อาลยกถา แด่..
พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ

บ่ายสามโมงวันนี้ (18
พฤษภาคม 2553) พระในวัดนำโทรศัพท์มาให้ บอกว่ามีคนจะคุยด้วย
และพอได้ยินเสียงตามสายบอกว่า
"ท่านทราบหรือยังว่าอาจารย์สมโภชมรณภาพแล้ว"
ผู้เขียนอึ้งไปหลายอึดใจ
ในความรู้สึกยังเหมือนกับว่าเพิ่งคุยกับอาจารย์พระมหาสมโภชไปเมื่อสักครู่นี่เอง
เพราะวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
(วันนี้วันอังคาร) ผู้เขียนไปร่วมงานวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ วัดสุทธาวาส
เมืองริเวอร์ไซด์ พิธียังไม่ทันจบ เพราะมีการเวียนเทียนในเวลาบ่าย 3 โมง
แต่ผู้เขียนขอตัวกลับก่อน เพราะต้องการไปเยี่ยมอาจารย์สมโภชที่เมืองวิลโดมาร์
ซึ่งต้องใช้เวลาวิ่งรถจากเมืองริเวอร์ไซด์ไปอีกร่วมๆ 1 ชั่วโมง
ก่อนจะตีรถกลับลาสเวกัสในค่ำวันเดียวกัน
พอจอดและลงจากรถ ก็พบว่า
บริเวณศาลาซึ่งใช้เป็นที่จัดงานทำบุญถวายมหาสังฆทาน หรือที่นิยมเรียกว่า
"ลาตาย"
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมานั้น บัดนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่
โดยปูไม้ไว้เต็ม ผู้เขียนยังชี้ให้พระที่ไปด้วยกันท่านดู
ก่อนจะเดินเข้าไปในกุฏิเพื่อเยี่ยมอาจารย์สมโภช
เข้าไปถึง
ก็พบพระมหามานพหรือหลวงเฮีย ตะโกนเรียกมาว่า
"บอกแล้วว่า
ถ้าท่านมหานรินทร์มาร่วมงานที่วัดสุทธาวาสวันนี้
ท่านต้องตีรถลงมาเยี่ยมเรา"
ว่าพลางก็เล่าอาการของอาจารย์สมโภชให้ผู้เขียนฟัง
อาการของอาจารย์สมโภชที่เห็นในวันอาทิตย์นั้น ดูไม่ออก
เพราะท่านถูกจับแก้ผ้าล่อนจ้อน แล้วใช้สมุนไพรผสมโคลนทาทั่วตัว
แล้วใช้กระดาษเป๊ปเปอร์ทาวน์แปะไว้ทั่วตัว (เว้นแต่ส่วนศีรษะ)
เพื่อให้กระดาษช่วยซับน้ำและความชื้น
หลวงเฮียอธิบายให้ฟังว่า
"ที่ต้องทำเช่นนี้
เพราะเป็นกรรมวิธีรีดพิษมะเร็งออกจากร่างกาย ทั้งนี้เพราะสองวันก่อน
เนื้อตัวของอาจารย์สมโภชนั้นขึ้นผื่นแดงทั่วไปหมด
ญาติโยมที่มีประสบการณ์จึงแนะนำให้ทำอย่างนี้ เมื่อวานก็ทำไปแล้วครั้งหนึ่ง
ได้ผลดีมาก เพราะว่าผื่นหายไปเกือบหมด
วันนี้ก็เหมือนกับการไล่พิษที่เหลือให้หมดไป"
ว่าพลางก็หันไปกระเซ้าเจ้าอาวาส คือท่านอาจารย์สมโภช
ซึ่งนอนนิ่งพยักหน้ารับฟังอย่างตั้งใจ
แสดงว่าท่านยังมีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างสมบูรณ์
และเมื่อผู้เขียนพูดคุยกับอาจารย์มานพและพาดพิงถึง บางครั้ง
