พระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย

 

 

วันนี้เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตามจันทรคติ ซึ่งประเพณีไทยแต่โบราณถือว่าเป็นวันเริ่มฤดูฝน โดยเราแบ่งปีหนึ่งออกเป็น 3 ฤดูๆ ละ 4 เดือน ดังนี้

ฤดูหนาว เริ่มแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ไปจนถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

ฤดูร้อน เริ่มแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

ฤดูฝน เริ่มแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

นี่แหละที่เป็นสาเหตุว่า เหตุใดพระไทยเราจึงไม่เข้าพรรษาในวันอาสาฬหบูชาเพ็ญเดือน 8 ความหมายก็คือว่า "ยังไม่ถึงหน้าฝน" ต้องรอให้พ้นวันเพ็ญไปก่อน รุ่งขึ้นจึงได้ฤกษ์เข้าพรรษาเพราะว่าเป็นหน้าฝน และเพราะมีพระพุทธบัญญัติเอาไว้ว่า "ให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาหน้าฝน" มิได้ให้จำพรรษาในหน้าหนาวหรือหน้าร้อน

วันเข้าพรรษาและช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ถือว่าเป็นประเพณีที่ทุกวัดต้องมีพระธรรมเทศนา สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กวัดอยู่นั้น วันพระไม่ว่า 8 ค่ำ หรือ 14-15 ค่ำ ตลอดพรรษา จะมีผู้เฒ่าผู้แก่นุ่งขาวห่มขาวมานอนจำศีลอยู่ที่วัดจนล้นศาลา แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว โลกเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยน พระสงฆ์ไทยต้องหันไปเทศน์ทางทีวีและอินเตอร์เน็ตแทน ไม่งั้นสื่อไม่ถึงสาธุชน เฮ้อ !

วัดไทย ลาสเวกัส ก็เช่นกัน เรามีเทศน์เป็นประจำทุกอาทิตย์ โดยอุปโลกน์วันพุธให้เป็นวันพระ เนื่องเพราะประชาชนในรัฐเนวาด้านั้น ส่วนใหญ่เขาทำงานในบ่อน ซึ่งบ่อนนั้นต้องอาศัยนักท่องเที่ยวจากต่างรัฐ และนักท่องเที่ยวจากต่างรัฐจะว่างก็ต่อเมื่อ "สุดสัปดาห์" ตกเย็นวันศุกร์จึงตีรถตีเรือบินมาเที่ยวลาสเวกัสควบกับวันเสาร์-อาทิตย์ เสาร์-อาทิตย์จึงเป็นวันที่เมืองลาสเวกัสต้องรับแขก ชาวลาสเวกัสจึงต้องทำงานหนักในวันเสาร์-อาทิตย์ ครั้นถึงค่ำวันอาทิตย์และเช้าวันจันทร์แขกจึงค่อยทยอยกลับ กว่าชาวลาสเวกัสจะได้พักผ่อนสบายๆ ก็ตกวันอังคารและวันพุธ อังคาร-พุธ จึงเป็นวันหยุดของชาวลาสเวกัส นี่คือสาเหตุให้วันพุทธกลายเป็นวันพระที่วัดไทย ลาสเวกัส

นอกจากเราจะมีประเพณี "ตักบาตรวันพุธ" ตลอดปีไม่มีหยุดแล้ว ถึงกลางพรรษา เราก็มีพระธรรมเทศนาทุกวันพุธ ตลอด 3 เดือน ตลอด 12 ปีที่สร้างวัดไทย ลาสเวกัส ขึ้นมา ไม่เคยหยุดเลยแม้แต่วันเดียว ขนาดว่าพระวัดไทยลาสเวกัสเดินทางไปต่างรัฐเพื่อร่วมงานกฐินบ้าง งานประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยบ้าง บางครั้งไปนานเป็นอาทิตย์ๆ ญาติโยมวัดไทย ลาสเวกัส ก็ไม่หวั่น พระสงฆ์ไม่อยู่ก็ใส่บาตรพระประธานแทน โดยเชิญชวนกันมาวัด ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพร้อมด้วยพระประธาน ธูปเทียนพร้อม ตั้งบาตร 5 ลูก เท่ากับที่เคยทำทุกวันพุธ จากนั้นจึงไหว้พระสวดมนต์ ตักบาตร ทำพิธีถวายข้าวพระพุทธ ข้าวพระสงฆ์ แล้วทำพิธี "เสสัง มังคลัง ยาจามะ" จัดปัจจัยที่ใส่บาตรทั้งหมดใส่ในซองหย่อนไว้ในตู้บริจาคของวัด เลี้ยงข้าวเลี้ยงปลา ล้างถ้วยชาม สำรวจความเรียบร้อย จึงค่อยปิดประตูกลับ พอพระสงฆ์กลับมาถึงวัด ปรากฏว่าเงินใส่บาตรทุกวันพุธยังอยู่ครบ นี่เป็นเรื่องจริงที่วัดไทย ลาสเวกัส

