธีเดียวกัน ข้อพระหัตถ์ขวายกชายจีวรขึ้นเพื่อจะยื่นลอดออกมา ดังนั้นจึงทำให้ขอบจีวรวาดเป็นรูปวงโค้งอยู่บนด้านขวา ทางด้านซ้ายช่วงพระกรเบื้องหน้าก็แทรกอยู่ระหว่างจีวรที่ครองทบกัน 2 ชั้น ชายผ้าจึงวาดเป็นริ้วรูปวงโค้งเช่นเดียวกัน แต่ชายผ้าด้านนี้ก็มีกลุ่มริ้วที่อ่อนช้อยและยาวห้อยต่อลงมา (คือริ้วผ้าที่ตกลงมาตรงๆ ของพระพุทธรูปประทับยืนนั่นเอง) ซึ่งตรงกับขอบ 2 ขอบที่ตั้งตรงของผ้าสังฆาฏิหรือจีวร ได้แก่ขอบผ้าในการห่มครั้งแรกและขอบผ้าในการห่มทับครั้งที่ 2

     นอกจากนี้ชายจีวรซึ่งเมื่อคลุมทับลงไปบนพระขนองโดยผ่านพระอังสาซ้ายและลงมาม้วนพันรอบพระกรซ้าย (ลูกบวบ) ก็ดูเหมือนว่าจะยึดอยู่ในพระหัตถ์ซ้ายเมื่อพระหัตถ์ซ้ายมิได้ใช้ทำอะไร (เช่นในปางประทานอภัย) หรือห้อยลงมาจากข้อพระหัตถ์ซ้าย เมื่อพระพุทธรูปอยู่ในปางสมาธิหรือปางประทานปฐมเทศนา ซึ่งจำต้องใช้พระหัตถ์ทั้งสองข้าง เมื่อเป็นดังนี้จึงปรากฏว่าสำหรับพระพุทธรูปประทับนั่งแบบคันธารราฐนั้นความจริงพระชงฆ์ขวาคงมีแต่เพียงสบงหรืออันตรวาสกคลุมอยู่ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าด้านนี้ผ้าสังฆาฏิหรือจีวรหรือทั้งสองอย่างได้ถูกเลิกขึ้น ในขณะที่พระชงฆ์ซ้ายนั้นคลุมด้วยผ้าจีวรหรือสังฆาฏิ แต่ในไม่ช้าความยุ่งยากอันตรงกับความเป็นจริงเช่นนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไป

     หมู่ที่ 2 คือพระพุทธรูปประทับนั่งครองจีวรห่มเฉียง ขอบของผ้าสังฆาฏิหรือจีวรรวมทั้งขอบสบงจึงปรากฏอยู่ทางด้านขวาเป็น 2 ระดับต่างกัน ผ้าสังฆาฏิหรือจีวรไม่ได้ยกขึ้นโดยช่วงพระกรหน้าเบื้องขวา เพราะเหตุว่าผ้าได้ห่มอยู่ข้างใต้พระกรขวาแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีริ้วเป็นรูปวงโค้งคลุมอยู่บนพระชงฆ์หรือพระบาท พระชงฆ์ทั้งสองข้างถูกคลุมด้วยผ้าสังฆาฏิหรือจีวร แต่ข้อพระบาทและพระบาททั้งสองข้างก็มองเห็นได้อย่างชัดเจน ชายสังฆาฏิ (ลูกบวบ) ซึ่งพันอยู่รอบข้อพระหัตถ์ซ้ายคลี่ออกไปยังฐานเมื่อพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปไม่ว่าง ข้อนี้ย่อมเป็นจริง เพราะเหตุว่าพระพุทธรูปส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักแสดงปางประทานปฐมเทศนา พระพุทธรูปมักประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำ

     ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า รูปแบบการห่มจีวรแบบที่น่าจะมีใช้จริงในสมัยหลังพุทธกาลคือการห่มจีวรตามแบบพระพุทธรูปศิลปะแบบคันธารราฐ ซึ่งก็คือการห่มผ้าแบบโรมัน ดังได้หารูปเครื่องนุ่งห่มของชาวกรีก-โรมันมาพิมพ์ไว้ให้เห็นแล้ว

     หลังจากนั้นการห่มจีวรแบบนี้ได้ส่งอิทธิพลมายังศิลปะรุ่นหลังจนถึงสมัยหลังคุปตะ แต่ลักษณะการห่มจีวรและลักษณะของจีวรได้พัฒนาจากความเหมือนจริงในศิลปะแบบคันธารราฐไปสู่ลักษณะที่เป็นแบบอุดมคติมากขึ้น จนถึงศิลปะอินเดียแบบคุปตะการห่มจีวรจึงมีลักษณะเป็นแบบอุดมคติอย่างสมบูรณ์



จีวรเก่าสุดในสุวรรณภูมิอยู่สุพรรณบุรี


     จีวรและการห่มจีวรที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศไทยคือ "ประติมากรรมดินเผารูปภิกษุสาวก 3 รูป" พบที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

     ประติมากรรมดินเผารูปนี้ มีขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร สูง 16 เซนติเดมตร เป็นประติมากรรมรูปพระภิกษุ 3 รูป ครองจีวร ถือบาตร ทำลักษณะอาการบิณฑบาต ลักษณะการห่มจีวรเป็นการครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรเป็นริ้ว ซึ่งเป็นลักษณะการห่มจีวรแบบศิลปะอมราวดี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-9 หรือราวหลัง พ.ศ. 600

     เป็นหลักฐานรุ่นเก่าที่กำหนดอายุได้ ว่ามีการสร้างศาสนสถานขึ้นบริเวณสุวรรณภูมิก่อนสมัยทวารวดี อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างเมืองโบราณอู่ทองกับอินเดียสมัยอมราวดี ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ในเมืองอู่ทองเวลานั้นน่าจะห่มจีวรในลักษณะเดียวกันนี้

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264