อาจารย์สมโภชก็ยังเอียงหน้ามาเหมือนกับว่าจะคุยด้วย
คุยได้ประมาณ 20 นาที
ญาติโยมก็ชวนกันมาหลายหน้า แถมซื้อกาแฟแฟรบปูชิโนร์จากร้านสตาร์บัคมาฝากอีกตั้ง
4 ถ้วย ผู้เขียนกับพระที่ไปเยี่ยมจึงได้อานิสงส์ โดยผู้เขียนเลือกเอารส
"ชาเขียว"
พลางยกถ้วยชาเขียวนั้นหันไปคุยกับอาจารย์สมโภชว่า
"ท่านด๊อกเตอร์ดื่มน้ำอีตู่สีเขียว
ผมก็ดื่มชาเชียว ถือซะว่าเสมอกัน เพราะเขียวเหมือนกัน"
ท่านก็พยักหน้ารับทราบ
ก่อนหน้านี้ 2-3 วัน
ก็ได้ข่าวกระเซ็นกระสายมาว่า
"อาการของอาจารย์สมโภชทรุดลงมาก เกรงว่าจะอยู่ได้ไม่นาน"
ผู้เขียนก็ยังไม่อยากเชื่อ เพราะเชื่อว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น
ทีแรกก็กะจะตีรถลงไปตั้งแต่ก่อนสุดสัปดาห์
แต่ติดงานวัดสุทธาวาสในวันอาทิตย์ (16 พ.ค. 2553)
จึงเปลี่ยนกำหนดการไปในวันเดียวกัน
นอกจากจะถูกทาด้วยโคลนจนมิดตัวแล้ว สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ
ร่างกายที่ผ่านผอมลงอย่างมากของอาจารย์สมโภช ซึ่งท่านเคยอธิบายให้ฟังว่า
เจ้ามะเร็งตับที่ว่านั้นมันชอบอาหารประเภทโปรตีนเยอะ
ยิ่งเราทานเข้าไปเท่าไหร่ก็ไปเสริมให้มันโตขึ้นเท่านั้น ดังนั้น
เพื่อมิให้มันโต เราก็ต้องอดอาหารประเภทเสริมมะเร็ง ซึ่งปรากฏว่าได้ผล
เมื่อมะเร็งไม่ได้อาหารก็เกิดอาการฝ่อ
ความเจ็บปวดทุรนทุรายที่เคยปรากฏอย่างรุนแรงแต่ก่อนมานั้น ก็มลายหายไป
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งได้มาด้วยก็คือ ความผ่ายผอมของร่ายกายดังที่เห็น
ผู้เขียนก็พยายามสังเกต
ก็เห็นว่าท่านผอมลงไปจริง แต่เวลานานตั้ง 3 เดือนกว่าๆ ที่อดอาหารไปนั้น
การผอมลงไปในระดับนี้ก็น่าจะเป็นอาการปกติ ที่สำคัญก็คือ
คนใกล้ชิดภายในวัดก็ไม่มีใครหวาดวิตก
ทั้งนี้เพราะเห็นอาการอยู่ทุกวันนั่นเอง แต่สำหรับคนไกลที่นานๆ ไปที
ก็ย่อมจะตกใจเป็นธรรมดา
นั่นแหละคือสรุปอาการที่ผู้เขียนได้ในวันสุดท้ายของการพบกับอาจารย์
ดร.พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ
เจ้าอาวาสวัดรัตนปัญญา เมืองวิลโดมาร์
รัฐแคลิฟอร์เนีย

อาจารย์สมโภชกับผู้เขียนนั้น
จะว่าเป็นเพื่อนกันก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะท่านอาวุโสกว่าผู้เขียนไปถึง 8
ปี ต้องถือว่าเป็นรุ่นพี่ แต่ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดด้วยกัน
ก็ต้องถือว่าเป็นเพื่อนวัด จากการประติดประต่อความจำว่า