สำหรับการเทศน์ในวันเข้าพรรษาปีนี้ ผู้เขียนก็ไม่รู้จะเทศน์อะไร ในฐานะที่ไปอินเดียมา ญาติโยมหลายท่านอยากฟังเรื่องอินเดีย ก็เลยกะว่าจะชวนพระที่จำพรรษาด้วยกันทำการเทศน์เรื่องอินเดีย เพราะพระธรรมทูตอีกรูปหนึ่งนั้นท่านเคยอยู่อินเดียมาก่อน จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เวลา 3 เดือนต่อจากนี้ไป วัดไทย ลาสเวกัส จะมีมินิซีรี่เรื่องพระพุทธศาสนาในอินเดีย ไม่ใช่นิทาน แต่เป็นประสบการณ์จริง

แต่นั่นเอาไว้เทศน์ให้โยมที่มาวัด สำหรับญาติโยม รวมทั้งครูบาอาจารย์และเพื่อนพระธรรมทูตทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ที่อยู่ต่างวัด วันนี้พระมหานรินทร์มีซีรี่ใหม่เกี่ยวกับวันเข้าพรรษามาเทศน์ให้สดับ

 

     อิทานิ ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ปรินิพฺพานโต ปฏฺฐาย เตปญฺญาสุตฺตรปญฺจสตาธิกานิ เทฺว สํวจฺฉรสหสฺสาธิ อติกฺกนฺตานิ ปจฺจุปฺปนฺนกาลวเสน อาสาฬฺหมาสสฺส สตฺตวีสติมํ ทินํ วารวเสน ปน ภุมฺมวาโร โหติ เอวํ ตสฺส ภควโต ปรินิพฺพานา สาสนายุกาลคณนา สลฺลกฺเขตพฺพาติ.

     ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมมสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้ ล่วงแล้วได้ 2553 พรรษา แห่งปัจจุบันสมัย อาสาฬหมาส สุรทิน ที่ 27 ภุมมวาร

     พระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีนัยอันจะพึงกำหนดนับ ด้วยประการฉะนี้ ฯ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

 

กาเลน  ธมฺมสฺสวนํ       เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ.

       ณ โอกาสบัดนี้ เกล้าฯ กระผมฯ อาตมภาพ ฯ พระมหานรินทร์ นรินฺโท วัดไทย ลาสเวกัส จักได้น้อมนำเอาสัจธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า มากล่าวอรรถาธิบายในมงคลกถา ว่าด้วยการฟังธรรมตามกาล ปรารภเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช 2553 ซึ่งเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในวันนี้

    นั่นคือการเริ่มหรือขึ้นต้นพระธรรมเทศนา พอบอกศักราชเทศนา ตั้งนะโม ยกพระพุทธพจน์ขึ้นตั้งสำเร็จแล้ว จึงค่อยแสดงเป็นสำนวนโวหารตามลำดับไป ถัดจากการเกริ่นนำนั้น ส่วนมากแล้วก็จะยกเอารายชื่อเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ขึ้นมาอนุโมทนาเป็นเบื้องต้น ก่อนจะเข้าสู่อรรถสารธรรมตามอุกเขปบทต่อไปจนกระทั่งถึงอวสาน ลงท้ายด้วย เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ คำว่าด้วยประการฉะนี้นั้น ตรง "การ" ต้องเอื้อนเสียงให้ยาวนิดหนึ่งว่า ด้วยประการะฉะนี้

ทีนี้ผู้เขียนก็จะเขียน (ไม่ใช่เทศน์) เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียน ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวอย่างพระธรรมเทศนาที่ยกมาแสดงข้างต้น เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