"พบกับอาจารย์สมโภชครั้งแรกที่ไหน"
ผู้เขียนก็จำไม่ได้ แต่แน่ใจว่าต้องไม่เกิน 6-7 ปีย้อนหลังกลับไป
เพราะถ้าเกินไปกว่านั้น
ประวัติของอาจารย์สมโภชยังไม่ได้ย้ายลงมาอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
แต่ช่วงนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพุทธธรรม รัฐอิลลินอยส์
ก็พอคลำทางได้ว่า
น่าจะประมาณ ปี พ.ศ.2547 ซึ่งท่านเริ่มก่อตั้งวัดรัตนปัญญาขึ้นมาในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งสถานที่ตั้งแห่งแรกนั้นอยู่ติดกับฟรีเวย์สาย 210 วิ่งจากลาสเวกัสเข้าไปวัดไทยแอลเอ
เป็นต้องผ่านวัดรัตนปัญญา ซึ่งถูกขนานนานว่า
"วัดสวนมะนาว"
เพราะบริเวณวัดเป็นสวนหรือป่ามะนาว
ใครไปเยี่ยมวัดแห่งนี้เป็นได้มะนาวติดไม้ติดมือมาเป็นของฝากแทบทุกคน
นั่นคือวัดแห่งแรก
ก่อนจะย้ายไปซื้อที่ดินผืนปัจจุบัน อันเป็นที่ดินของวัดพุทธมณฑลเก่า
เจ้าของคือหลวงพ่อปิยะพงษ์ พระธรรมทูตรุ่นเก๋ากึ๊ก ท่านขายให้แก่วัดรัตนปัญญา
และย้ายขึ้นไปอยู่ที่เมืองบาร์สโตว์ ก่อนถึงเมืองลาสเวกัสประมาณ 150 ไมล์
พอได้ที่ใหม่แล้ว วัดรัตนปัญญาก็มีกำหนดการทำบุญ
"เปิดวัด"
อย่างเป็นทางการ สร้างศาลารับแขกพอแมวดิ้นตายได้หลังหนึ่ง
ก็นิมนต์พระสงฆ์ไปร่วมทำบุญ หนึ่งในนั้นก็คือผู้เขียน
ซึ่งการไปร่วมครั้งนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ
เพราะอาจารย์สมโภชท่านโทรมาอาราธนา
"ให้เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนา"
หมายถึงว่าให้ไปเทศน์เปิดวัดรัตนปัญญา
"อา..ไหวหรือเปล่าเรา ?"
ผู้เขียนคิด เกรงว่าขึ้นธรรมาสน์แล้วจะเทศน์ไม่ออก เพราะพระสงฆ์ในวัดรัตนปัญญาทุกรูปนั้นล้วนแต่เป็นศิษย์ของหลวงพ่อปัญญานันทะ
นักปราชญ์และนักเทศน์เบอร์หนึ่งของประเทศไทย
เทศน์มาตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่ทันเกิดด้วยซ้ำ
ขนาดพระในวัดชลประทานรังสฤษฏ์ยังเล่าให้ฟังเลยว่า
พระในวัดชลไม่มีรูปไหนสวดอภิธรรมได้แม้แต่รูปเดียว
ทั้งนี้เพราะวัดแห่งนี้ไม่เคยมีการสวด มีแต่เทศน์
"อ้าวแล้วเวลามีงานศพล่ะ"
ผู้เขียนถาม ท่านก็ตอบว่า
"งานศพของวัดนี้ก็มีแต่เทศน์กับเทศน์ ไม่เคยมีสวด"
ผู้เขียนก็ยิ่งแปลกใจ เพราะไม่เคยเจอวัดประหลาดมาก่อน ยังนึกๆ ในใจว่า
"วัดอาไร
สวดอภิธรรมไม่เป็น เป็นแต่เทศน์อย่างเดียว เฮ้อ "
ละทีนี้
จะให้ผู้เขียนไปเทศน์ให้นักเทศน์ฟัง ดูสิ
มันไม่เอามะพร้าวห้าวไปขายสวนดอกหรือ ?
นี่คือปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งในชีวิตของผู้เขียน ซึ่งต้องท่องคาถาปลุกใจ
"เราก็ศิษย์มีอาจารย์
หนึ่งบ้าง"
ของท่านศรีปราชญ์หลายๆ ครั้ง จึงกล้ารับอาราธนาจากท่านพระมหาสมโภช
ส่วนผลในการเทศน์วันนั้นผู้เขียนไม่กล้าให้คะแนน คิดได้แต่เพียงว่า
"ท่านไม่ไล่ลงธรรมาสน์ก็เป็นบุญแล้ว"
นั่นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับวัดรัตนปัญญาและอาจารย์พระมหาสมโภช
แต่ก็ใช่ว่าจะมีแค่นี้ เพราะสังคมพระไทยในอเมริกานี้ก็ถือว่าแคบ
จึงต้องพบกันบ่อย ไม่ว่าจะเป็นงานประชุมทั้งสมัยสามัญ วิสามัญ
หรือพบกันตามงานวัดต่างๆ บ้างก็แวะไปเยี่ยมเยือนกันฉันท์พี่ๆ น้องๆ
ทำให้มีโอกาสสนิทชิดเชื้อกัน
จากการสังเกตของผู้เขียน
มองได้ว่า ท่านอาจารย์ ดร.พระมหาสมโภช ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดรัตนปัญญานั้น
ท่านเป็นพระสามัญ
คือว่าซื่อ แม้ไม่ถึงกับเซ่อ
มีความจริงใจให้กับใครทุกคนที่พบ
แต่ท่านไม่มีเงินทองเหมือนพระเกจิอาจารย์อื่นๆ
ทั้งนี้อาจจะเพราะได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาจากวัดชลประทานรังสฤษฏ์ของหลวงพ่อปัญญานันทะมาก็เป็นได้
พระแบบนี้แหละ
ที่เข้าในพุทธภาษิตที่ว่า
"ผู้ที่ดำรงชีวิตตามธรรมตามวินัยนั้น เป็นอยู่โดยยาก
ส่วนผู้ที่เลี้ยงชีวิตนอกธรรมนอกวินัยนั้น กลับอยู่ง่าย คืออยู่ดีกินดี"
นี่คือสัจธรรม
วัดรัตนปัญญาภายใต้การนำของพระมหาสมโภชก็เช่นกัน
อัตคัตขัดสน ที่นอนห้องหอก็คับแคบ อาหารการกินก็ไม่อุดมสมบูรณ์
แต่ก็แปลกเช่นกันว่า พระวัดนี้ไม่เคยบ่น มียังไงก็อยู่กันไป
มีอะไรก็กินกันไป อยู่ได้ยังไง ผู้เขียนก็ยังงง
!