เรื่องที่ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนถึงในวันนี้นั้นก็คือ วันเข้าพรรษา (อา..เรื่องโหลอีกแล้ว เคยได้ยินมาแต่อ้อนแต่ออกแล้ว ประเดี๋ยวพระก็จะเล่าเรื่องพระสงฆ์เดินเหยียบข้าวในนาให้พวกเราฟัง แล้วก็จะมีการบัญญัติให้พระสงฆ์จำพรรษา จากนั้นท่านจะพูดเรื่องปวารณาออกพรรษา และตักบาตรเทโวโรหณะ ต้อนรับพระพุทธเจ้าจากดาวดึงส์ ฯลฯ) ผู้อ่านส่วนใหญ่คงคิดเหมือนในวงเล็บนั่นแหละ แหมของแบบนี้มันเดาทางกันง่าย พระสงฆ์ไทยท่านขี่รถออกนอกเลนเป็นซะที่ไหน ไปดูดิ ตั้งแต่แอลเอถึงนิวยอร์ค ทั้งปีทั้งชาติก็เทศน์เป็นแต่ มหาชาติ พระเจ้าสิบชาติ ถ้าให้เทศน์เรื่องอื่นเป็นหลง แต่เอา ก็เดากันไปไม่ว่ากัน

ซึ่งก็จริงๆ นั่นแหละ เพราะเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าในวันนี้ก็เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา จะว่าท่านผู้อ่านทายผิดก็คงไม่ถูก แต่ไม่แน่นะ อาจจะผิดฝาผิดตัวเลยก็ได้ เพราะในโลกนี้ย่อมมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ นี่เล่นสำนวนอมตะไว้ก่อนหลวงพ่อสอนไว้

ในปฐมบทของการเข้าพรรษานั้นท่านเล่าว่า ถึงหน้าฝน พระสงฆ์สาวกยังคงดำเนินไปตามคามนิคมคือบ้านน้อยเมืองใหญ่ในชมพูทวีปคืออินเดียเพื่อแสดงพระธรรมตามที่ได้รับการสั่งสอนมาจากพระบรมศาสดา ปรากฏว่าต้องเจอฟ้าเจอฝน ลำบากลำบน บ้างเป็นไข้ บ้างไม่สบายเพราะถูกสัตว์ร้ายรบกวน บ้างเดินบนคันนาแล้วลื่น ต้องไถลไปเหยียบข้าวกล้าที่เพิ่งปลูกใหม่ ประชาชนได้เห็นก็ตั้งคำถามว่า

"ไฉนพระสมณศากยบุตรจึงได้เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน โดยไม่หยุดพักเลย ดูแต่นักบวชศาสนาอื่นเขายังมีเวลาหยุดพักผ่อนตลอดฤดูฝน แม้แต่นกซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังทำรังอยู่บนยอดไม้ แต่พระสมณศากยบุตรเหล่านี้ กลับไม่ยอมหยุด ยังคงออกเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าและสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เสียหายอยู่"

คำพูดเหล่านี้ดังไปถึงพระบรมศาสดา จึงทรงโปรดให้ประชุมสงฆ์ และทรงมีพระพุทธบัญญัติว่า "ถึงกาลฝนแล้ว ให้พระภิกษุหยุดการจาริก ต้องอยู่ประจำ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง จนกว่าจะพ้นกาลฝน"

การจำพรรษาจึงถือกำเนิด ณ จุดนั้น

 

ถามว่าจุดไหน ?

 

คำตอบก็คือว่า จุดที่พระบรมศาสดาทรงสดับ คือได้ยินเสียงบ่นจากประชาชนนั่นไง

 

ทำไมหรือ ?

 

ก็ดูให้ดีเถิด ใครไหนในโลกที่อ้างว่า "พระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย" นั้น ก็ขอให้ดูให้ดี ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา เพราะว่าอะไร ???

 

เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงฟังเสียงชาวบ้านไง !

 

ไม่ต้องก่อม็อบ ไม่ต้องปิดถนน ไม่ต้องด่าทอต่อว่า ไม่ต้องเข่นฆ่ากันจนอาสัญ จึงค่อยทำการสมานฉันท์ประนีประนอม

 

แต่สำหรับ "พระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา" แล้ว แค่พูดไกลๆ เพียงท่านได้ยิน พระองค์ก็ทรงน้อมนำเอาคำพูดนั้นมาใส่ใจ แล้วปรับปรุงกฎระเบียบแบบแผนของพระภิกษุสงฆ์สามเณร ให้เหมาะสมกับกฎ ระเบียบ ประเพณี ของบ้านเมือง

 

ไม่มีดื้อด้าน !

ในฐานะทรงเป็นผู้นำจึง "ทำก่อน" ไม่ต้องให้ใครมาสอนมาสั่ง

 

ด้วยเหตุและผลที่นำเสนอมาดังนี้ จึงขอยืนยันว่า

พระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย

 

เอวังฯ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
27
กรกฎาคม 2553
9
:00 P.M. Pacific Time.

 

 

 
 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
 

 

alittlebuddha.com  วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264