พระสงฆ์วัดนี้อยู่ได้ด้วยวิถีเดียว นั่นคือ
การเทศน์
ผ่านไมโครโฟนบ้าง ผ่านวารสารของวัดบ้าง
พอได้ค่ากัณฑ์เทศน์และค่าบำรุงหนังสือจากญาติโยมมาบำรุงวัด
ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไร ค่าน้ำค่าไฟแทบไม่พอด้วยซ้ำ ทั้งๆ
หนังสือแต่ละเล่มนั้นเป็นงานหนักน่าดู เพราะต้องดูแม้กระทั่งสระ อุ อู เอ
โอ ฯลฯ แต่พระวัดนี้ก็ไม่เคยบ่น ถือเสียว่าเป็นหน้าที่
ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ มิใช่เพื่อสิ่งอื่นใด
ส่วนจะได้อะไรตอบแทนกลับมาบ้างนั้น ให้เป็นเรื่องของโชคชาตาก็แล้วกัน
เชื่อหรือไม่ว่า
ผู้เขียนเคยยุให้อาจารย์สมโภช จัดสร้างเหรียญหลวงพ่อปัญญานันทะ
ไว้เป็นที่ระลึกประจำวัดรัตนปัญญา เพราะตอนนั้นหลวงพ่อปัญญานันทะอายุมากแล้ว
อยู่ไม่ถึงร้อยก็คงไม่ไหว และเชื่อหรือไม่ว่า อาจารย์สมโภชฟังแล้วก็เฉย
ไม่รับไม่ตอบ และไม่ยอมทำ จนกระทั่งบัดนี้ ทั้งๆ
ที่เซียนพระทั่วประเทศนั้นหาโอกาสปั๊มเหรียญของท่านกันโกลาหล
แต่สำหรับคนใกล้ผู้มีโอกาสเห็นๆ เช่นอาจารย์สมโภช กลับไม่ไขว่คว้า
คนอื่นก็คงคิดว่าน่าเสียดาย แต่สำหรับอาจารย์สมโภชแล้ว
ท่านยึดสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนเป็นหลัก เพราะต้องไม่นอกครู
จึงจะถือว่าเป็นศิษย์
คนแบบนี้แหละ พระแบบนี้แหละ
ที่ต้องขอเรียกว่า
"หายาก"
เป็นพระที่ไม่มีมารยาสาไถย ไม่หน้าไหว้หลังหลอก ไม่กลับกลอกล่อกแล่กเป็นลิงหลอกเจ้า
ใครเข้าหา แม้ว่าจะไม่ถูกยกยอเสียจนลอย แต่ก็ไม่ตกต่ำช้ำใจในกาลไหน
ไม่เคยได้ยินพระมหาสมโภชหรือพระในวัดรัตนปัญญา
พูดกันถึงเรื่องอยากมียศมีศักดิ์ ไม่ว่าชั้นไหนๆ ทุกรูปทุกองค์มุ่งหน้าแต่
"ทำงานๆๆๆ"
เรื่องผลงานยังไม่เคยมองด้วยซ้ำ
สิ่งนี้ไงที่ผู้เขียนมองเห็น
จึงเข้าใกล้ เคารพนับถือ ไปมาหาสู่ อย่างสนิทใจ
เพราะท่านไม่มีอะไรให้ผู้เขียนต้องไปปอกลอก
ส่วนผู้เขียนก็ไม่มีอะไรให้ท่านสนใจเช่นกัน เราคบกันด้วยใจ
นิมนต์มาร่วมงานวัดไทย
ลาสเวกัส แต่ละที ก่อนกลับ
อาจารย์สมโภชก็จะยกทั้งสังฆทานและจตุปัจจัยมาร่วมทำบุญ
ผู้เขียนก็รู้ว่าท่านไม่มีเงิน แต่ก็ยังอุตส่าห์มาช่วยงาน
มาก็ไม่ได้มามือเปล่า ขนเอามะกรูดมะนาวสารพัดมาฝากทั้งพระทั้งโยม
ตอนกลับยังไม่เอาเงินอีก แบบนี้ก็อึดอัดใจ ต้องบังคับให้รับปัจจัยกลับไป
อย่างน้อยก็ใช้เป็นค่าน้ำมัน เพราะเห็นรถวัดของท่านแล้วสงสาร
มาจอดตายอยู่บนฟรีเวย์สาย 15 ออกบ่อย

ยืนซ้าย - พระมหามานพ
(หลวงเฮีย) ขวา - ผู้เขียน
พูดถึงเรื่องอาการป่วยของอาจารย์สมโภช ผู้เขียนทราบจาก
ท่านอาจารย์พระครูโสภณศาสนวิเทศ
(เจริญ สุขวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดพุทธมงคลนิมิต รัฐนิว แม็กซิโก
ซึ่งไปร่วมประชุมสมัชชาสงฆ์ไทย สมัยวิสามัญ ที่วัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า
รัฐฟลอริด้า
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ทั้งนี้ที่ประชุมทราบว่า
อาจารย์สมโภชจองตั๋วเครื่องบินจะบินไปร่วมประชุมไว้หมดแล้ว
แต่เกิดปวดท้องอย่างหนักถึงกับเข้าโรงพยาบาล และสุดท้ายหมอวินิจฉัยว่า
"เป็นมะเร็งตับ"
อาการอยู่ในขั้นที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดท้าย ไม่เกิน 30
วันจากนั้นไปก็จะต้องตาย
พอข่าวนี้กระจายออกไป
ก็เป็นที่ตกใจในแวดวงพระธรรมทูต สองวันต่อมา ผู้เขียนบินกลับมาถึงวัดไทย
ลาสเวกัส จึงนำเสนอข่าวนี้ทาง
อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม
ปรากฏว่าทั้งทางสมัชชาสงฆ์ไทยและสื่อสารมวลชนในสหรัฐอเมริกา นำไปเสนอต่อ
จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์
ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ระบุว่า
"พระมหาสมโภชจะออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 26 มกราคม"
ผู้เขียนก็เลยตั้งใจว่า จะรอให้ท่านกลับไปพักที่วัดซัก 2-3 วัน
แล้วค่อยไปเยี่ยม จึงตีรถลงไปในวันที่ 30 มกราคม
แต่ก่อนจะออกรถก็โทรเช็คไปยังวัดรัตนปัญญา ทราบว่า
"หมอยังไม่ให้ออก"
ก็เลยตัดเส้นทางเข้าสู่โรงพยาบาลริเวอร์ไซด์ เมืองโมรีโน่ แวลเลย์
และพบกับอาจารย์สมโภชที่นั่น
พอพูดคุยกันได้ซักครู่
ก็มีข่าวดีว่า
"หมอให้ออกโรงพยาบาลได้ในวันนี้"
ผู้เขียนจึงมีโอกาสขับรถพาท่านอาจารย์สมโภชออกจากโรงพยาบาล ในเวลาบ่าย 3
โมง ของวันที่ 30 มกราคม 2553 ซึ่งอาจารย์สมโภชยังแข็งแรงดี
ชี้ไม้ชี้มือบอกเส้นทางกลับวัดรัตนปัญญาโดยไม่หลง

ภาพข้างต้นทั้งหมดนี้
ถ่ายก่อนออกจากโรงพยาบาลไม่กี่นาที

ออกจากโรงพยาบาลริเวอร์ไซด์

กลับถึงวัดรัตนปัญญา
ส่งอาจารย์สมโภชถึงวัดได้ไม่นาน ผู้เขียนก็ลากลับ
อีกประมาณหนึ่งอาทิตย์ถัดมา ก็ได้ข่าวจากทางวัดรัตนปัญญาแจ้งว่า
"ท่านอาจารย์สมโภชปรารภอยากทำบุญก่อนตาย"
ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาสุขุม สุขุโม เจ้าอาวาสวัดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
เมืองเบเกอส์ฟิลด์ ได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้เป็น
"ลาตาย"
อันโด่งดังในสหรัฐอเมริกาและกระจายไปทั่วโลก

เตรียมงานทำบุญลาตายให้พระมหาสมโภช
กำหนดการจัดงานคือ
วันอาทิตย์ ที่ 7 เดือนมีนาคม พ.ศ.2553 ก่อนเส้นตายที่หมอโรงพยาบาลริเวอร์ไซด์บอกว่า
"จะต้องตายภายในหนึ่งเดือน"
ส่วนบรรยากาศงานทำบุญลาตายนั้น คิดว่าท่านผู้อ่านก็คงอ่านผ่านตาไปแล้ว
หลายท่านไปร่วม หลายท่านอยู่ไกลก็ส่งปัจจัยบ้าง ส่งใจบ้าง ไปช่วย วัดรัตนปัญญาวันนั้นจึงคับแคบไปถนัดใจ
เสร็จงานลาตายแล้ว
ผู้เขียนก็ไม่ได้ลงไปเยี่ยมอาจารย์สมโภชอีกเลย เพราะธุระรัดตัว
ได้แต่โทรถามบ้าง ถามใครที่ไปเยี่ยมมาบ้าง จนกระทั่งวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
จึงได้โอกาสลงไปพบท่านอีกครั้ง
จากอาการที่เห็นในวันนั้น
ผู้เขียนไม่คิดว่าอาจารย์สมโภชจะทิ้งสังขารไปไวในวันนี้ แต่คิดอีกที
อาจารย์สมโภชท่านคงไปดีแล้ว เพราะชีวิตนี้มีแต่ทุกข์ หาสุขไม่ค่อยเจอ
หรืออีกนัยหนึ่ง
อาจารย์สมโภชนั้นตายไปตั้งนานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา
เป็นการ "ตายก่อนตาย"
ทดลองตาย พอมาถึงวันนี้ ปรากฏว่าอาจารย์สมโภชตายอย่างง่ายๆ
แม้กระทั่งญาติโยมที่ห้อมล้อมดูแลก็แทบดูไม่ออกว่าอาจารย์สมโภชมรณภาพ
นี่คืออานิสงส์ของการลาตาย

ก่อนพิธีทำบุญลาตาย

7 มีนา ทำบุญลาตาย
หลังกลับจากอินเดียในเดือนธันวาคม พ.ศ.2552 พอต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2553
ผู้เขียนก็เริ่มเคาะแป้น นำเสนอสารคดี สังเวชนียสถาน ชุด
พระมหานรินทร์ในอินเดีย
ผ่านไปได้ตอนสองตอน ก็มีอีเมล์จากอาจารย์พระมหาสมโภชเข้ามาทักทายว่า
"เขียนเรื่องอินเดียได้สนุกมั่กๆ เขียนอีกนะ จะคอยติดตามชม"
แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น
ท่านก็ป่วย ขณะที่ผู้เขียนก็ยังทำหน้าที่
"นำเสนอ"
สารคดีเรื่องนี้อยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ว่า อาจารย์ ดร.สมโภช
คงไม่มีแรงดูอีกแล้ว แต่ก็ยังคงมีแฟนๆ ท่านอื่นรอชมเช่นกัน
วันวาน
ผู้เขียนเพิ่งนำเสนอไปถึงตอนที่ 17 เรื่องเมืองไพศาลี วันนี้ ทราบข่าวว่า
อาจารย์ ดร.พระมหาสมโภช ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว แสนเสียดาย
มิใช่เสียดายเพราะขาดคนดูสารคดี แต่เสียดายที่พระดีๆ สิ้นไปอีกหนึ่งรูป
อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์ เคยกล่าวถึงพระดีๆ ในอดีตหลายรูปว่า
เป็นพระดีที่ไม่กะล่อน
ก็ขอยืมคำๆ นี้มานิยามบทบาทของอาจารย์พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ ว่า
เป็นพระดีที่ไม่กะล่อน
ซึ่งหาได้ยากนักในยุคนี้
สิ่งใดเคยได้ล่วงเกิน
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
จะด้วยตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจก็ดี
หากว่าเป็นที่ระคายเคืองต่ออาจารย์พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ แล้ว
กระผมก็ขอกราบขมาอภัย ขอท่านอาจารย์ได้เมตตาอโหสิกรรมนั้นแก่กระผม-พระมหานรินทร์
และเชื่อว่า
หากแม้นมิถึงนิพพาน ดวงวิญญาณของท่านอาจารย์ต้องถึงสุคติ
ขอไว้อาลัยให้แก่การจากไปของอาจารย์ พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ มา ณ โอกาสนี้
|